แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
อาตมาเคยบอกโยมไว้ว่าจะเอาเรื่องที่เขียน หรืองานที่ทำมาเล่าให้ฟัง ตอนที่แล้วมาก็เขียนเรื่องพุทธธรรม พอเอาเข้าจริงเรื่องพุทธธรรมมันมีเนื้อหาที่เป็นวิชาการหนักมากไปหน่อย จะเอามาเล่าก็เป็นเรื่องยาก ก็ไม่ค่อยเหมาะกัน แล้วก็ ? เดี๋ยวก็ยืดยาวบางทีอาจจะเขียนเป็นวัน สองวัน สามวัน ซึ่งถ้าเอามาพูดต้องกลั่นกรองใหม่
ให้มันง่าย เรื่องที่จะพูดก็เลยกลายเป็นเรื่องน้อย ก็เห็นว่าไม่เหมาะก็เลยไม่ได้นำมาพูด แต่ว่าก็อาจจะสรุปเนื้อหาสาระบางตอน คือ โดยสาระสำคัญทั้งหมดที่ได้มาทำงานนี้ สำหรับเรื่องพุทธธรรมนั้นตอนนี้ก็เขียนเรื่องไตรลักษณ์เป็นส่วนแทรกเพิ่มเข้าไป ที่แทรกเพิ่มก็เป็นเรื่องความหมายของไตรลักษณ์ที่ละเอียดลออขึ้น ประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตของเรา ก็เลยคิดว่าวันนี้เลยเอามาสรุปให้ฟังอีกทีหนึ่ง ไตรลักษณ์ นั้น โยมก็ทราบกันอยู่แล้ว อาตมาก็เคยพูดบ้างเป็นบางครั้งบางคราว เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีประโยชน์ในการทำจิตใจให้สบายได้มาก ชื่อของมันฟังแล้วเป็นเรื่องที่ไม่น่าสบายอะไร อนิจจัง ก็เป็นเรื่องไม่เที่ยง ทุกข์ขังก็เป็นเรื่องทุกข์ อนัตตาเรื่องไม่ใช่ตัวใช่ตน ฟังดูธรรมดาก็เป็นเรื่องไม่ค่อยจะสบายหูเท่าไหร่ เพราะคนเราก็ชอบของที่เที่ยงแท้ ยั่งยืน ตัวเราเองเราก็อยากให้เที่ยงแท้ สิ่งที่เราเกี่ยวข้องถ้าเราพอใจปรารถนาเราก็ต้องการให้มันเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป แล้วเราก็อยากให้มีความสุข ไม่อยากให้เป็นทุกข์ อยากให้เป็นตัวเป็นตนของเรา อันนี้เป็นธรรมดาของมนุษย์เรา แต่ท่านสอนในทางตรงข้างไม่ตรงกับความปรารถนา ท่านสอนว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ที่ท่านสอนแบบนี้
ก็เพราะท่านต้องการให้เรารู้เท่าทันความจริง เพราะความจริงมันเป็นอย่างนั้น ความจริงนั้นมันจะดี ไม่ดี
น่าปรารถนาหรือไม่ เราต้องรู้จักมัน รู้จักแล้วมันก็เป็นประโยชน์ แม้ว่ามันจะไม่น่าพอใจ คือถ้าเราไม่รับรู้เรื่อง
ไตรลักษณ์ เราก็จะถูกไตรลักษณ์มันกด มันบีบ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันเกิดขึ้นมาแล้วเราประสบกับมันเราก็ไม่ปรารถนา จิตใจของเราจะถูกบีบคั้น ถูกความทุกข์มากขึ้น แต่เมื่อใดที่เรารู้เท่าทันมันว่า มันเป็นธรรมดาอย่างนั้น เราก็ถอนตัวออกได้จิตใจของเราก็ปลอดโปร่งขึ้น ท่านจึงสอนเรื่องไตรลักษณ์เพื่อให้เรารู้ แต่ไม่ใช่เพื่อให้เป็นอย่างนั้น เพื่อไม่ให้เก็บเอามาบีบคั้นตัวเราให้มีความทุกข์ ความคับแค้นอะไร แต่ให้รู้เท่าทันและให้
ยกจิตใจ ถอนจิตใจให้ปลอดโปร่ง แจ่มใส เพราะฉะนั้น ไตรลักษณ์นั้น ท่านก็สอนไว้เพื่อประโยชน์หลายอย่างด้วยกัน ขั้นที่ ๑ เพื่อให้เราได้มีความสุข พอเราประสบอะไรก็ตาม แล้วเรารู้เท่าทันเรื่องความไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นอนัตตาว่า สิ่งทั้งหลายนั้นจะให้เป็นไปตามที่เราปรารถนาไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอเรารู้อย่างนั้นแล้วใจของเราก็สบายขึ้น พอใจเราสบาย สงบ ปลอดโปร่งขึ้น ก็มีความสุข หรือพ้นจากความทุกข์นั้นไป อย่างน้อยก็ถอนตัวไม่ให้ถูกกดถูกบีบ พอเราพ้นจากความกดบีบของไตรลักษณ์แล้ว อยู่ด้วยจิตใจตื่นด้วยความรู้ ความเบิกบานผ่องใสขึ้น ความกังวลต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องตัวตนก็เบาบางลงไป คนเรานี้จะมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องตัวตนมาก เพราะเราก็มีความยึดถือในตัวเราเองบ้าง ในสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเราบ้างว่าเป็นตัวเรา เป็นของของเรา เมื่อความยึดถือเข้ามาเกาะเกี่ยวจิตใจอยู่ จิตใจก็ว้าวุ่น มีความกังวลหวาดหวั่นอยู่เสมอ เป็นไปในเรื่องความปรารถนาจะให้เป็นไปตามที่ต้องการบ้าง ท่านเรียกว่าตัณหา เป็นเรื่องกังวลในตัวตนที่ว่าต้องมีฐานะอันใดอันหนึ่ง จะต้องเป็นสำคัญอย่างนั้น อย่างนี้ ท่านเรียกว่ามานะ แล้วก็ความยึดถือมั่นในความคิดเห็นในทิฐิของตัวเอง ว่าเราเห็นว่าเป็นอย่างนั้นมันจะต้องเป็นไปตามที่เราเห็น พอเราคลาย รู้เท่าทันไตรลักษณ์ ความยึดถือเหล่านี้ก็เบาลงไป มันก็ปลอดโปร่ง จะทำอะไรก็ทำด้วยความโล่ง โปร่ง เบาใจ ทำด้วยจิตใจที่ผ่องใสเบิกบาน ทำได้คล่อง แล้วท่านก็สอนหลักไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ที่สิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ได้เป็นไปด้วยความเลื่อนลอย แต่มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นเราต้องมีความไม่ประมาท เพราะสิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแปลงไปได้ มันไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ถ้าเราต้องการให้มันเป็นไปตามที่เราปรารถนา เราต้องทำเหตุทำปัจจัยให้มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราก็เร่งทำกิจทำหน้าที่ของเรา และแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ปล่อยให้มันติดค้างอยู่ ปัญหาที่ควรจะแก้ไขก็แก้ไขได้ นี่เรียกว่ามีความไม่ประมาท ท่านสอนเรื่องไตรลักษณ์ไว้ จุดมุ่งหมายที่สำคัญอันหนึ่งก็คือความไม่ประมาทนี้ด้วย ถ้าได้ทั้งสามอย่าง ก็จะเป็นประโยชน์โดยสมบูรณ์ คือ ๑. จิตใจเราก็สบาย ปลอดโปร่ง แจ่มใสขึ้น ถ้ามีทุกข์บ้าง ทุกข์นั้นก็น้อยลง ถ้าไม่ถึงกับทำให้หมดสิ้นไปก็เบาบาง พอทุกข์เบาบาง จิตใจปลอดโปร่ง ผ่องใสขึ้น ทำอะไรก็ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องตัวตน เรื่องตัณหา มานะ ทิฐิ ใจของเราก็ทำอะไรได้คล่องขึ้น อันที่ ๓ ก็คือ รู้เข้าใจความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ไม่ประมาท เร่งทำสิ่งที่ควรทำตามหน้าที่ มันก็จะได้สำเร็จผลโดยบริบูรณ์ งานก็ได้ จิตใจก็สบาย ไม่เป็นทุกข์ด้วย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนหลักไตรลักษณ์ไว้ เพื่อประโยชน์ของการทำใจให้เป็นสุขสบายด้วย และก็เพื่อจะให้เราได้ทำกิจหน้าที่ของเราได้สำเร็จ และดำเนินชีวิตได้ดีที่สุด ทั้งๆที่สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มันไม่เที่ยงแท้แน่นอนก็จริง แต่เพราะการที่เรารู้เท่าทันตามเหตุปัจจัยนี่แหล่ะ เราก็ทำให้มันอยู่ในสภาวะที่มันดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ให้มันเป็นตัวก่อความทุกข์ให้กับเราได้น้อย และเมื่อมันมีเหตุเป็นไปที่มันจะต้องเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเราก็มีจิตใจที่สบาย ผ่องใส เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง มีความทุกข์น้อย อาตมาก็เลยนำเอาคำสอนเรื่องประโยชน์ของไตรลักษณ์ในทางการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันมาพูดไว้ ก็เป็นแต่เนื้อหาหลักวิชา ก็พอสมควร สำหรับวันนี้ก็คิดว่าเอาแต่หลักการไว้ สำหรับรายละเอียดนั้นก็นำมาพูดในข้อธรรมะปลีกย่อยเป็นเรื่องๆ ไป ตามที่จะกล่าวในโอกาสอันสมควรสืบต่อไป สำหรับวันนี้ก็ขออนุโมทนาเท่านี้.