แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
คุณวิบูลย์ : ก่อนที่เราจะเริ่มต้นสนทนากันในประเด็นเนื้อหาสาระนี่ ก็อยากจะทราบโดยตรงกับท่านเจ้าคุณอาจารย์ว่าสุขภาพท่านเป็นยังไงบ้างครับ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเราควรใช้เวลาที่นี่สักเท่าไหร่นะครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เจริญพร ก็ไม่เป็นยังไง ก็เป็นเหมือนที่เคยเป็น คือคนมักจะบอกว่าเป็นอาพาธอะไร จะหายเมื่อไหร่ ดีขึ้นไหม อาตมาจึงอธิบายกับพระ ต่อไปนี้อย่าไปตอบอย่างนั้น คือมันไม่ใช่ว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ อาพาธนั้นนี้จะดีขึ้น จะหาย คือคนอวัยวะชำรุด หรือเสื่อมไปเนี่ย มันก็จะมีอาการตามสภาพแวดล้อม หรือการใช้งานเป็นต้น คือมันเป็นของประจำตัว ไม่ใช่ว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ ฉะนั้นจะมาถามว่าอาพาธนั้นอาพาธนี้จะดีขึ้นไหม จะหายเมื่อไหร่ อย่างเวลานี้ก็เจ็บระบมหน้าอกมาเป็นเดือนแล้ว แล้วปอดไม่ค่อยมีกำลัง บางทีเช้าตื่นขึ้นมา ใครมาพบนี่ พูดแล้วยังจะหน้ามืดเลย ต้องตั้งตัวพักหนึ่ง คือปอดมันเคยเป็นวัณโรคอย่างแรง ไอเป็นเลือดมากมาย แล้วหลังจากนั้นมันก็เป็นแผลเป็น เป็นพังผืดจับ มันก็ยึดขั้วปอด ทำให้ปอดมีกำลังน้อย แล้วแถมหลอดลมมันตีบอีก หมอตรวจบอกหลอดลมของอาตมาเนี่ย ข้างปลายมันใช้งานได้ 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็อวัยวะที่สูญเสียไปอย่างที่เส้นเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงสมอง ก็ผ่าตัดไปแล้ว หมอก็บอกว่านี่มันมีตัวส่งสัญญาณสำหรับปรับชีพจรและความดันอยู่ เขาเรียก ??? บอดี้ แล้วเวลาหมอผ่าตัดก็ทำลายตัวศูนย์นี้ไป เพราะฉะนั้นเมื่อขาดศูนย์นี้ก็มีตัวอวัยวะที่จะส่งสัญญาณให้สมองรู้ว่าจะปรับชีพจรและความดันโลหิตเท่าไหร่ อันนั้นก็จะทำให้ชีพจรและความดันแปรปรวน ก็เลยเป็นเรื่องประจำตัวไป นี่ก็อาศัยว่าร่างกายในมีความสามารถที่หาอวัยวะส่วนอื่นมาทำงานชดเชยบ้าง มันก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งบางระยะมันก็ชดเชยได้ดีหน่อย บางระยะมันก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นอาตมาพูดนี่บางทีต้องใช้ชีพจร 120-130 ความดัน 180-190 หรือ 200 จึงจะมีกำลังพูด ตอนแรกกำลังจะพูดเนี่ยแทบจะเป็นลม แล้วพูดไปก็ตั้งตัวได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของอวัยวะที่มันชำรุด มันสูญเสียไป มีตั้งหลายอย่างที่เป็น เพราะฉะนั้นจะมาถามว่าอาพาธอะไร แล้วตอนนี้จะดีขึ้นไหม ไม่ต้องถาม คือมันเป็นของประจำตัวว่าอวัยวะนั้นมันสูญเสียแล้ว หรือพิการไปแล้ว ชำรุดไปแล้ว ก็อยู่ที่ว่าสภาพแวดล้อมเหตุปัจจัยอื่น ตอนนี้มันเป็นยังไง อย่างระยะที่แล้วมานี้ก็คือช่วงเข้าพรรษา แล้วปีนี้ฝนตกเรื่อย อากาศอับชื้นคงจะเป็นเหตุให้ผู้ที่ปอดไม่มีกำลัง ปอดต้องทำงานหนัก เพราะฉะนั้นก็จะเจ็บระบมหน้าอกประจำตัวตลอด เป็นเดือนๆ เลย อันนี้ก็เลยเล่าให้ฟัง จะได้เข้าใจว่า อย่ามาถามเรื่องว่าดีขึ้นไหม ตอนนี้จะหายเมื่อไหร่ ไม่ต้องถามกันแล้ว มีแต่ว่าระยะนี้อาการอันไหนมันจะโผล่ออกมาเท่านั้นเอง ระยะนี้ก็เป็นอาการเด่นของเรื่องปอด ก็เอาเป็นว่าสำหรับวันนี้ก็เริ่มต้นก็คุยแบบกันเอง แล้วก็ต้องขออภัยไว้ก่อน ที่ขออภัยก็คือว่า ความจริงเรื่องนี้ควรจะนานแล้ว เพราะว่าท่านสุโกสโรมาบอกไว้นานแล้ว เป็นค่อนปีแล้วมั้ง เป็นค่อนปีครึ่งปีว่าคุณพ่ออยากจะมาพูดกันเรื่องสิทธิมนุษยชน อาตมาก็ผัดผ่อนมาเรื่อย เพราะสภาพร่างกายไม่อำนวย จนกระทั่งมาตอนจะเข้าพรรษา ท่านก็มาพูดเรื่องนี้อีก อาตมาก็ เอ๊ะ เราผัดผ่อนมานานเหลือเกิน ไม่ดี แต่ตอนเข้าพรรษาก็ระยะทรุดหนักพอดี ก็เลยขอผัดไปสักเดือนหนึ่ง ก็เลยมาตกวันที่ 1 สิงหาคมนี้ เจริญพร วันนี้ก็เลยว่าได้นัดไปแล้ว พอดีฝนก็ลงอีก ฉะนั้นก็อาจจะขออภัยซ้อนอีกอันก็คือว่าอาจจะสถานที่ไม่ค่อยสะดวก ไม่ค่อยอำนวย ตั้งแต่เดินทางเข้ามา เพราะฉะนั้นก็เชิญคุณวิบูลย์ เจริญพร
คุณวิบูลย์ : นมัสการท่านอีกครั้งหนึ่ง วันนี้ฝนตกถือว่าเป็นโอกาสอันดีนะครับ ที่ทำให้เรามีความเย็นมาให้กับเรานะครับ เรื่องปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ตั้งใจว่าจะมาคุยนะครับ ซึ่งมันก็มีอีกเรื่องหนึ่ง คงจะยกขึ้นมามาอย่างปัจจุบันทันด่วน ก็คือเรื่องสมานฉันท์ ซึ่งก็อยากจะมาฟังว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ในเรื่องสมานฉันท์เนี่ย เป็นยังไงบ้าง ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชน ขอเชิญคุณสุรสีห์ก่อน
คุณสุรสีห์ : กราบนมัสการท่านเจ้าคุณนะครับ เรื่องสิทธิมนุษยชน ก็คงจะมีประเด็นเกี่ยวกับที่กระผมเคยได้อ่านบทความที่ท่านเคยไปบรรยายที่กระทรวงต่างประเทศ เรื่องสิทธิมนุษยชนเนี่ย แล้วก็พูดถึงความเสมอภาคต่างๆ แล้วก็จะมีเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศหญิงชาย ตอนหลังได้ทราบว่ามีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับคนที่มีการเบี่ยงเบนทางเพศนี่นะครับ ก็อยากจะมาบวชในศาสนาพุทธ มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามอย่างไรบ้าง และมีวิธีป้องกันอย่างไร แล้วก็อีกประเด็นหนึ่งก็คือในเรื่องค้ามนุษย์ ตอนนี้ก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ และทางแก้มันค่อนข้างจะมีปัญหามาก ว่าเราจะใช้ศาสนาพุทธมีท่าทียังไงที่ทำให้ปัญหาการค้ามนุษย์มันลดลงไปได้ ซึ่งอันนี้ก็จะโยงไปเรื่องการสมานฉันท์ที่คุณวิบูลย์ได้พูดถึงครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : จะเริ่มอันไหนก่อนล่ะ หรือพูดถึงสมานฉันท์แล้วตามลำดับที่ถาม ดีไหม
คุณวิบูลย์ : ที่จริงเรื่องสมานฉันท์อย่างที่กราบเรียนท่านนะครับว่า ท่านอดีตนายกฯอานันท์เนี่ยอยากจะมา แต่ท่านมาไม่ได้ ท่านก็เลยฝาก เข้าใจว่าเป็นรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ เรื่องที่แก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ว่าปัญหาเรื่องสมานฉันท์นี่มันตอนนี้มันไม่ใช่ไปเป็นเรื่องของ 3 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น มันเป็นเรื่องเป็นประเด็นทางการเมืองนะครับ ในขณะนี้ ผมก็ดูจากพจนานุกรมนี่นะครับ คำว่า สมานฉันท์ แปลว่า ความมีใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความพร้อมใจกัน ถ้าเราดูบรรยากาศทางการเมืองขณะนี้ ฝ่ายหนึ่งปากก็ว่าสมานฉันท์ แต่ก็มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกัน แล้วก็อีกฝ่ายหนึ่งก็ยังไม่มีท่าทีที่จะรอมชอมหรือว่าสมานฉันท์กันตามที่มีการพูดกันนะครับ ก็อยากจะขอฟังท่านเจ้าคุณอาจารย์ช่วยคุยกับพวกเราในประเด็นนี้นะครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เจริญพร ก็คุยกันแบบสบายๆ อย่างที่บอกแล้ว สะ-มา-นะ-ฉัน หรือ สะ-หมาน-นะ-ฉัน ก็ได้ อ่านได้สองอย่าง พจนานุกรมว่างั้นนะ เรามาดูศัพท์ซะก่อน ความจริงคำว่า สะ-หมาน-นะ-ฉัน หรือ สะ-มา-นะ-ฉัน นี่เป็นศัพท์ธรรมะโดยตรง เป็นคำบาลีที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันสมัยนั้น เป็นคำศัพท์ชาวบ้านสามัญ ก็แปลตามศัพท์ซะก่อนว่ามีฉันทะเสมอกัน คือ สมานะ ตัวหนึ่ง สมานะ ที่มาเป็น สมาน ในภาษาไทย แล้วก็ ฉันทะ ตัวหนึ่ง สมานะ สมาน ที่จริงเดิมมันไม่ใช่ความหมายแบบไทย สมานะ แปลว่าเสมอกัน แปลว่าเท่ากัน เสมอกัน เท่ากัน ก็เหมือนกับตรงกัน ทีนี้พอมันเท่ากัน ตรงกัน ไปๆ มาๆ มันก็เลยร่วมกัน ความหมายมันคล้ายๆ ความหมายที่ขยายออกมา ความหมายงอกก็ว่าได้ โดยเฉพาะเข้ามาในภาษาไทยแล้ว มันจะเป็นความหมายอย่างที่เราเข้าใจในภาษาไทยว่าสมาน ไปเป็น ร่วม ประสาน ไปเลย ทีนี้ในภาษาพระนี่เราจะเห็นคำนี้ในคำว่า สมานัตตตา หลักธรรมนี้อยู่ในสังคหวัตถุ 4 แต่อันนั้นเอาไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยพูดก็ได้ เอาเฉพาะสมานฉันท์ เพราะบอกเมื่อกี้บอกว่า สมานฉันท์เป็นศัพท์ในชีวิตชาวบ้าน ศัพท์สามัญในชีวิตประจำวัน ทีนี้เราต้องดู เข้าใจคำว่า ฉันทะ ก่อน เมื่อกี้เข้าใจคำว่าสมานแล้ว ฉันทะ นี่ ภาษาไทยเราก็ยังเข้าใจไม่ค่อยชัด ฉันทะ นี่แปลว่าความอยากจะทำนะ มันมี ทำ อยู่ด้วยนะ ทำอะไร อยากจะทำ ต้องการจะทำ แล้วก็มีใจตรงกัน อยากจะทำอันนั้น เราเรียกว่าสมานฉันท์ ยกตัวอย่างเลย คำที่ท่านใช้ในเรื่องราวภาษาบาลี เช่นอย่างเรื่องว่ามีชายหนุ่มคนหนึ่ง แกเป็นคนมีอัธยาศัย ชื่อว่านายมะคะ ก็ทำงานกันอยู่ในหมู่บ้าน แกก็เป็นคนใจดี แล้วก็รักความสะอาด รักความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำงานด้วยกันแบบชาวบ้าน แกก็ทำสถานที่อะไรต่ออะไร กวาดอะไรต่ออะไรให้เรียบร้อย ทำให้สม่ำเสมอเรียบ แล้วแกก็ทำงานสบาย คนอื่นเห็นสถานที่แกก็ชอบเข้ามาใช้ที่ แกก็ค่อยๆ เลื่อนตัวออกไปให้คนอื่นเข้ามาทำ แล้วแกก็มาทำที่ใหม่ให้มันเรียบร้อยอย่างนั้นอีก คนอื่นก็ชอบ ก็ไปอาศัย แกก็ขยับขยายออกไปทำไปเรื่อยๆ ต่อมาก็มีคนชอบแกเยอะ แกก็ได้โอกาส ต่อมาก็ชวนบอกว่าหมู่บ้านของเรามันไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่ค่อยสะอาด ถนนหนทางก็ดูเดินทางลำบาก จะข้ามน้ำข้ามอะไรก็ไม่มีสะพาน เรามาช่วยกันทำ ปรับถนนพื้นที่ให้เรียบร้อย ทำสะพานกันจะดีไหม พวกนั้นก็ใจร่วมอยู่แล้วนี่ใช่ไหม ชอบใจกัน ก็เลยเอาด้วย ก็มาชวนกันไปเอาอุปกรณ์มีดพร้าไป ปรับสถานที่ ถนนหนทาง แล้วก็ทำสะพานเป็นต้น ตลอดจนขุดบ่อขุดสระน้ำ ทำอะไรต่างๆ เนี่ย กลายเป็นบำเพ็ญประโยชน์ กลายเป็นว่าเป็นเรื่องที่ทำกันประจำวัน เช้าขึ้นมาตื่นก็ชวนกันไปบำเพ็ญประโยชน์ ทีนี้การที่เขามาถึงจุดนี้ที่ว่า ใจตรงกัน ที่อยากจะทำงานบำเพ็ญประโยชน์นี้ อันนี้ก็เรียกว่าสมานฉันท์ เพราะฉะนั้นในทีนี้ท่านจะใช้ศัพท์ว่าสมานฉันท์ คนกลุ่มนี้มีสมานฉันทะ ก็พากันไปแต่งถนน ขุดสระ สร้างสะพาน เป็นต้น อย่างนี้เป็นตัวอย่าง เข้าใจว่าจะเห็นความหมายแล้ว คือมันมีอะไรที่จะทำอยู่ แล้วก็มีสมานฉันทะ ทีนี้ในภาษาไทยนี่ อาตมาภาพว่าการใช้มันยังลอยๆ อยู่ ถ้ามันไม่มีอะไรจะทำ มาร่วมกันทำเนี่ย มันไม่เป็นสมานฉันทะหรอก ตอนนี้เราคล้ายๆ กับว่าให้ใจมันสามัคคี มันก็ลำบาก มันไม่มีจุด มันจะถึงจุดสมานฉันท์ต้องมีอะไรที่ทำร่วมกัน แล้วตกลงใจ แล้วใจตรงกัน เสมอกัน ก็เรียกว่าร่วมใจกันในการที่จะทำงานต่างๆ นั่นเอง จึงเป็นสมานฉันทะ ทีนี้ของเรานี่อาตมาภาพว่าเหมือนอย่างไม่มีสมานฉันท์นี่ ใจที่จะทำการร่วมกันไม่มี เพราะการที่จะทำการร่วมกันมันก็มีจุดหมายว่าทำการนั้นเพื่อจุดมุ่งหมายอันนั้น ฉะนั้นคนที่จะทำการร่วมกันก็ต้องมีจุดหมายร่วมกันด้วย นี่เราพูดในแง่ตัวศัพท์ ทีนี้ถ้าพูดลึกลงไปก็พูดในแง่ธรรมะ พวกสมานะนี่ใช้ในภาษาพระเยอะ เพราะว่ามันมีความหมายว่าเสมอ ทีนี้หลักเรื่องเสมอนี้เป็นเรื่องใหญ่ในทางพระศาสนา เพราะว่าเป็นหลักของความสามัคคี สมานฉันทะไม่ใช่สามัคคี แต่เป็นเหตุของความสามัคคี บางทีเราก็ใช้ปะปนกันว่าสมานฉันทะนี่อันเดียวกับสามัคคี คนจะสามัคคีต้องมีสมานฉันทะ แต่เราไปใช้เป็นความหมายเดียวกันไปซะ ทีนี้สมานฉันทะนี่ มันก็มีว่าโดยทั่วไปนี่มันเริ่มมาจากอะไร หนึ่ง-มันมีหลักความเชื่อ เช่นมี ศรัทธา แล้วมีความเชื่อ มีแนวคิดที่มันสมานะ ตรงกัน เสมอกัน ก็คือแนวคิดร่วมนั่นเอง มีความเชื่อถือ มีความยึดถือในหลักการ อุดมการณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หนึ่งละ แม้แต่ชาวบ้านก็มีความเชื่อถืออันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างเรื่องศาสนาอะไรต่างๆ ก็เป็นจุดรวมอันหนึ่งได้ ก็รวมกันอันนี้ท่านเรียกว่าสมานทิฐิ อันนี้เริ่มเข้าศัพท์ธรรมะแล้ว ก็มีทิฐิเสมอกัน เป็นหลักสำคัญมาก ถ้าคนเรามีแนวคิด มีหลักความเชื่ออะไรต่ออะไรอย่างเดียวกัน มีศรัทธาร่วมกันเนี่ย ใช้ได้แล้ว เริ่มแล้ว มันชักจะมีสมานฉันท์แล้วแหละ บางทีไทยเราใช้สมานฉันท์อาจจะได้ความหมายแค่นี้ด้วยซ้ำ สอง-ก็คือมีวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตวัฒนธรรมแนวทางการประพฤติปฏิบัติความเป็นอยู่อะไรเนี่ยนะ เป็นแบบเดียวกันเสมอกันแนวเดียวกันเข้ากันได้ พอวิถีชีวิตวัฒนธรรมต่างๆ มันเข้ากันได้ มันก็ไปได้ มันก็เป็นพื้นของการที่จะมีสมานฉันท์ สองอันนี้เป็นสำคัญ ภาษาพระก็เรียกว่า สมานทิฐิ กับ สมานศีล หรือโดยปกติก็จะเรียงสมานศีลก่อน สมาศีละ ก็มีศีลเสมอกัน มีแนวทางการประพฤติ บางคนที่เป็นโจรก็มีความประพฤติเสมอกันเหมือนกัน หรือว่าคนที่จะทำความดีอะไรต่างๆ ก็มีแนวความประพฤติปฏิบัติ วิถีชีวิตวัฒนธรรมอะไรพวกนี้ แบบเดียวกัน เข้ากันได้ แล้วก็สมานทิฐิ มีทิฐิแนวความคิดความเชื่อเสมอกัน อันนี้เป็นพื้นก่อน ถ้ามีสองอันนี้ก็พร้อมที่จะสมานฉันท์โดยง่ายเลย เอาละ อันนี้เราพูดถึงขั้นต้นก่อน อันนี้ขั้นที่หนึ่ง ทีนี้ต่อไปก็คือถ้าขั้นที่หนึ่งมันไม่พร้อมจะทำไง เราก็ต้องไปอาศัยขั้นที่สอง ก็คือเราต้องมีความเพียรพยายามขึ้นไปแล้ว ตอนขั้นที่หนึ่งนี่มันแทบจะเป็นธรรมชาติเลย ทีนี้ต่อไปก็ต้องเพียรพยายามขึ้นมา ขั้นที่สอง อันแรกนี้ก็คือองค์ประกอบปัญญา เอาละ ต้องใช้ปัญญา ต้องมีความรู้ อย่างถ้าเราอยู่ในสังคม จะเป็นเรื่องของกิจการสังคม ก็ต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจ มาถกเถียง มาแสดงเหตุแสดงผลว่าทำไมเราจะต้องมาทำการนี้ร่วมกัน อะไรต่างๆ พวกนี้ จะต้องให้เขาเข้าใจ ต้องใช้ปัญญา แต่เพราะการใช้ปัญญาอีกด้านหนึ่งที่ขาด แล้วก็ด้านจิตใจ ด้านจิตใจก็คือต้องมีเจตนาที่ดี เจตนาที่มุ่งดี ไม่มีเจตนาร้ายต่อกัน มีความปรารถนาดีต่อส่วนรวม ปรารถนาดีต่อชุมชน ปรารถนาดีต่อกันและกัน คนที่เกี่ยวข้องน่ะ เช่นว่าเจตนานั้นประกอบด้วยเมตตา กรุณา โดยเฉพาะก็คือเมตตานี่แหละ เจตนานั้นก็คือองค์ประกอบนำในทางจิตใจ ที่ว่าจะตั้งใจยังไง แต่ว่าเจตนาจะตั้งใจยังไงก็ต้องดูคุณสมบัติ เจตนานี้ก็ต้องประกอบด้วยเมตตา ความรักความปรารถนาดี เป็นสำคัญ แล้วก็องค์ประกอบอื่นก็ว่าเข้าไป แต่เจตนาเป็นตัวสำคัญ เอาละ ให้เจตนานี้ประกอบด้วยเมตตา ความรักความปรารถนาดี เราก็ต้องพยายามสร้างอันนี้ขึ้นมาให้ได้ แล้วสองอันนี้มันก็เป็นปัจจัยต่อกัน คนจะมีเมตตาปรารถนาดีต่อกัน มันก็ต้องเข้าใจกัน ต้องมีปัญญารู้เข้าใจ อย่างน้อยรู้เหตุรู้ผลว่าทำไมเราจะต้องมีความปรารถนาดีต่อกัน เป็นมิตรกัน เพราะอย่างนี้ๆ เราอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน อะไรต่างๆ แล้วเราก็ไม่ใช่ว่าอะไรเราก็เป็นเพื่อนมนุษย์กันนี่แหละ แล้วโลกนี้ปัจจุบันมันจะอยู่เป็นสุข ก็ต้องช่วยเหลือกัน เบียดเบียนกัน มันก็เดือดร้อนไปด้วยกัน ก็แล้วแต่ว่าสรรหาเหตุผลมา ปัญญามันก็ต้องทำงาน แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะปัญญาในเชิงที่เหตุผล แต่ว่าปัญญารู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างทั่วตลอด ทำให้เราสามารถเอามาใช้เป็นฐานความคิดได้ แล้วถ้าไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพียงพอนี่มันก็ทำให้การคิดนี่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ฉะนั้นก็จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจนี่มาก เพราะฉะนั้นขั้นที่ 2 ก็ ขั้นที่หนึ่งมันไม่พร้อมพอ ก็มาขั้นที่สอง เรื่องปัญญา แล้วก็มาปรับเจตนาให้ดี ถ้าเราทำขั้นนี้ไม่สำเร็จแล้วก็ ยาก ถ้าทำให้เจตนาคนมันมาปรารถนาดี ตั้งใจดีต่อกัน มันไม่ได้ เจตนามันยังร้ายอยู่อย่างนี้ แล้วเราจะไปได้ผลอะไร การแสดงออกมันก็เป็นการไม่จริงใจ พอเจตนามันตรงมันแน่นอน มันก็จริงใจต่อกัน โดยที่ไม่ต้องตั้งใจ มันก็จริงจัง มันก็จริงใจอยู่ในตัวเลย ตอนนี้ปัญหาคือเจตนาไม่ตรงกัน ทีนี้นอกจากปัญญากับเจตนาซึ่งเป็นเรื่องภายในจิตใจแล้ว ก็ต้องมีองค์ประกอบภายนอกมาหนุน องค์ประกอบภายนอกก็คือเรื่องของขั้นปฏิบัติการ เรื่องของการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่อะไรเนี่ย มันก็จะต้องมีตัวมาช่วยหนุน ช่วยหนุ่นก็คือหลักที่จะมาประสานคนให้รู้ตรงกัน หลักการประสานคนมันก็มีอยู่แล้ว ใช้ธรรมะ ทางธรรมะนี่คำว่ารวมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็คือคำที่เป็นที่มาของคำว่าสังเคราะห์ ใช่ไหม สังเคราะห์แปลว่าเราเอาอะไรต่ออะไรมาสารต่างๆ มาประสานรวมเข้าด้วยกัน เราเรียกว่าสังเคราะห์ ก็คือรวมเข้าให้เป็นหนึ่งนั่นเอง จากหลายมาเป็นหนึ่ง สังเคราะห์นี่เราเอาใช้เป็นศัพท์รูปธรรม ที่จริงมันมาจากศัพท์ใช้กันทางสังคม ศัพท์บาลีก็คือคำว่า สังคหะ นั่นเอง สังคหะ ก็มาเป็นสังเคราะห์ แต่ว่าสังคหะ นี่เราใช้ในรูปอีกรูปหนึ่งคือ แปลเป็นไทยเป็นสงเคราะห์ พอใช้เป็นสงเคราะห์ กลายเป็นความหมายหนึ่ง สังเคราะห์กลายเป็นความหมายหนึ่ง ที่จริงศัพท์เดียวกัน ก็คือจับมารวมเข้าด้วยกัน เพราะคำว่า คหะ แปลว่า จับ สัง แปลว่า รวมเข้าด้วยกัน สังคหะ แปลว่า จับรวมเข้าด้วยกัน สังคหะ ก็สังเคราะห์ จับมารวมเข้าด้วยกัน ประมวล รวม ผนึก ประสานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังคหวัตถุนั่นเอง ก็คือหลักการประสาคนหรือรวมคนให้เป็นอันหนึ่งเดียวกัน นี่คือหลักสามัคคีโดยตรงเลย หลักสามัคคีในพุทธศาสนาก็คือหลักสังคหวัตถุ เพราะว่าหลักการสังเคราะห์คือประมวลหรือรวมพลเข้าด้วยกัน ทีนี้สังคหวัตถุ 4 นี้เป็นเรื่องของปฏิบัติการแล้ว ในชีวิตประจำวัน มันก็ต้องมามีเป็นตัวหนุนเลย เราจะทำทางด้านจิตใจอะไรต่ออะไร ได้ปัญญาอะไรต่ออะไร ทำไป แต่ด้านหนึ่งก็เนี่ย หนึ่ง-ทาน การแบ่งปัน การให้กัน สอง-ปิยะวาจา การพูดดี การสื่อสารให้ความรู้ ซึ่งมันก็สื่อถึงเรื่องปัญญาด้วย แล้วก็พูดกันดีๆ ด้วยความปรารถนาดี ไม่ใช่พูดร้าย แล้วก็อัตถจริยา ก็บำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน ช่วยเหลือกัน แล้วก็สมานัตตตา มีตนเสมอ สมานัตตตานี่แหละตัวสำคัญ สมานัตตตาก็มีหลายขั้น คือสมานะ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ บอกสมานัตตตา ก็มีอัตตาเสมอกัน นั่นเอง ก็ตัวเดียวกันนั่นแหละ ท่านใช้สมานัตตตา สมานัตตา สมานอัตตา ก็มีอัตตาเสมอกัน ก็มีอัตตาเสมอกัน อัตตายังไงเสมอกัน ก็เริ่มแต่ ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน แล้วก็ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน แล้วก็ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง มีความเสมอภาคนั่นเอง มีตนเสมอก็คือไม่แบ่งแยก ไม่ดูถูกดูหมิ่น มีความเสมอภาค แล้วสุดท้ายท่านเรียกว่า สะ-มา-นะ-สุข-ขะ-ทุก-ขะ-ตา สมานะทั้งนั้น แปลว่ามีสุขทุกข์เสมอกัน ภาษาไทยก็มาแปล มีสุขทุกข์เสมอกัน สมานะตัวนี้ก็แปลว่าร่วมสุขร่วมทุกข์ นี่สมานะ ที่แปลว่าเสมอกัน เป็นไทย ทำไมแปลว่าร่วม มีสุขทุกข์เสมอกัน ก็ ร่วมสุขร่วมทุกข์ ทีนี้ถ้าคนร่วมสุขร่วมทุกข์กันได้ ก็เข้าอยู่กันเป็นอันหนึ่งอันเดียว เราจะเห็นว่า หนึ่ง-ทาน การให้แบ่งปัน ยังเป็นคล้ายๆ ต่อกัน ปิยะวาจาก็พูดดีต่อกัน อัตถจริยาก็บำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน พอสมานัตตตานี่เข้ารวมกันเลย เข้าคลุกรวมกันอยู่ด้วยกันแล้ว ถ้ายังไม่ถึงสมานัตตตาความสามัคคีก็เป็นไปได้ยาก เพราะความสามัคคีต้องอาศัยความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความเสมอภาค แล้วก็ไปถึงร่วมสุขร่วมทุกข์ มันสมาน สมานะ เสมอ แบบสมาน ภาษาไทยนี่มันยังมีปัญหาเรื่องเสมอ เรามักจะเน้นไปในทางแย่งกัน เช่นว่าความเสมอในทางเศรษฐกิจ ว่าเสมอภาคเท่ากัน แต่คอยมองว่าเขาได้เท่าไหร่ เราได้เท่าไหร่ เขาได้มากกว่าไม่ยอม ยอมไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเสมอภาคแบบแบ่งแย่ง แต่ว่าเสมอภาคแบบธรรมะนี่เสมอแบบรวมกัน เมื่อท่านมีสุขทุกข์เสมอกันนี่มันรวมกันแน่ใช่ไหม ก็ตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่อันที่หนึ่ง เสมอกัน ไม่ดูถูกดูหมิ่น ไม่เอาเปรียบ มันเสมอแบบที่จะรวมทั้งนั้นเลย แต่ภาษาไทยนี่มันจ้องแบบจะไม่ให้ใครมากกว่าฉัน เพราะฉะนั้นมันยาก เจตนาท่าทีของจิตใจนี่มันเสียหมด ฉะนั้นเราจะต้องปรับเปลี่ยนหมดเลย ท่าทีแม้แต่พื้นฐาน ไม่ให้เป็นเสมอภาคแบบแก่งแย่ง ทำให้เป็นเสมอภาคแบบที่จะรวมกัน ทีนี่ถ้าเรามีความสุขทุกข์เสมอกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์ได้เนี่ย มันก็ทำให้เกิดความสามัคคี ทีนี้มันต้องมาประกอบช่วยกัน พอเราเข้าไปอยู่ร่วมกัน รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วเราก็มีทั้งทาน ปิยวาจา อัตถจริยา ไปด้วย มันก็เป็นเครื่องทำให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แล้วทีนี้ก็เอาปัญญามาช่วยคอยเป็นตัวปรับตัวแก้ ทำให้ชัดเจน มันก็จะได้ผลดียิ่งขึ้น เจตนามันก็เป็นตัวที่จะได้ตามมา แต่เราต้องคอยเหมือนกับว่าเป็นกัปตันที่คอยทำให้เจตนามันไม่ออกนอกลู่นอกทาง ก็คิดว่าแค่นี้ก็ได้เยอะแล้ว หรือเชิญก่อน มีอะไร
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : นมัสการพระคุณเจ้าครับ อยากจะขยายต่อเรื่องความสมานฉันท์ กราบถามพระอาจารย์หลวงพ่อก็คือว่า ถ้าสมานฉันท์ตรงนั้นเป็นเรื่องที่มันยากๆ เกี่ยวกับเรื่องความเป็นไปทางสังคม เกี่ยวกับนโยบาย เกี่ยวกับการจัดการบริหารของผู้ปกครองด้วย หลักสามัคคีที่หลวงพ่อได้พูดไว้สักครูเนี่ย มันจะมีปัญหาเพราะว่ามันต้องเจอกับคนหมู่มาก ความเข้าใจตรงกัน ความสมานฉันท์ตรงนี้อาจจะทำได้ยาก เพราะว่าความเข้าใจมันต่างระดับกัน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็นี่ที่ว่าเมื่อกี้ ขั้นที่หนึ่ง เราบอกว่ามีสมานทิฐิ สมานศีละ นี่ถ้าได้ขั้นนี้มันก็ง่าย ทีนี้ก็บอกว่าในกรณีขั้นนี้เราไม่ได้ มีไม่พอ ทำไง จึงต้องไปเน้นขั้นที่สอง ในกรณีของประเทศไทยในขณะนี้เราต้องยอมรับว่าขั้นที่หนึ่งเรามีปัญหามาก เป็นปัญหาก็เพราะขาดขั้นที่หนึ่งเนี่ย ขั้นที่หนึ่งมันไม่สมานะ มันไม่สมาน คือวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่ อะไรมันก็ไม่สมานะ แล้วก็ทิฐิ ความเชื่อถือแนวคิด มันก็ไม่เท่ากัน นี่แหละปัญหามันอยู่ที่ต้องยอมรับว่าขั้นที่หนึ่งที่เราไม่ได้ เราถึงต้องมาพยายามขั้นที่สอง ทีนี้ขั้นที่สองก็ต้องวใช้ปัญญาให้หนักสิ ปัญญาขณะนี้อาตมาว่าเราไม่ค่อยเน้น การให้ความรู้เข้าใจข้อมูล แม้แต่เรื่องวัฒนธรรมก็พูดอย่างนั้นเอง ว่านี่เป็นวัฒนธรรมของเขาของคณะนั้น ก็ไม่รู้ว่าวัฒนธรรมนั้นเป็นยังไงมายังไง แล้วก็รู้ในขอบเขตแคบๆ ไม่ได้มองทั่วโลกอะไรเป็นต้น ว่าที่วัฒนธรรมอย่างนี้มันมีความเป็นมาอย่างไร แล้วก็มันมีความแตกต่างแม้แต่ว่าในวัฒนธรรมนั้น ที่เขาบอกว่าเป็นวัฒนธรรมของหมู่นั้นหมู่นี้ ที่อื่นที่เขาเป็นหมู่นั้นหมู่นี้ เขาทำอย่างนี้หรือเปล่า ก็ไม่ได้ชัด ก็พูดกันได้หมดทั้งโลกนี้ เขาปฏิบัติเรื่องนี้กันอย่างไร ความรู้ข้อมูลแบบนี้เป็นความรู้แบบเป็นกลางๆ จะเรียกว่าข้อมูลล้วนๆ ก็ได้ ไม่มีความคิดเห็น เรื่องนี้เราต้องแยกความรู้เป็นขั้นเป็นตอน คือความรู้ประเภทเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงล้วนๆ จะเรียกว่าเป็นความรู้ที่ไม่เข้าใครออกใคร ต้องให้แบบที่เรียกว่าแทบไม่มีขีดขั้นเลย มันจะตรงใจใครไม่ตรงฉันไม่เกี่ยว มันเป็นความจริงอย่างนั้น ก็พูดไปสิ แต่ว่าเราไม่วิจารณ์ ไม่ให้ความเห็น อันนี้สังคมไทยขาดมาก ความรู้เรื่องศาสนา เรื่องวัฒนธรรม เรื่องอะไรที่ไหนเป็นยังไงก็ว่าไปสิ แล้วเราก็ไม่ต้องให้ความเห็น ไม่ให้วิจารณ์ทั้งนั้น แต่มันเป็นอย่างนี้ข้อมูล ทีนี้ขั้นที่สอง ตอนนี้ต้องระมัดระวังแล้วก็ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารที่จะถ่ายทอด เช่นจะให้ความคิดเห็น ตอนนี้ให้ความคิดเห็น วิจารณ์อะไรต่างๆ ขั้นที่สอง อันนี้อาจจะต้องจำกัดจำนวนคนที่เลือกสรรที่มีความสามารถสื่อสารให้ดี ให้เป็นปิยวาจา เป็นต้น แล้วต่อจากนั้นก็ค่อยขึ้นไปสู่ขั้นที่ว่ามาชวนกันทำอะไรต่างๆ แต่ว่าอันที่หนึ่งเวลานี้สังคมไทย อาตมาว่าขาดมาก เราพูดกันไปข้ามขั้นเลย เช่นเราพูดว่าอันนี้เป็นวัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้หมู่นี้ จบ แล้วก็ไม่ได้บอกว่าวัฒนธรรมนี้มันคือยังไง มันไปยังไง ที่ไหน เขาปฏิบัติกันยังไง แล้วต้องเน้นมาเรื่องความรู้ข้อมูลที่มันเป็นความรู้ล้วนๆ กลางๆ เป็นข้อเท็จจริง ไม่เข้าใครออกใคร มีความรู้สึกปน เวลานี้ก็ชักจะตระหนักกันมากขึ้น เพราะว่าสังคมไทยแยกความรู้กับความรู้สึกไม่ออก สังคมเรานี่หนักในด้านความรู้สึก บางทีไม่เอาความรู้ หรือเอาความรู้เข้าไปปนความรู้สึกจนความรู้มันไม่ออกมา ในความรู้ที่มันเป็นของกลางๆ ล้วนๆ แท้ๆ จะต้องเน้นให้มากเวลานี้สำหรับสังคมไทย แล้วก็ฝึกจากตัวความรู้ที่เป็นของกลางที่เป็นของจริงของแท้เนี่ย แล้วฝึกในด้านความคิด การให้ความเห็นบนฐานของความรู้ ไม่ใช่ความเห็นบนฐานของความรู้สึก เจริญพร เดี๋ยวเชิญในแง่อะไรอีก อาจจะยังตอบไม่จบก็ได้ เชิญต่อ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อล่าสุดเรื่องธรรมาธิปไตยเนี่ยครับ ในช่วงนี้ก็พยายามอ่านเยอะ หลวงพ่อได้พูดถึงเรื่องกฎหมายกับกฎธรรมชาติ กับกฎของธรรมะ แต่ปัจจุบันปรากฏว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นเนี่ย เราก็พยายามเอาตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ แล้วก็ลดความขัดแย้ง อันนี้ไม่ทราบว่าหลวงพ่อจะมีความคิดเห็นหรือว่าสิ่งที่จะให้คำแนะนำตรงนี้อย่างไร บางทีกฎหมายก็เปลี่ยนไปตามคนที่ออกกฎหมาย แล้วก็คนที่เป็นคนแปลเจตนากฎหมายได้ด้วย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คือกฎหมายนี่ก็เป็นกติกาชนิดหนึ่ง กติกาของสังคม ทีนี้กติกาเนี่ย เรามีขึ้นมาเพราะเรามีความต้องการและมีวัตถุประสงค์บางอย่าง เมื่อเรามีวัตถุประสงค์บางอย่างก็คือวัตถุประสงค์ที่เรียกว่าเป็นธรรมชาตินั่นเอง ก็คือเรามีความต้องการจะอยู่ร่วมกัน ทำการให้มันเป็นเรื่องเป็นราว เช่นอย่างนี้เอาอย่างง่ายๆ อย่างพระมาอยู่ด้วยกัน ก็ต้องมีกฎหมายหรือกฎกติกา แม้แต่เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ท่านมา เช่นมาอยู่ที่แห่งหนึ่ง เป็นวัดป่า ท่านก็ต้องมาตกลงกัน เรามาอยู่ด้วยกันแล้วก็เลยอยู่ห่างกันไกลกัน ก็ไปอยู่ตั้ง อาจจะห่างกันไปเป็นกิโล นึกถึงกัน เดินไปหากันก็ยาก อะไรอย่างนี้ แต่ระฆังเรามันได้ยินไปไกล ทีนี้เรามาตกลงกันว่าเราจะมาออกบิณฑบาตพร้อมกันเมื่อไหร่ แล้วก็จะมาฉันเวลาเท่าไหร่ แล้วก็พอสายแยกกันไป อยู่ในที่ของตนแล้ว แล้วเวลานั้นเราจะมารวมกันอีก จะมากวาดลานวัด หรือจะมาทำกิจวัตรอะไรก็แล้วแต่ เราก็มาตกลงกันนัดเวลา แล้วเพื่อจะให้ได้ผลตามเวลา ก็อาจจะมีบอกว่าทำสัญญาณ มีการตีระฆัง เป็นต้น เราก็ตีระฆังนัดหมาย ก็เกิดเป็นกติกาขึ้นมา อย่างนี้กติกาก็แปลว่าเครื่องหมายรู้ สำหรับคนที่เจริญแล้วเนี่ยก็มีปัญญารู้เหตุรู้ผล กติกานี้จะสร้างขึ้นมาด้วยความรู้เข้าใจความมุ่งหมาย แล้วก็หมายรู้กัน กฎนั้นก็ไม่ใช่เรื่องจำใจ ก็เพราะว่าเขาทำด้วยความที่เข้าใจและมีความต้องการอย่างนั้น เขาก็ใช้กฎกติกานี้ ที่ว่ากฎหมายก็คือกฎสำหรับหมายรู้ร่วมกัน ทีนี้สำหรับมนุษย์ที่ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจก็กลายเป็นถูกฝืนใจบังคับ ก็มีความรู้สึกไม่ดี ฉะนั้นกฎกติกาที่แท้เนี่ยตามพระธรรมวินัยแล้วมันมาอย่างนี้ ก็คือเป็นข้อหมายรู้ร่วมกัน เพื่อจะให้กิจการของสัมคมมันเดินไปได้ อย่างที่ว่าแม้แต่วัดป่าที่พระอรหันต์มาอยู่ด้วยกัน ท่านก็ยังต้องมีกติกา ต้องมีกฎ ไม่ใช่ว่าท่านจะอยู่โดยไม่มีกฎ กฎอย่างนี้เราเห็นชัดว่ามันมีเพื่อวัตถุประสงค์อะไร แล้วในสังคมเราก็เหมือนกัน ที่เราจะสร้างกติกากฎหมายขึ้นมานี่ ถ้ามันเป็นกฎหมายที่ดี ก็คือเรามีจุดหมายที่ดีของสังคม ต้องการให้สังคมนี้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย อย่างกฎจราจรอย่างนี้ เพื่อให้รถแต่ละคันนี้ไปได้ดี ไม่ใช่ไปกระจุก ทุกคนอยากไปเลยไปไม่ได้สักคน ใช่ไหม ทีนี้ถ้าเรามีกติกาก็มันก็ทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของทุกคนนั่นแหละ ฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่ากฎกติกาที่แท้มันคืออย่างนี้ ไม่ใช่เป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ทำขึ้นมาเป็นข้อๆ แล้วก็มาบังคับกัน ทีนี้เวลานี้คนไม่เข้าใจเรื่องกฎหมายเหล่านี้ ก็เห็นเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่มีคนฝ่ายหนึ่งกลุ่มหนึ่งหรือรัฐเอามาบังคับ แล้วเขาก็ไม่เข้าใจว่าประโยชน์มันจะเกิดขึ้นยังไง เพราะฉะนั้นการศึกษาในเรื่องนี้ไม่มี ประชาธิปไตยก็ไปยาก ถ้าปัญญาคนไม่มี ฉะนั้นก็ต้องให้การศึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ทีนี้ธรรมชาติการเมืองนี้นะครับ มันเป็นเรื่องที่ไม่มีเมตตา ไม่มีความรัก มีแต่การเอาชนะคะคานกัน ในทางการเมืองมีความเป็นไปได้แค่ไหนครับที่จะมีความสมานฉันท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คือสมานฉันท์มันมีได้เป็นบางระดับ ไม่ได้มีได้ทุกระดับ สำหรับคนที่ทำงานทำการแบบนี้ เพราะว่าเช่นว่าเขามาอยู่พรรคการเมืองต่างพรรคเนี่ย ก็แสดงว่าเขามีแนวคิดบางอย่างไม่ตรงกัน ใช่ไหม เมื่อมีแนวความคิดบางอย่างไม่ตรงกัน แล้วฉันทะบางอย่างมันจะตรงกันไม่ได้ เพราะในพรรคการเมืองนั้นเขาน่าจะมีสมานฉันท์ระดับของพรรค ก็คือต้องการทำการบางอย่างที่ร่วมกัน ตรงกัน ทีนี้ว่าแม้จะเป็นต่างพรรคการเมือง แต่ว่าเขาเป็นพรรคการเมืองเพื่อร่วมในรัฐเดียวกัน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเดียวกัน แล้วก็เพื่อระบบการปกครองประชาธิปไตยร่วมกัน เราจะมีสมานฉันท์ในระดับนั้น เราต้องแยกเป็นระดับ ก็หมายความว่าเขาสามารถขาดสมานฉันทะได้ ในระดับความต่างของพรรคการเมือง อันนี้เราต้องยอม แต่เขาควรจะมีสมานฉันทะในระดับที่เหนือพรรคการเมืองก็คืออยู่ในระดับของรัฐ ของประเทศชาติ แล้วของระบบประชาธิปไตย ทีนี้เราก็ต้องไปแยกสิ อันไหนมันเป็นสมานฉันทะที่เรายอมให้เขาขาดได้เพราะเป็นเรื่องของระดับพรรคที่เขาต้องแยกกันอยู่แล้ว แล้วระดับไหนเป็นระดับของรัฐ ของส่วนรวมทั้งประเทศ ของระบบประชาธิปไตย อันนั้นจะต้องมีสมานฉันทะ เช่นว่าเมื่อเป็นระบบประชาธิปไตย มันก็ต้องมีฉันทะที่จะทำการเพื่อให้ระบบการปกครองที่เราเรียกประชาธิปไตยเนี่ย มันดำเนินไปได้ ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง เราก็มาดูสมานฉันทะในเรื่องนี้คืออะไร แล้วจะต้องตรงกัน ถ้าเขาไม่ตรงกันอีก มันก็แสดงว่ารัฐนี้อยู่ไม่ได้แล้ว ก็คิดว่าต้องไปแยกตรงนี้ตามระดับ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปสับสนว่าจะต้องไปมีสมานฉันทะทุกเรื่อง เป็นไปไม่ได้ ยอมเลย คุณจะต่างก็ต่างกันไป ในระดับพรรค แต่ว่าที่คุณจะทำเรื่องนั้น สมานฉันท์ในเรื่องนั้นที่ต่างกับคนอื่น แต่จุดหมายของคุณนั้นก็เพื่อจุดหมายเดียวกันกับคนอื่น ใช่ไหม สำหรับรัฐ แต่ว่าความคิดเห็นในการที่จะทำการเพื่อจุดหมายนั้นของคุณของพรรคนี้มันไม่ตรงกับพรรคนั้น เพื่อจุดหมายอันเดียวกันนี่แหละ แต่พรรคนี้เขาเห็นว่าต้องทำการนี้ เขาก็ทำของเขาแบบหนึ่ง แล้วก็อีกพวกหนึ่งเขาก็เห็นอีกอย่างหนึ่ง เขาก็ทำการอีกอย่างหนึ่ง เพื่อจุดหมายเดียวกันนั่นแหละ
ผู้ฟัง (ผู้หญิง) : แล้วมันสมานกันได้แค่บางเรื่อง ถามว่ามันเรื่องอะไรที่สำคัญพอที่จะให้ประเทศชาติมันไปได้คะ พอจะให้ส่วนรวมไปได้ สาระสำคัญของสิ่งที่ต้องสมานกัน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็จุดหมายรวมของประเทศชาติ จุดหมายรวมของระบบประชาธิปไตย อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องตรงกัน อันนี้อาตมาว่าเราต้องมาแยกแล้วแหละ ไม่ใช่ว่าจะพูดขึ้นมาได้ทันที จะต้องมาแยกแยะกันแล้ว ถ้าเราได้แนวนะ เราสามารถไปแบ่งจับแยกได้ ก็อาจจะมีจัดคลาสิฟายด์มา อย่างน้อยก็มาจับจุดให้ได้ว่า มีกรณีของการกระทำเรื่องใดบ้างที่จะต้องตรงกัน แล้วนอกจากนั้นเรายอมให้ต่าง ไม่จำเป็นต้องสมานฉันท์กันทุกเรื่อง เพราะว่าสมานฉันท์อย่างที่บอกเมื่อกี้มันเป็นที่สิ่งที่กระทำ มันไม่ใช่แค่ลอยๆ มาอยู่ที่ใจ ซึ่งมันกลายเป็นเรื่องที่จับอะไรต่ออะไรไม่ค่อยได้ เจริญพร เชิญ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : กราบเรียนถามพระคุณเจ้า ท่านบอกว่าสังคมไทยนี่จะต้องให้เจริญปัญญามากๆ ให้ข้อมูลที่เป็นกลาง แล้วก็เคยอ่านของท่านว่าข้อมูลนี่ควรเป็นข้อมูลที่ว่าตั้งแต่ต้นจนปลาย ไม่ใช่ยกเฉพาะตอนที่ตัวเองต้องการมา ทีนี้ข้อมูลที่สังคมไทยหรือประชาชนได้รับในปัจจุบันนี้เนี่ย ส่วนใหญ่จะได้รับผ่านสื่อ ทีนี้สื่อก็เสนอข้อมูลที่ว่าผิดเพี้ยนบ้าง บิดเบือนบ้าง ยกเฉพาะบางตอนบ้าง ให้ข้อมูลที่เป็นกลางๆ ทั้งหมด ถ้าจะปรับปรุงสื่อเพื่อให้คนไทยได้เจริญปัญญาอย่างแท้จริงเนี่ย ควรจะปรับปรุงอย่างไร
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ออ ไปปัญหาเรื่องปรับปรุงสื่อแล้ว อันนี้มันเป็นเรื่องยาก คือมันต้องมีเจตนาที่เขาเสนอข้อมูล เป็นบางจุดบางแง่มันก็เป็นการสนองเจตนาบางอย่าง อย่างน้อยก็เช่น เจตนาให้ตื่นเต้น ข้อมูลบางอย่างมันทำให้ตื่นเต้นเฉพาะกรณี เสร็จแล้วก็แล้วไป เขาก็ไม่ได้มีเจตนาที่มันสูงเหนือขึ้นไปอีกว่าเพื่อเราจะได้รู้เข้าใจเรื่องราวนี้ จะได้ปฏิบัติในเรื่องนี้ได้ถูกต้อง เจตนาอย่างนั้นมันไม่มี มันก็เลยเอาแค่ว่าเขาตื่นเต้น ก็จบ ถ้าอย่างนี้มันก็ขาดเรื่องเจตนาด้วย เจตนานี้แหละเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เราทำการได้ถูก เจตนาที่มุ่งเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและอย่างนี้นะ คือถ้าสื่อมีเจตนานี้อยู่ เวลาเขาจะเสนอข่าวสารข้อมูล มันก็แน่ล่ะ เขาต้องคิดว่า ทำไงจะให้ประชาชรู้เข้าใจความจริง แล้วจะได้นำไปสู่จุดหมายที่ว่าจะได้ประพฤติปฎิบัติทำการอะไรได้ถูกต้อง ถ้าเจตนานี้ไม่มีมันก็ได้เจตนาที่มันกระเส็นกระสายกระจัดกระจาย ที่มันทำให้เกิดปัญหา เช่นความแบ่งแยก เป็นต้น ไม่สามารถรวมกันได้หรอก แต่ที่เด่นตอนนี้ก็คือ หนึ่ง-เจตนาให้ตื่นเต้น บางทีเจตนาตื่นเต้นเพื่ออะไร เพื่อขายหนังสือให้ได้มาก อย่างนั้นก็เป็นเจตนาสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจไป อันนี้ก็ได้ เป็นเจตนาเพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ แต่ว่ามันต้องเป็นรอง ต้องมีเจตนาที่เหนือนั้น ก็คือเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ทำไงจะให้มีอันนี้ได้ที่เขาเรียกว่าจิตสำนึกเนี่ย จิตสำนึกที่มุ่งเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน มันต้องอาศัยทุกจุดเลยนะ ตั้งแต่ผู้บริหารรัฐเลย เรามีไหมเจตนาอันนี้ ที่เขาเรียกกันว่าจิตสำนึก ที่ว่ามุ่งเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ ประชาชนเนี่ย ถ้ามันคิดจะทำอันนี้อยู่นะ ถ้ามันมีขึ้นนะ มันจะไปทำอะไรเราไม่ต้องห่วงแล้วนะ นี่แหละเจตนาที่เราต้องการแต่มันมีไหมเจตนาอันนี้ เรากำลังบ่นกันมากนะว่าเราขาดอันนี้อยู่ ฉะนั้นคนก็จะเอาแต่ตัวเอง เอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง เอาเรื่องที่เพียงแต่ หนึ่ง-เป็นของเฉพาะตัว สอง-เป็นของชั่วคราว พอวันๆหนึ่งให้ผ่านไป มันไม่มีจุดมุ่งหมายที่เป็นระยะยาว แล้วก็เป็นส่วนรวม สองอันนี้มันขาด ซึ่งเป็นอันเดียวกัน จุดมุ่งหมายที่เป็นระยะยาว แล้วก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติประชาชน ไม่มี อย่างนี้เราต้องพยายามตระหนักอันนี้ แล้วก็พยายามสร้างขึ้นให้ได้ ถ้าไม่ได้ล่ะก็ มันไปได้ยาก แล้วถ้าอันนี้มีนะ มันเป็นจุดรวมที่เจตนาของทุกคนมาสมานกันนะ เจตนาที่ทำการ ที่จะสมานฉันท์ในระดับของทั้งประเทศทั้งรัฐ ก็คือทุกคนมุ่งกระทำการเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ เพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม เพื่อประชาชน ถ้าหากมีอันนี้อยู่มันก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ในตัวแหละทุกคน ตั้งแต่ผู้บริหารประเทศชาติ จะเป็นนักการเมือง หรือจะเป็นสื่อมวลชน หรือเป็นอะไร มันก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว มันไม่แตกแยก ทีนี้ถ้ามันไม่มีอันนี้แล้วเราจะทำยังไง สมานฉันทะนี่ขาด ก็ต้องแตกกระจัดกระจายหมด ยิ่งถ้าไปเจตนาเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ มันก็กลายเป็นเรื่องของบุคคล หรือของกลุ่มชนนั้นเท่านั้นแหละ พออย่างนี้แน่นอนมันก็จะกระจาย ไม่มีทางรวมกันได้ แล้วนี่คือสมานฉันท์ใหญ่เลยของประเทศชาติ ทั้งสังคมเลย เห็นด้วยไหม
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : เจตนาเสมอกันเพื่อประโยชน์ของชาติ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ใช่ อันนี้ต้องมี ถ้ามีอันนี้ สื่อมวลชนมี ก็สบายแล้ว ผู้บริหารรัฐมี ตรงกันแล้ว เถียงกันไปไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา เพราะว่าเจตนาเขาตรงกัน
ผู้ฟัง (ผู้หญิง) : ประทานโทษขอแทรกนิดหนึ่งค่ะ ตามที่ท่านกล่าวมานะคะ สำหรับผู้ที่ฟังนี่ก็จะต้องใช้ปัญญาที่จะแยกแยะข่าวสาร อันนี้ถือว่าการที่ว่าจะให้ผู้สื่อข่าวมีเจตนาดีเนี่ย ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ฟัง ผู้รับข่าว ผู้อ่านข่าวเนี่ย ก็สามารถที่จะแยกแยะโดยใช้ปัญญาของตัวเองในการที่จะพิจารณาว่าแหล่งข่าวอันนี้มาจากแหล่งข่าวที่ไหน แต่ส่วนใหญ่ถ้าเผื่อเราจะเห็นว่าแหล่งข่าว ถ้าเผื่อไปอ่านข่าวต่างประเทศเรื่องความขัดแย้งในตะวันออกกลางในขณะนี้ เราจะเห็นว่าแหล่งข่าวมาจากสำนักข่าวอเมริกัน สังเกตว่าแหล่งข่าวมันมาจากไหน เราจะเห็นว่ามันไม่ค่อยได้มีความยุติธรรมมากนัก อันนี้ก็ถือว่าเป็นผู้รับที่มีปัญญา ประเด็นที่คุณเมื่อกี้พูดมา เรื่องเกี่ยวกับนโยบายอะไรที่จะให้หลวงพ่อตอบนะคะ ก็เห็นด้วยที่หลวงพ่อบอกว่าจะต้องแยกแยะออกไป ให้เป็นขั้นเป็นตอนเป็นส่วน อย่างเช่นเรื่องนโยบายการศึกษา มันก็จะมีนโยบายการศึกษาบางตัว บางส่วนที่จะสามารถให้พรรคต่างๆ มาร่วมสมานฉันท์กันได้ เป็นกรณีไป อาจจะไม่ใช่นโยบายการศึกษาทั้งหมด แต่เป็นตัวไหนก็ต้องแยกแยะกันไปว่าอันนี้จะสามารถให้พรรคต่างๆ เห็นด้วยไหม อย่างเช่นในต่างประเทศก็เรียกว่า ถ้าเผื่อเป็นพรรคใหญ่นะคะ เป็น??? ก็คือเป็นพรรค??? ซัพพอร์ต แล้วก็พรรคต่างๆ เขาก็จะยกมือให้ ให้ผ่านกฎหมายอันนี้ผ่าน อันนั้นเราก็จะต้องมาพิจารณากันอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นคิดว่าในสังคมไทย ถ้าเผื่อเรามีปัญญาชนที่นั่งอยู่เนี่ยทั้งหลาย พิจารณาส่วนนี้แล้วก็ส่วนรายละเอียด เอาอารมณ์ความรู้สึกออก แยกแยะข้อมูล ก็คิดว่าตรงนั้นเราจะช่วยได้ คือารมณ์ต่ออารมณ์มันก็ไม่ได้ใช้ปัญญา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อันนี้ก็เป็นข้อเสนอแนะ ก็โมทนาคืออันนี้ก็ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ว่าตอนนี้เรากำลังพูดถึงฝ่ายผู้ที่ทำงาน เช่นว่าสื่อ หรือผู้บริหารรัฐ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ทีนี้มาดูฝ่ายประชาชนเป็นผู้รับฟังสื่อ อ่านสื่อ อันนี้ก็แน่นอน เป็นการพัฒนาประชาชน ประชาชนจะรับข้อมูลข่าวสารอย่างไร เช่นว่าจะต้องมีความรู้เท่าทัน จะต้องมีปัญญาแยกแยะ อันนี้ต้องพูดกันเรื่องใหญ่เลยทีเดียว ก็ต้องพัฒนาคนนั่นแหละ แต่ว่าในแง่ของฝ่ายผู้ทำงาน เช่นสื่อ เราก็ต้องพัฒนาให้เขาเป็นคนที่มีคุณสมบัติอย่างที่ว่า ก็มีเจตนาอันนั้นแหละ แล้วประชาชนก็เช่นเดียวกัน เมื่อจะรับฟังสื่อนั้น ถ้าเขามีเจตนาเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมอยู่แล้วเนี่ย การที่จะมาแยกแยะข่าวสารก็จะง่ายขึ้น ไม่ใช่หมายความว่าจะพอนะ พัฒนาเรื่องปัญญาความสามารถในการที่จะรับข่าวสารด้วย ความที่จะแยกแยะต่างๆ ได้ เรื่องสมานฉันทะนี่มีอะไรอีกไหม เจริญพร
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : กราบเรียนถามพระอาจารย์นะครับ เรื่องสมานฉันทะ ที่ท่านพระอาจารย์ว่ามาเนี่ย มันเป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ตาม คือในความเป็นจริงของสังคม สังคมเรารวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะมองกลุ่มในแง่ใดก็ตาม เป็นกลุ่มพรรคการเมือง กลุ่มวิชาชีพ จะเป็นหมอ พยาบาล หรือว่าอื่นๆ หรือแม้แต่กระทั่งสังคมที่เป็นสังฆะ โดยปกติแล้วในการที่รวมกันเป็นกลุ่มได้ เราคงคิดว่ามันต้องมีความสมานฉันท์คืออย่างน้อยก็มีศีลเสมอกันเป็นทิฐิเสมอกัน ส่วนเรื่องเจตนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งมองเห็นได้ยาก แล้วก็คนอื่นอาจจะบอกไม่ได้ว่า แต่ละคนเป็นยังไง ปัญหามันเกิดขึ้นมาว่า ถ้ามีคนใดคนหนึ่งในกลุ่มนั้นเกิดมีเจตนาที่เบี่ยงเบนไป หรือว่ามีศีลที่มีอยู่แล้วพร่องออกไป หรือทิฐิที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะคนๆ นั้น ถ้าเป็นผู้ที่กุมอำนาจในกลุ่มด้วย เราสมาชิกในกลุ่มควรจะมีทัศนคติอย่างไร หรือควรจะกระทำอย่างไร ต่อคนๆ นั้น ซึ่งคนๆ นั้นมีศีลและก็มีทิฐิที่ต่างไปแล้ว ไม่สามารถที่จะปรองดองให้อยู่ในกลุ่มได้อีกต่อไป เรียนถามครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ไอ้ทำอย่างไร ก็อาจจะง่ายกว่าตอนที่ว่าการที่จะรู้เข้าใจว่าเป็นยังไง เพราะบางทีมันมาติดปัญหาในขั้นนี้จึงต้องเน้นปัญญา ก็ในเมื่อเราต้องการศีล เป็นสมานศีล ทิฐิ เป็นสมานทิฐิ ถ้ามันได้ มันดี แต่ทีนี้มันเกิดไม่ได้ใช่ไหม อย่างที่วาเมื่อกี้ เราจึงต้องไปเอาตรงนามธรรมที่ต้องใช้ความเพียรพยายาม ที่นี้คนที่มีปัญหาก็คือเจตนาที่มันอยู่เบื้องหลังที่ทำให้เขาทำศีลให้ผันแปรวิปริตไป ศีลที่มันวิปริตผันแปรเพราะอะไร เพราะมีเจตนาอยู่เบื้องหลัง ทีนี้ถ้าหากเจตนาไม่ดี คนอื่นก็จะต้องมีความรู้ เช่นรู้เท่าทัน ทีนี้ถ้าประชาชนเป็นต้น รู้ไม่เท่าทัน ขาดปัญญา แล้วจะแก้ยังไง มันก็กลายเป็นว่าไม่มีการรู้เท่าทัน ขออภัย เช่นว่าอาจจะถูกหลอกได้ง่ายก็ได้ อ้าว แล้วจะไปแก้ไขยังไง เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นเรื่องปัญญานี้ ทีนี้ถ้าเราไม่สามารถให้ปัญญา เกิดความรู้เข้าใจ เช่นว่ารู้เท่าทัน ปัญหามันก็เกิดขึ้น ที่ว่าแม้เจตนาดี เช่นประชาชนนั้นมีความตั้งใจทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมแต่เสร็จแล้วแกไม่รู้เท่าทันอย่างนี้ ปัญญาแกไม่มี แกก็จัดการปฏิบัติการในเรื่องนี้ไม่ถูก เพราะฉะนั้นมันต้องมีด้วยกัน เพราะปัญญาจะมาเป็นตัวปรับเจตนา ปรับทางด้านจิตใจ เมื่อปัญญามันรู้เท่าทัน มันเห็นอย่างนี้มันเข้า ใจเป็นอย่างนี้ถูกต้อง ความเป็นจริงเป็นอย่างนี้แล้ว เจตนามันก็ไปเอง เจตนาในขั้นที่ว่าจะทำการอะไร เพราะฉะนั้นปัญหาตอนนี้ก็คือการพัฒนาของสังคมเราในระดับการพัฒนาประชาชนนี้ ก็ต้องยอมรับมันยังไม่เพียงพอ ว่าเราพัฒนาปัญญาของประชาชนให้เพียงพอ ความรู้เท่าทันข่าวสารข้อมูล การศึกษาที่จะเรียนรู้เรื่องของปฏิบัติจัดการอะไรต่างๆ ในระดับประเทศชาติ สังคมมันเป็นยังไง อะไรอย่างนี้ กลไกต่างๆ ในทางรัฐอะไรนี่ ประชาชนไม่เข้าใจใช่ไหม แม้แต่เรื่องประชาธิปไตย ประชาชนจำนวนมากก็ไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยมันอยู่ตรงไหน ก็มองแค่ว่ามีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งคือประชาธิปไตย หรือว่าพานรัฐธรรมนูญคือประชาธิปไตย ก็เป็นอย่างนี้ใช่หรือเปล่าล่ะ อย่างเรื่องประชาธิปไตยนี่คนไทยมีความเข้าใจแต่ไหน มันก็กลายเป็นว่าขาดไอ้นี่ตัวสำคัญ เป็นคุณสมบัติสำคัญเลยกับตัวปัญญา ทีนี้ปัญญากับเจตนาต้องมาคู่กัน ถ้าเจตนาไม่ดี มีปัญญาก็ใช้ในทางร้ายอีก ก็กลายเป็นว่าเรามีปัญญารู้เข้าใจดีแล้ว แต่เจตนาเรามุ่งไปเช่นเพื่อประโยชน์ตน ก็เลยเอาปัญญาไปใช้เพื่อหลอกคนอื่นไปเลย คนอื่นก็เลยกลายเป็นเครื่องมือ ทีนี้ถ้าสังคมมีปัญญาดี มีความเสมอกันจริงนะ มันก็จะรู้ทันกัน ปัญหาเหล่านี้มันก็จะเบาบาง ฉะนั้นมันเป็นปัญหาของสังคมทั้งหมด ต้องเน้นเรื่องการพัฒนา คุณภาพประชาชนให้มาก ว่าทำอะไรต่ออะไรต่างๆเหล่านี้ แล้วตอนนี้เราต้องการคุณสมบัติอันนี้มาก พัฒนาคุณภาพประชาชนให้หนักหน่อย อย่างเรื่องการเลือกตั้งหรือกิจกรรมประชาธิปไตยต่างๆ เนี่ย เราก็มาเน้นกันในเรื่องของรูปแบบ ตัวกลไกว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราคิดว่าเป็นปัญญา เปล่า มันไม่ใช่ตัวปัญญา แต่ความรู้เหตุรู้ผลในเรื่องเหล่านี้ ในระบบการปกครองมันไม่มี ฉะนั้นประชาชนก็รู้จักประชาธิปไตยแค่ตัวรูปแบบ เรื่องของกลไกเนี่ยเท่านั้นเอง ยังไม่เข้าใจประชาธิปไตยเนี่ย เราจะเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ปัญญาที่รู้ประชาธิปไตยมันยังน้อย เป็นปัญหาพื้นฐานเลย เจริญพร เมื่อกี้จะถามอะไรอีก
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ครับ ความจริงเป็นคำถามร่วมกัน ตกลงเจตนากับ อะไรนะครับเมื่อกี้ จิตสำนึก
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : จิตสำนึกนี่เป็นการพูดแบบที่เรียกว่าเน้นจุดหนึ่ง เน้นจุดหนึ่งที่ไปสัมพันธ์กับเป้าหมาย เช่นว่าจิตสำนึกทางสังคมก็หมายความว่าเรามีเป้าหมายทางสังคมว่าทุกคนควรจะช่วยกันสร้างสรรค์สังคมนี้ แล้วเราก็มีจิตที่ตั้ง หรือมุ่งหมายไปที่ตัวประโยชน์ของสังคมอันนี้ เจตนาตัวนี้เป็นเจตนาเฉพาะเลย เรียกว่าจิตสำนึก จิตสำนึกที่เป็นเจตนาเฉพาะเรื่องไปเลย แต่เจตนานี้เป็นคำกลางๆ ใช้ได้กลางๆ เจตนาในกรณีของจิตสำนึกในสังคมก็คือเจตนาที่ตั้งใจดีที่จะทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน นั่นเอง คือมันจะมาด้วยกัน ถ้าเราไม่มีจิตสำนึก เจตนาตัวนี้มันก็อ่อน พอมีจิตสำนึกขึ้นมา มันก็ย้ำว่าเจตนาตัวนี้ให้มันเด่นขึ้นมาเลย จิตสำนึกนี้มันจะไม่ขาดเจตนา เพราะว่าเจตนาเป็นตัวที่คุมแนวทางของจิตใจ จิตใจมุ่งไปที่ไหนก็คือเจตนานั่นเอง ความตั้งใจ จิตใจที่มุ่งหมายไปที่ไหน การเลือกว่าจะเอาอะไรเนี่ยเจตนาทั้งนั้น ??? เจตนานั่นเอง แปลกันต่างๆ บางคนแปลว่า will บางคนแปลว่า intention บางคนแปลว่า volition ใช้กันต่างๆ เพราะว่ายังหาศัพท์ที่มันตรงแท้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นนักธรรมะหลายท่านก็จะใช้ต่างๆ แต่ที่ใช้กันมากก็มีเนี่ย volition สอง-will สาม- intention สี่-บางท่านใช้ choice ก็การเลือก เลือกจะเอายังไงก็เป็นเจตนา ฉะนั้นก็ใช้กันต่างๆ รวมความก็คือไม่สามารถหาศัพท์ที่ตรงเป๋ง เจริญพร
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : คำถามตรงๆ ก็คือว่าถ้าเราเจอคนที่มีอำนาจ แล้วก็ฉลาดด้วย ได้ทำการกระทำที่ใช้อำนาจโดยมิชอบธรรม คือได้ทำความชั่วไปแล้ว แล้วพยายามจะใช้คำว่าสมานฉันท์เนี่ยมาเป็นเรื่องของการที่เหมือนกับว่าเบี่ยงเบนให้สังคม ให้ยอมรับในความชั่ว หรือการกระทำที่ไม่ชอบธรรมเขาไปแล้ว ตรงนี้เราจะทำยังไง ผมทราบดีที่หลวงพ่อบอกว่าการจะสมานฉันท์ได้ แล้วทุกคนตื่นตัว รู้เจตนาที่รู้ทันกันได้นี่ก็คืออยู่ที่ปัญญา แต่บางครั้งพอคนที่มีอำนาจมากแล้วฉลาดมากเนี่ย ก็สามารถทำอะไรที่เกิดผลเสียต่อประเทศชาติได้ เกินกว่าที่เราจะปล่อยให้ความเสียหายมันเกิดขึ้นเนี่ย แล้วพอใช้สมานฉันท์เป็นเครื่องมือในการที่จะทำให้สังคมเนี่ยลืมสิ่งที่เขาทำชั่วไปแล้วเนี่ย ตรงนี้เราจะทำยังไงครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เราก็ต้องให้คนรู้ว่า สมานฉันท์ นี่หนึ่ง-ก็ใช้กันอย่างคลุมเครือ สอง-เราก็ต้องรู้ว่าในกรณีที่คลุมเครือนั้นมันใช้เป็นกลอุบายได้นะ ก็ต้องรู้ทันอย่างนี้ด้วยสิ สมานฉันท์ที่แท้ ก็ต้องมาย้ำเตือนกันว่า อะไรคือสมานฉันท์ที่แท้ แล้วจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มันก็ต้องทำความชัดเจนด้วย เพราะขณะนี้ปัญหามันก็อยู่ที่ว่าคลุมเครือนี่ สังคมใช้กันอย่างคลุมเครือ ก็ไม่รู้ว่าอะไรกันสมานฉันท์ ก็อ้างกันไปเรื่อย
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ??? อาจจะต้องที่อาจารย์ประเวศได้เขียนบทความไว้ด้วยไหมครับว่า ให้ยกเรื่องที่ท่านพุทธทาสได้ยกหลักธรรม อะ-ตัม-ยะ-ตา-คะ-ถา ก่อนหรือเปล่าครับ ถึงจะมาสมานฉันท์ได้ครับ แต่นี่กราบเรียนถามด้วยความว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องกำจัดความชั่วร้ายหรือเปล่าครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ไอ้ความชั่วร้าย มันแน่นอน มันต้องพยามยามกำจัดให้หมดไป แต่ว่าถ้ากำจัดตัวความชั่วร้ายได้ก็ดี โดยไม่ต้องกำจัดคนร้าย หมายความว่ากำจัดความร้ายในคนร้าย ให้เขากลายเป็นคนดี ถ้าทำได้มันก็จะดี ทีนี้ว่าทำไงละ มันแก้ยาก ใช่ไหม ทีนี้ถ้าหากว่าประชาชนมีปัญญารู้เท่าทันดีเนี่ย มันก็เป็นการทำอะไรที่มันเป็นการเบี่ยงเบนวิปริตด้วยเจตนา ไม่ชอบธรรม ได้ยาก ทีนี้เจตนาตัวนี้ ถ้าปัญญาขาด มันก็ได้โอกาส เพราะฉะนั้นปัญญากับเจตนามันต้องคู่กันนะ ปัญญามันเป็นตัวทำให้เจตนาเนี่ยอยู่ในกรอบที่ถูกต้อง ไม่เบี่ยงเบน แล้วปรับแก้ได้
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ประเด็นสมานฉันท์ มีใครจะยกประเด็นอะไรอีกไหมครับ ??? ท่านเหนื่อยไหมครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ไม่เป็นไร พอเริ่มแล้วก็ไปแหละ