แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร วันนี้อาตมภาพก็คิดว่าจะกล่าวธรรมกถาเพียงสั้นๆ ปรารภเรื่องศรัทธา ที่จะพูดเรื่องศรัทธาในวันนี้ก็โดยที่ว่าได้พูดเรื่องฤทธิ หรือความเจริญของอริยสาวกไว้ 5 อย่าง มี ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ศรัทธาก็เป็นข้อแรก เมื่อพูดไว้แล้วก็นำมาขยายความเป็นข้อๆ ไป และอีกอย่างหนึ่งก็ปรารภถึงการที่คุณโยมก็เป็นผู้มีศรัทธาในพระศาสนา บำรุงพระสงฆ์ ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม อยู่เป็นประจำ ก็นึกถึงว่าการที่โยมได้มีศรัทธาปฏิบัติในทางพระศาสนาอยู่สม่ำเสมอเช่นนี้ ก็นับว่าเป็นที่น่าอนุโมทนา ก็ควรจะนำคำว่าศรัทธานั้น มากล่าวมาชี้แจงอธิบาย หรือกล่าวถึงคุณประโยชน์
ศรัทธาอันนี้คือองค์ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้บ่อยๆ โดยมากตรัสไว้เป็นข้อแรก แล้วข้อสุดท้ายมักตรัสปัญญากำกับไว้ หมายความว่าที่ท่านสอนให้มีศรัทธานั้นนะ ท่านจะสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาควบคุมไว้ด้วยเสมอ เพื่อที่ศรัทธาเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ถ้าหากว่าศรัทธาเนี่ยเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผลแล้ว ก็จะได้ผลได้อานิสงค์เจริญก้าวหน้าในคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่นี้ลักษณะของศรัทธา ท่านกล่าวไว้ว่าศรัทธานั้นมีลักษณะผ่องใส คือทำจิตให้ผ่องใส คำเปรียบในสมัยโบราณนี้มีวัตถุหรือสารชนิดหนึ่งที่ช่วยให้น้ำใส น้ำที่ขุ่นมัวมาเนี่ย เราตักเอามาใหม่ๆ ก็ข้นขุ่น ก็แล้วเอาวัตถุชนิดนี้ก็คือสารส้มไปแกว่งซักพักหนึ่งก็จะนอนก้นหมด สิ่งที่ทำให้ขุ่นมัวก็ลงไปนอนข้างล่าง น้ำก็จะใสทั้งตุ่มน้ำทั้งภาชนะนั้น สารส้มนี้เป็นเครื่องทำให้น้ำใสฉันใด ศรัทธาก็ทำให้จิตใจผ่องใสฉันนั้น ผู้ใดมีศรัทธาแล้วจิตใจจะผ่องใส แล้วอีกอย่างหนึ่งท่านบอกว่า นอกจากผ่องใสแช่มชื่นเบิกบานแล้ว ก็พุ่งแล่นไป ทำให้จิตนี้พุ่งแล่นไป คือพุ่งแล่นไปหาสิ่งที่ดีงามที่เราเชื่อเราเลื่อมใสนั้น เช่นว่า มีความเชื่อในพระรัตนตรัยจิตก็จะพุ่งแล่นไปหาพระรัตนตรัย เมื่อจิตไปอยู่กับสิ่งที่ดีงามแล้ว ก็นำไปสิ่งที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไปเช่นว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราละเว้นความชั่วทำสิ่งที่ดีงาม เราก็ปฏิบัติตามนั้น ก็เลยได้ทำสิ่งที่ดีงามเป็นบุญเป็นกุศล แล้วก็เกิดความเบิกบานผ่องใสยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นศรัทธาเนี่ย จึงเป็นองค์ธรรมที่สำคัญมาก ที่จะช่วยให้เราก้าวหน้าไปในพระธรรม หรือว่าแม้แต่ในการดำเนินชีวิต เมื่อศรัทธามีลักษณะผ่องใส แล้วก็พุ่งแล่นไปเนี่ย จึงมีคุณประโยชน์หลายอย่าง
อย่างแรก ก็คือทำให้มีกำลัง คนที่มีศรัทธานั้นจะมีกำลัง ท่านเปรียบ มีพุทธภาษิตบอกว่า สทฺธาย ตรติ โอฆํ คนย่อมข้ามห้วงน้ำได้ด้วยศรัทธา คำว่าห้วงน้ำนี้ก็มีทั้งห้วงน้ำสามัญ และห้วงน้ำในทางธรรมะ ห้วงน้ำสามัญก็คือว่าทะเลใหญ่ มหาสมุทร อันนี้ก็เป็นห้วงน้ำสามัญ ยิ่งในสมัยโบราณแล้ว คนที่เดินทะเล วิ่งเรือไปในมหาสมุทรนั่นนะ จะรู้สึกอ้างว้างมาก เป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่งทีเดียว แม้สมัยปัจจุบันนี้ก็ยังมีความน่ากลัวอยู่ เพราะมองไม่เห็นฝั่งเห็นแต่ขอบฟ้า ไม่รู้ว่าจุดมุ่งหมายนั้น แม้เราจะรู้ แต่เราก็ไม่เห็นว่ามันเป็นอย่างไร เราจะไปถึงหรือไม่ จะประสบอะไรต่อไป แต่ถ้ามีความเชื่อมั่น มีศรัทธาในที่นี่หมายถึง ความเชื่ออย่างธรรมดา เชื่อว่าทางที่เราไปนั้นถูกต้องแล้วจะไปถึงจุดหมายแน่นอน และเราได้ตระเตรียมการพอ เรามีกำลัง เรามีความสามารถ เรือของเราใหญ่พอ แน่นหนาแข็งแรง มีกัปตันที่สามารถ เนี่ยเป็นเรื่องที่ทำให้เราเกิดความเชื่อ ถ้าได้คำนึงนึกถึงสิ่งเหล่านี้แล้วมีความเชื่อมีศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว ก็มีกำลังที่จะเดินไปในทะเล แล้วก็ข้ามไปได้จนสำเร็จ
นี่ถ้าหาไม่มีความศรัทธาความเชื่อนี้ คนจะท้อถอยท้อแท้หมดกำลัง อาจจะถึงกับไม่กล้าลงเรือไม่กล้าที่จะวิ่งเรือออกไป เพราะฉะนั้นศรัทธาเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้ เราไปสู่ความสำเร็จอย่างที่ว่าข้ามโอฆะ ข้ามห้วงน้ำใหญ่ข้ามได้ด้วยศรัทธา ในทางธรรมะที่เป็นนามธรรมก็เหมือนกัน ห้วงน้ำใหญ่ก็คือวัฏสงสาร หรือความเป็นไปในชีวิตของเรานี้ ซึ่งเรามองไม่เห็นจุดหมายข้างหน้า ที่ไปข้างหน้าไม่มีความแน่นอน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะพบอุปสรรคอะไร
แต่ถ้าหากว่าเรามีศรัทธา เราก็มีความเชื่อต่อพระรัตนตรัย เชื่อต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อเชื่อแล้ว เราก็มองเห็นจุดหมาย เชื่อในคำสอนของพระองค์ว่าสอนถูกต้อง เราจะดำเนินตามนี้แหละอย่างมั่นใจ แล้วก็เชื่อในตัวเรา ที่บำเพ็ญตามคำสอนของพระองค์ว่า เมื่อปฏิบัติอย่างนี้แล้ว เราเรียกว่ามีทุนมีรอนพอ เราก็เหมือนกับว่าคนเดินทางที่เตรียมเสบียงไว้พรั่งพร้อมแล้ว แล้วก็เราเองก็เป็นคนที่มีจิตใจที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม เหมือนกับเป็นกัปตันที่มีความสามารถมีความชำนาญ ก็ทำให้มีความมั่นใจในตนเองว่าจะสามารถก้าวหน้าไปได้ดี เดินทางไปสู่ความสุขความเจริญในระหว่างที่อยู่สังสารวัฏนี้
ถ้ามีศรัทธาอย่างนี้แล้วก็สามารถข้ามโอฆะสงสาร ข้ามห้วงแห่งความทุกข์ ข้ามทะเลแห่งชีวิตนี้ไปสู่ความสุข ไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนาได้ แม้แต่ระหว่างเดินทางนี้เราก็มีความสุขอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นศรัทธานั้นเป็นกำลัง การที่เราจะทำอะไรต่างๆ ทำความดีงามทำบุญทำกุศล ก็ด้วยอาศัยศรัทธานี้เป็นกำลังผลักดันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นศรัทธาเนี่ย จึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นกำลังให้เราได้ทำอะไรต่ออะไรได้ไปสู่ความสำเร็จ อันนี้เป็นด้านที่หนึ่ง ในเมื่อเรามีศรัทธาแล้วก็มีกำลัง ที่นี้นอกจากมีกำลังแล้ว
ประการที่สองก็คือ ลักษณะของศรัทธาอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ คือตลอดเวลาที่เรามีศรัทธานั้น และกำลังเดินทางอยู่นั้น จิตใจก็ผ่องใสเบิกบานมีความสุขไปด้วย ท่านเรียกศรัทธานี้ว่าเป็นเพื่อนใจของคน คนที่มีศรัทธานั้นเหมือนมีเพื่อนใจมีเพื่อนอยู่ข้างใน ไม่ว้าเหว่ไม่อ้างว้าง คนทั่วไปนั้น ถ้าอยู่คนเดียวแล้วมีทางที่จะว้าเหว่ได้มาก หรือแม้แต่ไปอยู่ท่ามกลางคนอื่นแล้วถ้าเขาไม่เอาใจใส่เรา เราก็ว้าเหว่เหมือนกัน เหมือนกับไม่มีเพื่อน
แต่ถ้าเป็นคนที่มีศรัทธา จิตใจประกอบด้วยศรัทธา มั่นใจในคุณธรรมความดี มั่นใจเชื่อในพระรัตนตรัยจิตใจก็ผ่องใสเบิกบานได้ เหมือนกับมีเพื่อนอยู่ในตัวเอง แล้วก็ทำให้ไม่อ้างว้างไม่ว้าเหว่มีความอบอุ่นใจอยู่ด้วยเสมอ เพราะฉะนั้นศรัทธาเนี่ยจะเป็นเพื่อนใจ ที่อยู่ภายในตัว อยู่ได้ตลอดเวลา เป็นเพื่อนที่แน่นอนยิ่งกว่าเพื่อนภายนอก เพราะเพื่อนภายนอกนั้น จะอยู่กับเราไม่ได้ตลอดทุกเวลา แล้วบางเวลาเพื่อนก็ช่วยได้บ้างช่วยไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะข้างในจิตใจนั้น ไม่มีใครสามารถเข้าไปช่วยถึงได้ทุกกาลทุกเวลา แต่ถ้ามีศรัทธาแล้ว ศรัทธานี่แหละ จะเป็นเครื่องช่วยปลอบประโลมใจ ทำให้เกิดความแช่มชื่นผ่องใสอยู่ได้ตลอดทุกเวลา อันนี้ก็เป็นคุณานิสงส์อีกประการหนึ่งของความมีศรัทธา นี้เป็นประการที่สอง
ที่นี้ ต่อไปประการที่สาม ก็คือศรัทธานั้นย่อมนำไปสู่ปัญญา เพราะเมื่อมีความเชื่อ เช่นเชื่อพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ทำให้มาฟังคำสอนของพระพุทธองค์ เมื่อฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ก็ได้รับความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีปัญญามากขึ้น ยิ่งเมื่อได้ปฏิบัติตามก็ได้ประจักษ์ได้รับความรู้ ผลจากการปฏิบัตินั้นแจ้งกับตนเอง ก็ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ที่มีศรัทธามักปฏิบัติถูกต้อง ก็เจริญด้วยปัญญายิ่งยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งในที่สุดก็บรรลุจุดหมายของคำสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วศรัทธานี้จะศรัทธาที่เบื้องต้นเป็นโลกียะ ก็จะกลายเป็นศรัทธาที่เป็นโลกุตระ กล่าวคือศรัทธานั้นท่านแบ่งเป็นสองอย่าง อย่างแรกเป็นขั้นโลกียะ ศรัทธาที่เป็นโลกียะก็คือศรัทธาของคนทั่วๆ ไป เช่นว่าเมื่อเรามีความเชื่อในพระรัตนตรัย ความเชื่อของเรานี้ เกิดจากการที่ได้ถ่ายทอดกันมาบ้าง เกิดจากการสดับตรับฟังบ้าง และเกิดจากการมองเห็นด้วยเหตุผลด้วยปัญญาเบื้องต้นบ้าง แต่เรายังไม่ได้ประจักษ์ ผลนี่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลด้วยตนเอง เราก็มีความเชื่อที่เป็นศรัทธาฝากไว้กับที่ผู้อื่น ฝากไว้กับพระรัตนตรัย ฝากไว้กับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครั้นเราเจริญก้าวหน้าไปในธรรมะ ก็ได้อาศัยศรัทธานั่นแหละ ได้บรรลุคุณธรรมไปจนกระทั่งบรรลุมรรคผล ก็ได้ประสบผลประจักษ์ในการปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง เมื่อนั้นความเชื่อ ความเลื่อมใส หรือศรัทธานี้ก็จะมั่นคง หนักแน่นไม่คลอนแคลนไม่หวั่นไหว เขาเรียกว่าเป็นโลกุตรศรัทธา เพราะประจักษ์เห็นผลกับตนเอง ศรัทธาที่นำไปถึงขั้นโลกุตระแล้วก็ ให้บรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา บรรลุวิมุตติ ความหลุดพ้น บรรลุนิพพานต่อไป
อันนี้ก็เป็นคุณานิสงส์ต่างๆ ที่สามารถจะเกิดได้จากศรัทธา อาตมภาพก็ขออนุโมทนาโยมที่มีศรัทธาในพระศาสนา มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จึงทำให้สามารถบำเพ็ญบุญกุศลต่างๆ เป็นอันมาก ทั้งในส่วนทาน ส่วนศีล และส่วนภาวนา เช่น การฟังธรรม เป็นต้น ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมาแล้ว ก็ขอให้โยมได้รับอานิสงส์แห่งศรัทธานั้น ทั้งในด้านที่เป็นกำลัง ที่จะทำให้ทำความดียิ่งขึ้นไป ทั้งในด้านที่เป็นความแช่มชื่นเบิกบานผ่องใสของจิตใจ อย่างที่กล่าวว่ามีเพื่อนในใจนั้น แล้วก็ทั้งในด้านที่จะเจริญด้วยปัญญา ให้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าจนถึงที่สุดบรรลุจุดหมายของพระศาสนาดังกล่าวมานั้น อาตมภาพก็ขอกล่าวธรรมคาถาในวันนี้ด้วยเรื่องศรัทธาเพียงเท่านี้โดยสมควรแก่เวลา ขออนุโมทนาโยม