แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:58]
สมเด็จฯ : คุยกันไม่ได้มีขีดคั่น คุยได้หมด นิมนต์ ๆ
พระ: ก็มีคำถามที่อยากเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อ อยู่ 2-3 คำถาม ผมขออนุญาตเรียนถามข้อหนึ่งและข้อสองไปในครั้งเดียว เพราะคำถามเป็นไปในแนวเดียวกัน
คำถามข้อที่ 1 คือ เราจะมีวิธีการวางท่าทีของจิตใจและมีแนวปฏิบัติอย่างไร เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของตัวเราเอง หรือคนรอบข้างตัวเราที่เรารัก เช่น คุณพ่อ คุณแม่ เช่น กรณีป่วยเป็นมะเร็ง และมีภาวะความเจ็บปวด มีความทุกข์ทรมาน มีเวทนาแรงกล้าขึ้นเรื่อย ๆ เราจะวางท่าทีที่ถูกต้องของจิตใจ และการประพฤติตัวอย่างไรจึงจะถูกต้อง
ในข้อที่ 2 ที่ถัดจากเรื่องความเจ็บป่วยก็คือ เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตกำลังมาถึง การปฏิบัติเพื่อรับกับความตายที่อยู่ตรงหน้าในขณะนั้น เราควรจะวางท่าทีอย่างไร และจะปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะเราได้รับการศึกษามาว่า ผู้ที่กำลังจะตายถ้าจิตดับในขณะนั้น ถ้าเป็นอกุศลจะไปเกิดในอบายภูมิ แต่ถ้าจิตเป็นกุศลจะไปเกิดในสุคติภูมิ ประเด็นนี้สมมติถ้าตัวเรากำลังจะตายเราจะต้องทำอย่างไร และถ้าญาติพี่น้องรอบข้าง เขาควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะถูกต้อง รบกวนเรียนถามพระเดชพระคุณครับ
สมเด็จฯ : เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ถามกันเยอะนะ เพราะว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเป็นเรื่องประจำชีวิตเลย ฉะนั้นก็เป็นเรื่องคำถามของชีวิต ทีนี้เรื่องเจ็บป่วยก็เริ่มที่ตัวก่อน ตัวเราก็เจ็บป่วย เราก็ถือเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง ในแง่หนึ่งก็เป็นการได้เรียนรู้ เราก็ได้ศึกษาในแง่ของตัวโรคภัยไข้เจ็บนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ศึกษาชีวิตเราด้วย แล้วก็ได้เรียนรู้มีประสบการณ์การเจ็บปวด บางทีก็นึกในแง่ว่าเราได้ผ่านประสบการณ์อย่างผ่าตัด ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หลายคนไม่รู้จัก เกิดมาทั้งทีก็ยังได้อุตส่าห์มีประสบการณ์อันนี้ที่คนอื่นไม่ได้รู้ เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยาก การเจ็บปวดบางทีเราก็มีความเจ็บปวดที่คนอื่นไม่ได้เจอ เวลาเจ็บปวดนั้นเราก็เจ็บปวดแหละ แต่เวลาผ่านไปแล้วมันสนุกเหมือนกันแหละ ได้มานึกถึง แล้วมันก็ผ่านไป คือว่า สิ่งเหล่านี้เวลาเจอเดี๋ยวมันก็ผ่านไป มันไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา เราอย่าไปซ้ำเติมด้วยการปรุงแต่งความคิดใช่ไหม มันเป็นเวทนา เจ็บปวดก็รู้ว่าเจ็บปวด
มันมีอีกแง่หนึ่งก็คือว่า สิ่งเหล่านี้บางทีมันเตือนใจเรา ที่จริงมันก็เตือนแหละ บางทีเราอยู่ไปเราไม่ได้นึก เรามัวทำการงานมีภาระอะไรอยู่ เราเจ็บปวดขึ้นมา ทำให้เรานึกขึ้นได้ โอ้ นี่โรคนี้ที่เราเป็นเนี่ย มันก็ทุกข์ทรมานอย่างนี้ แต่เรายังมีที่อยู่ ที่ฉัน ที่นอน มีคนดูแลบ้าง หรืออย่างน้อยคนก็ช่วยพาไปหาหมอ อย่างที่เคยพูด ทีนี้ทำให้นึกไปถึงว่าแล้วคนอื่น คนมากมายในสังคมนี้ที่เขายากไร้ ญาติมิตรก็ไม่มี เงินทองก็ไม่มี แล้วเขาเจอเข้าอย่างนี้ เขาจะลำบากทุกข์ทรมานขนาดไหน พอนึกขึ้นมาอย่างนี้แล้ว เรื่องของเราเล็กเลย
บางคนนี้จะมัวนึกวุ่นวายอยู่กับตัวเอง ทำไมจะต้องเป็นฉันด้วย ทำไมฉันต้องเจ็บปวดอะไรอย่างนี้ ก็ยิ่งซ้ำเติมตัวเอง ที่จริงคนมันก็เป็นกันเยอะ ไม่ใช่ว่าทำไมจะต้องเป็นฉัน คนอื่นก็เป็นเยอะ พอเรานึกขึ้นมาอย่างนี้มันกลับเตือนใจให้เรานึกได้ถึงคนอื่นที่เขามีทุกข์มากมาย แล้วมันก็ทำให้เรานึกขึ้นมาว่า คนที่เขาเป็นอย่างนั้นเขาจะลำบากแค่ไหน เรามีทางช่วยยังไง เราก็เลยยิ่งนึกขึ้นมาใหญ่ ตอนนี้ความเจ็บปวดของเราก็กลายเป็นเรื่องเบาเลย เล็กน้อยไปเลย ไม่ค่อยมีความสำคัญ อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่ง ฉะนั้นคนที่มัวแต่วุ่นวาย ความคิดอยู่กับตัวเอง ก็จะทำให้ยิ่งทุกข์มาก ถ้าหากว่าใจมองกว้างออกไปนั่นก็คือ คุณธรรมกรุณา ถูกปลุกหรือกระตุ้นขึ้นมาแล้ว มันจะทำให้เราทุกข์น้อยลงด้วยซ้ำ มันเป็นไปเองโดยธรรมชาติ นี่ก็แง่หนึ่ง
[06:03] เรื่องของการหาประโยชน์จากสถานการณ์ การเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เป็นสถานการณ์อย่างหนึ่ง เราก็ต้องใช้มันให้เป็น ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เราก็ต้องดูว่า เช่น โรคนี้มันเป็นภัยต่อชีวิตเรา มันจะทำให้ชีวิตเราสั้นลงไหม ถ้าอายุสั้น เราก็จะได้กะวางแผนชีวิตสิ ว่าเราจะมีเวลาสักเท่าไร แล้วเราจะใช้เวลานี้อย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์ที่สุด อันนี้ก็อย่าง หรือ ถ้ามันไม่ใช่เรื่องของกาลเวลาที่เหลือเท่าไร มันอาจจะเป็นเจ็บป่วยเรื้อรังอย่างนี้ เราก็มามองในแง่ของการวางแผนชีวิตเหมือนกันว่า เราจะเป็นอยู่อย่างไรจึงจะเหมาะกับโรคนี้ เป็นอยู่ให้เหมาะกันที่สุด เราจะได้เป็นอยู่ให้ดี แล้วก็จะได้ใช้ประโยชน์จากสภาพของชีวิตแบบนี้ โรคหลายอย่างมันกลับเป็นโอกาส บางทีสิ่งที่เราจะไม่ได้ทำกลับได้ทำ แล้วก็กลับเป็นได้ประโยชน์มาก เป็นอย่างนี้เยอะ เพราะฉะนั้นจึงได้เคยพูดบอกว่า
หลักความจริงมีอยู่ว่า ความไม่มีโรคเป็นยอดลาภ หรือ เป็นลาภอันประเสริฐ ก็จริง เมื่อไม่มีโรคมันก็เป็นลาภ ทำให้เรามีร่างกายที่เอาไปใช้ประโยชน์ ทำอะไรต่ออะไรได้สะดวก แต่ทีนี้ถ้าเกิดเป็นโรค ก็ต้องทำโรคให้เป็นลาภ
ใช่ไหม? ทำอย่างไร? ท่านก็ต้องคิดหาทาง เหมือนกัน บางทีอย่างที่ว่าแหละสภาพชีวิตแบบนั้นมันเกื้อกูลต่องาน หรือสถานการณ์ หรือการกระทำ หรืออะไรมันก็เป็นลาภได้สักอย่าง บางอย่างถ้าเราไม่ป่วยเราอาจจะหาโอกาสทำได้ยาก พอเราป่วยเรากลับทำได้ดี
[08:08] แล้วตอนนี้อันนี้มันยังโยงไปถึงตายด้วยนะ คือ ทางพุทธศาสนานี้ถือว่า คนมีโอกาสที่สูงสุดจนกระทั่งวินาทีสุดท้าย แล้วก็คนจะตายอาจจะได้สิ่งที่ประเสริฐ อย่างที่คนอยู่อีกร้อยปีก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีใครเสียเปรียบใคร คนที่แย่ก็อาจจะได้บรรลุธรรมสูงสุดตอนที่จะตายนั่นแหละ อันนี้ก็มาตอบโยงเรื่องตายด้วย คือ เรื่องตายมันก็มีด้านจิต กับด้านปัญญา สองด้านนี้ ที่จะต้องรู้จักจัด ปรับให้ได้ผลดี จิตทำอย่างไรให้จิตมันดี ผ่องใส เป็นกุศล จิตนั้นอยู่กับสิ่งที่มาช่วยให้จิตของเรามีความร่าเริง บันเทิง หรือว่ามีความผ่องใส อย่างน้อยก็ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง รักษาจิตได้ ก็ให้สติไปยึดอยู่กับสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้นโบราณจึงถือกันมา เหมือนกับว่าคนที่เจ็บป่วยอย่างหนักบางทีก็ทำให้ทุรนทุราย จนกระทั่งว่าจิตใจก็ฟุ้งซ่าน ก็เลยต้องอาศัยคนใกล้ชิด เช่น ลูกหลาน หรือ จะเป็นใครก็ตาม หรือแม้ไม่มีก็นิมนต์พระมา เพื่อมาช่วย มาช่วยก็คือ มาช่วยให้สติ มาช่วยที่จะให้จิตของเขามาผูก หรือ มานึกได้ ให้มาอยู่กับสิ่งที่ดีงาม ตอนนั้นจิตมันจะวุ่นวายมาก แล้วถ้ามันเกิดไปจับไอ้สิ่งที่ไม่ดี ที่จะทำให้ขุ่นมัว เศร้าหมอง มีแต่ความทุกข์ จิตมันก็จะไม่เป็นกุศลเป็นอย่างมาก นั่นก็ คนมาให้สติ
ทีนี้ถ้าตัวเองทำได้ยิ่งดีก็คือ ฝึกไว้ ตามปกติก็ไม่ปล่อยใจเรื่อยเปื่อย คือ มีความสามารถในการที่จะใช้สติ ก็เอาสติเป็นตัวดึง ดึงจิตไว้กับอารมณ์ หรือจะเรียกว่าดึงอารมณ์มาไว้กับจิต ดึงอะไรก็ได้ที่มันดีๆ แทนที่จะปล่อยจิตให้มันไปจับกับสิ่งที่ไม่ดี โดยมากจิตคนเราถ้าไม่ได้ฝึก มันก็ไปกันกับเรื่องที่เข้ามา โดยเฉพาะยิ่งสิ่งที่มันเป็นทุกข์ มีความไม่สบาย มันเป็นเรื่องของสิ่งที่ทำให้จิตใจไม่ดี บางทีมันมีความกระตุ้นแรง แล้วจิตมันก็ไปผูกกับสิ่งนั้น ทีนี้ก็ไปกันใหญ่เลย ทุรนทุราย ไม่มีสติ ฟั่นเฟือนไปเลย ทีนี้ก็ถ้าเรามีสติ ก็ไปดึงเอาอารมณ์ที่ดีๆ มา เหมือนอย่างที่ว่าถ้าตัวเองทำไม่ได้ ก็เอาคนใกล้ชิด พระมา ทีนี้ถ้าคนใกล้ชิดเป็นคนที่รู้หลักเป็นก็จะให้สติได้ดี เช่น ยังถ้าอยู่กับคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ถ้านึกอะไรไม่ออกเลย ก็เอาบทสวดมนต์มาหรือ อ่านหนังสืออะไรให้ฟัง หรือพูดกับท่าน คุยกัน ให้ท่านนึกว่า เออ เมื่อปีนั้น หรือเมื่ออายุเท่านั้น เมื่อกี่ปีมาแล้ว เราเคยไปเที่ยวกัน ไปนมัสการพระที่นั่น อะไรอย่างนี้ ไปนึกทวนเอาเรื่องที่ดีๆ สิ่งที่เคยทำที่มันเด่นๆ บางทีท่านทำอะไรไว้ที่เด่นๆ ที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ดีก็ไปดึงเอามา ถ้าไม่มีคนไปเตือนสติอย่างนี้ ก็นึกไม่ออก แล้วจิตมันก็จะฟุ้งไปกับสิ่งที่ไม่ดี เราก็ไปช่วยจับเอาไอ้สิ่งที่ดีๆ เหล่านี้ เอามาพูดให้ท่านฟัง พอจิตท่านจับกับสิ่งเหล่านี้ได้ก็ดีเลย ยิ่งถ้ามีหลายๆ อัน แล้วอันนี้มันเด่นมาก
สมัยก่อนถึงได้มีการให้คนแก่ได้ทำอะไร ที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เพื่อจะให้จิตมันจับ แล้วมันเด่น คือ คนเราเวลาไปนั่งอยู่คนเดียว อยู่เฉย ๆ สิ่งที่มันเตือนความจำก็คือ เรื่องเด่น เหตุการณ์ในชีวิตที่สำคัญ คือ ทีนี้ถ้ามันเป็นเด่นในทางไม่ดีก็พาจิตแย่ไป เขาก็เลยหาอุบายมา ให้สร้างเหตุการณ์ที่มันเด่นในฝ่ายดี อย่างคนเก่าๆ ที่ให้สร้างพระประธาน อะไรอย่างนี้ใช่ไหม เป็นเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เป็นพระองค์โตเบ้อเริ่ม เพราะว่าพอพูดกันขึ้นมานี่ นึกขึ้นมาชัดเลย ก็เพื่อให้เป็นอารมณ์ที่จะได้สติไปกำกับ ไปดึง ไปยึด เอามาผูกไว้กับจิตได้ หรือไปผูก ไปฝังลูกนิมิต ผูกสีมาวัดนั้นอะไรอย่างนี้ แต่นี่ต้องหมายความว่า นี่เป็นเรื่องที่สมัยนั้น มันก็เป็นเรื่องดี ๆ เดี๋ยวนี้มันชักกลายเป็นการค้าธุรกิจไปซะเยอะ สมัยนั้นมันหายาก อย่างสร้างพระก็หายาก องค์ใหญ่ ๆ ฝังลูกนิมิต ผูกสีมา ในชีวิตนี้หายาก เดี๋ยวนี้ตามสี่แยกเต็มไปหมดโฆษณากัน มักจะตรงตรุษจีน มันกลายเป็นธุรกิจไปแล้ว มันก็เลยกลายเป็นเรื่องที่ไม่บริสุทธิ์แท้ แต่ว่าถึงอย่างไรก็พอช่วยได้บ้าง
อันนี้เป็นเพียงตัวอย่าง หมายความว่า เราสามารถสร้างเหตุการณ์สำคัญๆ ที่จะเป็นเครื่องทำให้สติจับได้ง่าย เป็นจุดเด่น ถ้าเราเป็นคนใกล้ชิด เราก็ไปพูดกับท่าน เราก็ดึงเอาเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้มาให้ท่านนึก แล้วก็คุยอะไรต่ออะไร ให้จิตของท่านอยู่กับสิ่งที่ดีๆ อย่างนี้ ก็อย่างนี้ก็ช่วยให้จิตเป็นกุศลอยู่ แบบที่ง่าย ๆ ถ้าเป็นคนมีความสามารถในการพูด ก็อธิบายธรรมะที่ทำให้จิตใจมันร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส นี่ก็เป็นด้านจิตใจ ไม่รู้แหละนึกถึงบุญกุศลอะไร นึกถึงพระรัตนตรัย โบราณที่เค้าบอก อรหัง อะไรอย่างนี้ นี่เป็นด้านจิตใจ
[14:58] อีกด้านหนึ่ง คือ ด้านปัญญา ด้านปัญญานี้ก็คือ ให้ขึ้นไปจนถึงขั้นที่ว่ามีปัญญารู้ เข้าใจถึงความเป็นจริงของชีวิต ที่ว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนกระทั่งว่าจิตยอมรับความเป็นจริง พอถึงขั้นนั้นจิตยอมรับความเป็นจริงของชีวิตแล้ว วางใจได้เลย หมายถึง ใจของเขาเองน่ะวางใจกับชีวิตนี้ได้ คือ มันลงตัว ไม่ห่วงกังวล ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวายสับสนแล้วตอนนี้ เพราะจิตมันเกิดความรู้ รู้เข้าใจชีวิต ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ ปลงได้อย่างนี้ พอจิตมันวางลงได้ด้วยความรู้เข้าใจ มันลงตัวแล้วนี้ ลงสบายเลย หมดปัญหาไปเลย เรียกว่า ตอนนี้จิตกลายเป็นอิสระไปแล้ว ด้วยปัญญามาปลดปล่อย ขั้นนี้เป็นขั้นปัญญา ดีกว่าขั้นจิตแท้ ๆ ด้านจิตก็แค่ทำให้จิตเป็นกุศล จิตร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส อยู่กับสิ่งที่ดีเท่านั้นเอง ได้แค่นั้น ก็ต้องเอาอะไรมาให้มันมาอยู่กับจิต หรือครองจิตไว้ให้ด้านดีอยู่ แต่พอด้านปัญญามานี่ วางได้เลยจิตเป็นอิสระ พ้นเลย หมดปัญหาไปเลย
เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถ ก็ไปให้ถึงขั้นปัญญา ถ้าไม่สามารถก็ให้อยู่ขั้นจิต ให้จิตอยู่กับจิตที่กับสิ่งที่ดีไว้ก่อน ไม่เปิดช่องให้อารมณ์ที่เป็นอกุศล ที่จะทำให้จิตใจขุ่นมัว เศร้าหมองเกิดขึ้น หรือมาเป็นตัวครองจิตแล้วก็ปั่นจิต ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ไอ้สิ่งพวกนี้มันมีโอกาสมาก เพราะมันเด่นนะ ฝ่ายไม่ดีฝ่ายร้ายนี่ แล้วจิตมันจะถอนตัวยาก พอจิตมันไปนึกเรื่องไม่ดี ทีนี้มันเอาอยู่นั่นแหละ ฉะนั้นคนใกล้ชิดจะต้องมาช่วยดึงออก หรือเอาสิ่งที่ดีมาแทน วิธีการหนึ่งก็คือ แทนที่จะดึงออกก็คือ เอาสิ่งที่มันดี ที่มันเด่นกว่า มันใหญ่กว่ามาแทน มาทดแทนให้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ตอบไปถึงตอนตายเลย
แต่ทีนี้ว่าที่บอกว่า โอกาสของคนนั้น มีแม้กระทั่งวินาทีสุดท้าย ก็คืออย่างนี้แหละ พอถึงขั้นปัญญานี่นะ อย่างผู้ที่เคยศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติมามากแล้ว พอถึงตอนนี้ประสบการณ์ที่มีอยู่ จิตมันก็ได้จังหวะหนึ่ง มันก็จะสามารถที่จะมาใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เล่าเรียนศึกษา ก็เหมือนกับเป็นการปฏิบัติของจิตเองก็คือ ตัวเองปฏิบัติตอนขั้นสุดท้ายที่จะเข้าถึงบรรลุธรรมได้เลย ฉะนั้นก็มีในพระไตรปิฏกจะเล่าถึงท่านที่เจ็บป่วยหนัก แล้วก็บรรลุอรหันตผลได้เป็นพระอรหันต์ตอนใกล้จะตาย หรือแม้กระทั่งเรียกว่าท่านเรียกว่า ชีวิตสมสีสี คือ พร้อมก็ตายเลย พอบรรลุอรหันตผลก็ตายพอดีเลยก็มี เพราะฉะนั้นก็เลยกลายเป็นว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดในวาระสุดท้าย เพราะฉะนั้นไม่หมดโอกาสถ้ารู้จักใช้ ดังนั้นเราก็ไม่ต้องไปห่วงมากนัก คือ เรามีความหวังอยู่ว่า
ชีวิตนี้ไม่สิ้นหวัง ใช้ประโยชน์ได้กระทั่งวินาทีสุดท้าย แล้วอาจจะได้บรรลุธรรมสูงสุดตอนนั้นก็ยังได้
ก็เช่นเดียวกันแม้เราไม่ได้ป่วยเอง เราก็แนะนำคนที่ป่วยนั่นแหละ ถ้าเขาเดินจิต ปฏิบัติถูก เขาอาจจะบรรลุธรรมตอนนั้น ถึงแม้ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็อาจจะได้ขั้นสูงที่รองลงมา ตอบไปได้แค่ไหนแล้วไม่รู้ ถ้ายังมีแง่สงสัยก็ถามต่อ มีไหมครับ ตอบยังไม่หมดแง่ ก็ช่วยตั้งแง่ให้ด้วย
[19:24] พระ: : คำถามถัดไปก็คงเป็นเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด ในกรณีคำถามที่ตั้งไปเนี่ย มีข้อสงสัยนิดหนึ่ง คือว่า อย่างกรณีผู้ที่กำลังจะเสียชีวิตนี้ แล้วเขาไม่รู้ตัวแล้ว ทุกอย่างมันมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เต็มตัวไปหมด เราจะมีการให้สติไหม การรับรู้เขาน้อยมาก เราจะช่วยเขาได้อย่างไร
สมเด็จฯ : อันนี้เราก็ต้องหวังไว้ก่อน เรายังไม่รู้ชัดนี่ว่าเขาอยู่ในระดับของการมีจิตสำนึกได้แค่ไหน บางทีเขาแสดงออกไม่ได้ แต่เขารับรู้ได้ อินทรีย์ในทางแสดงออก แสดงออกไม่ได้เลย ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไม่ได้เลย แต่รับรู้ยังมี บางทีตายังเห็น บางทีตายังไม่เห็นแล้ว แต่หูยังได้ยิน แม้แต่หูไม่ได้ยินแล้ว แต่การซึมซับทางบรรยากาศมี บรรยากาศก็สำคัญนะ การรับทราบทางบรรยากาศ ฉะนั้นอย่าไปประมาท ท่านที่เจ็บป่วยหนักเหมือนกับไม่รู้ตัวแล้วนี่ บางทีรับทราบทางบรรยากาศ ฉะนั้นเราจะต้องสร้างบรรยากาศให้ดี คือ เพื่อโน้มจิตไปในกุศล ให้จิตไปในทางกุศล แม้แต่จะเกิดการฝัน พอบรรยากาศดีก็ฝันไปดี ฝันไปในทางที่เป็นเรื่องเป็นราวที่มันงดงาม จิตใจเบิกบาน ผ่องใส อย่างนี้ก็ช่วย เพราะฉะนั้นก็เลยมีการที่ว่า อย่างน้อยนึกอะไรไม่ออกก็สวดมนต์ให้ฟัง เปิดเทปเสียงเบาๆ อะไรแบบนี้ที่มันเป็นเรื่องดีๆ มาพูดคุยกันในหมู่ญาติมิตร คนใกล้ชิดก็พูดเรื่องดีๆ พูดเรื่องที่คล้ายๆ กับว่าถ้าท่านได้ยินแล้วก็จะสบายใจ อย่างนี้ก็ช่วยในทางบรรยากาศ ก็เท่าที่เราจะนึกได้ว่าท่านอาจจะยังอยู่ในระดับนี้ได้นะ แล้วเราก็ทำไป ก็ต้องถือว่ายังมีหวังอยู่ ไม่ปล่อยปละละเลย เดี๋ยวกลายเป็นประมาทไป ทำอย่างนี้ก็ถือว่าไม่ประมาท เท่าที่จะเป็นไปได้