แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพรท่านผู้สนใจเจริญภาวนาทุกท่าน วันนี้ก็จะได้พูดต่อไปในเรื่องการเจริญภาวนา หัวข้อสำหรับวันนี้ก็คือเรื่อง จากจิตภาวนาสู่ปัญญาภาวนาตามวิธีสติปัฏฐาน เมื่อพูดออกมาในชื่อหัวข้ออย่างนี้แล้วก็ทำให้คิดว่าจะต้องแยกความเข้าใจเป็น 2 ตอน คือ ตอนแรกก็เป็นเรื่องการเชื่อมโยงออกจากจิตภาวนาสู่ปัญญาภาวนา แล้วก็ต่อไปก็ให้เข้าใจว่าปัญญาภาวนาในที่นี้ หมายถึงปัญญาภาวนาตามวิธีสติปัฏฐาน
วันนี้เมื่อพูดในเรื่องจากจิตภาวนาสู่ปัญญาภาวนาก็คงจะต้องใช้เวลามากพอสมควร เพราะฉะนั้นในตอนที่ว่าด้วยปัญญาภาวนาตามวิธีสติปัฏฐานนั้นคงจะมีเวลาไม่มาก คงจะพูดไว้พอให้เห็นเป็นเค้า พอได้โยงไปหาเรื่องสติปัฏฐานได้เท่านั้น ทีนี้เมื่อพูดว่าจากจิตภาวนาสู่ปัญญาภาวนาก็ทำให้ต้องทวนความไปหาเรื่องเก่า ในตอนที่แล้วนี้ เราได้พูดกันในเรื่อง การทำจิตภาวนาโดยเลือกจากกรรมฐาน 40 นั่นก็คือว่าเราได้พูดเรื่องจิตภาวนานี้ เหมือนกับว่าจบไปแล้ว ตอนนี้เราก็จะออกจากจิตภาวนานั้นมาสู่ปัญญาภาวนา
แต่ทีนี้การที่จะเข้าใจเรื่องนี้ชัดเจน ก็คงจะต้องพูดถึงความแตกต่าง ระหว่างจิตภาวนากับปัญญาภาวนาอีกเล็กน้อย ซึ่งความจริงคราวก่อนก็ได้พูดไปแล้ว แต่ว่าเพราะในคราวก่อนนู้นเป็นการพูดอยู่ในเรื่องสมถภาวนาหรือจิตภาวนา การพูดถึงความแตกต่างกับปัญญาภาวนาที่พูดไปในตอนนั้น ก็รู้สึกจะเป็นเรื่องแทรกแล้วก็อาจจะหลงลืมกันไป วันนี้ก็ควรจะได้พูดอีกครั้งหนึ่ง แต่เพราะเหตุที่ว่าเป็นเรื่องที่เคยพูดไปแล้วก็เอาเป็นเพียงเป็นการทบทวน เพราะฉะนั้นก็ไม่อยากจะให้เสียเวลากับเรื่องนี้มาก
จะเริ่มด้วยความแตกต่างระหว่างจิตภาวนากับปัญญาภาวนาในแง่ที่เป็นการทบทวน ตอนแรกก็ทวนเรื่องชื่อกันนิดหน่อย ได้บอกแล้วว่าจิตภาวนา หรือการพัฒนาจิตใจ ก็เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งให้ตรงเป้าตรงจุดเข้าไปเลยว่าสมถภาวนา คือการเจริญสมถะ หรือการที่ทำให้เกิดความสงบใจ ก็คือเรื่องการเจริญสมาธินั่นเอง สมาธินั้นเป็นตัวแท้ตัวจริง เป็นตัวแก่นแกนของเรื่องสมถะหรือจิตภาวนา และก็สมถภาวนานั้น ถ้าเราเรียกสั้นๆ ก็เรียกแค่ว่าสมถะก็พอ เป็นอันว่ารู้กัน
ทีนี้ปัญญาภาวนา การเจริญปัญญา หรือการฝึกอบรมปัญญาให้เจริญงอกงามขึ้น ก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวิปัสสนาภาวนา ซึ่งเป็นการเรียกชื่อให้ตรงเป้าเข้าไปอีก จำกัดแคบลงไปว่าหมายถึงปัญญาที่ประสงค์ในที่นี้ ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า วิปัสสนา คือปัญญาที่เห็นแจ้งตามความเป็นจริง เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น และก็เรียกให้สั้น ก็ว่า วิปัสสนา
เป็นคู่กันว่า สมถะกับวิปัสสนา แล้วก็ได้บอกแล้วว่าสมถะหรือจิตภาวนานั้นตัวมุ่งอยู่ที่สมาธิ ส่วนปัญญาภาวนาหรือวิปัสสนานั้นตัวมุ่งอยู่ที่ปัญญา เป็นอันว่า ทำความเข้าใจกันเรื่องชื่อนี่พอสมควร จะได้ไม่หลงไม่สับสน
ทีนี้ก็พูดถึงความแตกต่างระหว่างสมถะกับวิปัสสนา หรือว่าจิตภาวนากับปัญญาภาวนานั้น ความแตกต่างโดยหลักการ โดยหลักการนี่ก็ชัด คือหลักการของสมถะก็บอกว่ามุ่งเพื่อให้จิตใจสงบ โดยหลักการอยู่ที่ว่าทำจิตเนี่ยให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียว อยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งเดียว หมายความว่ากำหนดอะไรก็อยู่กับสิ่งนั้นได้ เราเรียกง่ายๆ ว่าการทำให้จิตเนี่ยมีอารมณ์หนึ่งเดียว ถ้าหากว่าทำจิตให้มีอารมณ์หนึ่งเดียวได้สำเร็จ นั่นก็คือว่าการเจริญสมถะสำเร็จ
ฉะนั้นหลักการของสมถะก็อยู่แค่นี้ คือการทำให้จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว คืออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวได้ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป แล้วภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว รวมไปที่เดียวได้เนี่ย ก็คือสมาธินั่นเอง จึงได้บอกว่าสมาธินั้นเป็นแกนของสมถะ
ทีนี้ วิปัสสนา หลักการก็คือว่าการทำให้เกิดปัญญาที่เห็นแจ้งสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง แค่นี้ก็คงจะชัดเจนพอ เพราะได้พูดมาทีหนึ่งแล้วด้วย
ทีนี้ต่อไปก็โดยผล ความแตกต่างโดยผลนี่ สมถะหรือจิตภาวนานั้น เมื่อปฏิบัติไปแล้วก็ได้สมาธิ ก็ตรงกับหลักการที่ว่า เพราะหลักการก็คือการทำให้เกิดสมาธิ เพราะฉะนั้น ผลจากการเจริญสมถะก็คือเกิดสมาธิขึ้น ทีนี้สมาธินี้ก็จะมีความประณีตขึ้นไปตามลำดับ ถึงระดับที่จิตใจเนี่ยมีภาวะที่เราเรียกว่าเป็นฌาน เพราะฉะนั้นสมถะที่เจริญได้ผลสำเร็จสูงขึ้นสูงขึ้นเนี่ย เราก็ดูจากการได้ฌาน จึงพูดกันง่ายๆ ว่าฌานเป็นผลสำเร็จของการเจริญสมถะ
คราวที่แล้วนี่ก็ได้แยกแยะให้เห็นว่าฌานนี้มีหลายขั้นหลายชั้น มีทั้งรูปฌานแบ่งเป็น 4 ขั้น แล้วยังต่อไปมีอรูปฌานอีก 4 ชั้น รวมกันเป็นสมาบัติ 8 แต่ว่าพูดง่ายๆ ก็คือว่าผลสำเร็จที่ต้องการจากสมถะก็คือว่าฌาน
ส่วนวิปัสสนาหรือปัญญาภาวนานั้นต้องการปัญญา ทีนี้ปัญญาที่พัฒนาขึ้นไปมีการหยั่งรู้เข้าถึงความจริงเราเรียกชื่อให้เป็นจำเพาะว่าญาณ ญาณนี้ก็มีหลายขั้น มีความประณีตสูงขึ้นไปตามลำดับ ฌานมีหลายขั้น ญาณก็มีหลายขั้น ทีนี้ญาณนี้ก็คือความหยั่งรู้ที่เป็นปัญญาที่พัฒนาขึ้นไปในระดับต่างๆ ญาณนี้เป็นผลสำเร็จของวิปัสสนา ชื่อก็คล้าย ๆ กัน
ผลของสมถะเรียกว่าฌาน ผลของวิปัสสนาเรียกว่าญาณ ตรงนี้แหละขอให้แยกกันให้ชัด มิฉะนั้นจะสับสน แล้วก็มีการสับสนจริงๆ กันมากทีเดียว เอาล่ะเป็นอันเข้าใจกันละว่าสมถะหรือจิตภาวนานำไปสู่ฌาน แล้วก็วิปัสสนาหรือปัญญาภาวนานำไปสู่ญาณ
ทีนี้ก็มีข้อสังเกตพิเศษว่า สมถะหรือจิตภาวนานั้น มันก็มีทางให้ไปได้ญาณเหมือนกัน อย่างที่พูดในคราวที่แล้วเราบอกว่าเมื่อได้บำเพ็ญฌานสำเร็จผลดีแล้ว อย่างที่เรียกว่าได้สมาบัติ 8 ก็ยังก้าวต่อไปอีกถ้าต้องการ คือ ใช้สมาบัตินั้นเป็นฐานที่จะทำความเพียรพยายามเพื่อให้ได้ความรู้อย่างยวดยิ่งที่เรียกว่าอภิญญา
อภิญญาความรู้ยวดยิ่งซึ่งในคราวที่แล้วได้บอกว่ามี 5 ประการ ได้แก่ ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ได้ ทำให้ตาทิพย์ หูทิพย์ เป็นต้น 5 อย่างเนี่ย เราเรียกว่าอภิญญา 5 อันนั้นเป็นประเภทญาณเหมือนกัน จะเป็นญาณในฝ่ายสมถะที่ต่อจากฌานอีกทีหนึ่ง นี่ตอนนี้อย่าเพิ่งสับสน ก็เป็นอันว่าสายสมถะเนี่ยมีทางได้ญาณเหมือนกัน แต่เป็นญาณประเภทที่เกี่ยวกับเรื่องฤทธิ์เดช ปาฏิหาริย์ ถ้าพูดในภาษาชาวบ้าน เพราะว่าเรื่องหูทิพย์ตาทิพย์ เรื่องหยั่งรู้ใจคนอื่นอะไรต่างๆ เนี่ยเป็นญาณก็จริง แต่เป็นญาณประเภทที่ว่าไม่ได้จะกำจัดกิเลสอะไร ไม่ได้รู้ความเป็นจริงของโลกและชีวิตอะไร เป็นเรื่องของความรู้พิเศษที่ทำให้มีฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์อย่างที่ว่า
งั้นญาณประเภทสมถะก็อยู่ในประเภทนี้ ก็เป็นอันว่าสมถะก็สามารถนำไปสู่ญาณเหมือนกัน โดยที่ว่าเป็นญาณจำพวกฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ต่อจากฌานไปสู่ญาณ แล้วเราก็มีชื่อเรียกพิเศษว่าอภิญญา ซึ่งมี 5 ประการ แล้วก็ให้สังเกตต่อไปว่าอภิญญา 5 ประการนี้เพราะมันเป็นเรื่องของการที่ว่ามีฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ แต่ว่าไม่ได้รู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง มันก็ไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์อะไรได้
พวกผู้สำเร็จอภิญญา 5 เราเรียกว่ายังเป็นโลกิยะอยู่ เราก็เลยเรียกว่าเป็นอภิญญาประเภทโลกีย์ เป็นญาณก็เป็นญาณโลกิยะ เป็นอภิญญาก็เป็นอภิญญาที่เป็นโลกิยะ หรือโลกียอภิญญา เรียกชื่อตามศัพท์พระว่า โลกียอภิญญา เป็นอภิญญาที่ยังอยู่ในโลก ยังจมโลกอยู่ ยังไม่ไปพ้นโลก
ส่วนวิปัสสนานั้น ก็จะให้ผลที่ต่างไปอย่างที่ว่าเมื่อกี้ให้ญาณ ญาณประเภทของวิปัสสนานั้น เป็นญาณที่เกี่ยวกับการรู้ เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง หยั่งรู้หยั่งเห็นสัจธรรม จนกระทั่งทำให้หมดกิเลสและความทุกข์ได้ ทำให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเบิกบานผ่องใส ความเป็นอิสระ ความหลุดพ้น อันนี้ เมื่อถึงที่สุดแล้ว ญาณของวิปัสสนานี้ ซึ่งเป็นผลสุดท้ายเนี่ย จะเป็นญาณที่เราถือว่าเป็นอภิญญาเหมือนกัน เป็นอภิญญาที่เราเอาไปต่อเข้ากับอภิญญาของฝ่ายสมถะ เป็นญาณข้อสุดท้ายแล้วจัดเป็นอภิญญาข้อที่ 6 เมื่อกี้นี้ ฝ่ายสมถะนี้ได้ถึงอภิญญา 5 ฝ่ายวิปัสสนาก็ได้ญาณอีกญาณหนึ่ง ซึ่งถ้าได้อภิญญา 5 จากฝ่ายสมถะมาแล้ว ก็จะเท่ากับว่าเอาวิปัสสนามาแถมอภิญญาที่ 6 เข้าไป
อภิญญาข้อที่ 6 นี้ เราเรียกชื่อเฉพาะว่า อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป หรือความรู้ ความหยั่งรู้หยั่งเห็นที่ทำให้หมดสิ้นอาสวกิเลส นั่นหมายถึงหมดสิ้นความทุกข์ ภาวะที่เป็นอิสระ มีอิสรภาพ อภิญญาข้อที่ 6 ที่เป็นผลจากวิปัสสนานี้เป็นโลกุตระ ทำให้อยู่เหนือโลก พ้นจากความครอบงำของโลก นี้ก็เป็นส่วนพิเศษ
เป็นอันว่าในขั้นสุดท้ายแล้ว จะไปสูงสุดแค่ไหนก็ตามนี่ ฝ่ายสมถะนี้ก็จะได้ถึงอภิญญาที่เป็นโลกียอภิญญา ส่วนวิปัสสนานั้นจะทำให้ก้าวต่อไปถึงโลกุตระอภิญญา และก็ทำให้อภิญญาครบเป็น 6 ประการ ครบถ้วนสิ้นเชิง อันนี้ นี่เป็นความแตกต่างโดยผล เมื่อพูดถึงผลแล้วก็มาพูดถึงวิธีการ
โดยวิธีการนี้ก็ วิธีการก็ย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งในตอนวิธีการนี้อาจจะกล่าวได้ว่าต่างกันมากทีเดียว ซึ่งจะได้พูดเป็นจำเพาะต่อไป ในตอนที่แล้วได้พูดในเรื่องสมถะก็พูดถึงวิธีการไปบ้าง แต่ได้พูดเพียงเล็กน้อยพอให้เห็นหลัก หลักวิธีปฏิบัติทั่วๆ ไป
เรื่องวิธีการเจริญสมถะนี้เราคงจะพูดกันอีกตอนที่พูดถึงการเจริญเรื่องสติปัฏฐานนั่นแหละ ตอนนั้นเราจะไปพูดรวมๆ กันแต่ถ้าเข้าใจหลักการแล้วก็แยกให้ถูกว่าการปฏิบัติส่วนไหนเป็นสมถะ ส่วนไหนเป็นวิปัสสนา
ทีนี้ถึงแม้ว่าวิปัสสนากับสมถะนี้วิธีปฏิบัติจะมีความแตกต่างกัน มันก็มีจุดร่วมกันอยู่ จุดร่วมที่สำคัญอันหนึ่งก็คือจุดเริ่ม จุดตั้งต้น จะเห็นว่าทั้งสมถะและวิปัสสนานี้ใช้สติเป็นจุดเริ่มด้วยกัน เวลาเราจะทำสมาธิคือเจริญจิตภาวนาหรือสมถภาวนานั้น เราก็ต้องอาศัยสติมาเป็นตัวเริ่ม เพราะสตินั้นเป็นตัวที่ว่าเป็นตัวจับอารมณ์หรือเป็นตัวที่ทำให้จิตเนี่ยอยู่กับสิ่งที่กำหนดหรือตัวกรรมฐาน จิตเราจะไปอยู่กับกรรมฐานที่เรากำหนดได้ก็เพราะมีสติ เพราะฉะนั้นสตินี่ตรึงจิตของเราไว้กับสิ่งที่เราเรียกว่ากรรมฐานหรืออารมณ์นั้นๆ
อันนี้จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ตามเนี่ยต้องอาศัยสติ สติก็มาตรึงจิตไว้กับสิ่งที่เรากำหนดพิจารณานั้น ถ้าเป็นสมถะเราก็เอาสติมากำกับจิตไว้กับกรรมฐานที่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งใน 40 นั้น เมื่อสติมาจับไว้ให้แล้วตอนต้น ก็ทำให้จิตอยู่แน่วแน่กับสิ่งนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ ถ้าเมื่อไหร่จิตอยู่แน่วกับสิ่งนั้นได้ตลอดต่อเนื่องกันไปนั่นคือสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ก็เท่ากับว่าเอาสติมาเป็นตัวต่อ ดึงเข้าหาสมาธิ สตินี้ยังดึงไว้ แต่พอถึงสมาธิก็คืออยู่ตัว
จะเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่ามีสัตว์ชนิดหนึ่ง จะเป็นลิงหรือจะเป็นวัว ในคัมภีร์ท่านเปรียบเทียบกับลูกวัว หรือวัวใหญ่ๆ ก็ได้ มันก็จะไปนู่นไปนี่ไม่อยู่กับที่ ทีนี้เรามีหลัก อยากจะให้วัวอยู่กับหลักนี้ วัวก็ไม่ยอมอยู่ หลักก็อยู่เนี่ย แต่วัวนั้นก็จะเดินไปนู่นนี่ ทำไงจึงจะให้วัวอยู่กับหลัก ก็เอาเชือกมาผูกเข้า เอาเชือกมาผูกวัว วัวมันก็ไม่อยากจะอยู่กับหลัก แต่มันก็ไปจากหลักไม่ได้ มันก็เดินไปเดินมา แต่มันก็ไม่ไปไหนไกลจากหลักได้ มันก็วนเวียนอยู่แถวนั้นแหละ จนในที่สุดมันเหนื่อยมันคุ้นเข้า ในที่สุดมันยอม พอมันยอมในที่สุดแล้ว มันก็มาหมอบ สิ้นพยศอยู่กับหลัก บางทีมาอยู่ที่โคนหลักเลย มาอยู่ติดกับหลัก นี่ก็เป็นอันว่าคนที่เลี้ยงก็ได้ผลที่ต้องการ ตอนนี้สบายใจแล้ว ไม่ต้องกังวล
อันนี้ข้อเปรียบเทียบนี้ก็เอามาโยงหาตัว การปฏิบัติ สัตว์ที่ถูกผูกเช่นวัวนั้น ก็เปรียบเหมือนจิตใจของเรา จิตใจของเราที่จะไปนู่นไปนี่ นี้หลักนั้นเหมือนอะไร ก็เหมือนกับกรรมฐาน หรืออารมณ์ที่เราต้องการจะกำหนด นี้จิตของเราเนี่ยมันไม่ค่อยจะอยู่ มันจะหนีไปนู่นไปนี่ออกไปเรื่อย ถ้าเราไม่มีอะไรมาช่วยดึงไว้ให้จิตของเราเนี่ยอยู่กับกรรมฐาน หรืออยู่กับอารมณ์ที่กำหนด จิตของเราก็ฟุ้งไป ฟุ้งไปนู่นไปนี่ ก็ทำไง ก็เอาสติมานั่นเอง สตินี่แหละเป็นตัวที่ตรึงจิตของเราไว้กับกรรมฐานนั้น เปรียบเหมือนเชือก เพราะฉะนั้นสติเนี่ยเหมือนเชือกที่ดึงจิตของเราไว้กับหลักคืออารมณ์กรรมฐาน ตอนแรกก็ต้องอาศัยสตินี้ ดึงรั้งไว้เรื่อยๆ คอยตรึงคอยกำกับไว้เดี๋ยวมันก็จะออกไป ถ้าเชือกผูกไม่ดีละก็เชือกก็พลอยหลุดไปด้วย ก็ต้องไปเอาเชือกมามัดกับหลักอีก ก็ดึงกันอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งในที่สุดจิตของเรายอมอยู่กับหลัก คืออยู่กับอารมณ์กรรมฐานได้
อาการที่จิตนั้นยอมอยู่กับอารมณ์กรรมฐานได้ต่อเนื่องไป นั่นคือเกิดสมาธิขึ้น นี้คือเรื่องของสมถะซึ่งอาศัยสติเป็นตัวนำเป็นตัวเปิดทางให้ เป็นตัวเริ่มต้นให้ เพราะฉะนั้น สติก็เป็นตัวสำคัญในเรื่องของการบำเพ็ญสมาธิ จะเห็นว่า ชื่อ ข้อปฏิบัติในการบำเพ็ญจิตภาวนาหรือสมถะนั้น จะมีคำว่าสติๆ ลงท้ายเยอะแยะไปหมด เช่น พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ ตลอดจนกระทั่ง อาณาปานสติ ที่ว่ากำหนดลมหายใจ นั่นก็คือว่ามันเป็นตัววิธีปฏิบัตินั่นเอง ข้อปฏิบัติที่จะมาช่วยให้เกิดสมาธิ ซึ่งตัวมันนั้นเอง ข้อปฏิบัตินั้นจะเป็นเรื่องของสติ เอาสติมันมาดึงจิต มาตรึงจิต มาช่วยนำให้เข้าสู่สมาธิ นี่เป็นเรื่องฝ่ายสมถะหรือจิตตภาวนา
ทีนี้ เอาละ หันไปดูทางวิปัสสนาบ้าง วิปัสสนานั้นก็ต้องการสติเหมือนกัน สติก็มาเป็นตัวเริ่มให้ เพราะว่าการทำวิปัสสนานั้น เราก็จะต้องมีสิ่งที่พิจารณา เพื่อพิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย เราก็ต้องมีสิ่งที่ให้เราพิจารณา เราจะเรียกว่าให้จิตใจเรา หรือให้ปัญญาเราพิจารณาก็ได้ ถ้าจะให้ถูกก็คือให้ปัญญาพิจารณานั่นเอง แต่ปัญญาจะพิจารณาได้อย่างไร สิ่งที่จะถูกพิจารณานั้นก็ต้องอยู่ต่อหน้าเรา อยู่ที่จิตใจของเรา อยู่กับจิตใจของเรา หรือจิตใจของเราอยู่กับสิ่งนั้นจึงจะพิจารณาได้ ถ้าสิ่งนั้นไม่อยู่ เราก็ไม่รู้จะไปมองยังไง เหมือนกับว่าจะตรวจตราดูอะไรสักอย่าง ของนั้นไม่อยู่ต่อหน้า ตาไม่เห็นก็ไม่รู้จะพิจารณาได้ยังไง ก็ต้องดึงเอาของนั้นมาวางไว้ข้างหน้า ก็เหมือนกัน
ทีนี้จะทำไงให้ของนั้นอยู่ต่อหน้าเรา อยู่ในสายตาเรา ก็คืออยู่ในต่อหน้าตาใจของเรา ตาใจของเราก็คือตาปัญญา ดวงตาแห่งในทางจิตใจ ตาปัญญาจะพิจารณาแล้วก็ต้องเอาของนั้นมาวางข้างหน้า ทีนี้จะให้ใจเราอยู่กับของนั้น หรือของนั้นอยู่กับใจเรา ก็ต้องใช้สติแบบเดียวกับเมื่อกี้ ก็เอาสติเนี่ยแหละ ตรึงดึงของนั้นไว้หรือดึงใจของเราไว้กับของนั้นกับสิ่งนั้น ก็เรียกว่าอารมณ์เหมือนกันน่ะ ก็ใช้คำว่าอารมณ์อย่างเดียวกัน ก็คือว่า ดึงเอาจิตใจของเราไว้กับอารมณ์นั้นที่จะพิจารณา
เมื่อสติตรึงไว้ให้แล้ว ดึงอารมณ์นั้นไว้กับใจเรา ไว้ต่อหน้าตาใจของเราแล้ว ทีนี้ต่อจากนั้นเราก็ใช้ปัญญาพิจารณา จะเห็นว่าสติเป็นตัวนำจริง แต่ตัวต่อจากสติเนี่ยทีนี้ไม่ใช่สมาธิซะแล้ว ตัวที่ต่อจากสตินี่ในกรณีของวิปัสสนานี่เป็นปัญญา ปัญญาที่รู้จำเพาะหน้านี่จะมีชื่อพิเศษเรียกว่า สัมปชัญญะ สัมปชัญญะเป็นชื่อหนึ่งของปัญญา เป็นปัญญาที่ใช้อย่างชนิดที่ว่า ตรงกับเรื่องเฉพาะหน้า ที่รู้ชัดเฉพาะเรื่องที่อยู่ตรงหน้า ก็ให้รู้ว่าสัมปชัญญะนี่แหละก็คือปัญญานั่นเอง แล้วก็มาทำงานกับสติ สติก็คอยจับสิ่งนั้นไว้ให้ จับอารมณ์นั้นไว้ให้ ปัญญาก็เหมือนกับตามองเห็นได้ สติก็เป็นตัวสำคัญ
เพราะฉะนั้นในกรณีของวิปัสสนาก็ต้องเอาสติเป็นตัวเริ่มเช่นเดียวกัน แต่เราจะเห็นชัดว่า ในกรณีของวิปัสสนานี้สติจะต้องควบคู่กับปัญญา หรือสัมปชัญญะเรื่อยไป เพราะว่ามันต้องพิจารณาเรื่อยๆ ไป มองอะไรต่ออะไรต่างๆ โดยที่ว่าเราไม่ได้มุ่งว่าให้จิตต้องแน่วอยู่กับสิ่งเดียว ไม่เหมือนกับในวิธีของสมถะนั้น สติมาเริ่มให้ พอจิตแน่วอยู่กับสิ่งนั้นเพราะอยู่กับสิ่งเดียว พอแน่วไปแล้ว เราก็ไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องมีภาระกับสติอีก เลยในวิธีของสมถะนั้น พอสมาธิเกิดขึ้นแล้วนี่ สตินี่แทบจะหมดหน้าที่ คือมีอยู่ แต่ว่าไม่เด่น เพราะว่าสติมาเป็นตัวนำ พอจิตแน่วอยู่กับสิ่งนั้นได้ ก็เป็นเรื่องของสมาธิไปเลย
แต่วิปัสสนานั้นไม่ใช่อย่างนั้น เพราะวิปัสสนานั้นจะต้องพิจารณาสิ่งต่างๆ ทุกอย่างที่ปรากฏ งั้นก็เลยมีภาระที่สติจะต้องทำงานอยู่เรื่อยไป สติก็เลยต้องทำงานคู่กับสัมปชัญญะ หรือคู่กับปัญญาเรื่อยไป สติก็เลยมีบทบาทเด่นในเรื่องวิปัสสนา ในสมถะนั้นสติมาเป็นตัวนำหน้า เปิดทางให้สมาธิเกิดขึ้น พอสมาธิเกิดขึ้น หน้าที่ของสติก็เบาลงไป จนแทบจะเหมือนกับว่ามองๆ ดูเผินๆ เหมือนกับไม่มีบทบาทแล้ว ก็คือไปแฝงอยู่
แต่ว่า ในวิปัสสนานั้น สติยังเด่นอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าต้องคอยจับอารมณ์ต่างๆ มาให้ปัญญาพิจารณาอยู่เรื่อย เราก็เลยมีคำใช้เหมือนกับว่าเอาสตินี้มาเป็นหลักของวิปัสสนา จนกระทั่งเป็นเหมือนว่าการเจริญวิปัสสนามองดูบางทีเหมือนกับว่าเจริญสติ แต่ที่จริงนั้น สตินี้จะไม่มีความหมายใดๆ ถ้าหากว่าไม่เป็นตัวต่อกับปัญญา หรือไม่ควบคู่กับปัญญา เพราะที่จริงนั้นเป้าหมายของวิปัสสนานั้นอยู่ที่ปัญญาต่างหาก อยู่ที่วิปัสสนา
สติก็มาเป็นตัวที่นำให้ปัญญาได้ทำงานได้ เพราะฉะนั้นเป้าหมายที่แท้จริงก็อยู่ที่ปัญญา หรืออยู่ที่วิปัสสนา แต่ว่าสติทำงานเด่นหน่อย
เอาล่ะ อาตมาคิดว่าคงจะเห็นชัดเจน ถึงเรื่องวิธีปฏิบัติที่ต่างกัน แม้ว่าจะมีแกนร่วมบางอย่าง หรือตัวทำงานบางอย่างที่ร่วมกัน โดยเฉพาะสติเนี่ย แต่ว่าวิธีทำงานนั้น เห็นได้ชัดเลยว่าต่างกัน นี้สตินี้มีบทบาทเนี่ย ก็จะขออุปมาอีกนิดหน่อย ว่าสตินี่เวลาทำงานไปเนี่ย มันมีสมาธิอยู่ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในวิปัสสนาเนี่ยแม้จะไม่พูดคำว่าสมาธิออกมาเด่น มันก็ต้องอาศัยสมาธิด้วย สตินั้นดึงสิ่งนั้นไว้ให้ ซึ่งแน่นอนแล้ว ถ้าหากว่าไม่มีสติดึงสิ่งนั้นไว้ให้ คือไม่ดึงอารมณ์นั้นไว้ให้ เราก็ไม่รู้จะมองอะไร พิจารณาสิ่งนั้นไม่ได้ แต่ทีนี้สตินั้นยังไม่เป็นตัวหลักประกันที่จะได้เกิดความคมชัด
เหมือนอย่างว่าเรามีแผ่นผ้าสักผืนหนึ่ง แล้วเราก็จะตรวจดูภาพหรือลวดลายบนผ้านั้น แล้วเราก็มาวางไว้ตรงหน้า ขึงไว้ หรือแขวนไว้บนราวบนเชือกอะไรก็ได้ อันนั้นก็หมายความว่า มันมีตัวเชือกหรือตัวราวที่ดึงไว้ให้ ให้ผ้านั้นอยู่ต่อหน้าเรา เราก็มองได้ แต่นี้มีลมพัดอยู่ ลมก็พัดไปมา ผ้านั้นก็พลิ้วไปพลิ้วมาโบกสะบัดไป ผ้าโบกสะบัดไม่นิ่งแต่ก็ไม่ได้หลุดไปไหน หมายความว่ายังถูกดึงไว้อยู่ต่อหน้าเรานั่นแหละ
ก็เหมือนกับว่าสติก็มีอยู่ อารมณ์นั้นก็อยู่ต่อหน้าเรา แต่อารมณ์นั้นไม่นิ่ง เมื่อไม่นิ่ง เราก็มองภาพลวดลายบนผ้านั้นไม่ชัดเจน ตรวจดูก็ไม่ ไม่เห็นอย่างจะแจ้ง มันก็เลยเกิดปัญหาอีกว่า สตินี้ก็ไม่เพียงพอ ต้องมีการที่สิ่งนั้นอยู่นิ่งด้วย ไม่ใช่อยู่แค่ต่อหน้าเราเท่านั้น อยู่กับเรายังไม่พอ ต้องอยู่ให้นิ่งด้วย ไอ้การที่ว่าสิ่งนั้นน่ะอยู่นิ่งให้เราดูได้ชัดนี่คือต้องมีสมาธิ ทีนี้ยิ่งเราต้องการเห็นสิ่งนั้นในส่วนรายละเอียดคมชัดเท่าไหร่ ไอ้ความนิ่งของสิ่งนั้นเนี่ย ก็ยิ่งจำเป็นมากเท่านั้น อย่างกล้องจุลทรรศน์นี่จะต้องมีเครื่องตรึงให้สิ่งนั้นอยู่กับที่ ขยับเขยื้อนไม่ได้ เพราะว่าต้องการเห็นสิ่งที่เล็กเหลือเกิน
นั้นสิ่งที่เราพิจารณาด้วยปัญญานั้นยิ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งเท่าไหร่เรา ก็ต้องการความนิ่งของสิ่งนั้นต่อหน้าสายตาปัญญาของเราเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่เฉพาะสติเท่านั้นที่เราต้องการ ก็เราต้องการสมาธิด้วย วิปัสสนาหรือการเจริญปัญญาจึงต้องอาศัยสมาธิไปด้วย ควบคู่กับสติ แต่ว่าเวลาเราพูดเนี่ย เราจะไปเด่นที่ตัวสติเพราะสตินี่เป็นตัวทำงานที่ชัดเจน เพราะว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ หรือสิ่งที่กำหนดอยู่บ่อยๆ สติก็จะเป็นตัวเด่นออกมา แต่ว่าถ้าหากว่าสิ่งนั้นน่ะ หรืออารมณ์นั้นไม่นิ่งแน่ว จิตไม่อยู่กับสิ่งนั้นแน่วแน่ลงไป คือไม่มีสมาธิแล้ว การพิจารณาด้วยปัญญาก็จะไม่คมชัด แล้วก็จะไม่เห็นจะแจ้งลงไป เพราะฉะนั้นเราจึงต้องการสมาธิด้วย แต่ว่าสมาธินั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อให้ปัญญาเนี่ยทำงานได้เต็มที่ ได้สมบูรณ์นั่นเอง
ตกลงว่าทั้งสติสมาธินี่เป็นตัวช่วยปัญญา ไม่ใช่เป็นจุดมุ่งหมายในตัว ซึ่งอันนี้ต่างกับในสมถะ สมถะนั้นสมาธิเป็นจุดหมายในตัว ไม่ได้สมาธิแล้วก็มีแต่เพียงว่าจะทำไงให้จิตมันแน่วลึกซึ้งยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง ส่วนวิปัสสนานั้น สมาธินั้นก็เป็นตัวสนามที่ทำงานให้แก่ปัญญา
เอาล่ะ อาตมาก็ได้พูดเรื่องนี้มามากแล้ว ความจริงกลายเป็นว่าไปทบทวนเรื่องเก่าๆ แต่คิดว่าคงทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทีนี้เมื่อทบทวนเรื่องความแตกต่างระหว่างสมถะกับวิปัสสนา หรือจิตภาวนากับปัญญาภาวนาแล้วต่อไปก็ทบทวนอีกแหละ คือทบทวนเรื่องสมถะโดยเฉพาะอีกหน่อยหนึ่ง คราวที่แล้วเราพูดถึงการทำจิตภาวนาโดยเลือกจากกรรมฐาน 40 อันนั้นก็คือเรื่องของการเจริญสมถะโดยเฉพาะ อันนี้ก็ขอทบทวนคร่าวๆ เพื่อจะได้เป็นพื้นความเข้าใจในการที่จะต่อโยงไปหาวิปัสสนา
การเจริญสมถะนั้นโดยย่นย่อทำอย่างไร ก็บอกว่าเลือกกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐาน 40 นี่ที่พูดคราวที่แล้วนี่ ให้สอดคล้องกับจริต อ่า ก็หลักเกณฑ์ก็ได้บอกไว้แล้ว ว่าจริตอย่างไหนควรจะใช้กรรมฐานอย่างไหน แล้วก็กรรมฐานอย่างไหนจะให้ผลสำเร็จได้แค่ไหน แล้วก็มีเกณฑ์ในการเลือก เสร็จแล้วเราก็เลือกเอากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 40 ในฐานะที่ ในแง่ที่ว่ามันเป็นฐานเป็นที่ตั้งแห่งการทำภาวนา เราก็เรียกว่ากรรมฐาน
แต่กรรมฐานนั้นแหละเมื่อมาเป็นสิ่งที่จิตรับรู้ เป็นสิ่งที่จิตใจกำหนด เราก็เรียกว่าเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นเราก็พูดรวมกันไป เดี๋ยวพูดว่ากรรมฐาน เดี๋ยวพูดว่าอารมณ์ หรือบางทีก็พูดรวมกันไปว่าอารมณ์กรรมฐาน เพราะฉะนั้นไม่ต้องงง ทีนี้นอกจากเรื่องอารมณ์กรรมฐานแล้ว ในแง่ที่มันเป็นตัวกำหนดที่เราจะใช้ต่อไป เป็นภาพถึงกับเข้าไปอยู่ในใจเนี่ย เราเรียกว่านิมิต นี่เข้าใจว่าก็คงจะชัดแล้ว แต่ว่ารวมความก็คือว่าเราเลือกเอากรรมฐานอย่างใดอย่างหนี่งในกรรมฐาน 40 ตามจริต ตามเกณฑ์คัดเลือกที่ว่ามาแล้ว หรือไม่งั้นก็ตามที่อาจารย์ท่านกำหนดให้ อันนี้ก็ถ้าหากว่า เราไม่สามารถจะเลือกตามจริตได้เพราะอาจารย์ท่านเอาอย่างนี้ก็แล้วไป อันนี้ก็ให้รู้หลักไว้ อาจารย์เป็นอันว่าอาจารย์ท่านกำหนดให้ก็จบเรื่องไปเลย ก็จะเอาตามจริตเลือกเองหรืออาจารย์กำหนดให้อะไรก็ตาม ก็เป็นอันว่าตอนนี้ได้กรรมฐานมาละ
เมื่อเลือกเอากรรมฐานมาอย่างหนึ่ง ก็เอามากำหนดให้จิตจับจิตจ่อ สติกำหนดอยู่กับสิ่งนั้น เช่นอย่างบอกว่า กสิณ เอาแผ่นผ้าสีเขียวสีแดงอะไรก็ได้มาทำเป็นวงเข้า ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณฟุตหนึ่ง แล้วก็เพ่งจ้องอยู่นั่น หรือว่า กำหนดลมหายใจ หายใจเข้าออกก็ให้จิต เรียกว่าสติเนี่ย กำหนดอยู่กับลมหายใจ ก็ทำอย่างนั้นแหละ กำหนดอยู่จนกระทั่งว่า เกิดเป็นนิมิตติดตาติดใจ หมายความว่า ภาพของกสิณ คือสิ่งที่มองที่เป็นสีเขียวสีแดงนั้น หรือว่าลมหายใจที่เรากำหนดเนี่ย มันเข้าไปเป็นภาพอยู่ในใจของเรา
ก็เรียกว่าเกิดเป็นนิมิตในใจขึ้นมา เป็นนิมิตติดตาติดใจไปเลย แล้วก็นิมิตนี้ก็จะเป็นขั้นๆ อย่างที่บอกว่าเป็นนิมิตจนกระทั่งว่าเป็นนิมิตเป็นเพียงภาพที่อยู่ใน เหมือนกับอยู่ในความจำของเราเนี่ย แม่นยำ เราเรียกว่าเป็นปฏิภาคนิมิต นิมิตจำลองหรือภาพจำลองที่ประณีตยิ่งกว่าของจริง ตอนเนี่ยที่เราบอกว่าได้อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิจวนเฉียด เฉียด ๆ จวนจะแน่วแน่ แล้วต่อจากนั้นเราก็เอาภาพนิมิตในใจที่อยู่ในใจของเราน่ะ เป็นอารมณ์แทนไอ้ตัวของจริงที่อยู่ข้างนอก ตอนนี้เราไม่ต้องไปคำนึงถึงไอ้ตัวกสิณข้างนอกที่เราเพ่งด้วยตาแล้ว ไม่ต้องไปคำนึงถึงลมหายใจแล้ว เอานิมิตคือภาพในใจที่เกิดมาจากสิ่งที่เรากำหนดนั่นแหละ เอามาให้จิตจับกำหนดอยู่ ให้อยู่กับใจของเราเนี่ย แทนตัวอารมณ์กรรมฐานข้างนอกนั้น
ตอนนี้กลายเป็นภาพนิมิตนี่เป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา แล้วเราก็ให้จิตของเราอยู่กับภาพนิมิตนั้นจนกระทั่งในที่สุดถ้าเราทำได้สำเร็จ ก็จะได้เป็นสมาธิขั้นที่สมบูรณ์ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ เมื่อถึงอัปปนาสมาธิเป็นสมาธิที่สมบูรณ์นั่นคือได้ฌาน ก็จะถึงภาวะจิตที่เรียกว่าฌาน
แล้วต่อจากนั้นเราก็บำเพ็ญเรื่องฌานนี่แหละ ให้สูงขึ้นไปตามลำดับขั้น จากฌานขั้นแรกที่บรรลุอัปปนาสมาธิขั้นต้น คือปฐมฌาน ก็ก้าวไปสู่ฌานที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เรื่อยไป จากฌานที่ 4 ซึ่งเป็นรูปฌานครบแล้ว เอ้า จะลึกลงไปให้ไปสู่อรูปฌานอีกจนกระทั่งครบ 4 เป็นสมาบัติ 8 แล้วเสร็จแล้วต้องการต่อไปในทางสมถะก็ไปเจริญอภิญญาอย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าได้อภิญญา 5 ก็เป็นอันเนี่ยคือสมถะที่พูดมาทั้งหมด
เมื่อทวนเรื่องการปฏิบัติบำเพ็ญสมถะโดยรวบรัดโดยย่นย่ออย่างนี้ จะเห็นภาพรวมชัดแล้ว ทีนี้ก็จะโยงมาหาวิปัสสนาล่ะ ว่าสมถะนี้จะโยงมาหาวิปัสสนา สัมพันธ์กับวิปัสสนาอย่างไร
อันนี้เมื่อกี้อาตมาได้พูดไปทีหนึ่งแล้วบอกวิปัสสนานั้น สติเป็นตัวเด่นในการทำงาน แต่ต้องใช้สมาธิเหมือนกัน ถ้าสิ่งนั้นไม่อยู่แน่วแน่ จิตไม่แน่วแน่กับสิ่งนั้น การมองการพิจารณาก็เห็นไม่คมไม่ชัดเจน ยิ่งสิ่งที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งมาก ก็ยิ่งต้องใช้ความแน่วแน่ของจิตใจมากขึ้น นี่แหละคือตัวโยงวิปัสสนากับสมถะ คือหมายความว่า เราต้องการให้จิตที่มันเป็นสมาธินั่นน่ะมาใช้ในการทำวิปัสสนา เพราะฉะนั้น เราก็เลยเห็นคุณค่าของสมถะ ตอนที่ว่าสมถะนั้นมันทำให้จิตเป็นสมาธิ แล้วจิตที่เป็นสมาธินี้ เวลาเราเอามาใช้ปัญญาพิจารณา เราก็จะได้เห็นชัดเจน การที่เราต้องการสมาธิมาใช้ในวิปัสสนานี้คือตัวเชื่อมโยงจิตภาวนาเข้ากับปัญญาภาวนา หรือโยงสมถะเข้ากับวิปัสสนา
ก็หมายความว่าเราต้องการจิตที่เป็นสมาธินั้น มาเป็นบาทฐานในการทำงานของวิปัสสนานั่นเอง จิตที่เป็นสมาธินั้น จะมีลักษณะสำคัญ นอกจากความแน่วแน่หนึ่งเดียว เรียกว่า มีอารมณ์หนึ่งเดียวแล้ว จิตนั้นมันจะเป็นจิตที่สงบ แล้วก็มีลักษณะที่เรียกว่าผ่องใส บริสุทธิ์ แล้วก็ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือเป็นกัมมนียะ กัมมนียะก็คือเหมาะแก่งาน เหมาะแก่การทำงานนั่นเอง หมายความกว่าจะเอาไปใช้ทำงานอะไรก็ได้ อย่างที่เอาไปใช้ทำงานให้เกิดอภิญญา 5 ก็เพราะว่ามันเป็นจิตที่เหมาะแก่งาน มันเป็นจิตที่มีกำลังมาก แล้วจะเอาไปใช้อะไรก็ใช้ได้ผลนั่นเอง จิตที่เหมาะกับงานก็เป็นจิตที่ใช้ได้ผลดีที่สุด
ทีนี้ตอนนี้เราก็คือว่า ต้องการที่จะให้จิตเนี่ยมีสมาธิควรแก่งาน แล้วเราเอาไปใช้ประโยชน์ในการบำเพ็ญวิปัสสนา จิตที่เป็นสมาธินี้ที่ว่าเหมาะแก่งานมันเป็นอย่างไร ก็จะเป็นได้โดยอุปมา ดูเหมือนว่าอาตมาจะได้อุปมาให้ฟังแล้ว แต่ว่าอาจจะพูดซ้ำซะอีกหน่อย
เช่นในแง่ที่ 1 ก็มีกำลังมาก โดยอุปมาว่าเหมือนกับเราเนี่ยขึ้นไปบนยอดเขา แล้วก็มีน้ำถังขนาดใหญ่ แล้วเราก็เทลงมา แต่เทนั้นอยู่บนยอดเขา ไม่มีร่องมีทางให้น้ำกระจัดกระจายไปหมด น้ำมากมายก็ไม่มีกำลัง เดี๋ยวเดียวเทลงไปแล้ว หายแห้งไปหมดเลย แต่นี้ถ้าหากว่าเราขุดร่อง หรือทำท่อทำรางให้ ปล่อยน้ำถังใหญ่นั้นลงมา ปรากฏว่ามีกำลังมาก พัดพาสิ่งกีดขวางไปได้ นี่คือลักษณะจิตใจที่ว่าไม่พล่านไม่ฟุ้งซ่าน จิตคนธรรมดาไม่มีกำลัง เพราะว่าฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามา พอรวมเป็นหนึ่งได้ก็มีกำลังมาก อันนี้คือจิตที่เหมาะกับการใช้งาน นี่ใช้ในแง่กำลัง
ทีนี้ 2 ใช้ในแง่ของความผ่องใสบริสุทธิ์ ก็คือว่า เหมือนกับน้ำนั้นที่อยู่ในภาชนะ ไม่ถูกลมพัดไม่ถูกอะไรกระฉอก ตั้งอยู่บนที่ที่เรียบสนิทมั่นคง น้ำนั้นก็นิ่ง พอน้ำนั้นนิ่งสงบ ผิวน้ำเรียบ ผิวน้ำที่เรียบนั้น ถ้าเราเอาหน้าของเราไปส่องจะใช้แทนกระจกเงาพอได้ เราจะเห็นใบหน้าของเราชัดเหมือนของจริง
อันนี้จิตใจคนที่สงบก็เหมือนกัน ก็จะเป็นจิตใจที่นอกจากจะสบายแล้ว ก็คือว่า มองเห็นด้วยปัญญา พิจารณาอะไรต่ออะไรได้ชัด แต่ที่ชัดยิ่งกว่านั้นก็คือว่า พอน้ำสงบนิ่งแล้วเนี่ย ถ้าน้ำนั้นมีตะกอนอยู่ตะกอนนั้นมันจะตกนอนก้น ตอนที่น้ำยังกระฉอกอยู่นั้น ขุ่นมัว ตะกอนขึ้นมา มองอะไรก็ไม่เห็น พอน้ำนิ่ง ตะกอนตกลงไปหมดแล้วน้ำใส ก็มองเห็นในน้ำนั้นชัดเจนหมด มีปลา มีกรวด มีทราย อะไรก็เห็น
ก็เหมือนกับจิตของเราเนี่ย ที่หากว่าปั่นป่วนฟุ้งซ่านเดือดร้อนวุ่นวายอยู่เนี่ย มองอะไรก็ไม่ชัดเจน แต่พอว่าได้สงบนิ่งแล้ว ก็จะมีความผ่องใส มองอะไรก็ชัดเจน เพราะฉะนั้นเหมาะแก่การใช้งานทางปัญญา แล้วก็อย่างที่อาตมาว่าเมื่อกี้ เหมือนกับว่าเราทำงานจะมองอะไรให้ชัดก็ต้องให้สิ่งนั้นน่ะ ถูกตรึงอยู่กับที่อย่างมั่นคง อย่างเราจะดูจุลินทรีย์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ เราก็ต้องมีตัวแท่น แล้วก็มีตัวจับที่จะให้สิ่งนั้นอยู่กับที่อย่างแน่นหนามั่นคง นี่ก็ทำให้ปัญญาทำงานได้ชัด
เป็นอันว่า จิตที่เป็นสมาธินี้ก็เป็นกัมมนียะเหมาะแก่การใช้งาน เรียกว่านุ่มนวลควรแก่งาน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องการ เพราะฉะนั้นเราต้องการจิตที่เป็นสมาธิมาใช้งานทางปัญญา นี่เป็นตัวเชื่อมต่อกับวิปัสสนา
ทีนี้ก็มีปัญหาว่า เอาล่ะ เราต้องการสมาธิมาใช้ในวิปัสสนา เพราะฉะนั้นเราก็เลยเจริญสมถะมาให้ได้สมาธิ แล้วก็เอาสมาธินั้นโอนมาใช้งานทางปัญญา ทีนี้จะเอาสมาธิขนาดไหนจึงจะพอ คราวที่แล้วนี่ได้พูดให้เห็นว่าสมาธิมีหลายระดับ ตั้งแต่สมาธิขนาดที่เรียกว่าขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะๆ แล้วก็อุปจารสมาธิ สมาธิจวนเจียนหรือเฉียดๆ และยังอัปปนาสมาธิ ขั้นสูงสมบูรณ์ถึงขั้นเป็นฌานแน่วแน่ไปเลย อยู่กับอารมณ์เดียวตลอด
เนี่ยเราจะใช้สมาธิขั้นไหน อันนี้ก็เรื่องสมาธิจะใช้ขนาดไหนนี่ มันก็เป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นพอสมควร ให้มีก็แล้วกัน แม้แต่เพียงแค่ขณิกสมาธิก็เริ่มทำวิปัสสนาได้ เพราะฉะนั้นอาจารย์วิปัสสนาบางสำนักเนี่ย ท่านจะไม่คำนึงถึงสมถะเลย คือพอเริ่มปฏิบัติก็ให้เจริญวิปัสสนาเลย โดยที่ถือว่าเพราะใช้ขณิกสมาธิก็ได้
ทีนี้ขณิกสมาธิเนี่ย คนเราเนี่ย แม้ในชีวิตประจำวัน เวลาทำงานทำการเรียนหนังสือนี่ก็เราก็ได้ฝึกกันมาบ้างแล้ว หลายคนทีเดียวเนี่ย โดยไม่รู้ตัวเนี่ยฝึกสมาธิมามาก โดยวิธีทำงาน โดยวิธีเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยวิธีรู้จักที่จะวางจิตวางใจของตัวเองเนี่ย ทำให้เกิดสมาธิ เป็นคนที่มีพื้นอุปนิสัยโดยไม่รู้ตัว ฝึกมาเรื่อยๆ ฝึกจนเป็น จนกระทั่งเป็นนิสัยไปเลย
แต่ทีนี้เวลามาเจริญวิปัสสนานั้น ก็ใช้จิตที่เป็นสมาธินิดหน่อยนั่นแหละมาเริ่ม และเมื่อเจริญวิปัสสนาไป เราก็ต้องพิจารณาอารมณ์กรรมฐาน เวลาเราพิจารณานั้น มันก็ต้องการ ต้องใช้สติอย่างที่ว่าเมื่อกี้ สติมันก็ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมาในเมื่อจิตใจของเราแน่วแน่ เพราะฉะนั้นเราเจริญวิปัสสนาไป โดยการที่เจริญสติเนี่ยแหละ สมาธิมันก็ได้รับการฝึกไปด้วย เหมือนกับจะเรียกว่าเป็นผลพลอยได้ก็ได้
เพราะฉะนั้นอาจารย์วิปัสสนาบางสำนักท่านก็เลยบอก ไม่ต้องอ่ะ อย่าไปยุ่งเลยกับสมถะ เริ่มวิปัสสนาไปเลย และสมาธิที่เราต้องการเนี่ยพอแล้ว และมันก็ฝึกไปด้วย แต่บางสำนักท่านจะบอกว่า อย่าเลย เอาจิตให้มันแน่ซะก่อนแหละ ให้จิตที่มันยังอยู่ขั้นต้นๆ เนี่ย มันยังไม่ได้รับการฝึกมาพอเนี่ย มันไม่เป็นพื้นฐานที่มั่นคง เพราะฉะนั้นมันอาจทำให้การบำเพ็ญวิปัสสนาเนี่ยได้ผลน้อยหรือยาก เพราะฉะนั้นเพื่อให้มั่นใจเนี่ย ท่านขอว่าให้เจริญสมถะซะก่อน ตอนแรกอย่ายุ่งเลยวิปัสสนาน่ะไปทำสมถะก่อน ทำฝึกจิตให้มันแน่วแน่ดีแล้ว พอเราได้สมาธิดีแล้ว เราก็ค่อยโอนมาหาวิปัสสนา
บางสำนักก็เลยเน้นเอากระทั่งว่า เอาสมถะจนถึงที่สุดก่อนเลย จนกระทั่งได้ฌานได้สมาบัติก่อน แล้วค่อยเอาฌานสมาบัตินั้นมาเป็นฐานมาหาวิปัสสนาต่อไป ก็หมายความว่า ใช้จิตที่เป็นสมาธิกันถึงขั้นที่บริบูรณ์เต็มที่เลย เป็นอัปปนาสมาธิ ทีนี้ก็ ถ้าว่าตามหลักการแล้วเนี่ย สมาธิยิ่งแน่วแน่สนิทเท่าไหร่ก็ยิ่งดี คือหมายความว่าถ้าได้สมถะจนกระทั่งได้ฌานมาก่อนก็ยิ่งดีสิ เพราะว่าคือมันเป็นพร้อมเหลือเกินแล้ว แต่นี้ว่า มันปัญหาก็คือว่าจะรอไหวไหม บางท่านบอกอย่าไปรอเลยเสียเวลา บางทีก็ไปเสียเวลาอยู่กับการทำสมถะตลอดชีวิตซะ
เนี่ยมันก็เลยเป็นเรื่องยืดหยุ่น เราจะเอาวิธีไหนล่ะ ก็เลือกเอา งั้นถ้าเข้าใจหลักการนี้แล้วจะไม่สับสน คือจะไม่ไปหลงว่า เออ เดี๋ยวก็เจริญสมถะไปก่อน หรือเจริญวิปัสสนาไปเลยอะไรเนี่ย มันก็เป็นเรื่องที่ว่าให้พิจารณาเอา หรือเป็นเรื่องของสำนักเป็นเรื่องของอาจารย์ มันเป็นทางเลือกที่ยืดหยุ่น แต่เมื่อเลือกอย่างไหนก็ต้องยอมรับจุดอ่อนของทางเลือกนั้นด้วย
อย่างเลือกว่าเจริญวิปัสสนาทันที ก็จิตที่เป็นสมาธิก็ยังไม่พร้อมเท่าไหร่ ก็ต้องยอมรับ การที่ว่าจิตนี่อาจจะหย่อนในเรื่องสมาธิ ความพร้อมในทางสมาธิไม่พอ หรือถ้าหากว่าไปเอาทางสมถะให้จบก่อน ก็ต้องรอไปนาน ซึ่งไม่แน่ว่าชีวิตนี้จะจบหรือเปล่าฌาน 4 ก็เลยไม่ต้องบำเพ็ญวิปัสสนากัน
อันนี้ก็แล้วแต่จะเลือก มันก็ไปรู้หลักการแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ไม่ต้องมาถกมาเถียงกัน เราก็ดูว่า เราเนี่ยจะเอาอย่างไหน มันก็เป็นเสรีภาพของเราที่จะเลือกได้
แต่อย่างไรก็ตาม แม้แต่ว่าไปได้ฌานสูงสุด ไปจนสมาธิจนอัปปนาแล้วเนี่ย เรื่องสมาธินี่จิตเป็นอัปปนาก็คืออยู่กับอารมณ์เดียวอยู่เรื่อยๆ ทีนี้เวลามาทำวิปัสสนาเนี่ย มันจะต้องพิจารณาอารมณ์ที่มาปรากฏเฉพาะหน้าตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอารมณ์มันจะไม่ใช่เป็นอันหนึ่งอันเดียว จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่เฉพาะหน้าๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า เมื่อทำสมถะไปจนได้ฌานแล้วเนี่ย เมื่อจะมาเจริญวิปัสสนา ก็อาศัยสภาพจิตที่มันมีความสามารถในความพร้อมนั่นแหละ แต่ไม่ได้ต้องอยู่ในอัปปนาสมาธินั้น ไม่ได้อยู่ในฌาน ต้องถอนจิตออกจากฌานซะก่อน เวลาจะทำวิปัสสนาก็ออกจากฌานมา แล้วก็มาพิจารณาอารมณ์ต่างๆ โดยจิตที่มีสมาธิพอสมควรแต่ว่ากำลังฌานที่มันบำเพ็ญมาอย่างดีนั่น มันช่วยอยู่เต็มที่เลย มันเป็นฐานที่ทำให้จิตของเราเป็นจิตที่พร้อมเต็มที่
เอาล่ะ เป็นอันว่าถึงแม้จะได้ฌานไปแล้ว ท่านก็ยังบอกว่าเวลาวิปัสสนาแล้วก็ต้องออกจากฌานนั้นมา แต่ว่าเราเรียกว่าใช้ฌานนั้นเป็นบาทเป็นฐานแก่วิปัสสนา นี่ขอให้เข้าใจอย่างนี้ อันนี้ได้บอกเมื่อกี้นี้บอกว่าเป็นอันว่าเราใช้สมาธินั้นแน่นอน แต่ใช้สมาธิขนาดไหนระดับไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง
ท่านก็เลยบอกว่าการบำเพ็ญเรื่องสมถะวิปัสสนาเนี่ย ซึ่งเป้าหมายอยู่ที่วิปัสสนาแน่นอน จุดสุดยอดอยู่ที่นั่น แต่วิธีปฏิบัติเนี่ย ทำได้หลายแบบ แม้แต่หลักการในพระไตรปิฎกก็ยังแยกให้เราเลือกได้ แบบว่า เอาสมถะนำหน้า คือบำเพ็ญสมถะให้ดีก่อน ทำสมาธิให้แนบแน่นก่อนก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าสมถะนำหน้าวิปัสสนาตามหลัง เรียกชื่อเป็นภาษาพระว่า สมถปุพพังคมวิปัสสนา วิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า
ทีนี้อาจจะใช้วิธีบำเพ็ญวิปัสสนาไปก่อน คือวิปัสสนาไปแล้วก็สติมันก็ช่วยในการฝึกสมาธิไปเอง สมาธิก็ตามมาด้วย แม้กระทั่งว่า บางท่านนี่ จบวิปัสสนาได้สำเร็จมรรคผลแล้ว ไปเจริญสมาธิที่ตนยังอ่อนอยู่นั้น เพื่อจะให้ได้ครบฌานก็ยังได้ อันนี้ก็จะเป็นวิธีปฏิบัติแบบที่ 2 เรียกว่าเอาวิปัสสนานำหน้าสมถะตามหลัง พระเรียกว่าวิปัสสนาปุพพังคมสมถะ แปลว่า สมถะที่มีวิปัสสนานำหน้า
หรือจะบำเพ็ญควบคู่กันไปทำทั้งสมถะและวิปัสสนา ทำกันไปคู่เคียงกันไปก็ได้ พระเรียกว่า ยุคนัทธสมถวิปัสสนา แล้วก็ยังมีวิธีปฏิบัติอันที่ 4 อีกซึ่งจะเน้นในเรื่องวิปัสสนา ซึ่งในที่นี้อาตมาจะไม่พูดถึง ก็เอาล่ะ ให้เห็นว่าเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสมถะกับวิปัสสนานี้ยืดหยุ่นมาก ถ้าพูดโดยหลักการก็คือจะเอาสมถะนำหน้าวิปัสสนาตามหลังก็ได้ วิปัสสนานำหน้าสมถะตามหลังก็ได้ บำเพ็ญคู่เคียงกันไปก็ได้ อันนี้อาตมาคิดว่าเพียงแค่นี้ก็ชัดเจนแล้ว เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมถะกับวิปัสสนา
พอเข้าใจชัดเจนแล้ว อาตมาว่าเห็นจุดเชื่อมโยงดีแล้ว พอจุดเชื่อมโยงดีแล้ว คราวนี้ก็จะพูดถึงวิปัสสนาต่อไป อันนี้ก็คือเข้าสู่หัวข้อที่ว่าเมื่อกี้ จากจิตภาวนาสู่ปัญญาภาวนา หรือจากสมถะสู่วิปัสสนา