แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพรโยมผู้ศรัทธาทุกท่าน บัดนี้ โยมก็ได้เดินทางมา เข้าสู่ประเทศอินเดียแล้ว และก็เราก็เดินทางมา ได้เป็นระยะทางพอสมควร ได้มาถึงดินแดนที่เรียกได้ว่า เป็นดินแดนพระพุทธศาสนา และก็เป็นจุดสำคัญแห่งหนึ่ง ณ สถานที่นี้ ก็ดังที่ท่านพระมหาบุญธรรม ท่านได้แนะนำโยมแล้ว คือที่ตั้งของวัดอโศการาม ซึ่งเป็นวัดที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงตั้งสร้างขึ้น และก็มีความสำคัญ ก็คือว่าเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ 3 ร้อยกรองพระธรรมวินัย เมื่อพุทธศักราชประมาณ 234 หรือ 235 ปี แต่ตัวเลขนี้ก็อาจจะมีการถกเถียงกันอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปก็ถือยุติกัน ประมาณนี้
แต่ว่าข้อสำคัญก็คือ อยากจะพูดถึงเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับดินแดนพุทธศาสนา เพราะว่าเท่ากับว่าวันนี้ เรามาถึงอโศการามและก็เมืองปัตนะนี้ เป็นจุดแรกในการเดินทางของเรา เพราะฉะนั้น ควรจะถือโอกาสนี้พูดถึงดินแดน พุทธศาสนาให้ได้ภาพรวมกว้างๆ ก่อน
แต่ว่าจุดนี้ที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ 3 แล้ว เมื่อได้มีการร้อยกรอง พระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้ว ถือว่าพระศาสนามีความมั่นคง พระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ทรงดำเนินงานก้าวหน้าไป อีกขั้นหนึ่ง ก็คือการส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่างๆ ซึ่งเราได้รับทราบกันมาตามตำนาน ว่ามี 9 สายด้วยกัน
ในบรรดา 9 สายนั้น สายหนึ่งก็ไปยังสุวรรณภูมิ ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนแถบประเทศไทยของเรา ก็ทางประเทศไทยเราก็เชื่อว่าพระโสณะและพระอุตตระนี่ ไปขึ้นที่เมืองนครปฐม ในสมัยที่ยังเป็นอาณาจักรทวารวดี ส่วนพม่าก็บอกว่าไปขึ้นที่เมืองสะเทิม ในดินแดนของพม่า
แต่ว่าเรื่องอย่างนี้ก็หาหลักฐานมาพิสูจน์กันยากอยู่ แต่อย่างที่ท่านมหาบุญธรรมว่าไว้ก็ถือว่าสุวรรณภูมิ ก็เป็นดินแดนทางด้านอาเซียตะวันออกเฉียงใต้นั่นแหละ ถ้าข้อสำคัญก็คือว่าพระพุทธศาสนาได้เข้าไปสู่ประเทศไทยของเรา โดยเริ่มต้นไปจากจุดนี้เอง ก็ถือว่าอโศการามนี่เป็นที่ทำสังคายนา และก็เป็นศูนย์กลางที่ได้ส่งพระสาวกหรือพระศาสนทูตไปประกาศพระศาสนา
เพราะฉะนั้น ประเทศไทยของเราก็ถือว่าได้รับพุทธศาสนาจากที่นี้ เรามาถึงที่นี้ก็จึงเป็นจุดสำคัญ เป็นจุดที่เชื่อมต่อระหว่างพุทธศาสนาของประเทศอินเดียกับประเทศไทย จึงถือว่ามีความสำคัญ เพราะฉะนั้น การที่เรามา เริ่มต้นที่นี้ มองในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่ามาถึงจุดที่เป็นแหล่งเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปสู่ประเทศไทย จากจุดนี้เราก็โยงเข้ามาหาประเทศอินเดียอีกที
เมื่อโยมมีความเข้าใจอันนี้แล้ว ทีนี้ก็มา มองดูภาพรวมของประเทศอินเดีย หรืออาณาจักรชมพูทวีป กันอีกครั้งหนึ่ง ประเทศอินเดียหรือชมพูทวีปนี้ เราก็เรียนถึงประวัติโดยสัมพันธ์กับพุทธประวัติ คือประวัติของพระพุทธเจ้า แล้วก็จึงค่อยๆ ดำเนินตามความเป็นมาจากพุทธกาลนั้นเรื่อยมา
ถ้าหากว่าเรามาพูดถึงพระเจ้าอโศกเราก็ยังไม่ถึงพุทธกาล พระเจ้าอโศกมหาราชนี่ก็เป็นเพียงว่าเป็น ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ซึ่งเกิดหลังพุทธกาลไปแล้วตั้ง 200 กว่าปี ยุคสมัยของพระเจ้าอโศกนั้นก็ถือว่าประมาณ 218 ปีหลังพุทธกาล งั้นเราจะถึงพระพุทธเจ้าจริง เราต้องย้อนไปอีก อาณาจักรแห่งนี้มารุ่งเรืองสมัยหลังพุทธกาล 210 กว่าปี
เราย้อนกลับไปสมัยพุทธกาล เมื่อพุทธศักราชล่วงไป 2500 กว่าปี ตอนนั้นประเทศอินเดียก็อยู่ในสภาพที่เราเรียกกันว่าเป็นชมพูทวีป ชมพูทวีปนี้เป็นดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล ในสมัยก่อนพุทธกาลและถึงพุทธกาลนั้น ถือว่ามีอาณาจักรแว่นแคว้น หรือประเทศต่างๆ นี้มากมาย ถือกันว่ามีทั้งหมด 16 ประเทศด้วยกัน หรือ 16 แว่นแคว้น ใช้คำในภาษาบาลีว่า มหาชนบท มีมหาชนบททั้งหมด 16 ด้วยกัน
คำว่า ชนบท นั้น ในภาษาบาลีไม่ได้หมายถึง บ้านนอก แต่คล้าย ๆ กับคำว่า Country ในภาษาอังกฤษ เราจะเห็นว่าคำว่า Country ในภาษาอังกฤษนี่ใช้ได้ 2 ความหมาย ใช้เป็นความหมายทั่วไป Country ก็คือ ประเทศ และ The country ก็เป็นชนบท ใช้ได้ 2 อย่าง
คำว่า ชนบท ในภาษาบาลีก็คล้ายกัน ใช้ทั่วไปแปลว่า ถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ ก็คือประเทศ และก็ใช้ในความ หมายบางอย่างก็เป็นชนบท คือบ้านนอก คล้ายๆ อย่างนั้น คล้ายภาษาอังกฤษ Country นั่นเอง
ทีนี้ในสมัยพุทธกาล และก่อนนั้นนั่น ก็ถือว่าอินเดียนี้หรือชมพูทวีปนี้มีดินแดนแว่นแคว้นใหญ่ๆ อยู่ 16 มหาชนบทด้วยกัน ก็ตามตำนานอย่างในพระไตรปิฎกก็จะบอกไว้ ก็มี อังคะ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ และกัมโพชะ นี่คือชื่อดินแดน หรือมหาประเทศ หรือ ประเทศทั้งหมด 16 ประเทศด้วยกัน
นี้แว่นแคว้นดินแดนเหล่านี้นั้น กล่าวได้ว่าเรียงจากตะวันออกไปตะวันตก อังคะนั้นก็เริ่มต้นตั้งแต่ดินแดนที่ปัจจุบันนี้เป็น บังคลาเทศ บังคลาเทศนี่แหละคือแถบของแคว้นอังคะ แล้วก็ไล่มา อย่างกัลกัตตานี่ ก็เข้าใจว่า คร่าวๆ ก็อยู่ในแคว้นอังคะนี้ด้วย เป็นแคว้นที่ 1 แล้วก็ไปมคธ มคธนี่ ตอนนี้เรามาอยู่ในแคว้นมคธแล้ว แล้วก็ไป กาสี อย่างเมืองพาราณสีนี่ก็อยู่ในกาสี โกศล สาวัตถีก็อยู่ในแคว้นโกศล แล้วก็ไปวัชชี เราไม่ได้เข้าไปโดยตรง มัลละ เจตี ว่าเรื่อยไป กุรุนั้นไปอยู่แถวเมืองเดลีแล้ว ปัญจาละ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ ไปถึงคันธาระ กัมโพชะ ก็โน่นแถวปากีสถานโน่นแล้วและก็อัฟกานิสถาน ก็ไล่ไปตั้งแต่ตะวันออกจนกระทั่งตะวันตก
อันนี้ก็คืออินเดียในสมัยโบราณ แล้วพอมาถึงยุคพุทธกาลนั้น 16 แว่นแคว้นนั้นก็เป็นธรรมดาของเรื่อง ของการเมือง ก็จะต้องมีการแข่งขันแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน ประเทศที่มีอำนาจมากกว่าก็รบราทำสงครามกัน จนกระทั่งว่าบางประเทศก็จะหมดอำนาจไป หรือถูกยึดรวมเข้า
ในสมัยพุทธกาลนั้น ก็ปรากฎว่า ใน 16 แว่นแคว้นนั้นก็เหลือประเทศที่ใหญ่โตอยู่จริงๆ นี่ ประมาณสัก 4-5 ประเทศเท่านั้น ก็อย่าง อังคะ ที่ว่าแถวบังคลาเทศนี่ ก็เข้าไปอยู่ใต้อำนาจของแคว้นมคธไปแล้ว มคธนี่ก็เป็น แคว้นที่ยิ่งใหญ่ และก็กาสี มีเมืองพาราณสีที่เราจะไปนี่ ก็ไปอยู่ใต้อำนาจของแคว้นโกศลไปแล้ว กาสีนี่มีเรื่องใน ชาดกมากเหลือเกิน อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺเต บอกเมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติใน พาราณสี ในแคว้นกาสี แต่ว่าพอถึงสมัยพุทธกาลนี่ กาสีไปอยู่ใต้อำนาจแคว้นโกศล ที่เมืองสาวัตถี
แล้วก็วัชชีก็เป็นแคว้นที่ใหญ่มาก มีอำนาจมากในสมัยพุทธกาล แล้วก็ไปแคว้นวังสะ วังสะนี่จะได้ยินชื่อ มากในเรื่องวาสิฏฐี หรือกามนิต วังสะนั้นเมืองหลวงชื่อว่าโกสัมพี ก็พอออกชื่อเมืองโกสัมพี โยมที่เรียนสมัยก่อนก็ นึกออก แล้วก็ไปมีอีกแคว้นหนึ่งก็แคว้นอวันตี เมืองอุชเชนีเป็นเมืองหลวง แล้วก็ถิ่นของพวกกามนิตวาสิฏฐีนี่แหละ
นี่ก็เป็นแคว้นมหาอำนาจในตอนนั้น กล่าวได้ว่าก็มีพวกนี้ มีมคธ มีวัชชี มีโกศล แล้วก็มีวังสะ มีอวันตี แต่ว่า แคว้นที่เกี่ยวข้องกับทางพุทธศาสนาในยุคพุทธกาลมาก ก็จะอยู่ทางด้านนี้ ด้านที่เรามาถึงก่อนคือภาคตะวันออก เฉียงเหนือของอินเดีย ก็มีแคว้นมคธเนี่ย แล้วก็แคว้นวัชชี แล้วก็แคว้นโกศลนี่จะมีชื่อเสียงกล่าวบ่อยที่สุด
นี้กล่าวถึงแคว้นมคธ แคว้นมคธนี่จะเป็นแคว้นมีชื่ออยู่ยั่งยืนที่สุด แคว้นอื่นๆ ที่ว่าใหญ่อยู่ในสมัยพุทธกาลนี่ ต่อมาหลังพุทธกาลค่อยๆ หมดไป ตอนสมัยพุทธกาลนั้น เราจะเห็นว่ามีแคว้นมคธนี่กับแคว้นวัชชีแข่งอำนาจกัน มาก และก็แคว้นโกศลก็รบกับแคว้นมคธ แต่ว่าต่อมาโกศลก็หายไป วัชชีก็หายไป แต่ว่าที่น่าสังเกตก็คือ แคว้นที่มีการปกครองแบบที่ต่างกัน ก็คือแคว้นมคธกับแคว้นวัชชี อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
แค้วนมคธก็เป็นแคว้นที่ปกครองแบบราชาธิปไตย และก็อยู่ติดกันกับแคว้นวัชชี แคว้นวัชชีนี่ปกครองแบบที่ เขาเรียกกันว่า สามัคคีธรรม ฝรั่งเขาเรียกว่า ปกครองแบบ Republic หรือ สาธารณรัฐ ปกครองแบบสามัคคีธรรมก็คือว่า ไม่ใช่เป็นผู้ปกครองเด็ดขาดผู้เดียว แต่ใช้วิธีที่ว่ามีชนชั้นปกครองจำนวน หนึ่ง จำนวนมากทีเดียว ซึ่งอาจจะถึง 7707 องค์ มีการหมุนเวียนกันขึ้นมาปกครอง เวลาจะบริหารราชการ แผ่นดินก็ต้องมีการประชุมในสภา สภานี่หอประชุมเขาเรียกว่า สัณฐาคาร
ระบบการปกครองแบบนี้มีหอประชุมสัณฐาคารนี่เป็นที่ๆ ว่า พอถึงโอกาสที่มีเรื่องราวที่จะต้องตัดสินกัน เช่นว่า จะรบหรือไม่รบกับต่างประเทศ เกิดเรื่องเกิดราวกันขึ้น หรือว่ามีราชการอะไรต่างๆ ที่สำคัญนะ ที่จะต้อง ตัดสินวินิจฉัย อย่างที่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน กษัตริย์มัลละซึ่งปกครองแบบเดียวกันนี้ ก็ต้อง ประชุมกันในสัณฐาคารว่า จะปฏิบัติต่องานปลงพระสรีระของพระพุทธเจ้าอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น
กษัตริย์พวกนี้ก็เป็นการปกครองแบบสามัคคีธรรม ต้องประชุมกันในสัณฐาคาร พวกกษัตริย์วัชชีที่มีชื่อเรียก กันว่ากษัตริย์ลิจฉวี ถ้าเป็นนักเรียนสมัยก่อนนี่ก็จะได้ยินเรื่องใน สามัคคีเภทคำฉันท์ กษัตริย์ลิจฉวีนี่ก็อยู่ในแคว้น วัชชีนี้
ที่จริง ในวัชชีนี่ยังมีกษัตริย์พวกอื่นอีก เช่น วิเทหา เป็นต้น แต่ว่าที่มีชื่อมาก มาปลายพุทธกาลก็มีลิจฉวี นี่แหละ ที่สำคัญ พวกนี้ก็เป็นผู้ที่เข้มแข็งมาก มีการปกครองแบบเก่าที่ใช้การปกครองแบบสามัคคีธรรม ร่วมกัน ปกครอง นี่ก็แข่งอำนาจกันกับแคว้นมคธนี่อย่างยิ่งทีเดียว แต่ว่าหลังจากพุทธกาลไม่นานก็ปรากฎว่าวัชชีนี้ได้ สูญเสียอำนาจแก่แคว้นมคธ
แคว้นมคธสมัยนั้นก็มีพระเจ้าแผ่นดินชื่อว่า พระเจ้าพิมพิสาร ในสมัยปลายพุทธกาล ก็ตอนหลังก็ได้ส่ง อำมาตย์ชื่อว่าวัสสการพราหมณ์เข้าไป แล้ววัสสการพราหมณ์นี่ก็ได้เข้าไปยุแหย่ จนกระทั่งกษัตริย์ลิจฉวีที่ครอง แคว้นวัชชีนั้นแตกสามัคคีกันหมด เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพไป ก็เลยพวกกษัตริย์วัชชีคือเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ก็มีความอ่อนแอ ไม่พร้อมกันที่จะรบ ก็เลยพ่ายแพ้ อาณาจักรของวัชชีก็พินาศลง ก็สูญสิ้นอำนาจ และตกเป็น เมืองขึ้นของแคว้นมคธสืบมา
นั่นก็เป็นเหตุการณ์ ที่หลังจากพุทธกาลไม่นาน อันนี้ก็ มคธนี่จะเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่มา แคว้นโกศลเองก็ได้สูญเสียอำนาจไป แล้วก็มคธก็เหลืออยู่แคว้นเดียว จนกระทั่งว่ามาถึงยุคพระเจ้าอโศก ซึ่งเป็นเวลานานตั้งเป็น 200 กว่าปีเนี่ย มคธก็เหลือแคว้นเดียวที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
มาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช อาณาจักรมคธของพระเจ้าอโศกนี่ใหญ่ กว้างยิ่งกว่าประเทศอินเดียปัจจุบัน เขาบอกว่าเป็นอินเดียยุคที่มีดินแดนกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเลย แต่ว่าออกไปทางสองปีกนี่มาก ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือออกไปทางปากีสถาน อัฟกานิสถาน แต่ใต้นี่ไม่หมด เพราะพระเจ้าอโศกไปหยุด ตอนที่ทำสงครามรบชนะแคว้นกลิงคะ ที่ท่านมหาบอกแล้วว่าทางปัจจุบันเขาเรียกว่าแคว้นโอริสสา แล้วก็หยุด อยู่แค่นั้น เพราะว่าได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา แล้วก็เปลี่ยนนโยบายใหม่ จากสังคามวิชัยที่รบชนะ เอาชนะด้วยสงครามมาเป็นชนะด้วยธรรมะ
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดกันคร่าวๆ แต่ว่า อาตมาอยากจะให้ข้อสังเกตอีกนิดหน่อย คือ ความเจริญของเรื่อง ของแคว้นมคธเนี่ย ที่เกี่ยวข้องกับแคว้นวัชชี เพราะมีความสัมพันธ์กันเรื่องเมืองที่เราอยู่ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ
เมืองปัตนะนี่ชื่อเดิมก็คือชื่อว่า เมืองปาฏลีบุตร เมืองปาฏลีบุตรนี้ได้มาเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช และก็เป็นที่ตั้งของวัดอโศการามที่เรานั่งอยู่ ซึ่งเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ 3 ดังกล่าวมาแล้ว
แล้วเมืองปาฏลีบุตรนั้น ในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพื่อเชื่อมโยงกันนิดหน่อย ในสมัยพุทธกาลนั้นเมืองปาฏลีบุตรยังไม่ได้เป็นเมือง เพิ่งจะเริ่มเพิ่งเริ่มก่อสร้าง อาณาจักรมคธในสมัยพุทธกาลนั้น มีเมืองหลวงชื่อว่าเมืองราชคฤห์ ซึ่งเราจะไปในวันสองวันนี้เอง นั่นละเรากำลังจะไปสู่เมืองหลวงเดิมของแคว้นมคธ ใน สมัยที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์นั่นแหละ ซึ่งเป็น เมืองหลวงของแคว้นมคธ แล้วก็ราชคฤห์นี้ ก็เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ เพราะเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ 1
สังคายนาครั้งที่ 1 นั้น ที่ราชคฤห์เมืองหลวงเก่า แล้วมาสังคายนาครั้งที่ 3 ปาฏลีบุตรเมืองหลวงใหม่แห่งนี้ ขอให้ลองเชื่อมโยงเรื่องราวดู
นี้ก็เมืองราชคฤห์ก็เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยพระพุทธกาล เริ่มพุทธกาลก็คือสมัยของพระเจ้าพิมพิสาร โยมก็คงได้ยินชื่อพระเจ้าพิมพิสารแล้วรู้จักกันดี แล้วต่อมาพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร คือ พระเจ้าอชาตศัตรูได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วก็ได้ขึ้นครองราชย์ ก็ครองอยู่ที่เมืองราชคฤห์นั้น
ทีนี้มาถึงปลายพุทธกาล ก็มีเรื่องราวของเมืองปาฏลีบุตรนี้เกิดขึ้น มีเล่าไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ตอนนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินในหนทางที่จะไปสู่เมืองที่จะปรินิพพานคือเมืองกุสินารา และตอนนั้นก็มาผ่านที่นี่แหละ
เมืองปาฏลีบุตรนี้ในสมัยพุทธกาลมีชื่อว่า ปาฏลิคาม เท่านั้นเอง ปาฏลิคามก็แปลว่าเป็นหมู่บ้าน ยังไม่ได้ เป็นเมือง เป็นหมู่บ้านปาฏลิ แล้วตอนนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูนี่กำลังต้องการจะรุกรานแคว้นวัชชีเป็นอย่างมาก แล้วก็มีเรื่องมีปัญหากับแคว้นวัชชี เพราะฉะนั้น ก็จะต้องสร้างความเข้มแข็งในชายแดน พระเจ้าอชาตศัตรูก็เลย ได้มาดำเนินการสร้างปาฏลิคาม หรือหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้นเป็นเมืองป้อม เมืองหน้าด่าน เพื่อจะสู้รบกับวัชชีนั่นเอง
งั้นนี่คือกำเนิดของเมืองปาฏลีบุตร พระเจ้าอชาตศัตรูก็มอบหมายให้มหาอำมาตย์ 2 ท่าน ชื่อสุนีธะกับวัสสการะ นี่แหละ สุนีธะคนหนึ่ง กับวัสสการพราหมณ์ ตัวสำคัญให้มาสร้างเมืองนี้ ตอนที่เขากำลังสร้างเมืองนี้อยู่ พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จมา แล้วพระองค์ก็ได้เสด็จผ่านในสถานที่ต่างๆ ผ่านประตูเมือง เขาก็เรียกประตูนั้นว่า โคตมทวาร แล้วก็พระองค์ เสด็จลงแม่น้ำที่ท่าน้ำใด เขาก็เรียกท่าน้ำนั้นว่า โคตมติตถะ
พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงทำนายไว้ว่า ปาฏลีบุตรที่สร้างขึ้นใหม่เป็นเมืองหน้าด่านเนี่ย ต่อไปจะเจริญรุ่งเรือง แต่ก็จะมีความพินาศด้วยภัย ๓ ประการ อย่างที่ท่านมหาบุญธรรมท่านได้กล่าวแล้ว ก็คือ ภัยจากไฟ จากน้ำ และจากความแตกสามัคคี อันนี้เป็นเหตุการณ์ในพุทธกาลที่ต่อเนื่อง ซึ่งเราได้เห็นกำเนิดของเมืองปาฏลีบุตรทีเดียว
ทีนี้ว่าถึงการที่พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธต้องมาสร้างเมืองหน้าด่านนี้ขึ้น เพื่อมาสู้กับวัชชีเนี่ย เพราะจุดนี้เป็นจุดสำคัญ ทีนี้เมืองวัชชีหรือพวกกษัตริย์ลิจฉวีนี้ก็มีปัญหากะแคว้นมคธ โดยเฉพาะพระเจ้าอชาตศัตรูมา ตลอด และบนฝั่งแม่น้ำคงคาซึ่งยาวไปไกล ก็มี มีดินแดนอยู่ส่วนหนึ่งที่เคยเป็นส่วนที่แบ่งกันระหว่างทางฝ่ายมคธ กับฝ่ายวัชชี อันนี้ก็ที่ภูเขาหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำเนี่ย ก็ว่ามีพืชอะไรชนิดหนึ่ง อาตมาก็ไม่ได้ดูรายละเอียดละน่ะ ว่ามันมีกลิ่นหอมมาก แล้วก็ ถึงวาระคงที่เวลาที่น้ำมันชะลงมา ฝนลงมา แล้วก็พากลิ่นหอมของพืชนี่ลงไปในแม่น้ำ ก็เป็นที่ๆ เรียกว่ามีชื่อเสียงอย่างมาก
ทีนี้ครั้งหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรู เตรียมยกพลกำลังมาเพื่อจะมาเอาพืชที่มีกลิ่นหอมนี้ พวกวัชชีก็มาชิงตัดหน้า เอาไป พระเจ้าอชาตศัตรูจะมาเอาทีไร พวกวัชชีก็มาตัดหน้าไปทุกที อันนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรู โกรธแค้นมาก ความคิดที่จะห้ำหั่นกับพวกวัชชีนี่มีอยู่เรื่อยเลย โดยเฉพาะก็คือการแย่งชิงอำนาจ และก็ความหวาด กลัว เพราะว่าพวกวัชชีนั้น ก็เป็นอำนาจแบบเก่า การปกครองแบบเดิม ซึ่งเมื่อมีอยู่ มีความเข้มแข็ง ก็เป็นภัยอันตรายคุกคามต่ออาณาจักรมคธอยู่ตลอดเวลา
งั้นก็เป็นธรรมดาที่ว่า พวกที่หวังอำนาจก็จะต้องพยายามที่จะรุกรานหรือว่าปราบปรามกันลงไปให้ได้ โดยเฉพาะก็เพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเอง นี่ก็เป็นสภาพเหตุการณ์ในสมัยสมัยพุทธกาลนะ ก่อนที่จะสิ้นพุทธกาล และต่อจากเมื่อสิ้นพุทธกาลแล้ว เรื่องการพิพาทกันระหว่างแคว้นวัชชีกับมคธนี่ก็จะปรากฎในพุทธประวัติ และ เราจะเห็นได้จากเรื่องของ อปริหานิยธรรม พระเจ้าอชาตศัตรูนี่เคยส่งวัสสการพราหมณ์นี่เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ลองไปหยั่งดูว่าจะยกทัพไปปราบพวกวัชชีนี่ พระพุทธเจ้าจะตรัสว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสบอกว่าเนี่ยนะ คือพระองค์ก็ไม่ได้ตรัสตรงๆ วัสสการพราหมณ์ก็เข้าไปพูดทำนองว่า เออ พระเจ้าอชาตศัตรูนี่คิดว่าจะยกทัพไปปราบพวกแคว้นวัชชี พระพุทธเจ้าก็ตรัสโดยวิธีหันไปทรงถามพระอานนท์ ก็ เออ อานนท์นะ สมัยหนึ่งเราเคยได้แสดงหลักอปริหานิยธรรม ๗ ประการเอาไว้แก่พวกเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย เวลานี้พวกกษัตริย์ลิจฉวียังได้รักษาอปริหานิยธรรมกันดีอยู่หรือ พระอานนท์ท่านก็รับทูลรับนะ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ตราบใดที่กษัตริย์ลิจฉวีแห่งวัชชียังประพฤติปฏิบัติมั่นอยู่ใน อปริหานิยธรรม ๗ ประการแล้ว จะไม่มีใครเอาชนะได้
คล้ายๆ ว่า เท่ากับว่าพระองค์ห้ามทัพไว้ก่อน เพราะว่าถ้าขืนรบกัน มันก็ต้องสูญเสียกันมากทั้งสองฝ่าย ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูก็ยังไม่กล้ายกทัพไป ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูก็คงคิดใหม่ คือก็คิดกันอยู่ตลอด ทำไงจะเอาชนะเขาได้นะ
ทีนี้ก็อยู่ที่ทั้งสองฝ่ายนี้จะปฏิบัติตัวอย่างไร ก็ปรากฎว่าฝ่ายมคธนี่ก็ได้คิดแผนการอย่างที่ว่าวัสสการ พราหมณ์นี้ก็วางแผนการที่ว่าจะไปทำลายความสามัคคีของแคว้นวัชชีเสีย ก็ได้อาสาทำเป็นว่าถูกลงโทษ ถูกขับ ถูกเนรเทศออกจากแคว้นมคธไป แล้วก็ด้วยการที่เป็นผู้ที่หนีภัย หนีอันตรายไป เป็นผู้ที่มีความโกรธแค้นต่อกษัตริย์ อชาตศัตรูไป ก็เลยไปรับอาสา รับราชการแผ่นดินในวัชชี พวกวัชชีก็ไว้วางใจ หลงกล ก็ต่อมาวัสสการพราหมณ์ ก็ใช้กลอุบายค่อยๆ เกลี้ยกล่อม ค่อยๆ ยุแหย่ จนกระทั่งฝ่ายกษัตริย์ลิจฉวีนี่แตกแยกกันหมดเลย อันนั้นก็นำมาซึ่ง ความอ่อนแอของฝ่ายกษัตริย์ลิจฉวีเอง
แต่ว่ายังมีเหตุอื่นอีก แม้แต่ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ตรัสเล่า คือพระพุทธเจ้าจะทรงเตือนไว้เสมอ การที่ทรงแสดงอปริหานิยธรรมนี้ ก็เป็นการเตือนชาววัชชีไปด้วยว่า เธอทั้งหลายจะต้องประพฤติปฏิบัติมั่นใน หลักธรรมเหล่านี้นะ ถ้าหากว่าได้ประพฤติตามหลักธรรมเหล่านี้ 7 ข้อ ญาติโยมอาจจะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง อาตมา ก็พูดไว้เป็นตัวอย่าง อปริหานิยธรรมที่ว่าธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เช่นว่า
1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
2. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก และก็เมื่อมีกิจสิ่งใดที่เป็นของส่วนรวม เกิดขึ้น ก็ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันจัดกันทำอะไรต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้ ตลอดจนกระทั่งมีการให้ความเคารพนับถือ สักการะอนุสาวรีย์ปูชนียสถานซึ่งเป็นหลักใจของบ้านของเมืองของสังคมของตน
พระพุทธเจ้าก็ตรัสหลักการเหล่านี้ไว้ ก็บอกว่า ถ้าหากว่าชาววัชชีคือกษัตริย์ลิจฉวีและประชาชนนี้ ประพฤติปฏิบัติมั่นอยู่ในหลักธรรมเหล่านี้แล้ว ก็จะไม่มีความเสื่อม มีแต่เจริญอย่างเดียว ก็เท่ากับพระองค์เตือนอยู่เสมอว่า ให้พยายามตั้งตนอยู่ในธรรมเหล่านี้ แต่ว่าในที่สุดความเสื่อมก็มา เพราะว่ากษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ปฏิบัติตามนี้ และนอกจากนั้น พระองค์ยังตรัสเนื่องในโอกาสอื่นอีก ซึ่งการที่ตรัสถึงว่า สมัยก่อนนี้ กษัตริย์ลิจฉวีนั้นเป็นผู้ที่มี ความแข็งแกร่ง มีความหมั่นขยันในการฝึกฝนตนเอง เป็นอยู่โดยความไม่ประมาท สมัยก่อนนี่พวกกษัตริย์ลิจฉวี จะไม่เห็นแก่ความสุขสำราญ จะนอนหมอนไม้ หมั่นฝึกการรบตลอดเวลา อะไรต่างๆ ต่อมาพวกกษัตริย์ลิจฉวี พออาณาจักรของตนเข้มแข็งมั่นคงขึ้น ก็ชักจะเพลิดเพลินหลงมัวเมาในความสุขต่างๆ และก็นอนหาความสุข จากการเป็นอยู่ต่างๆ ที่ฟุ่มเฟือยหรูหรา ความเสื่อมก็คืบคลานเข้ามา
อันนี้ก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ที่น่าศึกษาถึงความเสื่อมความเจริญของบ้านเมืองของสังคมต่างๆ เป็นคติสอนใจ พุทธศาสนิกชนจากเรื่องราวที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ อันนี้อาตมาก็จะไม่พูดยืดยาว ที่เพราะพูดมานี่ก็เยอะแล้ว คือให้เห็นภาพกว้างๆ เกี่ยวกับความเป็นไปของอดีตเนี่ย ว่าดินแดนที่นี้มีความสำคัญอย่างไร
และตกลงว่า ปาฏลิคามที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้เริ่มให้มหาอำมาตย์มาสร้างขึ้นในตอนท้ายพุทธกาลนั้น ได้เป็นเมืองหน้าด่าน และก็มามีชื่อว่าเป็นปาฏลีบุตร และต่อมาก็ ไม่นานหลังจากพุทธกาล มาสมัยลูกหลาน พระเจ้าอชาตศัตรู เขาก็ย้ายเมืองหลวงจากราชคฤห์มาอยู่ที่ปาฏลีบุตรนี้ ซึ่งตอนนั้นก็เป็นเวลาที่แคว้นวัชชีได้สิ้น อำนาจไปแล้ว ปาฏลีบุตรก็กลายเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกไป และพระเจ้าอโศกมหาราชตอนนั้นก็ยังไกล คือปาฏลีบุตรมาเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธก่อนพระเจ้าอโศกตั้งนาน พอหลังพุทธกาลไม่นานก็เป็นแล้ว และก็ เป็นสืบต่อมา พระเจ้าอโศกนี่ก็ไม่ได้เป็นวงศ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู หรือของพระเจ้าพิมพิสารหรอก ถึงอยู่แคว้น มคธ ครองแคว้นมคธก็จริง แต่เป็นกษัตริย์วงศ์อื่น
คือกษัตริย์วงศ์ของพระเจ้าพิมพิสาร อชาตศัตรูที่ครองแคว้นมคธนั้น อยู่มาได้สัก ๗ ชั่วคน พอถึงรุ่น เอ่อ อะไรล่ะ ๗ ชั่วคนนี่ จะเรียกเหลนก็ไม่ถูกแล้ว มันเลยเหลนแล้ว คือในกษัตริย์ราชวงศ์นี้นั้น ลูกฆ่าพ่อตลอด ลูกฆ่า พ่อตามกันมา พระเจ้าอชาตศัตรูฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร พอลูกพระเจ้าอชาตศัตรูชื่ออุทัยภัทรก็ฆ่าพ่ออีก พอลูกของ อุทัยภัทรก็ฆ่าพ่ออีก ฆ่ากันมาจนกระทั่งว่า พวกอำมาตย์ทั้งหลายทนไม่ไหว ก็เลยยึดอำนาจตั้งราชวงศ์ใหม่ ราชวงศ์ใหม่นี่ก็ปกครองกันมา มีอำนาจกว้างขวางขึ้นมา อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ต่อมาในอินเดียเนี่ย แคว้นต่างๆ ก็ค่อยๆ หมดอำนาจ จนกระทั่งเหลือแต่แคว้นมคธนี่ยิ่งใหญ่
ทีนี้ ตอนที่พวกกษัตริย์ยุคหลังๆ ครองกันอยู่นี่ ฝ่ายกษัตริย์วงศ์หนึ่ง ซึ่งชื่อว่าวงศ์โมริยะเนี่ย ซึ่งเป็น เจ้าเผ่าหนึ่งนั่นเองในสมัยนั้น ในสมัยที่หลังพุทธกาลประมาณสัก 100 กว่าปีแล้ว มีเจ้าเผ่าโมริยะนี่ โมริยะนี่ก็ ถือว่าเป็นสายของญาติของพระพุทธเจ้าเหมือนกันนะ เขาถือว่าพระเจ้าอโศกนี่เป็นวงศ์ญาติของพระพุทธเจ้า ก็อาจจะเป็นได้ว่า ตอนที่ศากยะถูกล้างเผ่า โยมถ้าพูดอย่างนี้อาจจะงง แต่ว่าเรื่องราวก็มีอยู่นะ ต้องโยงไปหา เรื่องในสมัยพุทธกาลว่า วงศ์ของพระพุทธเจ้านี่ คือวงศ์ศากยะ วงศ์ศากยะนี่ตอนท้ายเนี่ยก็ได้ถูกพวกกษัตริย์ แคว้นโกศลยกทัพไปปราบทำลายหมด กษัตริย์โกศลตอนนั้น ชื่อพระเจ้าวิฑูฑภะ เป็นลูกของพระเจ้าปเสนทิโกศล นี่ตอนท้ายพุทธกาล พระเจ้าวิฑูฑภะนี่ยกทัพไปปราบแคว้นศากยะ แล้วก็ทำลายแคว้นศากยะหมด นี่ก็ ก็มีเรื่องว่า กษัตริย์สายศากยะที่หลงเหลือหนีไป อาจจะไปอยู่ตามเชิงเขาหิมาลัย นี่ก็ต่อมาก็ค่อยๆ ได้รวบรวมลูกหลานมีกำลัง มากขึ้น จนกระทั่งราว พ.ศ. 161 ก็ได้มีคนสำคัญในวงศ์โมริยะเกิดขึ้นชื่อว่า จันทรคุปต์
จันทรคุปต์นี่ก็ได้พยายามที่จะรวบรวมอำนาจ แล้วก็พยายามที่จะชิงแคว้นมคธนี่เลย ตอนนั้น แคว้นมคธ ใหญ่มาก โมริยะนี่เป็นเพียงเผ่าหนึ่งเท่านั้นเอง โมริยะโดยจันทรคุปต์เป็นหัวหน้า ได้พยายามที่จะเข้ามายึดอำนาจ แคว้นมคธ ก็ยังทำการไม่สำเร็จ
ทีนี้ ก็ตอนนั้น พอดีถึงยุคของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช นี่เชื่อมไปทางกรีกแล้วนะ พระเจ้าอเล็ก ซานเดอร์มหาราชก็มีอำนาจยิ่งใหญ่ขึ้นมาทางกรีกโน้น ก็ต้องการจะแผ่อำนาจไปทั่วโลก ก็ได้กรีธาทัพมาตามลำดับ รบชนะมาตามลำดับ มาถึงชายแดนประเทศอินเดีย ก็คิดว่าจะต้องเข้าตีประเทศอินเดียด้วย ก็มาหยุดพักกำลังพล อยู่ที่ชายแดนประเทศอินเดีย ก็ตอนนั้น ก็เตรียมวางแผนที่จะมาทำสงครามกับชมพูทวีป กับแคว้นมคธนี่แหละ ซึ่งกำลังเป็นแคว้นมหาอำนาจอยู่ ก็พอดีประจวบเวลาเดียวกันกับปู่พระเจ้าอโศก คือพระเจ้าจันทรคุปต์นี่กำลัง พยายามที่จะเข้ายึดอำนาจแคว้นมคธอยู่
ก็มีเรื่องเกิดขึ้นว่า ทั้งสองฝ่ายนี้ก็เห็นว่า ถ้ามาร่วมเป็นสัมพันธไมตรีกันแล้ว จะช่วยกันรบเอาชนะมคธได้ ทั้งสองฝ่ายก็มีผลประโยชน์ร่วมกัน ก็พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็คิดว่า ถ้าได้อาศัยคนอินเดียเองมาช่วย การรบ ก็จะมีกำลังทำได้สำเร็จดีขึ้น ฝ่ายจันทรคุปต์ก็เช่นเดียวกัน ว่าถ้าได้อาศัยอเล็กซานเดอร์มหาราชมาช่วย ตัวเองก็จะสามารถรบชนะได้ เพราะตัวเองก็ยังมีกำลังไม่พอ
นี้สองฝ่ายมีความคิดร่วมกันอย่างนี้ ก็เลยนัดพบกัน พอนัดพบกัน เกิดมีปัญหาว่า ใครจะเคารพใครก่อน ทั้งสองฝ่ายต่างก็ถือตัว ไม่ยอมเคารพก่อน พอไม่ยอม ฝ่ายจันทรคุปต์นี่เข้าไปในเขตอำนาจของอเล็กซานเดอร์ เพราะเข้าไปพบในถิ่นของเขา ก็เลย อเล็กซานเดอร์ก็สั่งจับเลย จับจันทรคุปต์ขัง แล้วต่อมาก็มีเรื่องว่า จันทรคุปต์ ก็หนีออกมาได้ นี่ก็เป็นเรื่องนิยายอะไรต่อไรประกอบประวัติศาสตร์ไป จันทรคุปต์หนีออกได้แล้ว ต่อมาพระเจ้า อเล็กซานเดอร์เองก็คิดไปคิดมายังไงก็ไม่ทราบก็ยกทัพกลับ ยกทัพกลับไปแล้วก็ไปสวรรคตกลางทาง แล้วดินแดน ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชตีได้ พระองค์ก็ทิ้งแม่ทัพนายกองไว้ให้ปกครอง แล้วก็แม่ทัพนายกองเหล่านั้น ก็ต่อมาก็ยกตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นแคว้นๆๆ หลายแคว้น ซึ่งแคว้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงต่อมาคือ แคว้นของ พระเจ้าเมนันเดอร์ ที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า พระเจ้ามิลินท์ ต่อมาก็เป็นกษัตริย์ที่มีชื่อเสียง มานับถือพระพุทธ ศาสนาในสมัยพ.ศ. ประมาณ 500 ปี พระเจ้ามิิลินทะนี่แหละ ก็เป็นกษัตริย์เชื้อชาติกรีก คือเป็นพวกราชวงศ์ของ แม่ทัพกรีก ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มาทิ้งไว้ นี่ก็เป็นเรื่องโยงกันไปหมด
ทีนี้ กล่าวฝ่ายพระเจ้าจันทรคุปต์ เมื่อหนีออกมาจากเงื้อมมือของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้แล้ว ก็ต้องมาหาทางที่จะยึดอำนาจของแคว้นมคธด้วยตนเองต่อไป ก็มีเรื่องมีราวมากมาย เรียกว่าครั้งหนึ่งนี่ เคยนึกว่า ตัวเองมีกำลังมากพอแล้ว ก็ยกทัพเข้าตีแคว้นมคธ ปรากฎว่าพ่ายแพ้ ตัวจันทรคุปต์เองหนีเอาชีวิตแทบไม่รอด แล้ว ก็หนีซอกซอนไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไปในหมู่บ้านแห่งนั้น ก็พอดียายกำลังทำขนมเบื้องให้หลานกิน ขนมเบื้อง อินเดียเนี่ยอาตมาก็ไม่ค่อยทราบนะ ท่านมหาบุญธรรมนั้นท่านคงทราบดี เราแปลกันเป็นไทยก็เรียกกันว่า ขนม เบื้อง มันจะขนมเบื้องแบบไหนก็ไม่ทราบ
ทีนี้พอเอาลงจากเตา เรียกว่าทอดอะไรเสร็จใหม่ๆ ก็ให้หลานๆ นั้น กำลังร้อนๆ ก็กัดกร้วม กินเข้าไปตรง กลาง ก็ร้องเลยทีเดียว เพราะมันร้อนจัด มันลวกเอาปากเอาลิ้นเข้า พอเด็กคนนี้ร้องขึ้นมา ยายก็ด่า บอกเอ็งมันโง่ เหมือนเจ้าจันทรคุปต์ ไปกัดกินได้ไงตรงกลางกร้วม มันต้องกินมาจากข้างนอกก่อน กินมาจากขอบๆ เพราะขอบๆ มันบาง มันก็เย็นกว่า
พระเจ้าจันทรคุปต์นั้นกำลังหนีมา ซอกซอนมาในชนบทนั้นพอดี ได้ยินเสียงยายด่าหลานนี้ ได้ความคิดขึ้น มาทันที เปลี่ยนแผนการรบใหม่ บอกว่าเราจะซ่องสุมกำลังแล้วก็ไปรบโดยตรงนี่คงไม่ไหว เพราะกำลังเราน้อยกว่า ก็ต้องใช้วิธีที่ว่า ทำแบบกินขนมเบื้อง โดยเล็มจากขอบเข้ามา ก็ค่อยๆ ไปซ่องสุมกำลังใหม่ แล้วก็ทำสัมพันธไมตรี กับเผ่าเล็กเผ่าน้อย แล้วก็ตีอาณาจักรมคธนี่ล้อมเข้ามา ล้อมเข้ามา จากรอบนอกตามลำดับในที่สุดพระเจ้า จันทรคุปต์ ก็รบชนะแคว้นมคธ แล้วก็เลยเข้าครองแผ่นดินมคธตั้งตัวเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์โมริยะ เป็นภาษาบาลีและสันสกฤตเรียกว่า เมารยะ ครองแผ่นดินที่เมืองปาฏลีบุตรนี้สืบมา และก็ลูกของพระเจ้า จันทรคุปต์นั้นก็มี พระนามว่าพระเจ้าพินทุสาร แล้วก็ลูกของพระเจ้าพินทุสารก็มีพระนามว่าอโศก ก็คือพระเจ้า อโศกมหาราชนี่แหละ
อโศกตอนแรกก็เป็นกษัตริย์ที่ดุร้ายมาก คือตอนเป็นเจ้าชายนี่ก็ไปเป็นอุปราช ไปเป็นอุปราชอยู่ที่เมือง อุชเชนี ที่บอกชื่อเมื่อกี้ แล้วพอพระราชบิดา คือพระเจ้าพินทุสารสวรรคต เจ้าชายอโศกนี้ก็เป็นคนที่มีความดุร้าย มาก ได้ฆ่าพี่น้องหมดในราว 100 คน เหลือไว้น้องร่วมมารดาคนเดียวนะ ด้วยความกระหายอำนาจ แล้วก็ตั้งตัว เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้เดียว พอขึ้นเป็นกษัตริย์ของแคว้นมคธได้แล้ว ก็ไม่พอ ไม่หยุดที่จะอยู่แค่นั้น ก็คิดแสวงหา อำนาจต่อไป พอพร้อมแล้วก็ยกทัพไปรุกรานประเทศอื่นๆ ก็ไปตีดินแดนต่างๆ ออกไปเรื่อยไป รบชนะเรื่อยไป หวังจะเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือผู้เดียวในชมพูทวีป ก็ตีลงไปจนกระทั่งถึงแคว้นกลิงคะ
แคว้นกลิงคะนั้นเป็นแคว้นที่มีชื่อว่า มีนักรบที่เก่งกาจ มีกองทัพ มีกำลังความสามารถเป็นอย่างยิ่ง ก็รบกันอยู่เป็นเวลานาน เพราะฉะนั้น ก็เสียหายมากทั้งสองฝ่าย แต่ในที่สุดพระเจ้าอโศกก็ชนะ แคว้นกลิงคะ ก็แตกไป แต่ว่า ในการที่จะชนะได้ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายสูญเสียมาก ตายกันเป็นแสนๆ ที่สูญหายตายเป็นแสน สูญหายเป็นแสน ถูกจับเป็นเชลยเป็นแสน แล้วก็ตอนนี้แหละ ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสลดพระทัย แล้วก็ หันมานับถือพระพุทธศาสนา อันนี้ก็เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมาก ซึ่งเปลี่ยนประวัติศาสตร์ทีเดียว
เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่จากสังคามวิชัย การชนะด้วยสงครามมาสู่ธรรมวิชัย เอาชนะด้วยธรรมะ คือเอาชนะใจกันด้วยความดี ด้วยธรรมะ ก็เลยสร้างสรรค์ ความดีเป็นการใหญ่ แม้ตอนนี้ก็มีการทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน เรียกว่าทำงานเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุข แก่ประชาชนเป็นอันมาก
แต่ว่ามีข้อสังเกตอันหนึ่งก็คือว่า คติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทอง คือตามปกติ พระเจ้าอโศกนี่ก็ เช่นเดียวกับกษัตริย์ในสมัยโบราณจำนวนมาก ที่มุ่งหวังที่จะหาความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเอง และก็ต้องการบำรุงบำเรอ ความสุขส่วนตน เขาเรียกว่าแสวงหาโภคะและอำนาจ หรือทรัพย์และอำนาจ แสวงหาโภคทรัพย์และอำนาจ ความ ยิ่งใหญ่เพื่อตัวเอง เพื่อบำรุงบำเรอตัวเอง และเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ทีนี้ทรัพย์และอำนาจก็จะมีความ หมายอย่างนี้โดยทั่วไป
นี้เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ทางธรรมะนี้ก็จะสอนว่า ทรัพย์สินเงินทอง ความยิ่งใหญ่ต่างๆ ล้วนแต่เป็นอนิจจัง เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ก็ดับไป ไม่มีสาระที่แท้จริง ไม่ควรจะ เอาชีวิตไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรจะหวังความสุข หรือความประเสริฐจากทรัพย์สินเงินทองและอำนาจ เพราะฉะนั้น ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจก็จะหมดความหมาย มองในแง่หนึ่งก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เมื่อมองไม่เห็นว่าทรัพย์สินเงินทองและอำนาจ มีความหมายอย่างไรแล้ว เป็นเพียงสิ่งนอกกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจัง ไม่มีคุณค่าที่แท้จริง ถ้ายังงี้เราก็ไม่เอาใจใส่ ก็ทิ้ง นี่ก็คือความหมายอย่างหนึ่งของทรัพย์สมบัติ ถ้าพระเจ้าอโศกมหาราชทำอย่างนั้น ก็หมายความว่าพระองค์ก็ไม่เอาใจใส่กะพระราชทรัพย์และอำนาจต่อไป อันนี้ก็จะเป็นวิถีปฏิบัติอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องตั้งเป็นคำถามว่า จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ปรากฎว่า พระเจ้าอโศกได้ทำสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธที่สำคัญ ก็คือว่าพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ ไม่ได้ทรง ทิ้งทรัพย์และอำนาจ แต่ว่าได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอำนาจเสียใหม่
อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น ความหมายสำหรับปุถุชนคือเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุข ของตน และแสดงความยิ่งใหญ่ ทีนี้พระเจ้าอโศกได้เปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอำนาจใหม่มาเป็นว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือแห่งธรรมะได้ คือ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ ความดีงามและประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน
ด้วยความคิดเช่นนี้ พระเจ้าอโศกก็เอาทรัพย์และอำนาจที่พระองค์เคยมีนั่นแหละ แต่เปลี่ยนใหม่ แทนที่จะเอามาบำรุงบำเรอตนเอง ก็มาใช้สร้างสรรค์ความดีงาม และประโยชน์สุขอย่างที่ว่า ก็ได้สร้างโรงพยาบาลคน โรงพยาบาลสัตว์ ทั่วพระราชอาณาจักร แล้วก็สร้างถนนหนทางเชื่อมต่อไปให้กว้างขวางทั่วถึง ให้การศึกษาแก่ ประชาชน ทำศิลาจารึก ประกาศธรรมะ แล้วก็แสดงสิ่งที่เป็นนโยบายของรัฐในทางธรรมะ ที่จะให้พวกคนผู้บริหาร ปกครองในท้องถิ่นนั้นนำไปสั่งสอนประชาชน ตลอดจนกระทั่งอุปถัมภ์พระศาสนา
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบว่า พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านี้มีทั้งหมด 84,000 พระธรรมขันธ์ ก็ได้สร้างวัดขึ้นทั้งหมด 84,000 วัด เรียกว่า มหาวิหาร ทั่วอาณาจักรของพระองค์ โดยเฉพาะก็คือในแคว้นมคธ นี่แหละ
แคว้นมคธนี่เป็นศูนย์กลางของมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศก มคธเดิมนี่ ก็คือบริเวณแถบนี้ไป ที่เรา กำลังจะไป นี่เป็นศูนย์กลาง ในแคว้นมคธนี้ ก็จะมีวัดจำนวนมากมายเหลือเกิน วัดก็คือวิหาร มหาวิหารวัดใหญ่ ถ้าเรียกแค่วัดก็วิหาร คำว่าวิหารนี่ ถ้าแผลง ว เป็น พ ก็จะเป็น พิหาร ในสมัยต่อมา อย่างในประเทศไทยเรา นิยม แปลง ว เป็น พ เยอะแยะไป ในอินเดียก็ ว เป็น พ ก็แผลงกันได้ วิหาร ก็เป็น พิหาร วิหารแปลว่าวัด
ต่อมาเมื่ออาณาจักรของพระเจ้าอโศกได้เสื่อมสลายลงไปแล้ว ก็มีซากวัดวาอารามมากมายเหลือเกิน เพราะ พระเจ้าอโศกสร้างไว้มาก ในแคว้นมคธนี่เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยซากของวัดคือวิหาร หรือพิหาร เพราะฉะนั้น ต่อมาก็เลยเรียกชื่อดินแดนแถบนี้ ตั้งชื่อเป็นแคว้นเป็นรัฐหนึ่ง เรียกว่า รัฐพิหาร หรือ แคว้นพิหาร อย่างที่เรารู้จัก กันในปัจจุบัน ในแถบนี้เขาเรียกแคว้นพิหาร นี้เป็นชื่อปัจจุบัน เนี่ยที่เป็นมาอย่างนี้ก็เพราะว่ามีวัดมากมายเหลือ เกิน ซึ่งพระเจ้าอโศกสร้างไว้ ซากมันคงอยู่
พระเจ้าอโศกก็สร้างมหาวิหารนี่ทั้งหมด 84,000 แห่งทั่วราชอาณาจักร แล้วก็วัดเหล่านั้น ก็เป็นศูนย์กลาง การศึกษา บางแห่งก็เจริญเติบโต ต่อมาได้เป็นมหาวิทยาลัย อย่างแห่งหนึ่งที่เรากำลังจะไปก็คือ นาลันทา
นาลันทาก็เป็นวิหารหนึ่ง แล้วได้เป็นมหาวิหารวัดใหญ่ มหาวิหารเกิดจากวัดเล็กๆ รวมกันตั้งหลายวัด แล้วก็เลยเป็นศูนย์กลางการศึกษาใหญ่ พัฒนาขึ้นมาจนเป็นมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเราจะได้ไปเห็นความยิ่งใหญ่ ของวัดที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทานี้ ซึ่งชื่อในภาษาบาลีเรียกว่า นาลันทามหาวิหาร ก็คือวัดใหญ่นั่นเอง
นี่ละก็คือความเป็นมาในอดีต ซึ่งเกี่ยวข้องกับดินแดนแห่งนี้ที่เรียกว่า ปาฏลีบุตร พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงให้ความหมายใหม่แก่ทรัพย์และอำนาจ และก็ทรงจารึกไว้ในหลักศิลาของพระองค์ ศิลาจารึกของพระเจ้า อโศกแห่งหนึ่งก็จะบอกว่า ยศของพระองค์นี้จะไม่มีความหมายเลย ถ้าหากว่าจะไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้ประชาชน ได้ประพฤติธรรม
ก็หมายความว่า พระเจ้าอโศกนี่ใช้ทรัพย์และอำนาจมาเป็นเครื่องมือแห่งธรรมะ เผยแพร่ธรรมะ หรือ สร้างสรรค์ธรรมะ ทำให้ความดีงามหรือธรรมะนี้แผ่ขยายไปในหมู่มนุษย์สังคม เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ ประชาชนต่อไป
อันนี้นะเป็นคติที่สำคัญมาก คำว่า ยศ ในภาษาบาลีนั้น ก็แปลง่ายๆ ว่า ความยิ่งใหญ่ ยศนั้นว่ากันง่ายๆ ก็มี 3 อย่าง คือ
1. เกียรติยศ ยศคือเกียรติ คือความมีชื่อเสียงเกียรติคุณ แล้วก็
2. อิสริยยศ ยศคือความยิ่งใหญ่ และก็
3. บริวารยศ ยศก็คือบริวาร
อันนี้ คนที่มีความคิดดีๆ มีเจตนาดี มีสติปัญญาดี แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ ไม่มีอำนาจ ไม่มียศแล้ว เขาก็ไม่ สามารถจะสร้างสรรค์ความดีงามหรือประโยชน์สุขได้มาก เราคิดขึ้นมา แต่เราไม่มีเงิน เราไม่มีบริวาร เราไม่มี อำนาจ เราจะทำอะไรได้แค่ไหน เราทำได้นิดเดียวก็จบแล้ว แต่นี่ถ้าหากว่ามีทรัพย์ มีอำนาจ มีบริวารนี่ ความคิด ดีงาม สติปัญญาที่ดี ก็สามารถออกผลได้ กระจายกว้างขวางเหมือนพระเจ้าอโศก
เพราะฉะนั้น พระเจ้าอโศกนี่ก็เป็นคติแบบอย่างที่ดี อย่างน้อยก็ให้ธรรมะแก่เรา เรื่องการปฏิบัติต่อเรื่อง ทรัพย์และอำนาจ อย่างที่กล่าวมาเนี่ย ก็คือว่าชาวพุทธนี้มีคติว่า เมื่อเราได้เรียนรู้ธรรมะแล้ว เราก็เห็นว่าทรัพย์สิน เงินทองอำนาจนี้เป็นสิ่งนอกกาย ไม่ควรจะใช้มาเพื่อเป็นจุดหมายของชีวิต เพราะฉะนั้น เราไม่ได้เห็นความหมาย ของทรัพย์และอำนาจในแง่นั้น ในแง่ที่เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว หรือเป็นประโยชน์ส่วนตน แต่ว่ามองแบบ พระเจ้าอโศกอย่างที่ว่า ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อทรัพย์และอำนาจไม่มีความหมาย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วเราก็ทิ้งมันไปเลย ไม่เอาใจใส่ ไม่บริหาร ไม่ใช่อย่างนั้น เราก็ต้องรู้จักเอามาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ สิ่งที่ดี งาม และประโยชน์สุข อันนี้คือวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องของชาวพุทธ
แต่ถ้าหากว่าไม่เห็นคุณค่าประโยชน์เลย ไม่อยากเกี่ยวข้องก็ออกบวชไปเลย ออกบวชไปเลย ก็ไปทำหน้าที่ ทางธรรมะอีกแบบหนึ่ง คือนำธรรมะที่เป็นตัวนามธรรม คือตัวสติปัญญาเนี่ย ไปแจกจ่ายแก่ประชาชน เพื่อให้ ประชาชนคนทั่วไปนี่รู้จักดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น ก็มีคติ 2 อย่าง ถ้าอยู่เป็นคฤหัสถ์ ก็ใช้ทรัพย์และอำนาจนี่ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ ความดีงามและประโยชน์สุข ถ้ามิฉะนั้นแล้วจะเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ มีทรัพย์และอำนาจแล้วบอกว่าเบื่อหน่าย เลยไม่เอาเรื่องเอาราว จะทำไงก็ไม่ทำ แล้วก็ไม่รับผิดชอบ ทรัพย์และอำนาจนั้นไม่ได้รับการบริหาร ไม่มีคนรับผิด ชอบ ก็เสียหายไปหมด ไม่เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และไม่เกิดประโยชน์แก่สังคม
งั้นอันนี้ เรื่องพระเจ้าอโศกอย่างน้อยก็ให้คติแก่เราอย่างหนึ่ง แต่นอกจากนั้นแล้ว ยังมีคติที่สำคัญก็คือ เรื่องของสถานที่นี้เอง ก็คือวัดอโศการามที่ว่าเป็นที่กระทำสังคายนา ก็ขอพูดอีกนิดเดียวเลยพอ
เรื่องของการสังคายนานั้น สังคายนาคือสังคายนาอะไร สังคายนา ทางพระท่านเรียกว่า สังคายนาพระ ธรรมวินัย ธรรมวินัยคืออะไร ก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สังคายนาเพื่ออะไร เพื่อให้คำสั่งสอนของพระพุทธ เจ้านี้ได้อยู่เป็นหมวดเป็นหมู่ เป็นหลักเป็นฐาน จะได้เจริญ มั่นคงต่อไป คนรุ่นหลังจะได้รู้ว่า หลักคำสอนที่แท้จริง ของพระพุทธเจ้าคืออะไร แล้วจะได้ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง
ทีนี้เมื่อหลักธรรมวินัยอยู่เรียบร้อยบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว พระศาสนาก็เจริญมั่นคงต่อไป แต่วัตถุประสงค์ของการสังคายนานั้น ท่านบอกว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย แปลว่า เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อกูลต่อชาวโลก หมายความว่า ที่ท่านทำสังคายนาอะไรต่างๆ เหล่านี้ ให้พระศาสนาเจริญ มั่นคงนั้น วัตถุประสงค์นั้นไม่อยู่ที่ตัวพระศาสนาเอง พระศาสนานั้นไม่ได้มีอยู่เพื่อตัวเอง พระศาสนานั้นมีอยู่เพื่อ ประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมากและเพื่อชาวโลก เพราะฉะนั้น นี่เป็นจุดหมายของพระศาสนา
อันนี้ในการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน เราทะนุบำรุงพุทธศาสนานี้ เราทะนุบำรุงพระศาสนาก็เพื่อให้ พระศาสนานี้อยู่ยั่งยืน จะได้เป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมากและชาวโลกสืบต่อไปตลอดกาลนาน และคติ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวธรรมวินัยเอง ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ธรรมะ วินัย อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความ เข้าใจกันต่อไป