แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ผมขอข้ามมาถามคำถามอีกคำถามหนึ่งนะครับ พุทธศาสนาสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เราจะอธิบายขยายความทำความเข้าใจในเรื่องนี้ กับคนที่มีแนวความคิดว่า ตายแล้วสูญ ตายแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรต่อ เราจะมีวิธีทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับเขาได้อย่างไร
ก็แล้วแต่โอกาส บางทีต้องใช้เวลานาน ๆ บางทีท่านก็บอกว่า ถ้าตอบแบบสั้นๆ ก็เอาแค่ว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ก็ทำสิ่งที่มันจะดีที่สุด ทีนี้ดีที่สุดอย่างไร เพราะว่าทั้งคุณเอง ก็ยังไม่รู้แน่ คุณก็ได้แต่เชื่อ เชื่อว่าตายแล้วสูญ นี่เป็นความเชื่อ คุณยังไม่รู้ชัดจริงไหม ก็คุณก็อยู่แค่เชื่อ ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย ก็มีเพียงสองทางอยู่ เราก็ทำที่เราแน่ใจที่สุด มันก็มีอยู่อันหนึ่งว่า ทำในสิ่งที่ว่า ตายไปแล้วมันจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม มันดีที่สุด อันไหนดีที่สุด ก็คือว่า อันที่มันจะให้ไปเกิดดี ที่เป็นดีเป็นบุญกุศล ถ้ามันไม่เกิดก็แล้วไป แต่ถ้ามันเกิด ก็ได้ไปเกิดดี แต่ถ้าคุณทั้งๆที่ไม่เชื่ออยู่อย่างนี้ และไม่รู้ชัดอยู่อย่างนี้ แล้วกลับไปทำที่ไม่ดี ถ้าเผื่อมันไม่เกิด คุณก็แล้วไป แต่ถ้าเกิดดันไปเกิด คุณเสร็จแน่เลย คุณต้องเลือกเอา
แต่มันไม่ใช่แค่นั้นหรอก คนเนี่ย เพราะความที่ไม่รู้เนี่ย มันจะไปมีผลต่อชีวิตช่วงสุดท้าย เราเล่าขู่ให้ฟังได้เลย อย่างคุณเนี่ยนะ พอใกล้จะตาย มีความเจ็บไข้ได้ป่วยรุนแรง เอาล่ะทีนี้กังวลละ ทีนี้จิตใจไม่สบายละใช่ไหม เนี่ย เกิดความกังวล ต้องการสิ่งที่ดีอย่างน้อยความมั่นใจไม่มีเลย ทีนี้คนที่ปฏิบัติไว้ดี มันมีความมั่นใจในตัวเอง อย่างที่พระท่านบอก (ธัมเมถิโต ปรโลกัง ณ ภาเย) บอกว่า ตั้งอยู่ในธรรมแล้วไม่ต้องกลัวปรโลก ก็มันมีความมั่นใจ ไม่ต้องไปห่วงมันด้วยซ้ำ ท่านให้ปฏิบัติขั้นนั้นนะ ไม่ใช่ให้มาห่วงอยู่ว่าเราจะไปดีหรือเปล่า ก็ทำซะให้มันดีแล้ว หนึ่ง เราทำความดีไว้ สอง จิตของเรามันพัฒนาดีเอาไว้แล้ว จิตของเราอยู่ในระดับที่ดี แล้วไม่ต้องไปห่วงแล้ว การปฏิบัติของท่านนั้นไม่ใช่มามัวห่วงกังวล คือให้ถึงว่า ไม่ต้องไปห่วง มั่นใจเลยนะ ฉะนั้น ถ้าเราทำสิ่งที่เราแน่ใจมั่นใจดีกว่า คุณลองคิดดู ฝากไปคิด หนึ่งก็อย่างที่ว่า ให้เอาสิ่งที่แน่นอน มั่นใจดีกว่า สอง อย่านึกว่าคุณเข้มแข็งนะ เวลาเจ็บป่วย ถึงวาระสุดท้ายเนี่ย จิตตอนนั้นอ่อนแอ และมีความพะวักพะวงมีอะไรต่ออะไรเยอะ ทีนี้คนที่เขามีความมั่นใจก็สบายเลย วางจิตปลอดโปร่ง โล่งเบาผ่องใสได้เลย หมดเรื่องไป ก็ได้เปรียบกว่ากันแล้ว
หมายความว่าไม่ต้องไปวิเคราะห์กันว่า มีจริงไม่มีจริง เพราะมันอยู่ในขั้นเชื่อ ถ้ามีโอกาสค่อยมาอีกขั้นหนึ่ง ก็มาคุยกันในเรื่องความเป็นเหตุเป็นผลว่าเป็นอย่างไรอะไรต่างๆ เรื่องของชาติหน้า มันก็ยาก พอพูดถึงสิ่งที่มองไม่เห็น บางทีก็เลยมีพวกหนึ่งไปศึกษาได้วิธี ไปหาตัวอย่าง แล้วก็ไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคนที่ว่า ระลึกชาติได้ใช่ไหม ทำกันเป็นหนังสือเป็นเล่มๆเลย อย่างพวกฝรั่งก็มีใช่ไหม ทำกันใหญ่ อันนี้มันก็ได้แค่เชื่อไม่เชื่อ มันก็ถึงกับเด็ดขาด อันนี้ก็กลายเป็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถึงกับให้เกิดความมั่นใจแท้ ก็มาเป็นส่วนประกอบเสริมเท่านั้นเอง ชีวิตเราก็มาดูถึง ความเป็นจริงของชีวิต ก็มีวิธีศึกษา ก็เป็นขั้นเป็นตอน เนี่ย เราก็อยากจะรู้ว่าตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร ก็จิตของเราที่มันจะไปตาย มันก็เป็นจิตที่เป็นเหมือนกับที่เป็นอยู่เนี่ย มันก็สืบต่อตลอดเวลา จากความเป็นไปของจิตแต่ละขณะๆเนี่ย รวมหมดมันก็เป็นชีวิตหนึ่ง แล้วมันจะมีกี่ชีวิตมันก็เป็นของมันอย่างนี้ คนเรามักจะพูดข้ามไปเหมือนกับว่า จากชาตินี้ไปชาติหน้าจะเป็นอย่างไร ที่จริงเหตุปัจจัยมันอยู่ในความเป็นจริงที่เป็นไปในแต่ละขณะ เหตุผลรวมทั้งหมดก็มาจากส่วนย่อย ที่แน่แท้ก็มาจากส่วนย่อยนี่แหละ ที่มันเป็นของจริงชัดๆ เราจะเข้าใจชีวิตจิตใจที่แท้ทั้งหมด เราก็ต้องเข้าใจชีวิตจิตใจที่เป็นในปัจจุบัน ไม่งั้นก็ถามกันแบบคุยกันเดาๆว่ากันไปว่ากันตามสันนิษฐาน อะไรอย่างนั้น ก็ถามว่าชีวิตคุณที่เป็นอยู่ขณะนี้ จิตใจของคุณที่เป็นอยู่ขณะนี้ คุณเข้าใจไหม ถ้าคุณเข้าใจชัดแล้วคุณไม่ต้องไปห่วงหรอกตอนตาย เราเข้าใจไหมครับ เนี่ยชีวิตจิตใจที่เป็นอยู่ขณะนี้ จิตใจของเราเนี่ยมันทำงานอย่างไร ถามแค่นี้ ตอบได้ไหม จบแล้วแค่นี้ก็ตันแล้วใช่ไหม แล้วไปถามกันทำไม ชาตินั้นชาตินี้จะเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ยังไม่รู้เรื่องเลย ที่จริงมันก็ง่ายๆนะ เพราะฉะนั้น คุณจะไปพูดเสียเวลา ชีวิตคุณเดี๋ยวนี้ยังตอบไม่ได้เลย คุณศึกษาเลยเดี๋ยวนี้ เอาชีวิตที่เป็นอยู่ขณะนี้ จิตใจที่เป็นอยู่ขณะนี้ เอาให้มันกระจ่างแจ้งชัดเจนซะ แล้วคุณจะโล่งหมดเลย จริงไม่จริง จิตมันสืบต่ออย่างไร มันทำงานของมันอย่างไร กุศลอกุศลมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันอย่างไร ยังตามมันไม่ทันเลยใช่ไหม
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า หรือหลักพระศาสนาเนี่ย จึงให้มาศึกษาปัจจุบัน ชีวิตที่เป็นอยู่เป็นไปในขณะนี้ ให้เรารู้เข้าใจความจริงของมัน ศึกษาจากสภาวะที่หยาบมีความถี่น้อย ค่อยๆดูให้ชัดเข้าชัดเข้าละเอียดเข้าจนกระทั่งมองเห็นความเป็นไปที่ละเอียด แล้วมันจึงจะรู้เข้าใจมากขึ้น นี่เราไปมองแต่หยาบๆแบบนั้น เราก็คุยกันเป็นเหตุเป็นผลแบบมันไม่ชัดไม่จริง เพราะฉะนั้นตกลงที่แท้ ต้องเข้าใจจากปัจจุบันที่เป็นอยู่ ยอมไหม เราพยายามมาดู บางสำนักก็เน้นการดูจิตใช่ไหม ดูจิตเป็นอย่างไร ที่จริงมันก็อยู่ในสติปัฏฐาน 4 น่ะแหละ บางสำนักก็เน้น กายนุปัสสนา บางสำนักก็เน้น เวทนานุปัสสนา บางสำนักก็เน้นจิตตา บางสำนักก็เน้นธัมมุปัสนา แต่นั่นเป็นการเน้นของวิธีฝึก แต่ในความเป็นจริงคือต้องครบสี่ คือความเป็นจริงของชีวิต ชีวิตมันมีให้ดู มีวิธีศึกษาให้ง่าย ก็เลยจัดเป็นสี่ด้าน แล้วความเป็นจริงมันก็ครบหมดเนี่ย ไม่สามารถจะไปแยก มันมาต่อเนื่องกันไปหมดแหละ ด้านกาย ด้านเวทนา ด้านจิต ด้านธรรมเนี่ย มันว่ากันว่านัวกันไปหมด ทีนี้คนที่ฝึกตอนแรกมันสู้ไม่ไหว มันไม่ทันก็เลยให้เน้นอันที่มันจะช่วยให้จับได้ง่าย ได้สติ จับได้ง่ายก่อน บางสำนักแต่โบราณถือกันมาก็คือว่า ด้านกายเป็นรูปธรรม มันหยาบ มันจะสังเกตง่าย ตามดูง่ายกว่า ก็เลยเน้นเริ่มที่กายานุปัสสนา เช่นลมหายใจ การเคลื่อนไหว อิริยาบถอะไรพวกนี้ ทีนี้ บางสำนักก็มาพิจารณาว่า เวทนาเนี่ยแหละ ความเจ็บปวดมันขึ้นมาแล้วมันเด่นชัด ก็เอาเวทนาเป็นตัวเน้น บางสำนักก็มองด้วยเหตุผลอื่น เช่น ดูจิตดีกว่า อะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเทคนิคของอาจารย์ แต่ว่าเมื่อปฏิบัติไปจริงๆในที่สุดก็คือว่า ทั้งหมดคือชีวิตของเรา ความเป็นจริงที่แท้มันก็ทั้งหมดนั่นแหละ ไม่ว่าด้านไหนจะปรากฏขึ้นมาเป็นไปทันหมด เมื่อนั้นจึงจะเป็นของจริง ไม่งั้นก็อยู่ขั้นฝึก ด้านกาย ด้านเวทนา ด้านจิต ด้านธรรม สติมันทันหมด จึงจะเป็นของจริง พอสติมันทันเนี่ยนะ มันก็มีความถี่สูง ตอนนี้มันก็ ปัญญามันก็ทำงานได้ดีขึ้น ปัญญามันทำงานได้ด้วยการอาศัยสติมาจับให้ สติกับปัญญามันทำงานคู่กัน จริงๆสติมันทำให้องค์ธรรมอื่นมันทำงานได้ ถ้าไม่มีสติก็ทำงานไม่ได้
สติคืออะไร สติก็คือเป็นตัวที่จับดึงตรึงไว้ มันก็มีจิตของเราก็สิ่งที่จิตของเราไปสัมผัสใช่ไหม จิตของเราไปรับรู้ ทีนี้ สิ่งที่จิตเรารับรู้เนี่ยเรียกว่าอารมณ์ในภาษาพระ ไม่ใช่อารมณ์ในภาษาไทยนะ สิ่งที่ถูกรับรู้กับจิตเนี่ย ทีนี้จิตมันคอยจะลอยไป ไม่อยู่ ไม่จับไม่รับรู้สิ่งที่ควรจะรับรู้ใช่ไหม เนี่ยมาเสียตรงนี้ แล้วอะไรจะมาช่วยก็สติ สติมันก็จะมาจับ มาดึง มาตรึง สติพูดง่ายก็ดึงนั่นเอง ดึงจับไว้ ตรึงไว้ ดึงอะไร ดึงจิตของเราให้อยู่กับสิ่งนั้น อยู่กับอารมณ์ นี่คืองานของสติ สติก็เป็นตัวดึง ท่านจึงเปรียบเหมือนเชือกที่ผูกสัตว์ไว้กับหลัก หลักก็คืออารมณ์ สัตว์ที่พยศ เช่น วัวพยศ หรือวัวป่าอะไรก็แล้วแต่ ก็เหมือนกับจิตเรา จิตมันก็จะไปโน่นไปนี่ หลักก็คือสิ่งที่เราต้องการให้จิตมันรับรู้ ให้มันอยู่กับสิ่งที่ต้องการ มันจะไปเรื่อยก็เอาเชือกมาผูกมันไว้ ขณะนี้มันยังคอยจะหนีเลย แต่ว่ามันโดนกระตุกอยู่เรื่อย มันก็เลยไปไม่ได้จริง มันก็เลยคอยต้องนึกถึงอยู่เรื่อง สติก็ทำหน้าที่นี้ จับดึงตรึงไว้ ไม่ให้มันหลุดกันไป ทีนี้เรามีหลักก็คืออารมณ์ หรือสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่จิตควรจะรับรู้เนี่ย เราก็พิจารณาให้ได้ว่าอะไรดี เราก็มีสติก็คือ ไปกำกับจิต ดึงจิตไว้กับสิ่งนั้น ให้มันอยู่กับสิ่งนั้น มีสตีจับไว้ได้ ดึงไว้ได้ ไม่หลุด ก็แสดงว่าได้ผลแล้ว ทีนี้ว่า ถ้าเราต้องการใช้ปัญญา พอสติมันจับสิ่งนั้นได้ เราก็เห็นสิ เราก็พิจารณาได้ ปัญญามันก็ตาม ถ้าสิ่งนั้นไม่ถูกจับไว้ต่อหน้า มันก็ตาม ก็ไม่เห็น มันลอยไปแล้ว พอจับดึงตรึงไว้ เราก็มองเห็น ก็คือการทำงานของปัญญาก็เป็นได้ ถ้าสติไม่ดึงไว้ สิ่งนั้นไม่อยู่ต่อหน้า ปัญญาก็มองไม่เห็น พิจารณาอะไรไม่ได้ เนี่ยสติก็เลยมีความสำคัญอย่างนี้ สมาธิก็เหมือนกัน ธรรมอื่นๆสติมันไม่อยู่แล้ว มันก็ทำงานอะไรไม่ได้ ก็ล่องลอยหมด สติจึงเป็นตัวสำคัญ ท่านจึงเน้นที่บอกว่า (สติ สัมผัฐฐะ ปัตติยา) สติจำปรารถนาในทุกกรณี ขับรถสติก็ต้องอยู่กับสิ่งที่เกี่ยวข้องนั่นแหละ ไม่อย่างนั้นขับรถใจลอยก็จบกัน แม้แต่เดินก็ต้องมีสติ สติหน้าที่ก็คือดึงที่ว่า ดึงก็มีสองดึง นั่นคือ ดึงสิงที่ต้องการในปัจจุบันเนี่ย ที่เป็นไปเป็นมาอยู่ไม่ให้มันหลุดลอยหายไปเสีย เรากำลังเจริญวิปัสสนา เราก็เอาสติดึงอารมณ์นั้นไว้ สิ่งที่เราต้องการให้มันอยู่กัน ดึงไว้ นี่เรียกว่าดึงอยู่ต่อหน้า ดึงไว้ไม่ให้หลุดไป ที่มันจะลอยหายไปดึงมันไว้ให้อยู่กับจิต ทีนี้ดึงมา สิ่งนั้นเป็นอดีต ไปอยู่ในความจำของเราแล้ว ถ้าเราไม่ดึงขึ้นมา มันก็ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏแก่จิต ปัญญาพิจารณาทำงานไม่ได้ จะทำงานกับมันได้ก็ดึงมันขึ้นมาก็คือมีสติ ดึงสิ่งนั้นขึ้นมาเช่น เรื่องที่ผ่านไปแล้ว ธรรมะที่ได้เรียนไปแล้ว หรือได้ฟังอาจารย์บรรยายไปแล้ว มีเรื่องนั้นที่ต้องมาขบคิดพิจารณา มันไปอยู่ในความทรงจำก็ดึงมันขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าดึงมา สติก็ดึงมา ดึงมาก็ระลึกนั่นเอง ระลึกก็คือ คล้ายๆทวนความจำ ดึงขึ้นมา แล้วก็สิ่งที่ปัจจุบัน จะลอยหาย ก็ดึงไว้ ดึงมาก็ดึงไว้ สติทำหน้าที่ใช้ในสองอย่าง ถ้าคนสติดี ระลึกเรื่องอดีตก็ระลึกได้ดี ก็เป็นปัจจัยให้ช่วยความจำดีได้ด้วย ดึงไว้ก็คือว่า จะช่วยให้การพิจารณาสิ่งต่างๆเนี่ยได้ผลดีชัดเจน ถ้าสติมันไม่จับสิ่งนั้นไว้มันก็หลุดลอยไปหมด สติจึงเป็นตัวสำคัญ
อันนี้ก็พูดบ่อย ๆให้ได้ฟัง สติ สมาธิ สมาธิก็คือว่าจิตของเราอยู่กับสิ่งนั้น ไม่ไปไหนแล้ว ตอนแรกมันยังดึงกันอยู่ ชักกะเย่อกันอยู่ มันจะหลุดก็ดึงมันไว้ นี่สติ แต่ทีนี้พอมันอยู่เลย เรียกว่าสมาธิ อยู่กับอารมณ์นั้น อยู่กับสิ่งที่ต้องการ ท่านก็เลยอุปมาอาจจะเคยได้ยินแล้วก็ได้ คัมภีร์ท่านจะยกตัวอย่างเป็นอุปมาว่า เหมือนกับเราไปเอาวัวป่ามา มันก็จะวิ่งเข้าป่าร่ำไป ไม่อยู่ ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้มันอยู่ เราก็เอาเชือกมาอย่างที่ว่า เชือกมาผูกวัวนั้น ก็คือจิตของเรา หลักก็คืออารมณ์หรือสิ่งที่ต้องการ ทีนี้มันก็จะไปเรื่อย แต่มันไปไม่ได้ สติก็คือเชือกดึงมันไว้ ให้มันอยู่กับหลัก เหมือนกับที่เราพูดว่าเตือนจิต เตือนให้มันระลึกถึงสิ่งนั้นอยู่ มันก็ไปไม่ได้ พอหลุดไปหน่อยก็กลับมาอีกแล้ว ทีนี้พอเราชักดึงมันไว้ มันชักชิน พอชินแล้วต่อไปอยู่ได้ พออยู่ได้ เหมือนกับเชื่องแล้ว เหมือนกับวัวที่เชื่อง ในที่สุดนอนอยู่ที่โคนหลักนั่นเลย ก็หมายความว่า วัวนั้นไม่หนีไปไหนแล้ว อยู่กับหลัก ตอนนี้ก็เรียกว่าสมาธิ ไอ้ตัวเชือกที่ดึง ก็ยังทำหน้าที่อยู่ แต่ว่า ไม่เด่นชัด หมายความว่าคลออยู่ ไม่ได้ทิ้งไปไหนหรอก ถ้าเกิดจะไปเมื่อไร สติก็จะมาทำหน้าที่ สมาธิก็ต้องอาศัยสติเป็นตัวนำ เพราะฉะนั้นสติจึงต้องการใช้ในการเจริญสมาธิ ที่เราเรียกว่าฝ่ายสมถะ ฝ่ายสมถะก็ต้องเริ่มด้วยสติ คือเอาสติมาจับอารมณ์นั้นไว้ ดึงไว้กับอารมณ์ที่ต้องการ คือสมถะ ฝ่ายวิปัสสนาก็เป็นเรื่องปัญญา ก็เอาสติมาดึงสิ่งนั้นไว้ เพื่อให้ปัญญาพิจารณาได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าสมถะหรือฝ่ายสมาธิ หรือด้านวิปัสสนาฝ่ายปัญญา ก็ต้องอาศัยสติเป็นตัวเริ่มให้ทั้งนั้นเลย สติจึงเป็นตัวสำคัญมาก เวลาเราจะพิจารณาอะไรให้ชัดเจน ตอนเนี้ย บางทีสติไม่พอ ต้องอาศัยสมาธิแล้ว คือหมายความว่าสติมันยังอยู่ขั้นดึง บางทีดึงแล้วก็หลุด ดึงแล้วก็หลุด บางทีก็หลวมไป พัดไปหน่อย ทีนี้ของบางอย่างเนี่ย พอมีสติ พอมันไม่หลุดไป ปัญญามันก็ทำงานพอได้ แต่ในบางกรณีที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเนี่ย ถ้าจิตไม่อยู่กับสิ่งนั้นสนิทพอ มันไม่สามารถจะทำงานได้ผล ไม่ชัดเจน ปัญญามันต้องการความชัดเจนมันจะไม่ชัด ก็เลยยกตัวอย่างให้ฟังบ่อย ๆ เช่น เราจะใช้ปัญญา ปัญญาที่บอกไว้แล้ว เปรียบเสมือนลูกตา มองเห็น ทีนี้เราจะมองเห็นได้ สิ่งที่เราจะมองต้องอยู่ต่อหน้า เช่นป้าย หรือแผ่นผ้าอันหนึ่ง ถ้าหากว่าเราปล่อยแผ่นผ้าพับลงไปหรือหลุดลอยหายไป มันก็ไม่อยู่ต่อหน้าที่เราจะเห็น ก็เอาสติเนี่ย มาดึงมาจับมาตรึงไว้ สติก็ดึงไว้ ทีนี้ถ้าเป็นแผ่นผ้าหรือแผ่นป้ายใหญ่ๆ ลมพัดไปพัดมามันก็ส่ายใช่ไหม สติก็มีแหละ แต่มันไม่นิ่ง ทีนี้ถ้าภาพนั้นเป็นภาพเขียนหรือตัวหนังสือใหญ่ๆ พอมันอยู่มันไม่หายไปไหน แม้มันจะสั่นจะไหวเอนเอียงไปมาบ้าง ก็อ่านออกมองเห็นใช่ไหม เนี่ยสติพอแล้ว ถ้าสติพอปัญญาทำงานได้ แต่ทีนี้ถ้าเป็นภาพรายละเอียด ตัวหนังสือเล็กนิดเดียวล่ะ เนี่ยตอนนี้ สติไม่พอแล้ว ไหวนิดเดียวก็อ่านไม่ออกแล้ว ตอนนี้จิตต้องนิ่งเลย จึงต้องการสมาธิ ให้จิตนิ่งสนิท พอจิตนิ่งเนี่ย ปัญญาก็คือเหมือนลูกตามองเห็นชัดเลย อันนี้ก็คือทำไปต้องอาศัยสมาธิ สติไม่พอ ฉะนั้นก็เลยกลายเป็นว่า การเจริญปัญญาก็ต้องอาศัยสมาธิด้วย สติไม่พอ ก็มีอุปมาคล้ายๆอย่างนี้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติเนี่ย ถ้ามุ่งไปเรื่องของสมถะ ก็มุ่งไปเรื่องสมาธิแค่ให้จิตมันอยู่นิ่ง แล้วอยู่นิ่งแล้วตัวเองไม่ได้ใช้ปัญญา ไม่ใช้ลูกตาดูก็ได้ หลับตาดูก็ได้ เพียงแต่ว่าให้มันนิ่งสงบ พอมันนิ่งสงบแล้วก็ไม่ทุรนทุราย ไม่กระวนกระวาย ก็เลยสบาย เอาแค่นี้ เรียกว่าพวกสมถะ หรือจิตมันนิ่งแล้วมันมีกำลัง คือมันแน่ว จิตนิ่งแน่ว ไม่ใช่นิ่งอย่างเดียว แน่ว หรืออย่างมันไม่ใช่เฉพาะนิ่งนะ เช่นอย่างที่ท่านเปรียบเทียบน่ะ เหมือนน้ำ เราเอาน้ำถังหนึ่งขึ้นไปบนเนินเขา แล้วเราสาดโครมไม่มีจุดหมาย น้ำก็จะกระจายหายไปหายหมด ทีนี้ถ้าเราขุดท่อ ทำราง หรือมีท่อ เทน้ำลงในรางในท่อนั้น น้ำก็ไหลไปในทางเดียวก็มีกำลัง ก็เหมือนกับสมาธิ สมาธิจะทำให้มีกำลัง เพราะมันแน่วไปทางเดียว เพราะฉะนั้นลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิเนี่ย จึงมีการเปรียบเทียบสามประการ หนึ่ง มีกำลัง เหมือนกับน้ำที่ว่าไหลเป็นทางเดียว พุ่งไป มีแรงมาก น้ำน้อยก็แรง แต่ว่าถ้าไม่มีสมาธิ น้ำมาก สูญเปล่า ก็จะกระจายหมด ก็ทำให้มีพลัง สองก็ทำให้ใส ทำให้เอื้อต่อปัญญา พอมันนิ่งเหมือนอย่างน้ำที่เราเอามา ไปตักมาเนี่ย จากที่ที่มันโดนลมพัด กระฉอกไปกระฉอกมา หรือว่าที่นั้นโคลงเคลงตั้งไว้มั่นเนี่ย พวกโคลนพวกดิน พวกอะไรฝุ่นละอองในนั้นมันก็ ฟุ้งไปมา น้ำมันก็ขุ่นมองอะไรในนั้นก็ไม่เห็น ทีนี้พอจิตมันสงบ ก็เป็นสมาธิ ก็เหมือนกับน้ำเนี่ย มาตั้งอยู่ที่มั่นคง นิ่ง น้ำมันก็ตกตะกอนหมด พอตกตะกอนมันใส มีอะไรในนั้น ก็เห็นหมด จิตที่มันไม่มีสมาธิเนี่ย ก็มันเหมือนกับว่า เรามีอารมณ์ต่างๆ เข้ามาตลอดเวลา สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่นึกคิด ก็เหมือนกับชิ้นของสิ่งทั้งหลาย เหมือนกับเศษสิ่งต่างๆ อยู่ในน้ำ ในภาชนะก็คือจิตของเราเนี่ย ชิ้นนั้นมาที ชิ้นนี้มาที ชิ้นนี้วิ่งมานี่ จะดูอะไรในนั้นเนี่ย เดี๋ยวอันนี้มาแวบหนึ่ง เห็นแวบเดียว อันนี้มาบังซะแล้ว แล้วยิ่งชิ้นใหญ่มาบังแล้วไม่เห็นเลย อยู่เนี่ย ไม่มีสมาธิ มีแต่อารมณ์ต่างๆ ว่ากันนัวเนียพัดไปพัดมา วุ่นไปหมด มองอะไรก็ไม่เห็นชัด ทีนี้พอจิตเป็นสมาธินี่ อยู่กับอารมณ์เดียวเลย ที่วิ่งไปมาพล่านนั่น หมด ตกตะกอนเลย มันไม่มีชิ้นไหนจะมาบังแล้วนะ จะมองอะไรตอนนี้ก็เห็นชัดไปเลย นี่ก็คือจิตเป็นสมาธิ ก็เหมือนกับน้ำใส ใช่ไหม จิตของเราหลายคน จิตไม่มีสมาธิ พอนึกเรื่องนี้ เดี๋ยวเรื่องนู้นมา นี่มันก็เหมือนเศษอะไรที่วิ่งกันว่อนหมดในภาชนะน้ำ จะไปมองอะไรเห็นชัดล่ะ แต่พอเป็นสมาธิเนี่ย ทีนี้สบายแล้ว ดูอันเดียวเลย ต้องการดูอะไรก็ดูอันนั้น หรือไม่ดูอันเดียวแล้ว ดูทีละอัน มันก็ชัดหมด อย่างนี้สมาธิก็เป็นประโยชน์เอื้อต่อปัญญา เป็นภาวะที่คล้ายๆน้ำใส สมาธิก็เอื้อต่อปัญญา สมาธิอีกอันก็คือสงบ สงบก็มันไม่มีอะไรวุ่นวาย จิตมันก็ไม่พุ่งพล่านไป มันก็อยู่นิ่ง ไม่มีอะไรกวน ไม่มีอะไรระคาย ไม่มีอะไรรบกวนมันก็สบาย สงบ สงบก็สุข คนที่มีสมาธิก็ ภาวนะหนึ่งก็คือสงบ มีความสุข สามอันนี้ต้องมาใช้ ช่วยหนุนกัน อย่าไปใช้อันเดียว ความสงบของจิต ก็มาเอื้อต่อการที่จิตมันจะได้ไม่วุ่นวายไม่พุ่งพล่าน มันก็พร้อมที่จะทำงานใช่ไหม ถ้าจิตมันพุ่งพล่านกระวนกระวายก็ทำงานไม่ดี ทีนี้จิตมันสงบสบาย มันมีพลัง ก็ยิ่งทำได้ผล แล้วก็มันใส เอื้อต่อการใช้ปัญญา ตอนนี้สามอันเนี่ย ใช้ให้ครบ ก็จะทำงานให้ได้ผลดี แต่ถ้าไปติดกับอันใดอันหนึ่งนะ เขวได้ เขวในทางพุทธศาสนา ก็ท่านเน้นปัญญา ให้สองอันแรกมันเสริม มันเสริมเองถ้าเราต้องการใช้ปัญญา ทีนี้บางคนไม่ไปใช้ประโยชน์ที่มันควรจะได้ ให้พัฒนาชีวิต พอได้สมาธิสงบ จิตสบายมีความสุข นอน ก็ขี้เกียจ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า สมาธิเป็นพวกเดียวกับความขี้เกียจ เตือนไว้ตลอด สมาธิเป็นพวกเดียวกับความเกียจคร้าน มันเอื้อใช่ไหม พอสบาย สงบดีก็เป็นสบายแบบไทยแล้ว นอนดีกว่า ก็เลยตกอยู่ในความประมาท ฉะนั้นสมาธิท่านจึงต้องให้ระวัง ทำให้เกียจคร้าน ทำให้อ่อนแอ ทำให้ประมาทได้ เอามาใช้ประโยชน์ให้ถูก ทีนี้บางพวกไปเน้นพลังจิต ไปทางฤทธิ์ปาฏิหาริย์นู่น ไปกันใหญ่อีก ก็ไปเป็นฤๅษี ดาบส อะไรไปนั่นนะ ก็ไปเล่นเรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหาริย์กันไป ทางพุทธศาสนาก็ไม่สนับสนุน ว่าให้เป็นผลพลอยได้ก็พอได้ แต่ให้พัฒนาชีวิตให้มันได้ผลทางปัญญา ทีนี้เรามีอะไร จะใช้ปัญญา มันเป็นโอกาส สมาธิมาก็ใช้ซะ จะดูอะไรต่ออะไร ศึกษาเข้าใจ แม้แต่ชีวิตของตัวเอง จิตใจของตัวเองตอนนี้ ก็จะดูได้ จะชัดเจนขึ้นมา ตอนนี้ก็โยงเข้ามากับเรื่องที่ว่า จะเข้าใจชีวิตอย่างไร ก็ต้องเข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่เป็นไปในปัจจุบัน ก็อาศัยสมาธิ แล้วก็มาสูงขึ้นไป พัฒนาไม่อยู่แค่สมถะ ไม่อยู่แค่สมาธิ ก็ไปสู่วิปัสสนา ก็ไปสู่การใช้ปัญญา