แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร วันนี้คิดว่าจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งก่อน
เพราะเค้าเลือกตั้งกันมาเสร็จใหม่ๆ แต่ก็ไม่ไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้หรอก เพราะว่าพระนั้นถือกันว่าจะไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ ก็จะเลือกตั้งไม่ได้ก็จริง แต่ว่าสามารถให้ธรรมะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ทางพุทธศาสนานี่ก็พูดถึงการเลือกตั้งไว้เหมือนกัน การเลือกตั้งนี้ อาจจะเป็นการปกครองที่เป็นระบบเก่าแก่ที่สุดก็ได้ ตามตำนานพระพุทธศาสนาเล่าไว้ ว่ามนุษย์เนี่ย ตั้งแต่ยุคแรกๆพอเริ่มมีการปกครองก็ใช้วิธีการเลือกตั้ง ละก็ไม่ใช่เลือกตั้งเฉพาะคนเท่านั้น แม้แต่สัตว์ต่างๆก็ยังมีการเลือกตั้งกัน ท่านก็เล่าเป็นนิทานชาดกไว้
อยากจะเล่าเรื่อง กากับนกเค้า
กากับนกเค้านี่ คงจะทราบกันว่าเป็นศัตรูกัน นกสองชนิดนี้เจอกันไม่ได้ เป็นทะเลาะเป็นตีกัน ถ้าเวลากลางวันกาก็ชนะ ถ้าเวลากลางคืนนกเค้าก็ชนะ ในสมัยพุทธกาล พระท่านอยู่วัดที่มีต้นไม้มากๆ พระกวาดลานวัด บางทีเช้าขึ้นมาท่านก็ต้องกวาด ปรากฏว่าหัวกานี่ตกลงมาเกลื่อน เพราะว่านกเค้ามากัด ก็เลย พระก็เดือดร้อนลำบากเรื่อง ต้องนอกจากกวาดใบไม้แล้ว ยังต้องกวาดหัวกาด้วย
ก็เคยมีเรื่องที่เอามาเล่าถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยเล่าเรื่องอดีตให้ฟัง ว่าทำไม กากับนกเค้า นี่เป็นศัตรูกัน เป็นศัตรูโดยธรรมชาติเลย ท่านว่าเป็นศัตรูกัน โกรธกัน เพราะการเลือกตั้ง
เรื่องเป็นยังไง ก็บอกว่า ในครั้งปฐมกัลป์ ปฐมกัลป์นี่หมายถึงยุคแรกของโลก ที่มีมนุษย์ มีสัตว์ทั้งหลายในวิวัฒนาการ พอมีจำนวนมากๆขึ้นน่ะ มนุษย์ก็ตาม สัตว์ก็ตาม อยู่ด้วยกันเนี่ย ก็จะมีการทะเลาะเบาะแว้ง มีปัญหาเกิดขึ้น ก็เลยต้องมีการปกครอง ในการปกครองก็มีการเลือกเอาสัตว์หรือมนุษย์ที่จะมีความสามารถมาดูแล ควบคุมหมู่คณะได้
เค้าบอกว่าในหมู่มนุษย์ก็เลือกเอาคนที่มีลักษณะสง่างาม มีความสามารถขึ้นมาเป็นหัวหน้า ในหมู่สัตว์สี่เท้า ก็ประชุมกัน เลือกเอาราชสีห์เป็นหัวหน้า ปลาทั้งหลายก็เลือกเอาปลาอานนท์เป็นหัวหน้า ปลาอานนท์นี่เค้าใหญ่มากอาจจะเป็นปลาวาฬชนิดหนึ่ง แต่ตามเรื่องดูเหมือนว่าใหญ่กว่าปลาวาฬซะอีก
ละทีนี้ ฝ่ายนกทั้งหลายบ้าง วันหนึ่งก็พากันมาประชุมที่หินดาด หินดาดก็คือ เป็นหินราบๆ แผ่นหินใหญ่ๆ ลานหินนั่นเอง ที่ป่าหิมพานต์ ประชุมกันก็มาพูดปรึกษาหารือกัน บอกว่า พวกมนุษย์ทั้งหลาย เค้าก็เลือกตั้งหัวหน้าแล้ว สัตว์สี่เท้าเค้าก็เลือกกันแล้ว พวกปลาเค้าก็เลือกกันแล้ว เราเป็นพวกสัตว์มีปีกบินได้ก็ควรจะเลือกหัวหน้าขึ้นปกครองกันเหมือนกัน ก็มาพิจารณากันว่าจะเอาใคร นี้ก็มีนกตัวหนึ่งเสนอขึ้นมา บอกว่าให้เอานกเค้า นี้ก็ฟังมติที่ประชุม ก็มีวิธีการก็ นกตัวหนึ่งที่มีความสามารถเก่งในการพูด ก็ขึ้นประกาศ บอกว่าที่ประชุมนะจะเอานกเค้าไหม ถ้า ๓ ครั้งไม่มีใครเถียงไม่มีใครคัดค้านก็ตกลงว่าเลือกนกเค้าเป็นหัวหน้า ในบรรดานกเหล่านั้นที่ฟังอยู่ ก็มีกาเนี่ยไม่ค่อยพอใจ ตอนแรกก็ยังไม่อยากจะพูด หรือว่ายังเกรงๆอยู่ แต่ว่า พอเค้าประกาศประชุมครั้งที่ ๒ ก็ทนไม่ได้ คิดว่า ถ้านกเค้าเป็นหัวหน้าจะแย่ ก็เลยขอโอกาส บอกเดี๋ยว เดี๋ยว ข้าพเจ้าขอพูดสักคำได้ไหม บอกพูดมาเถอะ แต่ว่าพูดให้มีเหตุมีผลนะ กาก็ร้องประกาศขึ้นบอกว่า นี่นะ ท่านทั้งหลายจงดูสิ นกเค้านี่น่ะ ขนาดเป็นปกติไม่โกรธ หน้าตายังขนาดนี้ ถ้าหากว่าโกรธขึ้นมา หน้าตาจะน่ากลัวขนาดไหน บอกว่าพวกเรานี่ถ้านกเค้าโกรธขึ้นมา มิหนีกันกระจัดกระจาย เหมือนอย่างเกลือที่เค้าทิ้งลงบนก้อนกระเบื้อง บนกระเบื้องที่ร้อนแดด คือกระเบื้องที่ร้อนแดดจัดๆถ้าเกลือทิ้งลงไป จะแตกกระจัดกระจาย ก็ การ้องว่าอย่างนี้แล้ว ก็บินขึ้นไปในอากาศ เพราะกลัวนกเค้าจะตี บินขึ้นไปละก็ร้องบอก ข้าไม่เอา ข้าไม่เอา
ฝ่ายนกเค้าก็โกรธมาก ก็เลยบินตามขึ้นไป ละก็เป็นศัตรูกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ฝ่ายนกทั้งหลาย พอกากับนกเค้าบินออกจากที่ประชุมกันแล้ว ก็เลยต้องมาพิจารณากันใหม่ ผลที่สุดก็เลยเลือกเอาหงส์ทองเป็นหัวหน้า
หงส์ทองก็ได้เป็นพญานกสืบต่อมา นี่ว่าตามตำนาน ก็เลยได้ความว่า เนี่ยเป็นเหตุให้กากับนกเค้าเป็นศัตรูกันตั้งแต่นั้นมา เจอกันไม่ได้ เป็นตีกันเรื่อย นี่เป็นตำนาน
ทีนี้ ในคติอันนี้ก็คือว่า นกเค้าก็เป็นสัตว์ที่ขี้โมโห ก็ลุอำนาจโทสะ ก็บินออกจากที่ประชุมตามไล่กา ไปตีกัน ก็เลยเป็นเหตุให้ตัวเองก็เลยอด ไม่ได้เป็นหัวหน้านก เรื่องก็จบลง
ทีนี้ หันมาพูดเรื่องในหมู่มนุษย์บ้าง ในหมู่มนุษย์ที่ว่าได้เลือกเอาคนคนหนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้านั้น อันนี้มีในพระสูตร ท่านเล่าถึงทำนองว่า ในสังคมของเราเนี่ย ทำไมจึงต้องมีหัวหน้า มีพระราชา มหากษัตริย์ปกครอง และก็คำว่า ราชามหากษัตริย์ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ท่านว่าสมัยโบราณนี้ เมื่อมนุษย์ยังมีน้อย และเป็นยุคแรกๆ ธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศก็อุดมสมบูรณ์ ผลไม้ พืชพรรณธัญญาหารก็มีมากมาย ทีนี้อย่างข้าวเนี่ย แต่ก่อนนี้ มนุษย์ก็ไม่ได้เอาเก็บมา ไม่ได้เข้ายุ้งฉาง ที่จะต้องมาหุงต้ม ไว้กินกันนานๆเป็นปีๆ แต่ว่า พืชนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติ ก็เก็บกินไปแต่ละวัน ถึงวัน เช้าก็ไปเก็บเอาข้าวเอามา ละเอามาหุงต้มเฉพาะวันนั้น ละวันรุ่งขึ้นก็ทำอย่างนั้นใหม่
นี้ต่อมา มนุษย์บางพวกก็มีความเกียจคร้าน คิดว่าจะไปเอามาแต่ละวันนี้ ก็เป็นเรื่องลำบาก เพราะฉะนั้น เราจะเก็บมาไว้กินหลายๆวัน เก็บไว้กิน ทีหนึ่งเอามาไว้ได้2วันบ้าง 3วันบ้าง 4วันบ้าง เมื่อหลายๆคนทำอย่างเดียวกันเนี่ย เก็บเอามาไว้คนละหลายๆวัน ก็ต้องเก็บมาทีละมากๆ เมื่อเก็บมาทีละมากๆ ก็มีปัญหา ในการที่จะ ใครจะได้มากได้น้อย ละจะเก็บกันแค่ไหน เพียงไร ก็เลยต้องมีการ แบ่งปันสถานที่ กั้นเขตกันขึ้นมา นี่เป็นเรื่องเริ่มต้นที่ทำให้มีการแบ่งปันเขต ก็คือแบ่งปันเขตนาข้าว พอแบ่งปันไปแล้ว ต่อมา มนุษย์บางคนก็มีความโลภมาก ก็คิดว่า เขตที่เป็นของตัวเองนั้น จะเก็บไว้กินนานๆ เอาของคนอื่นก่อน เมื่อคนอื่นไม่เห็น ก็ลักลอบ เก็บของคนอื่นก่อน ของตัวยังไม่เก็บ กันเอาไว้ เมื่อทำอย่างนี้ ก็เกิดมีปัญหาทะเลาะวิวาทขึ้น คนอื่นที่เขาถูกเอาของไป ก็ไม่พอใจ เมื่อรู้ขึ้นมาก็มาทะเลาะวิวาทกัน
เมื่อทะเลาะวิวาทกัน ก็เกิดความชั่วอย่างอื่น เช่น การหลอกลวง การพูดเท็จว่า เอาแล้วว่าไม่เอา อะไรเป็นต้น ละก็มีการทะเลาะกันรุนแรง ก็อาจจะถึงกับฆ่ากัน นี่ก็เริ่มมีปัญหาขึ้นในสังคมมากมาย
การแย่งชิง อทินนาทา มุสาวาท อะไรต่างๆเกิดขึ้น ในที่สุด มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นคนมีปัญญาหน่อย ก็เลยมาหารือกันบอกว่า จำเป็นว่าเราจะต้องมีหัวหน้าขึ้นมาปกครองดูแล ให้คนที่เป็นหัวหน้านั้นมีอำนาจในการที่จะบังคับว่า ให้ใครทำอะไร และก็เป็นผู้ที่จะกำหนดเขตอะไรต่างๆ เกี่ยวกับที่ดิน ที่ไร่ ที่นาด้วย แล้วเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้น ก็ให้เป็นผู้ตัดสินได้
เมื่อหารือกันอย่างนี้ ตกลงแล้ว ก็เลยเลือกเอาคนคนหนึ่งที่มีลักษณะดีงาม สง่า อย่างที่ว่า ละมีความฉลาด มีความสามารถที่จะตัดสินเรื่องราวของปัญหาระหว่างมนุษย์
ก็ตั้งขึ้นให้เป็นหัวหน้า มนุษย์คนนี้เขาเรียกชื่อว่า มหาสมมติ
อย่างชื่อพระมหากษัตริย์ในเมืองไทยเรานี้ เวลาประกาศแต่งตั้งพระองค์นี้ จะมีคำนี้อยู่ด้วย คือ “มหาสมมติ”
มหาสมมิต ก็คือ เป็นผู้ที่มหาชนได้แต่งตั้งขึ้น หรือเลือกตั้ง
และก็มีชื่อที่สอง ว่าเป็น “ราชา”
ราชา แปลว่า ผู้ทำให้คนทั้งหลายเกิดความยินดี หรือพอใจ หมายความว่า เมื่อเกิดกรณีพิพาททะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น แล้วหัวหน้านี้ก็ตัดสินให้ทั้งสองฝ่ายยินดีตกลงกันได้ ได้รับความพอใจ เรื่องก็ยุติลงด้วยดี ก็เลยเรียกชื่อว่า “ราชา”
และก็เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “กษัตริย์” กษัตริย์นั้นมาจากคำว่า เขต-ตะ??? เขตตะ??? หรือ เกษตร แปลว่า ที่ไร่ที่นา กษัตริย์ก็คือเจ้าของเกษตร หมายความว่า เป็นเจ้าที่ดิน เป็นผู้ครองแผ่นดินนั่นเอง
เพราะฉะนั้นก็ได้นาม ๓ อย่างว่า มหาสมมติ พระราชา และก็ว่ากษัตริย์
นี้เป็นเรื่องการกำเนิดของพระราชา การปกครองแบบสมัยโบราณก็เป็นมาอย่างนี้
นี้เมื่อเลือกตั้งขึ้นมาได้ ก็สามารถที่จะใช้มติในการที่จะถอดก็ได้ เพราะฉะนั้นในสมัยโบราณจะมีเรื่องราวที่ว่า ราชาหรือกษัตริย์บางองค์ ทรงประพฤติไม่ดี หรือว่าไม่ปกครองแผ่นดินโดยธรรมะ ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย บางทีประชาชนก็พากันยกขบวนมา ละก็ปลดเสียจากตำแหน่งก็มี หรือแม้แต่อยู่ตามปกติเนี่ย แต่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่สงบเกิดขึ้น เช่นว่า เกิดความแห้งแล้ง เกิดทุพภิกขภัย ไม่มีอาหารจะกินกัน ฝนไม่ตกประชาชนก็มักจะมาชุมนุมกันที่พระลานหลวง เพื่อเรียกร้องต่อพระราชา พระราชาก็จะต้องสำรวจพระองค์ ว่าพระองค์มีความบกพร่องอะไร ประพฤติอะไรเสียหายรึเปล่า ทำไมจึงเกิดความไม่สงบสุขขึ้นในแผ่นดิน อะไรทำนองนี้ นี่ก็เป็นเรื่องที่เป็นมาเสมอ
แม้แต่เรื่องมหาเวสสันดร ก็จะเห็นว่า ประชาชนมีอิทธิพลมาก เมื่อคราวที่เจ้าชายเวสสันดรได้ทรงพระราชทานช้าง ช้างมงคลของเมืองสีวี ชื่อว่าช้าง ปัจจัยนาเคนทร์??? ให้แก่แคว้นกาลิงคะ ประชาชนเชื่อกันว่าช้างปัจจัยนาเคนทร์เนี่ยเป็นช้างสิริมงคล นำมาซึ่งโชคลาภ เมื่อช้างมงคลนี้มีอยู่ ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล ดินฟ้า น้ำ อาหารก็บริบูรณ์ ทีนี้ แคว้นกาลิงคะนั้นเขาเกิดแห้งแล้งขึ้น เขาก็เลยส่งพราหมณ์มาขอช้างตัวนี้ไป โดยคิดว่าเมื่อช้างมงคลตัวนี้ไปถึงแคว้นกาลิงคะแล้ว ฝนฟ้าก็จะตก แล้วก็ประชาชนก็จะได้หายอดอยาก ก็ส่งพราหมณ์มาขอ เจ้าชายเวสสันดรนั้น มีพระทัยพอยินดีมากในการให้ทาน ใครขออะไรให้ทั้งนั้น ก็เลยให้ช้างปัจจัยนาเคนทร์นี้แก่พราหมณ์แห่งเมืองกาลิงคะ พอให้ช้างตัวนี้ไป ประชาชนรู้ ประชาชนก็ก่อการจลาจล มาชุมนุมกันที่พระลานหลวง และก็เรียกร้องต่อพระราชา พระราชบิดาว่าให้ลงโทษพระเวสสันดร ผลที่สุดพระเวสสันดรก็ต้องถูกเนรเทศออกไปอยู่ป่า คือไปอยู่เขาวงกต เป็นเรื่องที่เราได้ทราบกัน จะเห็นว่าแม้แต่เรื่องในเวสสันดร ก็พบอิทธิพลของประชาชนในครั้งนั้น
นี่เป็นระบบการปกครองที่มีมาในสมัยโบราณ และปัจจุบันนี้เราก็มาใช้วิธีที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย ก็เป็นการเลือกตั้ง แม้ในคณะสงฆ์เองท่านก็ใช้วิธีการเลือกตั้ง ในวัดจะมีการตั้งพระเป็นเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่เรือนคลัง ท่านเรียกว่าภัณฑาคาริก เป็นผู้เก็บของต่างๆ เช่น พวกจีวรของใช้ต่างๆ และพระก็มาเบิกไปจากนี่ คือพระแจกจีวร มีหน้าที่เก็บจีวรไว้ และก็แจกให้แก่พระทั้งหลาย หรือพระที่เรียกว่า ภัตตุทเทสก์ ก็เป็นพระที่แจกอาหาร เวลาญาติโยมมานิมนต์ที่วัด พระองค์นี้ก็จะจัดว่า จะให้องค์ไหนไปกิจนิมนต์ วันนี้เขานิมนต์ ๕ องค์ไปบ้านนี้ ก็จัดไปให้ ๕ องค์ เอาองค์ไหนบ้างก็ระบุไป ก็ต้องจัดโดยความยุติธรรม ก็ในคณะสงฆ์เองก็จึงมีตำแหน่งต่างๆขึ้นมาทำหน้าที่ ซึ่งพระเหล่านี้คณะสงฆ์ก็แต่งตั้งขึ้นมาโดยวิธีเลือกตั้ง โดยพระประชุมกัน และก็ตกลงกันว่าจะให้องค์ไหนเป็น ท่านก็จะกำหนดคุณสมบัติไว้ คุณสมบัติพื้นฐานธรรมดาที่มีอยู่แล้วก็คือ ความมีศีล ประพฤติดีงาม แต่นอกจากเรื่องมีศีล ประพฤติดีงามแล้ว ก็จะต้องมีคุณสมบัติอื่นด้วย ที่สำคัญก็คือไม่มีอคติ ไม่มีอคติ เพราะอคตินั้นแปลว่าความลำเอียง
ความลำเอียงมี ๔ อย่าง
๑ ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักหรือชอบ เพราะชอบพวกของตัว นี่เป็นพวกของฉัน เพราะฉะนั้นฉันจะให้พวกของฉันเสีย
๒ โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธหรือไม่ชอบใจ นี่ไม่ใช่พวกของฉัน เพราะฉะนั้นฉันไม่เอาด้วย หรือพยายามที่จะให้น้อย อะไรอย่างนี้
และก็ โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา เพราะโง่
และก็ ๔ ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว
นี้เป็นเหตุให้คนเกิดความลำเอียงไม่เที่ยงธรรม ผู้ที่จะรับตำแหน่งแต่งตั้งเป็นผู้ทำหน้าที่ของส่วนรวม ก็จะต้องไม่มีอคติ ๔ ประการเหล่านี้ และประการสุดท้ายท่านว่า ให้เป็นผู้ที่ฉลาดสามารถในงานนั้นๆ หมายความว่าจะรับผิดชอบตำแหน่งหน้าที่ใด ก็จะต้องมีความรอบรู้ในงานนั้น และมีความรู้ความสามารถที่จะทำให้ได้ผลดี อันนี้ก็เป็นคุณสมบัติที่จะต้องนำมาพิจารณา
หลักในการเลือกตั้งนี้ก็คิดว่าคงมาใช้ได้ แม้แต่ในสมัยปัจจุบัน ประการแรกก็คือว่า คนนั้นจะต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี ที่เรียกว่ามีศีล แต่ศีลนี้บางทีก็รู้ยาก ศีลนั้นทางพระท่านบอกว่า จะรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกันนานๆ ถ้าว่าเห็นกันชั่วประเดี๋ยวประด๋าวมันก็ไม่แน่นอน เพราะต่อหน้าเขาก็ต้องประพฤติให้ดี แต่ว่าระยะยาวนานนั้นอยู่ร่วมกันไป จึงจะเห็นแท้ ว่าเขาเป็นยังไงแท้จริง
ทีนี้สมัยปัจจุบันนี้ ปัญหาก็คือว่า การเลือกตั้งนั้น เราไม่มีโอกาสจะเห็นบุคคลนั้นมา เป็นเวลายาวนานนัก โดยมากก็อาศัยการโฆษณาชักชวน หาเสียงกันชั่วระยะสั้นๆ บางทีก็พูดดี หรือว่าแสดงออกในระยะเวลานั้นให้ดี คนก็พอใจ ก็เลือกตั้งกันไป เพราะฉะนั้นก็เป็นข้อน่าพิจารณาไว้ ว่าทำยังไงเราจะรู้ศีล รู้ความประพฤติที่แท้จริงของบุคคลนั้นได้ และก็นอกเหนือจากศีล ความประพฤติดีแล้ว ก็ต้องเป็นผู้ไม่มีอคติ และต่อจากนั้นก็ต้องมีความสามารถในงานที่จะไปรับไปทำด้วย
แม้แต่มีศีลแล้ว ความประพฤติดีแล้ว แต่ว่าขาดความสามารถในงานที่จะไปรับผิดชอบก็ทำอะไรไม่สำเร็จอีก เพราะฉะนั้นจะต้องมีคุณสมบัติให้เพียบพร้อมมา นี่ก็เป็นหลักการในทางพระพุทธศาสนาที่ท่านสอนไว้ ซึ่งก็คงจะเป็นประโยชน์ในการที่จะนำมาใช้ปฏิบัติในปัจจุบันด้วย
อาตมาภาพวันนี้ก็พูดมาในเรื่องธรรมะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พร้อมทั้งความเป็นมาของการเลือกตั้ง ก็พอสมควรแก่เวลา เล่าไว้เป็นการสดับความรู้ก็เพียงเท่านี้
ขออนุโมทนา