แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ ก็คิดว่าจะพูดเรื่องทั่วๆ ไปที่เกี่ยวกับโยม โยมธรรมดาพุทธศาสนิกชน เมื่อปฏิบัติธรรมก็ย่อมมุ่งหวังความเจริญก้าวหน้า คือตราบใดที่ยังไม่บรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนาเราก็ต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ ทีนี้ในการปฏิบัติเราก็ต้องหวังว่าจะเจริญยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ทีนี้จะมีอะไรเป็นเครื่องวัดความเจริญว่า เราเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติหรือไม่ ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสหลักธรรมไว้ เขาเรียกว่าเป็นหลักวัตรยึด หรือเรียกว่าเป็น อริยวัฑฒิ เป็นหลักความเจริญอย่างอริยะ คือ ถ้าหากว่ามีความเจริญอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในที่นี่ละก็ แสดงว่าพุทธศาสนิกชนก็มีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ ก็มีหวังว่าจะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ทีนี้ความเจริญนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้มี 5 ประการ
5 ประการ ก็คือ 1. มีศรัทธา 2. ศีล 3. จิตตะ 4. จาคะ 5. ปัญญา อันนี้อาตมภาพยกหัวข้อมาไว้ก่อน
ข้อที่ (1) ก็คือศรัทธา ศรัทธาเราแปลกันง่ายๆ ว่าความเชื่อ ถ้าขยายความออกไป ก็คือว่า มีความเชื่อ ความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย หลักความเจริญนี้ก็ทำให้เรานำมาใช้ตรวจสอบตัวเอง เช่นถามตัวเองว่า วันนี้เรามีศรัทธาแค่ไหน ศรัทธาของเราเจริญเพิ่มพูนขึ้นหรือไม่ มีความเชื่อในคุณพระรัตนตรัย เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เพราะถ้าหากเรามีความมั่นใจว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะจริง เราก็จะเชื่อฟังคำสอนของพระองค์ไปด้วย เมื่อเชื่อฟัง เราก็จะสามารถปฏิบัติได้อย่างมั่นใจ พระองค์สอนว่าทำดีได้ผลดี ทำชั่วได้ชั่ว เราก็จะทำความดีแล้วก็ละเว้นความชั่ว เพราะฉะนั้น หลักที่จะทำให้เจริญก้าวหน้าอย่างแรก ก็คือว่าต้องมีความเชื่ออันนี้ คือ ความเชื่อ ความเลื่อมใสในคุณของพระพุทธเจ้า ในพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ แล้วต่อไปก็เชื่อในพระธรรมคำสอน แล้วก็มั่นใจในพระสงฆ์ที่นำเอาธรรมะมาสั่งสอนตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำไว้ ประกาศไว้ แล้วเราก็ปฏิบัติไป หรืออย่างน้อย ก็คือว่าเมื่อเราเชื่อศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว เราก็มีความมั่นใจในการทำความดี มั่นใจในการทำกรรมดี ถ้าเรามั่นใจในการทำความดีแล้ว ก็แน่นอนว่า เราจะเจริญก้าวหน้าไปในแนวทางของพระพุทธศาสนา และเราก็เลือกทำกรรมดีเว้นความชั่วได้ เพราะเราเชื่อในคำสอนของพระองค์ที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้นนั้น อันนี้ก็เป็นข้อที่ 1 คือศรัทธา
ทีนี้ ข้อที่ (2) ก็คือศีล ศีลก็ได้แก่การเว้นจากความชั่ว อันนี้ก็สืบเนื่องมาจากอันเมื่อกี้นี่เอง ก็ด้วยศรัทธานั่นแหละ เราก็ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เบื้องต้นก็คือเว้นจากความชั่ว ความชั่วทั่วๆ ไปก็คือการเบียดเบียนกัน เรางดเว้นในการเบียดเบียนกัน งดเว้นจากการฆ่าการทำร้ายร่างกาย การประหัตประหารกัน เว้นจากการล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินกัน ล่วงละเมิดในคู่ครอง การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจาหรือกล่าวเท็จ ตลอดจนเว้นจากสุราเมรัยสิ่งเสพย์ติด อันนี้ ก็เป็นการประพฤติในขั้นที่เรียกว่าศีล ถ้าเรามีความก้าวหน้าในเรื่องศีล ในเรื่องความประพฤติ ก็เรียกว่ามีความเจริญประการที่ 2
ประการที่ (3) ก็คือจิตตะ จิตตะแปลว่าสิ่งที่ได้สดับ ถ้าสมัยปัจจุบันก็หมายถึงสิ่งที่ได้อ่านด้วย เพราะปัจจุบันนี้มีการพิมพ์ การเขียนมาก การอ่านนี่ก็เหมือนกับการได้ฟังเหมือนกัน คือได้ฟังโดยอ้อม เอาคำที่ท่านผู้อื่นได้กล่าวออกมาซึ่งมาเป็นข้อเขียนแล้วเอามาอ่านอีกที อันนี้สำหรับพระพุทธศาสนา การอ่านหรือการได้ฟังนี่ก็คือ การอ่านหรือได้ฟังสิ่งที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างง่ายๆ นี่ก็ถือว่าเราได้มีความรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าแค่ไหน เรารู้หลักธรรมที่จะนำมาใช้ปฏิบัติพอหรือไม่ ถ้าหากว่าให้ดีก็มีความรู้พอที่จะแนะนำผู้อื่นมั้ย เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนท่านที่ทำหน้าที่เป็นบิดามารดา เป็นครูอาจารย์ก็มีความรู้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากที่จะใช้ด้วยตัวเองในประจำวัน สามารถนำไปแนะนำผู้อื่นได้ด้วย อันนี้เรียกว่าจิตตะ
ต่อไปก็มีจาคะ จาคะก็คือความเสียสละ ความมีน้ำใจ เรามีน้ำใจต่อผู้อื่นแค่ไหนเพียงไร เราได้สละหรือสลัดความสุขส่วนตัวเพื่อผู้อื่นบ้าง เราได้เสียสละทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือคนอื่นบ้างหรือไม่ หรืออย่างน้อยก็สละกิเลสในใจของเรา เช่นว่า กิเลสมันบอกให้เราต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ เราได้สละมันทิ้งไป เรารู้ว่ามันไม่ดีเราก็สละมันทิ้งไป เราทำได้หรือไม่ ถ้าหากสละกิเลสได้ก็แสดงว่าเราชนะใจตัวเอง มีความสามารถ มีจิตใจเข้มแข็งอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ จาคะนี่ก็มีทั้งทางภายนอกและภายใน ภายในก็คือ สละกิเลสที่มันเข้ามาครอบงำจิตใจของเรา จะเป็นความโลภ ความโกรธ หรือความหลงก็ตาม และก็สละภายนอกก็เช่น สละทรัพย์สินเงินทอง ช่วงเหลือผู้อื่น เป็นต้น อันนี้ประการที่ (4)
ต่อไปประการที่ (5) ปัญญา ปัญญานี่ก็หมายถึงว่า การรู้เข้าใจ สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็เท่ากับว่ารู้เข้าใจคำสอน ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสั่งสอนพระธรรมนี่เราได้สุตตะอ่านมาสดับรับฟังมา แล้วเรามีความเข้าใจในคำสอนนั้นดีหรือไม่ เราอาจจะมีแต่สุตตะ ได้ยินได้ฟังมา จำได้ แต่ไม่เข้าใจ ไอ้แบบนี้เรียกว่ามีแต่สุตตะไม่มีปัญญา จะต้องมีปัญญารู้เข้าใจด้วย ถ้าหากรู้เข้าใจตามคำสอนนั้นก็ ก็เอาคำสอนนั้นมาใช้ในการปฏิบัติ ก็คือรู้ดี รู้ชั่ว รู้เหตุ รู้ผล รู้ว่าอะไรเป็นคุณเป็นโทษ อะไรเป็นประโยชน์ไม่ใช่ประโยชน์ ตลอดจนกระทั่งว่ารู้ต่อไปถึงเกี่ยวกับชีวิตของเรานี้ รู้เท่าทันโลกและชีวิตว่า เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น อันนี้เมื่อรู้เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะทำให้จิตใจของเราเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใสได้
ปัญญานี้ก็เป็นหลักสำคัญ อย่างน้อยเราก็ตรวจสอบตนเองว่า ในการดำเนินชีวิตของเราเนี่ย เราได้ทำการต่างๆ โดยใช้ปัญญาหรือไม่ เพราะคนเรานี้ก็มีสองอย่าง อย่างที่ภาษาปัจจุบันเรียกว่าทำตามอารมณ์ กับทำด้วยปัญญาด้วยเหตุด้วยผล ทีนี้ปัญญาเรานำมาตรวจสอบตัวเองว่าในการกระทำของเราหรือที่เราดำเนินชีวิตแต่ละวันเนี่ย เราได้ใช้ปัญญาแค่ไหน หรือเราทำตามอารมณ์แค่ไหน ถ้าเราเอาอารมณ์เป็นใหญ่มาก ก็แสดงว่าเรายังมีความเจริญก้าวหน้าในธรรมน้อย ถ้าเราใช้ปัญญาใช้เหตุใช้ผลมาก ก็แสดงว่าเราก้าวหน้าในธรรมมาก มีความเจริญงอกงาม ก็เอาหลักอันนี้มาตรวจสอบ
ทีนี้ปัญญาเนี่ยเป็นตัวคุมทั้งหมด เพราะว่าศรัทธาจะเชื่อถูกต้องหรือไม่ก็ต้องมีปัญญากำกับ คือต้องมีความรู้ ความเข้าใจ มิฉะนั้นศรัทธาก็จะกลายเป็นอย่างที่เขาเรียกว่าเชื่องมงายไปได้ สุตตะ เรียนรู้มาก็ต้องมีปัญญามาช่วย หรือไม่งั้นก็เป็นแต่เพียงว่าท่องจำเป็นนกแก้ว ได้มา จำมา อ่านมา รู้ตามที่ท่านว่าแต่ไม่เข้าใจเป็นยังไง ก็ต้องมีสุตตะช่วย ศีล ประพฤติต่างๆ ก็ต้องมีปัญญาช่วย ไม่งั้นก็กลายเป็นอย่างที่เขาเรียกว่าสีลัพพตปรามาส ยึดถือการปฏิบัติตามศีลวัตร หรือศีลพรตอย่างงมงาย ไม่เข้าใจความมุ่งหมาย ก็ประพฤติได้ไม่ถูกต้อง อาจจะเคร่งครัด แต่ว่า ไม่ช่วยให้ตัวเจริญงอกงามในธรรม ก็ทำให้เป็นทุกข์เป็นเดือดเป็นร้อนไปได้เหมือนกัน แล้วก็ จาคะ ความเสียสละก็ต้องมีปัญญากำกับ รู้ว่าอะไรควรเสียสละ อะไรไม่ควรเสียสละเป็นต้น ท่านก็เลยเอาปัญญาไว้เป็นข้อสุดท้ายสำหรับควบคุมทั้งหมด
แล้วก็ถ้ามีธรรมะทั้ง 5 อย่างนี้ คือมีศรัทธา มีความเชื่อที่ถูกต้อง มั่นใจในพระรัตนตรัย มั่นใจในการทำความดี มีศีล ประพฤติดีงาม ไม่เบียดเบียนใคร มีสุตตะ มีความรู้ได้อ่านได้ฟังเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับหลักธรรมต่างๆ ตลอดจนความรู้เรื่องทั่วๆ ไป มาเป็นเครื่องประกอบในการดำเนินชีวิต มีจาคะ มีน้ำใจ มีความเสียสละ ทั้งสละภายใน สละกิเลส แล้วสละภายนอก สละทรัพย์สินเงินทองสิ่งของช่วยเหลือกัน แล้วก็มีปัญญาความรู้ความเข้าใจ รู้เท่าทันโลก และชีวิต ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ถ้าอย่างนี้ละก็เรียกว่า เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่เจริญก้าวหน้า ในคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการเจริญด้วยหลักความเจริญที่เป็นอริยะอย่างที่อาตมภาพกล่าวเบื้องต้น ท่านเรียกว่าเป็น อริยวัฑฒิ หรือ อารยวัฒิ ความเจริญอย่างอริยะ
หลักห้าประการนี่ก็ใช้เป็นเครื่องตรวจสอบตนเองของพุทธบริษัท เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทเมื่อมาปฏิบัติธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ควรได้ตรวจสอบตนเองอยู่เสมอๆ ว่าเราได้มีความเจริญก้าวหน้างอกงามในคำสอนของพระพุทธเจ้าแค่ไหน จะสามารถที่จะเดินไปถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาได้ด้วยดีหรือไม่ ก็โดยเอาหลักห้าประการนี้มาเป็นเครื่องตรวจสอบตนเอง ก็จะได้บรรลุผลสำเร็จสมตามที่ว่า ได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ อาตมภาพก็นำเอาหลักเรื่องความเจริญในอริยะนี้มากล่าว และก็มีพุทธพจน์ที่ตรัสหลักเรื่องนี้ บอกว่า อุบาสกหรืออุบาสิกา ที่เรียกว่าอริยสาวก คือสาวกของพระอริยะเจ้า ผู้ประกอบด้วยความเจริญห้าประการนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยความเจริญอันเป็นอริยะ และชื่อว่าเป็นผู้ถือเอาสาระ ยึดถือเอาสิ่งที่ประเสริฐของชีวิตนี้ไว้ได้ ถ้าท่านผู้ใดได้ปฏิบัติตามนี้ก็ควรจะได้มีปีติปลาบปลื้มใจว่าดำเนินถูกทางแล้ว เจริญงอกงามในคำสอนของพระพุทธเจ้า อาตมภาพก็ขอตั้งใจ เอาใจช่วยให้โยมทุกท่านได้เจริญด้วยอริยวัฑฒินี้ สมดังความปรารถนาโดยทั่วกัน ขออนุโมทนา