แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:00] ขอเจริญพร โยมญาติมิตร สาธุชนทุกท่าน ที่ได้มีจิตศรัทธาพร้อมใจกันมาทำบุญ ในวันอาสาฬหบูชา และต่อเนื่องกับวันเข้าพรรษา โยมญาติมิตรก็ได้มาร่วมทำบุญกัน ได้ทำกุศลทั้งกาย วาจา ใจ ใจนั้นแน่นอนต้องมีศรัทธา นอกจากศรัทธาก็มีน้ำใจเกื้อกูลต่อพระพุทธศาสนา ต่อพระสงฆ์ นอกจากนั้นก็ มีความปรารถนาดีต่อญาติมิตรด้วยกันเอง ก็ชวนกันมา อย่างในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ก็มากับลูกๆ ชวนกันมาทำบุญเป็นความสุขในครอบครัว ถ้าเราได้ทำบุญทำกุศลอย่างงี้แล้ว จิตใจก็ชื่นบานผ่องใส สร้างความสุขที่ลึกซึ้ง และก็ยั่งยืน ติดอยู่ในใจไปนาน บางทีคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้หรอกว่า เด็กๆ มาทำบุญเนี่ย จะได้เห็นพิธีทำบุญมาด้วยความสุขใจเนี่ย ติดผังอยู่ในใจไปจนโตเลย สิ่งเหล่านี้เราอาจจะมองไม่เห็นเป็นรูปธรรม แต่ว่ามีความหมายลึกซึ้งมาก ก็สัมพันธ์กับเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี ในความดีงาม ก็เรียกว่า ทางใจโยมก็ดีมาแล้ว แล้วก็พร้อมกับใจนั่นแหละ โดยไม่รู้ตัว บรรยากาศก็ออกมา เวลาใจเราดีแล้ว จิตใจเราก็ชื่นบาน หน้าตาก็ยิ้มแย้มผ่องใส ในครอบครัวที่ชวนกันทำบุญอย่างงี้ก็มีความสุข
วันนี้ได้ทำบุญที่รู้กันอยู่แล้วว่าสองอย่างเลย คือ ทำบุญ สองวันมารวมกันในวันเดียว ได้กำลังสอง คือทั้งบุญในวันเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชา การเข้าพรรษานั้น พรุ่งนี้ ทีหลัง แต่พิธีเราทำก่อน ก็คือ ถวายผ้าอาบน้ำฝน และก็เทียนพรรษา ก็จะไม่ขอขยายความล่ะ เพราะว่าโยมหลายท่านก็มาถวายกันทุกปี ๆ ทีนี้ส่วนต่อไปก็คือส่วนของ วันอาสาฬหบูชา ที่เราจะมีพิธีเวียนเทียน เรื่องของวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญในด้านบูชา เราก็รู้กันอยู่ จำกันได้บอกว่า วันอาสาฬหบูชาก็คือ เป็นวันบูชาพระรัตนตรัย เนื่องในโอกาส เหตุการณ์ในพระพุทธประวัติที่ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก เรียกว่า เริ่มประกาศธรรม และประดิษฐานพระพุทธศาสนา ใช้ภาษาง่ายๆ ก็คือ ตั้งพระพุทธศาสนานั่นเอง ก็ถือว่าเป็นวันสำคัญมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้พระพุทธศาสนาเจริญ แพร่หลายไป แล้วก็หลายท่านก็จำได้อีกว่า เป็นวันที่เกิดมี พระสงฆ์ มีพระอัญญาโกณฑัญญะ บรรลุธรรมเป็นท่านผู้แรกในอริยสงฆ์ เราก็จำกันได้ว่า ครบพระรัตนตรัย เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์
ถ้าเราได้แค่นี้ก็เป็นเรื่องของการที่จำได้ แต่ว่า จำได้อย่างเดียวนั้นไม่ดีพอ นอกจากจำได้แล้วก็ควรจะเข้าใจความหมายด้วย เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ที่เราจำๆ ไว้เนี่ย เราก็จะต้องมาทำความเข้าใจอีกขั้นหนึ่ง นอกจากจำได้แล้ว เข้าใจดีแล้ว ก็ต้องคิดว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ ไปปฏิบัติอย่างไรอีก อย่างเรื่องเกี่ยวกับอาสาฬหบูชาเนี่ย พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันนี้ ว่าอย่างไร เราเข้าใจแล้ว จะเอาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้อย่างไร เป็นต้นเนี่ย ต้องให้ได้ทั้ง 3 ขั้น คือ ทั้งจำได้ เข้าใจดี และก็คิดเห็นหรือมองเห็นวิธีที่จะนำไปใช้ หรือมองเห็นวิธีที่จะนำไปปฏิบัติ ถ้าได้ 3 ขั้นนี่จึงจะถือว่าสมบูรณ์ ถ้าไม่งั้นเราอยู่แค่ความจำอย่างเดียวมันก็ไม่ไปไหนละ เมื่อไหร่ๆ ก็รู้ว่า วันอาฬหบูชาก็ คือวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก เกิดพระอริยสงฆ์ และก็จบ ก็ไม่ไปไหน เพราะฉะนั้นต้องเอาไปใช้ให้ได้ ก่อนจะไปใช้ก็ต้องเข้าใจให้ดี อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ มาย้ำเตือนกันไว้
ทีนี้เรื่อง วันอาฬหบูชา เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่โยมจำกันได้นี้ เราจะมาอธิบายกันหมด ทุกครั้งนี่ก็ซ้ำด้วย และก็ยืดยาว แต่ละปีๆ ละก็ เราก็จำเอาเพียงบางจุด มาย้ำ มาเตือน มาขยายความกัน ในเรื่องของวันอาฬหบูชาที่เราบอกว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก หรือปฐมเทศนา เราก็รู้กันว่า อ้อ ปฐมเทศนานี้ เด็กๆ หลายคน นักเรียนก็จำได้ บอกว่า ปฐมเทศนานี้มีชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็คือพระพุทธเจ้าแสดงพระสูตรที่เป็นการหมุนวงล้อธรรม หรือ ตั้งอาณาจักรธรรมะให้เกิดขึ้น แล้วทีนี้ ในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ นักเรียนหลายคนก็จำได้ต่อไปอีก บอกนี้มีเนื้อหาสาระสำคัญอะไร อ้าว เด็กนักเรียนลองตอบในใจ หลายคนก็จะตอบได้บอกว่า อ้อ ปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนะ ก็มีสาระสำคัญ หนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เราได้ยินกันบอกว่า ให้เว้นจากที่สุดโต่งสองอย่าง เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานะโยค นักเรียนหลายคนจำกันแม่นเลย ว่าภาษาบาลีได้ แต่ความเข้าใจแค่ไหน ก็ว่าไปแต่ละคนอีกทีนึง เอาแหละ นี่ก็คือเรื่องหนึ่ง ทางสายกลาง พอแสดงทางสายกลางจบแล้ว พระพุทธเจ้า ก็ทรงแสดง อริยสัจ 4 ต่อ
[06:28] สาระสำคัญของปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็มีเนี่ยแหละ มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง และอริยสัจ 4 และความจริงทั้งสองอันนั้นก็เรื่องเดียวกัน ทางสายกลางนั้นว่าไปแล้วก็เป็นเพียงพระพุทธเจ้าตรัสยกขึ้นมา เพื่อจะนำเข้าสู่อริยสัจ พอไปตรัสในอริยสัจจริง ตัวอริยสัจเองก็มีมัชฌิมาปฏิปทารวมอยู่แล้ว ก็คือทางมีองค์แปดประการอยู่ในข้อมรรค หรืออริยสัจข้อ 4 นั่นเอง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะฉะนั้นก็คือเรื่องเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสปฐมเทศนานั่นก็รวมอยู่ในเรื่องอริยสัจ
แต่นี้สิ่งที่น่าสนใจอันหนึ่งก็คือ เรื่อง ทางสายกลาง นี่แหละ เป็นจุดปรารภ เพราะว่าสมัยนั้น คนก็เอียงสุดโต่งกันไป ดำเนินชีวิต ไปปฏิบัติกันไปสุดโต่งกันมาก พระพุทธเจ้าก็ทรงชี้ ว่าไอ้นี่ ไม่ได้แล้วมันผิด จะต้องเดินทางใหม่ให้ถูก ก็จึงได้ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา นี้ทางสายกลางนี่เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวแหละ ถ้าเข้าใจถูกต้องและเดินไปทางสายกลางก็จะบรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา เวลานี้คนก็พูดถึงทางสายกลางกันเยอะ เอามาพูดกัน เป็นกลางๆ บางทีพูดกันไปกันมา ไม่รู้ว่าเป็นกลาง คือเป็นอย่างไร ก็เลยลองมาให้คติ ความหมายกันตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ทางสายกลางเป็นอย่างไร
ทางสายกลางนี่ ขอย้ำก่อนว่า เป็นกลาง หรือทางสายกลางไม่ใช่อยู่กึ่งกลางระหว่างสองฝ่าย ถ้าอยู่กึ่งกลางระหว่างสองฝ่ายก็หมายความว่า ทางสายกลางหรือกึ่งกลาง เป็นกลางเนี่ย ขยับไป ขยับมาเพราะว่า คนที่เป็นสองฝ่ายเนี่ย มันเอียงไม่เท่ากัน เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ คนหนึ่งกินเหล้ามาก คนหนึ่งกินเหล้าน้อย เราก็เป็นกลาง เราก็กินกลางระหว่างสองคนนั้น เค้ากิน คนหนึ่งสิบแก้ว อีกคนหนึ่งสองแก้ว เราเป็นกลางเรากินเท่าไหร่ล่ะ อ้าว คิดเอาเอง นี่อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเป็นกลางแบบนี้ไม่ถูก เป็นกลางอย่างงี้ขยับเรื่อย เพราะว่า พวกสุดโต่งนี่ ขยับไป ขยับมา เลยไม่ได้หลักคนเป็นกลาง แย่กว่าเขาเลย ถ้าเป็นแบบนี้นะ ไอ้คนที่สุดโต่ง เขายังมีหลักเค้าเป็นตัวของตัวเอง แต่คนเป็นกลางนี่ต้องรอดู ว่าเขาจะเอาอย่างไร แล้วตัวเองก็ขยับไป ต้องเป็นนักคำนวณหน่อย ถ้าอย่างงี้ไม่ถูกแล้ว
ก็กลางนี่เป็นยังไง เป็นกลางต้องมีหลัก หลักพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว ความจริงมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลางเนี่ย พระพุทธเจ้าตรัสไว้อีกชื่อหนึ่ง ว่าเป็น สัมมาปฏิปทา เอาละสิ เมื่อกี้ มัชฌิมาปฏิปทา ปฏิปทาที่เป็นมัชฌิมาก็เป็นกลาง แล้วที่นี้บอกว่า สัมมาปฏิปทา ปฏิปทาที่เป็นสัมมา ก็คือปฏิปทา หรือข้อปฏิบัติที่ชอบ ชอบก็คือถูกต้อง ถูกต้องยังไงละทีนี้ เอาละนะ มีจุดมีหลักที่กำหนดแล้ว ต้องถูกต้อง ถูกต้องยังไงสัมมาปฏิปทา พระพุทธเจ้าก็ขยายอีก มีศัพท์หนึ่งที่ขยายคำนี้ บอกว่า ได้แก่ ธัมมานุธัมมปฏิปทา แปลว่า ปฏิปทา หรือข้อปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมะ มาถึงตรงนี้ละตรงละ ก็หมายความว่า ทางสายกลางก็คือ ทางที่ตรงตามธรรมะ ทางที่อยู่กับธรรมะ ดำเนินไปตามธรรมะ ถ้าเราเป็นกลางก็อยู่กับธรรมะ เป็นธรรม ธรรมะความถูกต้อง ความจริง ความถูกต้อง ดีงามเป็นอย่างไร เราเอาอันนั้น ตอนนี้แหละเราเป็นกลาง ไม่ขยับไปไหนแหละ พวกนั้นจะต้องขยับตามเรา อันนั้นเป็นกลางเนี่ยต้องเป็นกลางให้ถูก ก็คือว่า ไม่ต้องไปเข้าข้างไหน
พระพุทธเจ้าตรัส ว่าเป็นกลางเนี่ย พระองค์บอกว่า ไม่เอียง ไม่ติด ไม่ตกไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ตกไปข้างซ้าย ไม่ตกไปข้างขวา พระองค์ไม่ได้ตรัสบอกว่าอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย ข้อสำคัญมันอยู่ที่ว่า ไม่เข้าข้าง ไม่ตกเป็นฝ่าย เราก็อยู่กับธรรมะ เมื่อเราอยู่กับธรรมะแล้วนี่ ใครปฏิบัติถูกธรรมะเข้ากับเราได้เอง เรานี่เป็นหลักไปได้เลย ฉะนั้นเราจะเป็นหลักให้แก่สังคม คนที่เป็นกลางเนี่ย จะต้องหาธรรมะให้ได้ว่า ธรรมะอยู่ตรงไหน แล้วยึดธรรมะนั้น ปฏิบัติตามธรรมะ เอาธรรมะเป็นหลัก อย่างงี้ละก็เป็นกลางที่แท้จริง เป็นกลางที่ไม่เข้าใครออกใครเลย เป็นกลางตลอดกาลด้วย เพราะว่า มันอยู่อย่างงั้นแหละ ธรรมะก็กลาง ก็มันอยู่ยังเงี้ย ไอ้ใครไม่อยู่กับธรรมะ คนนั้นเอียงข้างหมด จริงไม่จริงลองดูสิ คนที่อยู่กับความถูกต้อง มันก็เป็นหลักอันเดียวแหละ ความถูกต้อง ความจริง มันมีจุดเดียว ทีนี้คนที่ไม่อยู่กับความจริง ความถูกต้อง มันก็เอียงหมด ไปข้างโน้นบ้าง ไปข้างนี้บ้าง เพราะฉะนั้นความเป็นกลางที่ถูกต้องเนี่ย กลายเป็นว่า เรามีหลักการที่ดีที่สุดแล้ว แล้วก็ยืนยงคงที่ตลอดกาลเลย เพราะฉะนั้นก็ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า
ความเป็นกลาง หรือทางสายกลางที่แท้จริงนั้น ก็คือการที่อยู่กับธรรมะ อยู่กับความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม
ทีนี้การที่จะอยู่กับธรรมะอยู่กับความจริง ความถูกต้อง ความดีงามได้นี้ เราก็จะต้อง มีอะไรหลายอย่างเลย คุณสมบัติ จะต้องเกิดมาโดยเฉพาะก็คือ ปัญญา ที่รู้เข้าใจ ถ้าไม่รู้ แล้ว ไม่มีปัญญาก็ไม่รู้ว่า อะไรคือความจริง ความถูกต้องดีงาม ธรรมะเป็นยังไง อย่างงี้ก็อยู่กับทางสายกลางไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนที่จะอยู่กับทางสายกลางจึงต้องมีปัญญา อันนี้เป็นหลักสำคัญ
[12:30] ทีนี้เมื่อเรารู้ว่าธรรมะ คืออะไร ความจริง ความถูกต้อง ความดีงามเป็นอย่างไรแล้ว เราก็ตั้งหลักให้ได้ แต่คนที่จะตั้งหลักได้ อยู่กับหลักได้ก็ต้องมีกำลังนะ ถ้าคนอ่อนแอก็ยึดหลักไม่อยู่เหมือนกัน กระแสไหลมาเดี๋ยว พัดพาไปสะอีก แล้วยิ่งเวลานี้ สังคมปัจจุบันนี้กระแส มันไหลแรงเหลือเกิน เวลานี้ปัจจุบันนี้ คนนี่ ทั้งที่บางทีรู้ว่า ธรรมะ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงามคืออะไรนี่ แต่ว่าไม่สามารถยืนหลักอยู่ได้ ตั้งหลักไม่ได้เลย โดนกระแสอะไรต่ออะไร พัดพาไป จึงเกิดปัญหาเรื่องของการเบียดเบียน แย่งชิงซึ่งกันและกัน เรื่องของอาชญากรรม ทางกาม ทางเพศ เรื่องของความรุนแรงต่างๆ แม้แต่รับน้องใหม่ เดี๋ยวนี้ยังมีรุนแรงอยู่
ทีนี้เรื่องของความรุนแรงต่างๆ เหล่านี้ มันเกิดมาจากอะไร ถ้าตอบง่ายๆ ก็ตอบว่า เกิดจากความอ่อนแอ ความรุนแรงนี่เกิดจากความอ่อนแอ เชื่อไหม เราไปคิดดูนะ ความรุนแรงเกิดจากความอ่อนแอ อ่อนแอยังไง มันยึดหลักไม่ได้ เอาหลักไม่อยู่ ตั้งหลักไม่ติด กระแสอะไรมาพัดพาไป อย่างน้อยก็กระแสความชอบใจ ไม่ชอบใจของตัวเอง พอโดนความชอบใจ ไม่ชอบใจเข้ามา ไปแล้ว ยืนหลักไม่อยู่ ทั้งๆ ที่ตัวเองเล่าเรียนอยู่ชั้นเลย ม.6 แล้ว เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว พอจะรู้อะไรดี อะไรชั่ว รู้ธรรมะอยู่บ้าง ยืนหลักไม่อยู่ เพราะก็ไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีกำลัง อันนี้สำคัญเหมือนกัน แสดงว่าปัจจุบันนี้มีปัญหามาก เรื่องความอ่อนแอ การอ่อนแอ ก็คือ ขาดกำลัง ขาดกำลังอะไร ขาดกำลัง ทีนี้กำลังมี สองอย่าง คือ กำลังนอก กำลังใน ปัจจุบันเนี่ย มันขาดทั้งกำลังนอก และกำลังใน หรือว่ากำลังเหล่านี้มันลดถอยมาก จนน่าเป็นห่วง
เพราะฉะนั้นเราต้องมาทำความเข้าใจและสร้างกำลังขึ้นไปให้มีให้ได้ ถ้าเด็กของเราเนี่ยนะ เยาวชนของเราเนี่ยเป็นคนมีกำลังดีละก็ ตัวเองก็จะยืนหลักได้มั่น เจริญก้าวหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทีเรียกว่า ทางสายกลางนี่แหละ แล้วจะพาสังคมประเทศชาติ ตั้งแต่ครอบครัวของตัวเองเนี่ย ให้ร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรืองได้ แต่ถ้าเราไม่มีกำลัง เราอ่อนแอนี่ เราถูกกระแสพัดพา แล้วยิ่งปัจจุบันเนี่ยมันกลายเป็นว่า มันมีกำลังของข้างนอกเข้ามาดึงอีก คือกระแสต่างๆ ที่เข้ามาเนี่ย เวลานี้กระแสโลกาภิวัฒน์ กระแสไอที กระแสของความรุนแรงนั่นแหละ เรื่องของกระแสนิยมบริโภค หรือบริโภคนิยม กระแสของสิ่งเสพบริโภค การโฆษณาอะไรต่างๆ กระแสไอทีอะไรต่างๆ เหล่านี้ กระแสเหล่านี้รุนแรงมาก ทีนี้กำลังภายในภายนอกของตัว ฝ่ายธรรมะนี่ อ่อนแออยู่แล้ว หรือไม่มีอยู่แล้วก็เลยไม่ไหว ไปหมด
[15:24] ฉะนั้นเวลานี้เนี่ยเราต้องการกำลังมาก เพราะว่ามันมีไอ้กำลังภายนอก ที่เป็นกระแสรุนแรงมา คอยกระตุกเราเอาไป ดึงเอาไป เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องเข้มแข็ง สู้ให้ได้ เหมือนกับท้าทาย เด็กสมัยสมัยนี้นะ ถ้าจะเป็นผู้สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมของตัวเอง เด็กสมัยนี้ต้องเข้มแข็งเป็นพิเศษ เราอยู่ในยุคสมัยที่มีกำลังนอกกระแสรุนแรงมาก เราจะต้องเก่ง สามารถสู้กับกระแสเหล่านั้นได้ อย่างเราจะเป็นปลาต้องเป็นปลาที่แข็งแรง ว่ายทวนกระแสได้ ปลาตัวไหนอ่อนแอก็ว่ายไม่ไหว ใช่ไหม ต้องแข็งแรงจริงๆ ฉะนั้นถ้าเราไม่แข็งแรงเราก็เหมือนกับปลาตาย ก็ถูกน้ำพัดพาไป และถ้าบอกว่า เราทวนกระแสได้ แต่เราไม่ต้องต้านกระแสนะ อันนี้ต้องระวัง
ทวนกระแส ไม่ใช่ต้านกระแส
ต้านกระแส นี่เราพัง เราแย่ แล้วท่านมีวิธีสอนไว้ให้บอกไว้ว่า ทวนกระแส ไม่ต้องไปต้านกระแส ทวนกระแสนี่ เราไปได้ของเราเอง เรามีความเป็นตัวของตัวเอง ถ้าไปมัวต้านกระแสนี่เราเอากำลังไปสู้เขาอยู่เสียเวลา เพราะฉะนั้นเราต้องเข้มแข็งจริงๆ จนกระทั่ง ถ้าเราทวนกระแสได้จริงๆ เรากลายเป็นผู้นำไปเลย เราต้องทวนกระแสให้เห็นว่า มันไปได้ คนที่เขาเห็นว่าเรามีกำลังดี และทางไปที่นั่นมันถูกต้องเนี่ย เค้าก็ตามสิ เราก็เป็นผู้นำได้ ฉะนั้นยุคนี้เป็นยุคที่ต้องการ เด็กและเยาวชนที่มีความเข้มแข็งมาก มีกำลังทุกอย่างทั้ง กำลังนอกและกำลังใน ทีนี้กำลังอะไรที่จะมาช่วยเรา ในท่ามกลางกระแสแห่งความรุนแรงปัจจุบันนี้ เมื่อกี้บอกแล้ว
ทีนี้ถ้าไม่มีเจ้าสี่ตัวนี่ กำลังความเพียร ความเข้มแข็งที่จะเอาชนะการศึกษาเล่าเรียน การงานของเราก็ไม่มี กำลังสติที่จะตื่นตัว ทันสถานการณ์ยับยั้งตัวเอง เหนี่ยวรั้งตัวเองก็ไม่มี กำลังสมาธิความเข้มแข็งของจิตใจที่จะให้อยู่กับสิ่งที่ทำนั้นให้แน่วแน่ เด็ดเดี่ยวลงไปก็ไม่มี กำลังปัญญาก็ไม่ค่อยมี ทำไง ตอนนี้จะต้องเชื่อมกับกำลังนอก กำลังนอกมันก็ต้องอาศัยกำลังในอันหนึ่ง ที่จะช่วย กำลังตัวนี้ก็คือ เรียกว่าที่เค้าเรียกว่า กำลังศรัทธา เราก็จะต้องมีหลักที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ อาจจะเป็นบุคคลก็ได้ บุคคลที่ท่านเป็นแบบอย่างที่ท่านประพฤติความดีงาม มีคุณธรรมความดีได้สร้างสรรค์ประเทศชาติเป็นที่เคารพนับถือ
อย่างท่านทั้งหลายมาวันนี้ เห็นแต่งตัวใส่เสื้อเหลืองไม่ถึงกับหมด แต่ก็มากทีเดียว ที่ใส่เสื้อเหลืองก็เพราะว่า ระลึกถึงในหลวง ที่ระลึกถึงในหลวงนี่ก็เพราะว่า นึกถึงคุณความดีของพระองค์ อันนี้ก็คือ ศรัทธา นั่นเอง ศรัทธา อ้าว พระองค์มีพระคุณความดี อะไรของพระองค์ เราก็ยึดเหนี่ยวเอามา มีความซาบซึ้ง มีความเลื่อมใส มีความภูมิใจ และก็มีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติตาม อันนี้เรียกว่า ศรัทธา
ผู้ที่มีหลักใจที่ยึดเหนี่ยวไว้ อย่างที่เป็นบุคคลที่เรายึดถือเป็นแบบอย่าง จะทำให้มีกำลังใจ ที่จะเหนี่ยวรั้งตัวเองไว้ ไม่ยอมไหลไปตามกระแสของความรุนแรงเป็นต้น หรือสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม แล้วพยายามทำสิ่งที่ดีงามให้ได้ สิ่งที่สร้างสรรค์ แม้จะยากก็เพียร พยายามทำ นี่ศรัทธามันทำให้มีกำลัง
[22:05] แต่ว่าสังคมเนี่ยนะ ว่ากันไปแล้วเนี่ย หลักต้องมีหลักหลายหลักมาช่วยต่อกัน ไม่ใช่มีแต่เสาหลักใหญ่อย่างเดียว ต้องมีเสาเหล็กเล็กๆ เล็กๆ ต่อกันไป ทีนี้บางคนเนี่ยมีกำลังมากๆ ก็ยึดขึ้นไปถึงเสาหลักใหญ่ได้ มีกำลังสู้กระแสต่างๆ ที่เข้ามาไว แต่บางคนยึดเกาะไว้ พอกระแสลม กระแสน้ำมาแรงทนไม่ไหวแล้ว มือที่เกาะไว้หลุด ไปแล้ว ไปตามกระแส ก็ไม่ไหว บางคนเกาะไม่ถึงเลย ไม่มีกำลังพอ แขนไม่ยาว มือไม่ถึงเกาะไม่ถึงหลักอีก เพราะฉะนั้นจึงต้องมีหลัก มีเสา เป็นลำดับๆ เรียงกันต่อๆ มาในสังคมนี้ ทีนี้สังคมเวลานี้ที่มันมีปัญหาก็คือ เสาหลักไม่ค่อยมี คือ มีเสาหลักใหญ่ บางทีก็ไปกันไม่ค่อยถึง หรือว่ายึดเหนี่ยวกันได้ไม่มีกำลังเสริม พอหลุดจากเสาหลักใหญ่ก็ไปเลย ไม่มีเสาเล็ก เสาน้อยมาช่วย ฉะนั้นต้องมีเสาเล็กๆ น้อยๆ มาช่วยอีก
เสาในสังคมนี่มีมากมาย หลักที่จะยึดเหนี่ยวไว้เนี่ย ในสังคมของเรานี่อะไร เริ่มตั้งแต่หนึ่ง พ่อแม่ คุณพ่อ คุณแม่เป็นเสา เป็นหลักสำคัญ โอ้ เรามีความซาบซึ้งในพระคุณของคุณพ่อคุณแม่ อย่างคุณพ่อคุณแม่ ระลึกถึงท่านก็เห็นคุณค่าของท่าน พระคุณความดีของท่าน ไม่ใช่เรียกแต่ คุณพ่อ คุณแม่ เฉยๆ สักแต่ว่าพูด ไม่เห็นคุณค่า คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องหมายถึง คุณค่า ของคุณพ่อคุณแม่และพระคุณความดีของคุณพ่อคุณแม่นั้น ทีนี้ถ้าระลึกขึ้นมาแล้วซาบซึ้งในพระคุณของท่าน เท่านี้แหละ ศรัทธา ความมีใจซาบซึ้ง ยึดเหนี่ยว มั่นใจในพระคุณของท่านเนี่ยะ พอจะไปทำอะไร พอจะทำไม่ดี นึกถึงว่า โอ้ไม่ได้แล้วอันนี้ เพื่อเห็นแก่คุณแม่ อันนี้ต้องงด เพื่อเห็นแก่คุณแม่ อันนี้ต้องทำ ทั้งๆ ที่ยาก เพื่อเห็นแก่คุณพ่อ อันนี้ไม่เอา เพื่อเห็นแก่คุณพ่อ อันนี้ต้องทำ นี่ก็คือเสาหลักศรัทธา ทีนี้สังคมปัจจุบันนี้ ตอนนี้หลักนี่ก็กำลังอ่อนแอ ฉะนั้นศรัทธานี่ก็ไม่มีกำลังที่จะหนุนให้ สามารถยึดไว้ได้
แล้วต่อไปในสมัยโบราณ เราก็มีคุณครู พระคุณของครูก็เช่นเดียวกัน นึกถึงคุณครูก็อยู่เหมือนกันแหละ พอนึกถึงว่าสอนไว้อย่างงี้ ไม่ได้แล้วต้องปฏิบัติตาม ไม่ยอมไปตามนั้น เอ้า นอกจากคุณครูแล้วมีอะไรอีก คุณวัด คุณวัดนึกถึง อุปัชฌาย์ อาจารย์ นอกจากพระศาสนาที่เป็นนามธรรมแล้วก็มี พระสงฆ์ ซึ่งอาจจะเป็น อุปัชฌาย์อาจารย์ อย่างคนสมัยก่อน พอนึกถึงอุปัชฌาย์ อาจารย์ ไม่ได้ท่านสอนว่านี่เราต้องเว้นสิ่งที่ชั่ว ไม่ดีต้องเว้น สิ่งที่ดีต้องทำ พอนึกถึงอุปัชฌาย์ อาจารย์ ก็เกิดกำลังใจ อย่างน้อยก็มาเป็นเครื่องยับยั้งชั่งใจตัวเอง ให้เว้นจากความชั่วได้ นึกถึงอุปัชฌาย์ อาจารย์ นึกถึงพระสงฆ์ แล้วก็ต่อไปนอกจากวัด แล้วก็มีอีกวัดหนึ่ง นอกจากวัดวาอาราม ก็คือ วัฒนธรรม วัฒนธรรมก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวที่สำคัญ คนที่มีจิตใจซาบซึ้ง ยินดี ภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง ก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้มีกำลัง ในการที่จะ เว้นไปจากทางที่จะเสียหาย และก้าวไปในทางที่ดีงาม สร้างสรรค์ได้
ทีนี้ปัจจุบันเนี่ย ที่มันน่ากลัวก็คือ กำลังนอกเหล่านี้ที่จะมาช่วย โยงกับกำลังภายในเนี่ย มันอ่อนไปหมด กำลังพระคุณแม่ ก็ดูจะอ่อนไป กำลังพระคุณครูก็อ่อน กำลังของวัดก็อ่อน เมื่อเช้านี้ ได้ยินวิทยุบอกว่าเด็ก จำนวนในสำรวจ เค้าทำโพลกันรึไงก็ไม่รู้ บอกว่าไม่อยากไปวัด เพราะเดี๋ยวนี้ ข่าวพระประพฤติไม่ดีเยอะว่างั้นนะ อันนี้ก็กำลังอ่อนลงไป แต่เราต้องทำใจให้ถูก ความจริงเราอยู่ร่วมกันในสังคมแบบนี้ เรารับกระแสเดียวกันไม่ว่าพระ ว่าโยม เราจะต้องเข้าใจ คือเรายอมรับความจริง เอาละ พระไม่ดี เสื่อม ก็ไม่ดีละ แต่ทีนี่พร้อมอีกขั้นหนึ่ง เราอย่าอยู่แค่ขั้นเดียว ต้องนึกอีกชั้นใช้ปัญญาพิจารณาว่า อ๋อเรา ร่วมชะตากรรมเดียวกันในสังคมนี้ ที่มันมีกระแสของความร้ายที่เข้ามามากมาย ไอ้กระแสร้ายนี่มันกระทบกระแทกหมดทุกส่วนของสังคมละ รวมทั้งพระด้วย พระหลายองค์ตกเป็นเหยื่อของกระแสร้ายนั้นด้วย เพราะฉะนั้นต้องนึกว่าพระเหล่านั้น ก็คือ ตัวเหยื่อ ไม่มีกำลังเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าพระเหล่านั้นจะมีกำลัง ไม่ใช่พระทั้งหลายจะมีกำลังไป พระอ่อนแอก็มีเยอะ เพราะฉะนั้นเราเอง เราก็ต้องมีกำลังเข้มแข็ง เราจะมัวไปนึกว่า คนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดีแล้วเราหมดแรง ใช้ไม่ได้ พระศาสนาก็เป็นของส่วนรวมของทุกคน ไม่ใช่ของพระองค์นั้น ฉะนั้นมันเรื่องของเราเองนี่ เราจะต้องมาสร้างสรรค์ รักษาพระศาสนาของเรา เรื่องไปวัดก็เป็นเรื่องของเรา พระองค์นั้นไม่ดีก็ขับออกจากวัดไป ก็เราก็ไปอยู่วัดแทนสิ ก็หมดเรื่องไป ทำไมไม่คิดอย่างงั้นก็ไม่รู้ องค์หนึ่งหนีออกจากวัด อีกคนก็เลยหนีไปด้วย อย่างงี้ก็เรียกว่า ผิด
[27:24] เอาละทีนี้ก็ตกลงว่ามีกำลังเหล่านี้ ถ้าสังคมไทยมีกำลังเหล่านี้ไว้พร้อมอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องจับจุดให้ถูก เวลานี้สังคมไทยเนี่ยมีปัญหาเรื่อง ขาดกำลัง แล้วก็มีความอ่อนแอ เด็กเยาวชนของเรารวมทั้งผู้ใหญ่ด้วยก็อ่อนแอ ขาดกำลังภายใน แล้วมาดูกำลังภายนอกก็ไม่ค่อยมีอีก ก็เลยกลายเป็นสังคมที่โลเลๆ โคลงเคลงๆ แล้วพอกระแสข้างนอกแรงก็เลยพัดพาไป เมื่อเรารู้ตระหนักอย่างนี้แล้ว เราต้องรีบตั้งตัวขึ้นมา เราอย่ามัวยอมแก่ความอ่อนแอนั้น ต้องเพียรพยายามที่จะสร้างกำลังขึ้นมาให้ได้ อย่างน้อยที่มันเห็นชัดก็คือ กำลังภายนอกเนี่ย ต้องเพียรพยายามสร้างให้ได้ ท่านผู้อยู่ในวงการการศึกษานี่แน่นอน ต้องรับผิดชอบเป็นพิเศษ ตัวคุณครูเอง ก็เป็นผู้ที่ ต้องสร้างพลัง ขึ้นมาเป็นกำลังหลักของสังคมเลย กำลังที่สร้างสรรค์ อนาคตในบัดนี้และเบื้องหน้าตลอดเลย ฉะนั้นตัวท่านสร้างตัวเองเข้มแข็งเป็นกำลัง แล้วเด็กก็มายึดเหนี่ยวครูเป็นกำลัง แล้วเขาก็จะได้กำลังขึ้นมา แล้วเขาก็เกิดกำลังของเขา แล้วก็ย้อนกลับไป ไปช่วยสร้างกำลังในครอบครัว ในบ้านให้ได้
กำลังที่ใหญ่ที่สุดก็คือกำลังคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัวเนี่ย ถ้าสร้างไม่ได้ สังคมนี้ยากที่จะฟื้น เวลานี้แย่มากแล้วนะ เมื่อสองวันนี้ได้ยินวิทยุ ได้เห็นข่าว หลวงลุงก็เอาไปให้ดู ก็มีข่าวว่า เด็กเล็กๆ แกก็หวังดีต่อคุณพ่อละ ไม่อยากให้คุณพ่อกินเหล้า คุณพ่อกินเหล้า แล้วก็ แหม ปัญหาอะไรต่ออะไรเยอะแยะ เด็กก็พลอยเป็นทุกข์ ครอบครัวก็พลอยไม่มีความสุข เด็กแกก็เลยด้วยความรักพ่อ และก็รักครอบครัว ตามที่แกก็ไม่ประสีประสาอะไร แต่ว่าจิตใจแกดี แกก็เลยไปซ่อนกระเป๋าสตางค์ของพ่อสะ เพื่อจะได้ไม่ไปซื้อเหล้ากิน พ่อรู้ว่าลูกเอาเงินไปซ่อน โกรธมาก แทนที่จะใช้โยนิโสมนสิการ พิจารณาว่า เนี่ยลูกเขา นึกถึงเราว่าเราทำอย่างงี้ไม่ดี แทนที่จะมานึกถึงว่าลูกเขารักเรา แล้วลูกเขามีความปรารถนาดี และก็เราทำอย่างงี้นะ น่าจะสำนึกว่า ทำให้ลูกก็เดือดร้อน ครอบครัวก็เดือดร้อน ละเลิกซะสิ แทนที่จะเข้าใจ เห็นใจลูก เกิดความซาบซึ้งในความดีของลูก อะไรเกิด ความคิดกลับตัว ไม่อย่างงั้น โกรธลูกเต็มที่เลย ขออภัยในหนังสือพิมพ์เขาใช้คำว่า กระทืบลูกเลย อย่างงี้มันก็หมดละสิ ใช่ไหม เจริญพร มันก็ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวศรัทธา มันก็เกิดยาก ลูกนั่นเค้ามีศรัทธาอยู่แล้ว แต่ว่าพ่อ แม่ทำให้เสียศรัทธานั้น หรือคุณครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน เรื่องของพลังในสังคม เพราะฉะนั้นที่เด็กมีปัญหาต่างๆ ความรุนแรงในทางเพศ ความรุนแรงในการใช้กำลังร่างกายทุบตีกัน อะไรต่างๆ เหล่านี้มันมาจากความอ่อนแอทั้งกำลังภายนอกกำลังภายในมันไม่มี เพราะฉะนั้น สังคมจะต้องรีบสร้างกำลังเหล่านี้ขึ้นมาให้ได้ แล้วความหวังของเราก็มี ถ้าจับจุดให้ถูก นี้เราจะไปมัวหวังจากข้างนอกไม่ได้
เวลานี้เรามักจะเป็นแค่ไหลไปตามกระแส กระแสโลกาภิวัฒน์ กระแสบริโภคนิยม ไหลมาอย่างไง ก็คอยตื่นคอยมองเพื่อจะให้ทันต่อกระแสนี้ ว่าเรานี้ทันสมัย เรานี้เป็นคนที่อะไรนำหน้า ล้ำหน้า อะไรก็แล้วแต่ โก้ไปในทำนองนั้น มันไม่มีกำลังอะไร มันเป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอเท่านั้น คนที่ไหลไปตามกระแส พูดได้นั้นก็ พูดได้เต็มปากว่าเป็นคนอ่อนแอ อย่าเป็นคนอ่อนแอเลย จงเป็นคนที่มีความเข้มแข็ง สร้างกำลังกันขึ้นมาตั้งหลักให้ได้ แล้วก็ใช้ปัญญาคิดพิจารณาอะไร ความจริง ความถูกต้อง ดีงาม อะไรเป็นทางแห่งความเจริญ ความมั่นคง ความสุขที่แท้จริง เริ่มจากในครอบครัวของเราเนี่ย ยึดกันไว้ให้ได้เลย คุณพ่อ คุณแม่กับลูกเนี่ย ถ้ายึดกันไว้ให้ได้ละก็ ครอบครัวนั้นก็ตั้งหลักได้ เข้มแข็ง มีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วนะ เพื่อส่งผลถึง สังคม ประเทศชาติ
[31:43] ฉะนั้นวันนี้ก็ขอฝากไว้ว่าทางสายกลางเนี่ย มันมีความหมาย โยงมาถึงชีวิตของทุกคนและก็ในครอบครัว ขยายไปถึงโรงเรียน สังคม ประเทศชาติทั้งหมด เราจะต้องมาช่วยกัน สร้างสรรค์ กำลังนี้ขึ้นมาให้ได้ และพระพุทธเจ้าที่ เที่ยวโปรด เวไนยนิกร เสด็จไปในที่ต่างๆ ทรงไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเนี่ย จารึกด้วยพระบาทเปล่า ไปทั้งวันทั้งคืนเลย เรียกว่า แทบจะไม่ได้พักเลย พระองค์ก็ไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทำไมทำได้ ก็ไปด้วยพระองค์มีกำลังภายในใช่ไหม กำลังภายใน ถ้าไม่มีกำลังภายใน คนนั้นน่ะ ถ้าคนอ่อนแอน่ะ กำลังภายในแกไม่มี กำลังที่จะยึดแกไว้กับธรรมะไม่มีแล้ว ใจแกอ่อนแอ แกไหวไปตามความชอบใจ ไม่ชอบใจ แกมีกำลังกาย แกก็เลยใช้กำลังกายที่แข็งแรงนั้นไปทำความรุนแรงภายนอก เพราะฉะนั้นกำลังกายที่มีกับคนที่ขาดกำลังที่แท้จริงนี่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง คนอ่อนแอในจิตใจก็เอากำลังกายที่มีนี่ไปทำร้าย เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ก็เกิดปัญหาทั้งแก่ชีวิตแก่สังคม พอเด็กไปทำอย่างงั้น คุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มเป็นผู้เดือดร้อนรายแรก ต่อไปก็สังคมก็เดือดร้อนไปหมด เพราะฉะนั้น เราก็มาช่วยกัน สังคมนี้จะดีงาม ร่มเย็นเป็นสุข มาปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าซะ ช่วยกันอยู่ในทางสายกลางที่ถูกต้อง
วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชาเป็นวันแห่งทางสายกลาง ทางสายกลางก็คือ ทางที่ถูกต้อง ทางปฏิบัติที่อยู่กับธรรมะ ดำเนินไปตามธรรมะ ท่านทั้งหลายมาเป็นพุทธศาสนิกชน เราก็มุ่งอยู่ที่ธรรมะนั่นเอง พระธรรมนี้เป็นพระรัตนตรัยในข้อที่สองที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ แล้วก็ทำให้พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเป็นมนุษย์คนหนึ่งนั้นท่านกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้ แล้วก็ทำให้เกิดสังฆะ แล้วสังฆะก็ช่วยกัน นำเอา ธรรมะนี้สืบต่อกันมาถึงเรา และก็เป็นกัลยาณมิตรที่จะช่วยให้เราเนี่ยได้เข้าถึงธรรม เดินไปกับท่านด้วย ฉะนั้นเราทั้งหลายเนี่ย จะต้องเอาธรรมะนี้ มาใช้ประโยชน์ให้ได้ แล้วก็เอาธรรมะนี้มาทำให้ชีวิตของเรา สังคม ครอบครัวของเรา ประเทศชาติ บ้านเมืองของเรา แม้แต่โลกของเราเนี่ย เจริญงอกงาม ร่มเย็น เป็นสุขให้ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นต่อกำลังของเราที่จะทำให้เกิด ให้มี ขึ้นมา อย่างที่ว่าไปแล้ว
[34:23] เป็นอันว่า มีกำลังสองอย่าง กำลังนอก กำลังใน ไปทวนเอาเอง กำลังนอกก็มีทั้ง กำลังคุณพ่อคุณแม่ กำลังครูอาจารย์ กำลังของวัด อุปัชฌาย์ อาจารย์ พระสงฆ์ กำลังของวัฒนธรรมที่เราสืบต่อรักษากันมาด้วยดี ที่ต้องรู้จักพัฒนาให้ดีด้วย แล้วก็มาถึงกำลังประเทศชาติที่มีองค์พระประมุขเป็นหลักให้ ก็ทั้งหมดแหละ อะไรที่ดีๆ ที่เป็นหลักยึดเหนี่ยวกันไว้ ในระดับประเทศชาตินี่ก็สำคัญ ก็ต้องมีหลัก ถ้าขาดหลักสะ ประชาชนก็ง่อนแง่น คลอนแคลน ขาดความมั่นใจ ความผาสุข ร่มเย็นก็จะหายไป ถ้าหากว่าองค์พระประมุขเป็นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมิกราชแล้ว ประชาชนก็อยู่ร่มเย็นเป็นสุข อย่างน้อยก็มีความภาคภูมิใจ จิตใจก็มีความมั่นคง มีความมั่นใจและก็มีความมั่นคงภายนอกด้วย
แล้วอย่างที่ว่าก็ โยงเข้าไปหากำลังภายใน ก็มีศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเป็นกำลังนอก แล้วก็มีความเพียร พยายามใจสู้ ไม่ย่อท้อ ไม่หวั่นไหว ไม่ยอมแพ้แก่อุปสรรคและสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย เพียรก้าวหน้า ในการสร้างสรรค์และทำความดี แล้วก็กำลังสติ เหนี่ยวรั้งตนเอง ตรวจตราทันเหตุการณ์ อะไรที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม ละมันเสีย อะไรที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความสุข ความเจริญก็สร้างมันขึ้นมา แล้วก็กำลังสมาธิ จิตใจที่แน่วแน่ อยู่กับสิ่งที่ดีงามนั้น หน้าที่ของเราและก็กำลังปัญญานั้น วันนี้ก็ขอเอาเรื่องกำลังมา เพื่อให้ท่านทั้งหลายอยู่กับธรรมะแล้วก็อยู่กับทางสายกลาง ปฏิบัติดำเนินไปในในวิถีของพระพุทธเจ้าให้ได้ เพื่อจะบรรลุผล ก็คือ ความร่มเย็นเป็นสุขที่เรียกว่า ประโยชน์สุขทั้งแก่ชีวิต แก่ครอบครัว สังคม ประเทศชาติสืบต่อไป
ก็ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทั้งหลาย ซึ่ง ท่านทั้งหลายที่มาวันนี้ ก็มาด้วยกำลัง กำลังศรัทธาเป็นอย่างน้อย ศรัทธาทำให้ท่านทั้งหลายมีกำลังใจ ลองไม่มีศรัทธาแล้ว โยมก็หมดแรง ไม่มาวันนี้ ศรัทธานี่เห็นง่าย ทำให้โยมมีแรงมาทำบุญทำกุศลกัน เราต้องสร้างกำลังต่างๆ ให้พร้อม ท่านเรียกว่าพละ5 ไม่ใช่มีแค่ศรัทธาอย่างเดียวต้องก้าวไป ไม่ใช่หยุดอยู่ ไม่ใช่ว่าได้ทำบุญ ปีไหนๆ ก็ได้ทำบุญแล้วก็อยู่แค่นั้น แต่ต้องก้าวไปในบุญ ทำบุญให้เจริญเพิ่มพูนขึ้นมา เราก็ก้าวไปในศรัทธา เราก็ก้าวไปในวิริยะ ความเพียร ในสติ ในสมาธิ และปัญญา ให้ได้ แล้วก็จะได้ประสพผลสำเร็จดังที่กล่าวมา