แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพรท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ท่านประท่านมูลนิธิสาโรช ศิริ บัวศรี พร้อมทั้งท่านผู้บริหารท่านอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒทุกท่าน อาตมาภาพขออนุโมทนาในน้ำใจที่มีต่ออาตมาภาพที่ทุกท่านได้มีเมตตาธรรมเดินทางมายังวัดญาณเวศกวัน ได้นำรางวัลสาโรชปราชญ์ผู้ทรงศีลมามอบถวายแก่อาตมาภาพในวันนี้ การถวายรางวัลนี้มองในแง่ที่เกี่ยวข้องกับอาตมาภาพขออนุโมทนา แต่ที่จริงมองกว้างออกไปซึ่งเป็นความจริงแท้ก็คือ การที่ทางมหาวิทยาลัย และทางมูลนิธิ มีกุศลเจตนาความปรารถนาดีต่อสังคมมนุษย์ทั้งหมดนั่นเองคือ การที่ได้ตั้งรางวัลนี้ขึ้นมานั้นเจตนาที่แท้ก็คงจะมุ่งเพื่อจะส่งเสริมการศึกษา ซึ่งตั้งขึ้นในตัวบุคคลที่มีความรู้ที่เราเรียกว่าเป็นนักปราชญ์ และมีคุณธรรม หรือมีความมีศีลมีธรรม ซึ่งเป็นการส่งเสริมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม หมายความว่ามุ่งเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์นั่นเอง เจตนานี้ถ้ามองลึกลงไปก็ไปอยู่ที่ผู้ทำงานนี้ที่ตั้งรางวัลขึ้นได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒซึ่งนอกจากมีเจตนามุ่งเพื่อจะส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมประโยชน์สุขแก่ประชาชนแล้ว ก็หมายถึงความมีกตัญญูกตเวทิตาธรรม คือความมีน้ำใจระลึกถึงพระคุณของท่านผู้เป็นบุพการีของมหาวิทยาลัย ได้แก่ ท่านอาจารย์ดอกเตอร์ สาโรช บัวศรี ก็หวังจะเชิดชูคุณความดีของท่านทั้งในฐานะที่เป็นผู้ที่ได้นำกิจการของมหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้ามาตั้งแต่สมัยที่เป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา แล้วก็ทำให้มีความรุ่งเรืองทำประโยชน์สุขให้แก่สังคมประเทศชาติสืบมา ตัวท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี เองก็เป็นผู้ที่ทรงภูมิธรรมภูมิปัญญามีความรู้เราเรียกกันว่าเป็นนักปราชญ์ และท่านก็เป็นผู้มีความประพฤติดีงามก็เรียกว่าเป็นผู้ทรงศีล เพราะฉะนั้นตัวแกนของเรื่องในวันนี้ที่แท้จริงก็คือ คุณธรรม และกุศลเจตนาของทางมหาวิทยาลัยนั่นเอง
ว่าถึงท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี อาตมาภาพก็ได้รู้จักกับท่านมานานแล้ว คิดย้อนหลังทวนความจำไปเมื่อประมาณสามสิบปีก่อนโน้น เมื่อครั้งที่อาตมาภาพยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยลงกรณราชวิทยาลัย ก็ได้เคยใช้หนังสือเล่มหนึ่งที่ท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี เป็นผู้แต่งขึ้น มาใช้สำหรับเป็นหนังสือเรียนในชั้นเรียนในวิชาธรรมะภาคภาษาอังกฤษ หนังสือเล่มนั้นก็คือหนังสือทีชื่อว่า Buddhism Philosophy of Education ซึ่งท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี ได้นำความรู้ในวิชาการศึกษาสมัยใหม่มาโยงประสานเข้ากับความรู้ทางพระพุทธศาสนา ทางพระก็เห็นว่างานนี้ก็มีประโยชน์เป็นความคิดริเริ่มที่สำคัญ อาตมาภาพก็ได้ใช้สอนที่มหาวิทยาลัยลงกรณราชวิทยาลัยในช่วงที่กล่าวแล้วคือเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี อาตมาภาพคิดว่าคงจำไม่ผิด ท่านเป็นผู้ริเริ่มวิธีการสอนแบบอริยสัจขึ้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงมาถึงพระพุทธศาสนา ถ้าย้อนหลังไปก็คือตั้งแต่ระยะ พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่อาตมาภาพยังเล่าเรียนอยู่ เวลานั้นวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นแหล่งสำคัญที่ได้เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในด้านการศึกษา มีการพูดถึง Progressive education การศึกษาแบบก้าวหน้าซึ่งมีคำสำคัญคือคำว่า Child center education การศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง แล้วที่สังคมไทยกำลังตื่นกันอยู่ในปัจจุบันซึ่งก็เป็นทัศนะที่มีมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว รวมทั้งการพูดถึงเรื่องพัฒนาการสี่ด้าน ทางกาย ทางจิตใจ ทางพันธะทางอารมณ์ และทางสังคม หรืออาจจะพูดว่าพัฒนาการทางกาย ทางปัญญา ทางอารมณ์ และทางสังคม ซึ่งก็เป็นศัพท์ที่ยังใช้กันอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ แนวคิดนี้สำคัญมีบุคคลที่เป็นแกนซึ่งเราพูดกันก็เป็นนักปราชญ์ชาวอเมริกันก็คือ John Dewey ซึ่งท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี ดูเหมือนจะชอบพูดว่า John Dew ก็คงจำกันได้ดี อันนี้เป็นเรื่องเก่าแต่ว่าเป็นเรื่องที่แสดงถึงบทบาทความสำคัญของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในอดีตตั้งแต่ครั้งยังเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา และโดยเฉพาะก็คือบทบาทของท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี นั่นเอง ท่านจึงเป็นบุพการีของมหาวิทยาลัย ทั้งในฐานะผู้บริหาร แล้วก็ผู้นำความคิดการศึกษา บุพการีก็คือ ผู้ที่ทำประโยชน์ทำคุณความดีไว้ก่อน หรือแม้แต่เป็นผู้ออกหน้าในการทำความดี หรือสร้างสรรค์ประโยชน์นั้น เราเรียกว่าบุพการี ในฐานะที่เป็นบุพการีสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัย นอกจากมหาวิทยาลัยจะระลึกถึงคุณงามความดีสิ่งที่ทำไว้ที่เป็นประโยชน์แล้ว ก็คือการที่ว่าจะนำเอาความคิดของท่านมาสื่อออกไปให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นด้วย เราจะเห็นว่ายุคแรกนั้นท่านอาจารย์สาโรช บัวศรี ที่นำความคิดทางการศึกษามาเผยแพร่นั้น แน่นอนว่าในยุคสมัยปัจจุบันก็เป็นแนวคิดแบบตะวันตก วิชาการศึกษาอย่างที่เข้าใจกันอยู่ปัจจุบันนี้ก็เป็นวิชาการอย่างหนึ่งที่มาจากประเทศตะวันตก แต่เราก็ได้เห็นชัดเจนว่าท่านอาจารย์สาโรช บัวศรี ไม่ได้ติดอยู่กับแนวคิดตะวันตกเท่านั้น ท่านได้คิดค้นของท่านมา แล้วท่านก็ได้มาเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา ได้เห็นสิ่งที่ว่าพระพุทธศาสนาจะมีส่วนร่วมในการที่จะพัฒนาแนวคิดทางการศึกษา ต่อมาท่านก็ได้มาค้นคว้าทางพระพุทธศาสนามากขึ้น อย่างที่อาตมาภาพได้กล่าวแล้วถึงกับท่านได้แต่งหนังสือที่ว่า Buddhism Philosophy of Education ขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากจะเป็นการที่ท่านได้เชื่อมโยงแนวคิดสมัยใหม่ที่มาจากอารยธรรมตะวันตกเข้ากับพื้นฐานของวัฒนธรรมไทยแล้วก็มรดกที่สืบมาในสังคมไทยคือ พระพุทธศาสนาแล้ว ท่านก็ยังจะนำเอาของดีของตะวันออกนี้ไปสื่อสารให้แก่ทางฝ่ายตะวันตกด้วย แต่ว่าก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดกันว่าสิ่งที่ท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี ได้ทำไว้นี้มาถึงปัจจุบันได้เจริญงอกงามไปเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่าการพยายามสื่อ หรือนำเอาแนวคิดทางพระพุทธศาสนา หรือแนวคิดตะวันออกนี้ออกไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในสังคมปัจจุบันนี้ดูจะไม่ค่อยจะแพร่หลายเท่าที่ควร อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะพิจารณาในแง่ที่ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ไม่เฉพาะท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี เท่านั้น แม้ท่านอื่นๆ ที่พยายามทำมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้งานในประเภทนี้ก็ยังไม่แพร่หลายกว้างขวางกลับกลายเป็นว่าเวลานี้ความสนใจในเรื่องตะวันออก หรือเรื่องพระพุทธศาสนากลับสะท้อนมาจากสังคมตะวันตกได้มาก เวลาฝรั่ง เช่น ในอเมริกานี้เขาสนใจในเรื่องพระพุทธศาสนาขึ้นมาแล้วเสียงก็กลับสะท้อนเข้ามาที่เมืองไทย สิ่งที่คนไทยเราทำออกไปจากถิ่นของเรานี้กลับแพร่หลายน้อยกว่า ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องมาช่วยกันคิดว่าเป็นเพราะอะไร เหตุปัจจัยอันหนึ่งก็คิดว่าน่าจะเป็นเพราะว่าคนของเราในถิ่นของเราเองนี่ได้เหินห่างแปลกแยกออกไปจากพื้นฐานรากเหง้าของตนเอง เช่น เรื่องวัฒนธรรม การที่จะนำเอาแนวคิดภูมิปัญญาต่างๆ ที่มีอยู่ออกไปสื่อสารนั้นสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้งานเดินหน้าไปด้วยดีก็คือ ต้องมีพื้นฐานช่วย พื้นฐานที่รองรับอันนี้ก็คือ บรรยากาศแวดล้อมปัจจัยต่างๆ ที่จะช่วยเกื้อหนุนก็ได้แก่ วัฒนธรรม ในเมื่อตัวเราเหินห่าง หรือแม้จะแปลกแยกออกไปจากวัฒนธรรมของตนเองแล้ว สิ่งที่นำมาสื่ออย่างหลักการพระพุทธศาสนาก็กลายเป็นเหมือนของใหม่ หรือของแปลก ไม่ชัดเจน เพราะนั้นวัฒนธรรมที่รองรับเป็นฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญ
คนไทยเรามีความแปลกแยกเหินห่างจากวัฒนธรรมของตัวเองไปมาก ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกัน เราก็มีทัศนคติที่ไม่สู้ดีด้วยเกี่ยวกับวัฒนธรรมของตนเอง คือไม่เฉพาะไม่รู้เท่านั้น แม้แต่ทัศนคติ เจตคติ ก็ไม่ค่อยดี มองในทางที่ไม่ภูมิใจ เป็นต้น ซึ่งไม่เกื้อหนุนในการที่จะทำให้งานเหล่านี้สำเร็จผลได้ ไม่เฉพาะความแปลกแยกจากวัฒนธรรมเท่านั้น เราแปลกแยกจากอารยธรรมตะวันออกทั้งหมดเลย คือมองกว้างออกไป ถ้ามองที่เมืองไทยเราก็แปลกแยกจากวัฒนธรรมไทย แปลกแยกจากวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา กว้างออกไปเราแปลกแยกจากอารยธรรมตะวันออกทั้งหมด ถ้าเรายังมีพื้นฐานที่เชื่อมโยงกันดี ก็จะทำให้เรารู้สึกอย่างน้อยมีความคุ้น พูดอะไรขึ้นมาก็จะสานต่อโยงเข้ามาสู่ตนเองแล้วก็สืบค้นอะไรต่างๆ ได้ง่าย ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลานี้เราอาจจะได้ยินอย่างพูดถึงประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซีย ชื่อว่า เราจะอ่านว่าอย่างไร เราก็คงอ่านตามฝรั่งที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งก็เรียกเพี้ยนไป จะเรียกอเมริกาว่า ตรีปูการ์โนบุตรี หรืออะไรก็แล้วแต่ก็คือ นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี (Megawati Soekarnoputri) บุตรตรีนั่นก็ชัดอยู่แล้วก็คือบุตรลูกสาว ซึ่งอินโดนีเซียก็คือ อาณาจักรศรีวิชัยสมัยโบราณซึ่งวัฒนธรรมของพุทธศาสนา และวัฒนธรรมตะวันออกก็ยังอยู่เบื้องหลังเป็นภูมิหลังที่ลึกซึ้งแม้แต่คำทักทายประจำวันก็ยังเป็นคำที่มาจากบาลีสันสกฤตในปัจจุบัน แม้ว่าประเทศนี้ประชาชนจะได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามแล้วก็ตาม หรือว่ามองไปประเทศใกล้เข้ามาอีกอย่างศรีลังกา เราก็จะได้ยินชื่อประธานาธิบดีต่างๆ หลายยุคหลายสมัยอ่านตามภาษาอังกฤษ เสนานายาเก บ้างก็คือ เสนานายก หรืออย่าง ไชยวาร์เดเน พออ่านภาษาอังกฤษดูโยงเข้ากับการเขียนอักษรโรมันเป็นภาษาบาลีสันสกฤตก็คือ ท่านไชยวัฒนะ นั่นเอง หรือ เปรมาดาซ่า ก็คือ เปรมทาส นี่เอง จนกระทั่งมาท่านปัจจุบันนี้ก็คือ ท่านจันทริกา กุมาระตุงคะ ซึ่งก็เป็นภาษาบาลีแทบทั้งหมด จันทริกา ก็เป็นภาษาคำที่คุ้นๆ เรา กุมาระ ก็คุณผู้ชาย ก็เป็นนามสกุลของท่านไม่ทราบว่าตั้งมาแต่เมื่อไร ตุงคะ ตุงคะ ก็แปลว่าโดดเด่น ก็เป็นภาษาบาลี เช่นในคำว่า ตุงคะนาสิก แปลว่าจมูกโด่ง หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็น ตุงคะนาสิกา ผู้มีจมูกโด่ง เป็นต้น หรือแม้แต่สิงคโปร์ก็คือ สิงหปุระ เมืองสิงห์บุรี อะไรทำนองนี้ หรือเราได้ยินเรื่องอัฟกานิสถานในปัจจุบันพูดถึงเมืองกันดาฮาร์ ถ้าเราเชื่อมโยงไปหน่อยประวัติศาสตร์ก็แคว้นคันธาระนี่เอง คันธาระก็เป็นดินแดนที่อยู่ในชมพูทวีปสมัยโบราณ เพราะว่าอัฟกานิสถานนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีป ซึ่งประกอบด้วยแคว้นคันธาระเหนือขึ้นไปก็คือ แคว้นโยนกที่มีการรบราฆ่าฟันชิงเมืองมาซารี ชารีฟ (Mazar-i-Shhai) มาซารี ชารีฟ ก็คือเมืองที่แทบจะเป็นเมืองหลวงเก่าของแค้วนโยนกนั่นเอง แล้วแคว้นโยนกนี้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ก็ได้มาตีได้เมืองกันดาฮาร์เป็นผู้ตั้งเมืองนี้ชื่อว่าเมืองอเล็กซานเดรียในอดีต แล้วพระเจ้าจันทรคุปต์ ปู่ของพระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้มาตีเอาเมืองกันดาฮาร์ คันธาระนี้จากพระเจ้าเซลิวคัสซึ่งเป็นแม่ทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่ได้ครองดินแดนแคว้นโยนก หรือแค้วนแบกเตรีย(Bactria)นั้น อันนี้เมื่อถึงพระเจ้าสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็ถึงกับได้มาทำศิลาจารึกไว้ที่เมืองกันดาฮาร์ หรือคันธาระนี้ ไม่ทราบว่าพวกตาลีบันได้ทำลายศิลาจารึกนี้ลงไปหรือเปล่า ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่แคว้นคันธาระนี้ก็จารึกเป็นภาษากรีซด้วยซ้ำไป ซึ่งทำให้ฝรั่งได้สามารถเชื่อมโยงอารยธรรมของตนเองกับประวัติศาสตร์ของทางตะวันออก ทำให้สามารถกำหนดเรื่องกาลเวลายุคสมัย เป็นต้น
นี้ถ้าเรามอง และได้ยินได้ฟังข่าวสารเหล่านี้ด้วยการที่เรารู้ความหลังภูมิหลังของตนเองก็จะทำให้เกิดความรู้สึกที่มีตัวเองเข้าไปส่วนร่วม แล้วก็มีความเข้าใจได้ง่าย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ชาวไทยเรา รวมทั้งชาวตะวันออกจำนวนมากแปลกแยกจากวัฒนธรรมของตนเอง แปลกแยกจากอารยธรรมตะวันออกไป ก็เป็นเรื่องที่ว่าทำอย่างไรเราจะสามารถที่จะเชื่อมประสานขึ้นมาซึ่งวัฒนธรรมนั้นจะเป็นบรรยากาศรองรับที่จะช่วยให้ภูมิทางปัญญามีทางที่จะสื่อออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น สมัยที่เรายังมีวัฒนธรรมเป็นเนื้อเป็นตัวเป็นบรรยากาศแวดล้อมอยู่ เราจะมีความคุ้นเคยสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย บางทีเราไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็ไม่เป็นไรเพราะว่าเนื้อตัวชีวิตของเราอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอย่างนั้น แต่ในสมัยที่เราเหินห่างแปลกแยกออกไปจากวัฒนธรรมของตัวเองแล้ว สิ่งที่จะมาช่วยให้เราเชื่อมโยงตัวเข้ากับภูมิหลังพื้นฐานรากเหง้าของตนเอง ก็คงจะต้องลงลึกไปอีกก็คือประวัติศาสตร์ ถ้าวัฒนธรรมไม่ช่วยแล้วก็ต้องไปอาศัยประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ก็จะมาช่วยทำให้วัฒนธรรมนี้ฟื้นตัวได้ เพราะนั้นตอนนี้คงจะต้องอาศัยประวัติศาสตร์เป็นสำคัญ ประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้จักตัวเองเพิ่มขึ้น พอรู้จักตัวเองแล้ววัฒนธรรมก็จะมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ เวลานี้เราอยากจะให้วัฒนธรรมฟื้นตัวแต่ถ้าเราไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์คงจะฟื้นได้ยาก เพราะว่ามันเหินห่างออกไปทั้งความรู้ความคิดแล้วก็ท่าทีทัศนคติ เจตคติต่างๆ แล้ว โดยเฉพาะเวลานี้ก็เป็นยุคที่เราควรจะได้อาศัยประโยชน์จากความรู้ต่างๆ บ้างเพราะว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูล ข่าวสารข้อมูลก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงเพราะว่า จากข่าวสารข้อมูล หรือข้อรู้นี้เราก็มาสร้างความรู้ หรือปัญญาขึ้นมา ยุคของข่าวสารข้อมูลนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ท้าทายต่อการศึกษาเพราะเป็นงานของการศึกษาโดยตรงเลยว่าเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลได้เพียงใด ข้อมูลข่าวสารเวลานี้ก็เผยแพร่มากมายจนท่วมท้น แต่ปัญหาว่าคนเรารู้จักใช้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลหรือไม่ สังคมไทยเราก็เป็นสังคมหนึ่งที่จะต้องคิดเรื่องนี้มากว่าเรานี้ใช้ข่าวสารข้อมูลอย่างไร ดูเหมือนว่าคนจำนวนมากนี้เป็นแบบเตลิดไปกับข่าวสารข้อมูล มีข่าวสารอย่างโน้นอย่างนี้ก็เตลิดไปไม่มีหลักจับอะไรไม่ได้นี่ก็พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งก็คือมัวเมาหลงไปเลยหลงจมข่าวสารข้อมูลที่จะเกี่ยวข้องก็เป็นประเภทที่เกี่ยวกับการบันเทิงสนุกสนาน วัฒนธรรมการบันเทิงก็แพร่หลายไปมากซึ่งเราก็รู้กันดีว่าวัฒนธรรมบันเทิงนี้เป็นวัฒนธรรมที่ผิวเผิน แม้แต่เราจะมองอย่างประเทศต้นแหล่งของวัฒนธรรมปัจจุบันอย่างประเทศอเมริกา วัฒนธรรมบันเทิงของเขาเองเขาก็รู้ว่าเป็นสิ่งผิวเผินไม่ใช่เป็นเรื่องสร้างสรรค์ที่แท้จริง คือไม่ใช่เป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ แต่เป็นผลเป็นส่วนผลที่จะมาเสพเสวยบริโภค แต่ว่าตัวเหตุปัจจัยที่จะสร้างสรรค์ความเจริญนั้นก็คือ วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ วัฒนธรรมการหาความรู้ วัฒนธรรมของการผลิตการสร้างสรรค์ต่างๆ ซึ่งเราเองเวลาเราใช้ข่าวสารข้อมูลเราก็มาติดอยู่แค่วัฒนธรรมบันเทิงเท่านั้นเอง ก็คือหลงมัวเมาก็ไม่ได้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลเท่าที่ควร เพราะนั้นเวลานี้ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการศึกษาว่าเราจะช่วยให้คนนี่ได้สามารถใช้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลได้แค่ไหนเพียงไร
ข่าวสารข้อมูลนี้เป็นแหล่งสำคัญของความคิด เพราะว่าจากความรู้ก็มาสู่ความคิด เราพูดกันว่าต้องให้การศึกษาช่วยให้คนคิดเป็น แต่คนคิดเป็นคิดเป็นได้อย่างไร คิดเป็นความคิดก็ต้องคู่กับคาวามรู้ คนคิดโดยไม่มีความรู้ก็คิดเลื่อนลอยคิดเพ้อฝันคิดเหลวไหล เพราะนั้นความคิดเห็น หรือการแสดงความคิดเห็นก็ต้องคู่กับการหาความรู้ และการหาความรู้เสียอีกที่เป็นฐานของการที่จะมีความคิดเห็นอย่างที่กล่าวแล้วว่า มีความคิดเห็นไปโดยไม่มีความรู้ก็คือคิดเพ้อฝันเลื่อนลอย นอกจากนั้นการคิดเป็นก็พิสูจน์ด้วยการที่เกี่ยวข้องกับความรู้นั่นเองว่าคิดอย่างมีความรู้หรือไม่ คิดอย่างมีฐานที่จะใช้มีสาระเป็นประโยชน์มีเหตุผลหรือไม่ นอกจากนั้นแล้วการหาความรู้เป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยฝึกการคิด คนที่พยายามหาความรู้จะฝึกการคิดไปด้วยว่าจะหาความรู้ได้อย่างไร ในการหาความรู้นั้นก็ฝึกการคิดไปด้วยในตัว เมื่อได้ความรู้มาแล้วก็ฝึกการคิดอีกว่าจะใช้ความรู้อย่างไร คนที่มีความรู้แต่คิดไม่เป็นความรู้นั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ พอมีความรู้แล้วรู้จักคิดก็รู้จักคิดที่จะใช้ความรู้นั้นความรู้นั้นก็เกิดประโยชน์ เพราะนั้นในการแสวงหาความรู้ก็ใช้ความรู้นี่เองจะทำให้เรารู้จักฝึกความคิดไม่ต้องไปดูที่ไหนไกลเพราะนั้นเรื่องความรู้คู่กับความคิดนี้เป็นเรื่องใหญ่มากว่าทำอย่างไรจะคิดอย่างมีความรู้ ทำอย่างไรจะคิดหาความรู้ให้เป็น ทำอย่างไรจะคิดใช้ความรู้ให้ได้ประโยชน์ ให้ได้ผลจริงจัง ถ้าอย่างนี้แล้วก็คำว่าคิดเป็นก็จะมีความหมายขึ้น บางทีก็คิดเป็นไปแล้วก็เราก็ไม่รู้จะไปคิดเรื่องอะไรคิดที่ไหน น่าจะมาเริ่มกันตั้งแต่คิดหาความรู้เป็นต้นไปเลยว่าทำอย่างไรจะหาความรู้ได้ดี อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่คิดว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก แล้วอย่างเรื่องของข้อมูลความรู้นี้ก็เป็นทรัพยากรที่สำคัญ นอกจากทรัพยากรที่เป็นข้อมูลความรู้ทั่วๆ ไปในปัจจุบันก็คือ ข้อมูลความรู้เก่าๆ ในอดีต ปัญหาเรื่องทรัพยากรก็เป็นเรื่องใหญ่ ความรู้ข้อมูลเป็นทรัพยากรสำคัญอย่างหนึ่ง ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องของตัวเราเอง เกี่ยวกับวัฒนธรรมของเรานี้เราก็ยังไม่ค่อยได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วปัญหาของเราก็ยังมากทรัพยากรที่มีทั้งทางวัตถุ ทั้งทางนามธรรม ปัญหาว่าเรารู้จักใช้หรือเปล่า บางทีทรัพยากรแม้แต่ทางวัตถุใช้ไม่เป็นก็กลายเป็นทำลาย คือแทนที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ก็กลับไปทำลายทรัพยากรเก่าๆ แม้แต่ทรัพยากรที่เป็นวัตถุไม่ต้องพูดถึงทรัพยากรทางนามธรรมที่ไม่รู้จักเอามาใช้ แล้วปัญหาเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยคงจะต้องมาช่วยกันคิดให้มากทีเดียว ถ้าบางทีเราใช้ก็ใช้ไม่เป็นอีก ใช้แล้วก็ทำให้เสื่อมโทรมเสียหาย คือหนึ่งไม่ใช้ก็มีไปทำลาย สองก็เอามาใช้ใช้ไม่เป็นกลายเป็นว่าทำให้เสื่อมเสีย เช่น การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นการใช้ที่เสี่ยง บางทีนำทรัพยากรเก่าๆ อย่างเรื่องวัฒนธรรมทางวัตถุศิลปะโบราณสถานถ้าใช้ไม่เป็นก็กลายเป็นว่าเอามาใช้ประโยชน์สร้างทรัพย์ใหม่แต่ทำลายทรัพยากรเก่า คือว่าสร้างทรัพย์ใหม่ได้แก่เงินทอง แต่ทำลายทรัพยากรเก่าที่มีอยู่แล้วทำให้เสื่อมโทรมยิ่งขึ้นไป ทีนี้การที่จะแก้ไขเรื่องนี้ก็คือ ต้องรู้จักใช้ทรัพยากรทางนามธรรมแล้วก็เอาเครื่องมือในทางนามธรรมมาช่วย ถ้าการศึกษาจะมาช่วยทางนี้การศึกษาก็คงจะมาช่วยในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งทางวัตถุ และนามธรรมให้เป็นปะโยชน์ ก็คือว่าช่วยแม้แต่การใช้ในทางเศรษฐกิจด้วยว่าทำอย่างไรจะใช้ทรัพยากรใช้ทรัพย์เก่าสร้างทรัพย์ใหม่ที่ดีขึ้นมาได้ ทรัพย์ที่สำคัญก็คือทรัพย์ทางนามธรรม แล้วก็ทรัพย์ทางปัญญา เวลานี้เราน่าดูเหมือนว่าจะเน้นการใช้ทรัพย์สร้างทรัพย์ใหม่ที่เป็นทรัพย์ทางวัตถุทางเศรษฐกิจมากเกินไป โดยลืมไปว่าเราสามารถสร้างทรัพย์ทางนามธรรมโดยเฉพาะทรัพย์ทางปัญญาขึ้นได้เราน่าจะเน้น เพราะว่าการสร้างทรัพย์ใหม่ทางปัญญาเป็นอริยทรัพย์นี้จะมาช่วยให้การใช้ทรัพย์เก่าที่เป็นทรัพยากรสร้างทรัพย์ใหม่นั้นไม่เสี่ยงภัยอันตรายจะได้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
เรื่องของทรัพยากรของเราก็อย่างนี้ก็คือว่า อย่ามัวแต่ไปนึกถึงทรัพยากรทางวัตถุที่มองเห็นแม้แต่วัฒนธรรมศิลปะโบราณสถาน แต่หมายถึงทรัพยากรทางนามธรรมทางภูมิทางปัญญาที่เรามีอยู่เดิมนี้ทำอย่างไรจะฟื้นฟูขึ้นมาซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายวงการการศึกษาว่าจะสามารถฟื้นฟูนำทรัพยากรในทางปัญญา ในทางนามธรรม ทางวัฒนธรรม เป็นต้น ของเก่ามาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติตลอดจนกระทั่งว่าช่วยเผยแพร่ไปในการที่จะสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าเวลานี้อารยธรรมของโลกนี้ก็มีปัญหามากจะถึงขั้นติดตันทีเดียว มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายแทบทุกด้านก็ต้องหวังที่จะให้ทุกคนในโลกคนในทุกวัฒนธรรมอารยธรรมมาช่วยกันในการแก้ปัญหา คงจะหวังไม่ได้ว่าเราจะหวังให้ประเทศตะวันตก หรือผู้นำอารยธรรมตะวันตกปัจจุบันนี้มาเป็นผู้แก้ไข เพราะว่าในแง่หนึ่งทางโน้นเขาเองเขาก็ยอมรับว่าเขาเป็นผู้นำอารยธรรมนี้ให้เจริญขึ้นมา แต่ในเวลาเดียวกันก็นำมาสู่ความติดตันปัจจุบันนี้ด้วย เช่น เรื่องของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เป็นต้น เพราะนั้นก็จะเป็นเรื่องความรับผิดชอบของมนุษยชาติร่วมกันทั้งหมดว่าทำอย่างไรจะช่วยกันคิดแก้ปัญหา บางทีเขาติดทางนี้เรามีดีด้านอื่นเราก็คงช่วยได้ถ้าเรามองเห็นรู้จักตัวเองดีขึ้นก็น่าจะมีส่วนร่วมอย่างน้อยก็มีอะไรที่จะไปสื่อสารพูดจากับเขาให้แง่คิดกระตุ้นเตือนให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ในการที่จะนำอารยธรรมไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องให้พ้นจากความติดตันในปัจจุบัน
ทีนี้ท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี ก็ได้เป็นผู้ริเริ่มท่านหนึ่งแล้ว ก็หนึ่งท่านก็ได้พยายามเชื่อมคนไทยเชื่อมวงการการศึกษาไทยเราเข้ากับฐานทางภูมิทางปัญญาของเราเอง ที่ท่านพยายามคิดค้นในเรื่องของหลักพระพุทธศาสนา พยายามนำเอาหลักธรรมมาสื่อ พยายามให้มีการสอนวิธีแบบอริยสัจถึงกับได้แต่งหนังสือเรื่อง Buddhism Philosophy of Education คิดว่าท่านคงพยายามอยู่ต่อไปถ้ามีการสืบสารต่องานของท่านนี้ก็คงจะได้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นไป นี่ก็เป็นงานเรื่องของการเชื่อมฐานแล้วก็ในเวลาเดียวกันงานเชื่อมฐานอันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการสื่อสารว่าวงการศึกษาเมื่อได้มีการเชื่อมฐานนี้แล้วจะนำเอาความรู้ที่ท่านได้สร้างริเริ่มขึ้นมานี้ไปสื่ออย่างไรให้มันขยายเป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป ซึ่งเมื่อเราทำได้เช่นนั้นก็จะเป็นการใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์รวมทั้งใช้ตัวท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี นั่นเองซึ่งท่านเป็นทรัพยากรหนึ่ง แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้วแต่ว่าความคิดปัญญาอะไรต่างๆ ผลงานที่ท่านสร้างไว้ก็ยังมีอยู่ เราเอามาใช้เอามาสื่อออกไปก็กลายเป็นว่าใช้ทรัพยากรซึ่งรวมทั้งตัวท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี นี้เองให้เป็นประโยชน์ด้วย ก็คิดว่าวันนี้ก็เป็นวันที่เหมือนกับเป็นเครื่องเตือนระลึกถึงคุณความดีของท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี แล้วก็การที่ว่าทำอย่างไรจะได้นำเอาจะสิ่งที่เรียกว่าเจตนารมณ์ หรือวัตถุประสงค์ หรือว่าตัวกุศลเจตนาที่แท้ของท่านออกมาแล้วก็มาขยาย มาสืบ มาสาร มาเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการกตัญญูกตเวทีด้วยการระลึกถึงพระคุณของท่านแล้ว ก็ยังจะเป็นการที่มาช่วยทำให้คุณความดีของท่านนี้เกิดผลเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยสมความมุ่งหมายด้วย
วันนี้อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาท่านอาจารย์อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ท่านประธานมูลนิธิสาโรช ศิริ บัวศรี ท่านรองอธิการบดี ท่านคณบดี ท่านผู้บริหาร ท่านครูอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒทุกท่าน ที่ได้มีเมตตาไมตรีธรรมได้เดินทางสละเวลามาถึงที่วัดญาณเวศกวันในวันนี้ และได้มาแสดงน้ำใจดีต่ออาตมาภาพพร้อมทั้งต่อพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แล้วก็แสดงออกซึ่งน้ำใจที่เป็นสื่อตัวแทนของเจตนารมณ์วัตถุประสงค์กุศลเจตนาสืบกันมาตั้งแต่ท่านอาจารย์ดอกเตอร์สาโรช บัวศรี เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในการที่จะสร้างสรรค์ทำความดีให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ทางการศึกษาเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิต แก่สังคมประเทศชาติสืบต่อไป ก็ขออนุโมทนา และในโอกาสนี้ก็ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย พร้อมทั้งกุศลจริยามีเจตนาที่ปรารถนาดีต่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ เป็นต้น จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกายกำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคีพรั่งพร้อมที่จะดำเนินชีวิต และกิจการโดยเฉพาะงานการศึกษานี้ เพื่อประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติ และอารยธรรมของโลกให้สัมฤทธิ์ผลสมความมุ่งหมายยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นทั้งแก่ชีวิตครอบครัว สังคมส่วนรวม และโลกทั้งหมด สืบไปตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ...