แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
สิ่งที่ควรทราบในเรื่องความก้าวหน้า หรือขั้นตอนในการปฏิบัติ ในที่นี้ก็ขอพูดไว้ 2 เรื่อง ก็คือว่า การเจริญจิตภาวนาหรือการฝึกสมาธินี้ ก้าวไปเป็นขั้นๆ การก้าวไปเป็นขั้นๆ นี้ก็เรียกว่าภาวนานั่นเอง แต่ว่าเรียกเป็น 3 ขั้น อาจจะเรียกว่าภาวนา 3 ขั้น ต่อไป อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ในขณะที่เราปฏิบัติก้าวหน้าไป หรือภาวนาก้าวไปเป็นขั้นๆ นั้นนะ สิ่งที่เราใช้ในการเจริญภาวนา ก็คือกรรมฐาน หรืออารมณ์กรรมฐานนั้นนะ มันก็จะปรากฏขึ้นมาในลักษณะที่เรียกว่าเป็น นิมิต
เมื่อกี้นี้เราบอกว่า เราจะต้องเอากรรมฐานมากำหนดให้จิตกำหนด ทีนี้พอเรากำหนดกรรมฐานนั้นไป เอาสิ่งนั้นมาเป็นอารมณ์ของจิต กำหนดไป กำหนดไป สิ่งนั้นมันจะกลายเป็นนิมิต แล้วนิมิตนี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงไป เป็น 3 ระดับ ก็เรียกว่านิมิต 3 เพราะฉะนั้นในตอนนี้ เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็เลยเรียน 2 อย่าง คือเรื่องความก้าวหน้าในการปฏิบัติ 3 ขั้น เรียกว่าภาวนา 3 แล้วก็สิ่งที่ถ้ากรรมฐานที่ปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติที่เรียกว่านิมิต 3 อย่าง ทีนี้ขอเริ่มด้วยนิมิต 3 ก่อน
นิมิตคืออะไร นิมิตนั้น แปลว่าเครื่องหมาย ก็คือเครื่องหมายที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่เรากำหนดเป็นกรรมฐาน คือพูดง่ายๆ ก็ใช้คำว่าภาพก็ได้ ภาพของสิ่งที่เราใช้เป็นกรรมฐานนั่นเองที่ปรากฏขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติเนี่ย เราก็เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากำหนด แล้วภาพของสิ่งนั้นที่ปรากฏขึ้นในใจเราเนี่ย เราเรียกว่า นิมิต ภาพที่ปรากฏขึ้นในใจเป็นตัวแทนของสิ่งที่เรากำหนดเป็นกรรมฐานนั้นเรียกว่า นิมิต นิมิตนี่ก็จะมี 3 ด้วยกัน
อันที่ 1 เรียกว่า บริกรรมนิมิต บริกรรมนิมิต นิมิตขั้นเตรียมหรือขั้นเริ่มต้น คำว่าบริกรรมนั้น แปลว่า เตรียม ในภาษาไทยนี้มันเลือนมา เหตุที่เลือนมาก็จะพบในที่นี้นั่นเอง ที่จริงนั้นแปลว่า ขั้นตระเตรียม เช่น เราเตรียมพื้นที่จะทำงานทำการ กวาดสถานที่ให้เรียบร้อย ก็เรียกว่า บริกรรม ทีนี้เราจะทำกรรมฐาน เจริญจิตภาวนา เราก็มีการตระเตรียม ทีนี้นิมิตรที่ปรากฏกับเราในขั้นเริ่มต้น เป็นขั้นเตรียมนี้ เรียกว่า บริกรรมนิมิต
นิมิตขั้นเริ่มต้นนี้ หรือขั้นเตรียมนี้ คืออะไร ก็คือ ตัวกรรมฐานนั่นเอง สิ่งที่เรากำหนดใช้เป็นอารมณ์กรรมฐานนั่นแหละ เราเรียกว่า บริกรรมนิมิต เช่น อย่างเราเอา กสิณมากำหนด เช่น เป็นวงกลมสีเขียว เป็นวงกลมสีแดง ตัวสิ่งนั้นมันก็เป็นภาพ มองในฐานะที่เป็นภาพที่ให้จิตเรากำหนด เราก็เรียกว่านิมิต เพราะฉะนั้นตัวกรรมฐานนั่นเองเนี่ย ปรากฏแก่เรา เรียกว่าเป็นนิมิต แต่เป็นนิมิตขั้นต้น เรียกว่า บริกรรมนิมิต ก็คือตัวสิ่งนั้นที่เราใช้กำหนดเป็นกรรมฐาน
หรือเราพิจารณาระลึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ พุทธคุณที่เราระลึกเป็นอารมณ์นั้น ก็ปรากฏเหมือนกับเป็นภาพในใจของเรา อันนั้นก็เป็นนิมิตของเรา เรียกว่าเป็นบริกรรมนิมิต เป็นนิมิตขั้นต้นเลย เป็นขั้นเริ่มต้น ก็เรียกว่าเป็นภาพของจริงก็ได้ ถ้าว่าง่ายๆ ก็คือว่า บริกรรมนิมิต หรือว่านิมิตขั้นต้นนี้ ก็คือภาพของจริงนั่นเอง ภาพของจริงที่ปรากฏในใจของผู้เริ่มทำกรรมฐาน ทีนี้ทำไมเราจึงมีการใช้คำว่าบริกรรมในความหมายคล้ายๆ ว่า มาบ่น มาว่า อันนี้แหละ คือเวลาเรามองดู หรือพิจารณาบริกรรมนิมิตเนี่ย ท่านสอนไว้บอกว่าให้บอกว่า ให้ว่าในใจไปด้วย อย่างเวลาเราดูภาพกสิณ ที่เป็นวงกลมสีเขียว สีแดงนั้น ท่านก็บอกว่า ให้ว่าในใจไปด้วย กำกับจิต หากเป็นสีเขียว ก็บอกว่าเป็น นีลัง นีลัง หากเป็นสีแดงก็ โลหิตัง โลหิตัง หรือถ้าเป็นพุทธคุณ ก็ว่าพุทธคุณนั้นไปไว้ในใจเช่น พุทโธ อะไรอย่างนี้
ทีนี้ การที่เราว่าอย่างนี้ มันกำกับอยู่ ตัวนิมิตก็คือภาพในใจของสิ่งที่เรากำลังกำหนด แต่เพราะเรามาว่าสิ่งนั้นขึ้นมาในใจ เนี่ย มันเป็นการว่ากำกับจิตในขั้นที่มากับการทำให้เกิดนิมิตขั้นต้น เรียกว่า บริกรรมนิมิต การว่าอย่างนั้นเลยพลอยเรียกกันว่า บริกรรม ไปในที่สุด เลยไปๆ มาๆ คำว่าบริกรรมเนี่ย กลายเป็นมีความหมายว่า เป็นการว่าในใจ หรือเป็นการท่องบ่น แม้แต่พูดออกมาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นบริกรรมไป อันนี้ก็ขอให้ทราบความหมายที่มันค่อยๆ เลือนมา แต่ที่จริงแล้วบริกรรมนิมิตก็คือ ภาพของจริงนั้นที่เรากำหนดเป็นกรรมฐาน เอาล่ะนี่เป็นนิมิตที่ 1
ทีนี้ ต่อไปเมื่อเราทำบริกรรมนิมิตได้ เราได้ภาพของจริงนั้นแล้วไว้ในใจ ต่อมาภาพของสิ่งนั้น ของสิ่งที่เรากำหนดนั้น มันก็จะติดตาติดใจ จนกระทั่งว่า ถ้าเป็นของที่มองเห็นข้างนอก พอหลับตาแล้วก็ยังมองเห็น ตอนนี้แหละ เราจะได้นิมิตใหม่ นิมิตขั้นที่สอง คือนิมิตติดตาติดใจ ท่านมีศัพท์ทางพระ เรียกว่า อุคคหนิมิต เป็นนิมิตขั้นที่ 2 แปลว่า นิมิตที่ใจเรียนจับเอาไว้ได้ ใจเรียนจับเอาไว้ได้แล้ว ตอนนี้เป็นภาพที่เกิดขึ้นในใจ เหมือนของจริง ตาเราเห็นอย่างไร หลับตาไป ใจก็เห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นอุคคหนิมิตนี้ ถ้าจะแปลแบบภาษาง่ายๆ ก็คือ ภาพในใจที่เหมือนของจริง บริกรรมนิมิตนั้นเป็นภาพของจริง แต่อุคคหนิมิตนั้นเป็นภาพในใจที่เหมือนของจริง นี้เป็นการก้าวหน้าไปแล้ว เป็นขั้นที่ 2 เรียกว่า อุคคหนิมิต
นี้ต่อไป ทำสมาธิต่อไปอีก ภาพในใจที่เหมือนของจริงนั้นก็จะประณีตหมดจด จนกระทั่งเป็นภาพของจิตใจอย่างแท้จริง เมื่อกี้นี้มันยังเป็นภาพของนั้นที่ว่าคล้ายๆ ติดตามา มันยังมีความเชื่อมโยงกับอวัยวะคือ ประสาทตา แต่ตอนนี้เมื่อเราเจริญสมาธิต่อไปๆ โดยเอานิมิตของสิ่งนั้นนะเป็นอารมณ์ ภาพนิมิตที่ปรากฏในใจขั้นที่ 2 นั้นจะประณีตยิ่งขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นของหมดจด สะอาดบริสุทธิ์ เรียกชื่อใหม่ว่า ปฏิภาคนิมิต อาจจะแปลว่า นิมิต หรือเป็นภาพจำลอง
นิมิตจำลองของจริง ซึ่งเป็นภาพในใจแต่ว่าประณีตกว่าของจริง ของจริงนั้นอาจจะมีผง มีฝุ่นจับเป็นต้น หรือไม่สะอาดเรียบร้อยเท่าไร แต่ถ้าเป็นนิมิตในใจถึงขั้นนี้แล้ว จะประณีตหมดจด สะอาดเรียบร้อยหมดเลย แม้แต่เป็นซากศพก็จะเป็นภาพที่สวยงาม ไม่น่าเกลียดน่ากลัว อันนี้เป็นขั้นที่ 3
และนอกจากว่าจะสะอาดบริสุทธิ์ประณีตกว่าของจริงแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนขนาดได้ด้วย เช่น สามารถจะนึกขยายออกไป วงกลมกสิณที่เล็กแค่ประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ฟุต ขยายให้ใหญ่โตเหลือประมาณก็ได้ หรือจะใช้จิตใจนั้นบีบให้ขนาดของภาพในใจนั้นเล็กลงไปจนจิ๋วนิดเดียวก็ได้ เรียกว่า จะขยาย หรือว่าจะลดขนาดลงเท่าไรก็ได้ตามปรารถนา อันนี้เป็นนิมิตที่ 3 เป็น ปฏิภาคนิมิต
เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตนี้ ก็จะเป็นระดับที่จิตเนี่ย ถึงสมาธิขั้นที่สูงเป็นสมาธิที่เกิดขึ้นในการเจริญกรรมฐานที่ถือได้ว่า เริ่มเป็นผลสำเร็จของการเจริญกรรมฐาน ก็คือได้ อุปจารสมาธิ พอได้ปฏิภาคนิมิตนี่ นิวรณ์ 5 ก็สงบ และก็ได้อุปจารสมาธิ แต่สำหรับกรรมฐานบางอย่างเนี่ย จะไม่ได้ปฏิภาคนิมิต จะได้แต่อุคคหนิมิต และก็ได้อุคคหนิมิตนั้นแหละ และเข้าสู่อุปจารสมาธิไปเลย ก็ได้เหมือนกัน แต่โดยปกติแล้วที่เป็นไปตามขั้นตอนแท้ๆ ที่มันปรากฏชัดเนี่ย ก็จะได้ปฏิภาคนิมิต แล้วก็จะได้อุปจารสมาธิ
ก็เป็นอันว่าเรื่องนิมิตนี้มี 3 อย่างด้วยกัน ประณีตขึ้นไปตามลำดับ 1. บริกรรมนิมิต นิมิตขั้นต้น ขั้นตระเตรียม คือภาพของจริง ที่เพ่งดูหรือที่นึกในใจ แล้วก็ 2. อุคคหนิมิต นิมิตที่ใจเราเรียนจับเอาไว้ได้ เหมือนกับของจริง ติดตาติดใจ ได้แก่ภาพในใจที่เหมือนของจริง แล้วก็ 3. ปฏิภาคนิมิต นิมิตจำลอง ก็เป็นภาพในใจแต่ว่าประณีตยิ่งกว่าของจริง และก็เป็นขั้นที่เข้าสู่อุปจารสมาธิ อันนี้ก็คิดว่าเรียนกันคร่าวๆ พอสมควร รายละเอียดนั้นก็ ค่อยไปค้นคว้า ถ้าได้หลักอย่างนี้แล้วไม่ยาก
ทีนี้พอพูดถึงนิมิตแล้ว ก็ขอพูดถึงขั้นตอนของการปฏิบัติที่บอกเมื่อกี้ว่า เป็นการก้าวหน้าในการทำจิตภาวนา 3 ขั้นเรียกว่า ภาวนา 3 ภาวนาในที่นี้ก็เลยกลายเป็นว่าเราใช้ในความหมายพิเศษ หมายถึง ขั้นตอนความก้าวหน้าในการทำจิตภาวนา
ทีนี้ ภาวนา 3 ขั้นนี้ก็ เริ่มตั้งแต่อันที่ 1 เรียกว่า บริกรรมภาวนา เรียกชื่อตรงกับบริกรรมนิมิตเลย ก็แปลว่า ภาวนาขั้นบริกรรม หรือภาวนาขั้นตระเตรียม ขั้นเริ่มต้น ภาวนาขั้นเตรียม หรือขั้นเริ่มต้น ก็คือการเจริญสมาธิ โดยกำหนดบริกรรมนิมิต นี่ถ้าเอาคำว่าบริกรรมนิมิตมาใช้ ก็บริกรรมภาวนา ก็คือการเจริญสมาธิในขั้นบริกรรมนิมิต ถ้าพูดขยายความก็คือว่า เป็นขั้นที่ว่าเริ่มต้น แล้วก็ เอาของนั้นมาเพ่งมาดู หรือมากำหนดนั่นเอง ก็คือขั้นที่เราเริ่มกำหนดสิ่งที่เราใช้เป็นกรรมฐาน เอาใจกำหนดเป็นสิ่งนั้น ตอนนี้เรียกว่าบริกรรมภาวนาแล้ว พอเราเริ่มต้น ก็ต้องเริ่มจากบริกรรมภาวนานี้ไปก่อน
ทีนี้บริกรรมภาวนานี้ เราเจริญไป เจริญไป อย่างที่ว่า เวลาเราดูสิ่งของนั้น หรือนึกถึงสิ่งของนั้น สิ่งที่กำหนดไปเช่น ยกตัวอย่าง กำหนดลมหายใจ เราก็มีการว่าในใจด้วย ว่าในใจ เช่นว่า พุทโธ หรือว่านับเลขอะไรต่างๆ ก็ตาม เพื่อให้ใจเข้ายาว เข้าสั้น การที่เราว่าในใจนี่แหละ ที่เมื่อกี้อาตมาบอกทีนึงแล้ว มันกลายมาเลือนเป็นคำว่าบริกรรมในความหมายที่เราใช้ในปัจจุบัน แต่ที่จริงนั้นบริกรรมก็คือเริ่มต้น หรือตระเตรียม
เป็นอันว่า บริกรรมภาวนา ก็คือการเจริญสมาธิในขั้นเริ่มต้น ขั้นเตรียม ได้แก่ การกำหนดกรรมฐานหรือการเอาจิตกำหนดกรรมฐานนั้น
ทีนี้เมื่อกำหนดสิ่งที่ใช้เป็นกรรมฐานไป ต่อไปก็ จะได้ อุคคหนิมิต บริกรรมภาวนานี่ก็นำไปสู่การได้อุคคหนิมิต จากเริ่มต้นด้วยการทำบริกรรมนิมิตเนี่ย เริ่มต้นจากการกำหนดบริกรรมนิมิต ต่อไปเราก็จะได้อุคคหนิมิต ก็คือว่า ได้ภาพที่ติดตาติดใจของสิ่งนั้น ตอนที่เราได้อุคคหนิมิตนี่ เราก็ยังเรียกว่าเป็นสมาธิขั้นต้นเหมือนกัน เรียกว่า บริกรรมสมาธิ
เพราะฉะนั้นในขั้นบริกรรมภาวนานี้ เราพูดได้ว่า ก็มีสมาธิได้ คือบริกรรมสมาธิ ก็เป็นสมาธิขั้นเตรียมเหมือนกัน สมาธิขั้นต้น ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่เราต้องการเลย อันนี้ถ้าเทียบเมื่อกี้ ที่แบ่งสมาธิเป็น 3 ขั้น บริกรรมสมาธิก็ได้แก่ ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ
เอาล่ะ ต่อไป ทีนี้ก็ก้าวไปสู่ขั้นที่ 2 เรียกว่า อุปจารภาวนา อุปจารภาวนาก็คือ ภาวนาขั้นจวนเจียน ขั้นเฉียดเข้าไป เรียกว่าใกล้วัตถุประสงค์แล้ว ก็คือการที่ว่า เราได้อุคคหนิมิตแล้ว ตอนนี้เป็นช่วงต่อ หมายความว่าบริกรรมภาวนานี้ เริ่มจากบริกรรมนิมิต จนกระทั่งได้อุคคหนิมิต ทีนี้ อุปจารภาวนาก็คือการฝึกสมาธิโดยกำหนดอุคคหนิมิตนี้เป็นอารมณ์ เอาอุคคหนิมิตนี้แหละเป็นหลัก กำหนดไป กำหนดไป จนกระทั่งได้ ปฏิภาคนิมิต
นี่ช่วงที่ 2 อุปจารภาวนา ก็คือการเจริญสมาธิขั้นที่กำหนดอุคคหนิมิต ไปจนกระทั่งถึงขั้นเข้าถึง ได้ปฏิภาคนิมิต เพราะ ฉะนั้น ในขั้นอุปจารภาวนาเนี่ย มันก็จะไปจบลงที่ไหน เมื่อจบลงที่ได้ปฏิภาคนิมิต เมื่อกี้นี้บอกแล้วว่าได้ปฏิภาคนิมิต จิตก็เป็นสมาธิขั้นที่เรียกว่าอุปจารสมาธิ ก็ไปจบที่อุปจารสมาธิ อุปจารภาวนาก็ได้ผลสำเร็จคือได้อุปจารสมาธิ ก็เป็นสมาธิที่เราต้องการ
พอต่อจากนี้แล้ว ก็เข้าสู่ขั้นที่ 3 เรียกว่าอัปปนาภาวนา อัปปนาภาวนา ก็คือการเจริญสมาธิ ขั้นที่ว่าเราได้ปฏิภาคนิมิตแล้ว ทีนี้เราก็เจริญสมาธิ โดยศัพท์ที่ท่านเรียกว่า เสพปฏิภาคนิมิต นั้น หมายความว่าเอาปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ และรักษาไว้ พยายามให้ปฏิภาคนิมิตนั้นอยู่กับจิตเรื่อย ซึ่งตอนนี้เป็นตอนที่สำคัญ ปฏิภาคนิมิตนี้จะต้องมีการประคับประคอง ก็เลยมีการที่ว่าจะช่วยให้เราสามารถรักษาปฏิภาคนิมิตไว้ ถึงได้มีการกำหนดว่าให้มีสัปปายะ 7 อย่าง
ที่แท้จริงแล้ว ท่านกำหนดสัปปายะที่เป็นขั้นสำคัญคือในตอนนี้ ตอนที่จะให้ช่วยให้รักษาจิตอยู่กับปฏิภาคนิมิตได้เนี่ย อาศัยการที่มีสัปปายะ 7 ประการ แต่เราได้เอาไปพูดซะตอนต้น แทนที่จะมารอให้ถึงขั้นได้ปฏิภาคนิมิต นี่ก็เลยบอกให้เตรียม
สัปปายะแต่ต้นเลยเป็นการดี
ทีนี้ นอกจากสัปปายะแล้ว ก็จะต้องมีวิธีการต่างๆ ที่อาจารย์ท่านจะสอนในการประคับประคองจิต ประคับประคองจิต เพื่อให้รักษาปฏิภาคนิมิตนี้ไว้ได้ เมื่อรักษาเสพปฏิภาคนิมิตนี้อยู่สม่ำเสมอประคองจิตไว้ได้ดีแล้ว ในที่สุดก็จะได้ อัปปนาสมาธิ
ก็หมายความว่าเมื่อเราเจริญสมาธิ โดยกำหนดปฏิภาคนิมิต รักษาปฏิภาคนิมิตไว้ได้ด้วยดี จิตอยู่กับปฏิภาคนิมิต สม่ำเสมอ ในที่สุด ก็จะบรรลุผลสำเร็จคือ บรรลุอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิ ก็เป็นการจบขั้นของอัปปนาภาวนา อุปจารภาวนาเมื่อกี้นี้ก็ไปจบที่ได้ อุปจารสมาธิ แล้วก็ ต่อจากนั้น ก็เอาปฏิภาคนิมิตมากำหนดรักษาไว้ ก็เป็นตอนของอัปปนาภาวนา ก็ไปจบที่ได้อัปปนาสมาธิ พอได้อัปปนาสมาธิก็เข้ากับหลักที่ว่าเมื่อกี้แล้ว ก็คือว่า ได้ปฐมฌาน
พอได้ปฐมฌานแล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องก้าวหน้าในการบำเพ็ญฌานละ เรื่องการได้สมาธิก็ครบถ้วน ทีนี้ ในการที่จะบรรลุฌานสูงขึ้นไป ท่านก็จะบอกวิธีการว่า ให้บำเพ็ญความชำนาญในปฐมฌานหรือฌานต้น ท่านก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า วสี คือความชำนาญ 5 อย่าง ซึ่งในที่นี้จะไม่เรียน ก็ให้บำเพ็ญวสี หรือความชำนาญในฌานที่ 1 นี้ แล้วพยายามที่จะบรรลุฌานขั้นที่ 2 ต่อไป ได้ฌานที่ 2 ก็ต่อไปฌานที่ 3 ที่ 4 ก็เข้าแนวเรื่องลำดับของฌาน ที่เป็นผลสำเร็จขั้นต่อๆ ไป อันนี้ก็ พูดแค่นี้ก็จะเห็นแนวกว้างๆ ของความก้าวหน้าหรือขั้นตอนในการทำจิตภาวนา อันนี้ก็ ในส่วนรายละเอียดนี่ก็คงจะไม่พูดถึง
ในการเจริญภาวนานี้ เราก็จะเอาวิธีเจริญนี้ ไปประยุกต์ใช้กับกรรมฐานต่างๆ ซึ่งการประยุกต์ใช้กับกรรมฐานแต่ละอย่าง แต่ละประเภท บางทีก็มีวิธีปฏิบัติที่เป็นรายละเอียดแตกต่างกันออกไป เรื่องขั้นประยุกต์ใช้ในแต่ละอย่าง แต่ละประเภทของกรรมฐานนี้ เป็นรายละเอียดซึ่งไม่สามารถนำมาพูดในที่นี้ได้ และก็ไม่ควรจะนำมาพูดด้วย ส่วนใดที่ควรพูด อาตมาก็พูดไปบ้างแล้ว ตอนที่พูดถึงตัวกรรมฐานนั้นๆ เพราะฉะนั้นในที่นี้ก็ เป็นเรื่องที่ควรจะข้ามไป
และก็ได้บอกไว้แล้วว่า ในปัจจุบันนี้เราก็เอากรรมฐานมาใช้กันไม่กี่ประเภท สำหรับในการเจริญภาวนาที่จะทำกันต่อไป เราก็จะมุ่งเอาที่อานาปานสติ เหมือนกับว่า มาเลือกกันไปเลย แทนที่จะมาดูเรื่องจริตกันก็ไม่ดูแล้ว กี่คน กี่คน มีจริตไหนไม่พิจารณาแล้ว ฉันเอาอานาปานสติเลย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ การเจริญภาวนาขั้นตอนอะไรต่างๆ ก็จะพูดโดยนำมาประยุกต์กับเรื่องอานาปานสติ โดยเฉพาะอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงจริตของใคร ความเหมาะสมกับผู้ใด
แต่เพราะเหตุที่อานาปานสตินั้น เป็นกรรมฐานที่บอกแล้วว่า ค่อนข้างสากล หรือเรียกได้ว่า สากล ใช้ได้กับทุกๆ คน แม้จะไม่เหมาะกับจริตของทุกคน แต่ว่า แม้แต่กับคนที่ไม่เหมาะ ก็ยังใช้ได้ผลพอสมควร ถึงจะไม่ชะงัด ก็เป็นสิ่งที่น่าทำ แล้วก็เป็นกรรมฐานที่มีข้อดีหลายอย่าง ที่อาตมากล่าวไปแล้วว่า มันมีอยู่กับตัว เราใช้ได้ทันที เมื่อไรก็ได้ ทุกกาลเวลา สถานที่ สะดวกทุกอย่าง และเป็นกรรมฐานที่ให้ผลไปจนกระทั่งถึงสูงสุด คือให้ได้ถึงฌาน 4 ในฝ่ายสมถะ และยังมีข้อพิเศษคือ คือว่า มีเทคนิคที่จะไปโยงเข้าสู่วิปัสสนาอีกด้วย
เพราะฉะนั้นในแง่ของภาวนา ก็เอาไปใช้ได้ทั้งจิตภาวนา และปัญญาภาวนา ก็เลยได้รับการคัดเลือกมาว่า เอามาเป็นตัวหลัก ในการที่จะเจริญภาวนาต่อไปในโครงการ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เราก็จะค่อยๆ เข้าสู่เป้าหมายของเรายิ่งขึ้น ก็คือว่าจะได้พูดถึงเรื่องอานาปานสติกันต่อไป
ตกลงเป็นอันว่า ตอนนี้ได้พูดถึงจิตภาวนา ได้รู้เรื่องกรรมฐาน 40 หมดแล้ว ขั้นตอนของการเจริญภาวนา ทำไปแล้วได้อะไร จนกระทั่งในที่สุดก็บอกว่า เอาล่ะนะ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ตกลงกันว่า เรามาเอาอานาปานสติมาใช้ในกรณีนี้ แล้วเรื่องนี้ก็มาพูดกันในรายละเอียด ในส่วนจำเพาะนั้นต่อไป ก็หมายความว่า ตอนนี้ได้หลักการทั่วไป เรื่องจิตภาวนา ก็คิดว่า จะจบไว้เพียงเท่านี้ก่อน เพราะฉะนั้นก็ขออนุโมทนาทุกท่าน และขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ขอเจริญพร