แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
อยากจะคุยเพิ่มเติมต่อหน่อย
นก แมว หนู อะไรต่าง ๆ ที่นี่มีเยอะ เออ มันมีแต่นกมาก แม้แต่หมูก็มี แมวไม่ค่อยมี แล้วก็มีสัตว์อื่น ๆ เยอะแยะ รวมถึงคน
คำอะไรที่เป็นคำเรียกรวมหมด
(ตอบ : สัตว์... ??? (นาทีที่ 1:30))
คำว่า สัตว์ นี่นะ รวมทั้งคนด้วยใช่ไหม หมายความว่า คนก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เอาละ ตกลง คำว่า สัตว์ นี่ เป็นคำที่เรียกได้รวมทั้งหมด แต่ว่าในภาษาไทยนี่ มักจะไม่ค่อยนิยม คือว่า มักจะเรียกคนต่างหากออกไป พอพูดว่า สัตว์ นี่ มักจะนึกไปถึงพวกสุนัข แมว เป็นต้น จนกระทั่ง ช้าง ปลาวาฬ เล็กลงไปจนกระทั่งถึงมด นี่เรียกว่า สัตว์ แล้วก็ยกเว้นคน ภาษาไทยนิยมนะ แต่ที่จริงแล้ว ในทางการแล้ว คำว่า สัตว์ นี่ คลุมหมด รวมทั้งคน แม้ในภาษาพระก็อย่างนั้น ภาษาบาลีเดิมก็ สัตว์ นี่เรียกคน คนเสียอีกที่เรียกเป็นสัตว์มาก เพราะว่าสัตว์ชนิดอื่นนี่ ท่านมักจะใช้คำว่า เดรัจฉาน ไปเลย คำว่า สัตว์ นี่ นิยมใช้กับคน จะเห็นได้จากคำว่า โพธิสัตว์ นี่ ขนาดสัตว์ที่เรียกว่ามีความสามารถพิเศษ ก็ยังเอาคำว่า สัตว์ ไปใส่นะ คนที่เก่งกาจมากนะก็เรียก ใช้คำว่า สัตว์ โพธิสัตว์คืออะไร ก็คือ สัตว์ที่แสวงหาโพธิญาณ หรือสัตว์ที่มุ่งแน่วต่อโพธิญาณ ต่อการตรัสรู้ คือใคร
(ตอบ : พระพุทธเจ้า)
คือผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ยังไม่ใช่เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น คำว่า สัตว์ นี่ เป็นศัพท์ที่สูงพอสมควร แต่ในภาษาไทยนี่กลับไม่นิยมใช้กับคน แต่ใช้กับเดรัจฉาน
เอาละ ก็เป็นอันว่า คำว่า สัตว์ นี่ เป็นคำที่กว้างมาก ใช้เรียกได้หมดเลย ผู้ที่มีชีวิตที่นอกจากพืช
ทีนี้ ในบรรดาสัตว์เหล่านั้นนี่ เราก็พยายามจะยกให้คนนี่เป็นพิเศษ อย่างที่ว่า ในภาษาไทยถึงกับว่า บางทีไม่ยอมเรียกคนว่า สัตว์ ทีนี้ ถ้าเราจะใช้คำว่า สัตว์ เราก็จะแยกคนออกไปเป็นพิเศษ หรือว่าสัตว์พิเศษ หรือสัตว์วิเศษ
อะไรทำให้คนเป็นสัตว์พิเศษ หรือว่าเอาง่าย ๆ ว่า คือ...ฝึกตนได้ ??? (นาทีที่ 3:49) สัตว์อื่น ๆ นี่มันฝึกตนไม่ได้ และความเป็นสัตว์ที่ฝึกได้นี้ ถึงแม้สัตว์อื่น ก็ถ้าหากว่ามนุษย์เอามาฝึก มันก็ฝึกได้เหมือนกันใช่ไหม แต่มันฝึกตนไม่ได้นะ ต้องให้คนอื่นฝึก มันมีขอบเขตความสามารถจำกัด สัตว์ที่จะดี จะพิเศษกว่ากันนี่ เรามักจะกำหนดด้วยการได้ฝึกได้แค่ไหน อย่างสัตว์บางชนิดนี่แทบจะฝึกอะไรไม่ได้เลย มันอยู่อย่างไรก็อย่างนั้น ธรรมชาติมันแค่ไหนแค่นั้น แต่สัตว์บางชนิดนี่ฝึกได้มาก ยกตัวอย่างหน่อยได้ไหมว่าสัตว์อะไรที่ฝึกได้มาก
(ตอบ : ลิง)
ลิง ลิงนี่ฝึกได้เยอะ ละครลิงนี่เล่นได้เก่งมาก
(ตอบ : เห็นเพิ่งมีข่าวว่าลิงส่ง...เขาเอาลิงนี่ไปกับยานอวกาศ ???)
นั่นสิ เห็นไหม นี่ฝึกได้มากนะ แต่มันต้องให้คนฝึกอยู่ดีใช่ไหม มันฝึกเองไม่ได้ ฝึกตัวเองไม่ได้ นี่แหละ ถึงแม้ลิงมันจะเก่งในบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ฝึกได้ มันก็ยังฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องให้คนเอามาฝึกให้
ทีนี้ รองจากลิงก็อย่างพวกช้างนี่ก็ฝึกได้มาก ช้างนี่ฝึกให้เล่นละครสัตว์ ให้ลากซุง ให้ทำงานได้ สุนัขก็ฝึกได้มากนะ เขาเรียกว่า สัตว์นี่...ดีแล้ว (นาทีที่ 5:19) ก็ฝึกได้มาก ยิ่งฝึกได้มากยิ่งดี แต่ว่าถึงอย่างนั้นก็ยังฝึกตัวเองไม่ได้ อันนี้ ความสามารถที่มีอยู่ในตัวที่จะให้ฝึกได้นี้เรียกว่าอะไร ภาษาสมัยใหม่ใครทราบบ้าง
อ้า เฉลย เขาเรียกว่า ศักยภาพ เคยได้ยินไหมคำนี้
(ตอบ : ไม่เคย)
ไม่เคยหรือ ต่อไปต้องได้ยินแล้ว เป็นศัพท์สมัยใหม่ เป็นศัพท์ที่นิยมใช้ในการศึกษา ศักยภาพ เขามาบอกว่ามนุษย์นี่มีศักยภาพสูงสุดในการที่จะฝึก คือฝึกตนเองนะ ศักยภาพ เหมือนกับเอาความสามารถที่จะฝึกไปได้ ฝึกให้เป็นไปจนตาย จนกระทั่งสามารถประดิษฐ์สิ่งอัศจรรย์ เทคโนโลยี จนกระทั่งดาวเทียม กระทั่งระเบิดนิวเคลียร์ แล้วก็ในทางจิตใจ สามารถจะบรรลุโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ นี่เรียกว่า ศักยภาพ มันทำให้คนเรานี่มีไอ้ศักยภาพอันนี้ คือความสามารถที่มันจะฝึกขึ้นไปได้ มันมีอยู่ในตัว เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นศัพท์สำคัญ เพราะมนุษย์นี้มีศักยภาพที่จะฝึกตนเองได้สูงสุด คราวนี้ก็เลยมีธรรมชาตินี้พิเศษ ธรรมชาติซึ่งเป็นศักยภาพที่จะฝึกตนเองได้สูงสุด เอาละ นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ทำให้เป็นสัตว์พิเศษ
ทีนี้ ตัวคุณสมบัติอะไรที่จะเอามาใช้ในการฝึก ที่ทำให้มนุษย์นี้ฝึกตนเองได้ อะไร อ้าว เฉลยหน่อย
(ตอบ : ปัญญา)
ปัญญา นะ ถ้าไม่มีปัญญาไปไม่ได้เลย ปัญญานี่ทำให้ฝึกตนเองได้ เป็นแกนกลางของการฝึก จริงอยู่ เราต้องอาศัยคุณสมบัติอื่นด้วย แต่ถ้าไม่มีปัญญาแล้วไปไม่ได้ ปัญญาเป็นตัวที่ทำให้ฝึกตนได้สูงสุด รู้ เข้าใจ พอรู้เสียอย่างแล้วมันก็ฝึกได้ เช่น เรารู้เหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย เราก็แก้ไชได้ ทำได้ สร้างสรรค์ได้ เหตุปัจจัยในด้านลบทำให้แก้ไขได้ ด้านบวกทำให้สร้างสรรค์ได้ เอาเหตุปัจจัยนี่แหละมาเป็นหลักแล้ว ทำมันที่เหตุปัจจัยแล้ว ก็ทำให้สำเร็จ ฉะนั้น ปัญญานี่เป็นตัวสำคัญมาก ปัญญาเป็นแกนกลาง เป็นคุณสมบัติเอกที่สัตว์อื่นไม่มีอย่างมนุษย์ใช่ไหม สัตว์อื่นมันอาจจะมีความขยัน มีไหมขยัน สัตว์มีไหน ...มีไหมครับ ??? (นาทีที่ 7:57)
(ตอบ : มี)
มี แต่ปัญญาอย่างมนุษย์มีไหม
(ตอบ : ไม่มี)
ไม่มี นี่แหละ ปัญญามนุษย์นี่เป็นตัวแกน เป็นคุณสมบัติหลัก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้านี่เป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยปัญญา ไอ้ตัวการตรัสรู้ก็คือปัญญานั่นเอง คำว่า รู้ นั้น ตรัสรู้ ตรัส นั้นแปลว่า แจ้ง ตรัสรู้ ก็ รู้แจ้ง
อย่างหรือ โพธิญาณ นี่ก็ โพธิ ก็แปลว่า ความตรัสรู้ ก็ ปัญญา นั่นแหละ ญาณ ก็ ปัญญา อีกแหละ คือตัวปัญญานี่เป็นตัวที่ทำให้มนุษย์นี้พัฒนาหรือฝึกตนเองได้ ฝึกตนเองได้ในภาษาสมัยใหม่มักจะใช้คำว่า พัฒนา มนุษย์ก็เป็นอันว่าต้องฝึกฝนตน คือพัฒนาตนขึ้นไป โดยใช้ปัญญาเป็นหลัก ปัญญาเป็นคุณสมบัติเอก
ทีนี้ เราจะใช้ปัญญาได้คล่องดีนี่ มันก็ต้องมีวิธีการนะ จะทำอย่างไร มนุษย์นี่ถ้าหากว่าใช้ปัญญาแล้ว มันจะมีโอกาสฝึกตนเองได้มาก สำคัญว่าเราจะเอาเชาวน์ปัญญามาใช้หรือเปล่า นี่สำคัญนะ คนนี่ที่จริงมีปัญญา แล้วฝึกเพื่อพัฒนาปัญญาได้ แต่ว่าคนจำนวนมากนี่ไม่รู้จักใช้ปัญญา หนึ่งละ ปัญญามี ไม่เอาออกมาใช้ก็พัฒนาตนไม่ได้ ฝึกตนเองไม่ได้ ฉะนั้น ก็จะต้องมีวิธีการที่จะทำให้เอาปัญญามาใช้ ก็ต้องดูว่าอะไรเป็นอุปสรรคทำให้เราไม่ใช้ปัญญา เพราะโอกาสที่จะใช้ปัญญาฝึกมีตลอดเวลา แต่มนุษย์ไม่ใช้ อ้าว ลองคิดดู อะไรบ้างเป็นตัวอุปสรรคที่เป็นเรื่องพื้น ที่พื้น ๆ ที่สุดเลยในชีวิตประจำวัน เพราะว่า โอกาส อย่างที่บอกเมื่อกี้ โอกาสในการฝึกตัวเองหรือพัฒนาตัวมีตลอดเวลา โอกาสอยู่ที่ไหน ชีวิตของเรานี่ แต่ละวันนี่ คือการได้ดู ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งโน้นสิ่งนี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี่แหละ นี่แหละ ชีวิตประจำวันของเราก็คือการรับรู้สิ่งเหล่านี้ ทั้งวันนี่มีอะไรบ้าง เดี๋ยวก็เห็นโน้น เดี๋ยวก็ได้ยินนี่ เดี๋ยวก็ได้กลิ่นนั่น เดี๋ยวก็สัมผัสแตะต้องนี่ เดี๋ยวใจก็รับรู้อย่างโน้นอย่างนี้นี่ นี่แหละ มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา
ทีนี้ ไอ้สิ่งที่เรารับรู้ต่าง ๆ นี่เข้ามาตลอดเวลา แต่ว่าเราจะใช้ปัญญาไหม เอาสิ่งนี้มาใช้ประโยชน์ไหม ถ้าเอาสิ่งนี้มาใช้ประโยชน์ปั๊บ เกิดการพัฒนา เกิดการฝึกทันทีเลย ปัญญาเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วปัญญาก็เจริญขึ้น แต่คนจำนวนมากไม่รู้จักใช้ปัญญา อะไรมาปิดบังโอกาสนี้เสีย เออ
(ตอบ : กิเลสหรือเปล่าครับ)
กิเลสนั่นก็เป็นการพูดคลุม ๆ นะ มันต้องเอาออกมาให้ชัดเลย ตัวที่มันมา เอาละ ก็กิเลสนี่แหละ แต่มันต้องบ่งตัวให้ชัดออกมาว่าเอาตัวไหน ในเวลาเรารับรู้อะไร อ้าว เช่น เห็นอะไรอย่างนี้ ได้ยินอะไรนี้นะ ก็คือ เราไม่รู้จักเรียนรู้ การที่จะมีปัญญานี่ต้องเรียนรู้ เราต้องเรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้พบได้เห็นตลอดเวลา ทีนี้ว่า เราไม่เรียนรู้เพราะอะไร แล้วเราไปติดอยู่กับอะไร คือสิ่งทั้งหลายที่เราได้เห็นได้ยินนี่ ที่เข้ามาทุกทางนี่ มันจะมีที่สบายกับไม่สบาย ที่ถูกใจไม่ถูกใจ จริงไหม
(ตอบ : จริง)
จริง ทีนี้ พอถูกใจเราก็ชอบ ไม่ถูกใจเราก็ไม่ชอบ คือ ชัง หรือทางพระท่านเรียกว่า ถูกใจก็ยินดี ไม่ถูกใจก็ยินร้าย ทีนี้ คนจำนวนมากนั้นไปเขวอยู่ตอนนี้แหละ เขวตอนที่ว่า พอเรารับรู้อะไรเข้ามาปั๊บนี่ มันไปถูกไอ้ตัวนี้ ถูกใจไม่ถูกใจ มันก็พาไปชอบชัง ยินดียินร้ายเสียหมด พอเราชอบหรือชังนี่เราก็คิดแล้ว ใช่ไหม คิดไปตามชอบชังนั้น ก็มัวไปติดในความชอบความชัง ไม่ได้เรียนรู้สิ่งนั้นแล้ว ไม่ได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรไป
ทีนี้ ตอนที่คนจะพัฒนา คนจะเริ่มฝึก ก็คือเขาจะเรียนรู้ ที่ครูอาจารย์สอนก็เขาให้เรา ชี้ให้เราเห็นว่า เออ สิ่งนั้น ๆ มันมีจุดที่ควรเรียนรู้อะไร เท่านั้นเอง ครูอาจารย์มาแนะสิ่งนี้เป็นส่วนมาก บอก โอ ท่านมองผ่านไปแล้วนี่ ไม่ได้ดูนี่ จุดนี้นะ ท่านได้ประโยชน์ เรียนรู้เสีย แล้วเอามาใช้ได้
ทีนี้ สิ่งที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี่ วันหนึ่งนับไม่ถ้วน แต่เสร็จแล้วเราไปติดอยู่แค่ชอบชัง ก็จบกันเท่านั้น เลยไม่ได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้น อุปสรรคอันที่หนึ่ง ก็คือ การรับรู้ของเราเองที่เขวออกไปสู่ความชอบชัง ยินดียินร้าย ชอบเกลียด อย่างนี้ มีชอบกับเกลียด ไม่เอาอะไร เท่านั้นก็จบกัน
ทีนี้ ถ้าเราเรียนรู้ปั๊บ เราก็ได้ประโยชน์มาสิ อันนี้คืออะไร อันนี้เป็นอย่างไร ทำไมเป็นอย่างนี้ นี่ได้แล้ว เรียนรู้ อันนั้นจุดรับ จากจุดที่จะเกิดปัญญาอันนี้ ใช้ปัญญานี้ หนึ่งแล้วนะ อุปสรรคสำคัญของการใช้ปัญญาที่ทำให้มนุษย์ไม่ฝึกฝนตน ก็จะต้องเปลี่ยน เขาเรียกว่า ท่าทีของจิตใจ ท่าทีต่อสิ่งทั้งหลาย ท่าทีในการรับรู้นี้ แทนที่จะเป็นท่าทีแห่งการชอบชัง ให้เปลี่ยนเป็นท่าทีของการเรียนรู้ พอเรามองอะไรปั๊บ เรามองเป็นการเรียนรู้หมด เราไม่มองว่าชอบชังแล้ว เรามองเป็นว่า เอ อันนี้มันมีประโยชน์อะไร มันเป็นมาอย่างไร ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ เราจะเอามาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง ถ้ามองอย่างนี้ปั๊บ ได้ทันทีเลย ปัญญาก็เกิด นี่หนึ่ง
สอง ก็อะไร สอง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ อุปสรรคสำคัญของเราคือ ความเคยชิน นี่แหละ คือเรานี่จะมีความเคยชินจนกระทั่งไม่รู้สึกตัว เห็นอะไรก็มีความเคยชิน รู้สึกอย่างไรก็รู้สึกอยู่แค่นั้นนะ ทำอะไรก็ทำตามเคยชิน ทำอย่างไรก็ทำอยู่อย่างนั้น ทำให้เราไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ปรับปรุงตัว ใช่ไหม มันก็เลยได้แค่ไหนก็แค่นั้น เพราะฉะนั้น ??? (นาทีที่ 14:30) จะคงที่เท่าเดิม ผู้ที่เอาแต่ความเคยชิน
แต่ความเคยชินก็เป็นของดีสำหรับมนุษย์ เพราะเราทำอะไรที่เราชำนาญก็เพราะเคยชินใช่หรือเปล่า แต่ต้องเป็นความเคยชินที่เกิดจากการที่ฝึกตัวแล้ว ฝึกให้เคยชินในเรื่องนั้น ๆ ที่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ไอ้ความเคยชินที่ดีนี่ต้องมาจากปัญญาก่อน จากการที่รู้ เช้าใจ เห็นประโยชน์ แล้วทำตามนั้น ก็กลายเป็นความชำนาญไป ความเคยชินแบบนี้ เรียก ความชำนาญ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ความเคยชินก็เลยแยกเป็น ๒ แบบ ความเคยชินชนิดที่เป็นเรื่องสามัญ ไม่ได้ใช้ปัญญาอะไร เขาเรียก เคยชิน เฉย ๆ ถ้าเป็นความเคยชินที่เกิดจากปัญญาแล้ว มีการฝึก นั่นเรียกว่า ความชำนาญ นะ ต้องแยกให้ได้ แล้ว ชำนาญ เขามาจากไหน ก็เคยชินนั่นแหละ นะ เพราะฉะนั้น เราต้องเอาด้านเคยชินที่เป็นความชำนาญ ทีนี้ ความเคยชินเป็นตัวอุปสรรคสำคัญเหมือนกันที่ทำให้เราไม่พัฒนา
นี่แหละ เพราะฉะนั้น เราจะต้อง หนึ่ง เวลารับรู้อะไร อะไรเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มองเป็นการเรียนรู้ หนึ่งล่ะ แล้วถ้ามีการพัฒนา จะมีการฝึกฝนตนเอง ปัญญาจะเกิด แล้วใช้ปัญญามากขึ้น ปัญญาพัฒนา
สอง ความเคยชินต่าง ๆ นี่ ต้องให้ปัญญามารู้ทัน แล้วก็ปรับปรุงแก้ไข อันไหนที่มันอาจจะไม่ได้ประโยชน์นะ มันไม่ดี ไม่ถูกต้อง หรือยังไม่พัฒนา ก็แก้ไขปรับปรุง เพราะว่าคนเรานี่จะมีปัญหาเรื่องนี้มาก เรื่องของการพัฒนา
ทีนี้ ก็เรื่องของ หนึ่ง เรื่องของการรับรู้ที่มีท่าทีเป็นชอบชัง กับ เรื่องของ สอง ก็ความเคยชิน
เอาละ ทีนี้ จุดอุปสรรคนะ อันนี้สำคัญนะ เป็นประโยชน์มากต่อไป เพราะมัน คนเราจะเจริญก้าวหน้าเมื่อมีการฝึกฝนพัฒนาตนเอง
ทีนี้ เป็นความรู้พิเศษเพิ่มขึ้นมาตอนนี้หน่อยหนึ่ง ความรู้พิเศษตอนนี้ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง เกี่ยวกับศัพท์ ก่อนที่จะก้าวกันนะ ??? (นาทีที่ 16:58) ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี่ ศัพท์ที่เรียกรวมเรียกว่าอะไรเอ่ย ทำอย่างไรจะพูดทีเดียวให้รู้หมดเลยว่าหมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
(ตอบ : ประสาทสัมผัส.. ??? (นาทีที่ 17:11))
ประสาทสัมผัสนี่ไม่คลุม ได้แค่ ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่รวมใจ ใจไม่นับเข้าในประสาทสัมผัส เอ ใครรู้ศัพท์ที่รวมหมด อ้าว เฉลย เพราะต่อไปจะต้องได้ยินศัพท์พวกนี้ เรารู้ไว้ก่อนเราสบายเวลาไปเรียนอะไร เรียกว่า อินทรีย์ เคยได้ยินไหมครับ
(ตอบ : เคย)
เคย นี่แหละ อินทรีย์ แต่ยังมีที่เรียกอย่างอื่นอีก เรียกว่า อายตนะ ก็ได้ อายตนะ มองในแง่การรับรู้นี่ ทางรับรู้ เราเรียกว่า อายตนะ เคยได้ยินไหม ศัพท์ว่า อายตนะ
(ตอบ : เคย)
เคย อายตนะทั้ง ๖ เป็นทางรับรู้ เชื่อมต่อเรากับโลกภายนอก ถ้าไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ เราเชื่อมต่ออะไรกับโลกภายนอกไม่ได้เลย ชีวิตของเราก็หยุดเฉพาะตัวเรา ฉะนั้น เรียกว่า อายตนะ เพราะมันเป็นตัวเชื่อมต่อให้เกิดการรับรู้เข้ามาได้ แต่มันก็เป็นแง่ทางรับรู้ ถ้ามองในแง่ด้วยการที่จะฝึกไปทำงาน เราเรียกว่า อินทรีย์ เพราะฉะนั้น ตัว อินทรีย์ นี่สำคัญ ฉะนั้น ที่เราจะฝึกตัวเองในการรับรู้นี่ ก็คือ ฝึกอินทรีย์ ฝึกตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า ฝึกอินทรีย์นะ นี่ด้านหนึ่งแล้ว ๆ ที่สำคัญ เพราะฉะนั้น ที่เราบอกว่า จุดสำคัญที่จะต้องเอามาใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ก็คือ การรับรู้นี้ ที่ว่า รับรู้ไม่ให้เป็นเพียงชอบชัง แต่ให้รับรู้กับการเรียนรู้นี่ ก็คือ ต้องฝึกอินทรีย์ทั้ง ๖
แล้วก็ด้านที่ ๒ ด้านความเคยชิน ความเคยชินที่เป็นความชำนาญนั้นฝ่ายดี เป็นปัญญาแล้ว เชี่ยวชาญ ทีนี้ ความเคยชินที่พูดรวม ๆ นี้ ความเคยชินที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่ว ๆ ไปนี่เรียกว่าอะไร เอาศัพท์กันก่อน แล้วค่อยก้าวต่อไป
(ตอบ : กิจวัตรประจำวัน)
ถ้า กิจวัตร นี่ตั้งใจทำแล้ว ทีนี้ ไอ้ความเคยชินวันนี้มันเป็นไปเองเลย เราไม่ได้ตั้งใจเลย กิจวัตรนี่ต้องตั้งใจ วางเป็นกฎ เป็นเกณฑ์ เป็นวินัยแล้ว อย่างเป็นข้อปฏิบัติในการฝึก
เออ ใครทราบบ้าง ความเคยชิน
(ตอบ : นิสัย)
นิสัย อ้าว นิสัย ๆ เคยได้ยินทุกคนเลยใช่ไหม นิสัย คือ ความเคยชิน นิสัย คือ ความเคยชิน ความเคยชินทั่วไปแหละ ชอบทำนั่นทำนี่ คนนี้เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่รู้ว่าเกิดจากปัญญาหรือไม่ ถูกหรือมีประโยชน์ ดีแก่ตนเอง แก่ชีวิต แก่สังคมหรือเปล่า ไม่คิดทั้งนั้น เอาเป็นนิสัย
ทีนี้ นิสัยนี่แหละ เมื่อมันตก เรียกว่าตกร่อง อยู่ประจำตัวไปแล้วนะ เขาเรียกว่า วาสนา นะ เณรจะได้ยินศัพท์ใหม่ แต่ที่จริงเป็นศัพท์เก่า เคยได้ยินไหม วาสนา เคยได้ยินไหม เณรเต็น ??? (นาทีที่ 20:13)
(ตอบ : เคย)
เคย วาสนา ได้ยิน แต่ว่าคนไทยเข้าใจผิด คนไทยมองวาสนาคืออะไร เณรอนุรักษ์
(ตอบ : วาสนา คือ แบบมีบุญมาก หรือ...)
นั่น มันก็ลอยมาจากฟากฟ้าหรืออย่างไร ใช่ไหม คนนี้วาสนาดี แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญแข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้ เคยได้ยินหรือเปล่า
(ตอบ : เคย)
เคย เขามองวาสนาเหมือนกับมันอยู่ข้างนอกตัวเราแล้วมาบันดาลโชคชะตาใช่หรือเปล่า เหมือนกับเป็นอย่างนั้นนะ ที่จริงวาสนาไม่ได้อยู่นอกตัว วาสนาอยู่ที่ตัวเรา คือ ความเคยชิน ความเคยชินที่มันติดตัวเป็นธรรมดา ทำอะไรไปโดยไม่รู้ตัว อย่างเช่นว่า อย่างนี้ คนหนึ่งพูดกระโชกโฮกฮาก คนหนึ่งพูดนุ่มนวลละมุนละไม บางคนพรวด ทำอะไรก็รวดเร็ว จนกระทั่งว่ากลายเป็นพรวดพราด บางคนทำก็รวดเร็วแค่คล่อง บางคนก็ทำรวดเร็วกลายเป็นอะไร กลายเป็นพรวดพราดอย่างที่ว่า บางคนช้าจนเนิบนาบไปเลย เดินก็เดินนวยนาด อะไรอย่างนี้ คนต่างกันไหมในเรื่องเหล่านี้ ต่างกันมากเลย คนต่างกันนี่เป็นลักษณะประจำตัว ลักษณะประจำตัวที่เกิดจากการทำจนเคยชินอย่างนี้ เรียกว่า วาสนา นะ
วาสนานี่ ตอนนี้แหละที่มันจะมีผลต่อชีวิตของเรา ถ้าเราเป็นคนที่ทำเรื่องพูด พูดจนเคยชินแบบกระโชกกระชาก เราไปพบใคร พูดกับใครปั๊บ เขาก็ได้ภาพประทับใจแต่เบื้องต้นในทางไม่ชอบใจเรา คน เป็นอันว่าคนนี้มีหวังว่าต้องเจอคนแล้วทำให้คนไม่ชอบใจได้มากนะ แต่อีกคนหนึ่งนี่พูดจานุ่มนวล ก็พอไปเจอกับใคร แม้แต่ครั้งแรก ก็มักจะได้ภาพประทับใจที่ทำให้คนพอใจ อีกคนหนึ่งเป็นคนพูดจาระมัดระวัง มีเหตุมีผลนะ จะพูดอะไรต้องกลั่นกรองก่อน มันก็ทำให้กลายเป็นคนที่น่าเชื่อถือ
ทีนี้ ลักษณะประจำตัวที่เป็นวาสนาเหล่านี้ เวลาไปสัมพันธ์กับใครนี่มีผลต่อชีวิตของเขา ทำให้คนอื่นมีความรู้สึกนึกคิดต่อเขา แล้วปฏิบัติต่อเขาต่างกันไป สมมุติพวกเราไปทำงานนี่ เราเป็นคนกระพูดกระโชกกระชาก อีกคนหนึ่งเขาเป็นคนพูดนุ่มนวล อีกคนหนึ่งเป็นคนพูดมีเหตุมีผล ระมัดระวัง สมมุติว่าผู้บังคับบัญชาจะใช้งาน ใช้งานที่เกี่ยวกับการพูด แล้วเขาจะเลือกเอาคนไหน
(ตอบ : คนมีเหตุผล)
อ้า อย่างนี้ เป็นต้น หรือถ้าในเรื่องที่เกี่ยวกับจะให้สบายใจ สมมุติว่าจะเอาคน ๆ หนึ่งไปพูดกับคนไข้อย่างนี้ เขาจะเอาคนไหน
(ตอบ : นุ่มนวล)
เอาคนนุ่มนวล อย่างนี้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น วาสนามันก็มีผลต่อชีวิตของเขา ทำให้ชีวิตของคนเราเป็นไปต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ไอ้ความเคยชินที่เป็นวาสนานี้จึงมีผลต่อชีวิต ทีนี้ คนไทยเรานี้พูดคำว่า วาสนา เอาแต่ในแง่ว่า มันเป็นตัวโชคชะตา สิ่งที่ทำให้โชคชะตาเป็นไป โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าตัวแท้มันอยู่ที่ไหน เลยกลายเป็นของนอกตัว อยู่ฟากฟ้าลอยมาดลบันดาล ที่จริงไม่ใช่ วาสนาอยู่ที่ตัวเรา นี่แหละ วาสนาแต่ละคนนี่สำคัญมาก
ทีนี้ ถ้าคนที่มีปัญญาก็จะไม่ตกอยู่ในอำนาจวาสนา คือไม่ยอมปล่อยให้เป็นไปตามวาสนา จะแก้ไขปรับปรุงวาสนา
เอานะ หนึ่ง ด้านที่หนึ่ง คือ ฝึกอินทรีย์ การรับรู้ การที่เราจะพัฒนาตัวเองได้ต้องฝึกอินทรีย์ การรับรู้ ให้เป็นการเรียนรู้หมด พยายามมองดู รู้เห็น ได้ยินอะไร จะให้เป็นการเรียนรู้ อย่าให้เป็นไปตามชอบชัง สอง ก็ด้านความเคยชินที่เป็นวาสนา จะต้องแก้ไขปรับปรุงนะ แล้วเปลี่ยนไปได้ อย่างพระพุทธเจ้านี่ไม่ยอมอยู่ใต้การบันดาลของวาสนาเลย จนกระทั่งเขาเรียกว่าเป็นผู้ละวาสนาได้หมดสิ้น คือหมายความว่า ทำอะไรนี่ไม่ขึ้นต่อวาสนา คนเราธรรมดานี่แล้วแต่วาสนาพาไป ส่วนมากเลยจะไม่ได้แก้ไข จุด ๒ จุดนี่ ถ้าใครทำได้ก็เป็นอันว่าพัฒนาฝึกฝนตัวเองได้เป็นพิเศษ
อ้าว แล้วทีนี้ ทีนี้ เมื่อเรารู้แล้วว่า หนึ่ง เรื่องอินทรีย์ การรับรู้ ดูเห็น เป็นต้น ได้ยิน สอง ก็เรื่องวาสนา ความเคยชินที่ติดตัวเป็นลักษณะประจำตัวที่มีผลต่อชีวิตนี่ สองอันนี้เป็นตัวที่ต้องแก้ไขปรับปรุง แล้วเราก็ต้องใช้ปัญญานั่นแหละ แต่ปัญญาจะมาได้อย่างไรในตอนนี้ ตัวอะไรที่จะมาช่วย พอทำอย่างไร เราจะ พอได้ยิน ได้เห็นอะไรปั๊บนี่ อินทรีย์มันรับรู้แล้ว มันจะไปตามชอบชัง ทำอย่างไรจะดึงให้มันมาทางการเรียนรู้ หนึ่ง เอาละ เราเรียกว่า อย่างวาสนา เราก็ทำ เคยชิน เราก็ไม่รู้ตัว ตัวอะไรจะมาบอกให้รู้ เออ ไม่ได้นะ ต้องแก้ไข อันนี้ไม่ดีแล้ว
(ตอบ : สติ)
อ้า สติ เออ ...ก็สำคัญ ??? (นาทีที่ 25:36) ได้ ตัวนี้คือตัวสำคัญมาก ตัว สติ นี่ เป็นตัวที่ช่วยจะให้ปัญญาเริ่มเดิน ปัญญามันจะทำงานแต่มันไม่มีใครมาชักจูงหรือว่ามากระตุ้นให้มันทำงาน มันก็อยู่อย่างนั้น แต่มันเป็นตัวสำคัญ ถ้าไม่มีปัญญาก็เป็นอันว่าไปไม่ได้ แต่ปัญญาจะเริ่มทำงานอย่างไร โดยมากตัว สติ จะมาเป็นตัวกระตุ้น เป็นตัวเริ่มต้น สติเป็นตัวสำคัญมาก เพราะฉะนั้น สติจะทำงานคู่กับปัญญา เราจะได้ยินว่า เวลาพูดจะมักชื่อพูดด้วยกันใช่ไหม สติปัญญา ตัวที่จะชักให้ปัญญามาทำงาน จึงพูดรวมกันไปว่า สติปัญญา พอรับรู้อะไรปั๊บ บางทีสติบอกแต่ต้นเลย พอสติบอกปั๊บก็เรียนรู้เลย ไม่ไปชอบชัง กั้นความชอบชัง หรือบางทีเผลอไป ชอบชังไปแล้ว เพราะคนเรานี่มันยาก อะไรกระทบปั๊บ มันขัดใจ มันก็ไม่ชอบก่อนแล้ว ก็แสดงว่าเขวไปแล้ว ไปทางชอบหรือชัง แต่สติเกิดปั๊บนี่ มันตัดแค่นั้น ชอบชังเกิดแล้ว หยุด หันมาทางเรียนรู้ ใช้ปัญญาพิจารณา ได้ความรู้ ปัญญาพัฒนา ฝึกตนได้ทันที
ฉะนั้น สติเกิดตอนไหนก็ได้ เกิดตั้งแต่ต้นเลยก็ได้ ให้เริ่มต้น ปัญญามาปุ๊บเลย หรือว่าไปในระหว่างเกิดเผลอไป ก็พลาดไปแล้ว ก็เขว ก็ดึงกลับ นะ สติก็มาทบทวนอีก เช่น อย่างเรื่องการกระทำของเรา เป็นความเคยชิน เป็นวาสนา อย่างนี้ ดี ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ทบทวน สติเอามาระลึกขึ้นมา ทบทวนพิจารณา เป็นตัวชักนำหมดเลย หนึ่ง ให้รู้ ๆ เบื้องต้นเลย ชักเข้าหาปัญญาเบื้องต้น สอง กั้น ยับยั้งส่วนที่พลาดแล้ว สาม เอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาทบทวน ทำได้ทุกขั้นตอน อันนั้น สติทำงานคู่กับปัญญา
ก็นี่แหละ ตกลงว่า กระบวนการที่เราจะฝึกฝนพัฒนาตัวเองนี้ ให้เอาปัญญา ไม่ใช่ให้หรอก มันเป็นธรรมดาธรรมชาติ ต้องมีปัญญาเป็นคุณสมบัติหลัก แต่ต้องเอาสติมาช่วยเพื่อจะให้ปัญญาเริ่มทำงาน แล้วก็ออกมาทาง ๒ ด้านที่สำคัญ หนึ่ง ก็คือ ทางด้านอินทรีย์ การรับรู้ ให้เป็นการเรียนรู้ ฝึกอินทรีย์ด้วย สอง ก็ด้านวาสนา ความเคยชิน ต้องคอยตรวจสอบ คนที่เขาฝึกตัวเองได้ดีนี่นะ มันไม่ตกอยู่ในอำนาจความเคยชินมาก มันคอย สติมันไว เพราะฝึกมันไว้มาก มันไวปั๊บ พอตัวเองทำอะไรไป เคยชิน จะพลาด เอ จะไม่ดี มาระลึก มาทวน มาคิด มันชวนให้ปัญญามาทันที แล้วพิจารณาว่า ไอ้การเคยชินอันนี้ไม่ดีแล้ว เอ ต้องแก้แล้ว ต้องยั้งแล้ว มันก็ ๆ ทำให้ไม่พลาด พลาดได้ยาก แล้วได้ประโยชน์จากทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นก็ ท่านจึงให้ฝึกสติ แล้วก็ให้ใช้ปัญญาอยู่เสมอ ฝึกสติไว้เสมอ ใช้ปัญญาไว้เสมอ เราจะกลายเป็นความเคยชินชนิดใหม่ นี่คือ ความเชี่ยวชาญ นั่นเอง ความชำนาญในการใช้สติ ก็คือว่า สติมันจะเกิดไวมาก เวลาตัวทำอะไรปั๊บนี่ มันระลึก มันเตือนปั๊บเลยว่า เอ๊ะ ไอ้นี่เราทำตามเคยชิน พอมันเป็น ??? (นาทีที่ 29:05) ความเคยชินที่เกิดจากปัญญา เป็นความชำนาญหรือเปล่า หรือเป็นความเคยชินที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นความเคยชินที่ผิดพลาดปั๊บ อ้าว เตรียมแก้ไขแล้ว
แต่ แต่ว่าแก้ยากนะ ความเคยชินนี่ เดี๋ยวมันก็มาอีกแหละ แต่มันสติมา มันก็เตรียมแก้ พอแก้หลายครั้ง ๆ มันก็เปลี่ยนไปได้เลยนะ เพราะฉะนั้น นี่เป็นวิธีการที่จะได้ประโยชน์มาก คนที่จะพัฒนาตัวเอง เจริญก้าวหน้า ฝึกฝนได้ดีก็อย่างนี้แหละ เราเอาเคล็ดลับอันนี้ไปใช้ในชีวิตจะประสบความก้าวหน้าและความสำเร็จ ฉะนั้น ความเคยชินนี่สำคัญมาก บางทีเราก็ไม่รู้ตัวนะ บางทีต้องให้คนอื่นมาเตือน แต่ว่าถ้าเป็นคนที่มีสติดีนี่จะคอยสังเกตแล้วก็ได้...เลย ??? (นาทีที่ 29:54) พวกเราก็มีความเคยชินกันต่าง ๆ อย่างบางองค์นี่เวลาฉัน ชอบเอาข้อศอกยัน ยันเข่าตัวเองบ้าง ยันโต๊ะบาง นี่แหละ ทีนี้ว่า มันก็ทำให้เสียบุคลิกภาพเหมือนกัน เวลาต่อไประยะยาวนะ หรือบางองค์ก็อาจจะมีความเคยชินอะไรต่ออะไรของตัวเองแต่ละคน ๆ นั้น เป็นความเคยชินที่เราได้ตรวจตราด้วยปัญญาหรือยัง เอาสติมาเป็นตัวนำตรวจตราด้วยปัญญา พอพิจารณาเห็นว่า เออ ความเคยชินนี้ใช้ได้ เราก็เอาแล้ว ให้มันเข้าที่ ก็กลายเป็นความชำนาญไป ถ้าความเคยชินไหนเราสำรวจแล้วว่า เอ มันไม่ดีนะ มันจะเป็นผลเสียต่อชีวิตของเรา ต่อบุคลิกภาพ หรือว่าอาจจะเป็นผลเสียต่อสังคม การอยู่ร่วมกัน เราก็รู้ตัว แล้วเราก็แก้ไขได้ เพราะฉะนั้นก็ นี่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนมีสติดีแล้วก็ใช้ปัญญาอยู่เสมอก็จะเป็นผู้ที่ได้เจริญก้าวหน้าด้วยการฝึกฝนพัฒนาตนเอง
ตอนนี้ก็เอาไอ้เรื่องหลักทั่วไปมาพูด ทีนี้ ต่อไปก็จะพูดด้านต่าง ๆ ที่เราจะต้องพัฒนาตัวเอง ก็มีด้านไหนบ้าง แต่ว่าเอาไว้แค่นี้ก่อน คราวหน้าเราจะมาพูดกันถึงด้านที่จะต้องพัฒนาตัวเอง ถ้าเรามีหลักในการพัฒนาแล้ว แล้วเรารู้ว่าด้านไหนบ้างของชีวิตที่ต้องพัฒนานี้ มันก็ครบแหละ สมบูรณ์ ทีนี้ เราต้องมาดูแจกแจงกันไปว่าเราจะพัฒนาตัวเราด้านไหนบ้าง ด้านที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ทีนี้ คนไหนที่เป็นคนที่พร้อมกับการฝึกฝนพัฒนาตนเองนี่จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้มาก ฉะนั้น นี่คือความประเสริฐของมนุษย์ที่ต่างจากสัตว์ทั้งหลาย แล้วก็ถ้าคนไหนยิ่งสามารถฝึกตนเองได้ มีความไวในการฝึกตน คนนั้นก็ยิ่งวิเศษในหมู่มนุษย์ด้วยกันอีก เป็นความประเสริฐที่สำคัญ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าหรือมหาบุรุษทั้งหลายที่มีความวิเศษก็อย่างนี้ ด้วยการฝึกฝนตนเอง จะเห็นว่ามีการรู้จักเรียนรู้อะไร ต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองตั้งแต่เล็ก ๆ ไปเลย
เอาละ วันนี้ก็พูดกันพอสมควร ก็ขอเท่านี้ก่อน เดี๋ยวเณรจะได้เตรียมตัว แล้วก็ร่ำเรียนหนังสือกันต่อไป ก็ขออนุโมทนา เอาละ วันนี้กราบพระได้แล้ว