แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพรวันนี้อาตมภาพก็ขออนุโมทนา คุณโยมที่ได้เอื้ออำนวยให้ได้มาพักผ่อน ได้มารับบรรยากาศที่สดชื่นแล้วก็รื่นรมย์ อนุโมทนาทั้งคุณโยมชม คุณโยมคุณหญิงรัตนะ ผู้ได้นำมา แล้วก็คุณโยมทางสวางคนิวาสทุกท่าน ความสงบสงัดหรือความรื่นรมย์นี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนาก็ตรัสสรรเสริญ เพราะว่าเป็นเครื่องช่วยให้จิตใจดีงามขึ้น คือความสงบสงัดทางกายนี้ เป็นปัจจัยช่วยเกื้อหนุนให้จิตใจก็พลอยสงบด้วย เมื่อจิตใจสงบแล้ว ก็สามารถปฎิบัติธรรมได้ผลดี เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเรื่องความสงัดนี้ว่ามี 3 อย่าง ถ้าเรียกเป็นศัพท์ทางพระ ก็เรียกวิเวก วิเวกนี้มี 3 อย่าง คือ (1) กายวิเวก การสงัดทางกาย แล้วก็ (2) จิตตวิเวก ความสงัดทางใจ แล้วก็ (3) อุปธิวิเวก คือความสงัดจากกิเลส
อันที่ (1) กายวิเวก ความสงัดทางกาย ก็ได้แก่สถานที่ ที่รื่นรมย์ ที่สงัด เช่น ป่าหรือสวน หรือว่าอย่างสถานที่นี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับสถานที่อย่างกรุงเทพฯ แล้ว ก็สงบสงัดกว่าเป็นอันมาก ในกรุงเทพฯ นั้นก็จอแจเต็มไปด้วยหมู่คน แล้วก็เต็มไปด้วยการจราจร หาความสงบสงัดได้ยาก มาในสถานที่นี้ ก็ช่วยฟื้นฟูจิตใจ ก็ได้อาศัยความสงบสงัดของทางด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งรวมอยู่ในคำที่พระ เรียกว่า กายวิเวก
(2) จิตตวิเวก เมื่อได้มีกายวิเวกเป็นเครื่องเกื้อหนุนแล้ว ก็สามารถที่จะสร้างความสงบสงัดทางใจได้ง่ายขึ้น ความสงบสงัดทางใจที่สำคัญก็คือ สมาธิ สมาธินั้นทำให้จิตใจพ้นจากเครื่องรบกวน พ้นจากความฟุ้งซ่านต่างๆ จิตใจสงบแล้วนั่นก็คือ ความบรรลุถึงจุดหมาย เพราะที่เราได้อาศัยกายวิเวก ความสงัดทางกายนั้นก็เพื่อให้ใจของเราสงบ นี้ถ้าหากว่าได้อาศัยกายวิเวกแล้ว จิตก็วิเวกด้วย อันนั้นก็ถือว่าได้บรรลุผลสมความมุ่งหมาย เพราะว่ากายวิเวกอย่างเดียวนั้น ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะต้องได้จิตตวิเวกเสมอไป ถ้าหากว่าจิตของเราไม่สงบ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน แม้สมาธิสงบ ก็คิดฟุ้งซ่านต่อไปได้เหมือนกัน บางทีความทุกข์ก็ตามไปรบกวนได้ เพราะฉะนั้นก็ทางพุทธศาสนาท่านก็สอนวิธีการปฎิบัติแห่งจิต เพื่อให้ได้จิตตวิเวก ความสงบทางจิตด้วย เมื่อได้สมาธิ จิตตั้งมั่นดีแล้ว ก็พ้นจากกิเลสเหล่านั้น จิตใจสงบก็เป็นจิตตวิเวก
แต่ท่านบอกว่ายังมีความวิเวก หรือความสงัดที่สูงขึ้นไปอีก คือวิเวกแบบที่ (3) ที่ท่านเรียกว่าอุปธิวิเวก อุปธิวิเวกแปลว่า ความสงัดจากกิเลสที่เป็นเชื้อของความทุกข์ หรือตัวเชื้อของกิเลสนั่นเอง ถ้าเชื้อของกิเลสยังมีอยู่ในใจของเราแล้ว แม้ได้ที่สงัดกาย แม้จิตใจจะมีสมาธิ มันก็ไม่ถาวร กายวิเวกก็สงบกาย ใจอาจจะสงบบ้าง หรืออาจจะไม่สงบบ้าง หรือแม้ในใจสงบได้จิตตวิเวก ได้สมาธิแล้ว แต่ว่าบางทีเวลาเราพ้นไปจากสภาพจิตนั้น เช่นว่า ได้สมาธิอาจจะถึงฌาณ แต่พอออกจากฌาณแล้วกิเลสก็มารบกวนได้อีก ก็เพราะว่าไม่หมดอุปธิ คือเชื้อกิเลสไม่หมด เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนาท่านก็สอนให้ชำระจิตของเรา ให้หมดจดถึงขั้นว่าไม่ให้มีกิเลสเหลืออยู่ ถ้าทำถึงขั้นนั้นละก็ เรียกว่า เป็นความวิเวกหรือความสงัดที่สมบูรณ์ จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ความสงบสงัด ได้ความสุขที่แท้จริง
ในทางพุทธศาสนาจึงสอนพุทธศาสนิกชนว่า ให้เรานี่พยายามที่จะบำเพ็ญความสงบสงัดเหล่านี้ให้สมบูรณ์ ถ้าได้ขั้นที่ 1 ก็นับว่าดีไประดับหนึ่งแล้ว ถ้าทำให้ดียิ่งขึ้นก็คือให้ได้ขั้นที่ 2 ให้มีจิตตวิเวกด้วย ถ้ามีจิตตวิเวกแล้วก็ยังไม่มีหลักประกันที่สมบูรณ์ ต้องให้ได้อุปธิวิเวก คือสงัด สงบ ปลีก ห่าง พ้นจากตัวเชื้อกิเลสทั้งหมด เมื่อนั้นก็จะได้บรรลุความสุข ความสงบที่สมบูรณ์ ความสุข ความสงบที่สมบูรณ์นั้นเมื่อได้แล้ว ท่านบอกว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็เป็นที่รื่นรมย์ไปหมด ดั่งพุทธภาษิิตที่บอก ว่า “ คาเม วา ยทิวารญฺเญ นินฺเน วา ยทิวา ถเล ยตถฺ อรหนฺโต วิหรนฺติ ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ “ ก็แปลว่า ท่านผู้ไกลจากกิเลสไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ไปอยู่ในป่า หรืออยู่ในบ้าน จะอยู่ในที่ลุ่ม หรือที่ดอน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้ก็คือสถานอันรื่นรมย์ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจิตใจของเราไกลจากกิเลส เพราะฉะนั้นจุดสำคัญก็คือว่า ชำระจิตใจให้พ้นจากกิเลสทั้งปวง แต่รวมความแล้วจะเป็นวิเวกขั้นไหนก็ตาม ก็ทำให้มีความสุขทั้งนั้น แต่เป็นความสุขที่อยู่ผิวเผินบ้าง ลึกซึ้งบ้าง ถ้าเรายิ่งทำความสงัดได้มากถึงกี่ขั้นมากขั้นขึ้นไป ก็ยิ่งได้ความสงบสงัดที่ลึกซึ้งมากขึ้นเท่านั้น แล้วก็ความสงัดเหล่านี้ที่ทำได้ถึงขั้นสูงสุดก็จะเพิ่มยิ่งๆ ขึ้นไป
แล้วก็การที่ได้วิเวกนี้ก็ได้อาศัยความเอื้ออำนวยอุปถัมภ์ของโยม เพราะฉะนั้นโยมนี่ก็ได้ปฎิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ถือว่าเท่ากับเป็นผู้ให้ความสุข ถ้าหากว่าท่านที่มาในที่นี้ได้รับความสงบ สงัด และมีความสุข จะเป็นความสุขกาย หรือสุขใจก็ตาม โยมก็เป็นผู้ให้ความสุขนั้นด้วย
ตามหลักของศาสนาท่านบอกว่า ผู้ที่ให้ความสุขแก่ผู้อื่นนี้ก็ได้รับอานิสงค์ ผู้ให้ความสุขก็ย่อมได้ความสุขด้วย เพราะฉะนั้นอาตมภาพก็ขออนุโมทนาคุณโยมที่ได้อุปถัมภ์ในสถานที่ ได้มาเยี่ยมเยือนครั้งนี้ แม้จะเป็นเวลายาวก็ตามสั้นก็ตาม ก็ขอให้โยมผู้ได้ให้ความสุขแล้วนี้ จงได้ประสบความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งความสุขกายและความสุขทางใจ รตนัตตะยานุภาเวนะ รตนัตตะยาเตชะสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ ตกปุญญานุภาเวนะ??? และด้วยอานุภาพบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้ว จงเป็นปัจจัยให้โยมได้บรรลุจตุรพิธพรชัย มีความสุขกายสบายใจ เจริญงอกงามในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเจริญงอกงามด้วยความสุข ความสมบูรณ์ สิ่งที่ปรารถนา ความสำเร็จสมดังใจปรารถนา ตลอดกาลนาน เทอญฯ