แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เรื่องว่าอารยธรรมมนุษย์นี่ สร้างขึ้นมาโดยที่มนุษย์นี่ ก็มีปัญหาเรื่องการสนองความอยากในทางตัณหาที่จะเสพด้วย อันนี้ก็สัตว์ทั้งหลายอื่นก็มีความใฝ่เสพอยู่ด้วยการเสพเป็นปกติ แต่ว่าทำไมสัตว์ทั้งหลายอื่น จึงไม่สามารถสร้างอารยธรรมใช่ไหม อันนี้ก็ในตัวมันเองก็ตอบไปแล้ว แต่ว่ามันก็มีเรื่องที่น่าจะคุยกันอีก มีข้อที่น่าสังเกต 2 อย่าง ก็คือว่า เอาละ 1. ที่เราพูดกันไปแล้ว ก็สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ๆ มันไม่มีความสามารถในการที่จะเรียนรู้ ที่เรียกว่าศึกษาและก็สร้างสรรค์ใช่ไหม คือ มันฝึกตนไม่ได้นั่นเอง มันไม่ใช่สัตว์ที่ฝึกได้ คือ ฝึกได้ในขอบเขตจำกัด จนกระทั่งเราเรียกว่าฝึกไม่ได้ ทีนี้มนุษย์มีความสามารถพิเศษตรงนี้ ตรงที่ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เรียกว่าศึกษาและสร้างสรรค์ได้ อันนี้ก็เป็นเหตุให้มนุษย์สามารถสร้างอารยธรรม แต่ปมปัญหามันอยู่ที่ว่า มนุษย์นั้น มีไอ้ตัวความต้องการที่จะเสพหรือตัณหานี้เป็นพื้นอยู่ เจ้าฝ่ายตัณหานี้มาครอบงำ ก็ไปเป็นตัวแรงอิทธิพลที่เข้ามาอยู่เบื้องหลังที่ทำให้การศึกษาการสร้างสรรค์นั้น กลับไปสนองด้านเสพหรือด้านต้องการเสพเสียเอง มันก็เลยทำให้มนุษย์ไม่สามารถจะพัฒนาอารยธรรมไปในทางที่จะดีงามแท้จริงได้ อารยธรรมก็เลยกลายเป็นตัวก่อปัญหาเสียเอง และอีกอย่างที่น่าสังเกตก็คือว่า ดูสัตว์ชนิดอื่นที่มันเสพมันเสพอยู่แค่สัญชาตญาณ มันจำกัดมากนะแม้แต่การเสพของมัน หาอาการการกินมาเสพเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด แล้วมันก็เท่านั้นแหล่ะ มันจะไม่มีไอ้เรื่องของการทำให้วิจิตรพิสดารอย่างคน
มนุษย์นี่สิ มันอยากจะเสพแล้วมันพัฒนา ที่จริงมันไม่ใช่พัฒนา แต่เราต้องเอาศัพท์นี้มาใช้เรียกว่าพัฒนา ขยายนั่นเอง ขยายปริมาณ และดีกรีของการเสพให้มัน หนักหนา มโหฬาร อย่างที่เรียกว่าเทียบกับสัตว์อื่นไม่ได้เลย อันนี้ด้านนี้มนุษย์ก็เหลือเกินใช่ไหม ฉะนั้นจะว่าสัตว์ทั้งหลายที่มันเป็นนักเสพ มันไม่ได้เป็นนักเสพมากมายอย่างมนุษย์ มันเสพแค่ตามสัญชาตญาณ แล้วมันก็จบ อันนี้เห็นชัดใช่ไหม เรื่องการเสพของมนุษย์นี่มันเหลือหลายแล้ว ยิ่งมนุษย์มาเข้าใจผิด นึกว่าความสุขของตนอยู่ที่การเสพด้วยละก็ มันก็ยิ่งมาเน้นด้านนี้ นั้นจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ เรื่องของอารยธรรมเนี่ยะ มาสนองในด้านพัฒนาที่เรียกว่าด้านวัตถุ ก็เพื่อจะสนองตัณหาในการเสพของมนุษย์ จนกระทั่งสังคมนี้กลายเป็นสังคมบริโภคนิยมไป นี่ก็เป็นข้อสังเกต ทีนี้หันกลับมาเรื่องของอารยธรรมของมนุษย์อย่างเดียวไม่ต้องพูดถึงสัตว์อื่นแล้ว เอามนุษย์เองเนี่ยะ
อารยธรรมมนุษย์ที่เป็นมานี้ ก็จะมีข้อสังเกตเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย ก็คือว่า การที่มนุษย์มีการศึกษาและสร้างสรรค์ มักจะไม่ได้เกิดจากปัญญาที่แท้จริง คือ มักจะเกิดจากเหตุบีบคั้น โดยเฉพาะความจำเป็น เช่นในการอยู่รอดอย่างอารยธรรมตะวันตกที่เจริญมาได้อย่างนี้ แล้วเรามาเทียบกับตะวันออกของเรา เขาก็ภูมิใจว่าเขาได้สร้างสรรค์อารยธรรมเจริญก้าวหน้ามากใช่ไหม แต่นี้เบื้องหลังการสร้างสรรค์อารยธรรม ซึ่งตัวสำคัญก็คือเรื่องการศึกษาและสร้างสรรค์คือต้องเรียนรู้ ต้องแสวงหาปัญญา อยากจะรู้อะไรเป็นอะไร มีความใฝ่รู้และพยายามสร้างสรรค์ มีความเพียรพยายามในการกระทำ เหน็ดเหนื่อยก็ไม่ถอย อันนี้มันเกิดมาได้อย่างไร ก็เกิดจากแรงบีบคั้นของความเป็นอยู่เป็นสำคัญ มนุษย์ก็ในฐานะที่เป็นปุถุชน แกก็มีความโน้มเอียงไปด้านความรู้สึก อย่างที่เราพูดกันแล้วใช่ไหม ก็ถ้าได้เสพก็สบาย ทีนี้ถ้าแกไม่มีเหตุอันจำเป็นบีบคั้น แกก็จะได้สิ่งเสพ พบสิ่งเสพแล้ว แกก็เสพ แกก็สบาย ก็หยุดก็นอนเสวยสุข
นี่อย่างสังคมตะวันตกกับสังคมตะวันออกโดยเฉพาะเมืองไทยเราเนี่ยะ เราน่าจะเห็นได้ชัดว่า สังคมตะวันออกอย่างเมืองไทยนี้มีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากอุดมสมบูรณ์แล้ว ในเรื่องข้าวพืชพรรณธัญญาหารในน้ำมีปลาในนามีข้าวแล้ว ธรรมชาติมันยังไม่บีบคั้นด้วย อยู่ก็สบาย อย่างที่ฝรั่งมาเมืองไทย เขาบอกว่า โหธรรมชาติเมืองไทยนี้มัน friendly มันเป็นมิตร มันไม่เหมือนเมืองเขา เมืองเขานี่มันบีบคั้นเขา ทำให้เขารู้สึกเป็นศัตรู มันต้องสู้ อันนี้ฝรั่งก็
1. ก็มีความขาดแคลนเรื่องของพืชพรรณธัญญาหารไม่อุดมสมบูรณ์ แล้วมีเรื่องของสภาพธรรมชาติมาบีบคั้น ก็คือว่า เช่น อากาศหนาว เมื่ออากาศหนาวเย็น ในฤดูหนาวก็ขาดแคลนอาหาร อย่างที่เคยเล่ามาแล้ว ทีนี้ความบีบคั้นอันนี้ที่ทำให้เขาพยายามดิ้นรน เพื่อการอยู่รอดจากความบีบคั้นของสภาพความเป็นอยู่ ก็ทำให้มนุษย์ดิ้นรน การดิ้นรนก็คือ จะต้องหาทางอยู่รอด การที่มีความจำเป็นบีบคั้นอันนี้ ก็ทำให้แสวงหาความรู้ แล้วก็เมื่อแสวงหาความรู้แล้วก็คือ จะทำยังไงให้มันสำเร็จ ให้มันได้มีกินมีใช้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ก็ทำให้มีการเรียนรู้และการกระทำที่เรียกว่า สร้างสรรค์ จากสภาพชีวิตของตะวันตกที่เป็นพื้นฐานอันนี้ผลักดันให้คนตะวันตกได้ดิ้นรนขวนขวายกลายเป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตของเขายาวนานเป็นร้อย ๆ ปี หรือแม้กระทั้งเป็นพันปี ในสภาพการณ์อย่างนี้ ก็ทำให้เกิดคนที่ได้ผลจากวัฒนธรรมอย่างนี้ ก็คือ อารยธรรมตะวันตกพูดได้ว่าได้สร้างสรรค์คนที่มีไอ้ตัวจิตที่มีความใฝ่รู้แล้วก็ใฝ่สร้างสรรค์เนี่ยขึ้นมามากเหมือนกัน แล้วคนพวกนี้แหละ ที่เป็นแกนในการสร้างสรรค์อารยธรรมที่อยากจะรู้ธรรมชาติว่าความจริงของมันคืออะไร จะหาความจริงให้ได้ ไม่ถึงความจริงแล้วไม่ยอมหยุด แล้วพวกนี้ก็จะไม่เห็นแก่การเสพ ซึ่งเราก็จะเห็นได้ชัดในชีวิตของพวกนี้ จะมีความสุขจากการที่จะแสวงหาความรู้ต้องการความจริงอย่างเดียว แล้วก็จะมามีพวกที่สร้างสรรค์ก็เช่นเดียวกัน พวกนี้ก็จะเหนื่อยจะยากยังไงก็สู้ทั้งนั้น ทำตามที่ตนต้องการ ที่ถือว่าดี ที่พิจารณาว่าดีแล้วให้สำเร็จ
เพราะฉะนั้น ในตะวันตกก็จะมีคนที่มีนิสัยใจคอที่เราเรียกว่าใฝ่รู้และสู้สิ่งยากเนียะมาก ซึ่งวัฒนธรรมที่เราเรียกว่า วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมอุตสาหกรรม อะไรต่าง ๆ ก็สัมพันธ์กันมากับสภาพจิตนี้ด้วย คือทั้งสภาพจิตนี้เป็นเหตุ เช่นว่า ความใฝ่รู้ก็เป็นเหตุให้พัฒนาวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และพัฒนาตัววิทยาศาสตร์ขึ้นมาด้วย แล้ววิทยาศาสตร์เองในขบวนการค้นหาความรู้ ก็ทำให้คนนั้น พัฒนานิสัยใจคอใฝ่รู้ด้วย เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน มีอีกด้านหนึ่งคือที่จะสร้างสรรค์วัตถุขึ้นมาให้สังคมมีความพรั่งพร้อม ให้มีกินมีใช้ มันก็เกิดอุตสาหกรรม ซึ่งกลายเป็นวิถีชิวิตวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ก็ทำให้คนมีความขยันหมั่นเพียร สู้ลำบากเหนื่อยยาก ไม่ถอย และการที่เขาสู้เหนื่อยยากไม่ถอยได้ ก็กลายเป็นปัจจัยให้เขาพัฒนาอุตสาหกรรมให้สำเร็จ เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันใช่ไหม วัฒนธรรมอุตสาหกรรมก็สร้างคนเข้มแข็ง นักผลิตและคนที่มีนิสัยนักผลิตก็มาพัฒนาอุตสาหกรรมได้ ก็เป็นปัจจัยก็ทำให้สังคมนี้เจริญงอกงามมา
ก่อนนี้ก็ตามคัมภีร์ในพระไตรปิฎกอรรถกถาเนียะ พระพุทธเจ้าอยู่ในป่าใหญ่ ๆ อย่างป่ามหาวัน กินเขตแคว้นต่าง ๆ พวกแคว้นศากยะ แคว้นพวกวัชชี แคว้นมัลละ แสดงว่าป่าพวกนี้ใหญ่โตเหลือเกิน เดี๋ยวนี้มีที่ไหนล่ะใช่ไหม แล้วยังลุมพินีที่พระพุทธเจ้าประสูติ ก็เป็นป่าเป็นสวนใหญ่ เดี๋ยวนี้มีแต่ทุ่งนา แล้วอินเดียตอนนี้ต้นไม้เหลือแต่ต้นเล็ก ๆ เขานี่เขาหัวโล้น เขาไม่มีต้นไม้เลยนี่เยอะแยะไปหมดเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ว่ามันก็เกิดจากอารยธรรมมนุษย์ด้วย เพราะอารยธรรมเกิดที่ไหนก็จะทำลายธรรมชาติ แล้วการที่ธรรมชาติมันพินาศไปก็ทำให้มนุษย์อยู่ไม่ได้อารยธรรมก็สลาย เป็นแบบนี้เยอะใช่ไหม มันก็เป็นวงจร ตอนที่อังกฤษเข้ามาปกครอง อังกฤษก็เอาทรัพยากรธรรมชาติไปมาก ขนเอาไม้ไปไม่รู้เท่าไหร่ นั่นก็เป็นเหตุปัจจัยอันหนึ่งด้วย แต่อินเดียก็เป็นขบวนการของอารยธรรมที่ทำให้ธรรมชาติเสื่อมโทรมมายาวนาน แต่นี้อินเดียก็เคยเจริญด้วยอารยธรรมมาก ซึ่งฝรั่งก็ยอมรับว่า พวกวิทยาศาสตร์ พวกคณิตศาสตร์ เจริญในอินเดียก่อน จีนและอินเดียนี่เจริญมาก แล้วก็ฝรั่งเมื่อถอยหลังไปสัก 1000 ปีก็แพ้พวกจีนและอินเดียใช่ไหม ในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเขาก็พัฒนาจนล้ำหน้าไป
เรามาพูดเรื่องของฝรั่งอีกทีหนึ่ง นี่ก็ฝรั่งนี่ด้วยแรงบีบคั้นของสภาพความเป็นอยู่ในทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง และนอกจากนั้นยังมีความบีบคั้นในทางสังคม เพราะมนุษย์นี้เบียดเบียนกัน แล้วก็ความเชื่อทางศาสนาก็เข้ามาบีบคั้นด้วย เพราะว่าศาสนาคริสต์นี่ ใช้ศรัทธาเป็นหลัก และก่อนศาสนาคริสต์ ศาสนาพวกก่อนก็บีบคั้นศาสนาคริสต์มาก่อนใช่ไหม เอาพวกคริสต์นี่ไปฆ่า จับเอาไปสู้กับสิงโตใช่ไหม ในอาณาจักรโรมันตายไปไม่รู้เท่าไหร่ พวกนี้พอใหญ่ขึ้นมาก็บีบคั้นพวกอื่นอีก พอคริสต์ใหญ่ขึ้นมาครอบครองยุโรปหมดใช่ไหม ก็ต้องเป็นผู้สวมมงกุฎให้กับกษัตริย์ยุโรปทุกคน ก็บังคับกษัตริย์องค์ไหนไม่เชื่อฟังให้เดินเท้าเปล่าจากเมืองมาหาโปปที่วาติกัน มาขอขมาโทษอย่างนี้เป็นต้น ก็ตั้งศาลว่า ใครไม่เชื่อไบเบิลจับขึ้นศาล เขาเรียก “INQUISITION” ใครพูดจาลบหลู่หรือแสดงความไม่เชื่ออะไรนิดหน่อย ถามสงสัยไม่ได้ทั้งนั้น จับขึ้นศาลนี้ถ้าไม่ยอมที่จะถอนความเชื่อก็จะต้องถูกเผาทั้งเป็นหรือให้ดื่มยาพิษ โดยเฉพาะในสเปนนี่เผาเป็นหมื่น ๆ เผาตาย การบีบคั้นในทางความคิดนี้มาก คือไปพูดอะไรผิดจากคัมภีร์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องวิทยาศาสตร์มันเริ่มตั้งแต่เรื่องดาราศาสตร์นี้นำ ในเรื่องความเจริญทางวิทยาศาสตร์เนียะ มันแทบจะเริ่มจุดฟิสิกส์นี่เริ่มจากดาราศาสตร์เลย ดาวจักรวาลเป็นยังไงใช่ไหม โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล คริสต์ก็สอนอย่างนี้ ทีนี้พอพวกที่นักคิดมาหาความรู้ มาสอนว่าไม่ใช่โลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล กาลิเลโอถูกจับขึ้นศาลเลยใช่ไหม กาลิเลโอก็กลัวตายก็เลยยอม ยอมรับว่าตัวเองผิด ว่าหลงผิดไปก็เลยรอด ไม่งั้นก็จะถูกให้ดื่มยาพิษตายใช่ไหม
แต่นี่แหล่ะก็เกิดการบีบคั้นทางปัญญา เมื่อบีบคั้นคนก็ยิ่งดิ้นมันเป็นอย่างนี้อย่างสัญชาตญาณมนุษย์นี่ ถ้ายิ่งถูกบีบก็ยิ่งดิ้น ถูกบีบในความเป็นอยู่ในเรื่องธรรมชาติ ไม่มีจะกินก็ดิ้นรนหาทางรอดเพื่อจะมีกิน ทีนี้ในทางปัญญาถูกบีบ มันก็ดิ้นรนมันก็มาจับกลุ่มกันเป็นการลับ ๆ เพื่อจะแสวงหาความรู้ใช่ไหม อันนี้ก็เป็นพื้นฐานอันหนึ่งที่ทำให้ตะวันตกเกิดมีคนที่ใฝ่รู้อย่างแรงกล้า แสวงหาความรู้ก็เป็นทางมาของความเจริญของวิทยาศาสตร์ แล้วก็ทางสังคมที่มันฆ่าฟันกันมากอีก การที่มาบีบคั้นกันและกันเนียะ ไอ้เหตุปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุให้คนที่ได้มีความคิดที่จะดิ้นรน เพื่อจะอยู่รอด และเพื่อจะให้ตัวเองอยู่ดีกินดี และมันยังมีความเชื่ออะไรต่าง ๆ เข้ามาอีก ซึ่งมีเยอะในภูมิหลังของสังคมตะวันตกซึ่งรับทอดกันมาเรื่อย แต่ว่าทีนี้เรามาพูดในแง่ว่า เอาละจากแรงบีบคั้นของชีวิตท่ามกลางธรรมชาติก็ตาม สังคมก็ตามก็ทำให้ฝรั่งนี่ได้พัฒนาเรื่องความใฝ่รู้สู้สิ่งยากขึ้นมา มีวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ??? อุตสาหกรรม เป็นต้น ก็ทำให้เกิดคนดีเยอะเลย แต่อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญก็คือว่า มองในระยะยาวอารยธรรมทั้งหมดที่สร้างนั้นมันมีจุดหมายไปที่ว่าก็ไปคิดว่าและเชื่อว่ามีวัตถุเสพพรั่งพร้อมนั้นแหล่ะคือความสุขสมบูรณ์ ฉะนั้นพวกนี้นั้น แม้ว่าไอ้ตอนที่ตัวเนียะสร้างสรรค์อยู่ ตัวเองไม่เห็นแก่ไอ้สิ่งเสพเหล่านั้น แต่ว่ามันมีเป้าหมายของสังคมระยะยาว โดยหวังว่าการที่เราขยันหมั่นเพียรสร้างสรรค์กันไปอย่างนี้ สังคมของเราในระยะยาวโน้นข้างหน้าจะมีวัตถุเสพพรั่งพร้อมจะมีความสุข งั้นเป้าหมายมันกลับไปอยู่ที่วัตถุเสพอีกนั่นเอง นี่คือจุดพลาดของเขา แต่ระหว่างนั้นไอ้ตัวปัจจัยในการสร้างสรรค์ เราจะเห็นว่าพวกนี้ระยะที่กำลังสร้างสรรค์ เช่น ในวัฒนธรรมอุตสาหกรรมพวกนี้ไม่มีความใฝ่เสพ เพราะว่าพวกนี้จะต้องมีความขยันหมั่นเพียร แล้วมีจริยธรรมในการทำงาน ซึ่งเขาภูมิใจนักว่าที่เขาเจริญมาได้ สร้างอุตสาหกรรมมาได้ เพราะเขามี “WORK ETHIC” จริยธรรมในการทำงาน และจริยธรรมในการทำงานของฝรั่งคืออะไร ก็คือ การที่ว่ายอมที่จะอยู่อย่างง่าย กระเหม็ดกระแหม่ ไม่เห็นแก่การเสพการบำรุงบำเรอ ตั้งหน้าตั้งตาทำงานทำการไป ไม่เอาความสุขส่วนตัว เพราะฉะนั้นทำงานไป ทำงานไปเถิด แล้วก็สะสมทุนเมื่อได้ทุนได้กำไรมาก็อย่าไปเอามาบำรุงบำเรอตัวความสุข เอามาลงทุนทำการงานต่อไป อันนี้คือจริยธรรมในการทำงานของฝรั่งใช่ไหม
เพราะฉะนั้น ในช่วงของการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและสร้างสรรค์อารยธรรมของเขานี่ ฝรั่งจึงเป็นคนที่ไม่ได้เห็นการเสพเลย รวมแล้วก็คือมีความใฝ่รู้และสู้สิ่งยากอย่างที่ว่ามีความขยันหมั่นเพียรตลอดมา และอยู่อย่างง่าย ๆ พูดด้วยภาษาของเราเขาเรียกว่า “มีความสันโดษ” มีความสันโดษนี่ชัดเจนมาก เพราะว่าไม่เห็นแก่การบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุขเลย แล้วพวกที่เป็นบุคคลสำคัญ ๆ ที่สร้างสรรค์อารยธรรมสำคัญ ๆ ของเขาเราก็เห็นได้ชัด มีนักวิทยาศาสตร์ก็มาจากการที่มีความใฝ่รู้อย่างสูงใช่ไหม แล้วก็มีนักผลิต นักประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่แกไม่เอาใจใส่กับเรื่องความสะดวกสบายการเสพอะไร การปรนเปรอร่างกายของแกหรอก แกเอาแต่ว่าจะทำการให้สำเร็จมีความสุขในการที่จะสร้างสรรค์เหล่านั้นเท่านั้น ทีนี้เป้าหมายมันผิด เพราะว่าเมื่อเขาขยันหมั่นเพียรมีความใฝ่รู้สู้สิ่งยาก จนกระทั่งสังคมเขามีความเจริญแล้วเนียะ เขาจะสามารถทำให้มีวัตถุ เสพพรั่งพร้อม สังคมจะมีความสุข
นี่มันก็มาถึงยุคนี้ กลายเป็นยุคที่สังคมของเขาพรั่งพร้อม พอพรั่งพร้อมเหมือนกับบรรลุจุดหมายใช่ไหม พอบรรลุจุดหมายนี้ คนรุ่นใหม่มันก็เปลี่ยนไปเลย มันก็พลิกกลับไอ้คนรุ่นเก่ามันทำมาด้วยใจใฝ่ปรารถนาจุดหมายระยะยาวโน่น จิตมันดีอย่างมันเห็นแก่สังคม ฉะนั้นมันมีคุณธรรมมันเห็นแก่ส่วนรวมเห็นแก่สังคมว่าสังคมของตัวนี่จะเจริญ เห็นแก่ลูกหลานต่อไปมันมีคุณธรรมอยู่ด้วย แต่ว่าจุดหมายมันผิดมันมีทิฐิว่า นี่วัตถุเสพพรั่งพร้อมนั้นคือความสุขที่แท้จริง นี้พอมันมาบรรลุจุดหมายนี้ มาถึงยุคนี้ พวกฝรั่งปัจจุบันนี้ก็กลายเป็นคนที่เสียฐาน คือว่าไอ้ปัจจัยที่จะทำให้เขาเนียะ มีนิสัยใฝ่รู้สู้สิ่งยาก เป็นนักศึกษาและสร้างสรรค์มันหมดใช่ไหม เพราะมันไม่มีแรงบีบคั้นอะไรแล้ว ที่เขาสร้างสรรค์มาเพราะเขามีแรงบีบคั้น นี่เมื่อไม่ถูกแรงบีบคั้นแถมได้บรรลุจุดหมายว่ามีวัตถุเสพสมบูรณ์ เพราะงั้นพวกนี้ก็เริ่มเปลี่ยนเลยก็กลายเป็นสังคมบริโภค เพราฉะนั้นฝรั่งยุคใหม่ก็เกิดภาวะที่ว่า คนรุ่นใหม่นี้ชักจะเริ่มถอย ไม่ค่อยมีความใฝ่รู้ ไม่ขยันอดทน จริยธรรมในการทำงานก็เสื่อม อย่างที่เคยเล่าว่า เวลานี้หนังสือในอเมริกาก็จะมีผลงานวิจัยเป็นเล่ม ๆ ที่ว่า ทำไมอเมริกาจึงไม่มีจริยธรรมในการทำงาน จึงเสื่อมในเรื่องเหล่านี้ และหนังสือต่าง ๆ ก็จะร่ำโอดครวญถึงการที่คนรุ่นใหม่นี้เสื่อม ไม่มีความขยันหมั่นเพียรเอาแต่ว่าจะเอาความสะดวกสบายเห็นแก่สิ่งเสพบำรุงบำเรออ่อนแอลงไป ทำให้สังคมเสื่อมคุณภาพ สินค้าอะไรเสื่อมหมด
อันนี้ก็มาดูเทียบกับสังคมของเรา สังคมของเรานี่ก็อย่างที่ว่าแล้ว มันอยู่ในสภาพแวดล้อมดินฟ้าอากาศที่สุขสบาย ฉะนั้นไม่มีแรงบีบคั้นที่จะทำให้คนดิ้นรนขวนขวายใช่ไหม งั้นการที่จะใฝ่รู้สู้สิ่งยากนั้นไม่ค่อยมีอยู่แล้ว เพราะว่าสิ่งที่จะเสพบำรุงบำเรอมันมีอยู่ เพราะฉะนั้นก็เสพมัน อ้าวแล้วต่อมาอยากจะพัฒนา มาถึงสมัยเมื่อพ.ศ. 2500 กว่า คนไทยไม่มีภูมิต้านทานอยู่แล้ว เวลาเจอกับสิ่งเสพสมัยใหม่คือ เทคโนโลยีจากตะวันตกก็ยิ่งชอบสิ่งเสพเหล่านี้ มองเทคโนโลยีในแง่ของสิ่งเสพ ไม่ได้มองในแง่เครื่องมือผลิต มองในแง่ที่ว่าจะมาบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุขของตัวเอง ก็มีความโน้มเอียงในทางบริโภคและเสพอยู่แล้ว
ทีนี้พอเริ่มยุคพัฒนา พ.ศ.2503 โดยประมาณ บ้านเมืองอยากจะสร้างความก้าวหน้าแบบตะวันตก ซึ่งเราก็มีความคิดอย่างนี้อยู่นานแล้ว แต่ว่ามันยังคล้าย ๆ ว่า ยังไม่จับจุดพุ่งให้แรง ตอนนี้พอถึง 2500 เศษนี่ ก็ตั้งเป้าอย่างแรงเลยว่าจะต้องพัฒนาประเทศให้เจริญทางวัตถุ เศรษฐกิจ นี่ให้มีพรั่งพร้อมก็ฝันไปเลยนะ บ้านเมืองก็ต้องเต็มด้วยคอนกรีต ถนนหนทาง เป็นต้น ตึกรามบ้านช่องจะต้องขึ้น ก็คือจะต้องให้อิฐปูนเต็มบ้านเต็มเมือง ตอนนั้นแม้แต่วัดต่าง ๆ ก็รังเกียจต้นไม้ ถอยหลังไปสักเนี่ยะ 30 กว่าปีนี่ วัดต่าง ๆ นี่รังเกียจต้นไม้มาก เพราะถือว่าเป็นเครื่องหมายของความป่าเถื่อน ความล้าหลังใช่ไหม เพราะฉะนั้น ตอนนั้นวัดก็จะตัดต้นไม้กันเป็นการใหญ่ แล้วก็สร้างอาคารขึ้นมา บ้านเมืองก็สร้างถนนหนทาง อาคารต่าง ๆ สิ่งก่อสร้างก็ขึ้นกันใหญ่ เป็นยุคคอนกรีตขึ้นมาก วัดถึงกับ 1. ก็ตัดต้นไม้ 2. ก็คือว่าของเก่า ๆ อย่างคัมภีร์ใบลาน บางทีก็เอามาเผาทิ้งโดยเห็นว่าเป็นของเกะกะรกรุงรัง เพราะเก่าแล้วนี่ ไม่สวยสดงดงามแล้วยังรกรุงรังก็เผาทิ้งซะก็เยอะ นี่ก็เกิดค่านิยมในทางวัตถุยิ่งขึ้น
ทางบ้านเมืองขณะนั้นก็จับจุดของฝรั่งผิด นึกว่าฝรั่งนี่สร้างความเจริญด้วยการที่ เข้าใจที่จะให้คนอยากมีวัตถุฟุ่มเฟือยเสพ อยากจะมีทรัพย์สินเงินทอง ทรัพย์สมบัติ มีวัตถุเยอะ ๆ แล้วก็คิดว่านี่แหละ ด้วยการที่กระตุ้นเร้าให้คนอยากมีวัตถุเสพเยอะ ๆ เนียะจะขยันหมั่นเพียรทำงานกันใหญ่ใช่ไหม ก็เลยทางบ้านเมืองก็บอกพระขออย่าให้สอนสันโดษ นายกรัฐมนตรีก็มีหนังสือมาถึงที่ประชุมพระสังฆาธิการ ตอนนั้นเป็นคณาธิการ ยังไม่เป็นสังฆาธิการ พ.ศ. 2503 นี่ยังไม่ออก พ.ร.บ. 2505 พ.ร.บ. คณะสงฆ์ 2505 จึงเป็นพระสังฆาธิการ ตอนก่อนนั้นเป็นพระคณาธิการ มีการประชุมใหญ่ทั่วประเทศที่วัดมหาธาตุ นายกรัฐมนตรีก็มีสารมาถึงที่ประชุมพูดถึงเรื่องการพัฒนาประเทศ แล้วก็ขอร้องตอนหนึ่งก็พูดถึงเรื่องนี้ว่า ขอร้องว่าไม่ให้สอนหลักธรรมเรื่องสันโดษ หลักธรรมอื่นมีเยอะแยะ ในขณะนี้ประเทศต้องการพัฒนา อันนั้นหลักธรรมอย่างสันโดษนี่ ก็จะทำให้คนไม่ขวนขวาย ไม่สร้างสรรค์ ไม่พัฒนาประเทศ นี่คือความเข้าใจผิด แกเข้าใจว่าตะวันตกเนียะ ขยันหมั่นเพียรสร้างอารยธรรม สร้างความเจริญทางวัตถุมาได้ด้วยการที่ แต่ละคนใฝ่เสพอยากจะมีพรั่งพร้อมใช่ไหม ของฝรั่งหวังเสพแต่มันระยะยาวใช่ไหม สังคมของเขาเมื่อร้อยกว่าปีมานี้ สมมติว่าอย่างนั้นนะ อย่างอเมริกาเนียะจับประมาณแค่ 100 ปีเนียะ ก็มีความขาดแคลนมากอยู่ ก็หวังไปว่าอีกอนาคตข้างหน้าจะไวหรือช้าก็แล้วแต่ ในการที่เราพยายามสร้างสรรค์ ทำงานด้วยความเหนื่อยยากอย่างนี้ ก็จะทำให้สังคมของเรามีความพรั่งพร้อม จุดหมายของเขายาวใช่ไหม ระยะเป็น 100 ๆ ปี หรือว่ามองยังไม่เห็นด้วยซ้ำ แต่เพื่อบรรลุจุดหมายระยะยาวนั้นเขาจึงต้องทนสู้เหนื่อยยาก ในขณะปัจจุบันไม่เห็นแก่การบำรุงบำเรอ แต่คนไทยเรามาจับจุดหมายสั้นว่าไอ้นั่นเขาเป็นจุดหมายของสังคมด้วยนะส่วนรวมใช่ไหม แต่ละคนนี่ทำเพื่อสังคมให้มีความพรั่งพร้อม แต่ของเรายุให้แต่ละคนเนียะอยากจะมีวัตถุให้พรั่งพร้อมมีสิ่งฟุ่มเฟือยใช้แต่ละคน แต่ละบ้าน ให้แต่ละบ้านอยากจะมีทีวี อยากจะมีตู้เย็นใช้ แล้วเกิดอะไรขึ้นล่ะ ไม่มีนิสัยเลยที่จะสู้งานสู้การใช่ไหม เพราะฉะนั้นมันก็จับจุดผิดก็ไปสนับสนุนตัณหาชนิดที่เรียกว่าในระยะสั้นที่สุดเลย ในการกระตุ้นแบบนี้คนก็อยากจะได้สิ่งเสพฟุ่มเฟือยนั้น แต่เขาอยากทำงานหรือเปล่า เขาไม่อยากทำงาน เขาอยากได้สิ่งเสพอยากได้สิ่งฟุ่มเฟือย แต่ว่ารัฐจะทำได้ก็คือ ให้การทำงานมาเป็นเงื่อนไข ถ้าคุณจะได้สิ่งเสพคุณต้องทำงานใช่ไหม ก็หวังว่าด้วยการสร้างเงื่อนไขคือว่า ด้วยการทำงานเป็นเงื่อนไขคุณจะได้สิ่งเสพ แต่คนเขาไม่อยากทำงานเขาอยากได้สิ่งเสพ อย่างงี้การทำงานก็กลายเป็นเหตุจำใจซึ่งเขาพยายามจะหลีกเลี่ยง คนจำนวนมากอยากได้สิ่งเสพให้เร็วที่สุดใช่ไหม การทำงานนี่มันช้า เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือทำไง ก็ต้องกู้หนึ้ยืมสิน ยังไง ๆ ให้มีไว้ก่อน ให้ทำงานค่อยใช้ตามหลังใช่ไหม กู้เงินมายืมเงินมาเพื่อให้ได้สิ่งเสพก่อนมีกันให้มากแล้วก็มาอวดโก้กันอีกใช่ไหม จะต้องมีรถเครื่อง จะต้องมีปิคอัพมาแข่งกัน บ้านไหนไม่มีก็แย่อะไรงี้เป็นต้น มีโดยไม่มีความจำเป็น มุ่งแต่ว่าจะสนองค่านิยมมีเสพบำรุงบำเรอความสุข และเพื่ออวดโก้ค่านิยมในทางตัณหามานะนั่นเอง
นอกจากนั้นถ้าเป็นข้าราชการจะทำไง เพื่อจะให้มีเสพเร็ว ๆ มัวทำงานอยู่ช้าทุจริตเลยใช่ไหม ฉะนั้นก็ต้องหาทางลัด เพื่อให้ได้สิ่งเสพเร็ว ๆ สังคมก็เริ่มปั่นป่วน ต่อมาก็มีระบบผ่อนส่งใช่ไหม ผ่อนส่งนี่ก็ดีนักใช่ไหม ให้มีสิ่งเสพได้เร็ว โดยที่ว่าตอนนี้ก็ยอมเป็นหนี้เป็นสินอะไรไป หรือว่าต้องมาบังคับตัวเองให้ลำบาก การจะคิดเพียรพยายามสร้างสรรค์ด้วยจิตใจเป็นนิสัยใจคอก็ไม่มี ความใฝ่รู้สู้สิ่งยากไม่เกิดอย่างในสังคมฝรั่ง ความใฝ่รู้สู้สิ่งยากและใฝ่สร้างสรรค์นี่ มีตัวสำคัญอย่างหนึ่งก็คือว่า อย่างที่พูดไปแล้วนะ การสร้างสรรค์ก็คืออยากทำให้มันดี มันมีจิตอันนี้อยู่ 1. อยากรู้ความจริง 2. อยากทำอะไรต่อมิอะไรให้มันดี อันนี้ของเราไม่ได้สร้างสรรค์อันนี้เลย ฉะนั้นการพัฒนามันก็เป็นวงจรที่สั้นมาก คือ คนอยากมีวัตถุเสพแล้วทำงานเพราะเป็นเงื่อนไขให้ได้ แล้วก็หาวัตถุเสพเอา ทีนี้ถ้าหากว่าหลีกเลี่ยงได้มันจะทุจริตง่าย เพราะมันไม่ต้องการทำอะไรให้ดี 1. งานไม่มีคุณภาพ ถ้าทำอะไรก็ทำพอเป็นเงื่อนไขให้ได้เงิน ให้ได้ผลตอบแทน จะดีไม่ดีก็ไม่ได้เอาใจใส่ใช่ไหม งานไม่มีคุณภาพ 2. ถ้าได้ทางลัดที่จะมีเงินมาซื้อสิ่งเสพก็เอาสังคมแบบนี้จะแย่เพราะว่าขาดฐาน ในขณะที่ทั้งโลกกำลังมีปัญหาเรื่องความเสื่อมเนียะ ถ้าเป็นอย่างนี้สังคมไทยจะต้องเสื่อมไวกว่าสังคมฝรั่ง เพราะสังคมฝรั่งได้สร้างทุนในเรื่องของนิสัยใจคอมานานพอสมควรได้ทั้งความใฝ่รู้สู้สิ่งยากใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ เขามีทุนมากอยู่
อย่างวันนี้มีรองเจ้าคณะอำเภอมาจากต่างจังหวัด มีญาติโยมด้วย พร้อมทั้งมัคนายก มานิมนต์ก็เลยคุยกันพูดถึงเรื่องรองเจ้าคณะอำเภอท่านก็พูดถึงสภาพยาเสพติด ยาม้าที่ระบาดมาก และการปราบ รัฐก็จะให้ปราบจริงจังใช่ไหม แต่ว่าทางสำเร็จมีแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น บอกว่าตำรวจไปจับยาม้าได้ ต้องเท่ากับลังเบียร์ท่านว่างั้น ประมาณนั้น มากเหลือเกินใช่ไหม พอให้เงิน 200,000 ปั๊ป จับได้เหมือนกันแต่ได้ 200 เม็ด พอจับยาม้าได้ 200 เม็ด แล้วไอ้ที่เหลือนั้นไปไหน ก็เข้าตลาดต่อ แต่ตำรวจได้ไป200,000 ใช่ไหม และไอ้เจ้าคนนั้นก็ดำเนินกิจการต่อไปได้ ตัวอย่างอื่นก็เช่น จับชาวบ้านมียาม้าเยอะ แต่ว่าพอให้เงินมาก็จับว่าจับได้ 4 เม็ดอย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นตัวอย่าง และก็ผู้มีอิทธิพลเอง ก็เป็นนักผลิตเป็นผู้ผลิต ซึ่งทำให้การปราบปรามเป็นไปได้ยากใช่ไหม ทำไมจึงเป็นแบบนี้ มันไม่มีการเห็นแก่ความดีงาม ความใฝ่ที่จะให้สังคมนี้ดีงามไม่มีใช่ไหม มันเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว ต้องการเสพ ถ้าอย่างนี้สังคมต้องทรุดแน่ ๆ แล้วรองเจ้าคณะอำเภอท่านก็วิตกบอกว่าขณะนี้ในวัดก็ลำบาก เพราะว่าจะมีพวกผู้ที่เข้ามาบวชติดยาม้าเข้ามา และเมื่อมีพระติดยาม้าก็เกิดไอ้ความกลัวอีก บางทีฝ่ายพระเจ้าคณะก็ยังไม่กล้าจัดการใช่ไหม แล้วอย่างตัวท่านเอง ท่านเคยถูกลอบยิงรองเจ้าคณะอำเภอเนี่ยะ เพราะว่ามีพระที่เป็นพวกเจ้าอาวาสติดฝิ่นแล้วก็มั่วสุมมีพวกคนอื่น ๆ มาสูบด้วย เมื่อไปทักเขาจากตำแหน่งเจ้าอาวาสเขาก็เลยโกรธ อันนี้ยาเสพติดก็เข้ามา ก็เรื่องของความใฝ่เสพใช่ไหม
ทีนี้ก็สำคัญในการที่จะปราบ ถ้าสังคมคนมันมีไอ้ตัวฉันทะความใฝ่ดีอยู่ อยากให้สังคมดีอยากแก้ปัญหาให้สำเร็จจริง ๆ เนียะ มันก็แก้ปัญหาง่ายเข้าใช่ไหม แต่ในเมื่อมันเละเทะแบบนี้ แต่ละคนมันก็ปรารถนาผลประโยชน์ส่วนตนจะแก้ได้ไง นี่สังคมฝรั่งก็ประสบปัญหาอย่างเดียวกับเรา มียาเสพติดแพร่ระบาดมาก แต่ว่าทุนของเขายังดีกว่าเรานะ หมายความว่า คนของเขายังมีไอ้ตัวความใฝ่ที่จะให้สังคมมันดีเป็นต้นใช่ไหม เมื่อนั้นมันก็ทำการด้วยความสุจริตใจกว่า ตั้งใจทำจริงจังกว่า ปราบปรามอย่างเอาจริงเอาจังกว่า ไอ้นี่มันไม่ใช่ปราบนี่ มันเพียงแต่ว่าจะไปหาเงินจากสิ่งเสพติดแล้วก็ทำไปปราบใช่ไหม มันไม่ได้คิดปราบเลย ไปหาเงิน ไปหาผลประโยชน์ ไปถือฉวยโอกาส จากการที่สังคมมีไอ้ปัญหานี้ขึ้นมาหาผลประโยชน์ซ้อนให้กับตนเอง เพราะฉะนั้นในแง่นี้แล้วสังคมไทยนี่จะลำบาก เพราะเราขาดพื้นฐานในการสร้างคนให้มีนิสัยใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ ในสังคมฝรั่งนี้ได้อันนี้เยอะ ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ การที่ใฝ่สร้างสรรค์อยากทำให้มันดี มันเป็นทุนเยอะเลยที่จะพัฒนาสังคมใช่ไหม ว่าเราทำงานอะไรเราก็อยากให้สิ่งที่เราทำมันดี มันเรียบร้อย มันดีที่สุด อย่างเราจะไปกวาดถนน ถ้าเรามีไอ้ตัวความใฝ่ดีอยากให้มันดีเนียะ เราก็ทำด้วยใจรักอยากให้ถนนมันสะอาดใช่ไหม แต่ถ้ามันไม่มีอันนี้มันต้องการผลประโยชน์ตอบแทนอันเดียว แล้วอะไรจะเกิดขึ้น มันก็สักแต่ว่าทำ ไม่ว่าไปทำงานอะไร ไปทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างแบ่งงานออกไปเนียะ แม้แต่เรื่อง สมมติว่าทำทางระบายน้ำใช่ไหม ไอ้คนที่ไปทำงานส่วนเล็ก ๆ ปลีกย่อย ไปเทปูน ไปทำอะไรถ้ามันมีตัวความใฝ่สร้างสรรค์ อยากทำให้มันดี ตัวไปเกี่ยวข้องกับอะไรอยากทำให้มันดีหมด มันก็ทำให้ดีที่สุดตามเต็มฝีมือของมันใช่ไหม แม้ส่วนผลประโยชน์มันก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าว่ามันไม่มีตัวนี้ล่ะ มันไปทำเป็นเพราะเป็นเงื่อนไขให้ได้เงินเท่านั้นเอง มันหวังแต่ผลตอบแทนก็คิดแต่ว่าจะได้เงิน แต่ไอ้ทำเทปูน เทอะไรจะทำให้มันเรียบร้อยหรือไม่ มันไม่คิดอ่ะใช่ไหม ถ้าไม่มีคนคุม ได้โอกาสก็ยิ่งทำลวก ๆ ไปเลย ทีนี้ก็ทำให้สังคมนี้ยิ่งลำบาก ก็ต้องตั้งคนคุม ไอ้ตั้งคนคุม ไอ้เจ้าคนคุมก็ไม่มีความใฝ่ดีอีกใช่ไหม มันก็ยิ่งแย่กัน มันก็เป็นระบบที่เน่าเละไปหมดเลย ฉะนั้นสังคมไทยขณะนี้กำลังจะเสวยผลอันนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นจะแก้ปัญหาอะไรก็แก้ไม่ได้ เพราะว่ามันเละเทะไปหมดแล้ว ฉะนั้นในแง่นี้แล้ว สังคมตะวันตกนี้ ทุนที่สร้างมาระยะเป็น 100 ๆ ปีนี้ ดีกว่าเรา เขายังมีทุนที่เข้มแข็งอยู่ แต่ถึงกระนั้น ขณะที่มาเป็นสังคมที่หมดแรงบีบคั้นที่จะให้ใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์แล้วก็ยังกลับเสื่อมอย่างรวดเร็วพอสมควร
เวลานี้ก็เริ่มมีไอ้ความวิปริตในระบบต่าง ๆ ฝรั่งมีความรักความเป็นธรรมมาก เพราะแรงบีบคั้นในการเบียดเบียนกันในทางสังคมใช่ไหม สร้างมาได้อย่างดีเลย รักในความเป็นธรรมก็ถือว่าใฝ่ดีนี่แหละ เมื่อรักความเป็นธรรมมาก มันก็สร้างกฎกติกาขึ้นมาเพื่อจะมาเป็นหลักในการปฏิบัติต่อกันว่า และเพื่อจะรักษาความเป็นธรรมก็มีเครื่องมือคือกฎหมายเข้ามา อันนี้เมื่อคนยังรักความเป็นธรรม ไอ้กฎหมายก็เป็นเครื่องมือที่จะรักษาความเป็นธรรมนั้นใช่ไหม แต่มาตอนนี้สังคมอเมริกัน เป็นต้น เริ่มมีความอยากได้ผลประโยชน์มาก และใจที่รักความเป็นธรรมนี้ลดน้อยลง งั้นกฎหมายที่เคยเป็นเครื่องมือในการที่จะรักษาความเป็นธรรมก็เริ่มกลับมาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ เพราะจิตที่มันรักความเป็นธรรมหรือใฝ่ดีนี่มันหมดเท่านั้น แล้วไอ้ความประสงค์ของมันนี้มันเปลี่ยน ตอนนี้มันเริ่มอยากได้ผลประโยชน์มาก อะไรเกิดขึ้น ระบบเดิมที่เคยช่วยรักษาความเป็นธรรมในสังคมก็กลับมาเป็นระบบสนองการหาผลประโยชน์
ผมเคยเล่าให้ฟังแล้วมั้งที่ว่าเวลานี้สังคมในอเมริกันมีปัญหา เช่น นักกฎหมาย ถือเป็นอาชีพอันดับหนึ่งของอเมริกันใช่ไหม ในเมืองไทยนี่แพทย์อันดับหนึ่ง แต่ในอเมริกานี่ทนายความนักกฎหมายเป็นอันดับหนึ่ง ใคร ๆ ก็ไปอยากเรียนรายได้ดีมาก ตอนหลัง ๆ ก็เรียนกันมากมาย มีพวกสำเร็จในทางกฎหมายเยอะ มาในระยะ 6-7 ปีนี่ นักกฎหมายกำลังถูกประณามจากสังคมมาก ถูกด่า ถูกดูถูก ทีนี้ก็สภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอันหนึ่งก็คือ การใช้กฎหมายหาผลประโยชน์ ก็มีการที่ว่าทนายความนักกฎหมาย อาจจะขึ้นป้ายรับบริการทางกฎหมายฟรี เป็นการบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมใช่ไหม ถ้ามองในแง่หนึ่ง ชาวบ้านมีเรื่องเดือนร้อนก็มาปรึกษาความกับทนายความได้ ไม่เอาเงิน แหมนี่มันเรื่องแสดงว่ามีน้ำใจดีเหลือเกิน ฝรั่งนี่เป็นไปได้ยาก ปกตินี่มันต้องคิดกันหนักเลย ชั่วโมงหนึ่งนี้ต้องเท่าไหร่ คิดค่าปรึกษาความ หนักมากในเมืองฝรั่ง ทีนี้ขึ้นป้ายให้บริการปรึกษากฎหมายฟรี
ที่ว่าฟรีนี้คืออย่างไร คือว่าคุณมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้านมาปรึกษาได้จะได้ช่วยตั้งคดีให้ พอตั้งคดีก็เอาขึ้นศาลใช่ไหม ก็จะไปว่าความให้ บริการทั้งหมดนี่ไม่เอาเงิน ปรึกษาความ ว่าความไม่เอาเงิน แต่ว่าถ้าชนะแบ่งคนละครึ่ง อ้าวนี่มันเป็นแรงจูงใจชาวบ้านนี่ ชาวบ้านมันก็อยากจะตั้งคดีขึ้นมาสิ เพราะว่าจะได้ผลประโยชน์ใช่ไหม ถ้าชนะก็ได้ถ้าแพ้ไม่เสียอะไรเลย ชาวบ้านก็ชอบสิ ทีนี้ก็จ้องเพื่อนบ้านมีอะไรกระทบกระทั่งกันพอจะตั้งคดีได้ไปหาทนายความ ไปเล่าให้ฟัง ทนายความก็ตั้งคดีขึ้นศาลว่าความให้ชนะแบ่งคนละครึ่งแพ้แล้วไปใช่ไหม คราวนี้เป็นไงสังคม ไอ้ชาวบ้านก็เพ่งกันสิทีนี้ หาผลประโยชน์ระแวงกันอยู่ไม่เป็นสุข อย่างแม้แต่พวกอาชีพต่าง ๆ อย่างแพทย์ แพทย์ในอเมริกาขณะนี้ อย่างแพทย์ไทยที่เราไปอยู่ อันนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้แพทย์ไทยเราเดินทางกลับเมืองไทยมากด้วยในบรรดาเหตุอื่นด้วยนะ เหตุอื่นก็คือนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องระบบการรักษาสุขภาพ อันนี้อันหนึ่งก็คือเนียะเรื่องของการที่คนไข้เนียะจ้องหาช่องจากหมอตลอดเวลา พลาดนิดเดียวตั้งคดีฟ้องเลยเพื่อจะหาเงินละ มันไม่ใช่เพื่อความเป็นธรรมแล้วนะเดี๋ยวนี้ มันเพื่อผลประโยชน์ นี้สังคมที่มันอยู่ได้เนียะมันต้องมีไอ้ตัวความใฝ่ดีอยู่ จะรักความเป็นธรรมเป็นต้น เมื่อตัวนี้มันหมดไป ความต้องการผลประโยชน์มาเต็มที่มันก็ต้องเละเทะอย่างที่ว่า มันก็เน่าเพราะฉะนั้นสังคมอเมริกันก็ต้องเสื่อมใช่ไหม อันนี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง
ทีนี้สังคมของเราล่ะ สังคมของเรานี่ขาดพื้นฐานในการสร้างความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์อย่างที่ว่า เพราะฉะนั้นจึงน่ากลัวอันตรายมาก อันนี้เราก็จับจุดไม่ถูกด้วย โดยเข้าใจว่าสังคมตะวันตกนั้นพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นต้น สร้างความเจริญแม้แต่วัตถุมาได้ด้วยการที่อยากจะมีวัตถุเสพพรั่งพร้อมเข้าใจผิดอย่างนั้น เขาต้องการเหมือนกันแต่เขาต้องการระยะยาวและต้องการสำหรับสังคมเป็นส่วนรวม ซึ่งหมายถึงเป็น 100 ปีหรือหลายร้อยปี แต่ในระหว่างนั้นก็คือการที่แต่ละคนจะต้องขยันอดทน
ยอมอดออมอยู่อย่างง่าย ๆ ไม่บำรุงบำเรอไม่หาความสุขนั่นคือการอยู่อย่างสันโดษ จึงทำให้เขาสามารถพัฒนาประเทศชาติอารยธรรมมาได้ แต่เราเข้าใจผิดไปจับเอาเป็นความมุ่งหมายของแต่ละคนด้วยระยะสั้นด้วย เฉพาะหน้าให้แต่ละคนนี้แต่ละครอบครัวอยากจะมีวัตถุเสพพรั่งพร้อม ผลก็คือความวิปริตของสังคมทั้งหมด การพัฒนาก็ไม่ได้สำเร็จด้วยดีด้วย แล้วก็มีไอ้พวกสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ในสังคมนี้เต็มไปหมดเลย ถ้าเราไม่รีบแก้ไขปัญหานี้จะลำบาก จะมีทางแล้วจะทันหรือเปล่านี่ก็คือปัญหาของสังคมไทย แต่เวลานี้ก็เริ่มเข้าสู่วิถีเดียวกันเพราะสังคมตะวันตกก็หมดยุคของแรงบีบคั้นอย่างแต่ก่อน ที่จะทำให้เขามีความใฝ่รู้และสู้สิ่งยากและในภาวะสังคมที่พรั่งพร้อมเป็นนักเสพมันก็จะเข้ามาบั่นทอนสังคมของเขาเช่นเดียวกัน แต่ว่าฐานเก่านี้จะช่วยไปได้อีกนานในแง่ภูมิต้านทานความเข้มแข็งที่มีมาแต่เดิมเขายังดีกว่าเรา
นี่ก็กลับมาสู่หลักการที่ว่าได้พูดไปแล้วเรื่องก็เป็นอันว่า การใช้ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ในเมื่อเรายังไม่พัฒนาเราอยู่ด้วยสภาพพื้นฐานก็ใช้ในด้านความรู้สึกซะมาก เมื่อสนองความรู้สึกมันก็เรื่องของการที่อยู่กับความชอบใจไม่ชอบใจเรื่องของตัณหาตัณหาก็ทำให้ฝ่ายเสพ แล้วก็เลยมุ่งหวังในการที่จะหาสิ่งเสพกันอยู่ นี้ด้านนี้เป็นอันว่าได้แก่ตัณหาฝ่ายเสพ ต้องการบำรุงบำเรอปรนเปรอตาหูจมูกลิ้นกายใจในด้านความรู้สึกคือเวทนาหาความสุขหรือความทุกข์ ทีนี้อีกด้านหนึ่งที่เราบอกว่าใช้ตาหูจมูกลิ้นกายใจเพื่อเรียนรู้ แล้วต่อมาจากการเรียนรู้นั้นก็จะพัฒนาไปสู่การที่อยากจะสร้างสรรค์อยากทำให้มันดีด้วย ความอยากที่จะรู้และอยากจะทำให้มันดีเนียะก็ต้องมีศัพท์แพคคู่กันกับฝ่ายตัณหา ฝ่ายตัณหาก็อยากเสพเพราะฉะนั้นอยากรู้อยากสร้างสรรค์หรือใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ก็มีศัพท์เฉพาะให้เรียกว่า ฉันทะ อันนี้เราก็ได้คู่ละ ตัณหาก็ทางพุทธศาสนาก็เรียกว่าความอยากที่เป็นอกุศล ส่วนฉันทะเนียะ เป็นความอยากที่เป็นกุศล พุทธศาสนายกย่อง ถือเป็นธรรมะสำคัญอย่างยิ่ง เป็นมูลของความเจริญก้าวหน้าในกุศลธรรมต่าง ๆ ด้วย เอาเป็นว่าฉันทะนี้ได้แก่ความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ คืออยากรู้และอยากให้มันดีแล้วก็อยากทำให้มันดีนะถ้าเรามีอันนี้อยู่เนียะมันจะทำให้การพัฒนานี้เป็นไปได้ชีวิตก็จะดีงาม ได้พูดไปแล้วว่าการใฝ่สร้างสรรค์เนียะ จะตามมากับความใฝ่รู้เพราะเมื่อเรียนรู้ก็จะเห็นว่าอะไรมันเป็นยังไงมันควรจะเป็นยังไง ไม่อยากจะให้มันเป็นอย่างที่มันควรจะเป็นก็เป็นฝ่ายทำให้มันดีใฝ่สร้างสรรค์ไป วิธีง่าย ๆ ในการที่ว่าทำกระตุ้นหรือว่าพัฒนาไอ้ตัวฉันทะที่อยากให้มันดี แม้จะไม่ต้องเอาที่ความรู้ก็ได้ เริ่มที่ธรรมชาติเขาเราเนียะ คนเรานี่ก็มันก็มีพื้นที่จะพัฒนาตัวนี้อยู่แล้ว คือด้านที่อยากเสพกับพัฒนาทำให้ขยายตัวมากทั้งดีกรีและปริมาณ ในด้านอยากให้มันดีนี่มันก็มีทุนเหมือนกันนะ ถ้าเรารู้จักพัฒนาก็คือว่าอย่างเด็กๆ เนียะแม้แต่ตัวเองเนียะก็อยากให้มันอยู่สภาพที่ดีใช่ไหม เช่นบอกว่ามีมือก็อยากให้มือเนียะมันงามมันแข็งแรงมันอวบมันอูมหรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่อยากให้มันผอมกะหร่องอย่างนี้เป็นต้น ร่างกายของตัวเองก็อยากให้มีสุขภาพแข็งแรงอะไรอย่างนี้นะ หน้าตา ตาหูก็อยากให้มันดีมันเรียบร้อยหมด เนียะจากไอ้ตัวนี้มนุษย์มีพื้นฐานอันนี้แหละอยากให้มือตัวเองเรียบร้อยอยากให้นิ้วทั้งห้ามันหมดจดสะอาด ทีนี้พอขยายไปเราไปสัมพันธ์กับอะไรก็อยากให้มันดีหมดไปนั่งที่ไหนก็อยากให้ที่นั่นเรียบร้อยสะอาดตา ไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้สิ่งนั้นดีขยายไปจากไอ้ตัวพื้นที่มันเริ่มมาจากตัวเองด้วย ทีนี้ถ้าเราพัฒนาอันนี้นะมันจะไม่ไปกระแสเสพ มันจะเบาลงมันจะมาช่วยถ่วงดุลก็ให้เด็กเนียะ เริ่มจากตัวเองแล้วก็ขยายไปสู่สิ่งต่าง ๆ ที่ตัวเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้มันดีหมด ไปใช้แก้วน้ำก็อยากให้แก้วน้ำมันสะอาดหมดจดใช่ไหม อยากให้มันเรียบร้อยอะไรต่าง ๆ ไปเจออะไรอยากให้มันดีหมด ความรู้สึกนี้จะพัฒนามาเป็นความใฝ่ดี คืออยากให้มันดี ไม่ว่าเกี่ยวข้องอะไรอยากให้มันดี พออยากให้มันดีมันก็ต้องทำให้มันดีใช่ไหม อยากทำให้มันดีก็ตามมานี่แหล่ะเป็นฉันทะเลย
นี่เราคิดดูถ้าเราสร้างแม้แต่จากเด็กๆ มาเป็นอย่างนี้ เวลาแกโตขึ้นแกไปทำงานการอะไรเนียะไอ้ตัวเองมันมีอยู่ในทุนในตัวแล้วนะ เขาจ้างมาทำอะไรก็แล้วแต่ใช่ไหม แต่ในแง่ที่ตัวเองไปเกี่ยวข้องอะไรมันอยากทำให้มันดีหมด ฉะนั้นไอ้ตัวนี้มันเป็นทุนที่ว่าไม่ว่ามันจะไปทำอะไรมันก็ทำให้สิ่งนั้นดีหมดใช่ไหม มันยอมไม่ได้ที่จะให้สิ่งนั้นสักแต่ว่าเสร็จ สักแต่ว่าทำผ่าน ๆ ไป เลอะเทอะหรือไม่เรียบร้อยอะไรต่าง ๆ ใช่ไหม มันทำไม่ได้ มันมีไอ้ความใฝ่อยากให้มันดีหมด ก็เป็นอันว่าคนที่มีฉันทะตัวนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรอยากให้สิ่งนั้นมันดีหมด ก็อยากทำให้มันดีที่สุดที่จะทำได้ถ้ามีอันนี้เป็นทุนเป็นพื้นในจิตใจใช่ไหม ระบบการพัฒนาเป็นไปได้ถูกไหม ทีนี้เราไว้ใจได้แล้วเนียะ เราจะเอาเงินมาจ้างคนไปทำงานทำการยังไงก็ตามไอ้นี่ทุนฐานมันมีอยู่แล้วคนนั้นแต่ละคนมันมีอันนี้อยู่ คืออยากให้มันดีมันก็ทำของมันให้มันดีที่สุด แต่เวลานี้มันไม่มีในฉันทะ มันมีแต่ความใฝ่เสพท่าเดียวใช่ไหม เพราะฉะนั้นจบเลย ตกลงกระแส 2 อันอย่างน้อยต้องให้ได้ฝ่ายฉันทะนี้มาดุล ทีนี้ถ้ามันไม่มีมาดุล มันได้ด้านเดียวเลยฝ่ายเสพ เพราะฉะนั้นทุกอย่างนี้จะล้มละลายหมดเลย เราไม่ได้หวังว่าจะต้องให้คนได้ไปสู่ใฝ่รู้ใฝ่ดีอย่างเดียวนะ ยอมเขา เพราะเขายังเป็นปุถุชนนี่ ให้เขาใฝ่เสพก็พอประมาณ แต่ไอ้เจ้าใฝ่รู้ใฝ่ดีมันมาช่วยถ่วงดุลไว้ มันก็จะไม่หนักหนาเกินไป ไม่เลวทรามเกินไป แล้วเขาจะมีทางพัฒนาขึ้น ต่อไปเขาก็จะขึ้นกับสิ่งเสพน้อยลง เพราะเขาจะมีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ที่พัฒนายิ่งขึ้น การที่จะหาความสุขจากเสพก็น้อยลง
ทีนี้มันน่าสังเกตว่าในสังคมไทยเรานี่นะ แม้แต่ในหมู่ชาวพุทธเนียะ ไอ้ตัวความอยากที่แยกเป็น 2 ประเภทนี่เราไม่เข้าใจเลย มันหายไปไหน แม้แต่ชาวพุทธนี้บอกว่า โอ้ ๆ ความอยากไม่ได้นะผิดใช่ไหม นึกว่าความอยากแล้วเป็นผิดหมด เข้าใจว่าความอยากก็คือตัณหาใช่ไหม คนโดยมากจะเข้าใจอย่างนั้น อยากไม่ได้ ถ้าเป็นชาวพุทธแล้วต้องทำเป็นไม่อยากได้อยากมีอะไร นี่ก็พลาดแล้วใช่ไหม ทีนี้ก็กลายเป็นว่าชาวพุทธนี่เข้าใจว่าความอยากมีอย่างเดียวคือ ตัณหา เพราะฉะนั้นมีความอยากไม่ได้ จะต้องลด ต้องละ ต้องเลิกอย่างเดียว อย่างน้อยก็แสดงตัวว่าเป็นคนไม่มีตัณหา ไม่มีความอยาก จบเลย นั่นก็ด้วนสิ พระพุทธเจ้าตรัสว่าฉันทะความอยากที่เป็นกุศลนี่เป็นมูลของกุศลธรรม เราจะพัฒนาในธรรมะได้ปฏิบัติไปได้ มันต้องมีเจ้าตัวความอยากใฝ่รู้ใฝ่ดีนี่มา คือฉันทะนี้ นี่ก็เป็นข้อสังเกตอันหนึ่งเพราะคนไทยเข้าใจไปว่าความอยากนี้เป็นตัณหา เป็นเรื่องอยากเสพอย่างเดียวหมด แล้วแยกไม่ออกเลย ดังนั้นไปอยากอะไรที่มันดีแกก็เข้าใจเป็นอยากตัณหาหมด เพราะฉะนั้นก็ให้ดับหมดให้ละหมด คราวนี้สังคมไทยเมื่อไม่ได้หลักอย่างนี้ก็พลาด เราก็ให้คนเนียะร่ำเรียนศึกษาทำการทำงานอะไรต่างๆ อยู่ในสังคมนี้โดยมีแรงกระตุ้นอะไรล่ะทีนี้ ก็กลายเป็นว่าโอ้ไม่ได้นะถ้าหากจะปฏิบัติธรรมก็ต้องไม่อยากใช่ไหม เมื่อต้องไม่อยากก็หมายความว่าคนที่ปฏิบัติธรรมนี่ก็ต้องไปอีกพวกหนึ่งอย่ามาอยู่ทางโลกไม่ได้ นี่เรียกว่าแยกโลกแยกธรรมแล้ว คล้าย ๆ ว่าพวกที่ปฏิบัติธรรมนี้ ต้องไปมีชีวิตอีกแบบหนึ่งอย่ามายุ่งกับชาวบ้าน นี่เป็นเรื่องทางโลกทางโลกก็เลยไม่เอาด้วยละ ทีนี้ทางโลกก็เลยไม่มีหลักก็มาเร้าให้คนนี่อยากจะเจริญก้าวหน้าอยากจะศึกษาเล่าเรียน
ก็สมัยเมื่อสัก 40-50 ปีก่อนก็บอกว่าอ้าวตั้งหน้าตั้งตาพากเพียรเรียนเข้าไปนะต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นเจ้าคนนายคนใช่ไหม นี่เอาเข้าแล้ว นี่พออยากให้เรียนเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน สนองระบบราชการตอนนั้น ก็กระตุ้นเพราะว่าคนทางราชการนี่อยากจะได้คนเข้ามาเป็นกำลังในราชการมาก ต้องการพัฒนาประเทศชาติ ทีนี้จะเป็นข้าราชการก็ต้องเรียนศึกษาและชาวบ้านเขาไม่มีแรงจูงใจจะให้เรียนทำไงก็ต้องให้เห็นว่า โอได้เป็นข้าราชการมันใหญ่โตใช่ไหม เพราะฉะนั้นเออนี่อยากเป็นใหญ่เป็นโตอย่างนี้นะ เป็นเจ้านายก็ต้องมาเรียนสิใช่ไหม ก็เลยกลายเป็นว่าความอยากใหญ่อยากโต เป็นเจ้าคนนายคนนี้มาเป็นแรงจูงใจให้คนมาเรียน ความอยากใหญ่อยากโต ทางพระท่านเรียกว่ามานะ มานะเป็นกิเลสนะแปลว่าอยากใหญ่อยากโตอยากเด่น อันนี้เราเอามานะคือความอยากใหญ่โตนี่มาเป็นตัวกระตุ้นคนให้เรียนหนังสือจนกระทั่งคำว่ามานะเนียะ กลายเป็นดีไปเลยแล้วก็มีความหมายว่าเพียรพยายามเพราะฉะนั้นในภาษาไทยนี่มานะได้กลายเป็นว่าเป็นศัพท์ที่มีความหมายความเพียรพยายามไปแล้ว มันเข้ามาศึกษาเล่าเรียนด้วยกิเลสคือมานะ กระตุ้นให้อยากอยากโตอยากเป็นเจ้าคนนายคน จนกระทั่งมานะต่อมาก็มีความหมายเป็นความเพียรพยายามใช่ไหม เดี๋ยวนี้พูดว่ามานะพากเพียรใช่ไหม เข้าใจว่ามานะ คือ เพืยร ที่จริงคือเอามานะ อยากใหญ่มากระตุ้นให้เพียร ก็ใช้กิเลสมากระตุ้นแล้วต่อมาตอนนี้ระบบราชการไม่ค่อยมีความสำคัญแล้ว ระบบผลประโยชน์ธุรกิจสำคัญกว่าใช่ไหม ตอนนี้ก็ไม่ใช่เรียนศึกษาเพราะอยากใหญ่อยากโตเป็นเจ้าคนนายคนละอยากมีเงินมีทองมากๆ มีรายได้ดีๆ มากกว่า ตอนนี้ก็ตัณหาแล้ว
แล้วก็เข้ามายุคพัฒนาที่มากระตุ้นอยากให้แต่ละคนมีทรัพย์สินเงินทองมีวัตถุฟุ่มเฟือย สิ่งของใช้ดีๆ ใช้ด้วย ตัณหาก็เข้ามาเด่นเลยในยุคนี้ก็สังคมไทยก็ในช่วง 100 ปีนี้ก็ใช้ตัณหากับมัน แล้วก็เรื่องของฉันทะไม่รู้เรื่องเลย แล้วก็นึกว่าคนที่ไม่อยากได้อยากดีก็เข้าวัดไปอย่ามายุ่งกับชาวบ้าน แล้วก็เป็นอันว่าถ้าหากว่าเป็นทางธรรมมันก็อยากไม่ได้ เป็นตัณหาผิดต้องดับต้องละหมด นี่คือความคลาดเคลื่อนต่างๆ จะเสียหมดเลย อันนี้เราก็จะมีคนที่อยากจะเข้าเรียนหนังสือโดยต้องดูว่าอาชีพไหนจะให้รายได้ดีที่สุดใช่ไหม เรียนไปโดยมุ่งหวังได้รายได้ตอบแทนเมื่อจบการเรียนแล้วแต่ไม่ได้เรียนเพราะชอบวิชาการนั้น อันนี้ก็เป็นระบบผลประโยชน์ เขามองไม่เห็นว่าไอ้ตัวแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่แท้มันอยู่ที่ไหน เช่นว่า เมื่อจะเรียนอาชีพไหนได้รายได้ที่สุดเนียะ ตอนระยะที่แล้วมานี่อาชีพแพทย์ก็เด่นมากถูกไหม เด่นที่สุดในสังคมไทยเพราะเป็นแหล่งรายได้ที่ดีที่สุดคนก็แย่งกันเข้ามาเรียน โดยไม่คำนึงว่าตัวเองเนียะชอบการเป็นแพทย์หรือเปล่า อยากรักษาคนหรือเปล่า อยากให้คนมีสุขภาพดีหรือเปล่า ทีนี้ตอนนี้ที่ว่าเราต้องจับจุดให้ได้ว่า แล้วไอ้ตัวฉันทะเนียะคืออะไร อ้าวเราเจอแล้วนะ อยากได้รายได้มาก ๆ ผลประโยชน์ตอบแทนของตัวนี่ก็ตัณหาใช่ไหม ทีนี้ฉันทะเป็นตัวที่แท้ที่จะสร้างสรรค์คืออะไร ฉันทะมันก็ความอยากให้มันดีอยากได้ผลที่ตรงกับเหตุของการกระทำนั้นเมื่อเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี วิชาแพทย์เป็นสิ่งที่ดีเพราะอะไรเพราะว่าวิชาแพทย์นั้นจะช่วยให้คนหายโรคภัยไข้เจ็บทำให้คนมีสุขภาพดีถูกไหม นี่คือชอบวิชาแพทย์โดยฉันทะ คืออยากให้มันดีคืออยากให้คนหายโรคหายภัยอย่างนี้เรียกว่าฉันทะ ทีนี้ถ้าใครมาเรียนวิชาแพทย์เพราะว่าตนเองอยากจะช่วยรักษาคนอยากให้คนหายเจ็บหายป่วยอยากจะให้คนไทยมีสุขภาพดีเป็นต้น อยากให้สังคมไทยนี้มีภาวะของสุขภาพที่ดีอย่างนี้เรียกว่ามีฉันทะใช่ไหม
ในสังคมไทยนี้อันนี้แทบจะหายไปเลยไม่ว่าจะเรียนอะไรมุ่งแต่รายได้ เพราะฉะนั้นจะมีคนเพียงน้อยคนที่มันติดมาโดยปัจจัยอย่างอื่นที่ว่าสังคมไม่ได้ช่วยอะไรเขาเท่าไหร่แต่ว่ามันมีมาติดตัวที่มีบ้าง ถ้าไม่มีคนประเภทนี้เลยสังคมไปไม่รอดหรอกใช่ไหม สังคมคนที่มีฉันทะมีอยู่แม้เขามาเรียนแพทย์เนียะเขาก็มีใจที่รักเพื่อนมนุษย์อยากจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มีสุขภาพดีนี่ตัวฉันทะนี่สิ ฉันทะต่างหากที่จะทำให้สังคมมันพัฒนาไป มีสันติสุขได้ ในเมื่อส่วนใหญ่มันถูกครอบงำด้วยตัณหาและมานะมันก็ต้องเสื่อม เวลานี้กระแสของตัณหามันยิ่งแรงใหญ่กระแสฉันทะนี่อ่อนใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ในการทำงานทั่วไปคนก็จะไม่ใส่ใจเรื่องตัวงานที่แท้ว่ามันจะดีหรือไม่ แต่ว่ามองที่ผลประโยชน์และคนที่ไปเรียนไปศึกษาก็มองแต่ว่าผลตอบแทนรายได้ผลประโยชน์ข้างหน้าไม่ได้นึกถึงไอ้ตัวสิ่งที่ตัวกระทำแท้ๆ ว่าไอ้ที่จริงสิ่งที่ตัวทำนั้นมันคือผลอะไรแท้ ๆ ที่ตรงตามธรรมชาติของมันนะ ตอนนี้เราก็จะมาแยกว่าความแตกต่างในการต้องการผลระหว่างฉันทะกับตัณหา ตัณหาจะต้องการสิ่งเสพไอ้สิ่งเสพนี่คือการได้มามันจะอยากได้อยากเอา มันไม่ไปเกี่ยวกับการทำเหตุ มันไม่ต้องการทำเหตุเพื่อให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง มันต้องการแต่จะได้แต่สิ่งเสพมาเลย ถ้าสำเร็จรูปยินดีใช่ไหม สิ่งเสพสำเร็จรูปมาก็ปรนเปรอตัวเองมันอยากได้อยากเอานะมันไม่ได้อยากทำ แต่ทีนี้อีกอันหนึ่งก็คือว่าคนที่ต้องการให้อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมันดี มันต้องอยากรู้และอยากทำเหตุที่จะให้มันดีใช่ไหม
อันนั้นพวกนั้นจึงไปเกี่ยวข้องกับการกระทำ เพราะฉะนั้นพวกตัณหานี่อยากได้อยากเอาเพราะมันต้องการเสพแต่ว่าพวกฉันทะนี่ จะมีการอยากทำ ที่นี้อยากทำก็คือทำเหตุเพื่อให้เกิดผลนั้นที่ต้องการ เช่นว่า เขาต้องการความสะอาด ความสะอาดนี้เป็นสิ่งดีใช่ไหม นี่คือฉันทะต้องการ ฉันทะอยากให้สะอาด การกวาดเป็นเหตุให้สะอาดเขาจะอยากทำการกวาด ซึ่งเป็นเหตุของความสะอาดนั้น ฉะนั้นคนที่มีฉันทะอยากสะอาดก็จะเต็มใจกวาดมัน แล้วจะมีความสุขในการกวาดเชื่อไหม คนอยากสะอาดจะกวาดจะเช็ดเองเลย แล้วทำไปจนกว่ามันจะสะอาด ถ้าไม่สะอาดไม่ยอมหยุดถูกไหม นี่คือตรงนี่เหตุผลที่ตรงกันความอยากแบบนี้เป็นฉันทะ อยากได้ผลที่ดีงามคือความสะอาดแล้วก็ทำให้ต้องทำเหตุของมัน เมื่อเขาทำเหตุนั้นเขารู้ว่าเป็นไปเพื่อผลที่ดีที่ต้องการเขามีความสุขในการกระทำแล้วเขาเต็มใจทำ
ที่นี้ตัณหา ตัณหามันอยากได้สิ่งเสพแต่ว่าสิ่งเสพนั้นไม่มายังไม่มีทำไง อาจจะต้องเอาการกระทำมาเป็นเงื่อนไข เช่น กรณีที่กวาดบ้านเด็กอยากได้ขนมใช่ไหม เด็กอยากได้ขนมกินคืออยากเสพใช่ไหม แต่ว่าขนมมันยังไม่มีผู้ใหญ่ก็เอามาเป็นเงื่อนไขเพราะอยากจะให้เด็กนี้ได้กวาดบ้านแต่เด็กไม่ได้ต้องการความสะอาดถูกไหม เด็กต้องการขนมมาเสพ ทีนี้ผู้ใหญ่ก็เลยบอกกับเด็กว่านี่นะถ้ากวาดบ้านจะให้ขนมกิน ก็เอาไอ้ความอยากในวัตถุเสพมาเป็นเงื่อนไขให้เด็กต้องทำการกวาดใช่ไหม การกระทำนี้ไม่ตรงกับผลที่เด็กต้องการถูกไหม การกวาดเป็นเหตุแต่ว่าไอ้ผลของการกวาดที่แท้คืออะไร ผลที่แท้ตามธรรมชาติความสะอาดใช่ไหม การกวาดเป็นเหตุความสะอาดเป็นผล แต่เด็กไม่ได้ต้องการความสะอาด เด็กทำการกวาด เพราะต้องการสิ่งเสพคือขนมใช่ไหม ผลกับเหตุไม่ได้ตรงกันเลย ฉะนั้นการได้ผลคือสิ่งเสพนี้เป็นเพียงเงื่อนไขให้เด็กต้องทำเมื่อเป็นเงื่อนไขเด็กทำ เด็กจำใจไหมใช่ไหม เด็กไม่ได้เต็มใจกวาดไม่มีความสุขในการกวาด รอแต่เมื่อไหร่จะได้ขนมสักทีใช่ไหมจำใจกวาดตลอดเวลา การกวาดกลายเป็นความทุกข์ แล้วจำใจกวาด แล้วการจำใจไม่ตั้งใจกวาดมันก็ก็หาทางเลี่ยงมันก็ไม่ได้ตั้งใจให้สะอาดถ้ามันไม่มีคนคุมอยู่มันก็ไม่ไม่เอาเรื่องแล้วใช่ไหม ถ้ามันได้เงินได้ขนมเลยมันไม่เอามันไม่กวาด ทีนี้ถ้าต้องกวาดขึ้นมามันก็จำใจสักแต่ว่ากวาด กวาดไม่สะอาดแล้วเราก็ต้องคอยคุมกันอยู่ แล้ว 1.เด็กเองก็ไม่มีความสุขในการกวาดมีความทุกข์ด้วย 2. ผลที่จะได้แก่สังคม การกวาดนั้นก็ไม่เรียบร้อยไม่ดีเท่าที่ควรใช่ไหม
เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็คือตัวอย่างของจุดแย่ ว่าจะใช้ตัณหาเป็นเครื่องกระตุ้นให้คนทำงานก็จะได้แบบให้รางวัลเด็กให้ขนมแล้วให้เด็กต้องกวาดบ้าน แล้วอย่างนี้ถ้าเมื่อไม่มีรางวัลเด็กจะกวาดไหม ไม่กวาด จบเลยอย่างนี้สังคมจะอยู่ได้ไงใช่ไหม สังคมไม่มีคนที่ต้องการทำให้มันดีฉะนั้นก็ต้องมีแต่รางวัลล่อกันเรื่อยไป ทีนี้ฝ่ายเด็กที่อยากสะอาดใฝ่ดีมีฉันทะ เด็กคนนี้ไม่ต้องคุมใช่ไหมไปอยู่ที่ไหนไม่ต้องมีคนอื่นอยู่เด็กคนนี้มันเห็นไม่สะอาดมันทนไม่ได้มันจะไปคว้าไม้กวาดไปคว้าผ้าขี้ริ้วมาเช็ดมาถูมากวาดเองแล้วมันจะทำจนกระทั่งสะอาดแหล่ะ จนกว่าจะพอใจของตัวเองนี่คือจุดแยกระหว่างตัณหากับฉันทะเป็นอันว่าถ้าเด็กกวาดบ้านเพราะต้องการขนมหรือรางวัลตอบแทนนั้นคือทำด้วยตัณหา คือเป็นระบบเงื่อนไขซึ่งจะมีผลร้ายทั้งตัวเองไม่มีความสุขทำได้จำใจเป็นทุกข์และผลแก่สังคมก็จะไม่ได้ดีด้วยแล้วไม่มีหลักประกันต่อไปด้วยว่าเขาจะทำการนี้แล้ว 2 ก็คือความอยากที่เรียกว่าฉันทะ ใฝ่ดีต้องการความสะอาดเป็นต้นซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามซึ่งจะเป็นผลที่ตรงกับเหตุที่เขาต้องทำก็คือการกวาดซึ่งจะได้ผลก็คือทำให้เขาชีวิตเขาเองเขาก็มีความสุขในการกระทำนั้นในการทำงานคือกวาด แล้วก็จะทำให้ได้ผลกับสังคมที่ทำด้วยความตั้งใจแล้วผลงานออกมาเต็มที่เลยอาจจะทำได้ดีกว่าคนที่ไปเรียกร้องเขาอีกใช่ไหม ไอ้คนที่ไปเรียกร้องอยากจะได้แค่นี้ แหมเจ้านี้ทำดีกว่านั้นอีกเพราะใจมันชอบมันอยาก อันนี้สังคมของเรานี่ ที่แท้นั้นก็ต้องการไอ้ตัวผลตามธรรมชาติซึ่งจะต้องการฉันทะแต่เราไม่รู้จักฉันทะ อันนั้นก็ 1. ในแง่ปัญญาความเข้าใจ ก็ไม่มีหลักการที่จะมาแก้ปัญหา 2. แล้วยังแถมปฏิบัติการผิดไปกระตุ้นตัณหาเข้าอีกใช่ไหม ก็ยิ่งแย่ใหญ่
อย่างผมยกตัวอย่างไปบ่อย ๆ ก็เช่นอย่างนี้ อย่างสังคมเขาเราเนียะ ก็สร้างอารยธรรมขึ้นมาเพราะว่าเป็นสัตว์ที่ฉลาดมีความสามารถเราก็จัดระบบสังคมแต่การที่เราจัดระบบสังคมนี้เพื่ออะไร วัตถุประสงค์ที่แท้ เพื่อให้กิจการชีวิตสังคมมันดีขึ้นใช่ไหม ไอ้การจัดระบบสังคมของมนุษย์มันมาเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้กิจการต่างๆที่มันน่าจะดีแล้วมันได้ผลจริงจัง อย่างเราจัดระบบจ้างงานขึ้นมาแบ่งงานกันทำ ก็เพราะว่าเราต้องการให้มีคนที่ทำงานนั้นจริงๆ แต่เราต้องการผลอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้วนะ เราจึงมาจัดระบบสังคมขึ้นมาเพื่อจะให้มีคนทำงานแล้วก็แบ่งงานมีเงินเดือนแล้วก็ตั้งระบบงานขึ้นมา เอ้าให้มีเงินเดือนกินนะ แล้วก็ให้คุณทำงานนี้นะ ทีนี้ในภาวะอย่างนี้มันก็มีเรื่องซ้อนเข้ามาที่เราจะต้องทำความเข้าใจ เราจ้างคนมาทำงานเนียะ การจ้างคนให้ทำงานแล้วได้เงินเดือนการทำงานนั้นจะเป็นเหตุแล้วเงินเดือนที่ได้เป็นผลถูกไหม เราจะเห็นชัดว่าเกิดเป็นกฎขึ้นมาเลย เป็นกฎก็คือการทำงานเป็นเหตุการได้เงินเดือนเป็นผล ยกตัวอย่างเช่นว่า จ้างคนทำสวนยกตัวอย่างนี้บ่อยที่สุด จ้างคนทำสวนการทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือน 5,000 บาทเป็นผลถูกไหม อันนี้เป็นกฎแล้วนะ เห็นความเป็นเหตุเป็นผลชัดเจน กฎนี้เป็นกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นนะ เป็นความจริงนะ จริงไม่จริง จริง ทำไมจะไม่จริงล่ะ ก็ทำสวนเป็นเหตุได้เงินเดือน 5000 บาทเป็นผลก็ทำสวนเป็นเหตุก็ได้เงินเดือนจริง ๆ แต่จริงแท้ไหม จริงแน่ไหม ไม่จริงแน่ เพราะว่าการทำสวนนั้น เงินมันไม่ได้เกิดขึ้นมามันต้องมีคนมาให้แต่ว่าอะไรที่ทำให้เกิดเป็นกฎขึ้นมาได้สำเร็จ ก็คือการยอมรับร่วมกัน การยอมรับร่วมกันหรือข้อตกลงร่วมกันอันนี้ภาษาพระเรียกว่า สมมติ สมมติ มาจากคำว่า สัง + มติ มติ แปลว่าการยอมรับ การรู้หรือข้อตกลง แล้วก็สังร่วมกันแปลว่าการยอมรับร่วมกันหรือการรู้ร่วมกันหรือข้อตกลงร่วมกัน ด้วยสมมติ คือ การยอมรับร่วมกันนี่แหล่ะกฎมนุษย์จึงมีขึ้นได้และเป็นอยู่ได้ใช่ไหม ฉะนั้นการทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน 5,000 บาทเป็นผล ใช่ แต่ว่าถ้าไม่มีสมมติ คือการยอมรับ กฎนี้หายไปใช่ป่ะจริงไหม กฎนี้ไม่มีหรอกถ้าหากไม่มีการยอมรับ คุณมาทำสวน 1 เดือนแล้ว ฉันไม่ยอมรับฝ่ายนายจ้างไม่ยอมรับด้วยเงินเดือนไม่มาถูกไหม ตกลงว่ากฎของมนุษย์เนียะที่สร้างขึ้นในสังคมเป็นความฉลาดของมนุษย์ แต่ว่ามันเป็นเพียงกฎสมมตินะ คือตั้งอยู่บนฐานของการยอมรับร่วมกันไม่ได้มีจริงในธรรมชาติ มีมนุษย์จำนวนมากปัจจุบันหลอกตัวเอง นึกว่ากฎนี้เป็นความจริง ถ้าเขาไม่หลอกตัวเองเขาจะต้องถามต่อว่าแล้วที่จริงที่เราตั้งกฎมนุษย์ขึ้นมาซึ่งมันไม่มีความจริงแท้ในธรรมชาติมันตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร ตั้งขึ้นมาเพราะเราต้องการอะไรอย่างหนึ่งที่ซ้อนอยู่ ต้องการอะไร เราต้องการผลที่เป็นความจริงแท้สิ ผลที่เป็นความจริงแท้ตามกฎธรรมชาติมีอยู่ ซ้อนอยู่เบื้องหลังไอ้กฎมนุษย์นี้ อะไร ผลที่เราต้องการแท้จริงจากการทำสวนเป็นเหตุนี้คืออะไร ผลตามกฎธรรมชาติของการทำสวนคืออะไร การทำสวนเป็นเหตุ อ้าวอะไรเป็นผล ต้นไม้เจริญงอกงามถูกไหม ไม่ว่าต้นไม้อะไรก็แล้ว การทำสวนเป็นเหตุต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผลถูกไหม อันนี้เป็นกฎธรรมชาติไม่มีทางคัดค้านได้
ทีนี้เพราะเราต้องการผล สังคมต้องการผล อันนี้คือ ต้องการให้สวนเจริญงอกงามนี้เป็นผลตามกฎธรรมชาติ เราจะต้องมีการทำสวนเป็นเหตุ แต่ทำไงจะให้มีการทำสวนกันอย่างจริงจัง มนุษย์ฉลาดก็ตั้งระบบในสังคมขึ้นมาก็ตั้งกฎมนุษย์เข้าไปว่า เออคุณมาตั้งใจทำสวนนี่นะ คุณไม่ต้องไปห่วงกังวลเรื่องการทำมาหากินแล้ว มีเงินใช้ฉันให้เงินเดือนคุณ 5,000 บาท แล้วคุณไม่ต้องไปห่วงคุณตั้งใจทำไป และทีนี้ถ้าหากว่า 2 กฎนี้ มันสอดคล้องกันดี ก็หนุนกันใช่ไหม กฎมนุษย์ก็คือการทำสวน 1 เดือนได้เงินเดือน 5,000 บาท จะมาสนับสนุนช่วยให้กฎธรรมชาติที่ว่าการทำสวน เป็นเหตุต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผลได้สำเร็จผลอย่างดี เพราะว่าไอ้คนทำสวนนั้นเขาไม่ต้องกังวลเรื่องการเป็นอยู่เขาก็ตั้งใจทำ แต่ว่าทีนี้คนทำสวนนี่ก็มีในใจตัวเองว่าจะมีตัณหาหรือฉันทะ เอาล่ะสิทีนี้ ถ้าคนทำสวนมีแต่ตัณหาก็ต้องการเงินเดือน 5,000 บาทอย่างเดียวถูกไหม ถ้าคนทำสวนต้องการเงินเดือน 5,000 บาทอย่างเดียวต้องการผลประโยชน์ตามกฎมนุษย์ แกไม่ต้องการทำสวนใช่ไหม การทำสวนก็จะเป็นการฝืนใจแก เพราะฉะนั้นแกจะทำสวนด้วยความทุกข์ 2. แกพยายามเลี่ยงและไม่เต็มใจทำ เลี่ยงงานหลบงาน ทำน้อย ๆ อะไรต่างๆเหล่านี้ ผลก็คือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร 1. ใจตัวเองก็ไม่มีความสุขจริง 2. ก็คือผลแก่สังคมก็ไม่ได้ ทีนี้ถ้าคนทำสวนนี้ยังอยู่กับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติแกก็จะมีฉันทะ ฉันทะก็คืออยากให้ต้นไม้งอกงามใช่ไหม ที่นี้ถ้าคนสวนนี่รักต้นไม้อยากให้ต้นไม้เจริญงอกงาม การทำสวนเป็นเหตุต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผลนี่ตรงกัน เมื่อแกอยากให้ต้นไม้เจริญงอกงามแกก็อยากทำสวนแน่นอนใช่ไหม แกก็อยากจะไปขุดดิน ปลูกต้นไม้ อยากจะไปพรวนดิน อยากจะรดน้ำ คอยดูว่ามันงามไหม มันเฉาไหม ใบมันเขียวไหมมันผลิแตกดีไหม อะไรมีผลดกไหม แกจะเอาใจใส่ใช่ไหม แล้วแกก็จะตั้งใจทำ การที่อยากได้ผลที่ตรงตามกฎธรรมชาติที่ตรงตามเหตุของกฎธรรมชาตินั้นเรียกว่าฉันทะ คืออยากให้ต้นไม้เจริญงอกงามอยากให้มันดีนั่นเอง นั่นคือฉันทะ ถ้ามีตัวฉันทะปั๊ป ก็แปลว่าคนทำสวนนี้เราได้ความมั่นใจว่าแกจะทำงานได้ดี แล้วกฎมนุษย์คือได้เงินเดือน 5,000 บาทก็จะมาเป็นตัวสนับสนุนช่วย แต่ถ้าฉันทะไม่มีมีแต่ตัณหาอะไรจะเกิดขึ้น ก็ยุ่งเลยใช่ไหม ก็ไม่ตั้งใจทำงานนอกจากตัวเองใจก็ไม่สบายในการทำงานมีความทุกข์แล้วก็ผลแก่สังคมก็ไม่ได้ ต่อไปก็อะไรต่ออะไรก็รวนหมดก็ต้องจ้างคนคุมให้หนักเข้าไปใช่ไหม แต่คนคุมเองก็ไม่มีฉันทะอีกก็ไปกันใหญ่เลย ตรงที่เราวางกฎมนุษย์ขึ้นมาเนียะเพื่อสนับสนุนเหตุผลตามกฎธรรมชาติมนุษย์ฉลาดอย่างนี้ ตานี้มนุษย์กลับมาแปลกกแยกจากธรรมชาติเสียเอง ก็เลยมีแต่ตัณหาไม่มีฉันทะ พอมนุษย์เอาแต่ตัณหาปั๊ป ก็เป็นอันว่าอารยธรรมเริ่มเสื่อม มนุษย์ที่สร้างสรรค์อารยธรรมมา แม้แต่อารยธรรมที่ว่าผิดเนียะ สร้างมาได้ด้วยฉันทะทั้งนั้น ด้วยความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น สังคมตะวันตกเนี่ยเราต้องยอมให้เหมือนกัน แม้เขาจะพลาดในแง่จุดหมายระยะยาว และแรงจูงใจและทิฐิพื้นฐานผิดหมด แต่ในแง่ของระหว่างนี้ เขาได้สร้างไอ้พื้นเพสะสมทุนในทางแม้แต่นิสัยใจคอที่ดีพอสมควร ก็เป็นอันว่านี่ก็คือ เรื่องของฉันทะและตัณหา คิดว่าคงแยกได้ชัด ถ้าแม้แต่ทำสวน เราก็ต้องการให้คนมีฉันทะ แล้วฉันทะนั้นจะเป็นฐานที่มั่นคงที่สุดเลย แล้วกฎมนุษย์จะมาเป็นตัวหนุน สังคมมนุษย์ที่ฉลาดมีอารยธรรมนั้นเก่งในการวางระบบ แล้วสร้างกฎมนุษย์ขึ้นมา แต่ว่าต้องมีปัญญาที่จะเข้าถึงตัวสาระที่แท้คือว่า ที่แท้ที่เราวางกฎมนุษย์เป็นอารยธรรมนี้ก็เพื่อไปหนุนไอ้ความจริงความดีงามที่ต้องการอันนั้นใช่ไหม ถ้ากฎมนุษย์คือ การทำสวนเป็นเหตุได้เงินเดือน 5,000 บาทเป็นผลเนียะ ไปช่วยหนุนฉันทะเข้าใช่ไหม ให้ฉันทะทำงานได้ผล มันดีแน่ ๆ เลย แต่เวลานี้มันขาดตอน มันเหลือแต่ตอนตัณหาอย่างเดียวใช่ไหม เหลือแต่กฎมนุษย์ ไอ้กฎธรรมชาติมันไม่เอา ไหน ๆ ก็หมดเลย พังหมดเลย เรียนแพทย์มาไม่คิด ไม่มีความตั้งใจดีต่อคนไข้ ไม่คิดจะรักษาคนไข้ให้หายใช่ไหม เอาแต่ผลประโยชน์ละทีนี้ ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไรจะตายยังไงช่างมันใช่ไหม แต่เรายังมีแพทย์ที่ดีเยอะอยู่ แต่ต่อไปน่ากลัวมากยิ่งขึ้น ถ้าตัณหามันครอบงำสังคมยิ่งขึ้น ไอ้ฉันทะมันจะหมดลงไปทุกที ๆ
ทีนี้ก็กลับมาหาหลัก ฉันทะนี้จึงเป็นสำคัญมาก ต้องระวังอย่าไปตัดไม่ให้คนอยาก ต้องแยกว่า อยากที่ผิดคืออยากด้วยตัณหา และอยากที่ถูกเป็นกุศลคืออยากด้วยฉันทะ และก็บอกด้วยว่าอยากด้วยฉันทะคือ อยากรู้ อยากเข้าถึงความจริงอย่างหนึ่งเรียกว่าใฝ่รู้ และอยากให้มันดี อยากทำให้มันดีเรียกว่าใฝ่สร้างสรรค์อันหนึ่ง ซึ่งด้านนี้ที่เราต้องการ ที่มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามและสร้างสังคมที่มีสันติสุขขึ้นมาได้ อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ฉันทะความอยากรู้อยากดี ใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์นี่แหละ เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ถ้าตัวนี้เริ่มมาเมื่อไหร่ก็หวังได้ว่าคนนั้นจะมีชีวิตที่ดีงามก้าวหน้าเจริญไป แล้วก็จะพัฒนาได้ มันเป็นแรงอยู่ข้างหลังเลยพอมีตัวนี้นะมันอยากให้มันดีนี่มันทำเต็มที่เลยเชื่อไหม
อันนั้นเป็นตัวแรกของอิทธิบาท 4 เลย รู้จักอิทธิบาท 4 ไหม อิทธิบาท 4 ตัวแรกเลย ฉันทะ มีความอยากดีอยากให้มันดีนี่แหละมามันแรงขึ้นทันทีเลยมันจะทำให้มันดีให้ได้ ฉะนั้นจึงบอกว่าคนที่มีฉันทะนี่ไปเกี่ยวข้องอะไรมันอยากให้มันดีหมดเพราะฉะนั้นปลอดภัยเลยคนอื่นไม่ต้องไปคอยจ้ำจี้จ้ำไช อะไรต่ออะไรมันเป็นไปมันดำเนินไปได้ตัวเขาแหละ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าถึงบอกว่าแสงเงินแสงทองมันขึ้น เพราะว่ามันไปได้เองเลยนี่มันไม่ต้องรอคนอื่น พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเมื่ออาทิตย์จะอุทัยนั้นแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อนฉันใด เมื่อจะมีชีวิตที่ดีงามคือดำเนินตามมรรคมีองค์ 8 นั้น ฉันทะก็ขึ้นมาก่อนพอมีฉันทะ ความใฝ่ดีอยากให้มันดีปั๊บเริ่มได้เลย ตานี้เดินหน้าละ อันนี้วันนี้ก็คิดว่าพูดมาพอสมควรและก็ขยายเป็นเรื่องของชีวิตและก็อารยธรรมเรื่องของสังคมมนุษย์ทั้งตะวันตกตะวันออกก็ว่ากันไปนะ
อ้อแต่แทรกอีกนิดหนึงครับพูดไปด้วยก็ดี ก็คือว่า ในบางสังคมนี่พูดกลับไปที่แรงบีบคั้นที่อย่างฝรั่งนี่ ฝรั่งมีแรงบีบคั้นใช่ไหม ทำให้เขาดิ้นรนโดยไม่รู้ตัวก็เลยทำให้เขาสร้างภูมิสร้างสะสมนิสัยใจคอที่ดีมาได้ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์เนี่ยนะ แต่ทีนี้ว่าบางสังคมมีแรงบีบคั้นธรรมชาติไม่เอื้ออำนวยแต่ทำไมไม่พัฒนา ถ้ามันไปหวังพึ่งอะไรภายนอกได้จบเหมือนกัน ฉะนั้นสังคมที่ไปหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลอย่างสังคมอินเดีย เมื่อหวังพึ่งเทพเจ้าจะรอบูชายัญให้เทพเจ้าช่วยก็จบเหมือนกันนะ ทีนี้มันก็ไม่ต้องดิ้นรนแล้วสิใช่ไหม ไม่ใช่ว่ามีแรงบีบคั้นแล้วมนุษย์จะดิ้นเสมอไป ถ้ามันแรงบีบคั้นแล้วไม่มีใครช่วยมันตายแน่มันเอามันดิ้นแต่ถ้ามันเกิดหวังว่าจะมีคนช่วยขึ้นมาแล้ว ตานี้มันไม่เอาแล้วมันรอการช่วยแล้วทีนี้ มันก็ไม่ไปเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องมีตัวเงื่อนไขมาอีกนะ เพราะฉะนั้นฝรั่ง คริสต์ก็ต้องสอนว่าพระเจ้าจะช่วยเฉพาะคนที่ช่วยตัวเองถูกไหม เพราะถ้าใครขืนหวังไปพึ่งพระเจ้าก็ไม่เอาอีกเหมือนกันใช่ไหม ก็เลยต้องสอนพระเจ้าช่วยเฉพาะคนที่ช่วยตัวเองหรืออย่างเคยเล่าเรื่องยิว ไอ้ยิวแกก็สัญญาระยะยาวอย่างฝรั่งเหมือนกันนะ แกช่วยตัวเองไปก่อนนะดิ้นรนไปในทะเลทรายแกสู้ไปเถอะ โน่นแผ่นดินในสัญญาอีกกี่พันปีไม่รู้แกจะได้ระหว่างนี้แกดิ้นเองนะ อย่างนี้มันก็หวังพึ่งอยู่ไม่ได้ใช่ไหมก็ดิ้น เพราะฉะนั้นถ้าเกิดไปหวังพึ่งได้อำนาจจะดลบันดาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรเดี๋ยวหยุดแล้วนอนแล้ว ทีนี้อีกอันก็ตัวกล่อมถ้ามีอะไรมากล่อมให้สบายใจ หลบทุกข์หลบปัญหาไปได้
ก็ไม่เอาเหมือนกัน ไอ้ตัวกล่อมเนียะอะไรล่ะ อย่าเพิ่งเอาสมาธิมันลึกซึ้ง ยาเสพติด ใช่ ยาเสพติดหรือแม้แต่สิ่งบันเทิง สิ่งบันเทิงต่าง ๆ ใช่ไหม ทำให้คนลุ่มหลงเพลิดเพลินไปได้ลืมความทุกข์ไปได้มันสนุกเฉพาะหน้ามันก็อยู่เหมือนกันไม่ไปเหมือนกัน
แล้วจนกระทั่งอย่างประณีตก็สมาธิถ้าใช้เป็นตัวกล่อม ใช้ไม่เป็นใช้ผิดแทนที่จะมาเป็นตัวหนุนในไตรสิกขากลับมาเป็นตัวกล่อมเพลินอีกมีทุกข์มีอะไรก็มานั่งสมาธิหลบเป็นฤาษีโน่น เข้าป่าฤาษีชีไพรใช่ไหมไปเล่นฌานกีฬาอยู่ กล่อมได้สบายก็หยุดอีกเหมือนกันไปไม่รอดอีก ฉะนั้นหลักการพื้นฐานก็คือมนุษย์ปุถุชนนั้น เมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามจึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย อันนี้เป็นหลักทั่วไป แต่ถ้าหวังพึ่งอะไรได้ก็เป็นอันว่าหยุดเหมือนกัน แล้วก็ถ้ามีอะไรมากล่อมก็อาจจะหยุดอีกใช่ไหม ฉะนั้นจึงต้องมองหลายแง่ สังคมต่าง ๆ จึงมีความแตกต่างกันอย่างที่ว่ามา ก็วิเคราะห์สังคมไทยเอาเองก็แล้วกันว่าเราเนียะเป็นยังไงใช่ไหม ในแง่ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามเราน้อย เสร็จแล้วเรามีอะไร เรามีไอ้ลัทธิหวังพึ่งเข้ามาอีก มาช่วยอีกและยังมีสิ่งกล่อมเข้ามาอีก เพราะฉะนั้นก็เลยไม่ค่อยจะดิ้นรนขวนขวายแล้วก็จะอ่อนแอด้วย
เอ้ามีอะไรสงสัยไหมครับ
ปุจฉา : สังคมไทยทั้งหัวและหาง เละเทะตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รัฐบาล ข้าราชการ แพทย์ ครู ตำรวจ สื่อมวลชน พระ นักเรียน ชาวบ้าน เยาวชนและเด็ก ตกเป็นทาสของสังคมวัตถุ แล้วจะมีทางออกไหม สังคมนี้มีคนเลวมากกว่าคนดี
วิสัชนา : ก็มันเป็นนักเสพทั้งนั้นใช่ไหม สังคมไทยตอนนี้ต้องยอมรับเลยนะ เชื่อไหมเป็นนักเสพ หาฉันทะแทบจะไม่เหลือเลย นี่ทำกิจการอะไรมาเดี๋ยวนี้หมดเลย การศึกษาแต่ก่อนยังมีเป็นส่วนสำคัญนะใช่ไหม ครูนี่จะเป็นที่เคารพใช่ไหม เดี๋ยวนี้ครูก็เป็นนักเสพเลยหาผลประโยชน์ โอ้โหกลายเป็นว่าเอาแม้แต่เอานักเรียนมาเป็นเครื่องมือในการหาเงินหาทองหาผลประโยชน์ไป มันก็จะหมดล่ะ แล้วก็พระอีกก็แย่อีกใช่ไหม หาเศษอีกโอ้แล้วจะทำไงล่ะต้องช่วยกันมาช่วยกันคิดแต่อย่างน้อยเราต้องเริ่มทำความเข้าใจใช่ไหม การที่จะเปลี่ยนกระแสนี้มันคงต้องใช้เวลานานคือว่าไอ้ตอนที่จะเสื่อม สมมุติว่าสังคมมันดีพอสมควร คือสังคมดี อุดมคติมันยังไม่ถึงหรอกนะ เอาแค่ว่าดีพอสมควร ทีนี้ตอนที่มันจะเริ่มเสื่อมมันก็จะเริ่มจากมีกลุ่มย่อย ๆ หรือ แม้แต่เป็นบุคคลเริ่มขึ้นใช่ไหม แล้วก็นิยมตามกันไป ตามกันไป ตามกันไป พอตามกันไป พอมันเป็นกระแสใหญ่ค่านิยมทั้งหมดมันก็ไปด้วยกันอย่างปัจจุบัน ทีนี้ในเมื่อกระแสใหญ่ มันเป็นฝ่ายเสื่อม ทีนี้พอมันจะแก้มันก็ต้องเริ่มจากจุดย่อยเหมือนกันใช่ไหม ก็ต้องเริ่มจากทีละน้อยต้องอดทนอาจจะต้องใช้เวลานาน แต่เราแย่กว่าตอนที่ว่าไอ้การที่ไปสู้กับด้านตัณหานี่มันเป็นการเข็นครกขึ้นภูเขายากกว่าไอ้ตอนที่มันเจริญดีแล้วนะ จะให้มันเสื่อมง่ายกว่าใช่ไหม มันสนองความต้องการฝ่ายเสพ มันดึงง่าย ดึงลง นี่ดึงขึ้นนี่ยาก 2 ชั้นเลยดึงขึ้นก็ยากอยู่แล้วแล้วกระแสใหญ่ด้วยใช่ไหม
ฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าตรัสแม้แต่ในยุคของพระพุทธเจ้าพระองค์ ปฎิโสตคามี ทวนกระแสพระองค์ว่า ธรรมะของพระองค์ ปฎิโสตคามี ทวนกระแส ก็ดึงขึ้นระยะหนึ่งนะ ได้เยอะเลย เพราะว่าพราหมณ์เสียผลประโยชน์มันก็สู้เต็มที่เหมือนกัน กว่าจะเอาชนะพุทธได้ตั้งเกือบพันปีนะ พุทธศาสนาเจริญอยู่ในเป็นพันปีนะ แล้วหมดเมื่อพ.ศ 1700 ไม่ใช่น้อยนะ แต่ว่าไอ้พันน่ะชักเสื่อมแล้วนะ พุทธเองน่ะก็เริ่มย่ำแย่ พระก็หาเข้าลัทธิ เรื่องของเศษลัทธิของการพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์หาผลประโยชน์ หาลาภจากชาวบ้าน ชักวุ่นวายเหมือนกันนะ เพราะฉะนั้นเจริญอยู่ในราวสักพันปีพอสมควรแต่ว่าเป็นยุคที่ค่อนข้างแท้ในราว 500 ปี
ขอยกตัวอย่างตัวอย่างหนึ่ง อย่างกระแสที่มันลงนี่นะ ยกตัวอย่างเมืองเหนือก็แล้วกัน อ้าวตอนที่จะเริ่มขายลูกมาเป็นโสเภณีใช่ไหม ตอนแรกกระแสเดิมมันไม่ยอมหรอกใช่ไหม วัฒนธรรมเดิมไม่เอาด้วย ทีนี้ไอ้ความนิยมความเชื่อถือเก่าๆ มันต้านทำแบบนี้ไม่ถูก แต่พอเริ่มเห็นว่าถูกใช่ไหม เอ๊ะคนนี้ไปขายตัวอะไรมานี่ กลับมาทีนี่มีเงินมีทองใช้สร้างบ้านหรูหราใช่ไหม แล้วแถมไปทำบุญที่วัดให้ได้มากด้วย เริ่มเอ๊ะชักโก้เก๋ชักดีใช่ไหม เริ่มมีทิฐิเห็นชอบค่านิยมสังคมเกิด ต่อมามันกลายเป็นค่านิยมสังคมเลยทีนี้ ไม่ไหวแล้วใช่ไหม นี่กลายเป็นว่าทำแบบนี้น่ะดีแล้ว ให้เรียกว่าลงเป็นทิฐิเลย พอลงเป็นทิฐิแล้วมีความเห็นว่าเป็นอย่างนี้ดีแล้วกันตอนนี้ล่ะจบเลยตอนนี้มันกลายเป็นว่าสังคมเนี่ยมีทิฐิแล้วนะ ทิฐิว่าอย่างนี้แหละดีการมีสิ่งเสพความพร้อมนี่แหละดี พอมันอย่างนี้แล้วพอมาลงเป็นทิฐิแล้วแก้ยากที่สุด ทีนี้มันก็ต้องแก้ที่ทิฐิให้ถึงขั้นทิฐิจึงจะแก้สำเร็จ เพราะฉะนั้นตอนที่เขาจะมาเสื่อมลงอย่างที่ยกตัวอย่างว่าชาวบ้านยอมขายลูกมาเป็นโสเภณีนี่ เพราะมันเกิดเป็นทิฐิแล้ว มันทำได้เต็มที่มันเชื่อเลยว่าการกระทำอย่างนี้ดีแล้วสังคมยอมรับกันไปหมด เพราะฉะนั้นต้องแก้เปลี่ยนให้ถึงทิฐิเนี่ย จึงจะแก้ปัญหาสำเร็จ แก้ให้ถึงทิฐิ ไม่ใช่แก้ที่ทิฐิ ต้องแก้หมดทั้งกระบวนแต่แก้ให้ถึงทิฐิเลย
อย่างสังคมปัจจุบันนี้ยึดถือเอาเงินทองอำนาจเป็นเครื่องวัดคนใช่ไหม อย่างนี้ก็จบแล้วเรียกว่าทิฐิผิดใช่ไหม ยึดถือเชื่อว่าเอาเป็นว่าเงินทรัพย์และอำนาจคือเกียรติยศคือความดี ก็แปลว่าใครมีเงินมีอำนาจไม่ต้องคำนึงแล้วจะเป็นยังไง จะประพฤติยังไงดีหมดอย่างนี้ก็เรียกว่าทิฐิเสียเป็นมิจฉาทิฐิถูกไหม ก็สังคมอย่างนี้ก็ไปแน่นอนเพราะทิฐิมันผิดแล้วทีนี้ถ้าหากว่าแก้มาเป็นสัมมาทิฐิ ถือเอาความดีงามในตัวคนนั้นเป็นหลักใช่ไหม จะยกย่องจะให้เกียรติจะเชิดชูต้องอยู่ที่คุณความดี ไม่ใช่อยู่ที่ทรัพย์และอำนาจถ้าคุณมีทรัพย์อำนาจแต่ประพฤติตัวไม่ดีไม่เอาด้วยใช่ไหม ถ้าอย่างนี้เรียกว่าสัมมาทิฐิยังอยู่ใช่ไหม ก็มีหวังที่สังคมจะพอจะดึงรั้งไว้ได้ ในขณะนี้มันยังสู้อยู่บ้างนะไม่ใช่ว่าเสียไปหมดนะ ถ้าคนไม่ยอมยึดถือความดีเลยนะมันก็อยู่ไม่ได้เลยนะสังคมนี้เชื่อไหม มันยังมีอยู่ กระแสส่วนใหญ่ที่เราพูดเราพูดถึงกระแสส่วนใหญ่เวลานี้ก็ส่วนใหญ่ก็คือมันไปยอมรับเรื่องทรัพย์และอำนาจเป็นใหญ่ จนกระทั่งว่ามันไม่ค่อยคำนึงถึงความดีงาม เพราะฉะนั้นคนที่มีทรัพย์ มีอำนาจ ไปทำความชั่วก็ คนก็ไม่ค่อยจะว่ายังไงใช่ไหม ยอมรับเขาได้
ปุจฉา : มองว่าสังคมไทยยังมีจุดแข็งจุดหนึ่ง แต่ว่าเราละเลยกันไป ก็คือ เรื่องของศาสนาพุทธ ซึ่งชาวตะวันตกนั้นไม่มี เราอาจจะหลงประเด็นไขว้เขวไป ทางออกที่มองอยู่ตอนนี้ ไม่ทราบว่าจะถูกต้องหรือไม่ ถ้าเราหันกลับมาพัฒนาเรื่องของให้ประชาชนมีความสนใจในศาสนา มีความเชื่ออย่างถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาอย่างแท้จริง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมในปัจจุบัน
วิสัชนา : อ้าว ก็แน่ล่ะเพราะเราเชื่ออย่างนั้นเราจึงมาคุยกันใช่ไหม ที่เรากำลังพูดกันอยู่ก็เพราะว่าพวกเราเห็นว่าต้องเป็นแบบนี้ใช่ไหม เราก็พยายามให้หลักการกัน สังคมที่แล่นไปเนียะในที่สุดแล้วมันต้องถึงขั้นทิฐิ สังคมฝรั่งแล่นมาด้วยทิฐิอะไร ที่สร้างอารยธรรมอะไรนี้ใช่ไหม อย่างเชื่อว่าในการที่สู้ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยขยันขันแข็งไม่เห็นแก่การบำรุงบำเรอตัวเองนี่แหละสังคมของเราจะพรั่งพร้อมต่อไปข้างหน้า ด้วยความเชื่ออย่างนี้ใช่ไหม ทิฐิมันเกิดมันเอาเต็มที่เลยมันก็สร้างสังคมได้แต่มันก็เป็นทิฐิผิดอีก ทิฐิว่าถ้าเมื่อไหร่สังคมของเรามีวัตถุเสพพรั่งพร้อม สังคมของเราจะมั่งคั่งสมบูรณ์เป็นอุดมคติอีกใช่ไหม นี่มันก็ทิฐิอีก แล้วมันทิฐิว่าอะไร เราจะมีเสพพรั่งพร้อมได้เนียะ เราจะต้องพิชิตธรรมชาติต้องเอาชนะธรรมชาติจัดการกับธรรมชาติ ก็ทิฐิอีกใช่ไหม เพราะเชื่ออันนี้แหละมันจึงได้สร้างสรรค์อารยธรรมมาตลอด 2 พันกว่าปีใช่ไหม
ฝรั่งเองก็สืบไปว่านี่ ที่พัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสร้างอารยธรรมตะวันตกมันได้อย่างนี้เพราะว่ามีความเชื่อมีความมุ่งมั่นที่จะชนะธรรมชาติพิชิตธรรมชาติ พิชิตธรรมชาติสำเร็จก็จะมีอำนาจที่จะเป็นเหนือธรรมชาติ เอาธรรมชาติมารับใช้มนุษย์เอามาเป็นวัตถุดิบเข้าโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสิ่งเสพให้มนุษย์ มนุษย์ก็จะพรั่งพร้อมมีความสุขสบาย ทิฐิทั้งนั้นเลย ทิฐิเป็นตัวนำอารยธรรมทั้งหมด อย่างญี่ปุ่นก็ทิฐิใช่ไหม ความเชื่อว่าญี่ปุ่นต้องเป็นชาติยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ต้องหนึ่งเดียว เพื่อจะให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งเดียวมันทำอะไรก็ได้ แม้จะสละชีวิตของตัวเอง เพราะฉะนั้นมนุษย์เนียะ แม้ไอ้ตัวกระแสที่จะเป็นตัวนำสำคัญก็คือทิฐิเพราะอะไรมันลงเป็นทิฐิแล้ว ตอนนี้แหละมันเป็นตัวกำกับวิถีของสังคมและอารยธรรม นี่ถ้าทิฐิมันผิด มันก็เสียไม่ระยะสั้นก็ระยะยาว ของฝรั่งนี่เสียระยะยาว อุตส่าห์เป็นแรงที่ทำให้เกิดความสร้างสรรค์มานาน
ปุจฉา : พิจารณาในเรื่องของตัวตัณหาที่เป็นด้านกุศลธรรม ฝ่ายกุศลธรรมเท่าที่มองตัวสันโดษก็เป็นตัวที่
วิสัชนา : สันโดษอย่าพูดกันอีก นี่ฉันทะ สันโดษเป็นคุณธรรมอีกระดับหนึ่ง เป็นคุณธรรมในเชิงที่มาโยงกับเรื่องของวัตถุโดยตรง ฉันทะนี้มันกว้างกว่าเยอะ ฉันทะมันทั้งใฝ่รู้ใฝ่ดีใฝ่สร้างสรรค์แล้วใช่ไหมมันกว้างไปเยอะแยะ พัฒนาชีวิตของตัวเองอยากจะมีศีลอยากจะมีพฤติกรรมที่ดีอยากจะมีจิตใจที่งดงามอยากจะมีปัญญาความรู้อะไรมันกว้างไปหมด สันโดษมันแค่ปฏิบัติ ??? เป็นเพียงด้านหนึ่งเท่านั้นเอง เราจะพูดกันต่อไป เพราะว่าเมื่อกี้พูดไปแล้วนี่ว่า ตอนที่เราเริ่มพัฒนาเมืองไทยในยุค 2503 นายกรัฐมนตรีถึงกับมีสารไปถึงคณะสงฆ์ว่าขอให้งดอย่าสอนสันโดษ เพราะแกเข้าใจว่าต้องยุให้คนอยากเสพมีสิ่งฟุ่มเฟือยให้มากที่สุดแล้วคนจะขยันกันใหญ่ประเทศจะเจริญรุ่งเรืองกันใหญ่ แกฝันอย่างนั้นเลยพูดกันใหญ่เหมือนกัน