แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เอาล่ะนี้ก็ทั้งหมดสมาธิก็มีอยู่ 3 อย่าง นี้เป็นอันว่า เมื่อถึงอัปปนาสมาธิก็ได้ถึงขั้นฌาน เมื่อถึงขั้นณาณก็เลยพูดถึงเรื่องฌานต่อไปเลย นี้เราได้อัปปนาสมาธิถึงฌานขั้นต้น ก็เป็นอันว่าได้ ปฐมฌาน หรือฌานที่ 1 แล้วก็บอกว่า เราก็ต้องเพียรพยายามบรรลุฌานที่สูงขึ้นไปตามลำดับ ฌานทั้งหมดนี้ก็มี 4 ขั้นด้วยกัน แต่ต้องเข้าใจความหมายของฌานซะก่อน
ฌานก็คือภาวะจิตที่เพ่งอารมณ์จนแน่วแน่นั่นเอง คือภาวะจิตที่มีสมาธิถึงขั้นอัปปนาเป็นคุณสมบัติแกน หมายความว่า อัปปนาสมาธินั้นมาเป็นแกน เป็นคุณสมบัติของจิตนี้ แล้วจิตนั้นอยู่ในภาวะที่มีสมาธิอัปปนานี้ แล้วก็ประกอบด้วยคุณสมบัติอื่นๆ ซึ่งภาวะจิตนั้นจะประณีตขึ้นไปตามลำดับ โดยเอาคุณสมบัติที่ประกอบอยู่ในจิตนั้น หรือคุณสมบัติที่พ่วงอยู่กับอัปปนาสมาธินั้นเป็นตัวกำหนดขั้น ว่าถึงฌานขั้นไหน ก็เป็นอันว่าภาวะจิตที่มีอัปปนาสมาธิเป็นแกนและมีคุณสมบัติอื่นพ่วงอยู่ที่ประณีตขึ้นไปตามลำดับ นี้แหละเราเรียกว่าฌาน นี้ฌานก็ประณีตขึ้นไปตามลำดับ
เมื่อกี้นี้บอกว่ามี 4 ขั้น เราเรียกกันง่ายๆ ว่า ฌาน 4 ก็มี ปฐมฌาน ฌานที่ 1 คุณสมบัติที่มีในฌานนี้ก็ ที่เป็นตัวกำหนดฌานว่าเป็นฌานที่ 1 ก็มี 5 อย่าง ในที่นี้จะไม่อธิบายความหมาย ก็มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา วิตกก็การที่ยกจิตเข้าสู่อารมณ์ วิจารก็การคลอให้จิตอยู่กับอารมณ์นั้น แล้วก็ปีติก็ความอิ่มใจ สุขก็ความสุข แล้วก็เอกัคคตาก็ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือตัวสมาธินั้น
นี้สอง ทุติยฌาน ฌานที่ 2 ภาวะจิตจะประณีตยิ่งขึ้น โดยที่คุณสมบัติต่างๆ ที่มันไม่ประณีตก็จะหายไป ก็เหลือแต่คุณสมบัติ ที่เป็นส่วนที่ทำให้จิตประณีตมากขึ้น มากขึ้น ตอนนี้ ถึงขั้นฌานที่ 2 นี้ วิตก วิจารจะหายไป คือเราเข้าสู่ภาวะจิตที่ประณีตยิ่งขึ้น วิตก วิจาร ไม่ต้องมี ก็เหลือแต่ ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นองค์ประกอบหรือองค์ฌานสามอย่าง
ต่อไป พยายามทำจิตให้ประณีตยิ่งขึ้นอีก ก็จะบรรลุฌานที่ 3 เรียกว่า ตติยฌาน ตติยฌานนี้ คุณสมบัติหรือองค์ฌานข้อ
ปีติ ก็จะหายไป ก็เหลือแต่ สุข และ เอกัคคตา ตอนนี้มีคุณสมบัติประกอบในภาวะจิตสำคัญสองข้อเท่านั้น คือ สุข กับ เอกัคคตา
นี้ต่อจากนั้น บำเพ็ญเพียรต่อไปอีก บรรลุภาวะจิตที่ประณีตยิ่งขึ้น ก็ถึงฌานชั้นที่ 4 ที่เรียกว่าชั้นสูงสุด เรียกว่า จตุตถฌาน องค์ฌานที่ว่าเมื่อกี้เหลือสองแล้วในขั้นที่สาม คือ สุข และ เอกัคคตา ตอนนี้สุขจะเปลี่ยนไปเป็น อุเบกขา ก็มีองค์ฌานสอง ได้แต่ อุเบกขา กับ เอกัคคตา อุเบกขาก็ภาวะจิตที่เป็นกลาง เรียบ ซึ่งประกอบอยู่กับเอกัคคตา ภาวะจิตที่มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียวนั้น นี้เรียกว่าถึงฌานขั้นสูงสุด เอาล่ะนี้เป็นฌาน 4
ที่นี้ฌาน 4 นี้ ท่านก็มีชื่อเรียกกำกับลงไปว่าเป็น รูปฌาน เพราะอะไร เพราะว่า ในฌานที่ 4 นี้น่ะ ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดแล้วเนี่ย เราสามารถจะเอาอารมณ์กรรมฐานที่กำหนดมาแต่เดิมเนี่ย พรากออกไป คือเหมือนกับว่ากำหนดสิ่งที่เป็นกรรมฐานหรือเป็นอารมณ์มาเดิม มาจนกระทั่งถึงได้ฌานสูงสุดถึงฌานที่ 4 แล้ว กลับ เอาจิตเพิก เค้าเรียกเพิกออกจากอารมณ์กรรมฐานนั้นไปกำหนดภาวะว่างเปล่า เป็นต้น
ซึ่งตอนเนี่ย จะกลายเป็นว่าจากฌานที่ 4 นั้น ขยายให้จิตประณีตลึกสูงขึ้นไปอีก การที่จิตประณีตสูงขึ้นไปอีกขั้นเนี่ย เปลี่ยนจากการเป็นฌานประเภทแรก คือเปลี่ยนลักษณะประเภทฌานไปเลย เพราะว่าไม่ได้ใช้อารมณ์อย่างที่ใช้มาแต่ก่อน เปลี่ยนไปเป็นฌานประเภทที่สอง ซึ่งไม่ใช้อารมณ์ที่เคยใช้มา อารมณ์ที่ใช้มาเราเรียกว่าเป็น รูปธรรม เราก็เลยเรียกฌานประเภทแรก 4 อย่างที่ได้มานั้น เรียกว่า รูปฌาน แล้วก็เรียกฌานที่จะบรรลุต่อไปนี้ว่าเป็น อรูปฌาน
การที่เรียก รูปฌาน ก็เพื่อแยกให้ต่างจาก อรูปฌาน ที่จะบรรลุต่อไป ตามปกติเราก็เรียกแค่ฌาน 4 ก็เป็นอันรู้กันว่า ถ้าเรียกกว่าฌาน 4 อันนี้ก็หมายถึงว่ารูปฌาน 4 ในเมื่อมาเรียกเทียบกับอรูปฌาน อันนี้ก็ พอเราเข้าถึงฌานที่ 4 แล้ว เราก็เอาอารมณ์ที่เป็นรูปธรรมนี้ออกไป ไปกำหนด เริ่มแต่กำหนดความว่าง ช่องว่างแทน มันก็เริ่มเข้าสู่อรูปฌาน อรูปฌานนี้ก็จะประณีตขึ้นไปตามลำดับอีกสี่ขั้น ก็เป็นอรูปฌาน 4 ลึกขึ้นไปตามลำดับ ก็ให้แต่ชื่อ พอให้ได้ยินไว้
ตอนนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนกันมากมาย คือ แล้วก็ไม่สามารถจะให้รายละเอียดในตอนนี้ด้วย เพราะจะทำให้สับสน อรูปฌาน 4 โดยชื่อก็มี
1. อากาสานัญจายตนฌาน เป็นฌานที่กำหนดช่องว่างไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ นี้ก็คือ ตอนนี้เอาอารมณ์กรรมฐานตอนต้นๆ ที่กำหนดมานี้ เอาออกไปแล้ว มีแต่ช่องว่าง ที่ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอนันต์ นี้ต่อจากนั้นก็เข้าสู่อรูปฌานขั้นที่ 2. เรียกว่าวิญญาณัญจายตนะ ก็คือฌานที่กำหนดวิญญาณที่ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ ต่อจากนั้น ประณีตขึ้นไปอีก อากิญจัญญายตนะ เป็นฌานที่กำหนดความไม่มีอะไรเลย ภาวะที่ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ต่างจากช่องว่างในทางอากาศ กับคำว่า ไม่มีอะไร นี้ต่างกัน ต่อจากนั้นก็ยังประณีตขึ้นไปอีก จิตจะเข้าถึงภาวะที่เรียกว่า มีสัญญาก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี้คืออรูปฌาน 4 คือสัญญาในขั้นสุดท้ายนั้น จะมีสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เป็นอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ
อากิญจัญญายตนะ แล้วก็เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็จบอรูปฌาน 4
ก็รวมความก็จึงมี รูปฌาน 4 กับ อรูปฌาน 4 ซึ่งรวมกันทั้งหมดนี้ เรามักจะเรียกกันว่า สมาบัติ 8 ถ้าพูดว่าสมาบัติ 8 คือภาวะจิต ภาวะที่จิตเข้าถึงไง สมาบัติ 8 ก็คือ รูปฌาน 4 กับ อรูปฌาน 4 นี้เอง จะเรียกง่ายๆ ก็คือ ฌาน 8 นั้นเอง ก็เป็นอัน ว่า จบเรื่องฌาน มีเท่านี้ มี 8 ขั้น สูงสุดแล้ว
ที่นี้ก็มีเกร็ดแทรกเข้ามาหน่อย ในเรื่องฌาน 4 ที่พูดในตอนต้น หรือเรียกจำกัดลงไปว่า รูปฌาน ๔ นั้นน่ะ ในฝ่ายอภิธรรมเนี่ย ท่านมีการแยกละเอียดลงไปอีก คือซอยจากฌาน 4 ได้เป็น ฌาน 5 ขั้น เลยเรียกกว่า ฌาน 5 เพราะฉะนั้น เวลาเราไปพบฌาน 5 ก็อย่างง ว่าเอ๊ะ ก็ฌานก็มี 4 เท่านั้น ทำไมไปเจอฌานที่ 5 เข้าอีกแล้ว
ฌานที่ 5 นี้ก็เป็นแบบของอภิธรรม ซึ่งอภิธรรมนี้ชอบซอยละเอียด ก็เลยซอยภาวะจิตที่ประณีตขึ้นไปตามลำดับเนี่ย ในฌาน 4 ก็ซอยเป็นฌาน 5 เป็นฌาน 5 ขึ้นมาได้อย่างไร อันเดียวกันกับฌาน 4 นั้นเอง ก็คือ เมื่อได้ฌานที่ 1 ไปแล้ว ฌานที่ 1 นี่ยังเหมือนกัน มีองค์ฌาน 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ที่นี้เมื่อกี้นี้อาตมาได้บอกแล้วว่า พอไปถึงฌานที่ 2 เรียกว่า ทุติยฌานนั้น วิตก วิจาร หายไป สงบไป ก็ออกไปทีเดียวสองเลย วิตก วิจาร ไป ก็เหลือ ปีติ สุข เอกัคคตา มีองค์ฌานอยู่สาม เราเรียกว่า ทุติยฌาน แต่ในแบบอภิธรรมที่แจกแจงเป็นห้าอย่างนั้น เอาออกไปทีละข้อเดียว เพราะฉะนั้นฌานที่ 2 ของอภิธรรม ซึ่งมี 5 ก็จะลดจาก วิตก อย่างเดียว วิจาร ยังอยู่ ก็เลยกลายเป็นว่า ฌานที่ 2 ของอภิธรรมนั้น มี วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แล้วก็ต่อไปเมื่อเอาวิจารออกไปอีก เหลือแต่ ปีติ สุข เอกัคคตา ก็กลายเป็นฌานที่ 3 ฌานที่ 3 ของฝ่ายอภิธรรมก็มาตรงกับฌานที่ 2 ที่เราพูดไปแล้วในหมวด 4 เมื่อกี้ เท่ากับว่าแทรกฌานที่ 2 เพิ่มเข้ามาในฝ่ายอภิธรรม ก็เลยมีการพูดเพื่อจะให้เกิดความชัดเจนว่าเรากำลังพูดถึงฌานแบบไหน
ฌานแบบหมวด 4 นี้ก็เรียกว่า ฌานจตุกนัย คือมีสี่อย่าง ถ้าหากว่าเรียกแบบหลัง ห้าอย่าง ก็เรียกว่า ฌานปัญจกนัย แบบห้า หรือจะพูดตามแหล่งที่มาก็ แบบสี่ก็เป็นแบบพระสูตร แบบห้าก็เป็นแบบพระอภิธรรม อันนี้ก็เป็นความรู้เพิ่มเติม
เอาล่ะ อาตมาคิดว่าเรื่องฌานก็ผ่านไป เมื่อกี้นี้บอกว่าพอได้ฌานครบ ได้สมาบัติ 8 นี้เราก็สามารถจะก้าวไปสู่ผลได้พิเศษจากสมถะอีก ก็คือ อภิญญา 5 อภิญญานั้น แปลว่าความรู้ที่ยวดยิ่ง โดยมากจะเป็นเรื่องของฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์แล้ว ผลได้พิเศษที่เป็นผลสำเร็จในด้านกำลังจิต พลังจิตเนี่ย ที่เรียกว่าอภิญญา มี 5 อย่างก็คือ
1. เรียกเป็นภาษาทางบาลีว่า อิทธิวิธิ หรือ อิทธิวิธา ก็ได้ แปลว่า แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เช่น การเหาะ การแปลงตัวอะไรต่างๆ เหล่านี้ หายตัว เหาะเหินเดินอากาศ ก็เป็นประเภทที่แสดงฤทธิ์ได้ ก็เป็นอภิญญาข้อที่หนึ่ง
ต่อไป ข้อที่ 2. เรียกเป็นภาษาพระว่า ทิพพโสตะ หรือ ทิพพโสต แปลว่า หูทิพย์ คือสามารถได้ยินเสียงที่ไกล ที่หูธรรมดาเนี่ยไม่สามารถได้ยินได้ ก็พูดกันง่ายๆ หูทิพย์ คนก็เข้าใจแล้ว
ต่อไปประการที่ 3. เรียกว่า เจโตปริยญาณ เจโตปริยญาณก็แปลว่า ญาณที่กำหนดใจคนอื่นได้ รู้ใจคนอื่น สามารถรู้ใจคนอื่นได้ นี้ก็เป็นความรู้พิเศษ
แล้วต่อไปก็ 4. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณที่เป็นเหตุให้ระลึกชาติได้ ระลึกชาติก่อนได้
แล้วก็ 5. ทิพพจักขุ แปลว่า ตาทิตย์ ก็ได้ตาทิพย์ ก็เป็นอภิญญาข้อที่ 5 ข้อสุดท้าย คือ สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ไกลหรือสิ่งที่มีเครื่องปิดบังปกปิดขัดขวางไว้ ก็มองเห็นทะลุปรุโปร่งไปหมด
อันนี้ก็เป็นความสามารถพิเศษทางจิต ทีนี้ปัจจุบันนี้ ในการศึกษาเรื่องทางจิตอย่างเมืองตะวันตก ก็มีการค้นคว้า พยายามพิสูจน์กันเรื่องอย่างนี้ เช่นเรื่อง เทเลพาตี้ ( Telepathy; การติดต่อสื่อสารผ่านทางจิต ) เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้สนใจก็ไปศึกษาค้นคว้าเอา ก็เป็นอันว่าอภิญญาก็เป็นอันว่าจบเพียงห้าอย่างนี้ เป็นผลของสมถะ ผลได้อย่างสูงสุดแล้ว
แต่เมื่อกี้นี้ได้บอกว่า ยังมีอภิญญาข้อที่หกอีก อภิญญาข้อที่ 6. นี่จะต้องหันไปเจริญวิปัสสนา ก็คือว่าจะต้องใช้สมถะเป็นบาทเป็นฐาน หรือว่าเอาฌานที่ได้จากสมถะเป็นบาทเป็นฐาน หันไปเจริญวิปัสสนาต่อไป แล้วก็จะไปได้อภิญญาข้อที่หก มาเติมให้เต็มเป็น อภิญญา 6 ก็จะบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
แต่ต้องทำความเข้าใจว่า จะต้องมีวิปัสสนามาจึงจะสำเร็จได้ สมถะอย่างเดียว หรือ จิตภาวนาอย่างเดียวนี้ไม่สามารถให้ถึงอภิญญาข้อที่หกได้ แล้วก็ ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า คนที่จะได้อภิญญาข้อที่หกที่เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนานี้ ไม่จำเป็นต้องได้อภิญญา 5 ก่อน เพราะว่า ได้พูดแล้วว่า เราไม่จำเป็นต้องรอจนกระทั่งถึงจุดหมายของสมถะ ถึงจะหันไปเจริญวิปัสสนา ระหว่างที่ได้สมาธิขั้นต้นๆ ก็สามารถหันไปเจริญวิปัสสนาได้ โดยตลอด
เพราะฉะนั้นบางท่านนี่ ก็ได้สิ่งที่เรียกว่า อภิญญาข้อที่หก จุดหมายของพระพุทธศาสนา โดยที่ว่าไม่ได้บรรลุอภิญญา 5 เลย ในกรณีนั้นเราก็ไม่เรียกกว่า อภิญญา 6 เพราะไม่รู้จะเอาห้าข้อมาเรียงเข้าอย่างไร ก็เป็นเพียงได้บรรลุอาสวักขยญาณ ที่เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา หมดกิเลสและความทุกข์
ที่นี้ก็ ขอให้ทำความเข้าใจกันว่า เรื่องการเจริญสมถะนี้นั้น จุดมุ่งหมายเค้าอยู่ที่การได้สมาธิ การทำจิตใจให้สงบ แล้วในทางพุทธศาสนานั้น สมถะนั้นมุ่งให้เป็นฐานแก่วิปัสสนาเป็นสำคัญ ไม่ได้มุ่งมาให้ผลสำเร็จที่เป็นความสามารถทางพลังจิต ได้อภิญญา 5 อะไรต่างๆ เหล่านี้ อภิญญา 5 นี้ มักเป็นที่ปรารถนาของคนจำนวนมาก ชอบตื่นเต้นกัน แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าใครได้ ก็ยกย่องในแง่ก็มีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่ง แต่ให้เข้าใจว่า ก่อนพุทธกาลเค้าก็ได้กันอยู่แล้ว ความพิเศษของพระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่สิ่งเหล่านี้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้เพียรพยายามจนกระทั่งบรรลุความสำเร็จนั้น อยู่ที่นำมาใช้ เอาสมถะนั้นมาใช้เป็นฐานของวิปัสสนา ทำให้ได้บรรลุจุดหมายคือความ ปัญญาที่ทำให้จิตบริสุทธิ์สะอาด เป็นอิสระพ้นจากกิเลสและความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง
เพราะฉะนั้นการได้อภิญญา 5 นี้ ไม่ใช่เป็นการวัดความสำเร็จในพระพุทธศาสนา เพราะผู้ได้อภิญญา 5 นี้ เช่นได้ฤทธิ์แล้ว ก็อาจจะไปทำสิ่งเสียหายได้ คือยังมีกิเลสอยู่นั่นเอง คนที่ได้อภิญญา 5 ครบแล้ว ยังมีกิเลสอยู่ตามเดิม ก็ไปเกิดอีก แล้วก็ยังสามารถทำความชั่ว ยกตัวอย่าง เช่นอย่าง พระเทวทัต ก็ได้ฤทธิ์แล้ว ก็เป็นผู้ที่บรรลุผลสำเร็จในทางสมถะในการเจริญจิตภาวนาอย่างสูง เรียกได้ว่าสูงสุดแล้ว ก็ยังไปทำความชั่ว เป็นผู้ที่เรียกได้ว่า พยายามทำลายพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป
ฉะนั้นก็เป็นข้อสังวรว่า เราไม่ได้เอาความสามารถพิเศษในทางจิต หรืออภิญญา 5 นี้มาวัดความสำเร็จในทางพระพุทธ ศาสนา ผู้ที่ปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา ชำระกิเลสด้วยปัญญา หรือว่าพัฒนาจิตพัฒนาปัญญาของตนให้เจริญให้ดีงามขึ้น บรรลุกุศลธรรมเบื้องสูง กำจัดกิเลสได้ แม้จะไม่ได้อภิญญา 5 ไม่มีฤทธิ์มีเดช ท่านถือว่าเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ที่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
แต่ว่าถ้าเราสามารถได้ผล ได้ความสำเร็จพิเศษทางจิต มันก็เป็นคุณสมบัติเพิ่มเติม ซึ่งก็ถือว่าอาจจะช่วยในทำงานทำการทางด้านพุทธศาสนาได้ ก็เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เพราะฉะนั้นพระสาวกที่ มีความสามารถ ก็มักจะเป็นผู้ที่ได้ ขั้นแรกก็คือว่าจะต้องบรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา จบอาสวักขยญาณได้เป็นพระอรหันต์ แต่แล้วก็มีคุณสมบัติพิเศษด้วย คือการที่ว่า มาได้ฌาน ได้อภิญญาต่างๆ เหล่านี้ ก็ช่วยให้มีความสามารถในการทำงานเพื่อพระศาสนาได้ดียิ่งขึ้น
ก็รวมความว่าถ้ามีความสามารถพิเศษไปประกอบกับความดีงาม ความบริสุทธิ์แล้วนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าหากว่า ความดีงาม ความบริสุทธิ์ ปัญญากำจัดกิเลสไม่เป็นฐานอยู่ แม้มีคุณสมบัติเป็นความสามารถพิเศษเหล่านี้ก็ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่รับประกันความดีงามได้ ก็คิดว่าควรจะผ่านเรื่องนี้ไป
ที่นี้ในเมื่อพูดถึงผลสำเร็จกันไปแล้ว จนถึงสูงสุด ก็มาพูดถึงตัววิธีปฏิบัติหรือตัวกระบวนการปฏิบัติกันหน่อย นี้เป็นตัวความก้าวหน้าหรือขั้นตอนในการปฏิบัติ คล้ายๆ ว่าเราก็รู้หมดแล้ว รู้สิ่งที่จะเอามาใช้ในการปฏิบัติ รู้ว่าปฏิบัติไปแล้วเราจะได้ผลสำเร็จอะไรบ้าง ทีนี้จะลงมือปฏิบัติก็ควรจะรู้ว่า เวลาปฏิบัติไปนี้ มีความก้าวหน้าเป็นขั้นเป็นตอนยังไง ก็เลยพูดสักอีกหัวข้อหนึ่ง คือเป็นเรื่องของก้าวหน้าหรือขั้นตอนในการปฏิบัติ