แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร วันนี้ก็มาถึงพุทธคุณข้อสุดท้าย คือข้อที่ 9 ได้แก่บทว่า ภควา
“ภควา” นั้น เราแปลกันทั่วๆ ไปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เป็นคำเรียกพระองค์ด้วยความเคารพ ความ จริงคำว่า “ภควา” นี้ ศาสนาอื่นหรืิอว่าลัทธิอะไรต่างๆ อื่นๆ ในอินเดียเขาก็ใช้กัน เขาเรียกบุคคลที่เขาเคารพ เป็นชั้นศาสดา หรือว่าเป็นผู้นำที่สำคัญ เป็นผู้ที่เขาเคารพนับถือเขาเรียก “ภควาน”
“ภควาน” กับ “ภควา” ก็คำเดียวกัน ตามที่พอจะสืบได้ ก็คำว่า “ภควา” หรือ “ภควาน” นี้ เป็นคำที่มี ใช้ในอินเดียมานานแล้ว เดิมนั้นมีชื่อเทพเจ้าองค์หนึ่ง เป็นเทพเจ้าแห่งโชค เป็นผู้มีโชคดี และก็เป็นผู้ประทาน โชคลาภให้ ต่อมาคนเอาชื่อของเทพองค์นี้มาเรียกคนที่ตนเคารพนับถือ อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า เรียกพระศาสดา เรียกนักบวชที่เขาเคารพ ก็เป็นภควาน ภควาน ในเมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้ว พุทธศาสนิกชนเคารพนับถือ พระพุทธเจ้า ก็นำเอาคำนี้มาใช้เรียกพระองค์ เราก็เลยเรียกพระพุทธเจ้ากันสืบมาว่า พระผู้มีพระภาค ก็ได้แก่ เป็นคำแสดงความเคารพนั่นเอง ถ้าสืบความหมายตามที่กล่าวมาเป็นต้นก็คือเป็นผู้มีโชค
ตรงนี้พระอรรถกถาจารย์ท่านได้อธิบายความหมายของคำว่า “ภควา” นี้หลายแง่หลายนัย ประมาณสัก เกือบ 10 นัย จะนำมาพูดในที่นี้ทั้งหมดก็เป็นเรื่องฟั่นเฝือ อาตมภาพก็จะเลือกมาพูดสักเพียง 2-3 อย่าง
ในความหมายหนึ่ง “ภควา” ก็มาจากศัพท์ว่า “ภาคฺย” แปลว่า สิ่งที่เลิศล้ำดีงาม ที่เรียกว่า “ภควา” ก็เพราะเป็นผู้ที่มีสิ่งที่เลิศล้ำดีงาม หรือคุณสมบัติที่ดีนั่นเอง เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงมีบารมี ก็ทรงบำเพ็ญบารมี 10 ประการมา ซึ่งบารมีทั้ง 10 นั้น ก็เป็นคุณธรรมอย่างยอดเยี่ยมชั้นเลิศ และก็ท่านได้อธิบายต่อไปว่า พระองค์ นี่ประกอบด้วยทั้งรูปกายสมบัติ รูปกายสมบัติก็คือพระรูปโฉมที่มีมหาปุริสลักษณะงดงามสง่าอันนี้เป็นเครื่องช่วย ให้คนต้องการจะเข้ามาใกล้ และก็มีคุณสมบัติต่อไปเข้ามาสนับสนุน คือมีธรรมกายสมบัติ ธรรมกายของพระองค์ ก็เพียบพร้อมด้วย ธรรมกายของพระองค์เพียบพร้อมก็เพราะว่ามีความหมายตามภควา ข้อที่ 2
ข้อที่ 2 นั้น “ภควา” แปลว่า ผู้ที่ได้หักแล้ว ได้ทำลายแล้ว เอ๊ะ หักหรือทำลายจะดีได้อย่างไร หักหรือ ทำลายที่ดีก็เพราะว่าหักทำลายสิ่งที่ไม่ดี มันก็กลายเป็นดี ลบกลายเป็นบวก พระพุทธเจ้าหักทำลายอะไรบ้าง พระพุทธเจ้าหักทำลายโลภะ หักทำลายโทสะ หักทำลายโมหะ หักทำลายสรรพกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ทำ พระองค์ให้บริสุทธิ์หมดจด และก็ในทางตรงข้ามได้บรรลุคุณสมบัติอันประเสริฐดีงามทั้งหลาย มีโพธิญาณเป็น ศูนย์กลาง ก็ทำให้พระองค์เนี่ยเป็นที่รวมแห่งพระธรรมกาย พรั่งพร้อมด้วยธรรมกาย ธรรมกายก็แปลว่าที่รวม แห่งธรรม พระพุทธเจ้าประกอบพร้อมทั้งรูปกายและธรรมกายอย่างนี้ ก็เป็นผู้ที่ประชาชนทั้งหลายทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต หรือว่าทั้งชาวบ้านและนักบวชควรเข้าไปหา เมื่อเขาเข้าไปหาแล้ว พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมช่วย กำจัดแก้ไขปัดเป่าความทุกข์ความเดือดร้อนของเขาทั้งทางกายและทางใจ
เมื่อบรรเทาปัดเป่าความทุกข์ร้อนให้แล้ว ก็นำเอาความสุขมาให้ด้วย ผู้ที่เข้าไปคบหาพระพุทธเจ้าก็ได้รับ ความสุข ทั้งเป็นโลกียสุข สุขชั้นต้นๆ ทั่วๆ ไป และสุขที่เป็นชั้นสูงที่เรียกว่าโลกุตรสุข อันนี้ก็เป็นคุณสมบัติของ ภควา
อีกความหมายหนึ่ง “ภควา” แปลว่า ผู้จำแนกแจกแจง ผู้จำแนกแจกแจง หมายถึงแจกแจงธรรมะ พระพุทธเจ้านำเอาธรรมะเนี่ยมาแจกแจงแยกแยะออกไป อธิบายเพื่อพุทธศาสนิกชนเข้าใจ เป็นลักษณะที่ อัศจรรย์อย่างหนึ่งที่ว่าธรรมะในพระพุทธศาสนานั้น ท่านจำแนกเป็นหมวด เป็นหมู่ เป็นข้อต่างๆ ซึ่งมีลักษณะ ที่ครบถ้วนบริบูรณ์ แล้วจัดได้เป็นชุดๆ เป็นประเภทๆ เช่นอย่างพระพุทธเจ้าทรงจำแนกแจกแจงเรื่องสภาวธรรม หรือธรรมะที่เป็นกลางๆ เป็นที่รวมๆ แยกเป็นขันธ์ 5 เกี่ยวกับเรื่องชีวิตคนก็รวมหมดอยู่ในนั้น ขันธ์ 5 มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
หรือจะแยกในแง่ของเป็นอายตนะ เป็นเรื่องของการรับรู้ ติดต่อกับโลกภายนอก ก็มีอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือพระองค์จะทรงแสดง เรื่องอริยสัจ ก็แสดงเป็นชุดมี 4 ข้อ ก็มีความบริบูรณ์ครบถ้วนจบในตัว หรือแสดงหลักการแห่งเหตุผลเป็น ปฏิจจสมุปบาทมีองค์ 12 เป็นวงจร ก็เป็นชุด 12 อยู่ในตัวครบบริบูรณ์ หรือแสดงเรื่องไตรลักษณ์ แสดง ลักษณะของธรรมชาติสิ่งทั้งหลายทั่วไป ก็มี -3 อย่าง มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็มีความพร้อมแต่ละหมวดๆ มาแสดงธรรมะที่เป็นส่วนอกุศล แสดงเรื่องว่าอกุศลมูล รากเหง้าต้นตอของอกุศลหรือความไม่ดี มี 3 อย่าง พระองค์ก็แสดงโลภะ โทสะ โมหะ
โลภะ โทสะ โมหะก็เป็นกิเลสที่ครบถ้วนจบในตัว ๓ อย่างบริบูรณ์แล้ว หรือแสดงเรื่องทุจริต ก็มีกาย ทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็ครบถ้วนไม่มีนอกเหนือจากนี้แล้ว แสดงเป็น บทเป็นหมวด จับเอามาในทางดีตรงกันข้าม ก็แสดงฝ่ายกุศลมูล อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือแสดงสุจริต ก็มี กายสุจริต วจีสุจริต หรือแสดงข้อปฏิบัติอย่างพรหมวิหาร 4 เป็นหลักประจำใจ สำหรับมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ระหว่างมนุษย์ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา 4 อย่างนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ตั้งไว้ในใจก็ครบถ้วน บริบูรณ์หรือจบในตัว 4 ข้อ
หรือจะแสดงหลักในการปฏิบัติ อย่างเป็นโพชฌงค์ 7 ก็มี 7 ข้อ ใน 7 ข้อนี้ก็มีความสมบูรณ์ในตัว เป็นข้อ ปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด จัดเป็นมรรค 8 มรรคมีองค์ 8 ก็ครบถ้วนบริบูรณ์อยู่ในนั้น ธรรมะของพระองค์ นะมีสารพัดประเภท มีแสดงสภาวะ มีแสดงสิ่งที่ไม่ดีอกุศล สิ่งที่ดีเป็นกุศล แสดงข้อปฏิบัติเป็นมรรคา เป็น ปฏิปทา จัดเป็นหมวดเป็นหมู่ มีตั้งแต่หมวด 1 ขึ้นไป จนกระทั่งเป็นหมวดเป็นร้อยๆ นี่พระองค์จำแนกแจกแจง ธรรมะด้วยประการต่างๆ อย่างนี้ โดยมีความมุ่งหมายก็เพื่อว่าให้พุทธศาสนิกชนได้รู้เข้าใจความจริง แล้วจะได้ ปฏิบัติเพื่อจะได้บรรลุความหลุดพ้นเป็นอิสระ มีจิตใจที่ปลอดโปร่งผ่องใสเป็นสุขได้ทุกเวลา นี้พระองค์ก็ได้ทรง แสดงธรรมะไว้แล้ว
คุณสมบัติของพระองค์ต่างๆ ที่มีไว้ก็เพื่อช่วยในการบำเพ็ญพุทธกิจ ก็เป็นประโยชน์แก่โลก ที่เราเรียกว่า โลกัตถจริยา และพระองค์ก็มีความสามารถในการจำแนกแจกแจงธรรมะดังกล่าวมานี้ ถ้าเป็นสมัยที่พระองค์ยัง อยู่ พระองค์ได้เทศนาเอง พบกับผู้ใดก็ทรงแสดงจำแนกแจกแจงธรรมะให้เหมาะกับบุคคลผู้นั้น
แต่บัดนี้ พระองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แทนที่พระองค์จะมาแสดงธรรมะให้เหมาะกับเราแต่ ละคน หรือแต่ละหมู่ แต่ละคณะ ก็กลายเป็นว่าเราเนี่ยจะต้องหันไปศึกษาธรรมะที่พระองค์แสดงไว้แล้วกับคนอื่น แสดงไว้เมื่อนานแล้ว และก็ต้องเลือกเอาเอง เราจะต้องใช้ปัญญาพิจารณาเลือกธรรมะที่เหมาะกับเรา เบื้องต้นก็ ต้องทำความเข้าใจในหลักธรรมเหล่านั้นว่ามีความหมายอย่างไรๆ เมื่อเข้าใจความหมายดีแล้ว เอามาสอดส่อง พิจารณาอย่างที่เรียกว่าธรรมวิจัย มาเลือกเฟ้นมาใช้ปฏิบัติให้เหมาะสมกับตนเอง หรือให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ สถานการณ์ในกรณีนั้นๆ แล้วก็นำมาใช้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อก้าวหน้างอกงามในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป
ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติอย่างนี้แล้วก็เป็นคุณประโยชน์แก่ตนเองสมความมุ่งหมายของพระศาสดา พร้อมกัน นั้น ในฐานะที่เป็นสาวกก็ทำหน้าที่ ที่เรียกว่า มีความเคารพนับถือพระศาสดาก็ทำการบูชาด้วย ในการบูชานั้น เมื่อเราปฏิบัติถูกต้อง เรียนธรรมะคำสอนของพระองค์ เลือกเฟ้นมาใช้แล้ว ก็จะได้ทำการบูชาชนิดที่เรียกว่า ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติที่ถือว่าเป็นการบูชาประเสริฐ มิใช่เพียงว่าบูชาด้วยอามิสอย่างเดียวเท่านั้น และปฏิบัติบูชานี้ ก็เป็นบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ
การที่ได้กล่าวพุทธคุณทั้งหมดมานี้ ก็เพื่อรำลึกถึงองค์พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดา จะได้มีจิตใจเลื่อมใส ศรัทธา การที่มีศรัทธานั้นก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวผู้มีศรัทธานั้นเอง จะได้มีจิตใจผ่องใสเบิกบาน แล้วจะได้มีกำลังใจ ในการประพฤติปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้น เมื่อเข้าใจความมุ่งหมายอย่างนี้แล้ว ก็จะได้น้อมเอาพุทธคุณเหล่านั้นมา พิจารณา แล้วเป็นกำลังส่งเสริมในการปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป และก็จะมาจบลงด้วยปฏิบัติบูชา แล้วก็จะเกิดประโยชน์ สุขแก่ตนเองและก็แก่ผู้อื่น สมดังความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา
อาตมภาพก็แสดงพุทธคุณในเรื่อง “ภควา” บทสุดท้ายคือบทที่ 9 มา ก็แสดงโดยย่อพอสังเขป ซึ่งเนื้อหา ใจความนั้น ก็คือการที่พุทธศาสนิกชนมีความเคารพในพระพุทธเจ้านั้นเอง ก็เรียกร้องต่อพระองค์ด้วยคำว่า พระผู้มีพระภาค เมื่อเรียกร้องพระองค์แล้ว พระองค์ก็เรียกร้องต่อเราเหมือนกัน เรียกร้องต่อเราก็คือ พระองค์ เคยเรียกร้องต่อพระ บอกว่า นี่นะ กิจที่ศาสดาควรทำต่อสาวกทั้งหลาย เราได้ทำแล้ว โน่นโคนไม้ โน่นเรือนว่าง โน่น เธอทั้งหลาย กิจที่ศาสดาได้ควรทำแก่สาวก เราได้ทำแล้ว เธอทั้งหลายก็จงปฏิบัติ เพ่งพินิจ ไม่ประมาทเถิด
นี้พระองค์ก็เรียกร้องต่อเราอย่างนี้ นั้นเราเรียกร้องพระองค์ พระองค์ก็เรียกร้องกะเราว่าให้ปฏิบัติตามที่ ทรงสอนไว้ด้วยปฏิบัติบูชาดังกล่าวมาแล้ว อาตมภาพก็ขอให้โยมทุกท่านได้เจริญก้าวหน้าในธรรมด้วยปฏิบัติบูชา โดยทั่วกันทุกท่าน ขออนุโมทนา เจริญพร