แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ก็เป็นเรื่องแทรกต่ออีก เพราะว่ายังไม่ถึงพุทธธรรม ตอนนี้ยังไม่มีโอกาสที่จะเขียนหนังสือพุทธธรรมต่อ ก็เอาเรื่องเบ็ดเตล็ดมาเล่า
สำหรับวันนี้อาตมภาพคิดว่าจะมาพูดเรื่องเสรีภาพ คำว่าเสรีภาพนี้สมัยปัจจุบันนี้ใช้กันมาก แล้วก็นิยมถือว่าเป็นหลักสำคัญของประชาธิปไตย และในทางธรรมะก็พูดถึงเสรีภาพเหมือนกัน ก็ลองมาพิจารณาว่าในทางโลกกับทางธรรม หรือว่าที่เข้าใจปัจจุบัน และคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร
ปัจจุบันนี้พูดกันถึงเสรีภาพในทำนองว่า การที่จะทำอะไรได้ตามต้องการเท่าที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ก็แสดงว่าเสรีภาพนี้มีขอบเขต แต่แสดงลักษณะอีกอย่างหนึ่ง คือทำอะไรได้ตามต้องการ ทำได้ตามต้องการก็คล้ายๆ ทำได้ตามใจ แล้วก็ไปมีขอบเขตตรงที่ว่าไม่ให้ไปก้าวก่ายล่วงเกินละเมิดสิทธิของผู้อื่น อันนี้เสรีภาพอย่างนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ก็เป็นเรื่องจำเป็นอยู่ แต่ว่าถ้าหากมองในทางธรรมะแล้ว ก็ยังถือว่ายังเป็นเรื่องหยาบๆ หรือเป็นเรื่องตื้นๆ คือคนเราอยู่ร่วมกัน ก็แต่ละคนก็ควรมีเสรีภาพ ทำอะไรได้ตามต้องการ แต่ว่าไม่ให้ไปล่วงเกิน ไม่ให้ไปเบียดเบียน ไม่ให้ไปทำลายสิทธิของผู้อื่น ถ้าสำหรับสังคมในขั้นต้นๆ ก็ต้องรักษาไว้ให้ได้อย่างนี้
แต่ทีนี้ถ้ามองในทางธรรมะแล้ว ท่านมองลึกซึ้งไปอีก ว่าเสรีภาพนั้น ที่จริงนั้นมาจากจิตใจ จะมองแต่เพียงข้างนอกไม่พอ เพราะคนที่จะทำอะไรที่บอกว่าให้มีเสรีภาพนั้น เขาก็เอาใจของเขานั้นเป็นหลัก เขาคิดเห็นอย่างไร เขาต้องการอะไร เขาก็ทำตามนั้น เพราะฉะนั้นเสรีภาพนี้มาจากจิตใจ ก็เลยต้องมีคำถามต่อไปอีกว่า จิตใจที่ทำตามปรารถนา หรือทำตามต้องการนั้นเป็นจิตใจอย่างไร
ถ้าเป็นจิตใจที่ไม่ดีไม่งาม มีกิเลสเข้าครอบงำ ถึงอย่างไรก็ห้ามไว้ไม่ไหว ที่จะไม่ให้ไปละเมิดล่วงเกินต่อผู้อื่น ในที่สุดก็ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่นจนได้ หรือแม้จะไม่เบียดเบียน ไม่ล่วงละเมิดให้เห็นชัดๆ ก็มีปัญหาอยู่ดีแหละ ตัวเองก็มีปัญหา แล้วก็อาจจะทำในทางที่ไม่ช่วยให้เกิดความดีงามความเจริญขึ้นในทางสังคม เพียงแต่ว่าเอาแค่ขอบเขตว่าไม่ไปล่วงละเมิด ไม่ไปเบียดเบียนเขา เพราะว่าในใจของคนนั้น ยังมีสิ่งที่เข้ามาครอบงำได้ ถ้าเรามีเสรีภาพที่จะทำอะไรได้ตามใจ แต่ใจของคนนั้นอาจจะไม่เสรีก็ได้ คือทำเสรีทำตามใจ แต่ปัญหาต่อไปว่าใจเสรีหรือเปล่า
ใจเสรี คือใจที่ไม่ถูกครอบงำ อะไรที่จะมาครอบงำจิตใจ ก็ได้แก่กิเลส อย่างที่รู้จักกันมากที่สุด ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ คนเราก็ถูกความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง เข้าครอบงำจิตใจ แล้วทีนี้ ถ้าความโลภ โกรธ หลง ครอบงำจิตใจ แล้วทำไปตามใจต้องการ จะเป็นอย่างไร โลภทำตามโลภ โกรธทำตามโกรธ หลงทำตามหลง ก็ต้องมีปัญหาแน่นอน เช่น คนที่หลงนั้นทำตามใจตัวเอง แม้แต่เพียงว่าถ้าไม่ไปทำให้เดือดร้อนผู้อื่นโดยตรง ตัวเองก็เดือดร้อนแล้ว ชีวิตของเขาก็ไม่เจริญก้าวหน้า เป็นเด็กที่ต้องการมีเสรีภาพ แล้วก็สนองความหลงความโลภความโกรธของตัวเอง ก็อาจจะทำให้ชีวิตไม่เจริญก้าวหน้าก็ได้
หรือว่าอาจจะถูกกิเลสอื่น อย่างชุดนี้อาตมภาพพูดว่าเป็นปปัญจธรรมหรือตัวปั่น ได้แก่ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ใจก็อาจจะถูกตัณหาบ้าง ถูกมานะบ้าง ถูกทิฏฐิบ้างครอบงำ แล้วก็แสดงไปตามอำนาจของกิเลสเหล่านั้น เราจะเห็นว่าในเวลาที่เขาแสดงว่าเขามีเสรีภาพหรือทำด้วยเสรีภาพนั้น จิตใจของเขาไม่ได้เสรีด้วย คือจิตใจนั้นกำลังตกอยู่ในอำนาจของกิเลส กิเลสกำลังครอบงำหรือเป็นเจ้าเป็นนาย เราพูดได้ว่าเขาเป็นทาสกิเลสนั่นเอง
ฉะนั้นในปัจจุบันนี้ เมื่อเรามาใช้เสรีภาพกันในภายนอก บางทีก็มีอันตราย เช่น เด็กที่บอกว่า ฉันมีเสรีภาพเนี่ย บางทีก็ใช้เสรีภาพในการที่จะแสดงกิเลสคือมานะ มานะในที่นี้หมายถึง มานะที่เป็นกิเลสในภาษาของพระ คือหมายถึงว่า การที่ว่าถือเอาตัวตนเป็นสำคัญ เอาตัวฉันเป็นใหญ่นั้นก็อยากจะทำตามใจตัวเอง อยากจะแสดงเสรีภาพไม่ต้องเคารพนับถือครูอาจารย์ ไม่ต้องเชื่อฟังครูอาจารย์ ไม่ต้องทำตามกฎตามระเบียบเป็นต้น ได้แค่ทำตามใจตัวเอง อันนี้ก็เป็นปัญหา
ฉะนั้นในทางพระก็ถือว่า ก่อนที่จะมีเสรีภาพข้างนอก ก็ต้องมีเสรีภาพในใจด้วย ทำจิตใจให้พ้นจากอำนาจครอบงำของความโลภ ความโกรธ ความหลง พ้นจากอำนาจครอบงำของตัณหา มานะ ทิฏฐิ แล้วเป็นอยู่ด้วยปัญญาด้วยเหตุผลพิจารณา ถ้าหากว่าจิตใจมีเสรีภาพอยู่ข้างในอย่างนี้แล้ว จะมีเสรีภาพข้างนอกออกมาก็จะเสริมให้ดียิ่งขึ้น เพราะว่าทำอะไรก็ทำด้วยจิตใจที่มีปัญญารู้คิดเหตุผลก็ทำในสิ่งถูกต้องดีงาม แล้วยิ่งมีคุณธรรมอื่นมาช่วย เช่น มีเมตตาใช้เสรีภาพในทางที่ปรารถนาดีต่อผู้อื่น ช่วยเหลือเกื้อกูลเขา หรือมีเสรีภาพประกอบด้วยจิตใจที่ไม่มีความโลภ มีความเสียสละ เป็นต้น ก็กลายเป็นมีแต่ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เสรีภาพอย่างนี้เรียกว่าเสรีภาพที่มาจากจิตใจที่มีเสรีภาพด้วย ถ้าเสรีภาพทั้งข้างในข้างนอกแล้วก็หวังว่าเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นเสรีภาพที่พูดถึงกันอย่างทั่วไปนั้น ต้องอาศัยความหมายที่มาจากธรรมะด้วย คือมีเสรีภาพทางจิตใจเข้ามาประกอบ
ในทางธรรมะนั้นท่านกล่าวถึงเสรีไว้ 2 อย่างในคัมภีร์มหานิทเทส และจุลนิทเทส พูดถึงเสรีว่ามี 2 อย่าง คือ ธรรมเสรีอย่างหนึ่ง บุคคลเสรีอย่างหนึ่ง แล้วท่านก็อธิบายชี้แจงว่าธรรมเสรี ธรรมเสรีได้แก่อะไร เขาบอกว่าได้แก่โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ มีสติปัฏฐาน 4 เป็นต้น จนถึงมรรคมีองค์ 8 ประการ อันนี้เรียกว่าธรรมเสรี
แล้วบุคคลเสรีเป็นอย่างไร บุคคลเสรีก็คือ บุคคลที่ประกอบด้วยธรรมเสรีนั่นเอง เมื่อมีธรรมะอยู่ในใจเป็นเครื่องทำให้จิตใจเสรีแล้วบุคคลก็เสรีจริง คนที่เสรีนั้น ไม่แต่เพียงว่าจะทำอะไรออกมาภายนอกชนิดที่ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นปัญหา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีแต่คุณไม่มีโทษ มีแต่ความช่วยเหลือเกื้อกูลไม่เบียดเบียนแล้ว จิตใจของเขาเองที่เสรีปราศจากกิเลสนั้นก็เป็นจิตใจที่สบายด้วย คือไม่ถูกกิเลสบีบคั้น
ฉะนั้นท่านที่มีเสรีภาพที่แท้จริง ก็คือมีเสรีภาพทั้งภายนอกและภายใน มีธรรมเสรีเป็นเบื้องต้น แล้วก็สร้างธรรมเสรีขึ้นในตน ก็กลายเป็นบุคคลที่เสรี เสรีในที่สุดก็ปราศจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวง เสรีในจิตใจของตัวเองที่ปราศจากความทุกข์แล้ว ก็ไม่มีอะไรจะมาบีบคั้นได้ อันนี้ก็เป็นเสรีภาพที่แท้จริง
ทีนี้ส่วนภายนอกนั้น ถ้าเสรีบุคคลที่ชอบเสรีมากก็คือพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่างั้น คือพระพุทธเจ้าท่านยังชอบยังถือเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์อื่น พยายามที่จะไปเที่ยวสั่งสอน แต่ว่าพระปัจเจกพระพุทธเจ้านั้นท่านเอาเสรีเต็มที่ ถือเสรีเป็นอุดมคติ ฉะนั้นท่านถือว่าไม่ค่อยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสังคม เพราะว่าเมื่อเข้ามายุ่งเกี่ยวกับผู้คนแล้ว ก็ต้องทำอยู่ในขอบเขต ท่านก็เลยชอบท่องเที่ยวไปแต่ลำพัง ก็เรียกว่าเหมือนกับนอแรด มีคำเรียกจริยวัตรของพระปัจเจกพระพุทธเจ้าว่าชอบเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ไปแบบสบายๆ อย่างนั้นเรียกว่าทำตามที่ใจปรารถนาได้ แต่ว่าใจนั้นเป็นใจที่ปราศจากกิเลส ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นก็ทรงอยู่ในสังคม ทรงสั่งสอนมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยจิตพระทัยที่ประกอบด้วยเมตตา ถึงแม้ว่าพระองค์จะทำอยู่ในกรอบขอบเขตที่สังคมปิดกั้นไว้ เช่นถ้าพระองค์เข้าไปสู่ที่ชุมนุมของคนวรรณะกษัตริย์ พระองค์ก็จะต้องใช้กิริยามารยาทของกษัตริย์ เข้าไปสู่สังคมของพราหมณ์ พระองค์ก็ต้องคำนึงถึงระเบียบ หลักเกณฑ์ แนวความประพฤติ จรรยามารยาทของสังคมของพราหมณ์ ไปสู่ที่สมาคมต่างๆ เขาทำตามนั้น พระองค์ก็ทำได้ แต่พระองค์ทำได้นั้นจิตใจของพระองค์มีเสรีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไรเลย
เพราะฉะนั้นผู้ที่มีจิตใจเสรีแล้ว ข้างนอกนั้นเสรีก็เป็นตัวประกอบ เสรีภาพที่แท้จริงก็อยู่ข้างในก็ทำให้จิตใจตนเองมีความสุขด้วย แสดงออกมาภายนอกตัวเองก็สบายใจ แล้วก็มีแต่คุณไม่มีโทษ ฉะนั้นตามคติพุทธศาสนา ท่านจึงกล่าวได้ว่า มีเสรีภาพ 2 ระดับอยู่เสมอ คือเสรีภาพภายนอก แล้วก็เสรีภาพภายใน เสรีภาพภายนอกนั้นต้องอาศัยเสรีภาพภายในเป็นรากฐาน จึงจะเป็นเสรีภาพที่แท้จริง และเสรีภาพที่แท้จริงนี้ จะทำให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ พ้นจากปวงกิเลส ไม่มีกิเลสที่จะมาครอบงำจิตใจของตน ก็เป็นผู้มีความสุขอย่างแท้จริง
วันนี้อาตมภาพก็ได้นำธรรมกถาเรื่องเสรีภาพมา เพื่อจะได้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นหลักในทางพระพุทธศาสนาที่เป็นเรื่องลึกซึ้งลงไป ซึ่งจะเกี่ยวข้องแม้แต่ความเชื่อถือความเข้าใจที่เรียกว่าเป็นสมัยใหม่ สมัยปัจจุบันนี้ เอามาใช้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นความคิดเรื่องเสรีภาพนั้นก็ควรจะได้นำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาช่วยเป็นเครื่องทำให้มีความปลอดภัย และได้ผลในทางที่ดีงาม ไม่ให้เกิดโทษ ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา ก็คิดว่าวันนี้พอสมควรแก่เวลา ก็ขออนุโมทนาโยมอีกครั้งหนึ่ง สาธุ