แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพรอนุโมทนาคณะโยมญาติมิตรทุกท่านที่ได้มีศรัทธา มาทำบุญในวันนี้ เป็นการปรารภ โอกาสมงคลที่ครบรอบวันเกิดก็มีคุณหมอ พลโท ดำรงค์ ธนชานันท์ คุณนงเยาว์ ธนชานันท์ อาจารย์ ดร สุรีย์ ภูมิผมร ก็ต้องรวมไปถึงอาจารย์ ดร. อรพิน ภูมิผมรด้วย ก็ถือว่าทั้งสี่ท่าน ถึงแม้ ดร อรพิน จะผ่านไปแล้วตั้งแต่เดือนที่แล้ววันที่ 13 พ.ย. ก็ถือว่ามาทำบุญด้วยกันในวันนี้ ตรงกับวันเกิดบ้าง เนื่องในวันเกิดบ้าง ก็ถือว่ามีความพร้อมเพรียง พร้อมเพรียงทางพระเรียกว่าสามัคคี มีความพร้อมเพรียงในวันนี้ เป็นการที่เรียกว่า หนึ่งพร้อมเพียงในวันเกิดใกล้ ๆ กัน สอง ร่วมพร้อมเพรียงกันในแง่ของจิตใจ มีบุญกุศลเป็นศูนย์กลาง เป็นที่รวมใจแล้วก็สาม ก็ร่วมกันในแง่ว่าเป็นญาติโยมที่ได้อุปถัมภ์บำรุงวัดนี้มาด้วยกัน แม้แต่ว่าคุณหมอดำรงค์ก็เป็นผู้ที่ได้บวชที่นี่ ทั้งเป็นโยมวัดนั่นเองรวมแล้ว ทั้งหมดเป็นการร่วมกันหรือสามัคคีพร้อมเพรียง ความพร้อมเพรียงสามัคคีนี้ก็เป็นธรรมสำคัญ ทำให้เกิดกำลัง ก็คือมีมิตรไมตรี มีเมตตา จิตใจก็มีความสุข บรรยากาศก็ดีไปด้วย นี่นอกจากท่านเจ้าของวันเกิดแล้วก็มีญาติมิตรหลายท่านก็มาทำบุญด้วยก้น ก็ถือว่าหมดนี้ก็มีความสามัคคีพร้อมเพรียงทั้งสิ้น พร้อมเพรียงทั้งทางใจและก็พร้อมเพรียงทางกาย ใจพร้อมเพรียงด้วยบุญกุศล แล้วก็กายก็พร้อมเพรียงด้วยการที่มาทำพิธีมานั่งมาประชุมด้วยกันนี้ เมื่อเป็นบุญเป็นกุศลอย่างนี้ก็จะเป็นเครื่องส่งเสริมชีวิต เรียกว่าเป็นเครื่องปรุงแต่งนั่นเอง เครื่องปรุงแต่งมีทั้งดีและไม่ดีในแง่นี้ก็เป็นเครื่องปรุงแต่งที่ดี หรือเป็นปัจจัยที่ดีงามที่จะส่งเสริมให้ชีวิตเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป แล้วก็ในการทำบุญวันเกิดปีนี้ ถ้าว่าไปแล้วท่านที่ไม่ตรงทั้งคุณหมอดำรงค์เองก็คือวันที่ 31 ธ.ค. ส่วนสองท่านที่ตรงก็คุณนงเยาว์ และอาจารย์ ดร. สุรีย์ นี่ก็วันนี้ 19 ธ.ค. ทีนี้ที่ไม่ตรงอีกท่านหนึ่ง ล่วงไปแล้วคืออาจารย์ ดร. อรพิน ทีนี้ของอาจารย์ ดร. อรพิน นี่ก็ถือว่าพิเศษเพราะถือว่าครบ 5 รอบ อายุครบ 60 ปี ถือว่าเป็นปีสำคัญ ในแง่ของผู้ทำงานราชการก็เกษียณอายุราชการ ของอาจารย์อรพิน นี่พอดีว่าเกิด พ.ย. การเกษียณก็เลยว่าเท่ากับได้อีกปี ก็เท่ากับว่าเวลาสำคัญของอาจารย์ ดร. อรพิน นี่ก็ มีทั้งหัวปีท้ายปี หัวปีก็นับเริ่มที่วันเกิดเป็นต้นปีของรอบอายุ และก็ไปมีตอนท้ายปีก็ไปมีตอนเกษียณ เมื่อเป็นวาระสำคัญอย่างนี้ก็ถือโอกาสเป็นพิเศษในวันเกิดแล้วก็เป็นวันเกิดที่ครบ 5 รอบด้วย วันเกิดครบ 5 รอบมีเรื่องเกี่ยวกับอายุที่สำคัญ ที่จริงทุกท่านที่เป็นเจ้าของวันเกิดวันนี้ก็อายุใกล้ๆ กัน คืออายุก็ในช่วง 60 ปี เมื่ออายุระยะ 60 ปี เป็นอายุที่สำคัญ ก้าวหน้ามา เราจะพูดกันว่าชักจะมีอายุมากแล้ว อายุมากนี้ในภาษาพระนี้ดี แต่ว่าในภาษาไทยอยากให้อายุน้อย ในภาษาพระกลับกับกันว่าถ้าอายุน้อยไม่ดี อายุมากดี ทำไมจึงว่าอย่างนั้น เราให้พรกันบอกว่าอายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ก็เริ่มด้วยอายุ คือให้มีทุกอย่างมาก ๆ มีสุขก็มาก ๆ มีกำลังก็มาก ๆ มีวรรณะก็มาก ก็ต้องมีอายุมากด้วย แล้วทำไมเราไม่ชอบหล่ะ เราต้องชอบซิอายุมาก ๆ ทีนี้ทำไมว่าอายุมากดี เราต้องมาดูคำแปลก่อนว่าอายุแปลว่าอะไร อายุในภาษาพระเป็นความหมายที่ดีมาก ญาติโยมต้องเข้าใจ อายุถ้าแปลเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ก็แปลว่าพลังหล่อเลี้ยงชีวิตนั่นเอง หรือปัจจัยเครื่องเสริมหล่อเลี้ยงชีวิต มีความเข็มแข็งดำรงค์อยู่ด้วยดีมั่นคง ดังนั้นอายุยิ่งมาก็ยิ่งดี ไม่ได้หมายความว่าช่วงการเป็นอยู่ว่าอยู่มานาน แต่หมายความว่าขณะนี้แหละเรามีอายุมากก็คือมีพลังชีวิตมาก แสดงว่าเราต้องแข็งแรง เราจึงมีอายุมาก เพราะฉะนั้นทุกคนในแต่ละขณะสามารถจะมีอายุน้อยอายุมากทุกคน คนที่เรียกกันในภาษาไทยว่าอายุมากก็อาจจะมีอายุในใจในตัวชีวิตเองน้อย คือพลังชีวิตน้อยนั่นเอง แต่เด็กที่เราเรียกว่าอายุน้อยแกอาจจะมีอายุมาก หมายความว่าตัวแกมีพลังชีวิตเข้มแข็ง มีปัจจัยเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตอย่างดีก็ได้ ดังนั้นในภาษาพระ ความหมายอายุน้อยอายุมาก ไม่เหมือนในภาษาไทย อันนี้อายุมีความหมายอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องพยายามเสริมอายุเพราะฉะนั้น ก็เลยสอนวิธีปฏิบัติก็คือธรรมนั่นเอง ที่จะทำให้เรามีอายุมากหรือว่ามีพลังอายุเข้มแข็ง ทำให้มีพลังอายุเข้มแข็งนี้ทำอย่างไร ก็มีหลายอย่าง หลักอย่างหนึ่งที่ทำให้เรียกว่าอายุยืนเพราะว่าพลังชีวิตเข็มแข็งก็อายุก็ยั่งยืน หนึ่งก็มีความไฝ่ปรารถนา ชีวิตที่จะมีพลังเข้มแข็งต้องมีความใฝ่ปรารถนาที่จะทำอะไรบางอย่าง ถ้าเรามีความใฝ่ปรารถนาที่จะทำอะไรที่ดีงาม เรานึกว่าสิ่งนี้ดีงามจะต้องทำ ฉันจะร้องอยู่ทำอันนี้ให้ได้ อันนี้ชีวิตจะเข้มแข็งขึ้นมาทันที พลังของชีวิตจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสมัยโบราณเขาจะมีวิธีการ คล้าย ๆ เป็นอุบาย ให้คนแก่นั้นใจมีอะไรสักอย่างที่มุ่งหมายไว้ว่าอยากจะทำนั่นทำนี่แล้วมักจะไปเอาที่บุญกุศล เช่นอย่างบางท่านสมัยก่อน สมัยก่อนไม่ได้มีพระพุทธรูปมากอย่างนี้ ก็จะบอกว่าจะต้องสร้างพระใจก็ไปคิดจะปรารถนาใฝ่คิดจะสร้างพระนั้น หรือว่าญาติโยมคิดจะทำอะไรที่ดีงามแม้แต่เกี่ยวกับลูกหลานว่าจะทำให้เขาได้มีความเจริญก้าวหน้าจะทำอันนั้นอันนี้ให้ได้ ใจที่ใฝ่ปรารถนาจะทำสิ่งที่ดีงามนั้น จะทำให้ชีวิตมีพลังขึ้นมาทันที นี่เป็นตัวที่หนึ่งเรียกว่าความใฝ่ปรารถนาจะทำอะไรสักอย่างที่ดีงาม กระทั่งว่าถ้านึกได้ว่าสิ่งนั้นดีงามควรจะทำแท้ๆ ใจอาจจะคิดถึงว่า ถ้าหากว่างานนี้ยังไม่เสร็จ ฉันตายไม่ได้ ว่างั้น ถ้าหากว่ามีใจที่ใฝ่ปรารถถานาจะทำอะไรที่ดีงามแรกกล้านั้นจะเป็นตัวพลังใหญ่ที่ 1 เป็นตัวปรุงแต่งชีวิตเลย เรียกว่าอายุสังขาร เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าที่แม้จะทรงพระชราถ้าหากว่าทรงมีอะไรจะทำที่ว่ายังมีพุทธประสงค์จะบำเพ็ญพุทธกิจก็จะดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป ตอนที่พระองค์อายุสังขารเราจะใช้คำว่าปลงอายุสังขารก็คือว่าพระองค์วางแล้ว ไม่ปรุงแต่งอายุต่อแล้ว อายุสังขารแปลว่าปรุงแต่งอายุ ก็คือหาเรื่องช่วยมาทำให้อายุมีพลังเข้มแข็งต่อไป ว่าฉันจะต้องทำโน่นทำนี่อยู่ ถ้าอย่างนี้ละก็อยู่ได้ต่อไป นั้นข้อที่ 1 นี้สำคัญ พระพุทธเจ้าพอตกลงว่าพระศาสนามั่นคงพอแล้วพระพุทธบริษัท 4 เข้มแข็งพอแล้ว มอบภาระไปได้แล้ว กระองค์ก็ได้ปลงอายุสังขาร ก็บอกว่าพอแล้ว พระองค์ก็ประกาศได้เลยว่าจะปรินิพานเมื่อนั้นเมื่อนี้ หลักอันนี้ก็ใช้กับทุกท่านเลยข้อที่ 1 ก็คือว่าต้องมีใจใฝ่ปรารถนาที่จะทำอะไรที่ดีงามตั้งไว้แต่มองให้ชัดว่าอันนี้ดีแน่ถ้าคิดจะทำ
เรื่องที่สอง พอมีใจปรารถนานั้นแล้วสองก็มุ่งหน้าไป ไปในจุดเดียวกันมุ่งหน้าจะไปทำอันนั้นก็มีพลังขึ้นมา ความมุ่งหน้าก้าวไปจะทำให้เกิดพลังที่สำคัญ แล้วก็จะประสานสอดรับกับข้อที่สาม ข้อที่สามก็คือว่าใจแน่ว พอมุ่งหน้าไปแล้วก็แน่วกับสิ่งนั้นละ พอใจแน่วแล้วทีนี้ก็จดจ่อ เรียกว่าอุทิศใจ อุทิศตัวให้ คราวนี้มีเรื่องอะไรมาโดยเฉพาะคนแก่ คนอายุมาก มักจะรับอารมณ์มากถ้าไม่มีอะไรจะทำ หนึ่งก็ไปคิดเรื่องความหลัง เรื่องเก่า สองก็รับกระทบอารมณ์ต่าง ๆ ลูกหลานทำโน่นทำนี่ ถูกหูถูกตาบ้างขัดหูขัดตาบ้างนี่ก็บ่นละ เก็บมาเป็นอารมณ์ใจคอก็อาจจะเศร้าหมองได้ นี่ถ้าหากว่ามีอะไรจะทำชัดเจนแล้วใจจะไปอยู่กับนั้นละทีนี้อารมณ์กระทบไม่รับแล้ว หรือมาเดี๋ยวเดียวผ่านหมดไม่อยู่ ที่นี้ใจก็จะมาอยู่กับบุญกุศลอยู่กับความดีที่จะทำ อันนี้เรียกว่าได้ข้อสามละใจแน่ว ตัดอารมณ์กระทบหมดเลย คนที่สูงอายุมีปัญหานี้อีกอันหนี่งก็คือว่ารับอารมณ์กระทบ อย่างที่ว่าเข้ามาทางตา ทางหู แม้แก่กับลูกหลานนี่แหละ เพราะฉะนั้นถ้าทำได้อันนี้ก็สบายเลย ตัดทุกข์ ตัดกังวล ตัดอะไรไปหมด แล้วต่อไปข้อสี่ ข้อสี่ก็ใช้ปัญญา เรามีอะไรที่ต้องทำอยู่แล้ว คิดจะทำอันนั้นอยู่ ใจก็อยู่อันนั้น ก็คิดว่าจะทำอย่างไร มันบกพร่องอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร วางแผนคิดด้วยปัญญา คิดไม่เป็นอารมณ์แล้วตอนนี้ ไม่เรียกว่าคิดปรุงแต่ง ถ้าคิดด้วยปัญญา คิดหาเหตุหาผลคิดวางแผน คิดแก้ไขปรับปรุง ใช้ปัญญาพิจารณา สมองก็ไม่ฝ่อความคิดมันเดินอยู่เรื่อย สี่ข้อนี้แหละ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลย เราบางทีเราก็คิดว่าธรรมะสี่ข้อนี้จะทำให้อายุยืนเพราะเป็นเครื่องปรุงแต่งชีวิตหรือปรุงแต่งอายุ เรียกว่าอายุสังขาร พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าถ้ามีธรรมสี่ประการนี้แล้วอยู่ไปได้จนอายุขัยเลย คือหมายความว่าคนเรานี้อายุขัยในช่วงแต่ละยุคละยุคนี่ก็สั้นยาวไม่เท่ากัน ยุคนี้ก็ถือว่าประมาณมาณ 100 ปีก็แล้วกัน แล้วก็อยู่ไปให้ได้ 100 ปี ใจคนถ้าวางได้ถูกต้องแล้วถ้ามีแนวทางที่ดีก็อยู่ได้ ธรรมสี่ประการนี้พระพุทธเจ้าเรียกว่าอิทธิบาท 4 ก็บอกภาษาพระให้ ข้อที่ 1 ก็คือฉันทะ ความใฝ่ปรารถนาจะทำ ความอยากจะทำนั้นเอง มีอะไรที่อยากจะทำชัดเจนที่ดีงาม 2 ก็วิริยะ ความมีใจแกล้วกล้ามุ่งหน้าไปแล้วก็ 3 ก็จิตตะ ความมีใจแน่วจดจ่อ อุทิศต่อสิ่งนั้น และ 4 วิมังสา ไตร่ตรองพิจารณาใช้ปัญญาใคร่ครวญที่จะปรับปรุงแก้ไขทำให้มันดียิ่งขึ้นไปจนกว่าจะสมบูรณ์ สี่ข้อนี้ก็เป็นหลักความจริงตามธรรมดา ตามธรรมชาติ โยมที่สูงอายุที่เราเรียกว่าสูงอายุนี้นำไปใช้แล้วจะเป็นประโยชน์อย่างมากแล้วก็รับรองผลได้พอสมควร แม้แต่ลูกหลายที่อายุในภาษาไทยที่เรียกว่าอายุยังไม่มากก็ใช้ประโยชน์ได้ แล้วก็เอาไปช่วยท่านผู้ใหญ่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายด้วย แม้แต่สิ่งที่ทำไปแล้วจะไปทำบุญทำกุศลทำความดีอะไรไว้ก็ ลูกหลานก็คอยยกเรื่องนั้นมาพูด ให้ใจของปู่ย่าตายายอยู่กับสิ่งนั้นอยู่กับความดีงาม ไม่ให้ใจท่านไปอยู่กับเรื่องวุ่นวายเดือดร้อน ขุ่นมัว เศร้าหมอง พอมันจะเกิดขึ้นมาเราก็ใช้สติกันหมดเลย แล้วก็หยุด สตินี้เป็นตัวจับไว้ สติเป็นนายประตู เราจะเอาให้ตัวไหนเข้า ให้ตัวไหนไม่เข้าเราก็ใช้สติ ไอ้ตัวนี้ไม่เอา กันเลยไม่ให้เข้า ไม่ให้เข้ามาสู่จิตใจ อันไหนที่ดีทำให้จิตใจดีงามทำให้เบิกบานผ่องใสก็เอาเข้ามา สติก็เปิดรับอย่างนี้ก็สบาย ชีวิตก็มีความสุขความเจริญงอกงาม
ทีนี้วันเกิดก็เป็นวันที่เราจะได้เริ่มต้น วันเกิดก็คือวันเริ่มต้นของชีวิต แล้วก็ในแต่ละปีก็ถือว่าเริ่มต้นกันในรอบอายุของปีนั้น ๆ แล้วที่สำคัญก็คือ ให้นำคติความหมายของการเกิดมาใช้ประโยชน์ ว่าการเกิดของชีวิต ที่เรากเรียกว่าเกิดเมื่อวันนั้นปีนั้น มันเป็นการเกิดครั้งเดียวในแต่ละชีวิต แต่ว่าที่จริงแล้วการเกิดทางธรรมะนั้นเราเกิดทุกเวลา ในร่างกายของเรา ในจิตใจของเรารูปธรรม นามธรรมทั้งชีวิต เกิดกันอยู่ทุกขณะ ในทางร่างกายเราก็มีเซลล์เก่าเซลล์ใหม่ เซลล์มันก็เกิดของมันตลอดเวลา แล้วทางจิตใจนี่ทุกขณะก็มีความเกิด แล้วเราก็มีเกิดดี เกิดไม่ดี เกิดโกรธขึ้นมาก็เรียกว่าความโกรธเกิดไม่ดี เกิดความอิ่มใจขึ้นมาก็เรียกว่าเกิดดีเกิดกุศล เกิดปีติ เกิดเมตตาขึ้นมา เกิดมีไมตรี เกิดมีศรัทธา เกิดนู่นนี่เยอะแยะไปหมด เกิดตลอดเวลา อันนี้เรียกง่าย ๆ ก็คือเกิดกุศลกับเกิดอกุศล ในเมื่อเกิดมีเกิดสองแบบนี้ เลือกอันไหน เราก็ต้องเลือกเกิดกุศล ดังนั้นเราก็ทำให้ใจเราเกิดเรื่องที่ดีตลอดเวลา ฉะนั้นวันเกิดก็มีความหมายที่โยงมาใช้ปฏิบัติได้ก็คือให้มีการเกิดของกุศล ถ้าหากว่าทำใจของเราให้เกิดกุศลได้ทุกเวลาแล้วชีวิตก็เจริญงอกงาม เพราะว่าการที่ชีวิตของเราเจริญเติบโตมานี้ไม่ใช่ว่าเกิดทีเดียวในวันเกิดที่เริ่มต้นชีวิตเท่านั้นมันต้องมีการเกิดทุกขณะต่อจากนั้นในชีวิตจึงเจริญงอกงามโตมาได้ กุศลความดีงามต่าง ๆ ก็เริ่มขึ้นจากการเกิดขึ้นในใจ พอเกิดขึ้นมาก็เข้าสู่ความคิดออกมาสู่การพูดการทำ เจริญงอกงามต่อไป แม้แต่ว่าเกิดบ่อย ๆ อย่างเกิดศรัทธาเกิดบ่อย ๆ เกิดเมตตาเกิดบ่อย ๆ ต่อมาศรัทธาเมตตานั้นก็เจริญ ขยายงอกงามยิ่งขึ้น ดังนั้นก็ทำให้เกิดบ่อย ๆ การเกิดก็จะเจริญงอกงามพอเจริญงอกงามแล้วความเกิดของกุศลตัวนั้นจะมีการส่งต่อ ส่งต่อไปตัวอื่นรับช่วงอีก เช่น เราเกิดศรัทธาขึ้นมาเราอาจจะนึกต่อไป เราอยากจะทำบุญทำกุศลอีกแล้ว ทำบุญทำกุศลก็จะทำอะไรต่ออะไรก็รับช่วงต่อไปอีก ก็เรียกว่าทำให้เป็นปัจจัยต่อกัน ก็หนุนเนื่องกัน ตัวกุศลก็ตาม อกุศลก็ตามนี้มันก็ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันก็เป็นปัจจัยต่อกัน พอตัวหนี่งมาแล้ว เราก็ทำให้เป็นปัจจัยกับอีกตัวหนึ่ง ตัวหนึ่งตามมาก็ไปก้นใหญ่ก็ดีใหญ่ ยิ่งคนที่ฉลาดในระบบเหตุปัจจัยนี้ก็ทำสิ่งที่ดีงามได้ ขยายเพิ่มพูนมากมาย ใช้ระบบเหตุปัจจัย ระบบความสัมพันธ์ ก็เลยเป็นเรื่องดีงามขยายเพิ่มขึ้นเพิ่มพูนรวมแล้วก็อยู่ในคำว่าเจริญงอกงาม
ทีนี้เมื่อวันเกิดเป็นนิมิตให้เราได้คติว่าเราจะต้องทำให้เกิดกุศลในใจของเรา อย่างนี้ก็เลยว่าเราก็ให้เกิดมีธรรมะ ให้โยมเริ่มได้เกิดตัวฉันทะ ความใฝ่ปรารถนาจะทำสิ่งที่ดีงามนั้นแหละ แล้วก็วิริยะ ความเพียรมุ่งหน้าจะไปทำสิ่งนั้นแล้วก็จิตตะความมีใจแน่วจ้องจะทำสิ่งนั้น พร้อมทั้งวิมังสาการใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาเรื่องนั้น อาจารย์ ดร.อรพิณครบห้ารอบ ก็เอาเป็นว่าให้เป็นเครื่องหมายว่าธรรม 5 อย่าง ก็คู่กับ 5 รอบ ห้าอย่างคืออะไรบ้างให้มาเกิดเป็นกุศลในใจ เอามารวมเข้ากับอิทธิบาท 4 ตะกี้ก็ดีใหญ่เลย 5 ตัวนี้พระพุทธเจ้าตรัสเสมอ ถือว่าเป็นธรรมะคู่ชีวิตทุกท่าน มันอยู่ในใจถ้าเกิดขึ้นมา ถ้าใครทำได้ชีวิตเจริญงอกงามมีความสุขทุกเวลาแล้วอายุก็จะยืนไปด้วย 5 อย่างอะไรบ้าง 1) ให้มีความร่าเริงเบิกบานใจตลอดเวลา เรียกว่าปราโมทย์ ปราโมทย์นั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นธรรมพื้นจิตถ้าใครอยากจะเป็นชาวพุทธที่ดีต้องพยายามสร้างปราโมทย์ให้ได้ ปราโมท์พระพุทธเจ้าตรัสในธรรมะบทหนึ่งว่า “ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ” ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์จะกระทำความสิ้นทุกข์ได้ ก็ใครที่ใจมีปราโมทย์อยู่เสมอจะหมดความทุกข์ จะบรรลุนิพพานได้เลย ชาวพุทธบางทีไม่ได้คิดถึง ไปคิดอะไรต่ออะไรที่จะทำนู่นทำนี่ยากเย็น แต่ไม่ทำของง่าย ๆ ปราโมทย์ใจที่จะไปนิพพานได้นี้ถ้าไม่มีปราโมทย์ยากจะไปเพราะฉะนั้นต้องทำให้ได้ก่อน ใจมีปราโมทย์ก็คือใจที่ร่าเริงเปิกบาน จิตใจที่ไปนิพพานต้องเป็นจิตใจที่โล่งโปร่ง เบา ไม่ขุ่นมัวไม่เศร้าหมอง ปราโมทย์ก็ทำให้ไม่มีขุ่นมัวไม่เศร้าหมอง งั้นญาติโยมจะต้องพยายามทำใจให้ปราโมทย์ทุกเวลา ปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบานผ่องใส ต่อไปข้อที่ 2) ทีนี้ก็จะจำกัดเข้าไปละ ในแต่ละเรื่องแต่ละกิจ แต่ละเวลาทำอะไรอย่างโยมทำครัวนี้ ก็รู้อยู่แล้วว่าทำบุญทำกุศล เดี๋ยวถ้าอาหารเสร็จได้ถวายพระ เลี้ยงพระ พระท่านได้อิ่ม ฉันแล้วท่านจะได้มีกำลังทำหน้าที่การงานทำศาสนกิจได้เล่าได้ศึกษาได้ปฏิบัติ แม้เราได้มีส่วนช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา เสริมกำลังพระ พระศาสนาเจริญรุ่งเรืองเรามองเห็นไปหมด โล่ง ทีนี้เราทำทุกอย่างนี้จะเป็นไปเพื่อผลนั้น ฉะนั้นเวลาเราทำเราเห็นหมดเลยผลจะเกิดดีอย่างนั้น อย่างนั้น แม้แต่ว่ากวาดครัวหรือว่าล้างจาน หรือว่าหุงข้าว ทุกขณะโยมนึกอย่างนี้แล้วก็อิ่มใจ ปลื้มใจ หรือเรียกว่ามีปีติ ปีติเป็นตัวสำคัญ พอมีปราโมทย์แล้วให้มีปีติทำอะไรทุกอย่าง ทำการทำงานอย่างอาจารย์ ดร.สุรีย์ ไปปลูกต้นไม้ ก็ทำให้เราได้ช่วยประเทศชาติหรือทำให้วัดนี้รื่นรมย์ร่มรื่น ก็จะทำให้ชื่นชูจิตใจ คนมีความสุข คุณหมอรักษาโรคทำให้คนป่วยหายป่วยแข็งแรงนึกขึ้นมาถึงภาพเค้าแข็งแรงเค้าหายป่วยสบายแล้ว นึกไปถึงสังคมที่ดี เข้มแข็ง นึกไปอย่างนี้เวลาทำงานเราก็ปลื้มใจ อิ่มใจ พอนึกอย่างนี้ได้ปีติก็มาเรื่อย ถ้าเราไม่นึกอย่างนี้เวลาเราทำงานใจของเราก็จะเครียดได้ ใจไม่สบาย แต่ถ้าเรานึกไปไกลเห็นผลที่จะเกิดขึ้นในทางที่ดี ปีติเกิด ข้อที่สองมาแล้ว ปีติ 3) ก็ปัสสัทธิ ปัสสัทธิแปลว่าความผ่อนคลาย ความผ่อนคลายนี้เดี๋ยวนี้ต้องการมาก มันตรงข้ามกับความเครียด คนเดี๋ยวนี้ทำงานเพราะความเครียด เพราะกังวล เพราะมีโลภ มีโทสะ มีความกังวล อะไรต่าง ๆ มาก ก็ทำให้เครียด แต่ถ้าหากว่าใจไปนึกถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นทำให้สบายใจก็ไม่เครียด ใจก็สบาย ทำงานด้วยความผ่อนคลาย สงบเย็น เป็นปัสสัทธิ ถ้ากายเครียดใจก็เครียด ถ้าใจเครียดกายก็เครียด ทีนี้พอใจผ่อยคลายกายก็ผ่อนคลายด้วยเรียกว่ามีปัสสัทธิข้อที่ 3 ต่อไปข้อที่ 4) ก็สุข มาละ พอมีปราโมทย์ มีปีติ มีปัสสัทธิ คราวนี้ก็มีความสุข ความสุขนี้จะแปลง่ายๆ ก็แปลว่าความฉ่ำชื่นรื่นใจคือใจมันรื่นสบายไม่ติดขัด ไม่มีอะไรบีบคั้น มันโล่งมันโปร่ง มันคล่องมันสะดวกตรงข้ามกับทุกข์ที่มันติดขัด บีบคั้นขัดข้อง ทีนี้ก็ได้ความสุข พอได้ความสุขแล้วต่อไปก็ได้ข้อที่ 5) ข้อที่ห้าพอใจมีความสุขคราวนี้ก็อยู่ตัว พออยู่ตัวก็ตั้งมั่น มันก็ไม่มีอะไรมารบกวน มันไม่กระสับกระส่าย ไม่พุ่งพล่าน ไม่กระวนกระวาย มันอยู่ตัว ใจกำลังคิดจะทำอะไรก็อยู่กับสิ่งนั้นการที่ไม่มีอะไรมารบกวนได้เลยใจอยู่ตัวตั้งมั่นอย่างนี้ก็เรียกว่าสมาธิ พอใจเป็นสมาธิก็เป็นที่ชุมนุมของสิ่งที่ดีงาม ก็ร่วมบรรจบกันที่นี่หมด ห้าตัวนี้เท่ากับว่าอายุห้ารอบ
ก็ทวนเสียอีกครั้งหนึ่งข้อ 1 ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ แจ่มใส 2 ปีติ ความอิ่มใจปลื้มใจ 3 ปัสสัทธิ แปลว่าความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจ แล้วก็ 4 สุข ความฉ่ำชื่นรื่นใจ แล้วก็ 5 สมาธิความอยู่ตัวของจิตใจ ตั้งมั่น สงบ แน่วแน่นั้น ก็คือพูดง่าย ๆ ก็คือสมาธิ ได้ห้าตัวนี้แล้วสบายแน่เลย ห้าตัวนี้เรียกว่าธรรมสมาธิ ด้วยความที่ธรรมะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญนี้มันมาแน่วรวมกันประชุมพร้อม แล้วต่อจากนี้ก็จะเกิดจิตสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิแล้วก็ เอามาใช้ส่งต่อไปสู่ปัญญาก็ได้ เอาไปใช้นั่นเอง เป็นปัจจัยของการที่วาจะคิดจะอะไรต่ออะไรจิตใจ ก็ผ่องใสก็คิดโล่ง คิดโปร่ง คิดได้ผลดี นั้นก็พระพุทธเจ้าก็ให้ใช้สมาธิเป็นฐานของปัญญาต่อไป ถึงแม้จะไปทำการทำงานอะไรก็ทำได้ผลดี อย่างไรอย่างไรก็ให้เกิดอยู่ในใจเป็นประจำ ห้าตัวนี้ ที่ว่าวันเกิดก็ขอให้ได้เป็นนิมิตหมายที่ว่าต่อไปนี้ให้เราเกิดกุศทุกเวลา และกุศลสำคัญที่เกิดนั้นง่ายเพราะมันเกิดในใจได้ก็คือห้าตัวนี้ ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ แล้วมันเกิดขึ้นมาแล้วเราก็ให้มันไปประสานกับอิทธิบาท 4 ที่ว่านั้นเป็นช่วงยาวเลยความนี้ก็ว่ากันนานเลยอิทธิบาทสี่นี้ ใจปรารถนาจะทำอะไรที่ดีงาม คิดขึ้นมาให้ชัดแล้วก็ มีความเพียรมุ่งหน้าไปทำมัน และมีจิตตะแน่วแน่แล้วก็ใช้ปัญญาวิมังสาคิดการไกลโดยไม่มีอารมณ์วุ่นวายเข้าไปเกี่ยวข้อง จิตใจไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ก็ได้ผลดี อันนี้ก็เป็นธรรมะประจำวันเกิด
ท่านเจ้าของวันเกิดทุกท่าน ใจที่มีความคิดผุดขึ้นมาว่าจะทำบุญอันนี้ก็คือเกิดกุศล เกิดกุศลว่าจะทำบุญก็ต้องมีศรัทธา ก็ต้องมีใจเมตตา ปรารถนาดีต่อพระ ตอพระศาสนา ใจเมตตาต่อญาติมิตร อย่างญาติโยมที่มาร่วมอนุโมทนาทำบุญก็มีไมตรีจิต เกิดขั้นในใจ ก็ล้วนแต่เกิดดี ๆ ทั้งนั้นเลย ก็เกิดที่ดีแล้วก็รักษาคุณสมบัติที่ดีที่เกิดขึ้นนี้ไว้ แล้วก็พยายามให้มันส่งต่อกันไป เกิดกุศลต่าง ๆ ก็เจริญงอกงาม จิตใจของเราเจริญงอกงามแล้วชีวิตของเราก็เจริญงอกงามไปด้วย แล้วเจริญงอกงามชีวิตของเราแล้วเพราะเป็นสิ่งที่ดี ขยายไปสู่ผู้อื่นก็เกิดเป็นสิ่งที่ดีในการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อกัน ทำให้อยู่ร่วมกันได้ดีเช่นเกิดความสามัคคี เป็นต้น แล้วสังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข ดังนั้นการเกิดกุศลนี่ก็มีคุณมหาศาลทั้งแก่ชีวิตตนเองและแก่เพื่อนมนุษย์ผู้อื่นร่วมสังคม ทำให้อยู่ด้วยความมีสันติสุขกันต่อไป ก็เป็นอันว่าได้ทั้งกุศลส่วนตนทั้งแต่ละท่านทั้งแต่ละบุคคล มีศรัทธา ฉันทะ เมตตา ไมตรี เป็นต้น แล้วก็กุศลร่วมกัน แล้วก็สามัคคีเป็นต้น ก็ขอให้บุญกุศลนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เจริญงอกงามเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไป จงเจริญงอกงามขึ้นมา มีพลังแห่งชีวิต โดยเฉพาะก็คือปัจจัยเครื่องปรุงแต่งเสริมกำลังชีวิตที่เรียกว่าอายุนั้นให้เข้มแข็ง เพื่อจะได้สามารถดำรงค์ชีวิตที่ดีงามและมีความสุข และสามารถทำประโยชน์เกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ตั้งแต่ครอบครัวของตนเป็นต้นไป ให้อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญวัฒนาสถาพรยิ่งขึ้นไป ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ
เป็นอันว่าได้ทั้งกุศลส่วนตนของแต่ละท่านและบุคคล มีศรัทธา ฉันทะ เมตตา ไมตรีเป็นต้น และก็กุศลร่วมกัน มีสามัคคีเป็นต้น ก็ขอให้บุญกุศลนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เจริญงอกงามเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไป จงเจริญงอกงามขึ้นมามีพลังแห่งชีวิตโดยเฉพาะก็คือปัจจัยเครื่องปรุงแต่งเสริมกำลังชีวิตที่เรียกว่าอายุนั้นให้เข็มแข็ง เพื่อจะได้สามารถดำรงค์ชีวิตที่ดีงามและมีความสุขและสามารถทำประโยชน์เกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์แต่ครอบครัวของตนเป็นต้นไปให้อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญวัฒนาสถาพรยิ่งขึ้นไป ตลอดการทุกเมื่อเทอญ