แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ที่นี้ต่อไป ในเมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ในการเลือกแล้ว ก็ขอเลยไปเลย ผ่านไปสู่หัวข้อต่อไป ก็คือเรื่อง ผลสำเร็จของการเจริญจิตภาวนา ในเมื่อเราเลือกกรรมฐานเสร็จแล้ว เราก็ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไปแล้วนี่ ผลสำเร็จในการทำจิตภาวนา คืออะไรบ้าง ก็มาดูกันว่า ฝึกเจริญภาวนาไปแล้วได้อะไร
เมื่อเราเจริญจิตภาวนาหรือว่าทำสมถะ ได้บอกแล้วว่า ผลสำเร็จที่ต้องการก็คือ สมาธิ เมื่อเราเอากรรมฐานมากำหนดให้จิตจับอยู่ ในที่สุดแลัว ถ้าประสบความสำเร็จ จิตของเราก็จะแน่วแน่อยู่กับกรรมฐานนั้น หรืออยู่กับอารมณ์นั้นจนกระทั่งถึงภาวะที่เรียกว่ามีอารมณ์หนึ่งเดียว
เมื่อจิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวนั้น หรืออารมณ์นั้น กับกรรมฐานนั้นแล้ว ก็คือ การได้สมาธิ ทีนี้สมาธินั้นมีหลายระดับ ซึ่งเราก็จะต้องมาดูอีกว่า ระดับต่างๆ มีอะไรบ้าง ระดับต่างๆ นี้ สมาธิก็จะมีถึงขั้นสูงสุด ประณีตขึ้นไปถึงขั้นสูงสุด เรียกว่า อัปปนาสมาธิ เมื่อได้สมาธิขั้นสูงสุดถึงอัปปนาสมาธิ จิตก็เข้าสูภาวะที่เรียกว่าฌาน นี่ตอนนี้ก็ สมาธิก็มาโยงเข้ากับเรื่องฌานแล้ว พอได้อัปปนาสมาธิก็แสดงว่าจิตเข้าสู่ภาวะฌาน
เอ้า ต่อไปอีก ฌานนั้นก็มีหลายขั้นอีก ประณีต ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป เป็นหลายขั้น เราก็ต้องพยายามบรรลุฌานต่อไปตามลำดับจนกระทั่งสูงสุด ที่นี่พอได้ฌานครบ ครบฌานหมดแล้ว ยังมีผลสำเร็จอะไรต่อไปอีก ท่านบอกว่า สามารถใช้ฌานนั้นเป็นบาทเป็นฐาน ทำให้เกิดความรู้พิเศษที่เรียกว่า อภิญญา
ที่นี้คนที่ได้ฌานครบบริบูรณ์แล้วเพียรพยายามต่อไปใช้ฌานนั้นเป็นฐาน สามารถทำอภิญญาให้เกิดขึ้นในประการต่างๆ อภิญญาทั้งหมดนี้ สำหรับผู้ได้ฌานจะทำได้ ก็มี 5 อย่างด้วยกัน เราเรียกว่าเป็น อภิญญา 5
อภิญญา 5 นี้ก็เป็นผลสำเร็จหรือผลได้พิเศษของการเจริญจิตภาวนา หรือสมถะ
การเจริญจิตภาวนา หรือสมถะก็จะได้ผลสูงสุดแค่นี้ คือ อภิญญา 5 แต่ว่ายังมีทางที่จะต่อไปอีก ที่นี้ถ้าเราต้องการต่อไปอีก ก็คือว่า พระพุทธศาสนายังบอกทางไว้ให้ ว่าเราสามารถเดินหน้าต่อไปให้ถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา เพราะอภิญญา 5 นี้ยังไม่จบ จะทำไงเดินหน้าต่อไป ท่านบอกว่าให้หันไปทางวิปัสสนา เมื่อเราเจริญจิตภาวนามาจนถึงขั้นนี้แล้ว ท่านบอกว่า จบเรื่องสมถะแล้ว ถ้าจะต้องการเดินหน้า ก็ให้หันไปทางวิปัสสนา ก็ใช้ฌานนั่นแหละ ฌานที่ว่าเมื่อกี้นี้ เป็นบาทฐานเจริญวิปัสสนาต่อไป จนกระทั่งถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา จุดหมายของพระพุทธศาสนาอันนี้ ก็คือนิพพาน แต่ถ้าเรียก ถ้าเป็นญาณ ก็เรียกว่า อาสวักขยญาน ญาณที่ทำอาสวะให้สิ้นไป ก็คือหมดกิเลสและความทุกข์
ที่นี่ถึงภาวะที่มีความสุขสูงสุด หรือไร้ทุกข์ทีเดียว เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นอภิญญาข้อที่ 6 เมื่อกี้นี้ สมถะนี้ให้ได้ถึงอภิญญา 5 ตันอยู่แค่นั้น พอมาทางวิปัสสนาต่อก็ได้อภิญญาข้อที่ 6 ก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าได้ทั้งอภิญญา 5 แล้วก็อภิญญา ข้อ อาสวักยญานด้วย ก็เป็นได้อภิญญา 6
แต่ว่า สำหรับผู้ที่ต้องการเจริญวิปัสสนา ก็ให้ข้อสังเกตไว้อีกว่า ไม่จำเป็นจะต้องรอไปจนกระทั่งว่าได้ฌานครบ 4 ไม่จำเป็นต้องรอจนกระทั่งให้ได้ฌานหมดแล้วจึงจะหันมาวิปัสสนา ในระหว่างที่ทำสมถะนั้น เรียกได้ว่าทุกขั้นตอน สามารถใช้สมาธิขั้นต้นๆ นั้นนะ มาเป็นพื้นในการที่ โน้มจิตไปเจริญวิปัสสนาได้ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่าง สมถะกับวิปัสสนาเนี่ย จึงเป็นการที่ว่ามีความสัมพันธ์กันได้ตลอด คือเราสามารถที่จะเบนจากสมถะไปหาวิปัสสนาได้ตลอดทุกขั้นตอนในระหว่างเจริญสมถะ หรือจะรอจนกระทั่งถึงบรรลุจุดหมายสูงสุดของสมถะก่อนก็ได้ แล้วจึงหันไปวิปัสสนา อันนี้ พูดอย่างนี้ก็เหมือนทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสมถะกับวิปัสสนาชัดเจนยิ่งขึ้น
เอาละ นี่เป็นผลสำเร็จที่จะได้จากการทำจิตภาวนาซึ่งโยงไปหาปัญญาภาวนาในขั้นสุดท้ายด้วย ที่นี่ในการที่เราจะเข้าถึงฝ่ายผลสำเร็จนั้น เราก็ควรจะพูดถึงสิ่งที่เราจะพ้นไปด้วย เมื่อเราได้ในด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็คือ เราต้องแก้ไข หรือกำจัดอะไรลงไปด้วย ก่อนที่จะได้สิ่งที่ต้องการที่เป็นผลสำเร็จนั้น เราต้องมีการกำจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง ก็เลยควรจะทราบสิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง ซึ่งเราจะต้องแก้ไขกำจัดให้หมดสิ้นไปก่อนที่จะได้สมาธิ
ท่านก็บอกว่า สิ่งที่จะต้องกำจัดแก้ไขให้หมดไปก่อนนี้ ก่อนที่จิตจะเป็นสมาธิในขั้นสูง จิตนั้นจะต้องพ้นจากสิ่งรบกวน สิ่งปิดกั้น หรือสิ่งที่กดทับจิต ซึ่งเรียกว่า นิวรณ์ 5
เอาละ ตอนนี้ก็เท่ากับว่ามีสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ตามลำดับ เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ต้องแก้ไขกำจัด ก็คือ เรียนเรื่องนิวรณ์ ๕ เรียนเรื่องสมาธิขั้นต่างๆ เรียนเรื่องฌานขั้นต่างๆ แล้วก็เรียนเรื่องอภิญญา 5 เหนือจากนั้นไปก็เข้าสู่เรื่องวิปัสสนาซึ่งจะแยกไปพูดอีกหัวข้อหนึ่งต่างหาก ก็เริ่มจากสิ่งที่เราจะต้องกำจัดเพราะเป็นอุปสรรคขัดขวางผลสำเร็จ ได้แก่ นิวรณ์ 5
นิวรณ์ 5 นิวรณ์นั้นแปลว่าอะไร นิวรณ์นั้นก็คือ สิ่งที่กั้น สิ่งที่กั้นขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้า หรือว่า สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองและปัญญาอ่อนกำลัง อันนี้ก็เป็นความหมายของนิวรณ์ ก็คือกิเลสนั่นเอง แต่เป็นกิเลสจำเพาะเจาะจงที่สำคัญที่กั้นขวางไม่ให้ก้าวหน้าไปถึงสมาธิได้ ก็มีอยู่ 5 ประการด้วยกัน
1. ก็คือ กามฉันทะ กามฉันทะก็คือ ความต้องการ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารัก น่าพอใจ อันนี้พูดง่ายๆ ก็คือ ความอยากได้นั่นได้นี่ กามฉันทะนี่เป็นสิ่งที่รบกวนจิต ถ้าเกิดความอยากได้นั้นได้นี่ขึ้นมาแล้ว จิตก็ต้องมาอยู่กับความอยากมาคิดปรุงแต่ง มันก็อยู่กับอารมณ์ที่กำหนดไม่ได้ มันก็ไม่สามารถเป็นสมาธิ จะขัดขวางจิต
ประการที่ 2. ที่ตรงข้ามกับกามฉันทะ ก็คือ พยาบาท ความคิด หงุดหงิดขัดใจต่างๆ ความคิดร้าย แค้นเคือง ขัดใจทั้งหลาย อันนี้ก็จะทำให้ใจฟุ้งซ่าน วุ่นวาย เดือดร้อน ไม่สงบ และก็ไม่สามารถเป็นสมาธิ
ต่อไปประการที่ 3 ก็คือ ถีนมิทธะ แปลว่าความหดหู่ เซื่องซึม เหงาหงอย ซึมเซา อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน ความซึม ความง่วง ความเหงา อะไรต่างๆ หดหู่ ท้อแท้ ภาวะจิตนี้จะทำให้ไม่สามารถก้าวหน้าในสมาธิได้ จิตที่จะเป็นสมาธิจะต้องเป็นจิตที่มีความเข้มแข็ง มีความมั่นคง มีความเพียร
ต่อไป ข้อที่ 4 ก็ อุทธัจจะกุกกุจจะ แปลว่า ความฟุ้งซ่านเดือดร้อนใจ หรือความรำคาญใจ ความกระวนกระวาย กลุ้มกังวลต่างๆ อันนี้ก็ แน่นอนเป็นสภาวะที่ตรงข้ามกับสมาธิ
และสุดท้ายก็ ข้อที่ 5 วิจิกิจฉา แปลว่า ความลังเล ไม่แน่ใจ จะเอายังไงก็ไม่แน่ จิตที่ยังมีความลังเลไม่แน่ใจ อันนี้จะก้าวหน้าไม่ได้ เพราะมันก็จะอยู่ตรงนั้นแหละ ไปทางไหนดี มันลงตัวไม่ได้ มันก็ก้าวไปไม่ได้
นี่คือนิวรณ์ 5 ประการ ทราบไว้แต่ชื่อและความหมายย่อๆ ก็พอ เป็นอันว่า เราจะเจริญสมาธิได้สำเร็จเนี่ย จะต้องพ้นจากนิวรณ์ทั้ง 5 จิตที่เป็นสมาธิถึงขั้นที่ว่า นิวรณ์ 5 นี้สงบระงับไปเนี่ย เป็น สมาธิขั้นที่เรียกว่า อุปจารสมาธิ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
หรือเราพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราต้องการจะได้สมาธิถึงขั้นอุปจารสมาธิ ก็จะต้องกำจัดนิวรณ์ทั้ง 5 นี้ ต่อไปจะพูดถึงสมาธิ เมื่อกำจัดนิวรณ์ได้ เราก็เข้าสมาธิได้สำเร็จถึงขั้นอุปจารสมาธิ แต่ความจริงนั้น ยังมีสมาธิขั้นต่ำกว่านั้น ซึ่งแม้นิวรณ์ ถ ไม่สงบระงับก็เป็นสมาธิได้ ก็เลยให้ทราบว่ามีสมาธิทั้งหมด 3 ขั้นด้วยกัน
สมาธิ ก็คือ ภาวะตั้งมั่นของจิตใจ ภาวะตั้งมั่นของจิต หรือภาวะที่จิตแน่วแน่สงบนิ่งมีอารมณ์หนึ่งเดียว อย่างที่กล่าวมาแล้ว จิตที่มีอารมณ์หนึ่งเดียวแน่วแน่อย่างนี้ แบ่งได้เป็น 3 ขั้นด้วยกัน
ขั้นที่ 1 เรียกว่า ขณิกสมาธิ แปลว่า สมาธิชั่วขณะ คือสมาธิที่จิตแน่วแน่ได้ชั่วขณะ ชั่วขณะ สั้นๆ ซึ่งมีในชีวิต ประจำวัน ในการทำงานทำการอะไรต่างๆ ของคนนี่ก็ เรามีขณิกสมาธิกันได้ หรืออย่างเวลาเริ่มกำหนดกรรมฐานนี่ ทำไปๆ ในระยะต้นๆ นี่ก็จะได้ขณิกสมาธินี้ก่อน ยังไม่ถึงขั้นเป็นสมาธิที่ต้องการ
ต่อไป ขั้นที่ 2 สมาธิแน่วแน่มากขึ้น ก็คือ อุปจารสมาธิ ตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นผลสำเร็จของการทำภาวนาแล้ว อุปจารสมาธิก็แปลว่า สมาธิจวนจะแน่วแน่ เป็นขั้นที่นิวรณ์ 5 สงบ
ต่อไปเมื่ออุปจารสมาธิเกิดขึ้น แล้วเจริญสมาธินี้ต่อไป จนกระทั่งว่ามีความแน่วแน่อย่างสมบูรณ์ จิตลงตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวต่อเนื่องไป ก็จะถึงขั้นที่ 3 เรียกว่า อัปปนาสมาธิ แปลว่า สมาธิแน่วแน่ หรือสมาธิแนบสนิท จิตที่เป็นสมาธิถึงขั้นนี้แล้ว เราเรียกว่าเข้าถึงฌาน อันนี้ก็เป็นสมาธิสูงสุดแล้ว ต่อจากนี้ไปก็จะอยู่ในฌานเรื่อยไป ก็มีแต่ว่า จะเพียรพยายามเพื่อให้ได้ฌานชั้นสูงตามลำดับ