แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[00:00] รัฐศาสตร์เพื่อชาติ vs รัฐศาสตร์เพื่อโลก
ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนทุกท่าน วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา คือวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดี แล้วก็มิใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น รู้จักกันทั่วโลก อย่างที่เวลานี้ องค์การสหประชาชาติก็กำลังมีพิธีจัดการบูชาในวันวิสาขะอยู่ เข้าใจว่าในช่วงเวลานี้คงมีกำหนดการบางอย่าง แต่ว่าวันเวลาไม่ตรงกัน ตอนนี้ทางโน้นคงมีไม่ได้ เพราะเป็นเวลาประมาณตี 5 ที่นิวยอร์ก ก็หมายความว่าอยู่ในช่วงวันสองวันที่มีวันวิสาขบูชา แล้วทางโน้นก็ช้ากว่าเรา ก็คือว่า รอเช้านี้จะเป็นวันวิสาขบูชา เมื่อวันของเรามืดลง ของเขาก็เริ่มเช้า
วันวิสาขบูชามาถึง ญาติโยมสาธุชนมีจิตสดชื่นเบิกบาน ผ่องใส พากันทำบุญทำทาน ด้วยความมีศรัทธาในพระรัตนตรัย แล้วก็มีจิตเมตตาปรารถนาดีต่อกัน ต่อพระศาสนา ต่อพระสงฆ์ ต่อพุทธบริษัทร่วมกันทั้งหมด แล้วก็มาทำกิจกรรมต่าง ๆ
[01:59] กายสามัคคี จิตสามัคคี
การมาในที่นี้ก็เป็นการร่วมแรงร่วมใจกัน ถ้าเรียกทางพระศาสนาก็เรียกว่า การให้ทั้งกายสามัคคีและจิตสามัคคี กายสามัคคีคือร่วมทางกาย ก็มานั่งประชุมกัน ตลอดจนมาร่วมกิจกรรมเวียนเทียน แล้วก็ร่วมใจ อันนั้นอยู่ข้างใน ร่วมใจ ใจร่วมกันก็ทำให้มาประชุมในที่เดียวกันได้ แต่ว่าร่วมใจนี้ลึกซึ้ง มีหลายระดับ ร่วมใจจริง ๆ ก็ต้องมีศรัทธาร่วมกัน แล้วก็มีใจสมัครสมานกลมเกลียว รักกัน มีเมตตาไมตรีจิตต่อกัน แล้วก็หวังดีต่อกัน คิดร่วมใจกันในการประพฤติปฏิบัติสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ทำชีวิตของตนและสังคมให้ร่มเย็นเป็นสุข เป็นต้น จึงจะเป็นการร่วมใจที่แท้จริง เรียกว่าเป็นจิตสามัคคี ถ้าได้ทั้งสองอย่างก็สมบูรณ์ เราต้องการอันนี้ การที่เรามีพิธีในวันสำคัญทางพุทธศาสนานั้น ก็มุ่งให้เราได้แสดงออกซึ่งกายสามัคคี จิตสามัคคี ด้วย คือมิใช่มีเฉพาะลำพังตนเอง ซึ่งแต่ละท่านก็คงมีอยู่แล้ว แต่จะให้สมบูรณ์เกิดผลเป็นประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง ก็ต้องมาแสดงออกร่วมกันอย่างนี้ การที่โยมมีจิตใจ มีศรัทธา มีเมตตา มีสามัคคีกันอย่างนี้ก็เป็นที่น่าอนุโมทนา แต่ว่าเป็นเพียงเครื่องแสดงออก เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เรามีที่กำหนด แต่ตามปกตินั้น ญาติโยมสาธุชนจำนวนมากมีศรัทธา มีเมตตาธรรม เป็นต้นอยู่แล้ว ก็มาด้วยศรัทธาในพระศาสนา มาวัดวาอาราม มาทำกิจกรรม มาถวายทาน รักษาศีล มาบำเพ็ญภาวนากันอยู่ ซึ่ง จะเป็นบรรยากาศสำคัญ จะมาประสานกันช่วยให้วันวิสาขบูชามีความหมายมากขึ้น หมายความว่าเรามิได้มาเฉพาะวันวิสาขบูชา หรือเฉพาะวันสำคัญเท่านั้น เราได้เอาใจใส่เรื่องของบุญกุศล ความดี เรื่องของกิจกรรมพระศาสนามาตลอด ถ้าทำได้ตลอดทั้งปีสม่ำเสมอ ก็จะเป็นการที่เรามาช่วยให้ความหมายที่แท้จริงแก่วันมาฆบูชา วิสาขบูชา ตลอดจนอาสาฬหบูชาได้สมบูรณ์ อย่างที่นี่ก็ต้องอนุโมทนาญาติโยมจำนวนมากที่ได้มาช่วยเหลือเกื้อกูลวัดตลอดมา ไม่ใช่เฉพาะถวายทานบำรุงเลี้ยงพระสงฆ์เท่านั้น แต่ว่าได้มาช่วยเรื่องการจัดสถานที่วัดวาอารามให้เป็นสถานที่ดีงามเหมาะสม เรียกว่า รมณียสถาน คือสถานที่ที่ดีงาม ชวนให้จิตใจร่าเริงเบิกบาน สดชื่น เราเรียกว่า รมณียะ เป็นลักษณะสำคัญของสถานที่ที่ดี คือจะมีคำคู่กัน เรียกว่า ทัศนียะ อีกคำหนึ่งก็ รมณียะ สถานที่วัดวาอารามควรจะเป็นสถานที่เป็นทัศนียะหรือรมณียะ หรือเราพูดง่าย ๆ เป็นไทย ก็เป็นรมณีย์ รมณีย์แปลว่าที่น่ารื่นรมย์ เป็นที่ยินดี ทำให้จิตใจสบาย ทัศนียะนั้นเป็นรูป เป็นทางวัตถุที่มองเห็นด้วยตา
[05:56] ทัศนีย์ ปสาทนีย์ มโนภาวนีย์
ตอนแรกเรามาเห็นสถานที่ที่สะอาด มีต้นไม้ มีธรรมชาติต่าง ๆ ที่สดชื่นเบิกบาน ก็เป็นทัศนียะ น่าดู น่าชม แต่ว่าจะให้ผลจริง ๆ ก็ลึกซึ้งหน่อยคือ เข้าไปถึงจิตใจ ให้เกิดความรู้สึกรื่นรมย์ เป็นรมณียะ อันนี้ก็เป็นลักษณะทั่วไป แม้แต่สังเวชนียสถาน ที่จริงท่านไม่ได้เรียกสังเวชนียสถานอย่างเดียว สังเวชนียสถาน 4 สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน นั้น ในพระไตรปิฏก พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นทัศนียสถาน และสังเวชนียสถาน คือเป็น 2 อย่าง แล้วเราเอามาคำเดียว เรียกว่าเป็น สังเวชนียสถาน โดยทั่วไปที่อื่นไม่ได้เป็นสังเวชนียสถาน อย่างนั้น ก็ต้องให้เป็นทัศนียสถาน แล้วก็เป็นรมณียสถาน เพราะฉะนั้น คำบรรยายลักษณะวัดทั่วไปในพุทธกาลที่น่ารื่นรมย์ ก็จะเป็นอย่างนี้ ทัศนียะ รมณียะ เป็นเรื่องของสถานที่ ญาติโยมมาในที่ที่ว่าเป็นวัดวาอาราม ถ้าหากมีลักษณะอย่างนี้ ก็โน้มนำจิตใจไปสู่ความสงบ ความเบิกบานใจ ความสดชื่น แล้วโน้มเข้าไปสู่ธรรมะ ถ้ามีการสดับตรับฟัง มีการปฏิบัติธรรมต่อไป ก็ทำให้ได้ผลดีด้วย เพราะบรรยากาศเกื้อกูล เรียกว่าเป็นสัปปายะ นั่นก็เป็นด้านหนึ่ง
[07:29] อีกด้านหนึ่งคือตัวบุคคล ในสถานที่นั้นต้องมีตัวบุคคล ตัวบุคคลจะมีลักษณะแบบเดียวกัน ดูเหมือนจะเป็นคำชุดเดียวกันไปเลย คือ บุคคลเริ่มต้นด้วยการเป็นทัศนียะ ทัศนียะคือน่าดู เป็นลักษณะอาการทางรูปกาย ถือเป็นรูปธรรมภายนอก ต่อไปก็จะมีศัพท์ที่ลึกลงไป ต่อจากทัศนียะ ก็ต้องเป็น ปสาทนียะ ปสาทนียะ แปลว่า น่าเลื่อมใส หรือน่าชื่นชม หมายความว่ามีคุณสมบัติดีงาม มีความรู้มีความสามารถ มีการประพฤติปฏิบัติดี เป็นต้น เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ท่านเรียกว่าปสาทนียะ ตอนแรกทัศนียะเป็นการที่มองเห็นด้วยตาเบื้องต้นก่อน เมื่อเป็นปสาทนียะ ก็จะมองลึกลงไปถึงข้างใน เรียกว่าเห็นรูปพรรณภายนอกก็เป็นทัศนียะ ต่อไปมีคุณสมบัติข้างในลึก ๆ ไปก็เป็น ปสาทนียะ
ต่อจากนั้นถ้าดียิ่งขึ้น อย่างในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ มีผู้คนไปกราบ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น เหตุผลที่เขาไปอย่างหนึ่งคือ ต้องการไปพบไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระมหาสาวกทั้งหลาย ที่เขาเรียกว่า มโนภาวนียะ มโนภาวนียะหรือเราเรียกสั้น ๆ ก็เป็น มโนภาวนีย์ แปลว่าเป็นที่เจริญใจ ก็ 3 ขั้นด้วยกัน
หนึ่ง ทัศนียะ เห็นรูปภายนอกก็น่าดูน่าชม สอง ปสาทนียะ น่าเลื่อมใส มีคุณสมบัติของท่านอยู่ข้างใน ความรู้ความสามารถน่าเชื่อถือ เป็นต้น น่าศรัทธา ต่อจากนั้นก็ผลเกิดจากตัวผู้ดู ผู้มา ผู้ชม อันนี้เป็น มโนภาวนีย์ ทำให้ผู้ที่มาเห็น มาชื่นมาชมมาดูนั้น จิตใจสบาย ผ่องใส เบิกบาน ร่าเริงใจ ตอนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน คนเขาจึงได้แสดงความเศร้าเสียอกเสียใจ เพราะว่าเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว มิใช่เฉพาะเขาจะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ว่าเขาจะไม่ได้เห็นพระมหาสาวก พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เป็นมโนภาวนียะ ผู้เป็นที่น่าเจริญใจ คือพอเห็นแล้วก็ได้พบ ได้พูดคุยกัน ทำให้ได้ความรู้ ได้ธรรมะ ได้บุญกุศล ได้ความดีงามได้ปัญญาอะไรต่าง ๆ กันด้วย อย่างนี้เรียกว่ามโนภาวนียะ ก็เป็นการเจริญใจ คือทำให้จิตใจพัฒนาขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ก็ให้ได้ 3 ขั้น นี่เป็นเรื่องของคุณสมบัติต่าง ๆ ของสถานที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่ผู้ที่มาวัดวาอารามทำบุญทำกุศล แล้วญาติโยมทั้งหลายก็ควรจะเป็นทัศนียะ เป็นปสาทนียะ แก่กันและกัน เป็นมโนภาวนียะ ซึ่งตามปกติท่านใช้น้อย ใช้ยากหน่อย จะใช้กับท่านที่เป็นพระอรหันต์ ก็เอาแล้ว ให้ได้ปสาทนียะก็ยังดี จะทำให้สังคมของเราอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข อยู่กันด้วยความรู้สึกเป็นมิตรไมตรี มีความรู้สึกในคุณค่าของกันและกัน ชื่นชมต่อกัน
ก็หวังว่าบรรยากาศของวัดนี้จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีงามเหล่านี้ ญาติโยมที่มาวัดก็อย่างที่กล่าวแล้ว ไม่ใช่เฉพาะมาทำบุญทำกุศลถวายทานเลี้ยงพระอย่างเดียว แต่ว่าได้มาช่วยกันจัดดูแลวัด ทำให้สถานที่วัดร่มรื่น ช่วยปลูกต้นไม้บ้าง ทำความสะอาดบ้าง จัดตกแต่งต่าง ๆ ก็ต้องขออนุโมทนาไว้ในที่นี้ อนุโมทนาท่านที่มาช่วยจัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ ทุกคนต้องมีความคิดหวังอย่างเดียวกัน คือความมุ่งมาดปรารถนาดีต่อผู้ที่จะมาร่วมงาน ขอให้สาธุชนทั้งหลายมาวัดแล้ว ได้ความสุข ได้ความสดชื่นเบิกบานใจ ได้ประโยชน์สุขไป ได้ประโยชน์ทางศีล ทางจิตใจ ทางความสดชื่นเบิกบานผ่องใส แล้วก็ได้ปัญญา ได้ความรู้ความเข้าใจ ต้องตั้งความหวังต่อกันอย่างนี้ ถ้าเราตั้งความหวังต่อกันอย่างนี้ มีจิตใจที่ดี เป็นกุศลในตัวว่าขอให้ผู้ที่มาแล้วได้ประโยชน์ มีความสุขโดยทั่วกัน พระก็ต้องตั้งจิตอย่างนี้ต่อญาติโยม เป็นหลักของพระพุทธศาสนา เรามาได้ในวันนี้ก็เป็นอันว่า ได้กายสามัคคี จิตสามัคคี ดีแล้ว แล้วก็มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลกัน มีความหวังดีปรารถนาดีต่อกัน เปี่ยมด้วยจิตศรัทธา เป็นพื้นฐานที่ดีงาม เอาเป็นว่าก็ต้องขออนุโมทนา
[12:40] วันวิสาขบูชาเป็นวันเกิดทั้งสี่
วันนี้จะต้องกล่าวเป็นพิเศษ เพราะเป็นวันวิสาขบูชา ที่กล่าวเกริ่นไปนั้นก็เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป แต่ก่อนที่จะกล่าวเรื่องวิสาขบูชา ขอประทานอภัยนิดหน่อย พูดถึงเรื่องตัวเอง คือโยมหลายท่านจะแปลกใจว่า วันนี้ลงมาได้อย่างไร เมื่อกี้ก็ขอประทานอภัย ให้ศีลอะไรไม่ค่อยจะตลอด เหนื่อย แล้วก็ใจสั่น ความจริงไม่ได้ดีกว่าตอนก่อนหรอก แต่ว่าเหตุผลที่ลงมาก็เกี่ยวกับเรื่องของวันสำคัญ เลยถือโอกาสพูดสักหน่อย คือวันสำคัญที่บอกตอนต้น บอกว่าวันนี้เป็นวันสำคัญที่สุด ทำไมจึงว่าวันวิสาชบูชาเป็นวันสำคัญที่สุด เรามีวันสำคัญต่าง ๆ บางทีก็ไม่ได้สำคัญ เป็นวันที่วัดมีงาน วัดมีงานจัดงานขึ้นมา เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม มีงานที่โยมมาทำบุญทำกุศล โดยปรารภวันเกิดของอาตมภาพ แล้ววันนี้ก็เลยขยายเป็นวันเด็กไปด้วย วันนั้นสำหรับในแง่ตัวงานไม่ถือว่าสำคัญ เพราะฉะนั้น ถ้าเจ็บป่วยบ้างเล็กน้อยก็เป็นอันว่าไม่ต้องลง เพราะว่าถือว่าโยมมาทำบุญ เป็นเรื่องที่โยมมีความปรารถนาดี เมื่อโยมทำบุญแล้วตัวไม่ได้ลง แล้วโยมอุทิศกุศลไปให้ได้ ก็ไม่มีปัญหา เรื่องนี้เป็นเรื่องของงานวันคล้ายวันเกิดทำนองนั้น ไม่ใช่วันสำคัญจริง
ต่อมาวันสำคัญอีกประเภทหนึ่ง วันสำคัญตามวัฒนธรรมประเพณี อย่างวันสงกรานต์ วันสงกรานต์เป็นวันที่สำคัญสำหรับประเทศชาติ สำหรับสังคมทั้งหมด เป็นวันที่ญาติโยมมาประชุมแสดงความรักความปรารถนาดีต่อกัน ทั้งผู้อยู่และผู้ล่วงลับไปแล้ว มาทำบุญรวมญาติอุทิศกุศลแก่ปู่ย่าตายายเป็นต้น โอกาสอย่างนี้โยมมาแสดงความปรารถนาดี พร้อมเพรียงสามัคคีกัน พระก็มาแสดงน้ำใจโดยมาร่วมอนุโมทนา แล้วมาช่วยอำนวยความสะดวกในการที่ญาติโยมบำเพ็ญกุศล พระองค์ไหนจะมาก็ได้ แต่ถ้าหากองค์ไหนเจ็บป่วยก็ไม่ต้องมา ก็ยังอยู่ในขั้นที่สำคัญขึ้นมาอีก แต่ยังไม่สำคัญจริง ทีนี้พอมาวันสำคัญอีกประเภทหนึ่งคือ วันอย่างวิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา เป็นวันที่พุทธบริษัททั้ง 4 ไม่ว่าเป็น ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จะต้องแสดงน้ำใจของตนเองต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ต่อพระสงฆ์ หรือพูดสั้น ๆ ว่าต่อพระรัตนตรัย ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละคนนั้นเลย อย่างพระแต่ละองค์มีหน้าที่ต่อพระรัตนตรัย ต้องมาแสดงน้ำใจ ฉะนั้น ในวันสำคัญแบบนี้ก็ไม่ควรขาด จึงเป็นเครื่องวัดความสำคัญขึ้นมาอีกระดับ
ในบรรดาวันสำคัญแบบนี้ซึ่งเรียกว่าบูชาที่เราจัดปกติ เดี๋ยวนี้จัดกันแค่ 3 วัน มีวิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชานั้น ถือว่าวันวิสาขบูชาสำคัญที่สุด เพราะว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า เพราะมีวันนี้วันอื่นจึงมีได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เกิดเป็นประพุทธเจ้าขึ้นมา จึงมีวันอาสาฬบูชาที่พระสงฆ์มาประชุมกัน ถ้าไม่มีวันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาก็มีไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ แล้วใครจะไปสั่งสอน วันมาฆบูชาก็เช่นเดียวกัน เป็นวันสืบเนื่องไปจากการที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมเผยแผ่พระศาสนา เพราะฉะนั้น ถ้ามีเหตุจำเป็นจริง ๆ ลงไม่ได้ ก็ตัดไปอีก 2 วัน เหลือวันวิสาขบูชา วันวิสาขบูชาต้องพยายามลงให้ได้ เป็นเรื่องของวันสำคัญที่กล่าวมา ก็ถือโอกาสเล่าเหตุผลไว้
เมื่อพูดแล้วว่า วันนี้เป็นวันสำคัญที่สุด วันวิสาขบูชา เราก็มาพูดถึงความหมายของวันวิสาขบูชากัน อย่างไรก็ตาม เรารู้กันอยู่แล้วว่าวันวิสาขบูชามีความหมายและมีความสำคัญ โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธา ได้ศึกษามามาก แล้วมาร่วมกิจกรรมกัน ไม่ที่นี่ก็ที่โน่น เรียกว่าทุกปี ย่อมมีความแม่นยำในเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องมาทบทวนกันอีกว่า วันนี้มีความหมายอย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร วันนี้จะไม่ทบทวน เราสามารถที่จะยกความหมายแง่มุม แง่คิดเกี่ยวกับวันสำคัญเหล่านี้มาพูดกันในแต่ละครั้งแต่ละโอกาส ยักย้ายเปลี่ยนแปลงไป เรียกว่าเป็นปริยายต่าง ๆ
[17:43] สำหรับวันวิสาขบูชานี้ แม้แต่ตัวความหมายเบื้องต้น ความหมายพื้นฐานที่เราเรียกว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า เราก็ยังสามารถพูดใหม่อีกได้นะ แล้วแต่จับแง่ความหมาย วันวิสาขบูชาวันนี้ขอให้ความหมายอีกแบบหนึ่งว่า เป็นวันเกิดทั้งหมด คือเป็นวันเกิดทั้งวันประสูติ วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน ทำไมจึงว่าเป็นวันเกิด วันแรก แน่นอนแล้ววิสาขบูชาเป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ เรียกง่าย ๆ ก็เกิด เกิดเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วสอง ตรัสรู้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะเกิดเป็นพระพุทธเจ้า คือวันเกิดพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเกิดจริงวันตรัสรู้ ต่อมาปรินิพพาน พระพุทธเจ้าปรินิพพานก็เกิดพุทธศักราช พุทธศักราชกำหนดจากการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และเพราะมีการเกิดของพุทธศักราช เราจึงมีเครื่องกำหนดหมายว่าพระพุทธศาสนาดำรงอยู่ สืบต่อกันมานานเท่าไหร่ เป็นเครื่องกำหนดลงไปถึงพระประวัติของพระพุทธเจ้าและทั้งหมดเลย เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ พุทธศักราชเป็นสิ่งที่ยั่งยืนอยู่จนถึงปัจจุบันต่อเนื่อง โยงตัวเรากับพระพุทธเจ้า ทั้งพระพุทธเจ้า และเจ้าชายสิทธัตถะ ในที่นี้จึงบอกว่าวันวิสาขบูชาเป็นวันเกิด 3 อย่าง เกิดเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดพระพุทธเจ้า แล้วก็เกิดพุทธศักราช
สำหรับในประเทศลังกา อินเดียนับต่างจากเรา พระพุทธเจ้าปรินิพพานเขานับทันที เพราะฉะนั้น ปีนั้นก็เป็นพุทธศักราชที่ 1 ของเรานั้นนับไป พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 1 วัน 2 วัน 3 วัน เดือนหนึ่ง 2 เดือน 5 เดือน 10 เดือน 12 เดือน พอครบ 12 เดือน ครบ 1 ปี เราจึงพูดว่าพุทธศักราช พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้ว 1 ปี เริ่มพุทธศักราช 1 ของเรานับเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้ว นับเวลาล่วงแล้ว ด้วยเหตุนี้พุทธศักราชในประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึงลาว เขมร ด้วย จึงช้ากว่าในพม่า ลังกา 1 ปี ญาติโยมต้องทราบด้วย เวลานี้ในลังกาในพม่า พุทธศักราช 2548 ของเราเป็น 2547 นับต่างกันอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องที่ควรจะทราบเหมือนกัน เป็นเรื่องความหมายง่าย ๆ เอามาพูดพอเป็นเรื่องทักทาย
[20:47] เราควรจะพูดให้ลึกลงไปอีก เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ควรจะเข้าใจเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา บอกแล้วเมื่อกี้ว่า ตัวจริงสำคัญที่สุดคือการตรัสรู้ เจ้าชายสิทธัตถะมีความหมายขึ้นมา การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะมีความหมายเพราะว่า จากเจ้าชายสิทธัตถะจึงมีพระพุทธเจ้าได้ เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ก็เลยพลอยมีความสำคัญไปด้วย แล้วการปรินิพพานก็เหมือนกัน มีความสำคัญเพราะมีการจากไปล่วงลับไปของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ การตรัสรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฉะนั้น เราจะมาพิจารณาความหมายในแง่ของการตรัสรู้ เรื่องตรัสรู้อะไรยังไม่พูดในที่นี้ แต่ว่ามีแง่คิดอย่างหนึ่งคือ การตรัสรู้ก็คือการสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เราถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง ความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านี้ เราเห็นได้ชัดตามพุทธประวัติว่าเป็นสิ่งที่มิใช่ได้มาโดยง่าย เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ยากนักหนา พระพุทธเจ้าก็ตรัสบ่อย ๆ เมื่อจะเสด็จไปประกาศธรรม ก็ทรงปรารภว่าธรรมที่ตรัสรู้นี้ พระองค์ได้บรรลุโดยยาก (กิจฺเฉน เม อธิคตํ) บอกว่าธรรมนี้เราบรรลุแล้วโดยยาก แล้วตรัสต่อไปว่า หมู่สัตว์ทั้งหลายมัวลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมาอยู่ในสิ่งติดข้องทั้งหลายมากมาย ธรรมนี้ที่พระองค์ตรัสรู้นั้น ละเอียดอ่อน เข้าใจได้ยาก คนเหล่านี้จะไม่สามารถเข้าใจตามได้ เพราะฉะนั้น พระองค์โน้มพระทัยไปในการที่จะไม่แสดงธรรม แต่เมื่อได้ตามเรื่องก็บอกว่าพระพรหมอาราธนา พระองค์ทรงพิจารณาว่าสัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อยมีอยู่ เพราะฉะนั้น ก็จะมีผู้ที่สามารถเข้าใจธรรมที่ทรงแสดงได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตัดสินพระทัยที่จะออกไปประกาศพระธรรม นี่เป็นเรื่องตอนที่ตรัสรู้แล้ว แต่ก่อนตรัสรู้ยิ่งชัดกว่านั้นอีก คือตอนที่พระพุทธเจ้าจะประทับนั่งตรัสรู้ที่โคนโพธิ์ ราตรีก่อนจะตรัสรู้พระองค์ประทับนั่ง พระองค์ตรัสว่า สิ่งที่จะบรรลุถึงได้ด้วยความเพียรพยายามด้วยแรงของบุรุษ ด้วยแรงของบุรุษนี้เป็นสำนวน หมายความว่าของคนนั่นเอง ถ้าเราไม่สามารถบรรลุได้ เราจะไม่ลุกขึ้น แม้ว่าเลือดเนื้อจะแห้งเหือดไป แสดงว่าธรรมะนี้ตรัสรู้ไม่ใช่ง่าย ๆ พระองค์ต้องปฏิญาณ พระองค์ อธิษฐานพระทัย เราเรียกว่าอธิษฐานพระทัย ว่าอย่างนั้น ว่าถ้าไม่ตรัสรู้ ไม่บรรลุแล้ว จะไม่เสด็จลุกขึ้นเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องแสดงว่ายาก แล้วยิ่งย้อนดูต่อไปที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องบำเพ็ญบารมีมากมาย บารมีคือบุญอย่างสูง บุญคือความดี บารมีก็บุญ คือความดีของคนผู้ยอดเยี่ยม หมายความว่าคนที่ไม่มีความเข้มแข็งเพียรพยายามจริง ๆ ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น แปลง่าย ๆ ก็คือคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยวดยิ่ง เขาเรียกว่าบารมี เช่นว่าจะบำเพ็ญทานก็บำเพ็ญชนิดที่เรียกว่าให้ชีวิตได้ จะบำเพ็ญศีลก็หมายความว่ายอมสละชีวิตเพื่อศีลได้ อะไรเป็นต้น เรียกว่าเป็นบารมีซึ่งทำได้ยากมาก พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีอย่างนี้นานนักหนากว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น ความสำเร็จนี้เป็นสิ่งที่ได้มาโดยยาก ต้องมีความเข้มแข็ง มีความเพียร มีความพยายามอย่างยวดยิ่ง
[24:56] ทีนี้เราก็มานึกดูถึงความสำเร็จของคนทั้งหลายในโลก ก็เป็นธรรมดา ความสำเร็จในการสร้างสรรค์ชีวิต ในการสร้างสรรค์สังคมสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ นี่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย ต้องมีความเพียรพยายาม ต้องมีความเข้มแข็ง ต้องมีความอดทนอะไรต่าง ๆ มากมาย คุณธรรมความดี ต้องพัฒนาตัวเอง รวมแล้วคือต้องพัฒนาคน ถ้าตัวเองก็ต้องพัฒนาตน แล้วถ้าเป็นสังคมก็ต้องช่วยกันพัฒนาคน มาสร้างสรรค์สังคมกัน ต้องเป็นคนที่มีความเข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม ใจสู้ เป็นต้น แล้วจึงจะสร้างความสำเร็จได้ ถ้าเราใช้หลักธรรมง่าย ๆ เราก็บอกอิทธิบาท 4 มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นั่นแหละ คือต้องมีความจริงจัง เข้มแข็ง เมื่อความสำเร็จ ความเจริญงอกงาม ความดี ความประเสริฐเลิศของมนุษย์ก็ตาม ความดีงามของสังคม สันติสุขเกิดขึ้นได้ เป็นความสำเร็จที่ต้องอาศัยความเพียรพยายาม การสร้างสรรค์ด้วยเรี่ยวแรงความเข้มแข็งอย่างนี้ เราต้องพยายามชักชวนกันในการที่จะให้พัฒนาตัวเอง ให้มีคุณธรรมความดี ความเข้มแข็ง ความขยันอดทน อย่างที่ว่า ตั้งแต่ในครอบครัว พ่อแม่ จะต้องอบรมเลี้ยงดูลูกของตัวเองให้เป็นคนที่มีจิตใจใฝ่ในทางความดีงาม ในการรักความรู้ รักการสร้างสรรค์ มีจิตใจเข้มแข็ง มีความขยันหมั่นเพียร เป็นต้น กว้างออกไปคือสังคม เราจึงต้องมีการจัดการศึกษา มีการฝึกฝนอบรมให้การศึกษาแก่เด็กแก่เยาวชนผู้คนทั่วไปให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ เราก็เพียรพยายามกันขึ้นมา
[26:50] ภาวะผู้นำ : กัลยาณมิตร และความไม่ประมาท
แล้วไปถึงประเทศชาติ ผู้นำผู้ปกครองสังคม ก็เช่นเดียวกัน ต้องพยายามมานำประชาชนในการที่จะให้เกิดเรี่ยวแรงกำลังใจสร้างสรรค์ความดีงาม ฉะนั้น ผู้ปกครองที่เป็นผู้นำที่มีกำลังความสามารถนี้ ก็คือผู้ที่มาชักชวน ชักจูง กระตุ้นเร้าจิตใจของคนผู้ร่วมชาติให้ใฝ่สร้างสรรค์ความดีงาม ให้มาช่วยกันพัฒนาชีวิต พัฒนาสังคมให้มีความเข้มแข็งอดทน มีความเพียรพยายาม ไม่ระย่อท้อถอย แล้วชี้แนะว่า มีอะไรดีงามที่ชีวิตสังคมควรจะได้ควรจะถึง สังคมของเรานี้มีอะไรเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข สังคมของเรามีอะไรที่จะต้องช่วยกันสร้างสรรค์ มาช่วยกันนะ ถ้าผู้นำท่านใดมีความสามารถนี้ มาช่วยกระตุ้นเร้าให้คนในชาติมีแนวทางมีทิศทาง มีกำลังใจ มีเรี่ยวแรงกำลัง เข้มแข็งที่จะสร้างสรรค์ทำความดี รวมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ประเทศชาตินั้นจะเจริญงอกงามก้าวหน้าเข้มแข็ง เพราะฉะนั้น หน้าที่ของผู้นำจึงต้องเป็นผู้ที่ชักจูงประชาชนให้ไม่ประมาท ไม่ประมาทคือไม่มัวเมา ไม่หลงระเริง ไม่อ่อนแอ ไม่มัวขลุกจมอยู่กับสิ่งบันเทิงอะไรต่าง ๆ ที่จะยั่วล่อเร้าเราไปในทางเสื่อม แล้วทำให้ล่าช้า รวมแล้วคือทำให้ประมาท เพราะฉะนั้น ถือเป็นสำคัญ
พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้งหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ในฐานะที่พระองค์เป็นพระราชา สิ่งสำคัญคือ หนึ่ง พระองค์ต้องมีกัลยาณมิตร แล้วผู้มีกัลยาณมิตรนั้นจะต้องไม่ประมาท อยู่ด้วยความไม่ประมาท มีกัลยาณมิตรนั้นสำคัญ คือว่าต้องมีข้าราชบริพาร คนที่มารับใช้ร่วมงานสนองงานต่าง ๆ ที่เป็นคนดี มีความรู้ความดีงาม มีคุณธรรม มีความสามารถ มาร่วมงานกัน ใฝ่ดี ต้องการจะสร้างสรรค์ประเทศชาติสังคมให้ดี แล้วให้คำแนะนำอะไรต่าง ๆ ที่ดีงาม ถ้าทำได้ก็จะมีประชาชนที่เป็นกัลยาณมิตรด้วย ประชาชนมีจิตใจใฝ่ดี มีจิตใจร่วมกัน มีความรักความสามัคคี มีไมตรีจิตต่อท่านผู้บริหารประเทศชาติบ้านเมือง ก็เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน แต่ว่าท่านผู้นำต้องเป็นกัลยาณมิตรก่อน เพราะว่าเป็นผู้ชักจูงในทางที่ดีงาม ตอนนี้สังคมก็จะมีความสามัคคีพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางที่ดีงาม มีเอกภาพของผู้เป็นกัลยาณมิตร ก็จะรวมกำลังกันเข้มแข้ง สามารถฟันฟ่าอุปสรรค แก้ไขปัญหา และนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญงอกงาม ฉะนั้น เรื่องนี้สำคัญ เป็นหัวใจในการที่จะสร้างสรรค์ประเทศชาติ พระพุทธเจ้าก็ตรัสย้ำ บอกคุณสมบัติคุณธรรมของผู้ปกครองว่ามีเยอะแยะ มีภาวะผู้นำต่าง ๆ แต่ว่าในที่สุดแล้วมีที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ หนึ่ง ต้องมีกัลยาณมิตร ถ้าหากว่าเพื่อนผู้บริหารบ้านเมืองด้วยกัน ผู้ทำงานราชการด้วยกัน อะไรต่าง ๆ นี่ ไม่เป็นกัลยาณมิตร ไม่มีคุณธรรมที่ดี ก็มีจุดอ่อนที่ร้ายแรงมาก แล้วสองก็คือ ถ้าประมาท ตัวเองประมาท แล้วยังไปชวนผู้อื่นให้ประมาทด้วย ไปกันใหญ่เลยนะ สังคม เพราะฉะนั้น จะต้องพยายามถือหลักนี้ พระพุทธเจ้าก็ให้หลักไว้กับพระเจ้าปเสนทิโกศล ว่าในที่สุดแล้วคุณสมบัติผู้นำจะมีอะไรก็ตามต้องมี 2 เรื่องนี้ด้วยเป็นตัวคุมไว้ เป็นกัลยาณมิตร แล้วก็ตั้งอยู่บนความไม่ประมาทตลอดเวลา ไม่ใช่ไม่ประมาทเฉพาะตนเอง ต้องชักจูงกระตุ้นประชาชนให้ไม่ประมาท เมื่อตัวเองไม่ประมาทแล้ว ต้องมีทางที่จะทำให้ประชาชนไม่ประมาทด้วย ก็จะไปด้วยกัน เรื่องนี้ต้องย้ำกัน ฉะนั้น ผู้นำที่มีความสามารถจริง ๆ น่าชื่นชมมาก เป็นที่หวังอยู่ก็คือว่า ทำอย่างไรที่เราจะมีผู้นำที่ท่านมาช่วยคอยชักนำชักจูงประชาชนให้ไม่ประมาท ช่วยแนะแนวทางในการสร้างสรรค์ ในการแก้ปัญหา ในการทำสิ่งที่ดีงาม พัฒนาให้เจริญงอกงามดียิ่งขึ้นไป
[31:35] ที่เป็นอย่างนี้เพราะมีกรณีตรงข้าม มีมาแต่สมัยโบราณแล้ว คือการปกครองนี่ก็มีประเทศของเราประเทศของเขา มีประเทศที่เป็นฝ่ายของตัวและประเทศที่เป็นฝ่ายศัตรู มีรัฐอื่น แล้วก็มีปัญหาเรื่องรบราฆ่าฟัน มีการแย่งอำนาจ ทำสงครามกันอยู่บ่อย ๆ เพราะฉะนั้น รัฐศาสตร์มีมาแต่สมัยโบราณแต่ไหนแต่ไรแล้ว ถ้าเป็นฝ่ายที่เราไม่ต้องการให้เจริญงอกงาม เราก็ไปทำให้เขาประมาท ก็เลยมีหลักรัฐศาสตร์ อย่างสมัยสงครามมหาภารตะ คัมภีร์พวกนั้นก่อนพุทธกาล แต่งเรื่องเกิดก่อนพุทธกาล เหตุการณ์เกิดก่อนพุทธกาล แต่เรื่องที่แต่งเป็นมหากาพย์เป็นเรื่องหลังพุทธกาล แต่รวมความก็คือว่า พวกวรรณคดีเหล่านี้ซึ่งเป็นวรรณคดีในยุคที่ถือว่าเป็นเรื่องราวก่อนพุทธกาล จะเป็นหลักรัฐศาสตร์การปกครองอย่างสมัยโบราณ คือต่างก็จะแย่งชิงอำนาจกัน ต่างก็จะมุ่งหมายความยิ่งใหญ่ของตนเอง เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่ารัฐทั้งหลายจะสร้างความยิ่งใหญ่ของตนบนความย่อยยับของรัฐอื่น จะเป็นอย่างนั้นเรื่อยมา เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องพยายามให้รัฐอื่นอ่อนแอ อย่างตำราการปกครองสมัยโบราณของปู่พระเจ้าอโศก ปู่พระเจ้าอโศก พระเจ้าจันทรคุปต์ มีมหาเสนาบดีหรือปุโรหิตที่เป็นผู้สร้างพระเจ้าจันทรคุปต์ขึ้นมาเลย ก็คือพราหมณ์ชื่อ จาณักยะ พราหมณ์จาณักยะแต่งตำรารัฐศาสตร์สำคัญ เรียกว่า อรรถศาสตร์ ว่าด้วยการปกครอง
ตำราอรรถศาสตร์นี้ใช้กันมาในอินเดียตลอด สอนวิธีที่ให้พระมหากษัตริย์แสวงหาความยิ่งใหญ่ จะขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่มีอำนาจได้อย่างไร จะสร้างรัฐของตนให้ยิ่งใหญ่เจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร ความคิดในทางรัฐศาสตร์ทั่วไปจะเป็นอย่างนี้ คือว่าราชานั้นเป็นผู้ที่ดี มีปรารถนาดีต่อประชาชนในรัฐของตัว แต่ว่าแค่รัฐของตัวนะ ถ้ารัฐอื่นฉันเอาเต็มที่ ฉะนั้น ก็จะมีวิธีการที่ว่า ทำอย่างไรให้รัฐอื่นอ่อนแอ เช่นว่ารัฐที่อยู่ใกล้เคียง อาจจะเป็นอันตรายแก่เรา รัฐใกล้ ๆ เรา ให้มันขัดแย้งกัน หาทางให้มันขัดแย้งกัน เมื่อเขาขัดแย้งกัน เราก็กลายเป็นว่าสบายไป นอกจากว่าเขามัวยุ่งกันเอง เขาไม่มายุ่งกับเรา แล้วยังมาพึ่งเราด้วย เพราะว่าทั้งสองฝ่ายเมื่อขัดแย้งกันก็ต้องหาพวก เราก็เลยสบาย เข้าทางโน้นที เข้าทางนี้ที หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องมีวิธีการต่าง ๆ มากมายในการยุแยง แล้วจะทำให้ประชาชนของอีกรัฐหนึ่งอ่อนแอ มีความมัวเมาประมาท ปัจจุบันนี้เขาอาจจะใช้กันอยู่ก็ได้ เราจะเห็นได้ว่าถอยหลังไปเมื่อสมัยอาณานิคม ญาติโยมเก่า ๆ คงยังจำได้อยู่ว่า อังกฤษปกครองอาณานิคม ฝรั่งเศสปกครองอาณานิคม แล้วก็ปกครองแถว ๆ นี้ ใกล้ ๆ รอบ ๆ เมืองไทยนี้ เราจะได้ยินว่าอังกฤษเน้นวิธีการปกครองอาณานิคมแบบที่ฝรั่งเรียกว่า devide and rule คือแบ่งแยกและปกครอง หมายความว่าประเทศอาณานิคมเมืองขึ้นทั้งหลายนี่ เขาจะต้องไปทำให้ประชาชนหรือพวกคนภายในที่บริหารประเทศที่เป็นเมืองขึ้นแตกแยกกัน เมื่อแตกแยกกันแล้ว พวกนี้ก็จะยุ่งนัวเนียกันอยู่ข้างใน ไม่คิดที่จะมากู้เอกราช หรือจะไม่มาคิดแข็งขืนต่อผู้ปกครอง
อังกฤษใช้วิธีปกครองแบบนี้ เป็นที่รู้กัน devide and rule ให้คนข้างในประเทศแตกกัน แล้วเขาปกครองได้สะดวก ทีนี้ฝรั่งเศสนั้นได้ทราบว่า นี่เราก็ว่าไปตามที่รู้กันมา ฝรั่งเศสใช้วิธีทำให้มัวเมา เพลิดเพลิน เอ้า ชาวเมืองขึ้นให้เล่นพนันกัน ให้กินสุรากัน ให้สบาย พอสนุกสนานเพลิดเพลินมัวเมา ก็ไม่คิดที่จะมาวุ่นวายแข็งขืนอะไรใช่ไหม เป็นอย่างนี้แหละ เป็นวิธีการปกครองที่มีมาแต่โบราณ แล้วก็อย่างมหาภารตะที่ว่า ก็มีหลักอยู่อันหนึ่ง เช่นว่าไปรบชนะประเทศอื่นแล้ว พวกประชาราษฎรเขาย่อมมีความเคียดแค้นใช่ไหม ต่อประเทศที่ไปตีไปฆ่าเขา พ่อแม่พี่น้องอะไรของเขาต้องตายกันไปมากมาย ทีนี้เขาก็มีวิธีการอย่างหนึ่งคือว่า เอามรหสพ เอาการละเล่นบันเทิงไปสนับสนุนส่งเสริมให้แพร่หลายทั่วไป ก็ไปเอาอกเอาใจ พวกราษฎรเหล่านั้นลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมา การสนุกสนานกินเหล้าเมายากัน ลืม สนุก หายคั่งแค้นไปด้วย แล้วบางทียังกลับมานิยมชมชอบฝ่ายประเทศปกครองที่มาเอาใจด้วยซ้ำ นี่ก็เป็นวิธีการทางปกครอง ฉะนั้น ถ้าผู้ปกครองมาใช้วิธีทำให้ประชาชนเพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมาประมาท ท่านก็ไม่สามารถจะพ้นการถูกระแวง เพราะว่าคนที่เขารู้หลักรัฐศาสตร์มาแต่โบราณ เขาจะคิดว่า ท่านผู้นี้มุ่งอะไรกันแน่ มีเจตนาอะไร จะคิดจะเอาอย่างไรกับราษฎร จะเอาราษฎรมาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของตัวหรือเปล่า หรือจะทำให้เพียงมาจมอยู่กับเรื่องเหล่านี้ แต่รวมแล้วก็คือ เดี๋ยวมันจะประมาท ไม่เข้มแข็ง อ่อนแอ ไม่มาช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศชาติ
[37:55] เพราะฉะนั้น เรื่องสำคัญที่จะนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ก็คืออย่างที่ว่ามานี้ ทำอย่างไรเราจึงจะมาช่วยกัน ทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง มีความเพียรพยายามสร้างสรรค์ ไม่ประมาท ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว นั่นคือความสำเร็จของผู้นำที่คิดว่าใคร ๆ ก็ต้องยกย่อง ผู้นำนั้นก็มีความสามารถแบบนี้ คือสามารถกระตุ้นเร้าให้ได้รับความร่วมใจ การร่วมใจร่วมแรงอะไรต่าง ๆ สามัคคี ก็มีความนิยมไปด้วย แต่ทีนี้จะกระตุ้นด้วยอะไร กระตุ้นด้วยโลภะ ความอยากได้ ความลุ่มหลงระเริงมัวเมา หรือบางทีกระตุ้นด้วยโทสะ กระตุ้นด้วยโทสะ เราเอาประเทศอื่นหรือศัตรูนี่เป็นเป้าใช่ไหม แล้วเราก็ปลุกระดมความเคียดแค้นต่อพวกนั้น แล้วก็เกิดกำลังมาร่วมกับเรา เหมือนอย่างฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์ใช้วิธีเอาความแค้นของชาวเยอรมันต่อพวกประเทศสัมพันธมิตรที่ชนะสงคราม แล้วก็ทำสัญญากดขี่พวกเขาใช่ไหม จุดเหล่านี้มันเป็นอยู่ตลอดเวลา มันเคียดแค้น เพราะฉะนั้น ท่านฮิตเลอร์ก็หยิบจุดนี้ขึ้นมาปลุกระดม ชาวเยอรมันก็เคียดแค้นมีกำลังร่วมสามัคคีกับท่าน เอาเต็มที่เลย เกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น ซึ่งก็คือกระตุ้นด้วยโทสะ ชาวมนุษย์ทั่วไปจะกระตุ้นกันด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยตัณหา ด้วยมานะ ความยิ่งใหญ่อะไรต่าง ๆ เหล่านี้
พระพุทธศาสนาต้องการให้กระตุ้นกัน ชักจูงกันด้วยปัญญา ด้วยคุณธรรมความดี นี่แหละเป็นเรื่องที่ยากอยู่ หลักรัฐศาสตร์ของพุทธศาสนาจึงขยาย รัฐศาสตร์ในสมัยโบราณเป็นมากันอย่างนี้ตลอด แม้แต่ในตะวันตก ท่านจาณักยะมีอีกชื่อหนึ่งว่า เกาฏิลยะ แปลว่าคนเจ้าเล่ห์ ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าเจ้าเล่ห์ เพราะว่าท่านใช้วิธีนี้ แต่ว่าบ้านเมืองของท่าน ท่านตั้งวางระบบบริหารอย่างดี ก็หมายความว่ามุ่งให้ราษฎรของตัวเองอยู่ดี มีความร่มเย็นเป็นสุข เข้มแข็ง แต่ว่าประเทศอื่นมีแต่ไปทำให้เขาอ่อนแอ ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ สร้างความยิ่งใหญ่แห่งรัฐของตนบนความย่อยยับของรัฐอื่น ก็ใช้วิธีนี้กันมา ทางตะวันตกก็เหมือนกัน อย่างนักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากของฝรั่งชาวอิตาเลียนชื่อ มาเคียเวลลี ก็ใช้ระบบนี้ ระบบที่เรียกว่าเจ้าเล่ห์เจ้ากลในการที่จะแสวงหาความยิ่งใหญ่ ในการที่จะกำจัดฝ่ายศัตรู กำจัดอย่างไรได้เอาทั้งนั้น ไม่ถือเป็นการเสียคุณธรรม เขาเลยเทียบกันว่า ท่านจาณักยะเหมือนเป็นมาเคียเวลลีแห่งชมพูทวีป แต่ที่จริงไม่ควรจะเรียกอย่างนั้น เพราะว่าท่านจาณักยะเก่ากว่ามาก ท่านจาณักยะนี่ตั้งแต่พระเจ้าจันทรคุปต์ขึ้นครองราชย์ เมื่อพ.ศ. 163 ส่วนท่านมาเคียเวลลีตายเมื่อพ.ศ. 2070 หมายความว่ามาเคียเวลลีมาหลังจาณักยะเกือบ 2,000 ปี ฉะนั้น ถ้าจะเรียกจาณักยะเป็นมาเคียเวลลีแห่งชมพูทวีป คงไม่ถูก ใช่ไหม ต้องเรียกมาเคียเวลลีเป็นจาณักยะแห่งตะวันตกหรือแห่งยุโรปจึงจะได้ แต่ก็มีความคิดทำนองเดียวกันนี้ คือต้องทำลายศัตรู เป็นแนวคิดที่เป็นกันมา
[41:41] ไม่ได้มีรัฐศาสตร์เพียงเพื่อชาติ แต่มีรัฐศาสตร์เพื่อโลก
จนกระทั่งเกิดพุทธศาสนา แล้วก็เกิดพระเจ้าอโศกที่นำหลักพระพุทธศาสนามาใช้ ว่าทำอย่างไรเราจะไม่ได้มีรัฐศาสตร์เพียงเพื่อชาติ แต่มีรัฐศาสตร์เพื่อโลก การเกิดขึ้นของพุทธศาสนานี่ มองได้กว้างขวางนะ ไม่ใช่เฉพาะในแง่ธรรมะที่เรามาใช้ปฏิบัติในวัดเท่านั้น มันกินความกว้างไปหมด เพราะคุณธรรมความดี สติปัญญา อะไรทุกอย่างขยายไปใช้ทุกระดับ ฉะนั้น รัฐศาสตร์ชาติก็เป็นรัฐศาสตร์เพื่อโลก จะเห็นหลักความคิดนี้ อย่างชาดก ไม่ใช่เป็นเพียงนิทานสำหรับสอนเด็ก ในนั้นถ้าพูดอย่างภาษาคนสมัยนี้ เขาบอกว่ามีปรัชญาในการปกครอง ในทางเศรษฐกิจ เป็นต้น อยู่ในนั้นเยอะหมดเลย เรื่องชาดกก็สอนเรื่องเหล่านี้ ว่าทำอย่างไรประเทศต่าง ๆ รัฐต่าง ๆ จะอยู่กันด้วยดีโดยไม่เบียดเบียนกัน นี่คือก้าวใหม่ ซึ่งแปลกมาก จากระบบความคิดในทางการปกครองสมัยโบราณ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังโบราณอยู่ ไม่ค่อยไปไหน ก็ยังคิดอยู่ว่าเอาอย่างไรให้ตัวฉันรักษาผลประโยชน์ของฉัน ทำลายฝ่ายศัตรู คิดกันแต่อย่างนี้ทั้งนั้น แล้วจะไปสร้างสันติสุขให้โลกได้อย่างไร ใช่ไหม ก็ต้องมีความคิดที่ก้าวต่อไป พระพุทธเจ้าทรงมาวางหลักนี้ขึ้นมา ให้ไม่คิดแต่ว่าจะสร้างความยิ่งใหญ่ให้รัฐของตน แล้วทำให้รัฐอื่นต้องแตกสลายย่อยยับไป แต่ทำอย่างไรเราจะอยู่ดีด้วยกัน แล้วให้ประโยชน์ของเราแผ่ไปยังรัฐต่าง ๆ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงนำแนวหลักธรรมนี้มาใช้ เรียกว่านโยบายธรรมวิชัย คือแทนที่จะชนะด้วยศาสตราวุธก็ชนะด้วยธรรม พระพุทธเจ้าสอนหลักนี้ไว้ในจักรวัตติสูตร เป็นต้น มีพระสูตรหลายสูตร จะขึ้นมาทำนองว่า “อสตฺเถน ธมฺเมน อภิวิชิย” นี่คือที่มาของคำว่าธรรมวิชัย ที่มาในพระไตรปิฎก พระราชาผู้เป็นจักรพรรดิ จักรพรรดิในที่นี้หมายถึงจักรพรรดิทางธรรม ไม่ใช่จักรพรรดิแบบ emperor เวลาเราแปลภาษาอังกฤษ จักรวัตติสูตร นักปราชญ์ในวงการภาษาบาลี แม้แต่ฝรั่ง เขาไม่แปลเป็น emperor หรอก เรานี่เอา emperor มาแปลเป็นจักรพรรดิ คำว่าจักรพรรดิไม่ได้แปลว่า emperor แต่เป็น emperor ในความหมายของไทย จักรวัตติ ก็แปลกันว่า universal monarch ก็คือพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองที่เป็น universal พระมหากษัตริย์ที่เป็นแบบนี้ต้องเป็นผู้ที่มีชัยชนะโดยไม่ต้องใช้ศาตรา ไม่ต้องใช้ทัณฑะ ไม่ต้องใช้การลงโทษ หรือเครื่องมือทำร้ายกัน แต่ชนะโดยธรรม แล้วพระเจ้าอโศกก็นำหลักนี้มาใช้ จึงเรียกนโยบายของพระองค์ว่าธรรมวิชัย แล้วพระองค์ทำสำเร็จด้วย เป็นมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ฝรั่งบางคนเขาถือว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นกษัตริย์ผู้เดียวที่เขานับถือ เป็นกษัตริย์ผู้เดียวที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ ท่านผู้นี้คือนายเอช.จี. เวลส์ เอช.จี.เวลส์ แต่งตำราชื่อ Outline of History แปลว่าเค้าโครงแห่งประวัติศาสตร์ รวมแล้วก็คือพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นที่ชื่นชมนิยม เพราะนำหลักนี้มาใช้ หมายความว่าท่านเลิกแนวคิดของปู่ของท่าน ที่พราหมณ์จาณักยะได้ตั้งไว้ จาณักยะเป็นผู้สร้างอาณาจักรมคธ ที่พระเจ้าจันทรคุปต์เป็นผู้เริ่มปกครอง และยิ่งใหญ่มาก สมัยเดียวกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ต่อจากอเล็กซานเดอร์ เพราะว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชจะมาตีที่ข้างประเทศอินเดีย คือจะเข้าบุกอินเดีย หลายท่านคงทราบแล้ว มาถึงตักศิลา ในราวปี 327 นั่น 327 ปีก่อนคริสตศักราชนะ คือหมายความว่าในระยะที่เป็นพุทธศักราชก็ 150 กว่าปี แล้วก็ตีมาได้แคว้นโยนก เขาเรียก Bactria ภาษาฝรั่งเรียกอย่างนั้น เราเรียกว่าแคว้นโยนก แล้วลงมาที่ตักศิลา ตั้งทัพเตรียมจะบุกอินเดีย แล้วได้พบกับจันทรคุปต์
จันทรคุปต์เป็นปู่ของพระเจ้าอโศกมหาราช ไปพบกันก็ปรึกษากัน จะร่วมมือกันล้มล้างวงศ์กษัตริย์ที่กำลังปกครองชมพูทวีปที่มคธ คือราชวงศ์นันทะ ตอนแรกจะร่วมมือกัน จันทรคุปต์ตอนนั้นยังไม่ได้อำนาจ แล้วก็เกิดขัดใจกัน พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชจับจันทรคุปต์ขัง แต่ก็หนีออกมาได้ เรื่องยืดยาว แล้วทีนี้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นทหารเบื่อหน่ายการสงครามเต็มที รบราฆ่าฟันมาตลอด ก็เลยหยุด ในราวปี 327 ก่อนคริสตกาล เลยยกทัพกลับไป แล้วอีกราวสัก 3-4 ปีต่อมา จันทรคุปต์โค่นราชวงศ์นันทะลงได้ ตั้งวงศ์กษัตริย์เป็นราชวงศ์โมรียะ หรือเมารียะ เป็นปู่ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชมพูทวีป คืออินเดีย พระเจ้าอโศกมหาราชได้ใช้นโยบายธรรมวิชัย เป็นอันว่าล้มเลิกนโยบายแบบของพระเจ้าปู่จันทรคุปต์ที่พราหมณ์จาณักยะวางไว้ ที่มุ่งให้สร้างความยิ่งใหญ่ของรัฐของตน บนความย่อยยับของรัฐคนอื่น เปลี่ยนเป็นให้อยู่ดีด้วยกันด้วยความสงบสุข เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าไม่ใช่รัฐศาสตร์เพื่อชาติ แต่เป็นรัฐศาสตร์เพื่อโลก ตอนนี้เรายังไม่สามารถก้าวไปสู่จุดนี้เลย
[47:50] ชนะเขาโดยที่ไม่ต้องทำร้ายเขา
ฉะนั้น คนไทยเรามีหลักธรรมนี้ พระพุทธศาสนาได้ให้ไว้ ควรจะก้าวไปได้ เราควรจะมีอะไรให้กับโลกนี้ เราไม่ควรจะไปอยู่แค่แข่งขันกับพวกเหล่านี้เท่านั้น เอาละ แม้แต่จะแข่งขัน สู้เขา ชนะเขาได้ ในยุคโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นต้น เราก็ต้องมีความเข้มแข็งแล้วใช่ไหม เราจะมัวมาอ่อนแอปวกเปียก มัวเมา ลุ่มหลง อยู่ได้อย่างไร เราต้องมีความเข้มแข็ง สร้างพัฒนาคนของเราให้มีสติปัญญา โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางปัญญานี้ ต้องมีให้มาก ถ้าไม่มีปัญญาก็มืดบอด ไปไหนไม่รอดหรอก ถึงจะมีกำลังกาย กำลังอาวุธ กำลังจิตใจเข้มแข็ง ก็สู้กันไม่ไหว ต้องมีกำลังปัญญา ทีนี้เราต้องมาสร้างคนของเราให้มีกำลังทางปัญญา แล้วเราจึงจะชนะการแข่งขัน เป็นชัยชนะที่แท้จริง ในโลกาภิวัตน์ ในโลกแห่งการแข่งขันนี้
แต่เสร็จแล้วเราไม่ควรมีเป้าหมายอยู่แค่นั้น เราจะต้องมีเป้าหมายต่อไปว่า เราจะต้องแก้ปัญหาของโลก ที่มาติดจมอยู่กับการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน การแย่งชิงอำนาจ การทำลายรัฐอื่น ผู้อื่น ชาติอื่น เพื่อประโยชน์แห่งรัฐของตน จะทำได้อย่างไร เป็นปัญหาที่ชาวพุทธควรจะต้องคิด ชาดกจะมีคำสอนประเภทนี้ ขอให้ไปศึกษาดู ทำไมเรียกพระมโหสถว่า เป็นผู้สูงสุดในด้านปัญญาบารมี ก็เพราะท่านสามารถเอาปัญญามาใช้ ในการที่จะให้ศัตรูที่มุ่งมาทำร้ายประเทศชาติของท่านยอมสยบโดยเป็นไมตรีกันได้ คือเอาชนะโดยธรรม เอาชนะโดยไม่ต้องทำร้ายเขา เคยพูดบ่อย ๆ บอกว่าที่พระพุทธเจ้าสอนว่า เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร ไม่ใช่ว่าเขามาทำร้ายเราแล้วไม่ต้องจองเวร เราอยู่เฉย ๆ ให้เขาฆ่า ไม่ใช่อย่างนั้น คนไทยไปติดอยู่แค่นั้น เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร เขามาทำร้ายเราก็นอนเฉยนิ่ง ๆ ให้เขาฆ่าซะดี ๆ ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนอย่างในชาดกก็เช่น มโหสถชาดก ชัดเจนมาก ฝ่ายศัตรูมุ่งร้าย เราไม่ได้คิดมุ่งร้ายเขา เขายกทัพมาเลย จะมาทำสงคราม มาเอาเราเป็นเมืองขึ้น มาเอาเราเป็นดินแดนของเขาด้วย เขายกทัพมา มโหสถคิดแล้วทำอย่างไร แต่ไม่ต้องการทำร้ายเขา ต้องเอาชนะโดยวิธีที่ไม่ต้องทำร้ายต่อ มโหสถก็คิดหนัก
คนที่จะชนะเขาโดยที่ไม่ต้องทำร้ายเขา เรียกว่าไม่ชนะด้วยเวร ต้องเก่งกว่าคนที่มาทำร้ายเป็นสิบเท่า เชื่อไหม เพราะฉะนั้น คนที่จะสร้างโลกที่มีสันติสุขที่แท้จริง จะต้องเป็นคนที่พัฒนาอย่างสูง ถ้าเรามัวมาเพลิดเพลินมัวเมากันอยู่ ไปไม่รอดหรอก เราจะต้องสร้างคนของเราให้เหนือกว่าประเทศที่ก้าวหน้าพัฒนาแล้วในการแข่งขัน เราต้องเหนือกว่าเขาจริง ๆ เหนือทางปัญญา เป็นต้น ฉะนั้น เรามัวมานิ่งมานอนมาเพลิดเพลินมัวเมาอยู่ได้อย่างไร ต้องเร่งรัดกัน ขั้นที่หนึ่ง เราต้องชนะในการแข่งขันนี้ อย่างน้อยไม่ให้เขามาครอบงำเราได้ สอง เหนือกว่านั้นก็คือ เราจะต้องก้าวขึ้นไปสู่การที่มาช่วยกันแก้ปัญหาของโลกที่เบียดเบียนซึ่งกันและกันอย่างนี้ ให้เป็นโลกที่มีสันติสุข นำเอารัฐศาสตร์เพื่อโลกไปสถาปนาโลกยุคปัจจุบันหรือโลกาภิวัตน์ให้ได้
อาตมาคิดว่าชาวพุทธควรจะมาปลุกใจกันในเรื่องเหล่านี้ มาสร้างความเข้มแข็ง ให้กำลังใจกัน แล้วเราก้าวไปได้จริง ๆ เพราะเรามีหลักการแล้ว เรื่องมโหสถชาดก ขอให้ท่านไปศึกษาให้ดี ปัญญาของพระมโหสถเป็นอย่างไร ปัญญาอย่างนี้ สาระสำคัญก็คือว่า ท่านสามารถเอาชนะศัตรูที่มุ่งร้ายด้วยการไม่ทำร้ายตอบเขา นอกจากไม่ทำร้ายตอบเขาแล้ว เขายอมสยบแล้วยอมเป็นไมตรี อยู่ด้วยกันอย่างดี มีสันติสุขสืบไป ยากที่สุดเลยนะในโลก เอาชนะกันด้วยศาสตรายังง่ายกว่า แต่โลกนี้ก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่ก้าวไปถึงรัฐศาสตร์เพื่อโลกนี้แล้ว ไม่มีทางมีสันติสุข จะทำอย่างไรล่ะ เรายอมรับว่ายาก แต่เราต้องทำ ไม่เช่นนั้นแล้วไม่มีหวัง เวลานี้ไม่มีหวังเลย คิดแต่เบียดเบียนกัน ก็อยู่กันด้วยความกลัว อยู่กันด้วยการใฝ่อำนาจ แล้วก็กลัวด้วย อย่างประเทศใหญ่ ๆ ที่พัฒนาแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ว่ามุ่งอำนาจยิ่งใหญ่อย่างเดียวนะ ในการรักษาอำนาจความยิ่งใหญ่นี้ แกกลัวมาก ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งกลัว กลัวเสียอำนาจ แล้วความกลัวนี้ทำให้หวาดระแวง ให้ต้องกำจัดเขา ต้องทำร้ายเขาก่อน เพื่อไม่ให้เขามีกำลังขึ้นมาได้ ความกลัวเป็นตัวร้าย อย่าคิดว่าแค่ความโลภอยากได้ผลประโยชน์ หรือการที่อยากได้อำนาจเท่านั้น ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ตัวที่ร้ายที่สุดคือความกลัว ทั้งสองฝ่ายกลัว คนกลัวที่ไม่มีอำนาจทำอะไรเขาไม่ได้ ได้แต่หนี แต่คนกลัวที่มีอำนาจนี่ร้ายที่สุดเลย มันจะทำร้ายผู้อื่นพังพินาศยับเยินไปหมด เพื่อให้ตัวอยู่ได้ ฉะนั้น ท่านจึงถือว่าเรื่องความกลัวเป็นเรื่องที่สำคัญ เราอย่าไปมองเฉพาะความโลภอยากได้ผลประโยชน์ และความอยากใหญ่มีอำนาจเท่านั้น ความกลัว ความหวาดระแวงเป็นเรื่องร้ายอย่างยิ่ง แล้วรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ที่สร้างกันขึ้นมาก็เพราะความหวาดระแวง ความหวาดกลัวว่าชาติอื่นรัฐอื่นจะมาใหญ่แข่งกับตน ใช่ไหม ก็เป็นกันมาอย่างนี้ เราต้องก้าวขึ้นมาสู่รัฐศาสตร์เพื่อโลกแล้วเวลานี้
[53:43] เน้นที่ผู้ปกครอง มองดูที่พระด้วย
อาตมาได้พูดมานาน วันนี้พูดถึงธรรมะในแง่ของการสร้างสรรค์ชาติประเทศ และสังคมของโลกให้มีสันติสุข ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคนี้ที่จะต้องก้าวต่อไป แต่ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไปเน้นที่ผู้ปกครอง ท่านผู้นำ ผู้บริหารประเทศชาติ แต่อย่าลืมนะต้องมองดูพระด้วย พระนี่แหละสำคัญ เราบอกว่าท่านผู้นำท่านผู้บริหารประเทศชาติ จะต้องมาช่วยเป็นกัลยาณมิตร ชักจูงประชาชนให้มีกำลังใจเข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม ไม่ประมาท ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่อ่อนแอระย่อท้อถอย แล้วร่วมใจกันสร้างสรรค์ต่าง ๆ นะ ใครทำได้สำเร็จนี่ผู้นำที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ คือผู้นำที่เอาหลักความจริง หลักที่ถูกต้อง ประโยชน์ที่แท้มา ไม่ต้องอาศัยความโลภ ความโกรธมาเป็นตัวกระตุ้นเร้า ใช่ไหม ทีนี้เราก็หวังอย่างนี้อยู่ เราเลยว่าขอเถอะท่านผู้นำจะได้มาช่วยนำให้ประชาชนอย่าได้ลุ่มหลงมัวเมาอะไรเลย อีกฝ่ายที่สำคัญก็คือพระ อย่ามองเฉพาะท่านผู้นำหรือผู้บริหารบ้านเมืองเท่านั้น พระนี่บางทีก็สำคัญเหมือนกัน ไม่เอาหลักพระพุทธศาสนาไปสอน ไม่ไปกระตุ้นปลุกเร้าให้ประชาชนให้ไม่ประมาท คือพระต้องเอาหลักที่พระพุทธเจ้าสอน
พระพุทธเจ้าสอนย้ำหนักว่าให้ไม่ประมาท จนกระทั่งปรินิพพานก็เป็นปัจฉิมโอวาทให้ไม่ประมาท พระจะต้องเป็นผู้นำในการไม่ประมาท และพระจะต้องไปชักจูงสั่งสอนญาติโยมประชาชนให้ไม่ประมาท แล้วให้ไม่ประมาทในการอะไร ก็คือในการนำหลักข้อปฏิบัติที่ดีที่ถูกต้องในการพัฒนาชีวิตสังคมมาใช้มาดำเนิน ต้องสร้างสรรค์ชีวิต ต้องสร้างสรรค์ครอบครัว ทำอาชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร เป็นต้น ถ้าพระไปชักจูงให้ตรงข้าม ก็กลายเป็นชักจูงให้ประมาท ให้ลุ่มหลงมัวเมา ให้หวังผลจากการอ้อนวอน จากการดลบันดาล จากการรวยทางลัด จะหวังโน่นหวังนี่ อะไรต่าง ๆ ไปขูดหวย อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ นี่ก็คือว่าพระไปนำคนในทางที่ประมาท กลายเป็นว่าพระเป็นส่วนสำคัญนะ ถึงเวลาแล้วที่พระจะต้องมาหาทางปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ใช่กลายเป็น ขออภัยเถอะ ถ้าพระทำไม่ดี เป็นผู้ทำลาย จะเรียกว่าทำลายอะไร ทำลายก็ทำลายหมด เรียกว่าทำลายพระพุทธเจ้าก็ยังได้ ทำลายคำสอนของพระองค์ หรือกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธเจ้า ท่านที่ปฏิบัติอย่างนั้น ไปชักจูงประชาชนให้ประมาท ให้ปฏิบัติตรงข้ามกับคำสอนของพระองค์ ก็เท่ากับเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธเจ้า
ฉะนั้น ถึงเวลาที่ชาวพุทธจะต้องชัดเจน อะไรเป็นพุทธศาสนา ไม่ใช่พุทธศาสนา เราปล่อยปละละเลยกันมานาน นี่คือสังคมแห่งความประมาท เรื่อยเปื่อย อะไร ๆ ก็ไม่รู้ เป็นพุทธหรือไม่ใช่พุทธ เป็นพุทธเป็นอย่างไรก็ได้ ถ้าขืนอยู่อย่างนี้ก็สังคมแห่งความประมาท แล้วจะสร้างประเทศชาติขึ้นมาได้อย่างไร ฉะนั้น ควรจะต้องมาปลุกเร้ากันเอง มีความเพียรในทางที่ดี ไม่ใช่ปลุกให้ไปโกรธ ไปโกรธา ไปเคียดแค้นอะไรกัน แต่ว่าให้มาช่วยกันสร้างสรรค์ ให้มาคิด อย่างน้อยให้ฉุกใจคิดว่า อะไรหนอเป็นพระพุทธศาสนา หลักการของพระพุทธศาสนาว่าอย่างไร เราจะต้องทำอะไรบ้าง เป็นพุทธศาสนา อยากจะมาปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ก็ต้องรู้แล้ว การเป็นพุทธมามกะ นี่คือเป็นอย่างไร จะต้องเชื่ออย่างไร จะต้องมีหลักการอย่างไร รู้อะไรบ้าง แล้วจะต้องทำอะไรบ้าง พอถามว่าเป็นพุทธมามกะคืออย่างไร จะต้องรู้อะไร พุทธศาสนาสอนว่าอะไร จะต้องทำอะไรบ้าง ไม่รู้สักอย่าง วันนี้ได้ทราบว่ามีการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะด้วย ญาติโยมจะต้องไปถามแล้ว ท่านที่ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะวันนี้ รู้ไหมว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ลองบอกมาสัก 2 ข้อ แล้วตัวท่านจะต้องทำอะไรบ้าง มิฉะนั้นท่านจะเป็นพุทธมามกะอย่างไร ขออภัย เดี๋ยวจะเป็นพุทธมามะเกะกะ ก็เอาแล้ว ก็เป็นเรื่องขำขัน คือเราปรารถนาดีต่อกัน ไม่ได้จะแกล้งไปว่าอะไรหรอก แต่ว่าต้องพูดกันให้รู้ รวมความก็คือว่ามาชวนให้ไม่ประมาทนั่นเอง
[58:42] เสรีภาพเพื่อสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย
เวลานี้สังคมถึงจุดแล้วนะ เจริญพร มันย่ำแย่แล้ว ต้องมาช่วยกันสร้างสรรค์ชีวิต สร้างสรรค์ครอบครัว สร้างสรรค์สังคมของตัวเองขึ้นมา ให้เป็นคนที่ไม่ประมาท โดยเฉพาะไม่ประมาทในการศึกษา ไม่ประมาทในการฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตน ในการพัฒนากาย วาจา จิตใจ และปัญญาของตนเอง พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม กับเพื่อนร่วมโลกร่วมสังคมต่าง ๆ ให้ดี แล้วร่วมกันทำให้ประเทศชาติ สังคมและโลกนี้ร่มเย็นงอกงามอยู่ในสังคมสันติสุขต่อไป เวลาเรารู้จุด รู้แนวทางในการทำสร้างสรรค์อย่างนี้แล้ว เราเกิดมีพลังที่จะทำ เรามีจุดหมายขึ้นมา พวกเสรีภาพอะไรต่าง ๆ ที่ประชาธิปไตยให้ไว้จะมีความหมายขึ้นมา เราจะใช้เสรีภาพนี้มาพัฒนาชีวิตในการแสวงปัญญา ในการทำสิ่งที่ดีงาม ในการนำศักยถาพ ความรู้ความสามารถ สติปัญญาที่มีอยู่ มาบอกแจ้งกัน มาบอกเล่ากัน มาถ่ายทอดให้แก่กัน มาร่วมกันสร้างสรรค์ชีวิต สังคม ประเทศชาติ
แต่ทีนี้ถ้าเราไม่มีเป้าหมาย ไม่มีแนวคิด มีแต่ความประมาท มีแต่เสรีภาพที่ประชาธิปไตยให้ไว้ มันจะกลายเป็นเสรีภาพที่ไม่สนองจุดหมายของประชาธิปไตย แล้วจะเป็นเสรีภาพที่ทำลายประชาธิปไตยเสียเอง เวลานี้น่ากลัวเหมือนกันว่า เสรีภาพนี้กำลังเป็นเสรีภาพที่ทำลายประชาธิปไตย ทำลายอย่างไร ก็ดูง่าย ๆ เสรีภาพของคนจำนวนมาก ถูกใช้ไปเพื่อสนองโลภะ เขาใช้เสรีภาพเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เป็นเสรีภาพในการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ระบบแก่งแย่งแข่งขันก็เอื้อด้วย ที่จะทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ ฉะนั้น การใช้เสรีภาพ คนไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังใช้เสรีภาพเพื่อสนองราคะบ้าง สนองตัณหา สนองมานะ สนองโลภะ สนองโทสะ แล้วเสรีภาพอย่างนี้จะช่วยสร้างสรรค์สังคมได้อย่างไร ประชาธิปไตยจะเกิดได้อย่างไร
ประชาธิปไตยมีเสรีภาพเพื่ออะไร ก็เพื่อให้มีช่องทางที่คนผู้นั้นจะได้พัฒนาชีวิตของตัวเอง เพราะชีวิตของคนเราเกิดมายังไม่ดีงาม ยังไม่เลิศ ไม่ประเสริฐ ยังมีคุณสมบัติไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น เราจะต้องพัฒนาชีวิตของเราให้เป็นดีอยู่ดี มีความเจริญงอกงามขึ้นมา เราต้องมีเสรีภาพในการที่จะมาได้สิ่งเกื้อกูลต่าง ๆ ที่มาพัฒนาชีวิตของตน แล้วพัฒนาครอบครัว แล้วพัฒนาสังคม รวมแล้วคือว่าเสร็จแล้วเรามีสติปัญญาความรู้ความสามารถอะไร เรามีเสรีภาพที่จะแสดงออก เราก็เอาความรู้ สติปัญญา ความสามารถนั้นมาบอก มาแจ้ง มาถ่ายทอดกัน มาร่วมกันในการสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติ
ถ้าเราไม่มีเสรีภาพ สติปัญญาความรู้ความสามารถของเราที่มีอยู่ถูกปิดกั้น ความสามารถของบุคคลก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ตัวเองก็พัฒนาชีวิตไม่ได้ พัฒนาสังคมไม่ได้ เพราะฉะนั้น เขาจึงให้มีหลักการแห่งเสรีภาพ สังคมประชาธิปไตย เพื่อว่าคนที่อยู่ร่วมสังคมที่เป็นสมาชิกจะได้ใช้เสรีภาพในการนี้เพื่อพัฒนาชีวิตของตนเอง เมื่อพัฒนาชีวิตของตนเอง มีความดีงามสามารถแล้ว ก็จะเป็นส่วนร่วมในการที่นำเอาความรู้ความสามารถสติปัญญานั้นมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมต่อไป มาถ่ายทอดให้ผู้อื่นในสังคมร่วมได้ประโยชน์ไปด้วย นี่คือเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย คือมีจุดหมาย
[1:02:27] การสร้างสรรค์โลกที่แท้จริง
ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ ไม่ใช่ว่าคนส่วนรวมส่วนมากเป็นใหญ่ ไม่ใช่ต้องการเป็นใหญ่ ต้องการเป็นใหญ่ โดยส่วนมากเฉย ๆ แบบนี้เหมือนอย่างนักเรียนครู โรงเรียนวันนี้พอระฆังดังแก๊ง เข้าแถว เรียบร้อยแล้วเข้าโรงเรียน พอเข้าชั้นปั๊บลุกขึ้นพร้อมกัน ครูก็ปรึกษานักเรียน วันนี้นักเรียนทั้งหลาย เรามาลงคะแนนเสียงกันสิ ว่าเราจะเรียนหรือจะเล่น ปรากฏว่านักเรียนส่วนใหญ่บอกเล่น ก็สำเร็จ ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยแบบนี้ดีไหมล่ะ เจริญพร ฉะนั้น ก็ลองดูเถอะ ประชาธิปไตยที่สนองโลภะ สนองราคะ สนองมานะ ความยิ่งใหญ่ สนองโทสะอะไรพวกนี้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรอก ฉะนั้น เราดูสิ เดี๋ยวนี้เขาใช้เสรีภาพกันเพื่ออะไร เสรีภาพมีประโยชน์เพื่อสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยหรือเปล่า เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตยหรือเปล่า เดี๋ยวนี้เขาไม่ถามกันว่า ประชาธิปไตยมีเสรีภาพเพื่ออะไร แต่ก่อนนี้เขามี การที่มีประชาธิปไตย ต้องมีเสรีภาพ แล้วทำไมต้องมีเสรีภาพ เพราะอย่างนี้ ๆ เดี๋ยวนี้สักแต่ว่ามีเสรีภาพ เอาที่รูปแบบ ถ้อยคำ แล้วความหมายก็ไขว้เขวคลาดเคลื่อน เพี้ยนไปหมดเลย เสร็จแล้วก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ เสรีภาพไม่สนองจุดหมายของประชาธิปไตย แล้วในที่สุด เสรีภาพจะทำลายประชาธิปไตยเอง เพราะว่าสังคมประชาธิปไตยต้องเป็นสังคมที่ดีงาม เป็นสังคมแห่งสติปัญญา เป็นสังคมของผู้มีการศึกษา พัฒนาแล้ว ฉะนั้น จะพัฒนาได้อย่างไร มันไปไม่รอด ฉะนั้น ถ้าจะสร้างสังคมประชาธิปไตย ก็ต้องใช้เสรีภาพให้ถูกต้องด้วย
[1:04:21] วันนี้พูดกับญาติโยมยาวนาน รวม ๆ แล้วก็คือเป็นภาระพุทธบริษัททั้งสี่ ที่เป็นพระสงฆ์และที่เป็นคฤหัสถ์ ทั้งที่เป็นระดับชาวบ้านราษฎร จนถึงผู้นำ ผู้บริหารประเทศชาติ แผ่นดิน และตลอดจนกระทั่งถึงโลก แล้วขอบเขตความคิดของพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่อยู่แค่ชาติหรือรัฐเดียว แต่อยู่ที่การสร้างสรรค์โลกที่แท้จริง แล้วเราก็มีแนวคิดที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเราพูดได้ว่าเรามั่นใจ ยังไม่เห็นที่ไหนที่ยังมีแนวคิดรัฐศาสตร์เพื่อโลก มีแต่รัฐศาสตร์เพื่อชาติเพื่อรัฐของตนเองเท่านั้น ก็พุทธศาสนาให้แล้ว มีพระราชามหากษัตริย์ที่ทำไว้เป็นแบบอย่าง คือ พระเจ้าอโศกมหาราช พอสิ้นสมัยของพระองค์ ไม่ช้าก็เลิกหมด กลับไปสู่ยุคเดิม ราชวงศ์ที่ล้มราชวงศ์ของพระเจ้าอโศก พอขึ้นครองราชย์ก็เริ่มบูชายัญทันที หมดเลย พระเจ้าอโศกทรงห้ามนักหนา ทำศิลาจารึกไว้ นี่หลักการใหญ่อันหนึ่งเลย พอกษัตริย์วงศ์ศุงคะขึ้นครองราชย์ก็ประกาศความยิ่งใหญ่ทันที ประกอบพิธีบูชายัญอันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า อัศวเมธ พิธีนี้ก็เลยฟื้นคืนมา และพยายามสร้างระบบวรรณะให้เข้มแข็งขึ้นมา เลยไปอีกแนวทางหนึ่ง
ฉะนั้น การสร้างสรรค์โลกด้วยธรรมวิชัยก็หยุดชะงักไป เมืองไทยเราจะสามารถฟื้นขึ้นมาได้หรือไม่ ก็ขอให้มาช่วยกันคิดต่อไป ด้วยความรักความปรารถนาดีต่อกัน ราษฎรต้องมีความรักความปรารถนาดีเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ท่านผู้บริหารประเทศชาติรัฐบาล รัฐบาลต้องเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ประชาราษฎรทั้งหลาย มีนํ้าใจปรารถนาดีต่อกันด้วยมุ่งจุดหมายเดียวกัน คือเพื่อให้ประเทศชาติสังคมของเราร่มเย็นเป็นสุขเจริญงอกงาม และให้ประเทศชาติของเรามีกำลังมีความสามารถ เมื่อเจริญงอกงามดีแล้วไปร่วมแก้ปัญหาของโลก เพื่อนำโลกสู่สันติสุขสืบต่อไป ก็หวังว่าพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และได้สอนไว้ ซึ่งเริ่มที่วันวิสาขบูชานี้ จะมีความหมายเป็นประโยชน์ต่อชาวโลก ถ้าหากว่าได้นำไปประพฤติปฏิบัติในแง่ต่าง ๆ วันนี้ได้เน้นในแง่ของเรื่องการเมืองการปกครอง ตลอดจนเรื่องของสังคมโดยทั่วไป ทั้งนี้ก็อาศัยพื้นฐานตั้งแต่การพัฒนาชีวิตของตัวเอง คือการที่ทุกคนต้องศึกษานั่นเอง ที่ว่าตามหลักธรรมที่แท้นั้น ก็คือฝึกตนเองให้พัฒนาขึ้นไป ทั้งในศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งในกาย วาจา ใจ ปัญญา ทั้งด้านพฤติกรรมความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและทางด้านสังคม ทั้งด้านพัฒนาการทางจิตใจ ทั้งด้านพัฒนาการทางปัญญา ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว และเรามีจุดหมายชัดเจนว่าจะทำเพื่อชีวิตที่ดี สังคมที่ดี และโลกที่ดีน่าอยู่อาศัย
เวลานี้จุดหมายของมนุษย์ต้องวาง 3 อย่าง คือ หนึ่ง ชีวิตดี สอง สังคมดี สาม โลกที่น่าอยู่อาศัย แล้วจะได้ครบองค์ประกอบ ทั้งด้านมนุษย์ ทั้งบุคคล ทั้งสังคม และทั้งเรื่องของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เราต้องมาช่วยกันสร้างสรรค์ต่อไป และถ้าเรามองถูกต้อง เราจะเห็นความสัมพันธ์ของหลักการเหล่านี้ว่าโยงถึงกันหมด แล้วปฏิบัติถูกต้อง แล้วได้ผลด้วยกันทุกด้านเลย ครบทั้ง 3 ขั้นตอน ทั้งชีวิตดี สังคมดี โลกนี้น่าอยู่อาศัย ก็ขอให้พุทธศาสนิกชนได้มีกำลังใจมาช่วยกัน นำธรรมของพระพุทธเจ้าไปศึกษาเพิ่มเติม ทำความเข้าใจให้ชัดเจน แล้วนำไปแนะนำสั่งสอนกัน ตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป นำไปเผยแพร่ นำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติสังคมและชาวโลก หวังว่าทุกท่านจะได้มีจิตใจที่ดีงาม เป็นสุข ด้วยกุศลธรรมตั้งแต่บัดนี้ และด้วยความศรัทธาในธรรมนี้ กำลังใจดีขึ้น ขอให้ท่านได้มีความสุขความเจริญงอกงามในชีวิตสืบต่อไป ตลอดกาลยั่งยืนนาน
วันนี้เป็นวันดีแล้ว อนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านที่มีนํ้าใจเป็นบุญเป็นกุศล เป็นวาระอันเป็นมงคล มงคลแท้ที่เกิดจากกุศล ซึ่งเราได้ทำ ทั้งกาย วาจา ใจ ขอให้บุญกุศลนี้ประกอบเข้ากับคุณพระรัตนตรัย เป็นปัจจัยอภิบาลรักษา ให้ทุกท่านเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเกษมศานต์ มีกำลังในการที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ชีวิต ครอบครัว สังคมประเทศชาติ และโลกนี้ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขสืบต่อไป อย่างยั่งยืนนาน ทุกเมื่อเทอญ...