แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เราจะเห็นลักษณะของพระพุทธศาสนาจะเรียกว่าแนวคิดก็ได้ คือพระพุทธศาสนาอย่างที่พูดไปแล้วมองอะไรเป็นระบบความสัมพันธ์โดยเฉพาะเชิงเหตุปัจจัย ซึ่งเราจะมองขยายไปได้หมดเลยตั้งแต่ในชีวิตของเราเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันเองในชีวิตของเราเอง ในในแง่ความรูปธรรมนามธรรม รูปธรรมเองก็เป็นเหตุปัจจัยกัน นามธรรมเองก็เป็นเหตุปัจจัยกัน และมาเป็นเหตุปัจจัยระหว่างรูปกับนามธรรมในชีวิตของเรา รูปธรรมนามธรรมของเราก็เชื่อมกับรูปธรรมนามธรรมข้างนอก มันก็เลยเป็นเหตุปัจจัยจนกระทั่งถึงจักรวาลกันหมดเลย นี่มองเชิงความสัมพันธ์โดยเฉพาะในแง่เหตุปัจจัย อันนี้ก็เรื่องหนึ่งซึ่งเคยพูดไปแล้ว
อีกอย่างหนึ่งพุทธศาสนาจะมองอะไรเป็นขั้นตอนโดยเฉพาะการพัฒนามนุษย์ จะเป็นขั้นเป็นตอน อย่างที่เราพูดถึงไตรสิกขา ซึ่งเป็นหลักใหญ่ในการพัฒนามนุษย์ เรียกว่าหลักการศึกษาเลยอันนี้ครอบคลุมหมด ก็เห็นได้ว่าเราแบ่งเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นขั้นเป็นตอนอีก จากศีลไปสมาธิ จากสมาธิไปปัญญา และขั้นตอนเหล่านี้ไม่ใช่แยกขาดจากกันเป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เวลาเอาเข้าจริงศีล สมาธิ ปัญญาก็มีอยู่ทุกเวลา พัฒนาไปด้วยกัน เกื้อหนุนซึ่งกันและกันอย่างที่เคยพูดไปแล้ว อันนี้ก็สำคัญนะเรื่องมองการพัฒนามนุษย์เป็นขั้นเป็นตอน และจะการแบ่งขั้นตอนเหล่านี้มากมาย การเข้าใจแนวความคิดแบบนี้จะมีประโยชน์ เพราะแนวความคิดที่ครอบคลุมเวลาไปมองเกี่ยวข้องกับอะไร เรารู้จักมองว่าเราไม่ได้อยู่แค่ขั้นนี้นะ เราจะก้าวต่อไปอีกเป็นต้น
และก็อีกอย่างหนึ่งพระพุทธศาสนานี้มองอะไรในแง่ว่า เมื่อเราจะก้าวหน้าไปสู่ขั้นตอนต่อๆไปก็ต้องมีการแก้ไขปรับปรุง อันนี้ก็สำคัญ คือถ้าเรามีความผิดพลาดหรือจะมีความทุกข์หรือจะมีความด้อยความตกต่ำอะไรก็ไม่ใช่นั่งจับเจ่าละห้อย ท่านไม่สรรเสริญเลยในการที่จะมีจิตใจเป็นแบบนั้น แต่ว่าให้มองถึงหนทางที่จะแก้ไขปรับปรุง อย่างที่เราเคยพูดกันแค่ใช้โยนิโสมนสิการเป็น ก็มองเรื่องที่เราว่าไม่ดีหรีอเรื่องที่เป็นทุกข์ในแง่ที่ใช้ประโยชน์ได้หมด มองทุกข์ก็มองในแง่ที่ว่ามันมาทำให้เราต้องฝึกตนมากขึ้นและเราก็จะยิ่งได้มากใหญ่ สิ่งที่ยากก็ได้ฝึกตนมาก หรืออย่างที่ว่าคนเกิดมารวยก็ดีแล้วก็อาศัยมันเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เราก้าวไปสู่สิ่งอื่นที่ดี ไม่ใช่จมมัวเมาอยู่กับความรวย เอาความรวยเป็นปัจจัยจะได้พัฒนาชีวิตไปสู่ประโยชน์อื่น แต่ถ้าเกิดมาจนก็อย่าไปท้อ อย่าไปจับเจ่าไม่อย่างนั้นก็ซ้ำเติมตัวเองให้ทุกข์ ถ้าจนก็มองว่าอยู่ในโลกนี้เขามีโอกาสมากกว่าเรา เรามีโอกาสน้อย เราก็ใช้ความเพียรให้มาก ถ้าเขาใช้หนึ่ง เราอาจต้องใช้สิบ และเราก็ยิ่งเพียรพยายามใหญ่ และความจนก็เป็นแบบฝึกหัดอย่างหนึ่ง เราเรียกว่าทดสอบก็ได้ ไม่เรียกทดสอบก็หมายความคือเป็นแบบฝึกหัดนั่นแหละ ให้เราได้ฝึกตนมาก ถ้าเราจน เรารู้จักใช้ความจน เราก็มีโอกาสฝึกตนขึ้น ตั้งแต่ความเข้มแข็งของจิตใจเป็นต้นไป ต้องใช้ความเพียรพยายามในทุกเรื่องทำให้เราเข้มแข็งและมีความสามารถ เช่น พัฒนาทักษะ พัฒนาโดยเฉพาะสำคัญก็ปัญญา ทำให้รู้จักคิดพิจารณา ถ้าคิดเป็นแล้วก็ยิ่งพัฒนาปัญญาได้มาก เพราะต้องแก้ปัญหาเยอะ ยิ่งแก้ปัญหามาก ปัญญาก็จะยิ่งมาก ปัญหาคู่กับปัญญา แก้ปัญหามากปัญญาก็ยิ่งมาก เมือปัญญามาก็แก้ปัญหาหมด เพราะฉะนั้นในทางพระพุทธศาสนาก็มีศัพท์หนึ่งท่านใช้เรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงคือคำว่า ปฏิกรรม แปลว่าการแก้ไข การปรับแก้ คำว่าปฏิกรรมอันนี้มาใช้ในการปลงอาบัติ คําว่าปลงอาบัติอีกศัพท์หนึ่งท่านใช้คำว่า ปฏิกรรมหรือปฏิกร แต่คำว่าปฏิกรนี่มันมีเรื่องแทรกนิดหนึ่งคือ ถ้าใครเรียนนักธรรมตรีและเปิดดูหนังสือพุทธศาสนสุภาษิต จะมีบทหนึ่งว่า
กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ
ไม่ทราบท่านเคยพบไหม ใครเคยเปิดพุทธสุภาษิตเล่มนี้สำหรับนักธรรมตรี สุภาษิตนี้ก็แปลว่า สิ่งที่ทำไปแล้ว ทำคืนไม่ได้ อันนี้ท่านหมายความว่า สิ่งที่ทำไปแล้วจะให้กลายเป็นไม่ได้ทำไม่ได้ ทำคืนคือให้กลายเป็นไม่ได้ทำ ทำแล้วก็เป็นว่าได้ทำแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ในความหมายที่ผมจะพูด อันนี้คนละความหมาย และภาษิตนี้ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า แต่เป็นภาษิตของสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งของประเทศไทย คือเวลาดูพุทธศาสนสุภาษิตอย่างในนักธรรมตรีหรือหนังสือแบบเรียนอภิธรรม เราคงดูด้วยว่าจะบอกที่มาหรืออักษรย่อเอาไว้ว่ามาจากคัมภีร์อะไรหรือใครเป็นผู้เรียบเรียงขึ้นมา ในพุทธศาสนสุภาษิตสำหรับนักธรรมตรีไม่ได้มีเฉพาะจากคัมภีร์หรือพระไตรปิฎก มีที่พระเถระผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จพระสังฆราชบางพระองค์ตรัสไว้ด้วยท่านก็รวบรวมมา ที่ผมยกมาเมื่อกี้ กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ ไม่ใช่พุทธพจน์เป็นศาสนสุภาษิตของสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ย้ำอีกที
กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ
สิ่งที่ทำแล้ว ทำคืนไม่ได้
ก็หมายความว่าทำอะไรไปก็เป็นอันทำไปแล้ว อันนี้เป็นความหมายหนึ่ง ที่นี่ที่ท่านใช้ทั่วไปในคัมภีร์นี้ท่านไม่ใช้ความหมายนี้ แต่ท่านหมายความว่า ทำให้มันคืนดี หมายความว่าสิ่งที่ทำไปแล้วก็จริง มันพลาดหรือมันเสียหรือมันบกพร่องก็กลับไปทำแก้ไขให้มันดี อันนี้ก็คือเข้าหลักที่ว่า ดังนั้นเรื่องของมนุษย์ก็มีหลักการนี้การปรับแก้ แก้ไขทำสิ่งที่มันบกพร่องสิ่งที่ทำแล้วให้มันกลับดีขึ้น อย่างที่ปลงอาบัติท่านก็ใช้คำว่าปฏิกรหรือปฏิกรรม ทำคืน ก็ไม่ใช่ความหมายว่าทำอาบัติที่เป็นล่วงละเมิดไปแล้วไม่ได้ล่วงไม่ใช่อย่างนั้น การที่ทำคืนอาบัติท่านเรียกว่าแสดงอาบัติ ที่เราพูดทั่วไปก็หมายความว่า เราบอกความจริงไม่ปิดบัง บอกความจริงเมื่อทำผิดพลาด บอกความจริงเสร็จแล้วบอกต่อไปว่าจะละเลิกไม่ทำอย่างนั้นอีก แต่จะไปทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องต่อไปแทน ก็เป็นแนวคิดในการที่ว่าจะแก้ไขปรับปรุง ก็คือว่าสิ่งที่ทำผิดไปแล้วพลาดไปแล้วก็ละเลิกเสียและทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป อันนี้เป็นสาระของการปลงอาบัติ ตั้งต้นก็คือยอมรับก่อนว่าตัวได้ทำความผิด สองก็บอกว่าจะละเลิก ไม่ทำต่อไป หาไปทำสิ่งอื่น มันมี 2 ตอน การปลงอาบัติไม่ใช่การล้างบาป เดี๋ยวจะเข้าใจผิด เพราะว่าบางทีไปคล้ายกับการเชื่อถือของบางศาสนา เหมือนกับว่าสารภาพบาปแล้วก็ล้างบาปไป ดูๆแล้วบางทีคล้ายๆกัน เวลาแปลบางทีก็แปลแทบจะเหมือนกันเลย ก็แปลเป็น confession อะไรทำนองนี้ ความหมายและความมุ่งหมายไม่เหมือนกัน ความมุ่งหมายอย่างที่ว่าท่านต้องการให้ยอมรับความจริงและละเลิกสิ่งที่ผิด หันไปทำสิ่งที่ถูกเพื่อการแก้ไขปรับปรุงนั่นเอง ให้ใช้คำว่า ปฏิกร สำหรับการแก้ไขเรื่องอาบัติและก็ใช้กับเรื่องอื่นๆรวมความในแง่ความหมาย แต่เป็นเรื่องหนึ่งที่เราควรทำความเข้าใจกัน
เอาละ3 อย่างที่พูดจะเห็นความสัมพันธ์กันหมด เราพูดเรื่องแนวคิดใหญ่ 3 อัน ในแง่นี้คือมาพูดในแง่การพัฒนามนุษย์ เริ่มด้วยการมองทุกสิ่งทุกอย่างคลุมถึงเรื่องการพัฒนามนุษย์ในเชิงระบบความสัมพันธ์โดยเฉพาะในแง่เหตุปัจจัย และเหตุปัจจัยก็จะไปสัมพันธ์กับการมองอะไรๆเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งขั้นตอนเหล่านั้นก็เป็นเหตุปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และในการที่จะก้าวไปในขั้นตอนต่างๆก็ต้องมีการปรับแก้ ดังนั้นกรรมต่างๆก็จะมีคู่เป็นปฏิกรรม กรรมทำไป ปฏิกรรมก็มาแก้ไขให้มันดีขึ้น นี่เป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้น มีเรื่องที่อยากจะพูดเพิ่มเติมนิดหน่อยก็อาจจะเป็นข้อที่แถม ท่านสอนไว้ที่จะพยายามให้ชาวพุทธหาทางพัฒนาตนไม่ใช่ปล่อยเรื่อยเปื่อยไป เขามาฆ่าเขามาก่อเวร เราก็ปล่อย ใช้คติว่า เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร เราไม่จองเวรก็ปล่อยกันเรื่อยเปื่อย พวกเราก็ยับเยินตายเปล่าใช่ไหมนี่อย่างหนึ่ง สองคือในยามปกติไม่มีการฝึกฝนพัฒนาตน ไม่คิดแก้ไขปัญหาระยะยาวก็อยู่ในความประมาท อันนี้เป็นการปฏิบัติที่ผิด เราต้องฟื้นคติพุทธศาสนาที่แท้ขึ้นมาให้เราพัฒนาตัวเองและมันเป็นการแก้ปัญหาของโลก คือการพัฒนามนุษย์โดยทั่วไปด้วย ให้มนุษย์มีจิตใจดีขึ้น มีปัญญาดีขึ้น แล้วปัญญาก็มารับใช้เจตนาที่มีคุณธรรมมีความดีมีเมตตากรุณา พยายามให้คนที่มีคุณธรรมมีเมตตากรุณาเป็นต้นต้องให้มีความสามารถมากกว่าคนพวกที่มีกิเลสสูงที่มีโลภะโทสะสูง ถ้าโลกนี้มนุษย์ที่มีคุณธรรม เช่น มีเมตตากรุณา มีความสามารถน้อยกว่าคนที่มีกิเลสแล้วโลกจะอยู่ดีได้ยังไง มันก็ต้องพัฒนามนุษย์ที่มีคุณธรรมให้มีความสามารถ เช่น มีสติปัญญาสูงกว่ามนุษย์ที่มีกิเลสมันจึงจะไปได้ จึงแก้ปัญหาของโลกได้ เวลานี้เรายอมให้มนุษย์ที่มีกิเลสมีความสามารถมากกว่าถูกไหม มันก็ยิ่งยุ่ง โลกนี้ก็จะเบียดเบียนเดือดร้อนกันยิ่งขึ้นเลยแก้ปัญหากันไม่ตกเสียที และชาวพุทธก็ไม่เอาเรื่องเอาราว ได้แต่หวังอย่างที่ว่า แล้วเรื่องกรรมอีก พระพุทธเจ้าวางวินัยไว้ทำไม จะไปรอผลกรรมอยู่อย่างไร พระองค์หนึ่งทำผิด แล้วก็บอกว่าเออเดี๋ยวท่านก็รับผลกรรมของท่านเองแหละ แล้วก็ไม่จัดการไม่ปฏิบัติตามวินัย วินัยของพระพุทธเจ้าวางไว้เพื่อให้จัดการแก้ปัญหา แต่เมื่อคนทำความผิดขึ้นมาก็เอามาจัดการแก้ไขปัญหาซะ ก็คือท่านเอาความรู้จากปัญญา ปัญญาคือตัวความสามารถของมนุษย์ที่ไปรู้ความจริงของธรรมชาติ แล้วเอาความรู้ในความจริงในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ แล้วตัวปัญญาความรู้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งถูกไหม ปัญญาเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นธรรมชาติพิเศษของมนุษย์ ธรรมชาติที่เป็นคุณสมบัติพิเศษของมนุษย์เราต้องรู้จักเอาธรรมชาติพิเศษคือ ปัญญานี้มาใช้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงวางหลักวินัยไว้ วินัยก็คือวิธีแก้ไขปัญหาในสังคมมนุษย์โดยเอาปัญญาที่รู้ความจริงของธรรมชาติมาใช้โดยที่ไม่ต้องรอปัจจัยอื่นที่เราไม่มีความสามารถไปควบคุม ก็คือพัฒนามนุษย์ให้มีความสามารถที่จะใช้ปัจจัยของตัวเองเอาเข้าไปในกระบวนการธรรมชาติเพื่อไปจัดการกระบวนการของเหตุปัจจัยนั้นให้เป็นไปในทางที่ตัวต้องการ นี่อันนี้มนุษย์ไม่เข้าใจ ก็ไปรอกรรมรอกระบวนการของมัน ก็เลยไม่รู้ตัวว่าโมหะของตัวเองเป็นปัจจัยของกระบวนการนั้น เมื่อเรารอนะ มีเหตุการณ์มนุษย์ทำกรรมอะไรก็ตามขึ้นมาแล้ว แล้วเราก็บอกว่าปล่อยให้เป็นไปตามกรรม ขณะนั้นเราก็เอาปัจจัยที่เป็นธรรมชาติในตัวเองเข้าไปร่วมในขบวนการนั้นด้วย ปัจจัยตัวไหนของเราหล่ะ ก็คือโมหะ คือความหลง ความไม่รู้ ความไม่เอาเรื่อง ความประมาทเป็นต้นมาเข้ามาร่วมในขบวนการ ทำไมไม่เอาปัญญามาใช้ ปัญญาก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ก็เอาปัจจัยตัวนี้เข้าไปร่วมในกระบวนการเหตุปัจจัยนั้นซะ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงวางวินัยเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องไปรอให้มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยอื่น ปัจจัยของเราก็เข้าไปจัดการ ดังนั้นในหลักวินัยท่านจึงมีกรรมขึ้นมาใหม่ การที่ไปจัดการแก้ไขปัญหา เช่น คนที่กระทำผิดมีการลงโทษเรียกว่า นิคหกรรม เป็นกรรมเหมือนกัน หมายความว่ามนุษย์เราทำกรรมเพื่อไปแก้กรรมนั้นอีก กรรมมีเยอะแยะลองไปดูซิ แม้แต่ที่เรามาบวชก็เป็นสังฆกรรม พระพุทธเจ้าวางกรรมทางวินัยเยอะแยะ กรรมในทางธรรมะมีอยู่ พระพุทธเจ้าวางกรรมในวินัยเพื่อให้มนุษย์เอาสติปัญญาความสามารถของตัวเข้าไปร่วมเป็นปัจจัยของกระบวนการธรรมชาติ กรรมทางวินัยพอทำด้วยเจตนาก็จะกลายเป็นกรรมในทางธรรมทันที เข้าใจไหม ท่านญาณวโรมีอะไรสงสัยไหม นิมนต์ถามซะ ตรงนี้สำคัญเข้าถึงหลักกรรมแล้ว
ลูกศิษย์ถาม: มีอีกเรื่องหนึ่งก็คือจะเห็นว่าสมัยปัจจุบันนี้คนเราสนใจเรื่องโหราศาสตร์ดาราศาสตร์กันมากและเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปตามอิทธิพลของดวงดาวว่าจะบันดาลผลอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าเหตุการณ์ร้ายก็ต้องรอให้ดาวดวงนี้โคจรเลื่อนผ่านไปก่อนถึงจะคลายได้ ก็ไม่ทราบว่าจะคล้ายกับกรณีนี้คือมีอิทธิพล แต่อิทธิพลนั้นอาจจะสู้อิทธิพลที่เรากระทำเองไม่ได้ด้วยปัญญาใช่ไหมครับ
พระอาจารย์ตอบ: คือใช่ อันนี้เราไม่ไปดูถูกหรือละเลย แต่ว่าเราจะมัวไปรอไม่ได้ เราต้องพิจารณาเหตุปัจจัยเป็นขั้นตอน เหตุปัจจัยอันไหนมีกำลังมาก ถ้าเรามีสติปัญญาสูง ปัจจัยที่เราทำจะมีกำลังมาก คือเราไม่ไปดูถูก อย่างเหตุปัจจัยแม้แต่ดวงดาวมันมีเป็นไปได้อยู่ ผมยกตัวอย่างอันหนึ่งเคยเล่าให้ฟังแล้ว เมื่อหลายปีแล้วเคยมีพวกที่ทำวิจัย เขาสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติ เขาสังเกตว่าในคํ่าแรมของดวงจันทร์ระยะเดือนขึ้นกี่ค่ำกี่ค่ำแรมกี่ค่ำ มันมีเหตุการณ์ประเภทไหนมากแล้วก็ทำสถิติ แล้วเขาก็ลงความเห็นว่าระยะพระจันทร์เต็มดวง มันมีอาชญากรรมประเภทนั้นๆมาก เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์เขาก็เลยวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์ เขาไม่ได้วิเคราะห์เชิงโหราศาสตร์เฉยๆ แต่อันนี้จะเห็นว่าพวกเดียวกัน คือ ดาราศาสตร์โหราศาสตร์มันก้ำกึ่งกันอยู่ พวกดาราศาสตร์โบราณเป็นโหราศาสตร์ พวกที่เป็นดาราศาสตร์พัฒนาได้มาเป็นโหราศาสตร์ก็คือสังเกตพวกดวงดาวนั่นแหละและสังเกตความเป็นไปในสังคมมนุษย์มาโยงกัน นี่เขาก็สังเกตดูและวิเคราะอย่างที่บอกว่า อย่างที่ทำสถิติอย่างเมื่อกี้เขาก็อธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ บอกว่าเราเห็นๆกันอยู่พระจันทร์มีอิทธิพลต่อความเป็นไปในโลก สี่งที่ปรากฏชัดก็คือน้ำขึ้นน้ำลงถูกไหม น้ำขึ้นน้ำลง เวลา 15 ค่ำก็น้ำขึ้นสูงสุดใช่ไหม และขึ้นแรมต่างๆก็มีอิทธิพลกับน้ำก็แล้วกัน ในร่างกายมนุษย์ส่วนประกอบที่มากที่สุดก็คือน้ำเหมือนกันถูกไหม และเมื่ออิทธิพลจากดวงจันทร์ข้างแรมมาที่น้ำขึ้นน้ำลง มันก็มีอิทธิพลต่อน้ำในตัวมนุษย์ด้วย การขยับเขยื้อนเคลื่อนของระดับชองน้ำในตัวมนุษย์มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงอารมณ์เป็นต้นด้วย เขาก็มาตีวิเคราะห์ในแง่นี้ นี่ก็จะให้เข้าใจเห็นว่าเราสามารถโยงไปถึงดาราศาสตร์ได้ อิทธิพลดวงดาวต่างๆ ซึ่งหลายอย่างเราอาจจะมองไม่เห็นเพราะเราไม่สามารถแยกแยะในเรื่องของระบบความสัมพันธ์ความเป็นเหตุปัจจัยต่อกัน อันนี้เป็นตัวอย่างที่เป็นไปได้ นี่ก็เป็นไปได้ในแง่ของโหราศาสตร์ที่ว่าถ้ามนุษย์มีปัญญาลึกซึ้งพอ ก็อาจจะเห็นความเป็นวิทยาศาสตร์คือเห็นเหตุปัจจัยในกระบวนการทางธรรมชาติ แต่ว่าในขณะนี้มนุษย์ไม่สามารถไปแยกแยะได้ขนาดนั้น แล้วเราจะไปรอความหวังจากความเป็นไปในโหราศาสตร์ที่มันไม่ได้แน่นอนชัดเจนนี้แค่ไหน เราก็เป็นเพียงว่าถ้าเป็นคนที่ไม่มั่นใจตัวเองก็อาจจะคำนึงบ้าง แต่อย่าไปหวังพึ่งเพราะเหตุปัจจัยที่แท้อยู่ที่มนุษย์พัฒนาตัวเองให้สามารถควบคุมเหตุปัจจัยนั้นได้ด้วยตัวเอง มนุษย์จะต้องพัฒนาความสามารถของตัวเองที่จะทำให้ตัวเองเป็นเหตุปัจจัยที่เข้าไปควบคุมปัจจัยอื่นได้ถูกไหม ที่เราฝึกฝนพัฒนาตนก็เพื่ออะไรก็เพื่ออันนี้ด้วย คือตัวเราทุกอย่างในตัวเราเป็นเหตุปัจจัยทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทุกส่วนประกอบในตัวเราอย่างคุณธรรมความดี กิเลสพวกนี้เป็นเหตุปัจจัยทั้งนั้น ก็ต้องรู้จักใช้มัน สิ่งเหล่านี้มาใช้ในเหตุปัจจัยในกระบวนการธรรมชาติ ก็คือไม่สยบไม่มัวยอมไม่มาหวังรออะไรอยู่ อะไรที่ทำได้ก็ทำไป ไม่มัวหวังพึ่งโหราศาสตร์ เมื่อสมัยผมยังเด็กเป็นเณรอยู่ก็มีการปฏิวัติรัฐประหารในเมืองไทย ฝ่ายยึดอำนาจแพ้อะไร เพราะแกรอฤกษ์ รอฤกษ์จากแกดูโหรไว้ิ โหรก็ผูกฤกษ์ว่าให้ยึดอำนาจเวลาตีสาม ความแพร่งพรายไปถึงฝ่ายผู้มีอำนาจ ฝ่ายผู้มีอำนาจเวลาสามทุ่มก็เอาเลย ฝ่ายปฏิวัติยึดอำนาจเลยแพ้เลย เห็นไหมเชื่อโหร เอาไงดีหละ ตกลงว่าโหรไม่แน่แล้วใช่ไหม ตัวอย่างมันมี เราจะไปรู้ได้ยังไงโหรคนนี้ก็ไปหวังพึ่งพระองค์นั้นเป็นต้น แล้วท่านดูแม่นจริงหรือเปล่า เราก็ไม่รู้อีกใช่ไหม ก็คือเอาความไม่แน่นอนไม่ชัดเจนมาใช้ประโยชน์ แต่สิ่งที่เรารู้ชัดด้วยปัญญาสำคัญมาก แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องไม่ประมาท บางทีเราก็รู้ไม่ทั่วถึงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมนุษย์ต้องฝึกตนอยู่เสมอ ครั้งนี้อาจทำไม่สำเร็จพลาดไป ก็ต้องมาวิเคราะห์ศึกษาเหตุปัจจัยว่ากรรมที่เราทำนั้นที่เป็นเหตุนั้น มันมีปัจจัยอะไรบกพร่องไปและจะต้องปรับปรุงอันไหน อันไหนมันขาดไป แล้วก็มาเติมเสีย อันนี้ก็จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ใช่มามัวว่าพอไม่สำเร็จ ก็ท้อแท้อ่อนใจก็หมดแรงไปไม่ใช่อย่างนั้น นี่เเหละหลักกรรมก็อยู่ที่นี่ หลักกรรมคือมีปฏิกรรม คราวก่อนพูดไปแล้วเรื่องปฏิกรรม ปฏิกรรมนี้เป็นหลักสำคัญในทางพุทธศาสนาแต่ไม่ค่อยพูดกัน แทบไม่มีใครพูดถึง ปฏิกรรมคือแก้กรรม ปฏิกรรม ปฏิกรณ์ มาใช้ในภาษาไทยเยอะ ปฏิกรรมก็มาใช้ในค่าปฏิกรรมสงคราม เช่นญี่ปุ่นรบกับอเมริกา ญี่ปุ่นแพ้ถูกเรียกค่าปฏิกรรมสงคราม และปฏิกรณ์ก็เช่นเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู ปฏิกิริยาก็เช่นว่าคนนี้ทำไป คนนั้นมีปฏิกิริยาตอบอย่างนั้น ในภาษาไทยเอา ปฏิกรรมมาใช้เยอะ แต่ว่าแยกความหมายไปต่างๆ แต่ในภาษาบาลีที่จริงมันตัวเดียวกัน ปฏิกรรม ปฏิกรณ์ ปฏิกิริยา เป็นคำเดียวกัน ก็หมายความว่ามนุษย์ต้องพยายามแก้กรรม ไม่ใช่มัวสยบอยู่ หลักนี้ก็สำคัญนะ คือ มันมีภาษิตหนึ่ง ท่านเรียนนักคำภีร์ในหนังสือศาสนพุทธสุภาษิตเล่มหนึ่งมีอยู่บทหนึ่งว่า
กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ แปลว่าสิ่งที่ทำแล้ว ทำคืนไม่ได้
อันนี้ก็ถูกสิ่งที่ทำไปแล้วจะให้กลายเป็นไม่ทำไม่ได้ ที่ว่าทำคืนไม่ได้หมายความว่ากลายเป็นไม่ได้ทำ ก็มันทำไปแล้วก็เป็นอันทำไปแล้ว อันนี้เป็นภาษิตหนึ่งในความหมายหนึ่งของปฏิกรหรือปฏิกรณ์ ทำคืนกลับให้เป็นไปไม่ทำ แต่อันนี้เป็นภาษิตที่ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้านะ เป็นของสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง คือพุทธศาสนสุภาษิตที่อยู่ในหนังสือที่เราเรียนไม่ใช่ของในพระไตรปิฎกทั้งหมด มันมีของสมเด็จพระสังฆราชเป็นต้นด้วย อันนี้ก็เป็นความจริงตามนั้น แต่ที่นี่ว่าเรามักจะหยุดแค่นี้ สิ่งที่ทำแล้วทำคืนไม่ได้ ก็เลยจบไม่ใช่แค่นั้น หลักพุทธศาสนาที่สอนเรื่องปฏิกรรมนี้คือว่า ในเมื่อว่าการกระทำนี้เราเคยทำอย่างนี้ แล้วมันไม่ได้ผลดี ปฏิกรรมก็คือทำซะใหม่ให้มันดีขึ้น เคยทำไปแล้วมันผิดพลาดเสียหาย ต่อไปทำให้มันดีไม่ให้ผิดพลาดอีกอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าปฏิกรรม ปฏิกรรมมีหลายขั้นหลายตอน คราวก่อนเคยพูดครั้งหนึ่งเรื่องปฏิกรรม พูดยาวแล้วตังนั้นจะไม่พูดซ้ำ เรื่องปฏิกรรมเป็นหลักใหญ่เหมือนกัน แต่เราไม่ค่อยเอามาใช้ บางทีไม่ได้ยินเลย แต่เอามาใช้ในภาษาไทยในความหมายอื่นไป เป็นอันว่าแม้การกระทำที่ทำไปแล้ว ถ้ามันไม่ดีก็ต้องแก้ไขทำให้มันดีขึ้น สิ่งที่ทำไม่ได้ผลก็ทำให้ได้ผล โดยมีการฝึกหัดพัฒนาตนเรียนรู้ศึกษานั่นเอง และอีกอย่างที่ว่าแล้วการใช้หลักกรรมคือ การเอาความรู้ความสามารถที่เป็นปัจจัยในตัวมนุษย์เข้าไปร่วมในกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ที่มนุษย์เราสามารถจะได้ทำให้สิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ ไม่อย่างนั้นโลกก็เป็นไปตามเรื่องของมัน มนุษย์จะมาทำอะไร ที่เรามาเรียนมาศึกษากันนี้ก็มาเพื่อแก้ไขปัญหาของโลก ไม่ใช่ปล่อยโลกไปตามเรื่องของมัน คำว่าปล่อยไปตามกรรมเป็นคำกํากวม ดีไม่ดีก็อย่างที่ว่ากลายเป็นปล่อยปละละเลยก็ประมาทไป ต้องระวังมากเรื่องการศึกษาพระพุทธศาสนาดีไม่ดีก็เข้าใจเรื่องผิดไปเลย อย่างน้อยที่สุดก็ประมาท ไม่งั้นก็กลายเป็นลัทธิคอยโชค คงจะทราบแล้วใช่ไหม หลักพุทธศาสนาท่านบอกว่าลัทธิที่ผิดหลักกรรม 3 ลัทธิใหญ่
1 ลัทธิรอกรรมเก่า ปุพเพตกเหตุวาท ลัทธิที่ถือว่ามนุษย์จะได้สุข ประสบความทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์อย่างไร ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน อันนี้เรียกลัทธิว่า ปุพเพตกเหตุวาท
2 ลัทธิที่ถือว่ามนุษย์จะได้สุขได้ทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็เป็นเพราะเทพผู้เป็นใหญ่บันดาล เรียกว่าอิศวรนิรมิตวาท หรืออิสสรนิมมานเหตุวาท
3 ลัทธิที่ถือว่ามนุษย์จะได้สุขได้ทุกข์อย่างไรเป็นไปอย่างไรก็เป็นไปเอง ถึงคราวก็เป็นไป ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย นี่เรียกว่าลัทธิแล้วแต่โชค ท่านเรียกว่า อเหตุอปัจจัยวาท หรือเรียกสั้นๆว่าอเหตุวาท
ถ้าถือหลักพวกนี้แล้วมนุษย์ทำอะไรก็ไม่มีผลถูกไหม ทำอะไรไปทำไม แล้วแต่กรรมที่ทำแต่ชาติปางก่อนก็รอกันไป แล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าบันดาล เทพเจ้าบันดาล ก็รอไปซิ เราไปทำอะไรท่านไม่โปรดก็ไม่ได้ผล ก็ต้องอ้อนวอนท่านเอา ก็ต้องแล้วแต่มันเป็นไป ถึงเวลามันจะเป็นก็ต้องคอยโชคไป นี่พุทธศาสนาท่านไม่ให้คอยไม่ให้รออะไรทั้งนั้น ถือว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์เป็นตัวสำคัญ มนุษย์มีปัญญา มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถเรียนรู้ศึกษารู้เหตุปัจจัยได้ และจะได้เข้าไปใช้เหตุปัจจัยจัดการเพื่อให้สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัยในทางที่จะเกิดผลดี ตั้งแต่พัฒนาตัวชีวิตของมนุษย์เอง ท่านแยกได้แล้วนะเรื่องกรรมจะได้ไม่หลงผิด มีอะไรสงสัยไหม อะไรไม่ชัดก็ต้องถามกันนะ ต้องให้ชัด ไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดปัญญา ปัญญาแปลว่ารู้ชัด คือถ้าเราไม่รู้ชัดก็ไม่รู้จริง แล้วก็จะเกิดปัญหาคือเราต้องเดา วิธีที่จะไม่ต้องเดาก็คืออะไรไม่ชัดก็ต้องถาม ถามแล้วก็ตอบไปให้ชัดลงไปเท่าที่ทำได้ แม้แต่มีอะไรแย้งมีอะไรค้านก็เอามาพูดกันซะให้สบายใจ มีไหมครับ ไม่มีแล้วเหรอ ชัดพอเหรอ ชัดนะ นี่ก็อยากให้รู้เข้าใจเรื่องนี้เพราะเรื่องใหญ่ เรื่องกรรม แล้วก็มาสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของบุคคลและของสังคมทั้งหมด ของประเทศชาติด้วย เพราะเราคืนปล่อยให้สังคมของเราอยู่ในสภาพอย่างนี้แล้วมันน่าเป็นห่วง คนไทยเราเป็นมากคือ ไม่คิดที่จะทำอะไรให้ชัดเจนออกมา หวังลมๆแล้งๆ รอสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาล เป็นมากเหลือเกิน
พระอาจารย์ถาม: ท่านจิตตะพุทธว่าเป็นมากไหม
ลูกศิษย์ตอบ: เป็นมากครับ
มากเหลือเกินเลยนะ มากจริงๆมันก็ขัดคำสอนพื้นฐานของพุทธศาสนา แล้วเราจะอยู่กันได้ยังไง มันไม่เข้าทางพุทธศาสนาเลยใช่ไหม แล้วพุทธศาสนาจะเริ่มต้นยังไงในเมืองไทย มาจนป่านนี้แล้วยังไม่เริ่มเลย เหมือนกับอย่างงั้นนะ คล้ายๆว่าอย่างงั้น คือเราก็ไม่ได้ว่าทุกด้าน บางด้านก็มีดีอยู่ แต่ด้านนี้เป็นด้านที่สำคัญขั้นพื้นฐาน ทำไมมันจึงอยู่ในภาวะอย่างนี้ คนก็กลายเป็นคนอ่อนแอ เมื่อคนเราไม่ตั้งใจคิดไม่เพียรพยายามฝึกฝนพัฒนาตน ไม่หัดทำอะไรด้วยตนเอง ไม่สร้างผลสำเร็จในความเพียรพยายามของตน มันก็อ่อนแอ นี่พุทธศาสนาท่านให้สร้างผลสำเร็จด้วยความเพียรพยายามของตน คือพูดให้เต็มว่าสร้างผลสำเร็จด้วยการกระทำโดยความพากเพียรของตน อันนี้มันจึงจะเป็นไปได้ ต้องยํ้าอันนี้ให้มาก แล้วอันนี้ก็คือตัวหลักกรรมนั่นแหละ หลักกรรมก็อยู่ที่นื่ ทำเหตุให้เกิดผล สร้างผลสำเร็จด้วยการกระทำซึ่งจะดำเนินไปได้ด้วยความเพียรพยายาม ช่วยกันนะสังคมนี้น่าเป็นห่วงมาก
พระอาจารย์ถาม: ท่านว่าน่าเป็นห่วงไหม
ลูกศิษย์ตอบ: น่าเป็นห่วงครับ
น่าเป็นห่วงถ้าคนเราไม่เข้มแข็งก็ไปไม่ไหวหรอก ยิ่งไปเพลิดเพลินมัวเบากับการเสพบริโภคอีกก็ยิ่งอ่อนแอใหญ่ กำลังที่จะทำการเพื่อผลสำเร็จด้วยความเพียรก็ไม่มี แล้วยังไปมัวเมาเพลิดเพลินกับการเสพบริโภคอีก ก็เป็นเหยื่อเขา คอยซื้อเขา รอผลสำเร็จ เสพบริโภคสิ่งสำเร็จรูปที่เขาผลิตมาแล้ว อย่างนี้ก็จะไปรอดหรือ มันไม่ทำเอง แม้แต่ในแง่ของเศรษฐกิจกลายเป็นประเทศที่ไม่ผลิต กลายเป็นประเทศของผู้บริโภค ประเทศที่จะเจริญแล้วก็ต้องเป็นผู้ผลิต ความเจริญแบบสามัญทางวัตถุมันต้องเป็นผู้ผลิต ผู้ผลิตก็คือผู้กระทำนั่นเอง ผู้เสพผู้บริโภคก็กลายเป็นผู้ไม่ได้กระทำ ก็ไม่ไหวอะ ดูทางไหนก็แย่ไปหมด เอาแบบนี้เราก็มองแง่ร้ายกันหน่อย เพื่อจะให้ไม่ประมาท ถ้าท่านสนใจมีเวลาก็ไปศึกษากรรมในวินัยกับกรรมในธรรมะ บางคนไม่ได้สังเกตในวินัยมีกรรมเยอะแยะ ท่านจะให้มนุษย์ทำกรรมที่ไปเข้าร่วมกรรมที่เป็นธรรมะ ไม่ใช่ไปรอเขาทำกรรมในธรรมชาติอื่น แล้วตัวเองไม่เอาเรื่อง ตัวเราเป็นสำคัญในทางธรรมชาติ เป็นส่วนประกอบพิเศษในธรรมชาติ
ลูกศิษย์ถาม: เหมือนกับตัวเราเป็นตัวที่ปรุงกรรมเลย
พระอาจารย์ตอบ: แน่นอนเราเป็นตัวที่ปรุงกรรมอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ที่นี่จะปรุงอย่างไรให้ผล แต่เราพัฒนาปัญญาส่วนที่ดีของเราและส่วนที่เป็นกุศลขึ้นไปเพื่อได้มาจัดการกับปัจจัยอื่นๆให้มันดีถูกไหม นี่จุดสำคัญที่พุทธศาสนามีขึ้น ไม่งั้นก็ปล่อยไปตามกรรมที่ว่าคลุมเครือ กรรมก็คือตัวเองอยู่ด้วยโมหะ อยู่ด้วยความประมาทถูกไหม แล้วตัวก็ทำกรรมเข้าไปเต็มที่แล้วก็คือทำอกุศลกรรม ความประมาทก็เป็นกรรมใช่ไหม ก็เป็นอกุศลกรรม โมหะก็เป็นอกุศลกรรม ตัวเองก็ทำกรรมตลอดเวลา ในการที่ปล่อยไปตามกรรม ใครบอกว่าปล่อยไปตามกรรม นั่นก็คือทำกรรมที่เป็นอกุศลถูกไหม คำว่าปล่อยไปตามกรรม ปล่อยนั่นแหละเป็นกรรมแล้วแหละ ตัวปล่อยพอปล่อยก็เป็นกรรมแล้วใช่ไหม กระทำการปล่อยไงเล่า กระทำการปล่อยตัวเองตัวเองก็ทำกรรม ทำกรรมในการปล่อยคือกรรมแห่งความประมาท ก็เป็นอกุศลก็แย่ใช่ไหมมันก็ย่อยยับ
ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
ก็แค่นี้แหละ ถ้าท่านไม่มีอะไรสงสัย วันนี้ก็หยุดแค่นี้ก่อน นิมนต์ๆ