แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
วันนี้อาตมภาพก็จะพูดต่อในเรื่องพุทธคุณซึ่งมาถึงบทที่ 8 ใกล้จะจบแล้ว บทที่ 8 นี้ก็คือบทว่า พุทฺโธ ซึ่งเป็นคำที่เรานำมาใช้เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า เราเรียกพระพุทธเจ้าด้วยพระนามนี้ คือบทว่า พุทโธ
คำว่า “พุทโธ” นั้น ก็แปลว่า “ตรัสรู้” ก็ได้ แปลว่า “ตื่น” ก็ได้ แปลว่า “เบิกบาน” ก็ได้ ในที่นี้จะพูดใน ความหมายว่า “ตื่น” เพราะความหมายว่า “ตรัสรู้” นั้นได้พูดแล้วในบทที่ 2 ท่านที่ท่องพุทธคุณจะเห็นว่ามี พุทธคุณบางบทคล้ายๆ กัน บทที่สองว่า “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” และมาบทที่ 8 นี่ก็ “พุทฺโธ” เพราะฉะนั้น คำท้ายนี่ ตรงกัน “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” นั้น ไปเน้นตรงที่ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง มาถึงบทนี้ก็มาเน้นในความ หมายว่า “ตื่น”
ทีนี้คำว่า “ตื่น” นั้น มีความหมายว่า ตื่นเองอย่างหนึ่ง และก็ทำผู้อื่นให้ตื่นอย่างหนึ่ง ทำผู้อื่นให้ตื่นนั้น เขา เรียกว่า ปลุก คือปลุกให้ตื่น คำว่า “พุทโธ” นี้ ก็มีความหมายทั้งในแง่ที่ว่าตื่นเองและก็ปลุกผู้อื่นให้ตื่นด้วย
คำว่าตื่นและปลุกให้ตื่นนั้น ก็ตรงข้ามกับภาวะที่เรียกว่าความหลับ ความหลับก็ดี ความตื่นก็ดี แยกได้ เป็น ๒ ด้าน คือทางกายกับทางจิตใจ หมายความว่า หลับก็มีหลับทางกายและก็หลับทางใจ ตื่นก็มีตื่นทางกาย และตื่นทางจิตใจ
ในทางพุทธศาสนานั้น ก็พูดถึงตื่นทั้งสองด้าน ทั้งตื่นทางกายและตื่นทางใจ ทางกายในที่นี้ หมายถึง กิจการงานภายนอกที่จะทำด้วย จะเรียกว่าตื่นภายนอกก็ได้ พระพุทธเจ้านั้นทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนเป็น คนขยัน เพราะฉะนั้น ในทางกายหรือทางการกระทำทั่วไปก็ให้ตื่นมาก มีคำสอนบทหนึ่งที่เรียกว่า ชาคริยานุโยค แปลว่า การหมั่นประกอบความตื่นหรือหมั่นตื่น ไม่เห็นแก่นอน ก็คือขยันนั่นเอง ตื่นขึ้นมาทางกายแล้วก็ ท่านก็ ประสงค์ตามมาด้วยตื่นในใจ ที่่ว่าตื่นให้มากก็ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่เกียจคร้าน และเวลาตื่นก็ไม่ตื่นเฉยๆ แต่ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ทำกิจหน้าที่ของตนไปด้วยสติและสัมปชัญญะ บทชาคริยานุโยคนี้ ความจริงก็ได้ กล่าวมาแล้วในพุทธคุณข้อว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เพราะว่าชาคริยานุโยคเป็นองค์ธรรมบทหนึ่งอยู่ในจรณะ คือ ปฏิปทา หรือข้อปฏิบัติที่จะให้ได้บรรลุวิชชา ความเป็นผู้หมั่นขยันตื่นไม่เห็นแก่นอน ตั้งใจปฏิบัติกิจหน้าที่ นี่ก็ เป็นปฏิปทา หรือทางที่จะนำไปสู่การบรรลุวิชชาได้ เพราะฉะนั้น ก็ถือว่าเป็นคุณธรรมสำคัญ เน้นอยู่เสมอเป็น หลักเบื้องต้น
พระพุทธเจ้านั้นทรงเป็นตัวอย่างในการที่ทรงตื่นหรือขยัน จากพุทธกิจเราจะเห็นว่าพระองค์จำวัด หรือ บรรทมหลับไม่มากเลย พิจารณาได้แต่พุทธกิจซึ่งพระอรรถกถาจารย์รวบรวมไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญกิจ ประจำวันเนี่ย 5 อย่าง เขาเรียกว่าพุทธกิจประจำวัน 5 โบราณท่านผูกเป็นกลอนไว้ทีเดียว เป็นคาถา คาถาภาษาบาลีก็คือกลอนบาลี กลอนบาลีอันนี้บอกว่า
ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ สายณฺเห ธมฺมเทสนํ
ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ
ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ
นี่ว่าเสียคล้องจองไพเราะ เป็นเสียงเอเป็นส่วนมาก ก็แปลได้ความว่า
เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต เวลาบ่ายเย็นแสดงธรรมเทศนา เวลาค่ำประทานโอวาทแก่พระสงฆ์ กลางคืน ตอบปัญหาเทวดา ครั้นถึงเวลาเช้าตรู่ ก็พิจารณาสอดส่องดูบุคคลที่ควรจะไปโปรด
ความจริงอันนี้ที่เช้าตรู่นี่น่าจะมาวางไว้เป็นอันดับแรก คือแต่ละเช้า พระพุทธเจ้าก่อนจะเสด็จไปไหน ก็ ทรงพิจารณาว่าวันนี้ควรจะเสด็จไปโปรดใคร แม้แต่เห็นว่าเป็นคนเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าเขาสมควรจะบรรลุธรรม หรือได้ประโยชน์ในการเสด็จของพระองค์ พระองค์ก็พยายามไปไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เช่นว่าตัวอย่าง ทรงเห็น ว่าเด็กคนหนึ่งกำลังป่วยจะต้องสิ้นใจวันนั้นแล้ว ถ้าได้เห็นพระองค์แล้ว เขาจะมีจิตใจผ่องใส ไปเกิดในที่ดี พระองค์ก็อุตส่าห์เดินเสด็จพระดำเนินไปจนถึงที่เด็กนั้น อันนี้พระองค์เรียกว่ามีพระจริยาที่เห็นแก่ประโยชน์ ของสัตว์ทั้งหลายเป็นอย่างมาก นี่เราจึงถือว่าเป็นมหากรุณาคุณยิ่งใหญ่
และที่ว่าเสด็จไปบิณฑบาตนั้น ไม่ใช่หมายความว่า ไปรับอาหาร เวลาบิณฑบาตของพระองค์ก็คือเวลา เช้าทั้งหมดเลยทีเดียว คือเสด็จไปบิณฑบาตนั้นเรียกว่าไปโปรดสัตว์ เพราะเสด็จไปแสดงธรรม ก็ไปตามที่ได้ พิจารณานั้นเอง คือเช้าสอดส่องตรวจดูว่ามีใครควรจะไปโปรดแล้วเสด็จไปบิณฑบาต ก็คือไปโปรดผู้นั้น
เพราะฉะนั้น การไปบิณฑบาตนั้นเสด็จไปไกลๆ และก็ไปเพื่อสั่งสอน การฉันภัตตาหารก็เป็นเครื่อง ประกอบ เป็นเครื่องยังอัตภาพให้เป็นไป ไปทำกิจหน้าที่ ฉะนั้น พระสมัยโบราณเวลาไปบิณฑบาต คือเวลาไป แสดงธรรม จึงเรียกกันว่า โปรดสัตว์ คำว่าโปรดสัตว์นั้น เล็งที่การที่ไปแสดงธรรมนี้
เอาเป็นว่าพุทธกิจก็มี 5 ประการดังที่กล่าวมา จนกระทั่งถึงเที่ยงคืนที่ว่ามีเทวดามาถามปัญหา ซึ่งคำว่า เทวดาในที่นี้ อาจจะเป็นสมมติเทพ ได้แก่ พระราชามหากษัตริย์ เป็นต้น ก็ได้ ท่านเหล่านี้ก็เสร็จภารกิจเวลาค่ำ จึงมาได้เวลากลางคืน ก็มาทูลถามปัญหา
จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าแทบไม่มีเวลาบรรทมเลย บรรทมน้อย มีความขยันมาก ในการที่ทรงบำเพ็ญ พุทธกิจด้วยความขยันนี้ เราจะเห็นว่าพระองค์นี่มีความตื่นตัวอยู่เสมอ สำนึกในกิจหน้าที่ที่จะต้องทำ ก็เป็น คุณสมบัติของผู้นำของพุทธศาสนา และผู้นำทั่วไปก็ควรจะเป็นอย่างนี้ คือเป็นผู้ที่ตื่นตัวอยู่เสมอในการที่จะทำ กิจต่างๆ ดำเนินภารกิจให้ลุล่วงไป
ลักษณะที่เป็นคนตื่นตัวอย่างนี้ เรียกว่าเป็นความไม่ประมาท ตรงข้ามกับภาวะที่เรียกว่าความประมาท
ความประมาทนั้น ก็คือความปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง ไม่เอาใจใส่สิ่งที่ควรจะเอาใจใส่ สิ่งที่ควรจะทำ เมื่อถึงเวลาจะทำแล้วก็ทอดทิ้ง ละเลย ปล่อยให้เวลาผ่านไปเสีย แล้วก็เกิดความผิดพลาด เกิดความเสียหายขึ้น หรือว่าโอกาสที่จะทำสิ่งที่ดีงามทำให้สำเร็จมาถึง แต่ว่าก็ปล่อยทิ้งไปเสียอีก ไม่รีบใช้โอกาสนั้นทำสิ่งที่เป็น ประโยชน์ ลักษณะทั้ง ๒ ประการนี้ก็เรียกว่าเป็นความประมาท ซึ่งเป็นช่องทางของความเสียหาย พระพุทธเจ้า ตรัสว่า คนประมาทนั้นนะก็เป็นคนหลับ บางทีถึงกับเรียกว่าตายแล้ว อย่างที่ท่านบอกว่า ปมาโท มจฺจุโน ปทํ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ถ้าอย่างต่ำก็เรียกว่าเป็นคนหลับใหล
เป็นคนหลับใหลก็ไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำ แล้วก็หมดโอกาสที่จะได้ความเจริญก้าวหน้า มีพุทธพจน์ใน ธรรมบทอันหนึ่งที่ตรัสไว้แสดงถึงคุณค่าของความตื่นตัวนี้ อาตมภาพก็เลยจะยกบาลีมาอีก วันนี้ก็อาจจะยกบาลี มามากหน่อย พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า
อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํว สีฆสฺโส หิตฺวา ยาติ สุเมธโส
ก็แปลว่า คนฉลาดมีความคิด เมื่อคนทั้งหลายมัวประมาทอยู่ก็เป็นผู้ไม่ประมาท เมื่อชนทั้งหลายหลับ ใหลอยู่ ก็เป็นผู้ตื่นมาก คนเช่นนี้ย่อมก้าวหน้าไปรวดเร็ว ละทิ้งคนอื่นไป เหมือนกับม้าฝีเท้าเร็วทิ้งม้าที่อ่อนแอ ไว้เบื้องหลังฉะนั้น
นี้ก็เป็นพุทธพจน์ที่ตรัสเตือนให้เป็นคนตื่นตัวอยู่เสมอ มีความไม่ประมาท เพื่อจะได้สร้างความเจริญ ก้าวหน้า จะเป็นความเจริญก้าวหน้าในทางโลกก็ดี ในทางธรรมก็ดี อาศัยความไม่ประมาททั้งนั้น ซึ่งหลัก 2 ประการก็คือว่า
1) ไม่ปล่อยตัวถลำไปในทางที่จะผิดพลาด
2) ก็คือเมื่อมีโอกาสจะทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์รีบใช้โอกาสนั้นทำ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเสียเปล่า
อันนี้เป็นลักษณะของความไม่ประมาท และก็ผู้ไม่ประมาทก็เป็นผู้ที่ตื่นตัวดังกล่าวมานั้น
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างยอดเยี่ยม เป็นตัวอย่าง เป็นผู้นำในทางไม่ประมาท พระองค์ก็เป็น พุทโธ เป็นผู้ตื่น นอกจากความตื่นในแง่ที่กล่าวมาแล้ว ก็คือความตื่น ไม่หลับใหล ไม่ลุ่มหลงในสิ่งที่ยึดติดโดยไร้ เหตุผลโดยงมงายต่างๆ ซึ่งพระองค์นอกจากจะเป็นผู้ตื่นแล้ว ก็เป็นผู้ปลุกคนทั้งหลายให้ตื่นขึ้นมาด้วย การทำ หน้าที่ของพระพุทธเจ้าให้สำเร็จ ก็คือการเป็นพุทโธในแง่ความหมายนี้เป็นอย่างสำคัญ
พระพุทธเจ้าตื่นจากอะไรบ้างที่เป็นความหลับใหลของผู้คนในยุคนั้น ก็จะลองพิจารณาดู ตั้งแต่ตาม ลำดับของพุทธประวัติ จะเห็นว่าเบื้องแรกพระองค์ก็ตื่นจากความหลับใหลลุ่มหลงอยู่ในกามสุข พระราชามหา กษัตริย์ หรือคนที่มีอำนาจวาสนา มีทรัพย์มาก เป็นเศรษฐีในสมัยพุทธกาลนั้นนะ นิยมลุ่มหลงบำรุงบำเรอตน เองด้วยความสุขทางกามารมณ์เป็นอันมาก อย่างราชาอินเดียถึงกับมีฮาเร็มกันใหญ่โตอะไรยังงี้ แล้วถ้าลุ่มหลง อยู่ในนั้น ทำเบียดเบียนทั้งตนเองและเบียดเบียนผู้อื่น บางทีก็ทำให้การปฏิบัติกิจหน้าที่บกพร่อง
พระพุทธเจ้านั้นได้รับการบำรุงบำเรอปรนเปรออย่างนั้น แต่พระองค์ถอนพระองค์ออกมาได้ แล้วก็ตรัส สอนพุทธศาสนิกชนไม่ให้ลุ่มหลงในสิ่งเหล่านี้ ให้รู้จักประมาณ ไม่ใช่เบียดเบียนตนและผู้อื่นเพราะเหตุนี้ แล้วก็ ให้สามารถทำกิจหน้าที่ด้วย ไม่ให้ทำหน้าที่บกพร่องย่อหย่อนลงไป และพระองค์ถอนพระองค์จากกามสุข ความ ลุ่มหลงอันนี้มาซึ่งเป็นที่สุดข้างแรก แล้วจึงมาได้ตรัสรู้ ได้เสด็จออกบรรพชานี้ต่อไป เอาละพระองค์ก็ตื่นจากความหลับใหลในกามสุข
ประการที่ 2) พระองค์ยังตื่นต่อไปอีก นักบวชสมัยนั้น คนจำนวนมากทีเดียว เมื่อเบื่อทางโลกแล้ว ก็สละโลกออกบวชเข้าไปอยู่ในป่าในภูเขาตามวิเวกต่างๆ เป็นโยคี ฤาษี ดาบส บำเพ็ญพรตภาวนา แล้วก็ได้ฌาน ได้สมาบัติ ตายแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก มีตัวอย่างมากมาย แม้พระพุทธเจ้าครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์ก็เคยจะนิยม ทำอย่างนี้มาเหมือนกัน
พวกฌาน พวกฤาษีดาบสเหล่านี้ก็ไปบำเพ็ญฌาน ได้สมาธิชั้นสูง แล้วก็เพลิดเพลินในฌานสมาบัติเนี่ย มีความสุขในสมาบัติ เขาเรียกว่าเล่นฌาน มีศัพท์อันหนึ่งก็ใช้คำว่า ฌานกีฬา คือเล่นฌาน มีความสุขกับการ เล่นฌานแล้ว ก็ไม่เป็นอันทำอะไร ก็ถือเป็นความหมกหมุ่นอย่างหนึ่งเหมือนกัน แล้วไม่งั้นก็อาจจะได้ฤทธิ์ เพลิดเพลินลุ่มหลง มัวเมาในฤทธิ์ ในความเก่งกาจของตน บางทีก็ไปแข่งฤทธิ์กับพวกเทวดา เป็นต้น ถ้าอ่าน เรื่องของฮินดู จะได้ยินว่ามีฤาษีที่แข่งฤทธิ์กับเทวดาต่างๆ
นี้พระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นว่าพวกคนเหล่านี้ แม้จะเป็นคนประเสริฐขึ้นมาแล้ว ได้บำเพ็ญเพียรทางจิตมี ความเจริญก้าวหน้า แต่ก็มาติดมาลุ่มหลงอยู่ในฌานสมาบัติ ในอิทธิฤทธิ์อะไรต่างๆ พระองค์ถือว่ายังไม่หลุดพ้น จิตยังไม่เป็นอิสระแท้จริง พระองค์ก็ได้บำเพ็ญได้บรรลุฌานสมาบัติเช่นเดียวกัน เขามีฤทธิ์ พระองค์ก็ทำได้ แต่ พระองค์ไม่ติดไม่ลุ่มหลง ถอนพระองค์ออกมาได้อีก แล้วก็ปฏิบัติดำเนินหน้าต่อไปในมัชฌิมาปฏิปทาจนตรัสรู้ นี้ก็เรียกเป็นความตื่นของพระองค์
ต่อไป ตื่นจากอะไรอีก นักบวชอีกพวกหนึ่งสมัยโบราณนั้น นิยมบำเพ็ญตบะ ทรมานตนว่า จะเป็นการ เผากิเลสให้เหือดแห้งไป พระพุทธเจ้าก็เคยไปบำเพ็ญทุกรกิริยา ทำตบะเหล่านี้กะคนเหล่านั้นเหมือนกัน แล้ว พระองค์ก็เป็นผู้สังเกตพิจารณาไม่ยึดติดธรรม แต่สักแต่ว่าทำตามเรื่อยๆ เปื่อย ด้วยทรงพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ ทางหลุดพ้นที่แท้จริง แล้วก็ถอนพระองค์ออกมาจากการบำเพ็ญตบะได้อีก นี่ก็เป็นการตื่นขึ้นมา
ต่อไป คนในสมัยนั้นมีความยึดถือในคำสอนที่ว่ามีวรรณะ 4 ใครเกิดมายังไง ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ตั้งแต่ เกิดจนตาย เกิดมาเป็นกษัตริย์ก็เป็นกษัตริย์ เกิดมาเป็นพราหมณ์ก็เป็นพราหมณ์ เกิดมาเป็นพ่อค้าหรือเป็น วรรณะแพศย์ก็เป็นอย่างนั้นตลอดไป ใครเกิดมาเป็นวรรณะศูทรชั้นต่ำ เป็นกรรมกร เป็นคนงาน ก็ต้องเป็นอย่าง นั้นตลอดไป ตลอดจนกระทั่งว่า เกิดมาเป็นจัณฑาล คนนอกชั้นวรรณะที่เขาดูถูกมาก ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะ ว่ายึดถือกันมาไม่ยอมปล่อย พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าเป็นการยึดถือที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปเพื่อ ความสุขแก่มนุษย์ที่แท้จริง และมนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่ฝึกอบรมได้ เรียกว่าพัฒนาได้ เพราะฉะนั้น พระองค์ก็สอนให้ เลิกเรื่องวรรณะเสีย เช่นว่าตั้งคณะสงฆ์รับคนจากทุกวรรณะเข้ามา เข้ามาแล้วก็มีสิทธิเสมอกัน ได้ฝึกอบรมตน เองจนกระทั่งว่าตัวคนจากทุกวรรณะนั้น สามารถบรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันตสาวกได้ทั้งสิ้น อันนี้พระองค์ ก็ตื่นจากความเชื่อถือในเรื่องวรรณะ
ต่อไป คนสมัยนั้น มีความคิดที่จะหวังพึ่งแต่เทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ไม่เชื่อในความสามารถของตน เอง ก็ต้องหวังพึ่งอ้อนวอนบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทพยเจ้าต่างๆ ตลอดจนกระทั่งทำพิธีใหญ่ๆ ที่เรียกว่า การบูชายัญ ซึ่งอาจจะมีการบูชายัญสัตว์ต่างๆ เป็นจำนวนทีละห้าร้อย ห้าร้อย แม้กระทั่งบูชายัญด้วยมนุษย์ ฆ่า มนุษย์ สังเวยเทพเจ้าก็มี พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้วก็ได้ทรงพิจารณาเห็นว่าข้อปฏิบัติเหล่านี้เป็นความงมงาย ไม่เป็นประโยชน์ พระองค์ก็สอนให้เลิกการบูชายัญ ตลอดจนกระทั่ง การเซ่นสรวงสังเวยที่เป็นการเบียดเบียน ตนเอง และผู้อื่นเสียหมดสิ้น อันนี้ก็เป็นการตื่นอีกอย่างหนึ่ง
และก็ประการต่อไป คนสมัยนั้นเชื่อถือในพระเวทย์ ถือว่าพระเวทย์นี่เป็นตัวหลักคำสอน เป็นคัมภีร์ ศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนจะต้องเชื่อถือตามพระเวทย์ จะสงสัยไม่ได้ จะสอนเชื่อออกไปนอกจากนั้นไม่ได้ และก็จำกัด ผูกขาดการศึกษาเล่าเรียนพระเวทย์ด้วย ว่าต้องคนชั้นสูงเท่านั้นจึงจะศึกษาพระเวทย์ได้ คนชั้นต่ำศึกษาไม่ได้ ก็เรียกว่าเป็นการผูกขาดการศึกษา อย่างคนวรรณะศูทรหรือวรรณะต่ำเขาไม่ให้เรียน ถึงกับลงโทษทีเดียว บอกว่า คนวรรณะศูทรเนี่ยถ้าไปฟังพระเวทย์ให้เอาตะกั่วหลอมหยอดหู ถ้าหากว่าสาธยายพระเวทย์ให้ดึงลิ้น ออกมาตัด ถ้าหากว่าเรียนพระเวทย์ให้ผ่าร่างกายเป็น 2 ซีก อย่างนี้เป็นต้น ก็แสดงว่ามีการผูกขาดทางการ ศึกษาเล่าเรียน ไม่ให้คนเจริญด้วยปัญญา เพื่อจะให้คนวรรณะพราหมณ์เท่านั้น หรือคนชั้นสูงเท่านั้น สามารถ ศึกษาเล่าเรียนมีความรู้ได้ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมาแล้วพระองค์ก็ตื่น มองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการไม่ถูก ต้อง เป็นการสอน ในทางที่ทำให้มนุษย์ไม่มีความเจริญทางปัญญา เพราะควรจะให้ทุกคนได้ฝึกอบรมตนเอง ให้เจริญขึ้นมา เพราะฉะนั้น พระองค์ก็สอนไม่จำกัดว่าจะต้องถือพระเวทย์
พระองค์ก็สอนคำสอนใหม่ ถึงกะเรียกว่าค้านพระเวทย์ทีเดียว แล้วพระองค์ยังสอนในทางตรงข้าม คือมี พระบางรูปที่มาจากวรรณะพราหมณ์ เคยไปเสนอต่อพระพุทธองค์ บอกว่าให้ยกเอาคำสอน หรือพุทธพจน์นี้ขึ้น มาด้วยภาษาสันสกฤตอย่างพระเวทย์ เพราะว่าพระที่มาจากชาติตระกูลต่างๆ กันนี้มาเรียน แล้วทำให้ พุทธพจน์อาจจะแปรผันไปได้ พระพุทธเจ้าตรัสห้าม กลับปรับอาบัติ คือปรับความผิดแก่ผู้ที่จะยกเอาพุทธพจน์ เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นการผูกขาดการศึกษา แต่พระพุทธเจ้าอนุญาต บอกว่าให้เรียนพุทธพจน์ด้วยภาษา ของตน คนทั้งหลายจะได้รู้พุทธพจน์กันทั่วถึง ไม่มีการผูกขาดการศึกษา แต่กลายเป็นว่าเปิดการศึกษาเล่าเรียน ให้กว้างขวางขึ้น ก็ทำให้คนมีโอกาสเล่าเรียนความรู้ มีสติปัญญาพัฒนาตนได้ดีขึ้น
นี้ก็เป็นลักษณะด้านต่างๆ ของความตื่นของพระพุทธเจ้า แล้วขั้นสุดท้ายก็คือพระองค์ตื่นจากความหลับ ใหลด้วยอำนาจกิเลส คนเรานั้นถูกกิเลสครอบงำ ถูกโลภะบ้าง ถูกโทสะบ้าง ถูกโมหะบ้างครอบงำ แล้วก็หลับ ใหลลุ่มหลงอยู่ในโลก ติดอยู่ในสังขารต่างๆ มีความยึดติดถือมั่นด้วยอุปาทาน
พระพุทธเจ้าก็เสด็จมาทรงสั่งสอน พระองค์เองตื่นก่อนแล้ว ตื่นจากความหลับด้วยกิเลสเหล่านั้น ก็สอน มนุษย์ ปลุกมนุษย์ทั้งหลายให้ตื่นจากความหลับด้วยกิเลสเหล่านั้น แล้วก็ให้พ้นจากความทุกข์ ให้มีความเป็น อิสระเสรีที่แท้จริงในทางจิตใจ นี้ก็เป็นความหมายถึงขั้นสุดท้ายของความเป็นผู้ตื่น
เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าเนี่ย เป็นผู้นำในการตื่นทั้งทางกายและทางใจ ทางกายก็ให้มีความขยันหมั่นเพียร ทำกิจหน้าที่ นอนให้น้อย ไม่เกียจคร้าน ไม่เห็นแก่นอน ชำระจิตของตนให้เป็นคนตื่นตัว และทางจิตใจ ก็ให้ฝึก อบรมตนเอง ให้เป็นผู้ที่เจริญก้าวหน้าในทางจิตก็ดี ในทางปัญญาก็ดี จนกระทั่งเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลส และ ความทุกข์ทั้งหมด พุทธคุณข้อนี้ก็เป็นตัวอย่าง หรือเป็นแบบอย่างที่พุทธศาสนิกชนพึงนำมาพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางที่จะ น้อมเข้ามาในจิตใจของตนเอง เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางนั้นสืบต่อไป
อาตมภาพได้พูดมาในพุทธคุณข้อที่ 8 คือ พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นแล้ว ก็พอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติ และขอ อนุโมทนาโยมเพียงเท่านี้ เจริญพร