แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ : ขอเจริญพรท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งท่านอาจารย์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ และกรมการศาสนา วันนี้อาตมาภาพในนามของคณะสงฆ์ วัดญาณเวศกวัน ขออนุโมทนาที่ท่านรัฐมนตรี พร้อมทั้งข้าราชการผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่ได้มาทำบุญถวายสังฆทานที่วัดนี้
การถวายสังฆทานนั้น ก็เป็นการทำบุญที่ชาวพุทธนิยมปฏิบัติกันมา ถือว่าเป็นการที่ได้บุญมาก ก็เป็นการปฏิบัติทั้งในแง่ของพระพุทธศาสนา และในแง่ของวัฒนธรรมพระเพณี ในแง่วัฒนธรรมประเพณีนั้นก็เป็นเรื่องที่สืบต่อกันมาในสังคมของเรา โดยเกิดจากการนับถือพระพุทธศาสนานั่นเอง หมายความว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ตั้งอยู่บนฐานของพระพุทธศาสนา ที่เรานิยมกันว่าการถวายสังฆทานเป็นการทำบุญที่ได้ผลมาก ก็เพราะมีพุทธพจน์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกว่า ทานที่ถวายแก่สงฆ์นั้นมีผลมากกว่าถวายแก่บุคคล การถวายทานจึงได้จำแนกเป็นสองอย่าง คือถวายแก่สงฆ์ ที่เราเรียกว่า สังฆทาน ซึ่งในพระไตรปิฎกแท้ๆท่านเรียกว่า (สัง ฆะ คะ ตา ทัก ขิ นา) แปลว่าของถวายที่ไปในสงฆ์ เราก็มาเรียกสั้นๆกันภายหลังว่า สังฆทาน ส่วนทานที่ถวายจำเพาะบุคคล ถวายแก่ภิกษุ ก ภิกษุ ข ก็มีชื่อเรียกว่า (ปา ติ ปุ คะ ลิ กะ ทาน) หรือเรียกตามภาษาของพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสเอง เรียกว่า (ปา ติ ปุ คะ ลิ กา ทัก ขิ ณา) พระพุทธเจ้าก็ตรัสจำแนกไว้ว่าทานที่ถวายแก่สงฆ์นั้นมีหลายอย่าง ตั้งต้นจากทานที่ถวายแก่สงฆ์ครบทั้งสองฝ่ายคือมีทั้งภิกษุและภิกษุณีโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี่เรียกว่าสังฆทานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ รองลงมาก็เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ก็เหลือสงฆ์สองฝ่ายคือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ต่อจากนั้นก็อาจจะเป็นภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว หรือภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเดียว เป็นต้น จนกระทั่งแม้แต่ทานที่ญาติโยมแจ้งแก่สงฆ์ว่าขอให้จัด พระภิกษุเป็นตัวแทนของสงฆ์มารับจำนวนหนึ่ง นั่นก็ถือว่าเป็นสังฆทาน ส่วนทานที่ถวายเป็น (ปา ติ ปุ คะ ลิ กะ) จำเพาะบุคคลนั้น ตั้งแต่ถวายพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ถวายพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ถวายพระอรหันตสาวก จนกระทั่งแม้แต่ทานที่ให้แก่คนทั่วไป แม้แต่คนที่ไม่มีศีล จนกระทั่งให้แก่สัตว์เดรัจฉาน นี่ก็เรียกว่าเป็นทานที่ให้จำเพาะตัว พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่มีทานจำเพาะบุคคลอันใดที่จะมีผลมากกว่าทานที่ถวายแก่สงฆ์ไม่ว่าโดยปริยายใดๆ หมายความว่าพระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญทานที่ถวายแก่สงฆ์ ก็คือส่วนรวม คำว่าสงฆ์ ก็แปลว่าหมู่หรือชุมชน หมู่หรือชุมชนที่จะเป็นสงฆ์ก็คือหมู่หรือชุมชนที่มีการจัดตั้งวางระบบระเบียบเป็นอย่างดี มีอุดมคติ มีจุดมุ่งหมายว่าจะอยู่กันด้วยความสงบ อยู่กันเพื่อประพฤติปฏิบัติหรือทำสิ่งที่ดีงาม อย่างพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็คือเพื่อเจริญไตรสิกขา เพื่อฝึกฝนตนให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นในศีล สมาธิ ปัญญา
พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญสงฆ์ เพราะว่าเป็นเรื่องของส่วนรวม แม้แต่เรื่องของศาสนานี้ก็มิใช่บุคคลเป็นผู้ดำรงรักษา แต่ต้องอาศัยสงฆ์เป็นส่วนรวมทั้งหมด ชาวพุทธนั้นถือตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสดังนี้ก็จึงนิยมกันมาถวายสังฆทาน ผู้ถวายสังฆทานก็ต้องมีเจตนาที่ตั้งใจไว้ว่า ที่เราถวายแก่พระภิกษุที่มานั่งอยู่ ประชุมอยู่นี้ เป็นการถวายในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนของพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนาที่ช่วยกันดำรงพระศาสนาไว้ และช่วยกันนำคำสอนนี้มาเผยแพร่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน ถ้าทำใจอย่างนี้จิตใจก็จะกว้างขวาง ก็ทำให้เกิดความอิ่มใจ มีปิติ และมีความสุขว่าการที่ได้ถวายทานนี้ก็เป็นการถวายเพื่อพระศาสนาทั้งหมด เราได้มีส่วนร่วมช่วยให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ และพระพุทธศาสนานี้เมื่อดำรงอยู่ก็จะได้ช่วยให้ธรรมะได้คงอยู่ในสังคม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคติของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระศาสนานี้ดำรงอยู่ยั่งยืนนานก็เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก อันนี้ก็คือหลักการเกี่ยวกับเรื่องของสังฆทาน ก็เพราะเมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ ผู้ถวายสังฆทานก็จะมีความเข้าใจ คือทำด้วยปัญญาด้วย และทำด้วยจิตใจที่มีความเบิกบานผ่องใสแท้จริง คือได้ทั้งจิตใจดีงามและได้ความรู้ความเข้าใจ ก็จะทำให้เกิดผลสมบูรณ์ เพราะว่าทำไปแล้วก็รู้ว่าผลนี้จะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมทั้งหมด สังฆทานนี้เมื่อเราปฏิบัติโดยนิยมกันอย่างนี้ก็เข้าคติของบุญนั่นเอง คือสังฆทานถวายแก่ส่วนรวมก็เป็นบุญมาก คำว่าบุญนั้นถ้าแปลกันง่ายๆก็คือความดี แต่หมายถึงความดีที่ทำแล้วช่วยให้ชีวิตของเราเจริญเพิ่มพูนขึ้นด้วยคุณสมบัติต่างๆ เรียกว่าทำให้คุณสมบัติที่ดีงามทั้งหลายเจริญเพิ่มพูนขึ้นในตัวเรา
คำว่าบุญ เป็นศัพท์ที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนา และก็กลายมาเป็นคำสำคัญในสังคมไทยของเรา ในวัฒนธรรมประเพณีไทยนั้นคำว่าบุญ กล่าวได้ว่าเป็นคำศูนย์กลางของชีวิตชาวพุทธ อาจจะเรียกง่ายๆว่าเป็นคำที่ใหญ่ที่สุด พอพูดคำว่าบุญ จะเป็นคำที่สื่อจิตใจได้ลึกซึ้งกว้างขวาง พอพูดขึ้นมานี่ความหมายครอบคลุมไปหมด พอพูดว่าบุญก็มีความหมายทั้งในแง่บุคคล ในแง่บุคคลคือในแง่ของส่วนตัว บุญก็หมายถึงเครื่องยึดเหนี่ยวให้จิตใจของเรานี้อยู่กับความดีงามและทำให้มีจุดมุ่งหมายว่าเราจะทำสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้น เราจะทำชีวิตของเราให้ดีงามยิ่งๆขึ้นไป อันนี้เป็นเรื่องในแง่ของบุคคล และในแง่ของสังคมพอพูดคำว่าบุญขึ้นมานี้ ชาวพุทธจะมีใจร่วมกัน พร้อมจะทำกิจกรรมร่วมกัน เรียกว่างานของส่วนรวมอะไรที่เป็นเรื่องดีงามเป็นบุญเป็นกุศล อย่างตั้งแต่สมัยพระพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องเก่าๆ อย่างคนในหมู่บ้านนึกถึงการที่จะมาสร้างบ่อน้ำ มาทำถนนหนทาง มาจัดแม้แต่ปัดกวาดสถานที่ให้เรียบร้อยสะอาดงดงาม จัดแต่งสวน เป็นต้น ให้ชุมชนนั้นอยู่ด้วยความสงบสุขเรียบร้อย เขาก็เรียกว่ามาทำบุญกัน พอพูดว่าทำบุญจิตใจคนก็จะมีเป้าหมายและเกิดพลังที่จะมาทำร่วมกันทำให้เกิดความสามัคคี ฉะนั้นคำว่าบุญเป็นคำที่สำคัญมาก เรียกว่าเป็นคำสื่อใจที่ยิ่งใหญ่ของสังคมไทย เป็นจุดรวมใจตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงองค์เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ก็จะมีคำว่าบุญนี้เป็นคำที่ร่วมกัน พูดขึ้นมาแล้วก็รู้กัน เข้าถึงจิตใจที่ลึกซึ้ง ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าในสมัยปัจจุบันนี้สังคมของเราเหมือนกับว่าไม่มีคำอะไรที่เป็นสื่อใจเป็นอันเดียวกัน ไม่มีจุดรวมใจ ฉะนั้นคำว่าบุญเองเดี๋ยวนี้ความหมายก็เลือนลาง จางไป หรือแคบลงไป เวลาพูดออกมาแล้วก็ไม่สื่อความหมายเหมือนอย่างในสมัยก่อน ถ้าหากว่าจะให้สังคมของเรานี้เจริญงอกงามดีขึ้น ก็น่าจะต้องฟื้นฟูคำว่าบุญขึ้นมาพร้อมทั้งความหมายที่ถูกต้อง หรือจะหาคำอะไรก็แล้วแต่ที่จะให้สังคมนี้มีคำที่สื่อความหมายที่ลึกซึ้งที่ให้รู้สึกว่าจิตใจมีสิ่งยึดเหนี่ยวที่จะทำความดี และทำให้สังคมนี้มีจุดรวมที่จะมาผสานพลังเกิดความสามัคคีและทำกิจกรรมร่วมกัน ถ้าไม่มีสิ่งนี้คิดว่าสังคมจะเจริญงอกงามได้ยาก แต่ที่จริงพื้นฐานของเราก็มีอยู่แล้วคือคำว่าบุญนี่เอง ซึ่งถ้าฟื้นฟูขึ้นมาได้ก็คงเป็นประโยชน์มาก และคำว่าบุญนั้นก็มีความหมายที่โยงทั้งวัตถุและนามธรรม โยงทั้งบุคคลและสังคม ในแง่สังคมก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าตรัสเวลาทำความดีบอกว่าทำด้วยตนก็ได้ประโยชน์ได้บุญส่วนหนึ่ง ยิ่งชวนกันมาทำยิ่งได้บุญมากขึ้น อันนี้เป็นเรื่องของสังคม เราทำความดีแล้วชวนคนอื่นให้ทำด้วยนี่ได้ผลเป็นอย่างมาก มีอานิสงส์กว้างขวางออกไป ส่วนในแง่ที่เกี่ยวกับวัตถุและนามธรรมเพราะว่าบุญนั้น ก็ตรัสจำแนกไว้ว่ามีทาน ศีล ภาวนา การที่จะมีทาน ศีล ภาวนานั้นดังที่กล่าวแล้วว่าหลักเรื่องบุญจะมาโยงกับหลักเรื่องสงฆ์ก็คือเรื่องของชุมชน หมู่ชนที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างมีระบบระเบียบ มีจุดมุ่งหมายคือความดีงาม บุญก็ดำเนินไปด้วยดีในสังคมที่จัดตั้งวางไว้อย่างดีนี้
สังคมที่ดีจะมีหลักสำคัญก็คือความเป็นสงฆ์นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยวินัย ถ้าไม่มีวินัยก็ไม่มีสังฆะเพราะว่าต้องมีการจัดตั้งวางระบบระเบียบ วินัยนั้นก็มีความหมายอย่างน้อย หนึ่ง เป็นเครื่องปิดกั้นไม่ให้มีช่องโหว่ที่จะทำให้กิเลสและความชั่วร้ายกำเริบลุกลาม อันนี้หมายความว่าอะไรที่จะเป็นช่อง เปิดช่อง เปิดทาง เปิดโอกาสให้ความชั่วมีมากขึ้นก็ปิดกั้นเสีย เช่น พวกอบายมุข อาชญากรรมต่างๆ เป็นต้น อันนี้ก็เป็นวินัยด้านหนึ่งด้านลบ และด้านบวกก็คือการจัดสรร เอื้ออำนวยโอกาสให้คนได้ทำความดี เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากการจัดโอกาส สนับสนุน ส่งเสริมให้คนได้ทำความดีกันนี้ บางทีเมื่อเราให้โอกาสคนในการสร้างสรรค์ทำความดี เขาจะลืมทำความชั่วไปเอง การแก้ปัญหามากมายนั้นแก้โดยไม่ต้องแก้ คือแก้โดยให้มีสิ่งที่ดีมาทำ พอทำสิ่งที่ดีขึ้นมาคนก็มายุ่งกับการทำการสร้างสรรค์ความดี สิ่งที่เลวร้ายก็หมดไปเอง อย่างที่เด็กตีกันบางทีเป็นเพราะเขาว่างไม่รู้จะทำอะไรไม่มีดีจะทำ ก็เลยเอาเวลานี้ไปใช้ในทางชั่วร้ายเสียหาย มองกันไปมองกันมาก็ขัดหูขัดตาก็ชกต่อยกัน แต่ถ้ามีอะไรที่ร่วมกันที่ต้องทำขึ้นมาแล้วเขาก็จะมีพลังมาทำกันก็เกิดความรักความสามัคคี ความชั่วก็หายไปเอง ฉะนั้นก็เลยกลายเป็นว่าการแก้ปัญหาสองอย่างนี้ต้องเน้นการแก้ปัญหาแบบไม่ต้องแก้ก็คือการแก้ปัญหาโดยให้มาทำสิ่งที่ดีงาม แต่เป็นการยากที่ว่าจะหาอะไรมาให้เขาทำที่เป็นสิ่งสร้างสรรค์ แม้แต่สังคมส่วนรวมก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีอะไรเป็นเรื่องดีงาม สร้างสรรค์ เมื่อทำขึ้นมาแล้วคนก็จะห่างเหินจากความชั่วไปเอง แต่ถ้าหากว่ามัวปล่อยให้ว่างไม่มีอะไรจะทำเดี๋ยวก็ถูกล่อเร้าชักจูงไปในทางเสียหาย ความชั่วก็จะลุกลามระบาดขึ้นไป ฉะนั้นวินัยก็เลยต้องมีทั้งด้านลบและด้านบวก ด้านลบก็กันคนที่มีนิสัยที่ไม่ดีไม่ได้รับการฝึกอบรมเลยอันนี้ก็จำเป็นต้องมีการปิดช่อง ปิดกั้นกันไว้ไม่ให้มีช่องโหว่ในการทำความชั่ว แต่ก็มาเน้นการจัดสรรโอกาสที่จะทำความดีซึ่งจะทำให้วินัยมีความหมายที่แท้จริง เพราะวินัยนั้นในทางพระพุทธศาสนาแปลว่าการนำไปให้วิเศษ หมายความว่าคนเรานี่อยู่แบบปกติก็เป็นคนปุถุชน เราก็มีวิธีการจัด เช่นการฝึกอบรม การฝึกให้คนดีขึ้น นำเขาไปสู่คุณสมบัติหรือภาวะที่วิเศษขึ้นไปก็เป็นวินัย
ฉะนั้นวินัยจึงมีความหมายเป็นการฝึก นี่ก็เป็นเรื่องของวินัยซึ่งเป็นเรื่องของสงฆ์เรื่องของชีวิตส่วนรวมทั้งหมด เมื่อเรามีสังคมที่ดีงามอย่างนี้ก็ให้สังคมอยู่ได้ด้วยดีด้วยอาศัยข้อแรกก็คือต้องมีทาน ทานเป็นการทำบุญข้อที่หนึ่ง ทานนี่มาช่วยเพราะว่ามนุษย์นี้จะอยู่ดีสงบไม่ได้ถ้าขาดปัจจัยสี่เป็นจุดเริ่มต้น เพราะงั้นก็ต้องมีอาหาร เครื่องนุ่มห่ม เป็นต้น แต่มนุษย์ในสังคมนี้มีกำลัง มีความสามารถ มีโอกาสไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงต้องช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปันกัน ถ้าแต่ละคนต่างก็คิดจะเอาจะได้อย่างเดียว คนที่ไม่มีกำลัง ไม่มีความสามารถก็จะอยู่ด้วยความยากแค้นลำบาก และก็จะมีการเบียดเบียนกันมากสังคมก็ไม่มีความสงบสุข เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาก็เริ่มต้นด้วยข้อปฏิบัติเบื้องแรกก็คือให้มีการให้ ท่านทั้งหลายอย่าคิดแต่จะเอาจะได้อย่างเดียวนะ ต้องให้มีการให้คู่กันไปด้วย จะได้มีชีวิตและสังคมที่มีความสมดุล พอมีการให้ก็จะได้ไปปิดช่องอีกว่าความชั่วร้ายจำนวนมากเกิดขึ้นเพราะคนไม่มีทางทำมาหากิน เกิดความยากไร้ ก็ทำให้เสียภูมิต้านทานในการที่จะดำรงตนในความดี หรือในปกติ หรือในศีล ก็เลยต้องไปละเมิดก่อการเบียดเบียนกัน เช่น มีการลักขโมย เป็นต้น ฉะนั้นท่านก็ให้มีทานมาช่วยไว้ค้ำจุนสังคม ปิดช่องในการที่จะทำให้เกิดความชั่วร้าย การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่ว่าทานนี้ก็ต้องเป็นทานที่เกิดจากการพินิจพิจารณา รู้จักพิจารณาแล้วจึงให้เขาเรียกว่าวิจัยทาน มิฉะนั้นแล้วก็อาจเป็นทานที่กลายเป็นว่าส่งเสริมให้คนเกียจคร้านเป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี หรือให้แก่คนที่ทำการร้ายมีกำลัง แล้วก็ยิ่งทำการร้ายได้มากขึ้น ดังนั้นก็มีวิจัยทาน ทานที่ให้ด้วยการพิจารณา พอให้ทานก็จะช่วยให้สังคมนี้อยู่กันได้ด้วยดี เมื่อมีวัตถุพรั่งพร้อม
ต่อไปก็ด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องจะต้องช่วยกันซึ่งก็อยู่ที่การจัดสรรสังคม อันนี้ก็ต้องมีเรื่องศีล ก็คือเรื่องการที่จะไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันก็เป็นด้านสังคม เมื่อมีด้านเศรษฐกิจและสังคมดีแล้วก็ไม่ถือว่าพอ เพราะว่าถ้ามนุษย์มีเศรษฐกิจดี มีวัตถุพรั่งพร้อม ก็อาจจะเกิดความหลงระเริงมัวเมา เช่นอย่างสังคมที่ไปเอาวัตถุเป็นจุดหมาย หรือเอาความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย พอได้มีวัตถุบริโภคมากก็เลยเพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมา สังคมก็เสื่อมอีก ฉะนั้นทางพระพุทธศาสนาจึงให้ถือเรื่องความพรั่งพร้อมทางวัตถุหรือเศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัย ไม่ให้ถือเป็นจุดหมาย ฉะนั้นคำที่เรียกวัตถุในพระพุทธศาสนาเราจึงใช้คำว่า ปัจจัย ซึ่งเป็นการเตือนใจพุทธศาสนิกชนอยู่เสมอว่า วัตถุหรือเศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัย เป็นเครื่องเกื้อหนุน ไม่ใช่เป็นจุดหมาย คือเราต้องอาศัยมัน ไม่มีไม่ได้ ไม่มีแล้วสังคมก็เดือดร้อนและก้าวไปสู่คุณความดีเบื้องสูงไม่ได้ แต่ว่าเราไม่จบแค่นั้น เราอาศัยวัตถุพรั่งพร้อม เศรษฐกิจเป็นปัจจัยแล้ว มันจะได้หนุนเป็นฐานให้เราก้าวไปสู่คุณความดีที่สูงขึ้นไป ตอนนี้ก็คือก้าวไปสู่เรื่องของจิตใจและปัญญา
เรื่องจิตใจและปัญญาเป็นเรื่องของการพัฒนาชีวิตในขั้นสูง ท่านเรียกว่าภาวนา ก็แยกเป็น จิตภาวนา พัฒนาจิตใจ และปัญญาภาวนา พัฒนาปัญญา เช่น เรื่องศิลปวัฒนธรรม เรื่องการแสวงหาความรู้วิทยาการ เรื่องของสมถะ วิปัสนา อะไรต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องก้าวต่อไปโดยอาศัยฐานทางเศรษฐกิจและการจัดสังคมให้เรียบร้อย เมื่อเศรษฐกิจสังคมดีแล้ว คนก็พร้อม เรียกว่ามีปัจจัยเกื้อหนุน มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ตอนนี้ก็มามุ่งมั่นก้าวไปในเรื่องของจิตใจและปัญญา สังคมนั้นก็จะอยู่ดี แล้วก็กลับมาคุมให้เรื่องของเศรษฐกิจและสังคมนี้ไม่เป็นไปในทางเสียหาย ฉะนั้นสังคมใดที่ไม่มีครบตามนี้ แม้จะมีเศรษฐกิจดี สังคมเรียบร้อย ไม่ช้าก็เสื่อมเพราะว่าคนจะลุ่มหลงมัวเมาในวัตถุเป็นต้น ดังนั้นสังคมนี้ก็เรียกว่ามองผิด มีมิจฉาทิฏฐิ ไปมองเอาวัตถุหรือความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย ซึ่งเป็นที่น่ากลัวในสังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมบริโภคนิยมนี้ ก็บอกในตัวว่าจะเอาวัตถุเสพบริโภคเป็นจุดหมายซึ่งเป็นลาง เป็นนิมิตรบอกว่าจะเสื่อม เพราะว่าคนจะมัวเมาลุ่มหลง แล้วก็จะเกิดโทษ เกิดความเสื่อมทรามในเรื่องของวิถีชีวิตการดำรงอยู่ของคนทั้งหลาย
ฉะนั้นหลักพระพุทธศาสนาเรื่องบุญนี้จะมาทำให้ได้ครบหมด คือให้เราช่วยกันจัดชีวิตสังคมให้ดี มีคุณภาพยิ่งขึ้น และได้ทั้งส่วนตน ส่วนรวม ได้ทั้งด้านวัตถุ ด้านจิตใจ หรือวัตถุสังคม จิตใจและปัญญา สุดท้ายก็เรื่องปัญญาซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด สังคมใดที่มีจุดหมายทางปัญญาก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆไม่รู้จักจบ จนกระทั่งว่าทำให้ชีวิตนี้หลุดพ้นจากปัญหา หลุดพ้นจากความทุกข์ การแก้ปัญหาได้ทั้งหมดก็แก้ได้ด้วยปัญญานี้เอง ถ้าสังคมใดไร้ปัญญา สังคมนั้นก็เต็มไปด้วยปัญหา ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ปัญหาก็คู่กับปัญญา ปัญหามาเพราะปัญญาไม่มี ปัญญามาปัญหาก็หมดไป ฉะนั้นในสังคมนี้พระพุทธศาสนาสอนให้มีธรรมะข้อสูงสุดคือปัญญา ดังนั้นบุญทั้งหลายก็เลยไปจบด้วยปัญญา ก็เลยมีคำคู่ว่า บุญ ภาษาพระใช้คำว่า ปุญญ และในปุญญที่สูงสุดเรียกว่าปัญญา เวลาพูดกันง่ายๆก็เลยเรียกปุญญังกับปัญญา ปุญญังกับปัญญาให้มีคู่กัน ถ้าเรามีปุญญังคือความดีและปัญญาคู่กันจะเจริญงอกงามแน่ แต่ที่จริงปัญญาก็เป็นส่วนหนึ่งของบุญแต่เป็นส่วนยอดของบุญก็เลยแยกเอามาพูดไว้
เมื่อเราได้มาช่วยกัน เช่นการทำบุญต่างๆและทำตามหลักพระพุทธศาสนาก็ได้พร้อมหมด ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา ส่วนภาวนาก็ได้ทั้งจิตใจและได้ทั้งปัญญา คือทำด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบผ่องใส ทำด้วยความรู้ความเข้าใจ มองเห็นผลว่าจะเกิดผลดีอย่างไร เมื่อยิ่งเห็นผลมีปัญญามากเท่าไหร่จิตใจก็ยิ่งอิ่มเอิบผ่องใสมากเท่านั้น อย่างญาติโยมที่ทำบุญ พอมองเห็นว่าทานที่เราทำช่วยให้พระศาสนาดำรงอยู่ได้ ช่วยให้พระสงฆ์มีกำลังปฏิบัติศาสนกิจ ท่านจะได้สามารถเล่าเรียนพระธรรมวินัย นำธรรมะไปเผยแผ่สั่งสอนประชาชน ประชาชนได้ฟังธรรมะแล้วตั้งตนอยู่ในธรรมะ สังคมก็มีความสงบสุข มองเห็นอย่างนี้จะเห็นว่าทานที่ถวายนั้นมีผลประโยชน์กว้างเหลือเกิน พอถวายไปแล้วจิตใจก็อิ่มเอิบผ่องใส ก็ยิ่งได้บุญกันใหญ่เลย ฉะนั้นทั้งหมดนี้ไปด้วยกัน เมื่อรวมความก็คือว่าเมื่อญาติโยมทำบุญก็ได้ทั้งทาน ศีล ภาวนา ไม่ใช่ถวายแต่ทานอย่างเดียว
เหมือนอย่างที่วันนี้ท่านรัฐมนตรีได้นำสังฆทานมาถวาย ก็โดยปรารภทานนี้เป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็เป็นทานที่ดีที่สุดก็คือทานเพื่อสงฆ์เพื่อส่วนรวม เสร็จแล้วโดยอาศัยทานนี้ก็ด้วยรักษาศีลด้วย โดยเป็นนิมิตหมายว่าได้มาสมาทานศีล รับศีล แต่ที่จริงก็อยู่ในศีลอยู่แล้ว พอมาในที่ประชุมนี้ก็สำรวมกิริยาวาจา ไม่เบียดเบียนใคร แล้วก็มารักษาวัฒนธรรมประเพณีมีวินัยนี่ก็คือศีล ซึ่งการที่มาทำบุญกันอย่างนี้ก็ช่วยให้วัฒนธรรมของสังคมดำเนินต่อไป ให้สังคมมีระเบียบเรียบร้อยก็เป็นส่วนของศีล เราก็บำเพ็ญศีลไปด้วย และพร้อมกันนั้นเมื่อถวายทานนี้จิตใจก็มีความสงบด้วยบรรยากาศแวดล้อมก็ตาม ด้วยจิตใจที่มีศรัทธาในพระศาสนาก็ตาม จิตใจเบิกบานผ่องใส มีความปรารถนาดี มีเมตตาธรรม มีศรัทธาในพระศาสนาในพระรัตนตรัย จิตใจดีงาม แล้วก็มีปัญญารู้ เข้าใจ มองเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ทำก็ได้ครบหมด บุญก็มาจากการถวายทานอย่างเดียวแต่ได้พร้อมหมดทั้งทาน ศีล ภาวนา ก็เป็นบุญที่สมบูรณ์ วันนี้อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งท่านอธิบดี ท่านข้าราชการผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้เยี่ยมวัดและมาทำบุญถวายสังฆทาน ซึ่งถือว่าถวายแก่พระสงฆ์วัดนี้เป็นเพียงในฐานะตัวแทนของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่จะทำหน้าที่ดำรงธรรมวินัยและเผยแพร่ธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนสืบต่อไป ก็ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ท่านรัฐมนตรีฯ พร้อมทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกท่าน พร้อมทั้งประชาชนชาวไทยและชาวโลกทั้งหมดเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคี พรั่งพร้อมที่จะดำเนินชีวิตและกิจการให้ก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จสมความมุ่งหมาย ยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต แก่ครอบครัว แก่สังคมประเทศชาติ และแก่ชาวโลกทั้งหมดให้ร่มเย็นงอกงามในธรรมตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ
ก็อนุโมทนาท่านรัฐมนตรีฯ ที่มีความตั้งใจดี อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเด็กและเยาวชนของเรา ยิ่งสถานการณ์ของประเทศ ของโลกเป็นอย่างนี้ด้วยนี่ยิ่งต้องเตรียมให้พร้อม อาตมาภาพเองก็รู้สึกว่าเด็กไทยและคนไทยทั้งหมดเวลานี้อ่อนแอมาก อ่อนแอและก็ตั้งอยู่ในความประมาท ทีนี้การที่จะลุกขึ้นมาได้ก็ต้องมีความเข้มแข็ง การที่จะมีความเข้มแข็งก็ต้องมีอะไรที่เป็นหลักให้ เหมือนกับคนจะลุกขึ้นมานี่มีอะไรช่วยให้ยึดไว้ตั้งหลักขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีอะไรช่วยยึดเป็นหลักเขาก็ตั้งตัวไม่ค่อยได้ มีสิ่งล่อเร้านิดนึงก็เขวไปเขวมา พอมีอะไรมาช่วยตั้งเป็นหลักให้ยึดได้มันก็พอจะไหว เรื่องนี้ก็คงต้องเป็นเรื่องระยะยาวแต่ว่าต้องตั้งเป้าหมายกันให้ชัด ที่อาตมาภาพยกเรื่องบุญขึ้นมาก็เพราะว่าคำนี้เป็นคำกล่าวของเรา และถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้มันจะเลือนลาง แคบลงไป เพี้ยนไปบ้างแล้ว แต่ว่าก็ยังพอสื่อกันได้ที่เรียกว่ายังพูดกันรู้เรื่องอยู่ ทีนี้ถ้าหากว่าเรามาฟื้นฟูความหมายให้มันชัดขึ้นมาจะได้ประโยชน์มาก เพราะคำนี้โยงได้ทุกๆส่วนของสังคมตั้งแต่อย่างที่ว่าพระมหากษัตริย์ลงมาถึงชาวบ้านรู้กันหมดเลย เป็นแต่เพียงว่าเวลานี้ความหมายนี่ล่ะที่มันจาง เลือน และก็เพี้ยนไป ถ้าเราสามารถนำขึ้นมามันก็เป็นจุดอย่างที่ว่าสื่อใจถึงกันหมดเลยแล้วก็รวมใจได้เกิดพลังขึ้นมา อย่างชาวบ้านพอบอกว่าไปทำบุญนะ จะเกิดกำลังใจทันที กำลังใจด้วย จิตใจก็สบายเบิกบานผ่องใส ทำด้วยความสุข มันก็ทำให้สังคมดีได้ ทีนี้เวลานี้กิจกรรมของคนสมัยปัจจุบันมันเป็นกิจกรรมประเภทที่ว่าค่อนข้างแห้งแล้ง บางทีก็ฝืนใจทำกันไปอย่างนั้น เวลาจะไปทำงานส่วนรวมก็รู้สึกว่าฝืนใจต้องเสียสละ คำว่าเสียสละนี้มันมีความหมายเชิงลบอยู่ด้วย ถ้าคิดไม่ดีมันฝืนใจเลย ทีนี้ท่านฝึกคนให้ทำความดีโดยไม่ต้องรู้สึกเสียสละ ให้เป็นธรรมชาติเลย ก็หมายความว่าคนไทยนี้เราได้ฝึกความเสียสละจนกลายเป็นน้ำใจ พอเป็นน้ำใจแล้วมันเป็นคำบวกแล้วมันไม่ลบแล้ว พอเสียสละนี่มันยังรู้สึกฝืน ทีนี้คนไทยเราก็บอกว่ามีน้ำใจ คำว่าน้ำใจก็คือเสียสละนั่นเอง ก็คือเป็นเสียสละที่มีความหมายเป็นบวกไปแล้ว ใจเราก็พร้อมมีเมตตาทำเพื่อผู้อื่น ทำให้เขามีความสุขใจเราก็มีความสุขด้วย น้ำใจก็คือความเจริญพัฒนาของเสียสละ ทีนี้ทำอย่างไรจะให้ตัวนี้เกิดขึ้นมา พอมีน้ำใจมันก็เป็นบุญชัดเจนเลย พอเป็นบุญมันก็อิ่ม จะทำอะไรต่อมิอะไรจิตใจก็สบายมีกำลัง ฉะนั้นทำอย่างไรจะให้เด็กของเราก้าวเข้ามาในบุญ แต่ว่าต้องมีความหมายที่ถูกต้องด้วยนะ อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งโดยอาศัยพื้นฐานวัฒนธรรมของเราที่โยงไปหาพระศาสนา
โยม : ก็เป็นความพยายามที่จะใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แต่เดิม แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเราคงจะต้องพยายามทำให้เป็นการรวมพลังกันทั้งประเทศ ทุกโรงเรียน ก็คงจะต้องให้เป็นนโยบายกันไปถึงทุกโรงเรียน ให้รวมพลังกันทั้งในระดับผู้บริหารโรงเรียน ครูในโรงเรียน และก็เด็กในโรงเรียน ให้ร่วมกันสวดมนต์อาจจะไม่ใช่เวลาเดียวกัน คงจะเป็นไปตามความสะดวกของแต่ละโรงเรียน ถ้าวันพระใดตรงกับเสาร์อาทิตย์ก็จะเป็นวันศุกร์ที่เขาจะสวดมนต์กัน ในส่วนของศาสนาอื่นนั้นก็จะมีวันสำคัญในแต่ละอาทิตย์อยู่แล้ว เช่น วันอาทิตย์ชาวคริสต์จะไปโบสถ์ ส่วนชาวอิสลามก็จะละหมาดกันอยู่แล้ว ในส่วนของศาสนาพุทธนั้นถ้ากำหนดให้วันพระเป็นวันสัญลักษณ์แห่งการทำความดีพร้อมกันทั้งประเทศก็น่าจะเป็นการรวมพลังที่เริ่มต้นด้วยจิตใจและก็จะเชื่อมโยงกับพระบรมราโชวาทที่ว่าด้วยฆราวาสธรรม ดังที่ท่านที่ปรึกษาสุนัยได้ไปค้นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระกระแสรับสั่งมา
พระพรหมคุณาภรณ์ : ก็คือฆราวาสธรรม 4 ท่านได้ตรัสมาหลายปีแล้วก็คือสัจจะ ธรรมะ สันติ จาคะ ก็เป็นธรรมสำหรับญาติโยมต้องใช้ทุกระดับ
โยม : คือปัญหาใหญ่เรื่องจริยธรรมรวมคือเราหาสิ่งที่จะเป็นพันธะทางจริยธรรม Moral Aggregation มันไม่ได้ในยุคตรงนี้ เหมือนอย่างที่ท่านว่าทำแล้วรู้สึกต้องเสียสละ ทำความดีเป็นเรื่องยาก แต่ว่าถ้าหาเงินหาทองเป็นเรื่องง่าย มันมีผลตอบแทนทางวัตถุธรรมชัดเจน อย่างสมัยก่อนเราใช้ความเชื่อในแต่ละศาสนา ถ้าเชื่อในพระเจ้า พระเจ้าก็จะเป็นตัว Moral Aggregation ทำดีได้ไปสวรรค์ แต่เพราะความเชื่อตรงนี้มันหายไปจากสังคม ในทุกวันนี้เราต้องพยายามสร้างสิ่งที่เป็นพันธะทางจริยธรรมขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องยากตรงนี้
พระพรหมคุณาภรณ์ : ก็ต้องอาศัยปัญญาด้วย คือพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาที่เน้นปัญญา โดยอาศัยศรัทธาเป็นจุดเริ่มแต่ว่าต้องสมดุล ท่านเรียกว่าต้องให้อินทรีเสมอกัน ศรัทธากับปัญญาต้องสมดุล ถ้าศรัทธามากไปไม่มีปัญญาก็งมงายแล้วก็รุนแรง ศรัทธาเชื่อนี่อาจจะดีไม่ดีฆ่ากันเลยเพราะว่าเชื่อ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าบอกว่าต้องมีปัญญาคุม มีปัญญาไม่มีศรัทธาก็จับจด เดี๋ยวก็รู้เรื่องนี้นิดๆหน่อยๆไม่เอาจริงเอาจังสักเรื่อง พอมีศรัทธาว่าเรื่องนี้ดี เป็นสิ่งที่ดี จะนำเราเข้าถึงชีวิตที่ดีงามให้ประโยชน์แท้จริง พอเกิดศรัทธาขึ้นมาคราวนี้จะเรียนรู้ศึกษาจริงจัง ฉะนั้นท่านก็บอกว่าต้องให้ศรัทธากับปัญญาคู่กัน ทีนี้ของชาวพุทธเรานั้น เราจะให้เด็กก้าวไป ศรัทธาก็ส่วนหนึ่ง แต่ศรัทธานั้นประกอบด้วยปัญญาที่ว่า คือศรัทธาพุทธก็เริ่มด้วยปัญญาอยู่แล้วมันอาศัยตั้งแต่ต้นเพราะเห็นว่าสิ่งนี้มีเหตุผลดีงามเป็นประโยชน์ก็เริ่มศรัทธาเชื่อ แล้วพอเชื่อก็เลยยิ่งศึกษาเรียนรู้ พอยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งเข้าใจเห็นประโยชน์ขึ้นมาก็ยิ่งศรัทธาแน่นแฟ้นขึ้น ก็หนุนกันขึ้นไปอย่างนี้ ทีนี้ศรัทธาชาวพุทธก็ต้องชี้แจงเริ่มต้นเลยว่าจะทำอะไรให้เห็นคุณค่าว่าประโยชน์เกิดขึ้นแก่ชีวิตอย่างไร แก่สังคมส่วนรวมอย่างไร ให้เขาเกิดศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นศรัทธาญาณสัมปยุต พอประกอบด้วยปัญญาก็จะเข้าทางของธรรมะได้ ทีนี้ท่านก็ให้ระวังเรื่องนี้ก็คือต้องให้มีความสมดุลระหว่างศรัทธากับปัญญา และในที่สุดศรัทธาก็จะนำไปสู่ปัญญาที่แท้จริงจนกระทั่งเลยขั้นศรัทธา เข้าถึงเป็นพระอรหันต์ก็คือไม่ต้องอาศัยศรัทธาต่อไป
ทีนี้ทำอย่างไรจะให้เด็กของเรานี้ได้ปัญญาที่เข้าถึง เข้าใจความจริง ครูอาจารย์ก็ต้องมีปัญญา จะให้เด็กเกิดศรัทธาที่แท้ที่มีปัญญานี้ถ้าครูไม่รู้ ครูไม่มีปัญญา แล้วจะไปชี้แจงให้เด็กเข้าใจแล้วเด็กจะเกิดศรัทธาได้อย่างไร มันก็ต้องศรัทธาแบบบังคับ ศรัทธาแบบงมงาม ศรัทธาแบบสักแต่ว่าเชื่อ ฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาคุณภาพครูว่าให้ครูมีปัญญา มีความรู้เข้าใจ ที่สามารถโน้มจิตใจเขาให้เกิดความเชื่อจากความดีงามของครูเอง อันนี้อันที่หนึ่ง เมื่อเขาเชื่อแล้วว่าครูเป็นคนดี เป็นคนมีความสามารถ เป็นคนมีปัญญา เขาเชื่อในตัวครู พอครูพูดอะไรเขาก็พร้อมที่จะเชื่อแล้ว และครูก็มีความสามารถ มีปัญญารู้และเข้าใจสิ่งนั้น ก็มาแนะนำว่าสิ่งนี้มันเป็นความจริงอย่างนี้ เป็นประโยชน์อย่างนี้ มีคุณค่าอย่างนี้ เด็กก็เห็นด้วย ก็เกิดศรัทธาขึ้นมาก็ทำตาม ทำอย่างไรเราจะให้ได้ศรัทธาแบบที่ถูกต้องที่เป็นไปด้วยปัญญาซึ่งต้องอาศัยกัลยาณมิตรที่ดีก็เลยต้องมีครูอาจารย์ที่มีความสามารถ ฉะนั้นก็มาถึงปัญหาเรื่องพัฒนาคุณภาพครู
โยม : อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากนะคะ เรื่องการพัฒนาคุณภาพครู ดิฉันต้องกราบเรียนพระคุณเจ้าว่าเมื่อวานนี้ ดร.พิเชษฐ์ ก็อยากจะมากราบวันนี้แต่ว่ามีภาระกระทันหันที่จังหวัดนครราชสีมานะคะ แล้วก็ท่านก็ได้เอาหนังสือมาให้ดิฉันเล่มหนึ่ง เรื่องบุญบารมีที่จะกู้แผ่นดินไทย ซึ่งกรมวิชาการได้พิมพ์นะคะ แล้วดิฉันก็เอาติดรถมาด้วย ตรงกับที่พระคุณเจ้าได้เทศน์วันนี้ซึ่งดิฉันดีใจมากๆ เพราะดิฉันรู้สึกว่าบุญที่เราพูดถึงว่าทาน ศีล ภาวนา ยังขยายความอีกเป็นบุญกิริยาวัตถุ 10 ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกได้ทั้งนั้น ดิฉันเคยจำได้ว่ามีทาน ศีล ภาวนา วาจาอ่อนน้อม ถ่อมตนรับใช้ เฉลี่ยให้ความดี มีใจอนุโมทนา ใฝ่หาฟังธรรม นำไปปฏิบัติไม่เว้น แล้วก็ปรับความเห็นให้ตรง อันนี้ดิฉันคิดว่าเราสามารถที่จะเผยแพร่ให้เป็นพฤติกรรมให้เป็นรูปธรรมได้นอกจากจะพูดแค่ว่าทาน ศีล ภาวนา เพราะบางครั้งพฤติกรรมที่เด็กเขาแสดงออกเป็นสิ่งที่วางพื้นฐาน ดิฉันเข้าใจว่าความอ่อนโยนนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราใส่อะไรเข้าไปได้ไม่ยากใช่ไหมคะ
พระพรหมคุณาภรณ์ : ใช่ เพราะตัวอปจายนมัยนี้ เป็นบุญที่ว่าคือไม่เย่อหยิ่งและไม่ดูถูกคนอื่น ก็มีความสุภาพอ่อนโยน พร้อมที่จะรับฟังคนอื่น และก็พร้อมที่จะทำหรือน้อมรับสิ่งที่ดีงามเข้ามาประพฤติปฏิบัติ มันก็โยงกันไป ถ้าหากเราได้บุญกิริยาวัตถุ 10 นี้มาเป็นหลักและก็สร้างเป็นคุณสมบัติในตัวคน อยู่ในตัวเด็ก มันก็กลายเป็นการศึกษานั่นเอง เพราะว่าบุญนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า (ปุญ ญะ เม วะ โส สิก ขะ ยะ) พึงศึกษาบุญ ก็เป็นหน้าที่ของเราศึกษาบุญก็คือฝึกให้ความดีเหล่านี้มาเกิดขึ้นมาในชีวิต เป็นคุณสมบัติขึ้นมาในตัวเรา พอมาเป็นคุณสมบัติในตัวเราชีวิตของเราก็มีคุณภาพดีก็ไปด้วยกันได้เลย
โยม : เมื่อกี้ท่านรัฐมนตรีฯ หันมาบอกดิฉันว่าจะถวายท่านให้ทราบเรื่องของครูนะคะ แต่ว่าเราก็คิดว่าในเรื่องของการบูรณาการวิชาการ ศาสนา แล้วก็วัฒนธรรมนี้ ในเรื่องศาสนานี่เราคงต้องกราบขอความเมตตาจากพระที่ท่านเคยได้เป็นพระวิทยาการ เป็นพระที่ท่านสามารถที่จะสอน แล้วก็เล่านิทานชาดกได้ ก็จะให้ท่านได้กรุณามาสอนในโรงเรียนของเราให้มากขึ้น แต่ก็จะมีสองอย่างก็คือว่าท่านมีความสามารถของท่านอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งก็จะถวายความรู้ท่านเพื่อให้ได้อยู่ในท้องถิ่นของท่านเอง เป็นความสมัครใจที่ว่าท่านจะเมตตาช่วยเราในเรื่องของการสอนพระพุทธศาสนา เพราะว่าสมณสารูปนี่ก็เป็นสิ่งที่เด็กประทับใจมากกว่าที่จะเห็นครูแต่งน้ำเงินขาว หรืออะไรทุกวันอย่างนี้ค่ะ
พระพรหมคุณาภรณ์ : พระนี่มีหน้าที่ให้ธรรมะ โยมนี่มีหน้าที่คู่กับพระนะ ทั้งสองฝ่ายพระพุทธเจ้าตรัสว่า (อัน โย ยะ นิ สิ ตา) อาศัยซึ่งกันและกัน อาศัยอย่างไรท่านบอกว่าโยมก็ถวายอามิสทาน คือปัจจัย 4 วัตถุ พระจะได้ไม่ต้องกังวลด้านวัตถุ จะได้ตั้งใจทำงานของตัวเองศึกษาเล่าเรียนเผยแผ่ธรรมะไปปฏิบัติไป ทีนี้พระก็มีหน้าที่เหมือนกับโยมก็คือธรรมทานคือให้ธรรมะ ทั้งสองฝ่ายนี่ก็ต้องทำทานด้วยกันทั้งคู่ ที่พระให้ธรรมก็มีสองอย่างให้โดยพูดกับให้โดยไม่ต้องพูด ให้โดยพูดก็คือพอมีความรู้เข้าใจแล้วก็มาแนะนำสั่งสอน ให้โดยไม่ต้องพูดก็หมายความว่าปรากฎตัวที่ไหนก็ทำให้ใจโยมผ่องใสที่นั่น พอโยมใจผ่องใสก็เป็นธรรมะทันที ฉะนั้นในสังคมของเราวัฒนธรรมของเราจึงเน้นว่าให้พระเรานี้เป็นเครื่องหมายของความไม่มีภัย ขั้นต้นที่สุดเจอพระที่ไหนต้องรู้สึกไม่มีภัยอันตราย เห็นพระในป่า ในที่เปลี่ยว พอเห็นพระก็โล่งใจสบาย อย่างนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกต้อง ทีนี้พอเห็นอาการกิริยาที่สงบ สำรวม มีสมณสัญญา ญาติโยมก็จิตใจเบิกบานผ่องใส ก็ได้ธรรมะในใจโดยพระยังไม่ต้องพูด ที่เรามีพิธีกรรมอะไรต่างๆ ในความมุ่งหมายอันหนึ่งก็เพื่ออันนี้ ถึงแม้พระไม่ได้พูดอะไรพอปรากฎตัวขึ้นมาญาติโยมก็จิตใจสบาย แม้แต่ตื่นเช้าขึ้นมาเห็นพระเดินมาบิณฑบาต สมัยก่อนเดินกันเป็นแถวเลย เห็นมาโยมก็ทำบุญตักบาตร เช้าพระเดินลัดท้องทุ่งนามาสีจีวรตัดกับสีแดดยามรุ่งอรุณจิตใจโยมก็ปลาบปลื้มใจ ก็เรียกว่าเริ่มต้นวันด้วยความมีจิตใจผ่องใส ฉะนั้นพระก็ให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด ทีนี้หน้าที่ของพระก็คือให้ธรรมะ ดังนั้นเราก็ต้องทำให้พระมีคุณสมบัติที่จะให้ธรรมได้ด้วย ก็หมายความว่าต้องพัฒนาคุณภาพพระด้วย ก็การศึกษานี้ก็คือสำคัญมากในการพัฒนาพระที่ท่านรัฐมนตรีฯพูดถึงเรื่องการขึ้นทะเบียนพระที่ท่านมีความสามารถในการสอน เรื่องการใช้สื่อเวลานี้เป็นปัญหามากได้ยินกันมาหลายปี พระเผยแผ่ออกวิทยุเป็นโทษเสียเยอะ ไปเรี่ยไร ไปพูดเรื่องไม่ควรพูด ก็เสียหาย ทีนี้ถ้าเราปล่อยปละละเลยสังคมก็ตกอยู่ในความประมาท อาตมาภาพก็เลยขอโอกาสพูดเรื่องนี้ด้วยว่าจะมีทางแก้ไขอย่างไรให้การจัดเรื่องสื่อของเรา พระที่ออกวิทยุนี้ ให้เข้าสู่แนวทางของการให้ธรรมะแก่ประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ไปหาผลประโยชน์ ไม่ใช่ไปพูดเรื่องไม่เป็นเรื่อง ชักชวนประชาชนไปในทางลุ่มหลง ถ้าแก้ได้ตรงนี้ก็คือการที่เราจะต้องมีการจัดระบบใช่ไหม ไม่ให้ทำกันเรื่อยเปื่อย อันนี้ก็เป็นข้อที่ดีถ้าหากว่าจะมีการลงทะเบียนพระแต่ว่าเราก็ต้องมีวิธีการมาตรการดีจริงๆ แล้วเราก็มั่นใจว่าได้พระที่มีคุณภาพมาทำงาน และเรามีที่อ้างอิงเวลาเกิดปัญญาความต้องการก็หาได้ทันที ไม่ใช่ว่าไม่รู้จะไปเอาที่ไหน อันนี้ก็เป็นความคิดที่จะช่วยได้มากแต่ว่าทำอย่างไรเราจะได้อย่างกว้างขวาง ก็คงต้องมีการประสานงานกันกับหน่วยงานทางพระศาสนา อาจจะเป็น เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ ว่าจะมาหาบุคลากรที่มีคุณภาพได้อย่างไร แล้วก็ประสานกลับไปถึงเรื่องสื่อที่ว่าเวลานี้การศึกษานี่สื่อมีอิทธิพลมาก บางทีมีอิทธิพลมากกว่าโรงเรียนอีกนะ สื่อนี่ให้การศึกษากับประชาชน บางทียิ่งกว่าโรงเรียน ทีนี้ถ้าสื่อทำผิดก็เลยกลายเป็นมิจฉาศึกษา??? เป็นการศึกษาที่ผิด ก็คือไม่ใช่การศึกษา ก็ยิ่งทำให้สังคมตกต่ำลง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเอาใจใส่เรื่องสื่อนี้ด้วย ก็คือต้องช่วยกันว่าทำอย่างไรจะจัดระบบสื่อในแง่ของการศึกษานี้ให้ได้ผลจริงๆ ซึ่งก็โยงมาหาเรื่องพระ เรื่องพระศาสนา
ก็เคยพูดอันหนึ่งว่าประเทศไทยเรานี้มีพุทธศาสนิกชน 95% แล้วถ้าเราดูส่วนมาก อย่างจังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือ ส่วนมากจะแทบ 100% เลย หลายจังหวัดก็ 100% แล้วที่น่าเสียดายก็คือว่าคน รวมทั้งเด็กๆที่เรียกตัวว่าเป็นชาวพุทธ นับถือพระพุทธศาสนาแต่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนาสอนว่าอย่างไร เชื่อว่าอย่างไร และปฏิบัติอย่างไร ก็เลยไม่มีความรู้ มีความเชื่อที่ผิด ก็เลยประพฤติปฏิบัติผิด และคนเหล่านี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ แล้วไปประพฤติปฏิบัติผิดจากหลักพระพุทธศาสนานี้ก็ทำให้เกิดปัญหาสังคม ฉะนั้นวิธีหนึ่งที่ตรงที่สุดในการแก้ปัญหาสังคมไทยนี้ก็คือ ให้คนที่ชื่อว่าเป็นพุทธซึ่งเป็นพลเมืองแทบทั้งหมดของประเทศให้รู้ศาสนาของตัวเองเสีย รู้ให้ถูก เชื่อให้ถูก ปฏิบัติให้ถูก มันก็แก้ปัญหาสังคมไทยทันทีเลย ในตัวเลย ตรงไปตรงมาที่สุด ทีนี้ทำอย่างไรเราถึงจะทำได้ ก็หมายความว่าเธอเป็นชาวพุทธใช่ไหม บอกว่านับถือพระพุทธศาสนา แล้วเธอก็ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ปฏิบัติก็ไม่ถูก ก็ทำให้เธอเชื่อถูก ปฏิบัติถูก รู้ เข้าใจ จะแก้ปัญหาเลย ก็น่าจะได้ทำอันนี้ซึ่งตรงไปตรงมา แทนที่จะไปหาอันโน้นอันนี้อ้อมค้อมไปมาอยู่
โยม : ดังนั้นก็คงจะต้องมีเรื่องที่ทางฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์ช่วยกันทำในเรื่องของสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาของสื่อที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่วัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่นซึ่งเขาช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วก็ค่อนข้างที่จะหลงทางในเวลานี้ ในเรื่องที่คงต้องกราบขอความเห็นจากพระคุณเจ้าก็คือ แนวทางที่จะพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนให้เป็นผู้นำทางปัญญา
พระพรหมคุณาภรณ์ : อันนี้ก็สำคัญ อย่างน้อยผู้บริหารจะต้องมีความภูมิใจในสังคมไทยด้วย ภูมิใจในวัฒนธรรมไทยบ้าง ขณะนี้คนไทยสูญเสียอันหนึ่งที่สำคัญมากคือไม่มีความภูมิใจในพื้นฐานของสังคมของตัวเอง ขาดลอยจากรากฐานของสังคม ทีนี้ก็เลยกลายเป็นคนเคว้งคว้าง จะเอื้อมไปเอาฝรั่งก็เอาไม่ถึง เอามาไม่ได้จริง ของตัวเองก็หลุดลอยไปแล้ว ก็เลยเสียทั้งคู่เลย สังคมก็เคว้งคว้างกันใหญ่ พอผู้ใหญ่เคว้งคว้างเด็กก็เคว้งคว้างด้วย ฉะนั้นต้องมีความมั่นคง ความมั่นคงนั้นเกิดจากความมั่นใจ คนเราไม่มีความมั่นใจมันก็มั่นคงไม่ได้ ทีนี้ความมั่นใจก็เกิดจากความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่นเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวมี พอเราเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวมี วัฒนธรรมไทยสังคมไทยเรามีดีอะไร พอเรามองเห็นคุณค่าจะเกิดความมั่นใจทันที พอเกิดความมั่นใจทิศทางก็เกิดทันที ความเข้มแข็งเกิดขึ้น เป้าหมายเกิดขึ้น เราก็เดินหน้าได้เลย ตอนนี้ของเราอ่อนแอเพราะอันหนึ่งก็คือขาดความมั่นใจในตัวเอง แล้วก็ไม่รู้จักคุณค่าพื้นฐานวัฒนธรรม ฉะนั้นตอนนี้ต้องฟื้นให้ได้และต้องพัฒนาคุณภาพผู้บริหารด้วย ก็ต้องทุกด้านนะตอนนี้แต่ว่ามีทางนะ แต่ว่าทีนี้เราจะทำอย่างไรให้คนของเราได้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมสิ่งที่เป็นรากฐานของสังคมไทย อันนี้ก็ต้องเกิดจากปัญญาด้วย ก็คือว่าอยู่ๆเขาจะมาเห็นคุณค่าได้อย่างไรใช่ไหม เขาไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ต้องมีปัญญารู้เข้าใจ เราก็ต้องชี้แจงอะไรต่างๆเหล่านี้ ก็เลยต้องขอโอกาสพูดเรื่องตัวเอง เวลานี้อันหนึ่งก็คือพยายามที่จะชี้ หนึ่ง ให้รู้เข้าใจตัวเอง สอง ให้รู้เขา ฝรั่งเป็นมาอย่างไร รากฐานมาอย่างไร ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ในปัจจุบัน ต้องเข้าใจเขาให้ชัด พอเข้าใจเขาชัด รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร เหตุผลที่ทำให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็นปัจจุบันนี้มันจะมองเขาออก พอมองเขาออกก็จะเห็นคุณค่าของตัวเองขึ้นมาด้วย ทีนี้ตอนนี้มันเลื่อนลอย คล้ายๆว่ามองเห็นแต่ผิวเผิน มองเห็นสังคมฝรั่งก็เห็นแต่ผลไม่ได้เห็นเหตุ ผลก็คือความเจริญอย่างที่เขาเป็นปัจจุบัน มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พอเห็นความเจริญที่เป็นผลแล้วก็เลยอยากจะได้ อยากจะรับ ก็ได้แต่รับ ได้แต่บริโภค ได้แต่ตามเขาไป ทีนี้ถ้าเรามีการศึกษาก็คือไม่ดูแค่ผล แต่ดูว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้เขามีผลอย่างนี้ เราก็ต้องศึกษาเข้าใจสังคม อเมริกัน เป็นต้น ว่าเหตุปัจจัยมันเป็นอย่างไร พอเข้าใจแล้วมันก็โยงมาหาการเข้าใจในตัวเองได้ ฉะนั้นตอนนี้อย่างสำนวนเก่าเขาบอกต้องรู้เขารู้เรา อันนี้ก็เป็นความหมายหนึ่งของการรู้เขารู้เรา คือไม่ใช่รู้แค่มองเห็นข้างนอกนะ รู้เหตุปัจจัยกันเลย การรู้เหตุปัจจัยนี่สำคัญ คือสังคมไทยนี่เรามักไม่เอาที่ตัวเหตุปัจจัยทั้งๆที่พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องเหตุปัจจัย เราจะเอาแค่ผล เวลาไปมองฝรั่งก็ดูว่าเขามีผลอะไรให้เราบริโภคบ้างก็จะรับผลนั้น แล้วก็ชื่นชมวนอยู่กับเรื่องผลที่เกิดขึ้น ไม่พยายามรู้เหตุ แล้วก็ไม่ทำเหตุด้วย ก็เสวยผล หนึ่ง รู้แต่ผล สอง เสวยผล ทีนี้สองต้องรู้เหตุปัจจัยและก็ทำเหตุปัจจัย ตรงทำเหตุปัจจัยนี้มันจะสำเร็จ เหมือนอย่างที่พูดบ่อยๆว่าคนไทยมองความเจริญ อย่างเช่น ความเจริญของฝรั่ง ว่าอยากจะเจริญอย่างฝรั่ง แต่ที่ลึกกว่านั้นก็คือมองความเจริญนั้นอย่างไร ถ้ามองความเจริญแบบนักบริโภคก็คือ ฝรั่งมีกิน มีใช้ มีบริโภคอะไร ถ้าฉันมีกิน มีใช้ มีบริโภคอย่างนั้น ฉันก็เจริญแบบฝรั่ง อย่างนี้เรียกว่ามองความเจริญแบบนักบริโภค ทีนี้ถ้ามองความเจริญแบบนักผลิต นักสร้างสรรค์ ฝรั่งเจริญเขาทำอะไรได้ ฉันต้องทำได้อย่างนั้น อย่างนี้ล่ะไปได้เลยประเทศไทย เด็กไทยตอนนี้ไม่มีเลย แทบหาไม่ได้เลย ฝรั่งทำอะไรได้ ญี่ปุ่นทำอะไรได้ ฉันต้องทำได้อย่างนั้น ถ้าเมื่อไหร่เด็กไทยมีอันนี้นะ ไม่กี่ปี 5 ปีเท่านั้นแหล่ะไทยไปลิบเลย แต่เวลานี้มองแค่นี้ว่าฝรั่งมีกินมีใช้มีบริโภคอะไรฉันจะมีอย่างนั้น พอมีแล้วก็รู้สึกโก้ภูมิใจฉันเป็นเหมือนฝรั่งแล้ว แต่เปล่า ไม่เป็นเหมือนหรอก ไม่มีทางเป็น มันต้องทำได้อย่างฝรั่ง ฝรั่งทำอะไรได้ ญี่ปุ่นทำอะไรได้ ฉันต้องทำได้อย่างนั้นหรือว่าทำได้ดีกว่านั้นอีก อย่างนี้ล่ะก็ไทยไปได้
โยม : ขณะนี้ใกล้เวลาเพล คงต้องขอมากราบนมัสการพระคุณเจ้าในโอกาสต่อๆไป
พระพรหมคุณาภรณ์ : ก็ขออนุโมทนาท่านรัฐมนตรีฯมาก พร้อมทั้งท่านอาจารย์ทุกท่านด้วยที่ได้มาด้วยมีความตั้งใจดีต่อประเทศชาติ สังคม โดยเฉพาะเด็กเยาวชน อาตมาภาพอนุโมทนาอย่างยิ่งเลยว่าเราจะช่วยกันฟื้นสังคมให้ได้ เราก็ต้องมี หนึ่งจิตใจที่มีเป้าหมาย และก็มีความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง และก็มีความเข้มแข็งในตนเอง พอเรามองเห็นด้วยปัญญาว่าอันนี้ถูกต้อง ดีงามแท้ ความมั่นใจเกิดขึ้น พลังเกิดขึ้น เดินหน้ากันต่อไป ก็ขอให้ทุกท่านได้ดำเนินภารกิจเพื่อความมุ่งหมายนี้ให้สำเร็จด้วยดีทุกท่าน ขออนุโมทนา