แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ ก็ยังไม่ถึงที่จะทำอีก เพราะตอนนี้ก็ยังแก้บทลอกเทปยังไม่เสร็จ เพราะฉะนั้นก็จะเอาเรื่องเบ็ดเตล็ดที่อยู่ในบทนอกเทปนั้นมาพูดต่อไป เรื่องที่อยากจะพูดในวันนี้ก็คือความรู้เกี่ยวกับกิเลสบางอย่าง กิเลสที่เรารู้จักมากก็คือที่เรียกว่า โลภะ โทสะ และโมหะ ได้ยินกันอยู่เสมอ ภาษาไทยเราบางทีก็เรียกว่า โลภ โกรธ หลง แต่บางทีก็ว่าตรงตามบาลีไปเลยว่า โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสชุดนี้มีชื่อว่า อกุศลมูล แปลว่า รากเหง้าหรือต้นตอของอกุศล คือเป็นต้นตอของความชั่วความไม่ดีทั้งหลายทั้งหมด
แต่ที่นี้ความจริงก็มีกิเลสอีกชุดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสบ่อยๆ ในภาษาไทยเรา ให้ความสำคัญน้อย หรือว่าเราไม่ค่อยพูดถึง อาตมภาพก็เลยได้ยกขึ้นมาพูดว่า ที่จริงเป็นตัวที่สำคัญมาก ในพระบาลีท่านกล่าวถึงอยู่เสมอทีเดียว และก็มีชื่อที่แปลก เราไม่คุ้นหูเลย กิเลสชุดนี้มี 3 เหมือนกัน เหมือนกับชุด โลภะ โทสะ โมหะ คือ 1 ตัณหา 2 มานะ 3 ทิฏฐิ และก็มีชื่อเรียกอีกรวมว่า ปปัญจธรรม ป-ปัญ-จ แล้วก็ ธรรมะ ปปัญจธรรม นั้นก็แปลว่าธรรมหรือสิ่งก็ได้ สิ่งที่ทำให้ฟั่นเฝือพิสดาร สิ่งที่ทำให้ฟั่นเฝือพิสดารคือทำให้เยิ่นเย้อยืดยาว เช่นว่า แทนที่เราจะเข้าถึงความจริง ก็ไปมัวติดกับเรื่องปปัญจธรรมหรือกิเลส 3 ตัวนี้ ก็พาให้ยุ่งเหยิง ให้วกวน ให้เยิ่นเย้อยืดยาวไป ไม่เห็นความจริง ทั้งๆ ที่ความจริงอยู่ตรงหน้า ก็พาเราวุ่นวายไปหมดจนมองไม่เห็น หรือว่าเรื่องราวของคนเราที่ว่าจะเป็นไปด้วยดี ที่ว่าจะตกลงกันง่ายๆ อะไรมีปัญหาเกิดขึ้น จะตกลงกันก็ไม่ได้ เพราะว่ามี 3 ตัวนี้เข้ามา มันทำให้วกวนทำให้เยิ่นเย้อยืดเยื้อออกไป ทำให้วุ่นวายออกไป อาตมภาพก็เลยแปล ปปัญจธรรมนี่แปลยาก ยาวด้วยและชื่อก็จำยาก แปลอย่างไรดี แปลให้ใกล้ๆ กับศัพท์เดิม ก็แปลว่า กิเลสตัวปั่น กิเลสตัวปั่น เพราะมันคือ ปปัญจะ ปั่นให้วุ่นไปหมด ให้วุ่นวาย สับสน ให้ซับซ้อน
ที่นี้มาดูว่า กิเลส 3 นี้มันปั่นอย่างไรบ้าง (1) ตัณหา แปลว่า ความอยาก ความทะยานอยาก ความดิ้นรนต้องการ ต่างๆ และ (2) มานะ แปลว่า ความถือตัวความสำคัญตน สำคัญตนว่าเราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เราสูงกว่า เราเหนือกว่า หรือแม้แต่ถือว่าเราต่ำกว่า เราเสมอเขา เขาก็เท่ากับเรา เราก็เท่ากับเขา คือถือตัว ถืออย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นการที่เรียกว่ามีมานะทั้งสิ้น และอันที่ (3) คือ ทิฏฐิ ทิฏฐิแปลง่ายๆ ว่าความเห็น ในที่นี้หมายถึงว่าความดึงดันในความเห็น ในภาษาไทยเราก็ใช้กันบ่อย มีทิฏฐิ บางทีเราใช้ควบกันไปสองคำเป็น ทิฏฐิมานะ ว่าคนนี้มีทิฏฐิมานะ ในเมื่อมีทิฏฐิมานะก็ไม่ยอมกันอะไรอย่างนี้ ทิฏฐิ นี่ก็หมายถึง ความยึดติดในความเห็น ดื้อดึงในความเห็น
กิเลส - ตัวนี้เป็นปัญหา เพราะว่าคนมักจะอยู่ใต้อำนาจของมัน จะเป็นปัญหาตั้งแต่บุคคลไปจนกระทั่งถึงปัญหาระดับโลก อาตมภาพก็มองเห็นง่ายๆ ระดับโลกทีเดียว ที่เราพูดในระดับเล็กๆ น้อยๆ นี่ก็ต้องใช้เวลายืดยาว แต่ปัญหาของโลกเนี่ย ที่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีการรบราฆ่าฟัน มีสงครามอะไรต่างๆ ลองดูเถิด ก็มาจากกิเลส 3 อย่างนี้ทั้งนั้น
ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะตัณหา อยากได้ผลประโยชน์ แย่งชิงผลประโยชน์กันระหว่างประเทศโน้นประเทศนี้ ก็เป็นเพราะเรื่องมานะ ถือว่าฉันเป็นประเทศใหญ่ ท่านเป็นประเทศเล็ก หรือประเทศนี้ก็อยากจะเป็นประเทศใหญ่ก็แสวงหาอำนาจ ก็แผ่อำนาจไป ไปรบราฆ่าฟันบุกรุกดินแดนของคนอื่น ประวัติศาสตร์ก็เป็นมาอย่างนี้
และสมัยปัจจุบันนี้ก็มาเด่นอันที่ 3 อันที่ 3 ก็คือความยึดติดในลัทธิ เดี๋ยวนี้มีคำว่าลัทธินิยม อุดมการณ์ต่างๆ พูดกันบ่อย อุดมการณ์โน้นอุดมการณ์นี้ อย่างปัจจุบันนี้มีลัทธิสองฝ่ายที่กำลังต่อสู้กันอย่างมาก และสงครามที่เกิดขึ้นในหลายแห่งก็มาจากอำนาจหรืออิทธิพลของลัทธิ 2 อันนี้ ที่เราบอกว่าลัทธินิยมคอมมิวนิสต์ ลัทธินิยมประชาธิปไตยอะไรนี่ ก็อยู่ในข้อที่ 3 ทิฏฐิ ความยึดติดในความเห็น ในลัทธินิยม ในอุดมการณ์ต่างๆ ตลอดจนกระทั่งว่า แม้แต่พระศาสนาเอง ถ้ายึดไม่ถูกต้อง ถ้ายึดถือยึดติดเข้าแล้ว เกิดมีความยึดมั่นถือมั่นเกินไป อย่างที่เรียกว่า งมงาย ก็กลายเป็นคลั่งศาสนา
เราจะเห็นว่าในบางประเทศมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างศาสนามาก เพราะว่ามีความยึดติดในลัทธิของตน และก็มีความคลั่งในศาสนา แล้วก็รบราฆ่าฟันกันมา อย่างบางประเทศรบกันมาเป็นพันๆ ปีก็ไม่รู้จักจบ เพราะเรื่องความยึดติด มีทิฏฐิในศาสนา อันนี้ก็เป็นข้อดีด้วยว่าประเทศไทยของเรานับถือพุทธศาสนา พุทธศาสนานี่ไม่มีปัญหาในเรื่องที่ว่าต้องมารบกันทะเลาะกันเพราะเรื่องศาสนา ไม่มีความยึดติดในทิฏฐิเกินไป เพราะว่าพุทธศาสนานั้นให้ใช้ความคิดและเหตุผล ใช้ปัญญาพิจารณา แม้จะมีเรื่องขัดแย้งก็ใช้ทางปัญญามาถกเถียง มาอภิปรายกันด้วยเหตุด้วยผล ก็ทำให้ไม่เกิดปัญหาในการขัดแย้ง
แต่ว่าในบางศาสนานั้นจะต้องถือตายตัวตามที่สอนไว้ เพราะฉะนั้นก็จะไม่ยอมให้ใครมาเถียงได้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเอาความคิดเห็นของตัว ศาสนาของตัว คำสอนของตัวนี้ไปบังคับผู้อื่นให้ถือตาม ถ้าใครไม่ถือก็จะต้องบังคับอาจจะถึงกับฆ่าฟันล้มตายกันไป พระพุทธศาสนาเองก็ถูกเบียดเบียนอย่างนี้มามาก แล้วที่สูญสิ้นไปจากประเทศอินเดียก็ถูกภัยอันนี้เข้ามาด้วย
ตกลงว่ากิเลส ๓ ตัวที่เรียกว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา แม้แต่ในระดับโลก ประวัติ ศาสตร์โลกที่วุ่นวายมีสงครามมีอะไรต่างๆ ก็มาจาก 3 อย่างนี้ แย่งชิงผลประโยชน์ด้วยตัณหาอย่างหนึ่ง แข่งอำนาจกันด้วยมานะอย่างหนึ่ง แล้วก็มีความยึดติดในลัทธินิยม อุดมการณ์ มีความคลั่งไคล้ในลัทธิศาสนาอย่างหนึ่ง นี่ถ้าลงมาในระดับบุคคลก็เป็นเรื่องของความอยากได้สิ่งต่างๆ มีความปรารถนาก็ดิ้นรนไปตามตัณหา มีความถือตัว มีการที่ว่าจะแสดงอำนาจต่อกันก็ใช้มานะ แล้วก็มีความยึดติดในความคิดเห็นลงกันไม่ได้ ก็ไม่ฟังเหตุฟังผลกัน ก็เรียกว่า ทิฏฐิ
ทั้ง ๓ ประการนี้ ทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงสอนเน้นในพระสูตรบ่อยๆ มักจะมาในข้อความท้ายๆ ที่จะเป็นตอนๆ บ่อยๆ ก็บอกว่า “ เอตัง มะมะ เอโสหะมัสมิ เอโส เม อัตตาติ “ ข้อความอย่างนี้มาในพระบาลีบทเสมอๆ พูดถึงการที่ว่า ท่านผู้ปฏิบัติธรรมเนี่ย จะมาละกิเลส 3 ตัวนี้ และจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล โดยเฉพาะก็คือเป็นพระอรหันต์ ท่านบอกว่า “ เอตัง มะมะ นี้เป็นของฉัน “ นี่ก็คืออำนาจของตัณหา แล้วก็ “ เอโสหะมัสมิ นี้เป็นฉัน “ อันนี้เป็นเรื่องของ มานะ ฉันเป็นอันนี้ ฉันคืออย่างนี้นะ อะไร แล้วก็ “ เอโส เม อัตตา นี้คือตัวตนของฉัน “ อันนี้คือความคิดเห็น ยึดติดใน ทิฏฐิ ว่าเป็นตัวเรา ก็รวมแล้วก็มี 3 ประการ ดังนี้
จากที่ท่านกล่าว “ เอตัง มะมะ เอโสหะมัสมิ เอโส เม อัตตาติ “ นี่เป็นกิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ในขั้นที่เรียกว่า ละเอียด ซึ่งมีอยู่ในใจ ซึ่งเมื่อละได้แล้วก็เป็นพระอริยบุคคล วันนี้อาตมภาพก็เลยนำเอากิเลสชุดนี้มาเป็นความรู้เบ็ดเตล็ด เสริมความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอีกหลักหนึ่ง ที่เรียกว่า ปปัญจธรรม ที่แปลง่ายๆ ว่า ตัวปั่น หรือตัวที่ทำให้เรื่องวุ่นวายสับสนดังที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าข้อปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนานั้น ก็ย่อมเป็นไปเพื่อละกิเลสเหล่านี้ และทำจิตใจให้เจริญงอกงามในคุณความดียิ่งๆ ขึ้นไป แต่ว่าจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น อาตมภาพก็คงจะได้นำมากล่าวต่อๆ ไปตามโอกาส สำหรับวันนี้ก็ขอยุติเรื่องความรู้เบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับเรื่อง ปปัญจธรรม หรือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ดังที่อาตมภาพได้แสดงมานี้ ขออนุโมทนาโยม