แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
นี่ก็เป็นการสรุปอย่างหนึ่งนะ โยมยังไม่ถามก็คุยต่อไป คุยไปเรื่อยๆ ทีนี้ก็ การสรุปอย่างนี้ก็เป็นวิธีสรุปอย่างหนึ่ง บางทีเราก็สรุปอีกแบบ สรุปแบบอริยสัจ แบบอริยสัจนี่ก็สำคัญนะ ก็รวมหมดเหมือนกันแหละ เวลาเราจะเข้าใจ เราจะไปปฏิบัตินี่ มันก็ไปปฏิบัติตามแนวอริยสัจนี่แหละ โยมไปปฏิบัติอนุปุพพสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญานี่นะ มันก็จะไปตามแนวอริยสัจหมดเลย ศีล สมาธิ ปัญญานี่ เพราะว่าคนที่จะปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญานี่ต้องมีความรู้ตระหนักอยู่แล้วในเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วเพื่อจะให้ได้ผลตามหลักอริยสัจนี่ เราจึงปฏิบัติตามไตรสิกขา แล้วไตรสิกขามันอยู่ที่ไหนในอริยสัจ มันก็ไปอยู่ในอริยสัจข้อ ๔ ก็คือมรรคใช่ไหม มรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ ก็สรุปย่อลงเป็น ๓ ก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นไตรสิกขา ตัวปฏิบัตินี่มันก็อยู่ในอริยสัจข้อที่ ๔ ก็คือมรรค แล้วมรรคที่ปฏิบัติไปนี่มันโยงไปหาอริยสัจ ๓ ข้อต้นหมด เพราะว่ามันทำให้..ตัวปัญญามันโยงไปรู้ทุกข์ใช่ไหม แล้วมันก็กำจัดสมุทัยได้ แล้วมันก็บรรลุนิโรธซึ่งเป็นปฏิเวธ ก็โดยการปฏิบัติตามมรรค เพราะฉะนั้น ตกลงชุดไตรสิกขาที่เรามาพูดคู่อัญญาปฏิเวโธนี่มันก็เป็นไปตามหลักของอริยสัจ ๔ นั่นเอง พูดอย่างนี้คงเข้าใจนะ คงเห็นแนว
ทีนี้เรื่องอริยสัจ ๔ นี่ เวลาศึกษากันทั่วไปนี่จะให้มองกว้างจริงๆนี่ มีวิธีมองอีกอย่างหนึ่ง เพราะบางทีไปมองทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนี่ เรามักจะไปติดอยู่กับถ้อยคำ เช่น คำว่า ทุกข์ แล้วเราก็มานึก เอ๊ะ ทุกข์มันเป็นอย่างไร ไม่สบายอย่างนั้นอย่างนี้อะไรนี่ มันทำให้มองแคบ มีอีกชุดหนึ่งที่มันเป็นตัวแทนของอริยสัจ ๔ ธรรมะมีอยู่หมวดหนึ่ง ๔ ข้อเหมือนกัน แล้วก็พูดขึ้นมานี่แทนอริยสัจ ๔ เลย เอ้า ทาย ให้ญาติโยมนึกคืออะไร มีธรรมะอยู่หมวดหนึ่ง ๔ ข้อ พูดแทนอริยสัจได้เลย...คือถ้าสรุปธรรมะทั้งหมดคือสิ่งทั้งหลายประดามี ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม นามธรรม ไม่ว่าจะเป็นสภาวะหรือการปฏิบัตินี่ รวมอยู่ในธรรมะชุดนี้ ซึ่งท่านจัดไว้เป็น ๔ อย่าง แล้วมันเป็นเรื่องที่มาเกี่ยวกับเราโดยตรง เราจะปฏิบัติให้ได้ผล เกิดผลกับชีวิตที่จะบรรลุสุขแท้ ไร้ทุกข์ ก็ต้องดำเนินตามนี้ ก็จะมีวิธีที่ให้กำหนดได้ง่ายและมองกว้างออกไป ตรงกับอริยสัจ อาตมาพูดให้ฟัง แย้มขึ้นมาหน่อยก่อน ข้อหนึ่งท่านเรียกว่า ๑.ปริญไญยธรรม เคยได้ยินไหม ๑.ปริญไญยธรรม แล้วก็๒.ปหาตัพพธรรม ๓.สัจฉิกาตัพพธรรม ๔.ภาเวตัพพธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนพวกเราเพื่อจะให้ใช้ประโยชน์ได้นี่ก็อยู่ใน ๔ ข้อนี้ แล้วก็ ๔ ข้อนี้ก็คืออริยสัจ ๔ นี่แหละ ข้อหนึ่งนี่ ทุกข์นี่แทนด้วยคำว่าปริญไญยธรรมพอเลย แทนที่เราจะพูดว่าทุกข์นี่ เราพูดว่าปริญไญยธรรม แล้วแทนที่เราจะพูดว่าสมุทัยนี่ เราพูดว่าปหาตัพพธรรม แล้วก็แทนที่จะพูดว่านิโรธ เราก็พูดว่าสัจฉิกาตัพพธรรม แล้วก็ข้อสุดท้าย แทนที่จะพูดว่ามรรค เราก็พูดว่าภาเวตัพพธรรม เป็นอย่างไรล่ะชุดนี้ ชุดนี้จะทำให้เรานี่มองอริยสัจเห็นธรรมะครอบคลุมหมดเลย เพราะอย่างนั้นแล้วบางทีเราไปมองแคบเกินไป แล้วนอกจากนั้นแล้ว เราจะปฏิบัติต่ออริยสัจได้ถูกต้องด้วย ไม่ใช่มองได้ครบ ๑.มองได้ครบถ้วน ๒.ปฏิบัติได้ถูก ต้องทั้งสองอย่างนะ มองครบถ้วนแล้วก็ปฏิบัติได้ถูก เพราะอะไร เพราะหลักอริยสัจนี่นะ ถ้าหากว่าไม่รู้หลักการปฏิบัติต่ออริยสัจ ท่านเรียกว่าหน้าที่ต่ออริยสัจแล้วนี่ หลงแล้วทำให้พลาดมาก ก็ขอย้ำนะ คือมีหลักธรรมหมวดหนึ่งท่านเรียกว่า กิจต่ออริยสัจ หรือกิจในอริยสัจ บางท่านคงได้ยินแล้ว อันนี้สำคัญอย่างยิ่งเลย หรือสำคัญที่สุด ขอให้โยมดูในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงปฏิบัติกิจในอริยสัจนี้ได้ครบแล้ว จะปฏิญาณว่าบรรลุโพธิญาณหาได้ไม่ ลำพังอริยสัจเฉยๆนี่มันไม่ไปไหนหรอก มันต้องปฏิบัติกิจต่ออริยสัจได้ครบถ้วน ปฏิบัติกิจต่ออริยสัจจบนั่นแหละจึงจะชื่อว่าได้บรรลุผลของการใช้ประโยชน์จากอริยสัจจริง แล้วก็จะปฏิบัติได้ถูก และหลัก กิจหรือหน้าที่ต่ออริยสัจนี่มันจะมาเข้าชุดที่อาตมาบอกเมื่อกี้
ปริญไญยธรรม ปหาตัพพธรรม สัจฉิกาตัพพธรรม ภาเวตัพพธรรม โยมก็อาจจะไม่คุ้นศัพท์ แล้วก็ยากนิดหน่อย เดี๋ยวก็คุ้นเอง พูดไปๆเดี๋ยวก็ง่าย ของยากพูดไปเดี๋ยวก็ง่ายเอง อ้าว แล้วจะไปอย่างไร ทีนี้เอาให้รู้หน้าที่ต่ออริยสัจก่อน ทุกข์นี่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว หน้าที่ต่อทุกข์คืออะไร หน้าที่ต่อทุกข์คือปริญญา ปริญญาแปลว่าอะไร ปริญญาก็โยมที่มานี่แทบทุกท่านได้ปริญญากัน ปริญญาตรีบ้าง โทบ้าง เอกบ้าง บางท่านได้หลายปริญญา ปริญญาตัวนี้แหละเป็นหน้าที่ต่ออริยสัจ แต่ว่าจะแปลเหมือนกันรึเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วปริญญาตัวนี้เราแปลว่าอะไร เอ้า แปลง่ายๆก็แล้วกัน แปลว่ารู้รอบ เพราะว่า ญา แปลว่ารู้ แล้วก็ปริ แปลว่ารอบ หรือจะแปลว่ารู้เท่า รู้ทันก็ได้ รู้เท่าทันก็ได้ เอาง่ายๆ ปริญญา นี่ที่เรียนกันมานี่ก็คือมารู้รอบ รู้เท่า รู้ทัน ทีนี้ก็หมายความว่าหน้าที่ต่อทุกข์ก็คือปริญญา ทุกข์นี่สำหรับรู้เท่าทัน เป็นเรื่องสำหรับปัญญารู้เท่าทัน ถ้าใครปฏิบัติหน้าที่ต่อทุกข์ผิดก็เป็นอันว่าไปเลย พลาด เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์นะ ถ้าใครไปทุกข์ขึ้นมาละก็ ผิดละ ปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจผิด ข้อที่หนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัด หน้าที่ต่อทุกข์คือปริญญา ต้องรู้ทันมัน ทุกข์เป็นเรื่องสำหรับปัญญารู้ ไม่ใช่สำหรับเราจะไปเป็นทุกข์นะ ใครไปเป็นทุกข์นะแสดงว่าผิด พลาดแต่ต้นแล้วข้อที่หนึ่ง ปริญญา ปริญญาตัวนี้เป็นนาม ทีนี้ถ้าหากว่าเป็นคุณศัพท์ก็เป็น ปริญไญยะ ปริญญา เป็น ปริญไญยัง ถ้าโยมบางท่านสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรคล่องก็จะจำได้ ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปริญไญยัง จำได้ไหม ทุกขัง อริยสัจ เป็นสิ่งที่จะต้องปริญญา นี่แหละพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเลย นี่จะใช้ประโยชน์จากธัมมจักกัปปวัตนสูตรได้ถูกนะ เพราะที่สวดไปแล้วไม่เอามาใช้นี่ จำให้แม่นเลย ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปริญไญยัง ทุกขะ อริยสัจ เป็นเรื่องที่จะต้องปริญญา ก็คือรู้เท่าทันมัน เอาละ หน้าที่ต่อทุกข์คือปริญญา ทุกข์นี้เป็นปริญไญยัง ก็คือเป็นเรื่องที่ต้องปริญญา
ทีนี้ต่อไป ข้อสอง หน้าที่ต่อสมุทัย หน้าที่ต่อสมุทัยก็ท่านเรียกว่า ปหานะ ปหานะ เราพูดเป็นไทยง่ายๆว่า ประหาร ประหารนี่มันคล้ายๆกับที่เราพูดว่า ฆ่า แต่ที่จริงคนละตัว ที่จริงตัวนี้มันแรงกว่าประหารตัวนั้นอีก ประหารตัว ร เรือ อันนี้ ปหาน ตัว น หนู แล้วไม่ต้องมี ร. สระอะ ในภาษาบาลี ประหาร ร เรือ ก็ไม่มี ร สระอะ ป. ห. สระอา ร เรือ อันนี้ ในที่นี้ ปหาน ตัวนี้เป็น น หนู ปหานะ แปลว่า ละ หรือกำจัด ละ กำจัด ทำให้หมดสิ้นไป หน้าที่ต่อสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ก็คือ ต้องละ กำจัด ทำให้หมดสิ้นไป นี่ ต้องทำให้ถูกต้อง ทีนี้ รูปหานะนี่มันเป็นรูปนาม คุณศัพท์ก็เป็น ปหาตัพพัง เพราะฉะนั้น ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรก็จะสวดว่า ทุกขะ สะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพัง ถ้าใครจำแม่นก็จะนึกออก อาจจะมี อิติ ต่อ ปะหาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ ไปเรื่อยไปเลย เอาละ เป็นอันว่าข้อที่สอง สมุทัย นี่ เรามีหน้าที่ต้องประหาร พูดว่าประหารก็โยมก็เข้าใจง่ายดี แก้ไข กำจัด ทำให้หมดสิ้นไป ทำหน้าที่ต่ออริยสัจให้ถูก ถ้าไม่รู้หลักหน้าที่ต่ออริยสัจแล้ว รู้อริยสัจไปแทบไม่มีประโยชน์เลย
ต่อไป ข้อที่สาม นิโรธ นิโรธ ความดับทุกข์ หรือการไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์ นิโรธนี่ถ้าแปลเอาให้ชัดนะแปลว่าการไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์นะ ก็นิโรธเราบรรลุผลเราก็ไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์น่ะสิ มัวไปดับทุกข์ ดับทุกข์อยู่ทำไมอีกล่ะ ใช่ไหม ไม่มีทุกข์จะให้ดับแล้ว โยมบรรลุนิพพาน ไม่มีทุกข์จะให้ดับแล้ว จะไปดับทุกข์ ดับทุกข์ทำไม ใช่ไหม ผู้บรรลุนิพพานนี่ไม่มีทุกข์จะให้ดับ เพราะฉะนั้น ท่านแปลว่าการไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์ นิโรธนี่ มันไม่มีทุกข์จะเกิดขึ้นแล้ว ทีนี้ นิโรธนี่เรามีหน้าที่อะไร หน้าที่ ท่านเรียกว่า สัจฉิกิริยา สัจฉิกิริยาก็แปลว่า การทำให้ประจักษ์แจ้ง ทำให้ประจักษ์แจ้ง ให้มันชัดกับตัวขึ้นมาเลย เป็นประสบการณ์ตรงของตนเองเลย สัจฉิ แปลว่าประจักษ์แจ้ง กิริยา ก็ชัดอยู่แล้ว กิริยา ภาษาไทยก็มาใช้ว่า การกระทำ สัจฉิกิริยา ก็แปลว่า การกระทำให้ประจักษ์แจ้ง ก็หมายความว่านิโรธนี่ หรือนิพพานนี่ เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำให้ประจักษ์แจ้ง หน้าที่ต่อนิโรธ หน้าที่ต่อนิพพาน หน้าที่ต่อความไร้ทุกข์ ก็คือการทำให้ประจักษ์แจ้งกับตนเอง หรือบางทีเราใช้ว่า สัจฉิกรณะ ก็ได้นะ สัจฉิกิริยา กิริยา กับกรณะ กรณะ ภาษาไทยก็แปลว่า การกระทำ ได้ สัจฉิกรณ์ สัจฉิกรณะ ทีนี้ สัจฉิกรณะ สัจฉิกิริยา นี่เป็นรูปนาม เป็นนามศัพท์ ทำให้เป็นคุณศัพท์ก็เป็น สัจฉิกาตัพพะ สัจฉิกาตัพพัง เพราะฉะนั้น ก็จะบอกว่าอริยสัจข้อที่สามนะ ทุกขะ นิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพัง ทุกขะ นิโรธ อริยสัจ หรืออริยสัจข้อที่สามเป็นสิ่งที่สัจฉิกาตัพพะ พึงทำให้ประจักษ์แจ้ง ก็นี่แหละ เราจะต้องบรรลุ ทำให้ประจักษ์แจ้งก็คือบรรลุ บรรลุผลทำให้เกิดขึ้นเป็นของจริงแก่ตนเอง อันนี้ขออภัย แทรกนิด ฝรั่งชอบเพราะมันไปตรงกับภาษาอังกฤษใกล้กันมาก เขาแปลว่า realize ทำให้เป็นจริง ทำให้ประจักษ์แจ้ง ทำให้เป็นจริงขึ้นมากับตัว
ต่อไปก็ไปข้อที่สี่ อริยสัจข้อที่สี่ก็ มรรค มรรคเห็นไหมเวลาเรียกเต็มท่านเรียกปฏิปทานะโยม ไม่ได้เรียกมรรคนะ ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ใช่ไหมสวดในธัมมจักฯน่ะ ที่อาตมาบอกเมื่อกี้ไง อนุปุพพปฏิปทา เห็นไหม ชื่อแท้เขาอยู่นี่ ชื่อแท้เขาเรียกปฏิปทา ก็คือมรรคนี่แหละ เวลาเราเรียกสั้นๆเราก็เรียกมรรค หรืออัฏฐังคิโก มัคโค หรือเรียกให้เต็มอีก อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค มรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ ก็ได้แก่ ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง อริยสัจคือปฏิปทาดำเนินไปสู่ทุกขนิโรธ ความไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เรามีหน้าที่อะไร ท่านบอกเรามีหน้าที่ภาวนา หน้าที่ต่ออริยสัจข้อที่สี่คือภาวนา ภาวนาถ้าแปลตามบาลีนะ เวลาบาลีท่านแปลท่านอธิบายนี่ท่านก็ต้องอธิบายเป็นบาลี เหมือนกับเราให้ฝรั่งอธิบายภาษาอังกฤษเขาก็อธิบายเป็นภาษาอังกฤษ อธิบายภาษาบาลีท่านก็อธิบายเป็นภาษาบาลี คำว่าภาวนานี่ ภาษาบาลีท่านอธิบายว่า วัฒนา ภาวนานี่แปลว่าวัฒนา แปลเป็นบาลีนะ นี่แปลตามคัมภีร์ แล้ววัฒนาแปลว่าอะไร ไทยก็มาแผลง ว. เป็น พ. ก็เป็น พัฒนา เพราะฉะนั้น ภาวนา คนโบราณจึงแปลกันว่าเจริญ เพราะวัฒนาเราแปลกันว่าเจริญ เจริญปัญญา เจริญสมาธิ เจริญสมถะ เจริญวิปัสสนา เจริญเมตตา นี่ภาวนาทั้งนั้น เจริญเมตตาก็เมตตาภาวนา เจริญวิปัสสนาก็วิปัสสนาภาวนา เจริญสมถะก็สมถะภาวนา นี่ โบราณเขาแปลภาวนาว่าเจริญ แล้วก็เดี๋ยวนี้เรามานิยมใช้คำว่าพัฒนา ก็คือเรากลับไปเอาบาลีแปลเป็นบาลี แต่คนสมัยก่อนนี่แปลเป็นไทย ก็เป็นอันว่า หน้าที่ต่ออริยสัจข้อที่สี่ คือมรรค หรือทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา ก็ได้แก่ภาวนา แปลว่าการเจริญ เจริญนี่มันก็แปลตามความหมายโดยอรรถะ ถ้าแปลตามรูปศัพท์แปลว่าทำให้เป็น ให้มี มันยังไม่เป็นยังไม่มี ก็ทำให้มันเป็นมันมีขึ้น การทำให้มันเป็นมันมีก็คือปฏิบัตินั่นเอง เพราะฉะนั้น คำว่าภาวนาแปลง่ายๆก็คือลงมือปฏิบัติ ลงมือทำ เพราะฉะนั้น หน้าที่ต่อมรรคหรืออริยสัจข้อที่สี่ก็คือลงมือทำ หรือลงมือปฏิบัติ ทีนี้ ภาวนานี่เป็นนาม เป็นคุณศัพท์ก็เป็น ภาเวตัพพัง หรือภาเวตัพพะ เพราะฉะนั้น เวลาเราสวดในธัมมจักกัปปวัตนสูตรก็จะบอกว่า ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพัง มาแล้ว นี่แหละ บอกว่า ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจ คือข้อมรรคนี่เป็นข้อที่พึงภาวนา หรือพึงปฏิบัติ ลงมือทำ ทำให้เป็นให้มีขึ้นมา ครบแล้ว เจริญพร นี่แหละ นี่ข้อหน้าที่ต่ออริยสัจ นี่เรียกว่า หลักกิจต่ออริยสัจ หรือหลักหน้าที่ต่ออริยสัจ ๔ ประการ ต้องจำให้แม่น เพราะว่าถ้าไม่มีหน้าที่ที่ถูกต้อง ไม่ทำหน้าที่ให้ถูกต้องต่ออริยสัจแล้ว ผลจากอริยสัจจะไม่เกิดขึ้นเลย แล้วพระพุทธเจ้าก็ย้ำไว้แล้วนี่ บอกว่าถ้าเราไม่ปฏิบัติกิจในอริยสัจให้ครบนี่ เราจะปฏิญาณตนว่าบรรลุโพธิญาณไม่ได้ เขาเรียกว่าเป็นอาการ ๑๒ ติ ปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง อันนี้โยมนึกถึงธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่สวด ติ ปะริวัฏฏัง ไตรวัฏฏ์ ไตรวัฏฏ์ สามรอบ แล้วก็ ทวาทะสาการัง แยกเป็นอาการ เป็นรายการได้ ๑๒ รายการ แล้ว ๑๒ รายการนี้เอามาทำเป็นรูปธรรมจักร ธรรมจักรแบบนี้จะมี ๑๒ ซี่ ๑๒ ซี่นี้คือหลักกิจในอริยสัจที่มาปฏิบัติต่ออริยสัจได้ครบถ้วนสมบูรณ์จนกระทั่งพระพุทธเจ้าบรรลุโพธิญาณ เรียกว่า ทวาทะสาการัง สวดเต็มนี่ให้โยมทวนในธัมมจักฯเอง สวดได้เลย ติ ปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ไตรปริวัฏ สามรอบ แล้วก็คูณอริยสัจ ๔ สามรอบ ๓ คูณ ๔ ก็เป็น ๑๒ เป็นทวาทะสาการัง เอามาทำเป็นซี่ของธรรมจักรได้ ๑๒ ซี่ นี่คือธรรมจักรแบบที่แสดงว่าได้วนไปสู่การบรรลุธรรมเลย สมบูรณ์ ถ้าเป็นแค่ ๘ ซี่ มันก็ได้แค่มรรคมีองค์ ๘ ก็ยังแค่เดินทางอยู่ ถ้าปริวัฏฏ์ ๓ อาการ ๑๒ นี่หมายความว่าตรัสรู้แล้ว แต่บางทีก็ใช้ ๓๗ ซี่ ก็หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันนั้นก็เรื่องของธรรมจักรเหมือนกัน ธรรมจักรนี่จะมีหลายแบบ
เอาละ ทีนี้ไตรวัฏฏ์ ติ ปะริวัฏ ปริวัฏฏ์ ๓ ก็คือว่า อริยสัจ ๔ ข้อนี่ แต่ละข้อต้องทำให้ครบ ๓ หน้าที่ ๑.ท่านเรียกว่ารู้ความจริงของมัน ทุกข์คืออะไร สมุทัยคืออะไร นิโรธคืออะไร มรรคคืออะไร รู้ความจริงของมัน รู้ตามที่มันเป็นเรียกว่ารู้สัจจะของมัน เขาเรียกว่า สัจจญาณ รู้ความจริง รู้ว่าทุกข์คืออะไร สมุทัยคืออะไร นิโรธคืออะไร มรรคคืออะไร รู้ตามที่มันเป็น รู้ความจริงของมัน นี่รู้อันที่หนึ่ง เรียกว่าสัจจญาณ ต่ออริยสัจทั้ง ๔ ๒.ก็กิจญาณ ก็คือรู้หน้าที่ต่ออริยสัจแต่ละข้อนั้น ว่าทุกข์เรามีหน้าที่ต้องปริญญา คือรู้เท่าทันมัน สอง สมุทัยเรามีหน้าที่ต้องประหาร แก้ไข กำจัดมันเสีย สาม นิโรธ เรามีหน้าที่สัจฉิกิริยา เราก็ต้องทำให้ประจักษ์แจ้ง แล้วก็สี่ มรรค หรือปฏิปทา ก็คือมัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง มรรคนี่เรียกได้หลายอย่าง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทาก็ได้ มัชฌิมาปฏิปทาก็ได้ อนุปุพพปฏิปทาก็ได้ หรืออะริโย อัฏฐังคิโก มัคโคก็ได้ มรรค เราก็มีหน้าที่ต้องภาวนา ก็คือลงมือปฏิบัติ นี่คือรู้กิจต่อมัน เรียกว่า กิจจญาณ สองแล้วนะ หนึ่ง สัจจญาณ สอง กิจจญาณ สัจจญาณก็รู้ความจริงของมัน กิจจญาณก็รู้หน้าที่ต่อมัน สาม ทีนี้ตอนนี้ที่ว่าจะสำเร็จ เมื่อรู้หน้าที่แล้ว ทำหน้าที่ให้สำเร็จ ทุกข์เรามีหน้าที่ปริญญา เราได้ปริญญาแล้ว สมุทัยเรามีหน้าที่ต้องประหาร เราได้ประหารมันแล้ว สาม นิโรธ เรามีหน้าที่ต้องสัจฉิกิริยาประจักษ์แจ้ง เราได้สัจฉิกิริยาทำให้ประจักษ์แจ้งแล้ว สี่ มรรคหรือปฏิปทา เรามีหน้าที่ต้องภาวนา เราได้ภาวนาปฏิบัติครบถ้วนแล้ว อันนี้เรียกว่า กตญาณ แปลว่าได้ทำหน้าที่แล้ว รู้ความจริงของมัน รู้ตัวอริยสัจนั้น รู้ตัวอริยสัจเรียกว่าสัจจญาณ รู้หน้าที่ต่ออริยสัจเรียกว่ากิจจญาณ แล้วก็รู้ว่าเราได้ทำหน้าที่ต่ออริยสัจแต่ละข้อนั้นครบถ้วนแล้ว เรียกว่ากตญาณ นี่คือไตรปริวัฏ ปริวัฏฏ์ ๓ ไง นี่ต้องครบ ถ้าไม่ครบไตรปริวัฏแล้วไม่ตรัสรู้ บรรลุธรรมไม่ได้ถ้าไม่ครบไตรปริวัฏ โดยเฉพาะอันที่สามใช่ไหม ก็ต้องทำแล้วสิ รู้ว่าทำเสร็จแล้ว แต่จะมาถึงอันที่สามได้ก็ต้องผ่านที่หนึ่งที่สองก่อน สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ แล้วก็สี่ข้อ ก็ ๓ คูณ ๔ เป็น ๑๒ ครบ ก็เรียกว่า ติ ปริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง มีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ ครบแล้ว เรื่องอริยสัจก็มีอย่างนี้
ทีนี้แปลว่าเรารู้เรื่องอริยสัจ แล้วเรารู้เรื่องหน้าที่ต่ออริยสัจเพื่อทำหน้าที่นั้นให้ถูกต้องครบถ้วน ทีนี้เรื่องหน้าที่ต่ออริยสัจมันก็เลยมีความหมายคลุมไปว่า สิ่งทั้งหลายที่มันมาเกี่ยวข้องกับเรานี่ มันก็เป็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อะไรที่มันอยู่ในเรื่องของทุกข์มันก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องปริญญาหมด เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่มันเป็นเรื่องต้องปริญญานี่ ท่านก็เลยเรียกชื่อเสียว่า ปริญไญยธรรม แปลว่าธรรมที่จะต้องปริญญา อะไรๆบรรดามีในโลกนี้นี่พวกหนึ่งมันอยู่ในปริญไญยธรรมหมด อันนี้เราไม่ต้องเรียกว่าทุกข์ก็ได้ เรียกว่าปริญไญยธรรม ถ้าจะไปจัดก็คือตรงกัน ข้อทุกข์ก็ตรงกับปริญไญยธรรม เอาละ ทีนี้อาตมากำลังกลับมาเข้าชุดที่บอกไว้แต่ต้น ชุดที่ว่าธรรมะ ๔ หมวด ๑.ปริญไญยธรรม ๒.ปหาตัพพธรรม ๓.สัจฉิกาตัพพธรรม ๔.ภาเวตัพพธรรม ก็เป็นอันว่าสิ่งทั้งหลายประดามีนี่ อันที่หนึ่ง เราต้องรู้เท่าทันมัน ก็เรียกว่าปริญไญยธรรม ธรรมะที่จะพึงรู้เท่าทัน แล้วก็สอง สิ่งทั้งหลายประดามีที่มันเป็นเรื่องที่เราจะต้องแก้ไข กำจัดนี่เข้าข้อสอง เรียกว่าปหาตัพพธรรม แล้วก็สาม สิ่งทั้งหลายประดามีที่เราจะต้องทำให้ประจักษ์แจ้งบรรลุผล ให้เกิดเป็นผลเป็นจริงขึ้นมา ก็เรียกว่าสัจฉิกาตัพพธรรม แล้วก็สี่ สิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติ ข้อปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวง อย่างง่ายๆที่เราเรียกว่าจริยธรรมอะไรๆพวกนี้นะ สิ่งที่เราจะต้องทำต้องปฏิบัติทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นจริยธรรม หรือลึกกว่านั้นเป็นคุณธรรมเป็นอะไร ความดี เป็นกุศลเป็นอะไรทั้งหมด ก็เป็นข้อสี่เรียกว่าภาเวตัพพธรรม ธรรมะที่จะพึงภาวนา ที่จะพึงปฏิบัติหรือลงมือทำ หรือทำให้เป็นให้มีขึ้นมา ให้เจริญขึ้นมา ทำให้เจริญเพิ่มพูนขึ้นมาจนกระทั่งมันครบถ้วนสมบูรณ์ ตกลงก็มีสี่ข้อ ก็หนึ่ง ธรรมะ สิ่งที่ต้องปริญญา สิ่งที่ต้องปหานะ สิ่งที่ต้องสัจฉิกิริยา และสิ่งที่ต้องภาวนา ก็ครบแล้ว
ทีนี้ เพื่อให้มันมาโยงประสานกับชุดอริยสัจ ๔ ที่ว่าเมื่อกี้ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ท่านก็จะมาจับตัวเด่นให้ในชุด ๔ ที่อาตมาพูดเมื่อกี้ ชุดปริญไญยธรรม ปหาตัพพธรรม สิจฉิกาตัพพธรรม ภาเวตัพพธรรม โยมจะได้ไม่ต้องไปพูดถึงทุกข์อีก พอมาพูดถึงชุดปริญไญยธรรมนี่ไม่ต้องพูดถึงคำว่าทุกข์ก็ได้ แต่ที่จริงปริญไญยธรรมนี่มันก็คือทุกข์นั่นแหละ ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าไง พระพุทธเจ้าก็จะตรัส เช่น พระองค์จะถามขึ้นมาก่อน คือเวลาพระองค์จะตรัสอธิบาย พระองค์ก็จะตั้งเป็นคำถาม ปริญไญยธรรมคืออะไร หรือปริญไญยธรรมนี่เป็นไฉน จุดเน้นของปริญไญยธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ นี่แหละอุปาทานขันธ์ ๕ ถ้าเราเรียกง่ายๆเราก็เอาแค่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ถ้าพูดภาษาอภิธรรมก็คือรูปนาม ว่ากันง่ายๆ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย สภาวะต่างๆนี่ ที่เรารู้จักนี่ สิ่งทั้งหลายประดามีที่เป็นรูปธรรมนามธรรมอะไรทั้งหมด หรือเราเรียกว่าขันธ์ ๕ หรืออะไรก็แล้วแต่นี่ มันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์หมด มันเป็นทุกข์ในอริยสัจก็คือมันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ หมายความว่าถ้าเธอปฏิบัติผิด ยึดมั่นถือมั่นนี่มันเกิดเรื่องทันทีเลย นี่แหละ เหมือนกับหมอ จะเป็นแพทย์ จะได้เป็นแพทย์ขึ้นมา เรียนแพทย์จะรักษาบำบัดโรคนี่ แทนที่จะไปเรียนเรื่องโรค เริ่มต้นเรียนอะไรรู้ไหม เรียนเรื่องร่างกายคน เรียนเรื่องสรีรวิทยา เรียนเรื่องกายวิภาค เอ้า ก็ไหนจะมาแก้ไขโรคทำไมไม่เรียนเรื่องโรค ไปเรียนเรื่องร่างกายคน ก็เพราะว่าร่างกายคนนั่นแหละเป็นที่ตั้งแห่งโรค โรคมันเกิดที่กายคน ทีนี้ทุกข์มันเกิดที่ไหน มันเกิดที่ขันธ์ ๕ เหมือนกับแพทย์จะเรียนรักษาบำบัดโรคก็เรียนที่ร่างกายคนฉันใด ผู้ที่จะเรียนแก้ไขทุกข์ให้บรรลุธรรม ให้ชีวิตนี้ดีงามมีความสุขอะไรก็แล้วแต่นี่ ก็ต้องเข้าใจชีวิตซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์นั้น ซึ่งจะแก้ไขทำให้ดีแล้วจะได้บำราศทุกข์ ฉะนั้น ก็เลยต้องเรียนเรื่องชีวิตก็คือขันธ์ ๕ หรือรูปนาม ฉะนั้น แทนที่จะใช้คำว่าทุกข์ ตอนนี้ท่านไม่ใช้แล้ว พอมาปริญไญยธรรมคืออะไร บอกคืออุปาทานขันธ์ ๕ พูดภาษาอภิธรรมก็พูดง่ายๆว่ารูปธรรม นามธรรม หรือรูปนาม จะใช้คำไหนก็ได้ ก็คือสิ่งทั้งหลายประดามีนั่นที่มันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ คือเราปฏิบัติผิดต่อมันแล้วทุกข์ทันทีเลยโยม อะไรต่ออะไรนี่
หนึ่งแล้ว ปริญไญยธรรม สอง ปหาตัพพธรรม ถ้าเราเรียนแนวอริยสัจเราก็บอกว่า อ๋อ สมุทัยก็ตัณหา ถ้าสืบลึกไปตามกระบวนปฏิจจสมุปบาทก็อวิชชา ใช่ไหม แต่ว่าเวลาใช้(...??? 31.22)ง่ายๆ ชุดง่ายนี่บอกว่าอริยสัจข้อที่สองสมุทัยคืออะไร โดยมากเราจะจำกันว่าคือตัณหา แต่ที่จริงนั้นถ้าพระพุทธเจ้าตรัสละเอียด พระองค์ไปที่อวิชชา คือปฏิจจสมุปบาททั้งหมดนั่นหละ ซึ่งลงไปถึงอวิชชา ทีนี้มาในชุดนี้จะชัดเลย ชุดปหาตัพพธรรมนี่ ปหาตัพพธรรมเป็นไฉน ปหาตัพพธรรมได้แก่ อวิชชา ภวตัณหา อันนี้บอกตัวเน้นเลย ตัวที่เราจะต้องจัดการก็คือตัวแท้ตัวอวิชชานี้ต้องจัดการ แก้ไข กำจัด แล้วก็ภวตัณหา ตัวเด่นมาอยู่ที่ภวตัณหาเลย ท่านไม่พูดตัณหาเฉยๆแล้วตอนนี้ ท่านเอาที่ภวตัณหา เอาละโยม วันนี้อาตมาเพียงให้รู้แนวไว้ จุดเน้นอยู่ที่ไหนนะ ชุดปหาตัพพธรรมนี่พระพุทธเจ้าจี้เลย ปหาตัพพธรรมเป็นไฉน ได้แก่ อวิชชา และภวตัณหา
ต่อไป สาม ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง แต่ว่าตอนนี้ไม่เรียกแล้วนะ เรียกอะไร เรียกสัจฉิกาตัพพธรรม ประดาสิ่งทั้งหลายที่จะต้องทำให้ประจักษ์แจ้ง หรือสัจฉิกิริยา พระพุทธเจ้าก็ตรัสเจาะลงไปเลย บอก สัจฉิกาตัพพธรรมเป็นไฉน ได้แก่ วิชชา และวิมุตติ นี่ เอาแค่สองตัวนี้แหละ วิชชาก็คือยอดของปัญญา ปัญญาที่รู้ประจักษ์แจ้งสัจธรรมถึงขั้นทำลายกิเลสได้นี่เรียกว่าวิชชา ก็คือปัญญาที่มันมาถึงขั้นทำลายกิเลสได้ ไม่ใช่ปัญญาในความหมายที่กว้างจนพร่า???(33.25) แม้แต่ปัญญาไปเรียนรู้วิชาชีพ ปัญญาไปเรียนรู้เรื่องดินน้ำลมไฟอะไรธรรมดานี่ ก็ปัญญาทั้งนั้น ปัญญาไปทำมาหาเลี้ยงชีพ ปัญญาไปก่อสร้าง อะไรต่างๆเหล่านี้ ปัญญาทั้งนั้น มันกว้างไป ตอนนี้ท่านใช้คำว่าวิชชา แต่ทีนี้วิชชา ภาษาไทยกลับเอามาใช้กว้างเสียอีก เลยยุ่งเลย เอาละ กลับไปวิชชาภาษาพระ วิชชาก็หมายถึงความรู้แจ้งที่เป็นปัญญาอันเกิดจากวิปัสสนา เป็นวิชชาที่จะทำลายกิเลสได้ ทำลายอวิชชานั่นเอง พูดง่ายๆ ก็อวิชชานี่มันตัวร้ายใช่ไหม เมื่อกี้บอกแล้วนี่ ตัวต้องกำจัด ก็ตัวที่มันเป็นต้นตอรากเหง้าตัวร้าย ก็อวิชชา เพราะฉะนั้น ตรงข้ามก็คือวิชชา เมื่อกี้เราบอกว่าตัวปหาตัพพธรรมคืออะไร คืออวิชชา ภวตัณหา ตอนนี้มาก็สัจฉิกาตัพพธรรมก็คืออะไร ก็คือวิชชา วิมุตติ วิชชาก็ตัวปัญญาที่กำจัดอวิชชาได้ แล้วก็เกิดวิมุตติคือความหลุดพ้นเป็นอิสระ วิมุตตินี่รวมหมด ตั้งแต่โสดาบันไป หรือแม้แต่ก่อนนั้นเป็นตทังควิมุตติก็ได้ วิมุตตินี่กว้างตั้งแต่โลกิยวิมุตติขึ้นไป จนกระทั่งถึงโลกุตรวิมุตติ โลกุตรวิมุตติตั้งแต่ของพระโสดาไปจนกระทั่งพระอรหันต์ หมด แต่ก็รวมแล้วก็คือต้องได้วิมุตตินี่แหละ วิมุตติหลุดพ้น หลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากทุกข์ หมดแล้ว ทุกข์ไม่มีเหลือ เอาละ เจริญพร ก็เป็นอันว่าสิ่งที่จะต้องสัจฉิกิริยาก็คือวิชชาและวิมุตติ
ต่อไป สุดท้ายก็ข้อสี่ ภาเวตัพพธรรม ธรรมะที่จะต้องภาวนา ก็ตรงกับข้อมรรคนั่นแหละ แต่ตอนนี้ท่านไม่ใช้คำว่ามรรคแล้ว เป็นวิธียักเยื้อง นี่แหละพระเทศนาของพระพุทธเจ้า ตอนนี้ชุดนี้จะตรัสว่าอย่างไร เป็นจุดเน้นเลย คือคล้ายๆพระองค์ประมวลให้อีกทีหนึ่ง ก็บอกว่าภาเวตัพพธรรมเป็นไฉน ได้แก่ สะมะโถ จะ วิปัสสนา จะ ได้แก่ สมถะ และวิปัสสนา ก็คือเอาแก่นของการปฏิบัติ เราก็เรียกสะมะโถว่าสมถะภาวนา วิปัสสนาเราก็มาเรียกวิปัสสนาภาวนา ก็เลยเรียกว่า ภาวนา ๒ ความจริงภาวนานี่พูดได้เยอะ ภาวนา ๔ ก็มี ถ้าจะครบกระบวนก็ภาวนา ๔ วัดผลกันเต็มที่ แต่ในแกนกลางตัวหัวใจของการปฏิบัติ จุดเน้นสำคัญในการที่จะบรรลุผลนี่อยู่ที่ภาวนาใหญ่สองอันนี้ ขั้นสมถะกับวิปัสสนา สมถะก็เป็นขั้นจิต ก็คือมุ่งสมาธิ สมถะนี่เป็นตัวที่มุ่งให้เกิดสมาธิ ไม่ว่าระดับไหนทั้งนั้น ก็อยู่ในข้อปฏิบัติที่เรียกว่าสมถะ จะไปถึงอรูปฌาน อะไรฌาน ได้สมาบัติครบ ๘ แล้วก็อยู่ในเรื่องสมถะทั้งหมด สมาธิระดับไหนลึกแค่ไหนก็อยู่ในเรื่องสมถะ แต่ก็อยู่แค่จิตนะ วิปัสสนาก็เป็นเรื่องปัญญา แล้วปัญญาจำเพาะที่รู้แจ้งความจริงตามสภาวะ ตามที่มันเป็น มองเห็นพระไตรลักษณ์ รู้ปฏิจจสมุปบาท อย่างนี้ เรียกว่าเป็นวิปัสสนา คือหมายความว่ารู้สภาวะที่เป็นรูปธรรมนามธรรม แล้วก็รู้เหตุปัจจัยของมัน ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเป็นปัจจัยแก่กันอย่างไร เป็นต้น จนกระทั่งว่าเข้าใจและมองเห็นไตรลักษณ์เลย ก็เรียกว่าโยงหมด ตอนนี้วิปัสสนานี่จะเห็นสภาวะที่เราเรียกว่ารู้นามรูปเป็นต้นไป แล้วก็ไปรู้เหตุปัจจัยของมันที่เรียกว่าปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท แล้วก็ไปถึงเห็นไตรลักษณ์ ก็หมด ครบ ก็คือรู้ประจักษ์แจ้งความจริงตามหลักวิปัสสนา พอวิปัสสนาได้บรรลุเต็มที่ก็เกิดเป็นวิชชาขึ้นมาในข้อที่ ๓ แล้ววิชชาก็ให้เกิดวิมุตติขึ้นมา นี่โยมได้เรียนในชุดสี่ที่ใช้พูดแทนชุดอริยสัจ ๔ อันเดียวกัน แต่ชุดนี้จะเน้นชัดเลยใช่ไหม อาตมาทวนอีกทีหนึ่ง เป็นอันว่า ธรรมะทั้งหลายบรรดามีที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ มนุษย์จะเอามาใช้ทำประโยชน์แก่ชีวิตของตนเอง จนกระทั่งได้บรรลุจุดหมายที่ดีงามเป็นประโยชน์สูงสุด เป็นผู้ที่มีชีวิตดีงาม เป็นสุข ไม่มีความทุกข์นี่ ท่านจัดหมวดเป็น ๔ ประเภทด้วยกัน ๑.ปริญไญยธรรม ธรรมะที่ต้องปริญญา ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕ แล้วก็ ๒.ปหาตัพพธรรม ธรรมะที่ต้องประหาร หรือกำจัด แก้ไข ทำให้หมดสิ้นไป ได้แก่ อวิชชา ภวตัณหา ๓.สัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมะที่ต้องสัจฉิกิริยา คือต้องทำให้ประจักษ์แจ้ง หรือบรรลุผล ได้แก่ วิชชา และวิมุตติ แล้วก็ไป ๔.ภาเวตัพพธรรม ธรรมะที่ต้องภาวนาหรือต้องปฏิบัติ ต้องเจริญ ต้องทำให้เป็นให้มี คือลงมือทำ ได้แก่ สมถะ และวิปัสสนา ก็จบ ครบแล้ว ก็โยงให้เห็นกระบวนการ เราปฏิบัติสมถะวิปัสสนามันก็อยู่ในอริยสัจนี่แหละไม่ไปไหนหรอก ก็อยู่ในข้อมรรค ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา พระพุทธเจ้าก็มาจี้ให้เห็นในชุดนี้ เอาออกมาให้เด่นไปเลย มีอะไรสงสัยไหม เจริญพร ถ้าไม่มีก็อาตมาก็คุยไปก่อน เอ้า เชิญเลย เจริญพร