แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ทีนี้ หลักเกณฑ์ในการเลือกกรรมฐานข้อต่อไปก็คือเรื่องของขีดขั้นของความสำเร็จที่กรรมฐานนั้นๆ จะให้ได้ เราก็มาดูว่ากรรมฐานไหน จะให้ได้ผลสำเร็จในการปฏิบัติได้แค่ไหน ซึ่งก็คือเราจะมาดูว่าจะให้สมาธิขั้นไหนนั่นเอง ก็ดูตามลำดับกรรมฐานที่ให้ผลสำเร็จมากที่สุด ได้สูงสุด ก็คือให้ตลอด ตั้งแต่สมาธิขั้นต้นไปจนถึงจบฌานสูงสุด เราพูดกันว่าได้จบฌาน 4
กรรมฐานที่ให้ได้ผลถึงสูงสุดในนี้ก็คือกสิณ 10 กับอาณาปานสติ รวมเป็น 11 อย่าง และต่อไป ที่ให้ได้ผลรองลงมา ได้เฉพาะฌานที่ 4 เท่านั้น อันนี้ก็คือ อุเบกขาพรหมวิหาร ในพรหมวิหาร 4 หรือ อัปปมัญญา 4 และข้อสุดท้ายคือ อุเบกขา อุเบกขานี้ก็ให้ได้ฌาน 4 ฌานที่ 4 ไม่ใช่ฌานทั้ง 4 เพราะอุเบกขานั้นมีในฌานที่ 4 นี่สำหรับผู้ที่บำเพ็ญพรหมวิหารเป็นกรรมฐานนี้จะต้องมีการเปลี่ยนกรรมฐาน กรรมฐานข้อแรกๆ อาจจะเจริญเมตตา หรือกรุณา มุทิตามา พอข้อสุดท้าย อ้อ ก็จะมาได้ถึงฌาน 3 ได้สูงสุดแค่นั้น แล้วต่อจากนั้น ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้อุเบกขาพรหมวิหารได้ฌานที่ 4 หมายความว่า อุเบกขาพรหมวิหารนี้เป็นจำเพาะเจาะจงฌานที่ 4 เท่านั้น
ทีนี้ต่อไป ที่ว่าได้ฌานที่ 1 ถึง 3 ก็พูดพร้อมกันไปแล้วกับอุเบกขาพรหมวิหารนั้น ได้แก่พรหมวิหาร 3 ข้อต้น พรหมวิหาร 3 ข้อต้น เมตตา กรุณา มุทิตา ก็จะให้ได้มาจนกระทั่งถึงฌานที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 พอถึงฌานที่ 4 ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นอุเบกขาอย่างที่ว่าแล้ว
ที่นี้ต่อไป กรรมฐานที่ให้ผลรองลงมา คือได้แค่ฌานที่1 ที่เราเรียกว่า ปฐมฌาน ก็จะมีหลายอย่าง ได้แก่
อสุภะ10 ที่พิจารณาซากศพ 10 อย่างนั้นนะ ได้อย่างมากสูงสุดก็ได้แค่ ปฐมฌาน แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือ กายคตาสติ สติที่ไปในกาย หรือสำรวจร่างกาย เห็นอาการ 32 อันนี้จะเป็นกรรมฐานที่ใกล้เคียง อยู่จำพวกเดียวกัน พวกนี้จะให้ได้ผลสำเร็จแค่ปฐมฌานเท่านั้น
ทีนี้ต่อไป ที่ให้ได้ต่ำกว่านี้ก็มีอีก คือได้ไม่ถึงฌาน ได้แค่สมาธิที่ท่านเรียกว่า อุปจารสมาธิ ซึ่งจะได้พูดต่อไป กรรมฐานที่ให้ได้ผลแค่อุปจารสมาธิ คือสมาธิขั้นจวนเจียน ท่านยังไม่แน่วแน่ ยังไม่ถึงขั้นฌานนี้ ก็จะได้แก่ อนุสสติ 7 ข้อแรก อนุสสตินั้นตั้งแต่ พุทธานุสสติมา ก็จะได้แค่อุปจารสมาธิเท่านั้น นอกจากอนุสสติ 7 ข้อแรกก็ อุปสมานุสสติพิจารณาภาวะที่สงบจากกิเลสและความทุกข์ คือนิพพาน ก็เช่นเดียวกัน ก็ให้ได้แค่อุปจารสมาธิเท่านั้น แล้วก็อาหาเรปฏิกูลสัญญา กำหนดหมายความเป็นปฏิกูลในอาหารก็ตาม จตุธาตุววัฏฐาน กำหนดพิจารณาร่างกายว่าเป็นที่ประชุมของธาตุ 4 ก็ตาม พวกนี้ได้แค่อุปจารสมาธิเป็นอย่างสูง ไม่ได้ถึงฌาน
อันนี้ก็ต้องทราบไว้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ท่านก็แสดงเหตุผลเหมือนกัน คือว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องอาศัยการใช้ความพิจารณา ต้องใช้ปัญญาพิจารณา และก็เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น จิตที่พิจารณากำหนดสิ่งที่ลึกซึ้งอย่างนี้ แล้วก็มีความกว้างขวาง โดยการพิจารณา อย่างเรื่องนิพพานนี้ ความหมายอะไรต่างๆ กว้างขวางมาก จิตที่จับอยู่กับสิ่งนี้ที่มีความกว้างขวางลึกซึ้งนี้ จะแน่วแน่ลึกลงในสมาธิได้ยาก อุปมาไว้ว่า เหมือนเอาเรือไปจอดในกลางทะเลใหญ่ทั้งกว้างทั้งลึก สมอนี้หยั่งไม่ถึงพื้น หยั่งไม่ถึงก้นทะเล หรือก้นมหาสมุทร เรือก็ลอย แม้จะจอด ก็ไม่นิ่งสนิท
เพราะฉะนั้นคนที่ทำสมาธิโดยอาศัยกรรมฐานด้วยเรื่องพวกนี้แล้ว ก็ได้แค่อุปจารสมาธิ อย่างที่ดีขึ้นไปหน่อยที่ได้ปฐมฌาน เมื่อกี้ ก็ได้แก่ เจริญอสุภะ 10 แล้วก็กายคตาสติ นั้นก็มีเหตุผลเหมือนกัน บอกว่าเป็นอารมณ์ที่น่าเกลียดน่ากลัว ที่บอกว่าอารมณ์ที่น่าเกลียดน่ากลัวนี้ ก็จะทำให้ใจเข้าถึงสมาธิได้ลึกซึ้งยาก ก็จะได้แค่ปฐมฌาน มีอุปมาไว้บอกว่าเหมือนเรือนี่แหละที่ไปจอด แม้จะจอดในที่ที่น้ำไม่ลึกเท่าไหร่อย่างในแม่น้ำ แต่ถ้ากระแสน้ำเชี่ยวก็จอดนิ่งได้ยากเหมือนกัน อารมณ์ของอสุภะและกายคตาสตินั้นมันเหมือนกับน้ำเชี่ยว เพราะฉะนั้นก็นิ่งสนิทได้แค่ปฐมฌาน อันนี้ก็เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องขีดขั้นความสำเร็จที่กรรมฐานนั้นๆ จะให้ได้
สุดท้ายที่เหลืออยู่อันหนึ่งก็คืออรูป 4 กรรมฐานนี้ ได้บอกแล้วว่าเป็นเรื่องของอรูปฌานโดยเฉพาะ เป็นอารมณ์ เป็นภาวะในอรูปฌานซึ่งเป็นขั้นสูงแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้ก็จะเป็นของเฉพาะสำหรับอรูปฌานโดยตรงเท่านั้น คืออรูป 4 ก็เป็นเรื่องของอรูปฌาน 4 ก็ตรงไปตรงมา ตกลงว่าที่เราน่าจะสนใจตอนนี้ก็คือว่า กรรมฐานอื่น 36 อย่างที่ให้ผลตามลำดับตั้งแต่สูงสุดมาจนกระทั่งได้แค่ อย่างต่ำได้แค่อุปจารสติสมาธิ
ในบรรดาขีดขั้นความสำเร็จของกรรมฐานที่ให้สมาธิต่างๆ นี้ก็มีข้อสังเกตุพิเศษ ว่ากสิณ 10 ได้ให้ผลสำเร็จได้ถึงสูงสุด คือถึงครบฌาน 4 เช่นเดียวกับอาณาปานสติ แต่ท่านบอกว่ากสิณ 10 นี้ ให้ได้ฌานเร็วด้วย เพราะว่ามันเป็นของที่หยาบชัดเจน เป็นของที่เป็นรูปธรรม แล้วก็กำกับจิตได้ดี แล้วกสิณก็อาศัยการได้นิมิตด้วย การทำสมาธิอาศัยการได้นิมิตเมื่อเอากสิณมาเพ่งจ้องเนี่ย จะทำให้เกิดนิมิตได้ง่าย แต่นิมิตที่ต้องการนี้ เมื่อเราใช้กสิณจะทำให้เกิดได้ไว เมื่อเกิดนิมิตไว นิมิตนั้นไปถึงขั้นแล้ว มันก็จะเกิดสมาธิที่ต้องการ แล้วท่านก็เน้นเข้าไปอีกว่า ในบรรดากสิณทั้งหลายนั้น วรรณกสิณ คือกสิณประเภทสีเนี่ย ยิ่งช่วยให้ได้สมาธิไวกว่ากสิณอื่นๆ ทั้งหมดด้วยซ้ำ อันนี้ก็เป็นข้อสังเกต อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ ในโบราณเราจึงได้ยินบ่อยว่า ชอบมีการเพ่งกสิณกัน คือทำสมาธิโดยใช้กสิณ นี่ก็เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่ง
ทีนี้ อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ในเมื่อกรรมฐานต่างๆ เหล่านี้นั้น ให้ผลสำเร็จได้ไม่เท่ากัน ที่นี้เมื่อกี้ เราเลือกกรรมฐานในตอนแรก เราอาจจะเลือกตามที่เหมาะกับจริต เพื่อช่วยจิตในขั้นต้นให้ได้สมาธิ อย่างน้อยขั้นต่ำก่อน กรรมฐานที่เหมาะกับจริตของเรานั้น ก็อาจจะนำเราไปสู่สมาธิได้ไวขึ้น แต่ว่ามันให้ผลสำเร็จไม่สูง
ที่นี้ ในเมื่อเราได้ผลสำเร็จขั้นต่ำๆ สมาธิขั้นต่ำเราจะต่ออย่างไร เราก็ต้องเปลี่ยนกรรมฐาน เพราะฉะนั้นผู้ที่ต้องการเข้าถึงสมาธิสูงขึ้นไป สูงกว่าที่กรรมฐานของตนจะให้ได้ผลได้ ก็จะต้องเปลี่ยนไปเอากรรมฐานอื่นที่ได้ผลสูงขึ้นไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของขีดขั้นความสำเร็จที่กรรมฐานนั้นๆ จะให้ได้ ซึ่งก็เป็นข้อพิจารณาหรือหลักเกณฑ์ในการเลือกกรรมฐาน