แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร วันนี้อาตมภาพก็จะพูดในพุทธคุณบทที่ 7 คือบทว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ แปลว่า พระพุทธ เจ้าทรงเป็นศาสดาของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย ความจริงพุทธคุณบทนี้ก็สัมพันธ์กับบทก่อน คือบทที่ 6 ที่บอก ว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ แปลว่า พระพุทธเจ้าเป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ผู้ยอดเยี่ยม เพราะการที่พระองค์เป็น นักฝึก ก็คือทรงสามารถในการสอนนั่นเอง เมื่อทรงสามารถในการสอนอย่างยิ่ง เป็นนักฝึกที่เก่งกาจยอดเยี่ยม แล้วก็เป็นพระศาสดาของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น ความหมายในข้อ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ นี้ หลายส่วนก็จึงอธิบายได้อย่างเดียวกับที่อธิบาย มาแล้ว ในบทที่ 6 คือ อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ แต่ก็มีข้อควรจะกล่าวเพิ่มเติมอยู่บ้าง
คำว่า สตฺถา ก็แปลว่า พระศาสดา หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยแท้ๆ ก็แปลว่าครู แต่ก็อีกนั่นแหละ พอ แปลว่าครู คำว่า ครู ก็มาจากบาลีสันสกฤตอีก ก็เลยตกลงแปลไปแปลมา ก็วนเวียนอยู่ในภาษาบาลีและ สันสกฤตนี่เอง แปลสัตถาบาลีเป็นศาสดาก็เป็นสันสกฤต แปลศาสดาเป็นครูก็แปลเป็นบาลีสันสกฤตตามเดิม ก็ได้ความหมายยักเยื้องไปอีกหน่อยหนึ่ง ถ้าแปลเป็นไทยแท้ก็คงจะต้องแปลว่า ผู้สอน
ทีนี้พระองค์เป็นศาสดา หรือเป็นครู หรือเป็นผู้สอนของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย ก็มีข้อที่น่าพิจารณา ก็คือว่าทรงสอนทั้งเทวดาและมนุษย์ สำหรับมนุษย์นั้น พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดา ทรงสอนในฐานะที่เป็น ศาสดาอย่างไร ลักษณะพิเศษของการสอนของพระพุทธเจ้าที่ควรจะยกมาเน้นก็คือว่า
ประการที่ 1. ทรงสอนมนุษย์ให้เป็นมนุษย์จริงๆ คือว่า คำว่า มนุษย์ หรือ คน นั้นนะ ในทางธรรมะ ท่านมีความหมายพิเศษว่าต้องเป็นผู้มีใจสูง อย่างที่ท่านวิเคราะห์บอกว่า มโน อุสฺโส อุสฺสนฺโน ชื่อว่ามนุษย์ เพราะว่าเป็นผู้มีใจสูง ทีนี้พระพุทธเจ้าก็สอนมนุษย์หรือคนนี่ให้เป็นมนุษย์ที่แท้จริง จากมนุษย์ในความหมายที่ เรียกทั่วไป ให้เป็นมนุษย์ในความหมายของธรรมะ คือให้มีคุณธรรม
คุณธรรมของมนุษย์นั้นก็มีมากมายหลายอย่าง แต่อย่างเบื้องต้นที่สุด ท่านก็บอกว่าให้มีศีล 5 เพื่อให้ มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความเป็นปกติสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ศีล 5 นั้น ท่านบางทีเรียกว่าเป็นปฏิปทา ที่ทำให้เป็นมนุษย์ หรือข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นมนุษย์ และเมื่อเป็นมนุษย์แล้ว ก็มีธรรมะที่ควรปฏิบัติสูงขึ้นไปอีก เรียกว่า มนุษยธรรม
มนุษยธรรมนี้ได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 ประการ
กุศลกรรมบถ 10 ประการนั้นก็จะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะว่าทางโยมก็คงจะทราบกันมาบ้าง และอีก ประการหนึ่ง ถ้านำมากล่าวมีมาก 10 ประการก็จะยืดยาว ก็เอาเป็นหลักว่า ก็ให้มีคุณธรรมนั่นเอง เป็นเครื่อง วัดความเป็นมนุษย์ และจากความเป็นมนุษย์ที่เป็นพื้นฐานนั้นก็ฝึกตนพัฒนาตนให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป ก็นี่เป็นประการต้น
ทีนี้ที่สำคัญก็คือในการที่มนุษย์จะฝึกตนนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงมาสอนเตือนมนุษย์ให้รู้จักถึงความ สามารถที่มีอยู่ในตนเอง คือมนุษย์ก่อนพุทธกาลนี้ บางทีก็ไม่เชื่อในความสามารถของตนว่า ตนนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า ศักยภาพ ศักยภาพหมายความว่า ความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวเองซึ่งสามารถฝึกอบรมให้เจริญขึ้นได้ เมื่อมนุษย์ ไม่เชื่อในความสามารถที่ซ่อนอยู่ของตนนี้ ก็พากันไปหวังพึ่งสิ่งภายนอกเรียกว่าปัจจัยภายนอกต่างๆ โดยเฉพาะ ก็คือว่าไปหวังพึ่งเทพเจ้า พระผู้เป็นเจ้าต่างๆ จะมาดลบันดาลให้ เพราะฉะนั้น ในอินเดียก็จะมีการบวงสรวง บูชายัญอะไรต่างๆ มากมายเหลือเกิน เป็นสิ่งที่แพร่หลายมาก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น
เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว พระองค์ได้ปลุกมนุษย์เหล่านี้ให้ตื่นขึ้นมา ให้สำนึกว่าในตัวของตนนั้น ก็มี ความสามารถอยู่ซึ่งถ้าฝึกขึ้นมาแล้วจะมีความเจริญ มีความประเสริฐ ทัดเทียมเทพเจ้าทั้งหลายที่ตนบูชาอยู่นั้น หรือแม้จะยิ่งกว่าด้วยซ้ำ พระองค์ก็เลยให้คติอย่างที่อาตมภาพเคยยกมาแล้วว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่ มนุษย์ทั้งหลายนั้น ผู้ที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด หรือมีอีกคำหนึ่งที่ว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส แปล ว่า ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐสุดทั้งในหมู่เทพและมนุษย์ทั้งหลาย อันนี้ก็ยกความเป็น มนุษย์ให้สูงขึ้นไป แต่ว่าสูงด้วยการฝึกอบรม และยังมีคำประกาศที่เรียกว่า อาสภิวาจา
อาสภิวาจา แปลว่า วาจาแสดงความอาจหาญ ซึ่งถือว่าพระพุทธเจ้าเมื่อประสูติจะตรัสออกมา อันนี้ก็ เป็นทำนองสัญลักษณ์ที่ประกาศ ซึ่งมีข้อความว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏโฐหมสฺมิ โลกสฺส แปลว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก อันนี้เป็นคำประกาศของพระโพธิสัตว์เมื่อประสูติ บางท่านอาจจะมองเป็นว่า แหม พระพุทธเจ้านี่ทำไมประกาศตัวยิ่งใหญ่เหลือเกิน ความ จริงจะต้องให้เข้าใจความมุ่งหมาย พระพุทธเจ้าประกาศอย่างนี้เป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ตรงข้าม กับสภาพที่มนุษย์เคยเป็นอยู่ก่อนพุทธกาลที่ว่า มัวแต่หวังพึ่งเทพเจ้าทั้งหลาย และก็คิดว่าตนเองนี่ไม่มีความ สามารถ พระพุทธเจ้าประกาศนั้นไม่ใช่เฉพาะตัวพระองค์เองเท่านั้น แต่หมายถึงความเป็นพระพุทธเจ้าโดยทั่วไป ว่ามนุษย์นี้ฝึกตนจนเป็นพระพุทธเจ้าได้ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็เป็นผู้เลิศ ผู้ประเสริฐยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
นี้การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าในแง่หนึ่งก็คือ การประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ให้มนุษย์รู้ตัว สำนึกตน ในความที่มีศักยภาพหรือความสามารถดังกล่าวแล้ว แต่ข้อสำคัญก็คือพระองค์ว่าจะต้องให้เรานี้ฝึกตนเองขึ้นไป ฝึกในด้านคุณธรรมหรือฝึกในศีล สมาธิ ปัญญา จึงจะบรรลุความประเสริฐดังกล่าวนั้น อันนี้ ถ้าเป็นแง่ที่ความ เป็นศาสดานั้นสัมพันธ์กับความมนุษย์
ทีนี้ต่อไป บอกว่าเป็นศาสดาของเทวะทั้งหลายด้วย คำว่า เทวะ หรือ เทวดา นั้น ในทางธรรมะ ท่านแบ่ง เป็น 2 อย่าง หมายความว่าเทวดานั้นมี 3 ชนิด
อย่างที่ 1 สมมติเทวดา แปลว่าเทวดาโดยสมมติ สมมติว่าคือการยอมรับ การตกลงกัน ตกลงกันว่าอย่าง งี้ ให้เป็นอย่างงี้ ก็เป็นไปตามที่ตกลง ไม่ใช่จริงจังอะไร แต่ว่าสมมติขึ้นมาแล้วก็จริงในความยอมรับกันนั่นแหละ
ประการที่ 2 เรียกว่า อุปปัตติเทวตา หรือ อุปปัตติเทวา แปลว่าเทวดาโดยกำเนิด ก็ได้แก่ เทวดาที่เกิด เป็นเทวดาเลย เช่น เป็นพระอินทร์ พระพรหม เป็นชั้นเทวดาดาวดึงส์ ดุสิต ยามา อะไรเป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า เทวดาโดยกำเนิด
และก็ 3 วิสุทธิเทวดา เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ก็คือว่าชำระตนให้หมดจากกิเลสและความทุกข์ ก็กลาย เป็นเทวดาโดยความบริสุทธิ์ ก็ได้แก่พระอริยบุคคลทั้งหลายตลอดถึงพระอรหันต์รวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วย
นี้เทวดา 3 ประเภทนี้ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาทั้งหมดอย่างไร
ประเภทที่ 1 สมมติเทวดา เทวดาโดยสมมติ ก็หมายถึงเจ้านาย โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน และ พระราชวงศ์ อันนี้โบราณเขาถือว่าเป็นเหมือนเทวดา แม้แต่เวลาพูดกับพระเจ้าแผ่นดินนี่ในภาษาบาลีก็ใช้คำว่า เทวะ ถ้าเป็นพระราชินีเขาก็ใช้ว่า เทวี เมืองไทยก็ยังใช้อยู่เหมือนกัน พระเทวีองค์นั้นองค์นี้ ก็หมายความว่า ชาว โลกเนี่ยยอมรับกันให้พระเจ้าแผ่นดินเป็นเทวดา เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนาก็ตรัสว่า พระมหากษัตริย์ นั้น เป็นเทวดาโดยสมมติ
เทวดาโดยสมมตินี้ ก็คือเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง เป็นผู้ครองแผ่นดิน พระพุทธศาสนาก็สอนแม้แต่พระ มหากษัตริย์ หรือผู้ครองแผ่นดินนี้ให้ตั้งอยู่ในธรรม อย่างพระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นศาสดา ที่เป็นที่นับถือของพระ เจ้าแผ่นดินทั้งหลาย อย่างที่เราได้ยินชื่อกันบ่อยๆ ก็พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าอชาตศัตรู ท่านเหล่านี้ก็เป็นกษัตริย์ที่มีความยิ่งใหญ่ในพุทธกาล ก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น บางท่านก็ได้เป็น อริยบุคคล อย่างพระเจ้าพิมพิสารก็ได้เป็นพระโสดาบัน ท่านเหล่านี้แต่ก่อน ก่อนที่จะนับถือพระพุทธศาสนา ก็เคย กระทำพิธีต่างๆ ตามความเชื่อถือเดิม อย่างที่เรื่องที่ปรากฎ ก็ได้ยินว่าพระพิมพิสารก็เคยทำพิธีบูชายัญ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทำพิธีบูชายัญ พระพุทธเจ้าก็ทรงสอน ท่านเหล่านี้ก็เลิกพิธีบูชายัญ
การปกครองที่มุ่งหมายบางทีแสดงความยิ่งใหญ่ว่าฉันเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจมาก มีโภคะ มาก พระพุทธเจ้าก็สอนให้นำเอาอำนาจและโภคะนั้นมาใช้เพื่อประโยชน์แก่ราษฎร เพื่อสร้างความสงบสุข หรือ เราเรียกว่าบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ประชาชน อันนี้ก็เรียกว่าให้ตั้งอยู่ในธรรมจะเป็นทศพิธราชธรรม หรือว่าเป็น จักรวรรดิวัตรหรือคุณธรรมต่างๆ ของพระราชา ก็รวมแล้วก็กษัตริย์ต่างๆ เหล่านั้นก็นับถือพระองค์ และปฏิบัติ ตามได้มากบ้างน้อยบ้าง นับว่าเป็นสาวก ในกรณีนี้เราเรียกว่า พระองค์เป็นศาสดาของสมมติเทพ
ต่อไปทรงเป็นศาสดาของอุปปัตติเทพหรือเทวดาโดยกำเนิด เทวดาโดยกำเนิด อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ได้แก่ เทวดาที่เป็นชั้นนั้นชั้นนี้ อย่างที่เราบอกว่าเป็นชั้นจาตุมฯ หรือเรียกเต็มว่าจาตุมหาราชิกา ชั้นดาวดึงส์ ยามา ดุสิต เป็นต้น เทวดาเหล่านี้ก็ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา มาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน อย่างเช่น พระอินทร์ เป็นต้น
แม้แต่พระอินทร์เนี่ย เรื่องราวสมัยก่อนเราจะได้ยินว่าในศาสนาพราหมณ์แล้ว พระอินทร์ประพฤติไม่ดี มีอำนาจมากแล้วเที่ยวประพฤติเสเพล มีเรื่องราวมาในทางวรรณคดีไม่งดงาม แต่เมื่อมาเป็นเทวดาในพุทธ ศาสนาแล้วก็กลายเป็นผู้ประพฤติดีงาม คอยดูแลสุขทุกข์ของประชาชน อย่างที่มีเรื่องในตำนานว่า ถ้าใครทำ ความดีแล้วเกิดเดือดร้อน อาสน์พระอินทร์ก็ร้อน ต้องลงมาช่วยเหลือ เล็งทิพย์เนตรแล้วก็รู้ว่าเดือดร้อน แล้วก็ หาทางช่วย
อันนี้ก็เป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเทวดา เทวดาองค์อื่นๆ ก็เปลี่ยนแปลงนิสัย มาเป็นเทวดาที่มี คุณธรรม คือไม่วัดความเป็นเทวดายิ่งใหญ่ด้วยอำนาจ แต่วัดด้วยความมีคุณธรรม แล้วหน้าที่ การบำเพ็ญหน้าที่ ของเทวดาก็เปลี่ยนไป
แต่ก่อนนี้ เทวดานั้นจะต้องให้คนเอาอกเอาใจอ้อนวอน คนกลัวก็หวังจะให้ตนพ้นอันตรายก็อ้อนวอน เทพเจ้า บวงสรวงบูชายัญ หรือต้องการผลสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็บวงสรวงอ้อนวอนบูชายัญ อย่างเช่น พระ เจ้าแผ่นดินต้องการความสำเร็จประกาศความยิ่งใหญ่ก็บูชายัญ บูชายัญด้วยม้าเรียกว่าอัศวเมธ ตลอดมา จนกระทั่งบูชายัญด้วยคน ปุริสเมธ ก็มี ก็ฆ่าคนบูชายัญ ก็เพื่อความยิ่งใหญ่ แล้วเทพเจ้าก็จะพอพระทัย แล้วก็จะ มาบันดาลอะไรโปรดให้ตามประสงค์
มาในพุทธศาสนา ความประพฤติของเทพเจ้าก็เปลี่ยนไปเป็นว่า เทพเจ้านี้จะต้องคอยดูแลด้วยคุณธรรม ความเมตตากรุณา ถ้ามนุษย์มีความทุกข์อะไร ก็เป็นมิตรที่ดีที่ลงมาช่วยเหลือ อันนี้ถ้าจะช่วย ก็ช่วยด้วย คุณธรรมของเทวดา
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้านี้ก็เป็นศาสดาของเทวดา แม้แต่ที่เป็นอุปปัตติเทพ เปลี่ยนคติของความเป็น เทวดาด้วย แล้วก็ได้มีเรื่องอย่างที่ว่า เทวดาทั้งหลายได้กลายเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ส่วนประการที่ 3 พระพุทธเจ้าก็เป็นศาสดาของวิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ได้แก่พระอริยบุคคลทั้งหลาย อันนี้ก็คือว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนมนุษย์ให้ฝึกตนเอง จนกระทั่งเขานั้น ได้ บรรลุธรรมวิเศษก็กลายเป็นพระอริยบุคคล อันนี้ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าสามารถสอนให้คนเนี่ย กลายเป็น เทวดาได้โดยความบริสุทธิ์ แล้ววิสุทธิเทพหรือเทวดาโดยความบริสุทธิ์นี้ ท่านถือว่า ประเสริฐกว่าเทวดาชนิดอื่น ที่กล่าวมา สมมติเทพก็ดี อุปปัตติเทพก็ดีนั้น ก็ยังถือว่าต่ำกว่าวิสุทธิเทพ วิสุทธิเทพเป็นสูงสุด
เพราะฉะนั้น มนุษย์ผู้ใดสามารถฝึกอบรมตนให้เจริญก้าวหน้างอกงามในธรรม จนบรรลุความเป็น อริยบุคคล ก็ชื่อว่าเป็นเทพสูงสุด เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย ดังที่ได้กล่าว มานี้
1. อิทธิปาฏิหาริย์ ใช้ฤทธิ์
2. เรียกว่า อาเทสนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการดักใจ รู้ทำนายใจของผู้อื่นได้ ว่าจิตใจของผู้อื่นขณะ นั้นเป็นอย่างไร มีความคิดทำนองไหน จิตใจเศร้าหมองบริสุทธิ์อะไรยังงี้ เมื่อสามารถทายใจได้แล้ว ก็สามารถ จะสอนให้เหมาะกับความคิดความรู้สึกในขณะนั้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นอุปกรณ์ แต่ข้อที่
3. อนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือคำสั่งสอน
ทีนี้ความเป็นพระศาสดาของพระพุทธเจ้านั้น ข้อสำคัญก็คือว่าพระองค์ทรงยกย่องอนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์ ไม่ยกย่องอิทธิปาฏิหาริย์ และก็อาเทสนาปาฏิหาริย์ ฤทธิ์พระองค์ก็ถือว่าไม่สำคัญเท่าไร การสามารถทำนาย ทายทัก จิตใจผู้อื่นพระองค์ก็ไม่ถือว่าสำคัญ แต่สำคัญต่อเมื่อมาใช้ประโยชน์ในการสั่งสอน แล้วความสำเร็จของ พระพุทธเจ้านั้น พระองค์สามารถให้สำเร็จด้วยการสั่งสอน เอาอนุสาสนีย์ หรือคำสั่งสอนนี้ เป็นองค์ปาฏิหาริย์ ทำให้เกิดผลสำเร็จตามความปรารถนาได้
การที่ศาสดาสามารถสอนด้วยปากเปล่า ด้วยวาจาคำแนะนำให้สำเร็จประโยชน์ ให้คนนั้นได้เจริญก้าว หน้า ให้ละชั่ว ให้ทำดี ให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ นี้ นับว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ยิ่งกว่าฤทธิ์ ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์อย่างอื่น เพราะฉะนั้น นี้เป็นความประเสริฐของพระพุทธเจ้าอีกประการหนึ่ง ที่ว่าเป็นผู้บรรลุความสำเร็จใน ความเป็นพระศาสดาได้ด้วยอนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์ ซึ่งพระองค์ก็ทรงยกย่องปาฏิหาริย์ข้อนี้
วันนี้อาตมภาพได้บรรยายมายืดยาว เรื่องเกี่ยวกับคำสอนยังมีอีกก็จะข้ามไปก่อน ก็จะขอพูดถึงความ หมายของความเป็นศาสดาอีกแง่หนึ่ง คือคำว่า ศาสดา นั้น ท่านให้ความหมายอีกแง่หนึ่งว่าเป็น สัตถวาหะ
สัตถวาหะ แปลว่า เป็นผู้นำกองเกวียน ในสมัยโบราณนี้ คนจะเดินทางกันไปเป็นหมู่ใหญ่นั้น ต้องไปด้วย กองเกวียน ถ้าจะเรียกอย่างภาษาสมัยนี้เขาเรียกว่า คาราวาน ก็ต้องไปกันเป็นหมู่ใหญ่ คาราวานนั้นเดินทาง ผ่านไปในที่ๆ ธุรกันดารลำบากยากเข็ญ ผู้ที่จะนำกองคาราวานไปได้จะต้องมีความสามารถมาก เพราะฉะนั้น เขาก็เทียบพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้นำกองคาราวาน เป็นผู้นำหมู่ชนให้พ้นจากกันดารต่างๆ กันดารนั้น แปลว่าที่ๆ ผ่านไปได้ยากที่ผ่านไปได้ยากนั้น ผ่านไปได้ยากด้วย
1) อาจจะมีโจรกันดาร ผ่านไปได้ยากเพราะว่ามีโจรผู้ร้ายหรือคนร้าย
2) วาลกันดาร ผ่านไปได้ยากเพราะมีสัตว์ร้ายนานาอย่าง นานาชนิด
3) ท่านบอกว่า นิรุทกกันดาร แปลว่ากันดารเพราะไม่มีน้ำ อันนี้ที่แห้งแล้ง เช่นอย่าง ทะเลทรายนี่ก็เป็น กันดารชนิดหนึ่ง และก็
4) ทุพภิกขกันดาร กันดารเพราะว่าหาอาหารได้ยากหรือว่าไม่มีอาหาร
อันนี้คือการเดินทางในสมัยโบราณ อาจจะมีกันดารประการต่างๆ อย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่างนี้ ผู้นำ จะต้องมีความสามารถ กองคาราวานบางทีไปตายทั้งหมดในทะเลทรายก็มี เพราะว่าผู้นำนั้นไม่มีความสามารถ เพียงพอก็พาไปผิดทาง หรือพาไปแล้วหลงทางก็ดี ไปแล้วไม่รู้ทางออกทางที่จะหลีกเลี่ยง ไปก็หาทางไม่ถูกไป ไม่ได้ก็พากันตายหมด บางทีก็ผ่านไปในแดนโจร ก็ถูกโจรผู้ร้ายฆ่าฟันล้มตายไปบ้างลักสิ่งของไป
พระพุทธเจ้านั้นท่านเปรียบเหมือนนายกองคาราวาน เป็นผู้มีความสามารถที่จะพามนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ที่เดินทางอยู่ในวัฏสงสารเนี่ย ให้ข้ามพ้นกันดารแห่งกิเลสและความทุกข์ไปได้ เพราะฉะนั้น ก็เลยเปรียบเทียบ เป็นนายกองคาราวาน แล้วเพราะความเป็นนายกองคาราวานนี้ คือความเป็นผู้นำ พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้นำของ พระพุทธศาสนา ในการเป็นผู้นำนั้น พระองค์ก็ได้ทำหน้าที่ของผู้นำไว้เป็นอย่างดี เช่น ตั้งคณะสงฆ์ขึ้น ก็นำคณะสงฆ์ให้เจริญรุ่งเรือง แล้วก็ได้บัญญัติพระวินัย ได้วางระเบียบข้อบังคับกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ ในทางแบบแผน ความประพฤติไว้ ทำให้พระสงฆ์นี้ดำรงอยู่ได้ยั่งยืนสืบมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ นี่ก็เป็นการทำหน้าที่ของผู้นำ
ความเป็นพระศาสดาก็มีความหมายดังที่อาตมภาพกล่าวมาแล้ว โดยย่อก็คือว่า ความเป็นครูผู้สอนอย่าง 1 แล้วก็ความเป็นผู้นำอย่าง 1
คิดว่าวันนี้ได้บรรยายมายาวนานพอสมควร ก็คิดว่าอีกแง่หนึ่ง ก็จะเป็นคติในแนวทางที่เราทั้งหลาย จะได้นำมาใช้ประโยชน์ แง่ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ก็คือว่า พระศาสดานั้นคู่กับสาวก เมื่อพระองค์เป็นพระศาสดา เราทั้งหลายก็เป็นสาวก สาวกนั้นก็แปลว่าผู้ฟัง ท่านสอนเราก็ฟัง แต่ว่าฟังก็ไม่ฟังเฉยๆ ฟังมาแล้วก็นำมา ประพฤติปฏิบัติด้วย ปฏิบัติตามด้วยการใช้ความคิดพิจารณาที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ก็จะให้สำเร็จประโยชน์ ตามสมควรแก่กำลังปฏิบัติ
อาตมภาพก็ขออนุโมทนาโยมสำหรับวันนี้ ก็ขอยุติพุทธคุณบทที่ 7 ข้อ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เพียงเท่านี้
ขออนุโมทนา