แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพรวันนี้เรื่องที่เล่าให้โยมฟังว่าจะเล่าเรื่องสั้นๆ เรื่องสั้นๆ ก็คิดว่าต้องเอาเรื่องที่คล้ายกับวันก่อนที่เกี่ยวกับศัพท์คำที่มีความหมายเปลี่ยนแปลงคลาดเคลื่อนไป นี้คำหนึ่งก็คือ ภาวนา
ภาวนานี้ อาตมาภาพเข้าใจว่าโยมได้ฟังมาบ้างแล้วจากเทป แต่ก็มาทวนกันอีกครั้งหนึ่ง คือภาวนานี้ในภาษาไทยปัจจุบันมักจะเข้าใจคล้ายๆกับคำว่า สวดมนต์ บางทีเราพูดรวมกันไปว่าสวดมนต์ภาวนา คือภาวนาก็มีความหมายคล้ายๆกับว่า สวดอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าสวดชนิดที่ว่า ทำให้จิตใจสงบไปด้วย เราก็เรียกว่า สวดมนต์ภาวนา นี้บางทีก็เข้าใจเป็นว่าเอาคาถามาท่องก็เรียกว่า ภาวนา หรือว่าแม้แต่ว่าคล้ายๆกับเสกให้ศักดิ์สิทธิ์ก็เรียกว่า ภาวนา ก็เลยมีคำคล้ายๆกันอีกคำหนึ่งคือคำว่า บริกรรม เช่น เอาสิ่งของมาวางไว้ข้างหน้าแล้วก็จะทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ขลัง ก็ว่าคาถาไป ท่องบ่นไป เราเรียกว่าบริกรรม เพราะฉะนั้นคำว่า บริกรรมก็ดี ภาวนาก็ดี ก็เลยมีความหมายคล้ายๆกันประเภทนี้
แต่ทีนี้ถ้าเราไปดูความหมายเดิมตามพระบาลีจะเห็นว่าความหมายไม่ตรงกันเลย คำว่าภาวนานั้นในพระบาลีท่านแปลว่าทำให้เจริญหรือทำให้เกิดให้มีขึ้น เช่นอย่างคำว่า จิตตภาวนา ที่จะเป็นชื่อของ จิตตภาวัน อันนั้นก็มาจากคำว่า จิตตภาวนา
จิตตภาวนาก็แปลว่า การทำจิตให้เจริญขึ้น หรือเรียกกันง่ายๆว่า ฝึกอบรมจิต หรือ ปัญญาภาวนา การเจริญปัญญา หรือว่าอบรมปัญญาให้มีเพิ่มพูนขึ้น
นี้ ภาวนา ที่เรามาใช้นี้ทำไมจึงมีความหมายมาเป็นท่องบ่น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา แต่เราจะเห็นว่าความหมายของภาวนาที่แปลว่า เจริญ นั้น ก็ยังมีอยู่เหมือนกัน อย่างเราได้ยินคำว่า เจริญวิปัสสนา เจริญสมถะ เจริญกรรมฐาน ถ้าเราไปดูคำว่าเจริญในภาษาบาลี เจริญกรรมฐานก็คือกรรมฐานภาวนา เจริญสมถะก็คือสมถะภาวนา เจริญวิปัสสนาก็คือวิปัสสนาภาวนา
เห็นอยู่ชัดๆว่า ภาวนา ก็แปลว่า เจริญ เราจึงแปลวิปัสสนาภาวนาว่า เจริญวิปัสสนา แต่นี่ปัจจุบันนี้เรามาใช้ว่าเป็นท่องเป็นสวด ถ้าเราสืบดู อาตมาภาพไปดูว่าในการเจริญสมถะที่เราเรียกว่าสมถภาวนา เนี่ย ท่านยังแบ่งย่อยละเอียดลงไปอีก การเจริญสมถะนั้น กว่าที่จิตจะมีสมาธิจริง ๆ กว่าจะถึงฌานนั้น มี ๓ ขั้นด้วยกัน ท่านบอกว่าภาวนา ๓ อย่าง ภาวนา ๓ อย่างในที่นี้ก็คือ การเจริญสมถะ 3 ขั้น มีอะไรบ้าง
อันที่หนึ่งก็เรียกว่า บริกรรมภาวนา การเจริญสมถะขั้นบริกรรม นี่ขั้นที่ ๑ เดี๋ยวจะต้องอธิบายอีกทีทำไมจึงหมายความว่ายังไง บริกรรมนี้
อันที่สองก็เรียกว่า อุปจารภาวนา แปลว่าการภาวนาขั้นอุปจาระ
และที่สามเรียกว่า อัปปนาภาวนา แปลว่า ภาวนาขั้นอัปปนา นี้คือวิธีเจริญสมถะหรือบำเพ็ญสมาธิ กว่าจะได้ฌานผ่าน ๓ ขั้นนี้
ขั้นที่ ๑ ท่านเรียกว่าบริกรรมภาวนา แปลว่า ภาวนาขั้นบริกรรม พอได้ยินว่าภาวนาขั้นบริกรรม โยมก็อาจมานึกว่า เอ๊ะท่าจะตอนนี้เอาบทสวดมนต์มาท่องละมั้ง เรียกว่า ภาวนาขั้นบริกรรม ไม่ใช่หรอก บริกรรมภาวนา ภาวนาขั้นบริกรรมแปลว่า เจริญกรรมฐานขั้นตระเตรียมหรือขั้นต้นๆ
บริกรรมแปลว่า ตระเตรียม คือเราเอาสิ่งที่เราจะใช้ให้เจริญกรรมฐานให้จิตกำหนดนั้นนะ จะเป็นอะไรก็ตามเอามาเตรียมตัว เอามาเริ่มต้นทำเราเรียกว่า บริกรรม เช่นว่า กสิน ก็เอาสิ่งที่เรากำหนดเป็นกสิน เช่นว่า ดิน หรือน้ำ หรือไฟ หรืออะไรเนี่ย เอามาตั้งมาเตรียมไว้ ของนั้นเราก็เริ่มต้นเพ่ง แล้วเราก็เรียกว่า ขั้นบริกรรม ทีนี้บางท่านก็ไม่ใช้กสิน ก็ใช้ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ อย่างใช้พุทธคุณนี่ เราก็อาจจะนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ทีนี้บางอาจารย์ท่านอาจจะให้ท่องไปด้วย หรือกำหนดในใจว่า พุทโธ พุทโธ นึกถึงพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระคุณของท่าน นี้ตอนที่เรามานึกถึงพระพุทธคุณเริ่มต้นอย่างนี้ท่านเรียกว่า ภาวนาขั้นบริกรรม หรือ ขั้นเริ่มต้น ขั้นตระเตรียม
ตรงนี้แหละที่อาตมาภาพเห็นว่า คงจะค่อยๆกลายความหมายไปคือ ตอนที่เราเอาพระพุทธคุณมาระลึกถึงในใจของเราเนี่ย บางทีเราก็เอาปากช่วย เราก็ท่องว่า พุทโธ พุทโธ ในใจของเราก็กำหนดนึกถึงพระพุทธเจ้าเอาคำว่า พุทโธ มาเป็นเครื่องกำหนดให้จิตใจสงบแน่วแน่เป็นสมาธิ
ภาวนาขั้นนี้ที่เรียกว่า บริกรรม หรือขั้นเริ่มต้นนานๆ เข้าเราก็เลยเข้าใจเป็นว่า ไอ้ที่เราท่องเอาปากท่องบ่นคำว่า พุทโธ เนี่ยแหละคือบริกรรม หรือเอาบทสวดมนต์อะไรก็ตามมากำหนดเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ เราว่าคำเหล่านั้นเราก็เรียกว่าเป็นบริกรรมไป
ความจริงก็คือเป็นการเจริญกรรมฐาน หรือว่าบำเพ็ญสมาธิขั้นเริ่มต้น แต่ว่าคำว่าบริกรรมเพราะเหตุที่ว่าการเริ่มต้นอย่างหนึ่งก็คือการที่มากำหนดนึกในใจ การที่เอาปากช่วยท่องบ่นไปเพื่อให้แม่น เพื่อให้จิตไม่หนีไปไหน ก็เลยคำว่า บริกรรม ก็เลยมีความหมายแปลไปเป็นว่าการท่องบ่นหรือการว่าคาถา แม้คำว่า ภาวนาก็ติดอยู่ที่คำว่า บริกรรมภาวนา เพราะฉะนั้นเวลาเราท่องบ่น อาจารย์ก็จะบอก เนี่ยน๊าเป็นการเจริญกรรมฐานขั้นบริกรรมนะหรือขั้นต้น แต่เราจับเอาคำว่า ขั้นต้นเนี่ย เราเอาเป็นบริกรรมหมายถึงท่องบ่นไป หรือภาวนาก็เหมือนกัน ก็เลยมีความหมายเป็นว่ามาท่องมนต์ท่องคาถาไป เพราะฉะนั้นความหมายของศัพท์ก็คับแคบลงไป
เดี๋ยวนี้คนทั่วไปก็จะเข้าใจคำว่าบริกรรม หรือคำว่าภาวนาทำนองนี้แทบทั้งนั้น ทีนี้ในเมื่อมาเรียนธรรมะก็จะต้องมานึกถึงความหมายที่เต็ม ที่สมบูรณ์ ก็เลยต้องให้เห็นว่า ที่ว่าบริกรรมนั้นก็คือการตระเตรียมเบื้องต้น แม้แต่ในทางวัตถุ อย่างจะสร้างบ้าน การกระทำเบื้องต้นก็เรียกว่าบริกรรมเช่นการปรับพื้น การทำพื้นให้เรียบนี่ท่านเรียกว่า บริกรรม เพราะฉะนั้นคำว่าบริกรรม นี่ก็เป็นแปลว่าเป็นการกระทำเบื้องต้น หรือการตระเตรียมเท่านั้นเอง การตระเตรียมในขั้นกรรมฐานก็เตรียมสิ่งที่ใช้ให้จิตกำหนดเอามาเตรียมให้พร้อมแล้วก็เริ่มว่าเริ่มกำหนดในใจนี้เรียกว่า บริกรรม ส่วนภาวนา นั้นก็เป็นการเจริญกรรมฐาน หรือการฝึกอบรมจิตนั่นเอง
เพราะฉะนั้นก็ให้เข้าใจภาวนา เนี่ยกว้างขวางว่า เป็นการเจริญการฝึกอบรมจิตตลอดทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อฝึกอบรมจิตได้บริบูรณ์ก็เรียกว่ามีจิตตภาวนาแล้ว เมื่อเจริญวิปัสสนาเข้าไปด้วยก็ได้เจริญปัญญาเรียกว่ามีปัญญาภาวนา เมื่อจบการภาวนาทั้งหมดคือการฝึกอบรมจิต ทำจิตใจ ทำปัญญาให้เจริญสมบูรณ์ก็บรรลุธรรมเบื้องสูง จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นคำว่าภาวนา นี้ เป็นคำที่ควรจะศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
ในการปฏิบัตินั้นก็มี ๒ อย่างคือ สมถภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา ได้แก่
การเจริญสมถะ ให้จิตเป็นสมาธิอย่างหนึ่ง และ วิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนาให้จิตใจเจริญด้วยความรู้ ด้วยปัญญาที่หยั่งเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้เท่าทันสังขาร รู้เท่าทันโลกและชีวิตจนจิตใจเป็นอิสสระ นี้ถ้าเจริญได้อย่างนี้แล้ว เจริญภาวนาอย่างถูกต้องก็จะได้บรรลุความหมาย หรือความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
เรื่องของภาวนา นั้นก็ยังจะมีต่อไปอีก วันนี้อาตมาภาพก็เพียงแต่ว่า พูดพอให้เห็นว่าความหมายของศัพท์นี้ในภาษาไทยนั้น ได้เคลื่อนคลาดคับแคบลงไปอย่างไร และก็พยายามที่ทำให้เข้าใจว่า เราจะต้องมาเรียนถึงความหมายที่แท้จริงในภาษาพระ หรือในภาษาบาลีอีกครั้งหนึ่ง ส่วนว่าความหมายในภาษาบาลีนั้นจะมีลึกซึ้งละเอียดพิสดารอย่างไรก็เป็นเรื่องที่จะได้นำมากล่าวต่อไปในโอกาสข้างหน้า เฉพาะวันนี้อาตมาภาพก็นำมากล่าวในฐานะเป็นเกร็ดเกี่ยวกับเรื่องความหมายของศัพท์ก็เพียงเท่านี้ก่อน ขออนุโมทนาโยม