แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร จะให้อาตมาพูดเรื่องมองอนาคตผ่านแนวคิดและชีวิตท่านพุทธทาส อาตมาคิดว่าตัวเองพูดไปนี่ ผู้ฟังหลายท่านก็จะจับได้ว่า อาตมานี่ไม่ได้รู้จักใกล้ชิดท่านพุทธทาสมากพอ ทั้งนี้ก็เพราะว่าอาตมาเนี่ย ความจริงแล้วก็อ่านหนังสือของท่าน ท่านพุทธทาส หรือจะเรียกกันแบบกันเองเราๆแบบประเพณีไทยก็เรียกว่าหลวงพ่อพุทธทาสเนี่ย อ่านไม่ค่อยมาก ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่หมายถึงว่า เฉพาะหนังสือของท่านพุทธทาส หนังสือทั่วไปอาตมาก็อ่านน้อย นี่ไม่ใช่เจียมตัวหรือถ่อมตัวอะไร พูดไปตามที่เป็นจริง ได้ยินบางท่านพูดถึงว่าอ่านหนังสือจบกี่เล่มกี่เล่ม มานึกถึงตัวเองก็อ่านหนังสือจบไม่กี่เล่ม แต่ที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่าอาตมาไม่ได้ประโยชน์จากหนังสือ หรืองาน หรือคำสอนของท่านพุทธทาส ได้ประโยชน์มากทีเดียว
อันนี้ก็ขออนุญาตเล่าเรื่องส่วนตัวนิดหน่อย ตั้งแต่สมัยอาตมาเป็นเณร นานมากแล้ว พี่ชายก็เอาหนังสือธรรมะมาให้อ่านตั้งแต่บวชใหม่ๆ และในหนังสือที่นำมานั้นก็มีหนังสือของท่านพุทธทาสด้วย หนังสือของท่านพุทธทาสเล่มแรก คิดว่าคงเป็นหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ซึ่งอาตมาก็ชอบมาก อันนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าท่านพุทธทาสเนี่ยเอาจริงเอาจังกับพระไตรปิฎกมาก แล้วอาตมาก็มาสนใจหนังสือที่มีผู้นำเอาพุทธพจน์เนี่ย จากพระไตรปิฎก มาจัดเรียงลำดับ คือคัดเลือกแล้วมาจัดสรรเรียงเป็นหมวดเป็นหมู่ตามเค้าโครงเรื่องที่เขาตั้งขึ้น เป็นหนังสือในรูปของพุทธประวัติบ้าง ในรูปของคำสอนบ้าง ซึ่งในยุคนั้นน่ะมีหลายเล่มแต่เป็นภาษาอังกฤษเป็นส่วนมาก เดี๋ยวนี้เราก็ยังพอหาได้อยู่ มีเล่มนึงก็ของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด หนังสือ Some Sayings of the Buddha ก็จะมีลักษณะคล้ายๆทำนองนี้ และก็มีหนังสืออื่นๆอีกหลายเล่ม อันนี้ก็เป็นความประทับใจ จะเรียกว่าเริ่มต้นก็ได้
แล้วต่อมาก็ได้อ่านหนังสือที่เป็นเรื่องของเนื้อหาคำสอนที่ท่านบรรยายของท่านเอง เล่มนี้ก็น่าจะเป็นเล่มแรก คือหนังสือหลักพระพุทธศาสนาที่เป็นคำบรรยายอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นแรกเลย พ.ศ. 2499 อาตมาก็อ่านในปี 2500 ตอนนั้นก็ยังเป็นเณรอยู่ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์หรือร้านสุวิชานน์ สมัยก่อนเนี่ยหนังสือท่านพุทธทาสนี่ โดยทั่วไปก็จะออกที่ร้านสุวิชานน์ เนี่ยก็อ่านตั้งใจอ่านหนังสือหลักพระพุทธศาสนานี้จนจบทั้งเล่ม ก็ได้ความรู้ความคิดเยอะแยะ อันนี้ก็จะเรียกว่าเป็นเรื่องของการเริ่มต้นการศึกษาพุทธศาสนาในด้านเนื้อหาเอาจริงเอาจังก็ว่าได้ เนี่ยเพราะฉะนั้นหนังสือของท่านพุทธทาสเนี่ยก็เป็นประโยชน์มาก
แต่ว่าถ้าอ่านเป็นเรื่องๆเป็นเล่มๆอย่างอื่นๆ อาตมาก็ไม่ได้อ่านมากมาย โดยมากจะใช้วิธีว่า ต้องการค้นหรือต้องการจะรู้เรื่องอะไร หรือว่าเช่นอยากจะรู้ว่า ท่านผู้นี้พูด อธิบาย หรือมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ก็จะเจาะเฉพาะเรื่องนั้น แล้วก็ไปค้นทุกเล่มหรือเท่าที่หาได้ในเรื่องนั้น โดยไม่ได้อ่านเป็นเล่มๆ คืออ่านเป็นเรื่องที่ต้องการ จับเรื่องอะไรก็ ไม่ว่าเล่มไหนที่มีเรื่องนั้นก็ไปอ่าน ให้รู้กันไปชัดๆว่า ท่านผู้นี้ ท่านผู้นั้น พูดเรื่องนี้ เรื่องนั้น ว่าอย่างไร เอาให้ชัดกันไปเป็นเรื่องๆ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่ค่อยได้อ่านหนังสือแบบเป็นเล่มๆ จบไปเป็นเล่มๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องของเกี่ยวกับตัวเอง
ทีนี้มาจะให้อาตมาพูด มองอนาคต ผ่านแนวคิดและชีวิตของท่านนี่ ในแง่หนึ่งก็อย่างที่ว่าแล้ว คือตัวเองอาจจะอ่านไม่เพียงพอ และสอง การที่จะพูดว่า ท่านผู้นั้น ผู้นี้ คิดอย่างไรอะไรเงี้ย เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน เราต้องระวังมาก ทีนี้ แม้แต่ชื่อเรื่องที่บอกว่า มองอนาคตผ่านแนวคิดและชีวิตท่านพุทธทาส ก็แปลความหมายได้หลายอย่าง ถ้าแปลง่ายๆก็เหมือนกับบอกให้มองอนาคตของสังคม หรือของมนุษยชาติ หรือของโลก หรืออะไรก็แล้วแต่เนี่ย ว่ามันจะเป็นอย่างไร มองว่าเป็นอย่างไรนี่ มันก็เป็นแง่หนึ่งซึ่งเราเพียงแต่ดูว่า มันจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้มันเป็น ซึ่งเราก็ไม่ค่อยเกี่ยวข้อง ก็ต้องไปขุดดู ค้นดูว่าท่านมีแนวคิดว่าอย่างไร มองอย่างไร
ทีนี้แทนที่จะมองอย่างนั้น อาตมาคิดว่าเราน่าจะมองแบบว่ามีส่วนร่วมก็คือมองอนาคตของโลก หรือของมนุษย์ก็ตาม ว่าเราจะจัดการให้เป็นอย่างไร หรือจะพูดให้เบากว่านั้นหน่อยก็บอกว่า มองอนาคตของโลกว่า เราจะช่วยกันทำให้เป็นอย่างไร ซึ่งก็อาจจะพูดเต็ม ขยายความ ก็อนาคตของโลกควรจะเป็นอย่างไร แล้วเราจะช่วยกันทำให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร อันนี้อาตมาคิดว่าจะเป็นการมองที่มีความหมายสำคัญมากกว่า คือ ถ้าไปมองแค่จะเป็นอย่างไรนี่ เราก็ไม่ค่อยมีส่วนร่วม แล้วก็ประโยชน์คิดว่าน้อย
ทีนี้ถ้ามามองเรื่องนี้ในแง่ที่เกี่ยวกับแนวคิดแล้วก็เกี่ยวกับชีวิตของท่านพุทธทาส มันก็โยงมาหาการที่เราจะต้องเข้าใจแนวคิดและชีวิตของท่านด้วยว่าเราเข้าใจอย่างไร คือเราเข้าใจแนวคิดของท่านอย่างไร เรามองชีวิตของท่านอย่างไร เราก็จะไปมองไอ้เรื่องอนาคตที่ว่านั้น นะฮะ ที่เราจะจัดการนั้นไปตามนั้น อันนี้ ตอนนี้กลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากเหมือนกันว่าเรานี่มองแนวคิดของท่านอย่างไร ไม่ใช่ว่าเรามองตรงกันแล้วก็ที่เรามองนั้นแน่นอนว่าถูกต้องแล้ว อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันนะ
มันกลับมาสู่ปัญหาพื้นฐานเลยว่า ตัวแนวคิดของท่านนี้เป็นอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญมาก บางทีก็อาจจะเป็นหัวข้อสำคัญที่ท่านที่ศึกษางานเนี่ย จะต้องมาช่วยกันคิดวิเคราะห์ให้ดี ถกเถียงกัน แล้วก็อย่างน้อยก็ไม่ด่วนตัดสิน หรือสรุป เพราะว่าเรื่องของแนวคิดของท่าน ที่มองอะไรกว้างขวางและมีผลงานเยอะเนี่ย มีความเสี่ยงภัยอยู่เหมือนกัน คือบางคนนี้ไปจับอะไร มอง ได้ยินอะไร หรือว่า เอ้า อย่างไปอ่านหนังสือของท่าน บางส่วน บางเล่ม เห็นข้อความบางอย่างก็จับเอาเลยว่าท่านคิดเห็นอย่างนั้น แต่ว่าจริงอยู่ท่านก็พูดมาจากความคิดเห็นของท่านแหละ แต่เวลาเรามอง เพราะเราไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปเดิม ไม่รู้แนวคิดพื้นฐานกว้างๆของท่านทั้งหมด เราก็มองไปตามความคิดความรู้สึกของตัวเอง ก็เท่ากับเราตีความไปอีกทีนึง มันก็ทำให้เกิดปัญหา บางทีก็ยุ่งเหมือนกัน
นี้ในการมองเรื่องแนวคิดของท่านพุทธทาสนี่ ถ้ามองขั้นที่หนึ่งเราเอาที่เจตนาก่อน เจตนาของท่านเป็นยังไง อันนี้เราเห็นได้ค่อนข้างชัด คือ แม้แต่ชื่อท่านเอง ท่านก็เรียกตัวท่านเองว่า พุทธทาส แปลว่า ทาสของพระพุทธเจ้า แล้วท่านก็อธิบายไว้เสร็จ ก็พูดอย่างภาษาเราง่ายๆ ก็บอกว่าท่านเนี่ย มุ่งอุทิศชีวิตของท่านเนี่ย ในการสนองงานของพระพุทธเจ้า สนองงานของพระพุทธเจ้าก็อะไรล่ะ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับพระสงฆ์เนี่ยย้ำบ่อยมาก เช่นว่า จงแสดงธรรมประกาศธรรม พหุชนะหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน พหุชนะสุขายะ เพื่อความสุขของพหูชนหรือชนจำนวนมาก โลกานุกัมปายะ ด้วยเมตตาการุณต่อชาวโลก ก็หมายความว่า พระนี่หรือพระศาสนาทั้งหมดนี่ก็มีไว้เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน อันนี้ตามหลักเดิม
อันนี้ท่านพุทธทาสสนองงานของพระพุทธเจ้า นี้ก็คือท่านมีเจตนาพื้นฐานก็คือท่านจะทำงานเพื่อสร้างสรรประโยชน์สุขแก่ประชาชน เนี่ยทำให้โลกอยู่ร่มเย็นเป็นสุข จะใช้คำอะไรก็แล้วแต่ ถือว่าเป็นเจตนาพื้นฐานแล้วท่านก็มุ่งอุทิศชีวิตของท่านเพื่องานนี้ อันนี้จริงมั้ย ถ้าเรายอมรับ เราตกลงแล้วเราแน่ใจนะ ก็เราก็ได้ไปในขั้นเจตนาแล้ว เจตนานี้จะเป็นหลักสำคัญในการมองงานของท่านเลย ว่า อ๋อ ที่ท่านทำงานนี้ ท่านก็ทำเพื่ออันนี้แหละ ก็คือเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อแก้ปัญหาของโลก ทำโลกนี้ให้อยู่กันด้วยดี อย่างที่เราเรียกว่าให้มีสันติสุข นี้เป็นขั้นหนึ่งคือเจตนา
ทีนี้ ต่อไป เมื่อเราได้เจตนาก็ได้ขั้นพื้นฐานเลย มันเป็นด้านของตัวนำจิต เพราะว่าจิตของเรากับจิตของท่านจะสอดคล้องกัน แต่นี้เรามั่นใจแน่ใจมั้ย ถ้าเราแน่ใจแล้วก็ มันก็ได้ไปส่วนสำคัญเลย ต่อไปทีนี้มาพอมองงานของท่านต่างๆที่ว่ามีมากมายเนี่ย อย่างที่พูดเมื่อกี้เนี่ย ก็ต้องระวังมากเหมือนกัน นี่ถ้าเราไม่ได้ชัดเจนกับตัวเอง เรื่องของแนวรวมของท่าน แนวคิดของท่านก็คือแนวที่เป็นไปตามเจตนานี้ ถ้าเรามองอย่างงี้แล้วแนวเจตนาก็คือแนวคิดนั่นแหละ มันก็เป็นไปในทิศทางของการที่จะแก้ปัญหาของโลก หรือทำโลกให้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข พอมีแนวคิดพื้นฐานอย่างงี้แล้วก็จะช่วยให้การแปลความหมายอะไรดีขึ้น ก็ยอมรับมั้ยหละว่านี้ แน่ใจ
นี้ต่อไปก็มองที่ตัวหนังสือบ้าง คำพูด คำเทศนาของท่าน อันนี้อาตมาจะยกตัวอย่างเลยที่ว่า บางที บางคนเนี่ยไปจับเอาเฉพาะบางแง่บางส่วน แล้วก็อาจจะทำให้เกิดปัญหา เช่นอย่างเคยมีผู้ยกคำของท่านมาที่บอกว่าพระไตรปิฎกนี่ต้องฉีกออกซะเท่านั้นเปอร์เซ็นต์ นะฮะ แล้วก็คล้ายๆทำนองว่าจะใช้ได้ นะฮะ เหมือนกับว่ามีส่วนที่ไม่ควรใช้ ไม่ควรเชื่อถือหลายเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวท่าน ตั้งแต่เจตนาพื้นฐานนี้มา บางคนก็อาจจะเลยไปถึงขั้นที่ว่า โอ พระไตรปิฎกนี่ไม่น่าเชื่อถืออะไรทำนองนี้ บางคนก็ยกไปอ้างในทำนองนี้ หรือเป็นว่าเป็นแนวคิดท่านพุทธทาส ที่ว่าเป็นเชิงว่ามีความคิดเชิงปฏิวัติ แม้แต่ปฏิวัติพระไตรปิฎกอะไรไปทำนองนี้ นะฮะ
อันนี้ถ้าเราดูพื้นจากที่เป็นมาอย่างที่อาตมาเล่า อาตมามองจากการที่ได้เริ่มจากหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ แล้วก็ต่อมาท่านพุทธทาสท่านจะออกหนังสือจากพระโอษฐ์เนี่ยเยอะเลย ใช่มั้ย จากขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ นั่นก็เก่ามาก แล้วต่อมาก็มี หนังสืออริยสัจจ์จากพระโอษฐ์ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ เนี่ย ท่านมีหนังสืออย่างเนี้ยแสดงว่าท่าทีหรือทัศนคติของท่านต่อพระไตรปิฎกของท่านเป็นอย่างไร อย่างน้อยท่านเอาจริงเอาจังมากกับพระไตรปิฎก ท่านอยู่กับพระไตรปิฎกนี้มามากมาย แล้วท่านตั้งใจค้นคว้า ศึกษาจริงๆ เราก็จะเห็นข้อความที่ท่านใช้อ้าง แม้แต่ในเรื่องปฏิจจสมุปบาทเองเนี่ย เหมือนกับว่าด้านหนึ่งเนี่ย ท่านเป็นผู้เอาจริงเอาจัง ซื่อสัตย์ต่อพระไตรปิฎก ไว้ใจพระไตรปิฎกมาก แต่พร้อมกันนั้นท่านก็ให้มีท่าทีที่มีเหตุผล ไม่ใช่เชื่อเรื่อยเปื่อย หรือเชื่อแบบงมงายว่า อะไรๆที่อยู่ในชุดที่เรียกว่าพระไตรปิฎกแล้วจะต้องเชื่อตามไปหมด อันนี้ก็น่าจะเป็นทัศนคติที่พอดีพอดี คือเป็นทัศนคติที่ศึกษาอย่างมีเหตุผล
อาตมาจะอ่านให้ฟังก็ได้สักนิดหนึ่ง คือเป็นการ quote ท่านหน่อย พูดถึงที่ท่านกล่าวเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท อาตมาจะยกตัวอย่างเช่นในหนังสือโอสาเรตัพพธรรม หน้า 423 บอกว่านี่เป็นข้อความถ้อยคำของท่าน
“ดังนั้น ในการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ต้องถือเอาบาลีเดิมเป็นหลัก”
ก็นี่แสดงว่าท่านยึดพระไตรปิฎก บาลีเนี่ย คำว่า บาลีนี้หมายถึง พระไตรปิฎก เป็นคำทางพระ คำว่า บาลี คือ พระไตรปิฎก
“อย่ามอบตัวให้กับอรรถกถาอย่างไม่ลืมหูลืมตา”
อันนี้ก็ไป โยงไปหาอรรถกถา ซึ่งก็เดี๋ยวก็ต้องพูดกันอีก อันนี้ว่าถึงเรื่องฉีกเนี่ยท่านก็ยังมีพูดถึงเรื่องฉีกอีก อย่าง ธรรมปาฏิโมกข์เล่ม 2 หน้า 123
“ฉะนั้นการที่เขาฉีกพระสูตรนี้”
อันนี้ถ้าพูดถึงเว่ยหล่าง
“ฉะนั้นการที่เขาฉีกพระสูตรนี้มันถูกที่สุด เดี๋ยวนี้เรามีห้องสมุด มีหนังสือแยะที่เราก็มีเค้าให้อะไรแพง แล้วก็มากเยอะแยะ เราจะถือมันว่าเป็นคุกหรือว่าเป็นตะรางที่ขังความโง่ของคนไว้อย่าให้ไปครอบงำใคร”
นี่ ท่านพูดถึงหอสมุดที่เก็บหนังสือ
“ฉะนั้น ห้องสมุดของผมชั้นบนนี้ ผมจึงไม่ให้ใครขึ้นไปเอาหรือใช้มัน เพราะเป็นความโง่ของคนทั้งโลกที่ผมขังไว้อย่าให้ไปครอบงำคนอื่น บางชุดซื้อมาตั้งหมื่น นั่นความโง่ไม่กี่เล่มเอามาขังๆไว้ในนี้ มันไม่ไปครอบงำใครได้ นี่ยิ่งทำยิ่งโง่ ยิ่งอ่านยิ่งโง่ ยิ่งเรียนมากมันยิ่งโง่”
นะฮะ เนี่ยถ้าคนมาจับความแค่นี้ บางคนก็เลยบอกว่าท่านเป็นปฏิปักษ์ต่อเรื่องหนังสือใช่มั้ย นะฮะ ไม่สนับสนุนให้อ่าน ให้ศึกษา ค้นคว้า อะไรเงี้ย ก็อันนี้ก็คืออย่าให้ไปจับเอาเฉพาะแง่เฉพาะมุมนิดๆหน่อยๆ ต้องดูทั้งหมดว่าท่านมองอย่างไร คิดอย่างไร บางทีมันเป็นเรื่องเฉพาะกรณี เราก็ต้องดูว่าขณะนั้นท่านกำลังพูดเรื่องอะไร ท่านต้องการให้ผู้ฟังเนี่ยได้แง่คิดอะไรในเรื่องนี้ เมื่อกี้พูดถึงบอกว่าให้เอาบาลีเป็นหลัก หรือบาลีเดิมคือพระไตรปิฎกเป็นหลัก แล้วก็อย่าไปมอบตัวให้กับอรรถกถา เนี่ย ทีนี้บางทีถ้าพูดถึงเรื่องอรรถกถาเนี่ย ในหลายกรณีก็จะมีพูดในแง่ที่เรารู้สึกไม่ค่อยดี คล้ายๆว่าไม่น่าไว้ใจ ซึ่งก็มันก็เป็นเรื่องอย่างนั้น แต่นี้บางคนก็ไปถึงขนาดที่เห็นว่าอรรถกถานี้ไว้ใจไม่ได้ แล้วมี อาตมาอ่านหนังสือบางเล่มดูคล้ายๆว่า รู้สึก แหม ถ้าเขามีท่าทีว่า เขาดูถูกอรรถกถา ไม่เชื่ออรรถกถาแล้วจะโก้ดี
นี้ถ้าเราดูท่านพุทธทาสเนี่ย เราจะเห็น อาจจะเห็น จะถือเป็นความพอดีก็ได้นะ อันนี้ไม่ต้องมาเชื่ออาตมา คือ ถือว่าอาตมาตั้งข้อสังเกตให้ เราก็มาช่วยกันศึกษา ท่านพุทธทาสนี่ งานของท่านจะพูดถึงอรรถกถาเยอะ แล้วท่านก็ใช้ประโยชน์จากอรรถกถา อย่างเรื่องราวต่างๆ ท่านก็เอาจากอรรถกถามา เราไม่ต้องไปพูดถึงเฉพาะท่านหรอก คืออย่างคำแปลพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกแปลที่เรามีกันเป็นชุดๆๆๆเนี่ย ฉบับโน้นฉบับนี้ เราก็มาอ้างกัน เราบอกว่าเป็นพระไตรปิฎก แล้วตามปกติก็แน่นอนว่าเราใช้กันในเมืองไทย เราก็ต้องแปลเป็นภาษาไทย แล้วโดยมากก็ไปอ้างอิง คัดเอามาจากพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาไทย คือ เราไม่ได้เอาฉบับภาษาบาลีมาอ้างอิงโดยตรง แล้วก็หลายคนก็ไม่สามารถแปลได้ด้วย
ทีนี้เราบอกว่าพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนั่นแหละ เราไม่รู้หรอกว่าคำแปลในพระไตรปิฎกนั้นน่ะ เขาแปลตามอรรถกถานะ เนี่ยพระไตรปิฎกฉบับอะไร 25 พุทธศตวรรษนั่นที่ครบชุดอันแรกในประเทศไทยฉบับ พ.ศ. 2500 แล้วต่อมาก็กลายเป็นฉบับกรมการศาสนา ต่อมาก็มีฉบับมหามงกุฏราชวิทยาลัย ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เวลาแปลเนี่ย คนแปลไม่ใช่ว่าจะรู้ไปหมด แปลได้เลยเมื่อไหร่ โอ๋ กว่าจะแปลได้ บางอันนี่ต้องค้นกันนักหนา ทีนี้เวลาค้นหาน่ะค้นที่ไหน ค้นจากอรรถกถา ค้นจากฎีกา และก็แปลไปตามนั้น นี้คนที่บอกว่าไม่เชื่ออรรถกถาน่ะ ไม่รู้ตัวว่าตัวเองน่ะไปเอาคำแปลพระไตรปิฎกนั้นก็คือเอาตามอรรถกถา นั่นคือใช้อรรถกถามาเป็นสิ่งที่ตัวยึดถือเลย นะฮะ โดยอ้างอิงว่าเป็นพระไตรปิฎก
นั้นพระไตรปิฎกแปลเนี่ยไม่ใช่แปลตรงไปตรงมาหรอก คือแปลตามอรรถกถา ท่านอธิบายเพราะว่าพระไตรปิฎกนั้นเรารู้ว่าเก่ากว่าอรรถกถา เก่ามาก อันนี้ศัพท์ที่เก่าแก่ขนาดนั้นบางทีรูปประโยคนั้นดูไม่ออกเลย ว่าหมายความว่าอย่างไร ทำไงล่ะ ผู้ที่จะแปลก็ต้องหาอุปกรณ์มาช่วย ก็ได้อรรถกถานี่แหละที่เก่ารองจากพระไตรปิฎก ก็ไปเอาอรรถกถามาดูว่าท่านอธิบายข้อความบาลีในพระไตรปิฎกตรงนี้ว่ายังไง อรรถกถาก็จะบอกว่าคำนี้แปลว่าอย่างนี้ นะฮะ คือแปลบาลีเป็นบาลี และถ้าอธิบายความแล้วยังไม่ชัด อยากจะได้ความให้ชัดยิ่งขึ้น ก็ไปค้นพวกคัมภีร์รุ่นต่อมา ฎีกา เป็นต้น อนุฎีกาอะไรต่างๆ แล้วก็มาพิจารณาประกอบ จะถือเอาตามตามนั้นหรือจะมาตัดสินยังไงก็ตามแต่รวมแล้วก็คือต้องอาศัยคัมภีร์เก่าๆ เนี่ยบางคนก็อ้างพระไตรปิฎกไปโดยไม่รู้ว่า ที่จริงนั้นแม้แต่คนแปลเขาก็แปลตามอรรถกถา ก็เลยกลายเป็นว่าที่ตัวเอาน่ะเอามาจากอรรถกถา
เนี่ย อันนี้เป็นตัวอย่าง ทีนี้หลวงพ่อพุทธทาสนี่ท่านศึกษามาก ต้องยอมรับว่า ท่านบวชตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วท่านออกไปอยู่สวนโมกข์ ตั้งแต่สวนโมกข์เก่า แล้วท่านก็อุทิศชีวิตกับการศึกษาค้นคว้า อยู่กับพระไตรปิฎก คัมภีร์ อรรถกถา ฎีกา อะไรเนี่ย และเวลาท่านอธิบายท่านก็ยกมาอ้าง นะฮะ ตอนที่ท่านบอกว่าไม่ให้เชื่ออย่างงั้นอย่างงี้ นั่นมันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง นะฮะ คือไม่ให้เราเนี่ยเชื่อเรื่อยเปื่อยงมงายไป แต่ว่าอย่างข้อความที่ท่านเอามาเนี่ย อาตมาขอยกตัวอย่างที่ท่านอ้างอรรถกถา อย่างในหนังสือพุทธิกจริยธรรมหน้า 233 ว่า
“ฉะนั้น เราจึงต้องมีธรรมะที่เหมาะสมแก่วัย ที่วัยนั้นๆจะพอรับเอาได้หรือเข้าใจได้”
ข้อนี้ท่านเปรียบไว้ในอรรถกถาว่า
“ขืนป้อนข้าวคำใหญ่ๆแก่เด็กซึ่งปากยังเล็กๆ”
ก็หมายความว่าเด็กมันก็รับไม่ได้ นี้ก็คำอรรถกถา ท่านก็ยกคำอรรถกถามาใช้ ก็แสดงว่าท่านศึกษาค้นคว้าจริงจัง อะไรที่ดี เป็นประโยชน์ ท่านก็เอามาใช้ แต่ว่าก็มีอันหนึ่งที่ว่า บางทีมันเป็นเรื่องที่เหมือนกับเป็นเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ที่เป็นกระแสนิยมของยุคนั้นบ้าง เป็นเรื่องที่เขาเล่ากันมา ท่านก็นำมาบันทึกลงไปบ้าง ว่าบางเรื่องมันก็เป็นเรื่องน่าเชื่อ บางเรื่องไม่น่าเชื่อ อะไรต่างๆ เราก็ต้องรู้จักกลั่นกรอง ต้องพิจารณา แล้วก็ตรวจสอบ อันนี้มันก็มีหลักมาแต่เดิมแล้ว
ท่านก็บอกไว้เพราะว่าท่านผู้ศึกษาเก่าๆเนี่ยเจอปัญหาเรื่องนี้มาตลอด ก็จะมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือว่าเวลาที่จะพิจารณานั้น เอ้า ให้เอาพระไตรปิฎกเป็นหลักก่อน แล้วก็เมื่อพระไตรปิฎกตรงนี้ยังไม่ชัด เราไปดูคำอธิบาย ทีนี้ถ้าคำอธิบายอรรถกถาตรงนี้ แต่ว่าไปขัดกับข้อความในพระไตรปิฎกตรงโน้น ก็ให้ถือพระไตรปิฎกเป็นหลัก อะไรอย่างเงี้ย นะฮะ คือก็อรรถกถาก็เป็นระดับรองลงมา แล้วก็ไปฎีกานู้น ฎีกานี้ เป็นหลักทั่วๆไป เป็นเกณฑ์ใหญ่ ก็เป็นเรื่องของแนวการศึกษา ค้นคว้ากันมา
นี้หลวงพ่อพุทธทาสเนี่ยท่านมาในยุคที่การศึกษาพุทธศาสนาเนี่ย เราเรียกได้ว่าเสื่อมโทรม แม้แต่คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาเหล่านี้ก็หาได้ยาก แล้วก็คน ก็ไม่ค่อยเอามาใช้ศึกษาด้วย แม้แต่มี เนี่ยอาตมาเล่าพิเศษอีกหน่อย อย่างพระไตรปิฎกบาลีเนี่ยนะ ที่บอกเมื่อกี้เนี่ย ในเมืองไทยเราเนี่ยเพิ่งแปลครบชุด พ.ศ. 2500 เป็นฉบับ พ.ศ.2500 นะ แต่ไม่ได้เสร็จ พ.ศ.2500 คือ แปลกันมา คณะสงฆ์ตั้งคณะแปลมานาน แล้วก็พอดีว่าถึง พ.ศ. 2500 ก็เป็นช่วงของการที่เรามีงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ก็เลยถือเป็นโอกาสที่จะพิมพ์หนังสือเนี้ยโดยใช้โอกาสนี้ เรียกว่าเป็นพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับฉลอง 25 พุทธศตวรรษ อันนี้ เราก็เพิ่งจะมีพระไตรปิฎกครบชุด ที่เป็นฉบับแปลภาษาไทยครั้งแรก แล้วกว่าจะออกได้ก็หลัง พ.ศ. 2500 อีกหลายปี คือเมืองไทยเรานี่ การสนใจศึกษาพระไตรปิฎกคัมภีร์น่ะมีน้อยไป เราไปยุ่งกับเรื่องพิธีกรรม เรื่องอะไรต่างๆ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์กันมากมาย
อ้าวทีนี้ย้อนไปดูคัมภีร์บาลี เราก็มีประวัติที่เราเห็นได้ชัด เพราะเป็นประวัติเกี่ยวกับเรื่องขององค์ในหลวงรัชกาลที่ 5 ด้วย ก็เลยไปเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องของประเทศชาติก็เลยมีประวัติที่ชัดเจน เราก็บอกว่ามีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2436 นั้นเป็นปีที่ฉลอง และก็พิมพ์ได้แค่ 39 เล่ม ก็ไม่มีอยู่คัมภีร์หนึ่งเลยในอภิธรรม คัมภีร์สุดท้ายเรียกว่า ปัฏฐาน ซึ่งมี 6 เล่มเนี่ยยังไม่ได้พิมพ์ ก็พิมพ์ไปแค่ 39 เล่ม ขาด 6 เล่ม อันนั้นครั้งแรกเลยในรัชกาลที่ 5 แล้วเวลาก็ล่วงไปอีกนาน จนกระทั่งมาถึงรัชกาลที่ 7 ก็ทรงพิมพ์เพื่อจะถวายอุทิศพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 6 นี่ก็พิมพ์ คราวนี้ครบสมบูรณ์ 45 เล่ม พระไตรปิฎกบาลี ก็ พ.ศ. 2460 กว่า จะ 65 หรือ 60 อะไรเนี่ย อาตมาก็จำไม่แม่นล่ะ
แล้วต่อมาก็ในสมัยรัชกาลที่ 7 ก็มีการพิมพ์อรรถกถา อรรถกถา กำลัง เมืองไทยเราก็พิมพ์มาไม่ครบด้วย พิมพ์เป็นเล่มมาขาดเยอะแยะเลย แล้วพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้น พ.ศ. 2460 กว่า พิมพ์ไปแล้วไม่ครบด้วย แล้วก็หลังจากนั้น ความต้องการในการใช้มันก็ไม่ค่อยมี คงไม่ค่อยมีผู้ศึกษา หนังสือก็อยู่มาโดยไม่มีการพิมพ์ใหม่ และไม่มีการพิมพ์เติมส่วนที่ขาด
จนกระทั่งอาตมาบวชเป็นเณรเป็นพระแล้วเนี่ยก็ต้องใช้หนังสือนั้นซึ่งผุหมดแล้ว นี่คือสภาพการศึกษาพุทธศาสนาในเมืองไทย ต้องไปซื้อจากร้านมหามงกุฏราชวิทยาลัย อรรถกถานี่อาจจะมีเล่มหนึ่ง 600 หน้า 700 หน้าก็มี เล่มละ 3 บาท ถูกมากเพราะเป็นราคาเก่า อาจจะเป็นราคาสมัยเดิม แต่ว่าเอามาเปิดนี่ต้องระวังนะ งอนิดเดียว หักเลย กระดาษเนี่ย เปราะมาก พลิกเพลิกนี่ระวัง หนึ่งก็ตัวแผ่นนั้นก็จะหักจะขาด จะป่น แล้ว สองก็คือ มันจะขาดจากเล่ม เพราะว่า ด้ายเด้ยมันก็ผุหมดแล้ว มันก็หลุดมา เปิดทีนึงก็เล่มนึงกลายเป็นสองเล่ม สามเล่ม สี่เล่ม ระวังมาก
เพราะฉะนั้น หนังสือที่ใช้กันนี่คนที่ศึกษา ก็ต้องเห็นใจหลวงพ่อพุทธทาสเนี่ยท่านจะเรียนยังไง ท่านจะค้นยังไงนะ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย แต่ท่านยังอุตส่าห์ทำหนังสือมาให้เราอ่านกันได้ขนาดนี้เนี่ย ต้องคิดว่าท่านต้องมีความเพียรพยายามอย่างยิ่ง อันนี้เราไม่เห็นภาพที่เป็นอยู่ เนี่ยอรรถกถานี่เป็นพิเศษเลยก็อย่างที่ว่าเนี่ย
ตอนนั้นอาตมาจะมาค้น นะฮะ เพื่อจะดูเรื่องราวต่างๆในคัมภีร์ว่าเป็นยังไง ก็ต้องมานั่งพลิกด้วยความระมัดระวัง ตอนนั้นไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ไม่มีไอ้เรื่องของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์อะไร ค้นก็ลำบาก อินเด็กซ์ก็ไม่ค่อยสมบูรณ์ บางเล่มก็ดีหน่อย บางเล่มก็ไม่ไหวเลย เนี่ยบางทีเราต้องการค้นคำหนึ่ง แล้วเราก็คิดว่ามันอยู่ในเล่มเนี้ยนะ ก็ไม่รู้อยู่หน้าไหน เราพลิกไป พลิกตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย อ้าวมันอาจจะผ่านตามองไม่เห็น พลิกไปจบทุกหน้าแล้วเที่ยวนึงแล้วไม่เห็น อ้าว เราคงจะมองข้ามไป เอาใหม่ ก็พลิกรอบสองอยู่อย่างเงี้ยเนี่ย บางทีคำเดียวค้นอยู่ 7 วัน ก็ยังไม่พบ จนต้องว่าฝากไว้ก่อน
อันเนี้ยการศึกษาก็ยากแล้วก็อย่างที่ว่า ไม่ค่อยมีผู้สนใจศึกษา เมืองไทยเรานี้ต้องยอมรับเรื่องความเสื่อมในการศึกษาพุทธศาสนา ก็หนังสือขนาดตั้งแต่รัชกาลที่ 7 มา แล้วก็ไม่ได้เติมพิมพ์ให้เต็ม แล้วก็ปล่อยจนผุจนอะไรอย่างเงี้ย แล้วก็หนังสือที่ผุอย่างงั้นก็ยังอยู่ที่ร้านมหามงกุฎนั่นแหละไม่มีใครไปซื้อ ใช่มั้ย ก็แสดงว่าไม่มีคนใช้ ไม่มีคนต้องการ ไม่มีผู้ศึกษา นี้จะมีศึกษาก็เฉพาะเล่มอรรถกถาที่ทางคณะสงฆ์ได้กำหนดให้เป็นหนังสือเรียนที่เขาเรียกหลักสูตร เล่มอันนั้นก็แน่นนอนว่ามีผู้ใช้ต้องเอามาเรียนกันในห้องเรียน ในการสอบ ก็จะมีการพิมพ์ใหม่เรื่อยๆ ซึ่งก็มีอยู่จำนวนไม่มาก เป็นบางเล่มเท่านั้นเอง เล่มไหนใช้เรียนจริงๆ ก็เลยมีการพิมพ์จริงๆ แล้วผู้เรียนก็มักจะเรียนแค่ว่าให้แปลได้ โดยไม่ค่อยได้สนใจเนื้อหาสาระในนั้นเท่าไหร่ อันนี้คือสภาพการศึกษาพุทธศาสนาในประเทศไทย
รวมความอย่างนี้ก็หมายความว่า อย่างหลวงพ่อพุทธทาสนี่ท่านใช้ประโยชน์จากคัมภีร์เหล่านี้มาก เท่าที่มีน่ะ แล้วตอนหลังๆนี่ เราก็ต้องไปพึ่งของพม่า คือ พม่านี่เขาพิมพ์ เรียกว่าในบรรดาประเทศพุทธศาสนานี่ พม่าพิมพ์ครบที่สุด มาตอนหลังอย่างที่มาทำฉบับหลังๆเนี่ย อย่างของมหาจุฬาลงกรณ์ฯหรืออะไรก็แล้วแต่เนี่ย ก็ต้องไปพึ่งคัมภีร์ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา คัมภีร์รุ่นหลังเอาของพม่ามา มาชำระกัน แล้วก็มาเทียบของไทย เราก็ยังอยู่ในใบลาน เป็นอักษรขอมอะไรทำนองนั้น เลยถือโอกาสเล่าเรื่องเก่าให้ฟัง
นี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าผู้ที่ต้องการศึกษา มันก็เป็นธรรมดา เราต้องการรู้แม้แต่ศึกษาพระไตรปิฎก เราก็ต้องอาศัยอรรถกถา เพราะท่านเก่ากว่าเราเป็นอย่างน้อยแหละ ท่านใกล้ชิดกว่า กาลเวลา แม้แต่ในแง่ของภาษาว่าคำนี้จะมีความหมายอย่างไร ท่านใกล้เรื่องกว่า ท่านก็รู้ดีกว่าเรา ท่านก็บอกไว้ให้ว่าคำนี้แปลว่าอย่างงี้ เหมือนกับเราเรียนภาษาอังกฤษ ดูดิกชันนารี่ภาษาอังกฤษเขาก็ให้ความหมายเป็นภาษาอังกฤษ ไอ้คำที่ยากก็มาอธิบายด้วยคำที่ง่ายกว่า หรือคำที่คุ้นเคย เห็น ชินมากกว่า นี้ก็เป็นหลักธรรมดา ผู้ที่รู้จักใช้ประโยชน์จากอรรถกถาก็ได้ประโยชน์มาก เนี่ย อาตมาก็ให้เห็นว่า เนี่ยหลวงพ่อพุทธทาสท่านก็ได้เอามาอ้างมาใช้ประโยชน์ แต่ท่านก็เตือนไม่ให้ไปหลงงมงาย อย่างที่ท่านบอกเมื่อกี้ บอกว่า
“อย่ามอบตัวให้กับอรรถกถาอย่างไม่ลืมหูลืมตา”
ท่านใช้คำนี้ ใช่มั้ย เนี่ยเราก็วางท่าที มันอาจจะมีท่าทีที่เราเรียกว่า พอดี น่ะ ไม่ใช่ว่าเลยเถิดไปสุดโต่ง สายหนึ่งเดิมก็คือว่า อาจจะเชื่องมงาย อ้างเป็นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น แล้วอีกพวกหนึ่งก็ปฏิเสธ หรือถึงกับคล้ายๆดูถูกเหยียดหยามไปเลย
อาตมาขออ่านอีกหน่อยก็ถือว่าคุยกันแบบกันเอง ท่านยังกล่าวต่อไปอีกเยอะ ท่านบอก
“ผู้เป็นนักปราชญ์แห่งยุค เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านก็ทรงแนะไว้อย่างนี้ แถมทรงแนะให้กระทำการวิจารณ์เช่นนี้ แม้แก่ปกรณ์ชั้นบาลีสังคีติด้วยซ้ำไป”
นี่ก็หมายถึงพระไตรปิฎก
“และข้าพเจ้าก็ได้ทำตัวเป็นสานุศิษย์ที่เชื่อฟังอย่างดีของท่านตลอดมา”
อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง ก็หมายความว่าประเพณีในการฟื้นฟูการศึกษาพระไตรปิฎกเนี่ยก็มีมาเรื่อย อย่างสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสนี่ก็ทรงไว้เยอะ นี้เราศึกษางานของครูบาอาจารย์รุ่นเก่าๆนี่ ท่าทีอย่างหนึ่งก็คือว่า ท่านมาก่อนเราเนี่ย ท่านอยู่ในภาวะที่อุปกรณ์ เป็นต้น เนี่ยไม่บริบูรณ์อย่างเรา ถ้ามองในแง่ได้เปรียบเสียเปรียบ ท่านเสียเปรียบเรา ท่านยังทำไว้ได้ถึงขนาดนี้ เราก็ต้องเห็นคุณค่าของท่าน ใช่มั้ย เออ เราก็อย่ามัวไปว่าท่านว่า เออ ตรงนี้ท่านบกพร่องอะไร เราก็มาดูว่า เออ ท่านทำมาให้ได้อย่างงี้แล้ว เรามีโอกาสกว่า แล้วเราเริ่มจากฐานของท่านนะฮะ
คือท่านนี่ต้องไปเริ่มมาจากเหมือนกับว่า แทบไม่มีเลยมีน้อยอย่างยิ่ง แล้วท่านทำมาให้เราแค่นี้ เราไปเอาจากท่านนี่ท่านเตรียมไว้ให้เยอะเยอะแล้ว ค่อนข้างพร้อมบริบูรณ์ แล้วเราเริ่มจากฐานนั้นที่บริบูรณ์ เราก็ต่อไป มันก็เป็นธรรมดา เราก็ได้สิ่งที่บริบูรณ์ขยายกว้างออกไปมากกว่า อันนี้ก็คือการที่ว่าอยู่ในสายของสถานศึกษาที่จะช่วยกันเสริมต่อให้มันเพิ่มพูนขยายออกไป ไอ้บางส่วนก็แน่นอนล่ะ ท่านก็อาจจะไม่ทันเห็นนะ ก็เผลอก็พลาดไปบ้าง ก็ต้องให้อภัยกันอย่าไปถือสากันจนเกินไป ไม่งั้นไปมันว่าด่าว่ากันอะไรต่ออะไรนี้ก็ไม่ถูก นะฮะ อันนี้ก็เรามองในแง่นี้ก็อาจจะไปท่าทีที่ถูกต้องก็คือเจตนาว่า เออ ที่จริงเราก็ทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนนั่นเอง แล้วก็มุ่งหาความจริง ความถูกต้อง นะฮะ หลักธรรม ต้องการรู้ว่าเป็นอะไร มีความหมายอย่างไร คืออย่างท่านอ้างอรรถกถาเนี่ย ท่านก็เอามาใช้ อย่างเรื่อง ท่านอ้างในเรื่องหนังสือพุทธจริยาหน้า 397
“เรื่องที่สี่ เด็กตีงูตามประสาเด็ก ต่อไปนี้เป็นเรื่องในอรรถกถาซึ่งอธิบายพระบาลี ในทัณฑวรรคธรรมบท มีเรื่องพระพุทธเจ้าไปบิณฑบาตตามเคย ผ่านไปที่ถนนในเมืองสาวัตถี เห็นเด็กเล็กๆกลุ่มหนึ่งรุมกันตีงู พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร”
อันนี้ก็ข้อความอีกเยอะ ขออ่านข้ามไปตอนท้าย
“พระพุทธเจ้าท่านตรัสเป็นข้อความสองชนิด ข้อที่หนึ่งว่า ตัวเองก็หวังจะได้ความสุข แล้วก็ไปเบียดเบียนผู้อื่นด้วยเครื่องเบียดเบียน อย่างนี้เสร็จแล้วไม่มีทางที่จะได้ความสุข ข้อที่สองว่า ผู้ใด ตนเองก็หวังที่จะได้ความสุข แล้วไม่เบียดเบียนใครด้วยเครื่องเบียดเบียน ผู้นี้ครั้นละ หลังจากนี้แล้วจะได้ความสุข ทำให้เด็กๆนี้หยุดตีงู”
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มาในอรรถกถาธรรมบท ก็เราเรียกกันว่านิทานธรรมบท ก็เป็น คัน ( ??? ) อรรถกถา ท่านก็ยกเอาพุทธพจน์มาตั้ง แล้วอรรถกถาก็อธิบาย เรื่องราวเนี่ยมันมาในอรรถกถา ในพระไตรปิฎกก็มีแต่เป็นตัวสุภาษิตสั้นๆ เท่านั้นเอง เนี่ยอรรถกถาก็จะอธิบายว่า อ้าว แล้วสุภาษิตนี้ พระพุทธเจ้าปรารภอะไรจึงตรัส อันนี้แหละอรรถกถาก็จะเล่า อย่างพวกชาดก ก็จะทำนองเดียวกัน เราก็ได้ประโยชน์จากพวกอรรถกถา เพราะฉะนั้น อย่างสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็เคยประทานคำแนะนำไว้ทำนองว่า เหมือนกินมังคุดอย่าไปกินทั้งเปลือก อะไรทำนองนี้ นะฮะ ก็เอาเปลือกมันออกซะ กินเนื้อมัน
ก็เหมือนกับพวกวรรณคดีเนี่ย บางทีเขาก็เขียนเรื่องราวต่างๆให้มันน่าสนใจ เพื่อจูงใจ เป็นต้น เราก็ไม่ต้องไปติดใจ ไอ้พวกข้อความถ้อยคำที่มาเป็นเรื่องเป็นราวที่ชักจูงคนให้สนใจ พวกเรื่องที่ทำให้สนใจเนี่ย มักจะเป็นเรื่องตอบสนองกระแสของยุคสมัย ใช่มั้ย ใช่หรือเปล่า คนในยุคนี้เขานิยมเรื่องนี้ อย่างเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ถ้าท่านไม่เล่าเรื่องฤทธิ์ปาฏิหาริย์เนี่ย แล้วก็คนก็จะมาสนใจอะไร คนสนใจก็น้อย ใช่มั้ย ท่านก็เอาเรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหาริย์มา เล่าไป แล้วก็เป็นเครื่องจูงให้เกิดความสนใจมาอ่าน มาอ่านแล้วก็สิ่งที่ต้องการนำเสนอที่แท้ก็คือสาระ อะไรอย่างเงี้ย
หรือยุคนี้ก็เหมือนกันแหละ ถ้าไปพวกเด็กๆ เราจะทำการ์ตูนธรรมะให้เด็ก มันก็อาจจะต้องมี พวกเรื่องราวเป็นเทคโนโลยีใช่มั้ย นะฮะ เป็นไอ้เรื่องของการไป อาจจะไปนอกโลก หรืออะไรอย่างเงี้ย นะฮะ ซึ่งมันก็ไม่ใช่เป็นความจริงด้วยซ้ำ มันความจริงอิง เป็นอิงนิยายหรืออะไรทำนองนี้ไป นี่ก็สาระที่ต้องการก็คือ นำเสนอตัวหลักธรรม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องวางท่าทีให้ถูกต้อง
แล้วต่อไป เรื่องที่ 5 “เด็กๆใส่บาตรพระมหากัสสปะ” เรื่องที่ 5 นี้ก็เป็นเรื่องในอรรถกถาเหมือนกัน อันนี้ท่านก็เล่า แสดงว่าท่านใช้ประโยชน์จากอรรถกถานี้เยอะแยะเลย ท่านไม่ได้ดูถูกอรรถกถา แต่บางทีถึงจุดที่ท่านเกรงว่าคนอาจจะไปหลงงมงาย ท่านก็ตีหนักเหมือนกัน ใช่มั้ย อันนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องของวิธีการ คือบางท่านใช้วิธีนุ่มนวล บางท่านใช้วิธีแรง อันนี้ก็ถือว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละท่าน บางท่านนี้ต้องการสะกิดหรือกระตุกอย่างแรงก็ว่าเอาหนักๆหน่อย ก็อย่าไปถือสาอะไรกันมาก เอาเป็นว่าวางท่าทีให้ถูกต้อง
อาตมาจะยกตัวอย่างอีกสักเรื่องหนึ่ง อย่างเรื่องเถรวาท มหายาน เนี่ย เราไปอ่านงานบางอัน นะฮะ ท่านพูดไว้แบบนี้ เราก็อาจจะมองท่านแบบนี้ว่าท่านมีท่าทีอย่างงี้ แล้วเราก็อาจจะตามท่านไป ในแง่ที่เราตีความท่าน แล้วมันก็อาจจะเขวได้ นะฮะ แล้วถ้าเราไปศึกษาท่านในเรื่องเดียวกันในที่อื่น ท่านก็อาจจะพูดในลักษณะที่เข้ากับที่เขาเรียกปัจจุบันว่าบริบท อันนั้นน่ะ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอีกอย่างหนึ่ง
ก็ขอยกตัวอย่างจากหนังสือสองเล่มพูดถึงเรื่องเถรวาท มหายาน ในหนังสืออิทัปปัจจยตา หน้า 238 ท่านเทศน์ไว้ว่า
“การเรียกว่าเถรวาทหรือเรียกว่ามหายานนั้น มันแสดงข้อขัดแย้งกันอยู่ในตัวแล้ว เมื่อมีข้อขัดแย้งแล้วก็เรียกว่าไว้ใจไม่ได้ มันต้องเป็นพุทธศาสนาที่ไม่เป็นเถรวาทไม่เป็นมหายาน คือเป็นพุทธศาสนาเดิมแท้นั่นเอง”
ใช่มั้ย นี่อันนี้ นี่ฟังไว้นะลองฟังไว้ อันนี้ไม่เอาแล้วนะ เถรวาท มหายาน อะไรกันนั้นน่ะ แต่ยังมีข้อความอื่นที่ตีเรื่องคำว่า เถรวาท อะไรด้วย ทีนี้ไปดูอีกเล่มหนึ่ง ตุลาการิกธรรม หน้า 248 ท่านเทศน์ไว้ว่าอย่างนี้
“การที่จะถือให้เป็นแบบอย่างแต่อย่างเดียวนั้น ไม่เป็นวิสัยที่จะทำได้ เช่นลัทธิพุทธศาสนาที่เรียกตัวเองว่า เถรวาท หรือที่คนอื่นเรียกว่า หินยาน คือพุทธศาสนาอย่างไทย อย่างลังกา อย่างพม่า เหล่านี้ตั้งอยู่ในฐานะที่ต่างกันเป็นอันมากจากอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า มหายาน”
อันนี้ท่านบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เป็นอย่างเดียว อ้าว เมื่อกี้ท่านบอกว่าต้องเป็นอย่างเดียวเป็นแต่ของเดิมแท้ ใช่มั้ย ไม่เป็นเถรวาท มหายาน นี้ถ้าคนอ่านมาเพ่งโทษ ก็บอกว่า เอ้ ทำไมท่านพูดไม่สม่ำเสมอ ใช่มั้ย อันเนี่ย ต้องเข้าใจว่าเจตนาท่านเป็นอย่างไร ท่านพูดในสถานการณ์ไหน ข้อความแวดล้อมเป็นอย่างไร อ้าว
“สถาบันซึ่งยึดถือกันมั่นคงของฝ่ายเถรวาทนั้นก็คือ การที่ไม่ยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้แล้ว ข้อนี้ตรงกันข้ามจากฝ่ายมหายานที่นิยมแก้ไขเปลี่ยนแปลงทันทีที่รู้สึกว่าควรจะปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม โดยเหตุนี้เองพุทธศาสานาอย่างเถรวาท จึงยังมีอะไรๆคล้ายกับที่เป็นอยู่ในสมัยครั้งพุทธกาลเป็นอย่างมาก แม้ที่สุดแต่การกินอยู่นุ่งห่มและการทำกิจประจำวันก็ยังเหมือนกับเมื่อ 2000 กว่าปีมาแล้ว ส่วนฝ่ายมหายานนั้นมีการปรับปรุงกันใหม่ทุกอย่างทุกประการ แม้กระทั่งตัวหลักลัทธิดังนี้เป็นต้น”
อ้าวนี่ อันนี้ก็มาอ่านท่านตรงนี้ก็อาจจะมองไปอีกอย่างหนึ่งใช่มั้ย หมายความว่า ถ้าจะเอาพุทธศาสนาให้ใกล้เคียงของในสมัยพุทธกาลก็ต้องเอา เถรวาท จะไปเอา มหายาน ก็เปลี่ยนแปลงไปแม้แต่ตัวหลักลัทธิแล้ว นะฮะ อย่างเงี้ย อ้าว นี้ท่านก็บรรยายต่อไปลงท้ายเรื่องมันมีบริบท
“หวังว่าท่านที่จะออกไปเป็นตุลาการคงจะได้เผชิญปัญหาเหล่านี้ข้างหน้า ขอได้เคารพต่อสถาบันของพุทธศาสนาอย่างเถรวาทให้เหมาะสมแก่กรณีด้วย ส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายมหายานนั้นเชื่อว่าคงจะเป็นการสะดวกสบายกว่าในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่เห็นสมควรแก่การแก้ไขเปลี่ยนแปลง”
อันนี้ก็ เป็นท่าทีในเชิงปฏิบัติการ นะฮะ ของบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ตุลาการ ไปพิจารณา มีคดีขึ้นมาซึ่งไปเกี่ยวข้องกับหลักวินัยของเถรวาท ก็จะต้องเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกตามความหมายความมุ่งหมาย ไปเจอมหายานก็อาจจะไปอีกอย่างที่ท่านบอกอาจจะสะดวกสบายกว่า อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์ในการที่จะกล่าวอย่างนี้หรือมองอีกอย่างหนึ่ง เราอาจจะตีความเป็นว่า อย่างในเรื่องเถรวาท ถ้าในระดับศีล ท่านจะเอาจริงเอาจัง แม้แต่ตัวท่านเอง ใช่มั้ย ท่านก็ถือว่าท่านเป็นเถรวาทนี่ ท่านเป็นภิกษุเถรวาท ท่านถือวินัย ถือศีลแบบเถรวาท ท่านก็เคร่งครัดเอาจริงเอาจัง ท่านไม่ยอมให้ผิดเพี้ยน
แต่ในระดับปัญญานี้ ท่านก็พยามหาความจริง โดยท่านจะไม่ยึดติดอยู่ในเรื่องนี้ อันนี้ก็ เราก็ว่าเอาโดยสรุปของเราเองนะ เนี้ย อาตมาเอง อาจจะเป็นอย่างที่บอก บอกเมื่อกี้ว่า อาตมาตั้งข้อสังเกต ก็อย่าไปเชื่ออาตมา นะฮะ ก็ลองต้องข้อสังเกตว่า เออ ในระดับศีลนี่ท่านยึดไปเลย แต่ถ้าในระดับปัญญานี่ ท่านจะเปิดกว้างให้มาวิเคราะห์กันเต็มที่ นี่นี่เป็นข้อสังเกตของอาตมา บอกว่าอย่าเชื่อถือนะ ก็แล้วแต่ ลองๆไปช่วยกัน อันนี้เป็นเพียงว่าเป็นข้อสังเกตเพื่อให้เราได้มาศึกษากันไป
เพราะฉะนั้น เนี่ย ไอ้การที่จะไปพูดกันเรื่อง มองอนาคตอะไรต่ออะไร ไปบอกผ่านแนวคิดผลงานของท่านเนี่ย แล้วเรามองตัวแนวคิดและผลงานของท่านอย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ใช่มั้ย เพราะฉะนั้นบางทีเราอาจจะก้าวเลยไปก็ได้ นี้คนที่มาพูดกันมองอนาคตนั้น หรือมองการจัดการกับอนาคต ผ่านแนวคิดชีวิตของท่านเนี่ย แต่ละคนก็มีในใจของตัวเอง มองแนวคิดของท่านไว้คนละอย่าง แล้วเสร็จแล้วก็มามองกัน แล้วเสร็จแล้วก็อาจจะพูดไปคนละทางสองทาง ยังไงก็ไม่รู้นะ อันนี้ก็เป็นเรื่องกลายเป็นว่า จะมองเรื่องที่ตั้งไว้ว่า มองอนาคตของโลกว่าเราจะทำ ช่วยกันทำให้เป็นอย่างไร เนี่ย โดยผ่านแนวคิดชีวิตของท่านพุทธทาสเนี่ย เราก็ต้องชัดด้วยในเรื่องของว่าแนวคิดชีวิตของท่านเป็นอย่างไร แต่อาตมาเนี่ยก็ให้ เสนอแต่ต้นที่บอกว่า ให้มองตั้งแต่เจตนาของท่านเลย
และถ้าหากว่าเราแน่ใจว่าเจตนาของท่านแน่ แน่นอนเลย ท่านมีเจตนาที่จะสนองพุทธประสงค์ รับใช้พระพุทธเจ้าในการปฏิบัติตามพุทธโอวาทที่ให้ประกาศธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน หรือชนจำนวนมาก ด้วยเมตตาการุณต่อชาวโลก ท่านตั้งไจทำงานนี้ถึงจะอุทิศชีวิตให้ทั้งหมดเนี่ย งานของท่านที่ออกมาก็สนองวัตถุประสงค์นี้ทั้งหมดเลย นี้ถ้าหากว่าเรามีเจตนาสอดคล้องกันนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา อย่างน้อยตัวเราเองก็เข้าทางแล้ว ใช่มั้ย เออ เรานี่ ถ้าท่านมีเจตนาอย่างงั้นก็ถือว่าเป็นกุศล เราก็ต้องตามเจตนาของเราอย่างงั้นด้วย ที่เราจะมาวิเคราะห์มาพูดเรื่องท่านพุทธทาสกันเนี่ย อย่างน้อยเรา ขอให้เรามีเจตนาที่เป็นกุศลอันเนี้ย คือเรามุ่งเลยว่าเราจะศึกษางานของท่าน เราเอามาใช้ เอามาสอน เอามาเผยแพร่กันเนี่ย เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน เพื่อทำโลกให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข
ถ้าทำได้อย่างนี้ก็คิดว่าเป็นส่วนที่เราจะได้สนองท่านพุทธทาสแล้วนะ คือว่าท่านพุทธทาสเนี่ยท่านสนองพระพุทธเจ้า สนองงานของพระพุทธเจ้า เราก็มาศึกษางานของท่าน แล้วเราก็มาจัดงานที่เป็นการฉลอง 100 ปีของท่านเนี่ย ก็โดยที่ว่าเราก็จำกัดลงมาในแง่สนองรับใช้ท่านพุทธทาสอีกที ทีนี้พอเราสนองรับใช้ท่านพุทธทาส ก็กลายเป็นว่าเราได้รับใช้ทั้งสองเลย เพราะว่าท่านพุทธทาสท่านสนองงานของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว เราสนองงานของท่านพุทธทาส ก็เราก็สนองงานของพระพุทธเจ้าด้วย แต่ว่าเราไม่มีกำลังของเราเองเต็มที่ เราก็เลยอาศัยท่านพุทธทาสเนี่ยเป็นแนวทาง เป็นครูอาจารย์ให้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อจะมาช่วยนำเสนอคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เราเข้าใจง่ายขึ้น เพราะบางทีเราเข้าไม่ค่อยถึง
ก็อย่างที่บอกว่าเมืองไทยเราเนี่ย ห่างเหินจากการศึกษาพระพุทธศาสนามานานมาก เพราะฉะนั้น ต้องนึกว่าท่านพุทธทาสนี่ ท่านเป็นผู้บุกเบิกท่านหนึ่งที่สำคัญมากในยุคปัจจุบันเนี่ย ที่ทำในการศึกษาพุทธศาสนาเข้าสู่เนื้อหาสาระเป็นจริงเป็นจัง อย่างสมัยรัชกาลที่ 5 อาตมาเคยอ่านบันทึกที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 เนี่ยเสด็จประพาสในดินแดนต่างๆ ก็ทรงเป็นห่วงประชาราษฎรและการพระศาสนาด้วย ครั้งหนึ่งเสด็จไปทางใต้หรือทางไหนเนี่ย แล้วก็มีพระราชหัตถเลขามาถึง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นประมุขฝ่ายสงฆ์ตอนนั้น ก็ทรงปรารภบอก เนี่ย เสด็จไปในที่ต่างๆ ได้ยินพระ ถ้อย เทศน์สอนชาวบ้าน ก็มีแต่เรื่องของนิทาน นิทานชาดก แล้วก็เรื่องอานิสงส์
สมัยนั้น สมัยก่อน อย่างอาตมาบวชใหม่ๆก็ยังนิยมกันนักหนาเรื่องเทศน์อานิสงส์ และก็มีร้านค้าแห่งหนึ่งก็พิมพ์จังเลย พิมพ์คัมภีร์อานิสงส์ อานิสงส์สร้างระฆัง อานิสงส์สร้างกำแพงวัด อานิสงส์สร้าง ขออภัย วัจกุฎี ( ส้วม ) อานิสงส์สร้างอะไรต่ออะไรสารพัดเลย มีอานิสงส์ไปหมด นะฮะ แล้วก็ไปเกิดเป็นเทวดา มีนางฟ้าเท่านั้นหมื่นเป็นบริวาร นะฮะ คัมภีร์อานิสงส์นี้เยอะแยะไปหมดเลยนะ
ก็เนี่ย ในหลวงก็ทรงไปประสบสภาวะสถานการณ์อย่างเนี้ย ก็ทรงเป็นห่วงว่า เนี่ย ได้ทรงพบเห็นพระอยู่กับชาวบ้าน เทศน์ให้กับชาวบ้านฟัง ไม่มีเนื้อหาสาระธรรมะเลย มีแต่เรื่องอานิสงส์ มีแต่เรื่องนิทานที่มัน ถ้าเป็นนิทานมีสาระมีคติก็ยังดี บางทีก็ไม่ได้อะไร นั้นก็เลยปรารภอย่างนี้ เพื่ออะไร ก็ปรารภกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า บอกว่าเนี่ยถ้าหากว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จะได้รวบรวมหลักธรรมะที่ง่ายๆสำหรับเหมาะ คล้ายๆเป็นทำนองที่เราเรียกปัจจุบันว่าเป็นคู่มือ ให้พระเอาไปสอนชาวบ้านก็ยังดี เป็นธรรมะง่ายๆ เหมาะกับชาวบ้านในชีวิตประจำวัน อันเนี้ยเท่าที่เข้าใจเนี่ยจะเป็นที่มาของหนังสือที่เราเรียกว่า นวโกวาท ก็คือเลือกเอาธรรมะที่เหมาะที่จะใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เอามาเพื่อจะให้เป็นคู่มือพระไปเที่ยวเทศน์สอนประชาชน พระก็จะได้สะดวก
อันนี้ก็เท่ากับว่าท่าน ทั้งในหลวง ทั้งสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสนั้นได้เริ่มต้นงานเหล่านี้ไว้ ก็ฟื้นฟูพุทธศาสนากัน แล้วก็ความนิยมในการศึกษา อะไรต่ออะไรมัน ในทั่วไปมัน ก็ฟื้นยากน่ะ เพราะว่ามันฟุบมานานเนและ เมืองไทยนี่ห่างเหินจากการศึกษาพุทธศาสนามานานเหลือเกิน ปล่อยปละละเลยมาก
นี้พอท่านฟื้นขึ้นมาได้หน่อย แล้วก็ส่วนใหญ่มันก็ยังไม่ไปไหน เพราะฉะนั้นมาถึงสมัยท่านพุทธทาสก็ยังไม่ไปไหนหรอก หลวงพ่อท่านพุทธทาสท่านก็เห็นสภาพที่มันน่าเป็นห่วงอย่างเงี้ย แล้วท่านมีใจเอาจริงเอาจัง ท่านถึงกับยอมออกจากกรุงเทพเลย สละกรุงเทพ กลับไปอยู่สวนโมกข์ ท่านไปศึกษาค้นคว้า ก็ไปอยู่กับคัมภีร์นี่แหละ เอาจริงเอาจัง แล้วท่านก็ศึกษากว้างขวางออกไป ดูให้ทันต่อเหตุการณ์ สถานการณ์ ทันความคิดของชาวโลก ของตะวันตก อะไรต่ออะไรด้วย เนี่ยก็ทำให้ได้พวกแนวคิดต่างๆมา แล้วท่านก็ดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับแนวคิดของท่าน
เราก็ต้องเข้าใจ ทีนี้การเข้าใจเนี่ย ก็คิดว่าคงไม่ใช่แค่อ่านหนังสือ ใช่มั้ย ถ้าเราเข้าใจภูมิหลัง สภาพ สถานการณ์ ความเป็นมา และก็ความเป็นอยู่ของท่าน อะไรต่างๆเนี่ย มันก็ช่วยให้เข้าใจแนวคิดเหล่านี้ด้วย ความคิด สถานการณ์เหล่านั้น มันเป็นตัวชี้บ่งหรืออธิบายคำสอนของท่านด้วย แล้วก็มันก็จะไปบ่งชี้เจตนาที่ท่านมีอยู่ แล้วสิ่งเหล่าเนี้ยทั้งหมดจะมาช่วยให้เราเข้าใจความหมายที่แท้จริง
อาตมาก็เลยเอาเรื่องนี้มาพูดให้เห็นว่าที่แท้แล้วเนี่ย ต้องมาช่วยกันมองให้กว้างๆ ให้ครบถ้วนหน่อย นะฮะ คืออย่าด่วน หรือว่าจะเรียกว่าอย่าด่วนผลีผลามที่จะสรุปอะไรง่ายๆ หลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็เป็นอย่างงี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างเรื่องบุคคลเนี่ย พระพุทธเจ้าจะตรัสเลยว่า เตือนอย่าไปตัดสินอะไรใครง่ายๆ นะฮะ เราต้องศึกษาให้รอบคอบ เรามักจะใช้อย่างเงี้ย แม้แต่งานวิจัยทางวิชาการ บางทีเราก็ต้องการจะเอาเรื่องของเราว่า ท่านตัวนี้ก็หนุนความคิดอย่างเรา ก็ไปเอาข้อความที่เข้ากับเรา ใช่มั้ย แล้วก็ไปอ้าง แต่ไอ้ข้อความอื่นที่ท่านไม่เข้ากับเรา มี เราก็ไม่เอามา อย่างงี้เป็นต้น นะฮะ
นี้ถ้าเราจะมีความยุติธรรมหรือจะพูดให้ตรงความเป็นจริง เราก็ต้องศึกษาให้ครบ ใช่มั้ย แต่นี้ก็เป็นเรื่องธรรมดานี้แหละ แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องที่ว่าในวงวิชาการเอง บางทีก็น่าเป็นห่วง ทุกท่านก็คงสังเกตเห็นว่า บางทีเรารีบด่วนเพื่อจะให้งานมันเสร็จ หรือจะให้มันจบไป อะไรอย่างเนี้ย ก็เลยไม่ได้มุ่งไปที่ว่า จะให้ได้เนื้อหาสาระหรือความจริง หรือความถูกต้อง หรือให้ได้ตัวประโยชน์ที่แท้ ที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของสังคม ในการสร้างสรรประโยชน์สุขอะไรอย่างเงี้ย
เอาก็เป็นอันว่า หลวงพ่อพุทธทาสนี่ ถ้าเรายอมรับก็เริ่มตั้งแต่เจตนานี่แหละ ที่ท่านอุทิศชีวิตของท่านสนองงานพระพุทธเจ้ามา ถึงกับท่านเรียกชื่อตัวท่านเอง เป็นนามว่า พุทธทาสภิกขุ แล้วเมื่อท่านทำเนี่ย ก็บทบาทที่เด่นของท่านก็มาสัมพันธ์กับยุคสมัย คือว่าอย่างที่บอกเมื่อกี้ คนไทยเราเนี่ยห่างเหินการศึกษาพุทธศาสนามาก และความเชื่ออะไรต่ออะไรก็เป็นไปตามปรัมปรา ปรัมปราก็คือสืบต่อกันมา สืบต่อกันมาพูดต่อปากกันไปก็ค่อยๆ คลาดเคลื่อน ค่อยๆเพี้ยนไป
อันนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยที่เป็นสังคมพุทธ เพราะพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาที่ต้องอาศัยการศึกษา เราพูดง่ายๆว่า ไม่ใช่ศาสนาที่สำเร็จด้วยศรัทธา คือศาสนาที่สำเร็จด้วยศรัทธาเนี่ย เขาจะบอกเลยว่าให้มีหลักความเชื่อดังต่อไปนี้ หนึ่ง เชื่ออันนี้ สองเชื่ออันนี้ สามเชื่ออันนี้ สี่เชื่ออันนี้ ห้าเชื่ออันนี้ แล้วก็ไม่ต้องถาม บางทีก็บัญญัติไว้ด้วยว่า ถ้าถาม สงสัยก็บาปด้วย นะฮะ อันก็แปลว่าเด็ดขาดไปเลย เชื่ออย่างนี้คุณเชื่อไปก็แล้วกัน สองข้อปฏิบัติให้ทำดังนี้ 1 2 3 4 5 เมื่อคุณเป็นชาวนี้ ศาสนานี้ ให้ปฏิบัติอย่างงี้ แล้วก็อยู่เลย ก็เป็นศาสนิกของศาสนานั้น อย่างนี้มันก็ ศาสนาแบบสำเร็จด้วยศรัทธา อยู่เลย เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องมีอะไรมาก ศาสนาอย่างงี้อยู่ได้ทันที
แต่พุทธศาสนานี่ จะปฏิบัติอะไรสักอย่างต้องรู้ เข้าใจ แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะต้องบังคับให้เชื่อนะ ก็ถามได้ ศึกษาได้ และต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ ถ้าเข้าใจไม่ถูก ปฏิบัติไม่ถูก มันเลยขึ้นต่อการศึกษา ถ้าเมื่อไหร่ไม่มีการศึกษา ไปพูดต่อปากกันไป ก็ไม่ช้าก็เพี้ยนหมด เหมือนกับเราที่มีปัญหากับปัจจุบันเนี่ย เรื่องคำว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อุเบกขานี่เพี้ยนเป็นพิเศษ แล้วก็พรหมวิหาร 4 ทั้งชุด ก็เพี้ยนหมด เพี้ยนเบาบ้าง หนักบ้าง และสันโดษก็เพี้ยนหมด นะฮะ วาสนาก็ไปคนละลิบลับ ไปคนละเรื่องละราว บางอย่างก็มีความหมายผิดไปตรงข้าม
นี้พุทธศาสนาอยู่ได้ด้วยการศึกษา เพราะจะต้องรู้ เข้าใจ แล้วจึงจะปฏิบัติได้ถูกต้อง เพราะต้องมีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติ มีเสรีภาพทางความคิด หรือเสรีภาพทางปัญญา เมื่อมีเสรีภาพทางปัญญา คนต้องศึกษาก่อน ถ้าไม่มีปัญญา และไอ้เสรีภาพมันจะใช้ยังไง มันก็ใช้ผิดสิ ใช่มั้ย ถ้าเสรีภาพทางปัญญามี มันก็คือต้องมีปัญญาที่จะใช้เสรีภาพด้วย มันต้องรู้ ไอ้สิ่งที่จะเลือก มีเสรีภาพทางปัญญาก็คือว่ามีความรู้ แล้วรู้อะไรที่ตัวเองจะได้มีเสรีภาพในการที่จะเลือกปฏิบัติได้ ให้มันถูกต้อง ให้ได้ประโยชน์ ทีนี้ถ้าเราไม่ได้มีการศึกษา ไม่มีปัญญา ไม่รู้เรื่อง ก็ไอ้เจ้าเสรีภาพ มันแทนที่จะเป็นเสรีภาพทางปัญญา ก็กลายเป็นเสรีภาพแห่งความโง่ไป มันก็ไปสนองความโง่เขลา มันก็ใช้ไม่ถูกต้อง แล้วก็อ้างกันว่าเสรีภาพทางปัญญา แต่คนที่อ้างปัญญา ตัวเองก็ไม่รู้เรื่องว่าอะไรถูก อะไรจริง ก็เกิดเป็นปัญหา
อันนี้ก็เป็นเรื่องนึงที่ว่า เรามาพูดเรื่องมองอนาคตผ่านแนวคิดและชีวิตท่านพุทธทาส ก็เลยต้องพูดกันหลายแง่ ก็อันหนึ่งก็คือ ขอย้ำอีกนิดนึงว่า เราคงไม่ใช่ว่ามองเพียงว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่มองในแง่ว่าอนาคตนั้น เราจะช่วยกันทำให้เป็นอย่างไร อันนี้มันน่าจะสำคัญกว่า แล้วก็เป็นประโยชน์ แล้วก็ตอนนี้เราก็ลองมาช่วยกันเอาแนวคิด ชีวิตของท่านเนี่ย มามองในการที่จะใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติ ซึ่งการที่จะมองอย่างนี้ได้ ก็เริ่มต้นตั้งแต่ว่า เจตนานั้นสอดคล้องกันมั้ย นะฮะ เราเข้าใจเจตนาท่าน มั่นใจในเจตนาที่เป็นกุศลอย่างที่ว่า สนองงานพระพุทธเจ้า อุทิศชีวิตเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน อะไรเนี่ย แล้วถ้าเราทำเจตนา ตั้งเจตนาอย่างนั้นได้ก็สอดคล้องกัน ก็น่าอนุโมทนาอย่างมาก นี้ก็ต้องอนุโมทนาท่านผู้ที่จัดงานนี้ขึ้น ถ้ามีเจตนานี้ก็เรียกว่าน่าชื่นใจ เนี่ยฮะ แล้วก็หวังได้ว่า จะนำไปสู่ผลที่ดีงาม แล้วมันก็คือผลที่เราต้องการแท้ๆแหละ อันนี้ก็คือเรื่องที่เป็นปัจจุบันทันด่วนที่โลกกำลังต้องการด้วย
แล้วก็ชีวิตและงาน แนวคิดของท่านก็จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ แล้วก็การมองท่านก็อย่างที่ว่า ก็ย้ำไปในแง่ว่า เมื่อจะมองอะไรข้างหน้า ที่จะเอาแนวคิดของท่านไปใช้ เราก็ต้องชัดในแนวคิดของท่านก่อน แล้วการศึกษาเข้าใจแนวคิดชีวิตของท่านก็ไม่ได้ด่วนตัดสินเอาง่ายๆ
ก็ศึกษาไป เราก็เผื่อใจไว้ด้วย เผื่อทางวาจาด้วย ว่าเท่าที่เราได้ศึกษาเนี่ย เราเข้าใจว่าอย่างงี้ แม้แต่วิธีพูดนั้นในพระไตรปิฎกท่านก็สอนไว้ ว่าเวลาพูดอะไรเนี่ย ให้พูดแบบอนุรักษ์สัจจะ อนุรักษ์สัจจะก็แปลว่าอนุรักษ์ความจริง คือ ไม่เอาตัวเอง หรือแนวคิดความเชื่อของตัวเองไปตัดสินความจริง เช่น พูดทำนองว่า เท่าที่ข้าพเจ้าได้ศึกษามา ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านพุทธทาสเห็นอย่างนี้ นะฮะ อย่างงี้เรียกว่าเป็นวิธีพูดที่เรียกว่า อนุรักษ์สัจจะ ไม่ใช่อยู่ๆก็ตัดสิน โผง ท่านพุทธทาสคิดว่าอย่างงี้ อันนี้เรียกว่า ไม่อนุรักษ์สัจจะ ก็มีวิธีพูด และอย่างนี้ก็จะเรียกว่าถ่อมตัวหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันเป็นความจริงอย่างนั้น แล้วเรามันก็จะเป็น กระบวนการนะ เป็นขั้นหนึ่งในกระบวนการที่จะช่วยให้เราเนี่ยก้าวหน้าไปในการศึกษา
เพราะมิฉะนั้นแล้วมันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ทิฏฐิ คือ พอคนบอว่า ท่านพุทธทาสว่าอย่างงี้ปั๊บ นี่เป็นทิฏฐิ ความคิดเห็นของตัวเอง พอเอาทิฏฐิมาตัดสินสัจจะปั๊บ แต่ละคนก็ยึดในทิฏฐิ ใช่มั้ย พอยึดถือ ติดในทิฏฐิ มันก็ทะเลาะกัน และก็ไอ้ตัวทิฏฐิมันก็มาขวางกั้นสัจจะ ไม่ให้เข้าถึงปัญญาที่แท้ ที่จะรู้ความจริง ก็เลยเกิดเป็นปัญหา ที่เป็นทิฏฐิก็อย่างเงี้ย นะ ท่านก็ช่วยสอนวิธี แม้แต่วิธีพูด วิธีตั้งท่าทีไว้ อันเนี้ย ซึ่งช่วยให้เราเนี่ย ไม่เอาไอ้ตัวทิฏฐินี่มาเป็นขวากหนาม อุปสรรค กางกั้นการก้าวหน้าไปสู่การค้นหาความจริง ก็คือการรู้จักแม้แต่พูดด้วยท่าทีที่อนุรักษ์สัจจะ เนี่ยเราก็จะมาร่วมกัน มันไม่เฉพาะตัวเอง ไม่กั้นตัวเองเท่านั้น แต่มันหมายถึงการที่จะร่วมมือกันในการที่จะก้าวไปสู่ความจริงนั้นด้วย
อาตมาคิดว่าได้พูดมาเรื่องนี้ก็ยาวพอสมควรแล้ว ก็กลายเป็นว่าอาตมายังไม่ได้ทันได้พูดว่า แล้วเราควรจัดการหรือช่วยกันทำอนาคตให้เป็นอย่างไร โดยผ่านแนวคิดและชีวิตท่านพุทธทาส อันนั้นก็กลายเป็นว่าอาตมาก็ฝากไว้ให้ท่านผู้ที่มาช่วยกันระดมความคิด ที่มีความหวังดีต่อสังคม ประเทศชาติ ชีวิตมนุษย์เนี่ยมาช่วยกัน มองต่อไป อันนั้นก็เป็นอีกขั้นนึงแล้ว อาตมาก็ขอไว้แค่นี้ กลายเป็นว่าอาตมาเน้นไปที่การมองตัวแนวคิด และชีวิตของท่าน และก็เมื่อมองแล้ว ต่อจากนั้นก็ไปมองอนาคตที่จะจัดการ โดยผ่านแนวคิดและชีวิตของท่านอีกที ก็ขออนุโมทนาทุกท่าน ขอเจริญพร