แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
สืบเนื่องจากที่พูดเมื่อคราวที่แล้ว ก็ย้ำนิดหนึ่งตรงที่เรื่องเวทนา ที่ว่าสุข ทุกข์ และเฉยๆ ทีนี้ได้พูดไปแล้วว่าเวทนานี้ ท่านถือว่าเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว คือ สุข ทุกข์ เฉยๆ มันเป็นผล เราได้รับเราก็รู้สึกไป มันก็เป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น แต่จุดสำคัญก็คือ จะมีปฏิกิริยาอย่างไร ตรงนี้ เพราะฉะนั้น ในปฏิจจสมุทปบาท ตรงนี้จะเป็นหัวต่อระหว่างเวทนาและอะไรจะมาต่อ ถ้าไปตามกระบวนการปฏิจจสมุทรปบาท เวทนาแล้วก็ตัณหา เวทนาปจฺจยา ตณฺหา คือถ้าเราไม่มีปัญญา ไม่รู้เท่าทัน ก็ตัดวงจรตรงนี้ไม่ได้ ก็เกิดปฏิกิริยา อย่างที่พูดไปแล้วว่า ถ้าเวทนาเป็นสุข ก็จะชอบใจ หรือภาษาเก่าเรียกว่า ยินดี นี่ถ้าหากว่าเวทนานั้นเป็นทุกข์ ก็จะเกิดปฏิกิริยา ไม่ชอบใจ เรียกว่า ยินร้าย อันนี้เรียกว่า ตัณหา เป็นตัณหาฝ่ายบวกกับฝ่ายลบ นี่ถ้าเรารู้ทัน ก็เสวยเวทนาโดยไม่ถูกครอบงำ การเสวยเวทนานี้ เป็นเรื่องตามธรรมชาติ เป็นเรื่องวิบาก ไม่ใช่ไปตัดเวทนา เราไม่มีหน้าที่ไปตัดเวทนา เวทนามันเป็นผล มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น จุดสำคัญก็คือ อย่างที่บอก ว่าทำยังไงจะไม่ถูกมันครอบงำ แล้วก็เกิดปฏิกิริยาที่เป็นยินดี ยินร้าย พออวิชชาเข้ามาเป็นพื้นฐานอยู่ข้างใน ปัญญาไม่มา ตัณหาก็จะต่อตรงนี้ ฉะนั้น เวทนาก็จะมาเป็นตัวที่จะทำให้อวิชชานี้ มันทำงานต่อมาเกิดตัณหา นี่ถ้าไม่มีอวิชชาก็ปัญญามา วงจรก็ขาด แต่ข้อที่ต้องการเน้นในที่นี้ ก็คือให้รู้ว่าเวทนานั้น บุคคลมีสิทธิ์ที่จะเสวย เป็นเรื่องความรู้สึกตามธรรมชาติ เอาละเป็นอันว่า ไม่ให้ต่อไปที่ตัณหา
ทีนี้เรื่องเวทนา สุข ทุกข์ คนเราก็ต้องการความสุข แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะเสวยสุข ท่าทีปฏิบัติต่อเรื่องความสุข นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ในพระสูตรหนึ่ง เรียกว่า เทวะทหะสูตร อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ พระพุทธเจ้าตรัสถึงวิธีปฏิบัติต่อสุข โดยเทียบเคียงกับเรื่องของลัทธินิครนถ์ นิครนถ์นั้น เขาเป็นลัทธิบำเพ็ญตบะ คือทรมานตนเอง มองในแง่พุทธศาสนา การบำเพ็ญตบะนี้ ก็เป็นการเอาทุกข์มาทับถมตน ซึ่งอาจจะไม่มีทุกข์อยู่ อย่างน้อยไม่มีทุกข์นัก เพราะฉะนั้น ก็เลยพระพุทธเจ้าก็ตรัสถึง ท่าทีของพุทธศาสนาต่อเรื่องความสุข ซึ่งมีข้อสำคัญสรุปได้เป็น ๔ ข้อ
๑ ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ ก็เราถ้าไม่มีทุกข์ ก็อย่าไปเอาทุกข์มาทับถมตน
๒ ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบทำ ถ้าสุขแล้ว มันชอบทำก็ไม่ต้องละทิ้งมัน
๓ แม้สุขที่ชอบทำ ก็ไม่ติดเพลิน ถ้าติดเพลินก็มัวเมา สยบ ตกเป็นทาสของมัน สุขที่ชอบทำก็ไม่ติด ไม่สยบ แล้วก็
๔ นี่ก็เป็นเนื้อความถึงการปฏิบัติของพระสูตรนั้น ก็คือว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่ประณีตขึ้นไป เพราะว่าความสุขนั้น ไม่ใช่มีเฉพาะแค่นั้น ยังมีสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก ฉะนั้น ก็เพียรพยายามปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป ซึ่งถ้ามองในแง่ความสุขนี้ สุขที่สูงสุด ก็คือ นิพพาน นั่นเอง
อันนี้ เป็นความโดยย่อ ทีนี้ถ้าพูดถึงหลักการพุทธศาสนาที่กว้างออกไปจากพระสูตรนี้ ก็อาจจะพูดได้อีก ผมก็มีสุขที่ประณีตจนถึงสมบูรณ์แล้ว ต่อจากนั้นก็มีแต่จะไปแผ่ความสุขให้แก่มนุษย์ทั้งหลายทั่วไปหมด ที่เข้ากับหลักที่ว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกัง พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย ว่าให้จาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน ซึ่งคตินี้ก็เป็นจุดหมายทั่วไปของพุทธศาสนา ที่ว่าเมื่อบุคคลนั้น ก็ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีกแล้ว ไม่ต้องหาความสุขอีกแล้ว มีความสุขเป็นคุณสมบัติภายใน ต่อจากนั้นก็ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของเพื่อผู้อื่นทั้งหมด ถ้าเติมข้อนี้เข้าไป ก็เท่ากับ ๕
เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าใจทัศนคติของพุทธศาสนาในเรื่องสุขให้ดี เพราะว่าท่านสอนให้จะเน้นเรื่องทุกข์มาก แต่ก็สุขก็เสี่ยงนะ เพราะสุขนี่ก็เป็นทุกข์ในตัวด้วย จะเป็นยังไง สุขเป็นทุกข์ในตัว แต่ว่าเอาในแง่สุขเสียก่อน ในพระสูตรอื่นอีก พระพุทธเจ้ายังเคยตรัส ให้เห็นถึงว่าความสุขนี้ มันมีหลายขั้น หลายระดับ พระองค์ตรัสถึงเรื่องของมนุษย์ที่เกิดมา ความเข้าใจในเรื่องความสุขนี้ ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นไปตามระดับการพัฒนาของจิตใจ อย่างเด็กที่เกิดมาใหม่ๆ เล่นมูกคูถของตัวเอง ก็สนุก ก็เป็นความสุขของเด็กนั้น พอเด็กโตขึ้นมาหน่อย ก็เล่นพวกตุ๊กตา เครื่องเล่นต่างๆ เยอะแยะไปหมด แม้แต่เล่นกองทราย อะไรต่อะไร ก็สนุกมาก มีความสุข ทีนี้เทียบกันในระหว่างคนที่พัฒนา แม้แต่ในระดับชาวบ้าน คนที่โตขึ้นมา เห็นเด็กเล่นสนุกสนานกับเครื่องเล่นต่างๆ เหล่านั้น บางทีผู้ใหญ่ที่ไปเห็นก็ขำ เพราะว่าเด็กนี่ จะมีความยึดติดในสิ่งที่เล่นนั้น เป็นของจริงจังมาก บางทีผู้ใหญ่ก็ไปแกล้งหยอก เด็กก็ร้องไห้ คือว่าเด็กนี่จะรัก เห็นในสิ่งที่ตัวเล่น เป็นจริงเป็นจัง อย่างตุ๊กตา เขาจะยึดถือเหมือนกับมีชีวิต ใช่ไหม เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นความสุขของเด็ก ซึ่งผู้ใหญ่ไม่รู้สึกอย่างนั้น ทีนี้ต่อไปก็เป็นคนโตขึ้น ก็หนุ่มสาว ก็จะมีความสุขในเรื่องของทางเพศ เกิดความรัก ความอะไรต่างๆ ทีนี้ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป
ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสมาถึงพระองค์เอง พระองค์ก็เคยวุ่นวาย หลงหมกมุ่นกับความสุขแบบนั้น และพระองค์ก็ตรัสว่า พระองค์ถ้าหากไม่ได้ทรงเข้าถึงความสุขที่ประณีตกว่า พระองค์ก็จะยืนยัน รับรองไม่ได้ว่าพระองค์จะไม่เวียนกลับมาหากามสุขอีก ความสุขจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฎทัพพะเรียกว่า กามสุข ซึ่งเป็นสุขของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ทีนี้พระพุทธเจ้า ก็เข้าถึงความสุขที่ประณีตกว่านั้น เพราะเหตุที่เข้าถึงสุขที่ประณีตนั้น ก็จึงไม่เวียนกลับมาหากามสุข เมื่อมองเห็นคนทั่วไปเสวยกามสุขกันอยู่ ก็จะคล้ายๆ กับที่ผู้ใหญ่เห็นเด็กเล่นเครื่องเล่น อะไรทำนองนั้น ถ้าจะเปรียบ อันนี้ก็เป็นเรื่องของแง่มุมที่เกี่ยวกับเรื่องของท่าทีต่อความสุข แต่ว่าเรื่องความสุขก็มีแง่มุมที่ต้องพูดหลายอย่าง อย่างในแง่ที่ว่า ความสุขที่ต้องหา กับ ความสุขที่ไม่ต้องหา อย่างความสุขของคนทั่วไปนี้ จะเป็นความสุขประเภทที่ต้องหา นี่ถ้าเป็นผู้ที่พัฒนา ไปถึงความสุขประณีตขึ้น ก็จะมีความสุขภายใน ซึ่งเป็นความสุขที่กลายเป็นคุณสมบัติของตัวเอง ของจิตใจ เมื่อมีเป็นประจำ มันก็ไม่ต้องหา ทีนี้คนที่หาความสุข ก็เหมือนกับบอกฟ้องออกมาว่า ตัวเองนี้ไม่มีความสุขอยู่ในตัว ความสุขนั้นขึ้นต่อสิ่งภายนอก ก็ต้องหา ทีนี้ควมสุขที่ต้องหานี้ โดยมากจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า สามิสสุข ความสุขที่อาศัยอามิส ขึ้นต่อวัตถุ เป็นต้น ขึ้นต่อรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่ถ้าเป็นนิรามิสสุข ก็เป็นสุขที่ไม่ต้องอาศัยอามิส เป็นสุขภายใน แม้แต่ นิรามิสสุขก็ยังมีอีก ต่างกันระดับหนึ่ง สุขในระดับสมาธิ ซึ่งสุขทางด้านจิตใจ ซึ่งยังอาศัยการปรุงแต่งของจิตอยู่ สุขนิรามิส เข้าฌาน เข้าสมาธิ ก็ถือว่าเป็นอยู่ในระดับปรุงแต่ง แล้วก็มีสุขเหนือปรุงแต่ง คือสุขที่เป็นเรื่องของปัญญาที่สว่าง แจ้งโล่ง ก็มีข้อเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่ง ว่าคนมีสุขภาพดี การมีร่างกายแข็งแรงสุขภาพไม่มีโรค เป็นความสุขหรือไม่ นี่ถ้าเราอาทางร่างกายมาเทียบ คนแสวงหาความสุขอย่างไรก็ตาม ถ้าร่างกายยังมีโรคอยู่ ความสุขทางกายนั้น ก็ไม่สมบูรณ์ ใช่ไหม ภาวะที่ไม่มีโรคเลย ร่างกายสมบูรณ์นี้ เป็นความสุขพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ทีนี้เมื่อคุณมีความสุขอันนี้แล้ว จะเสวยความสุขอย่างอื่นหรือไม่ ก็แล้วแต่พอใจ แต่ว่าเรามีพื้นฐานอยู่แล้ว คือความไม่มีโรค ก็คือไม่มีทุกข์กาย จิตของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรายังมีโรคของจิตอยู่ ไปหาความสุขยังไงก็ตาม ตัวเสียดแทงหรือตัวกวนข้างใน ก็ยังมีตลอดเวลา ทีนี้ ความสุขที่สำคัญก็คือ ภาวะไร้ทุกข์ เขาเรียกว่า ไร้โรค ไร้ทุกข์ อะไรก็ได้ ภาวะอย่างนี้ ภาวะที่เหมือนกับร่างกาย เปรียบกับร่างกายก็เหมือนกับมีสุขภาพดี แข็งแรง ไม่มีโรค เป็นสภาพจิตของผู้ที่บรรลุนิพพาน เพราะฉะนั้น คำศัพท์หนึ่งที่ใช้เรียกนิพพานก็คือ คำว่า “ความไม่มีโรค” หมายถึงไม่มีโรคทางด้านจิตใจ ที่เรามาพูดเป็นภาษาไทยบ่อยๆ ว่า “อโรคยา ปรมาลาภา” “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” หรือ เป็นลาภอันสูงสุด ความจริงในตัวพุทธพจนแท้ๆ ความหมายที่ลึกซึ้งนี้ ไม่ได้หมายถึงโรคทางกาย ไม่ได้เอาแค่นั้นหรอก แต่ว่าตัวบาลีที่เราจำก็ผิดแล้ว คือมันไม่ใช่ อโรคยา ปรมาลาภา คือเราจำเพี้ยน ให้สะดวกกับลิ้นไทย ภาษาบาลีว่า “อาโรคฺยปรมา ลาภา” “ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง” ในพระสูตรหนึ่งชื่อ มาคัณฑิยสูตร ก็อยู่ในมัชฌิมนิกาย พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงสนทนามาคัณฑิยพราหมห์ ก็พูดกันถึงเรื่องนี้ เรื่องของความสุขนี้ ทีนี้ก็ได้ยกข้อความที่เป็นคาถานี้ขึ้นมาว่า อโรคฺยปรมา ลาภา นิพพานปรมัง สุขขัง ที่พูดถึงว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่งนี่ ยังไง พราหมณ์นั้นก็เอามือลูบตัว บอกอย่างนี้สิ ไม่มีโรคในร่างกายแข็งแรงนี่ เรียกว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าบอกว่า นี่ความหมายที่แท้ มันไม่ใช่แค่นี้หรอก ความหมายที่แท้หมายถึง ไม่มีโรคแม้แต่ทางด้านจิตใจ
มนุษย์ปุถุชนนี้ ในสายตาของพระอริยะ พระอรหันต์ก็ถือว่ามีโรคตลอดเวลา ในพระสูตรหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนทั่วไปนี้ ที่จะมาอวด มาพูดปฏิญาณได้ว่า ฉันไม่มีโรคกายเลย ตลอดวันหนึ่งบ้าง เดือนหนึ่งบ้าง ปีหนึ่งบ้าง หรือแม้แต่หลายๆ ปีนี้ ยังมีคนยืนยันได้ แต่คนที่จะยืนยันว่าไม่มีโรคของจิตใจเลยนี้ ไม่มี แม้แต่ชั่วเวลาสั้นๆ ผู้ที่จะกล่าวยืนยันตัวเองได้อย่างนี้ ก็คือ พระอรหันต์ ว่างั้นนะ ฉะนั้น โรคของชีวิตมันก็มีทั้ง ๒ อย่าง ทั้งด้านกายและด้านจิตใจ จิตใจที่มีอะไรรบกวน บางทีก็เศร้าหมอง ขุ่นมัว บางทีก็เดือดร้อน บางทีก็คับแค้น วุ่นวายอะไรต่างๆ ไม่มีความสงบ ไม่มีความปลอดโปร่งโล่งเบา ก็ถือว่ามีโรคอยู่ในจิตใจ ไม่ใช่หมายความว่า โรคจิตในภาษาสมัยใหม่ ในภาษาไทยนี้ เวลาพูดจิตกับใจนี่ ความจริงที่จริงมันคำเดียวกัน จิตเป็นภาษาบาลี ใจเป็นภาษาไทย จิตมันก็ จิต-ตะ บาลี ใจก็ภาษาไทย แต่เวลาในการใช้ทั่วไป บางทีก็ไม่เหมือนกัน เสียจิตกับเสียใจ ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม โรคจิตกับโรคใจ ก็ใช้ในความหมายไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการใช้เชิงภาษา แต่ว่าเอาสาระสำคัญก็คือว่า ที่แท้แล้วนี้ คนธรรมดามีโรคทางจิตใจอยู่ตลอดเวลา มีสิ่งที่จะมารบกวน ทำให้จิตใจให้ขุ่นมัว เศร้าหมอง เป็นต้น ซึ่งใช้คำง่ายๆ เรียกว่า กิเลส เพราะว่าคำว่า กิเลส นั้น แปลว่าสิ่งที่เศร้าหมอง จิตใจไม่ปลอดโปร่ง ไม่โล่ง ไม่เบา เพราะฉะนั้น ในที่สุดก็ใช้คำว่า ไร้ทุกข์ ในกรณีนี้คำว่า ทุกข์ หรือ คำว่า โรค ใช้แทนกันได้ จิตใจที่ไร้ทุกข์ ก็คือ ไร้โรค ไม่มีอะไรมารบกวนเลย โปร่ง โล่ง เบา สะอาด สว่าง สดใส เบิกบาน อยู่ได้ตลอดเวลา ทีนี้ ถ้าเป็นได้อย่างนั้น ก็ต้องไม่มีตัวกวนเหลืออยู่ ซึ่งก็หมายถึงว่าต้องกำจัดกิเลสได้หมด ก็มีแต่พระอรหันต์ ทีนี้คนธรรมดา ในเมื่อยังทำไม่ได้ เราก็ต้องอยู่ในขั้นของการฝึก การฝึกก็มี ๒ อย่าง คือ การปรุงแต่งให้ดีอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ใช้ตัวตัด จริงๆ อย่างของพระอรหันต์ดำเนินตามปฏิปทาของท่าน แต่ว่าอย่างเช่น สมถะของสมาธินี้ก็คือ วิธีการปรุงแต่งจิต สมถะนี่ถือว่าเป็นขั้นปรุงแต่งทั้งสิ้น วิปัสสนาจึงเป็นขั้นที่เหนือปรุงแต่ง วิปัสสนานั้นพยายามทำลายการปรุงแต่งเลย ไม่ต้องอาศัยการปรุงแต่ง แต่สมถะนี้ก็คือ การปรุงแต่งจิต ให้จิตนั้น มันเป็นจิตที่ดี แล้วให้กำลังของฝ่ายดี ฝ่ายความสุข ความสงบ มันมีความเข้มแข็งมาก จนกระทั่งว่าฝ่ายที่ไม่ดี ฝ่ายทุกข์ ฝ่ายขุ่นมัว ฝ่ายเร่าร้อน ไม่สามารถจะแสดงตัวออกมาได้ ทีนี้การปฏิบัติ เรื่องของภาวนาอะไรทั้งหมด จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ถ้ามองในแง่นี้ก็เหมือนกับว่าเป็นเรื่องของการที่จะเข้าถึงความสุขนั่นเอง แต่ว่าท่านไม่นิยมใช้คำว่า “สุข” เพราะคำว่า “สุข” นี่เป็นคำที่ มันยังมีปัญหา มันจะเรียกใช้ศัพท์สมัยใหม่ ก็เป็นสัมพัทธ์มาก สัมพัทธ์ยังไง ก็คือว่า สุขในความหมายหนึ่ง แต่เป็นทุกข์ในอีกความหมายหนึ่งได้ มองในแง่หนึ่งหรือมองในแง่ของคนที่สุขสูงขึ้นไป ก็มองคนที่สุขน้อยนี่ยังทุกข์ หรือว่าตัวความสุขที่เสวยเอง อย่างเวทนานี่ มันเป็นทุกข์ในตัว อย่างน้อยมันก็เป็นธรรมชาติ ที่ตกอยู่ใต้กฎพระไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็หมายความว่าเปลี่ยนแปลงได้ สุขที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปนี้ เกิดจากเหตุปัจจัย มันก็แปรปรวนไปตามเหตุปัจจัย มีการเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เหมือนอย่างเรามีความสุขอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา แม้แต่ทางจิตใจ เช่น สมาธิ ก็เกิดจากปัจจัย คือ สมาธิ พอปัจจัยตัวนี้มันหายไป สุขนั้นก็หายไปด้วย ทีนี้ถ้าคนตั้งจิตไม่ถูกต้อง ความสุขนี้ก็จะเกิดความรู้สึก เช่น เสียดาย พอความสุขนี้ที่เราได้เมื่อกี้นี้ มันหายไปเสียแล้วหนอ หรืออย่างบางคนนี้เคยปฏิบัติได้สมาธิถึงระดับหนึ่ง มีความสุข ต่อไปทำยังไงเราจะเข้าได้อีก แหมเข้าไม่ได้ ก็เสียดาย อะไรทำนองนี้ ก็มันก็ยังเป็นไปกับความยึดติด ยังเป็นไปกับความขาดความหาย การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็เลยเป็นเรื่องที่ยังไม่พ้นจากทุกข์
ทีนี้ สุขในขั้นที่แท้ ก็คือ ภาวะไร้ทุกข์อย่างที่ว่า คือ ไม่มีทุกข์เหลืออยู่ ฉะนั้น ในขั้นสมบูรณ์ จึงใช้คำเชิงปฏิเสธ เพราะว่า ที่พูดกันว่าสุขๆ นี้ ไม่เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีทุกข์อยู่ โดยมากสุขของคนทั่วไป จะมีทุกข์ปนอยู่ ลึกๆ ลงไป หรือยังมีเชื้อ มีอะไรต่ออะไร ที่จะกลับมาเป็นทุกข์ได้ นี่ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็หมายความว่า ตัดเชื้อของทุกข์ออกไปหมด เป็นผู้ประสบความไร้ทุกข์ ก็ไม่มีทุกข์อีกต่อไป เหมือนคนที่ว่าเมื่อกี้ เหมือนกับร่างกายที่ไม่มีโรค เป็นพื้นฐานที่มีความสมบูรณ์ในตัว เมื่อจิตไร้โรค ไร้กิเลส ไม่มีตัวกวน ไม่มีทุกข์แล้ว ท่านจะเสวยสุขอย่างไรเพิ่มจากนั้น ก็เป็นสิทธิ์โดยสมบูรณ์และถ้าจะเสวยสุขอย่างไหน ก็เสวยได้โดยสมบูรณ์ อย่างมนุษย์ปุถุชนนี้ เสวยสุขแม้แต่กามสุข ก็ไม่สมบูรณ์ เพราะอะไร เพราะว่ามันมีตัวกวนอยู่ข้างใน ลึกๆ ลงไป มันไม่สมบูรณ์ ความสุขนั้นไม่เต็มที่ ถ้าหากว่าจิตได้พัฒนาสูงขึ้นไป การเสวยสุขแม้แต่ระดับต่ำๆ ก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย แต่ก็อยู่ที่ตัวเอง เมื่อเข้าถึงสุขที่ประณีตขึ้นหรือแม้แต่ภาวะไร้ทุกข์แล้ว จะต้องการเสวยสุขอย่างใดหรือไม่ แต่พระอรหันต์ทั้งๆ ที่มีสิทธิ์เสวยอย่างกามสุข ท่านไม่เสวย เพราะว่าจิตมันพัฒนาเลยขั้นไปเอง ไม่ใช่หมายความว่า ท่านจะไม่สามารถเสวยความสุขอย่างนั้น อะไรต่ออะไร ซึ่งมนุษย์ปุถุชนบางทีก็เลย ไม่อยากเป็นพระอรหันต์ เพราะกลัวว่าจะไม่ได้เสวยความสุข อย่างที่ตัวเคยชอบ เพราะฉะนั้น ก็ต้องพูดว่า ไม่มีปัญหาหรอก เพราะเป็นพระอรหันต์มีสิทธิ์เสวยสุขทุกอย่าง และเสวยสุขอย่างไหน ก็สมบูรณ์ทุกอย่างด้วย เพราะว่ามันไม่มีตัวกวน แต่มันมีข้อพิเศษขึ้นมาว่า จิตมันพัฒนาพ้น มันก็เลยไม่ยินดีในสุขนั้น อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส บอกว่าถ้าเราไม่บรรลุสุขที่ประณีตกว่า เราก็ยืนยันตัวเองไม่ได้ว่า เราจะไม่เวียนกลับมาหากามสุข แต่พระองค์เข้าถึงความสุขที่ประณีตกว่าแล้ว มันเลยไม่มีความรู้สึกพอใจ ที่จะเสวยสุขอย่างที่ปุถุชนชอบ หรือชื่นชมกันอยู่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสุขในแง่มุมต่างๆ
ทีนี้ ถ้าพูดในแง่ความสุขแล้ว ก็จะเห็นว่าพุทธศาสนานี้ พูดเรื่องความสุขเยอะเหลือเกิน อย่างในกระบวนการปฏิบัติที่เคยพูดมาแล้วว่า ระหว่างปฏิบัติธรรมตัวนี้ จิตมันก็จะห่างไกลจากทุกข์มากขึ้น มีสุขมากขึ้น อย่างลักษณะจิตทั่วไปที่ก้าวหน้าในธรรม ก็จะมีอย่างที่ว่าปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ มีปีติอิ่มใจ ปัสสัทธิสงบ เย็นผ่อนคลายกายใจ แล้วก็สุข แล้วก็สมาธิ แล้วต่อจากนั้น จิตจะเป็นจิตที่เหมาะที่ควรแก่การใช้งานอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะงานทางปัญญา เมื่อพูดถึงขั้นนี้แล้ว ก็เลยอยากจะให้ไปตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับเรื่องของคำสอนของพุทธศาสนาทั่วไป อย่างคนต่างประเทศ อย่างชาวตะวันตก เวลามาเรียน มาอ่านเรื่องพุทธศาสนา ก็มาเจอคำสอนอริยสัจ ๔ ข้อแรกก็เจอ ข้อทุกข์ปั๊บเลย ก็คล้ายๆ ว่าพุทธศาสนาเริ่มด้วยทุกข์ เขาก็จะมีความรู้สึกว่า พุทธศาสนานี้ บางคนก็เอาหนักเลย บอกว่ามองโลกในแง่ร้าย เป็น pessimist คือ เห็นโลกเป็นทุกข์ เห็นชีวิตเป็นทุกข์ ลองไปเปิดดูหนังสือของฝรั่ง encyclopedia จะมีเยอะแยะแบบนี้ ก็บอกว่าพุทธศาสนาสอนว่า ชีวิตเป็นทุกข์ ว่างั้น จะเริ่มอย่างนี้ แล้วเขาก็ไม่สามารถจะให้ความกระจ่างแจ้งชัดเจนที่เหนือจากนี้ขึ้นไป แต่ทีนี้ฝรั่งบางพวกที่ไม่เคยอ่านพุทธศาสนา แต่มาเมืองไทย มาเห็นความเป็นอยู่ของผู้คน จะมีความรู้สึกเกิด เขาเรียกว่า impression คือความประทับใจตรงข้าม ทีนี้จะบอกว่าพวกชาวพุทธนี้ รู้สึกว่ามีความสุขมาก อย่างที่ตอนที่คนอยู่วัดพระพิเรนท์ ก็เคยมีฝรั่งไปหาที่วัด โดยที่ไม่รู้จักเขามาท่องเที่ยว เอ้า ทำไมมา เขาบอกว่า เขาเห็นคนไทยรู้สึกว่า มีความสุขจัง เขาก็เลยอยากจะรู้ว่า คนไทยนี้ ซึ่งก็รู้อยู่ว่าเป็นชาวพุทธแทบทั้งนั้น นับถือพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนอย่างไร จึงเป็นคนที่มีความสุขมาก บางคนก็ยกไปไกลถึงขนาดนี้ เขาบอกว่าเขาไปตามบ้านนอก แม้แต่งานศพ คนไทยก็สนุกจัง บอกบ้านเมืองเขานี้ งานศพนี่ไม่ไหวเลย ใจมันเครียด ไม่ดีเลย เขามานี่ชักชอบใจ อันนี้ก็เป็นข้อที่ฝรั่งเขาสังเกต แต่ว่าบางคนก็พูดในแง่ว่า เช่น เขาอยู่บนโฮเต็ล เขามองทางหน้าต่าง เขาเห็นตอนเช้าผู้คน บางคนก็ออกมาตักบาตร หน้าตาก็ยิ้มแย้มเอิบอิ่ม เขารู้สึกว่ามีความสุข เขาก็เลยเกิดความประทับใจอย่างที่ว่า คนไทยมีความสุข พุทธศาสนาสอนอะไร จึงทำให้คนไทยมีความสุข หรืออย่างที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่าสยามเมืองยิ้ม The land of smile เป็นความมีน้ำใจ ก็แสดงถึงจิตใจที่มีความสุขอยู่ด้วย ความยิ้มแย้มก็อาจจะโยงไปหาความสุขได้
อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกประทับใจนี้ไม่เหมือนกัน คือไปอ่านคำสอน ไปเริ่มต้นว่า พุทธศาสนาสอนชีวิตเป็นทุกข์ แต่พอมาเจอความเป็นอยู่ ว่าคนไทยนี้ชาวพุทธเป็นสุข อันนี้จะอธิบายอย่างไร ก็หันไปพูดถึงตัวหลักคำสอน ก็ที่สอน ที่พูดกัน อย่างเรื่องอริยสัจ ที่เริ่มด้วยทุกข์ การพูดแค่นั้นไม่พอ และอย่างที่ว่าอาจจะทำให้เกิดความประทับใจหรือ impression ที่ผิด ว่าพระพุทธศาสนานี้ เป็นศาสนาที่เน้นย้ำเรื่องทุกข์ ในเมื่อเน้นย้ำเรื่องทุกข์ แล้วก็เลย ก็พาให้จิตใจก็เป็นทุกข์ไปด้วย การที่จะเข้าใจคำสอนพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักใหญ่นี้ ก็ต้องเข้าใจมองให้ครบ หลักเรื่องอริยสัจ จริงอยู่เริ่มต้นด้วยทุกข์ แต่ว่าพุทธศาสนาไม่ได้สอนแค่ตัวอริยสัจ สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ด้วยก็คือ หลักที่เรียกว่ากิจในอริยสัจ หรือกิจต่ออริยสัจ ถ้าเราไม่รู้หลักกิจต่ออริยสัจ เราจะไม่มีความชัดเจนในเรื่องอริยสัจ แล้วบางทีก็อาจจะนำอริยสัจไปปฏิบัติผิดๆ ก็ได้ คือ อริยสัจแต่ละข้อ ท่านก็วางหน้าที่ของคนต่อมัน ต่ออริยสัจนั้นแต่ละข้อไว้
สอนทุกข์ แล้วเรามีหน้าที่ต่อทุกข์อย่างไร
ต่อจากทุกข์ ก็สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ แล้วเรามีหน้าที่ต่อสมุทัยอย่างไร
นิโรธ ความดับทุกข์ แล้วเรามีหน้าที่ต่อนิโรธอย่างไร
มรรค ข้อปฏิบัติหรือหนทางให้ถึงความดับทุกข์ แล้วก็หน้าที่ต่อมรรคนี้ เราจะต้องทำอย่างไร
อันนี้จะต้องชัด ถ้าชัดแล้วเราก็จะมองเห็นทั้งท่าทีของพุทธศาสนาต่อเรื่องทุกข์ และทั้งการปฏิบัติที่ถูกต้องด้วย ก็มาดูหน้าที่ต่ออริยสัจแต่ละข้อ
ทุกข์ เคยทราบไหมว่า หน้าที่ต่อทุกข์คืออะไร ใครทราบบ้างหน้าที่ต่อทุกข์คืออะไร กำหนดรู้ เป็นภาษาบาลีนึกออกไหม ปริญญา ทีนี้ตัวทุกข์นั้นก็เป็นปริญเณยยธรรม แปลว่าสิ่งที่ควรกำหนด คือ รู้ตามเป็นจริง รู้ตามที่เป็น รู้จักมัน รู้ทันมัน ทุกข์นั้นต้องรู้ หน้าที่ของเราต่อทุกข์คือ รู้ รู้ทันมัน กำหนดให้ได้ว่า ทุกข์ที่เป็นนี้มันคืออะไร มันเป็นยังไง ปัญหาอยู่ที่ไหน ปมมันคืออะไร
แล้วก็๒ เหตุของทุกข์ เรียกว่า สมุทัย นั้น หน้าที่ของเราคือ ปหาน แปลว่า การละ การแก้ การกำจัด แก้ไข เวลาแก้อย่าไปแก้ที่ทุกข์ ให้ไปแก้ที่เหตุของทุกข์ กำจัดเหตุของทุกข์ เพราะฉะนั้น เริ่มด้วยทุกข์ เป็นปมปัญหาขึ้นมา แต่เราไม่มีหน้าที่ไปละทุกข์ เราก็ต้องสืบหาเหตุของมัน แล้วหน้าที่ต่อต้นเหตุนั้นคือ ละ กำจัด แก้ไข
แล้วก็ข้อที่ ๓ คือ นิโรธ ความดับทุกข์ ภาวะไร้ทุกข์ หรือแม้แต่เรียกว่า สุข เป็นจุดหมาย หน้าที่ของเรา ท่านเรียกว่า สัจฉิกิริยา สัจฉิกิริยาก็แปลว่า การทำให้แจ้งหรือการทำให้ประจักษ์ การทำให้เป็นจริง ทำให้ประจักษ์ต่อตนเอง หรือบรรลุ
แล้วข้อที่ ๔ มรรค ข้อปฏิบัติ เรามีหน้าที่อะไร ก็มีหน้าที่ ท่านเรียกว่า ภาวนา คือลงมือทำ ทำให้เกิด ให้เป็น ให้มีขึ้นมา
ทีนี้ ๓ ข้อแรก ทุกข์ต้องรู้จัก รู้ทัน
สมุทัย ต้องแก้ไข กำจัด ละ
นิโรธ ต้องประจักษ์แจ้ง ทำให้เป็นจริง บรรลุ เข้าถึง
ทั้งหมดนี้ เวลาลงมือทำ เราทำที่เดียว มาทำที่ข้อ ๔ เมื่อทำที่ข้อ ๔ แล้ว มันจะกำหนดรู้ทุกข์ แล้วก็จะกำจัดสมุทัย แล้วก็เข้าถึงประจักษ์แจ้งนิโรธหรือนิพพาน แล้วก็เป็นอันว่า ท่านเรียกว่าถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือ จบสิ้นกันไป เสร็จปัญหา ปัญหาก็หมด คราวนี้ข้อที่สังเกตในที่นี้ก็คือ ต้องการพูดเรื่องทุกข์ ก็หมายความว่า ชาวพุทธมีหน้าที่ต่อทุกข์ คือ รู้จักรู้ทันมัน ถ้าเราไม่รู้จัก ไม่รู้ทันมัน เราแก้ไขไม่ได้ แต่ว่าเราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ ทุกข์นี้เรามีหน้าที่รู้ แต่เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ชาวพุทธปฏิบัติถูก จะไม่เป็นทุกข์ แต่ชาวพุทธทันทีที่ปฏิบัติ จะไปเข้าข้อ ๔ พอปฏิบัติปั๊บ ก็ยิ่งห่างทุกข์เข้าไปทุกที เพราะฉะนั้น ชาวพุทธรู้ทุกข์ แต่อยู่เป็นสุข หมายความว่า ทุกข์นั้นสำหรับรู้ สุขสำหรับเป็นจริง สำหรับชีวิตเราเป็น ต้องรู้อันนี้ แล้วจะตอบฝรั่งได้ ฉะนั้น พุทธศาสนาไม่สอนให้คนเป็นทุกข์ แต่ท่านบอกว่า ถ้าคุณไม่รู้เท่าทันทุกข์ คุณก็ไม่มีทางเป็นสุขจริงด้วย ต้องรู้จักมัน รู้เท่าทันมัน ฉะนั้น ทีนี้ถ้าไม่ไปรู้เรื่องหลักกิจในอริยสัจ ก็ทำให้สับสนได้ ก็สรุปตอนนี้ก็คือว่า ชาวพุทธนั้นถือหลักว่า ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับรู้ แต่ว่าสุขเป็นสิ่งสำหรับเป็น ใช่ไหม หมายความว่า เมื่อเราปฏิบัติถูกต้อง เราจะห่างทุกข์และเป็นสุขมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งว่าพ้นจากภาวะสัมพัทธ์ที่ว่า สุขมันเป็นสัมพัทธ์อยู่เรื่อย คือ ยังทุกข์อยู่นั่น ก็จนกระทั่งถึงภาวะไร้ทุกข์ จึงจะเรียกว่าเป็นสุขที่แท้จริงสมบูรณ์
ทีนี้ รู้ทุกข์รู้ด้วยอะไร ก็รู้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น เราก็พูดเสียใหม่ว่า ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับปัญญารู้ สุขก็เป็นสิ่งสำหรับชีวิตของเราจะได้เป็น ฉะนั้น มีชีวิตอยู่ก็ต้องมีชีวิตอย่างเป็นสุข สำหรับชาวพุทธ แต่ว่าไม่ใช่สุขโง่ๆ มีชีวิตเป็นสุขแบบโง่ๆ ต้องสุขด้วยความรู้ด้วย รู้เท่าทันทุกข์ ถ้าเรารู้เท่าทันทุกข์ แล้วเราจึงจะสุขจริงได้ แล้วก็แก้ทุกข์ได้ด้วย ก็ท่าทีของพุทธศาสนาต่อเรื่องนี้ ทุกข์ เรื่องสุข ก็พูดมานี่ก็ ให้เห็นแง่มุมต่างๆ ที่จริงมันยังมีแง่มุมอีกเยอะ เพราะอย่างสุขก็มีสุขแบ่งเป็นหลายขั้น แล้วก็ทุกข์ สุข เอง ที่เราไปเริ่มที่คำว่าทุกข์ เราก็จะเห็นว่ามันมีทุกข์ในธรรมะหลายหมวด ถ้าเอาอย่างง่ายๆ จะมีทุกข์อยู่ ๓ หมวดธรรมใหญ่ๆ ที่สำคัญ ทุกข์อันหนึ่ง ก็คือ
ทุกขเวทนา ความรู้สึกทุกข์ ความไม่สบาย ในที่นี้รวมทั้งจิตใจด้วย ทางกาย ทางใจ เรามีความทุกข์ เรามีความเครียด เรามีความกังวล เรามีความเสียใจ อะไรก็แล้วแต่ หรือว่าเจ็บปวดอะไรพวกนี้ มีทุกข์อย่างนี้ ทุกข์นี่คนไทยพูดในความหมายนี้มาก นี่ทุกขเวทนา
ทีนี้ จะมีทุกข์อีกอย่างหนึ่ง คือ ทุกข์ในอริยสัจ อริยสัจก็ทุกข์ ที่ท่านสรุปว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ขันธ์ ๕ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานเป็นทุกข์
และก็มีทุกข์ในไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง สังขารทั้งหลายทั้งปวง ทุกขังเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน ทุกข์ ๓ อย่างนี้ที่จะต้องทำความเข้าใจให้ดี มิฉะนั้น ก็เกิดความสับสน คำทุกข์ที่กว้างที่สุดก็คือ คำว่าทุกข์ในไตรลักษณ์ ที่ว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ คือเป็นลักษณะตามธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย ไม่ใช่ความรู้สึกนะ เป็นลักษณะของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราเรียกว่าสังขาร คือสิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง คือสิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เมื่อมันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็มีความไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลง คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ภาวะอันนี้มีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่ารูปธรรม นามธรรม ไม่ใช่ว่าชีวิตของเรา แม้แต่วัตถุภายนอก ก้อนดิน ก้อนหิน อะไรต่างๆ ก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์ตัวนี้เป็นความหมายที่กว้างที่สุด ก็คือ ภาวะที่มันคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หรือทนอยู่ไม่ได้ คือว่ามันเป็นเรื่องของสภาวะของสังขาร หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่ามันมีการเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ มันมีการเกิดดับ มันก็คงทนอยู่ในภาวะเดิมไม่ได้ แล้วก็มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือไม่มีความเป็นตัวตนที่คงที่ถาวร มีแต่ปนสมมติคือ ที่ปรากฏรูปขึ้นมา จากผลรวมของเหตุปัจจัยในขณะนั้น ที่เราเรียกปนก็คือ ผลรวมของหรือภาพรวมของสิ่งนั้น ที่เกิดจากเหตุปัจจัยทั้งหมดในขณะนั้น ปรากฏรูปขึ้นมา อันนี้ก็คือตัวตน แต่ว่าตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรจริงจัง ไม่มี เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า อนัตตา ก็คือว่า มันมีแต่ภาพรวม ผลรวมที่ปรากฏขึ้นตามเหตุปัจจัยทั้งนั้น และเหตุปัจจัยนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป ผลรวม ภาพรวมนั้นก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ฉะนั้นก็มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย นี่เป็นเรื่องของสภาวะของสิ่งทั้งหลายทั่วไป ฉะนั้น คำว่า “ทุกข์” ในกรณีนี้ ไม่ใช่ความรู้สึก ก็อันนี้ก็เป็นความหมายที่กว้างที่สุด
ทีนี้ ตอนนี้ก็มาสัมพันธ์กับมนุษย์แล้ว ตอนที่พูดถึงไตรลักษณ์ ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ คือทุกสิ่งทุกอย่างมนุษย์ก็อยู่ในนั้นด้วย รวมหมด แต่ตอนที่มาถึงอริยสัจ มันจะมาโยงกับมนุษย์ ตอนนี้ที่ว่า ทุกขังในไตรลักษณ์ จะมาเป็นทุกขังในตัวคนขึ้นมา ตรงนี้จุดต่อ ก็คือ ปมที่เรียกว่าทุกข์ในอริยสัจ แต่ว่ามันต้องมีอันนี้ก่อน เพราะมันเป็นทุกข์ในธรรมชาติ มันถึงออกมาเป็นทุกข์ในตัวคนได้ ถ้ามันไม่มีเป็นทุกข์ในธรรมชาติ มันก็ไม่มีปัญหาสำหรับคน มันเป็นทุกข์อยู่แล้ว ทีนี้ถ้าคนไม่รู้ทันมัน ปฏิบัติต่อมันไม่ถูก เกิดเป็นทุกข์ในตัวคนขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้น ข้อสรุป คือ พระพุทธเจ้าอาจจะตรัส
ชาติปิ ทุกขา ชราปิ ทุกขา อะไรก็แล้วแต่ได้
อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข
ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข
ยัมปัจฉัง นะ ละภะติ ทุกขัง
การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ การประสบสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ หวังสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ อะไรอย่างนี้ แล้วก็สรุปว่า กล่าวโดยย่อ ขันธ์ ๕ ซึ่งป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน เป็นจิตไม่รู้ คนไม่รู้เท่าทัน ไม่มีปัญญารู้ทัน ปฏิบัติต่อมันด้วยท่าทีที่ไม่ถูกต้อง มีความยึดติด ถือมั่น เป็นต้น เริ่มแต่มีปฏิกิริยาต่อสิ่งทั้งหลาย อย่างที่ว่า เกิดเวทนาแล้ว เป็นสุขก็ยินดี พอเกิดเวทนาเป็นทุกข์ก็ยินร้าย แล้วก็ถูกเวทนาครอบงำอย่างนี้ก็เกิดกระบวนการเข้ามา นี่ก็กระบวนการที่เกิดทุกข์ นี่ก็คือทุกข์ที่มาในอริยสัจ ก็คือ การที่ทุกข์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่กลายขึ้นมาเป็นทุกข์ในคน จากการที่มนุษย์ไม่มีปัญญารู้ทัน และปฏิบัติต่อมันไม่ถูกต้อง ซึ่งปรากฏมาตอนเชื่อมต่อ เมื่อไม่รู้แล้วก็มีความยินดี ยินร้าย ก็เกิดความอุปาทานยึดมั่น ถือมั่น
ทีนี้ ทุกขเวทนาในมนุษย์ก็คือ ความรู้สึก ที่ว่าคือตามปกติมนุษย์ก็จะมีอยู่แล้ว แต่การที่ว่าทางร่างกายถูกหนาม ถูกอะไร ถูกของแข็ง แล้วก็มีความรู้สึก ทีนี้ว่าตอนที่ว่าพอจิตไม่รู้เท่าทัน ปฏิบัติต่อมันผิด ทุกข์มันจะไม่อยู่แค่นั้นแล้ว มันก็จะมีเป็นทุกข์ทางด้านจิตใจ เกิดจากความยึดติด ถือมั่น ความกลุ้ม ความกังวล ความเครียด ความอะไรต่างๆ ขุ่นมัว เศร้าหมอง อะไรต่างๆ ขึ้นมาอีกมากมายเลย แล้วปมปัญหาก็เลยเกิดขึ้นอยู่อย่างนี้
ทีนี้ ตอนนี้ก็พูดถึงทุกข์ใน ๓ หมวดที่ว่า คือทุกข์ในไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ ทุกขเวทนาที่มีในความรู้สึกของคน แล้วก็ทุกข์ในอริยสัจ ทุกข์ที่เป็นตัวเชื่อม ที่ว่าจากทุกข์ธรรมชาติมาเป็นทุกข์ในตัวคน ถ้าคนรู้เท่าทัน ปฏิบัติถูกต้อง ทุกข์ที่มีอยู่ในตามธรรมชาติ คือ เราจะไปแก้ธรรมชาติไม่ได้ สังขารทั้งหลายมันก็เปลี่ยนแปลง มันเป็นอนิจจัง ใช่ไหม มันก็คงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ก็เป็นของมันไป ถ้าเรารู้ทัน ก็ทุกข์ที่อยู่ในธรรมชาติ ก็อยู่ในธรรมชาติของมันไป ไม่มาเป็นทุกข์ในตัวคน แต่ถ้าหากว่าคนไม่รู้เท่าทัน ไอ้ทุกข์ในธรรมเชาติก็มาเป็นทุกข์ในตัวคน ฉะนั้น พอวางจิตถูกต้อง ก็มีแต่ทุกข์ที่เป็นเรื่องของสภาวะในธรรมชาติตามปกติของมัน ก็ทุกข์ในตัวคนก็หมดไป แต่ทีนี้ก่อนที่จะถึงขั้นนี้ ที่ว่าต้องมีปัญญาก็คือ การฝึกนั่นเอง การฝึกอย่างที่ว่า ในระดับต่างๆ เช่นว่าในระดับศีลธรรม เรื่องการประพฤติไม่เบียดเบียนกัน ไม่ก่อทุกข์แก่กันในภายนอก อะไรอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องขั้นหนึ่ง แล้วก็ในทางจิตใจ ทำยังไงจะปรุงแต่งสุขได้มากขึ้น ปรุงแต่งจิตใจไม่ให้เป็นทุกข์ ทำสมถะ เรื่องของสมถะมีมากมาย ที่จะใช้แก้ปัญหา ก็ยกทุกข์ไว้ สงบ สยบ ระงับ พักไว้ ไม่ให้ทุกข์มารบกวน ก็บางทีคนก็จะมาติดตรงนี้ พอไปบำเพ็ญสมาธิ มันจะทำให้จิตนี้พรากมาจากความทุกข์ได้ ก็มีความสุขในตอนนั้น ก็จะเป็นเหตุหนึ่งที่ว่า สุขบางทีก็เกิดโทษ พอสุขจากสมาธิ ก็เลยเพลินติด นี่ก็ไม่ก้าวต่อไป ทั้งๆ ที่คนเราสามารถก้าวไปกว่านี้ได้อีก ก็ไม่ไป ท่านจึงบอกว่า แม้แต่สุขที่ชอบทำ ก็ไม่ติดสยบ ที่บอกเมื่อกี้ ต้องเพียรปฏิบัติเข้าถึงสุขที่สูงขึ้นไปอีก ที่ประณีตยิ่งขึ้น
เรื่องสุขก็เป็นเรื่องใหญ่ วันนี้เอามาพูดให้เห็นแง่มุมต่างๆ อย่างน้อยก็ให้รู้ว่า พุทธศาสนานี้มีท่าทีต่อเรื่องความสุขอย่างไร แล้วก็รวมไปถึงเรื่องความทุกข์ด้วย ทุกข์นั้นก็แปลว่า ทนได้ยากและบีบคั้น หรือว่าติดขัด คับข้อง โดยเฉพาะก็บีบคั้นนั่นแหละ พออะไรมีทุกข์ ก็บีบคั้น ไม่บีบคั้นใจ กายก็บีบคั้นจิตใจ จิตที่ไม่ถูกบีบคั้น ก็เป็นจิตที่ไม่มีทุกข์ เป็นจิตที่โล่ง ที่โปร่ง ที่เบา สว่าง ผ่องใส และก็เบิกบาน ก็ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา ก็จะเรียนรู้วิธีที่จะได้บรรลุถึงสุขสูงขึ้นไปตามลำดับ ท่านก็เลยแบ่งสุขอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้เป็นตัวอย่าง เช่นว่า สุขที่อิงอาศัยอามิสขึ้นต่อรูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก เป็นต้น เรียกว่า สามิสสุข และก็สุขที่ไม่ต้องขึ้นต่อกามสุข ก็ไม่ต้องขึ้นต่อกามคุณ รูป รส กลิ่น เสียง โผฎฐัพพะไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอก ก็เรียกว่า นิรามิสสุข เรียกว่าสุขระดับต่างๆ บางทีแบ่งตั้ง ๑๐ ขั้น ก็มีแง่มุมออกไปเยอะแยะ แต่ว่าบางทีเรื่องสุขนี้ ในวงการของผู้สอนไม่ค่อยชอบพูดถึง ชอบพูดเรื่องทุกข์ แต่ที่จริงต้องเข้าใจอย่างที่ว่ามาแล้ว ถ้าปฏิบัติไปแล้วเป็นทุกข์ แสดงว่าเราคงปฏิบัติผิด ต้องคิดไว้ก่อนเลย เพราะว่าพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราเป็นทุกข์แน่นอน แต่ว่าท่านบอกว่า ทุกข์เป็นสิ่งสำหรับปัญญารู้ สุขสำหรับชีวิตของเราเป็น เพราะฉะนั้น เรารู้ทุกข์ แต่ว่าเราเป็นสุข รู้เท่าทันทุกข์ แต่อยู่เป็นสุข หรืออยู่อย่างไร้ทุกข์ในที่สุด
เอาละก็คงจะพูดกันวันนี้เท่านี้ก่อน มีอะไรสงสัยหรือเปล่า มีไหม ไม่มีอะไรสงสัย