แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) :...คือพอเหนื่อย ตอนแรกจะพูดแทบไม่ไหว พอมันไปได้แล้วทีนี้ก็ไปได้เรื่อย เสร็จแล้วจึงจะทรุดอีกที
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ตอนนี้เครื่องติดหรือยังครับ จะได้ถามต่อ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : พอไปได้
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ??? ฝากมาถาม ท่านเขียนมา ฝากเรียนถามท่านพระเดชพระคุณหลวงพ่อ จากเมื่อคืนวานนี้ได้มีโอกาสฟังรายการถึงลูกถึงคน ที่ อสมท. เป็นรายการวิเคราะห์ข่าว หรือว่าวิเคราะห์เรื่องราวในสังคมทั่วๆ ไป ในรายการเมื่อคืนนี้ เถียงกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนในการขายสลาก หรือว่าหวย เพื่อนำมาพัฒนาการกีฬา ซื้อทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล ผู้ร่วมรายการผู้หนึ่งซึ่งมีอำนาจในวงการกีฬาได้กล่าวสนับสนุน และอ้างอิงถึงประเทศญี่ปุ่นว่า ตอนสงครามโลกครั้งที่สองจบแล้ว ญี่ปุ่นได้พัฒนาประเทศจากการเลียนแบบและเอาอย่างฝรั่ง จนทำให้ประเทศชาติพัฒนาขึ้นมา แล้วในขณะนี้วงการกีฬาหรือการพัฒนาประเทศ ที่ควรจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ควรทำแบบนี้บ้าง แล้วพูดถึงผลดีทางเศรษฐกิจต่างๆ นานา มีผู้ร่วมรายการท่านหนึ่งเป็นผู้พิพากษา ซึ่งมีแนวคิดคัดค้าน ได้อ้างถึงท่านพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระธรรมปิฎกสอนว่า การเจริญที่แท้จริงของประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว ต้องมีพื้นฐานมาจากฝ่ายสร้างสรรค์ ฝ่ายผลิต เป็นผู้รู้ ใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก ไม่ใช่รอรับผลจากการตามผู้อื่น ในแง่สุขสบาย หรือผลสำเร็จเพียงเท่านั้น ก็เลยอยากจะเรียนถามท่านพระเดชพระคุณอาจารย์ว่าจากแนวคิดข้างต้น หากเราจะพัฒนาประเทศชาติอย่างก้าวกระโดด มีสิ่งใดหรือด้านใดบ้างที่ประเทศของเราควรจะเร่งรีบพัฒนาให้เร็วหรือด่วนที่สุดในสายตาของท่านเจ้าคุณ และจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากหรือไม่ หากประเทศชาติเราระดมทุนได้มาก เพื่อพัฒนาประเทศแล้ว แม้การได้มาของเงินทุนจะไม่ถูกนัก เราจะแยกแยะท่าทีต่อการพัฒนาประเทศ และวางท่าทีต่อการพัฒนาประเทศนี้อย่างไรบ้าง ทางออกที่เหมาะสม กว้างๆ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คือเรื่องนี้มันซับซ้อนหลายชั้นนะ เพราะเหตุปัจจัยที่เกี่ยวมันเยอะ แล้วก็ไม่ใช่พิจารณาอยู่แง่เดียว จุดเดียว เรื่องเดียว ต้องโยงไปหาด้านอื่นๆ เช่นอย่างในแง่สังคม เริ่มตั้งแต่ตัวคนคิด อย่างหัวหน้ารัฐบาลที่มีแนวคิดนี้ขึ้นมา ใช้วิธีการนี้ ในใจมีอะไร มีความคิดว่ายังไง ว่างั้นเถอะ ปัญญานี้มองอะไรบ้าง แล้วทำอันนี้เพื่ออะไร เราก็ไม่ชัด แล้วเขาก็ชี้แจงไม่ชัด ถ้าเอาแค่เขาชี้แจง เขาก็ชี้แจงในแง่เศรษฐกิจ เราก็ไม่รู้ชัดว่าเขาเอาแค่ไหน ถ้าเอาแค่เพื่อต้องการในเชิงเศรษฐกิจ มันก็อาจจะทำให้ได้ผลดีไม่เท่าผลเสีย เช่นยกตัวอย่างง่ายๆ เอาว่าได้เงินมาก ก็เห็นแล้ว ใช่ไหม เงินก็เกิดขึ้นมา แต่ถ้าคุณไม่มีวิธีการอื่นรอรับแล้ว ถ้าผู้นำเขามีปัญญาเขาอาจจะรู้ว่าอันนี้เป็นวิธีที่ไม่ดีจริง แต่ในใจฉันรู้ ฉันเตรียมวิธีการอื่นแล้ว เพราะว่าเมื่อให้คนได้ง่าย มันจะมีผลอะไรบ้างเรื่องนี้ หนึ่ง-จิตใจหมกมุ่น ติด แล้วมันเป็นเรื่องของวิธีได้ง่าย จะเกิดการอ่อนแอ ไม่มีการพัฒนาตน คนไม่มีนิสัยผลิต ไม่มีนิสัยสร้างสรรค์ แล้วก็อ่อนแอ ไม่มีความเข้มแข็งที่จะสู้ อย่างนี้ระยะยาวก็เสีย ได้เงินมาก็ทำนิสัยเสีย ระยะยาวก็พัฒนาไม่ได้ ในกรณีที่ว่าถ้าหากว่ามีแง่ที่จะมาแก้จุดนี้ แต่เขาเห็นว่ามันมีแง่ดีอยู่บางอย่าง เขาต้องการเงินด่วน ใช่ไหม แต่ว่าเขาเตรียมไว้ว่ามันมีกระบวนการอีกแง่หนึ่งที่จะมารองรับไม่ให้คนนี่ไปกับกระแสเหตุปัจจัยด้านที่เป็นทำให้อ่อนแอ แล้วก็เกิดความหมกมุ่น ก็อาจจะมีทางที่จะแก้ไขปัญหา แต่เขาได้เตรียมคิดหรือเปล่า อันนี้เราไม่ได้หยั่งเห็นในปัญญาและความคิด และความตั้งใจ เจตนาเพื่ออะไร เราก็ไม่ชัด เจตนาเพียงเพื่อประชานิยมให้ได้คะแนนเสียง ให้คนชอบ หรือเปล่า เจตนาเพียงเพื่อให้ได้เงินทองมากชั่วแล่นขณะเฉพาะหน้าหรือเปล่า ใช่ไหม หรือว่าเอานี่มาใช้เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง แล้วเป็นอุบายวิธี แล้วมีส่วนที่ลึกซึ้งเตรียมไว้ เป็นแผนการที่จะพัฒนามนุษย์ ซึ่งอันนี้ที่สำคัญที่สุด มีหรือเปล่า ถ้าไม่มีอันนั้น เราต้องพูดแบบมีเงื่อนไข ถ้าแกไม่มีกระบวนการนี้รองรับแผนรองรับ ก็แย่เลย มันจะทำให้มนุษย์เรา คนไทยนี่จะมีความคิดสั้นๆ ลงไป มุ่งหวังผลเฉพาะหน้า แล้วนิสัยเสีย ต้องการผลได้ทางลัด แล้วก็อ่อนแอ ต้องการผลแบบว่า ที่มันได้แบบว่าเหมือนกับมีคนหยิบยื่นให้ หรืออะไรผลที่มันมองไม่เห็นเหตุปัจจัย ความคิดก็ไม่เป็นเหตุเป็นผล อย่างนี้ก็เสีย อย่างนี้ก็อยู่ที่ว่าเราไม่ได้ เจตนาเราก็ไม่ชัด แล้วก็ในความคิดเขาคิดอะไรบ้าง เขาคิดเตรียมแผนอะไรที่มันกว้างออกไปหรือเปล่า มีตัวแก้ตัวดึงอะไรกันไหม ทีนี้เราไปดูหัวใจ ตัวแกนสำคัญอยู่ที่ไหน ทีนี้คนที่จะทำอันนี้แม้จะมีแผนหลายชั้นหลายด้าน ก็ต้องรู้ตระหนักว่าการทำแบบนี้มีผลเสียนะ ผลเสียที่ว่านี่คือเกิดเป็นนิสัยที่ชอบทางลัดและอ่อนแอ มันเป็นตัวที่ต้องระวังไม่ประมาท ต้องระวังมาก มิฉะนั้นแล้วคนมันจะไปง่ายมาก ทางที่จะมาฝึกคนให้เข้มแข็งนี่ยาก ทีนี้จะทำยังไง คนมาไหลไปกับกระแสนี้ ผู้นำรัฐบาลคิดหรือเปล่า อันนี้ที่เป็นข้อน่าสงสัย แต่ต้องยอมรับข้อเสียเหล่านี้ คือในแง่ของมนุษย์เนี่ย มันยากที่จะให้ได้อะไรสมบูรณ์ทีเดียว เพราะฉะนั้นคนที่เป็นผู้นำบางทีก็ต้องคิดการที่หลายด้านหลายชั้น หลายชั้นแล้วจนกระทั่งว่าคนอื่นตามไม่ทัน ทีนี้ตอนนี้เท่าที่เราฟังเนี่ย มันไม่ค่อยได้มีการเตรียม เพราะหัวใจของการที่จะพัฒนามันต้องให้คนมีความเข้มแข็ง แล้วต้องมีนิสัยในการผลิต ต้องมีกระบวนการแสวงกาความรู้ที่เรียกว่าความใฝ่รู้ ถ้าไม่มีอันนั้นมันก็ไปไม่รอด ในระยะยาว ฉะนั้นก็กลายเป็นว่าให้เขาชอบ ได้รับคะแนนนิยมเฉพาะหน้าบ้าง แล้วก็ให้ได้ผลที่ต้องการในระยะสั้นนี้ แต่ในระยะยาวเป็นไงก็ช่างมัน อย่างนี้นะ เหมือนอย่างบางยุคก็เป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ใช่ไหม มันรวบจริง แต่มันไม่ยั่งยืน แล้วผลร้ายที่ตามมา บางทีร้ายมากด้วย พอมันฟูแล้วมันแฟบทีเดียวเลย แทบไปเลย แล้วมันยิ่งแย่ใหญ่เลย เพราะฉะนั้นอันนี้เขาคิดยังไง เขามีเจตนายังไง ก็ต้องดูทั้งสองอย่างมีเจตนายังไง เจตนายังไงนี่ตัวสำคัญเลย เขามุ่งหมายอะไร เขามุ่งคะแนนนิยม หรือเขามุ่งเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ความตั้งใจคืออะไร สอง-ปัญญา ความคิด ความรู้เข้าใจ แผนที่เขาคิดไว้นี่ มันมีจริงไหม มันมีแค่ไหน ใช่ไหม ตอนนี้ท่านต้องสืบเจตนากับปัญญเขาแล้ว ใช่ไหม ถ้าสืบเจ้าสองตัวนี้ได้ จะวินิจฉัยได้ง่าย เราก็จะเห็นว่าชั้นเชิง ก็คือตัวเหตุปัจจัยที่ว่าจะทำไปสู่ผลสำเร็จมันมีได้จริงไหม ตอนนี้ไม่สามารถพูดอะไรแบบว่าฟังปุ๊บจะตัดสินเด็ดขาดก็ไม่ได้ ต้องพิจารณากันเหตุปัจจัยที่ถูกต้องให้เพียงพอ แม้จะต้องซัก ถ้าเราอยู่ต่อหน้ากับผู้นำที่มีความคิดนี้ก็ต้องคุยซักกันให้ฉากๆ ไปเลย คุณคิดยังไง แล้วในแง่นี้มันมีผลเสีย คุณเตรียมป้องกันยังไง คุณมีแง่แก้ยังไง มีพัฒนาคนระยะสั้นระยะยาวยังไง มันต้องซักกันให้ชัดไปเลย คือไม่ใช่มามองแค่ว่า วิธีนี้ดีไม่ดี ก็พูดกันแค่พูดแง่เดียว แล้วตีคลุมไป จบ มันไม่เป็นจริง ใช่ไหม ก็ต้องพูดตามที่ท่านบอกว่าไม่มีเหตุเดียวผลเดียว เหตุเดียวผลเดียวท่านเรียกว่าลัทธิ เอ-กะ-กา-ละ-นะ-วาส มันไม่เป็นความจริง มนุษย์นี่ติดเหตุเดียวผลเดียวมานานแล้ว ของพุทธศาสนานี่เหตุปัจจัยหนึ่งก่อให้เกิดผลหลากหลาย แล้วผลเดียวเกิดจากเหตุปัจจัยอเนก ใช่ไหม ต้นมะม่วงเกิดขึ้นมาต้นหนึ่ง ไม่ใช่มีเม็ดมะม่วงแล้วมันเกิด คุณมีแต่เม็ดมะม่วงมาเกิดเป็นเมะม่วง ได้ไหม ไม่ได้ ต้องมีปัจจัยพรั่งพร้อม ต้องมีน้ำ มีปุ๋ย มีอุณหภูทิ อะไรต่ออะไรพรั่งพร้อม ปัจจัยพร้อมเมื่อไหร่ เกิดเมื่อนั้น ใช่ไหม ท่านเรียกว่าหลักผลหลากหลายจากปัจจัยอเนก ฉะนั้นเมื่อเราทำอะไรอันหนึ่งเนี่ย ไม่ได้เกิดผลเดียวที่เราจ้องดูอยู่ หรือที่เราต้องการ ฉะนั้นมนุษย์จะพลาดอันนี้ คือมนุษย์จะจ้องแต่สิ่งที่ตนต้องการ แล้วก็มองดูว่ามีปัญญาว่ามันคืออะไร แล้วทำเหตุนั้น แล้วเมื่อเกิดผลนั้นแต่ไม่ได้ดูว่าจากที่ทำอันนี้แล้วมันเกิดผลอะไรอื่นที่ตัวไม่ได้มองอีก แล้วผลแม้แต่ที่ตัวต้องการ มันไม่ได้เกิดจาการกระทำสิ่งเดียว เกิดจากการที่ทำให้ปัจจัยทุกอย่างพร้อมด้วย ฉะนั้นเวลาเราทำงานทำการ หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้หลักนี้จึงมาใช้ในการพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่บอกว่าฉันทำกรรมดีแล้ว ทำดีแล้วไม่เห็นได้ดีเลย ก็ต้องมาตรวจสอบวิเคราะห์ตัวเองว่าเราต้องการผลอะไร ผลดี คำว่าผลดีนี่ก็ต้องแยกแยะแล้ว ผลดีนี่เราต้องการผลดีในแง่ที่ว่าได้ยศได้เลื่อนได้ขั้น ได้ผลตอบแทนหรือได้สรรเสริญ หรือได้ผลดีในแง่ของความสำเร็จของตัวงานนั้น หรือต้องการการพัฒนาตัวเอง ผลดีนี่ก็เป็นคำคลุมๆ ก็ต้องวิเคราะห์ให้ได้ ถ้าเราบอกว่าเราต้องการผลดีคืออันนี้ แล้วผลดีที่คุณต้องการนี้จะเกิดจากการกระทำอันนั้นแล้วมีปัจจัยอะไรประกอบบ้าง ตอนนี้แหละ พอเราแยกแยะได้ เราก็จะมาตรวจสอบได้ ว่าผลดีอันนี้ที่เราต้องการมันต้องอาศัยปัจจัยอันนี้ๆๆๆๆๆ เราทำครบหรือยัง บกพร่องอันไหน ขาดอันไหน แล้วเราก็ไปปรับปรุงแก้ไข นี่แหละก็คือการทำกรรมที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่า อันนี่ฉันทำกรรมดีแล้วไม่เห็นได้ผลดีเลย ก็จบกันเท่านั้น ไม่ไปไหนแล้ว หลักการพุทธศาสนาต้องฝึก ต้องพัฒนา ใช่ไหม การที่ฝึกพัฒนาต้องใช้ปัญญา แล้วก็ตรวจดูเหตุปัจจัยอะไรต่างๆ แล้วกระบวนการนั้นมันจะเดินไปเรื่อยๆ เราจะพัฒนาตัวเอง ปัญญาเราก็พัฒนา การจะทำการอะไรของเราก็พัฒนาเรื่อย แล้วเราก็ประสบความสำเร็จมากขึ้น พอเข้าใจนะ ก็จำไว้หลัก ผลหลากหลายจากปัจจัยอเนก เดี๋ยวนี้ที่เขาเกิดเรื่องปัญหาทางการแพทย์อะไรต่ออะไรก็เรื่องนี้ เพราะคนไปติดลัทธิเหตุเดียวผลเดียว ก็มนุษย์ต้องการผลอันนี้ ฆ่าแมลง ก็นึกว่าหาตัวการที่จะมาทำให้แมลงนี้ตาย ก็ผลิตดีดีทีขึ้นมาได้ แมลงก็ตาย แต่ว่าไอ้ตัวปัจจัยเดียวนี่มันไม่ได้ทำให้เกิดมายังผลนี้เท่านั้นนะ ปัจจัยนี้มันส่งผลอื่นอีกเยอะ แล้วที่จริงผลที่ต้องการมันก็ต้องทำเหตุปัจจัยให้พร้อมอีกเหมือนกัน แต่ตัวสำคัญก็คือว่าเขาต้องการเพ่งจ้องไปแต่ผลที่เขาจะเอาอย่างเดียว แล้วเขาหาตัวการที่จะทำให้สำเร็จ เขาก็มองแค่นั้น เขาก็เลยไม่เห็นว่าปัจจัยที่เขาทำมันส่งผลไปอะไรอีกบ้าง ต่อมา 20 ปีจึงรู้ตัวว่าเจ้าที่ทำตัวนี้มันส่งผลไปให้เกิดอันโน้นๆ อีกเยอะเลย ตอนนี้แหละครับ ยุ่งแล้วใช่ไหม เกิดผลร้ายขึ้นมา แก้กันใหญ่ ตอนนั้นก็ต้องถึงกับให้เลิกใช้ ห้ามใช้ดีดีทีเลย ก็ยาหลายอย่างก็จะมีอย่างนี้ๆ ก็มนุษย์เรานี่จะต้องเจียมตัวบ้าง ไม่ใช่ไปคิดว่าตัวเองชนะธรรมชาติได้ ประสบความสำเร็จ ใช่ไหม ฉันทำได้ รู้ เขาเรียกว่ารู้ความลับของธรรมชาติแล้ว ฉันรู้ความลับของธรรมชาติ ฉันจะจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ เปล่า ที่จริงรู้ปัจจัยไม่ครบ หนึ่ง-ปัจจัยไม่ครบ สอง-จากปัจจัยนั้นตามดูไม่เห็นหมด ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผลกระทบต่ออะไรบ้าง จุดนี้แหละที่สำคัญที่สุด คือปัจจัยที่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเนี่ย มันส่งผลอะไรไปเนี่ย ตรงนี้ยากที่สุดเลยครับ แล้วมนุษย์ตันตรงนี้ มันสู้ไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ทันธรรมชาติ ตรงนี้ใช่ไหม มันก็เลยแย่สิตอนนี้ เพราะฉะนั้นมันเป็นข้อสังวรของมนุษย์ว่าจะทำอะไรสักอย่างนี่ ตัวเองอย่าได้ประมาท ต้องพยายามตามศึกษาให้รู้ว่ามันจะเกิดผลไปแตกแง่แตกมุมอะไรบ้าง ทีนี้การแพทย์ถึงแม้เจริญมันก็มีปัญหาอย่างนี้อยู่เรื่อย ปัญหามาติดตรงนี้ ทีนี้ปัจจัยเดียวมันส่งผลไปไม่รู้กี่อย่าง ก็คือหลักที่เรียกว่า ผลหลากหลายจากปัจจัยอเนก ไม่ใช่ลัทธิเหตุเดียวผลเดียว เอ-กะ-กา-ละ-นะ-วาส
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ก็หมายความว่าสิ่งที่รัฐบาลทำเนี่ยก็มีผลเสียแล้วก็ผลดีในตัวของมันเอง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ใช่ ในแง่นี้ แต่อย่างนี้ที่ว่าความต้องการนี้เราอยากได้ผลดี แต่เราไม่รู้ว่าแม้แต่เจตนาของผู้บริหารว่า เขาต้องการผลดีแก่เขา หรือผลดีแก่ประเทศชาติสังคม อันนี้เราก็ไม่ชัด จริงไหม เวลาเขาพูดเขาก็บอกว่าเขาต้องการจะให้ประชาชนมั่งมีศรีสุข ใช่ไหม แล้วมันจริงหรือเปล่า มันจริงใจไหม มันรู้ยาก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีโอกาสไปสอบถามซักกันเลย คุณคิดยังไงบ้างล่ะ ทำอันนี้แล้ว ผลร้ายมันเกิดขึ้นเมื่อทำอันนี้ จริงไหม ยอมรับไหม ยอมรับ จริง แล้วคุณเตรียมวิธีแก้ไว้ยังไง มาซักกันอย่างนี้เลย มันถึงจะได้นะ มันไม่จบแค่ว่า อีตาคนคิดมันไปคิดอยู่นั่น แล้วพวกนี้มาได้ยินจากแก แล้วก็มาเถียงกันอยู่เนี่ย ถูกไหม แล้วก็ไม่มีโอกาสจะรู้คนคิดแท้มันคิดยังไง ถ้ามันให้รู้จริงมันต้องไปเอาเจ้าตัวมาพูดกันเลย ไม่ต้องมาวิจารณ์แบบว่าคนดูที่ไม่รู้จริง
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : อันนี้เป็นคำถาม เขาถามว่าในมุมมองของท่านเจ้าคุณ ถ้าจะพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด มีด้านใดที่จะต้องรีบพัฒนาให้เร็ว หรือด่วนที่สุด แล้วจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากหรือไม่
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : แล้วมันจำเป็นอะไรต้องก้าวกระโดดด้วยล่ะ จุดนี้ก็ต้องถามก่อนใช่ไหม ทำไมเราจะต้องก้าวกระโดด เรื่องอะไร ก้าวกระโดดนี่บางทีก็ทำให้เสียระยะยาว ก้าวกระโดดกับก้าวไปอย่างหนักแน่น อันไหนดีกว่ากัน มันต้องมาเถียงกันตั้งแต่จุดนี้เลย คนหนึ่งบอกว่าไม่เห็นจำเป็นเลย ต้องก้าวกระโดด ใช่ไหม ฉันว่าไปอย่างหนักแน่นดีกว่า ทีนี้ว่าในที่สุดแล้วไอ้ตัวหลักการมันยังเดิม คือคุณจะเอาอะไรก็ตามมันต้องพัฒนาคนนี่แน่นอน จริง ไม่จริง ถ้าคนของคุณไม่พัฒนา ไม่มีสติปัญญา ไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความใฝ่รู้ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่อยากจะผลิต ไม่อยากทำ มันก็ไปไม่รอด จริงไม่จริง ตัวนี้มันเป็นตัวสำคัญ ฉะนั้นแผนที่ว่าอย่างนี้เหมือนกับว่าบางคน ถ้าหากว่าเขามีความคิดเจตนาดีแล้ว เขามีปัญญาดีเนี่ย แสดงว่าที่เขามาทำนี่เป็นเพียงอุบายเฉพาะหน้าส่วนหนึ่ง แต่เขาคิดเตรียมการอะไรบางอย่าง แต่ก็อย่าเพิ่งไว้ใจนะ ว่าแผนที่เขาเตรียมไว้นี่มันจะได้ผลดีด้วย เพราะแผนในการพัฒนามนุษย์ยังไม่ชัดเลยนะ จริงไหม ยังมองไม่เห็นเลยว่าพัฒนายังไง เพราะถ้ายังไม่มีการพัฒนาคน มันไปไม่รอด เพราะตัวหัวใจอยู่ที่คน แล้วมาทำให้คนเกิดยิ่งมีนิสัยหมกมุ่น มัวเมา หลงระเริงหนักเข้าไปอีก นี่ยิ่งแย่ใหญ่เลยเนี่ย ก็คือนิสัยเสพบริโภคอย่างเดียว อ่อนแอ ใช่ไหม แล้วก็มองเห็นการกระทำเป็นทุกข์ เสร็จ แล้วการพัฒนาคนที่ถูกต้องก็อย่างที่เคยพูดไปแล้ว มันต้องเกิดความอยากทำ ใช่ไหม แล้วเห็นการกระทำเป็นความสุข ไม่ใช่เห็นว่า พอมันทำมันสุขเลย การกระทำมันกลายเป็นความสุข คราวนี้ไม่ต้องห่วง มันเดินหน้าแล้ว ความอยากร็ หาความรู้มาเป็นกระบวนเลย ท่านบอกเมื่อทำเหตุปัจจัยถูกแล้วอย่าไปเรียกร้อง มันไปเอง เมื่อแม่ไก่ขึ้นกกไข่แล้ว ไม่ต้องมาร้องอ้อนวอน ลูกไก่มันเป็นตัวขึ้นมาแล้วออกมาได้เอง แต่ถ้าแม่ขึ้นกกไข่ คือไม่ทำงานตามเหตุปัจจัย แม่ไก่จะมายืนอยู่หน้าเล้าไก่ แล้วกระพือปีกร้องอ้อนวอนขอให้ลูกไก่ออกมาก็ไม่มีทางสำเร็จ จะเจอแต่ไข่เน่า ใช่ไหม เพราะฉะนั้นท่านบอกต้องทำเหตุปัจจัย ทำเหตุปัจจัยให้ถูกแล้ว ผลเกิดเอง ไม่ต้องไปเรียกร้อง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็ต้องพูดกันหลายชั้น พอจะเห็นนะ แต่ว่าอย่าลืมก็แล้วกันคือการพัฒนาคนต้องมีนิสัยในการที่สร้างสรรค์ ต้องการกระทำ แล้วก็มีความเข้มแข็ง ใจสู้ ใช่ไหม ถ้ารวมแล้วก็คือต้องมีอิทธิบาท ต้องมีฉันทะ อยากจะทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม อยากทำการสร้างสรรค์ อยากให้บ้านเมืองมันดี อยากให้ครอบครัวดี อยากให้ชีวิตดี ใช่ไหม ตัวอยากนี้ต้องมีฉันทะ ไม่ใช่แค่อยากเสพบริโภค แค่อยากตอบสนองการเสพบริโภค ก็อ่อนแอ ถูกไหม ไอ้นี่คือเท่าที่ทำนี่ที่มองเห็นคือการสนองตัณหา การเสพบริโภค แล้วทำให้อ่อนแอ เห็นการกระทำเป็นทุกข์หมด ถ้าไม่ต้องทำได้ล่ะดีที่สุด อันนี้ถ้ามองเท่าที่ผมตัวกระบวนการนี้ ไม่มีตัวอื่นมาแก้ล่ะก็เสร็จ ก็ยิ่งอ่อนแอแล้วคนก็นิสัยแย่ลงไป เห็นการกระทำเป็นทุกข์ ไม่มีฉันทะ ไม่ใฝ่ ไม่อยาก ไม่เร่งรัดในการกระทำ การสร้างสรรค์ต่างๆ แล้วก็ไม่มีวิริยะ ไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีกำลังใจที่จะทำจะสู้กับความยาก ไม่มีใจสู้กับปัญหา ใช่ไหม แล้วก็ไม่มีจิตตะ ความที่มีใจมุ่งอุทิศตัวเด็ดเดี่ยวในสิ่งที่ทำต่อจุดหมาย มันต้องมีจิตตะ คือความอุทิศตัวอุทิศใจ จิตตะก็คือใจมันเอาจนกระทั่งอุทิศตัวอุทิศใจ เรียกภาษาอังกฤษว่า commit เลย ใช่ไหม พอ commit ได้ จิตตะมาแล้ว แล้วก็มีวิมังสาใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาหาทางแก้ไข หาทางปรับปรุงพัฒนาให้มันดีขึ้น กระบวนการมันมาถ้ามันพัฒนาถูกที่ ถ้าพัฒนาไม่ถูก อิทธิบาท4 มันไม่เกิด คนมันมีแต่อ่อนแออยากจะเสพบริโภค ไปไม่รอดหรอก ทีนี้อย่างญี่ปุ่นมันเจริญ มันไม่ใช่แค่ว่าจะไปเลียนแบบฝรั่งนะ เป้าหมายในการเลียนแบบเพราะอะไร เพราะมันมีเป้าหมายอยู่ก่อนแล้ว เพราะต้องการจะให้ชาติญี่ปุ่นยิ่งใหญ่ ทันฝรั่ง และเหนือฝรั่งด้วย คิดอย่างนี้ใช่ไหม ทำไงล่ะ ตอนนี้เรายังไม่เป็น เราไม่รู้ การที่จะยิ่งใหญ่ต้องทำได้อย่างเขา ทำได้อย่างเขา จะทำยังไงต้องมีความรู้ สิ่งที่เขาทำเราก็ยังไม่รู้ อย่างนั้นก็เลียนแบบมันก่อน ก้ไปเอาของที่เขาผลิตมาสำเร็จ มาแยกดู มันมีอะไรบ้าง แล้วทำเลียนแบบไปก่อน แล้วญี่ปุ่นไม่ได้หยุดแค่นั้นนะ ใจเขามีความใฝ่ปรารถนา ต้องทำให้ดีกว่าฝรั่ง ฉะนั้นมันก็หาทางจากการเลียนแบบ ไอ้เลียนแบบเนี่นถึงไงก็สู้เขาไม่ได้หรอก จริงไหม สิ่งที่เลียนแบบเนี่ยมันก็ทำได้แค่ของเทียม มันก็ไม่เหมือนจริง เพราะถ้าสมัยก่อน ถอยหลังไปสมัยผมยังเป็นเด็ก สินค้าญี่ปุ่นนี่คนไทยจะดูถูก ของญี่ปุ่นไม่ได้เรื่อง คือดูถูกกันหมดทั่วไปเลย ของญี่ปุ่นนี่มีความหมายของไม่ได้เรื่อง ก็คือของเทียม ไปเลียนแบบเขา เดี๋ยวนี้เป็นไง เดี๋ยวนี้สินค้าญี่ปุ่นนี่ยอดกว่าของฝรั่งอีกใช่ไหม เพราะมันไม่ใช่ว่าเขาจะเลียนแบบ การเลียนแบบนั้นเป็นเพียงขั้นตอนในกระบวนวิธีที่เขาจะเดินหน้าไปสู่จุดหมายใหญ่ จุดหมายนี่เราตั้งไว้แล้วโน่น คือจะต้องทำให้ได้อย่างฝรั่ง ยิ่งกว่าฝรั่ง นี่มันไม่ใช่อย่างฝรั่ง มันยิ่งกว่าฝรั่ง แต่ตอนแรกมันต้องทำแค่ที่เขาทำได้ก่อน ก็หาทางเลียนแบบไป แล้วก็พัฒนาไป ใช่ไหม จนกระทั่งตอนนี้ไม่ต้องอาศัยแล้ว ฉันรู้ ก็พัฒนาไป เป้าหมายคือเพื่อให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่ง นี่คือจุดหมาย มันต้องมีครับ คนไทยมีไหม ฉะนั้นเขาไม่ได้เป็นตัวแท้ตัวจริง
ของเขาหรอก การเลียนแบบขั้นตอนเท่านั้น จุดหมายของญี่ปุ่นอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นสู้หมด ปัญหา ความยาก ตอนเลียนแบบฝรั่ง เคยได้ยินไหมเรื่องแต่ก่อนนี่ ญี่ปุ่นไปเมืองฝรั่ง เพื่อจะได้สูตรอะไรของฝรั่ง ยอมตาย แล้วก็ให้พวกเอาตัวความรู้นั้นใส่เอกสารม้วนใส่ในนั้น แล้วส่งศพกลับมาญี่ปุ่น เพื่อจะให้คนญี่ปุ่นด้วยกันมาเอาสูตรนี่ความรู้นี้เอามาใช้ ยอมสละกันขนาดนั้น ถ้าความคิดแค่เลียนแบบทำก็ได้ มันไม่ทำอย่างนี้หรอก ใช่ไหม ใจมันมีจุดหมายที่สูงมาก แล้วเวลาไปเรียน สมัยก่อนนี่ ไทยเราสมัยก่อนพัฒนาที่สุดนะ เหนือญี่ปุ่น สมัยรัชกาลที่ 5 ญี่ปุ่นต้องส่งคนมาเยือนเมืองไทย ส่งคนมาดูงานเมืองไทย ทีนี้ของไทยเราส่งไปเป็นคนๆ ไปเมืองอเมริกา เมืองฝรั่ง อังกฤษ ก็แล้วแต่ ส่งไปเป็นคนๆๆ พอไปเรียนแล้วก็เก่งจริงๆ นะ คนไทย เยี่ยมกว่าฝรั่งก็มี หลายท่านเลย ไปดูประวัติสิ เก่งกว่าฝรั่ง ได้ที่หนึ่งๆ พอกลับมาแล้ว พวกไม่รู้ด้วย มานั่งสอนกันก็ไม่รู้หมดเวลาเท่าไหร่ ๆ มันต้องเป็นทีมงาน ตัวรู้มาคนเดียว พวกก็ไม่รู้ด้วย ทำก็ทำก็ได้คนเดียว นอกจากนั้นมาขัดกันอีก เพราะว่าพวกนี้เขาก็ใหญ่ใช่ไหม ผู้ใหญ่กว่าเขาก็ไม่ยอม เขาก็ถือว่าเขาถือตัวนี่ ก็ไม่ยอมฟังกัน เกิดความขัดแย้ง มันยุ่งไปหมดเลย นอกจากทำไม่ได้ ยังขัดแย้งกันอีก ญี่ปุ่นทำไงรู้ไหม ส่งไปเป็นชุดเลย ต้องการจะทำเรื่องอะไร เอาเป็นกิจการเลย อุตสาหกรรมเรื่องนี้ ส่งไปเป็นชุด ไปเรียนทุกระดับครบเลย ตั้งแต่นาย หัวหน้าคนผลิต คนทำ อะไรต่ออะไร กลับมาปั๊บ ตั้งโรงงานได้เลย ชุดที่เป็นทีมมานั้นสวมงานเลย แล้วเป็นไง วิธีของญี่ปุ่นกับวิธีของไทย ใครสำเร็จ ก็ญี่ปุ่นนะสิ ใช่ไหม เขาก็แน่เหมือนกันนะวิธีนี้ เขาส่งไปเป็นทีมแล้วกลับมาทำได้ในเรื่องนั้นพร้อมมีคนครบชุด นี่คือวิธีพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ตอนนั้นหนังสือฝรั่งเขาเขียนไว้ตอนสมัยรัชกาลที่ 5 นี่แหละ สิงคโปร์ที่อังกฤษมาตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการอาณานิคมของเขา ยังต้องมาดูงานเมืองไทยเลย คือหมายความว่าไทยนี่นำ สิงคโปร์ ฝรั่ง ยอมรับเลย แล้วไทยตอนนี้เป็นไง ไทย หนึ่ง-ไม่มีการถูกเอาไปเป็นเมืองขึ้นมาบีบคั้น ใช่ไหม ก็ตัวเป็นอิสระอยู่ ความบีบคั้นไม่มี ความโกรธดันไม่มี ไม่เกิดแรงต้าน ไม่เกิดแรงสู้ ไม่เกิดกำลังใจที่จะมุ่งมั่นทำอะไร ก็เลยตาก็ดูว่าฝรั่งมีอะไรให้เสพ ความเจริญเข้ามา มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีกล้องถ่านรูป มีอะไรต่ออะไร ใจมันหันจะไปชื่นชมนิยมกับสิ่งที่จะเสพ คอยจ้องมองดูว่ามีอะไรมา ก็เลยเพาะนิสัยเสพบริโภค ฝ่ายประเทศญี่ปุ่นนี่ถูกอเมริกามันเอานายพลเฟอร์รี่ เอาเรือรบไปปิด ไปขู่ให้เปิดประเทศ ญี่ปุ่นปิดประเทศมา 200 ปี ตอนที่ปิดประเทศเพราะว่าฝรั่งไปล่าอาณานิคม ทีนี้ฝรั่งไปกินเหล้าเมาแล้วมันเผลอพูด เพราะคนเมามันก็เป็นธรรมดาก็ไปพูดอวดว่าพระเจ้าอยู่หัวของเราส่งพระผู้เป็นเจ้าให้มา พระผู้เป็นเจ้าก็คือบาทหลวง มานี่เพื่อจะได้ให้คนญี่ปุ่นนี่ได้คล้ายๆ ว่ามีจิตใจโน้มน้อมไปแล้วต่อไปพระเจ้าอยู่หัวของเราก็จะได้เข้ายึดครองประเทศญี่ปุ่น อะไรทำนองนี้ คือพูดทำนองนี้ ญี่ปุ่นได้ยิน โชกุนท่านโกรธใหญ่เลย ตอนแรกก็ต้อนรับอย่างดี พอได้ยินอย่างนี้ปั๊บ โกรธมาก ขับไล่ฝรั่งออกนอกประเทศ กำจัด ฆ่า ยับเยินหมดเลย ปิดประเทศ ห้ามฝรั่งเข้าหมดเลย 200 ปี จนกระทั่งนายพลเฟอร์รี่อเมริกา เอาเรือรบไปขู่ ญี่ปุ่นบอกตายแล้วเรา ปิดประเทศ 200 ปี เทคโนโลยีไม่ทันเขา ไม่มีอะไรจะสู้ มีแต่ดาบซามูไร เขามีปืนกล ปืนใหญ่ ก็เลยจำใจต้องเปิดประเทศแล้วก็มีความรู้สึกกดดัน ว่านี่เราสู้ฝรั่งไม่ได้ เราจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ตอนก่อนนั้นญี่ปุ่นก็มีพวกโชกุน จักรพรรดิก็เชิด เพราะอำนาจอยู่ที่โชกุน ตอนนี้ซามูไร โชกุนนี่พร้อมใจกันหมดเลย ชาติญี่ปุ่นจะต้องพร้อมใจกันหมดเลย โชกุนทั้งหลายมอบอำนาจถวายคืนพระจักรพรรดิ พร้อมใจกัน เราจะต้องสร้างชาติญี่ปุ่นให้ยิ่งใหญ่ ทันฝรั่ง เหนือฝรั่ง นี่ก็เป็นเป้าหมาย แรงใจของญี่ปุ่น จักรพรรดิก็เชิดชูเป็นหนึ่งเลยสูงสุด ทีนี้ญี่ปุ่นก็เดินหน้าเลย ใช่ไหม เนี่ยสังคมต้องมีจุดเป้าหมาย สังคมไทยไม่มีเลยเป้าหมาย แต่ละคนก็หาความสุขไปเสพ ว่ามีอะไรใหม่จากเมืองฝรั่งให้เสพบริโภคบ้าง ก็ตามดู ก็เอามาเสพ มันก็จบ มันไม่มีแรง เพราะฉะนั้นเราต้องดู ทีนี้หน้าที่ของผู้นำก็คือทำไงจะสร้างแรงใจที่มีเป้าหมายว่าจะพาสังคม หรือให้คนในสังคมกันนี่รวมในกันเพื่อจะไปสู่เป้าหมายนี้ให้ได้ ถ้าอันนี้สร้างขึ้นได้นี่คือความสำเร็จ ถ้ามามัวจะสนองการเสพบำรุงบำเรอตามใจกันอยู่อย่างนี้ ไม่รอดนะ มีแต่อ่อนแอลงใช่ไหม ทำอะไรเองก็ไม่เป็น ก็มันทำอะไรเองไม่เป็นมันก็จบน่ะสิ พูดอยู่บ่อยๆ ว่าคนไทยนี่อยากจะเจริญอย่างฝรั่ง ญี่ปุ่นเขาก็อยากเจริญอย่างฝรั่ง สมัยก่อนนี้ แต่คำว่าเจริญอย่างฝรั่งมันมีความหมายไม่เหมือนกัน มันมีสองแบบใหญ่ๆ เจริญแบบฝรั่งอย่างหนึ่งก็คือว่า ฝรังมีอะไรที่ก้าวหน้า เทคโนโลยีนั้นๆ มีโทรทัศน์ มีมือถือ มีอะไร เราก็มีอย่างนั้นบ้าง เรามีอย่างนั้น ฝรั่งมีอย่างไรเรามีอย่างนั้น ฝรั่งเสพบริโภคอย่างไร เราได้เสพบริโภคอย่างนั้น คือเจริญอย่างฝรั่ง อันนี้แบบที่หนึ่ง เจริญแบบฝรั่งอย่างที่สอง คือฝรั่งทำอะไรได้ เราต้องทำได้อย่างนั้น เจริญอย่างฝรั่งแบบที่หนึ่งคือมองความเจริญแบบนักบริโภค เจริญแบบฝรั่งอย่างที่สองคือมองความเจริญแบบนักผลิต เพียงจุดเริ่มความหมายความเจริญอย่างฝรั่งแค่เนี่ย ไปคนละทางเลย แล้วมันจะแปลกกันไปทันที 5 ปีให้หลังนี่ผิดรูปเลย แล้วคนไทยมองความหมายความเจริญแบบไหน แบบที่หนึ่ง แบบนักบริโภค ใช่ไหม ฝรั่งมียังไงฉันได้มีอย่างนั้น คือเจริญแบบฝรั่ง ฝรั่งมีมือถือ ฉันก็มีนะ ฝรั่งมีโรลสลอยด์ ฉันก็มีนะ ฝรั่งมีเบนซ์ ฉันก็มีนะ ฝรั่งมีอะไรที่มันเสพบริโภค แสดงความหรูหรา ฉันก็มี นี่แบบที่หนึ่ง ถ้าอย่างนี้ก็เป็นทาส เหยื่อเขาเรื่อยไป หาเงินมาก็เพื่อซื้อเขา แต่แบบที่สองนี่สิที่สำคัญ เจริญอย่างฝรั่งคือทำได้อย่างฝรั่ง ฝรั่งทำอะไรคอยจ้อง ทำอะไรได้ ฉันต้องทำได้ ถ้าอย่างนี้มันจะไม่หยุดใช่ไหม จะต้องหาทาง ฝรั่งทำอันนี้ได้ มันทำได้ยังไง มันเริ่มตั้งแต่เอามาแยกแยะ เคยได้ยินไหญี่ปุ่นเนี่ย เดี๋ยวนี้เขายังทำหรือเปล่าไม่รู้ เด็กนักเรียนไปโรงเรียน ระหว่างทางก็เดินไป ตามร้านพวกนาฬิกาเขาจะมีพวกอุปกรณ์ต่างๆ เครื่องนาฬิกา แต่ละชิ้นๆ เขามีไว้ให้ แล้วให้เด็กเอาไปฟรี แล้วเอาไปประกอบใหม่ ประกอบมาส่ง ก็คือหัดเป็นนักผลิตกันตั้งแต่เล็กๆ เลย ใช่ไหม ก็แล้วแต่เขาจะตั้งยังไงว่า ไปผลิตมาแล้ว ใครทำได้ เอามาแสดงเขา แล้วเขาให้เลย หรืออะไรอย่างนี้ หรือจะให้รางวัลตอบแทนอะไรก็ว่าไป ก็คือฝึกนิสัยนักผลิตตั้งแต่เด็ก เราไม่ได้มีแนสคิดนี้ใช่ไหม เพราะว่ามองความหมายเจริญอย่างฝรั่งก็มองผิดซะแล้วนี่ มองว่าฝรั่งมีอะไร ฉันต้องมีอย่างนั้น ก็เลยมีเฉพาะนิสัยนักเสพ นักบริโภค ฉะนั้นจึงแก้ไม่ได้หรอกถ้าไม่ให้เปลี่ยนสภาพจิตใจ นิสัยใจคอ ทัศนคติ แนวความคิด ใช่ไหม ถ้าสร้างแนวคิดแบบว่าเจริญอย่างฝรั่งคือทำได้อย่างฝรั่ง มันจะเปลี่ยนเลยประเทศไทย เชื่อไหม ทำได้ไหม ก็เราไม่พูดกันนี่เรื่องนี้ ก็พูดกันแบบคลุมๆ เครือๆ พร่าๆ เลียนแบบฝรั่ง ก็ไม่รู้อะไร คือเลียนแบบฝรั่ง คือไม่วิเคราะห์ พูดกันไปเยอะแล้ววันนี้คุยกัน ไม่มีอะไรสงสัยกันแล้วนะ ที่พูดนี่เข้าใจกันดี เห็นด้วยไหม ก็ต้องช่วยกันนะ ประเทศไทย สังคมไทย ไม่งั้นไปไม่ไหว ก็จะกริ่งเกรงอยู่ที่รัฐบาลใช้วิธีนี้ ไม่รู้ผู้นำแกมีการคิดแผนอะไรอีกซ่อนไว้หรือเปล่า แต่ดูแล้วมันไม่เห็น ถ้ามันมองแค่นี้ละก็ คนไทยจะยิ่งเสื่อมใหญ่ จะยิ่งอ่อนแอลงไป จะมองแค่สั้นๆ ไม่มองอะไรยาวๆ ก็ต้องช่วยกันละครับ สร้างความรู้ความเข้าใจ แล้วก็ให้แนวความคิดที่ถูกต้อง เพราะแนวความคิดนี้สำคัญมาก ประเทศต่างๆ ที่ไปทางไหนมันมีอุดมการณ์ พออุดมการณ์มันมาแล้วมันมีจุดรวม มันก็มีจุดมุ่งหมายที่รวมกันได้ แล้วมันก็พุ่งไปเลย เกิดแรงขึ้นมา ถ้ามันไม่มีอะไร มันก็พร่า กระจัดกระจายกันไป มีมากก็ไม่มีกำลัง เมื่อมีมากมันไม่มีจุดรวมมันก็ไม่มีความหมายอะไร สู้คนน้อยแต่ว่ามีจุดรวมไม่ได้ มีกำลังมากกว่า เอาละนะ ถ้าเป็นประโยชน์ก็โมทนาด้วย