แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
แล้วนี่มีกำหนดกันอย่างไรบ้างแล้ว ใน 6 รูปนี่ หนึ่ง การลา ก็ตกลงก็อยู่รับกฐินหมดใช่มั้ย นี่มีนัดมีกำหนดกันอย่างไรบ้างใน 6 รูป ก็วันที่ 8 ก็วันกฐินนั่นแหละ ออ 7 แล้ววันรุ่งขึ้นก็ลา ลา 4 รูป องค์ไหนบ้างล่ะ 4 รูป ธฤทณรงค์ และท่านอะไร ปรมัถต์ องค์เล็กทำไมรีบลาล่ะ ก็ลา 4 ก็เหลือ 2 เอกพงษ์กับมิตรพงษ์ แล้วกำหนดหรือยัง อ่อ ลาไว้ 4 เดือน ก็ค่อนข้างแน่นอน แล้วท่านเอกพงษ์ล่ะ อ๋อ ไม่มีเรื่องลางานอะไรเหรอ อย่างนั้นก็เป็นอิสระ ยังไงก็กำหนดได้ตามสะดวก ก็ดูไปเรื่อยๆก่อน สบายๆ ..... อ๋อ เค้าจะไปเมื่อไหร่ล่ะ .... ก็ธันวาก็ไม่ช้าแล้วนี่ .... พี่สาวไปเรียนหรือไปทำงาน เค้าก็ไปนานเลยสิถ้างั้น ไปอยู่เลย ไปอยู่ที่ไหนนะ ... ออ สามีเค้าทำงานที่นั่น ก็ต้องไปอยู่ที่นั่นเลย ก็เลยต้องไปช่วยโยม .... ก็เป็นหน้าที่เนอะ ก็ช่วยกันไป เรียกว่ามีเวลาดูอีกซักเดือนกว่าๆ .... เออ โอเรกอน รัฐนี้ก็อยู่ใกล้รัฐวอชิงตันคือตะวันตกสุด ต่อกันเลยกับรัฐวอชิงตัน เป็นรัฐที่มีทิวทัศน์สวยงาม มีป่าสน หุบเขา ทะเลสาบ เคยไปมั้ย อยู่ตรงไหนล่ะโอเรกอน .... อยู่ใกล้ๆกับพอร์ตแมน ก็เป็นป่า ต้นไม้เยอะ .... นั่นแหละ ป่าสนเยอะ มีภูเขาสูงๆ ทิวทัศน์สวยงาม ดินแดนของพวกอินเดียแดงในสมัยก่อน ซีแอตเติลนี่ก็เมืองหลวงของอดีตรัฐวอชิงตันนั่นแหละ ก็เป็นชื่อของหัวหน้าเผ่าอินเดียแดง ซีแอตเติล ตอนนั้น ก็ประธานาธิบดีเพียซเป็นผู้ติดต่อขอซื้อดินแดนแถบนี้จากหัวหน้าเผ่าซีแอตเติล ก็ติดต่อขอซื้อซีแอตเติล ซีแอตเติลก็เขียนจดหมายตอบ อเมริกาก็ตื่นเต้นกันในยุคสิ่งแวดล้อมนี่ พอมีภัยเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เลยตื่นตัวขึ้นมา เห็นคุณค่าของพวกอินเดียแดง แล้วพากันเอาจดหมายของซีแอตเติลนี่มาเปิดเผย ก็มีพวกที่บอกว่าข้อความไม่ตรงกับที่เอามาเขียน คล้ายๆว่าเขียนเป็นสำนวนของฝรั่ง ซีแอตเติลเค้าก็เขียนจดหมายตอบประธานาธิบดีเพียซ บอกว่า เอ๊ะ อะไรกัน ท่านจะมาซื้อขายแผ่นดินและผืนฟ้า มีที่ไหน เกิดมาไม่เคยได้ยินว่าผืนฟ้าแผ่นดินนี่มันขายกันได้ คล้ายๆว่าในความคิดของชาวอินเดียแดงนั้น มันเป็นที่ฝัง ที่อยู่ของบรรพบุรุษ ตายก็ทับถมกันมา มันไม่สามารถเป็นสมบัติของใคร ถ้าอย่างภาษาเราก็เป็นสมบัติของธรรมชาติ ว่าที่จริงแล้วมันก็เป็นธรรมชาตินั่นแหละ มนุษย์ก็มาจัดกันเอง แล้วมาขีดเส้นกันมาแบ่งกันเองว่าคนนั้นคนนี้เป็นเจ้าของ ที่แท้มันก็ไม่ได้เป็นของใคร ของธรรมชาติ แบ่งบนดินไม่พอ ไปแบ่งบนฟ้าอีก พอเข้ายุคอวกาศก็แบ่งบนฟ้าอีก ก็ขีดเส้นกันใหม่ สมัยก่อนตอนยุคแสวงหาอาณานิคม อันนั้นก็สเปนกับโปรตุเกส ก็เป็นกลุ่มแรกที่ออกหาอาณานิคม โปรตุเกสออกหนึ่ง แล้วสเปนออกแข่ง ทั้ง 2 ประเทศ นี่ก็นับถือโป๊ป เพราะว่าเป็นคาธอลิคด้วยกัน และก็ยุคนั้นนี่โป๊ปเป็นใหญ่ ทะเลาะกัน ก็เลยต้องไปหาโป๊ป โป๊ปก็เลยไปเอาแผนที่มา และก็ขีดเส้นแบ่งบนแผนที่โลก ด้านตะวันออก โปรตุเกสเอาไป ด้านตะวันตก สเปนเอาไป แผ่นดินใดก็ตามที่ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินคริสต์ครอบครอง ให้ยึดได้เลย ก็หมายความว่าถ้าเค้ามีพระเจ้าแผ่นดินคริสต์อยู่แล้วก็ต้องให้เค้าเป็นเจ้าของไป แต่ถ้าไม่มี ก็ถือว่าเป็นของสองประเทศ โปรตุเกสกับสเปนก็เอาไป โปรตุเกสก็ออกมา มาทางหมู่เกาะอีสต์อินดีส มาทางลังกานี่ โปรตุเกสก็เอาลังกาเลย พุทธศาสนาเกือบราบหมด เข้ามาทางเนี่ย ทางอินโดนีเซีย สเปนก็ไปนู่น ยึดละตินอเมริกาหมด ใช่มั้ย แล้วก็ขึ้นไปอเมริกา ก็ไปรบ คือยึดไปยึดไป พอถึงยุคอังกฤษออกบ้าง พวกอังกฤษ ฝรั่งเศสนี่ออกล่าอาณานิคมทีหลัง โปรตุเกส สเปนก่อน แล้วก็ฮอลันดา อย่างฮอลันดาก็มาแย่งลังกาจากโปรตุเกส แล้วก็มาแย่งแถวอินโดนีเซีย ฮอลันดาเก่งกว่า โปรตุเกสสู้ไม่ได้ ฮอลันดาหรือดัชต์เนี่ยก็แย่งไปจากโปรตุเกส ในยุคแรกนี่ก็โปรตุเกสกับสเปน ฝ่ายสเปนนี่ยังแข็งก็ไปทางตะวันตกตามที่โป๊ปขีดเส้นให้ ก็อย่างที่ว่าละตินอเมริกา ทีนี้พอยุคหลังนี่ดัชต์ออก ทางนี้ก็โปรตุเกสก็ย่ำแย่ ต่อมาฝรั่งเศสออก อังกฤษออก อ้าวละทีนี้ พวกก่อนๆสู้ไม่ได้ ดัชต์แพ้หมด มาเลเซียนี้ก็ดัชต์ยึดครองอยู่ก่อน อังกฤษก็แย่งเอาไป แล้วก็ไปสเปน อังกฤษไม่ได้ถูกจำกัดโดยโป๊ป จึงไปได้หมด อังกฤษแกเป็นโปแตสเตนท์ แกก็ไปทางตะวันตกด้วย แกก็ไปแย่งกับสเปน ประเทศสหรัฐอเมริกานี่ก็สเปนก็เข้าไปเอาด้วย อังกฤษก็เอา สู้รบกัน สู้อังกฤษไม่ได้ ดัชต์ก็แพ้หมด ดัชต์ก็สูญเสียหมด ดัชต์นี่ก็เอาทั้งตะวันออกตะวันตก ทางมาเลเซียนี่ดัชต์ก็เคยปกครอง ก็สู้อังกฤษไม่ได้ก็ต้องเสียให้อังกฤษไป ลังกาดัชต์ก็แย่งจากโปรตุเกส เสร็จแล้วก็ต้องแพ้อังกฤษ อังกฤษก็เอาไปหมด ทีนี้พอไปรบกันที่อเมริกา สเปนก็รบกับอังกฤษที่แผ่นดินสหรัฐอเมริกา ในที่สุดก็สู้ไม่ได้ อย่างเกาะแมนฮัตตันนั่นน่ะ นิวยอร์คแต่ก่อนชื่อนิวอัมสเตอร์ดัม ชื่อเดิม นิวอัมสเตอร์ดัมก็อะไรหล่ะ ก็ของดัชต์ ฮอลันดา แล้วก็ต้องให้อังกฤษไป อังกฤษก็เปลี่ยนชื่อเป็นนิวยอร์ค เพราะฉะนั้นก็บอกว่านิวยอร์คนี่ชื่อเดิมก็นิวอัมสเตอร์ดัม พอฮอลันดาซื้อจากอินเดียแดง 24 เหรียญ นี่ราคาเกาะแมนฮัตตันที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก ไม่รู้มูลค่าเดี๋ยวนี้เท่าไหร่ ประวัติศาสตร์ก็เป็นอันว่าดัชต์ก็แพ้อังกฤษ สเปนก็สู้อังกฤษไม่ได้ อังกฤษก็ครอบครองมาจนกระทั่งพวกคนอังกฤษเป็นต้นที่ไปอยู่ในนั้น เป็นอเมริกันก็มากู้มาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษอีกทีหนึ่ง ฝรั่งเศสก็ยังใกล้เคียงกับอังกฤษ เรียกว่าคู่คี่กัน แต่ก็ยังแพ้อังกฤษ ฝรั่งเศสก็ขึ้นไปได้ข้างบน แคนาดาเนี่ยใช่มั้ย แคนาดาก็เป็นดินแดนฝรั่งเศสไป ก็เป็นเรื่องของลัทธิอาณานิคม ประเทศไทยเราก็หวุดหวิดใช่มั้ย ก็ทางซ้าย พม่าอยู่ซ้ายก็เป็นของอังกฤษไป ขวาอินโดจีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม ก็เป็นของฝรั่งเศสไป ไทยนี่ทั้งอังกฤษฝรั่งเศสก็จะแย่งกัน ก็เหตุผลหนึ่งที่ทำให้อยู่ได้ก็เพราะเค้าแย่งกัน แล้วอย่างหนึ่งก็คือไทยก็ยอมเสียนั่นเสียนี่ให้อังกฤษ เราก็ยอมเสียทางมาเลเซียไปเยอะใช่มั้ย แล้วก็เสียทางพม่า แล้วก็ทางตะวันออกก็เสียพวกแผ่นดินทางลาว เขมรให้กับฝรั่งเศส เสียมราฐ พระตะบอง เคยได้ยินมั้ย แต่ก่อนนี้มีเพลงเสียมราฐพระตะบองบ้านพี่เมืองน้องมาช้านาน ตอนยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา ตอนนั้นญี่ปุ่นมาก็เอาอันนี้ขึ้นมาอ้างเพื่อที่จะยุไทยให้สู้กับฝรั่งเศส และญี่ปุ่นก็มาขับพวกฝรั่งออกไป ก็มาคุยกันไปนี่ก็ที่จริงก็เรื่องธรรมะทั้งนั้นน่ะ ถ้าพูดไม่เป็นสาระก็เรียกว่าเป็นเตรัจฉานกถา พูดเรื่องเหล่านี้คือพูดว่าใครจะเก่งกว่ากัน พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้น พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ใครเก่งกว่ากัน พูดไม่เป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้สาระ ท่านเรียกว่าเตรัจฉานกถา แต่ถ้าพูดเป็นเรื่องว่ามันเป็นเหตุเป็นผลอย่างไร ทำให้โลกเจริญเสื่อมอย่างไร เพราะอะไรคนจึงเป็นอย่างนี้ จะแก้ปัญหาอย่างไร อย่างนี้ท่านไม่ว่า พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสเยอะเลย ตรัสเรื่องความเป็นไปในโลก เอามาปรารภเพื่อจะได้ให้เกิดปัญญา รู้ เข้าใจธรรมะ เห็นทางแก้ปัญหาของมนุษย์ เพราะเนี่ยมันแสดงชัดเลยซึ่งปัญหาของมนุษย์ มันก็เบียดเบียนกันไม่รู้จบ แย่งชิงอำนาจกัน แย่งชิงทรัพยากร
นิมนต์ครับคุยกันไปฝ่ายเดียว นิมนต์ถาม คุยอะไรกันก็ได้ คุยแบบอิสระ ใครจะถามอะไรก็ถาม
คำถาม : “ก็ขออนุญาตเรียนถามพระเดชพระคุณครับ เนื่องจากว่าพระใหม่ก็ไม่มีคำถามกันแล้ว ผมก็ขออนุญาต ขอโอกาสถาม ก็จะมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ครับว่า ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะว่าก็สืบเนื่องจากว่าตอนสมัยที่ผมเคยเรียนมัธยม ว่าอยากเรียกเก่งวิชาไหนเราก็ขยันอ่านหนังสือวิชานั้น แล้วก็หมั่นทำโจทย์ หมั่นทำความเข้าใจ แต่ว่าพอได้เข้ามาเรียนคณะสถาปัตย์ ซึ่งเป็นคณะที่มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทีนี้ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่าเออเราจะต้องขยันทำอะไร เราถึงจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ เพราะว่าของแบบนี้ ความคิดดีๆไม่ใช่ว่าขยันแล้วจะมีความคิดดีๆออกมาได้ หรือว่าเราจะคิดนาน หรือว่าคิดนานกว่าคนอื่น บางทีคนที่คิดอะไรในช่วงเวลาแวบเดียวอาจจะได้ความคิดสร้างสรรค์อะไรดีๆออกมา ก็เลยอยากจะกราบเรียนหลวงพ่อในลักษณะนี้ครับว่า เออการที่เราจะมีคววามคิดสร้างสรรค์เราควรขยันทำอะไร หรือต้องทำอย่างไรเราจึงจะมีความคิดสร้างสรรค์”
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตโต : “ก็เอาเป็นหลัก คือ หนึ่ง ต้องมีฉันทะ ฉันทะก็คือความอยากความต้องการ ความอยากในทางที่อยากจะทำ คำว่าฉันทะนี่แปลว่ากัตตุกัมยตา คือความอยากจะทำ ไม่ใช่อยากจะเสพ คืออยากจะทำ ฉันทะ อยากทำก็ไปสัมพันธ์กับเรื่องว่าทำไปทำไม ทำให้มันดีให้มันเกิดมีขึ้นน่ะสิ ก็หมายความว่าไอ้ที่อยากทำก็คือไอ้นี่มันยังไม่ดี มันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันน่าจะเป็นอย่างนี้ เออมันก็ทำให้อยากทำ มันสัมพันธ์กันอย่างนี้ ทีนี้มันก็เลยโยงกับปัญญา แล้วปัญญาจะทำยังไง ก็อาศัยโยนิโสมนสิการ การรู้จักคิดพิจารณา มองโน้นมองนี่ เอ๊ะนี่มันยังไม่ดี มันน่าจะไปแบบนั้น มันน่าจะทำอย่างนี้ได้ ทำไมมันไม่เป็นอย่างนั้น แต่ว่าตัวเองต้องมีฉันทะ พอมีความอยากจะทำให้มันดี ฉันทะคือความอยากทำให้มันดี อยากทำให้มันงาม อยากทำให้มันสมบูรณ์ ทีนี่พอเห็นอะไรมันไม่ดีไม่งามไม่สมบูรณ์ มันก็น่าทำไปหมด นี่แหละ พอมันไปโยงกับความชำนาญของตัวเองเข้าก็สอดคล้องกันเลย ทีนี้จะไปเอาฉันทะจากเพียงวิชาไม่ได้ อันนั้นมันฉันทะสำหรับจะเรียน เรียนๆไปก็อยู่กับตำรา มันต้องออกสู่ของจริง ตำราก็หมายความว่าเรารู้เข้าใจหลักวิชา ฉันทะมันจะออกมามันตรงมาสู่ความเป็นจริงในโลกนี่แหละ ก็เห็นสิ่งทั้งหลายแล้วถ้ามันไปตรงกับวิชาทั้งหลายที่เราเรียนหรือไปตรงกับเรื่องที่เราถนัดเข้ามันก็ได้เรื่องเลย เห็นไอ้นั่นไอ้นี่มันก็น่าทำ น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมมันยังไม่เป็น ก็ต้องทำให้มันเป็น ก็คือทำให้มันดี ทำให้มันงาม ทำให้สมบูรณ์ อันนี้แหละฉันทะก็เป็นตัวแรงเริ่มต้นในจิตใจ เป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็มีปัญญาชี้บอกว่าจะทำอะไร ไอ้ปัญญามันเดินได้เพราะโยนิโสมนสิการ รู้จักคิดพิจารณา เพราะฉะนั้นก็สองอันมาเข้าคู่กันเมื่อไหร่ก็เดินหน้าแล้ว มีฉันทะแล้วมีโยนิโสมนสิการ ไปเลยทีนี้ ไม่ใช่อยู่กับแค่ตำรา อยู่กับแค่ตำรามันก็ไม่ไปไหน ก็เป็นอันว่าเราก็มีความรู้มีความสามารถ เป็นทุนอยู่ในเรื่องนั้นแล้ว พร้อมที่จะทำ แต่มันมองไม่ออกว่าจะทำอะไร มันต้องมาอยู่กับสภาพที่เป็นจริง ฉะนั้นตอนนี้ท่านมีทุนดีอยู่แล้ว เรียนสถาปัตย์ใช่มั้ย เออ มีความพร้อมอยู่ในตัว แต่ว่าจะออกมาสู่การปฏิบัติก็คือเนี่ย ให้มาเห็นสภาพที่เป็นจริง สิ่งที่จะทำ เรามีความรู้ที่จะทำ แต่สิ่งที่จะทำยังมองไม่เห็นว่าจะทำอะไร ท่านจึงให้ใช้โยนิโสมนสิการกันอยู่เสมอ แต่ถ้าลองมีฉันทะจริงๆแล้วเนี่ย เดี๋ยวมันมองเห็น เพราะไอ้ความอยากความต้องการอันนี้มันต้องการให้มันดี ให้มันงาม ให้มันสมบูรณ์ อะไรมันยังไม่ดีไม่งามไม่สมบูรณ์ ก็อยากจะทำให้มันดีให้มันงามให้มันสมบูรณ์ให้ได้ ให้เต็มสภาวะที่มันควรจะเป็น แค่เห็นพื้นบ้านไม่สะอาด ใจมันก็ไม่ยอมรับแล้ว ใจมันก็ต้องอยากให้มันดีให้มันงามให้มันสมบูรณ์ให้มันเรียบร้อย พวกมีฉันทะนี่จะทนไม่ได้ เห็นพื้นไม่สะอาดก็ต้องไปเอาไม้กวาดมากวาด มันก็เลยมีตัวแรงอยู่ข้างในที่จะผลักดันให้เกิดการกระทำขึ้น ทีนี้แรงผลักดันการกระทำ พอเกิดการกระทำทีมันเป็นไปเพื่อความดีงามความสมบูรณ์ก็กลายเป็นสร้างสรรค์ไปเท่นั้นเอง เพราะมันตรงข้ามกับทำลาย อันนี้คืออยากทำเพื่อให้มันดีให้มันงามให้มันสมบูรณ์ มันก็เอาเนี่ยไอ้ตัวโยงวิขาที่เรียนออกมาสู่ภาคปฏิบัติโดยมีฉันทะสภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายของสถานการณ์ ถ้าเป็นฝ่ายสถาปัตย์ก็เป็นเรื่องของการสร้างใช่มั้ย ก็มองอะไรต่ออะไรเนี่ยว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นมันน่าจะเป็นอย่างนี้ มองเห็นอะไรบ่อยๆมันก็เห็นเป็นภาพไปหมด ไอ้นี่มองอย่างนี้ เออ มันเป็นภาพขึ้นมาได้ มันมองเป็นภาพออกมาเลย ก็อยากจะทำให้มันเป็นไปตามที่ตัวเองได้คิดขึ้นมา อันนี้ก็ไปหาทางทำอย่างไร ไปวาดไปอะไรและคิด มันก็มีทางออกเดินหน้าไป พอจะเห็นช่องมั้ย ออกสู่การปฏิบัติ อย่าไปอยู่กับแค่ตำรา เอาช่วยกันถามต่อสิ มันจะได้มีแง่มุมออกไป”
คำถาม : “ครับ ขอกราบพระเดชพระคุณนะครับ เรื่องตัณหา มานะ และก็ทิฐิน่ะครับ ก็จะถามวิธีแก้ตัณหา มานะ และทิฐิ ที่พระเดชพระคุณบอกว่าให้ทาน ให้เกียรติ ให้โอกาส อันนั้นถือว่าเป็นทางแก้มั้ยครับ แล้วถ้าเกิดว่าเราเจอคนที่พวกนี้เยอะๆ แล้วถ้าเรายิ่งให้ไปเนี่ยมันก็เป็นการทำให้เค้าเหลิงหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ครับพระเดชพระคุณ”
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตโต : .ก็นี่แหละ ถึงบอกว่าต้องให้ด้วยปัญญา เพราะว่าถ้าให้ได้ไม่ดีก็ประมาท ประมาทก็กลายเป็นไปเสริมปัญหาสิ ใช่มั้ย อย่างน้อยก็ทำให้คนขี้เกียจ ไอ้คนไม่รู้จักพอนั่นก็พวกหนึ่งแล้ว ไอ้คนขีเกียจอีกนะ เลยไม่ต้องทำอะไร นอนกินเลยนะ เราก็ให้เรื่อยไป อันนั้นไม่ได้ ท่านจึงบอก วิเจยยะ ทานัง สุคะตัปปะสัตถัง แปลว่าทานที่ให้โดยวิจัย ดังนั้นก็ต้องวิจัยก่อน วิจัยแล้วจึงให้ จะได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ให้เรื่อยเปื่อย ทีนี้ที่ว่านี่ก็หมายความว่าเป็นเชิงสังคม มันเป็นทางหนึ่งในการที่จะผ่อนไม่ให้เจ้าตัณหา มานะทิฐินี่มาออกพิษภัยในทางสังคม อันที่ผมพูดไปเรื่องให้ นี่ยังไม่ได้หมายความว่าแก้หมดหรอก เพราะว่าตัณหา มานะ ทิฐินี่มันเป็นตัวสร้างความขัดแย้ง ทำให้เกิดปัญหาการเบียดเบียนแย่งชิงในหมู่มนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงให้เอาการแก้แบบที่ว่านี่มาช่วยแก้ อย่างน้อยก็บรรเทา เพราะว่าคนมีความโน้มเอียงในการที่จะเอาเพื่อตัวเข้ามา ตัณหาก็เอาเพื่อตัว แล้วมานะก็ให้ตัวยิ่งใหญ่ แล้วก็ทิฐิก็ยึดติดแต่ความเห็นของตัวเอง คนอื่นจะต้องยอมรับ ต้องยอมตาม ทีนี้พอเราเอาวิธีให้แบบนั้นมาช่วย มันก็ไปแก้ความขัดแย้ง และเราก็เลยไม่ตกอยู่ใต้อำนาจตัณหาเกินไป แต่มานะ ทิฐิด้วย ก็หมายความว่าแทนที่จะคิดแต่จะเอา คิดให้เสียมั่ง พอความคิดจะให้มันมา ความคิดที่จะเอามันก็หายไป มันก็เลยไปคล้ายๆว่ามีตัวที่ชิงที่ได้ก่อน คือความคิดในสมองของเรานี่เหมือนกับเป็นที่ฝ่ายกุศลกับอกุศลใครได้ที่ก่อนก็เข้าไม่ได้ ทีนี้เราเอาฝ่ายกุศลเข้าไปชิงที่ไว้ก่อน ก็เข้าครอง พอเข้าครองไว้ก่อน เข้าครองดินแดนไว้ก่อน อีกฝ่ายก็เข้าไม่ได้ ทีนี้ความคิดที่จะให้มาก่อน ความคิดที่จะเอามันก็เลยเงียบไป และนอกจากนั้น มันก็ดีในแง่ที่มาสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทางสังคม ช่วยให้ตนอื่นได้รับการช่วยเหลือ ก็ทำให้จิตใจเค้าดี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็เลยบอก เอา ตัณหา เราก็ให้ของมาแก้ แล้วมาสร้างความสัมพันธ์ที่ดี มาป้องกันความขัดแย้งในสังคม และ มานะ ก็ให้เกียรติกันซะ แล้วก็ทิฐิ ก็ให้โอกาสในการแสดงความรู้ความคิดเห็นกัน มันก็เบาๆไป อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในวิถีทางของการฝึกตนด้วย เราก็ทำบ่อยๆ แต่ว่าพร้อมกันนี้ก็คือ พอเราเริ่มจากการปฏิบัติธรรมะอันใดอันหนึ่งแล้วนี่ ก็เป็นการให้โอกาสแก่การนำเอาธรรมะข้ออื่นเข้ามาใช้ เราบอกเราจะให้ของแล้ว ตอนนี้ก็เรียกร้องปัญญามาช่วย เออปัญญาว่าจะให้อย่างไรดีจึงจะเป็นประโยชน์ เออให้ไม่ดีแล้วคนนี้จะขี้เกียจหรือคนนี้จะยิ่งไม่รู้จักพอยิ่งอยากได้ไม่รู้จักจบ เออเราให้นี่สมเหตุสมผลมั้ย จะให้อย่างไรจึงจะไม่เกิดโทษ ให้ก็ป้องกันโทษไปด้วย อะไรอย่างนี้ ปัญญาเข้ามา ไม่ใช่มาตัวเดียว ไม่ใช่มาเฉพาะให้ ปัญญาต้องมา แต่โดยปกติแล้วปัญญาต้องมาทุกกรณี สติก็จะทำงาน ใช่มั้ย เพราะว่าปัญญาจะมาได้อย่างไร สติก็ต้องมา สติเป็นตัวที่ตั้งหลัก และตั้งจุดเริ่ม เอ๊ะ สะดุดหยุดก่อน จะให้ สติบอกเดี๋ยว พิจารณาก่อน พอสติบอกว่าเดี๋ยว ต้องพิจารณาก่อนนะ ดึงปัญญามาแล้ว ปัญญาก็มาทำงาน สตินี่เป็นตัวตั้งหลักให้ เป็นตัวตั้งจุดเริ่มให้ และจะพาปัญญาให้นำธรรมะต่างๆมา พอไม่ประมาท มีสติแล้วธรรมะทั้งหลายก็มาทำงานได้หมด แต่ว่าตัวสำคัญที่จะเรียกว่าขาดไม่ได้ในทุกสถานการณ์นี่ก็คือปัญญา ส่วนตัวอื่นก็ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง แล้วแต่ว่ามันมีอะไรเกี่ยวข้องกับธรรมะข้อไหน ในตอนนั้นก็ต้องเรียกมาใช้ แต่ปัญญานี่จะต้องใช้อยู่เรื่อย แต่สติจะเป็นตัวเริ่มให้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกสติสัพพัททะปฏิญา (สะ ติ สับ พัด ถะ ปะ ติ ยา) สติจำปรารถนาในทุกกรณี หมายความว่าจำเป็นต้องใช้ ต้องมีสติทุกกรณี แค่จะเดินก็ต้องมีสติ ไม่เช่นนั้นจะเดินออกนอกลู่นอกทางไป ก็เอาเป็นว่าเราก็เอาอันนี้มาฝึก วัตถุประสงค์ขั้นแรกก็คือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์ เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยมีมิตรไมตรี และไม่สร้างความขัดแย้ง แล้วก็ต้องฝึกตน และอย่าลืมที่จะในการฝึกตนก็คือการนำเอาธรรมะข้ออื่นๆมาใช้เพื่อจะให้กระบวนการเดินไปสู่ความสำเร็จที่เป็นประโยชน์แท้จริง ทำอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริง ธรรมะก็ต้องมากันครบกระบวน ไม่ใช่มาตัวใดตัวหนึ่ง”