แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พูดไปได้เยอะแล้ว ทีนี้มันมีเรื่องหนึ่งที่ควรจะพูดไปด้วย คือเราพูดกันถึงเรื่องว่าพระพุทธศาสนาสอนเรื่องหลักการสำคัญใหญ่ที่สุดเป็นพื้นฐานก็คือธรรม หรือ ธรรมะ ว่าดึงคนจากเทพสู่ธรรม ทีนี้คำว่าธรรมะนี้เป็นคำที่กว้างขวางเหลือเกิน เป็นคำที่ให้ความหมายยาก หาคำแทนได้ยาก แปลเป็นไทยเราก็ไม่มีคำที่จะแปลให้คลุมความ ต้องอธิบายกันยืดยาว ต้องแปลกันเป็นความหมายต่างๆเยอะแยะ เวลาฝรั่งเอาไปศึกษากัน เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็แปลออกไป ก็ไม่รู้จะหาคำไหนมาแทนได้เหมือนกัน ในที่สุดก็ต้องทับศัพท์แบบไทย เดี๋ยวนี้ฝรั่งก็รู้กันมากแล้ว จนกระทั่งว่าความจำเป็นในการแปลก็แทบจะไม่มีเหลือ เพราะฉะนั้นหนังสือในภาษาอังกฤษเวลาพูดถึงธรรมะเดี๋ยวนี้ก็ใช้ทับศัพท์เลย เขียนแบบสันสกฤตบ้าง เขียนแบบบาลีบ้าง ถ้าเขียนแบบบาลีก็เป็น “Dhamma” ถ้าเขียนแบบสันสกฤตก็เป็น “Dharma” ของไทยเราก็เขียนรูปสันสกฤตมาก คือ “ธรรม” แต่ที่จริงนั้น รูปที่แท้ของสันสกฤตคือ “ธรฺม” ทีนี้เขียนแบบบาลีก็เป็น “ธัมมะ” ถ้าเป็นบาลีแท้ก็ไม่ต้องใส่ “–ะ” อันนี้เราก็นิยมใช้รูปสันสกฤตมาก โดยใช้ “รฺ” เขียนเป็นแบบไทยก็ใช้ “รร” คำว่าธรรมะก็จึงใช้ทับศัพท์ก็เป็นอันรู้กัน ฝรั่งก็เข้าใจกันมากมายแล้ว เพราะว่าไม่มีใครแปลหรือหาศัพท์ที่ตรงได้สำเร็จ พยายามกันมาหลายสิบปีหลายร้อยปีแล้ว เพราะเป็นคำที่มีความหมายกว้างเหลือเกิน ทีนี้ก็ในเมื่อมีความหมายกว้าง จึงยากที่จะพูดให้ชัดเจนได้ หาคำจำกัดความยาก เพราะฉะนั้นจึงต้องมาสร้างความเข้าใจกัน พอให้เป็นหลักไว้ก่อน ทีนี้คำว่าธรรมะนี้ในภาษาบาลีเอง ท่านก็พยายามให้ความหมาย ในชั้นอรรถกถา มีคัมภีร์ที่พยายามแสดงความหมายของธรรมะไว้หลายแห่ง ให้ไว้มากบ้างน้อยบ้าง มีแห่งหนึ่งให้ไว้มากถึง11ความหมาย ถ้าเราจะมาพูดทั้ง11ความหมาย ก็จะทำให้ยิ่งสับสน คือจำไม่ไหวและจะปะปนกัน จึงต้องจับหลักให้ได้ ในที่นี้จะให้ 4 ความหมายพอ ถ้าหากว่าเข้าใจธรรมะใน 4 ความหมายนี้แล้วก็ไม่ต้องห่วงไม่ต้องกลัว ความหมายที่เหลือก็เป็นความหมายปลีกย่อยออกไป แล้วก็ได้หลัก ให้มันจับสาระให้ได้ก่อน ความหมายสำคัญของธรรมะก็มี 4 ความหมาย อะไรบ้าง
หนึ่ง คำว่าธรรมะนี้ เป็นคำที่บอกแล้วว่ามีความหมายกว้างที่สุด ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรไม่เป็นธรรมะ เมื่อไม่มีอะไรไม่เป็นธรรมะแล้วธรรมะจะได้แก่อะไร ก็ได้แก่ธรรมชาติ สิ่งที่มี ที่เกิดขึ้นตามธรรมดาของมัน ฉะนั้น ธรรมะในความหมายนี้ อาจจะแยกไปอย่างไรก็ตาม ก็ให้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นบอกว่า ธรรมะแยกเป็นสองอย่าง เป็นรูปธรรมกับอรูปธรรม หรือ รูปธรรมนามธรรม แต่ว่า ตามหลักท่านก็แยกเป็นรูปธรรมอรูปธรรม มันก็มีอยู่เท่านี้ สิ่งทั้งหลาย บรรดามี มันก็มีรูปธรรมกับอรูปธรรม หรือว่าแยกอีกอย่างเป็น โลกียธรรม โลกุตรธรรม ไม่ว่าอะไรก็อยู่ในสองอย่าง หรือว่าแยกเป็นสังขตธรรม อสังขตธรรม หรือ สังขารธรรม วิสังขารธรรม ก็มีอยู่เท่านี้ หรือจะแยกเป็นสาม เป็น กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม กุศลธรรมก็ฝ่ายดี อกุศลธรรมก็ฝ่ายร้าย อัพยากตธรรมก็เป็นกลางๆ บอกไม่ได้ว่าดีหรือร้าย ไม่ต้องพูดว่าดีหรือร้าย นี้ก็เป็นการแยกให้เห็นว่า คำว่า ธรรมะนี้ ครอบคลุมหมดทุกอย่างแล้ว ดีก็เป็นธรรมะ ชั่วก็เป็นธรรมะ เป็นวัตถุก็เป็นธรรมะ เป็นนามธรรมเป็นเรื่องจิตใจก็เป็นธรรมะ เป็นร่างกายก็เป็นธรรมะ ตลอดจนนิพานก็เป็นธรรมะ ไม่ว่าอะไรเป็นธรรมะทั้งหมด ธรรมะในความหมายนี้ บางทีฝรั่งก็ไปแปลว่า “Thing” ไทยก็แปลว่า “สิ่ง” ใกล้กันมากภาษาอังกฤษกับไทย แต่ว่าคำว่า“Thing”หรือ“สิ่ง”ในภาษาอังกฤษกับไทย มักจะให้ความหมายรู้สึกเป็นประเภทวัตถุหรือรูปธรรม ซึ่งก็ถือว่าไม่ครอบคลุม แต่ว่าในภาษาไทยเองก็ตามอังกฤษก็ตาม เวลาจะหาคำมาแทนสิ่งที่ตัวพูด แล้วจะให้ครอบคลุม ก็ไม่รู้จะหาคำใดมาแทน ก็ต้องใช้คำว่า “สิ่ง. แม้ในเรื่องนามธรรมในภาษาไทย บางครั้งเมื่อพูดไปแล้วจะหาคำเดียวมาแทนก็ต้องใช้ “สิ่ง” เหมือนกัน ภาษาอังกฤษก็เหมือนกัน ก็ต้องใช้ “Thing” เพราะฉะนั้น ในที่สุด จะเห็นว่า ในทางภาษาเราต้องการคำอะไรสักคำที่มันหมายรวมทุกสิ่งทุกอย่าง แทนทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด และคำนี้ก็คือคำว่า “ธรรมะ” ก็เป็นอันว่า ธรรมะในความหมายที่หนึ่งนี้ คำที่จะสื่อความหมายได้ใกล้เคียง ก็คือ ธรรมะได้แก่ธรรมชาติ แต่ทีนี้เราเองก็มาแยกว่า ธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ไม่ใช่ธรรมชาติ ก็ยุ่งสิใช่ไหม คำว่าธรรมหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่รถมอเตอร์ไซค์ ก็ไม่พ้นธรรมะ คอมพิวเตอร์ก็ไม่พ้นธรรมะ แต่ว่า ถึงอย่างไรก็ตาม รถมอเตอร์ไซค์ คอมพิวเตอร์ มันก็เป็นของที่เกิดจากสิ่งที่มีตามธรรมดาในธรรมชาติ ไม่ได้เอามาจากไหน แล้วถึงมันจะแปรรูปออกมาตามการประดิษฐ์ของมนุษย์ ก็เป็นแต่เพียงรูปร่างที่แปรไป แต่สาระเนื้อแท้ของมันก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ แล้วมันก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่ได้พ้นจากธรรมชาติไปได้หรอก สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์มันก็คือธรรมชาติแปรรูป ฉะนั้นก็ไม่พ้นธรรมชาติ ก็เอาเป็นว่า ความหมายที่หนึ่งของธรรมะก็คือ ธรรมชาติ ก็ได้แก่ สิ่งทั้งหลาย บรรดามี ไม่ว่าเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม เป็นเรื่องทางวัตถุก็ตาม จิตใจก็ตาม เป็นเรื่องดีก็ตาม ร้ายก็ตาม ไม่ดีไม่ร้ายก็ตาม เป็นโลกีย์โลกุตรหมดไม่มีเหลือ นี่ความหมายที่หนึ่ง
ทีนี้ต่อไป ความหมายที่สอง ก็คือว่า สิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติ มันก็มีความเป็นไปของมัน มันมีความจริงของมันว่า มันจะต้องเป็นอย่างนั้น มันจะต้องเป็นอย่างนี้ มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันมีการเจริญเติบโต แล้วมีการเสื่อมสลาย มันเกิดขึ้นมา มันก็มีกระบวนการเกิด มันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันก็เหมือนกับมีกฎเกณฑ์กำกับอยู่ เรียกว่า ความเป็นจริงของมัน ที่มันจะเป็นไปต่างๆ ความเป็นไปของมันที่มีความจริงอยู่ในตัว ซึ่งถ้าเราเข้าใจมองเห็นแล้วนี่ เราจะเข้าใจมันชัดเจน ถ้าเราไม่เข้าถึงตัวความจริง ความเป็นไปของมันนี้ได้ เราก็ไม่รู้จักมันจริง นอกจากรู้จักมันแล้ว เรารู้ความจริงของมัน ความเป็นไปที่มันแน่นอน ถ้าเรารู้แล้ว เราสามารถถึงกับจัดการกับมันก็ได้ เช่นว่าต้นไม้ เรารู้ว่ามันเกิดจากอะไร ที่มันมาเป็นอย่างนี้ได้ มันมีความเป็นมาอย่างไร เราสืบไปได้จนกระทั่งรู้ว่า ต้นนี้นี่เดิมมันมาจากเมล็ดนี่ เดิมเราไปเห็นแต่ต้นไม้ เราก็รู้จัก นี่คือ ธรรมะในความหมายที่หนึ่ง ทีนี้ ต่อมาเรารู้ไปจนกระทั่งว่า อ๋อ เจ้าต้นนี้นี่เดิมมันเป็นเมล็ดอยู่ แล้วต่อมามันจะเป็นอย่างไร เป็นต้นไม้นี่ เราตามดูมันในที่สุดเรารู้ว่า อ๋อมันมีการเจริญเติบโตอย่างนี้ ต่อมาเรารู้กระทั่งว่า อ๋อที่เมล็ดมันโตขึ้นมานี่ มันต้องอาศัยมีดิน มีน้ำ มีปุ๋ยที่เรียกว่าโอชะในดิน ต้องมีอุณหภูมิพอเหมาะเป็นต้น แล้วมันก็เจริญเติบโตขึ้นมา พอเรารู้กระบวนการอะไรต่างๆในการเจริญเติบโตของมัน ก็รวมแล้วเรียกว่ารู้เหตุปัจจัยของมัน พอรู้ความเป็นไปของมันว่า มันเป็นอย่างไรอย่างไร เราสามารถจัดการกับต้นไม้นี้ โดยที่ว่า เราสามารถปลูกมันได้ เอาเมล็ดมา แล้วไม่ต้องมาหามันแล้ว เวลาต้องการลูกมัน แต่ก่อนนี้เวลาจะกินผลมันทีต้องตามมาหามันที่ต้น ต่อมาพอรู้ความจริงของมันอันนี้แล้ว ก็เลยเอาเมล็ดไปปลูกที่หลังบ้านเลย ต่อมาก็ไม่ต้องเดินมาไกลแล้ว เอาลูกเอาผลที่ต้นไม้อยู่ที่หลังบ้านนี่กินสบาย ที่จริงถ้ารู้ลึกซึ้ง ก็สามารถจัดการกับมันได้ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงมันก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ความเป็นจริงของมัน เช่น เป็นไปตามเหตุปัจจัย อันนี้ ความจริง ความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย หรือความเป็นไปของธรรมชาติ ที่มันมีกฎมีเกณฑ์หรือมีความเป็นไปที่เรียกว่าแน่นอน อันนี้เป็นความหมายของธรรมะในแง่ที่สอง ก็คือความจริงของสิ่งทั้งหลาย ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีเดิมเพื่อเทียบเคียงกับคำว่าธรรมชาติ ก็ได้แก่คำว่าธรรมดา ธรรมดาก็คือความเป็นไปของธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมดา ก็กลับกันไปกลับกันมา ถ้าจะถามว่าธรรมชาติคืออะไร ก็บอกว่าสิ่งที่เป็นไปตามธรรมดา ถามว่าแล้วธรรมดาคืออะไร ธรรมดาก็คือ ความเป็นไปของธรรมชาติ นี่แหละ ธรรมดานี่สำคัญมาก ถ้ารู้อันนี้แล้วก็ ตอนนี้ก้าวถึงขั้นที่จะจัดการกับธรรมชาติได้ เอาล่ะนะ ได้สองความหมายแล้ว
ต่อไป ความหมายที่สาม ทีนี้ความหมายที่สามก็มานึกถึงมนุษย์เรา ในเมื่อสิ่งทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้ มันมีความเป็นไปอย่างนี้ รวมทั้งตัวเราด้วย ตัวเราชีวิตเราก็เป็นธรรมชาติอย่างนี้แหละ แล้วมันก็เป็นไปตามความจริงของมันที่เป็นธรรมชาติ หมายความว่า เป็นทั้งธรรมชาติและมีความเป็นไปตามธรรมดา ในเมื่อชีวิตของเราก็เป็นอย่างนี้ เราอยากมีชีวิตที่ดีงาม เราอยากจะมีความสุข เราอยากจะเจริญก้าวหน้า เราอยากจะมีสุขภาพดีในทางร่างกาย เป็นต้น เราอยากจะมีสติปัญญา เราอยากจะอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์อย่างดี ทีนี้จะทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ ก็ต้องปฏิบัติดำเนินชีวิตของตนเองให้ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาตินั้น ตามธรรมดานั้น ถ้าทำไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงของมัน ที่เรียกว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือจะเรียก “กฎธรรมชาติ” ก็แล้วแต่ ไปทำเหตุปัจจัยผิด มันก็ไม่เกิดผลที่ดี มันเกิดผลที่ร้ายก็เสียกับตัวเอง ถ้าหากว่าเราดำเนินชีวิตถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องตามเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลที่ดี ชีวิตของเราก็ดี เช่นร่างกายของเราซึ่งเป็นธรรมชาติ ถ้าเรารู้ว่ามันเจริญเพราะอะไร มันแข็งแรงเพราะอะไร มันต้องการอะไรมาบำรุง เช่น มันต้องการอาหารเราก็กินอาหาร อาหารอย่างไรที่จะช่วยให้ร่างกายดี เป็นเหตุปัจจัยที่ดีแก่ร่างกาย เราก็
เลือกกินอาหารอย่างนั้น รู้จนกระทั่งว่าปริมาณแค่ไหนที่ต้องการ ยิ่งรู้ไปรู้ไปก็ยิ่งปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องก็ทำให้ชีวิตของเราดี เช่นสุขภาพดีเป็นต้น หรือหากเราอยากจะมีปัญญา เราก็ต้องรู้ความจริงของกฎธรรมชาติว่าปัญญาจะเกิดได้อย่างไร ถ้าเรารู้ความจริง รู้เหตุปัจจัย จากเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง ปฏิบัติได้ถูกต้องตามนั้น เราก็ได้ประสบผลดีงามที่เราปรารถนา เราก็เลยมีความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของธรรมชาติอันนี้ คือถ้าเราต้องการจะให้ชีวิตของเราดีงาม เจริญ มีความสุข เราต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติอันนี้ ทีนี้เราต้องการแต่ส่วนที่ดี เราไม่เอาส่วนที่ไม่ดีใช่ไหม ส่วนที่ถูกต้องตามปรารถนาของเรา ที่จะเกิดผลร้ายเราไม่เอา เป็นอันว่า เพื่อให้ชีวิตของเราดีงาม เราต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆ นี่คือการปฏิบัติที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ แล้วจะเกิดผลดีแก่เรา ทีนี้ข้อที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติ ให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติหรือกฎธรรมชาติ เพื่อให้เกิดผลดีแก่ตัวเรานี่แหละ เรียกว่าธรรมะในความหมายที่สาม ก็คือข้อปฏิบัติที่ดีงามของมนุษย์ ถ้าจะพูดภาษาง่ายๆ แต่ที่จริงก็คือว่า ข้อที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ เช่น ดำเนินชีวิตเป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับความจริงหรือธรรมดาของธรรมชาติ ในทางที่จะให้เกิดผลดีตามประสงค์ของมนุษย์ หรือแม้แต่ไม่ประสงค์ก็แล้ว แต่จะให้เกิดผลดี ให้ชีวิตนี้เข้าถึงภาวะที่ดีงาม อันนี้เรียกว่าธรรมะในความหมายที่สาม ธรรมะในความหมายที่สามนี้ก็เอามาเรียกกันเป็นต่างๆ ก็คือสิ่งที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติตามธรรมดา ให้สอดคล้องกับธรรมดา อาจจะใช้คำว่า “ธรรมจริยา” ก็ได้ เพื่อจะให้เรียนศัพท์ให้คล้ายๆเข้าชุดกัน หนึ่ง “ธรรมชาติ” สอง “ธรรมดา” สาม “ธรรมจริยา” อันนี้เป็นข้อที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติตามธรรม ตอนนี้เราจะมีดีชั่วแล้ว เพราะว่าส่วนที่มันจะเกิดคุณเกิดประโยชน์แก่มนุษย์ ก็คือ ข้อปฏิบัติที่เราถือว่าดี ข้อที่มันดี ก็จะทำให้เกิดผลดีที่เราต้องการ ฉะนั้นในตอนที่เป็นความหมายที่สามนี้ ก็จะมีเรื่องความดีความชั่ว ว่าธรรมะเป็นความหมายว่าความดี แล้วก็เลยเรียกตัวไม่ดีว่าเป็นอธรรมไปเลย แต่ว่าที่จริงถ้าเป็นความหมายที่หนึ่งแล้ว เป็นธรรมะหมด เพราะบอกแล้วว่า ธรรมะแยกเป็นกุศลธรรม ก็เป็นธรรมะ อกุศลธรรมก็เป็นธรรมะใช่ไหม ฉะนั้นถ้าว่าในความหมายที่หนึ่งแล้ว ความหมายกว้างที่สุด ดีก็เป็นธรรมะ ชั่วก็เป็นธรรมะ ฉะนั้น ก็มีธรรมะที่ดี ธรรมะที่เลว ธรรมะที่เป็นบุญ ธรรมะที่เป็นบาป มีกุศลธรรม อกุศลธรรม มีบุญธรรม มีบาปธรรม แต่ว่าในความหมายที่สามนี่ เอาเฉพาะดีเท่านั้นเป็นธรรมะ ถ้าไม่ดีแล้วไม่เรียกว่าเป็นธรรมะแล้ว
ถึงตอนนี้ เราเข้าใจหลักการอย่างนี้แล้ว เราก็แยกได้เลย ว่าทำไมบางครั้ง เราไปพูดถึงไม่ดีเป็นธรรมะ เราเรียนมา เด็กๆพ่อแม่สอน ครูอาจารย์สอนธรรมะเราเข้าใจเป็นว่าเรื่องดีๆทั้งนั้น อยู่ๆมาฟังพระ มีธรรมะอันเป็นบาป อย่างไรกัน ธรรมะอะไร ธรรมะอันเป็นบาป ก็ธรรมะมันจะเป็นบาปได้อย่างไร มันเรื่องดี นี่แหละพอเข้าใจหลักนี้แล้ว จะไม่สับสน ก็ได้แล้วความหมายที่หนึ่ง สอง สาม หนึ่งกับสามนี่ มันจะแสดงตัวของมันเองให้เราเห็นความหมายชัด ถ้าเรารู้หลัก
ทีนี้ต่อจากสามก็ความหมายที่สี่ ความหมายที่สี่ก็คือว่า ธรรมะในความหมายที่หนึ่งก็ตาม สองก็ตาม สามก็ตาม มันเป็นของมันอย่างนั้น ธรรมชาติ สิ่งทั้งหลาย มันก็เป็นของมันอย่างนั้น มนุษย์จะรู้ไม่รู้ จะหลับตาหรือลืมตา มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ฉะนั้นในความหมายที่สอง ความเป็นจริงของมันที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้น ที่เรียกว่าธรรมดา มนุษย์จะรู้จะไม่รู้ จะเกิดหรือไม่เกิด มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ข้อสาม ก็สิ่งที่มนุษย์จะพึงปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตตนเอง สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ถึงมนุษย์ไม่ปฏิบัติ มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ถ้ามนุษย์รู้แล้วปฏิบัติตามก็ได้ผลดีแก่ตนเอง ถ้าไม่รู้ ตัวเองก็อาจจะพลาดไม่ปฏิบัติตามก็เกิดผลเสีย มันก็มีอยู่ของมันอย่างนั้น อันนี้เป็นความจริงทั้งนั้น ทั้งสามข้อนี้มันมีอยู่ของมันอย่างนั้น ทีนี้ถ้ามนุษย์ไม่รู้ ตัวเองก็ไม่ได้ประโยชน์จากมัน ถ้ารู้เราก็ปฏิบัติได้ เข้าใจ เกิดประโยชน์แก่ตนเองและชีวิต ทีนี้ก็ต้องมีผู้ที่มีปัญญา มารู้มาเข้าใจ มารู้เอาความจริงเหล่านี้ รู้ตั้งแต่ธรรมะในความหมายที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม พอท่านผู้นี้รู้ ที่เราเรียกว่าเป็นพระพุทธเจ้า พอรู้เข้าถึงความจริงเหล่านี้แล้ว ก็มาสั่งสอน บอกกล่าว ชี้ให้ดู ให้เข้าใจถึงธรรมะทั้งสามอย่าง คำสอนคำบอกเล่าของท่านผู้นี้ ที่เราเรียกว่าพระพุทธเจ้า ก็เป็นสื่อให้เราเข้าใจตัวธรรมะในความหมายสามอย่างแรก จะเรียกได้ว่าคำสอนของท่านก็คือตัวแทนของธรรมะทั้งสามความหมายนั้น ไปๆมาๆคำสอนของท่านซึ่งเป็นสื่อเป็นตัวแทนแสดงธรรมะสามความหมายแรก ก็เลยถูกเรียกว่าธรรมะไปด้วย เพราะฉะนั้นธรรมะในความหมายที่สี่ก็เกิดขึ้น ก็ได้ความหมายว่า ก็คือคำสอนที่แสดงธรรมะในสามความหมายแรก เราก็เลยแปลกันง่ายๆว่า ธรรมะคืออะไร คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จริงที่ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านี่ มันเป็นธรรมะในความหมายสุดท้าย ที่เรียกว่าธรรมะก็เพราะว่าไปสื่อไปแสดงธรรมะที่เป็นตัวแท้สามข้อแรก ทีนี้ มนุษย์มารู้มาเข้าใจถึงธรรมะสามความหมายแรกซึ่งเป็นตัวจริงได้ โดยอาศัยธรรมะคือคำสอน คำสอนนั้นก็ไม่ได้แสดงเป็นอื่น ก็หยิบยกธรรมะในความหมายสามอย่างแรกมาสอนมาแสดง พยายามสั่งสอนแนะนำจ้ำจี้จ้ำไช จะให้เข้าใจ ตกลงก็เป็นอันว่า ได้สี่ความหมาย ความหมายที่สี่นี่จึงเรียกเรียงศัพท์ให้เข้าชุด เรียงศัพท์แรกๆให้เป็นชุดกัน ก็เรียกว่า “ธรรมเทศนา” เอาละนะ ได้สี่ความหมาย
ถาม: แล้วกฎธรรมชาติก็คือข้อสองใช่ไหมครับ
ตอบ: กฎธรรมชาติคือข้อสอง
ถาม: ก็คือ ธัมมะนิยามะตา ด้วยใช่ไหมครับ
ตอบ: นั่นแหละ ก็อยู่ในนั้นหมดแหละ ธรรมะ นิยาม ธรรมดานั่นเอง
ก็ทวนอีกทีหนึ่งว่า ธรรมะมีความหมายมากมาย แต่ว่าโดยย่อ ความหมายที่เป็นหลักก็มีสี่อย่าง หนึ่งคือ “ธรรมชาติ” ได้แก่สิ่งทั้งหลายบรรดามี ที่เกิดที่มีขึ้น สองก็ “ธรรมดา” คือความเป็นไปของธรรมชาติหรือความจริงของธรรมชาติหรือกฎธรรมชาติ แล้วก็สาม “ธรรมจริยา” ก็คือ สิ่งที่มนุษย์ ข้อที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาตินั้น เพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของตน หรือจะแก่สังคม หรือจะแก่อะไรก็ขยายไปได้หมด และก็สี่ คำสอนที่แสดงธรรมะ คือ ธรรมชาติ ธรรมดา และธรรมจริยา สามอย่างนั้น ก็เรียกว่าธรรมะในความหมายที่สี่ ทีนี้จะเห็นว่า ถ้าท่านผู้ใด จะเข้าถึงตัวธรรมะข้อที่สองได้เนี่ยะ ก็หมายความว่า ต้องเข้าถึงแก่นแท้ความจริงของธรรมชาติในข้อที่หนึ่ง แล้วจากการที่เข้าถึงธรรมะในความหมายที่สองนั้น ธรรมจริยาก็จะตามมาด้วย อันที่สามใช่ไหม ฉะนั้น รวมแล้วก็โยงเป็นอันเดียวกัน และเมื่อท่านรู้เข้าถึงตัวธรรมดานั้นแล้วจึงจะสามารถมาแสดงธรรมเทศนา ที่มันจะสื่อถึงธรรมะตัวจริงนี้ได้ ก็จบ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ก็จะได้ไม่ต้องงง ถ้ามาพูดถึงธรรมะที่ดีหรือธรรมะที่ได้ดี หรือพูดว่าประพฤติธรรม จงประพฤติธรรม อย่าประพฤติสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ก็บอก อ้าวก็ไม่มีสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ทุกอย่างเป็นธรรมะ แล้ท่านมาพูดทำไมว่าจงอย่าประพฤติสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมก็อธรรมใช่ไหม ท่านพูดอะไรมันขัดกันอยู่ แต่ตอนนี้รู้ความหมายอย่างนี้แล้วก็ไม่ขัด ใช่ไหม ก็หมดปัญหาไป ธรรมะดี ธรรมะเลว หรือ ธรรมะอธรรม อะไรต่างๆ เราก็แยกได้ถูก พอเขาพูดมาในใจเราเห็นเลย ว่าอ๋อนี่เขากำลังพูดธรรมะในความหมายที่หนึ่ง อันนี้เขากำลังพูดธรรมะในความหมายที่สาม อันนี้เขากำลังพูดธรรมะในความหมายที่สอง อันนี้คือธรรมะในความหมายที่สี่ ทีนี้ ผู้ที่มาเริ่มเรียนพุทธศาสนา มักจะไปเจอธรรมะในความหมายที่หนึ่งก่อน ใช่ไหม พอเรียนก็ ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่คือความหมายที่สี่แล้ว เป็นเรื่องท้ายสุด แต่ว่าก็เป็นตัวเริ่ม จากผู้เรียน เพราะเป็นตัวที่จะนำผู้เรียนไปเข้าถึงธรรมะที่แท้ในความหมายหนึ่งสองสาม ก็ต้องมาเจอที่คำสอน เพราะว่า อย่างที่บอกเมื่อสักครู่ว่า ธรรมะก็เป็นอยู่มีอยู่ตามปกติธรรมดาของมัน แต่ว่ามนุษย์ทั่วไปนี้ไม่รู้ไม่เข้าใจ จนกระทั่งมีท่านผู้รู้ เข้าถึงความจริงนั้น แล้วก็เอามาบอกมาสอนมาแนะนำมาอธิบาย คนอื่นจึงเข้าใจ ฉะนั้นก็เลยต้องอาศัยคำสอนของท่าน เป็นสื่อที่จะนำตัวเองไปเข้าถึงตัวธรรมะที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ธรรมะในความหมายว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เพื่อมาช่วยสื่อนำเราไปเข้าถึงตัวธรรมะที่แท้จริง
ถาม: พระเดชพระคุณครับ ข้อสามข้อสี่นี่เป็นสมมุติบัญญัติใช่ไหมครับ
ตอบ: ก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องบัญญติตามปกติ ก็เป็นเรื่องถ้อยคำ เรื่องภาษา คืออาศัยภาษานั่นเอง ก็จะบัญญัติว่าเป็นอะไรก็ได้ เช่น นี่เรียกว่าต้นไม้ นี่เรียกว่าภูเขา อันนั้นเรียกว่าอะไรอะไร ก็เป็นเรื่องของบัญญัติ แต่ว่าบัญญัติเหล่านี้มีเพื่ออะไร ก็เพื่อสื่อความหมายที่จะโยงเราไปหาความจริง ทีนี้ว่า ไอ้เรื่องของภาษาเหล่านี้ ก็เป็นภาษาที่คนใช้พูดทั่วไป แต่ภาษาคำพูดของคนทั่วไป บางทีมันไม่ได้สื่อให้เข้าถึงตัวความจริงนี้ได้ ดังนั้น มันจะเป็นบัญญัติ มันจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ข้อสำคัญมันอยู่ที่ว่า บัญญัตินี้ มันจะสื่อให้เราเข้าถึงตัวธรรมะได้หรือไม่ บัญญัติบางอย่างมันไม่ไปไหน มันก็ติดอยู่แค่บัญญัติ แล้วทำให้หลงด้วยซ้ำ บัญญัติบางอย่าง ท่านตั้งขึ้นมาเพื่อจะช่วยเรา ให้เราเข้าถึงตัวธรรมะนี่เอง ให้เราสามารถที่จะทะลุบัญญัติไปถึงความจริงได้ บัญญัติบางอย่างทำให้เราติดอยู่แค่บัญญัติและหลงไปเลย ทีนี้ก็จะไม่ต้องงงแล้ว ถ้าใครพูดถึงคำเหล่านี้ สี่ความหมายนี้เป็นหลักเป็นพื้น ต่อจากนี้แล้วมันจะมีความหมายปลีกย่อยอีกเยอะ อย่างที่บอกแล้วว่าในอรรถกถาท่านรวมไว้ถึงสิบเอ็ดความหมาย ถ้าเราไปพูดทั้งสิบเอ็ด อาจจะทำให้เราสับสนยิ่งขึ้น ในกรณีที่เรายังไม่มีฐาน ถ้าเรามีพื้นฐานดีแล้ว ได้สี่ข้อนี้ ต่อไปจะไปเรียนสิบเอ็ดข้อก็ไม่เป็นปัญหา