แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
นมัสการพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์พระธรรมปิฎกในโอกาสที่ใกล้ถึงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ในธรรมเนียมของชาวพุทธก็มักจะอยากได้มงคลหรือสิ่งที่คิดว่าจะน้อมนำจิตใจให้สามารถประพฤติปฏิบัติตนให้ดียิ่งขึ้นไปในโอกาสปีต่อไปด้วย จึงขอเมตตาจากพระคุณเจ้าได้กรุณามอบสิ่งที่เป็นพรปีใหม่หรือหลักคิดชี้นำให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามหลักที่พุทธศาสนิกชนที่ดีควรจะเป็นเจ้าค่ะ
ขอเจริญสุขสวัสดีท่านผู้ชม ผู้ฟังทุกท่าน ช่วงเวลาวันสองวันนี้เป็นระยะเวลาที่ประชาชนทั่วทั้งโลกกำลังมีความสดชื่น เบิกบานแจ่มใสต้อนรับปีใหม่กัน คนไทยเราก็ได้ร่วมด้วยในการเฉลิมฉลองปีใหม่นี้กับประชาชนชาวโลกทั้งปวง ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงที่โลกหมุนไปนี้ก็ ประชาชนในดินแดนหรือประเทศต่างๆ ก็ทยอยต้อนรับปีใหม่กันไปตามลำดับ สำหรับประเทศไทยของเรานี้ การต้อนรับปีใหม่ เรามีกันหลายครั้ง สำหรับครั้งนี้ก็ถือว่าเรียกตามภาษาสมัยใหม่ว่าเป็นสากล คือเป็นปีใหม่ร่วมกับคนทั้งโลก ทีนี้การต้อนรับปีใหม่นั้นก็เป็นเรื่องของความสุข คนแสดงความสุขหรือมีความสุขกัน ตั้งแต่ว่าสดชื่นรื่นเริงจนกระทั่งถึงสนุกสนานบันเทิง แม้กระทั่งชุลมุนวุ่นวาย ก็มีกันหลายระดับ แต่จะสนุกสนานอย่างไรก็ตามถ้าหากว่าไม่มีการเบียดเบียนกัน ไม่มีการทำให้เกิดความวุ่นวายเสียหาย ก็ถือว่าดีทั้งนั้น เพราะว่าทำให้จิตใจร่าเริงสดใส ทางพระถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลอย่างหนึ่งก็เป็นมงคล เป็นการเริ่มต้นที่ดี ถ้าหากว่าเราเริ่มต้นดีด้วยจิตใจที่เบิกบานผ่องใสก็ถือว่าเริ่มดี เริ่มต้นดีท่านก็เรียกว่าเป็นบุพนิมิต จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป เหมือนกับว่าวันนี้เป็นต้นทุนแล้วแหละ เราได้เริ่มตั้งทุนใหม่ และก็ตั้งต้นไว้ดีด้วย อันนี้ก็ถือว่าให้เป็นความหวังและพยายามปฏิบัติให้เป็นจริง ทีนี้จะสนุกสนานกันยังไงก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือว่า เป็นเวลาที่ครบรอบอีกปีหนึ่ง เวลาผ่านไปถึงปีใหม่ก็คือทุกอย่างเนี่ยมีการเปลี่ยนแปลงคืบหน้าไป เพราะเวลาหนึ่งปีนี่ก็ถือว่าเป็นเวลาที่มากเหมือนกัน เวลาที่ผ่านไปหนึ่งปีในความรู้สึกหลายๆ คนจะเร็วช้าไม่เท่ากัน บางคนก็เร็วมาก บางคนก็เร็วน้อย บางคนก็ช้า ทั้งนี้ก็ขึ้นต่อปัจจัยต่างๆ เช่น คนมีความสุข มีความทุกข์ไม่เท่ากัน มีความหวาด มีความหวังไม่เหมือนกัน คนไหนมีความสุขมากก็มักจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปรวดเร็ว คนที่มีทุกข์ มีความทรมานก็จะรู้สึกว่าเวลาช้า คนที่มีความหวาดกลัวภัยอันตรายที่มองเห็นอยู่ข้างหน้าก็จะรู้สึกว่าเวลารวดเร็ว ถ้ามีความหวังรออยู่ว่าสิ่งที่ต้องการจะมาถึงเมื่อนั้นเมื่อนี้ เมื่อไรจะถึงสักที ก็จะรู้สึกว่าเวลาแห่งการรอคอยนั้นช่างช้าเหลือเกิน ถ้าคนไหนมีภาระ มีกิจต้องทำมากก็จะรู้สึกว่าเวลาเร็วเหลือเกิน ทำไม่ค่อยทัน คนไหนไม่ค่อยมีอะไรจะทำ เวลาก็จะผ่านไปช้า อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็จะเป็นเรื่องของความรู้สึกของแต่ละคน แต่ที่แท้จริงนั้นวันเวลาเสมอกันหมด มีความยุติธรรม ธรรมชาตินั้นมีความเป็นธรรมเท่าเทียมกันแก่ทุกคน ก็อยู่ที่ว่าเมื่อเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปจะรู้สึกเร็วช้าอย่างไรเราก็ต้องสู้กับความเป็นจริง ความเป็นจริงที่ผ่านไปนี้ ที่บอกว่าเมื่อถึงเวลาปีใหม่ก็ครบรอบปีหนึ่ง เรามองดูในแง่สนุกสนานบันเทิง มีความสุข ก็ดีแล้ว อันนี้เรียกว่าตั้งจิตไว้ในทางที่ถูก แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งเราก็คงไม่รู้ว่า พร้อมกันที่คนทั้งหลายจำนวนมากมีความสนุกสนานเนี่ย ก็มีคนส่วนหนึ่งที่เขากำลังมีความทุกข์ มีความเศร้าโศกเสียใจ มีความลำบาก เรียกว่าทุกข์ยากต่างๆ ซึ่งก็ไม่ควรจะถูกทอดทิ้ง เราก็ควรจะได้เหลียวแลเขาด้วย และถ้าหากว่าเราได้ใช้เวลาในปีใหม่ สำหรับได้มองดู มีเยื่อใย มีน้ำใจต่อคนที่มีความทุกข์ยาก หรือแม้กระทั่งได้ไปทำอะไรเพื่อเขา ทำให้เขามีความสุขด้วย ก็จะทำให้เกิดเป็นศิริมงคลมากยิ่งขึ้น ตัวเราเองก็ได้บุญไปด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นการที่ว่าแผ่ขยายความสุขให้กว้างขวางออกไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของกาลเวลา มันก็มาถึงแล้ว เราก็ต้องพยายามทำให้เกิดผล เป็นประโยชน์ที่สุด เราได้ด้านหนึ่งก็คือว่าตั้งใจไว้ดี ก็เป็นจิตใจดีงาม แต่ว่านอกจากจิตใจดีงาม แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ก็อย่างที่ว่าแม้แต่สนุกสนานก็อยู่ในขอบเขตที่ไม่ก่อความเดือดร้อนเบียดเบียน ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย อันนั้นก็เป็นด้านพฤติกรรม เป็นส่วนที่สอง แล้วส่วนสำคัญอีกด้านหนึ่งก็คือด้านปัญญา ด้านปัญญาก็ทำด้วยความรู้ความเข้าใจ แล้วก็มีการคิดคำนึงถึงเรื่องปีใหม่ที่จะมาถึงต่อไปว่าเราจะทำอะไรเป็นต้นด้วย ก็เรียกว่าไม่อยู่แค่พอจิตใจสนุกสนานแล้วก็จบไป ในเรื่องของปีใหม่ที่แท้เนี่ยในที่สุดมันก็มาเป็นเรื่องของปัญญา เวลาผ่านไปๆ มันก็กลืนกิน ท่านเรียกว่ากลืนกินมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อเวลาผ่านไปอย่างชีวิตของเรานี่ก็ก้าวไปสู่วัยเพิ่มขึ้น จากวัยเด็กก็เป็นหนุ่มเป็นสาว จากหนุ่มสาวก็เป็นเฒ่าชรา วัยของเราก็ก้าวหน้าไปเรื่อย แต่ก้าวหน้าไปก็คือการที่ว่าเสื่อมลงไปนั่นเอง ก้าวหน้าในที่นี้มันมาพร้อมกับความเสื่อมด้วย เราก็จะต้องเข้าใจ ยอมรับความเป็นจริง ทีนี้กาลเวลาที่ผ่านไปอย่างนี้ เมื่อมันผ่านไป กลืนกินสัตว์ทั้งหลาย ไม่ผ่านไปเปล่า เมื่อมันไม่ผ่านไปเปล่า เราก็ต้องมีวิธีปฏิบัติต่อเวลา เพราะว่าถ้าเราขืนปล่อยให้เวลากินเราฝ่ายเดียว เราก็แย่ เราก็เสื่อม ไม่มีความเจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้นท่านก็สอนเราให้ใช้เวลาอย่างไม่ผ่านไปเปล่าเหมือนกัน คือเวลาไม่ผ่านไปเปล่า มันกลืนกินเรา เราแก่เฒ่าชราลง แต่ว่าพร้อมกันนั้น เราก็ใช้เวลาอย่างไม่ผ่านไปเปล่าเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิตสอนเตือนใจเราไว้ ให้รู้จักใช้ประโยชน์จากเวลา ซึ่งน่าจะนำมาอ้างในระยะปีใหม่ด้วย จะได้เตือนใจให้เราใช้เวลาเริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่นี้เป็นต้นไปให้ถูกตามหลักธรรมะ คำพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ก็แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อย ต้องให้ได้อะไรบ้าง อันนี้สำคัญมาก ทีนี้บางคนชอบคาถา คาถาบาลีเนี่ยชอบว่าศักดิ์สิทธิ์ ก็จะจำไว้ก็ได้ ถ้าใครเก่งก็จำไว้เลย จะว่าเป็นภาษาบาลีก็ไม่ยาว นิดเดียว (อะ โม คัง ทิ วะ สัง กะ ยิ รา อะ เป นะ พะ หุ เก นะ วา) ว่าครั้งเดียวแหละ ให้จำเอาเอง ใครจำได้ก็เก่ง นี่เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ ถ้านำไปใช้ละก็ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เพราะเป็นประโยชน์เห็นชัดๆ เนี่ย เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อยต้องให้ได้อะไรบ้าง ลงได้วันละล็กละน้อยเนี่ยศักดิ์สิทธิ์แน่เลย เกิดผล ทีนี้ที่ว่าไม่มากก็น้อยต้องให้ได้อะไรบ้างเนี่ย คนก็คิดกันไปต่างๆ บางคนก็อาจจะคิดถึงได้เงิน บางคนก็คิดถึงได้งาน ทำงานคืบหน้าไปอย่างไร บางคนก็คิดไปถึงการศึกษาเล่าเรียน บางคนก็คิดไปถึงเรื่องของการช่วยเหลือทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ให้แก่สังคม ประเทศชาติ บางคนก็คิดถึงเรื่องความสุขความทุกข์ว่าเราวันนี้ได้สุขได้ทุกข์แค่ไหนอย่างไร หรือว่าได้กระทั่งว่าคุณธรรม การพัฒนาชีวิตของตนเอง หรือกระทั่งว่าปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่มากับการศึกษาว่า เวลาผ่านไปวันนี้ เราได้ความรู้ ได้ค้นคว้าอะไร ได้มีปัญญาเพิ่มขึ้น เข้าใจอะไรดีขึ้นบ้างมั้ย อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ในที่สุดก็ไปจบที่ตัวเอง อย่างที่เคยพูดบ่อยๆว่าแม้แต่วินาทีสุดท้ายเวลาไปนอนก่อนหลับ ถ้าหากว่าสำรวจแล้วไม่ได้อะไรเลยก็บอกว่าขอให้ได้ก่อนหลับ ให้ได้ก่อนหลับก็คือทำจิตใจให้เบิกบานผ่องใส นี่คือได้ ไม่มีทาง ไม่มีวันไหนที่จะหมดสิ้นหวังที่จะได้ลาภ ลาภอันประเสริฐ สิ่งที่ได้เนี่ยได้กระทั่งสุดท้ายก่อนจะหลับก็ทำจิตใจให้ผ่องใสเบิกบานนี่ก็คุ้มแล้วทั้งวัน แต่ว่าก็คิดด้วย ตั้งใจว่าวันต่อไปนี่เราจะทำสิ่งที่ดีงามอย่างไรให้ผ่านไปอย่างได้ประโยชน์จริงๆ อันนี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งซึ่งถ้าทำได้ครบถ้วนอย่างนี้ก็จะมีความหมายว่าวันเวลาต่อไปในปีใหม่นี้จะเป็นเวลาแห่งความเจริญก้าวหน้างอกงาม เพราะว่าถ้าได้วันหนึ่งแม้แต่เล็กน้อยนี่กว่าจะครบปีนี่จะได้มากมายทีเดียว อันนี้ก็อย่างน้อยก็เป็นพุทธภาษิตหนึ่ง ที่เป็นประโยชน์ถ้านำมาปฏิบัติก็จะเกิดผลเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริง อันนี้เป็นเรื่องของหลักคำสอนต่างๆที่มีมากมาย พระพุทธเจ้าจะตรัสสอนไว้เกี่ยวกับเรื่องการใช้เวลา แม้แต่แต่ละขณะอย่างที่ผู้ที่เรียนทางด้านธรรมะก็ย่อมจำกันได้ดี ที่ท่านบอกว่า (คะ โน โอ วา อุ ปัจ จะ คา) เวลาแม้แต่ขณะเดียวก็อย่าให้ผ่านล่วงท่านไปเสีย อันนี้ก็หมายถึงว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมเนี่ยขั้นจริงจังเนี่ยจะทำได้แม้แต่ว่าทุกขณะจิต ทุกขณะจิตนี่ให้อยู่ด้วยความรู้ อยู่ด้วยปัญญาเป็นต้น ไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นมาเลย แต่ว่าจะปฏิบัติอย่างไรก็ตามในเรื่องการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เนี่ย พูดรวมกันแล้วก็คืออยู่ในหลักของความไม่ประมาทนั่นเอง ก็เราก็จะต้องอยู่อย่างไม่ประมาท ก็หมายความว่ามีความกระตือรือล้น ขวนขวาย ไม่นิ่งนอนใจ ไม่เผอเรอ ไม่ผัดเพี้ยน ทำการต่างๆ ด้วยมีสติ สติจะคอยเตือนว่ามีอะไรที่จะต้องทำ อะไรเป็นกิจหน้าที่ของตน ระลึกขึ้นมาแล้วก็ไม่ปล่อยผ่านไปเฉยๆ ก็นำมาทำ มาปฏิบัติให้มันจบสิ้นไป แล้วก็มีอะไรที่จะพลาดพลั้งเสียหาย เราก็ไม่ยอมถลำพลาดไป สติก็จะมากันไม่ให้เสื่อมแล้วก็จะให้ฉวยโอกาสแห่งความดีงามและความเจริญหรือการสร้างสรรค์ นี่เป็นหน้าที่ของสติที่ทำให้เราไม่ประมาท ทีนี้ถ้ามีความเป็นอยู่อย่างไม่ประมาทอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงรับรองว่าจะเจริญแน่นอน ด้วยว่าไม่มีความเสื่อม แต่เป็นเรื่องยาก คนเราเนี่ยถ้าหากว่ามีความสุขแล้ว สบายแล้ว นี่ก็มักจะเริ่มเฉื่อยแล้วก็จะทำให้ชักเนือย ชักช้าลง แล้วก็อาจจะเรื่อยเปื่อย เรื่อยเปื่อยเฉื่อยชาก็ประมาท หรือว่าคนที่ประสบความสำเร็จอะไรสักอย่างก็มัวดีใจก็เลยเพลินประมาทไปเหมือนกัน ไม่ว่าความดี ความสุข ความสำเร็จอะไรทั้งนั้นแหละ มันทำให้คนประมาทได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีถ้าใช้ไม่เป็นก็ทำให้เป็นปัจจัยแห่งความเสื่อมได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงมาตรัสสรุปไว้ว่าเราจะต้องไม่ประมาท แม้จะก้าวหน้า เจริญ มีความสุข มีความสำเร็จอะไรยังไงก็ตาม ก็ต้องไม่ประมาทไว้ตลอดเวลา เมื่อไม่ประมาท มันก็ไม่เสื่อม เพราะฉะนั้นคนที่ว่าได้ฤทธิ์ เจอพิษของอนิจจัง ก็เพราะว่าเวลาเปลี่ยนแปลงไปก็ได้รับความสุขความเจริญแล้วเพลิดเพลิน มัวเมาประมาทก็เลยเสื่อม ก็เลยต้องเข้าวงจรแห่งความเจริญแล้วก็เสื่อม แต่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้บอกว่าถ้าท่านไม่ประมาทนี่ท่านไม่มีเสื่อม เพราะท่านจะทำเหตุแห่งความเจริญต่อไป แล้วก็ป้องกันช่องทางของความเสื่อมไปด้วย นี่เป็นเรื่องของความไม่ประมาทซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ชาวพุทธทุกคนจะต้องถือเป็นหลักสำคัญ จะต้องปฏิบัติเพราะว่าเป็นโอวาทครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าทรงย้ำตลอดเวลาในการบำเพ็ญพุทธกิจ นี่เรื่องไม่ประมาทก็เป็นอันว่าเกี่ยวกับกาลเวลา ต้องทำกันตลอดเวลา ทั้งปีเนี่ยต้องอยู่กันด้วยความไม่ประมาท แต่ว่าทีนี้ถ้ามองเฉพาะหน้าตอนนี้ เราก็มาอยู่เฉพาะปีใหม่ ก็เอาละต่อไปต้องก้าวไปในความไม่ประมาท ใช้เวลาทั้งปีนี้อย่างกระตือรือล้น ขวนขวาย ใช้เวลาอย่างที่เรียกว่าไม่ให้เสียเปล่า ให้เป็นประโยชน์ แต่นี่มาถึงเฉพาะหน้าก็คือการที่เรามาต้อนรับปีใหม่กัน ก็มาดูว่าเราจะปฏิบัติต่อเรื่องปีใหม่ที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้านี่อย่างไร เฉพาะหน้านี้ที่เป็นเรื่องใหม่เนี่ย ความใหม่นี่ก็เป็นเรื่องที่ดี คนก็ชอบ ความใหม่มีความหมายหลายอย่าง ที่สำคัญๆ ก็คือ เราจะรู้สึกว่าสุขสดชื่น เจออะไรต่ออะไรที่ใหม่ๆ ยังไม่สกปรก ไม่เปื้อนอะไร จิตใจเราก็พลอยสบายไปด้วย มีความสดชื่นไปด้วย ของนั้นยังไม่ได้ถูกใช้ ของนั้นแม้แต่บางทีมือก็ยังไม่ได้จับ มันก็สดใสมาก ทำให้เรามีความสดชื่น เราก็เลยโยงได้ว่าที่เราเห็นของใหม่แล้วจิตใจเราสดชื่นเนี่ยมันก็สืบเนื่องมาจากของนั้นสะอาด สะอาดบริสุทธิ์นี่เป็นสิ่งสำคัญ ของที่ยังไม่ใช้ ยังไม่มีอะไรเปรอะเปื้อน แม้แต่มือยังไม่จับต้อง ก็สะอาด สะอาดสดใสก็ทำให้จิตใจคนที่เห็นนั้นพลอยสุขสดชื่นไปด้วย เพราะฉะนั้นความสะอาดบริสุทธิ์นี่ก็เป็นคุณสมบัติสำคัญที่มักจะมากับความใหม่ ทีนี้อีกอย่างหนึ่งอะไร อีกด้านหนึ่งที่มากับความใหม่ก็คือความมีพลัง ความมีพลังเป็นยังไง อะไรที่ใหม่ๆ เนี่ยก็มักจะมีพลัง ไม่ต้องพูดถึงพลังใจที่เราเห็นของใหม่แล้วเราใจสดชื่น ก็มีกำลังใจเข้มแข็งขึ้นมา แต่ว่าลองคิดดู อย่างนักกีฬาเล่นกีฬา ถ้าเป็นคนเก่าเล่นมานานๆ เป็นชั่วโมง ก็เมื่อย ก็เพลีย หมดแรง ก็ได้นักกีฬาคนใหม่เข้ามาก็กำลังมีพลังแข็งแรง หรืออย่างนักรบก็เหมือนกัน รบเค้าไปจนกระทั่งเหนื่อยอ่อน หมดแรงแล้วคนใหม่ก็แข็งแรง เพราะฉะนั้นความใหม่นี่จะมากับพลังความแข็งแรง เลย เราก็ให้ได้ประโยชน์จากเรื่องของความใหม่ ว่าปีใหม่เนี่ยจะต้องทำให้ได้ความหมายอย่างน้อยสามอย่างของความใหม่เนี่ย ก็คือหนึ่งก็ต้องมีความสุขสดชื่น และสองก็มีความสะอาดสดใส และสามก็ความมีพลัง มีความเข้มแข็ง มีเรี่ยวแรงกำลังที่จะเดินต่อไปข้างหน้า เพราะปีใหม่นี่กาลเวลารอเราอยู่อีกตั้งสามร้อยหกสิบกว่าวัน เราก็ต้องเดินก้าวหน้าไปให้ดี ก็ต้องมีพลังที่จะเดินไป ทีนี้กำลังอย่างนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ทีนี้ถ้ามาดูทางธรรมะนี่กำลังไม่ได้จบเท่านี้ ความมีพลังที่แท้อยู่ที่ไหน คราวนี้มาเจาะลึกลงไป ดูในทางหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสว่าไอ้ตัวพลังความแข็งแรงที่แท้เนี่ยมันอยู่ที่ความเป็นอิสระ ความไม่ถูกกีดกั้นจำกัด ไม่ถูกกักขัง ไม่ถูกจองจำมัด เป็นต้น ใครจะมีพลังแข็งแรงเท่าไรก็ตาม ถ้าหากว่าตกหลุมตกบ่อ จมปลักไปแล้ว หรือว่าถูกมัดซะแน่น หรือถูกขังไว้เนี่ย กำลังมีเท่าไรไม่มีประโยชน์ แต่ว่าคนที่ไม่ถูกมัด ถูกจองจำอะไรเป็นต้นเนี่ย ตัวเป็นอิสระเนี่ย จะเคลื่อนไหวยังไงก็ได้ ก็มีกำลังเท่าไรก็ใช้ได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นตัวพลังที่แท้นี่จะมีความหมายตรงที่มีความเป็นอิสระ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจะทรงเน้นว่าตัวพลังนี่อยู่ที่ความเป็นอิสระ ถ้าดูแบบไม่ต้องนึกอะไร อย่างช้างเนี่ยตัวโตเหลือเกิน ไปลงคลองเข้า จมโคลน ตกหลุมหรือว่าติดหล่ม ก็มีกำลัง ตัวโตเท่าไรก็ทำอะไรไม่ได้เลย หมดความหมายไปเลย เพราะฉะนั้นเรื่องกำลังนี่ต้องมีความเป็นอิสระ เพราะช้างถ้าเขาไม่ติดหล่ม ไม่ตกอะไรซะ ไม่ติดโคลน เขาก็มีกำลังเท่าไรก็ใช้ได้ ก็จะทำอะไรเคลื่อนไหวได้เต็มที่ จะลากซุงหรืออะไรก็แล้วแต่ อันนี้ก็จึงเป็นเรื่องสำคัญ คนเราก็เหมือนกันเนี่ยจะต้องมีอันหนึ่งคือ การที่จะมีพลังที่แท้ต้องมีความเป็นอิสระ ความเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำ ไม่ถูกจำกัดกีดกั้น อย่างคนที่ทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างเนี้ย ถ้าหากว่าใจไปยึดติด ไปตกอะไร ถูกจองจำ ถูกครอบงำซะแล้วเนี่ยก็จะทำอะไรได้ไม่เต็มที่ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างไปห่วงผลประโยชน์เท่านั้นแหละ ใจติดแล้ว พอใจห่วงผลประโยชน์ของตัว ห่วงสถานะของตัว ตอนนี้ทำอะไรได้ไม่เต็มที่ละ ติดขัดไปหมด ฉะนั้นความห่วงความกังวลอะไรเหล่านี้ ความหวงแหน ความยึดติดในสิ่งต่างๆ ในโลกธรรม ลาภยศเป็นต้น ในตัวเหล่านี้เป็นตัวที่ทำให้เราเนี่ยหมดความเป็นอิสระ พอหมดความเป็นอิสระแล้วก็หมดแรงที่จะทำกิจการงานไปตามความมุ่งหมาย ก็จะทำให้การงานกิจการนั้นไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างพลังตัวที่แท้นี้ก็คือความเป็นอิสระ โดยแท้แก่นของมันก็คือการที่เรามีจิตใจที่ไม่ถูกกิเลสครอบงำนั่นเอง ไม่ให้ความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้ามาครอบงำได้ จิตใจของเราก็มีจุดมุ่งหมายที่ดีงาม ตอนนี้แหละถ้าเรามีจิตใจมุ่งแต่ความดีงาม อย่างพระสงฆ์เนี่ย พระสงฆ์ก็จิตใจไม่ติดอยู่กับเรื่องตัวตน แล้วก็ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า บอกว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก เพื่อพหูชน??? ทีนี้ไม่มีความติดข้องในอะไรต่างๆ ตอนนี้ทำอะไรก็ทำได้เต็มที่เลย มีกำลังอุทิศตัวให้แก่ศาสนกิจ งานพระศาสนา ญาติโยมก็เช่นเดียวกันแหละก็ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือต้องพยายามทำตัวให้โล่ง ให้โปร่ง ให้เป็นอิสระ เมื่อเรามีความเป็นอิสระอย่างนี้แล้ว ท่านก็บอกว่าให้มีพลัง คนที่ทำงานทั่วๆ ไปเนี่ย ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม ในโลกที่มีความเจริญก้าวหน้า ในตำแหน่งหน้าที่การงานกิจการยิ่งขึ้นไปเนี่ จะต้องการพลังเพิ่มขึ้นมากๆ ทีนี้ถ้าไม่มีหลักก็ไม่รู้จะเติมพลังยังไง ทำไปๆ บางทีพลังถอยลงไปทุกทีก็อ่อนแอลง ก็จะต้องเติมพลัง ทีนี้ถ้าเรามีหลัก มีพลังตามที่ท่านสอนไว้แล้วเนี่ย มันเติมได้อยู่เสมอ มันเป็นพลังยืนพื้น ทีนี้พลังอีกสี่อย่างที่เป็นทุนสำคัญที่จะต้องมีไว้ประจำตัว คือหนึ่ง กำลังปัญญา เขาเรียกว่าปัญญาพลัง กำลังปัญญานี่เป็นเรื่องใหญ่มาก คนไม่มีกำลังล่ะก็ลำบาก แม้แต่ประเทศชาติประเทศไหนขาดพลังปัญญา ไม่มีความเข้มแข็งทางปัญญาก็ล้าหลังต้องตามเขาเรื่อยไป คิดก็ไม่ทันเขา ไม่รู้เรื่องอะไรต่างๆ ความเป็นไปในโลกก็ไม่ทัน จะคิดจะทำอะไร มันไม่สำเร็จทั้งนั้นน่ะ คนได้มีปัญญาจึงจะหาทางจัดดำเนินการสิ่งต่างๆ ได้ ปัญญาคู่กับปัญหา ถ้าปัญหามาไม่มีปัญญาก็แก้ไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าปัญญามาแล้วปัญหามาเท่าไรไม่กลัว แก้ได้หมด เพราะฉะนั้นคนที่จะแก้ไขปัญหาก็ต้องคอยพัฒนาปัญญาของตัวเอง ทีนี้เราก็ต้องมีปัญญาพลัง ต้องแสวงหาปัญญา หาความรู้ เพิ่มพูนปัญญาอยู่เสมอ ถ้าคิดในแง่สังคม ประเทศชาติ เราก็ต้องให้การศึกษาเด็กอย่างดี ต้องเพิ่มปัญญา ต้องพัฒนาปัญญาของเด็ก โดยเฉพาะการหาความรู้ จะได้ให้ความรู้มาคู่กับการแสดงความเห็น เพราะเดี๋ยวนี้ชอบพูดกันนัก ให้เด็กกล้าแสดงความเห็น แต่ว่าต้องย้ำก่อนว่าเธอจะมากล้าแสดงความเห็นน่ะต้องหาความรู้ให้ดีนะ ถ้าหากว่าแสดงความเห็นโดยไม่มีความรู้ก็กลายเป็นการแสดงความเห็นที่เลื่อนลอย ไม่มีประโยชน์ บางทีกลายเป็นเหลวไหลไร้สาระไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรย้ำมากกว่าการแสดงความเห็นคือการหาความรู้ เพราะสังคมไทยเราเนี่ยขาดมาก เราขาด เราพูดกันมานานแล้วว่าขาดตั้งแต่ความใฝ่รู้เลย ทีนี้เมื่อไม่มีความใฝ่รู้ก็เลยไม่หาความรู้ เพราะฉะนั้นกระบวนการหาความรู้ก็เลยขาดไปในสังคมไทย เราจะเห็นว่าการอ่าน การเรียน การอะไรไม่ค่อยเอา ห้องสมุดนี่ค่อนข้างโหรงเหรง แม้แต่มีเด็กเข้าไปใช้ก็มักจะไปใช้ในแง่ของการอ่านในเรื่องของบันเทิงซะ ได้ข่าวว่าอย่างนั้น แทนที่จะไปค้นคว้าตำรับตำรา เพราะฉะนั้นจะต้องมาสร้างสรรค์สังคมไทยด้วยการพัฒนาปัญญา และการศึกษาจะต้องเน้นเรื่องการหาความรู้ ให้มีความใฝ่รู้แล้วก็มีวิธีการหาความรู้ แล้วก็เป็นคนที่เอาจริงเอาจังในการค้นคว้าหาความรู้นั้น ต่อจากนั้นเมื่อฝึกการหาความรู้แล้วก็ฝึกการรู้จักคิด คนที่มีแต่ความรู้แล้วคิดไม่เป็นก็เอาความรู้มาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทีนี้ถ้าหากคนรู้จักคิดก็เอาความรู้ที่มีนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ นอกจากนั้นแล้วคนที่มีความคิดนั้นก็จะคิดหาทางที่จะได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก ไอ้ความคิดนี่ก็เป็นตัวที่จะช่วยให้เราเนี่ยไปหาความรู้เพิ่มเติม ก็เลยกลายเป็นว่าเราเนี่ยได้กระบวนการของการพัฒนาปัญญาสองขั้นแล้ว ก็คือว่า1.การหาความรู้ 2.การพัฒนาความคิดหรือรู้จักคิด ถ้าได้สองละทีนี้พอมีความรู้ดีแล้วคิดเป็น การแสดงความเห็นมันก็จะมีความหมาย มีประโยชน์ มีสาระขึ้นมา แล้วก็ก่อนจะมาถึงการแสดงความเห็นต้องเน้นการหาความรู้และการรู้จักคิด คิดเป็นก็จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างความรู้กับความเห็น พอคิดเป็น ใช้ความรู้ได้ ความรู้นั้นก็จะมีความหมายงอกเงยขึ้นมาแล้วก็มาแสดงความเห็นก็จะเป็นทางให้เราได้ความรู้ความเข้าใจ เห็นแง่มุมเพิ่มขึ้นแล้วก็เห็นจุด เห็นมุมที่จะไปหาความรู้เพิ่มเติมอีก มันก็จะเป็นกระบวนการที่ทำให้หมุนต่อกันไปสามอย่างนี้ไม่รู้จักจบ คือ1.หาความรู้ 2.รู้จักคิด 3.แสดงความเห็นเป็น แล้วเสร็จแล้วก็ไปหาความรู้เพิ่มแล้วก็คิด มันก็เป็นไอ้ตัวหมุนกันไปเรื่อยๆ แม้แต่ว่าแสดงความเห็นมันก็ไปหมุนความคิดด้วย กระตุ้นความคิดที่ดี ฉะนั้นการพัฒนาปัญญานั้นจะต้องให้ครบกระบวนการอย่างน้อยสามขั้นตอนที่ว่า ในการหาความรู้นั้นก็ต้องเน้นด้วยว่ามีการปฏิบัติมีการทดลอง ก็คือมีการกระทำด้วยนั่นเอง นี่ก็เป็นเรื่องของพลังปัญญาซึ่งเป็นเรื่องใหญ่พูดกันไม่รู้จักจบ ก็เอาละเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องเน้น ปัญญาเป็นพลังใหญ่ ถ้าไม่มีปัญญาพลัง ประเทศชาติสังคมไม่มีความเข้มแข็งทางปัญญา ประเทศชาติเราไปไม่ไหว จะต้องเป็นผู้ตามและมีความอ่อนแออยู่เรื่อยไป ต่อไปที่สองท่านเรียกว่าวิริยะพลัง กำลังความเพียรพยายาม นอกจากว่าจะมีปัญญาแล้วต้องมีความเพียรพยายามด้วย ถ้าหากว่ามีปัญญาแล้วก็ขี้เกียจซะอีก ก็ไม่ไปไหนเหมือนกัน ต้องเดินหน้า ต้องเป็นคนมุ่งมั่น ก้าวหน้า คนที่มีความเพียรก็คือคนที่แกล้วกล้า เข้มแข็ง ใจสู้ ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยไป อันนี้วิริยะความเพียรนี่สำคัญ จะทำให้งานเดิน เพราะฉะนั้นมีการมีงานอะไรทำ อย่างน้อยไม่ให้มีความขาดตกบกพร่อง ทำงานได้เต็มตามหน้าที่ อันนี้เรียกว่าวิริยะพลัง กำลังความเพียรพยายาม และสามก็กำลังสำคัญอีกอันเรียกว่ากำลังความสุจริต (อะ นะ วัด ชะ พะ ละ) มือสะอาด ทำการทำงานต่างๆ ไม่มีช่องให้ใครจะเอาไปเป็นจุดอ่อนมาตำหนิติเตียนได้เป็นต้น ถ้าคนไม่มีช่อง ไม่มีความทุจริต ไม่มีแง่มุมที่เขาจะเอาไปใช้แล้วก็มีความมั่นใจในตัวเอง ทำงานได้เต็มที่เลย นะอันนี้ต้องสร้างไว้เลย ต้องเตรียมตัวไว้ตั้งแต่ต้นว่าต้องมีกำลังความสุจริต คนที่มีความสุจริตก็มั่นใจตัวเอง และทำงานบุกได้เต็มๆ ที่ ต่อไปก็สี่ กำลังการบำเพ็ญประโยชน์ การช่วยเหลือ การเกื้อกูลผู้อื่น การทำประโยชน์แก่สังคม การงานของเรานี่มักจะมีจุดหมายอยู่ที่ข้อที่สี่นี่ สามข้อต้นก็จะเป็นตัวผลักดันให้เราก้าวไปสู่อันที่สี่ ทีนี้ถ้าหากว่าทำงานไปแล้วไม่ได้ทำประโยชน์อะไรก็กลายเป็นว่าขาดพลังอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพลังอันที่สี่ก็เป็นตัวที่มาคลุมท้ายอีกทีให้ครบ รวมความก็คือว่าต้องมีพลังสี่ประการ ขอย้ำอีกทีว่า 1.มีปัญญาพลัง กำลังปัญญา 2.วิริยะพลัง กำลังความเพียรพยายาม 3. (อะ นะ วัด ชะ พลัง) กำลังความสุจริต หรือมือสะอาด และ 4.สังคหพลัง กำลังการบำเพ็ญประโยชน์ การช่วยเหลือเกื้อกูล ทำการสงเคราะห์นั่นเองแก่เพื่อนร่วมสังคม เป็นต้น ได้สี่ข้อนี้แล้วเรามีฐานที่ดี ก็คือความเป็นอิสระอย่างที่ว่าเมื้อกี้เนี่ย ไม่ถูกอะไรผูกมัด ไม่ติดไม่ห่วงเรื่องผลประโยชน์ เรื่องสถานะเป็นต้นตอนนี้เดินหน้าได้เต็มที่เลย นี่ก็คือคนมีพลัง ตอนนี้จะเข้าสู่ปีใหม่เนี่ยถ้าเรามีพลังนี่ก็เรียกว่าเราพร้อมที่จะเดินหน้า เมื่อถึงตอนปีใหม่เนี่ย เราจะยังไงก็ตามก็คือเราเจอกับปีใหม่เข้าแล้ว การเจอปีใหม่เนี่ยก็มีความหมายสองอย่าง หนึ่งก็เป็นการต้อนรับก็ได้ บอกว่าปีใหม่ต้อนรับเราเนี่ยเพราะเป็นความหวัง ความสดใส ความเบิกบาน ที่จริงไม่ต้องกลัวหรอก วันเวลาต้อนรับเราตลอดเวลา เขาเปิดโล่งเพราะเขาเตรียมจะกลืนเราอยู่แล้ว เวลาเนี่ยเขาต้อนรับเรา เราเดินหน้าไปในเวลาก็เหมือนกับเราเข้าปากเขาเหมือนกันแหละ เพราะฉะนั้นเขาต้อนรับเราตลอดเวลา นี่ก็หนึ่งละ แต่ว่าเรามองในแง่ดีก็เป็นการต้อนรับ ก็คือทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบานสดใสมีความสุข อีกด้านหนึ่งก็คือท้าทาย ปีใหม่นี่เป็นเวลาที่ท้าทาย เพราะอะไร เพราะว่าปีใหม่ มองในแง่กาลเวลาข้างหน้าเหมือนเดินทางเหมือนกัน เหมือนกับว่าเรากำลังจะเข้าสู่หนทางที่เรายังไม่เคยเดิน เราไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีอะไร เพราะฉะนั้นมันก็ท้าทายเหมือนกัน เราจะต้องผจญ เผชิญอะไรต่ออะไรข้างหน้าอีกเยอะซึ่งเรายังไม่รู้ แต่ว่าแน่นอนอย่างหนึ่งก็คือเราจะต้องทำ แม้แต่การเดิน เราก็ต้องการเรี่ยวแรงกำลังในการเดิน เพราะฉะนั้นมันก็ท้าทายเรา เราต้องมีกำลัง แล้วเราจะต้องใช้พลังครบทุกอย่างเท่าที่พูดมาแล้วข้างต้นนี้เพื่อบุกฝ่าไปข้างหน้าซึ่งอาจจะมีความเหนื่อยยาก ความลำบาก ความติดขัด อุปสรรคต่างๆ อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่เราหนีไม่พ้น เราจะต้องยอมรับ ไม่ใช่มองแบบแค่ปลอบใจตัว จะต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริง แล้วไม่ใช่เฉพาะชีวิตของคนเท่านั้น สังคม ประเทศชาติ ชุมชนอะไรก็ตามก็จะต้องเข้าสู่สภาวะอย่างนี้ ก็คือการที่เข้าสู่หนทาง เดินไปข้างหน้า ในปี2546นี้ ว่าเราจะเจออะไรอีกบ้างยังไม่รู้นะ ประเทศไทยเราก็มีสถานการณ์ของเราเอง มองไปกว้างๆ ในโลกก็ยังไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในระยะเวลาใกล้ๆ นี้หรือไม่ นั่นเป็นเรื่องที่เราจะต้องเผชิญ ถ้าหากว่าเรามีความไม่ประมาท นำความไม่ประมาทมาใช้ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะต้องมีความสามารถที่จะรับมือ แล้วจะต้องเอามันมาใช้เป็นแบบฝึกหัดพัฒนาตัวให้ได้ คือว่าทุกอย่างที่เข้ามาในหูตาของเราเนี่ยเป็นประสบการณ์ ประสบการณ์ต่างๆ เมื่อเจอแล้วเราต้องทำแบบฝึกหัดทั้งสิ้น ถ้าคนที่ทำแบบฝึกหัดเป็น ผ่านไปได้ ก็พัฒนาทุกที คนที่ผ่านแบบฝึกหัดก็จะเข้มแข็งยิ่งขึ้น จะมีสติปัญญาดีขึ้น แล้วจิตใจก็จะเข้มแข็ง มีความอดทน มีความเพียรพยายามเพิ่มขึ้นทุกที แต่ว่าต้องเตรียมใจไว้ก่อน ไม่ใช้ท้อตั้งแต่ต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของปีใหม่ที่มีความหมายหลายอย่าง หลายประการ อาตมภาพก็คิดว่าตอนนี้เหมือนกับว่ามาบอกกันว่า เอ้อ เราจะเข้าสู่ปีใหม่แล้วนะ เดินทางเข้าสู่ทางใหม่หรือช่วงใหม่ของทาง เราจะเดินทางกันอย่างไรจึงจะดี เตรียมตัวให้พร้อม ก็ได้บอกแล้วทั้งระยะยาว ระยะสั้น เฉพาะหน้า ระยะยาวก็คือว่าต้องมีความไม่ประมาทตลอดไป นี่ใช้กับกาลเวลาตลอด ไม่ว่าจะวัน จะเดือน จะปี หรือกี่ปีก็ต้องมีความไม่ประมาทเสมอ แล้วก็เฉพาะหน้า เฉพาะหน้าก็คือเฉพาะวันใหม่ เดือนใหม่ ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง 1 มกราคม 2546 เนี่ย เป็นเวลาเฉพาะหน้าที่ใหม่ เราก็ต้องให้ได้สามประการก็คือว่า สุขสดชื่น สะอาดสดใส แล้วก็มีพลัง พลังก็ให้ได้ครบ ทั้งพลังของความเป็นอิสระ และก็พลังของปัญญา พลังของความเพียรพยายาม พลังของความสุจริต และพลังของการบำเพ็ญประโยชน์ แล้วต่อจากนี้ก็มาถึงเฉพาะขณะ เฉพาะขณะก็คือขณะที่พูดนี่แหละ ขณะที่พูดนี้ก็เรายังไม่ต้องทำอะไรอื่น ก็มาตั้งความปรารถนาดีต่อกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อย่างน้อยก็ส่งเสริมกำลังใจ ทีนี้อาตมภาพก็ต้องตั้งใจดีต่อท่านสาธุชนทั้งหลายทุกๆ คนทั้งในประเทศไทย และแม้กระทั่งในโลกที่เราจะอยู่ร่วมกัน ที่โลกเป็นโลกาภิวัฒน์เนี่ยเหมือนหมู่บ้านเดียวเนี่ย จะอยู่ร่วมกันยังไงให้มีสันติสุข ก็ต้องตั้งใจดีต่อกัน ตอนนี้ก็เลยว่ามาเริ่มปีใหม่ในขณะนี้ก็คือเรานิยมว่าส่งความสุขกัน ก็คือแผ่เมตตาปรารถนาดีให้ท่านผู้อื่นมีความสุข เพราะฉะนั้นโอกาสนี้มาพูดเฉพาะขณะ ก็เป็นเวลาที่จะตั้งความปรารถนาดีอวยชัยให้พรแก่ท่านทั้งหลาย ก็ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศคือความดีงามทั้งหลายที่แต่ละท่านได้ทำ และร่วมกันทำนี้จงได้เป็นพลังอันสำคัญ เป็นปัจจัยที่จะให้เราทั้งหลายได้ดำเนินชีวิตและกิจการต่างๆ ให้ก้าวหน้าไปโดยช่วยกัน มีกำลังทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งกำลังปัญญา ทั้งกำลังความสามัคคี ร่วมมือกัน มุ่งหมายและมุ่งมั่น เพื่อความสุขความเจริญงอกงามของสังคมประเทศชาติ ทำตั้งแต่ชีวิตของตน และก็ครอบครัวของตน โดยเฉพาะแต่ละครอบครัวเนี่ยให้เป็นครอบครัวที่อบอุ่น ร่มเย็น มีความสุข ขยายความสุขออกไปยังสังคม ประเทศชาติทั้งหมด ก็ขอให้ทุกท่านเนี่ยมีความร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถบำเพ็ญประโยชน์ทั้งแก่ชีวิต แก่ครอบครัว แก่สังคมประเทศชาติ และแก่โลกทั้งปวงนี้ ให้เป็นที่อันรื่นรมณ์น่าอยู่อาศัย และทุกท่านมีความงอกงามในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่านตลอดปีใหม่2546 และตลอดไปทุกเมื่อเทอญ