แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ทีนี้ ได้บอกแล้วว่าจริตนี้มี 6 กรรมฐานนั้นมีถึง 40 สำหรับผู้ปฏิบัติก็บอกแล้วว่าเราก็เลือกได้แต่ 36 เราก็เลือกกรรมฐานให้เหมาะกับจริต ท่านก็บอกไว้ว่ากรรมฐานอย่างไหนจะเหมาะกับจริตอย่างไหน ซึ่งอันนี้แหละที่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์ในการเลือก ก็มาดูกันว่ากรรมฐานอย่างไหนเหมาะกับจริตแบบไหน โดยเอาจริตเป็นหลัก ถือเอาจริตเป็นหลัก
เริ่มจาก จริตที่ 1 คือ ราคจริต ราคจริตนี้ท่านบอกว่ากรรมฐานที่เหมาะ ก็คือกรรมฐานคู่ปรับสำหรับแก้กัน คนราคจริตนี้รักสวยรักงาม จิตมักติดใจ ทีนี้มันจะชวนให้ลุ่มหลงอะไรต่ออะไรเกินไป ก็ให้ใช้กรรมฐานคู่ปรับ กรรมฐานคู่ปรับสำหรับแก้เหมาะสำหรับคนราคจริต ก็คือ อสุภะ อย่างที่ว่ามาแล้วก็คือพวกซากศพ แล้วก็กายคตาสติ สติที่ไปในกาย คล้ายๆ สำรวจดูร่างกายของตนเอง ซึ่งประกอบด้วยอาการ 32 อวัยวะต่างๆ ซึ่งไม่เป็นเรื่องของความสวยงามแต่ประการใด อันนี้ ก็เป็นกรรมฐานที่เหมาะกับราคจริต
ต่อไป 2. โทสจริต กรรมฐานที่เหมาะที่สุดก็คือเมตตา เป็นกรรมฐานที่ว่า แก้กันโดยตรงทีเดียว คนโทสจริตก็เป็นคนที่มักโกรธ มีโทสะมาก ก็คือตรงข้ามกับเมตตา มีเมตตามา ก็กลายเป็นว่าทำให้ใจดี ทำให้รักผู้อื่นแทนที่จะโกรธเขา งั้นคนที่มีโทสจริตนี่ ท่านก็ให้สอนว่าเจริญเมตตาให้มาก รองจากเมตตาไปก็คือ ข้ออื่นๆ ในพรหมวิหารนั่นแหละ ถ้าพูดรวมๆ ก็คือว่ากรรมฐานที่เหมาะสำหรับโทสจริต ได้แก่ พรหมวิหาร 4 หรือ อัปปมัญญา 4 นอกจากพรหมวิหาร 4 แล้วก็ กสิณต่างๆ ก็เหมาะ กสิณที่เอามาเพ่ง ทำให้ใจโน้มไปทางสงบ คนที่โทสจริตนี้ เอากสิณมาให้เพ่ง เพื่อให้ใจจดจ่ออยู่ และเป็นของที่หยาบปรากฏชัด ก็ช่วยได้มาก และท่านยังเน้นไปอีกว่าในบรรดากสิณทั้งหลายนี้ วรรณกสิณ คือ กสิณพวกประเภทสี ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว อันนั้นจะเป็นเหมาะที่สุด ตกลงว่าสำหรับคนโทสจริตนี้ กรรมฐานที่เหมาะ ก็พรหมวิหาร 4 แล้วก็วรรณกสิณ 4 หรือกสิณทั้งหมด
ต่อไปก็ โมหจริต โมหจริตนี้ ท่านบอกกรรมฐานที่ช่วยเกื้อกูล ก็ได้แก่อานาปานสติ ความจริงอานาปานสติก็เป็นกรรมฐานที่ถือว่าสากล ใช้ได้กับคน เรียกได้ว่าทุกจริต ทีนี้คนโมหจริตนี้เหมือนกับว่าไม่มีกรรมฐานอะไรที่ดีกว่านี้แล้ว ก็เอาอานาปานสติมาให้ ท่านยังกำกับไว้อีกบอกว่า สำหรับคนโมหจริตนี้ จะต้องแก้โดยว่าให้หมั่นเล่าเรียน หมั่นศึกษาซักถามอยู่กับครู ความอยู่ใกล้ชิดกับครูผู้เป็นกัลยาณมิตรจะเป็นสำคัญ เพราะโมหจริตนี้เหมือนกับว่าช่วยตัวเองได้น้อย ก็ต้องมีครูคอยกำกับ คนโมหจริตนี่ต้องอาศัยครูมากหน่อย ท่านก็เลยกำกับไว้บอกว่า ควรจะอยู่กับครู แล้วก็หมั่นเล่าเรียน แล้วก็หมั่นซักถาม และกรรมฐานที่ช่วยเกื้อกูลก็คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก
ต่อไป คนสัทธาจริต ที่ว่าใจมักน้อมเลื่อมใสเชื่อง่าย มักจะซาบซึ้งเนี่ย ก็เข้ากันได้ดีกับกรรมฐานที่ช่วยให้มาคิดนึกในสิ่งที่จูงศรัทธาไปในทางที่ถูกต้องและดีงาม เพราะถ้าเอาสิ่งที่ อื่นๆ มาให้พิจารณา อาจจะทำให้เขว ทำให้เชื่อไปในทางที่ผิดพลาดได้ สำหรับคนที่มีสัทธาจริต ก็ควรจะใช้กรรมฐานอนุสติ 6 ข้อแรก อนุสิต 6 ข้อแรกคืออะไร ก็คือ
พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า
ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระธรรม
สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์
สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน ความประพฤติของตนที่สุจริตดีงาม
แล้วก็ จาคานุสสติ ระลึกถึงทาน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่การเสียสละที่ตนได้กระทำ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน
แล้วก็เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมของเทวดาที่มีในตนเอง
อันนี้ก็เหมาะกับคนสัทธาจริต จะได้น้อมใจไปในสิ่งที่ดีงาม ที่ควรแก่ความเชื่อ และก็จิตใจที่ซาบซึ้งศรัทธาจะได้มาจดจ่อกับสิ่งดีงามเหล่านี้ แล้วเกิดเป็นสมาธิขึ้น
ต่อไปก็สำหรับ คนพุทธิจริต คือคนที่ใช้ความคิดพิจารณา อันนี้ก็จะมีกรรมฐานที่เหมาะหลายข้อ แต่ว่าแยกกันไปกระจายอยู่ ก็ได้แก่ มี 1. มรณสติ สติพิจารณาความตาย ก็พิจารณาถึงความตายที่เป็นกฎธรรมดาของธรรมชาติที่ทุกคนจะต้องประสบ และก็พิจารณา อุปสมานุสสติ คือ ระลึกถึงพระนิพพานที่เป็นธรรมแห่งความสงบ เป็นสันติ ทำให้เกิดความสงบจากกิเลสและกองทุกข์ แล้วก็เป็นธรรมที่ลึกซึ้งมาก เหมาะสำหรับคนมีปัญญาจะพิจารณา ต่อไปก็คือกรรมฐานที่เรียกว่า จตุธาตุววัฏฐาน การกำหนดพิจารณาร่างกายของเรานี้ ว่าเป็นที่ประชุมของธาตุ 4 เท่านั้นเอง อันนี้ก็ การพิจารณาเรื่องธาตุ 4 นี่ก็ มันเป็นเรื่องที่ต้องการการใช้ปัญญาพอสมควร ก็เหมาะสำหรับคนพุทธิจริต
แล้วก็อีกข้อนึงก็คือ อาหาเรปฏิกูลสัญญา การกำหนดหมาย ความเป็นปฏิกูลในอาหาร อันนี้ก็เหมาะสำหรับพุทธิจริตเหมือนกัน ต่อไปสุดท้าย วิตกจริต วิตกจริตนี้ก็ ท่านก็บอก กรรมฐานที่เหมาะก็ใช้ 1 อานาปนสติ อันนี้จะไปตรงกับโมหจริต และก็กสิณ เพราะว่าคนที่วิตกจริตนี้ ชอบคิดจับจดฟุ้งซ่าน เดี๋ยวไปโน้นไปนี่ จิตวอกแวกง่าย ก็เลยให้ใช้กสิณนี่เป็นกรรมฐานประเภทที่ช่วยสะกดอารมณ์ได้ดี เพราะว่ากสิณนี่เป็นของที่บอกแล้วว่า สำหรับเพ่งดู และเป็นของหยาบ ทำให้ใจเนี่ยถูกกำกับง่าย ฉะนั้นกสิณจึงเหมาะกับคนวิตกจริต จะช่วยความคิดให้จดจ่อ หรือป้องกันความคิดฟุ้งซ่านได้ดี อันนี้ก็เป็นเรื่องของจริต คิดว่าพูดเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว คือไม่ต้องเข้าสู่รายละเอียดอันมากมาย เอาพอรู้หลักเห็นแนว