แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
อากาศก็ดี ลมดี คณะพวกเราก็เป็นอันว่ามาถึงภูเขาโดยปลอดภัยเรียบร้อย ก็มาเปลี่ยนบรรยากาศกัน เป็นพระเป็นเณรเราก็ได้เข้าใกล้ชิดธรรมชาติ พระเณรปกติก็อยู่ใกล้ธรรมชาติมาก ทีนี้ในกรุงเทพฯ เนี่ยธรรมชาติมันเหลือน้อย พระสมัยโบราณท่านอยู่ป่าอยู่เขากันเยอะ พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้พระเนี่ยอยู่ป่า อย่างน้อยก็เป็นระยะๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าพระทั้งหมดจะอยู่ป่านะ พระพุทธเจ้าเองก็อยู่ในเมืองมากเหมือนกัน เพราะอะไร เพราะว่าต้องไปช่วยสั่งสอน อยู่ใกล้ชาวเมือง ก็เพื่อจะได้ไปทำหน้าที่สั่งสอนประชาชน เอาธรรมะไปให้ แต่ทีนี้ว่า พระนั้นก็ควรจะอยู่สงัดวิเวก ไม่ได้ว่าให้อยู่ในที่สงบ ทีนี้อย่างน้อยในตอนที่ฝึกฝนตัวเอง ก็ควรจะหาโอกาสไปอยู่ในที่ที่สงบบ้าง พระนี่สมัยโบราณเนี่ยก็ได้มีการแบ่งกันว่า เป็นพวกที่ถนัดอยู่ป่า กับอยู่บ้าน อยู่บ้านอยู่เมือง คนอยู่ป่าก็ออกไปอยู่ไกล ไปทำ เรียกว่าไปทำกรรมฐานกัน ไปนั่งสมาธิกันมากๆ หรือบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ ทำสมถะวิปัสสนา พระอยู่เมืองก็อยู่ใกล้ชาวบ้านมาก ก็มีธุระกับชาวบ้านบ่อย ชาวบ้านไปมาหาสู่ก็มาปรึกษา เดี๋ยวมีงานมีการในวัด ชาวบ้านมาจัดงานที่วัด มีเรื่องต้องสั่งสอนประชาชน มีพิธีกรรมเยอะ ในเมืองก็ไปแบบหนึ่ง นานๆ เข้าก็เลยไปคนละแบบเลย อันที่จริงนั้นของเดิมท่านไม่ได้ให้แยกกันเด็ดขาด เรียกว่าให้รู้จักอยู่ในป่าบ้าง ไปหาความสงบ หรือบางองค์ถนัดจะอยู่ป่ามากๆ ก็แล้วแต่พอใจ ทีนี้องค์ไหนที่มีความถนัดในการสั่งสอนประชาชนก็มาอยู่ในเมืองมากๆ หน่อย พระพุทธเจ้าเองก็อยู่ในเมืองมาก บางเวลาพระองค์ไปอยู่ป่าเลยนะ บางครั้งไปจำพรรษาในป่าตลอด 3 เดือน แล้วก็ไม่ให้ใครเข้าไปเลย แล้วก็บอกพระไว้ ตั้งพระไว้ประจำต้นทาง บอกว่าเป็นผู้ที่จะนำเอาอาหารไปถวาย ระยะนั้นพระองค์ก็ปลีกตัวไม่พบกับใคร อย่างนี้ก็ทำเป็นครั้งคราว แต่ว่าโดยมากแล้วพระพุทธเจ้าจะอยู่ใกล้ชิดประชาชน จะให้เห็นว่าชีวิตคนเราต้องการความสงบสงัดบ้าง รู้จักปลีกตัว ถ้าเราเห็นชีวิตพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง อย่างน้อยถึงแม้เราจะอยู่ในเมืองมาก เราก็ควรหาโอกาสปลีกตัวหาความสงบบ้าง เราจะรู้สึกว่าจิตใจมันเปลี่ยนไป ได้พบได้เห็นอะไร ได้คิดนึกอะไรใหม่ๆ มีพระแม้แต่ไปอยู่ในป่า ตามปกติแล้วท่านก็ไม่ให้ปลีกตัวตัดขาดจากประชาชน พระอยู่ในป่า ห่างไกลยังไงก็ตามต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน ต้องออกบิณฑบาต ไปหาอาหารจากหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นพระเหล่าเนี่ยไม่เหมือนพระฤาษี ฤาษีนี่อยู่ในป่า เขาเรียกว่ากินมูลผลาหาร??? อะไร มูลผลาหาร???
เสียงตอบ : เศษอาหาร
เสียงสมเด็จ : เศษอาหาร จวนไป ยังไม่ถูก มูละ??? แปลว่าพวกรากพวกเง้า
เสียงตอบ : ผลไม้
เสียงสมเด็จ : มูละ??? ก็พวกรากพวกเง้า ผละ ก็ผลไม้ อาหาร ก็อาหาร มูลผลาหาร??? ก็แปลว่า อาหาร คือ พวกรากเง้าและผลไม้ อะไรรากเง้า กินอะไรได้ มัน ใช่ นี่แหละ ในภาษาไทยเราจะเรียกว่า พวกฤๅษีชีไพรได้กินพวกเผือกพวกมันใช่ไหม เผือกมันและผลไม้ต่างๆ ฤาษีบางพวกนี่เขาตั้งกฎของเขาเลย บอกว่า กินเฉพาะผลไม้ที่หล่นอย่างเดียว หล่นเองนะไม่ไปฟาดให้มันหล่น แล้วก็ไม่ไปเด็ดไม่ไปอะไรทั้งนั้น ต้องปล่อย รอมันหล่น จึงเก็บกิน พวกนี้เขาถือว่า ถ้าไปเด็ด ไปขว้างมันลงมา ก็เป็นการเบียดเบียนต้นไม้ นี่พวกฤาษีชีไพร แต่ว่านั่นไม่ใช่ในพระพุทธศาสนา หรือลัทธิฤาษีชีไพร ก็ปลีกตัวออกจากสังคมเด็ดขาดไม่ยุ่งไม่เกี่ยวกับใคร ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวกับประชาชน พระพุทธเจ้าไม่ให้พระทำอย่างนั้น แม้จะไปอยู่ป่าก็ต้องมาเกี่ยวข้องกับประชาชน ให้ฝากท้องกับประชาชน เพราะว่าอะไร เพราะว่าพระพุทธเจ้าต้องการให้พระทำหน้าที่ต่อประชาชน เมื่อพระอาศัยอาหารจากประชาชนแล้วก็ต้องเอาธรรมะไปเผื่อแผ่ เอาธรรมะไปสั่งสอน ตัวเองได้ประพฤติ ได้พบธรรมะอะไร ได้ปฏิบัติทางจิตใจ ได้บรรลุคุณธรรมสูงอะไรก็เอามาแนะนำสั่งสอนประชาชน ก็เลยกลายเป็นต่างคนต่างให้ พระมีหน้าที่ให้เหมือนกันนะ เรียกว่า ทาน ประชาชนมีหน้าที่ให้ทาน ให้ทาน เรียกว่าอามิสทาน แปลว่าให้สิ่งของ ถวายพวกวัตถุสิ่งของ อาหาร เครื่องเป็นอยู่ ทีนี้พระล่ะให้อะไร พระก็ให้ธรรม ใช่ไหม ฉะนั้นพระเนี่ยอาศัยชาวบ้าน โดยชาวบ้านให้อามิสทาน ส่วนชาวบ้านก็อาศัยพระ โดยพระให้ธรรมทาน ทานนี้เป็นหน้าที่ของคนในสังคมที่จะช่วยให้อยู่กันด้วยดี เพราะฉะนั้นพระเนี่ยในสมัยโบราณนี่ท่านไปอยู่ป่า ท่านต้องไปอาศัยชาวบ้านบิณฑบาตเนี่ย ทั้งๆ ที่เผือกมัน ผลไม้มีอยู่ในป่า แต่เก็บกินเองไม่ได้ พระพุทธเจ้าตั้งกฎใหม่ เพื่อไม่ให้ปลีกตัวออกจากประชาชน และต้องประพฤติตัวให้ดีด้วยนะ ไม่งั้นประชาชนไม่เลี้ยง เพราะฉะนั้นมันบังคับกันอยู่ในตัว ทีนี้เราลองคิดดูพระสมัยโบราณท่านลำบากแค่ไหน ไปอยู่ในป่าตั้งลึก อยู่ในหุบเขา อยู่ในถ้ำ แล้วหมู่บ้านบางทีห่างออกไปตั้ง 4-5 กิโลเมตร ต้องบิณฑบาตไกล เนี่ยเรามาอยู่อย่างนี้ให้นึกถึงด้วย ให้นึกถึงพระสมัยโบราณ หรือแม้แต่ปัจจุบันที่ท่านอยู่ห่างไกล ท่านไปบิณฑบาต หมู่บ้านก็เล็กๆ น้อยๆ ชาวบ้านก็ไม่ค่อยร่ำรวยอะไร หนึ่งต้องเดินไกล 4-5 กิโลเมตร สองอาหารก็น้อย เราคิดดูท่านลำบากแค่ไหน นี่เรามานี่พวกเราสบายมาก เพราะว่ามีโยม มีอุปถัมภ์หมด จัดอาหารมาเลย ไม่ต้องไปบิณฑบาต บิณฑบาตนี่ไปก็ไกลเหมือนกันกว่าจะไปเจอบ้านผู้คน แต่ว่าถ้าเราจะบิณฑบาตกันจริงก็ต้องสู้ ถ้าเกิดไม่มีอาหารขึ้นมาทำยังไง ใช่ไหม เณรเต็มสู้ไหมครับ
เสียงเณรเต็ม : สู้
เสียงสมเด็จฯ : สู้เหรอ ไหวเหรอนี่ ออกบิณฑบาตหลายกิโลเมตรเลย แล้วก็ได้นิดเดียว มีบ้านไม่กี่หลัง ผ่านมาไหมเมื่อคืน เราไม่เห็น ไม่เห็นบ้าน มีอยู่บ้างเหมือนกัน ห่างๆ ห่างๆ ตามทาง แต่น้อย เพราะฉะนั้นนี่โยมก็อุปถัมภ์เรามาก ก็เลยจัดอาหารไม่เท่าไหร่ มีครัวให้เสร็จ นี่ก็เป็นชีวิตของพระในปัจจุบันที่ญาติโยมมีความเลื่อมใส ก็เพราะว่าพระเก่าๆ ท่านทำไว้ให้ ท่านสร้างศรัทธาไว้กับประชาชน พระสมัยหลังๆ ก็เลยอาศัยบุญเก่า อย่างนี้ก็เหมือนกับเราได้กินบุญเก่า ที่ว่าคนก่อนเขาทำไว้ให้ดีแล้ว เราเลยสบาย ประชาชนศรัทธา พระก็เลยอยู่ได้สบาย นี่ถ้าพระรุ่นนี้มัวเมา ได้แต่กินบุญเก่า ต่อไปบุญเก่าก็หมด พระรุ่นต่อไปแย่ คนไม่มีศรัทธา เพราะฉะนั้นก็ต้องไม่ลืมตัว ไม่ประมาท ต้องพยายามประพฤติปฏิบัติให้ดี ช่วยเหลือประชาชน สั่งสอนให้คำแนะนำ ให้ธรรมะ ช่วยให้การศึกษาอะไรต่างๆ แล้วก็จะได้ช่วยให้พระศาสนาเจริญต่อไป พระรุ่นต่อไปก็พลอยสบายด้วย ก็สร้างบุญกันเรื่อยไป ทีนี้ที่น่ากลัวก็คือ พระสมัยนี้ จำนวนไม่น้อยที่พอมาบวชปั๊บ ก็อยู่สบาย ก็เลยมัวเมาประมาทลืมตัว แล้วก็ไม่ทำหน้าที่ ก็เรียกว่ากินบุญเก่าให้หมดไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของยุคสมัย แต่เอาเป็นความว่า พระนี่ก็ต้องอยู่อาศัยประชาชนเรื่อยไป พระพุทธเจ้าวางกฎไว้อย่างนี้ แล้วก็ให้ทำหน้าที่ต่อประชาชน ให้การศึกษา สั่งสอน อบรม ให้ธรรมะ ก็เป็นอามิสทานกับธรรมทานอย่างที่ว่า ทำหน้าที่อย่างนี้พระพุทธศาสนาก็อยู่ต่อไป พวกเรามาอยู่นี่ พวกเรานอกจากนึกถึงความเป็นอยู่ประจำวัน ก็ให้นึกถึงชีวิตของพระในสมัยโบราณที่ท่านอยู่กันตามแบบที่ว่า ห่างไกลประชาชน ต้องอาศัยประชาชนบิณฑบาตประจำวันอย่างนั้นด้วย เราก็นึกถึง วาดภาพไปสมัยเก่าๆ ในชีวิตพระแบบนั้น นี่พระนี่ อาตมาถามเป็นความรู้รอบตัวหน่อยว่า มีคำเรียกชื่อพระเนี่ยกี่อย่าง พระเนี่ยเรียกธรรมดาละ แล้วก็พระสงฆ์นี่ก็เคยอธิบายแล้วว่าที่จริงนั้น เดิมหมายถึงว่าเป็นหมู่ เป็นกลุ่มตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ทีนี้เรียกพระนี่มีศัพท์อะไรบ้าง
เสียงตอบ : สมณโคดม
เสียงสมเด็จฯ : อันนั้นเรียกพระพุทธเจ้า สมณโคดมองค์เดียว พระพุทธเจ้าองค์เดียว เพราะเป็นโคตรของพระพุทธเจ้า วงศ์ของพระพุทธเจ้า โคตมโคดม พระเนี่ยอย่างพระเดินมาองค์หนึ่งเราเรียกว่าอะไร
เสียงตอบ : ภิกษุ
เสียงสมเด็จ : หนึ่งละ ภิกษุได้ละ เณรต้นตอบ
เสียงตอบ : สมณะ
เสียงสมเด็จฯ : สมณะ เณรอนุรักษ์ สองละ ต่อไป ใครได้อะไรอีกบ้าง สงฆ์นี่เอาแล้ว บอกแล้ว อธิบายแล้วนะ สงฆ์อันที่จริงใช้เรียกเป็นหมู่ใช่ไหม ถ้าให้ถูกต้อง แต่ภาษาไทยเรายอมรับกันว่าพระสงฆ์ก็เรียกได้ ทีนี้ชื่อที่เป็นศัพท์ของเดิม มีภิกษุ สมณะ อะไรอีก ลองดูสิ ใครนึกอะไรออกอีกบ้าง ภิกษุนี่คู่กับสามเณร เคยได้ยินใช่ไหม ภิกษุสามเณร ทีนี้สมณะก็เป็นศัพท์ตัวเดียว แต่ที่จริงสมณะนี่แหละเป็นที่มาของสามเณร คำว่าสมณะกับสามเณรใกล้กันไหม ฟังดู ใกล้ ตามไวยากรณ์ภาษาบาลี สามเณร มาจากคำว่า สมณะ สามเณร แปลว่าเหล่ากอแห่งสมณะ คือหมายความเป็นผู้ที่อยู่ในเชื้อสายของสมณะ ผู้เป็นเชื้อสายของสมณะ เรียกสามเณร ก็คือพูดง่ายๆ ก็สมณะน้อยๆ เอ้าได้สองแล้ว ภิกษุกับสมณะ ใครหาได้อีก จะใบ้ให้อีกหน่อย เวลาเราบวชเรียกว่าอะไร บวชเณรนี่เรียกว่าอะไร
เสียงตอบ : บรรพชา
เสียงสมเด็จฯ : บรรพชา ถ้าเป็นคนเรียกว่าอะไร
เสียงตอบ : นาค
เสียงสมเด็จฯ : นาค ผู้เตรียมจะบวช ยังไม่ได้บวช บวชแล้ว บรรพชา จะเป็นอะไร
เสียงตอบ : บรรพชิต
เสียงสมเด็จฯ : ได้เลยเห็นไหม บรรพชิต ก็คือผู้ที่บรรพชาแล้วนั่นเอง นี่จำไว้จับคู่ บรรพชาปกติในภาษาบาลี เป็น Noun แต่ในภาษาไทยใช้เป็นกิริยาด้วย ใช้เป็นทั้ง Noun ทั้ง Verb ทีนี้พอเป็นคนผู้บวชแล้วเรียกว่าบรรพชิต เณรเต็มเคยได้ยินไหมครับ เคย เมื่อกี้นึกไม่ออกเอง ได้ 3 ศัพท์แล้ว สมณะ ภิกษุ บรรพชิต เอ้าใครเอาอีกสักศัพท์ดี
เสียงตอบ : ???
เสียงสมเด็จ : ที่ใช้ค่อนข้างมากหน่อยที่จริงยังมีอีก แต่เอาแค่ 4 ก็พอแล้ว เหลือแหล่ละ เอาอีกอัน อันนี้ยากหน่อย ไม่ค่อยใช้กับพระทั่วๆ ไป ต้องเป็นพระที่เรียกว่ามีคุณธรรมสูง เป็นที่นับถือ ยากหน่อย อันนี้บอกให้เอาไหม มุนี เคยได้ยินไหม มุนีเนี่ย มอสระอุ นอหนูสระอี มุนี
เสียงเณร : ???
เสียงสมเด็จ : นั่นเอาไว้ต่อท้าย แสดงความเป็นพระนั่นเอง จะเป็นเทพมุนี ราชวรมุนี ธรรมธีรราชมหามุนี ลงท้ายมุนีๆ เป็นคำเรียกพระเหมือนกัน เคยได้ยินนะครับ เณรเต็มเคยได้ยินป่าว เณรเต็มได้ยินแน่ เณรวุฒิได้ยินป่าว มุนีก็ใช้เรียกพระเหมือนกัน แต่โดยมากใช้เรียกพระที่ทรงคุณธรรม หรือว่าเป็นผู้ที่ได้เล่าเรียน มีปัญญามาก มุนีนี่เป็นศัพท์ที่เลียนมาจากฤาษีดาบสสมัยก่อน พวกนักบวชสมัยก่อนเขามีเรียกมุนี มุนีของเขาแปลว่าผู้นิ่ง บางทีก็นั่งนิ่งไม่พูดไม่จากับใคร ถือว่าองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ ทีนี้พระพุทธเจ้าต้องเอาศัพท์ของเขามาใช้ และพระองค์บอกว่าความเป็นมุนีไม่ได้อยู่ที่ความเป็นผู้นิ่งหรอก อยู่ที่ความมีสติปัญญา รู้เข้าใจความจริง ทีนี้คนที่รู้เข้าใจความจริงนั้นตามปกติก็จะไม่เที่ยวพูดโป้งป้างโป้งป้าง ตามปกติเป็นคนที่ค่อนข้างนิ่ง พูดในเมื่อควรจะพูด เขาเรียกว่าเหมือนกับตุ่มน้ำที่เต็ม ปี๊บน้ำ ไอ้ที่ใส่น้ำที่เต็มมันจะไม่ค่อยดัง ใช่ไหม ตีลงไปมันก็ไม่ค่อยดัง แต่ไอ้ที่มันไม่มีน้ำ ลองเอาปี๊บมาสิ ลองใส่น้ำดู เต็มแล้วก็ตี ปุ๊ๆ เราเอาน้ำออกให้หมดแล้วตี เป็นไง ตี ดังเอ็ดหมดเลย ท่านก็เปรียบบอกว่า คนที่ไม่มีเนื้อในเนี่ย ดังมาก ชอบอวดคุยโม้ ว่าอย่างนั้นนะ แต่ว่าคนที่มีเนื้อแน่น เขาจะไม่ค่อยดัง เช่นนี้เป็นต้น อันนี้เป็นสุภาษิต แต่อันนี้ก็หมายความว่ามุนีคือผู้นิ่ง นิ่งด้วยสติปัญญา ไม่ใช่เป็นผู้ที่นิ่งเพราะว่าไม่รู้เรื่อง บางทีไม่ใช่นิ่งเพราะเก่ง จริงๆ นิ่งไม่รู้เรื่องก็มี บางทีก็ทำขรึม นิ่งไปอย่างนั้นเอง ไม่ได้เรื่องอะไรเลย อย่างนี้ตกลงก็มีมุนี ภิกษุ ภิกษุนี่แปลว่าอะไร ก็แปลว่าพระนี่แหละ แต่ทีนี้ความหมายของศัพท์ ความหมายนั้นแปลได้หลายขั้นเลย ถ้าตามภาษาชาวบ้าน ภิกษุแปลว่าผู้ขอ ภิกขาจารย์ เคยได้ยินไหม ไม่เคยเหรอ เณรวุฒิไม่เคยเหรอ ภิกขาจารย์ อ๋อ ยังไม่เคยอ่านเวสสันดร ตาพราหมณ์เฒ่าชูชก แกเที่ยวภิกขาจารย์ แปลว่าอะไรเอ๋ย เดาสิ ตาพราหมณ์ชูชก แกเที่ยวภิกขาจารย์
เสียงเณร : ขอ
เสียงสมเด็จ : ขอ ภิกขาจารย์ แปลว่า เที่ยวขอ ภิกขา ก็ขอไปขอมา ภิกขุก็เป็นผู้ภิกขาไง ศัพท์ก็ใกล้ๆ กัน ภิกษุนี่แปลง่ายๆ คือผู้ขอ แต่แปลลึกซึ้งเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เข้าใจใช่ไหม วัฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด แล้ว สมณะล่ะ แปลว่าอะไร
เสียงตอบ : ผู้ถือศีล
เสียงสมเด็จ : ไม่ใช่ สมณะอะไรเอ่ย สมณะ เฉลยให้เลย เดี๋ยวเวลาจะผ่านไปเยอะ สมณะแปลว่าผู้สงบ ในความหมายที่เต็มที่ก็หมายถึง สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่โดยปกติทั่วไป ก็คือผู้มีกิริยาอาการสงบ ไม่เบียดเบียนใครนั่นเอง สมณะนี่ก็เป็นผู้ที่ไม่มีภัยต่อใคร ปลอดภัย ไปที่ไหน พอคนเห็นพระเดินไปในป่า ในป่านี่มันน่ากลัว ในแง่หนึ่งมันก็เป็นธรรมชาติ ก็น่าสงบ สบาย แต่ในอีกแง่หนึ่งก็น่ากลัวนะ ไม่รู้โจรผู้ร้ายที่ไหนจะมาซ่อนตัวอยู่ เพราะฉะนั้นป่านี่มีทั้งความน่ากลัว และมีทั้งความสงบ น่า??? ทั้ง 2 อย่าง แต่ถ้าคนชาวบ้านเดินป่าไปเจอพระปั๊บ โอ้โห ใจโล่ง นี่สมัยก่อนจะเป็นแบบนั้น พอเห็นพระใจสบาย นี่เราไม่มีภัยอันตรายแล้ว นั่งลงยกมือท่วมหัวสาธุ ทำไมชาวบ้านเขาถึงยกมือไหว้พระอย่างนั้น ก็เพราะเขาเห็นว่าพระให้ความร่มเย็นเป็นสุข พอเห็นพระที่ไหนแล้วปลอดภัย อย่างเขาเดินไปในป่า ไปถึงที่อยู่ที่มีพระอยู่ เป็นถ้ำเป็นวัดเป็นอะไรต่างๆ ก็ตามเขาก็สบายใจ มันปลอดภัยไม่มีโจรขโมย เดินไปในป่า ไม่รู้ใครมันจะมาปล้นเมื่อไหร่ มันจะมาดักทำร้ายเมื่อใด เพราะฉะนั้นนี่แหละคุณค่าของพระแต่โบราณมา เพราะฉะนั้นพระก็ต้องรักษาคุณภาพอันนี้ไว้ได้ คือว่า ต้องเป็นผู้สงบ ปลอดภัย เห็นพระแล้วสบายใจ ร่มเย็น อุ่นใจ นี่สมณะ แล้วก็พระพุทธเจ้าบอกว่า ผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ แล้วก็บรรพชิตเนี่ยแปลว่าอะไร ก็แปลว่าผู้บรรพชาแล้ว แล้วบรรพชาแปลว่าอะไร วันที่บวชอธิบายให้เณรฟังแล้ว ใครจำได้ไหม บรรพชิต แปลว่าผู้บรรพชาแล้ว บรรพชาแปลว่าอะไรครับ แปลให้แล้ว แปลว่าเว้นใช่ไหม เว้นจากบาป เว้นจากการเบียดเบียน แล้วก็เว้นโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าเป็นไปได้ นี่ก็เป็นศัพท์ต่างๆ เรียกชื่อพระ ให้เรารู้กันไว้ ชีวิตพระแต่โบราณก็เป็นอย่างที่ว่ามา เรามาอยู่ในนี้ก็บรรยากาศคล้ายๆ ว่า บรรยากาศใกล้ๆ ความเป็นอยู่ของพระสมัยโบราณมากขึ้น ก็มาอยู่นี่เราก็ทำใจของเราให้สงบ แล้วก็ตั้งอยู่ในระเบียบอย่างที่ว่า หนึ่งก็ทำตนเป็นกัลยาณมิตรแก่กัน สงเคราะห์กันเท่าที่ทำได้ ตั้งจิตในแง่ช่วยเหลือผู้อื่น อันนี้เป็นจิตที่ดี คือว่าเราเนี่ยอยู่กันไป แต่ละคน ปกติเนี่ย เกิดมาเราก็ต้องการให้คนอื่นทำให้แก่เรา เราอยากจะได้อะไรต่างๆ แต่ว่าเราฝึกตนนี่คือเรามุ่งฝึกทำให้ผู้อื่น ตั้งใจในแง่จะช่วยเหลือผู้อื่น จะทำอะไรให้เขาได้ ทำให้เขาเป็นสุข และสามารถมีความสุขกับการทำให้ผู้อื่นมีความสุข คนที่มีจิตใจกว้างใหญ่ต่อไปก็จะเป็นอย่างนี้มากขึ้น คือถ้าตอนแรกเรามีความสุขจากการได้จากผู้อื่น ต่อมาเราพยายามทำให้ตนเองเป็นสุขจากการทำให้คนอื่นมีความสุข ยิ่งการเห็นคนอื่นมีความสุข เราก็มีความสุขด้วย ก็เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน สองก็มีวินัย สามก็สามัคคีพร้อมใจ พร้อมเพรียงกัน เราก็มาอยู่นี่แล้ว มาใช้ชีวิตที่ห่างจากคนอื่นมากขึ้น มาอยู่เฉพาะ ญาติโยมก็มาถึงน้อยลง ก็เอาแล้ววันนี้ก็เป็นวันเริ่มต้น อากาศก็ดี ต้อนรับเราด้วย สบาย มาเมื่อคืนก็ลมเย็น เมื่อเช้านี่ฝนตกอีกด้วย เย็นกันใหญ่ ก็ขอให้เณรใจร่มเย็นสบาย แล้วก็ใจร่มเย็นแล้วก็ขอให้แผ่เมตตาจิต แผ่บุญให้โยมด้วยนะ โดยเฉพาะโยมพ่อแม่ที่ปรารถนาดี นี่โยมพ่อแม่ยังเป็นห่วงเณรอยู่ที่บ้าน เออเณรเป็นไงบ้างมาที่นี่ สบายดีหรือเปล่าใช่ไหม โยมพ่อโยมแม่เณรเต็มได้มาเองก็ไม่เป็นไร ได้เห็นแล้ว แต่โยมของเณรภัทรวุฒิ กับเณรอนุรักษ์นี่ไม่ได้มาด้วย ก็ต้องนึกแล้วเอ ตอนนี้เณรลูกเราไปอยู่ที่ภูเขาเป็นไง สบายดีหรือ เพราะฉะนั้นให้นึกถึงโยมแล้วก็ขอให้โยมเป็นสุข ตั้งใจให้ดี แล้วเราก็พยายามประพฤติปฏิบัติให้เป็นบุญเป็นกุศลกับโยมด้วย เอาล่ะขออนุโมทนา วันนี้ก็ขอเอาเท่านี้แหละ เณรจะได้เตรียมตัวพักผ่อน ขออนุโมทนา เณรกราบพร้อมกัน