แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ก็จะขอพูดต่อในเรื่องพุทธคุณ วันนี้ก็เป็นข้อที่ 6 คือข้อ อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ ซึ่งแปลว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ฝึกคนที่ฝึกได้ซึ่งไม่มีใครยิ่งกว่า ปุริสทมฺมสารถิ ก็แปล ผู้ฝึกคนที่ ฝึกได้ มาจากคำว่า ปุริสทมฺม กับ สารถิ
สารถินั้น ปกติก็แปลกันว่า สารถี แต่ในที่นี้มีความหมายเป็นผู้ฝึก เหมือนอย่างสารถีที่ใช้ในสมัยก่อนนั้น เขาฝึกช้าง ฝึกม้า ทำม้าทำช้างให้วิ่งไปแล่นไป ให้เดินทางไปตามที่ต้องการ เดี๋ยวนี้เรามาใช้สารถีก็ขับรถทั่วไป ก็เลยมองไม่ออกว่าเป็นการฝึก ความหมายเดิมก็มีความหมายว่าเป็นผู้ฝึกด้วย ฝึกช้างฝึกม้าให้ทำงานได้
ส่วน ปุริสทมฺม ก็แปลว่า คนที่ฝึกได้ หรือคนที่ควรฝึก
อนุตฺตโร แปลว่า ไม่มีใครยิ่งกว่า ก็คือยอดเยี่ยม พุทธคุณข้อนี้ก็มีความหมายว่า พระพุทธเจ้านั้นทรงเป็น นักฝึกคนที่ยอดเยี่ยม ไม่มีใครจะฝึกได้ดีกว่า
พุทธคุณข้อนี้มีความหมายถึงหลักการอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา ที่ถือว่ามนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และถือการฝึกเป็นเรื่องสำคัญมาก การฝึกฝนอบรมนั้นก็เป็นหลักธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสบ่อยๆ มีคำศัพท์หลาย คำที่ใช้สำหรับมีความหมายว่าการฝึก เช่นคำว่า ทม (ทะมะ) ที่มีในที่นี้ในคำว่า ปุริสทมฺม หรือคำว่า สิกฺขา ที่แปลว่า การศึกษา ก็แปลว่าการฝึกฝนอบรม หรือภาวนาก็แปลว่าการฝึกอบรม เช่น ฝึกอบรมจิตใจ ฝึกอบรม ปัญญา เป็นต้น
พระพุทธศาสนาก็เน้นเรื่องการฝึกนี้ ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ก็หมายความว่า มนุษย์นั้นก็มีความ สามารถซ่อนอยู่ในตัว เมื่อฝึกแล้วก็จะเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่ถ้าไม่ฝึกแล้วก็จะอยู่ในอำนาจของธรรมชาติฝ่ายต่ำ เป็นผู้ที่เต็มไปด้วยบาปอกุศลได้เช่นเดียวกัน ทีนี้จะทำให้ดีแค่ไหนเพียงไรก็อยู่ที่การฝึก และก็ถือว่าการฝึกนี้ จะ ทำให้ผู้ที่ได้รับการฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐอย่างยิ่ง อย่างที่ท่านตรัสว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์ นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนานั้นกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาแห่งการฝึก ฝึกภายนอก คนเรานั้นก็ฝึกสัตว์ ฝึก ให้เป็นไปต่างๆ เอามาใช้งานก็ได้ เอามาเล่นละครก็ได้ ทีนี้คนก็เหมือนกัน ถ้าจะให้ทำอะไรได้ดีก็ต้องฝึก เราฝึกทำ การทำงาน ฝึกทางร่างกายด้านภายนอกจนกระทั่งถึงฝึกทางจิตใจ ฝึกให้ดีจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระอรหันต์ จนกระทั่งว่าพระพุทธเจ้าที่เป็นพระพุทธเจ้าได้ก็ด้วยการฝึก สำหรับผู้ที่ฉลาดเป็นบัณฑิตนั้น ก็ไม่ ต้องรอให้คนอื่นมาฝึกให้ ก็รู้จักคิดรู้จักพิจารณาปรับปรุงตัวเอง ก็เป็นผู้ฝึกตน มีพุทธภาษิตบทหนึ่งที่บอกว่า อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา แปลว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน ก็หมายความว่าคนที่ฉลาดมีปัญญาแล้ว ไม่ต้องรอ ใครให้เขามาแนะนำฝึกฝนหรอก ตัวเองก็รู้จักสังเกต รู้จักสำเหนียกพิจารณา แล้วก็นำเอาสิ่งที่ได้พบได้เห็นนั้น มา ใช้ประโยชน์ในการฝึกฝนปรับปรุงตนให้ดียิ่งขึ้นไปโดยลำดับ
ก็รวมความว่าหลักการพุทธศาสนา ให้ถือว่าจะต้องมีการฝึกฝนอบรมโดยเฉพาะฝึกตน ครั้นเมื่อฝึกตนได้ดี แล้วก็เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ
นี้พระพุทธคุณก็บอกว่าในการที่จะฝึกนั้น พระพุทธเจ้าน่ะ เป็นผู้ที่ฝึกได้ดีเยี่ยม พระพุทธเจ้านั้นทรงฝึก พระองค์เองจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า นี้คนทั่วไปนั้นก่อนที่จะฝึกตัวเองได้มักจะต้องอาศัยมีผู้มาแนะนำ มีคนที่มา เป็นมิตรที่ดีให้อย่างที่เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตรมาช่วยแนะนำให้เริ่มฝึกตน พระพุทธเจ้าทรงทำหน้าที่ในการช่วยผู้อื่น ให้ฝึกตนให้ได้อย่างดีเยี่ยม จึงได้พระนามว่า เป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า หรือเป็นนักฝึกคนที่ยอด เยี่ยม
นี้ความเป็นนักฝึกที่ยอดเยี่ยมของพระองค์นั้น เราพิจารณาได้หลายแง่ แง่ที่ 1. ก็คือว่า พระองค์ฝึก พระองค์ก่อนแล้วจึงฝึกผู้อื่น คือในการฝึกนั้น บางทีเราสั่งสอนแนะนำคนอื่น แต่ว่าบางทีตัวเราเองทำไม่ได้ใน เรื่อง นั้นๆ ก็มี คนจำนวนไม่น้อยก็สอนแนะนำผู้อื่นในสิ่งที่ตัวเองก็ทำไม่ได้ ก็ได้แต่ว่าฟังต่อๆ เขามา จำเขามา แล้วก็ มา บอกมาสอนให้ แต่พระพุทธเจ้านั้นทรงมีคุณสมบัติยอดเยี่ยมที่ว่า ทรงฝึกพระองค์ก่อนแล้วจึงมาฝึกผู้อื่น อย่างที่มี พุทธพจน์แห่งหนึ่งมีคำสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้านั้นทรงพุทโธ เป็นผู้ตื่นเอง หรือว่าตรัสรู้เองแล้ว แล้ว จึงมาสอนธรรมะเพื่อให้ผู้อื่นตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฝึกพระองค์แล้ว จึงสอนธรรมะเพื่อให้ผู้อื่นได้ฝึกตนเพื่อตรัสรู้ ตาม พระพุทธเจ้าเป็นผู้สงบแล้ว จึงสั่งสอนธรรมเพื่อให้ผู้อื่นได้รับความสงบบ้าง พระพุทธเจ้าทรงข้ามพ้นความทุกข์ แล้ว จึงสั่งสอนธรรมะเพื่อให้ผู้อื่นได้ข้ามพ้นความทุกข์บ้าง ตลอดจนกระทั่งว่าพระองค์ปรินิพพานเองแล้ว จึงสอน ผู้อื่นเพื่อให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุปรินิพพานได้เช่นเดียวกัน นี้เป็นคุณสมบัติพิเศษ
แม้คนทั่วไปก็พึงพยายามที่จะดำเนินตามพุทธปฏิปทานี้ คือพยายามที่จะฝึกตนเองก่อน จะสอนอะไรแก่ ผู้อื่นก็พยายามทำให้ได้ด้วยตนเอง ก็มีคาถาในพุทธศาสนาเป็นภาษิตสั่งสอนแนะนำตักเตือนกันอยู่บ่อยๆ ว่า ผู้ที่จะ สอนผู้อื่นนั้น ตัวเองควรตั้งอยู่ในคุณธรรมนั้นเสียก่อน เมื่อสอนผู้อื่นโดยที่ตัวเองได้ปฏิบัติเช่นนั้นแล้ว ก็จะเป็นผู้ไม่ เศร้าหมอง
คือถ้าหากว่าตนเองยังไม่บรรลุคุณสมบัตินั้น หรือยังไม่มีคุณสมบัตินั้นโดยสมบูรณ์ ก็สอนเขาอย่างไร ตนเอง ก็ปฏิบัติอย่างนั้นหรือฝึกตนอย่างนั้นด้วย อย่างนี้ก็ยังดี อันนี้เป็นคุณสมบัติแง่ที่ 1 ที่ว่าเป็นนักฝึกที่ยอดเยี่ยม คือว่า พระองค์ฝึกพระองค์เองเรียบร้อยบริบูรณ์แล้ว จึงฝึกผู้อื่น
มาแง่ที่ 2 พระพุทธเจ้าเป็นนักฝึกที่มีความสามารถมาก คือฝึกคนโดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้อำนาจ คนที่ฝึกคนอื่นจำนวนมากนั้นจะต้องใช้อาชญาการเฆี่ยนตี เช่นว่าคนที่ฝึกสัตว์ เราก็อาจจะต้องใช้ไม้ตีบ้าง หรือว่า ลงแรงทำโทษอะไรต่างๆ ตลอดจนกระทั่งครูอาจารย์ บางทีถ้าจะสอนให้ได้ผลดี บางท่านก็จำเป็นต้องใช้ไม้เรียว บ้าง หรือในสมัยนี้ก็พยายามไม่ให้ใช้ แต่ว่าบางทีก็สอนได้ผลดีบ้าง ไม่ได้ผลดีบ้าง ตลอดไปจนกระทั่งถึงผู้ปกครอง ก็ต้องลงโทษ มีกฎหมาย มีการไต่สวนคดี มีการจำคุก ปรับอะไรต่าง ๆ อันนี้ก็เป็นการที่ใช้อำนาจ
แต่พระพุทธเจ้านั้นทรงมีความสามารถพิเศษที่ว่าฝึกคนได้โดยไม่ต้องใช้อำนาจ ใช้วิธีการที่ทรงสั่งสอน ใช้ อุบายและวิธีที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ ก็ทำให้เขากลายเป็นคนดีหรือว่าเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปได้ อันนี้ก็เป็น คุณสมบัติพิเศษของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทรงฝึกคนได้โดยไม่ต้องใช้อาชญา หรือไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ ก็เป็น คุณสมบัติที่พระองค์ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากคนที่ได้มองเห็นพระพุทธปฏิปทา
ประการที่ 3 พระพุทธเจ้าฝึกคนนั้น ฝึกเพื่อประโยชน์แก่เขาเอง ไม่ใช่ฝึกเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ ตาม ปกติอย่างที่คนเรามักฝึกสัตว์เลี้ยง เราก็ฝึกไว้เพื่อเอาไว้ใช้งาน หมายความว่าเราฝึกเพื่อจะใช้ประโยชน์ของเราเอง ตลอดจนกระทั่งแม้แต่ว่าในกิจการทั่วไป บางทีเราก็ฝึกคนไว้ใช้งานของเราในลักษณะต่างๆ ที่จะไม่ให้เป็น ประโยชน์ตัวแท้จริงก็อย่างครูอาจารย์ ครูอาจารย์นั้นถ้าสอนตามหลักอุดมคติแท้ๆ ก็ต้องดำเนินพุทธปฏิปทา คือ ว่าสอนฝึกเขาก็เพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ฝึก พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของบุคคล ที่ทำเช่นนี้ คือฝึกเขาเพื่อประโยชน์แก่ตัวเขาเอง ให้เขามีความเจริญก้าวหน้างอกงาม ให้เขาบรรลุธรรมอันประเสริฐ โดยที่พระองค์ไม่มุ่งหวังผลอะไรเป็นการตอบแทน และก็ผลที่ให้เขานี้ก็เกิดจากการที่ทรงพระกรุณา เพราะฉะนั้น คุณธรรมสำคัญที่จะทำให้สำเร็จคุณสมบัติข้อนี้ก็คือความมีมหากรุณา มีความคิดปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้น จากความทุกข์ อันนี้เป็นแง่ที่ 3
ต่อไปแง่ที่ 4 ก็คือพระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการอันเหมาะสมที่จะให้ได้ผลแก่บุคคลนั้นๆ อันการสอนที่จะให้ได้ ผลนี้ก็ขึ้นต่อวิธีการ อย่างที่กล่าวมาในเบื้องต้นแล้วว่า พระพุทธเจ้านั้นมีความสามารถพิเศษ พระองค์ทรงสอน บุคคลผู้หนึ่งก็ใช้วิธีการอันหนึ่งที่เหมาะสมกับเขา บางทีก็ใช้วิธีการที่เรียกว่ารุนแรง แต่วิธีรุนแรงก็คือการชี้โทษของ ความชั่วร้ายหรือการกระทำที่ไม่ดีไม่งาม หรือกรรมอันเป็นบาปว่า การกระทำนี้ไม่ดีอย่างนั้นๆ มีโทษอย่างนั้น ทำ แล้วเกิดความเสียหายแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในทางตรงข้าม สอนในสิ่งที่นุ่มนวลดีงามก็มี แนะนำว่าการกระทำนี้ดี มีคุณอย่างนั้นๆ ทำแล้วเกิดประโยชน์แก่ตนเองอย่างนี้ เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างนั้น หรือว่าไปสอนบุคคลที่เขามีมานะทิฏฐิมาก เขาถือว่าตนเองมีความสามารถ อย่างที่ทรงไปสอนชฎิล 1000 องค์นั้น
มีอุุรุเวลากัสสปะเป็นต้น เขาก็ถือว่าเขาเป็นผู้มีฤทธิ์ พระพุทธเจ้าก็ต้องทรงใช้วิธีเอาฤทธิ์เข้าไปปราบ ให้เขาเห็นว่า พระองค์นั้นสามารถแสดงฤทธิ์ได้เหนือกว่าเขา เขาก็ยอม แล้วก็ยอมรับฟังธรรม หรือว่าไปพบองคุลีมาล พระองค์ก็ ใช้วิธีการที่จัดทำที่ทำให้เขาได้เกิดความสำนึกอะไรเป็นต้น คือหาวิธีการที่จะสอนให้ได้เหมาะสมกับบุคคลนั้น ทำให้ เกิดผลสำเร็จขึ้นมา
ตอนนี้เป็นคุณสมบัติพิเศษเข้ากับเรื่องที่อาตมภาพได้กล่าวมาในพุทธคุณบทก่อนๆ ที่ว่า พระพุทธเจ้ามี พระญาณพิเศษอย่างที่เรียกว่า นานาธิมุตติกญาณ ทรงหยั่งรู้แนวโน้มความสนใจ อัธยาศัยของบุคคลนั้นๆ ว่าพอใจ ในลักษณะใด หรือถนัดในเรื่องใด ก็ทรงสอนให้เหมาะแก่พื้นเพจิตใจของเขา หรือว่าทรงทราบว่าเขามีอินทรีย์อ่อน หย่อนหรือแก่กล้าในเรื่องใด ก็สอนให้เหมาะกับอินทรีย์ของเขานั้น พระองค์จึงสามารถสอนได้จนประสบความ สำเร็จด้วยดี
อันนี้ก็เป็นลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้พระองค์เป็นผู้ฝึกที่ยอดเยี่ยม และประการสุดท้ายก็คือว่า พระองค์ ฝึกให้เขาได้บรรลุประโยชน์ที่ยอดเยี่ยมสูงสุด
ประโยชน์ที่สูงสุดนั้น คือประโยชน์นั้นมีหลายระดับด้วยกัน ประโยชน์เบื้องต้นเราเรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ที่มองเห็นๆ กัน ประโยชน์ในทางวัตถุ ในทางรูปธรรม เช่น การมีทรัพย์สินเงินทอง มีญาติมิตรบริวาร มีเกียรติยศชื่อเสียง เป็นต้น อันนี้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั่วไป แต่ว่าประโยชน์เพียง เท่านี้ก็ไม่พอ จะต้องมีประโยชน์ทางจิตใจด้วย เช่นมีคุณธรรมความดี มีความประพฤติดีงาม มีจิตใจที่เสียสละเอื้อ เฟื้อเผื่อแผ่ มีความสุจริต เป็นต้น อันนี้ก็เป็นประโยชน์ขั้นที่ 2
ถ้ามีประโยชน์ขั้นที่ 1 คือทางวัตถุและทางรูปธรรมพร้อมและมีอย่างที่ 2 ด้วย ก็เป็นบุคคลที่นับว่ามีความ สมบูรณ์อยู่ในโลกนี้ด้วยดีเป็นที่น่านับถือยกย่อง แต่ว่าถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็ยังไม่พ้นจากกิเลสและความทุกข์โดยสิ้น เชิง พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนประโยชน์ขั้นสูงสุดที่เรียกว่า ปรมัตถ์ ขึ้นไปอีก ก็คือให้ทำจิตใจของตนเองนี้ ให้ปลอด โปร่งผ่องใสด้วยปัญญาที่รู้แจ้งเท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้เท่าทันโลกและชีวิต ทำจิตใจให้เป็นอิสระ หลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลสและความทุกข์ได้ อันนี้เรียกว่าประโยชน์ที่เป็นปรมัตถ์ คือประโยชน์ที่สูงสุด
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนคนนั้น ก็ให้เขาได้รับประโยชน์ทั้ง 3 ขั้นนี้ คนที่ยังอยู่ขั้นเบื้องต้น พระองค์ก็แนะ นำให้เขารู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพ มีความขยันหมั่นเพียรก็จะได้ประสบประโยชน์ข้างต้นที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ ทีนี้ถ้าหากว่าเขาดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือว่าจะเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปในธรรม พระองค์ก็สอนให้เขามีสุจริต กาย วาจา ใจ ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้มีจาคะ ให้ทำทานอะไร เป็นต้น ให้ประพฤติศีลตลอดจนกระทั่งเริ่ม บำเพ็ญภาวนา และในที่สุดก็ทรงสอนให้เจริญกรรมฐาน ทั้งสมถวิปัสสนาที่เป็นตัวแท้ของภาวนานั้น เพื่อให้ประสบ ประโยชน์สูงสุดเพื่อความหลุดพ้นดังที่กล่าวมาแล้ว
เป็นอันว่าคำสอนของพระองค์นั้นมีทุกระดับ แต่ในที่สุดแล้วจะถึงประโยชน์ขั้นสุดท้ายที่เรียกว่า ปรมัตถ์ ทำให้ผู้นั้นถึงวิมุติความหลุดพ้นและประสบนิพพานได้ ประโยชน์ที่พระองค์ทรงสอนให้เขาได้รับนั้น ก็เป็นประโยชน์ ขั้นสูงสุด เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นความหมายแง่หนึ่งของการที่พระองค์เป็นนักฝึกที่ยอดเยี่ยม
อันนี้อาตมภาพก็ได้แสดงความหมายของพุทธคุณข้อ อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ มาเป็นเวลาพอสมควร ก็ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังที่กล่าวมา
การแสดงพุทธคุณนี้ก็มีความมุ่งหมายอย่างหนึ่งที่ว่า นำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา หรือในการที่ว่า เรา จะได้ปฏิบัติดำเนินตามพุทธปฏิปทาด้วย เพราะว่าบุคคลเมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นก็จะต้องมีหน้าที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ ผู้อื่น อาจจะต้องแนะนำสั่งสอนเพื่อฝึกอบรมผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในความดีความงาม ถ้าเราได้สามารถนำเอาหลัก อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ นี้มาใช้ ก็จะทำให้การฝึกอบรมนั้นได้ผลดี ตนเองก็มีความสุขสบายใจ ในการที่ฝึกอบรม ผู้อื่นว่าจะได้ผลไม่ได้ผลแค่ไหน ตัวเองก็มีความสุข มีจิตใจปลอดโปร่งไม่ถูกบีบคั้น และก็ปฏิบัติในการอบรมผู้อื่น ก็ได้ผลดีแก่ผู้ที่เราไปฝึกด้วย อันนี้ก็คิดว่าจะเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติพอสมควร
อาตมภาพก็ขออนุโมทนาโยมสำหรับวันนี้เพียงเท่านี้ ขอเจริญพร