แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพรธรรมกถาในรายการเล่าเรื่องให้โยมฟัง เมื่อวานนี้เล่างานพุทธธรรมที่ทำต่อ แต่ทีนี้พอมาถึงวันนี้ก็ไม่สามารถทำงานพุทธธรรม เพราะมีงานอื่นแทรกเข้ามา เพราะฉะนั้นก็เอางานที่แทรกเข้ามานี่มาเล่าให้โยมฟัง งานที่แทรกเข้ามาตอนนี้ก็คือ กำลังตรวจแก้บทลอกเข้ม ปาฐกถาที่คณะคุรุศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ศีลธรรมและจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ เมื่อวันสถาปนาคณะคุรุศาสตร์ ในเรื่องนี้อาตมาภาพได้พูดถึงเรื่องกับธรรมะต่าง ๆ ซึ่งมีความหมายเคลื่อนคลาดไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติทางศีลธรรมของคนไทยนั้นจะต้องมีการคลาดเคลื่อนขึ้นแน่นอน เพราะความหมายของศัพท์ที่คลาดเคลื่อนนี้ เป็นเครื่องฟ้องอยู่ในตัวแล้ว และก็ได้ยกตัวอย่างหลายศัพท์ ในบรรดาศัพท์เหล่านั้น ก็มีคำหนึ่งที่ คือ คำว่า ทรมาน วันนี้อาตมาภาพก็นึกว่า เอาคำว่า ทรมาน นี่มาเล่าให้โยมฟัง
ทรมานนั้นในภาษาไทยเราปัจจุบันนี้ อาตมาภาพว่าไม่มีใคร เกือบจะไม่มีใครเลยที่เข้าใจตรงตามความหมายเดิม คือ เราเข้าใจกันในปัจจุบันว่า ทรมาน หมายถึงการทำให้ลำบาก มิฉะนั้น ก็เป็นการได้รับความทุกข์อย่างมาก ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน บอกว่าหมายถึงทำให้ลำบาก หรือว่าทำทารุณ แต่ว่าคำว่า ทรมาน นี้ ถ้าเราไปดูหนังสือเก่า ๆ เราจะพบเรื่องในพุทธประวัติ เช่น พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรมานก็ดี พระโมคคัลลานะไปทรมานเศรษฐีท่านหนึ่ง พระพุทธเจ้าไปทรมานอาฬวกยักษ์อย่างนี้เป็นต้น ถ้าโยมฟังด้วยความเข้าใจตามความหมายสมัยใหม่ ก็ต้องนึกว่าพระพุทธเจ้านี่ จะทำให้ยักษ์นี่ลำบากมากทีเดียว ไปทรมาน ไปทำให้เขาได้รับความทุกข์แสนสาหัส แต่ความจริงแล้ว ทรมานในความหมายทางธรรมะไม่ได้แปลอย่างที่เราเข้าใจปัจจุบัน ทรมานนั้น ศัพท์เดิมก็คือ ทมนะ ทมนะก็เป็นรูปหนึ่งของคำว่า ทมะ ทมะเป็นหัวข้อธรรมหนึ่งที่โยมก็คงเคยได้ยิน ทมะนั้นมาในหลักธรรมที่เราได้ยินบ่อยก็คือ ฆราวาสธรรม ๔ ฆราวาสธรรม ๔ ก็ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน ได้แก่
๑.สัจจะความจริง
๒.ทมะ ทมะตัวนี้ ทมะแปลว่า การฝึกฝน ปรับปรุงตน
๓.ขันติ ความอดทน
๔.จาคะความเสียสละ
อันนี้หลักฆราวาสธรรม ในปัจจุบันนี้มีหลักธรรมอย่างนี้ ๔ ข้อ ที่เราเรียกว่าเป็นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเมื่อ ดูเหมือนจะเป็นวันจักรีในปีฉลองรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี คือพระบรมราโชวาท ๔ ประการนี้ ปัจจุบันนี้เอามาใช้ในวงการจริยธรรมมาก แม้แต่คณะสงฆ์ก็เอามากำหนด นัดหมายให้พระสงฆ์นำเอาไปใช้อบรมประชาชน แล้วมีการประชุมพระ อบรมพระก็จะเอาหลักการ ๔ ประการนี้มาแนะนำ เพื่อท่านจะได้นำไปสั่งสอนประชาชนต่อไปตามหมู่บ้าน ตามชนบท ซึ่งทางราชการก็จะพูดถึงพระบรมราโชวาท ๔ ประการนี้บ่อย ๆ พระบรมราโชวาท ๔ ประการนี้ก็คือ หลักฆราวาสธรรมนั่นเอง แต่ว่าพูดด้วยภาษาไทยล้วน ๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ คนทั่วไปจะได้ใช้สะดวก อาตมาภาพก็ขอเอามาอ่านในที่นี้
มีหนังสือของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ก็พิมพ์เรื่องนี้ขึ้นมาอีก มีบรรจุเรื่องพระบรมราโชวาท พระราโชวาทนี้ด้วย บอกว่าในโอกาสสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ขอให้ประชาชนดำรงตนอยู่ในคุณธรรม ๔ ประการดังนี้
ประการแรก คือ การรักษาความสัตย์ ความจริง ความจริงใจต่อตนเองที่จะประพฤติ ปฏิบัติ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง จิตใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความศรัทธาความดีนั้น
ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
ประการที่สี่ คือ การรู้จักระวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
อันนี้เป็นคุณธรรม ๔ ประการ ที่อยู่ในพระบรมราโชวาทนั้น ในข้อที่สองที่บอกว่า การรู้จักข่มใจตนเอง จิตใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ ความดีนั้น อันนี้ก็คือ หลักที่เรียกว่า ทมะ ทมะนี้อีกรูปหนึ่งเป็นนามเหมือนกัน ที่มาจากกริยาเป็นทมนะ ก็แปลเหมือนกัน ก็คือ การปิด แล้วเรามาแปลงเป็นภาษาไทย ทมะ เป็นทรมาน เพราะฉะนั้นในสมัยโบราณจะพูดถึงว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรมานองคุลีมาล ทรมานองคุลีมาลก็คือ ไปฝึกองคุลีมาล ไปฝึกให้เขากลับจากคนชั่ว กลายเป็นคนดี ไม่ว่าทำให้ละทิฐิมานะ ทำให้หายพยศ แล้วก็กลับใจมาเป็นคนดี เพราะฉะนั้น ทมนะหรือทรมานนี้ คือการไปฝึกคนให้กลับใจมาเป็นคนดี หรือทำให้เจริญก้าวหน้าในความดีงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถือเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา
แต่ปัจจุบันนี้ เรามาใช้ทรมาน ในเรื่องของความทุกข์ กลายเป็นว่า ได้รับความทุกข์แสนสาหัส อดทนได้ยาก อะไรทำนองนั้นไป ฉะนั้น ความหมายก็ห่างไปมากแล้ว แล้วก็จะใช้คำว่า ทรมานก็คงไม่สะดวกแล้ว แม้จะกลับไปหาศัพท์เดิม คือ คำตัวว่า ทมะ ต่อไป ทมะหรือ ทมนะซึ่งเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้านั้นได้ทรงมีพระนามอย่างหนึ่งว่าเป็น ทนฺตะ หรือ อกทนฺตะ แปลว่า เป็นผู้มีตนอันสึกแล้ว ทนฺตะนั้นก็เป็นกิริยาช่อ ๓ ของทมะนั่นเอง คือ ทนฺตะกับทมะนั้นมาจากรากศัพท์เดียวกัน เป็นบุคคล เป็นคุณนามของบุคคล ก็เป็นทนฺตะ ทมะ แปลว่า การฝึกฝนอบรม การฝึกตน ทนฺตะก็คือ บุคคลที่ได้ฝึกตนดีแล้ว ทางพระพุทธศาสนาถือว่า ผู้ที่ได้ฝึกตนดีแล้ว เป็นผู้ที่ประเสริฐสุด ถ้ามนุษย์ฝึกตนให้ดี ก็ประเสริฐยิ่งกว่าเทพเจ้า ยิ่งกว่าพระพรหม เป็นกระทั่งว่าเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสดาของมนุษย์และเทพทั้งหลาย ก็เป็นที่เคารพบูชาสูงสุด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสพุทธสุภาษิตว่า (ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ.ภาษาบาลี นาทีที่ 09.07) ในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกตนแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุด หรือจะขยายความว่า (09.17 วิชชาจะระณะสัมปันโน เสฏฺโฐ มนุสฺเส) ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชาและจรณะที่สมบูรณ์ทั้งด้วยความรู้และความประพฤตินั้น เป็นผู้ประเสริฐสุดทั้งในหมู่เทพและมวลมนุษย์ นี่ก็เป็นหลักที่เป็นพุทธภาษิต และพระพุทธเจ้าก็มีพระคุณบทหนึ่งที่ว่า (บาลี09.35 ปุริสะทัมมะสาระถิ) แปลว่า เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งกว่า คือเป็นอะนุตตะโรด้วย อนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ ในคำนี้ก็มีคำว่า ทัมมะทัมมะตัวนั้นก็มาจากทมะตัวนี้ ก็พิสูจน์ได้
ฉะนั้น ก็ถือว่ามนุษย์นี่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เป็นทัมมะ คือการกระทำที่เรียกว่า ฝึกว่าทมะ หรือทมนะ ตัวบุคคลที่ฝึกได้ เรียกว่า ทัมมะ มนุษย์นี่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ฉะนั้น เรียกว่า เป็นทัมมะ แล้วผู้ที่ฝึกแล้ว เรียกว่าทนฺตะ เพราะฉะนั้น ก็เราก็ต้องเอาทมะเป็นหลักธรรมนำมาใช้ เพื่อฝึกคน แล้วก็ฝึกใคร ก็คือ ฝึกคนที่เป็นทัมมะ ฝึกเพื่อให้เขาได้เป็นทนฺตะต่อไป ในการที่จะทำตามหลักทมะนั้น ท่านก็กล่าวแสดงไว้มากมาย ซึ่งอาจจะแยกแยะได้เป็น ๒ ขั้น ก็คือ
ขั้นที่ ๑ ปราบพยศ ทำให้หายพยศ ทำให้หมดสัญชาติญาณป่า อันนี้สำหรับคนที่มีความชั่วอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ทำให้เขาละความชั่วนั้น พอเขาละแล้ว ต่อไปก็ฝึกให้เขาดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้งอกงามในคุณธรรม ก็เป็น ๒ ขั้นตอน ให้เจริญงอกงามไปจนกระทั่งถึงที่สุด เป็นผู้มีคุณสมบัติเพรียบพร้อมบริบูรณ์ แล้วก็ผู้บริบูรณ์ แล้วก็ถ้าเป็นบุคคลที่ฝึกตนโดยสมบูรณ์ ก็เป็นพระอรหันต์นั่นเอง แล้วก็ตลอดจน ถ้าเป็นผู้นำในการฝึกนั้น เป็นเบื้องตนก็เป็นพระพุทธเจ้า
วันนี้อาตมาภาพก็เลยนำเอาคำว่า ทมะหรือทรมาน นี้มาเล่าให้โยมฟัง เป็นการสดับความรู้ เป็นเครื่องประเทืองปัญญาบารมีต่อไป ก็ขออนุโมทนาโยม แล้วก็ขอให้พรอีกครั้งหนึ่ง