แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:47] ศาสนากับวิถีสู่สันติภาพ
ขอเจริญพร อาตมภาพขออนุโมทนาในการที่สถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรม มศว. ในนามของมหาวิทยาลัย ได้จัดกิจกรรมเป็นโครงการขึ้นครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแสดงน้ำใจ ที่มีความรักความปรารถนาดี ต่อองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี การมีน้ำใจรักปรารถนาดีที่แสดงออกนี่แหละ เรียกว่า “เมตตาธรรม” เป็นการฉลองในตัวอยู่แล้ว นี้จากเมตตาที่มีในใจ ทางพระเรียกว่า “เมตตามโนกรรม” ก็แสดงออกมาทางวาจาเป็นการพูด เรียกว่า “เมตตาวจีกรรม” และก็แสดงออกทางการกระทำทั่วไปทางกาย ก็เรียกว่า “เมตตากายกรรม” พอครบทั้งสามนี่ก็บริบูรณ์ ก็ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดโครงการนี้ขึ้น ก็คิดว่าได้ทำพร้อมทั้ง ๓ ประการ
ยิ่งกว่านั้นในฐานะที่สมเด็จองค์พระเทพฯ เรียกได้ว่า เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็ทรงมีความสนิทสนมกับมหาวิทยาลัยมาก ก็ได้ทราบว่าเสด็จมาที่มหาวิทยาลัยอยู่เสมอ อันนี้ก็เรียกว่า มีการผูกพันกันกับทางมหาวิทยาลัย การที่มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมครั้งนี้ ที่เป็นการฉลองพระชนมายุเนี่ย จึงเป็นเรื่องของความเหมาะสมความสมควรอยู่ในตัวประการหนึ่ง และก็ยิ่งได้มองในแง่กว้าง ๆ ของสังคมไทยในฐานะที่พระองค์ท่านทรงเป็นที่รัก และได้ทรงทำประโยชน์ไว้แก่ประเทศชาติตลอดมา ทรงเป็นที่ ถ้าใช้ภาษาพระก็เรียกว่า เป็นที่เลื่อมใสของประชานิกร เพราะฉะนั้นก็ควรจะแสดงมุทิตาธรรมแด่พระองค์ ถวายให้เป็นการเฉลิมฉลอง เพราะฉะนั้นมองในแง่นี้ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา ก็คือการฉลองครั้งนี้ก็เป็นการถวายมุทิตาธรรม โดยสมควรแก่พระคุณความดีของพระองค์ ดังที่ได้ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีแล้ว จึงขออนุโมทนา
โดยเฉพาะก็การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เรียกได้ว่า เป็นด้านทางธรรมทางปัญญา การที่จะส่งเสริมเพิ่มพูนปัญญาแก่สังคม เพราะฉะนั้นก็เป็นกุศลอย่างสูง ถ้าใช้ภาษาพระเรียนถ้อยคำก็เรียกว่า ได้ทั้ง ปุญญัง และ ปัญญา ปุญญัง ก็คือบุญ ปัญญาก็ปัญญา ที่จริงปัญญาก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง เป็นบุญอย่างสูง ที่เรียกว่า ปุญญัง หรือ บุญ นั่นแหละ เพราะฉะนั้นเราก็มาจัดกิจกรรมนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ จะได้เป็นการฉลองที่แท้จริง
ทีนี้วันนี้ทางมหาวิทยาลัยนิมนต์อาตมภาพบรรยาย โดยตั้งชื่อเรื่องว่า “ศาสนากับวิถีสู่สันติภาพ” เมื่อได้รับนิมนต์ เห็นชื่อเรื่องก็เกิดความสงสัยว่า นิมนต์แล้วจัดกิจกรรมนี้ในช่วงที่มีสงครามอิรัก ท่านที่ตั้งชื่อเรื่องนี้ คิดถึงหรือปรารภสงครามอิรักหรือเปล่า ก็เลยได้ขอโอกาสถามท่านอาจารย์ที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้น คือที่นิมนต์บรรยาย ท่านก็ยอมรับว่ามีส่วนหนึ่งด้วย แต่จะปรารภไม่ปรารภก็ตาม ในเมื่อช่วงระยะเวลานี้ คนก็สนใจเรื่องสงครามนี้ สงครามนี้ก็ดำเนินมาจนกระทั่งจบฉากสำคัญไปฉากหนึ่งแล้ว จะมีฉากต่อไปอย่างไรหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่เรายังไม่อาจจะคาดคิดได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นเมื่อพูดไป คนได้ยินคำว่า สันติภาพ ก็ต้องนึกถึงคำว่า สงคราม แล้วก็นึกถึงสงครามอิรักอยู่ดี เราก็เลยมาเริ่มต้นกันที่นี่นิดหน่อย ไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญหรอก แต่ว่า ไม่สำคัญสำหรับปาฐกถาหรือการบรรยายนี้ แต่สำคัญสำหรับโลก ก็เอามาเป็นข้อปรารภนิดหน่อย
[05:57] ก้าวไปสู่วิถีแห่งสันติภาพ
คือ สงครามอิรักเกิดขึ้นมาจนถึงขณะนี้ ก็วิพากษ์วิจารณ์กันมาก จะเห็นได้ตามสื่อต่าง ๆ อย่างหนังสือพิมพ์เนี่ย คำวิจารณ์นั้นก็มากมาย นี่ถ้ารวมแล้วพูดสั้น ๆ คงต้องขอยืมคำของ นายแมค กับเบิล มาใช้ นายแมค กับเบิล เป็นคู่แข่งฝ่ายเดโมแครก (Democrat) ในการรับเรื่องตั้งเป็นประธานาธิบดีอเมริกา สู้กับประธานาธิบดีนิกสัน นานมาแล้ว นายแมค กับเบิล นี่ก็เรียกสงครามเวียดนาม ซึ่งกำลังรบอยู่ในตอนนั้น อเมริกาเป็นเจ้าของเรื่อง ว่าเป็น Ugly War นี่ที่วิจารณ์กันนี้เรื่องสงครามอิรัก ถ้าพูดสั้น ๆ ก็เท่ากับว่ากำลังวิจารณ์กันว่า สงครามอิรักนี้เป็นสงคราม Ugly หรือไม่ หรือจะพูดเป็นภาษาฝรั่ง ก็คือ Iraq War เป็น Ugly War หรือเปล่า อันนี้ก็สรุปกันสั้น ๆ ก็เถียงกันไป หรือวิจารณ์กันไป อีกอย่างหนึ่งเขาก็จะพูดว่าอเมริกาทำสงครามนี้เป็น War to Liberate อันนี้ดู ๆ ไปอีกฝ่ายก็เถียงว่า น่าจะไม่ใช่ ไม่ใช่จะเป็นสงครามอะไร ก็จะเป็น A war to subjugate ก็พูดเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ก็คือว่า เถียงกันว่าจะเป็นสงครามเพื่อปลดแอก หรือเป็นสงครามเพื่อใส่แอก ถ้าพูดให้ถูกหลักภาษาก็เพื่อเทียมแอก นี่จะเป็นยังไงก็ตาม ก็ขอให้เป็นเรื่องของท่านทั้งหลาย หรือประชาชน หรือสื่อมวลชนจะวิจารณ์กันไป ในที่นี้ก็จะไม่วิจารณ์ด้วย
แต่ว่า อยากจะพูดอย่างหนึ่งว่า น่าจะไม่พอนะ ที่เราไปมัวเถียงกันแค่นั้น คือจะไปมองดูเขา แล้วก็วิจารณ์ว่าเขาทำอย่างนั้น ๆ เป็นอย่างไรเนี่ย ไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญที่เราควรจะก้าวต่อไป ก็คือ ต้องมองดูตัวเรา ว่าแล้วเมื่อเขาเป็นอย่างนี้แล้วเราจะทำอย่างไร เราคิดกันเพียงพอหรือเปล่า เรื่องเราจะทำอย่างไร คือสงครามเขารบกันมา เราก็ได้เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ ในแง่หนึ่งเหมือนกับมาเป็นเครื่องย้ำให้เห็นว่า โลกนี้มันก็เป็นอย่างนี้แหละ อย่างประเทศอเมริกา ผู้นำของเขาก็พูดสำทับอยู่เรื่อย ย้ำแล้วย้ำอีก อย่างตอนที่ตั้ง NAFTA เขตการค้าเสรีทางแคนาดา อเมริกา อะไรโน่น ผู้นำก็พูดย้ำบอกว่า ที่ทำนี้สำคัญเพื่อ National Interest จะเป็นเขตการค้าเสรีของโลก ของอะไรต่างๆ ในเขตไหนก็ตาม แต่ว่า ตัวผู้ทำต้นเรื่องเขาคิดจุดสำคัญก็เพื่อผลประโยชน์ของชาติของเขา เขาก็ย้ำอยู่เสมอ เราก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง
[09:32] เมื่อเรารู้เท่าทันอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องมาคิดว่า ในเมื่อโลกเขาเป็นกันอย่างนี้ เราจะอยู่อย่างไรจึงจะมีความรอด หรือว่าสังคมของเราจึงจะอยู่ได้ด้วยดี อันนี้คือเรื่องที่เราต้องคิด นี่ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สองนอกจากคิดว่า เราจะอยู่อย่างไรให้ดีในสภาพของโลกอย่างนี้ ก็ต้องคิดต่อไปว่า ถ้าเรามีความสามารถยิ่งกว่านั้น ก็คือ ก้าวไปช่วยเหลือโลกในการแก้ปัญหา แก้ปัญหาระยะยาวอย่างที่ตั้งเป็นหัวข้อบรรยายครั้งนี้ว่า “ก้าวไปสู่วิถีแห่งสันติภาพ” หรือการที่จะทำให้โลกมีสันติภาพ นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ทั้งสองชั้น
[10:28] ที่นี้ ถ้าแม้แต่ขั้นที่หนึ่งเรายังไม่คิด ขั้นที่สองก็เห็นจะยาก คนไทยมองดูสงครามนี้ ถ้าเราได้แค่วิจารณ์ว่าเค้าเป็นยังไงๆ เราก็ไม่คิด แล้วเราจะทำอย่างไร เราจะต้องทำอะไร อย่างน้อยเพื่อให้ประเทศชาติสังคมของเรานี้ ดำรงอยู่ได้ด้วยดีในโลกที่มันจะต้องมีสภาพเดือดร้อน ไม่มีสันติภาพ มีสงครามกันอยู่อย่างนี้ นี่เป็นปัญหาที่เราต้องคิด ถ้าเรามีความมั่นใจเข้มแข็งพออยู่รอดได้ นี่เราก็ก้าวไปอีกขั้นนึง หรือจะทำไปพร้อมกันก็ได้ ก็คือเพียรพยายามเพื่อแก้ปัญหาของโลก ทำให้โลกนี้ดำเนินไปสู่วิถีแห่งสันติภาพ คนไทยเราก็อาจจะต้องมาตรวจสอบตัวเอง บางทีเราต้องติเตียนกันบ้าง ตำหนิกันบ้าง อย่างเราเป็นพุทธศาสนิกชน บางทีเราก็ไม่ได้คิดกันจริงจังว่าจะต้องทำอะไร เราแค่ฟัง หรือบางทีก็ยอมรับว่าหลักการมันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าตอนที่จะทำอะไรก็ไม่ค่อยขวนขวาย
[11:36] ยกตัวอย่างง่าย ๆ หลักธรรมเราได้ยิน สอนอยู่เรื่อง เราก็มาพูดกัน บอกว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน” เราก็ยอมรับว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน ก็สอนกันอยู่ตนเป็นที่พึ่งของตน แต่ว่าตอนที่จะต้องทำ คือ ตอนที่พระท่านสอนว่า แล้วทำอย่างไรตนจึงจะเป็นที่พึ่งได้ อันนี้เราไม่ค่อยจะเดินเลย ซึ่งตรงนี้เป็นคำสอนที่สำคัญ แล้วเป็นภาคปฏิบัติ ก็คือว่า เรารู้หลักการความจริงมันเป็นอย่างนั้น ว่าตนเป็นที่พึ่งของตน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ก็ต้องพัฒนาตนขึ้นมา คำสอนของพุทธศาสนาที่เพียรพยายามสอนมากมาย ก็คือสอนให้ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ด้วยการพัฒนาตน ด้วยการศึกษา ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ถ้าเราอยู่แค่ตนเป็นที่พึ่งของตน มันก็จบ ได้แต่รู้หลักความจริง แต่แล้วก็ไม่ได้ก้าวไปไหน
[12:34] หรืออย่างคำสอนอีกข้อหนึ่ง ที่เราได้ยินกันอยู่เสมอว่า “เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร หรือ เวรระงับด้วยการไม่จองเวร” ก็ได้ยินกัน จำกันแม่นยำ อันนี้ก็เป็นหลักการ เป็นความจริงในหมู่มนุษย์ เพราะถ้าหากว่า เกิดเวรแล้วไปจองเวร มันก็ไม่รู้จักจบสิ้น แต่ทีนี้ว่า ในแง่ของภาคปฏิบัติที่จะต้องทำ ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่ต้องจองเวร ตรงนี้แหละ ที่คนไทยเรา หรือชาวพุทธไทยเราไม่ค่อยคิด ทั้ง ๆ ที่ในพุทธศาสนานี้ ค้นดูในคัมภีร์ ท่านก็เพียรพยายามสอนว่า ทำไงเราจะไม่ต้องจองเวร อย่างในข้อนี้ มันก็เกี่ยวกับเรื่องสงครามกับสันติภาพด้วย การที่จะไม่ต้องจองเวร อาจจะพูดอย่างชาวบ้านก็มีอยู่สามแบบ
แบบที่หนึ่ง คือ คนก่อเวรเขาทำรุนแรงได้ผลจนกระทั่ง ฝ่ายที่ถูกกระทำสูญสิ้นชาติพันธุ์หายไปหมดเลย ก็เลยไม่มีโอกาสมาจองเวร นี่ก็แบบที่หนึ่ง แบบที่สอง ก็คือว่า เขาก่อเวรมาแล้ว คนที่ถูกกระทำมีความสามารถทำให้การก่อเวรของเขาไม่สัมฤทธิ์ผล สงบไป หรือสยบได้ เลิกหายต่อกัน เขายอม อย่างนี้ท่านเรียกว่า ชนะได้ด้วยธรรม ไม่ต้องทำร้ายเขา แล้วก็สาม ก็คือว่า ทำอย่างไรในระยะยาว ก็คือ ทำให้ไม่มีการก่อเวรขึ้นมาเลย นี่เก่งที่สุด อันนี้จะมีสันติภาพแน่นอน ทำให้โลกนี้ไม่มีการก่อเวร
แล้วเราอยู่ในขั้นไหน ถ้าเราไม่เพียรพยายาม เราจะอยู่ขั้นที่หนึ่ง คือ พอเขาก่อเวรมาเราก็หมดสิ้นชาติพันธุ์ จบ ก็ไม่ต้องจองเวร ในคัมภีร์ท่านสอนไว้จะมีตัวอย่าง อย่างชาดกจะยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่า เราจะเปลี่ยนวิถีของโลกยังไง โลกนี้มันร้าย คิดแต่ว่าจะแก้แค้นกัน ยกทัพเบียดเบียนกัน มีแต่สงครามไม่หยุดหย่อน ทำยังไงจึงจะทำให้เกิดสันติภาพหรือความสงบได้ แม้แต่เมื่อมีฝ่ายที่เขาตั้งตัวเป็นศัตรู ยกทัพมาในระดับประเทศชาติ มารุกรานเบียดเบียน ชาดกมีหลายเรื่อง ที่สอนเรื่องนี้
[15:12] คือว่า ให้เห็นว่าเมื่ออีกฝ่ายหนึ่ง อย่างในระดับประเทศ ก็มีชาดกใหญ่ ๆ เลย เช่น มโหสถชาดก ก็เป็นเรื่องอย่างนี้ คือฝ่ายประเทศโน้นเขาคิดร้าย เขาต้องการความยิ่งใหญ่ขยายดินแดน เขายกทัพมาบุก ฝ่ายนี้อยู่ในธรรมะไม่ต้องการใช้กำลัง โดยเฉพาะไม่ต้องการให้ประชาชนราษฎรเดือดร้อน ก็หาทางแก้ไข ก็สามารถทำจนกระทั่งฝ่ายที่ยกทัพมารุกรานต้องยอม ยอมสยบ โดยไม่ต้องใช้กำลัง ไม่ต้องใช้ความรุนแรง ไม่มีการเสียเลือดเนื้อเลย แล้วกลับเป็นไมตรีกันด้วย คือจบลงด้วยดี อย่างนี้ก็เป็นขั้นกลาง ส่วนขั้นที่สาม ก็คือ จุดหมายพุทธศาสนาในระยะยาว ที่พยายามสอนพัฒนามนุษย์ให้ขึ้นไปถึงขั้นนั้น นี่แค่ขั้นที่สองเราได้พยายามทำแล้วหรือเปล่า คนที่จะสามารถเอาชนะ สยบ หรือทำให้การก่อเวรต้องสงบลงด้วยดี โดยเป็นมิตรไมตรีแก่กัน ต้องมีความสามารถกว่าคนที่เอาชนะในการรบกันมากมายหลายเท่า อาจจะพูดว่าเป็นสิบเท่าเลย
[16:28] คนที่จะสร้างสันติภาพ ไม่ให้มีความรุนแรง อย่างที่เขากันเรียกปัจจุบันว่า “อหิงสา” (Non-violence) ต้องเป็นคนที่มีความสามารถ มีสติปัญญาอย่างยอดเยี่ยม ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ จะไปทำได้ ไม่ใช่มาฟังแค่ว่า เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร แล้วก็บอกเราอย่าไปจองเวรนะ ก็จบเท่านั้นเอง เราก็สูญสิ้นเท่านั้น ใช่ไหม มันต้องคิดในแง่นี้ ท่านก็อุตส่าห์สอนไว้มากมาย เพราะฉะนั้นการพัฒนาความสามารถ พร้อมกับมีเจตจำนงที่เป็นธรรม มุ่งดีปรารถนาสันติสุข ต้องไปด้วยกัน คือหมายความว่า ทางพระท่านสอนสองอย่าง ในแง่หนึ่งก็มีเมตตากรุณานี้แน่นอน ก็คือ อหิงสาไม่เบียดเบียน แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องมีปัญญา
[17:16] คนที่จะให้เมตตาความปรารถนาดีความรักมันสัมฤทธิ์ผล ต้องมีปัญญา แล้วต้องปัญญามากกว่าปกติ เพราะปกติคนที่เขาจะรบราฆ่าฟัน ต่อสู้เอาชนะด้วยกำลัง ใครมีกำลังโดยเฉพาะทางรูปธรรม ร่างกายแข็งแรงกว่าก็ชนะไป แต่ว่ามันต้องเสียเลือดเนื้อ ลำบากวุ่นวายกันมาก เราพัฒนามนุษย์ให้มีอารยธรรมก็เพื่อทำอย่างนี้ได้ คือ สามารถที่จะทำให้ความรุนแรงหายไป โดยการใช้ความสงบ โดยการใช้ความสามารถทางปัญญา
ทีนี้เราเคยมีไหมในประวัติศาสตร์ ที่พิสูจน์หลักการนี้ ถ้าหลักการนี้พิสูจน์ได้แสดงว่า มนุษย์เจริญไปในอารยธรรม ถ้ามนุษย์ยังทำไม่ได้ ก็ได้แต่เอากำลังมาสู้กัน ใครกำลังมากก็ชนะไป มันก็ไม่ได้เจริญขึ้นมา หรืออารยธรรมอะไร เพราะมันก็เหมือนกับสมัยบุพกาล ใช่ไหม เขาก็รบกันมาอย่างนี้ ใครมีกำลังมากก็รบชนะไป ไม่เห็นจะเป็นอารยธรรมอะไร ก็เหมือนเดิมนั่นแหละ
เพราะฉะนั้น ก็ต้องคิดกันให้ดี นี่คือ อารยธรรมในแง่สันติภาพ ก็คือ ใช้หลักการที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ถ้าคุณจะคิดปฏิบัติตามหลัก เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร ก็ต้องมาคิดกันมากว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่จองเวร แล้วอย่างน้อยก็ต้องพัฒนาความสามารถ ที่จะยุติความรุนแรงด้วยความสงบ แล้วก็ต้องพัฒนา นอกจากเจตนาจิตใจที่มีเมตตากรุณา ก็ต้องพัฒนาปัญญาอย่างยวดยิ่ง แล้วก็ต้องคิดกันจริงจังในเรื่องนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา
[18:57] สำหรับขั้นที่หนึ่งที่ว่า เมื่อโลกเขายังเป็นกันอย่างนี้ เช่นว่า แต่ละประเทศเขาก็มุ่งกันเพื่อผลประโยชน์ของชาติของตัวเขา มันก็ต้องมีปัญหากันเรื่อยไปอย่างนี้ แล้วในโลกที่เป็นอย่างนี้ สังคมไทยเราจะอยู่ให้ดีได้อย่างไร ขั้นที่หนึ่งในวันนี้จะไม่พูดถึง เพราะว่าไม่ตรงกับหัวข้อที่นิมนต์ให้บรรยาย ก็ก้าวไปสู่หัวข้อขั้นที่สอง ขั้นที่สองที่ว่า แล้วไทยเราหรือทุกคนจะก้าวไปสู่การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลก ในแง่ของสันติภาพนี้ได้อย่างไร แล้วทำยังไงจะให้โลกนี้เดินไปสู่วิถีแห่งสันติภาพ
วันนี้ทางท่านผู้นิมนต์ก็ตั้งหัวข้อให้เป็นเรื่องศาสนา ความจริงศาสนานั้น ถ้าพูดในแง่ของเรา ศาสนา ก็คือคำสอนหลักพุทธศาสนา คำแปลตรงตัวเลย ศาสนา แปลว่า คำสอน คำสอนของท่านผู้รู้ความจริง ก็เป็นกลาง ๆ ไม่เข้าใครออกใคร ความจริงมันมีอยู่ว่าอย่างนี้ เราควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เรื่องการที่จะสร้างสันติภาพก็คือ การแก้ปัญหารบราฆ่าฟันสงครามของโลก เวลาจะแก้ปัญหาจะต้องมีบอกว่า ให้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ พอบอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ คนก็จะพูดขึ้นมา พูดมันง่ายแต่ทำมันยาก ก็จะพูดว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้จึงจะได้ แต่ว่าที่นี้เวลาปฏิบัติ คนปฏิบัติมันลำบาก มันไม่ใช่ปฏิบัติง่าย ๆ ทำยาก แต่ว่าอันนั้นก็แง่หนึ่ง แต่มันมีอีกแง่หนึ่งก็คือว่า หลักการที่ต้องปฏิบัติ ปฏิบัติหลายอย่างนี่เป็นความจริงที่จะต้องทำ มิฉะนั้นไม่สำเร็จ
มันจะยากหรือไม่ยาก ไม่เกี่ยวเลย ถ้าคุณต้องการข้ามแม่น้ำไปฝั่งโน้น เพราะว่ามันมีหมู่บ้านที่คุณต้องการไปอยู่ฝั่งโน้น การข้ามแม่น้ำนี่จะยากหรือไม่ยากก็ตาม คุณก็ต้องข้าม ใช่ไหม อันนี้ในกรณีนี้มันจำเป็น เราจะมาอ้างความยากไม่ได้แล้ว คุณจะไปหรือไม่ไป ถ้าคุณจะไปให้ถึง คุณก็ต้องข้ามไปให้ได้ มันจะยากหรือไม่ยาก อันนี้หลักการหลายอย่างก็เช่นเดียวกัน มันจะมามัวคำนึงถึงความยากไม่ได้ จะมามัวบอกว่า พูดมันง่ายทำมันยากเนี่ย พูดไม่ได้เพราะว่า มันเป็นหลักความจริง ถ้าคุณไม่ปฏิบัติมัน คุณก็ไม่สำเร็จ คุณอยากมีสันติภาพ หลักการนี้มันต้องมี ถ้าไม่มีแล้วสันติภาพไม่เกิดขึ้น คุณต้องทำ อันนี้เราก็มาพูดถึงหลักการแบบนี้ โดยอย่ามาอ้างกันอีกนะว่ายาก ทำความเข้าใจกันไว้ก่อน
[21:41] ก้าวข้ามเหตุ อยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ
หลักการเกี่ยวกับเรื่องการสร้างสันติภาพนี้ ก็ต้องมาดูที่หลักการฝ่ายตรงข้ามก็คือ ด้านเหตุปัจจัยที่ทำให้คนมาขัดแย้ง ต่อสู้รบราฆ่าฟันทำสงครามกัน ซึ่งมันก็เป็นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เป็นมาเป็นไปกันอย่างนี้ มีสงครามมีการต่อสู้รบราฆ่าฟันกัน ขัดแย้งกันตั้งแต่ระดับบุคคล จนกระทั่งถึงระดับสังคม ระดับประเทศชาติ ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย เราก็สรุปสั้น ๆ ว่า เหตุปัจจัยที่ทำ ก็ไปขุดกันมา แต่ละกรณีมันก็ต่าง ๆ กันไป แต่ท่านบอกว่า [22:22] โดยสรุปแล้วมี ๓ อย่างเท่านั้น เหตุปัจจัยที่ทำให้ มนุษย์ขัดแย้งกัน ปัญหาเกิดขึ้นนั้น หนึ่ง อยากได้ สอง อยากใหญ่ สาม ใจแคบ
[22:33] ทีนี้ อยากได้ ท่านก็เรียกว่า “ตัณหา” คือ อยากได้ผลประโยชน์ อยากได้สิ่งเสพบริโภค ทรัพย์สมบัติ ความพรั่งพร้อมมาบำรุงบำเรออะไรตัวให้มีมากที่สุด นี่ก็เป็นเหตุให้ยกทัพรบราฆ่าฟันกัน จะเห็นว่า ไม่ต้องว่าถึงคนล่ะ ประเทศชาติก็ยกทัพไปตีกัน เพราะเรื่องผลประโยชน์ แม้แต่เวลานี้ ก็วิจารณ์ว่าเป็นเพราะข้อนี้ ข้อที่หนึ่ง ก็คือ อยากได้ ก็เรื่องผลประโยชน์ เรื่องตัณหา
อันที่สอง ก็คือ อยากใหญ่ อยากใหญ่ ก็คือ ต้องการอำนาจ ต้องการความยิ่งใหญ่ สามารถครอบงำผู้อื่น บังคับเขาได้ อันนี้ท่านเรียกว่า “มานะ” อันนี้ก็ตลอดประวัติศาสตร์ มักจะมาคู่กันกับอันที่หนึ่ง อยากได้ด้วยก็อยากใหญ่ด้วย ถ้าอยากใหญ่เป็นใหญ่ได้ ก็จะอยากได้ ก็ทำสำเร็จได้ง่าย อยากได้ก็ต้องสำเร็จด้วยอยากใหญ่ และอยากได้แล้ว ตัวเองเมื่อได้แล้วก็จะใหญ่ยิ่งขึ้น อยากได้กับอยากใหญ่นี่ก็เป็นตัวสำคัญ เรียกว่า ตัณหา มานะ
[23:40] บางทีสงครามมันเกิดขึ้นด้านอื่นก็มี ก็คือ เรื่องลัทธิศาสนาอุดมการณ์ต่าง ๆ พวกนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์โดยตรง เพราะความเชื่อ เพราะการยึดถือหลักการบางอย่าง ไม่ยอมรับ ไม่ยอมฟังซึ่งกันและกัน อันนี้เรียกว่า ใจแคบ ฉะนั้น ลัทธิศาสนาก็เลยกลายเป็นเหตุของสงครามในอดีตมากมาย สงครามลัทธินิยมอุดมการณ์ศาสนานี่ กลายเป็นยืดเยื้อเรื้อรัง ยิ่งกว่าสงครามที่อยากได้ผลประโยชน์ และเรื่องสงครามแสวงหาความยิ่งใหญ่ด้วยซ้ำไป ฉะนั้น ตัวที่สามเป็นตัวที่ลึกมาก ทางพระท่านเรียกว่า “ทิฐิ” ตกลงว่า ตัวการสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้ง การรบราฆ่าฟันกันนี้ ก็คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ พูดเป็นไทยง่าย ๆ ก็ อยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ ทีนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ก็ต้องยอมรับความจริงว่า มันแสนยาก อย่างที่ว่าพูดง่ายทำยากนี่แหละ
[24:40] ทีนี้การแก้ปัญหาไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปทำทีเดียว คุณไม่มีตัณหา คุณไม่อยากได้ผลประโยชน์ มันเป็นไปไม่ได้ ต้องยอมรับ เรื่องของมนุษย์ทั่วไปเนี่ย เราก็ต้องทำเป็นขั้นตอน คือ อย่างเรื่องตัณหานี่ ก็ต้องวางมาตรการต่าง ๆ โลกเขาก็พยายามวางกันอยู่ แต่ทีนี้มนุษย์ก็พยายามเอาเปรียบกันอยู่ กฎกติกาวางขึ้นมาแล้ว ก็หาทางใช้กฎกติกานั้น เพื่อให้เกิดเป็นผลประโยชน์แก่ตัวเอง ให้เอื้อแก่ตนเอง อย่างไงก็ตาม ถึงยังไงก็ต้องมีไว้ รวมความก็คือ ต้องมี เช่น กฎกติกามา มาตรการในการที่จะไม่ให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ รุกรานผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม มาตรการที่สร้างความเป็นธรรม
แม้แต่เรื่องอย่างพวกการค้าเสรีอะไรพวกนี้ เขาก็อ้างเรื่องความเป็นธรรม การค้าเสรีและเป็นธรรม ทั้งเป็น Free trade และ Fair trade ด้วย ก็เลยเป็นปัญหาว่า ฟรีเทรดมันเป็นแฟร์เทรดหรือเปล่า เถียงกันอยู่นี่แหละ บางทีมันฟรีแต่มันไม่แฟร์ ทำยังไงจะให้ทั้งฟรีทั้งแฟร์ อันนี้ยากเหลือเกิน เพราะมนุษย์ตัณหาเยอะ ตัณหาความอยากได้ก็ทำให้มันไม่ยอมแฟร์ มันก็อ้างความฟรีมาเพื่อไม่แฟร์ไป ตกลงก็ต้องหาทางกันไป แต่ว่ารวมแล้วก็คือหลักการในขั้นนึง ก็ต้องวางมาตรการที่จะไม่ให้เอารัดเอาเปรียบกัน หรือให้เอาเปรียบได้น้อย ให้มีความเป็นธรรมบ้าง แล้วก็เรื่องมานะ ความอยากใหญ่ ความต้องการอำนาจครอบงำผู้อื่น อันนี้ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีมาตรการ แล้วก็มีการดุลกันคานอำนาจกัน นี่ก็เป็นวิธีการซึ่งทางรัฐศาสตร์ เป็นต้น หรือการเมืองระหว่างประเทศ ก็ต้องศึกษากันไป ก็ต้องพยายามกันไป
[26:32] แล้วอันสุดท้าย ก็คือ เรื่องความใจแคบ ความยึดติดในทิฐิ เป็นความเชื่อง่าย ง่ายๆ อย่างเรื่องความเชื่อแม้แต่ในทางชาติพันธุ์ ความเชื่อว่าพวกชาติพันธุ์นั้น เผ่าพันธุ์นั้นมันต่ำทราม มันเป็นศัตรูของเรา ต้องฆ่ามันให้หมด ต้องกำจัดมันให้สิ้นอย่างนี้ นี่คือ ทิฐิ ความเชื่อที่มันลงลึก พอมีแล้วนี่ มันไม่จบล่ะสงคราม แล้วแก้ได้ไหม ต้องแก้ขั้นนี้ ต้องแก้อันนี้ มนุษย์ต้องเปิดใจ ยอมรับ เอามาพูดกัน เวลานี้มักจะไปเน้นกันข้อหนึ่งข้อสอง ซึ่งก็ยังแก้ไม่ได้ เสร็จแล้วข้อสามก็ไม่กล้าพูด ไม่กล้าพูดเพราะว่า พูดแล้วมันกระทบกัน ก็เลยไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้จริง เพราะว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริงต้องลงถึงขั้นที่สาม ขั้นที่สามนี้ เป็นเรื่องทางปัญญา สร้างความรู้ความเข้าใจ แล้วก็แก้ไขเรื่องทิฐิ ความเชื่อ ความยึดถือต่าง ๆ ต้องทำให้ได้
[27:34] และทั้งหมดนี้ในที่สุด นอกจากการแก้ด้วยมาตรการทางสังคมเป็นต้นแล้ว ในที่สุดก็คือ การพัฒนามนุษย์ด้วยการศึกษา เพราะฉะนั้นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่เป็นพื้นฐานก็คือ การศึกษา การสร้างมนุษย์ให้มีคุณธรรม มีจิตใจที่มีเมตตากรุณา เป็นต้น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเสียสละ ไม่ใช่เอาแต่เห็นแก่ตัว อยากได้ผลประโยชน์อย่างเดียว ไม่ต้องคาดคิดแต่จะเบียดเบียนครอบงำผู้อื่น แค่สร้างคุณธรรมนี้ในทางจิตใจ เราก็มาคานเรื่องข้อตัณหามานะ แต่ข้อทิฐินี้ ต้องแก้ด้วยปัญญา คือ สร้างปัญญาให้รู้เข้าใจ
อย่างปัจจุบันนี้ มันก็ไม่ได้พัฒนาอะไรมากไปกว่าสมัยโบราณ อย่างเรื่องของทิฐิ เชื่อถือ ใจแคบในเรื่องชาติพันธุ์ ก็มีมาในพุทธประวัติ เราก็ได้ตัวอย่างอยู่แล้ว อย่างศากยวงศ์นี้เองแหละ พระพุทธเจ้าก็ทรงพยายามแก้ เขาก็ยังยึดถืออยู่ อย่างศากยวงศ์นี้เราก็เห็นชัดว่า ยึดถือจะแต่งงานกับคนอื่นไม่ได้ ก็จนกระทั่งเป็นเหตุให้พวกอื่นเขาแค้น ต้องมาพยายามทำลายศากยวงศ์ทั้งหมด ตัวอย่างก็มีมาชัดเจน
[28:51] อย่างปัจจุบันนี้ ทำยังไงมนุษย์มาถึงยุคโลกาภิวัตน์แล้ว เราบอกว่า “ไร้พรมแดน” โลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็น Global Village อะไรก็ว่าไป พูดกันไป ๆ แล้วมันเป็นจริงไหม มันไม่เป็นเรื่อง มันก็แยกกันอยู่อย่างนั้นแหละ โลกยิ่งกว้างไกล ใจคนยิ่งแคบลง ทำยังไงจะให้ใจกว้าง ตามโลกที่มันแผ่ขยายกว้างไปได้ ให้ใจมันไร้พรมแดนได้ พระพุทธเจ้าสอนนะ พระอรหันต์มีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ วิมริยาทิกตจิต แปลว่า “ผู้มีจิตใจไร้พรมแดน” ตรงกันเลยกับคำที่เขาใช้กันปัจจุบัน แต่เวลานี้เขาใช้ไร้พรมแดน กับเรื่องของข่าวสารข้อมูล เรื่องของการคมนาคม อะไรเป็นต้น เขาไม่เอามาพูดถึงจิตใจ จะต้องทำใจคนให้ไร้พรมแดนด้วย นี้ทำได้ไหมล่ะ ถ้าทำได้ก็เข้าคติหลักพุทธศาสนา มีอยู่แล้วชัดเจน พูดไว้นานแล้วว่า “วิมริยาทิกตจิต” ทำได้ไหม ทำให้มีจิตใจไร้พรมแดน ถ้าทำได้จริง ๆ ก็เป็นพระอรหันต์เลย ถ้าเราไม่ถึงขั้นนั้น ก็พยายามทำใจให้มันกว้างขวาง การทำใจให้กว้างขวางเนี่ย มันก็ต้องพัฒนามนุษย์อย่างที่ว่า เราก็ให้การศึกษาที่ถูกต้อง
[30:10] แล้วเป็นไปได้ไหม เวลานี้บางคนอาจต้องคิดถึงขั้นว่า หลอมรวมชาติพันธุ์มนุษย์ให้เป็นชาติพันธุ์เดียว โดยไม่ต้องมาเถียง มาแก่งแยก แบ่งแยกอะไรกันอีก เป็นไปได้ไหม เราอาจจะต้องพูดกันอย่างจริงจังนะ ไม่ต้องมามัวมีอะไรแฝงอยู่ในใจไม่กล้าพูด ก็เปิดใจกันให้พูดอย่างจริงจัง ควรถึงเวลาหรือยัง ในเมื่อเป็นโลกาภิวัตน์ โลกไร้พรมแดน เราจะให้มนุษย์เป็นชาติพันธุ์เดียวกันได้ ไม่ต้องไปกีดกั้นแบ่งแยกอะไรกัน อย่างทางตะวันออกกลางก็มีปัญหาเรื่องอย่างนี้ ขอประทานอภัย ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เขาแต่งงานกันก็ไม่ได้ ใช่ไหม แล้วจะไปแก้ปัญหาอะไร ก็แค่นี้ก็ไม่สามารถจะพูดกันได้ แล้วก็จะมาพูดว่า จะแก้ปัญหาให้โลกมีสันติภาพ ก็คนมันแบ่งแยกกันอยู่ชัด ๆ
[31:04] อันนี้ก็เป็นเรื่องของ สาเหตุของความขัดแย้ง รบราฆ่าฟัน และสงครามที่ทำให้ไม่มีสันติภาพ ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย มีสามประการด้วยกัน ก็คือ อยากได้ อยากใหญ่ และใจแคบ หรือตัณหา มานะ ทิฐิ ก็ต้องแก้ และก็แก้ด้วยมาตรการทางสังคมบ้าง ด้วยวิธีการต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดก็คือ พัฒนามนุษย์ด้วยการศึกษา แล้วก็คนที่ให้การศึกษาก็ต้องยอมรับความจริงก่อน เอาอย่างนี้ไหม แต่ก็รับรอง ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ว่า ถ้าแก้สามอย่างนี้ไม่ได้ ไม่จบ อันนี้คือ หลักการที่บอกว่ามันจะยาก ไม่ยาก คุณไม่มีสิทธิ์พูด เพราะว่า ถ้าคุณไม่ทำ มันไม่สำเร็จ อันนี้ก็ขอพูดต่อไป
[31:49] ก้าวข้ามความแบ่งแยกด้วยปัญญา
[31:49] ทีนี้ก็เรื่องใจแคบ ใจแคบนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ มันมีอีกอันหนึ่ง ที่เป็นเรื่องของการแสดงความใจแคบ ก็คือ ความหวงแหนกีดกั้นกัน ซึ่งตรงกับที่พูดมาแล้วบ้างด้วย ความหวงแหนกีดกั้นนี้ มีหลายอย่าง ทางพุทธศาสนาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก จะเห็นว่าพุทธศาสนานี้โดยตรงเลย คือ พยายามจะสร้างสันติสุขแก่มนุษย์ ด้วยการที่ไม่ให้มีการแบ่งแยกเบียดเบียน เพราะฉะนั้น นอกจากตัณหา มานะ ทิฐิ จะที่ไม่ให้ขัดแย้ง ทำสงครามรบราฆ่าฟัน ก็จะมีหลักต่อไปอีกชุดหนึ่งที่ว่า เพื่อให้เราไม่มีความใจแคบ พัฒนามนุษย์ไปสู่ความมีใจไร้พรมแดนอะไรต่าง ๆ ความอยู่ร่วมกันโดยสันติ ท่านก็ให้หลักไว้ บอกว่า มนุษย์ที่พัฒนาแล้วจะต้องหมดความใจแคบ หรือ ความหวงแหนกีดกั้นกัน ๕ ประการ
[32:46] ท่านเรียกว่า “มัจฉริยะ” คนไทยก็มาใช้แปลกันว่า ความตระหนี่ ความตระหนี่นี้แปลไปก็ว่า ขี้เหนียว นี่แปลว่า ขี้เหนียว มันชวนให้คิดว่าเป็นโรค บางคนไปถามว่า มัจฉริยะเป็นกิเลสประเภทไหน บอกเป็นประเภทความโลภ คนโดยทั่วไปก็จะเข้าใจอย่างนั้น คือ กิเลสทั้งหมดนี่มันจัดเข้าได้สามกลุ่ม คือ โลภะ โทสะ โมหะ ถ้าถามคนทั่วไปก็บอกว่าความตระหนี่มัจฉริยะขี้เหนียวนี่ จัดเข้าในกิเลสประเภทไหนในสามประเภท เขาก็จะบอกว่าอยู่ในประเภทโลภะ หรือโลภ แต่ไม่ถูก เพราะเราไปแปลภาษาไทย ความหมายไม่ตรงทีเดียวกับภาษาเดิม มัจฉริยะในทางพระ ท่านจัดเข้าในกิเลสกลุ่มโทสะ ชัดเจนเลย เป็นกลุ่มโทสะ การกีดกั้นผู้อื่น หวงแหนกีดกั้น ไม่ให้เขาได้อย่างเราเป็นต้น หรือ ไม่ให้เขามีส่วนร่วม
[33:40] ความหวงแหนกีดกั้น หรือ มัจฉริยะมี ๕ ประการ ต้องพัฒนามนุษย์ให้กำจัดมัจฉริยะ ๕ นี้ให้ได้ มิฉะนั้นมนุษย์จะต้องแบ่งแยกกัน แล้วก็เกิดปัญหาขัดแย้ง จนกระทั่งถึงสงคราม แล้วความหวงแหนกีดกั้น ๕ ประการนี้ มีอะไร ๑. ความหวนแหนกีดกั้นกันในเรื่องที่อยู่ที่อาศัยท้องถิ่นดินแดน มาอันที่หนึ่ง ชัดเลยใช่ไหม คนมันก็แบ่งแยกกันอยู่จนกระทั่งถึงประเทศ ๒. หวงแหนกีดกั้นด้วยเรื่องผลประโยชน์ เรื่องลาภ เรื่องการได้สิ่งที่ต้องการ สิ่งเสพบริโภค เป็นต้น สองแล้วนะ นี่คือเรื่องลาภ ๓. ความหวงแหนกีดกั้นกันด้วยเรื่องพงเผ่าเหล่ากอชาติพันธุ์พวกพ้อง สามแล้ว และก็ ๔. ความหวงแหนกีดกั้นกันด้วยเรื่องการแบ่งชั้นวรรณะ สีผิว เป็นต้น แล้วก็ ๕. ความหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องวิชาความรู้ ผลสำเร็จทางภูมิธรรมภูมิปัญญา ปัจจุบันนี้กำลังเข้าอันที่ห้าเต็มที่เลยนะ เรื่องสิทธิ สิทธิทางปัญญาอะไรเนี่ย ลิขสิทธิ์ทางปัญญาอะไรก็แล้วแต่ รวมแล้วก็คือ เป็นเรื่องนี้อยู่ในข้อห้า
[35:11] แต่ว่ามีทั้งหมดแหละ ปัจจุบันนี้ จริงไม่จริง ก็มีห้าครบเลย ทวนอีกครั้ง ๑. หวงแหนกีดกั้นกันด้วยเรื่องที่อยู่ที่อาศัยถิ่นฐานแว่นแคว้นประเทศดินแดน ๒. หวงแหนกีดกั้นกันด้วยเรื่องพงเผ่าเหล่ากอชาติพันธุ์วงศ์ตระกูล ๓. หวงแหนกีดกั้นกันด้วยเรื่องผลประโยชน์ ๔. หวงแหนกีดกั้นกันด้วยเรื่องชั้นวรรณะสีผิว แล้วก็ ๕. การหวงแหนกีดกั้นกันด้วยเรื่องวิชาการความรู้ ผลสำเร็จทางภูมิธรรมภูมิปัญญา ถ้ากำจัดความหวงแหนกีดกั้นห้าอย่างนี้ไม่ได้ มนุษย์ก็ต้องขัดแย้งกันต่อไป ต้องรบราแย่งชิงกำจัดกันเรื่อยไป จริงไม่จริง แล้วพุทธศาสนาสอนเลย ถ้าเป็นโสดาบันปั๊บ หมดเลยห้าอย่างนี้ ไม่มีเหลือเลย พุทธศาสนาที่พัฒนามนุษย์มาก็เพื่ออันนี้
[36:09] แล้วเราก็ไม่ได้คิดหาทาง แต่ว่า ไม่ใช่ว่าไปสุดโต่งนะ ไม่ใช่ว่า ท่านสอนไม่ให้มีความหวงแหนกีดกั้นในเรื่องเหล่านี้ เราก็ไม่ถือและเราก็ไม่ยึดถือเลยเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยประเทศของเรา เรื่องอะไรทั้งหลายทั้งห้าข้อไม่ยึดถือ อันนั้นเป็นสุดโต่ง มันกลายเป็นโมหะ ไม่ได้ทำด้วยปัญญา คือ มันต้องรู้เท่าทันความจริง ตามเหตุตามผลว่า อันนี้ถ้าเขินยึดถือกันอยู่ มันเป็นความยึดมั่นถือมั่นที่ผิด การที่เราตั้งสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้มนุษย์ได้มีหลักมีเกณฑ์มีกฎกติกา อยู่ในขอบเขตและขั้นตอนที่ถูกต้อง แล้วเราก็ปฏิบัติไปเพื่อการอยู่ร่วมกันได้ดี ตามวัตถุประสงค์แท้จริงนั้น เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข จุดหมายแท้จริงอยู่ที่นั่น
[36:56] แม้แต่การที่เรามาจัดแบ่งให้คนมีที่อยู่อาศัยเป็นของใคร ท่านเรียกว่า “สมมติ” ก็เพื่อให้อยู่เป็นสุขนั่นแหละ แต่เป็นการแบ่งแยกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มนุษย์มารู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ในเมื่อคนยังมีกิเลส และการที่จะอยู่ร่วมกันได้ดีก็ต้องมีการรู้จักจัดแบ่ง อันนี้เป็นปัญญาของมนุษย์ ท่านเรียกว่า รู้ทันสมมติ ก็เอาสมมติมาใช้ ก็เป็นความฉลาดของมนุษย์ แต่ว่าก็ต้องรู้ทันสมมติ และอย่าไปยึดติดในสมมติ จนกระทั่งกลายเป็นว่า เอาสมมติมาบีบตัวเอง และก็มาแบ่งแยกทำลายกันไป นี่ถ้าเราปฏิบัติให้ถูกขั้นตอน เราก็ใช้สมมติเหล่านี้ ซึ่งทั้งห้านี่ก็มาจากสมมติ ปฏิบัติให้มันถูกต้อง
[37:39] ประเทศของเรามันก็ต้องมีถิ่น แม้แต่ที่อยู่บ้านของเรามันก็ต้องมี ก็เป็นธรรมดา แต่ว่าอันนี้เรามีเพื่ออะไร เพื่อให้คนอยู่กันได้ด้วยดี เช่นว่า บ้านใครบ้านมัน ครอบครัวใคร ครอบครัวมัน แล้วเราก็จะได้มีที่กำหนด แล้วก็จะได้มีขอบเขตที่อยู่อาศัย มีวิธีปฏิบัติสัมพันธ์กันได้ถูกต้องต่อไป ก็ขยายกว้างออกไป นี่คือปฏิบัติด้วยปัญญา ทำไงจะให้มัจฉริยะห้ามันหมดไป เลยเอาปัญญามาปฏิบัติด้วยสมมติแทน เอาเป็นว่า ห้าอย่างนี้ได้ไหม และจริงไหมถ้ามนุษย์ยังไม่หมดความหวงแหนกีดกั้นห้าประการนี้ ก็แก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ ที่เขามีปัญหากันอยู่นี้ อย่างหวงแหนชาติพันธุ์ อย่างที่ศากยวงศ์ต้องถูกทำลายไป ก็เพราะหวงแหนชาติพันธุ์ นี่ก็เป็นเรื่องที่ขอฝากไว้ว่า ความจริงเรื่องของสันติภาพ มันไม่ได้ยากอะไร อย่างที่ว่ามันก็พูดง่าย ทำตามหลักนี้มันก็จบ แต่ว่ามนุษย์ทำไม่ได้สักที ก็เพราะว่า มนุษย์ไม่ได้พัฒนาจิตใจปัญญา ไม่ได้พัฒนาให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ขึ้นมา
[38:52] ก้าวสู่ความเป็นสากลอย่างแท้จริง
[38:52] ถ้าหากว่าเราสามารถแก้ปัญหา ในเรื่องตัณหา มานะ ทิฐิ เรื่องของมัจฉริยะ ความหวงแหนกีดกั้นได้แล้วเนี่ย มันก็จะเกิด “ความเป็นสากลที่แท้จริง” สากล ก็คือ มันทั่วกัน คือ โลกนี้ทั้งโลก มันไม่มีการแบ่งแยกอีกต่อไป ในการที่จะเกิดความเป็นสากล มันก็จะมีลักษณะต่าง ๆ นี้เป็นเครื่องตรวจสอบ ซึ่งเอามาใช้ในการฝึกมนุษย์ได้ด้วย ความเป็นสากลก็มี ๓ ประการด้วยกัน สามประการนี้ แค่ดูว่าสากลแล้วนำมาตรวจสอบ เราก็ไปแล้ว โลกปัจจุบันนี้ มันไม่มีเลยความเป็นสากล แล้วก็พูดกันสากล ใส่เสื้อก็ว่าชุดสากล เสร็จแล้วใจมันไม่เป็นสากล ปัญญามันไม่เป็นสากล
[39:34] สากลอะไรบ้าง สากลที่หนึ่ง ท่านบอกว่า “ความเป็นมนุษย์ที่สากล” แค่นี้ก็ไปแล้ว ความเป็นมนุษย์สากล หมายความว่า จะเป็นคนเกิดที่ไหน อยู่ที่ไหน มันไม่มีความแบ่งแยก ก็เป็นมนุษย์ทั้งนั้น ส่วนการที่จะไปบอกว่า เป็นมนุษย์ฝรั่ง มนุษย์แขก มนุษย์ไทย มนุษย์จีน อะไรอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องของการที่ว่าไปตามความเป็นจริง โดยปัจจัยทางด้านธรรมชาติ ชาติพันธุ์ โดยเพื่อรู้เพื่อเข้าใจเท่านั้น แต่ก็คือ ความเป็นมนุษย์ร่วมกัน นี่ว่ามันต้องเริ่มที่ความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เริ่มด้วยความเป็นแขก เป็นไทย เป็นฝรั่ง พอมองเห็นคนอื่น ก็ต้องมองว่าเป็นมนุษย์ก่อน เสร็จแล้วเขาจะเป็นมนุษย์พวกไหนก็ว่ากันไป อันนั้นพึงเพื่อรู้ แล้วก็ปฏิบัติกันให้ถูกต้อง แต่ว่ามีจิตใจที่นึกถึงความเป็นมนุษย์ แล้วปฏิบัติต่อกันในฐานะเป็นมนุษย์ หรือว่าอย่างแบ่งแยกเรื่องศาสนา พอเห็นกันแทนที่จะนึกว่าคนนี้เป็นมนุษย์ ก็ไปนึกว่าศาสนาไหน อย่างนี้มันเริ่มด้วยการแบ่งแยกแล้ว มันก็ลำบาก ฉะนั้นความเป็นสากลไม่เกิด ต้องเริ่มด้วยความเป็นมนุษย์ที่สากล
[40:49] ความเป็นมนุษย์ที่สากลนี้ ก็จะทำให้นึกว่า เอ้อ เป็นมนุษย์ทั้งนั้นนะ อย่างเช่น การฆ่า เมื่อฆ่ามนุษย์เป็นบาป มันก็จบ ทีนี้ถ้าไปแบ่งแยกว่า ฆ่าคนชาติพันธุ์นั้นชาติพันธุ์นี้ดี อย่างนี้ก็ไปไม่รอดแล้ว ใช่ไหม มันแบ่งแยกแล้ว ชาติพันธุ์นี้ ศาสนานั้น กลายเป็นว่า คนที่ไม่นับถืออย่างนี้แล้วเป็นบาปต้องฆ่า อย่างนี้มันก็แบ่งแยก ความเป็นมนุษย์ก็ไม่สากล งั้นต้องเริ่มก่อนคือ ความเป็นมนุษย์ที่สากล เราเห็นคนทุกคน พอเริ่มก็ต้องถือว่า เป็นมนุษย์ก่อน แล้วความเป็นมนุษย์นี้จะเป็นฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วจะแบ่งแยกอย่างไร เป็นเรื่องของความรู้เข้าใจ เพื่อประโยชน์ความสะดวกในการปฏิบัติต่อกัน ไม่ใช่เอามาเป็นเครื่องแบ่งแยก แต่มนุษย์เวลานี้มันตรงข้าม มันยึดถือเอาข้อจุดกำหนดในการแบ่งแยก เป็นชาติพันธุ์ไหน เป็นเผ่าไหน เป็นศาสนาไหนขึ้นมาก่อนเลย แล้วก็เอาตัวนี้เป็นตัวกำหนดในการที่จะปฏิบัติต่อกัน เพราะฉะนั้นสันติภาพไม่มีทางเกิดขึ้น
[41:57] ต่อไป ข้อที่สอง ก็สืบเนื่องมาด้วยจากอันที่หนึ่ง ก็คือ “ความรักที่เป็นสากล” หรือใช้ภาษาพระว่า “เมตตาที่เป็นสากล” ก็คือว่า เมื่อเป็นมนุษย์แล้ว เรามีเมตตารักเหมือนกันหมด เพราะเราต้องการให้คนรักกัน มีเมตตาไมตรี มนุษย์จะอยู่ด้วยกันดีก็ต้องมีเมตตา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ปรารถนาดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน ไม่โกรธกัน ไม่คิดหาทางที่จะทำร้ายกัน ที่นี้ว่า ก็ต้องมีเมตตาอย่างนี้ต่อทุกคนเสมอกัน แต่เวลานี้มีปัญหาเรื่องเมตตา รักแต่พวก ถ้าพวกอื่นมันเมตตาไม่ได้ ใช่ไหม มันรวมไปกระทั่งเรื่องศาสนา เรื่องอะไรต่ออะไร ต้องพูดกันอย่างเปิดใจ ทำได้ไหม ให้เมตตาเป็นสากล รักคนทุกคนเสมอเหมือนกันหมดไม่แบ่งแยก
[42:48] แล้วก็ สาม ก็คือ “กฎกติกา หรือ ความจริงที่เป็นสากล” ไม่ใช่กฎกติกาว่า ถ้าเป็นมนุษย์นับถืออย่างนี้เป็นพวกนี้ แล้วทำอันนี้แล้วจะได้รับผลอันนี้ แต่ถ้าเป็นมนุษย์พวกอื่นไม่ได้รับผลนี้ มันก็ต้องมีว่า ทำเหตุปัจจัยยังไงได้รับผลอันนั้น ไม่ว่าที่ไหน เมื่อใด ไม่จำกัดด้วยขอบเขต กาลเทศะ หรือกลุ่มชน อะไรแบบนี้ ทำอย่างนี้ ได้ไหม มนุษย์ก็ยังทำไม่ได้ กฎกติกาความเป็นจริง แม้แต่ความจริงของธรรมชาติ ยังเอามาแบ่งกันอีก ความจริงของธรรมชาติ อันที่จริงมันแบ่งแยกไม่ได้อยู่แล้ว กฎกติกามนุษย์ยังพอเห็นว่าแบ่งกัน เพราะว่ามันถือเรื่องของพวกโน้นพวกนี้อยู่ ก็แสดงว่าเราต้องขยายกฎกติกาให้มันเป็นสากล ทีนี้มาถึงความจริงของธรรมชาติก็ยังมาแบ่งแยกอีก ไม่เป็นสากล ฉะนั้นก็ต้องให้เป็นสากล อย่างคนทำดี ไม่ว่าเป็นชาติไหน ศาสนาไหนก็ไปสวรรค์หมด คนทำชั่วไม่ว่าเป็นชาติไหน ศาสนาไหนก็ต้องไปนรกหมด มันต้องอย่างนี้ ความจริงต้องเป็นสากล ถ้าเมื่อไหร่ได้สามสากลนี้ ก็มีทางที่จะทำให้โลกมีสันติภาพได้
[43:57] ถ้ามันไม่เป็นสากล มันก็คือแบ่งแยก เมื่อแบ่งแยก มันก็ต้องขัดแย้งกัน มันก็ต้องเกิดปัญหา มันก็ไม่รู้จักจบ เพราะฉะนั้นวันนี้ก็เลยพูดเอาแง่หลักการ หลักการแค่สั้น ๆ สามหลักเท่านั้นเอง วันนี้อาตมภาพพูด แค่ทำได้สามหลักนี้ จบ เรื่องสงคราม เรื่องอะไรกันเนี่ย สันติภาพเกิดแน่ จะทำได้หรือเปล่า แต่ก็บอกเลย บอกว่า คุณทำไม่ได้คุณก็ทำไม่สำเร็จ ใช่ไหม คุณอย่ามาอ้างความยากไม่ได้นะ เราก็มีหน้าที่ที่ต้องพยายาม พยายามก็อย่างที่ว่า ด้วยมาตรการทางสังคมอะไรต่าง ๆ ที่ว่าไปขั้นนึง แล้วก็มาเรื่องการศึกษาพัฒนามนุษย์ แต่ว่าการศึกษาพัฒนามนุษย์ คนที่จะพัฒนามนุษย์ก็ต้องรู้ก่อนว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ หลักการที่แท้จริงที่จะให้สำเร็จเป็นอย่างนี้ และก็ให้เข้าใจทั่วกันยอมรับกัน ถ้ายอมรับกันก็พัฒนาคนไปสู่จุดหมายนี้ ก็มีทางที่จะประสบความสำเร็จ
[45:02] ฉะนั้นวันนี้อาตมภาพก็ขอโอกาสพูดไว้ ไปเน้นในแง่ตัวหลักการที่จะต้องแก้ไขและปฏิบัติ ส่วนแง่ของวิธีการดำเนินการนี้ คงยังไม่มีโอกาสจะมาพูดกัน ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะว่าถ้าคนรู้หลักการ และก็เข้าใจยอมรับกันดีแล้ว ก็เป็นเรื่องของคนที่มีความสามารถ จะพัฒนาวิธีการขึ้นบนฐานของหลักการนี้ วิธีการนี้หลายคนจะเก่งด้วย ขอให้เขายอมรับหลักการก่อน เราเอาไหมล่ะ หลักการที่ว่าเนี่ย หนึ่ง ต้องแก้ปัญหาเรื่องตัณหา มานะ ทิฐิ อย่างน้อยสองข้อแรกเนี่ย ต้องเน้นพยายาม ที่จะตั้งทำมาตรการ เช่น กฎกติกาที่จะให้มาดุลกันได้ หรือว่าให้ลดน้อยลงไป ให้อยู่ในขอบเขต ให้อยู่ในความเป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบอะไร เป็นต้น แล้วก็เรื่องของทิฐิ เรื่องของความใจแคบ อะไรต่าง ๆ ก็สามอย่างนี้ ตัณหา มานะ ทิฐิ ก็เป็นหลักที่หนึ่ง ชุดที่หนึ่งที่จะต้องเป็นด้านแก้ไข
[46:09] แล้วก็สอง เรื่องของความหวงแหนกีดกั้น มัจฉริยะ ๕ ประการ คือ พูดเป็นภาษาพระท่าน หนึ่ง ท่านเรียกว่า อาวาสมัจฉริยะ หวงแหนกีดกั้นซึ่งที่อยู่อาศัย ท้องถิ่นดินแดน สองก็ ลาภมัจฉริยะ หวนแหนเรื่องผลประโยชน์ สาม กุลมัจฉริยะ ความหวงแหนเรื่องชาติวงศ์พงพันธุ์ เผ่าชน กลุ่มพรรคพวก แล้วก็สี่ วัณณมัจฉริยะ ความหวนแหนกีดกั้นในเรื่องชั้นวรรณะ สีผิว แล้วก็ห้า ธัมมมัจฉริยะ ความหวงแหนกีดกั้นในเรื่องวิชาความรู้ และผลสำเร็จทางภูมิธรรมภูมิปัญญา เราก็ต้องจับจุดให้ได้ แล้วก็พยายามแก้ไขไป พัฒนามนุษย์ให้สลายเจ้าพวกนี้ ให้ปฏิบัติเพียงด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันสมมติ
[47:07] ในด้านบวก ก็คือ สร้างความเป็น สากล ๓ ประการ ขึ้นมา หนึ่ง ให้ยอมรับ ยึดถืออยู่ในใจ ให้มีความเป็นมนุษย์ที่สากล มองคนเป็นคน สอง มีเมตตาความรักที่สากล แล้วก็สาม มีกฎกติกาความจริงที่เป็นสากล ถ้าได้สากลสามอย่างนี้ ยอมรับถืออย่างเดียวกันแล้ว มนุษย์ก็หมดเครื่องแบ่งแยก ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ความแบ่งแยกทางใจหมดไปแล้ว ความแบ่งแยกอื่นมันก็หายไปเองด้วยซ้ำ ใช่ไหม ทีนี้แบ่งแยกด้านนอกมันหายไป แต่ใจมันยังแบ่ง ไม่มีทางแก้อะไรเลย เพราะฉะนั้น ตกลงมนุษย์เวลานี้ บอกตนเองว่าหมดเครื่องแบ่งแยกภายนอก เป็นโลกไร้พรมแดน แต่ใจนี่แสนจะแบ่งกัน ฉะนั้นมันก็เลยไปไม่ไหว ก็ต้องแก้ว่า “ทำใจให้ไร้พรมแดน”
[48:08] ใจไร้พรมแดน ก็ด้วยการพัฒนามนุษย์ด้วยการศึกษา อย่างที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะพูดภาษาพระ ก็เอาศีล สมาธิ ปัญญา มาปฏิบัติเสีย มาฝึกมาพัฒนาคนเสีย ก็เท่านั้นแหละ ก็ก้าวไปสู่การที่จะสลายความขัดแย้ง หมดเรื่องของการแข่งขันแย่งชิง เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นำโลกไปสู่สันติภาพและสันติสุข ก็ขอให้ทำให้ได้อย่างนี้ แต่ว่า ขั้นต้นก็คือว่า มาฟังหลักการกัน แล้วก็มาตรวจสอบ มาพิจารณา ยอมรับกันไหม ยอมรับแล้วก็มาช่วยกัน หาทางปฏิบัติต่อไป
อาตมภาพก็ขอนำข้อคิด ซึ่งเกี่ยวกับหลักการต่าง ๆ ในทางธรรมะ ในทางพุทธศาสนานี้ จะเรียกว่า เสนอหรือเผยแพร่ หรือมามอบให้แก่ท่านสาธุชนทั้งหลาย โดยเฉพาะเริ่มในวงสำคัญก็คือ ในวงของครูบาอาจารย์ ที่จะเป็นผู้ที่อยู่ที่ฐานของเรื่องนี้เลย เพราะได้บอกแล้วว่า ต้องแก้ด้วยการศึกษา เพราะฉะนั้นครูอาจารย์จะเป็นเจ้าของเรื่องนี้ต่อไป ก็คือ เป็นครูอาจารย์ที่จะสร้างสันติภาพ
เราพูดกันมาถึงการศึกษาเพื่อสันติภาพหลายปีแล้วนะ เสร็จแล้วตอนนี้ชักจะเงียบ ๆ ไป ตอนนี้ก็น่าจะรื้อฟื้นออกมา แต่ที่จริงการศึกษามันเพื่อสันติภาพอยู่แล้ว การศึกษานั้นสำเร็จผลเป็นสันติภาพและสันติสุข ทั้งนอก ทั้งใน ทั้งในโลก ในสังคม และในจิตใจของทุกคน ก็ขอให้ทุกคนเจริญงอกงามในสันติ ที่มีความสุขมาพรั่งพร้อมด้วยทั้งภายใน และขยายไปภายนอก จนให้เป็นความสุขและเป็นสันติที่เป็นสากล ก็ขอจงมีความสุขสวัสดีโดยทั่วกันทุกท่านเทอญ