แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:53] ขอเจริญพร วันนี้อาตมาภาพ คณะพระสงฆ์ขออนุโมทนาคณะอาจารย์ญาติมิตรลูกศิษย์ทั้งหลายที่ได้มาทำบุญร่วมกัน ด้วยมีน้ำใจปรารถนาดีต่อท่านศาสตราจารย์ด็อกเตอร์อภิชัย พันธเสน ในโอกาสที่ท่าจะครบเกษียณราชการ
[01:25] พูดง่ายๆ อย่างชาวบ้านก็เรียกว่ามาทำบุญกับท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของบุญกุศล เริ่มจากน้ำใจ ใจที่ดี มีความปราถนาดีต่อกันก็ทำให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจ มีความสามัคคี ในความสามัคคีทางใจก่อน แล้วก็แสดงออกมาทางกาย ด้วยการมาร่วมประชุมกัน
[01:53] ทางพระเรียกว่าสามัคคี 2 อย่าง คือ จิตสามัคคี ความสามัคคีทางใจ แล้วก็ กายสามัคคี ความสามัคคีทางกาย ความสามัคคีที่แท้ต้องมีทั้ง 2 อย่าง [02:09] บางทีเรามาร่วมประชุมกัน กายมาอยู่ด้วยกันพร้อมเพรียง แต่ว่าใจไม่รวมกัน อย่างนั้นไม่ใช่สามัคคีแท้ เป็นแค่กายสามัคคี แต่วันนี้นั้นชัดเจนว่าเริ่มที่จิตสามัคคี สามัคคีทางใจ ใจรวมกันแล้วก็เลยพากันมา ก็ได้กายสามัคคี ประสานเข้าไปก็ครบถ้วน เป็นสามัคคีที่สมบูรณ์ ก็ขออนุโมทนาด้วย
[02:43] การแสดงน้ำใจในโอกาสอย่างนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าสอดคล้องกับโอกาสหรือกาลเวลาที่สำคัญ เพราะว่าการเกษียณราชการนั้นเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ท่านที่จะเกษียณอายุราชการนี้ก็ทำงานมานาน หลายท่านก็ทำงานมาตั้งแต่จบมหาวิทยาลัย ก็ทำงานทันทีเลย คิดเป็นเวลานี้ยาวนานหลายสิบปี เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้เนี่ย บางทีให้รู้สึกเหมือนว่าใจหายเลย จะต้องเปลี่ยนแปลงจากคนที่ทำงานร่วมกัน จากสถาบันก็มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ แล้วในที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงกับตัวงานที่ทำ
ถ้าเรารักงาน ชอบงาน เรียกว่าคลุกอยู่กับงานมาตลอด อยู่ๆ มาละไปนี่ก็ใจหายเหมือนกัน อันนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ญาติมิตรทั้งหลายก็เห็นความสำคัญอันนี้ก็เลยแสดงน้ำใจ เพื่อว่าเป็นการให้กำลังใจกับท่าน
แต่ความจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงในโอกาสอย่างนี้ ก็ไม่เหมือนกันสำหรับแต่ละท่านแล้วก็แต่ละวงการอาชีพด้วย งานการบางอย่างนั้น เวลาเกษียณอายุราชการนั้นเหมือนอย่างกับตัดตอนขาดหายไปเลย เปลี่ยนแปลงเรียกว่าโดยสิ้นเชิง หมดฐานะ หมดภาวะไปเลย แต่ว่าถ้าเป็นงานอย่างครูอาจารย์นี่ บางทีไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอะไร เกษียณไปแล้วก็ยังมาช่วยลูกศิษย์ลูกหา มาสอนต่อไปอีก แล้วก็การงานประเภทของครูอาจารย์เนี่ย ถึงไม่สอนใคร ตัวเองก็ค้นคว้าหาความรู้แต่งตำรับตำราต่อไป ก็เลยบางทีก็ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอะไรมาก
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็รวมแล้วเรียกว่าโดยกำหนดการทั่วไปก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แล้วจะเป็นการตัดตอนขาดหายอะไรก็ตาม ที่จริงถ้ามองให้ดีแล้วก็มีแง่มุมที่เป็นประโยชน์ หมายความว่าอยู่ในราชการ ทำงานไปตอนไม่เกษียณก็ดี เกษียณแล้วก็ดี เพราะว่าการเกษียณอายุราชการนี้ทำให้มีความหมาย ได้ความหมาย ได้ประโยชน์หลายอย่างเหมือนกัน
แต่ว่าถ้าพูดโดยย่อ ในขั้นต้นนี้ การเกษียณอายุราชการก็มีความหมายอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า ท่านเจ้าของอายุได้ทำงานทำการสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ประเทศชาติ แก่สังคม ครูอาจารย์ก็ได้สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา ให้ความรู้ สร้างปัญญา มาให้เยอะแยะแล้ว เมื่อได้ทำงานมาพอสมควรมากแล้ว ก็น่าจะได้มีเวลาพักผ่อนบ้าง การมีเวลาพักผ่อน ก็ได้มีเวลาเป็นของตนเอง นอกจากพักแล้วก็ยังได้มีเวลามาชื่นชมกับผลงาน ชื่นชมกับประโยชน์ที่ได้ทำไว้ สร้างสรรค์ เรียกว่ามีปิติและความสุข อิ่มใจ ปลื้มใจกับสิ่งที่ได้ทำไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ กับสังคม
ใครก็ตามที่ได้ทำงานอย่างนี้ สร้างสรรค์ประโยชน์ไว้แล้วเนี่ย ก็มีสิทธิที่จะได้ชื่นชมผลงาน นึกขึ้นมาในใจว่าเราได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ได้สร้างสรรค์ความดีไว้ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่ก็มีความสุข ฉะนั้นก็เป็นความสุขที่ประณีต เป็นความสุขที่ลึกซึ้งอยู่ภายในจิตใจ พอนึกขึ้นมาก็สุขเมื่อนั้น ไม่เหมือนกับความสุขภายนอกทางวัตถุ ที่ว่าพอได้เสพได้บริโภค เสร็จแล้วก็แล้วกัน พอนึกขึ้นมาก็เสียดาย แต่ว่าถ้าเป็นความสุขแบบการได้บำเพ็ญประโยชน์
การให้มีชีวิตที่มีคุณค่านี่ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่ก็สุขเมื่อนั้น อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นแง่ดี ก็เรียกง่ายๆว่าเป็นโอกาสที่จะไดชื่นชมความเสียสละ การบำเพ็ญประโยชน์ สิ่งที่ได้สร้างสรรค์ไว้ คุณงามความดีต่างๆ ทีนี้ในอีกแง่หนึ่ง ถ้ามองไปยังผู้อื่น ผู้อื่นก็คือสถาบัน ประเทศชาติ ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่นลูกศิษย์ลูกหา ท่านที่เกษียณอายุราชการได้ทำงานไว้ ทำประโยชน์ไว้ให้แล้วแก่สังคมประเทศชาติ ก็ถึงเวลาที่สังคมประเทศชาติจะได้มาแสดงน้ำใจตอบแทนคุณความดีของท่าน โดยให้โอกาสท่านได้พักผ่อนบ้าง เหน็ดเหนื่อยมาเยอะแล้ว ตอนนี้เราก็แสดงน้ำใจต่อท่านบ้าง ก็เป็นประเทศชาติแสดงออกเป็นรูปธรรมก็อย่างที่ตอนนี้ก็ให้พักผ่อน ได้รับบำเหน็จบำนาญอะไรอย่างนี้ ถือว่าเป็นการแสดงน้ำใจตอบแทนคุณ แล้วก็ช่วยดูแลต่อไปด้วย
ลูกศิษย์ลูกหาสถาบันก็ไม่ทอดทิ้งท่าน ก็เป็นความอบอุ่นอย่างหนึ่ง ถ้าเรียกภาษาพระก็เรียกว่าเป็นความกตัญญูกตเวที แต่ว่านอกจากนั้นก็คือว่า ด้วยการที่มีท่านผู้ทำงานมาก่อน มีประสบการณ์ทำงานไป สร้างสรรค์ประโยชน์ ทำความดีไป ก็เป็นแบบอย่าง เป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลัง มีคุณความดีที่ได้ทำไว้ ซึ่งคนที่เป็นอนุชนจะได้ถือเป็นแบบอย่าง อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นการบูชาคุณ
บูชาคุณก็คือยกย่องคุณความดี นำเอาคุณความดีนั้นมาให้ความสำคัญ แล้วก็มาประกาศกันไว้ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ในฝ่ายสังคม ประการต่อไป หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว การเกษียณนี้ก็ยังมีความหมายสำคัญอีก คือตอนนี้ว่าไปในแง่หนึ่งก็เป็นอิสระ แต่ก่อนนี้ต้องอยู่ในพันธะ อยู่ในวงงานอะไรก็ตาม ก็มีภาระที่เขากำหนดให้ แม้ตัวเองจะชอบงานนั้น แต่ถึงยังไงก็มีภาระรับผิดชอบผูกพัน บางอย่างอยากจะทำก็ไม่ได้มีโอกาสจะทำ ก็ต้องยอมให้เวลาแก่ภารกิจนั้น ทีนี้ตอนนี้เป็นอิสระแล้ว เป็นอิสระก็คือว่า หนึ่ง-ในแง่พ้นไป พ้นภาระความรับผิดชอบ กำหนดผูกพันมัดตัวต่างๆ เนี่ย อันนี้ก็เป็นอิสระที่ทำให้ปลอดโปร่ง สอง-เป็นอิสระที่จะทำ
ทีนี้เลือกใจชอบ อยากจะทำอะไรก็ทำได้ตามชอบใจ เรียกว่ามีฉันทะ พอใจอยากจะทำอะไร บางทีเรามีงานบางอย่างที่ใจอยากจะทำ แต่ว่างานการในหน้าที่รับผิดชอบในราชการนี้ก็ทำให้เราไม่สามารถจะทำได้เต็มที่ ตอนนี้เป็นอิสระแล้ว จะทำไงก็ทำได้เต็มที่ ก็เรียกว่ามีเวลาเป็นของตัวเอง ความเป็นอิสระนี้เป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นการมองในแง่ดี การเกษียณอายุราชการก็เป็นประโยชน์ คนเราก็มีอายุอยู่ในโลกนี้ก็ตามขอบเขตช่วงชีวิตตามธรรชาติ กฎธรรมชาติก็มีเวลาแน่นอน ถึงแม้จะยึดหยุ่นไม่เท่ากันก็ตาม แต่ก็ระยะเช่นว่าประมาณ 100 ปีอะไรอย่างนี้ ในช่วงชีวิตนี้ก็เหมือนกับว่าเขาได้แบ่งมาให้แล้ว เขาอาจจะแบ่งในแง่ว่าคนหลังจากอายุ 60 ไปทำงาน ก็ร่างกายไม่แข็งแรง หรือมองอีกแง่หนึ่งก็คือว่าก็น่าจะมีเวลาอีกส่วนหนึ่งที่จะได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ตัวเองรักอยากจะทำ
อันนี้ก็กลายเป็นว่าได้แบ่งส่วนอย่างดีเลย ตอนโน้นทำให้แก่สังคมตามภาระข้อกำหนด ต่อไปนี้ทำของฉันบ้างแล้วนะ ทำที่ฉันชอบใจอยากจะทำ ตอนนี้เลือกทำตามที่พอใจเลย อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เขาเรียกว่าทำสิ่งที่ตัวมีฉันทะ แล้วท่านที่ตั้งใจมองชีวิตหลังเกษียณอายุราชการแบบนี้ จะทำให้ชีวิตมีพลังเข้มแข็ง คือคนในหลายวงอาชีพ แล้วก็ท่านที่ตั้งใจมองไม่ถูก เวลาเกษียณอายุราชการเนี่ย บางคนมีจิตใจรู้สึกเหงาว้าเหว่ รู้สึกขาดหายไป แล้วหลังจากเกษียณอายุราชการก็เลยเหี่ยวเฉา ใจคอก็ไม่สบาย แต่ทีนี้ถ้าหากตั้งใจมองว่าเป็นโอกาสของเราแล้ว ก็มากำหนดคิดเลือกแล้วว่า อะไรนะที่เราจะทำที่ดีงามเป็นประโยชน์ใจรัก ตอนนี้เลือกเอามาเลย แล้วพอใจอยากจะทำสิ่งนั้นขึ้นมา ก็ดีใจเลยทีนี้ ว่าตอนนี้เป็นโอกาสของเราแล้ว จะทำงานนี้ได้เต็มที่เลย ไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรคมากีดขวางมาแย่งเวลา
ทีนี้ตอนนี้พลังชีวิตจะเกิดขึ้น นี่แหละสิ่งที่ท่านเรียกว่าอายุ คำว่าอายุในภาษาพระเป็นความหมายที่ดี ถ้าอายุมากหมายความว่ามีพลังชีวิตมาก ไม่ใช่หมายความว่าอายุมากแล้วหมดแรง ทีนี้เราใช้กันผิด ไม่งั้นพระจะให้พรทำไม อายุวัณโณสุขังพลัง ขอให้มีอายุ วรรณะ สุขขะ พละ ก็อายุ คนไทยก็นึกในแง่อายุยืน ก็ถูกในแง่หนึ่ง แต่ว่าอายุที่จริงมีความหมายว่าพลังชีวิต คือพลังสืบต่อให้ชีวิตยืนยาว ทีนี้คนที่จะมีพลังชีวิต ก็ตัวสำคัญในพระพุทธศาสนาท่านบอกว่า ตัวอะไร ตัวใจที่มีความรักความปรารถนาจะทำ ถ้าใจเรารักปรารถนาจะทำอะไร เราเห็นว่าดี มีคุณค่า เป็นประโยชน์ อันนั้นแหละจะทำให้เกิดพลังชีวิต
ภาษาพระเรียกว่าฉันทะ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าฉันทะนี้เป็นตัวปัจจัยที่จะทำให้อายุยืนยาว อยู่ในหลักที่เรารู้กันดีเรียกว่าอิทธิบาท 4 พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าถ้าเราต้องการจะอยู่ให้ครบอายุกัป คือช่วงชีวิตที่คนเขาอยู่กันตามปกติ เช่นว่าไม่อยู่แค่ 80 ปี จะอยู่ไปอีก พระองค์ก็อยู่ได้ โดยที่มีฉันทะ เรียกว่าเจริญอิทธิบาท เริ่มข้อหนึ่ง มีฉันทะก็คือว่างานพระศาสนาตอนนี้ยังมีเรื่องต้องทำอันนั้นอันนี้ ใจมุ่งไปเดี๋ยวก็มีพลังชีวิตทำ ทีนี้ตอนนั้นพระองค์ได้พิจารณาเห็นแล้วว่า ตอนนี้พระพุทธศาสนาก็ตั้งมั่นคง พุทธบริษัททั้ง 4 ก็มีความรู้ความสามารถที่จะทำงานแทนพระองค์ได้แล้ว พระองค์ก็เลยปลงสังขารบอกว่าเอาแค่นี้แหละ เรียกว่าปลงอายุสังขาร ถ้าหากว่าพระองค์ต้องการจะทำเรียกว่ามีฉันทะ จะเกิดพลังขึ้นมา
ก็ดูธรรมดาคนเราเนี่ย ที่ตัวฉันทะที่ทำให้เกิดกำลังใจข้อแรกเลย คนเราเนี่ยใจห่อเหี่ยวไม่มีความอยากไม่พอใจจะทำอะไร ใจมันก็แห้งเฉา หมดแรง แม้แต่มีกำลังยังหมดแรงเลย กำลังกายมี แต่กำลังใจไม่มี หมดเลย แต่คนที่แม้แต่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง แต่เกิดมีอะไรที่ใจชอบใจรักอยากจะทำขึ้นมานี่ มันมีแรงขึ้นมาเลย แล้วมันจะส่งผลให้ร่างกายพลอยดีขึ้นมาด้วย เพราะฉะนั้นท่านจึงถือว่าฉันทะนี่เป็นตัวแรกที่จะทำให้ชีวิตเรามีพลัง เกิดอายุหรือพลังอายุขึ้นมา นี่ก็เลยถือเป็นหลักว่า
อิทธิบาทเริ่มด้วยข้อที่หนึ่ง ฉันทะ ก่อน มีฉันทะกำหนดได้ว่าอันนี้เราอยากจะทำ ตอนนี้มีเวลาแล้วตั้งใจอยากจะทำเต็มที่ ตัวความอยากอันนี้ท่านเรียกว่าความอยากที่เป็นกุศล เรียกว่าฉันทะ ไม่ใช่ ตัณหา ความอยากที่เป็นกุศลนี้เป็นพลังชีวิต ซึ่งจำเป็น พระพุทธเจ้ามีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือมีฉันทะไม่ลดหย่อนลงเลย หมายความว่าพระองค์นี่ทรงดำรงพระชนม์อยู่นี่ บำเพ็ญพุทธกิจ จะไปช่วยใคร จะไปเผยแผ่ศาสนา สอนธรรม คิดถึงคนนั้นคนนี้ ว่าเขาควรจะได้ประโยชน์นี้ เขาควรจะพ้นจากปัญหาอันนี้ มีพลังใจอยากจะทำงานนั้นอยู่เรื่อยนี่ท่านเรียกว่าฉันทะ พระพุทธเจ้านี่มีฉันทะไม่ลดถอยเลย เขาเรียกว่าเป็นพุทธธรรมประหนึ่งใน 18 ประการ
คนที่จะมีความสามารถแล้วก็มีพลังเข้มแข็งทำความดีต้องมีตัวนี้เป็นตัวแรกเลย มีพลังฉันทะ ความใฝ่ ความปรารถนา ความรัก อยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่ตนเห็นว่าดี มีคุณค่าเป็นประโยชน์ แล้วก็จะมุ่งไป ต่อไปนั้นมันก็จะเกิดเองตัวที่สอง วิริยะ ความเพียรพยายาม ความมีใจแกล้วกล้าเข้มแข็งก็ตามมา ที่เราเรียกว่าอิทธิบาทข้องสอง วิระยะ สามต่อไปก็มี จิตตะ ก็แปลว่าความมีใจมุ่งอุทิศตัวอุทิศใจให้กับสิ่งนั้น ที่เราว่าใจฝักใฝ่ ภาษาสมัยใหม่ที่พูดให้เข้าใจง่ายก็คืออุทิศตัวอุทิศใจให้กับสิ่งนั้น เวลามีงานอะไรอยากจะทำนี่เรารักมันจริงๆ เดี๋ยวใจเราก็มุ่งไปที่สิ่งนั้นแหละ ไม่คิดไปเรื่องอื่นหรอก ตอนนี้คนแก่สำคัญเรื่องนี้ เวลาอายุมากขึ้นแล้วไม่มีอะไรทำนะ เที่ยวไปเก็บเล็กเก็บน้อย ตาเห็นโน่น หูฟังนี้ บางทีลูกหลานมาพูดอะไรนิดหน่อยกระทบใจเอาเก็บไปคิด ก็ใจไม่ดีไม่สบาย ใจหงุดหงิด ขี้บ่น ทั้งทางหูทางตานี่เข้ามา เก็บหมด เพราะอะไร
เพราะว่าใจไม่มีสิ่งที่จะมุ่งไปหรือจะทำ ถ้าหากว่าใจเรามีอะไรจะมุ่งจะทำ เจออะไรใครจะพูด เจออะไรใครจะทำกิริยาอาการขัดหูขัดตาบ้าง อาจจะโกรธหน่อยตอนเฉพาะหน้า เดี๋ยวมันก็ลืม พอใจไปอยู่กับเรื่องที่จะทำ ทีนี้คนแก่นี่ถ้าไม่มีเรื่องจะทำนี่ยุ่ง เพราะใจมันจะมากระทบอย่างนี้ แล้วจะเกิดปัญหา แล้วจะพลอยให้อายุสั้นด้วย หนุ่มสาวอะไรต้องช่วยด้วย แล้วคนแก่เองถ้ารู้เคล็ดลับแล้วก็หาย คือว่าเรามีอะไรที่อยากจะทำซะ พออยากจะทำแล้ว เจออะไรนิดหน่อยไม่เก็บ เดี๋ยวมันลืมหมด เพราะใจมันมุ่งอุทิศไปที่ใจรักอยากจะทำ ฉะนั้นให้มีไว้ จิตตะมันก็เกิด พอจิตตะเกิดจิตก็แน่วแน่มันก็มีพลังร่วมมากขึ้น แล้วทีนี้วิมังสา ก็คิดสิคิดไตร่ตรองพิจารณาวิธีทำจะแก้ไขจะปรับปรุงอย่างไรมีข้อบกพร่องอย่างไร มีหนทางปรับปรุงทำให้ดีขึ้นอย่างไร ปัญญาก็ใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ปัญญามาคิดปรุงแต่งเรื่องไม่เป็นเรื่องอะไร ไปเอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาคิดปรุงแต่งก็เกิดโทษแก่ตนเอง แต่ถ้าคิดในเรื่องของงานการที่จะทำใจรักอย่างนี้ เรียกว่าวิมังสา พอวิมังสาเกิด ปัญญาก็จะเจริญงอกงาม
แทนที่จะสมองฝ่อก็ไม่ฝ่อ นี่คนแก่ก็ยังต้องระวังอย่างหนึ่งก็คือสมองฝ่อ เพราะว่าไม่ได้ใช้ความคิด หรือใช้ความคิดผิด คิดมัวปรุงแต่งกลุ้มใจ ไม่สบายใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ ฉะนั้นถ้าได้ครบ 4 แล้วไม่ต้องพิจารณาอะไรมาก ก็เห็นชัดๆ อยู่แล้ว ทำให้อายุยืน เพราะฉะนั้นหลักพระพุทธเจ้ามันแน่นอนเด็ดขาดอยู่แล้ว อิทธิบาท 4 หนึ่ง-ฉันทะ มีใจรักอยากจะทำอะไร สิ่งที่ดีมีคุณค่า มองไว้ ตั้งใจ สอง-ก็มีวิระยะ มีความเพียร มีใจเข้มแข็ง เกิดกำลังใจที่จะทำ แล้วก็สาม-มีใจฝักใฝ่ อุทิศตัวอุทิศใจให้กับสิ่งนั้น แล้วก็วิมังสา มีปัญญา ใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาแก้ไขปรับปรุงเป็นต้น แม้แต่ว่าไม่มีอะไรจะทำ มีงานอดิเรก อย่างบางท่านนี้พออายุมาก เกษียณแล้วก็ไปทำสวน ไปปลูกต้นไม้ ใจก็อยู่กับเรื่องจะทำนั่นแหละ ก็มีฉันทะอยากจะทำ แล้วก็มีความเพียรจะทำ แล้วใจไปก็อุทิศตัวอุทิศใจ ใจฝักใฝ่มุ่งอยู่ที่นั่น ไม่เอาอะไรกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่หงุดหงิด ไม่จู้จี้ แล้วก็มาอยู่กับการใช้ปัญญาอีก วิมังสาเกิด ครบอิทธิบาท 4 ตอนนี้ ก็เลยทำให้มีความสุขด้วย พลังชีวิตก็เข้มแข็งขึ้น อายุยืนเลย
เพราะฉะนั้นคนแก่ก็ไม่ต้องใจห่อเหี่ยว ไม่ต้องเฉา ไม่ต้องแห้ง แต่ว่าให้สดชื่นมีพลังด้วยอิทธิบาท 4 มีพลังอายุอย่างที่กล่าวมานี้ ทีนี้นี้ก็เป็นคุณค่าประการหนึ่ง การเกษียณอายุราชการก็เท่ากับว่าเป็นโอกาสอย่างที่กล่าวมาแล้วก็คือว่า ได้เป็นอิสระ พ้นจากภาระผูกพันข้อกำหนด แล้วพร้อมกันนั้นก็เป็นอิสระในแง่ที่ว่าสามารถจะเลือกทำสิ่งที่ต้องการได้ แล้วยังมีอีกประการหนึ่งที่เหนือจากนั้นอีกก็คือว่าเราธรรมดาเกิดมาเนี่ย ชีวิตของมนุษย์นี่พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นผู้ที่ต้องพัฒนา ท่านเรียกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก หรือฝึกได้ เมื่อพัฒนาไปแล้วเราก็เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ทางพฤติกรรม ทางจิตใจ ทางปัญญา จนกระทั่งไม่มีที่สิ้นสุด
ตั้งใจอยากจะเป็นพระพุทธเจ้าก็สามารถตั้งใจบำเพ็ญเพียนเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าได้ ทุกคนมีสิทธิ์ทั้งนั้น ทีนี้คนเราเกิดมาแต่ละชีวิตนี้เราก็มีสิ่งที่จะต้องเข้าถึง หรือจะเจริญงอกงามไปเยอะแยะหมดเลย ในงานการราชการเป็นต้น บางทีมันก็กลายเป็นว่าแม้จะทำดีงามเป็นคุณประโยชน์ แต่อีกด้านหนึ่งมันก็มาบีบมาเป็นกรอบเราเหมือนกัน ทำให้เรานี้อยู่ในขอบเขตจำกัด เรามีอะไรที่ต้องทำเพื่อพัฒนาชีวิต เข้าถึงสิ่งที่ดีงามสูงสุดขึ้นไป เวลาเกษียณอายุราชการแล้วก็เป็นโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตให้ไปถึงสิ่งที่ดีงามสูงสุด ให้เป็นชีวิตที่อุดมที่สมบูรณ์ ที่เกิดมาทั้งทีแล้วได้สิ่งที่ประเสริฐที่สุด ตอนนี้แหละจะเป็นโอกาสของเราเต็มที่ อย่างในทางพระท่านบอกว่าจัดอัตถะหรือจุดหมายของชีวิตไว้ 3 ระดับ คนเราเกิดมาก็ควรให้ได้ครบ 3 ระดับ
ระดับที่ 1 – ทานบอกว่าได้แก่จุดหมายขั้นตาเห็น จุดหมายชีวิตขั้นตาเห็นคืออะไร ก็คือหนึ่ง-สุขภาพร่างกาย ทำร่างกายให้แข็งแรงมีสุขภาพดี ก็เป็นประโยชน์ตาเห็นขั้นหนึ่ง สอง-เรื่องเงินทองทรัพย์สิน เศรษฐกิจ การที่เราจะทำมาหาเลี้ยงชีพ เก็บเงินเก็บทองไว้ให้มีทรัพย์ในชีวิตของตัวเองให้ดีมีความสุข ให้ญาติมิตรคนในรับผิดชอบมีความสุข ก็เป็นจุดหมายชีวิตอันหนึ่ง ทางพุทธศาสนาก็ให้ความสำคัญมาก โดยมากจุดหมายขั้นตาเห็นเราจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งที่ข้ออื่นมันก็น่าเน้น แต่ว่าเรามักจะเน้นข้อนี้ ซึ่งพุทธศาสนาก็ให้ความสำคัญมาก ต่อเมื่อความหมายทางเศรษฐกิจด้านทรัพย์สินเงินทอง แล้วต่อไปสาม-ก็สถานะทางสังคม
การเป็นที่ยอมรับในสังคม การมีตำแหน่งหน้าที่การงาน มียศมีศักดิ์ มีอิสริยยศ มีเกียรติยศ มีบริวารยศ ก็ถือว่าเป็นจุดหมายชีวิตอย่างหนึ่ง เราก็ตั้งใจกันสร้างสรรค์ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า แล้วสี่- ถ้ามีครอบครัวก็มีครอบครัวที่ผาสุก อยู่กันร่มเย็นมีความอบอุ่นอย่างนี้ สี่อย่างนี้เป็นประโยชน์หรือเป็นจุดหมายในระดับตาเห็น ถือว่าคนที่เกิดมาแล้วนี่ โดยเฉพาะเมื่อเป็นคฤหัสถ์ต้องพยายามเข้าถึงให้ได้ เอาไว้ตรวจสอบตัวเอง แต่ทีนี้มันไม่พอ ท่านบอกว่านี่เป็นเพียงอัตถะขั้นที่หนึ่ง ประโยชน์สุขจุดหมายชีวิตขั้นที่หนึ่งนี้ได้บรรลุถึงก็ดีแล้ว แต่ว่ายังไม่เป็นหลักประกันชีวิตที่ดีงาม
เป็นชีวิตที่มีแต่ไม่แน่ว่าเป็นชีวิตที่ดีหรือเปล่า ไอ้มีนะมีแน่ แต่ดีหรือไม่ดี ต้องดูอีกที ทำไมบางคนนี่พอมีทรัพย์สินเงินทอง มียศ มีตำแหน่ง มีอำนาจ มีบริวารมาก ก็ลุ่มหลงมัวเมา ใช้ชีวิตไม่เป็นประโยชน์ แถมบางทีไปข่มเหงเบียดเบียนคนอื่นอีก ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจต่างๆ เหล่านั้นก็กลายเป็นเครื่องเบีบดเบียนเพื่อนมนุษย์ ก็เสียหาย เพราะฉะนั้นไม่เป็นหลักประกัน มีแล้วไม่พอ ต้องดีด้วย เพราะฉะนั้นท่านก็บอกว่าให้ก้าวไปสู่จุดหมายอีกขั้นหนึ่ง
จุดหมายขั้นต่อไปท่านเรียกว่า จุดหมายเลยตาเห็น ก็เป็นนามธรรม ลึกเข้าไปในจิตใจจนกระทั่งถึงโลกหน้าอะไรต่ออะไร เป็นหลักประกันไปหมดเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องของด้านจิตใจ ก็มีอะไร เช่น หนึ่ง-มีอุดมคติ มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีศรัทธาในคุณงามความดี มีศรัทธาในหลักพระศาสนาในธรรมะในพระรัตนตรัย มีศรัทธาในการกระทำความดีหรือในกรรมดี เรียกว่ามีอุดมคติที่จะสร้างสรรค์ทำความดี คนที่มีใจประกอบด้วยศรัทธา มีความเชื่อมีความมั่นใจในอุดมคติในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงามในพระศาสนาในบุญในกุศล ก็อยู่ในข้อนี้ คนที่มีศรัทธานี้ แม้แต่อยู่คนเดียวใจก็ไม่เหงาไม่ว้าเหว่ คนที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจนี่ ต้องมีเพื่อนข้างนอก เวลาไม่มีเพื่อนข้างนอกแล้ว ใจเหงาใจว้าวุ่น
ถ้าคนมีศรัทธานี่ท่านเรียกว่ามีเพื่อนใจ อยู่ได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็สำคัญ แล้วมันมีหลักให้ดำเนินชีวิตได้ แล้วต่อไปอะไร จุดหมายเลยตาเห็นประการที่สองก็คือว่าการดำเนินชีวิตที่สุจริต สะอาด เราดำเนินชีวิตของเรานี่ ชีวิตของเราไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ไม่ได้เบียดเบียนใคร ไม่ได้ทำร้ายเพื่อนมนุษย์อะไรต่ออะไร นึกขึ้นมาก็สบายใจได้ ก็เป็นความมั่นใจในชีวิตประการหนึ่ง ต่อไปที่ยิ่งกว่านั้นก็คือนอกจากดำเนินชีวิตสุจริต สะอาดแล้ว ก็ได้ทำชีวิตให้มีคุณค่า ให้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขไว้ นี่แหละที่ว่าท่านผู้เกษียณอายุราชการนี่ได้เปรียบในข้อนี้ ก็คือได้ทำประโยชน์ไว้แล้ว ก็เป็นคุณค่าเป็นจุดหมายชีวิตในระดับสูงขึ้นไปขั้นเลยตาเห็น คือการที่ว่าได้ทำชีวิตนี้ให้มีคุณค่าเป็นประโยชน์แล้ว ทำอะไรก็มีความอิ่มใจ มีความสุขได้ นี่ก็เป็นประการที่สาม ต่อไปก็คือมีปัญญา ที่จะแก้ไขปัญหารักษาตนเองได้
แล้วก็ได้ทำไว้แต่กรรมดี ก็ไม่ต้องกลัวภัยโลกหน้า ที่ทำกรรมดีไว้แล้วนี่ ไม่ต้องไปห่วงหรอกโลกหน้า ท่านถือว่ามีหลักประกันอยู่ในตัวแล้ว ไม่ต้องไปห่วงใย ก็หมดปัญหาเลย ทีนี้นอกจากนั้นข้อสำคัญก็คือเมื่อเรามีจุดหมายขั้นเลยตาเห็นทางจิตใจ เช่นมีศรัทธา มีอุดมคติในการทำความดี ในการสร้างสรรค์ประโยชน์ มีตัวจาคะ การเสียสละ การปรารถนาดีอยากจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นี้ ตัวจุดหมายชีวิตขั้นที่หนึ่งที่ว่าขั้นตาเห็น ที่สร้างสรรค์ไว้ เป็นทรัพย์สินเงินทองก็ตาม ยศศักดิ์บริวารก็ตาม หรือแม้แต่กำลังร่างกายนี่ มันจะถูกนำมาใช้ในการสร้างสรรค์เป็นประโยชน์หมด ตอนนี้ตัวจุดหมายเลยตาเห็นขั้นที่สอง มันจะมาคุมและเป็นหลักประกันให้ประโยชน์หรือจุดหมายขั้นแรกเป็นไปในทางที่ดีงาม เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น อย่างเรามีคุณความดีมีใจรักจะทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ เรามีจิตใจที่สุจริต มีศรัทธาในการกระทำความดี เรามีทรัพย์มาก เราก็ใช้ทรัพย์นั้นมาสร้างสรรค์ประโยชน์
เรามียศศักดิ์มีตำแหน่งหน้าที่ มีบริวารมาก เราก็ได้ยิ่งทำประโยชน์ได้มาก ในกรณีนี้ถ้าคนที่แม้แต่จิตใจดี มีความดีในจิตใจมาก แต่ว่าขาดเงินทอง ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีอำนาจบริวาร ทำอะไรก็ติดขัดได้แคบๆ แต่คนที่มียศศักดิ์บริวาร มีตำแหน่ง มีเงินทองมากนี่ ถ้าหากว่ามีจุดหมายขั้นที่สองเข้ามา คือมีเรื่องของความดีเข้ามานี่ คราวนี้แหละทำประโยชน์ได้มากมาย เป็นประโยชน์แก่โลกมหาศาล จุดหมายขั้นที่หนึ่ง ถ้าคนไม่ดีนี่ทำโทษแก่มนุษย์ได้มหาศาล ฆ่าคนก็ได้เป็นล้าน หรือแทบทั้งโลก ทำสงครามโลกก็ได้ แต่ถ้าหากว่าเป็นคนดี ใจดีมีจุดหมายขั้นที่สองแล้ว ก็มาคุมให้ทรัพย์สินเงินทอง ยศศักดิ์บริวาร เป็นประโยชน์ เลยสร้างประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ได้เป็นมหาบุรุษที่ทำชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์เป็นไม่รู้กี่ร้อยล้านคน หรือว่าเป็นเวลาก็เป็นร้อยๆ พันๆ ปี เหมือนอย่างพระศาสดาที่ได้สร้างสรรค์ความสุขให้คำสอนที่ดีงามไว้เนี่ย ฉะนั้นประโยชน์จุดหมายเลยตาเห็นนี้ก็นอกจากดีกับตนเองแล้ว
ข้อสำคัญที่ว่าจะช่วยทำให้ประโยชน์สุขขั้นที่หนึ่งหรือจุดหมายชีวิตขั้นที่หนึ่งที่ตาเห็น มันเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงด้วย นี่ก็เป็นจุดหมายขั้นที่สอง อย่างท่านที่เกษียณอายุราชการนี้ ก็นับว่าได้ทำประโยชน์ 2 ขั้นนี้แล้ว คือขั้นที่หนึ่ง-ขั้นตาเห็น มีร่างกายสุขภาพก็พยายามรักษาสุขภาพกันมา อีกด้านหนึ่งทรัพย์สินเงินทองก็มีกันพอสมควร ยศศักดิ์ ฐานะ ตำแหน่ง หน้าที่ การยอมรับในสังคมก็ได้แล้ว ครอบครัวก็ได้มีมา ก็เรียกว่าประโยชน์ชีวิตที่เป็นจุดหมายขั้นที่หนึ่งก็ได้แล้ว ทีนี้ต่อไปขั้นที่สอง ก็ได้ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ได้ดำเนินชีวิตมาดีงามก็พิสูจน์ตัวเองมาแล้ว ก็เรียกว่าได้ประโยชน์ 2 ขั้น เมื่อได้ประโยชน์ 2 ขั้นนี้ ทั้งจุดหมายที่ตาเห็นและจุดหมายที่เลยตาเห็น พระพุทธเจ้าบอกว่าท่านผู้นี้เป็นบัณฑิต คนเราจะเป็นบัณฑิตทางพระศาสนาถือว่าวัดด้วยอันนี้ เรียกว่า อัด-ถา-พิด-สะ-มา-ยา-ที-โร-บัน-ดิด-โต-ติ-กะ-วุด-ตะ-ติ แปลว่าผู้ที่บรรลุจุดหมาย 2 ขั้นนี้ คือทั้งตาเห็นและเลยตาเห็นนี่เรียกว่าเป็นบัณฑิต ถ้ายังไม่ครบ 2 ขั้นนี่ ท่านยังไม่ถือเป็นบัณฑิต อันนี้เป็นบัณฑิตในความหมายที่แท้จริง ดั้งเดิมแท้ บัณฑิตเดิมแท้เป็นอย่างนี้ ทีนี้ก็คนที่เป็นบัณฑิตจบมหาวิทยาลัย ถ้ายังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองนี่ ทางคณะยังไม่ยอมรับหรอก เอาละทีนี้ เป็นอันว่าตอนเป็นบัณฑิตนี่ ได้ 2 ขั้น
แต่ทางพระบอกว่าจุดหมายชีวิตยังไม่จบ มี 3 ขั้น คือตอนนี้ เรามีหนึ่งแล้วมี สองดี แล้ว แต่ว่า มี แล้วก็ ดี ก็ยังไม่พอนะ เพราะอะไร เพราะว่าคนมีก็ตาม คนดีก็ตาม ยังมีทุกข์ได้ เพราะอะไร เพราะว่าชีวิตมนุษย์เราเนี่ย ไม่ว่าคนดีคนมี อะไรต่างนี่ บัณฑิตอะไรต่างๆ คนพาล คนยากจน คนมั่งมี เนี่ย มีอันหนึ่งที่ร่วมกันคือ ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติเช่นว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกคนมีเสมอกัน ทีนี้เมื่อทุกคนตกอยู่ในภาวะใต้กฎธรรมชาติอย่างนี้ เจอความผันผวนปรวนแปรอะไรเป็นต้น คนดีก็ทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะคนมี คนมี ทุกข์แน่ คนมีแล้วก็หายไปกลายเป็นจน อันนี้ก็ทุกข์แน่นอน แต่ทีนี้ว่าคนดีก็เจอทุกข์เหมือนกัน แม้แต่ว่าถ้าเราตั้งใจไม่ถูก ทำความดีแล้วทำไมคนอื่นเขาไม่ยอมรับไม่ยกย่อง เราก็ชักเสียใจ เพราะฉะนั้นการมี และดี ยังไม่พอ พระพุทธเจ้าก็เลยบอกยังมีจุดหมายขั้นสูงขึ้นไปอีก
เรียกว่าจุดหมายขั้นสูงสุด เรียกว่า ปรมัตถะ เมื่อกี้ไม่ได้บอกว่าจุดหมาย 2 ขั้นต้นเรียกว่าอะไร เรียกเป็นภาษาพระซะหน่อย จุดหมายขั้นตาเห็นขั้นต้น เรียกว่า ทิด-สะ-ทำ-มิ-กัด-ถะ ขั้นที่สองเลยตาเห็น เบื้องหน้าเลยไปจนกระทั่งถึงภพหน้า เรียกว่า สำ-ปา-รา-มิ-กัด-ถะ ต่อไปนี้ขั้นสูงสุดเรียกว่า ปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุดนี้คือว่าเมื่อเราอยู่ใต่กฎธรรมชาติ เราก็ต้องทันมัน ไม่ให้มันมาครอบงำเราได้ ไม่ให้กฎธรรมชาติมาทำให้เรามีความทุกข์ การที่จะทำให้พ้นความทุกข์ได้เป็นอิสระ ไม่ถูกบีบคั้นจากความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาติเนี่ย ด้วยอะไรล่ะ ก็ด้วยจิตใจเราต้องเป็นอิสระ จิตใจจะเป็นอิสระได้ยังไง ท่านบอกต้องมีปัญญารู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย ปัญญาที่รู้แจ่มแจ้งเข้าถึงความจริงของโลกและชีวิตเนี่ย จนกระทั่งทันต่อความเป็นจริงนั้น ไม่อยู่เพียงด้วยความปรารถนา แต่อยู่ด้วยปัญญา คนที่อยู่ด้วยตัณหาความอยากก็อยากให้สิ่งโน้นเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้เป็นอย่างนั้น ตามใจตัว ถ้ามันไม่เป็นไปตามใจขึ้นมา เราก็ทุกข์ทันที แต่คนที่มีปัญญาอย่างน้อยก็รู้แล้วสิ่งทั้งหลายมันไม่เป็นไปตามใจอยากหรอก
มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราก็ต้องรู้เหตุปัจจัยไปศึกษามัน รู้เท่าทันเหตุปัจจัยแล้ว เหตุปัจจัยมันเป็นยังไง เราก็รู้ แล้วเราจะแก้ไข เราก็ไปทำที่เหตุปัจจัยสิ ถ้าเราไม่ทำตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยไม่เป็นไปตามที่เราก็รู้เท่าทัน เราจะไปทุกข์ทำไม อย่างนี้เป็นต้น ตอนนี้เราก็อยู่ด้วยปัญญาแล้ว อยู่ด้วยปัญญาก็เบาทุกข์ลงไปตามลำดับ จนกระทั่งหมดทุกข์เลย อันนี้ท่านเรียกว่ามีปัญญารู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต รู้เท่าทันพระไตรลักษณ์ ใจก็เป็นอิสระ ตอนนี้ท่านเรียกว่าเป็นอิสระจากโลกธรรม โลกธรรมนั้นก็คือว่าคนอยู่ในโลกจะต้องเจอ เรียกว่าธรรมะประจำโลก มีอะไร มีดีมีร้าย มีลาภได้ลาภ มียศเสื่อมยศ ถูกนินทา ได้รับการสรรเสริญ ได้เจอความสุข พบความทุกข์ ลาภ-เสื่อมลาภ ยศ-เสื่อมยศ นินทา-สรรเสริญ สุข-ทุกข์ เป็นโลกธรรม คนเราอยู่ในโลกต้องเจอ ทีนี้ถ้าเราไม่มีปรมัตถ ไม่รู้เท่าทัน ไม่มีปัญญา เจอฝ่ายไม่ดี เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ขึ้นมา ก็มีความทุกข์เหี่ยวแห้ง ก็เรียกว่า แฟบ พอเจอฝ่ายได้ขึ้นมา ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญขึ้นมา ก็ฟู พอง ก็เลยมีพองยุบ พองยุบ พอเจอฝ่ายชอบก็พอง พอเจอฝ่ายไม่ชอบก็ยุบ พอเจอฝ่ายไม่ชอบฝ่ายไม่พึงใจก็แฟบ พอเจอที่ชอบก็ฟู อะไรอย่างนี้
อันนี้พอเรารู้เท่าทันความจริง มีปัญญา เข้าใจสัจธรรม ทันกฎธรรมชาติแล้วคราวนี้ ไม่ฟู ไม่ยุบ ไม่ฟู ไม่แฟบ มีใจหนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่หวั่นไหวไปตามโลกธรรม ดีมาฉันก็ใช้ประโยชน์ได้ ร้ายมาฉันก็ใช้ประโยชน์ได้ ร้ายมาอย่างน้อยเป็นชาวบ้านเนี่ย ร้ายมาเราได้มาเป็นบททดสอบความเข้มแข็งของเรา แล้วปัญหามาเป็นแบบฝึกหัดให้เราคิดแก้ แล้วเราจะได้พัฒนาตัวเอง ทีร้ายมันก็ดีนะ เราจะได้พัฒนาตัวเอง พอเจอที่ดี ก็เป็นโอกาสให้เราสร้างสรรค์ความดี เรามีจุดหมายขั้นที่สองแล้วนี่ ได้ลาภได้ยศมาเราก็ถือเป็นโอกาสที่จะสร้างสรรค์ความดีได้มากขึ้น ก็มีแต่ดีอย่างเดียว ฉะนั้นคนที่ตั้งใจถูกต้องแล้ว ไม่ว่าเจอร้ายหรือดี ดีหมด ทำประโยชน์ได้หมด เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ ไม่มีปัญหาทั้งนั้น ตกลงข้อสำคัญก็คือว่ามีจิตใจไม่หวั่นไหว จิตใจผ่องใสเบิกบานไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ตอนนี้แหละก็จะเป็นที่พึ่งให้คนอื่น ที่ว่าคนมีก็ตาม คนดีก็ตาม คนชั่วคนร้ายอะไรต่างๆ คนจน เขาก็มีทุกข์ มีปัญหา ประสบความผันผวนปรวนแปร เขาก็หวั่นไหว ทีนี้คนที่มาถึงปรมัตถ์ เนี่ย เป็นคนมั่นคง ก็จะเป็นหลักให้กับสังคมเพื่อนมนุษย์ได้ดี
เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ไม่ใช่ว่ามีความดีแล้วจะเป็นที่พึ่งได้พอ ยังไม่พอหรอก ต้องมีจิตใจเป็นอิสระแท้จริงด้วย ตอนนี้เป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นด้วย ตัวเองก็มีจิตใจไม่หวั่นไหว ท่านเรียกว่าเป็นมงคลอันอุดม ก็เลยขอสรุปอันนี้ท่านเรียกว่าเป็นมงคลข้อที่ 38 ข้อสุดท้าย ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผุด-สะ-ทะ-โร-อะ-เม-หิ-จิต-ตัง-ยะ-สะ-นะ-กำ-ปะ-ติ-อะ-โส-กัง-วิ-รัด-ชัง-เข-มัง-เอ-ตำ-มัง-ขะ-ละ-มุด-ตะ-มัง ก็แปลว่าบุคคลใดถูกโลกธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าร้ายหรือดีกระทบกระทั่งแล้ว ก็ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ก็มีใจไม่หวั่นไหว ไม่มัวเศร้าหมอง เบิกบานผ่องใส ได้ตลอดเวลา นี้แลเป็นมงคลอันอุดม เรียกว่าเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิต ก็เป็นอันว่าท่านที่เกษียณอายุราชการเนี่ย มองดูให้ดีแล้วได้เยอะ ได้มากกว่าเสีย เป็นโอกาสที่ดีเหลือเกิน ทั้งหนึ่งก็ชื่นชมสิ่งที่ตนเองได้สร้างสรรค์ไว้ เป็นโอกาสให้สังคม
ลูกหลานญาติมิตรได้แสดงน้ำใจตอบแทน ได้เชิดชูบูชาคุณ นำไปใช้เป็นแบบอย่างต่อไป แล้วตนเองก็เป็นอิสระ โปร่งโล่ง พ้นจากพันธะข้อกำหนด แล้วก็เป็นอิสระจะได้ทำสิ่งที่ใจรักอยากจะทำต่อไป มีโอกาสจะทำตอนนี้ก็ทำได้เต็มที่ แล้วสุดท้ายก็สามารถจะพัฒนาชีวิตในขั้นสูงสุด ให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่ชีวิตนี้จะมีให้ได้จนถึงขั้นปรมัตถ์ ก็ครบ ทั้งจุดหมายขั้นตาเห็น เลยตาเห็น แล้วก็จุดหมายสูงสุด ดังที่อาตมาภาพได้กล่าวมา
วันนี้ก็ขออนุโมทนาท่านศาสตราจารย์ด็อกเตอร์อภิชัย พันธเสน พร้อมทั้งท่านอาจารย์แล้วก็ญาติมิตรทั้งหลายที่ปรารถนาดีต่อท่าน มาทำบุญร่วมกับท่าน ก็เรียกว่ามีน้ำใจดีเป็นกุศลด้วยกันแล้ว อันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นเครื่องบำรุงจิตใจของท่านอาจารย์ ที่จะทำให้ท่านนึกขึ้นมาก็ทำให้เกิดปิติและความสุข ปิตินี่เป็นสิ่งสำคัญ ความอิ่มใจ เราอิ่มกายแล้วไม่พอ ต้องอิ่มใจด้วย พออิ่มใจแล้วได้ทำงานอะไรสำเร็จหรือว่าได้สิ่งที่ดีงาม พบสิ่งที่น่าปรารถนา อิ่มใจ มันก็หล่อเลี้ยงใจ บางทีแทบไม่ต้องกินข้าวเลย อิ่มแล้ว แต่คนที่ไม่มีความสุขทางใจนี่ บางทีอาหารอร่อยๆ บางทีหมดรสเลยนะ ไม่อยากรับประทาน แต่ว่าคนที่อิ่มใจนี่ ก็กินอาหารได้ด้วย ถึงไม่มีอาหารจะกินก็อิ่มใจ ก็สบาย มีความสุข อยู่ได้ ท่านเรียกว่ามีปิติเป็นภักษา ดังนั้นก็ได้ครบทั้ง 2 อย่าง ทั้งปิติทางกาย อิ่มกาย แล้วก็ปิติทางใจ อิ่มใจด้วย แล้วอิ่มใจที่สำคัญก็คือปิติในธรรม
พอท่านได้เข้าถึงธรรม เห็นธรรมแล้วมีปีติในธรรม คราวนี้จะมีความสุขอย่างแท้จริง ก็เป็นอันว่าจะได้เขาถึงอัตถะ คือประโยชน์หรือจุดหมายของชีวิตทั้ง 3 ขั้น ที่กล่าวมา ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่งต่อท่านอาจารย์แล้วก็ทุกท่านที่มาร่วมฟังธรรมด้วยกัน มีน้ำใจดี เป็นกุศลทั้งกาย วาจา ใจ กุศลนี่แหละเป็นตัวมงคลที่แท้จริง จะเป็นปัจจับให้เกิดความสุข ความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป ในโอกาสอันดีงามเป็นสิริมงคล อันเกิดจากน้ำใจญาติมิตรที่ประกอบด้วยความปรารถนาดี มีเมตตาธรรม เป็นต้นนี้ จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษา ประกอบเข้ากับคุณพระรัตนตรัย อภิบาลให้ท่านศาสตราจารย์ด็อกเตอร์อภิชัย พันธเสน พร้อมทั้งครอบครัวญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย เจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีพลังกายใจ ปัญญาและความสามัคคี ที่จะดำเนินชีวิตและกิจการงานทั้งหลาย ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป และบรรลุผลสำเร็จสมความมุ่งหมาย สามารถทำประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต แก่ครอบครัว แก่สังคมประเทศชาติ ตลอดแก่ชาวโลกทั้งหมด ได้ยั่งยืนสืบต่อไปตลอดกาลนานเทอญ