แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพรกลุ่มบัณฑิตอาสาสมัครทุกท่าน วันนี้สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ทั้งท่านผู้อำนวยการปัจจุบัน ท่านผู้อำนวยการในอดีต ได้มาเป็นประธานในการจัดพิธีทำบุญบำเพ็ญกุศล อุทิศแก่ท่านอาจารย์ป๋วย ในโอกาสครบวันเกิดของท่าน ซึ่งแม้จะผ่านไปได้ 3 วัน คือวันที่ 9 มีนาคม แต่ก็ได้มาจัดในวันนี้ เพราะเหตุผลในเรื่องความสะดวก ให้ได้วันหยุด คือวันอาทิตย์ ก็มีสาระ มีจุดมุ่งหมายโดยสมบูรณ์ ก็แสดงออกด้วยน้ำใจของทุกท่าน แล้ววันนี้อาจารย์จอห์น อึ้งภากรณ์ ก็ได้มาร่วมพิธีด้วย ก็ทำให้งานมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การบำเพ็ญกุศลอย่างนี้ เราทำบุญบอกว่าเป็นวันเกิดของท่าน แต่ว่าท่านล่วงลับไปแล้ว ก็หมายความว่าถ้าท่านอยู่ วันนี้ก็เป็นวันครบ หรือคล้ายวันเกิดของท่าน การที่ผู้อยู่มาทำบุญให้ท่านผู้ล่วงลับ ก็แสดงว่าต้องมีน้ำใจคิดถึงจริงๆ ที่ว่าคิดถึงนี้ก็ประกอบด้วย ความเคารพนับถือ และความรัก แล้วก็มีความบูชา เคารพก็คือทำให้เราให้ความสำคัญแก่ท่าน รักก็ทำให้มีความผูกพัน ติดตรึงอยู่ในใจ มีความซาบซึ้ง บูชาก็เป็นการแสดงออกมายกย่องเชิดชู วันนี้ก็ได้แสดงออกครบหมด แม้ท่านจะล่วงลับจากไป ลูกศิษย์ผู้ที่เคารพรักหรือบูชาก็ยังมีความรู้สึกผูกพันต่อท่านอยู่ เมื่อถึงวันที่เกี่ยวกับท่านก็มาแสดงออก คืออยู่นิ่งไม่ได้ ต้องแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านถือว่าเป็นการประกาศถึงคุณความดีทั้งสองฝ่าย คือผู้ล่วงลับไปก็ต้องมีความดี จึงทำให้ผู้อยู่นี่ต้องขวนขวาย จัดทำพิธีการอะไรต่างๆ ก็คือเป็นการแสดงออก อันนี้สำหรับผู้ที่อยู่ก็เช่นเดียวกัน ก็มีการประกาศว่าผู้ที่อยู่เนี่ยก็เป็นผู้มีคุณธรรม มีความดี จึงได้ไม่มองข้ามความดีของท่านผู้ที่ได้ทำความดีไว้ให้ การแสดงออกอย่างนี้ก็เรียกเป็นคุณธรรมอีกอย่างหนึ่งว่ากตัญญูกตเวทิตา แล้ววันนี้ก็เลยได้ความหมายเพิ่มอีก เคารพรักบูชา แล้วก็กตัญญูกตเวทิตา สำหรับการบูชานี้ คราวที่แล้วกลุ่มบัณฑิตอาสาสมัครก็ได้มาทำบุญเมื่อ 100 วันที่ท่านจากไป ก็เป็นการที่ปฏิบัติตามหลักธรรมที่พูดอธิบายไว้ในคราวนั้นว่า ปูชา จะ ปูชะนียานัง การบูชาคนที่ควรบูชา หรือว่าการยกย่องเชิดชูปูชนียชน เป็นมงคลอันอุดม นี่ก็เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา ซึ่งได้เน้นไว้ว่าเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับยุคนี้ที่คนจะต้องยกย่องเชิดชูคนดี มิฉะนั้นสังคมก็จะเสื่อมลงไปทุกที เราก็มีการพูดเหมือนกับร้องทุกข์กันบ้าง หรือว่ามาปรับทุกข์กัน ว่าเวลานี้สังคมนี้ไปบูชาอะไรอื่นที่ไม่ใช่บูชาธรรม ไม่ใช่บูชาความดี ไม่บูชาคนดี ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แสดงว่าความเสื่อมได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าสังคมดีก็เห็นได้ชัด ก็ต้องบูชาคนดี ยกย่องคนดี ให้ความสำคัญกับคนดี เมื่อสังคมนั้นไปให้ความสำคัญอย่างอื่น บูชายกย่องเชิดชูสิ่งอื่น ก็ประกาศอยู่ในตัวแล้วว่าสังคมนั้นได้เขวออกไปจากธรรมะ จากหลักที่ถูกต้อง ภาพที่ปรากฏมันเป็นเครื่องฟ้องในตัวว่าสังคมเป็นอย่างไร ฉะนั้นเราพูดได้เลยว่าดูว่าสังคมนั้นอยู่ในภาวะที่ดีงามหรือไม่ ก็ดูไม่ยาก ดูว่าสังคมนั้นยังยกย่องเชิดชูคนดีหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นหลักการที่ว่าสื่อมีความสำคัญ ทีนี้อาจารย์ป๋วยท่านมีคุณธรรมมีความดีอะไรต่างๆ หลายอย่างหลายประการ เช่นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นต้น ก็ขอผ่านไป เพราะวันก่อนได้พูดเยอะแล้วเรื่องนี้ อันนี้นอกจากท่านมีคุณธรรมมีความดี ซึ่งสมควรแก่การยกย่อง หรือเราเรียกว่าสมควรแก่การบูชาแล้ว ยังมีอีกด้านหนึ่งก็คือว่า ท่านยังแสดงออก นำเอาธรรมะนำเอาคุณธรรมนี้มาเน้นในสังคม คืออยากจะให้คนทั้งหลายในสังคมได้ประพฤติปฏิบัติธรรมะ เรื่องของคุณงามความดีต่างๆ คือท่านเห็นความสำคัญของธรรมะ นอกจากประพฤติปฏิบัติเองแล้ว ก็พยายามชี้แจงอธิบาย ชักชวนว่าให้ช่วยกันให้ความสำคัญแก่ธรรมะ และช่วยกันประพฤติธรรมเพื่อให้สังคมของเราดี ฉะนั้นในข้อเขียน คำอธิบาย และคำพูดต่างๆ ของท่านจึงมีธรรมะบ่อยๆ แล้วที่อาตมานำมาพูดคราวที่แล้วว่าที่จำอาจารย์ป๋วยได้ก็เพราะไปเห็นข้อธรรมะที่ท่านพูดในหนังสือของท่าน แล้วก็ได้ยินว่านอกจากในข้อเขียนนี้ ซึ่งก็มาจากที่ท่านพูดนั่นแหละ ที่ท่านพูดทั่วไปท่านก็พูดธรรมะเสมอๆ แล้วยังเป็นข้อสังเกตว่าบุคคลผู้ใหญ่ที่เป็นหลักให้แก่สังคมเอาใจใส่สนใจเรื่องธรรมะ ถ้าหากว่าผู้ใหญ่ในสังคมของเรานี้ เห็นความสำคัญของธรรมะ นำมาพูดจา นำมาชักชวนให้ประพฤติฏิบัตินี่ ก็เป็นอีกขั้นหนึ่งที่ว่าช่วยให้สังคมเจริญงอกงามในความดีได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่แปลก คือเมื่อได้มองเรื่องนี้ อาตมาก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในสังคมของเราเวลานี้ แม้แต่ในระดับของการบริหารการปกครองอะไรต่างๆ ก็มีการพูดถึงธรรมะนี้น้อย บางทีนอกจากน้อย แล้วก็รู้สึกว่าไม่อยากพูดถึง หรือว่าอายที่จะพูด หรืออาจจะกลายเป็นว่ามองในเชิงความรู้สึกที่ไม่ดีเมื่อใครมาพูดถึงธรรมะด้วย ถ้าอย่างนี้ก็น่ากลัว อย่างนี้แล้วจะไปถึงลักษณะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ธมฺมเทสฺสี
คำว่า ธมฺมเทสฺสี แปลว่าอะไร แปลว่าผู้ชังธรรม ว่างั้นแล้วก็จะมีคำต่อไปบอกว่า ธมฺมเทสฺสี ปราภโว ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม ก็ต้องข้ามกับว่า
ธมฺมกาโม ภวํ โหติ ผู้ใคร่ธรรมหรือผู้รักธรรม ผู้รักธรรมเป็นผู้เจริญ ไม่ใช่เจริญก้าวหน้าหรอก แต่หมายถึงลักษณะคนหรือว่าตัวบุคคลนั้นเป็นผู้เจริญ เช่นที่เราเรียกว่าอาริยชนหรือไม่ ก็ดูว่าเขาเป็นผู้รักธรรม หรือเป็นผู้ชังธรรม ถ้าเป็นผู้รักธรรม ก็แสดงว่าเป็นคนเจริญ ถ้าเป็นผู้ชังธรรมก็เป็นคนเสื่อม เป็นที่น่าสังเกตอย่างที่กล่าวมาแล้ว ความจริงท่านผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน แต่ถ้าเทียบแล้วก็ค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีอยู่ ก็อย่างในหลวงเองก็ตรัสถึงธรรมะบ่อยๆ ตรัสมากทีเดียวแหละ แล้วมาดูอาจารย์ป๋วย ท่านก็พูดถึงธรรมะบ่อย ท่านไม่รู้สึกอาย แต่ท่านเอามาเน้นเอามาย้ำถือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ว่าทำไมจึงไม่ค่อยเดินตามกัน ไม่เดินตามท่านผู้ใหญ่ในเรื่องนี้ อาจจะไปเดินตามเรื่องอื่นบ้าง หรือเพียงแต่ว่าอาจจะมายกย่องกัน แต่ว่าการที่จะปฏิบัติจริงๆ ท่านก็เห็นได้อย่างนี้ การที่เห็นความสำคัญของธรรมะ เราปฏิบัติตามเราก็ต้องเห็นความสำคัญของธรรมะด้วย อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ว่า ท่านผู้ใหญ่บางท่านเอาใจใส่ให้ความสำคัญกับธรรมะ เอามาพูดบ่อยๆ แต่ว่าคนทั่วไปก็ไม่ค่อยจะดำเนินตาม แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า อย่างอาจารย์ป๋วยที่ท่านพูดท่านเขียนเรื่องธรรมะไว้มาก เวลาคนทั่วไปพูดถึงท่าน กลับไปพูดถึงท่านในแง่อื่น แง่ที่ท่านให้ความสำคัญเรื่องธรรมะนี้มองข้ามไปซะอีก ก็เป็นจุดสังเกตสองจุดแล้วนะ คือหนึ่ง-ท่านให้ความสำคัญ ท่านพูดถึง ย้ำเตือนบ่อยๆ แต่เราก็ไม่เอาด้วย ไม่ตาม แล้วสองก็คือในจุดที่ท่านทำเรื่องอย่างนี้ ก็กลับไม่ยกขึ้นมาพูดกัน ฉะนั้นน่าจะได้เน้นในข้อนี้ให้มาก อย่างผู้ที่จะเอาจริงในเรื่องนี้ก็อาจจะดูว่าอาจารย์ป๋วยพูดถึงหลักธรรมเรื่องอะไรบ้าง ท่านเห็นความสำคัญธรรมะข้อไหน หรือว่าท่านยึดถือหลักธรรมอะไรเป็นสำคัญ ประจำใจของท่านเลย ที่ท่านมีชีวิตอย่างนี้ การที่ท่านดำรงอยู่ในคุณธรรมความดี เป็นที่น่ายกย่องที่เคารพเนี่ย ท่านคงต้องมีหลักธรรมอะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวอยู่ในใจ หรือเป็นหลักประจำใจ ก็เป็นข้อที่ยกมาเป็นเรื่องที่น่าสังเกต ทีนี้ถ้าสังคมของเราเนี่ยได้ให้ความสำคัญกับธรรมะ ก็หมายความว่าเราเห็นว่าธรรมะ คุณความดีเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเป็นเรื่องสำคัญ เราก็พยายามที่จะให้ธรรมะนี้ ได้รับการยึดถือปฏิบัติ เราก็มีความเอาใจใส่ เราก็เพียรพยายามที่จะให้สังคมนี้ตั้งอยู่ในคุณธรรมในความดีต่างๆ นี้ ลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่า ธมฺมกาโม เป็นผู้รักธรรม ก็เป็นเครื่องหมายของคนเจริญ ไม่ใช่เป็น ธมฺมเทสฺสี ปราภโว ผู้ชังธรรมเป็นคนเสื่อม ได้ยินเรื่องธรรมแล้วอยากจะหนีไป หรือรู้สึกไม่ดี รู้สึกกับคนที่พูดในทางที่ไม่ค่อยจะน่าสบายใจ ถ้าอย่างนี้ก็เป็นธมฺมเทสฺสี อย่างที่ว่า ธรรมะเป็นหลักที่ธำรงสังคมให้อยู่ได้ ธรรมะคืออะไร ก็คือความจริง ความถูกต้อง ความดีความงาม ก็ถ้าเราไม่เอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงามแล้ว แล้วมันจะเจริญได้อย่างไร แล้วสังคมจะอยู่ดีได้อย่างไร สังคมจะร่มเย็นเป็นสุขได้อย่างไร ฉะนั้นเราไม่เอาใจใส่ธรรมะ ไม่เอาใจใส่ความจริงความถูกต้องความดีงาม เราก็ไปเอาอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ความถูกต้อง ความดีงาม เรายอมรับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นเท็จ ความหลอกลวง เรานิยมแล้วเราก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแก้ไขอะไร อย่างนี้มันก็เป็นกรรมของสังคมนั่นเอง ก็คือว่าสังคมนั่นร่วมกันทำกรรม เพราะฉะนั้นถ้าจะให้สังคมดี แน่นอนเลยเราจะต้องรักธรรม รักความจริง รักความถูกต้อง รักความดีงาม แล้วพยายามทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ตัวเราก็พยายามปฏิบัติ แล้วก็พยายามที่จะขวนขวายให้สังคมนี้เชิดชูธำรงรักษาธรรมะ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงามนี้ไว้ให้ได้ อย่างพระนี่เวลาพูดจาสนทนาปราศรัยกัน มานั่งกันคุยกันนี่ ถ้าพูดเป็นเรื่องนอกเรื่อง ขอให้ได้พูดเป็นเรื่องสนุกสนานตื่นเต้นเหลวไหลเลอะเทอ ท่านเรียกว่า ติรัจฉานกถา ก็แปลว่าพูดสิ่งที่เป็นเดรัจฉาน แต่ขออภัยเดรัจฉานในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่แปลว่าขวาง สำหรับท่านเรียกว่าขวางทางนิพพาน ถ้อยคำที่พูดนี้ขวางทางนิพพาน ไม่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า งอกงาม ทีนี้ถ้าหากว่าเราพูดเป็นสิ่งที่ดีงาม ก็เป็นกถาที่เป็นธรรม ก็คำพูดที่เป็นเรื่องเป็นเหตุเป็นผล การช่วยกันค้นหาความจริงในเรื่องต่างๆ การที่จะแก้ไขปัญหาอะไรต่างๆ เหล่านี้ พูดจากัน คือถ้าหากว่ามุ่งพูดในเรื่องอย่างนี้กันอยู่แล้ว เดี๋ยวธรรมะมาเอง เรื่องของธรรมะนั้น ความดี ความถูกต้อง ดีงาม เมื่อคนมีใจมุ่งหมาย พยายามที่จะหาความจริงความถูกต้องดีงาม ธรรมะก็มา ฉะนั้นการพูดจาก็เป็นเรื่องแสดงถึงจิตใจ มีคำบาลีบอกว่า หทยสฺส สทิสี วาจา วาจาเช่นเดียวกับใจ วาจาส่อแสดงถึงจิตใจ การพูดจากันก็เป็นการแสดงออก ที่เกิดจากเจตนา เรามีความคิด มีความมุ่งหมายอะไรต่ออะไร มันก็ออกมาตามนั้น ถ้าไปพยายามเสแสร้งมันก็เป็นการซ้อนเจตนาเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง แต่รวมแล้วก็คือว่าต้องพยายามพูดด้วยเจตนาที่จะเชิดชูธรรมะ เชิดชูความจริง ความถูกต้องดีงาม เพื่อให้สังคมนี้ เพื่อให้คนทั้งหลายหมู่มนุษย์นี้ได้ดำรงอยู่ในความดี มีคาถาพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งบอกว่า เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต แปลว่าที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่นั้นไม่ชื่อว่าสภา ถ้าไม่มีสัตบุรุษแล้วที่นั่นเป็นสภาไม่ได้ ทีนี้สรรพบุรุษก็เป็นคำที่เป็นไวพจน์ คือคำที่มีความหมายใช้แทนกันได้ คำว่า บัณฑิต แล้วก็คำว่า อารยชน คำเหล่านี้ใช้แทนกันได้ สัตบุรุษ บัณฑิต อารยชน ก็หมายความว่าในที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ไม่มีบัณฑิตที่แท้ ไม่มี อารยชน เช่นนั้นไม่ชื่อว่าสภา ทีนี้สัตบุรุษก็มีอีก มีคุณสมบัติ มีคุณธรรมความดีอย่างไรบ้าง ท่านเรียกว่า สัปปุริสธรรม ธรรมะของสัตบุรุษ มีหลายหมวด หมวดหนึ่งมี 7 ข้อ หมวดที่รู้จักกันมาก สัปปุริสธรรม 7 ประการ มีอะไรบ้าง เรามักจะท่องกันเป็นภาษาไทยว่า รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล ถ้าว่าเป็นภาษาบาลีก็ได้ บางท่านอาจจะชอบ ไว้ทวนกันหน่อย หนึ่ง-ธัมมัญญุตา เราแปลว่ารู้จักเหตุ สอง-อัตถัญญุตา รู้จักผล สาม-อัตตัญญุตา รู้จักตน สี่-มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ ห้า-กาลัญญุตา รู้จักกาลเวลา หก-ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน เจ็ด-บุครัญญุตา รู้จักบุคคล หรือปุคคลปโรปรัญญุตา รู้จักความยิ่งและหย่อนในบุคคล สองข้อต้นนี่สำคัญที่สุด ที่เราแปลกันว่ารู้จักเหตุรู้จักผล นี่เป็นการแปลอย่างง่ายๆ ความจริงนั้นหมายถึงการรู้หลักการ หลักการก็ไปสัมพันธ์กับผลในแง่ของจุดหมาย ผลก็คือจุดหมายที่เราต้องการ หลักการก็เป็นเหตุที่จะให้บรรลุจุดหมายที่เป็นผล หลักการที่เราจะต้องทำต้องปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดหมาย หรือว่าบรรลุผลที่เป็นจุดหมาย ข้อที่หนึ่งเรียกว่าธัมมัญญุตา ถ้าแปลให้ตรงแท้ก็ได้ว่ารู้หลักการ แล้วก็สอง-อัตถัญญุตา รู้จักความมุ่งหมาย หรือรู้จุดหมาย สองข้อนี้สำคัญเป็นแกนเลย ต่อจากนั้นก็มาประกอบอีกห้าข้อ รู้หลักการ รู้ว่าหลักการอะไร ที่เกี่ยวข้องกับกิจการงานหน้าที่ หรือสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึง อย่างท่านยกตัวอย่างเลย พระพุทธเจ้าตรัสเอง อย่างเป็นผู้ปกครองประเทศ ก็รู้หลักการปกครอง อันนี้เรียกว่า ธัมมัญญุตา รู้ว่าการปกครองนั้นจะต้องทำอะไรบ้าง หลักการนั้นโดยปกติจะพูดถึงสิ่งที่ต้องทำ เพราะฉะนั้นเราจึงแปลว่ารู้จักเหตุ เป็นหลักการที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุผลที่เป็นจุดหมาย ก็เลยกลายเป็นเรื่องของการรู้จักหน้าที่เป็นต้น ในเรื่องหลักการนี้ก็จะโยงมาหาหน้าที่ เราจะทำอะไรเราต้องรู้หลักการของงานนั้น ก็ต้องรู้หน้าที่ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ฉะนั้นบุคคลที่จะเป็นสัตบุรุษได้ ไปอยู่ในงานอะไร มีหน้าที่อะไรต้องรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร หลักการของงานของตนคืออะไร หลักการของวิชาชีพ เป็นแพทย์มีหลักการของวิชาชีพแพทย์อย่างไร แพทย์มีหน้าที่อย่างไร นี่อยู่ในข้อที่หนึ่งเรียกว่าธัมมัญญุตา แล้วก็ไปสัมพันธ์กับสอง แน่นอนว่าที่เรามีหลักการนี้ เรามีหน้าที่ก็เพื่อให้บรรลุจุดหมายอะไรบางอย่าง เพื่อบรรลุผลบางอย่าง ผลนั้นก็เป็นจุดหมายของเรา ฉะนั้นหลักการจึงสัมพันธ์กับเรื่องจุดหมาย สองอย่างนี้ต้องมาด้วยกัน ในกรณีของผู้ปกครองนี่ พระพุทธเจ้ามักจะย้ายข้อสองมาเป็นข้อหนึ่ง อัตถัญญุตา รู้จักรู้จุดหมายนี่เป็นข้อหนึ่ง จะปกครองก็ต้องรู้จุดหมายของการปกครอง ปกครองเพื่ออะไร เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเลย อย่างนี้เป็นต้น เพื่อช่วยจัดสรรโอกาสให้ประชาชนแต่ละคนได้พัฒนาชีวิตของตนเอง ไปสู่ความดีงาม ความสุข การปกครองก็ต้องรู้กฎหมาย หรือจุดหมายเป็นเป้าหมายแคบเข้ามาแต่ระยะเวลานี้ ประเทศชาติปัญหาอย่างนี้ จุดหมายต้องแก้อันนี้ แล้วก็มุ่งมั่นในจุดหมายนี้ จากจุดหมายนั้นก็มาดูที่ตัวหลักการ ว่าหลักการอะไรที่จะนำไปสู่จุดหมายนั้น แล้วปฏิบัติ ถ้าหลักการไม่มีจุดหมาย ยึดถือแต่หลักการ ก็อาจจะเป็นหลักที่อาจจะเลื่อนลอย ถ้าจุดหมายขาดหลักการก็เพ้อฝัน ฉะนั้นสองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นต้องระวัง เราไม่ควรจะพูดเฉพาะหลักการ อย่างที่ว่าแล้ว บางทีเอาหลักการหลักการ แต่เสร็จแล้วมันเลื่อนลอย ไปๆมาๆ นานๆเข้าไม่รู้ว่าหลักการนั้นจะให้บรรลุผลที่ต้องการหรือเปล่า หรือเป็นการยึดไปตามรูปแบบเท่านั้นเอง ต้องคู่กันสองข้อธัมมัญญุตา อัตถัญญุตา รู้หลักการและรู้ความมุ่งหมาย แล้วจุดหมายนั้นจะเป็นตัวที่ทำให้ทิศทางของการทำงานนั้นชัดเจน แล้วมีพลัง เมื่อคนมีจุดหมาย แน่วแน่ในจุดหมาย แล้วพลังก็เกิดขึ้น แล้วหลักการก็จะมาเป็นตัวสนองว่าเราจะต้องทำอะไรตามหลักการนั้นเพื่อบรรลุจุดหมาย ก็ขอย้ำอย่างที่กล่าวแล้วว่า หลักการไม่มีจุดหมายก็เลื่อนลอย จุดหมายไม่มีหลักการก็เพ้อฝัน เพราะฉะนั้นสองอย่างต้องไปด้วยกัน ที่นี้ได้ธัมมัญญุตา อัตถัญญุตา มาเป็นแกนแล้วก็ต่อไปก็อัตตัญญุตา รู้จักตน รู้กำลังความสามารถ สถานะของตนเอง เป็นต้นว่าเราเป็นใคร มีกำลัง มีความสามารถเท่าไหร่ จุดหมายข้อนี้ก็คือเพื่อจะปรับปรุงพัฒนาตนให้ทำได้ผล เพราะเราจะปฏิบัติตามหลักการนั้นได้ เราจะก้าวไปสู่จุดหมายได้ มันต้องอาศัยกำลังความสามารถของเราที่เราจะทำ แล้วเรามีกำลังมีความสามารถเท่าไหร่ ถ้าไม่มีความสามารถ หรือขาดอะไรด้านไหน ต้องพัฒนา ต้องปรับปรุงตน ฉะนั้นจุดหมายสำคัญของการรู้จักตนนี่ก็เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงได้ถูกต้อง และได้ปฎิบัติได้ดี วางตัวเป็นต้นได้ถูกต้อง ความหมายก็กว้างไปหมดแหละ อัตตัญญุตา ก็รู้จักตน รู้จักตัวเอง ต่อไปก็รู้จักประมาณ รู้จักความพอดี ความพอดีนี้เป็นเรื่องสำคัญเลย เกินดีก็กลายเป็นไม่ดีไป ทำดีไม่ถึงที่ก็บกพร่อง ไม่สำเร็จผลอีก บอกฉันทำดี ฉันทำดี ต้องบอกว่าดูเหตุปัจจัยที่ทำความดีนั้น มาครบหรือเปล่า ถ้าหากว่าเหตุปัจจัยนั้นไม่ครบ ผลมันไม่เกิด เราจะไปเรียกร้องว่าทำดีๆ ก็ไม่เกิดผลขึ้นมา หรือแม้แต่ความดีของบุคคล ดีพอในเหตุปัจจัยของเขา แต่เหตุปัจจัยทางสังคมไม่เอื้อ บางทีก็ไม่เกิดผลเหมือนกัน ผลก็ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นเหตุปัจจัยก็เป็นตัวหลักใหญ่ที่จะต้องมาตัดสิน แต่เราเหตุปัจจัยมันพร้อมดี เราก็สบายใจ มั่นใจไปขั้นหนึ่ง ทีนี้ก็ต้องดูเหตุปัจจัยทางสังคมว่าเอื้อไหม แล้วก็ต้องปรับเหตุปัจจัยทางสังคมให้มารับกันด้วย ไม่ใช่ว่าเราดีอย่างเดียวแล้วมันจะสำเร็จ ก็รวมๆ แล้วก็คือว่าต้องเหตุปัจจัย ต้องทำเหตุปัจจัยให้สำเร็จ ก็ทำให้เราจะต้องพัฒนาปัญญาของเรา ต้องเรียนรู้ ต้องศึกษา แล้วพอได้รู้เข้าใจแล้ว ปฏิบัติได้ครบเหตุปัจจัยนั้น มันก็เกิดความพอดี ถึงจุดที่จะทำให้เกิดผลที่ต้องการ ที่เป็นจุดหมาย แต่รวมความก็เรื่องมัตตัญญุตา นี้ใช้กับทุกเรื่อง แม้แต่นอนยังต้องบอกว่านอนให่พอดี มัตตัญญุตา รู้จักประมาณหมด รับประทานอาหาร ก็รับประทานอาหารให้พอดี รับประทานน้อยไปร่างกายก็ทรุดโทรม รับประทานมากไปก็เกิดเป็นพิษอันตรายต่อร่างกาย ความรู้จักประมาณท่านบอกว่ามัตตัญญุตา สทา สาธุ ความรู้จักพอดีนี่ให้สำเร็จประโยชน์ทุกเมื่อ ต่อไปก็รู้จักกาลเวลา รู้จักเวลา เราก็ปฏิบัติให้เหมาะสมต่อกาละ แล้วข้อเทศะก็จะมาต่อไป การปฏิบัติให้ถูกกาลนี่ ก็สำคัญทั้งนั้น อย่างธุรกิจการงานเราทำไม่ถูกจังหวะ ไม่ถูกกาลเวลา ก็พลาด แม้แต่พูด พูดไม่ถูกเวลา พูดผิดเวลาก็เกิดปัญหาขึ้น ฉะนั้นทำอะไรนี่ต้องรู้จักกาละทั้งนั้น อย่างคนที่มีปัญญา จะทำงานอะไรสักอย่าง จะให้สำเร็จ บางทีก็ต้องรอเวลาเหมือนกัน รอเวลาที่เหมาะ หรือจัดทำนั้น ทำเหตุปัจจัยให้มันตรงเวลาที่จะให้เวลานั้นมันเหมาะกับเราให้ได้ รวมแล้วก็คือเรียกว่าเหมาะเวลา ก็ขอข้ามต่อไปว่ารู้จักการแล้วก็รู้จักชุมชน รู้จักชุมนุม รู้จักที่ประชุม อย่างแคบๆ ก็คือที่ประชุม อย่างที่ประชุมนี้ เป็นที่ประชุมสำหรับพิจารณาเรื่องอะไร กำลังทำหน้าที่อะไร มีบุคคลประเภทไหนบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เราจะปฏิบัติยังไงจึงจะเหมาะ เช่นการจะพูดจะจา การจะนำข้อคิดแนวทางอะไรต่างๆ เข้ามา ให้เหมาะกับที่ประชุมนี้จะได้ได้ผล พอถึงชุมชนต่างๆ เราไปทำงานในชุมชนก็ต้องรู้จักชุมชน ต้องศึกษาชุมชนให้ดี รู้จักวัฒนธรรมประเพณีของเขา เขาเชื่อถือนับถืออย่างไร ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูก ก็ทำให้งานของเราเสื่อมเสียไม่ได้ผลไปด้วย อันนั้นเรื่องใหญ่ ต้องรู้จักชุมชนนี่ ผู้ที่ทำงานส่วนรวมแล้วก็ไปอยู่ในถิ่นที่ตัวเองก็ไม่คุ้น ก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจชุมชนให้ดี ก็ขอผ่านไป ข้อสุดท้ายก็รู้จักบุคคล ก็รู้จักความแตกต่างนะหว่างบุคคล คือคนในโลกนี้ก็เป็นมนุษย์ด้วยกันนั่นแหละ แต่ว่าไม่มีเหมือนกันเลย แต่ละคนก็มีอินทรีย์ ทางพระท่านเรียกว่าอินทรีย์ แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง ไม่เท่ากัน มีความดีความชั่วไม่เท่ากัน มีสติปัญญาไม่เท่ากัน มีความขยันหมั่นเพียรไม่เท่ากัน มีความเชื่อมั่นอะไรต่างๆ ไม่เหมือนกัน แนวโน้มความสนใจ พื้นเพภูมิหลัง อะไรต่างๆ ไม่เหมือนกัน เวลาเราจะเกี่ยวข้องปฏิบัติต่อบุคคล กระบวนการที่จะเอามาใช้งาน คบหาอะไรต่างๆ นี่ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เลือกคนให้เป็นอย่างที่ท่านว่ารู้จักเลือกคนมาใช้งาน ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก รู้จักคน แม้แต่เพียงว่าเราเป็นนักเรียนนักศึกษา คบหาคนไม่เป็น ก็พลาด เพื่อนก็เลยพาชีวิตไปสู่ความตกต่ำ ถ้ารู้จักเลือกคบ ได้คบคนดี ก็พาให้ชีวิตนี่เจริญรุ่งเรืองขึ้น เช่นชักพา ชวนกันไปทำสิ่งที่ดีงาม ชวนกันไปศึกษาหาความรู้ ถ้าไปคบคนไม่ดี ก็ชวนไป ติดยาเสพติดบ้าง ชวนไปหมกมุ่นการพนัน ชวนไปเล่นไปเที่ยวอย่างเดียว ก็มีแต่เสีย แล้วก็ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ใช้คนไม่เป็น เลือกคนไม่ถูก ทำให้งานเสียอีก งานไม่ได้ผล ไม่เดินหน้า ก็รู้จักบุคคล ก็เป็นเรื่องใหญ่ แม้แต่ครูอาจารย์สอนไม่รู้จักความแตกต่างของแต่ละบุคคลก็สอนไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เรื่องรู้จักบุคคล หรือรู้จักความยิ่งหย่อนแห่งบุคคล ทั้งความต่างโดยระดับ การพัฒนาที่ท่านเรียกว่าอินทรีย์แก่- อ่อนต่างกัน ทั้งในแนวราบก็คือความแตกต่างโดยแนวโน้มความสนใจเป็นต้น ก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ละข้อนี่เป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้นเลย 7 ประการนี่เรียกว่าเป็นสัปปุริสธรรม คนที่จะเป็นคนดีในพุทธศาสนาเนี่ย ให้มีคุณธรรม 7 ประการนี้ ก็ทวนอีกครั้งหนึ่งว่า รู้หลักการ รู้จุดหมาย แล้วก็รู้จักตน รู้จักกาล รู้จักประมาณ รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล ถ้าหากว่าในสภามีสัตบุรุษ คือคนที่มีคุณธรรมที่เรียกว่าสัปปุริสธรรม นี้ ก็เรียกว่าเป็นสภาแท้ อย่างที่ว่า ท่านบอกว่าถ้าที่ใดไม่มีสรรพบุรุษ ที่นั้นไม่ชื่อว่าสภา แต่ว่าสัปปุริสธรรม หรือคุณธรรมของสัตบุรุษนี่ ยังมีหมวดอื่นอีก อาตมาจะยกตัวอย่าง เวลาหมดไปนานแล้ว ขอยกตัวอย่างพอให้ได้ยินหัวข้อ เช่นอีกหมวดหนึ่งมี สัปปุริสธรรม 8 มี 8 ข้อ เมื่อกี้ 7 เท่านั้นนะ คราวนี้ 8 สัปปุริสธรรม 8 คุณสมบัติของสรรพบุรุษหรือบัณฑิต หรืออารยชน 8 ประการ หนึ่งประกอบด้วยคุณธรรมสำคัญ 7 ประการ อันนี้แค่ข้อหนึ่งก็แยกย่อยเป็น 7 แล้ว ใน 8 ข้อ ข้อที่หนึ่งเนี่ยแยกย่อยเป็น 7 ที่นี้คุณธรรมสำคัญเรียกว่า มี สัทธรรม 7 ประการ ก็มีอะไรบ้าง หนึ่ง-มีศรัทธา อย่างน้อยเชื่อในความดี ถ้าคนไม่เชื่อในความดีซะแล้ว แย่แล้วนะ ไม่มีหลักแล้ว เชื่อในความดี เชื่อในการกระทำความดี เชื่อในจุดหมายของการงานของตน เราทำงานอะไร เราทำหน้าที่อะไร จุดหมายของการนั้น เรามีความเชื่อ มีศรัทธา ก็ทำให้มีพลังขึ้นมา อย่างชาวพุทธเชื่อในพระรัตนตรัย ก็คือเชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อที่คำสอนของพระองค์และเชื่อปฏิบัติตามพระองค์ เชื่อในธรรมะ เชื่อในการที่จะได้มาบำรุง ทำนุบำรุงชุมชนที่เรียกว่าสังฆะให้เจริญงอกงาม เห็นว่าจะเป็นประโยชน์สุขแก่สังคม ทำอะไรจริงจัง ก็มีศรัทธา แล้วก็มีหิริ ความละอานต่อความชั่ว มีหิริโอตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว แล้วก็มีทักษะ มีความรู้ ได้เล่าเรียนสดับมาก หรือเป็นผู้ที่ใช้ให้ดีคือคงแก่เรียน แล้วก็ผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ใช่คนเกียจคร้าน แล้วก็มีสติ แล้วก็มีปัญญา 7 ข้อนี้เรียกว่าเป็น สัทธรรม 7 ประการ อันนี้ข้อที่หนึ่ง ต่อไปข้อที่สอง บอกว่า สัปปุริสภัตตี แปลว่า คบสัตบุรุษ คบคนดี ต่อไปข้อสาม เป็นสัปปุริสจินตี คิดอย่างคนดี เช่นคิดในทางไม่เบียดเบียน ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตั้งใจจะทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ อย่างนี้เรียกว่าคิดเป็นทางสัตบุรุษ นอกจากนี้ก็ขยายเอา เรียกว่าคิดก็คิดอย่างสัตบุรุษ แล้วก็ต่อไป สัปปุริสมันตี ปรึกษา จะปรึกษาอะไรก็ปรึกษาอย่างคนดี ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ เช่นว่าไม่ปรึกษากันในการที่จะไปเบียดเบียนใคร ปรึกษากันในทางที่จะทำประโยชน์ แล้วสัปปุริสวาโจ ตัวนี้เปลี่ยนแล้ว หมายถึงพูดก็พูดอย่างสัตบุรุษ พูดอย่างคนดี สัปปุริสกัมมันโต ทำก็ทำอย่างคนดี ต่อไปก็สัปปุริสทิฏฐิ มีทิฐิ มีความเชื่อ มีการยึดถือในหลักการของสัตบุรุษ ของคนดี แล้วก็ไปลงท้ายว่าให้ก็ให้อย่างสรรพบุรุษอีก แม้แต่การให้ถ้าให้ไม่เป็น ท่านให้อย่างสัตบุรุษ เช่นว่า ท่านก็แยกอีก สัปปุริสทาน ให้อย่างสัตบุรุษมี 7 ประการอีก คือให้ของสะอาด ของสะอาดทางวัตถุก็เป็นของสะอาด ถ้าเป็นนามธรรมก็หมายความว่าของนั้นได้มาโดยวิธีสะอาด ให้ของสะอาด ให้ของประณีต ให้ของที่สมควร เหมาะสมที่เขาจะใช้ได้ เตือนว่าเวลาให้ต้องไตร่ตรองพิจารณา ไม่ใช่สักแต่ว่าให้ ให้ด้วยโมหะ ลุ่มหลง งมงาย แล้วก็ให้โดยที่ว่าจิตผ่องใส ให้แล้วเบิกบานใจ ที่จริงมีหลักหลายข้อ ตอนนี้โดนเร่ง ก็เข้าใจไม่ครบ 7 ข้อแล้ว เอาไว้เติมกันทีหลังแล้วกัน ไม่รู้ว่าสัปปุริสธรรม 8 ครบหรือเปล่าด้วยซ้ำ ก็เอาเป็นว่าให้รู้ว่าหลักคุณสมบัติของสัตบุรุษนี่มีหลายอย่าง ซึ่งเราจะต้องพยายามทำคนหรือพัฒนาคนให้มีคุณสมยัติอย่างนั้น แล้วเราก็จะได้สังคมที่ดี แม้แต่สภาก็จะเป็นสภาที่สมชื่อสภา เป็นต้น นี่ก็เป็นหลักการที่เราจะต้องมาช่วยกัน แต่อย่างที่ว่ารวมแล้วก็คือว่าให้คนในสังคมนี้อย่าชังธรรมเลย ถ้าชังธรรมแล้วก็เป็นเครื่องหมายของคนเสื่อมแน่เลย เวลานี้เราไม่กล้า อายที่จะพูดถึงธรรมะ แสดงว่าสังคมกำลังอยู่ในสภาพนี้แล้ว ใช่หรือเปล่า ฉะนั้นต้องหันมาเป็น ธมฺมกาโม ภวํ โหติ เป็นผู้รักธรรมเป็นผู้เจริญให้ได้ ต้องขออนุโมทนา ก็คิดว่าท่านอาจารย์ป๋วยท่านก็ได้ประพฤติเป็นตัวอย่างแล้ว ท่านได้ประพฤติปฏิบัติคุณธรรมต่างๆ ก็ดี แล้วก็ท่านก็เอามาพูดมาเขียนมาใช้ ชวนคนอื่นนี้แสดงว่าท่านต้องรักธรรม ถ้าเราชวนกันรักธรรมกันทุกคนแล้ว ก็จะเป็นคนเจริญ แล้งสังคมก็เป็นสังคมที่เจริญด้วย มีความสุขความงอกงาม ร่มเย็นสืบต่อไป วันนี้ก็ขออนุโมทนาทุกท่าน วันเกิดก็เป็นวันที่ดี แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว เป็นวันมงคล เราก็มาทำดีด้วยการที่ว่าทำใจให้มีความผ่องใสเบิกบาน เป็นจิตใจที่ดีด้วยการรักธรรม คนที่ใจรักธรรม รักความจริง ความถูกต้องความดีงาม มีจิตใจที่ดี แล้วพอเราได้ทำความดีแล้ว ก็มีความอิ่มใจ มีความสุข นอกจากนึกถึงอาจารย์ป๋วยแล้ว ระลึกถึงท่านแล้ว เราก็ทำใจของเราให้ดี อย่างที่กล่าวมาด้วย ก็ขออนุโมทนา แล้วก็ขออวยชัยให้พร ขออนุภาพบุญกุศล คือความดีที่ทุกคนได้ตั้งใจทำ เริ่มด้วยศรัทธา เมตตา ความกตัญญูในใจที่เกิดขึ้นแล้วเนี่ย ยังให้เกิดผลเป็นความสุข เริ่มตั้งแต่จิตใจของท่าน ก็เป็นจิตใจที่เอิบอิ่ม มีความแช่มชื่นเบิกบาน แล้วนำมาซึ่งความสุขความเจริญทั้งตนเองและสังคมส่วนรวมสืบไปตลอดการทุกเมื่อเทอญ