แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ในวันนี้จะพูดก็คิดว่าให้สืบเนื่องจากครั้งก่อน ครั้งก่อนพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับหลักการของพุทธศาสนาโดยเทียบเคียงกับสภาพภูมิหลังของสังคมที่พุทธศาสนาเกิดขึ้นที่อินเดีย หลักการสำคัญของพุทธศาสนานั้นรวมอยู่ที่สิกขาคือการศึกษา เป็นการพูดในแง่หนึ่ง เมื่อพูดในแง่นั้นแล้วก็ควรจะพูดอีกแง่หนึ่งเป็นการย้ำถึงเหตุผลที่พุทธศาสนาสอนเรื่องสิกขาหรือพูดให้เต็มว่าไตรสิกขา ซึ่งเป็นหลักการสำคัญ มองในแง่ที่ผ่านมาหลักการนั้นเทียบกับศาสนาพราหมณ์ที่เขามีการนับถืออ้อนวอนเทพเจ้า ทีนี้มาดูว่าหลักการที่จริงนั้นก็เป็นการสอนตามธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง เพราะฉะนั้นเหตุผลสำคัญที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องไตรสิกขานี้จึงเป็นเหตุผลเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ หรือพระพุทธเจ้าสอนหลักธรรมนี้ขึ้นมาสอนโดยถือเอาธรรมชาติของมนุษย์นี่เองเป็นพื้นฐาน ธรรมชาติของมนุษย์คืออย่างไร ธรรมชาติของมนุษย์ตามหลักของพุทธศาสนาว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ คำว่าต้องฝึกและฝึกได้ ภาษาบาลีใช้คำว่า ทัมมะ สะกด “ท” เขียนคล้ายกับคำว่า ธัมมะ ที่เรารู้กันทั่วไปว่าหลักธรรมคำสอน หรือว่า ทัมมะ ถ้าเป็นหลักธรรมก็เพียงเปลี่ยนเป็น “ธ” ธัมมะ แปลว่าหลักการของธรรมชาติ ทัมมะ สะกด “ท” นี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก เมื่อเทียบกับสัตว์ทั้งหลายชนิดอื่น ตามปกติโดยทั่วไปถือเป็นสัตว์ที่ฝึกไม่ได้ คือฝึกได้น้อย ไม่ใช่หมายความว่าฝึกไม่ได้เลย การฝึกนี้ไม่ค่อยมีความหมายต่อการดำรงชีวิตของเขา ทีนี้เขาอยู่ได้ด้วยอะไร ภาษาปัจจุบันถือว่าเขาอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ สัตว์ชนิดอื่นเมื่อเกิดมาแล้วอาศัยสัญชาตญาณก็อยู่ได้ เรียนรู้น้อย ฝึกน้อย สัตว์ต่าง ๆ เกิดมาออกจากท้องแม่ชั่วประเดี๋ยวเดียวก็เดินได้ วิ่งได้ ว่ายน้ำได้ บางชนิดอาจจะต้องสองสามวัน แต่รวมแล้วก็คือว่าเรียนรู้น้อย ฝึกน้อย ส่วนมนุษย์ไม่เหมือนสัตว์เหล่านั้น มนุษย์เกิดมาแล้วช่วยตัวเองไม่ได้ ยังไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ต้องอาศัยพ่อแม่เลี้ยงดู ซึ่งใช้เวลานานมากต้องเป็นเวลาหลายปีทีเดียว จนกระทั่งอาจจะ 10 ปี 20 ปี จึงจะสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง ในระหว่างที่คนอื่นเลี้ยงดูนั้น เราจะต้องมองที่ตัวเขาว่าเขาทำอะไร ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยงดูนั้น ตัวเขาเองต้องฝึกตัว เรียนรู้ ศึกษา ฝึกหัดตนเอง พัฒนาตนเองในการดำเนินชีวิตให้ได้ การเรียนรู้นี้แทบทุกอย่างแม้แต่ความเป็นอยู่ประจำวันในเรื่องง่าย ๆ เช่น กิน นอน นั่ง ยืน ขับถ่าย สารพัดต้องฝึก ต้องเรียนรู้หมด ไม่ได้มาด้วยตัวเอง ไม่ได้มาเองโดยธรรมชาติ จนกระทั่งในราวปีหนึ่งก็ฝึกเดิน ฝึกพูด ต้องมีการฝึกกันทั้งนั้นเรียกว่าเรียนรู้ นี่คือคำว่าการฝึก ภาษาพระท่านใช้คำว่า ทมะ แปลว่าการฝึก พอเป็นคนจึงซ้อน “ม” อีกตัวเป็น ทัมมะ แปลว่าสัตว์ที่ต้องฝึก คำว่า ทมะ = ฝึก เป็นศัพท์ที่ใช้แทนกันได้หรือใกล้เคียงมากกับคำว่าสิกขา สิกขาก็แปลว่าเรียนรู้ ฝึกเหมือนกัน แล้วใช้กันได้กับคำว่า พัฒนา แปลว่า ทำให้เจริญขึ้นมา ดังนั้นเราจึงแปลกันว่า เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาอย่างที่ว่ามา เมื่อฝึกฝน พัฒนา จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ก็เป็นข้อพิเศษเมื่อลองเทียบกับสัตว์อื่น คือ มนุษย์ไม่ได้การดำเนินชีวิตมาเปล่า ๆ ต้องลงทุนด้วยการฝึกฝน เรียนรู้ ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่นที่การดำรงชีวิตของเขานั้นได้มาส่วนใหญ่ด้วยสัญชาตญาณ เพราะฉะนั้นสัตว์ชนิดอื่นนั้น พอเกิดมาก็เป็นอยู่ได้ง่าย ๆ เรียนรู้นิดหน่อยเท่านั้น ประเดี๋ยวก็เดินได้ ว่ายน้ำได้ รู้จักหากิน ช่วยตัวเองได้ ในแง่ของธรรมชาติพื้นฐานนี้มนุษย์สู้สัตว์อื่นไม่ได้ เพราะสัตว์ชนิดอื่นไม่ต้องฝึก ไม่ต้องเรียนรู้ ไม่ต้องพัฒนา มันก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ ส่วนมนุษย์นั้นต้องเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา จึงจะดำเนินชีวิตไปได้ มีสัตว์บางชนิดที่ฝึกได้โดยเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นแล้วฝึกได้มากหน่อย เช่น ช้าง ม้า ลิง ปลาโลมา ก็ฝึกได้มากหน่อย สามารถเรียนรู้ได้เยอะ แต่ก็มีขีดจำกัดไปไม่ได้ไกล ที่สำคัญคือฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยมนุษย์ฝึกให้ ความสามารถนั้นอยู่ที่มนุษย์เป็นผู้ฝึกให้สัตว์ ทำให้ช้างสามารถลากซุงได้ ไปรบทำสงครามได้ ม้าก็เอามาใช้เป็นพาหนะ ลิงก็เอาไปเก็บมะพร้าวให้เจ้าของสวน หรือเล่นละครลิง เป็นต้น รวมแล้วมนุษย์เป็นผู้ฝึกให้ทั้งนั้น เป็นอันว่าสัตว์เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาได้น้อย ถ้าทำได้มากหน่อยก็ต้องอาศัยมนุษย์ฝึกให้ ถึงจะฝึกอย่างไรก็มีขอบเขตจำกัดไปไม่ได้ไกล ก็จบแค่นั้น แค่มนุษย์ใช้งานและไปเล่นละครสัตว์ ไม่ได้ดีไปกว่านั้น แต่มนุษย์เสียเปรียบตอนที่ว่า ถ้าไม่ฝึก ไม่เรียนรู้ก็ไม่สามารถเป็นอยู่ได้ จึงเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แต่ในการต้องฝึกก็เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ด้วย ความที่เราฝึกได้นี่แหละที่สำคัญมาก พอฝึกแล้วก็ประเสริฐ เก่ง สามารถยิ่งกว่าสัตว์ทั้งหลายทั่วไป สัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยสัญชาติญาณ แต่ก็อยู่อย่างนั้นตลอดชาติ เกิดมาได้เท่าไหร่ตายไปก็ได้เท่านั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นจึงอยู่อย่างนั้นด้วยสัญชาตญาณของเขาตลอดชีวิต โลกของสัตว์ทั้งหลายก็อยู่ท่ามกลางธรรมชาติตามพื้นฐานเดิม ส่วนมนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เพราะความที่ฝึกได้ เรียนรู้ได้ พัฒนาได้ ก็เลยฝึกกันเรื่อยไป ฝึกกันไม่รู้จบ เรียนรู้ถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษก็ได้ ตัวเองเรียนรู้ ฝึกตัวเองให้ทำอะไรต่าง ๆ ได้ เรียกได้ว่าแทบไม่มีขีดจำกัด พอมนุษย์เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาไปก็สามารถประดิษฐ์ สร้างสรรค์วัตถุต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเทคโนโลยี ก็ทำให้โลกมนุษย์เจริญก้าวหน้า มีการจัดสรรระบบสังคม ความเป็นอยู่ อะไรต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นวัฒนธรรม เป็นอารยธรรม ก็เป็นโลกของมนุษย์ต่างหาก กลายเป็นว่าเมื่อเราพูดถึงค่าว่าโลก ก็ต้องแยกไปว่าเป็นโลกที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือเป็นโลกที่มนุษย์สร้างสรรขึ้นมา โลกมนุษย์นี้มีความพิเศษแปลกไปจากโลกธรรมชาติ เป็นอีกโลกนึงเลย มนุษย์นี้ฝึกฝนพัฒนาได้ในทางวัตถุก็ได้ ในทางจิตใจก็มีคุณธรรมที่ประเสริฐ จนกระทั่งเป็นมนุษย์ที่เราเรียกว่าดีงาม ยอด เลิศ สูงสุด แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือปัญญา มนุษย์มีปัญญาที่พัฒนาได้จนกระทั่งสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ เราจึงตั้งให้พระพุทธเจ้าเป็นแบบให้เห็นว่าบุคคลที่พัฒนาสูงสุดแล้วเป็นพระพุทธเจ้า ตกลงว่ามนุษย์มีความประเสริฐอยู่ที่ฝึกได้ การที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้นี่ล่ะเราจึงเรียกว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ที่บอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ไม่ใช่ประเสริฐลอย ๆ แต่ว่าประเสริฐที่ฝึกได้ หรือฝึกแล้วจึงประเสริฐ พูดให้เต็มว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึกหรือจะเติมต่อไปก็ได้ว่า ถ้าไม่ฝึกก็ไม่ประเสริฐ ถ้าไม่ฝึก ไม่เรียนรู้ ไม่พัฒนาแล้วก็จะด้อยยิ่งกว่าสัตว์ชนิดอื่น ไม่มีสัตว์ชนิดใดแย่กว่ามนุษย์เพราะสัตว์ชนิดอื่นอาศัยสัญชาตญาณอยู่ได้ แต่มนุษย์นี่เพียงสัญชาตญาณก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมนุษย์แย่กว่าสัตว์ แต่ว่าเพราะเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ก็เลยกลายเป็นว่าเมื่อฝึกแล้วก็ประเสริฐอย่างยิ่ง ประเสริฐจนกระทั่งพระพุทธเจ้าให้กำลังใจมนุษย์ไว้ว่ามนุษย์ที่ฝึกตนดีแล้วนั้นประเสริฐแม้กว่าเทวดาและพระพรหม แม้แต่เทวดาและพระพรหมก็หันมาเคารพบูชา มนุษย์ที่ฝึกตนแล้วเราถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้พัฒนาฝึกตนสูงสุดแล้ว จึงใช้พระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับและเทวดาและพระพรหมก็มาน้อมนมัสการพระพุทธเจ้า จะมีคาถาแสดงความประเสริฐของมนุษย์ในเรื่องเกี่ยวกับการฝึกนี้เยอะ
คาถาหนึ่งในธรรมบทบอกว่า
ปรมัตสัตตะราทันตา อาชานีวาจะสินทะวา กุนชะราจะมะหานาคา อัตตะถันโนตะโตวะรัง
แปลว่าอะไร พวกอัสดรช้างม้า ทั้งช้างทั่วไปและช้างหลวงต่าง ๆ ฝึกแล้วประเสริฐ นี่ขนาดที่สัตว์ชนิดที่ฝึกได้ เมื่อฝึกแล้วก็นับว่าประเสริฐ ใช้การใช้งานได้ มีความสามารถมาก แต่ถ้าบอกว่า อัตตะถันโตตะโตวะรัง คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐกว่านั้น มาจบที่มนุษย์ว่า มนุษย์นี่แหละฝึกได้มากและประเสริฐที่สุดจริง ๆ
จนกระทั่งถึงคาถาอย่างคำว่า มนุษย์สะภูตัง สัมพุทธัง อัตตะทันตัง สะมาหิตัง เทวาปินะมัสสันติ ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ ฝึกพระองค์ดีแล้ว มีพระหฤทัยอบรมถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ เป็นคาถาที่แสดงธรรมชาติของมนุษย์ด้วยและให้กำลังใจแก่มนุษย์ด้วยว่าเราสามารถฝึกตนให้ดี ให้ประเสริฐได้
หลักพุทธศาสนานั้นถือว่ามนุษย์นั้นต้องฝึก ถ้าเราจะมีชีวิตที่ดีงามก็ต้องฝึกฝนพัฒนาเพราะธรรมชาติของเราเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไม่ฝึกฝนพัฒนา เราก็แย่ เราก็ด้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่น ถ้าเราฝึกฝนพัฒนาแล้วก็เหมือนกับว่าฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น จนกระทั่งเป็นผู้ประเสริฐที่สุด เมื่อมนุษย์ได้มองเห็นธรรมชาติเป็นอย่างนี้แล้วก็จะได้ตั้งอกตั้งใจนำเอาหลักการทางธรรมชาตินี้มาใช้ประโยชน์ในการทำให้ชีวิตของตัวเองดีงามประเสริฐขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็จะฝึกหรือเรียนรู้โดยไม่รู้ตัวเท่าที่พอจะมีชีวิตอยู่ได้ ดังที่กล่าวแล้วว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นไม่ได้มาเปล่า ๆ แต่ต้องลงทุนโดยการเรียนรู้และฝึกฝน เราต้องฝึกฝนในการเดิน ในการกิน ในการพูดเป็นต้น เมื่อเราพูดได้ เดินได้ เป็นอยู่ประจำวันได้ ทำให้สำนึกตระหนักในธรรมชาติของเราที่ว่าฝึกแล้วจะดีงาม ประเสริฐ ถ้าเราเอาพออยู่ได้แล้วเราก็เลยหยุด ก็หยุดฝึก หยุดเรียนรู้ แค่พูดได้ เดินได้ กินได้ อยู่ได้ เพราะฉะนั้นศักยภาพความสามารถที่มีอยู่ก็เลยไม่ได้ผล ไม่สัมฤทธิ์ผล ไม่ออกผลให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ก็เอาแค่อยู่ได้ พูดได้ เป็นต้น ถ้าเราฝึกต่อไปก็จะสามารถมีความประณีตของพฤติกรรม พฤติกรรมต่าง ๆ ในการเคลื่อนไหว การเป็นอยู่ ในการพูดจะประณีตยิ่งขึ้นและได้ผลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถ้าเราไม่ฝึกฝนต่อเราก็ได้แค่เดินได้ พูดได้ แต่พอเราฝึกแล้วก็เดินเป็น พูดเป็น เป็นต้น ก็ทำให้ได้ผลดียิ่งขึ้น อย่างเรามีวัฒนธรรมเป็นต้น เรื่องของมารยาทต่าง ๆ เป็นการฝึกให้มีพฤติกรรมที่ประณีตยิ่งขึ้น นอกจากพฤติกรรมประณีตยิ่งขึ้นแล้วจิตใจก็ประณีตยิ่งขึ้น มีคุณธรรมมากขึ้นเป็นต้น แต่ที่สำคัญก็อย่างที่กล่าวแล้วก็คือปัญญา ปัญญามีความเฉียบคม มีความลึกซึ้ง มีความกว้างขวาง มีความละเอียดลออยิ่งขึ้น จนกระทั่งอยากรู้ถึงสัจธรรมความจริงของสิ่งต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยง เหตุปัจจัยต่าง ๆ สามารถคิดการณ์แก้ปัญหา สามารถสร้างสรรค์ต่าง ๆ ได้ จึงได้เกิดเป็นอารยธรรม วัฒนธรรมของมนุษย์ ฉะนั้นถ้าเราไม่หยุดเสีย มนุษย์ก็จะใช้ความสามารถตามธรรมชาติคือการฝึกตนได้ทำให้ตนเองกลายเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ เมื่อเรารู้ตระหนักในธรรมชาติอย่างนี้แล้วก็เลยพยายามฝึกฝน พัฒนาตนอยู่เสมอ เราก็พูดได้ว่าชีวิตของมนุษย์นั้นที่มีมาได้ อยู่ได้ ก็อยู่มาได้ด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนเอง ฉะนั้นถ้าเราจะมีชีวิตที่ดีงามเราก็ต้องฝึกฝน ฝึกหัดพัฒนาเรื่อยไป
สรุปว่าชีวิตของมนุษย์นั้นที่มีชีวิตที่ดีงามได้ก็ด้วยการฝึกหัดพัฒนา เรียกว่าการศึกษา หรือจะใช้ศัพท์พื้นฐานว่า ทัมมะ ก็ได้ เมื่อเราฝึกหัดพัฒนาไปก็เป็นสัตว์ผู้ประเสริฐ พุทธศาสนาก็เอาหลักการนี้มาใช้ให้มนุษย์ฝึกหัด พัฒนาตนเอง เรียนรู้อยู่เสมอ ก็ใช้หลักที่เรียกว่า สิกขา แล้วพัฒนาสามด้านทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ฝึกหัด เรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนาในด้านพฤติกรรมก็เรียกว่าศีล ฝึกฝนพัฒนาในด้านจิตใจก็เรียกว่าสมาธิ ฝึกฝนพัฒนาในด้านปัญญาก็ยังคงชื่อเดิมว่าปัญญา
เมื่อฝึกหัดพัฒนาไป มนุษย์ประเสริฐขึ้นก็จะเปลี่ยนจากมนุษย์ที่เรียกว่าปุถุชน ไปเป็นมนุษย์ที่อยู่ในขั้นที่มีการศึกษาหรือกำลังศึกษาก็เรียกว่า เสขะหรือเสกขะ ก็คือคำว่า สิกขานั่นเอง มาเรียกคน สิกขาเป็นนาม แสดงถึงสภาวะคือการเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา พอมาเป็นคนก็เปลี่ยน อิ เป็น เอ สิกขาก็เป็น เสกขา และทำ อา เป็น อะ ก็เป็นเสกขะ คือคนที่กำลังศึกษาหรือมีการศึกษา มีคำแยกผู้มีการศึกษาในระดับต่าง ๆ ขั้นต้นเรียกว่าเป็นโสดาบัน สูงขึ้นไปอีกขั้นเรียกว่าสกทาคามี สูงขึ้นไปอีกขั้นเรียกอนาคามี สามระดับนี้เรียกว่าเป็นเสกขะหรือพูดให้สั้นว่า เสขะ แปลว่า ผู้ยังศึกษาหรือกำลังศึกษาหรือเรียกว่ามีการศึกษาก็ได้ บางครั้งก็ยอมลดหย่อนให้เรียกปุถุชนที่เป็นชั้นดี ท่านมีศัพท์เรียกว่ากัลยาณปุถุชน ก็ยอมให้เป็นเสขะหรือเสกขะได้ แปลว่า ผู้มีการศึกษาหรือกำลังศึกษา แต่ว่าคนทั่วไปก็เรียกว่าปุถุชนเฉย ๆ ปุถุชน คือคนที่ยังหนาอยู่ หนาหมายความว่ายังมีกิเลสมาก ถ้าเป็นปุถุชนคนที่กิเลสหนามาก ก็มืดบอดเลยเรียกว่า อันธพาลปุถุชน เป็นปุถุชนชั้นหยาบ อันธะ แปลว่า บอด พาละ แปลว่า เขลา เป็นอันธพาลไป ทีนี้พอดีขึ้นมาก็เป็นกัลยาณปุถุชน จัดเข้าเป็นคนที่มีการศึกษา แต่ก็ยังต้องศึกษาอยู่ เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ทั้งหมดนี้อยู่ในระดับที่ยังต้องศึกษา พอศึกษาจบไม่ต้องศึกษาอีกต่อไปก็เป็นพระอรหันต์ เรียกว่า อเสกขะหรืออเสขะ มีบุคคลระดับเดียวที่ไม่ต้องศึกษาหรือจบการศึกษาเรียกว่า อเสขะ คือพระอรหันต์ รวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วยก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ใครยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ยังต้องศึกษาเรื่อยไป เพราะฉะนั้นพระที่บวชเข้ามานี้ก็ต้องเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาตน ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ยังต้องศึกษา แม้จะบวชมา 50-60 ปี จนกระทั่งว่าเป็นมหาเถระผู้ใหญ่ เป็นมหาเถระ ถึงอายุ 90 พรรษาอาจจะพรรษา 70 ก็ยังต้องศึกษาอยู่นั่นแหละศึกษาไม่รู้จบ เป็นเรื่องของชีวิตของเรา บอกแล้วว่าชีวิตที่ดีงามคือชีวิตที่ศึกษา เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา ต้องเรียนรู้เรื่อยไป ถ้าใครไม่ศึกษา บวชเป็นพระเข้ามา อายุ 70-80 ปีแล้วถือว่าตัวบวชนาน ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ ไม่ฝึกหัดพัฒนาตัวเองต่อไปก็ถือว่าตกอยู่ในความประมาท ก็ผิดธรรมะ ผิดธรรมชาติของตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงศึกษากันไม่รู้จบ เรียกว่าเป็นการศึกษาตลอดชีวิต เพิ่งมาระยะหลังที่นิยมให้คนต้องมีการศึกษาตลอดชีวิต พุทธศาสนาสอนมานานแล้วเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ศึกษากันต่อไปจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ พุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์เราต้องศึกษาเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา และสังคมของมนุษย์ก็เป็นสังคมของคนที่เรียนรู้ ศึกษา พัฒนาทั้งนั้น เวลาศึกษาพัฒนาอย่างนี้มาเป็นพระโสดาบันขึ้นไปจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ท่านจึงถือว่าเป็นอารยชนที่แท้จริง อารย แปลว่าผู้เจริญ ผู้ประเสริฐ จึงอยู่ที่การที่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาก็เปลี่ยนใหม่จากแนวคิดของพวกอารยัน ที่เคยพูดไว้แล้วว่าพวกอารยันหรือภาษาบาลีเรียกว่า อารยกะ ถือตัวเองว่าเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ศิวิไลซ์ เป็นเผ่าพันธุ์ของเขา แล้วก็มากำหนดเป็นวรรณะ ว่าวรรณะชั้นสูงคือ วรรณะแพศย์ พ่อค้านักธุรกิจขึ้นไป แล้วก็พราหมณ์ แล้วก็กษัตริย์ เป็นอารยะ อารยชน พวกศูทร พวกจัณฑาลก็ไม่มีทางเป็นอารยชนได้ คือความเป็นอารยชนกำหนดโดยชาติกำเนิด พุทธศาสนาเกิดมาถือว่าความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่การเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนที่เรียกว่า สิกขานี้ เพราะฉะนั้นผู้ใดได้เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนให้ดีขึ้นแล้ว เป็นผู้ประเสริฐก็เป็นอารยชน พุทธศาสนาก็บอกว่าความเป็นอารยชนอยู่ที่นี่แหละ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ เป็นอารยชน เราเรียกว่า อารยบุคคลเป็นภาษาบาลี สันสกฤตก็เป็น อารยะ ถ้าเทียบกับศาสนาพราหมณ์ สังคมอินเดียสมัยนั้นที่ว่าแบ่งคนเป็นสี่วรรณะ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ถือว่าสามวรรณะชั้นสูงเป็นอารยชน เป็นอริยะ แต่ในทางพุทธศาสนาบอกว่าความเป็นอารยชนไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด แต่อยู่ที่การเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา ซึ่งทำให้คนเรารู้จักทำกรรมที่ดีงามเป็นกุศล ก็เลยจัดว่าคนที่จะเป็นอารยชนจะมาจากชนชั้นวรรณะไหน กำเนิดอย่างไรก็ได้ เมื่อพัฒนาตนขึ้นมาแล้วก็แบ่งระดับโดยถือเอาการพัฒนาหรือการศึกษาเป็นมาตรฐานในการวัด จากบุคคลที่ได้พัฒนามาจนกระทั่งมีคุณธรรมความดี มีสติปัญญา มีพฤติกรรมในระดับหนึ่งเรียกว่าโสดาบัน สูงขึ้นไปเรียกว่า สกทาคามี สูงขึ้นไปอีกเรียกว่า อนาคามี และสุดท้ายเรียกว่า อรหันต์ คนที่เป็นอย่างนี้จะเป็นใครก็ได้ก็จะเป็นอารยชน เป็นอารยบุคคลที่แท้จริง เพราะฉะนั้นศัพท์เก่า ๆ ของศาสนาพราหมณ์ เราก็มาใช้ในความหมายใหม่ แม้แต่คำว่าพราหมณ์เองที่เค้าบอกว่าเป็นผู้ประเสริฐ พุทธศาสนาก็มาใช้เรียกพระอรหันต์ว่าเป็นพราหมณ์ เพราะพราหมณ์ของเขาแปลว่าผู้ลอยบาปแล้ว ไปลอยบาปในแม่น้ำคงคา พราหมณ์เวลาจะลอยบาป เค้าจะไปลงแม่น้ำคงคา แม่น้ำคงคาก็พาบาปไปหมด ล้างบาป พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าแม่น้ำคงคาล้างบาปได้ พวกปลา ปู หอย ที่อยู่ในแม่น้ำคงคาก็หมดบาปก่อนพวกพราหมณ์สิ พระพุทธเจ้าบอกว่าน้ำพาบาปไปไม่ได้หรอก ถ้าพาบาปไปได้ ก็พาบุญไปด้วย พระองค์จึงบอกว่าการลอยบาปอยู่ที่การฝึกฝน พัฒนาตน เมื่อเราพัฒนาตนดีขึ้นมาแล้ว เราก็เป็นผู้หมดบาป ลอยทั้งบุญทั้งบาปเลย พระพุทธเจ้าเอางั้น พราหมณ์ตั้งใจจะลอยแต่บาป แต่พระพุทธเจ้าบอกให้ลอยทั้งหมด ลอยทั้งบาปทั้งบุญเลย เพราะฉะนั้นเป็นพระอรหันต์จึงพ้นทั้งบุญทั้งบาป พ้นหมด จึงเป็นความบริสุทธิ์ที่แท้จริง จึงบอกว่าพราหมณ์ที่แท้นี้คือพระอรหันต์ เป็นใครก็ได้ อยู่ในวรรณะไหนก็ได้ ขอให้ประพฤติปฏิบัติ ฝึกฝน พัฒนาตน แล้วก็เป็นพราหมณ์ที่แท้จริงด้วย
วันนี้คงจะพูดกันเท่านี้ก่อน ให้เห็นว่าหลักการของพุทธศาสนาเรื่องไตรสิกขานี้เป็นการสอนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงของธรรมชาติ คือธรรมชาติของมนุษย์นั่นเองที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา จึงจะมีชีวิตที่ดีงามได้ ถ้ามนุษย์ตระหนัก สำนึกในธรรมชาติของตนอันนี้แล้วก็จะได้ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามธรรมชาติของตนเอง ใช้ความจริงตามธรรมชาตินี้ให้เป็นประโยชน์ แล้วก็กลับทำให้ชีวิตของตนดีงาม ประเสริฐอย่างที่กล่าวมา
วันนี้ก็ขอยุติกันไว้เพียงเท่านี้ก่อน