แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เอาล่ะ นี่คือหลักพุทธศาสนา เป็นอันว่านี่คือหลักการของชาวพุทธ ก็เลยสรุปเป็น ๕ ข้อ
หนึ่งก็คือหลักของความเป็นมนุษย์ ต้องมีจิตสำนึกในการฝึกตน ถือว่ามนุษย์นี่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ จะดีเลิศประเสริฐได้ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตนด้วยการศึกษา ด้วยการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนานี้แหล่ะ ที่นี้พอได้อันนี้แล้วทีนี้ เอาลาจะเดินหน้าไปในการพัฒนา ก็ได้พระพุทธเจ้ามาเป็นแบบอย่าง แล้วก็มาชี้ทางให้เข้าสู่ธรรมะ ตอนนี้จะเอาละ ต้องเจริญปัญญาพัฒนาปัญญา รู้เข้าใจ แล้วก็มาสร้างสังคมที่ดีขึ้นใหม่ เป็นส่วนร่วมที่ดีแล้วใช้สังคมให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตของตัวเอง แล้วก็มาทำกิจกรรมทุกอย่างให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายามของตนเอง ให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยนั้น ๕ ข้อนี่ หนึ่งหลักความเป็นมนุษย์ สองหลักพระรัตนตรัย สามข้อต่อมาคือ สองสามสี่คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็หลักข้อห้า หลักกรรม
นี้ในศาสนาต่างๆเนี่ยเขาจะต้องมี ชาวพุทธเนี่ยเหมือนกับคนไม่มีหลักใช่ไหม ศาสนาต่างๆเขาต้องมีหลักความเชื่อ แล้วก็หลักปฏิบัติ เป็นศาสนิกศาสนานี้จะต้องทำอะไรบ้าง หนึ่งต้องเชื่ออะไรบ้าง สองต้องทำอะไรบ้าง ชาวพุทธนี่กลายเป็นคนเคว้งคว้างเลื่อนลอย ไม่มีอะไร แต่ว่าชาวพุทธนั้น เราไม่ชอบเรียกว่าเป็นหลักความเชื่อ เราเรียกว่าเป็นหลักแห่งความเข้าใจ หลักความรู้หลักความเข้าใจ เพราะว่าสิ่งที่จะพูดเนี่ยต้องเข้าใจ เข้าใจ มองเห็นชัด แล้วปฏิบัติได้ พอได้หลักห้าข้อนี้แล้ว ก็เอาละ นี่ถือเป็นหลักการของชาวพุทธ พอได้หลักการนี้แล้ว ทีนี้ก็ทำไงให้หลักการนี้สำเร็จ โดยเฉพาะข้อที่ห้า ก็คือทำกรรมดีให้พัฒนาชีวิตดีขึ้นไปในข้อหนึ่ง ก็ต้องมาถึงข้อปฏิบัติ เราก็มาวางข้อปฏิบัติกัน
นี้จากหลักการก็มาถึงหลักปฏิบัติ ก็เรียกว่าปฏิบัติการก็ได้ เรียกเป็นคู่ซะ เรียกหลักการ หลักการนี้เป็นหลักแห่งความรู้ความเข้าใจ และหลักปฏิบัติ หรือจะเรียกว่าหลักการ กับปฏิบัติการก็ได้ ในทีนี้เลยใช้คำว่าหลักการกับปฏิบัติการ ก็ได้หลักการแล้วก็สืบจากหลักการนั้นมาปฏิบัติการให้เกิดผลนั้นขึ้นมา ปฏิบัติการนี้ก็วางถึงข้อปฏิบัติต่างๆขึ้นมาก็มากมายหลายข้อ ตอนนี้อาตมาก็มาเสนอญาติโยมว่า เอ้อ, มาช่วยกันคิด มาช่วยกันพิจารณาซิ ก็วางออกมารู้สึกจะได้เท่าไหร่ ๑๒ ข้อมั๊ง แล้วก็เลยจัดเป็นหมวดๆเพื่อให้มันจำง่าย ๑๒ ข้อเยอะเหลือเกิน แยกเป็น ๓ หมวด ก. ข. ค.
ที่นี้ถ้าจะไปลงในรายละเอียดตอนนี้ก็เห็นว่าจะไม่จำเป็น มันเป็นเรื่องรายละเอียดข้อปฏิบัติ เข้าใจหลักการก็คือข้อปฏิบัติมาสนองหลักการ หรือเป็นไปตามหลักการนั้น อันนี้ในเรื่องข้อปฏิบัติที่เป็นรายละเอียดมากมายนี่ เอาง่ายๆว่ามันก็เป็นเรื่องของการที่ให้เรามีจุดเริ่มต้น ให้มีการเริ่มต้น ถ้าไม่มีการปฏิบัติให้การเริ่มก็ไม่มีซะที ให้มีจุดเริ่ม พอเริ่มต้นแล้ว อีกอย่างก็คือให้เกิดความเคยชิน เกิดความคุ้นชิน มนุษย์นี่สำคัญมากที่ให้มีวินัยเป็นต้น ก็เพื่อให้เกิดความชินด้วย ทำจนกระทั่งมันเป็นวัฒนธรรมเลย วินัยเนี่ยพอทำไปชินแล้วเป็นวัฒนธรรม เกิดมาอยู่ในสังคมที่เป็นแบบนั้นทำไปเองไม่ต้องรู้ตัว หรือเราทำอะไรจนชินเป็นธรรมดาแล้วมันก็เป็นวิถีชิวิตไป เป็นวิถีชีวิต วิถีสังคม เราเรียกว่าวัฒนธรรม นี่มันก็คือเรื่องของข้อปฏิบัติ เราต้องทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตขึ้นมา วัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของข้อปฏิบัติก็อย่างงี้ แล้วก็เป็นจุดที่บอกเมื่อกี้ เป็นจุดเริ่มต้น ต่อไปเมื่อเราทำจุดเริ่มได้ เราก็ไปขยาย แล้วก็ทำลึกซึ้ง กว้างขวางออกไป ทำเรื่องใหญ่โตขึ้นไปได้
นี้เรื่องของข้อปฏิบัติ แล้วข้อปฏิบัติก็มีความหมายสำคัญอีกด้วย ก็เช่นว่าในแง่ของพฤติกรรมนี่ทำให้คุ้นชิน เป็นธรรมดา เป็นปกติวิสัยอย่างที่ว่า ในทางจิตใจนี่เรามีที่พักผ่อนทางจิตใจ บางทีก็ไปแล้วเป็นที่พักผ่อนในทางที่ทำให้ลุ่มหลงมัวเมา ตอนนี้เรามีที่พักผ่อนจิตใจในทางกุศลบ้าง จะเห็นว่าข้อปฏิบัติบางอย่างนี่เป็นเรื่องของการให้ที่พักผ่อน ที่ไปเดินเล่นของจิตใจบ้าง จิตใจก็ควรจะมีที่เดินเล่นบ้างนะ ไปเดินเล่นซะบ้าง ไปชมนกชมไม้ชมสวน จิตใจมีที่เดินเล่นเป็นพักผ่อน
แล้วก็มีสนามกีฬาของปัญญา ปัญญาต้องฝึกต้องหัด มันถึงจะเจริญงอกงาม แล้วก็มีสนามฝึกให้บ้าง แล้วก็จะเจริญงอกงามไป รวมแล้วที่วางเป็นข้อปฏิบัติอะไรต่างๆก็อยู่ในประภทนี้ เป็นส่วนมาเกื้อหนุนให้ชาวพุทธเจริญงอกงามขึ้นในศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยการกระทำกรรมดีงามที่เป็นบุญเป็นกุศลนั้นเอง อันนี้รายละเอียดอย่างนี้อย่าไปถือสานัก อย่างที่บอกให้เป็นจุดเริ่มต้น เดี๋ยวบางคนก็จะไป หู๊ย, ข้อนี้ไม่เห็นจำเป็นอะไร ง่ายสำหรับฉัน ฉันไม่ต้องก็ได้ อีกบางคนก็ทำไมไม่เอาอย่างนี้ ทำไมไม่เอาอย่างงั้น อย่างงี้ฉันไม่เอาด้วยหรอก ต้องเอาอย่างโน้น อ้า, อย่างนี้จะไปเถียงกัน เวลามีขึ้นมาแล้วเขาก็คิดไปได้ขั้นหนึ่ง แล้วจะคิดรอบคอบยังไงก็ตาม อาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ว่าให้มีจุดเริ่มต้นอย่างที่บอกเมื่อกี๊ แล้วก็พอจุดเริ่มต้นแล้วทีนี้เราก็มาจัดปรับแต่งกันต่อไป
อันนี้เรื่องของข้อปฏิบัติเหล่านี้ ในกรณีที่ว่า เอ้อ, ข้อปฏิบัตินี้มันง่ายเกินไป ฉันก้าวไปไกลแล้วอย่างนี้ อาตมาจะเล่าให้ฟัง มีตัวอย่างทางพุทธศาสนาใช้เวลาโยมนิดหน่อย เมื่อพระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทคือวินัยสำหรับพระภิกษุทั้งหลายเนี่ย ก็จะมีเรื่องเกิดขึ้นเยอะแยะเป็นตัวอย่าง คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าบัญญัติว่าทุกครึ่งเดือนเนี่ยให้พระมาทำอุโบสถ อุโบสถหมายความว่ามาประชุมกัน สวดปาฏิโมกข์เป็นการทบทวนตรวจทานศีลนั่นเอง ที่เราเรียกว่าศีล ๒๒๗ ก็คือสิกขาบท ๒๒๗ ข้อเนี่ย พูดง่ายๆก็คือตรวจสอบความบริสุทธิ์ เพื่อจะดำรงความบริสุทธิ์ของพระไว้ก็เลยมีระบบการประชุม ฟังปาฏิโมกข์ทำอุโบสถเนี่ย พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติขึ้นมาว่า ทุกครึ่งเดือนให้พระมาประชุมกันทำอุโบสถฟังปาฏิโมกข์สวดกัน
นี้กล่าวฝ่ายพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อพระมหากัปปินเถระ ท่านก็มาคำนึงรำพึงขึ้นมาว่า เอ๊, พระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ก็เพื่อตรวจสอบทวนทานความบริสุทธิ์ของพระ เรานี่ก็ ท่านใช้คำว่าวิสุทธโธปรมาณวิสุทธิยา (นาทีที่ 8.21) เราเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วด้วยความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยม ก็คือเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มีอะไรด่างพร้อยแล้ว เอ๊ะ, เราควรจะต้องไปมั๊ย จะต้องไปทำอุโบสถมั๊ยเนี่ย พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงตัวท่านเลย บอกนี่ เธอคิดอย่างนี้ใช่ไหม พระมหากัปปินะก็บอกใช่ พระพุทธเจ้าตรัสบอก เนี่ยเธอทั้งหลายผู้เป็นชั้นยอด เป็นระดับผู้นำ เป็นระดับที่เป็นหลัก ถ้าพวกเธอไม่ทำแล้วใครเขาจะทำ ฉะนั้นผู้ใหญ่ ผู้ที่เก่ง ผู้ที่ชำนาญลงลึกในธรรมะแล้วนี่แหล่ะยิ่งต้องทำเป็นแบบอย่าง นี่มีตัวอย่างในพุทธศาสนา
แล้วอย่างเอาง่ายๆ อย่างพระมหากัสสปเถระ ท่านถือธุดงค์มาตลอดชีวิต ก็เป็นพระธุดงค์นั้นเป็นข้อปฏิบัติขัดเกลากิเลสสำหรับผู้ที่ฝึกฝนตนเอง เพื่อจะเห็นพระอรหันต์ เป็นพระโสดาอริยะ อันนี้เป็นพระอรหันต์เองแล้วจะต้องไปปฏิบัติทำไมเครื่องขัดเกลาเหล่านี้ แต่พระมหากัสสปะท่านถือธุดงค์มาจนกระทั่งท่านแก่หง่อม พอแก่หง่อมมากทีนี้ท่านใช้ผ้าบังสกุล ผ้าหยาบ ผ้าเนื้อหยาบ ผ้าไม่ดี ผ้าไปเอาของเขาทิ้งมาซักปะปนกันทำให้สะอาด เก่าสะอาด แต่ว่ามันหนัก พระพุทธเจ้าครั้งหนึ่งก็ตรัสบอก นี่มหากัสสปะ พระองค์ไม่เรียกมหากัสสปะหรอก พระองค์เรียกกัสสปะ เธอก็อายุมากป่านนี้แล้วเธอใช้ผ้าที่คหบดีเขาถวายเนื้อดีบ้างก็ได้ จะได้เบาหน่อย จะได้สบาย พระมหากัสสปะ ก็เรียกว่ากราบขอบพระคุณพระพุทธเจ้า อันนี้ก็เท่ากับพระพุทธเจ้าทรงประทานความเมตตา แล้วท่านก็บอกว่าเกล้ากระหม่อมขอโอกาสที่จะปฏิบัติอย่างนี้ต่อไป พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่าเธอมีเหตุผลอะไรที่จะปฏิบัติอย่างนี้ บอกจะได้เป็นแบบอย่างให้แก่คนรุ่นหลัง เนี่ยะ คือข้อปฏิบัติหลายอย่าง ไม่จำเป็นแล้วสำหรับหลายคน อย่างพระอรหันต์ท่านจะต้องปฏิบัติสิกขาบทแม้แต่เล็กน้อยเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่พระทั้งหลาย อันนี้ก็คือเรื่องของความเป็นผู้นำ
หลักของพุทธศาสนาอันหนึ่งก็คือ ปัจฉิมา???(นาทีที่ 10:35) เพื่อเกื้อกูลต่อชุมชนที่จะเกิดตามมาภายหลัง ก็ง่ายๆก็คือเพื่อประโยชน์แก่อนุชนนั้นเอง สองอัน อันหนึ่ง ทิฏฐานุคติ เพื่อเป็นแบบอย่าง เขาจะได้เห็นไว้เป็นตัวอย่าง แล้วทำตาม และก็สอง เพื่อประโยชน์แก่ชุมชนรุ่นต่อไปข้างหน้า ฉะนั้นที่เราทำเนี่ย โยมถือหลักปฏิบัติเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเองนะ ทำเพื่อส่วนรวม เพื่อเป็นแบบอย่าง เพื่ออนุเคราะห์ชนรุ่นหลัง เพื่อความสามัคคีของส่วนรวมเป็นต้น ต้องทำกันต่อไป
แล้วทีนี้ในแง่ของข้อปฏิบัติเหล่านี้อย่างที่ว่า เวลาตกลงกันแล้วก็ต้องทำจริง แต่ทำจริง ทำจริงจังอย่าไปติดตัง ทำจริงจังก็หมายความว่าตกลงกันแล้ว เอ้า, ทำอย่างเงี๊ย ต้องทำ แต่ว่าในพุทธศาสนาท่านไม่มีการบังคับ พระพุทธเจ้าท่านทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมามีกติกา เอ้า, คุณยอมรับจะเข้ามาสู่สังฆะ มาบวชเนี่ยพูดง่ายๆ มีกติกาว่าอย่างนี้ถ้าคุณบวชคุณก็ต้องถือตาม เขาสมัครใจบวชก็แปลว่ายอมรับกติกานั้นจริง จึงเป็นอันว่าต้องปฏิบัติ แต่พระองค์ไม่ไปบังคับใคร ให้ปฏิบัติ นี้เป็นหลักการพุทธศาสนา
นี้เราก็มาดูหลักชาวพุทธ หลักชาวพุทธในแง่ข้อปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน มันไม่มีการไปบังคับใคร แล้วก็ตัวอย่างจากพระพุทธเจ้าจะทำให้เราชัดเจนว่าเราจะทำยังไงกับข้อปฏิบัติเหล่านี้ เมื่อกี๊อาตมาบอกไม่ต้องติดตัง ติดตังเขาเถียงกันว่าต้องเอาอย่างงั้นต้องเอาอย่างงี้ ก็คือข้อปฏิบัติต่างๆเหล่านี้มันปรับ มันจัด มันแก้ได้ แต่ให้มันเริ่มต้นได้ก่อน เราดูตัวอย่างพระพุทธเจ้าจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาบัญญัติสิกขาบท บัญญัติไปแล้ว เอ้า, เดี๋ยวมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้น พระองค์ก็ประชุมสงฆ์บอกว่ายกเว้น เนี่ย มีอนุบัญญัติขึ้นมา เว้นแต่อย่างงั้นเว้นแต่อย่างงี้ เว้นแต่โดยกาละบ้าง เว้นแต่โดยเทศะบ้าง เว้นโดยสภาพแวดล้อม เว้นโดยความแตกต่างระหว่างบุคคล คือมนุษย์เนี่ยมันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน กาละ เวลา ยุคสมัยไม่เหมือนกัน เทศะ สถานที่ไม่เหมือนกัน ตลอดจนความแตกต่างระหว่างบุคคล แม้แต่ไม่ใช่ความแตกต่างทางด้านรูปธรรม ความแตกต่างทางด้านระดับการพัฒนาชีวิต ชีวิตก็ไม่เหมือนกัน
ทีนี้ หลักการเนี่ยมีอยู่ แต่ว่าเรายืดหยุ่นในแง่วิธีปฏิบัติ ไม่ใช่ยืดหยุ่น คือมาปรับจัดให้มันลงตัวได้ ไม่ใช่ไปติดตังอยู่ต้องอย่างงั้นอย่างงี้ แต่ว่าไม่ใช่หมายความเราไม่มีหลัก เราชัดเจนในความหมายและความมุ่งหมาย เราชัดเจนในสิ่งที่เราต้องการ แต่วิธีปฏิบัติในหมู่มนุษย์นี่ต้องจัดปรับอีกทีหนึ่ง เมื่อเราชัดเจนในความหมาย ความมุ่งหมายสิ่งที่ต้องการแล้ว ทีนี้จะมาเอายังไงกับคน ก็ดูสภาพแวดล้อม กาละเทศะ ความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นต้น แล้วจัดปรับให้เหมาะ จะเห็นเลยเช่น พระพุทธเจ้าบัญญัติ อาตมาจะยกตัวอย่างสิกขาบทสักข้อหนึ่ง
เอ้า, ตอนแรกพุทธศาสนาเกิดขึ้นนี่คณะสงฆ์ พุทธศาสนายังอยู่ในวงแคบ อยู่ในถิ่นเจริญ อยู่ในเมืองใหญ่ๆ อยู่ในเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนี่ เป็นบ้านเมือง เป็นชุมชนใหญ่มีผู้คนมาก แล้วก็อากาศอะไรต่างๆก็ค่อนข้างเอื้อ พระพุทธเจ้าเคยทรงบัญญัติว่าให้พระเนี่ยอาบน้ำได้ครึ่งเดือนต่อครั้ง ก็ถิ่นนั้นถ้าพระไปเที่ยวอาบที่โน่นที่นี่แล้วไปจุ้นจ้านวุ่นวายยุ่งชาวบ้านเขา ทำให้เขาลำบากด้วย แล้วก็สภาพแวดล้อม อากาศอะไรต่ออะไรก็ไหว นี้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ก็อาตมาเล่าให้ฟังนิดหนึ่ง ยอมให้โยมเสียเวลานิดหนึ่ง เนี่ย คราวหนึ่งพระหลายองค์ไปสรงน้ำกันอยู่ที่บ่อน้ำร้อนชื่อตโปทา ท่านที่ไปอินเดียเนี่ย อาจจะได้ไปที่ตโปทาราม เนี่ยพระก็ไปอาบกันที่นั่น อาบกันอยู่นาน
ทีนี้วันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินน่ะ จะมาสรงสนาน จะมาสรงพระเศียรที่ตโปทา ที่บ่อน้ำร้อนนี้บ้าง พอมาก็เห็นพระภิกษุพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายสรงน้ำกันอยู่ พระองค์เนี่ยทรงนับถือพระมาก ก็เสด็จไปพักรอ พักรอให้พระสรงก่อน ว่าเอ้อ, พระสรงเสร็จแล้วเราก็จะได้ไปสรงเศียร พระท่านก็คงจะอาบเพลินน่ะ บ่อน้ำร้อนอาบกันสบาย หลายองค์ ก็อาจจะเป็นพระปุถุชน อาบจนกระทั่งเย็นจนจะพลบค่ำจึงเลิก พระเจ้าพิมพิสารรอตั้งนานจนพลบค่ำ จึงได้เข้าไปสรงพระเศียร พอทรงพระเศียรเสร็จแล้วทีนี้มืดแล้ว ประตูเมืองปิด ประตูเมืองเขามีกฏไว้บอกว่า แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินของตัวเองก็ไม่เปิดให้นะ ถ้าถึงเวลาแล้วประตูเมืองปิด เป็นอันว่าไม่เปิดแม้แต่พระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารวันนั้นต้องประทับค้างแรมข้างนอก ก็เลยไปหาที่ประทับนอกเมือง พอรุ่งเช้าก็ทรงนึกถึงพระพุทธเจ้า ก็ทรง คงจะเรียกแบบชาวบ้าน ล้างหน้าล้างตาปะแป้งอะไรเสร็จก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่เช้าเลย พอไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า พระองค์ทำไมมาแต่เช้าเหมือนยังกับแต่งหน้ามาหมาดๆ อะไรเลยทำนองนี้ พระเจ้าพิมพิสารก็เลยต้องเล่าว่า พระองค์เมื่อวานนี้มารอพระสรงน้ำจนค่ำก็เลยเข้าเมืองไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็เลยประชุมสงฆ์ แล้วก็ตรัสถึงข้อเสียหาย ไม่ดีไม่งาม ไปทำให้ชาวบ้านเขาลำบาก แล้วก็บัญญัติสิกขาบทว่าให้พระเนี่ย อาบน้ำครึ่งเดือนต่อครั้ง
นี้ต่อมา คือพระเนี่ยท่านถือบัญญัติของพระพุทธเจ้ายิ่งชีวิต ต่อมาพอถึงฤดูร้อน พระท่านก็ไม่กล้าระเมิดพระบัญญัติ อากาศก็ร้อน เหงื่อก็โทรมตัวเหนอะหนะ จีวรก็ไม่สะอาด ท่านก็ไม่สบาย ความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ประชุมสงฆ์ พระองค์ก็ตรัส นี่ล่ะเรียกอนุบัญญัติ บอกว่าให้อาบน้ำ สรงน้ำครึ่งเดือนครั้งเว้นแต่สมัย เว้นแต่สมัยนี่คือยกเว้นตามกาละ เว้นแต่สมัยคืออะไร คือขึ้นฤดูร้อน ช่วงที่ร้อนจัด แล้วก็หนึ่งเดือนแห่งฤดูฝน รวมเป็นสองเดือนครึ่ง อันนี้ยกเว้นให้ อาบได้บ่อย อันนี้อนุบัญญัติเกิดแล้วใช่ป่ะ ข้อยกเว้น
ต่อมาพระพุทธศาสนาขยายไปถึงดินแดนเขาเรียก ???ชนบท (นาทีที่ 17:46) เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าเดกขะ (นาทีที่ 17:50) เดกขะก็คืออินเดียภาคใต้ทักษิณาบท ถึงทักษิณาบทถิ่นใดที่ไม่เจริญ ผู้คนก็น้อย ก็ ที่นั่นก็อาจจะร้อนมากด้วย การเดินทางอยู่ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยกันมาก พระมหากัจจายนะไปอยู่ที่นั่นบวชลูกศิษย์ แล้วต่อมาก็ฝากลูกศิษย์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วพระลูกศิษย์จะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระมหากัจจายนะก็ฝากมาขอ ว่าขอหย่อนพระบัญญัตินี้ให้สำหรับ???ชนบท (นาทีที่ 18:19) พระองค์นี้ชื่อ??? (นาทีที่ 18:22) ก็มาเฝ้ากราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติเพิ่ม เรียกว่าอนุบัญญัติอีก ยกเว้นถิ่นห่างไกลชายแดนพวกนี้ นอกมัชฌิมประเทศให้อาบได้ตลอดเวลา ว่างั้นนะ นี่อย่างนี้เป็นต้น
นี่สิกขาบทพระพุทธเจ้าก็ปรับเรื่อย หรืออย่างในมัชฌิมประเทศถิ่นเจริญแต่ก่อนนี้ พระใช้รองเท้าได้ชั้นเดียว นี้ก็มหากัจจายนะนี่แหล่ะไปเผยแผ่พระศาสนาในชนบทห่างไกลมาก ก็ฝากลูกศิษย์มา ลูกศิษย์ก็กราบทูลพระพุทธเจ้าบอกว่าใน ???ชนบท (นาทีที่ 19:00) ถิ่นชายแดนบ้านนอกเนี่ย พื้นดินก็ขรุขระ เป็นปุ่มเป็นปั่มเดินยากต้องใช้รองเท้าหนาๆ ขอให้ทรงมีพุทธานุญาติให้ใช้รองเท้าได้หลายๆชั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงปรารภเหตุนี้ มีเหตุผลก็ทรงบัญญัติยกเว้นให้สำหรับถิ่นห่างไกล ชนบทชายแดนไรต่างๆเหล่านี้ให้ใช้รองเท้าได้หลายชั้น อย่างนี้เป็นต้น ให้โยมรู้ไว้เรื่องข้อปฏิบัติสำหรับมนุษย์นี่จัดปรับได้เรื่อยๆ ให้มันลงตัวได้ที่พอดีแนบเนียนสนิทใจ ต่อไปมันค่อยๆเป็นไป อย่าไปมัวติดตังอยู่ต้องอย่างงั้นอย่างงี้กันแล้วไม่รู้จักจบ
เอาละอาตมาก็เล่าทุกอย่างให้โยมฟังซะเยอะแยะเลย จะได้เข้าใจหลักพระพุทธศาสนาว่าเรามีวิธีการ แต่ว่ายังไงก็ขอให้มีได้จะดี แล้วในการที่จะมีหลักเหล่าเนี้ย อาตมาเมื่อกี้ไปเห็นนี่ก็ไปเชื่ออาตมาว่าด้วยหลักชาวพุทธ ทีนี้ต่อไปนี้ขอให้เอาออกดีกว่า ถือว่าเป็นหลักที่ว่าเราถือหรือมีร่วมกัน เพราะว่าอาตมาก็ถืออะไร เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าเป็นเพียงผู้ร่าง ผู้ร่างแล้วนำเสนอ แม้แต่เวลาที่จะทำมา ก็บอกแล้วพระ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่บังคับใคร อาตมาก็เป็นเพียงร่างมาเสนอ แล้วก็ถามโยม ปรึกษา เอ้อ, โยมเป็นผู้ปฏิบัติ อาตมาไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ โยมทำได้มั๊ย เห็นด้วยมั๊ย หรือมีข้อเสนอเพิ่มมาของโยม ก็มาช่วยกันปรับ มาทำให้มันลงตัวให้ดี ให้โยมปฏิบัติได้ผล ถ้าเราได้มติในขั้นหนึ่ง เรียกว่ากลั่นกรองพอสมควรแล้วก็ เอาละเริ่มต้นได้ เนี่ยก็เลยถือเป็นข้อเสนอที่มายุติด้วยมติส่วนรวมร่วมกันของพุทธบริษัท อย่าไปถือ ไม่ต้องไปถือ ของใครละทีนี้ ถือเป็นของส่วนรวมร่วมกัน
นี้ เรื่องของพุทธศาสนานี่ก็เลยขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง ขอโยมเสียเวลาอีกนิดหนึ่ง ย้ำก็คือว่าพุทธศาสนานี่ไม่ใช้การบังคับ เราจึงมีพิธีกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ ถ้าโยมไม่คิดก็ไม่เข้าใจ เราไม่ไปบังคับใครให้ถือศีลจนกระทั่งโยมต้องมาขอศีล ใช่ไหม แหม, ฉันจะปฏิบัติเองยังต้องมาขอ บอกว่าจะขอศีล พระไม่ไปเรียกร้องไม่ไปบอกบังคับใครให้ปฏิบัติ ขอศีล พระก็ให้ศีล แต่ที่จริงพระไม่ได้ให้เลย เราก็เรียกกันมาติดปากว่าให้ศีล มีที่ไหน ไม่มีที่ไหนที่พระให้ศีล ถ้าเราศึกษาให้ดีมันมีนัยะมีความหมายซ่อนอยู่ในการปฏิบัตินั้น ซึ่งขอเอาความหมายที่ซ่อนอยู่มาบอกโยม โยมไปขอศีล บอกว่า “มะยังภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ” ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอศีลห้า แล้วพระทำไง พระบอก โยม ศีลนี่ให้ไม่ได้ พระให้ไม่ได้ เอ้า, แล้วทำไงล่ะ ก็โยมอยากมีศีล คือพระน่ะมีหน้าที่สอน ชี้แจง แนะนำอะไรเป็นความดี อะไรเป็นความชั่ว ทำอย่างนี้เป็นเหตุปัจจัยไม่ดี จะเกิดผลร้ายอย่างงั้น ถ้าโยมไม่ต้องการผลร้ายอย่างงี้ ไม่ควรทำอันนี้ ควรต้องละเว้น ถ้าต้องการผลดีอันนี้ควรทำเหตุดีอันนั้น เอ้อ, โยมเห็นด้วยก็เลยจะทำตาม นี่ก็คืออยากจะมีศีลขึ้นมา
อ้า, เป็นอันว่าพระบอกให้เท่านั้นเอง แล้วโยมสมัครใจก็มา ก็ยังมาขอศีลอีก พระก็บอกว่าฉันให้ศีลไม่ได้หรอก ถ้าโยมปฏิบัติตัวดี แล้วโยมก็มีศีล แต่ว่าฉันจะบอกข้อปฏิบัติที่โยมไปฝึกหัดทำแล้วโยมจะมีศีลได้ เอ้า, โยมก็บอก อย่างนั้นท่านบอกมา พระก็เลยบอกสิกขาบทให้ ขอให้ดูนะ โยมขอศีล พระบอกสิกขาบท ไม่ได้ให้อะไรทั้งสิ้น บอกสิกขาบทก็คือบอกข้อปฏิบัติในการฝึกหัดตัวให้เป็นผู้มีศีล เอ้า, โยมก็ สิกขาปะทะ(นาทีที่ 23:22) แปลว่าข้อฝึกข้อศึกษา ก็ไปปฏิบัติ
ข้อหนึ่งฝึกหัดปฏิบัติตนในการเว้นจากการทำลายชีวิต ข้อสองเว้นจากการละเมิดทรัพย์สินผู้อื่นอะไรต่ออะไร ไปทุกข้อ จบแล้ว โยมไปปฏิบัติอย่างเงี้ยโยมจะมีศีลเอง แล้วพระก็จะบอกอานิสงค์ว่า "สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย" บอกว่าเนี่ยนะ ด้วยศีลเนี่ยก็จะบรรลุสุขคติ จะได้โภคะ จะอะไรต่ออะไร สังคมเนี่ยจะดีมีศีล สังคมก็จะมั่งคั่งรุ่งเรืองได้ ถ้ามัวเบียดเบียนกันอย่างนี้ สังคมก็จะรุ่งเรืองมีโภคะไม่ได้หรอก อะไรทำนองนี้ นี่ก็บอกอานิสงค์ ก็เป็นกำลังใจว่าให้โยมไปฝึกหัดตามสิกขาบทนี้แล้วจะได้มีศีลกัน เป็นอันว่าโยมขอศีล พระบอกสิกขาบทให้ไปปฏิบัติ
สอง โยมฟังพระแล้ว เอ้อ, จิตใจดีมีสมาธิ แล้วมันดีอย่างนี้ฉันอยากมีสมาธิ ก็มาขอสมาธิกับพระ พระก็บอกอย่างเดียวกันหรอก โยม, สมาธินี่พระให้ไม่ได้หรอก เอ้า, แล้วทำไงล่ะ ฉันจะบอกกรรมฐานให้ ว่างั้น บอกกรรมฐานก็คือวิธีปฏิบัติ ข้อฝึกหัด แล้วท่านเอากรรมฐานนี่ไปฝึกไปปฏิบัติแล้วท่านจะเกิดสมาธิเอง ใช่ไหม โยมขอสมาธิ พระบอกกรรมฐาน เอ้า,โยมอยากมีปัญญามาขอปัญญา พระก็บอกอย่างเดียวกัน บอกว่าปัญญาพระให้ไม่ได้หรอก เอ้า,แล้วทำไง พระก็บอกข้อมูลความรู้ให้ เขาเรียกว่าบอกสุตะ บอกข้อมูลความรู้ให้ บอกข้อพิจารณาให้ บอกวิธีฝึกปัญญา วิธีคิดให้ เอ้า, แล้วก็คุณเอาไปปฏิบัติฝึกหัดตัวเอง คุณก็เกิดปัญญา นี่หลักพุทธศาสนามีอย่างนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดจากการฝึกตัวเองเท่านั้น มันก็เข้าหลักข้อแรกเลย ต้องฝึกเอา ฝึกเอาก็ด้วยการทำข้อที่ห้าแหล่ะ ทำเอง
แล้วข้อปฏิบัติทั้ง ๑๒ ข้อ ที่ว่าเมื่อกี้ ปฏิบัติการก็อยู่ในเรื่องนี้ทั้งหมด ก็คือทำไงจะให้มีการเริ่มต้นในการที่จะได้เจริญงอกงามขึ้นมาในกรรมดี แล้วจะได้มีศีล มีสมาธิ ปัญญา เจริญขึ้นไปตามแนวทางของพระพทธเจ้าด้วยการปฏิบัติตามหลักการของธรรมชาติที่มีความจริงถูกต้องตามเหตุปัจจัยของมัน แล้วก็จะได้มีสังคมที่ดีงาม ที่มาเกื้อหนุนซึ่งกันแลกัน เจริญขึ้นไปอย่างที่ว่า ครบหลักการ ๕ ข้อนั้น ข้อปฏิบัติ ๑๒ นี้ก็จะมาหนุน แล้วก็โยมก็ไม่ต้องไปเป็นห่วง ไม่ต้องไปติดตัง ไม่ต้องไปค้างใจว่า เออ, อันนี้มันไม่น่าจะเอางี้ ไม่เป็นไร โยมมีสิทธิ์ต่อไปโยมก็มาเสนอได้ บอกว่าอันนี้ไม่ดีเลยท่าน ขอเปลี่ยนปรับเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ เนี่ย สังคมมันต้องอยู่ด้วยอย่างงี้ มนุษย์ทุกคนก็ร่วมกัน อาตมาก็เลยพูดซะยืดยาว ก็คิดว่าไม่ต้องเข้าสู่เนื้อหาของหลักปฏิบัติอะไรหรอก เอาแค่ให้โยมเข้าใจหลักการทั่วไปเนี่ย แล้วก็เริ่มได้
นี้ลงท้ายอาตมาก็เลยเอามาอ่านให้โยมฟังซะ ไหนๆพูดไปแล้ว ตอนนี้ไม่ต้องอธิบายละ อ่านให้ฟัง มีหลักชาวพุทธที่ว่า เอานะ เป็นหลักร่วมกัน ไม่ใช่ของใคร งั้นอาตมาขอโอกาสอ่านนะ โยมยอมเสียเวลานิดหนึ่งนะ เจริญพร เอ้า, มาเท่ากับทวนที่อาตมาพูดไปแล้ว
หลักชาวพุทธ หนึ่งหลักการ ฟังหลักการก่อนห้าข้อ แล้วก็เอาไปคิดพิจารณา แล้วเห็นว่าน่าจะยึดถือเป็นหลักความเข้าใจที่ใช้ได้ก็เอา หนึ่ง หลักการ หนึ่ง ข้าพเจ้ามั่นใจว่ามนุษย์จะประเสริฐได้เพราะฝึกตนด้วยสิกขา คือการศึกษา สอง ข้าพเจ้าจะฝึกตนให้มีปัญญา มีความบริสุทธิ์ และมีเมตตากรุณาตามอย่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาม ข้าพเจ้าถือธรรมคือความจริง ความถูกต้องดีงามเป็นใหญ่เป็นเกณฑ์ตัดสิน สี่ ข้าพเจ้าจะสร้างสัมคมตั้งแต่ในบ้านให้มีสามัคคี เป็นที่มาเกื้อกูลร่วมกันสร้างสรรค์ ห้า ข้าพเจ้าจะสร้างความสำเร็จด้วยการกระทำที่ดีงามของตน โดยพากเพียรอย่างไม่ประมาท นี่หลักกรรมข้อสุดท้าย ห้าข้อนี่หลักการเลย หลักการใหญ่
นี้ต่อไปก็ปฏิบัติการ สองปฏิบัติการ ข้าพเจ้าจะนำชีวิตและร่วมนำสังคมประเทศชาติไปสู่ความดีงาม และความสุขความเจริญด้วยการปฏิบัติดังต่อไปนี้ แยกเป็นสามหมวด หมวดละสี่ข้อ หมวด ก. มีศีลวัตรประจำตน หนึ่งมีปกติกราบไหว้ แสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย บิดามารดา ครูอาจารย์ และบุคคลที่ควรเคารพ สอง สมาทานเบญจศีลให้เป็นนิจศีล คือหลักความประพฤติปฏิบัติประจำตัว ไม่มืดมัวด้วยอบายมุข สาม สวดสายธยายพุทธวัจนะ หรือบทสวดมนต์โดยเข้าใจความหมายอย่างน้อยก่อนนอนทุกวัน สี่ ทำจิตใจให้สงบ ผ่องใส เจริญสมาธิ และอธิษฐานจิตเพื่อจุดหมายที่เป็นกุศล วันละ ๕-๑๐ นาที หมวดหนึ่งจบแล้ว
ทีนี้ หมวด ข. เจริญกุศลเนืองนิจ ห้าบำเพ็ญกิจวัตรวันพระ ด้วยการตักบาตรหรือแผ่เมตตา ฟังธรรม หรืออ่านหนังสือธรรม โดยบุคคลที่บ้าน ที่วัด ที่โรงเรียน หรือที่ทำงานร่วมกันประมาณ ๑๕ นาที ท่านที่ตักบาตรทุกวันอยู่แล้วก็สบายไปเลย อันนี้ นี่เรียกว่าสำหรับคนเริ่มต้น หก เก็บออมเงินแล้วแบ่งมาบำเพ็ญทาน เพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อบูชาคุณ เพื่อสนับสนุนกรรมดี อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง สนับสนุนกรรมดี หมายความว่าใครเขาทำกรรมดีอะไร เราเอาเงินไปช่วยหนุนเขา เจ็ด ตัวนี้ตัวเองทำเองละ เพิ่มพูนบุญกรรมบำเพ็ญประโยชน์อุทิศแด่พระรัตนตรัย มารดาบิดา ครูอาจารย์ และท่านผู้เป็นบุพการีของสังคมแต่อดีตสืบมา อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง แปด ไปวัดชมอารามที่รื่นรมย์ และไปร่วมกิจกรรมทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันสำคัญของครอบครัว จบหมวดที่สอง
ต่อไปก็หมวดที่สาม หมวด ค. ทำชีวิตให้งามประณีต เก้า ฝึกความรู้จักประมาณในการบริโภคด้วยปัญญา ให้กินอยู่พอดี สิบ ปฏิบัติกิจส่วนตน ดูแลของใช้ของตนเอง และทำงานของชีวิตด้วยตนเอง คือจะให้ฝึกตั้งแต่เด็กเลย สิบเอ็ด ชมรายการบันเทิงวันละไม่เกินกำหนดที่ตกลงกันในบ้าน บ้านรู้จักวางกติกากันบ้าง และมีวันปลอดการบันเทิงอย่างน้อยเดือนละหนึ่งวัน สิบสอง มีสิ่งบูชาสักการะประจำตัว เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย และตั้งมั่นอยู่ในหลักชาวพุทธ
เนี่ย อันนี้คือมีกันอยู่ แต่ว่าบางทีเขวเพี้ยนไป มีสิ่งบูชาสักการะเพื่อจะได้อ้อนวอน ว่างั้น ก็เลยต้องกำกับ มีสิ่งบูชาสักการะประจำตัวเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระคุณพระรัตนตรัย และตั้งมั่นอยู่ในหลักชาวพุทธ จะบอกว่ามีเพื่ออะไร อย่าเพี้ยน ว่างั้น
เอาแล้ว ก็จบละ แล้วก็สรุปว่าด้วยการปฏิบัติสามหมวด สิบสองข้อนี้ ข้าพเจ้าเป็นชาวพุทธแท้จริงที่มั่นใจว่าจะสามารถรักษาธรรมไว้ และร่วมนำโลกไปสู่สันติสุข
เอาละ เจริญพร ก็ขออนุโมทนา ก็ขออภัยโยมด้วย วันนี้พูดยาวมากเกินไป ก็ถือว่าโยมมาช่วยกันทำกุศลก็แล้วกัน ต้อง พุทธบริษัทต้องสามัคคีอย่างที่บอกละ ต้องร่วมใจกัน แล้วก็ ก็จะเกิดผลดีแก่พระพุทธศาสนา แต่ที่แท้ก็คือ เกิดผลดีแก่ชีวิตของทุกคนและแก่สังคมของเรานั่นเอง สังคมก็จะดีงาม ประเทศชาติจะรุ่งเรือง มีความสุขสงบ จะไม่ไถลลงไปในทางอบายคือความเสื่อม ดังนั้นช่วยกันเถอะ ก็ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่าน อาตมาไม่ทราบ ไม่มีอะไรติดค้างนะ ถ้ามีติดค้าง โยมก็ทวง ถ้าไม่มีติดค้าง อาตมาก็ขอจบ ก็เป็นอันว่าอนุโมทนาโยมอีกครั้งหนึ่ง ก็ขอส่งเสริมกำลังใจว่า โยมมีจิตใจเป็นกุศล เริ่มต้นตั้งแต่มาร่วมพิธีทำบุญบูชาพระรัตนตรัยกัน แล้วก็มาอุปถัมภ์พระสงฆ์ เกื้อกูลด้วยผ้าอาบน้ำฝน แล้วก็เทียนพรรษาแล้ว ต่อไปนี้เราทุกคนก็มีหน้าที่ของแต่ละท่าน ในการเจริญงอกงามก้าวไปใน ศีล สมาธิ ปัญญา เริ่มตั้งแต่ ทาน ศีล ภาวนา นี่ก็ขอให้เราก้าวกันไป ทุกท่านก้าวไป แล้วร่วมแรงกันไปสนับสนันกันให้ก้าวไป และขอให้ทุกท่านเจริญงอกงามในกุศลที่เป็นมงคลอันแท้จริง อันจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ ก็ขอให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย พร้อมกันในครอบครัว ในชุมชน สังคม ประเทศชาติ แผ่ไปถึงยังโลกนี้ ก็ขอให้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ตลอดกาลทุกเมื่อเถิด