แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร โยมทายก ทายิกา อุปถัมภ์ภก อุปถัมภิกา และสาธุชนทั้งหลาย วันนี้เป็นวันสำคัญในเทศกาลทอดกฐิน เป็นเทศกาลบุญประจำปี ซึ่งเป็นเวลาของการทำกุศลครั้งใหญ่ ที่เป็นทั้งสังฆทานและกาลทาน สำหรับงานทอดกฐินปีนี้ โยมผู้เป็นเจ้าภาพคือ คุณโยมอัมภา หมอกญา พร้อมด้วยธิดา คือ อาจารย์ภาวัน หมอกญา และญาติมิตรทั้งหลาย ได้มีน้ำใจสามัคคีร่วมกัน นำผ้ากฐินมาทอดในวันนี้ เป็นความร่วมใจกันตั้งแต่ในบ้านเท่ากับสาระของกฐิน เราได้พูดกันมาตลอด ว่ากฐินนี้มีสาระสำคัญอยู่ที่ความสามัคคี อันนี้ก็เป็นความสามัคคีตั้งแต่แกนในที่สุดก็คือ ระหว่างคุณแม่กับลูก มีความพร้อมใจกัน ก็ทำให้เกิดกฐินปีนี้และก็ขยายความสามัคคีนี้ออกไป และนอกจากว่าจะทำบุญทอดกฐินที่เป็นสังฆทานและกาลทานแล้ว ท่านผู้จัดงานเป็นเจ้าภาพก็ยังปรารถนาจะให้บุญกุศลนี้เกิดเป็นประโยชน์แก่ญาติมิตรประชาชนทั้งหลายอย่างกว้างขวางขึ้น ก็จึงได้ถือโอกาสนี้บำเพ็ญธรรมทานด้วย คือ ได้พิมพ์หนังสือธรรมะแจกญาติโยมทั้งหลาย ก็เป็นหนังสืองานกฐิน ก็เป็นที่น่าอนุโมทนา แล้วก็อนุโมทนาโยมญาติมิตรทั้งหลายที่ได้ร่วมในการทำบุญทอดกฐินด้วยกัน เป็นความสำเร็จอย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็คือเป็นเรื่องของความพร้อมเพรียง ความสามัคคีร่วมใจกัน
เรื่องกฐินเป็นความสามัคคีนี้ได้ย้ำมาตลอด และเทศกาลนี้ประจวบกันว่าต่อเนื่องจากการออกพรรษา วันออกพรรษากับทอดกฐินต่อเนื่องกัน ถ้าไม่มีออกพรรษาก็ทอดกฐินไม่ได้ ถ้าพระไม่ได้จำพรรษาก็รับกฐินไม่ได้ ก็เลยต้องอาศัยพรรษา ถ้าไม่มีพรรษากฐินก็ไม่มี ทีนี้เรื่องพรรษากับกฐินนอกจากมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องผูกพันในเรื่องกาลเวลา เป็นต้นแล้ว ก็ยังมีความสัมพันธ์ในเรื่องธรรมะด้วย ธรรมะที่เป็นข้อสำคัญก็คือเรื่องความสามัคคีนี้แหล่ะ วันออกพรรษานั้นทางพระไม่ได้เรียกเหมือนโยม โยมนั้นเรียกกันว่าวันออกพรรษา แต่สำหรับพระนั้นที่จริงถ้าว่ากันตรงๆ แล้ว วันออกพรรษาไม่มี เพราะว่าวันออกพรรษาก็คือว่าพระอยู่จำพรรษามาครบ 3 เดือน ถ้าตั้งใจไว้เมื่อวันเข้าพรรษา เรียกกันว่า อธิษฐานพรรษา อธิษฐานพรรษาก็แปลว่า ตั้งใจกำหนดว่าจะอยู่ประจำที่นี้เป็นเวลา 3 เดือนหรือเรียกว่า ไตรมาส ครบสามเดือนเมื่อไรก็เมื่อนั้น พรรษาก็จบไปเอง ก็เลยไม่ต้องมีวันออกพรรษา ทีนี้ของพระท่านไม่เรียกวันออกพรรษา ท่านเรียกอะไร ท่านเรียกว่าวันมหาปวารณา นี้ชื่อวันที่โยมเรียกวันออกพรรษาพระเรียกวันมหาปวารณา โยมบางท่านเป็นชาวพุทธใกล้วัดไม่เคยได้ยินชื่อนี้ทั้งๆ ที่เป็นชื่อประจำ วันมหาปวารณาคือวันที่โยมเรียกว่า วันออกพรรษา มหาปวารณาก็เป็น สังฆกรรมถ้าเราเรียกแบบชาวบ้านก็เป็นพิธีกรรม เป็นพิธีกรรมสำคัญของพระสงฆ์ในทางทางพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้
ตามปกติพระสงฆ์จะต้องประชุมกันทุกกึ่งเดือน มาประชุมกันในโบสถ์แล้วก็มีการสวด เขาเรียกว่า สวดปาติโมกข์ สวดกันมาทุก 15 วัน ทุกครึ่งเดือน หรือว่าทุกปักษ์จะว่า 15 วันก็ไม่แน่ บ้างทีก็แรม 14 ค่ำ เดือนขาล ก็ 14 วันบ้าง 15 วันบ้าง สวดกันมาอย่างนี้ทั้งปี มียกเว้นอยู่วันหนึ่งคือ วันมหาปวารณา แทนที่จะสวดปาติโมกข์ พระพุทธเจ้ามี พุทธานุญาตไว้ให้กระทำพิธีเรียกว่า มหาปวารณาแทน นี้สำคัญมาก เพราะฉะนั้นวันออกพรรษาถ้าว่าตามวินัยของพระก็สำคัญมาก เพราะว่าเป็นวันที่มีสังฆกรรมพิเศษซึ่งในวันตลอดปีมาไม่มี มหาปวารณามีความสำคัญมาก ออกพรรษาและต่อจากออกพรรษาก็มาฤดูกฐินและสาระสำคัญของมหาปวารณา ก็กฐินนี้ก็ต่อเนื่องกัน ปวารณาเป็นสังฆกรรมหรือจะเรียกว่าเป็นพิธีกรรมก็แล้วแต่ที่สำคัญในแง่ที่พระสงฆ์มาเปิดโอกาสต่อกันให้ว่ากล่าว ทำไมจึงเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวกันปวารณาก็แปลว่าเปิดโอกาส เปิดโอกาสในที่นี้หมายความว่าเปิดโอกาสให้ว่ากล่าว บางทีก็ว่าแปลว่าเชิญเลย ปวารณาตัวนี้แปลว่าเชิญ เชิญให้ว่ากล่าวได้ ก็หมายความว่าได้อยู่ด้วยกันมาตั้ง 3 เดือน ได้เห็นได้รู้กัน ทั้งเห็นโดยตรง ทั้งบางทีไม่ได้เห็นก็ได้ยิน บ้างทีแม้ไม่ได้ยินก็เกิดข้อระแวงสงสัย ท่านก็ให้โอกาสไว้ว่าพอถึงวันมหาปวารณานี้ให้พระสงฆ์มากล่าวคำปวารณาเปิดโอกาสหรือเชิญกันเลยว่า ถ้าได้เห็นได้ยิน หรือระแวงสงสัยว่าข้าพเจ้าได้ทำอะไรไม่ดีไม่งามไม่ถูกต้อง มีข้อควรจะแก้ไขก็ขอให้บอกกล่าวกันได้ อันนี้ถือว่าเป็นหลักการสำคัญในการอยู่ร่วมกันที่จะให้เกิดความสามัคคี คนที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีนั้นก็ควรจะไม่มีความกินแหนงแคลงใจ ยิ่งสงฆ์ถือเรื่องวินัยเรื่องของการกระทำที่ถูกต้องดีงาม ความมีศีลนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าหากว่าเกิดระแวงกันไม่สบายใจเรื่องศีลแล้วก็อยู่ร่วมกันไม่เป็นสุข ความสามัคคีก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านก็ให้โอกาสกัน พอถึงวันนี้ก็เปิดโอกาสให้กันเลย ให้ว่ากล่าวบอกกล่าวแนะนำ ก็ร่วมไปถึงตักเตือนอะไรกันได้จะได้ปรับปรุงแก้ไข เพราะฉะนั้นเรื่องปวารณานี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความที่จะได้ย้ำให้เกิดความสามัคคี พระสงฆ์ก็ได้ผ่านสังฆกรรมอันนี้มาแล้ว ก็ได้มีเครื่องประสานและประกันและก็ย้ำสำทับความสามัคคีมาแล้ว มาถึงตอนนี้ก็เสริมเข้าไปอีกด้วยกฐิน กฐินได้เคยเล่าบ่อยๆ วันนี้ก็เป็นเพียงทบทวนนิดหน่อยว่าพระสงฆ์ทำไงล่ะ ตอนนี้พระสงฆ์ก็กฐิน สาระสำคัญก็คือว่า พระจำพรรษาเสร็จแล้วต่อไปนี้ตามธรรมเนียมของพระแต่โบราณมาก็เป็นฤดูที่เปิดโอกาสและเป็นเสรีที่จะเดินทางจาริกไปไหน พระก็เตรียมตัวออกเดินทาง ก็จะแยกย้ายกันไป อยู่ร่วมกันมาตั้ง 3 เดือน ตอนนี้จะแยกย้ายกันไป พระพุทธเจ้าก็ทรงให้เวลาอีกเดือนหนึ่งสำหรับเตรียมจีวรใหม่และก็จะได้เดินทางไม่ต้องมีกังวลกัน พระก็ได้โอกาสเป็นฤดูทำจีวร พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตสังฆกรรมอีกอันหนึ่งขึ้นมาทีเรียกว่ากฐินนี้แหล่ะ กฐินก็คือให้พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาแล้ว ช่วยกันหาผ้ามา ได้ผ้ามาแล้ว ต้องมามอบให้แก่พระภิกษุองค์หนึ่งในหมู่ของตนในที่ประชุม ก็มาประชุมกันแล้วก็เป็นทางสังฆกรรม และก็มาพิจารณาว่าองค์ไหนที่มีจีวรเก่าแต่ว่าต้องประพฤติดีด้วยนะ ไม่ใช่มีจีวรเก่าอย่างเดียว ถ้าประพฤติไม่ดีก็ไม่เอา ก็ตกลงกันว่าที่ประชุมก็ถวายผ้าที่หามาได้ให้แก่พระองค์นั้น แต่เดี๋ยวนี้ประเทศไทยค่อนข้างจะรวย ญาติโยมก็ไม่ได้รวยทั่วกันหรอก แต่ว่าสำหรับพระสงฆ์นี้ชักจะรวย รวยยังไงก็หมายถึงว่าโยมนี้มีศรัทธามาก ก็หมายความว่าญาติโยมนี้รวยด้วยศรัทธา บางทีทรัพย์ก็ไม่ค่อยรวยเท่าไร แต่ใจรวยด้วยศรัทธา อันนี้ก็น่าอนุโมทนา นี้โยมมีใจร่ำรวยด้วยศรัทธาก็เลยนำเอาผ้ามาถวายไม่ให้พระสงฆ์ต้องเหนื่อย เอาจีวรสำเร็จเลยมาถวาย พระก็ไม่ต้องไปยุ่งกับขบวนการเตรียมผ้าจีวร ได้มาก็เป็นของกลางไม่เป็นพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โยมสังเกตไว้ว่าเมื่อกี้นี้มาถวายนี้ ไม่ได้ถวายองค์ใดเลย มาวางไว้ข้างหน้าสงฆ์ เขาเรียกว่าวางท่ามกลางสงฆ์ เหมือนลอยมาในนภากาศและมาตกลงท่ามกลางสงฆ์ พอตกลงแล้วก็เป็นของกลาง พระก็ต้องมาตกลงกัน เขาเรียกว่า อปโลกน์ ก็มีองค์หนึ่งกล่าวคำเหมือนกับถามขึ้นในที่ประชุมว่าผ้านี้เกิดขึ้นเป็นของกลางของสงฆ์แล้ว และก็ขอถามปรึกษาที่ประชุมว่าจะเห็นสมควรแก่องค์ใด อีกองค์หนึ่งก็จะเสนอขึ้นมา ว่าเห็นสมควรแก่รูปนั้นรูปนั้น และก็ขอมติสงฆ์ว่าเห็นสมควร ไม่มีใครคัดค้านก็ตกลง อันนี้ก็คือสังฆกรรม ซึ่งเป็นวิธีการที่เขาถือว่าเป็นประชาธิปไตยมาแต่ดั้งเดิม อย่างญัตติก็เกิดจากพระทั้งนั้น เดี๋ยวตอนเย็นค่ำนี้พระสงฆ์ก็ต้องสวดญัตติในเรื่องกฐินนี้แหล่ะ และญัตตินี้เขาก็เอาไปใช้ในสภา ก็เอามาจากพระทั้งนั้น ตอนที่จะถวายมอบแก่ใคร ตามปกติอย่างที่บอกก็คือ พระมีความประพฤติดี มีความสามารถ แล้วก็มีจีวรเก่า ที่นี้สมัยนี้บอกเมื่อกี้ว่าเมืองไทยเรารวย ญาติโยมแม้ไม่รวยด้วยทรัพย์เท่าไร ก็ยังรวยด้วยศรัทธา ก็ยังมีอุตสาหะนำเอาผ้ามาถวาย พระก็เลยมีจีวรใช้กันเยอะ พระเมืองไทยร่ำรวยกันมาก จีวรฟุ่มเฟื่อยเหลือเฝือ อย่างวัดนี้ก็มีมากมาย นี้ก็เลยไม่รู้จะถวายองค์ไหนที่จะมีจีวรเก่า ก็แสดงว่าวัดนี้ไม่มีองค์ไหนจีวรเก่าพอ ตกลงพิจารณาไปมาเลยถวายเจ้าอาวาสเสีย เจ้าอาวาสเลยกลายเป็นได้ทุกปี เรื่องเป็นอย่างนี้ ความจริงเขามุ่งให้องค์ที่มีจีวรเก่า โยมก็เลยรู้ว่าพระวัดนี้ไม่มีจีวรเก่า แต่ว่าโยมถวายกันเรื่อย ถวายสังฆทาน ถวายไตรจีวร ไม่เฉพาะถวายตอนกฐิน ถวายทั่วไปหมด ทุกฤดูกาล เราก็เลยต้องช่วยกันเอาไปแจกวัดต่างจังหวัด ที่อาตมาบอกว่าพระรวยนั้นไม่ได้จริงทั่ว ความจริงต่างจังหวัดชนบทห่างไกลยังจนเยอะ เดี๋ยวอาตมาจะพูดไม่ถูก ต้องพูดให้โยมเข้าใจด้วย ต่างจังหวัดที่ไกลๆ ช่างยากจน บางทีผ้าผืนหนึ่งแทบไม่มี มีก็เป็นผ้าเนื้อหยาบ ตาห่างๆ เก่าๆ สีซีด เพราะฉะนั้นก็เลยมีสองวิธี หนึ่งก็พระเมื่อได้รับแล้วก็ไปแจกเองบางทีพระก็ไม่มีกำลังพอ ญาติโยมก็มาช่วย มีญาติโยมหลายท่านก็มาช่วย บางสำนักก็มีเป็นว่ารับประจำไปเลย มีสำนักเรียน มีพระมีเณรเรียนกันมาก ก็มารับของสังฆทานไปประจำไปเลย เอาไปแจกกันให้เป็นประโยชน์กว้างขวางไป ยิ่งไปเป็นประโยชน์แก่สำนักที่ยากจนไม่ค่อยมีของใช้และอยู่ห่างไกลมากก็ยิ่งดี ยิ่งเป็นประโยชน์ กว้างขวางออกไป อันนี้ก็เป็นวิธีการในการที่ทำให้สิ่งที่ญาติโยมถวายเกิดประโยชน์ ยิ่งเอาไปถวายแจกในที่ที่เป็นประโยชน์มาก โยมก็ยิ่งได้บุญมาก เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกัน มีที่ไหนที่ยากจนเราก็ขวนขวายช่วยกันไปถวายด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องของความสามัคคีทั้งนั้นแหล่ะ ทีนี้ว่ากันถึงเฉพาะถึงกฐินตอนนี้ก็คือว่า โยมก็มีความสามัคคีกับพระด้วย ตอนแรกนั้นท่านให้เป็นความสามัคคีในหมู่สงฆ์ด้วยการกฐิน ที่ว่าได้ผ้ามาหรือทำผ้ามา ได้ผ้าแล้วก็นำมามอบในที่ประชุมแก่พระองค์หนึ่ง เมื่อมอบไปแล้ว ถ้าผ้านั้นยังทำไม่เสร็จบ้างที่ต้องมาตัด มาเย็บ มาย้อมกัน ถ้าพระหามาเองมามอบแล้วต้องไปตัดเย็บย้อมอีก ทีนี้เวลาจะตัดเย็บย้อมก็ต้องแสดงความสามัคคี ก็คือพระทั้งวัดไม่ว่าจะมีอายุมากอายุน้อยก็ต้องมาร่วมมือกัน มาช่วยกันทำจีวร ทั้งๆ ที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้แล้ว มอบไปให้แก่พระองค์นั้นแล้ว แต่ว่าต้องมาช่วยกันทำจีวรนี้ อันนี้แสดงความสามัคคี มอบเสร็จแล้ว ต่อจากนั้นจึงมาหาจีวรให้ตัวเอง ก็แสดงว่าเราให้น้ำใจแก่ผู้อื่นก่อน ต่อจากนั้นก็ทำเพื่อตัวเอง แล้วก็เลยพระพุทธเจ้าก็ทรงมีพุทธานุญาตตรัสอานิสงค์ไว้ด้วยว่า พระที่ได้มาร่วมในการเรียกสังฆกรรมนี้ว่าการกรานกฐิน เมื่อกรานกฐินแล้วพระทุกรูปที่ร่วมในสังฆกรรมนั้นที่จำพรรษามาด้วยกันด้วยการอนุโมทนา ท่านเรียกว่าอนุโมทนาก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย อานิสงส์ก็คือผลประโยชน์พิเศษ ซึ่งทางพระมีห้าข้อ ซึ่งในที่นี้จะไม่บอก พระก็ได้รับกันหมด อย่างน้อยก็คือได้ยืดฤดูกาลที่จะแสวงหาจีวรสำหรับตน ที่ว่าจะมีเวลาเพียงหนึ่งเดือน บางทีก็หาไม่ทันก็ยืดเวลาออกไปอีก เพราะได้อานิสงค์อันนี้ ฤดูทำจีวรก็ยืดยาวออกไป พระก็มีโอกาสที่จะทำเพื่อตนเองได้ โดยทำเพื่อส่วนรวมหรือโดยทำเพื่อคนอื่นสะก่อน นี้เป็นเรื่องของน้ำใจ ก็เป็นคติสำหรับประชาชนว่าในสังคมเราต้องอยู่ด้วยความสามัคคี ถ้าสังคมของเรามีสามัคคีแล้วก็จะให้เกิดความแข็งแรงมั่นคง มีกำลัง นอกจากมีกำลังมีความมั่นคงที่ทำให้ทำการสำเร็จแล้ว มีความสุข บรรยากาศแห่งความสามัคคีมีน้ำใจนั้นเป็นบรรยากาศที่ดี เอื้อต่อการที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันเป็นสุข แล้วก็แต่ละคนซึ่งมีหน้าที่ของตนในการทำงานการ โดยเฉพาะพระก็คือ หน้าที่ในการศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติฝึกฝนอบรมตน ก็มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการที่จะปฏิบัติ ศึกษา พัฒนาตนได้ดี ถ้าบรรยากาศไม่ดีมีแต่ความขัดแย้งระแวงกัน การศึกษาเล่าเรียนการทำกิจของตัวเองไม่ดีไปด้วย เพราะฉะนั้นความสามัคคีนี้มีประโยชน์มาก จะทำกิจร่วมกันก็สำเร็จด้วยดี มีกำลังเข้มแข็ง แต่ละคนถึงไม่ต้องทำอะไรร่วมกันก็เท่ากับคนอื่นมาเอื้อให้บรรยากาศที่สบายใจ ชื่นใจ คุณจะมีอะไรก็ทำไป แต่ว่าถ้ามีเรื่องอะไรต้องช่วยกัน บอกนะ พร้อมที่จะช่วยกันทันที สังคมที่เป็นอย่างนี้จะมีความสุข และก็เจริญงอกงามรุ่งเรือง เรื่องของออกพรรษาและเทศกาลกฐินนี้มีคติสำคัญอันนี้ท่านสอนไว้และให้เรานำมาใช้ ไม่ใช่เพียงแต่ว่ามาถวายผ้าให้พระมีของใช้อย่างเดียว ที่ถวายแก่พระที่จริงก็เป็นความสามัคคีของญาติโยม ก็คือโยมมาเกื้อหนุนพระ ถวายกำลังกับพระว่าพระท่านไม่สะดวกนะ จะไปหาจีวรอะไรต่ออะไร ท่านก็ยาก บางทีสมัยก่อนต้องไปเก็บตามกองขยะ ไปเก็บตามป่าช้าเอามา แล้วก็มาต้ม มาตัด มาเย็บ มาย้อม กว่าจะเสร็จนี้ยากเย็น โยมก็เลยขวนขวายช่วยเหลือเสร็จ เป็นความร่วมใจของโยมกับพระสงฆ์ เพราะฉะนั้นกฐินก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ว่าไม่ใช่ถวายเฉยๆ แต่มองเห็นแล้วว่าพระท่านจำเป็น ท่านต้องทำกิจนี้ ต้องทำสังฆกรรมนี้ ถ้าไม่มีผ้านี้ ท่านทำสังฆกรรมไม่ได้ โยมก็มาช่วยเหลืออุดหนุนให้กำลังทำให้เลย เพราะฉะนั้นจึงถือว่ามีบุญกุศลเป็นอย่างมาก ก็เป็นบุญกุศลที่ร่วมกันที่ว่าพระก็มีความสามัคคี โยมก็มาเกื้อหนุนพระให้มีความสามัคคีกับพระด้วย กลายเป็นความสามัคคีในพุทธบริษัททั้งหมด อันนี้เป็นเรื่องของความสามัคคีที่ว่า
ที่กล่าวมารวมแล้วว่าความสามัคคีก็มีหลักต่างๆ ที่อาตมาพูดไปตามเหตุการณ์ของพระธรรมวินัย ที่นี้เรามาดูในแง่เนื้อหาสาระกันบ้าง พระพุทธเจ้าตรัสย้ำเรื่องความสามัคคีทั้งในวินัย วินัยของพระก็มุ่งที่ความสามัคคี ท่านให้มีกิจร่วมกันของพระตั้งแต่ที่อาตมาเล่าเมื่อกี้ ที่บอกว่าพระนี้ อย่างน้อยทุกครึ่งเดือนต้องมาประชุมกัน ทำสังฆกรรมที่เรียกแบบชาวบ้านว่าสวดปาติโมกข์ ฟังปาติโมกข์ อันนี้ก็คือซักซ้อมวินัยที่เรียกว่าศีล 227 พระก็ต้องมาประชุมพร้อมกัน ก็ต้องมีความสามัคคี ที่นี้กิจร่วมกันทุกอย่างจะต้องทำด้วยความสามัคคี ก็เป็นสังฆกรรม อย่างเรื่องบวชนาคก็ต้องเอาพระมาประชุมกัน แล้วก็มาดูคุณสมบัติของผู้สมัครบวช เห็นชอบร่วมกันแล้วก็มีมติ เห็นชอบร่วมกันคนนั้นจึงโหวตขึ้นมาได้ มีเรื่องอะไรของส่วนรวมอื่นอีกเยอะแยะ แม้แต่ว่าจะตั้งพระทำหน้าที่ทำการสงฆ์อย่างพระองค์หนึ่ง เรียกว่า ภัตตุเทศก์ มีหน้าที่ที่จะนิมนต์ ว่ารับนิมนต์จากโยมแล้วมาจัดพระไปในกิจนิมนต์นั้นๆ ไปบ้านไหน วันไหน องค์ไหนไปอะไรต่างๆ หรือแม้แต่ว่าเก็บข้าวของในวัด ก็จะมีพระเป็นเจ้าหน้าที่ พระเก็บจีวรท่านก็มีองค์หนึ่ง ก็ต้องมาเข้าที่ประชุมกัน ตกลงว่าหาพระที่มีคุณสมบัติ ไม่มีอคติ ไม่มีความลำเอียง และก็มีพรรษาพอเป็นผู้ใหญ่ เป็นต้น มีศีลดี แล้วก็ตกลงกัน มีมติสงฆ์แต่งตั้งขึ้น ที่นี้ก็เรียกว่า สมมติ สมมติแปลว่ารู้ร่วมกันหรือว่าตกลงกันตั้งขึ้นมา พระองค์นั้นก็จะมีชื่อเรียกว่า จีวรนิทากะ เป็นผู้ที่เก็บจีวร ที่นี้องค์ที่เก็บจีวรก็มีหน้าที่เก็บไม่ต้องมีหน้าที่แจก ตั้งอีกองค์หนึ่งมาเป็นผู้มีหน้าที่แจก เรียกว่า จีวรภาชกะ (จี วะ ระ ภา ชะ กะ) ก็เอาอีกองค์มาเข้าที่ในประชุม ตั้งเป็นองค์แจกจีวร อย่างนี้เป็นต้น องค์อื่นก็มีหน้าที่กันอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ทำกัน อันนี้เป็นสังฆกรรมเรียกว่าตามพระวินัยของพระพุทธบัญญัติ เรื่องของพระสงฆ์ก็อยู่กันอย่างนี้ เป็นเรื่องของสังฆกรรมเป็นเรื่องของส่วนรวม เป็นเรื่องของความสามัคคี พร้อมใจ สมัยนี้เรียกว่า ประชาธิปไตยก็ได้ แต่ประชาธิปไตยสมัยก่อนท่านเน้นที่ความสามัคคี จุดนี้ท่านเน้นมากต้องมีความพร้อมเพรียงกัน ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบแย่งกัน เวลานี้น่ากลัวที่ว่า ประชาธิปไตยมักจะเป็นประชาธิปไตยแบบแย่ง แบ่งแยกและแก่งแย่ง ย้ำบ่อยๆ เช่น แม้แต่เสมอภาคก็ค่อยเพ่งกันว่า เธอได้เท่าไร ฉันได้เท่าเธอหรือเปล่า นี้เรียกว่าประชาธิปไตยแบบเสมอภาค แต่ว่าเป็นเสมอภาคแบบแบ่งแยกและแก่งแย่ง แต่ของพระนี้เสมอภาคเป็นหลักการสำคัญมากเลย แต่ว่าเสมอภาคแบบสมาน แบบสมานก็คือ แบบที่เสมอสุขและทุกข์ เป็นต้น เสมอและสุขและทุกข์ เธอทุกข์ฉันก็ทุกข์ด้วย เธอสุขฉันก็สุขด้วย ไม่ใช่ว่าเธอสุขฉันก็สุขด้วย เธอทุกข์ฉันไม่ทุกข์ด้วย อย่างนี้ก็ใช่ไม่ได้ ของพระท่านถืออย่างนี้เลย สมานสุขทุกขตา ต้องมีสุขทุกข์เสมอกัน เสมออย่างนี้ท่านเรียกว่าเสมอแบบสมาน เป็นความสมานสามัคคีเป็นหลักการของประชาธิปไตย ท่านไม่เรียกประชาธิปไตยเพราะท่านถือสามัคคีเป็นสำคัญ เอาล่ะ เดี๋ยวไปกันไกล ก็เป็นว่าเรื่องของสงฆ์ เป็นเรื่องของความสามัคคี พระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติไว้ในทางพระวินัย ก็เต็มไปด้วยเรื่องความสามัคคีตั้งแต่เรื่องสังฆกรรมนี้แหล่ะ และก็มาสังฆกรรมที่บอกเมื่อกี้ มาปวารณาออกพรรษา ก็เรื่องของความสามัคคีว่าอยู่ร่วมกันมาแล้วมีอะไรที่จะบกพร่องก็ให้ว่ากล่าวกันได้นะ คนอยู่ร่วมกันแล้วว่ากล่าวกันไม่ได้นี้เกิดปัญหาแน่ ก็กินแหนงแคลงใจกัน เป็นต้น ก็อยู่กันไม่เป็นสุข เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าให้ทำเป็นสังฆกรรมเลย ต้องมาในที่ประชุม เปิดโอกาสกันเลยเชิญกันเลยให้ว่ากล่าวกัน ปวารณาเสร็จไปสองวัน พระก็มารับกฐิน กฐินก็เป็นสามัคคีอีก พระทุกองค์ก็ต้องมาพร้อมใจกันยกผ้าที่ได้มาให้แก่พระองค์หนึ่ง เสร็จแล้วยกไปให้ก็ต้องมาร่วมกันทำอีกจนกระทั่งเสร็จ แล้วก็เข้าที่ประชุม องค์ที่ได้รับไป ทำเสร็จแล้วก็แจ้งในที่ประชุม ที่ประชุมก็อนุโมทนาพร้อมใจกัน ก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วยกัน กฐินเสร็จแล้ว จะจากกันไป ก็จากกันไปด้วยน้ำใจดี มีสามัคคี นี้เป็นสาระของสังฆกรรม การอยู่ร่วมกันของพระสงฆ์ เพราะฉะนั้นเรื่องของพระสงฆ์ด้านวินัยเต็มไปด้วยเรื่องสามัคคี พระพุทธเจ้าก็เน้นเรื่องความสามัคคี หลักธรรมที่จะเข้ามาในพระวินัยคือว่า ตามปกตินี้ธรรมะเรามักจะพบในพระไตรปิฎกส่วนพระสูตร ทีนี้ธรรมะที่มาอยู่ในวินัยก็มี อยู่ในวินัยข้อสำคัญก็คือหลักความสามัคคี สามัคคีก็คือหลักสาราณียธรรม สาราณียธรรมก็มีหกประการ ก็เลยถือโอกาสพูดในที่นี้ด้วย มีทั้งในพระสูตร ทั้งในพระวินัยพระพุทธเจ้าทรงเน้นไว้ หนึ่ง จะทำอะไรก็ทำต่อกันด้วยเมตตา ก็คือ แสดงออกทางกายก็แสดงด้วยเมตตา สอง จะพูดอะไรแสดงออกทางวาจาก็แสดงออกด้วยเมตตา จะว่ากล่าวแนะนำกันก็ทำด้วยหวังดี พูดว่ากล่าวแนะนำตักเตือนกันได้หรือว่าแม้แต่ไม่มีอะไรก็พูดปิยวาจา พูดวาจาสุภาพอ่อนโยนด้วยใจรัก ต่อไปคิดอะไรก็คิดต่อกันด้วยเมตตา ต่อไปก็ได้มาแบ่งกันกินใช้ ทางพระท่านเรียกว่ามีลาภก็มีลาภเสมอกันเป็นสาธารณะ ได้ลาภมาของฉันก็ไม่หวง ถ้าเป็นพระก็แบ่งให้ได้ทั่วกัน ถ้าเป็นคฤหัสถ์ เป็นพระโสดาบัน ท่านไม่หวงเลย พระโสดาบันลักษณะสำคัญก็คือไม่มีมัจฉริยะ พระโสดาบันนี้ไม่มีเลย มัจฉริยะสักข้อหนึ่ง ความตระหนี่เหนียวแน่นไม่มี ได้อะไรมาอยากจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้คนอื่นทั่วกันไปหมด ขยายไปคฤหัสถ์ เป็นโสดาบันก็เป็นบุคคลที่ประเสริฐอย่างยิ่งก็เป็นอริยชน ต่อไปนี้ข้อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า สาธารณโภคิตา เพราะว่าเป็นของผู้มีบริโภคเป็นสาธารณะร่วมกันไปเลย ต่อไปก็ ศีลสามัญญตา มีความประพฤติดีเสมอกัน หมายความว่า ประพฤติตัวให้ดีงาม ไม่เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ ต่อไปก็ ทิฐิสามัญญตา มีความคิดเห็นที่ลงกันได้ มีความคิดเห็นแตกต่างก็มาพูดจากันไม่มาถือเป็นข้อทิฐิดื้อรั้น มาพูดจาปรับความเข้าใจกัน มีหลักการร่วมกัน หลักการพระศาสนา หลักการของพระธรรมวินัย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า มีอุดมการณ์เดียวกัน หลักหกประการนี้ ท่านเรียกว่าเป็นหลักสาราณียธรรม เป็นธรรมที่เป็นเครื่องให้ระลึกถึงกัน และทำให้เกิดความสามัคคี อันนี้ท่านใช้สำหรับพระสงฆ์ และญาติโยมก็เอาไปใช้ได้ หลักธรรมชุดนี้ก็มาใช้ในพระวินัยด้วย แต่วินัยนั้นในเชิงปฏิบัติการก็คือมีสังฆกรรมมากมายเป็นเรื่องความสามัคคีทั้งนั้นเลย นี้ก็เป็นเรื่องด้านพระวินัย ทีนี้ด้านธรรมะคำสอนเกี่ยวกับความสามัคคีนี้ เอาเฉพาะหลักสำคัญสาราณียธรรมก็พูดไปแล้ว หลักอีกอันหนึ่งที่สำคัญก็คือหลักในการปกครองต้องมีอปริหานิยธรรม อปริหานิยธรรมมีเจ็ดประการ มีอปริหานิยธรรมสำหรับพระ มีอปริหานิยธรรมสำหรับคฤหัสถ์ สำหรับการปกครองบ้านเมือง เริ่มตั้งแต่อันที่หนึ่งก็คือ หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ นี้ข้อที่หนึ่งข้อแรกเลย หลักการอยู่ร่วมกันเป็นความสามัคคีในการปกครอง ต้องหนึ่ง หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ อภินหสันนิปาตา มีการสันนิบาติก็คือมีการประชุมอภินหกันสม่ำเสมอเป็นประจำ สังคมประชาธิปไตยก็ต้องมีหลักการนี้ มีการประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันสม่ำเสมอ ข้อสอง เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม ไม่ใช่ว่าขาดประชุมกันเยอะแยะ ไม่ค่อยจะพร้อมสักที องค์ประชุมไม่ค่อยจะครบ อย่างนี้ประชาธิปไตยก็ไปไม่ค่อยไหวเพราะขาดความสามัคคี ต้องมีอภินหสันนิปาตา มีการประชุมกันเนืองนิตย์ แล้วก็เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุม ก็เลิกพร้อมกัน ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวไปคน เดี๋ยวไปคนหนึ่ง พอถึงท้ายประชุมเหลืออยู่สองคน ไม่ไหว บางทีลงมติไม่พอสะแล้ว ไม่ครบองค์ประชุม ท่านมีหลักไว้ก็สำคัญ พระสงฆ์ต้องถือหลักนี้ การประชุมทั่วไปก็ถือหลักนี้ ต่อไปก็มีอีกหลายข้อ อันนี้จะไม่ขอพูดล่ะ เช่นว่า มีให้เกียรติกุลสตรี ไม่มีการข่มเหงรังแก อันนี้ก็เป็นหลักสำคัญ นี้ฝ่ายบ้านเมือง ฝ่ายพระก็มีเช่นว่า ยินดีต้อนรับพระภิกษุที่ยังไม่มา ที่มาแล้วก็ขอให้อยู่เป็นสุข เป็นต้น มีการเคารพกัน ให้เกียรติผู้ที่มีประสบการณ์มาก เป็นผู้ใหญ่ในสงฆ์ รู้จักเชื่อฟังหรือรู้จักรับฟังคำ ไม่มีการถือทิฐิดื้อรั้น เป็นต้น อันนี้เป็นหลักของความสามัคคี ก็เป็นหลักของการปกครองด้วย และก็มีหลักอะไรอีก หลักที่สำคัญอีกหลักที่ญาติโยมต้องใช้มากคือ สังคหวัตถุ 4 ซึ่งมาจากในใจก็มีพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ออกมาในสังคมต้องแสดงออกเป็นสังคหวัตถุ 4 สังคหวัตถุ 4 มีอะไรบ้าง 1 ทาน การแบ่งปัน การให้เผื่อแผ่ มีของก็มาแบ่งปันให้แก่กัน ไม่หวงไว้ใช้คนเดียว ถ้าตัวเองมีฐานะดีก็เผื่อแผ่ช่วยเหลือคนยากจนด้วย นี้ท่านเป็นข้อที่หนึ่ง ให้เผื่อแผ่แบ่งปันด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา 2 ปิยะวาจา พูดว่าเป็นที่รักด้วยน้ำใจ ใจรัก ใจปรารถนาดีต่อกัน แล้วก็อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ ประพฤติประโยชน์ต่อกันด้วยเมตตาความรักบ้าง ด้วยกรุณาปรารถนาจะให้เขาพ้นจากความทุกข์ยาก เดือดร้อนในยามมีเภทภัย เป็นต้น แล้วก็ด้วยมุทิตาก็คือส่งเสริมคนดี ให้เขาทำความดีให้สำเร็จ ข้อสุดท้าย สามานัตตา ก็แปลว่ามีตนเสมอ ก็คือความเสมอภาคนั่นเอง หลักความเสมอภาคของพระถือเป็นสำคัญอย่างยิ่ง เป็นตัวคุมท้าย การที่ว่ามีตนเสมอ ไม่ใช่ว่าเสมอเท่ากันแล้วก็ค่อยมองจ้องกัน สมานัตตามีตนเสมอ ก็คือเข้าหาถึงกัน สามข้อแรกนี้ทานให้แก่กัน อาจจะอยู่คนละทางคนละที่ก็มาให้กัน ปิยวาจาก็พูดดีต่อกัน อยู่คนละข้างก็พูดดีต่อกัน อัถจริยา อยู่คนละที่ก็มาประพฤติดีต่อกัน บำเพ็ญประโยชน์แก่กัน เขาเดือดร้อน เขาเกิดน้ำท่วมไฟไหม้ เราอยู่กรุงเทพเราก็ไปช่วย อยู่คนละที่ พอสมานัตตามีตนเสมอนี้เข้าคลุกเลย เข้ารวม เข้าอยู่ด้วยกัน พระท่านอธิบายว่า สมานสุขทุกขตา มีสุขทุกข์ร่วมกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์ ความเสมอภาคของพระนี้ต้องแสดงออกด้วยการร่วมสุขร่วมทุกข์ ไม่ใช่ว่าค่อยเพ็งจ้องว่าฉันได้เท่าเธอหรือเปล่า อย่างนี้ไม่ไหวแล้ว ยุคนี้เป็นยุคธุรกิจเลยเพ็งกันในแง่นี้ ประชาธิปไตยก็เป็นประชาธิปไตยแบบแบ่งแยกแก่งแย่งกัน แล้วจะไปดีอะไร จะเจริญงอกงาม ประเทศชาติจะเข้มแข็งได้อย่างไร อ่อนแอก็แบ่งแยกกันอย่างนี้ ประชาธิปไตยที่ถูกต้องต้องมีสามัคคี ต้องมีความเสมอภาคแบบสมาน ต้องเป็นสมานัตตา มีตนเสมอ มีตนเสมอ หนึ่ง ถ้าแปลง่ายๆ ไม่ถือตัวก็คือว่า ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน นี้อันหนึ่งล่ะ นี้ก็แสดงว่าเสมอภาค สอง ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ก็แสดงว่าเสมอภาค สาม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง รักก็เอาด้วยไม่รักก็ผลักออกไป ไม่ใช่อย่างนั้น ก็ต้องมีความเสมอภาคเป็นธรรม มีความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน แล้วก็อย่างที่ว่า สมานสุขทุกขตา มีสุขทุกข์เสมอกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์ ถ้าเสมอภาคแบบนี้แล้วสังคมก็ดีแน่ ประชาธิปไตยของเราไปไม่ค่อยถึง ประชาธิปไตยยังอยู่แค่เปลือกสะมาก ก็เลยง่อนแง่น สังคมไม่มั่นคง ประชาธิปไตยแบบแบ่งแยก มีธุรกิจเป็นใหญ่ ถ้าธุรกิจเป็นใหญ่ก็ต้องแบ่งแยกค่อยมองอย่างที่ว่า จะได้เท่ากันไหม คนนั้นได้เท่าไร เราได้เท่าเขา ก็อยู่กันแค่นี้ ไม่ไปไหนสักที เพราะฉะนั้นก็ต้องให้มาใช้ความเสมอภาคแบบสมานัตตาของพระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ เอาอย่างนี้แล้วก็ให้ไปถึงสมานสุขทุกขตาให้ได้ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน แล้วเราก็จะมีความสามัคคี มีความสุข นี้คือหลักของสังคหวัตถุ มีสมานัตตา มีทั้งเข้าร่วมกัน เสมอภาค สมานแล้วก็มีความเป็นธรรมนี้สำคัญ ถ้ามีเมตตา มีกรุณา มุทิตา แม้จะมีทาน มีปิยวาจา มีอัตถจริยา แต่ขาดความเป็นธรรมอย่างเดียวก็สามัคคีไม่รอด ไปไม่ไหวเหมือนกัน ต้องมีความเป็นธรรม สังฆกรรมต่างๆ ทางวินัยก็จะยึดความเป็นธรรม ความถูกต้องเป็นใหญ่ ถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย ก็เลยเป็นแกนเป็นหลักของประชาธิปไตย นี้ก็เรื่องของการย้ำให้เห็นว่าความสามัคคีสำคัญมาก ในเรื่องของพระพุทธศาสนาทั้งด้านธรรมะและวินัย ทางวินัยก็มีพุทธบัญญัติต่างๆ สังฆกรรม เป็นต้น อย่างที่ว่าไปแล้ว ทางธรรมะก็หลักธรรมคำสอนที่ทั่วไปหมด สำหรับทั้งพระทั้งญาติโยมให้เรามีหลักความสามัคคีนี้ไป จะรักษาสังคมให้อยู่ได้ แล้วสังคมนี้ก็จะเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่เป็นสุขของบุคคล และเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของบุคคลไปด้วย ไม่งั้นแล้วบุคคลก็จะอยู่เป็นสุขไม่ได้ ถ้าสังคมไม่มีความสุข
เรื่องของความสามัคคี ขอขยายไปอีกนิดนึง เวลาก็กระชั้นเต็มทีแล้วตอนนี้ คือความสามัคคีนี้แสดงออกหลายด้าน หนึ่ง กายสามัคคี มีความสามัคคีทางกาย อย่างสังฆกรรมนี้ ข้างต้นท่านก็มุ่งให้กายสามัคคี ก็คือตัวเราข้างนอกได้มารวมกัน ถ้าตัวไม่มาร่วมกันก็ทำอะไรไม่ได้ ท่านก็เลยให้มีการสามัคคี เช่นว่า ให้เข้าที่ประชุม ต้องนับองค์ประชุม มาครบไหม อันนี้เรียกว่า กายสามัคคี อย่างโยมมาในวันนี้มานั่งพร้อมกัน โยมก็มีกายสามัคคีแล้ว มีความสามัคคีทางกาย เอาล่ะได้หนึ่งล่ะ นี้ท่านบอกว่า สอง ต้องมีจิตสามัคคี ต้องมีความสามัคคีทางใจ ใจต้องมีจุดหมายอันเดียวกัน มีความปรารถนาดีต่อกัน มีจุดประสงค์ที่เป็นความดีความงาม ความสุขความเจริญร่วมกัน หรืออย่างวันนี้โยมก็มีจุดหมายร่วมกันมาทำบุญทำกุศล มาทอดกฐิน อย่างน้อยก็แค่นี้ล่ะ มีศรัทธาร่วมกัน มีใจร่วมกันแค่นี้เป็นจิตสามัคคี ใจก็สามัคคีรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย ท่านเรียกว่าสามัคคี ในทีนี้ก็คือว่า สมจิตตา มีใจตรงกัน แล้วก็มี เอกจิตตา มีใจเดียวกัน ก็ร่วมจิตร่วมใจ ใจตรงกัน ใจเดียวกัน อย่างนี้สามัคคีแน่ มีกายสามัคคีอย่างเดียวกัน กายมาพร้อมกันแล้ว ใจคิดคนละอย่าง ใจไม่ชอบกัน ใจไม่ปรารถนาดีต่อกัน คิดคนละอย่าง มุ่งหมายคนละอย่าง กายสามัคคีก็ไปไม่รอด จิตไม่สามัคคี เพราะฉะนั้นถ้าจิตสามัคคี ถ้าจิตสามัคคี กายไม่มาก็ไปไม่ไหว มันก็ทำอะไรไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นต้องทั้งสองอย่าง แต่ใจสามัคคีนี้เป็นแกนแล้ว ถ้าโยมมีใจสามัคคีก็พร้อมที่จะพากายมา ถ้ากายสามัคคีมาที่นี้แล้ว ใจก็สามัคคีด้วย ก็แน่ล่ะ มีอะไรก็ทำด้วยกันได้ อันนี้ก็เรียกว่าเกิดความพร้อมเพรียงที่แท้จริง ก็เป็นอันว่าให้มีกายสามัคคีและจิตสามัคคี
เรื่องสามัคคี แบ่งอีกแบบหนึ่ง กายสามัคคีเราเอาไว้แล้วข้างนอก ต่อไปวาจาสามัคคี มีไหม ก็บอกว่ามี วาจาสามัคคีก็คือ กล่าวคำที่มันจะทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี เป็นวจีสุจริตอย่างหนึ่ง หรือเป็นสัมมาวาจาอย่างหนึ่ง สัมมาวาจามียังไงบ้าง มีองค์ประกอบ ท่านที่อยู่ในวงการธรรมะ อาตมาก็จะถามล่ะ ว่าสัมมาวาจานี้เป็นวาจาอย่างไรบ้าง มีองค์ประกอบเท่าไร บอกว่าสัมมาวาจามีองค์ประกอบ 4 ใช่ไหม หนึ่ง เป็นวาจาที่ไม่เท็จ เป็นวาจาจริง ต้องเว้นจากมุสาวาท สอง เว้นจากปิสุนาวาจา เว้นจากวาจาส่อเสียด ยุยงให้เขาแตกกัน แล้วก็เว้นจากผรุสวาจา เว้นจากคำหยาบ แล้วก็เว้นจากคำพูดเพ้อเจ้อ ถ้าได้อย่างนี้ก็เป็นสัมมาวาจา ได้เป็นวจีสุจริต แต่ทีนี้ข้อที่ว่าเว้นจากวาจาส่อเสียด ไม่กล่าวยุยงให้คนแตกแยกกันท่านพูดในทางบวก ท่านมีคำท่านเรียกว่า สมคกรณีวาจา แปลว่า วาจาทำให้คนสมัครสมานกัน หรือวาจาสร้างความสามัคคีนั่นเอง อันนี้สำคัญ วาจาที่พูดกันเราอาจพูดว่ากล่าวตักเตือนกันได้ แต่ว่าน้ำใจต้องปรารถนาความสามัคคี ไม่ใช่ว่าใจจะมุ่งว่าร้ายเขา หรือแกล้ง หรือข่มขู่ หรือทำให้เขาเสียหายต่างๆ เหล่านั้น ใจแม้จะว่าจะเตือนหรืออะไรก็ตาม ทำด้วยความปรารถนาดี ด้วยใจรัก ถ้าอย่างนี้ไม่เป็นไร ก็ไม่เสียสมคกรณีวาจาและไม่เสียปิยวาจาด้วย ก็เอาเป็นว่าต้องมีวาจาที่เป็น สมคกรณีวาจา วาจาที่ทำให้คนสมัครสมานสามัคคีนี้เป็นสำคัญ นี้วาจาสามัคคี ต่อไปก็สามัคคีในกิจกรรม มีกิจกรรมที่สามัคคี สามัคคีในความหมายหนึ่งท่านบอกว่า มาจาก ขออภัย แยกศัพท์ให้โยมหน่อย ยากนิดนึง มาจากคำว่า สามัคคีนี้มาจาก สัง แปลว่า ร่วมกัน และก็ อค แปลว่า ยอดหรือจุดรวม จุดหมาย หมายความว่า คนจะทำการอะไรต้องมีจุดหมายร่วมกัน ถ้ามีจุดหมายร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ก็เกิดใจมุ่งไปที่เดียวกัน ก็เดินทางเดียวกัน ก็เกิดกำลังเข้มแข็ง ทำการกิจกรรมต่างๆ ทำความเพียรพยายามเพื่อจุดหมายอันเดียวกัน นี้เกิดความสามัคคีแน่นอน คนที่จะสามัคคีก็ต้องมีจุดหมายรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันนี้สำคัญ แต่ว่าแสดงออกที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ก็เป็นอันว่าทั้งกายแสดงออกภายนอก สามัคคีวาจา สามัคคีและก็มาทำกิจกรรมที่เป็นสามัคคี เหมือนโยมทำวันนี้ ก็มาทำการทอดกฐิน กิจกรรมก็เป็นจุดหมายร่วมกัน มีจุดหมายร่วมกันก็เป็นความสามัคคี
เอาล่ะ ก็พูดถึงแง่ต่างๆ ของความสามัคคี ที่พูดไปแล้วก็มีจุดที่เอามาแยกแยะหรือเน้นย้ำให้โยมได้ชัดอีกทีหนึ่งว่า ความสามัคคีที่บอกว่ามีใจเดียวกัน มีใจตรงกัน ร่วมกันต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป ต่างกันก็ได้ ก็หมายความอย่างที่ว่าไปแล้ว เดี๋ยวจะบอกว่าสามัคคีนี้ต้องเหมือนกันหมด ไม่ใช่ อย่างที่บอกแล้ว ต่างกันก็ได้ ก็อย่างคนทำกิจกรรมต่างๆ ก็มีจุดหมายเดียวกัน ถ้าเป็นคนเก่งเขาจะมีคนที่สมานประสานกิจกรรม แต่ละคน แต่ละกลุ่มแยกออกไปทำคนละอย่าง แต่มาประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าขืนทำอันเดียวกันหมดกิจกรรมใหญ่ๆ ไม่สำเร็จ หรือไม่ได้ผลดี สามัคคีที่สำคัญที่เก่งต้องรู้จักแบ่งงานกันทำได้ด้วย แบ่งงานและประสานงาน ประสานจุดหมาย รู้จักทำกลไกจัดให้มันต่อเนื่องประสานกันดี แม้จะต่างกันก็ได้ผลสำเร็จดี แม้ในทางวาจาก็เหมือนกัน วาจาที่ว่านี้ จะต้องมาเหมือนกัน ต้องกล่าวตามกัน คนนี้ว่าอย่างนั้น คนนั้นว่าอย่างนี้ อย่างนี้สามัคคีหรือเปล่า ไม่จำเป็น ไม่ใช่ว่าคนนี้ว่าอย่างนี้แล้วคนอื่นต้องว่าตาม อย่างนั้นก็ไม่ต้องว่าตักเตือนกันสิ อย่างปวราณานี้บอกชัดเลย ก็คือให้ว่ากล่าวตักเตือน มีความเห็นต่างกันก็ว่ากันได้ ไม่ถือสา แต่มันสำคัญที่ไหน มันสำคัญที่มีความปรารถนาดี หวังดี เพราะฉะนั้นคำที่ท่านปวรณานี้ คำพระท่านบอกไว้ในตัวครบถ้วนเลย โยมต้องจำไว้นะ บางคนก็ไปบอกฉันทำนี้ว่ากล่าวตักเตือน แต่ไม่รู้ว่าใจหวังดีหรือเปล่า ถ้าใจไม่หวังดีนี้ไม่แน่หรอก ไปทำโน่นทำนี้บอกว่า ฉันทำด้วยเจตนาดี เจตนาดีต้องชัดตรงที่เจตนาดี มีความหวังดี เพราะฉะนั้นต้องให้มันดูคำปวารณาของพระ คำปวารณาของพระก็คือว่า เห็นอะไรที่มันผิดหูผิดตา ทำไม่ถูกไม่ต้อง เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ระแวงสงสัยก็ดีให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ท่านก็บอกว่า สังฆังภันเต ปวาเรมิ กระผมขอกล่าวเปิดโอกาสกับสงฆ์หรือกล่าวเชิญเลย เชิญสงฆ์เลย ทิเฐนะวาสุตเตนะวา ปริสังกายวา จะได้เห็นก็ตาม จะได้ยินก็ตาม จะได้ระแวงสงสัยก็ตาม วะทันตุมัง อาญัตสะมังโตนุกัมปัง ปาทายะ ได้ยินได้ฟังอย่างที่ว่าแล้ว มีอะไรผิดที่ผมกระทำไปก็ วะทันตุมัง จงบอกกล่าวกระผมนะ บอกเลย เชิญให้บอก แล้วต่อไป อาญัตสะมังโตนุกัมปัง อุปาทายะ โดยที่ท่านผู้มีอายุนี้ ภาษาพระ ท่านผู้มีอายุก็คือท่านทั้งหลาย อนุกัมปัง อุปาทายะ อาศัยความเอ็นดูนี้ ภาษาโบราณ เอ็นดูนี้ก็คือความเมตตากรุณา ความหวังดี ความปรารถนาดีนั่นเอง ท่านผู้มีอายุ มีความหวังดี ปรารถนาดี จงว่ากล่าวข้าพเจ้าเถิด ปัสสันโต กกิกริสันสามิ เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ก็จะได้แก้ไข เป็นการบอกเลยว่าตัวเองจะต้องแก้ไขปรับปรุง ไม่ใช่อยู่อย่างนั้น อยู่อย่างเดิม สามัคคีอย่างนั้น ไม่มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงไป อยู่อย่างไรอยู่อย่างนั้นก็สามัคคีอย่างนี้ไม่เจริญ เพราะฉะนั้นสามัคคีนี้ต้องมีความต่างได้ มีความแก้ไข มีการเปลี่ยนแปลงได้ เจริญงอกงามได้ เพราะฉะนั้นก็เอาเป็นว่า ความสามัคคีนี้ไม่ใช่ว่าต้องอย่างเดียวกันหมด แตกต่างกันก็ได้
ทีนี้อีกอันหนึ่ง ความสามัคคีนั้นมีสองแง่ ก็คือ สามัคคีอยู่ร่วมกันทำการร่วมกันให้เกิดกำลัง ทำให้เกิดความสำเร็จ อยู่เย็นเป็นสุข แต่วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งที่สำคัญนั้นอย่าลืม ก็คือวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปรับปรุง ก็คือการพัฒนาให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าอยู่เป็นสุขก็อยู่กันอย่างนั้น เท่าใดก็เท่านั้นไม่เจริญก้าวหน้าไป อยู่เป็นสุขมีกำลังกันก็อยู่กันเท่านั้น อันนี้ท่านมุ่งหวังข้อสำคัญในความสามัคคีอย่างชนิดสามัคคีแบบปวารณาก็คือต้องการการแก้ไขปรับปรุง อะไรยังบกพร่องย่อหย่อนก็แก้ไข มาช่วยกันบอกกันกล่าว แม้ส่วนตัวก็ตามส่วนร่วมก็ตาม ก็ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงทั้งนั้น ส่วนตัวเราแต่ละคนชีวิตจะดีงามจะเจริญพัฒนาต้องมีการแก้ไขปรับปรุง พุทธศาสนาสอนให้เรามีจิตสำนึกในการฝึกฝนปรับปรุงตนเสมอ คนใดมีจิตสำนึกในการฝึกฝนตนเอง อย่างเด็กๆ นี้ท่านเรียกว่ามีจิตสำนึกในการศึกษา จิตสำนึกในการศึกษาก็คือจิตสำนึกในการฝึกตน มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วจะเจริญไม่ได้ ก็ขอย้ำอีกทีก็พูดบ่อยๆ ก็คือ คนไทยชอบพูดขออภัย พูดผิด ๆ บอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ประเสริฐที่ไหนล่ะ พูดไม่ครบ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่ พูดไปได้มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ มันประเสริฐด้วยการฝึก ฝึกแล้วจึงประเสริฐ ท่านพูดเต็มว่ามนุษย์ที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด นอกจากประเสริฐในหมู่มนุษย์แล้ว ประเสริฐกว่าเทวดาก็ได้ พอมนุษย์ฝึกตนเองแล้วประเสริฐ เทวดาพระพรหมท่านยอมเลย บอกว่า มนุสสภูตัง สัมพุทธังอัททันตัง สมาหิตัง เทวาปินมัสสันติ ท่านว่างั้น บอกว่าพระพุทธเจ้าทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์ แต่เป็นผู้ฝึกพระองค์แล้ว มีพระทัยตั้งมั่นได้ดี ฝึกอบรมอย่างดีแล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ ถ้ามนุษย์ฝึกตนแล้วก็เทวดาพระพรหมก็น้อมนมัสการ เราไม่ได้ไปข่มขี่ เราไม่ได้ไปเหยียดหยามท่าน เราไม่ได้ไปบอกท่านให้ไหว้หรอก แต่ว่าเทวดาท่านมีใจดี ท่านรู้จักคนดีท่านก็เลยไหว้คนดี ความดีก็มาอยู่ที่คนดี คนดีก็รักษาความดีไว้ เพราะฉะนั้นให้จำไว้ มนุษย์ประเสริฐด้วยการฝึก มนุษย์ที่ฝึกแล้วประเสริฐสุดแม้ในหมู่มนุษย์และเทพทั้งหลาย
ก็ให้ถือหลักนี้ไว้ เด็กนักเรียนทั้งหลายอยู่ในวัยสำคัญที่จะต้องมีจิตสำนึกในการศึกษา หรือจิตสำนึกในการพัฒนาตน ก็คือจะต้องมีจิตสำนึกในการฝึกตน จิตสำนึกในการฝึกตนก็คือมองสถานการณ์ทั้งหลายเป็นการเรียนรู้ เป็นโอกาสที่จะเรียนรู้ ไม่ถือเอาชอบใจไม่ชอบใจ อะไรที่ชอบใจฉันก็เรียนรู้ได้ อะไรไม่ชอบใจฉันก็เรียนรู้ได้ อันที่ไม่ชอบใจบางทีได้เรียนรู้มากกว่าที่ชอบใจ เจอสิ่งที่ไม่ชอบใจได้เรียนรู้มากกว่าเลยกลายเป็นชอบสิ่งที่ไม่ชอบ คนเราเป็นอย่างนี้นะ ถ้าวางใจถูก สิ่งที่ไม่ชอบยิ่งชอบใหญ่ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ไม่ชอบมันเป็นอุปสรรค เป็นต้น มันยาก งานยาก เป็นต้น เราเจองานยากได้ฝึกตนเองว่า คนที่ชอบฝึกตัวเองไปเจองานยาก บอกว่าฉันได้ฝึกตนเองมาก ฉันก็ชอบใจสิ ก็เลยชอบงานที่ยาก งานที่ยากได้ฝึกตนเองมาก คนไหนชอบงานยากคนนั้นก็สบาย มีความเจริญงอกงามดีทั้งนั้น ทางพระท่านให้ถือว่าเจอสุขเจอทุกข์ฉันดีทั้งนั้น เจอสุขก็อย่ามัวเมา ถือเป็นโอกาสทำอะไรได้ง่ายได้คล่องรีบทำสะ เวลาสุขก็คือโอกาสอำนวย สุขแปลว่าง่าย ว่าคล่องรีบทำสะ ไม่งั้นเราไปเพลินเลยประมาทเลยเสียเลยเสื่อม เจอทุกข์ก็แปลว่ายาก ยากมาบีบคั้น กดดัน เราต้องรีบดิ้น รีบดิ้นก็รีบทำ รีบสู้ ต้องเข้มแข็งทำแล้วเราก็ได้บทเรียน ได้ฝึกตน เราก็เจริญงอกงาม เพราะฉะนั้นดีทั้งนั้นไม่ว่าทุกข์ว่าสุข คนที่ฝึกตนแล้วก็ดีทั้งนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้ เราจะเจริญฝึกตนได้ดีก็ต้องอาศัยสามัคคีหมู่คณะ คนอื่นมาช่วย อย่างที่ว่า ปวารณานี้ก็เรามีจิตสำนึกในการฝึกตนจะแก้ไข บางทีเรายังมองไม่เห็น มีคนอื่นมาช่วยบอก ถึงวันปวารณา แม้ไม่วันปวารณาที่จริงถ้าปาวรณาครั้งเดียวคลุมทั้งปี หมายความว่าเป็นสังฆกรรมครั้งใหญ่ที่บอกให้รู้กันว่าเปิดโอกาสแก่กัน และก็เปิดโอกาสตลอดปี เมื่อไรก็ได้ เจอว่าฉันทำอะไรไม่ถูก ไม่ต้องได้ยินสงสัยก็บอกกันได้ ก็คือเรามีจิตสำนึกในการฝึก ในการศึกษา ในการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงตน เราก็เลยรอรับคำบอกกล่าวแนะนำ ตักเตือน สั่งสอนของคนอื่น ก็ดีสิ ใครบอกเราก็ถือเป็นโอกาสแก้ไขปรับปรุงตน ก็ดี เป็นเรื่องหมู่คณะ ก็เลยสามัคคี ก็เป็นประโยชน์อย่างนี้ คนอื่นก็ช่วยเรา หมู่คณะก็ช่วยเรา บรรยากาศก็เป็นสุข อยู่ด้วยกัน ก็มีแต่ความดีงาม ตัวเองก็พัฒนา เพราะฉะนั้นสามัคคีไม่ใช่อยู่อย่างเดิม แค่ว่าเป็นสุขมีกำลัง สำหรับให้แก้ไขปรับปรุงพัฒนาทั้งส่วนตัวและส่วนรวมด้วย
วันนี้อาตมาก็ได้พูดมา ก็เป็นสาระของกฐินและโยงไปหาวันปวารณา วันออกพรรษาที่ว่ามาแล้วนี้ เรื่องของพระ สังฆกรรม ชีวิตของท่านตลอดจนกระทั่งธรรมะ หลักคำสอนนั้นมีคติให้เราเยอะ บางทีเราก็ผ่านๆ ไป ร่วมพิธีกรรมนั้นเราก็ไม่ได้จับสาระอะไรเท่าไร ถึงเวลาเราก็มาทบทวนกันสักที โยมก็คงมองเห็นแล้วว่า ชีวิตของพระที่แท้เป็นอย่างไร และถ้าพระปฏิบัติได้ตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ พระสงฆ์ก็อยู่ดี จะไม่มีปัญหาให้เขามาเที่ยวทำอะไรต่ออะไร ว่ากล่าวกันวุ่นวายนั้น แต่ว่าพระอย่างเดียวก็ไม่ได้นะ พระสงฆ์ของเรานี้เป็นสังคมเปิด คือไม่ใช่ว่าพระสงฆ์ไปเที่ยวเลือกเอาคนที่ต้องการเข้ามานะ คนเขาถือว่าเขามีสิทธิ์เข้ามาในสงฆ์นี้ เขาไม่มีข้อบกพร่อง ถามเขาแล้วเขาไม่บกพร่อง เขามีสิทธิ์ เขาขอเข้ามาแล้วพระก็ห้ามไม่ได้ ก็เลยเปิดช่องว่างไว้ ถ้าเข้ามาดีก็คือเข้ามาเป็นที่ฝึกตนเอง แต่เป็นสังคมที่สามัคคี เพราะเอื้อบรรยากาศให้แต่ละคนได้ฝึกฝนพัฒนาศึกษาตน แต่ทีนี้พอว่าคนนั้นมาด้วยเจตนาไม่ดี กลายเป็นโอกาสแก่เขาเข้ามาแอบแฝงหากิน เป็นต้น ที่นี้ ญาติโยมถ้าไม่มีน้ำใจสามัคคีกับพระก็ได้แต่จ้องหาโทษว่าพระเป็นยังไง พระนี้ไม่ดี ก็พระจะไปมีกำลังอะไร อาชญาก็ไม่มี ตำรวจพระก็ไม่มีอำนาจที่จะไปจับขังคุก ตำรวจพระก็เรียกไปอย่างนั้นเอง ที่จริง ตำรวจแท้ก็ต้องเป็นตำรวจชาวบ้าน เสร็จแล้วชาวบ้านไม่ร่วมมือกับพระ พระก็แย่สิ ไม่มีอำนาจจะไปทำอะไร เพราะฉะนั้นสมัยโบราณท่านมีหลัก พุทธบริษัทจะต้องร่วมกัน ถ้าหากว่าคนไม่ดีเข้าไปในสงฆ์ ทางคฤหัสถ์จะต้องไปเอาออกมา อันนี้หลักการนี้ญาติโยมคนโบราณเขาจำได้ดี สมัยนี้ไม่รู้เรื่องแบ่งเอาพระไปฝ่ายหนึ่งโยมไปฝ่ายหนึ่ง ก็พระทำไม่ดี มองผิด ที่จริงต้องมองไปว่าคนไม่ดีเข้าไปอยู่ในพระ เข้าไปอาศัยพระ เข้าไปแอบแฝงเป็นพระ เราต้องไปเอาคนของเราออกมา นี้เดิมเขาถืออย่างนั้น เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินสมัยก่อน พอมีพระไม่ดีท่านมองไปเลยว่าคนของฉัน พลเมืองของฉันทำไมเข้าไปเบียดเบียนพระศาสนา ฉันมีหน้าที่แล้วต้องไปจัดการ เอาคนของฉันออกมา มิฉะนั้นคนของฉันก็ไปเบียดเบียนพระศาสนาสิ เขาไม่ได้มองไปว่าพระทำไม่ดี เขามองว่าคนของเขาเข้าไปทำไม่ดี นี้ประชาชนสมัยนี้ก็ต้องถืออย่างนั้น ถือว่าพวกตัวเองก็ญาติโยมด้วยกัน ไม่รู้คนไหนมีเจตนาไม่ดี อยู่ ๆ วันหนึ่งในหมู่ของตัวเอง คิดไม่ดีว่าจะไปแอบแฝงในหมู่พระสงฆ์ เช่น ไปหาลาภ หาอาชีพอยู่ให้สบาย ก็เลยเข้าไปบวช อย่างนี้โยมก็มองยังไง มองเป็นว่าพระไม่ดี ไม่ใช่แล้ว ต้องมองว่าพวกเรานี้แหล่ะ ตัวดีเข้าไปแล้ว เราจะต้องจัดการเอาออกมา ใช่ไหมจึงจะถูก โบราณท่านคิดอย่างนั้น ท่านไม่ได้คิดอย่างคนสมัยนี้ คนสมัยนี้พอมีพระคนที่อยู่ในผ้าเหลืองทำไม่ดีขึ้นมา ก็บอกว่าพระไม่ดี ก็เลยไปกันใหญ่ ยิ่งเสื่อม พระก็ทำอะไรไม่ได้ พระดีก็ไม่มีกำลังจะมาจัดการ โยมก็ไม่ช่วยอีก กลับมาว่าพระอีก พระก็ยิ่งหมดกำลังกันเลย ถ้าเป็นสมัยก่อนโยมก็พร้อมใจกัน โอ้ พวกเรานี้มีคนไม่ดีของพวกเราเข้าไปแอบแฝง เราต้องช่วยกันไปเอาออกมา ถ้าพวกเราประชาชนไม่เอาออกมา ไม่มีวิธีการก็ให้รัฐ ให้ผู้ปกครองบ้านเมือง นักการเมืองนั้นแหล่ะสำคัญ ต้องทำหน้าที่นี้เป็นผู้บริหารประเทศชาติ ต้องไปจัดการเอาคนของตัวเองที่ไม่ดีออกมา อย่างนั้นจึงจะถูกต้อง เวลานี้มองกันไม่ถูก มองภาพผิดหมด ทำให้จัดการการพระศาสนาไม่ได้ถึงได้เกิดเรื่องภิกษุสันดานกา เรื่องอะไรกันเนี้ย วุ่นวายเพราะว่ามีทัศนคติไม่ถูก มองไม่เป็น เพราะฉะนั้นต้องปรับกันใหม่ ถึงเวลาต้องปรับ เขาเรียกว่า ต้องยกเครื่องสังคมนี้ใหม่ ยกเครื่องสมัยก่อนเขามีภาษาอังกฤษ เดี๋ยวนี้ลืมไปแล้ว คนไทยนี้ก็แปลก หือกันเป็นพักๆ เดี๋ยวศัพท์นี้มาก็หายไป Reengineering มาได้สามสี่ปีหายไปล่ะ ไม่ใช้ล่ะ ตอนนี้ถึงเวลาต้อง Reengineering กับสังคมไทยสักที โดยเฉพาะเรื่องพุทธบริษัท ทำอะไรต่อมิอะไรกันไม่ถูกต้อง ทัศนคติก็ไม่ถูก Reengineering เสร็จก็สังคายนา ก็คือร้อยกรองรวบรวมพระธรรมวินัย สังคายนาไม่ได้แปลว่าสะสาง คนไทยก็เอามาใช้ผิดอีก สังคายนาคนไทยเอามาใช้เป็นชำระสะสาง ของท่านไม่ใช่ชำระสะสาง ท่านชำระรวบรวมพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นก็จัดการกันสะให้ถูก
วันนี้อาตมาพูดมาเลยเวลาไปเยอะแล้ว เอาละก็ควรจะจบสักที วันนี้ก็ได้พูดสาระของกฐินมาก็เป็นว่าอยู่ที่ความสามัคคี จากสามัคคีนี้เราต้องเข้าใจให้ถูกอย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรสาธุชนทุกท่านที่มาร่วมบุญร่วมกุศลด้วยความสามัคคีกับโยมเจ้าภาพ คือความสามัคคีในพุทธบริษัทนั่นเอง สามัคคีในพุทธบริษัทก็สามัคคีไปในหมู่ประชาชนชาวไทย สังคมไทย แล้วก็ขยายไปเพราะเรามีความปรารถนาดี ความสามัคคีนี้เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันก็ขยายความสามัคคีไปถึงทั้งโลก ให้โลกนี้เจริญงอกงามมีสันติสุขร่วมกัน
ในที่สุดนี้ก็ รัตนตยานุภาเวณะ รัตนตยเตชะสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัยพร้อมทั้งบุญญานิสงค์ที่ญาติโยมได้บำเพ็ญกุศล ในการทอดกฐินทั้งกาลทาน สังฆทาน ธรรมทานได้บำเพ็ญไปแล้ว จงเป็นปัจจัยอภิบาลอวยชัยให้โยมเจ้าภาพพร้อมทั้งญาติมิตรสาธุชนทุกท่านทุกคน จงเจริญด้วยจตุรพิตธพรชัย มีความร่มเย็นงอกงามในชีวิต หน้าที่การงาน ตั้งแต่ชีวิตของตนในครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข และชุมชนสังคมมีความเจริญงอกงาม ทั่วโลกนี้มีสันติสุข ขอให้ทุกคนมีความร่วมใจกันในความสามัคคี ให้บรรลุผลดังที่กล่าวมานี้ โดยทั่วกันทุกท่านทุกเมื่อเถิด สาธุ