แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จริตและจริยา
หัวข้อที่ 1 คือเรื่องจริต คำว่าจริตนี้ ที่จริง เป็นคำที่ไม่ตรงทีเดียว คำที่ตรงกับจริตคือคำว่า จริยา หรือพูดอีกอย่าง คำว่าจริต ก็มาจาก จริยา เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟัง
คำว่าจริยาคืออะไร จริยานั้น ถ้าจะเอาตามความหมายที่เต็มบริบูรณ์ ก็คือ ความประพฤติของบุคคลที่เป็นอย่างนั้น อย่างนั้น หรือความประพฤติของบุคคลนั้นๆ ที่เป็นอย่างนั้นๆ เกิดขึ้นอย่างนั้นบ่อยๆ หรือปรากฏอย่างนั้นบ่อยๆ คล้ายๆ ว่าเป็นความประพฤติประจำ ซึ่งเราพูดได้ว่าเป็นพื้นนิสัยของเขา หรือเป็นสภาพพื้นเพของจิตของบุคคลนั้น กล่าวอย่างหนึ่งว่าเป็นลักษณะความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง ตามสภาพจิตที่เป็นปกติของบุคคลนั้นๆ อันนี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่าจริยา
ทีนี้ บุคคลที่มีจริยาอย่างนั้น เราเรียกว่า จริต คือจริตนี้เป็นตัวบุคคล บุคคลที่มีจริยาอย่างนั้นๆ ก็เรียกว่ามีจริตอย่างนั้นๆ ก็เป็นบุคคลที่เป็นจริตอย่างนั้นๆ ก็ขอให้แยกให้ถูก ตัวลักษณะนิสัย ลักษณะความประพฤติ พื้นเพจิตใจของบุคคลนั้นเป็นจริยา ตัวบุคคลที่มีลักษณะนิสัยความประพฤติแบบนั้น เราเรียกว่าจริต ในที่นี้เราเอาบุคคลเป็นหลัก เราก็เลยเรียกว่า จริต
จริต 6
ทีนี้ถ้าหากพูดตามภาษาอย่างวิชาการสักหน่อย ก็อาจจะให้ความหมายของคำว่าจริตว่า เป็นแบบหรือประเภทใหญ่ๆ ของคน ที่เราจัดตามพื้นนิสัย หรือลักษณะความประพฤติ นี่คิดว่าความหมายอย่างนี้ว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจได้พอสมควร เมื่อเราเข้าใจความหมายของคำว่าจริยาและจริตแล้ว ทีนี้ก็มาดูว่า เราจัดแบ่งประเภทคน ตามลักษณะนิสัยหรือแบบความประพฤติอย่างนี้ เป็นกี่แบบ ท่านก็จัดไว้เป็นแบบใหญ่ๆ ได้ 6 แบบเรียกว่า จริต 6 ได้แก่
ฟังดูชื่อนี้ อาตมาก็เข้าใจว่า คงจะได้มองเห็นความหมายกันบ้างแล้ว เพราะว่าศัพท์เหล่านี้มีใช้ในภาษาไทยอยู่ไม่น้อย เป็นศัพท์ที่อาจจะค่อนข้างง่าย
ราคจริต ก็คือคนที่มีพื้นนิสัยหนักไปทางราคะ แต่ราคะในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเหมือนในภาษาไทย คำว่าราคะ นั่นหมายความว่า ชอบติดอกติดใจอะไรง่ายๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ราคจริตก็คนที่มีนิลักษณะนิสัยแบบรักสวยรักงาม มักจะติดใจในอะไรง่ายๆ
โทสจริต ก็คือคนที่มีลักษณะนิสัย หรือพื้นเพจิตใจที่ใจร้อน หงุดหงิด เป็นคนชอบรวดเร็วรุนแรง
แล้วก็ 3 โมหจริต ก็คือคนที่ลักษณะนิสัยแบบค่อนข้างโง่เขลา เป็นคนเหงาซึม ขี้งง หรืองมงาย
แล้วก็ 4 สัทธาจริต คือคนที่มีลักษณะที่น้อมใจเลื่อมใส เชื่อง่ายหรือซาบซึ้งใจง่ายๆ
ต่อไป 5 พุทธิจริต คำว่าพุทธินี่ก็แสดงถึงปัญญา ก็คือคนที่มีลักษณะนิสัยพื้นเพจิตใจที่มักใช้ความคิดพิจารณา
และก็สุดท้าย วิตกจริต ก็คือคนที่มีลักษณะนิสัยที่ชอบนึกคิดอะไรจับจดฟุ้งซ่าน คิดอะไรไม่ลงตัว
63 จริต
เอาล่ะ นี่ก็เป็นคน 6 ประเภท ที่เราจัดตามลักษณะพื้นนิสัย แต่นี้คนเราโดยทั่วไปนั้นนะ ก็มิใช่ว่าจะมีจริตอย่างเดียวล้วนๆ ปรากฏว่าคนมากมายทีเดียวเนี่ย จะมีจริต หรือถ้าให้ถูก ก็คือมีจริยาเนี่ย อาจจะเกิน 1 แบบเป็น 2 แบบ หรืออาจจะถึง 3 แบบ 4 แบบ ปนกันอยู่ เพราะฉะนั้นก็ทำให้มีการแจกแจงซอยจริตนี้ออกไป ตามจริตที่มาผสมกันนี้ออก ทำให้มีทั้งหมดถึง 63 จริตด้วยกัน นี่ตามแบบตำราที่จัดไว้ ว่าจริตนี้เมื่อแบ่งออกไปแล้ว แยกละเอียดพิสดาร ตั้งแต่จริตล้วนๆ ขึ้นไปจนกระทั่งจริตผสมเนี่ย จะมีถึง 63 จริต หรือ 63 แบบ เมื่อจะให้กรรมฐาน ก็จะต้องพิจารณาว่าจะให้กรรมฐานใด จึงจะเหมาะกับจริตของบุคคลผู้นั้น
อันนี้ในกรณีที่มีจริตผสม ท่านก็บอกว่าควรจะให้โดยถือเอาจริตที่ปรากฏชัดเจนที่สุดนั้นเป็นหลัก อันนี้ก็ เป็นเรื่องที่ว่า ในทางปฏิบัตินี่ก็ไม่ใช่ง่าย แม้แต่ว่าเพียงจริตเดียวนี่ ก็ต้องใช้เวลาที่จะต้องสังเกตบุคคลผู้นั้น ยิ่งถ้ามีจริตผสมหลายอย่าง กว่าจะดูว่าคนไหนจริตไหนเด่นชัดนี่มากกว่า หนักไปทางไหนนี่ก็อาจจะต้องใช้เวลามากเหมือนกัน แล้วก็มีความสามารถในการสังเกตด้วย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลพอสมควร อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า วันนี้เราพูดกันแค่หลักๆ ในรายละเอียดก็เป็นเรื่องที่ว่า ถ้าต้องการ ก็ไปศึกษาเพิ่มเติมอีกทีหนึ่ง แต่ว่าพูดได้ว่า โดยหลักแล้วก็เป็นหน้าที่ของพระอาจารย์ที่จะต้องเป็นคนสำรวจตรวจดู แต่ว่าตัวบุคคลนั้นเอง ก็อาจจะสำรวจตัวเอง เพื่อจะดูว่าตนนั้นควรจะใช้กรรมฐานไหน
เอาล่ะ อันนี้ก็เพียงแต่พูดเป็นหลักไว้ เพราะได้พูดไว้แล้วตอนต้นบอกว่า ในทางปฏิบัติ ปัจจุบันเนี่ย เราไม่ค่อยได้ใช้กรรมฐานกันมากมายมาเลือกกันจริงจัง มักจะลงตัวกรรมฐานอย่างนั้นอย่างนี้ไปเลย เพราะฉะนั้นคิดว่า เรียนรู้พอเป็นหลักไว้ ก็น่าจะพอสมควรแล้ว
หลักการดูจริต
แต่อย่างไรก็ดี ก็อยากจะพูดอีกนิดหนึ่งว่า ท่านมีวิธีดูจริตเหมือนกัน คือ เอาเฉพาะหลักๆ เหมือนกันว่า เวลาดูจริตนี่ใช้หลักการอย่างไรบ้าง ท่านก็บอกวิธีดูจริตไว้ว่า
ตัวอย่างการดูจริต
อันนี้ก็จะยกตัวอย่าง อย่างเช่น โดยอิริยาบถ การยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหวนี่ คนราคจริต ก็จะมีลักษณะเช่น เวลาเดิน ก็อาจจะเดินชดช้อยค่อยขยับไป เดินอาจจะมีลีลาสวยงามนุ่มนวล แต่ถ้าเป็นคนโทสจริต ก็จะมีอาการเคลื่อนไหวเช่น เดินพรวดพราด ผลุนผลัน อย่างนี้เป็นต้น
หรือดูโดยกิจ คือการงานที่เขาทำ คนราคจริต ก็ทำงานช้าๆ ทำให้เรียบร้อย ทำให้สวยงาม จัดอะไรต่างๆ ก็ให้ดูเรียบ แล้วก็สะอาดหมดจด แต่ว่าคนที่มีโทสจริต ก็จะทำงานแบบรวดเร็ว แล้วก็ทำเสียงดังโครมคราม ยกตัวอย่างเช่น กวาดบ้าน อย่างนี้ เราจะสังเกตได้ คนราคจริตนี่จะค่อยๆ ทำ ทำโดยระมัดระวัง มากกว่าคนที่มีโทสจริต ซึ่งจะทำพรวดพราดรวดเร็ว เสียงดังโครมครามอย่างที่ว่า
อย่างโดยโภชนะ อาหารที่รับประทาน คนที่เป็นราคจริต ก็จะมีลักษณะที่มักจะชอบอาหารรสละมุนละไม เจอของถูกปากอย่างเดียวก็พอใจมาก พอใจติดอยู่กับอาหารที่ชอบอย่างนั้นแหละอย่างเดียวพอเลย แต่คนที่เป็นโทสจริตนี่ มักจะชอบอาหารที่มีรสแรงซู่ซ่า ถ้าเกิดว่าอาหารได้มานั้น หลายอย่าง แต่เจอที่ไม่ถูกปากอย่างเดียว ก็ไม่พอใจ คือคนราคจริตนี่จะไปดูส่วนที่ติดใจ เจอของติดใจก็พอใจ แต่คนโทสจริต ไม่ดูส่วนที่น่าพอใจ กลับไปดู ไปกระทบกับส่วนที่ไม่น่าพอใจ อันนี้ก็เป็นลักษณะที่ต่างกัน
หรือโดยทัศนะ เวลาไปพบเห็นดูอะไรต่างๆ นี้ คนราคจริตพอเจออะไรนิดเดียวที่ดีที่พอใจชอบ ก็จะติดใจอยู่นั่นแหละ ดูแล้วดูอีก ไม่ค่อยยอมไป แล้วก็ถ้าจะต้องไป เดินไปแล้วก็อาจจะยังเหลียวหลังมามองอีกด้วยความอาลัย ยังติดใจอยู่ แต่คนโทสจริตจะไม่เป็นอย่างนั้น คนโทสจริตจะไปกระทบกับอะไรในส่วนที่ไม่ดี พอเจอของที่ไม่ดีหน่อยเดียวก็ชักจะหงุดหงิด ไม่พอใจ แต่นี้ พอผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย ไม่ติดใจอีก
ทีนี้ โดยธัมมปวัตติ คือพื้นในทางธรรมะ คนราคจริตก็ว่าจะมีนิสัยจิตใจโน้มไปทางมีมายา มีมานะ ถือตัว ไม่สันโดษ มีแง่มีงอนมาก ชอบประดิดประดอย ส่วนคนโทสจริตนั้นก็จะเป็นคนขี้โกรธ โกรธง่าย ผูกโกรธ เป็นคนลบหลู่คุณผู้อื่น มักริษยาและตระหนี่ อันนี้เป็นตัวอย่าง
เมื่อกี้บอกแล้วว่าไม่ต้องการจะพูดเรื่องนี้มาก ก็เลยพูดให้พอเห็น วิธีการที่ท่านบอกไว้ว่า ใช้สังเกต ก็จะใช้หลักการอย่างนี้ นี่ก็พูดพอให้เป็นตัวอย่าง พอให้เห็นแนวทาง