แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
รายการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ คิดว่าจะกลับไปหาหนังสือพุทธธรรม เพราะเว้นมาหลายวันแล้ว ทีนี้ ถ้าไปหนังสือพุทธธรรมก็เป็นหลักวิชามากขึ้นหน่อย วันนี้คิดว่าจะพูดเกี่ยวกับเรื่องศัพท์ คือถ้อยคำทางศาสนา การศึกษาพุทธศาสนานั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำ ถ้อยคำบางคำถ้าเราเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความหมายที่ท่านต้องการก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดหรือศึกษาได้ยาก เหมือนอย่างคำว่า “สังขาร” เนี่ย อาตมาภาพเคยเอามาอธิบายในวันก่อนว่า สังขารนั้นก็มีความหมายหลายอย่าง ในภาษาไทยบางทีเราก็เข้าใจแคบ ๆ เช่น แปลว่า ร่างกาย หรือแปลว่า ชีวิต แล้วก็เอามาใช้กันในภาษาไทยว่า สิ้นชีวันสังขาร อย่างนี้ แล้วก็เอาสังขารมาใช้ว่าหมายถึงชีวิตหรือร่างกายเท่านั้น ก็เป็นความหมายที่แคบ อาตมาภาพก็อธิบายให้เห็นว่า ความจริงนั้น สังขารนั้นมีความหมายหลายอย่างแล้วก็ให้ทำความเข้าใจไปแล้ว
ทีนี้ วันนี้อยากพูดเรื่องคำว่า “ทุกข์” บ้าง คำว่าทุกข์ก็เหมือนกัน เราเอามาใช้กันในความหมายที่แคบ เมื่อไปฟังคำบาลีแล้ว ก็ทำให้เข้าใจผิดได้ อย่างในหลักไตรลักษณ์บอกว่า “สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา” บอกว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ คือทุกขัง” พอได้ยินว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์นี่ก็อาจจะเข้าใจกันในความหมายแคบ ๆ อย่างภาษาไทยว่า เป็นทุกข์ก็ไม่สบาย ทีนี้คำว่าสังขาร อาตมาภาพอธิบายแล้วว่า มีความหมายกว้างมาก สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง เรียกว่าสังขารทั้งหมด จะเป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม ก็ในตัวเราก็ได้ นอกตัวเราก็ได้ เช่น โต๊ะ กระดาน แก้ว เก้าอี้ จาน ชาม จีวร อะไรต่าง ๆ เนี่ย ตลอดจนเครื่องเทปนี่ก็เป็นสังขารทั้งสิ้น เพราะมันเกิดจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา มีอะไรต่อมิอะไรมาประกอบกันเข้าจึงเป็นรูปร่างอย่างนั้น ทีนี้สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ถ้าอย่างนั้นแก้วน้ำก็เป็นทุกข์ โต๊ะเก้าอี้ก็เป็นทุกข์ เอ๊ะมันจะเป็นทุกข์ยังไง ก็จะสงสัยขึ้นมา นี่ก็คือเรื่องที่ว่าจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องคำศัพท์ คำว่าทุกข์นี้ มาในหลักธรรมสำคัญ ๆ อย่างน้อยก็ 3 หมวด ในทีนี้จะพูดใน 3 หมวดที่สำคัญนี้
หมวดที่ 1 คือ ทุกข์มาในหมวดเวทนา เวทนา โยมคงนึกออก แปลว่า ความรู้สึก ความรู้สึกสุข เรียกว่า สุขเวทนา ความรู้สึกทุกข์ เรียกว่า ทุกขเวทนา แล้วความรู้สึกเฉย ๆ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา คือ ไม่สุขไม่ทุกข์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งความอนุธรรมสุข คือ ไม่ทุกข์ไม่สุข นี่ก็เป็นคำว่าทุกข์คำหนึ่ง
ทีนี้ คำว่าทุกข์ที่ 2 มาในไตรลักษณ์ อย่างที่อาตมาภาพพูดเมื่อกี้ ก็คือ “สัพเพ สังขารา ทุกขา” สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ นั่นก็อีกทุกข์หนึ่งแล้ว
แล้วก็อีกทุกข์หนึ่งมาในอริยสัจ 4 เพราะอริยสัจมีอยู่ 4 ข้อ ข้อที่ 1 คือ ทุกข์ ข้อที่ 2 สมุทัย ข้อที่ 3 นิโรธ ข้อที่ 4 มรรค อริสัจ 4 ก็เริ่มด้วยทุกข์ ตกลงว่าทุกข์มาใน 3 หมวดธรรมใหญ่ ๆ มาในเวทนา คือ ความรู้สึกทุกข์ มาในหมวดไตรลักษณ์ ก็คือสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ และมาในอริยสัจ 4 ก็คืออริยสัจข้อว่าด้วยทุกข์ ทีนี้ 3 อย่างนี้เป็นอย่างไร ถ้าจะศึกษาธรรมมะให้เข้าใจก็ต้องแยกให้ได้ด้วย
ทีนี้จะเริ่มจากที่ไหนดี เริ่มจากความรู้สึกก่อน เอาที่เราเข้าใจในภาษาไทยง่าย ๆ ก็คือ ทุกขเวทนา ความรู้สึกทุกข์ ถ้ามีความรู้สึกเจ็บปวด ไม่สบาย ความรู้สึกที่ไม่สบายทั้งกายทั้งใจ ทางกายก็อาจไปถูกมีดบาด หนามตำ หรือเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนี้ก็เรียกว่าทุกข์ชัด ๆ ทีนี้บางทีเป็นทุกข์ในใจ เช่นว่า มีความเศร้าโศก เสียใจ ถูกกดดันบีบคั้นอะไรต่าง ๆ จิตใจไม่สบายก็ทุกข์ เป็นทุกข์ทางใจ อย่างนี้เรียกให้เต็ม เรียกว่าความรู้สึกทุกข์ ถ้าเรียกว่าทุกข์เฉย ๆ อาจจะไม่ถูกต้องแท้ ในภาษาไทยเราก็ใช้ได้ ใช้คำว่าทุกข์ เรารู้กันว่าหมายถึงความรู้สึกทุกข์ แต่ถ้าจะเรียกให้เต็ม เรียกว่าความรู้สึกทุกข์ เอาหล่ะ เจริญพร ความหมายของทุกข์ในเวทนา เอาเท่านี้ก่อน
ทีนี้หันไปสู่ทุกข์ในไตรลักษณ์ ที่บอกว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ก็ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้จักเป็นทุกข์ทั้งนั้น อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ผ้าก็ดี กับข้าวกับปลาก็ดี เทปนี่ก็ดี โต๊ะ เก้าอี้ก็ดีเนี่ย เป็นทุกข์ทั้งสิ้น เป็นทุกข์อย่างไร ทุกข์ในที่นี้แปลว่า ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและการเสื่อมสลายไป เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนี้เรายอมรับว่าเป็นอนิจจัง ทุกขังนี่มันเนื่องมาจากอนิจจัง ท่านบอกว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์” สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นยังไง สิ่งใดไม่เที่ยงก็คือ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืนอยู่ตลอดไป มันเปลี่ยนแปลงมันเกิดดับ มันเกิดดับเกิดขึ้นสลายไป การเกิดขึ้นสลายไปเคยมีแล้วก็ไม่มี อันนี้เราเรียกว่าอนิจจัง ทีนี้ในเมื่อมันเกิดขึ้น มันจะสลายไป มันก็ถูกบีบคั้นให้การเกิดขึ้นและการสลายไปนั้น ทำให้คงตัวอยู่อย่างเดิมไม่ได้ อาการที่ถูกบีบคั้นในการเกิดขึ้นและการสลายไปนั้น และคงตัวอยู่อย่างเดิมไม่ได้นั่นแหล่ะ เรียกว่า ทุกข์ เพราะฉะนั้นทุกข์ในความหมายนี้ แปลเอาให้สั้น ๆ ก็แปลว่า ภาวะบีบคั้นหรือสภาพบีบคั้น หรือจะแปลให้ตรงหรือถูก ??? ก็จะแปลว่าสภาวะที่ถูกบีบคั้น เพราะมันเป็นอนิจจังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลายไป แล้วภาวะสภาพที่ถูกบีบคั้น แล้วการเกิดดับสลายนั้นเรียกว่าทุกข์ เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายนี้ก็เป็นทุกข์ ในแง่นี้คือสิ่งทั้งหลายนั้นจะคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นในการเกิดขึ้นและการสลายไป ถ้ามองความหมายอย่างนี้ เราก็จะเห็นชัดว่า โต๊ะ เก้าอี้ ผ้าผ่อนอะไรต่าง ๆ ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรที่เรารู้จักเนี่ย มันเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะว่ามันถูกกดดันบีบคั้นในความเกิดขึ้นและความแตกสลาย
ทีนี้ทุกข์ในไตรลักษณ์มันสัมพันธ์กับทุกข์ความรู้สึกของเราอย่างไร ความรู้สึกของเราที่เรียกว่าทุกข์นั้น เป็นความรู้สึกที่ถูกบีบคั้นเหมือนกัน ใช่ไหม มันไม่ใช่เป็นการบีบคั้นตามธรรมชาติเท่านั้น แต่มันเป็นการบีบคั้นที่เกิดขึ้นในใจเราด้วย ความบีบคั้นนั้นเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ในไตรลักษณ์ ??? ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ที่เป็นไปตามธรรมชาติเนี่ย มันก็เป็นทุกข์ เพราะว่ามันมีความบีบคั้นอย่างที่กล่าว ทีนี้เราไปรู้สึกในความบีบคั้นในใจเรารู้สึกบีบคั้นขึ้นมา ถูกกดดัน ถูกบีบคั้นข้องขัดขึ้นมา เราก็เรียกว่าเราเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นทุกข์ในเวทนาที่รู้สึกทุกข์กับทุกข์ในไตรลักษณ์เนี่ยก็มาสัมพันธ์กัน ทีนี้เราจะแยกอย่างไร แยกได้ว่าเราจะรู้สึกทุกข์หรือไม่ทุกข์ก็ตามเนี่ย ทุกข์ในไตรลักษณ์มันมีอยู่ตลอดเวลา เพราะมันเป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายจะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ คือถูกบีบคั้นในการเกิดและการสลายคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ อันนี้เป็นธรรมดาของมัน ทีนี้มนุษย์ไปรู้สึกในความบีบคั้นนั้นขึ้น ก็เป็นความบีบคั้นที่เกิดขึ้นในจิตในใจของตัวเอง เราก็เรียกว่าเราเป็นทุกข์แล้ว ทีนี้ร่างกายของเราไปถูกบีบคั้นกดดันขึ้นมา เช่น ไปถูกหนามตำ ไปถูกกดถูกบีบอะไร อึดอัดแน่นอะไรก็เป็นทุกข์ อันนี้ก็เป็นทุกข์ด้านหนึ่งด้านกาย ทีนี้ด้านใจ ด้านใจของเรานี้มักจะรู้สึกเป็นทุกข์ หรือรู้สึกถูกบีบคั้นขึ้นก็เพราะไปรับเอาทุกข์ที่เป็นสภาวะสังขารเข้ามา สังขารทั้งหลายนี้มันไม่เที่ยง แล้วมันก็เป็นทุกข์ มันถูกบีบคั้นในการเกิด สลาย มันคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ แต่เราไปยึดเอามันเข้า ไปยึดเอาสังขารเหล่านั้น เราปรารถนาให้มันเที่ยง ปรารถนาให้มันคงอยู่อย่างเดิม แล้วมันไม่เป็นไปตามปรารถนา เราก็เป็นทุกข์ เรารู้สึกถูกบีบคั้น ไอ้ความเป็นทุกข์หรือบีบคั้นในทางธรรมชาติก็เลยเข้ามาบีบคั้นในใจเรา เราก็เลยเป็นทุกข์อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นทุกข์ซ้ำสอง ทีนี้ถ้าหากว่าเรารู้เท่าทันความเป็นจริง แม้ว่าสิ่งทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่เที่ยงและคงสภาพอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นอย่างไร เรารู้เท่าทันด้วยปัญญา เราก็ไม่ยอมให้จิตใจเราถูกบีบคั้น ความรู้สึกบีบคั้นมันเกิดขึ้นเราก็ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้เรียกว่ามีทุกข์อยู่แต่ในธรรมชาติแวดล้อม แต่ใจเราไม่เป็นทุกข์ไปด้วย อันนี้เป็นการที่รอดพ้นไปจากทุกข์ นี่เป็นการอธิบายง่าย ๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างทุกข์ในไตรลักษณ์กับทุกขเวทนา
ทีนี้เลยไปทุกข์อย่างที่ 3 ก็คือทุกข์ในอริยสัจ ทุกข์ในอริยสัจ “ทุกขัง อริยสัจจัง” อันนี้มีความหมายกว้างแคบอยู่ในระหว่างทุกข์ 2 อันเมื่อกี้ คืออยู่ระหว่างกลางทุกข์ในไตรลักษณ์กับทุกข์ในเวทนา มันมีความหมายเกือบเท่ากับทุกข์ในไตรลักษณ์ คือภาวะที่ถูกบีบคั้นในการเกิดขึ้นและสลายไป แต่ท่านอธิบายว่า ทุกข์ในอริยสัจ จำกัดขอบเขตเฉพาะเท่าที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่มนุษย์ คือทุกข์ในไตรลักษณ์นั่นเองแหล่ะ ถ้าที่มันเกิดเป็นปัญหาแก่มนุษย์ เช่นอย่างว่า ก้อนอิฐก้อนหินเนี่ย ก็เป็นทุกข์ใช่ไหม ตามความหมายในไตรลักษณ์เมื่อกี้นี้ เพราะมันคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ต้องแตกสลาย แต่ว่าที่ว่าทุกข์ของก้อนอิฐทุกข์ของก้อนหินนั้น มันไม่ใช่ทุกในอริยสัจ เพราะมันไม่เกี่ยวกับเราเลย มันไม่เกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่มนุษย์ อย่างนี้ไม่เรียกว่าทุกข์ในอริยสัจ ทุกข์ในอริยสัจก็คือทุกข์เป็นเรื่องๆ ในขันธ์ 5 นี้ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิต เป็นปัญหาให้แก่มนุษย์ เพราะฉะนั้นทุกข์ในไตรลักษณ์ทั้งหมดที่เป็นปัญหาในมนุษย์นี้เราเรียกได้ว่าเป็นทุกข์ในอริยสัจ ฉะนั้นตกลงก็มีทุกข์ 3 อันเนี่ย เมื่อพูดถึงเรื่องทุกข์ขึ้นมา ถ้าศึกษาธรรมมะแล้วต้องแยกว่า ท่านพูดถึงทุกข์อันไหนเสียก่อน ไม่งั้นแล้วก็จะเกิดความสับสนอย่างที่ว่าเมื่อกี้ สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ โยมบางท่าน เอ? ก้อนอิฐ ก้อนหินมันเป็นทุกข์ยังไงเนี่ย ก็จะเกิดความวุ่นวายสับสน
อันนี้ก็เป็นเพียงความรู้เกี่ยวกับศัพท์ อาตมาภาพก็นำมาชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไป แต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ก็คือว่า ไอ้ความทุกข์ในไตรลักษณ์ ความทุกข์ในทุกขเวทนาเนี่ย ถ้าหากรู้จักตัดแล้ว บางทีมันไม่เกิดเป็นทุกขเวทนา มันเป็นแต่ทุกข์ในไตรลักษณ์เท่านั้นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เพราะถ้าเรารู้เท่าทันความเป็นไปของสังขารตามเป็นจริงว่า มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันไม่เที่ยง คงอยู่ไม่ได้ ดับสลายอะไรต่าง ๆ นี้ เราก็แก้ไขไปตามเหตุปัจจัยของมัน แต่ว่าไม่เอามาบีบคั้นกับจิตใจของตัวเอง ใจเราก็ไม่เป็นทุกข์ หรืออย่างน้อยก็ทุกข์น้อยลง ก็นี่ช่วยเหลือจิตใจเราได้เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง อาตมาภาพก็เลยยกเอาเรื่องทุกข์นี้มาเล่าเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ ก็พอสมควรแก่เวลา ก็ขออนุโมทนาโยมแค่นี้ เจริญพร