แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ก็มาคุยกันต่อมีเรื่องที่ถือว่าค้างอยู่ คือ พูดเรื่องความดีความชั่ว ยังไม่ใช่จบเท่านั้น ในวันนี้น่าจะพูดในระดับสังคม คราวที่แล้วพูดถึงความดีความชั่วในระดับของชีวิตบุคคลก็คือ ชีวิตนั่นเอง ไม่ต้องบุคคล อันนี้ชีวิตมันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ไอ้เรื่องที่เป็นความดีความชั่วที่เราเลี่ยงศัพท์ไปใช้ตามภาษาบาลีว่ากุศล อกุศล เป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติ มีจริงเป็นจริงในชีวิตจิตใจของคน ไม่ใช่ใครจะไปบัญญัติแต่งขึ้น
นี้อย่างที่พูดยกตัวอย่างคราวที่แล้ว กุศล อกุศล บางทีพอมาพูดในภาษาไทย ก็ไม่ตรงกับคำว่าความดีความชั่ว หรือคนไทยก็อาจจะฟังว่ามันไม่ใช่ นะฮะ แต่คนไทยเราก็ไม่ค่อยพูด ไม่ได้สังเกต เราก็พูดกันไป กุศล บุญ แต่ว่าเราไม่เคยวิเคราะห์แยกแยะ ที่ยกตัวอย่างคราวที่แล้วใช้คำว่า หดหู่ ความหดหู่ ความท้อแท้ ความซึมเซา ความเหงา พวกนี้เป็นอกุศลทั้งนั้น เออ ท่านว่ายังไง แล้วคนไทยก็ไม่ยอมรับว่าเป็นความชั่ว ใช่มั้ย แต่เนี่ยถ้าเราแปลอกุศลว่าความชั่ว อ้าวมันก็ต้องเป็นความชั่วสิ นี่แหละมันเข้ากันไม่ได้กับภาษาไทย ท่านว่าไปตามสภาวะ เพราะว่าภาวะเหล่านี้ไม่เกื้อกูลต่อชีวิตจิตใจ
หรืออย่างฝ่ายดีอย่างเช่น อย่างแม้แต่ สติ อย่างเงี้ย ก็เป็นความดี คนก็ยังงงๆว่า เอ้ มันความดีหรือยังไง ถ้าเป็นประโยชน์ก็ เออมันใช้ได้ประโยชน์อะไรอย่างเงี้ย แต่พอความดีก็ยังงงๆอยู่ หรืออย่าง เอ้า ยิ่งคำว่า ความผ่อนคลาย นะฮะ ความไม่เครียด นี้เป็นกุศลนะ เขาเรียกว่าปัสสัทธิ เพราะฉะนั้นความเครียดนี่ก็เป็นอกุศล เพราะมันไม่เกื้อกูลกับชีวิตจิตใจเลยความเครียดเนี่ย นี้ตรงข้ามกับความเครียด ก็คือปัสสัทธิ แปลว่าความผ่อนคลาย เป็นธรรมะสำคัญเลยนะ อยู่ในองค์ของการตรัสรู้ นะฮะ อยู่ในโพชฌงค์ นะฮะ ปัสสัทธิ
หรืออย่างเนี้ยอย่างท่านเรียกว่า กัมมัญญตา ความเหมาะแก่งาน เราก็แปลยากเป็นไทย ท่านเรียกว่า กัมมัญญตา ความเหมาะแก่งานของกายของใจ ก็เป็นกุศล และก็การที่เราพยายามฝีกจิต บำเพ็ญสมาธิเนี่ย เป้าหมายสำคัญก็เพื่อให้จิตเนี่ยเหมาะแก่การใช้งาน เป้าหมายสำคัญของการเจริญสมาธิ ไม่ใช่แค่ให้มีความสุขอะไร แม้แต่สุขมันก็เป็นภาวะอันหนึ่งที่ว่า เคยพูดแล้วว่า มันคล่อง สะดวก ง่าย ก็หมายความว่า เรามีภาวะจิตหรือแม้แต่ภายนอกที่มันสุข ก็คือ คล่อง ง่าย สะดวก จะทำอะไรก็ทำได้ นี้ถ้ามันทุกข์ มันบีบคั้น มันอะไรต่ออะไร ก็ทำไม่ค่อยคล่อง หรือภาวะที่กระปรี้กระเปร่า พร้อมจะทำงานเนี่ยเป็นกุศลทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอาคำพูดเหล่านี้มาวิเคราะห์กันบ้าง หรืออย่างน้อยก็มาสนทนาให้เข้าใจความหมาย งั้นเราก็ไม่รู้เรื่องว่ากุศลมันเป็นยังไง บุญเป็นยังไง
อย่างตอนหลังก็มีคำว่าคุณภาพชีวิตเกิดขึ้น ตัวผมเองเคยเอามาโยง บอกอ๋อเขาพูดกัน คุณภาพชีวิตเนี่ย เพราะเขาห่างคำว่าบุญมานาน จนไม่เข้าใจคำว่าบุญ ไปๆมาๆที่จริงคุณภาพชีวิตก็คือบุญนั่นแหละ ไม่ไปไหนเลย คือเราห่างจนกระทั่งติดในความหมายของบุญเนี่ย ในภาวะที่เป็นรูปแบบอะไรก็ไม่รู้ เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นอะไรซักอย่าง ศัพท์ภาษาพระที่มาในภาษาไทยนี่มันเพี้ยนจนไม่รู้จะเพี้ยนยังไง
อย่างวาสนาเนี่ยท่านทายไม่ถูกเลยว่าความหมายที่แท้คืออะไร บางท่านอาจจะเคยฟังเทปใช่มั้ยฮะ แต่ว่ามันไกลเหลือเกินกับภาษาไทยเนี่ย เช่นอย่างคนไทยบอกว่า แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้ นี้มันไม่ใช่เรื่องของพระศาสนาเลย นะฮะ มันมายังไงกันเนี่ยนะฮะ มันเพี้ยนไปได้ยังไงไกลลิบลับ
ถ้าทางพระศาสนาบอกว่า พระพุทธเจ้าละได้ทั้งกิเลสและวาสนา อ้าว คนไทยนี่ต้องการมีวาสนา อ้าว พระพุทธเจ้ากลับละวาสนาได้ เอ ยังไง มันคนละเรื่องเลยใช่มั้ย คนไทยอยากมีวาสนา ทางพระท่านให้ละวาสนา เนี่ย มันยุ่งหมดเลย เพราะถ้าเราไม่ศึกษานานๆเข้า พูดตามๆกันไปก็เพี้ยน
อ้าว กลับมาเรื่องเนี้ย เรื่องกุศล อกุศล ต่อ ก็เป็นอันว่าเรื่องภาวะกุศลก็คือสภาวะในชีวิตจิตใจที่มันเกื้อกูล แล้วก็อกุศลก็ตรงข้าม ก็คือไม่เกื้อกูล และโดยเฉพาะก็พวกองค์ประกอบคุณสมบัติเหล่าเนี้ย ในชีวิตจิตใจของคนเนี่ย มันทำงานประสานเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน มันเกื้อหนุนกัน หรือถ้าเป็นฝ่ายร้ายก็มาขัดขวางฝ่ายดี ฝ่ายกุศล อย่างกุศลนี่มันก็เกื้อกูล มันหนุนกันหมด เช่นเราจะเจริญปัญญาได้ อ้าว ต้องอาศัยสมาธิ ยิ่งสมาธิดีแน่วแน่ ปัญญาก็ยิ่งทำงานได้ดี สมาธิยิ่งดีก็ทำให้จิตเหมาะแก่การใช้งาน
การที่เราจะมีสมาธิก็ต้องสมา สติก็ต้องอยู่ อย่างงี้เป็นต้น อา หรือว่าอย่างที่พูดคราวที่แล้ว ศรัทธามาเกื้อหนุนปัญญาเงี้ย ถ้าเราปฏิบัติถูกปั๊บ ใช้ถูกทาง ศรัทธามันก็เกื้อหนุนการแสวงปัญญา ทำให้มีกำลังเข้มแข็ง ค้นคว้ากันใหญ่ นะฮะ เอาจริงเอาจัง มันเป็นระบบของธรรมชาติมันเอง นะฮะ มันเป็นธรรมดา ก็เอาล่ะทีนี้ในเมื่อพวกกุศลอกุศลมันเป็นสภาวะ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง โดยธรรมชาติในชีวิตจิตใจของคน มันเป็นอย่างงั้นแล้วทีนี้ว่าต่อมาก็คือ นอกจากตัวเองจะพยายามทำให้เกิดภาวะจิตที่เป็นกุศล ในการอยู่ร่วมกัน นะฮะ
มนุษย์ก็คือเกื้อหนุนกัน ก็การที่จะเกื้อหนุนกันก็เรารู้อยู่แล้วว่า เออ ภาวะที่ดีก็เป็นกุศล ใช่มั้ยฮะ เราก็ควรจะปฏิบัติต่อผู้อื่น ที่ช่วยให้เขามีสภาพจิตหรือมีภาวะของชีวิตที่เป็นกุศลอย่างนี้ เราก็ปฏิบัติต่อเขาให้เกิดมีกุศล นะฮะ อันนี้เป็นหลักขั้นต้นก่อน อันนี้ว่า เมื่อพอขยายกว้างออกไป มันก็อาจจะมีพวกคนที่รับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่แค่ว่าปฏิบัติต่อกันระหว่างบุคคล นี้คนที่รับผิดชอบต่อสังคมอาจจะเป็นผู้บริหารบ้านเมือง หรืออะไรก็แล้วแต่ รับผิดชอบกันในหลายระดับ ท่านเหล่านี้ก็ยิ่งต้องมาคิดว่า หาทางทำไงว่า สาระสำคัญก็คือว่าจะให้มนุษย์นี้อยู่ร่วมกันด้วยดี เพราะว่ามนุษย์มาอยู่ร่วมกันก็เพราะต้องการความมั่นคงปลอดภัย ความอยู่เป็นสุข เป็นต้น ใช่มั้ยฮะ
คนที่จัดการบริหารสังคมก็รู้ความมุ่งหมายอย่างงี้ล่ะทำไงให้เขาอยู่กันดี มีความสุข ก็ชีวิตเขาจะดีมีความสุข มันก็ต้องมีองค์ประกอบที่เกื้อหนุนเหล่าเนี้ย เราก็จะต้องจัดสภาพแวดล้อม บริการอะไรต่างๆที่จะมาเกื้อหนุนให้เกิดสภาพที่เป็นกุศลเหล่านี้ เพราะฉะนั้นก็ไม่เฉพาะการปฏิบัติต่อกันระหว่างบุคคลต่อบุคคล แต่ว่าในการบริหารจัดการสังคม ชุมชน ก็ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
นี้เราก็รู้อีกอย่างหนึ่งว่า ในแต่ละขณะแต่ละเวลาเนี่ย คนทั้งหลายเนี่ยมันก็เป็นธรรมชาติที่มีทั้งกุศล อกุศล มีทั้งบุญทั้งบาปอยู่ มีทั้งฝ่ายที่ดีและไม่ดี หรือเกื้อกูล ไม่เกื้อกูล แต่คนเรานี้ก็ โดยธรรมชาติอีกเหมือนกัน นะฮะ ว่าเป็นสัตว์ที่จะต้องฝึกฝน พัฒนา ต้องศึกษา นั้นเขาก็ควรจะได้พัฒนา ทำให้เกิดกุศลมากขึ้น แล้วก็ขจัด หรือละ ลด ฝ่ายอกุศลลงไป ดังนั้น ผู้ที่บริหารจัดการสังคมก็ต้องพยายามที่เกื้อหนุนต่างๆเพื่อให้คนเนี่ยพัฒนาชีวิตของตน ตอนนี้ก็ข้อสำคัญแล้ว เพื่อให้ชีวิตเขามีโอกาส มีความสุขยิ่งขึ้น หรืออยู่ดียิ่งขึ้น
อันนี้ก็อ้าว มันก็มีเรื่องสภาพแวดล้อม การจัดสภาพแวดล้อมที่มาเอื้อต่อคนที่จะพัฒนากุศลขึ้น การจัดให้มีคนทั้งหลายที่มาอยู่ร่วมกัน เช่น มีครู อาจารย์ มีกัลยาณมิตรมาเกื้อหนุน แล้วก็มีวัตถุปัจจัย เช่น อาหาร เป็นต้น ก็เหมือนอย่างที่ยกตัวอย่างอย่างคราวที่แล้วที่เราพูดถึงสัปปายะทั้ง 7 ข้อ ก็เพื่อมาเกื้อหนุน เพราะว่าคนเขาจะมาเจริญกุศลขึ้นมา มันก็ต้องอาศัย มีชีวิตต้องมีปัจจัย 4 อะไรต่ออะไร เราก็ต้องจัดไอ้พวกสิ่งที่เรียกว่าสัปปายะนี้ มาเกื้อหนุนให้เขาได้มีความพร้อม มีความสะดวกหรือมีสิ่งเอื้อเกื้อหนุนที่เขาจะได้มาพัฒนาชีวิตของเขาขึ้นไป ก็ต้องคำนึงสิ่งเหล่านี้หมด
แต่เราจะเห็นว่า อ้อ เรามีจุดหมายคือการที่มาเอื้ออำนวยให้บุคคลเขาพัฒนาชีวิตของเขาขึ้น ซึ่งชีวิตของเขาเจริญงอกงามแล้วก็จะมีความสุขที่แท้จริง ด้วยคุณสมบัติที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา ไม่ใช่เป็นเพียงว่าเอาวัตถุภายนอกมาปรนเปรอ บำรุงบำเรอ ซึ่งอาจจะทำให้เขาเนี่ย หลงทางหันเหออกไป ใช่มั้ย แทนที่พัฒนาชีวิต ไม่เกิดกุศล แล้วมันเกิดอกุศล ไปกันใหญ่เลย เสียหายไปเลย ใช่มั้ย
อันเนี้ย ถ้าเราไปคิดแต่เพียงว่า เราจะทำวัตถุ เช่น เศรษฐกิจ ให้พรั่งพร้อม ให้คนอยู่กันสบาย บำรุงบำเรอ ก็กลายเป็นว่าบางทีเป็นอกุศลไปเลยใช่มั้ย มันไปมัวคิดแต่จะเสพ จะลุ่มหลง มัวเมา มันไม่พัฒนากุศลขึ้นมา แล้วก็แน่นอนว่าชีวิตมันจะดีได้ยังไง ถูกมั้ย เพราะฉะนั้นก็ตกลงว่า ไอ้เรื่องเนี่ย กุศลมันก็โยงมาถึงระดับสังคม
เอาล่ะ ทีนี้มาถึงระดับสังคม ก็เป็นอันว่าเราจะต้องบริหารสังคม จัดการสิ่งแวดล้อม ระบบการ หรือแม้แต่เรื่องของการบริหารมนุษย์เนี่ย ให้มันดี ให้มีความสัมพันธ์กันในทางที่เกื้อหนุนกันอย่างเงี้ย เราก็เลยจัดตั้งวางระบบ ก็ออก เช่น กฎกติกา อะไรต่างๆขึ้นมา ในกระบวนการของการจัดการบริหารต่างๆเหล่าเนี้ย เพื่อจะให้มันได้ผลดี นี้ก็ตอนนี้ก็อยู่ที่ว่า การที่จะวางระบบจัดตั้งหรือว่าวางระเบียบ เป็นต้น จัดระเบียบระบบชีวิต สังคมอะไรเนี่ย มันจะจัดได้แค่ไหน และดีหรือไม่ ก็หนึ่งก็อยู่ที่ปัญญาว่า มนุษย์ที่จะมาจัดตั้งวางระเบียบระบบเนี่ย มีปัญญารู้ความจริง รู้ว่าชีวิตมนุษย์ ธรรมชาติของชีวิตมันเป็นอย่างไร มนุษย์มีความต้องการอะไรแน่ ใช่มั้ยฮะ อะไรมันเป็นกุศล อกุศลหรือไม่
ถ้าเขาไม่เข้าใจ เขาก็อาจจะมองแค่ว่า เออ แกมีกินเยอะๆก็ดีแล้ว มีวัตถุพรั่งพร้อม ฉันก็พยายามจะเอาแค่นั้นน่ะ ผู้บริหารสังคมก็จะมาจัดตั้งวางระเบียบระบบ ออกกฎหมาย ตั้งรัฐธรรมนูญ อะไร มันก็คิดอยู่ในกรอบแค่นั้นน่ะ ใช่มั้ย เพราะมันรู้แค่นั้น เข้าใจแค่นั้น แล้วมีทิฏฐิ แนวคิดแค่นั้น ทิฏฐิก็คือแนวคิด ความเชื่อ หลักการที่ยึดมั่นว่าเป็นยังไง ก็จะเอายังงั้น แล้วตรงนี้ที่สำคัญมากก็ทั้งหมดนี้อยู่ในขอบเขตของปัญญา แล้วสองก็คือเจตนา เจตนาก็คือเจตนาสุจริตมั้ย มีความหวังดี ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์จริงมั้ย ถ้าเขามีเจตนาสุจริต มีเจตนาประกอบด้วยคุณสมบัติที่ดี เช่น มีเมตตา กรุณา
ไอ้เจตนาก็คือตัวแสดงออกของคุณสมบัติในจิตใจ ใช่มั้ยฮะ ที่ว่าตั้งใจดี ปรารถนาดี มีเมตตา มีความรัก หรือเจตนามันมีว่า หวังผลประโยชน์ส่วนตัว จะเอาพวกคนในสังคมนี่เป็นเครื่องมือ หาผลประโยชน์ หรือว่ามีการที่ว่า เป็นพวกเป็นเหล่าแล้วก็จะแกล้งพวกอื่น ใช่มั้ยฮะ อย่างงี้เรียกว่ามีโทสะอยู่ในใจ เจตนามันก็จะเป็นไปตามไอ้ตัวแรงจูงใจเหล่านั้น เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นอะไรก็แล้วแต่ นี้ถ้ามีเจตนาที่ดีมีเมตตา มีความซื่อตรงสุจริต หวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ ก็ได้ไปอันนึงแล้ว
องค์ประกอบเนี่ยสำคัญมาก 2 อัน คือ หนึ่ง เจตนา เจตนาต้องมีความสุจริตและต้องปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยใจจริง เราจะจัดการบริหารสังคมนี้เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของเขาแท้ๆ สองก็มีปัญญาอย่างที่ว่า ต้องรู้เข้าใจว่าชีวิตมนุษย์นี่เป็นอย่างไร มันจะเจริญงอกงานมันคือยังไง มันต้องการอะไร ใช่มั้ยฮะ อะไรจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตแท้จริง พอได้สองอันมาบรรจบ เจตนาก็ยอด นะฮะ บริสุทธิแท้จริง ปรารถนาดี ปัญญาก็รู้ตลอดแทงทะลุ ก็จะได้ผลดีที่สุด
ทีนี้ตอนที่มนุษย์จะจัดตั้งวางยังไงแล้ว มันก็ออกมาเป็นกฎระเบียบของสังคมนั้น มันก็มาในรูปที่แม้แต่เป็นกฎหมายต่างๆ เป็นกฎ เป็นระเบียบของชุมชน แต่ทางพระรวมอยู่ในคำว่า วินัย วัฒนธรรมประเพณีทั้งหมดเนี่ยอยู่ในนี้หมด นะฮะ เพราะวัฒนธรรมนี่ลักษณะหนึ่งก็คือวินัยที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร ก็คือหมายความว่า เป็นวิถีชีวิตของคนไปแล้ว จากการที่เราได้อยู่กันอย่างเงี้ย ถ่ายทอดกันมา ทำตามกันมา ใช่มั้ย โดยไม่ต้องรู้ตัว ลูกก็ทำตามพ่อแม่ แต่คนที่มาใหม่เข้าสู่ชุมชนก็ทำไปตามคนเก่าที่ทำไปแล้วเนี่ย มันเป็นระเบียบของชุมชนนั้น มันเป็นระเบียบอยู่ในตัวเลย วัฒนธรรมเนี่ย ที่เป็นวินัยแบบไม่วางเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยังไงก็ตาม เอาเป็นว่านี่คือวินัย ขั้นนี้ก็เป็นเรื่องของสิ่งที่เราเรียกกันปัจจุบันว่า ความดีความชั่ว ที่ว่าบัญญัติว่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี นะฮะ ในระดับสังคมนี่แหละ ก็คือมนุษย์ มาตกลง หรือมาวางกันขึ้น
มันก็โยงไปหาไอ้ความจริงของธรรมชาติ ตรงที่ว่าเขาจะรู้เข้าใจ แค่ไหน และเจตนาของเขาเนี่ยมันเป็นความจริงที่มีในธรรมชาติ ตรงเนี้ยเป็นจุดที่โยง ดังนั้น พระพุทธศาสนาก็แบ่งเป็นสองอัน หนึ่ง ธรรมะ สอง วินัย ตอนที่เป็นธรรมะนั้นคือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ ที่เราจะแม้แต่ใช้คำว่าความดีความชั่ว ในระดับที่เป็นธรรมะ ก็คือความจริงที่มีอยู่ธรรมดาธรรมชาติ เช่น กุศล อกุศล ที่มีอยู่ในชีวิตจริง นะฮะ แล้วทีนี้จากการที่เรารู้เข้าใจเนี่ย เข้าใจธรรมะเท่าไหร่ หยั่งถึงธรรมะเท่าไหร่เนี่ย ก็จะมาจัดตั้งวางวินัยเป็นระบบของมนุษย์ได้เท่านั้น ก็หมายความว่า เพื่อความมุ่งหมายที่จะให้กุศลที่เป็นธรรมะนี่ มันเจริญงอกงามให้มนุษย์พัฒนามันขึ้นมา
เราก็มาบัญญัติจัดตั้งวางระบบสังคมขึ้นมาเพื่อให้คนได้มีโอกาสพัฒนา ก็หมายความว่า เรามีความมุ่งหมายเพื่อธรรมะ ให้ธรรมะเจริญงอกงามขึ้นในชีวิต เราก็จัดตั้งวางสิ่งที่เรียกว่าวินัยขึ้นมา วินัยก็เพื่อธรรมะ แต่การที่จะวางวินัยได้ผลดี ก็ต้องมีปัญญารู้เข้าใจธรรมะ ยิ่งรู้ว่าความจริงมันเป็นยังไง เช่น ชีวิตมันต้องการอะไร แค่ไหน รู้ชัดเจนเท่าไร ใช่มั้ย มันก็ยิ่งวางได้ดีเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ธรรมะก็เป็นฐานของวินัยอีก ใช่มั้ย เป็นทั้งฐาน และเป็นทั้งจุดหมาย นะฮะ เป็นทั้งจุดเริ่มต้นและเป็นจุดมุ่งหมายของวินัย วินัยเพื่อธรรม และวินัยต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรมด้วย
นี้ถ้าคนไม่เข้าใจเรื่องธรรมะคือความจริงของชีวิต เป็นต้น การที่จะวางวินัย กฎเกณฑ์ ระเบียบ ของชุมชน ของสังคม มันก็ไม่ได้ผลดีเท่าไหร่ ก็เป็นอันว่าปัญญาก็ไม่พอ และถ้ายิ่งเจตนาไม่บริสุทธิอีก ไปเลย ดังนั้น ในระดับของวินัยเนี่ย ก็เป็นเรื่องของสังคม แต่ว่ามันอยู่ที่ว่ามันจะสัมพันธ์กับธรรมะได้แค่ไหน แล้วทางพุทธศาสนก็แยกได้เลยว่า ธรรมะนี่เป็นเรื่องสภาวะความจริงตามธรรมชาติ ถ้าเราจะพูดว่าความดีความชั่วมีมั้ยตามธรรมชาติ ก็มีในระดับที่เรียกว่าธรรมะ ส่วนความดีความชั่วที่เป็นบัญญัติมีมั้ย ก็มีเป็นระดับวินัย นะฮะ เป็นเรื่องของบัญญัติของมนุษย์ แต่ว่ามันโยงกันตรงที่ว่า มันเพื่อความมุ่งหมายนั้น เราต้องการให้เกิดภาวะที่มันดีเกื้อหนุนกับชีวิตมนุษย์ขึ้นมา
ทีนี้ในทางพุทธศาสนาเนี่ย เราก็เลยแยกองค์ประกอบของพุทธศาสนาออกเป็นสองอย่าง คือ ธรรมะ กับวินัย พุทธศาสนานี้ประกอบด้วยองค์สอง หรือธรรมะกับวินัย ธรรมะนั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า พระพุทธเจ้า ตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็มีของมันอยู่อย่างงั้น นะฮะ ตถาคตมาค้นพบแล้ว ก็เอามาบอก มาเปิดเผย แสดง พระองค์ไม่ได้มาจัดตั้งขึ้น คำที่ใช้เป็นหลักในเวลาที่กล่าวถึงธรรมะ ก็คือคำว่าแสดง แสดงธรรม เพราะว่าธรรมะ ความจริงมันมีอยู่ของมันอย่างงั้น ก็แสดง แต่ว่าในบางโอกาสจะมีคำว่าบัญญัติ แต่ไม่ใช่คำหลัก
บัญญัติธรรมะก็คือในกรณีที่ว่าไอ้ความจริงเนี่ย มันเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก ก็มาจัดตั้งวางเป็นระบบ เช่นเป็นชุด เป็นหัวข้อ เป็นลำดับอะไรขึ้นมาอย่างงี้ เรียกว่าบัญญัติเหมือนกัน ก็คือจัดตั้งวางเป็นหลักว่า พรหมวิหาร 4 อย่างงี้เป็นต้น นะฮะ แต่ที่จริง ไอ้ตัวอะไรแต่ละตัวน่ะมันมีเป็นสภาวะอยู่ เอาละนะฮะ ส่วนวินัยนั้นใช้คำว่าบัญญัติเลย แล้วนี่แยกให้ได้เลยนะฮะ ธรรมะ แสดง วินัย บัญญัติ ก็แปลว่า วินัยนั้นเป็นของมนุษย์บัญญัติจัดตั้งวางขึ้นมา ไม่ใช่เป็นของมีจริง อา แล้วทีนี้มันกลับมามีความหมายโยงกับความเป็นจริงยังไงอีก
พอมนุษย์ตกลงกันอย่างงี้แล้ว นี้ใน เมื่อกี้เราพูดถึงฝ่ายผู้ที่จัดตั้งวางกฎ ระเบียบ เป็นต้น นะฮะ ก็จะอาศัยเจตนาและปัญญา จะได้ผลดีแค่ไหน ทีนี้ฝ่ายผู้ปฏิบัติก็เหมือนกัน คนที่เป็นสมาชิกของสังคม มันมีปัญหาตรงที่คนไม่เข้าใจแยกตรงเนี้ย คือ คนมาทีพูดก็ อ้าว เป็นบัญญัติเรื่องของมนุษย์วางกันขึ้นเอง มันก็ไม่จริง เพราะฉะนั้นเราจะทำตามไม่ทำตามก็ไม่เห็นเป็นไร มันไปเชื่อมกับความจริงยังไง มันก็เชื่อมที่ตัวเดิมนั่นแหละ ก็คือเจตนาและปัญญา พอวางเป็นบทบัญญัติของสังคม เราอาจจะรู้ เช่นว่า เออ รู้ว่าอันนี้เป็นกฎเกณฑ์กติกาเขาวางไว้เพื่อความดี เพื่อประโยชน์แก่การอยู่ร่วมกันนะ แล้วเวลาจะละเมิดนี่มันมีเจตนา นะฮะ เจตนา
ไอ้เจตนานี่มันเป็นสภาวะธรรม มันมีในใจ มันของจริง ใช่มั้ย ไอ้กฎน่ะไม่จริง แต่ว่าไอ้เจตนามันจริง เพราะฉะนั้น เจตนาเนี่ยเป็นตัวกลับไปสู่ธรรมชาติอีก พอเจตนามันเกิดขึ้นรู้ตัวเลยว่า ตัวเองละเมิด แล้วยิ่งมีปัญญารู้อยู่ว่าไอ้นี่เป็นของที่เขาวางเพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน มันก็เลยเจตนานี้ ไม่ดี ใช่มั้ยฮะ เป็นอกุศล ทีนี้ ทั้งนี้มันก็ขึ้นต่อปัญญาอีก ปัญญามีความรู้เข้าใจ ถ้าเข้าใจอยู่ว่า อันนี้มันน่าจะต้องแก้ไขอะไรต่างๆ มันก็อาจจะมีข้อตัวแปรที่จะต้องพิจารณารายละเอียดอีกว่าจะเป็นบาปอกุศลแค่ไหน ปัญญาก็ไม่เท่ากัน แม้แต่ไอ้การละเมิดที่มีเจตนา ก็ไม่เหมือนกัน
บางคนก็โดยตระหนักรู้ว่า อันนี้เขาวางกันไว้เพื่อประโยชน์ความดีงามร่วมกันนะ เราเห็นอยู่ชัดๆว่า มันเป็นเรื่องที่ว่าสังคมจะอยู่ดีก็ต้องเป็นอย่างงี้ นะฮะ ให้คนเจริญกุศล แต่ว่า ตัวเองเนี่ย ทั้งๆที่รู้อย่างเงี้ย ก็ไปละเมิดอย่างงี้ มันก็จะมีเจตนาที่หนักหน่อย อกุศลก็แรง แต่ทีนี้บางคนก็เพียงรู้ว่า เออ อันนี้มันเป็นกฎกติกาของสังคมที่ตกลงวางกันไว้ เป็นบัญญัติของสังคม แต่ก็มีเจตนาว่านี่เราละเมิดสังคมแล้ว เจตนาตัวนี้มันมี พอเจตนาที่จะละเมิดมี เจตนาตัวนี้เป็นสภาวะธรรม เป็นของมีจริงในใจ มันก็กลับมามีผลต่อชีวิตจิตใจเขาอีก
แล้วก็อย่างที่ว่ามันก็ตัวแปรก็จะมีปัญญาอีก เพราะคนมีปัญญาจะมองเห็นว่าไอ้กฎกติกานี้มันไม่เหมาะสมกับเวลาแล้ว มันไม่มีผลดีต่อสังคมแท้จริง มันควรจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่เขาอาจจะไม่ได้ดำเนินวิธีการอย่างถูกต้อง อกุศลตัวอื่นก็อาจจะแทรกเข้ามา เช่น อาจจะมีความคิดรุนแรง ไอ้นี่มันเอาไว้ไม่ได้จะต้องแก้ นะฮะ เลยมันก็กลายเป็นว่า อกุศลอื่นมันก็อาจจะเกิดมาพร้อมกับการที่มี กุศลก็อาจจะมีปนกันไปว่า มีปัญญารู้ว่าอันนี้มันไม่เหมาะ ไม่เกื้อกูลกับสังคมแท้จริง ควรจะแก้ไขปรับปรุง
นี้ถ้าจิตมันอยู่ดี มันมีภาวะของตัวเอง มันไม่ถูกกระทบกระทั่ง ไม่บีบคั้น มันจะคิดโดยปลอดโปร่ง ว่าเออ เราจะต้อง ไอ้นี่มันก็วางกันขึ้นมาโดยที่หมู่มนุษย์ของเขาร่วมกันพิจารณาแล้ว แต่ว่าคนเขาอาจจะมีปัญญาไม่พอ กาลสมัยเปลี่ยนไป เขายังไม่ได้เข้าใจ เราก็จะต้องค่อยๆให้ความรู้เขา แล้วก็มาชวนกันเปลี่ยนแปลงในวิธีที่ชอบอะไรอย่างงี้ อ้าว ไอ้นี่ก็คิดรอบคอบขึ้นมาอีก กุศลก็เกิดมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ว่า เราก็ต้องเข้าใจความสัมพันธ์สองระดับเนี่ย ระดับธรรมะกับระดับวินัย นะฮะ
อันนี้ก็เลยเราก็มาแยกอย่างที่ว่าว่า ถ้าเราจะใช้สำนวนไทยว่าความดีความชั่ว มีจริงมั้ย นะฮะ ถ้าเราสามารถโยงไปหาศัพท์ที่เป็นสภาวะคือกุศล อกุศล แล้วก็บอกว่ามันมีจริง มันอยู่ในชีวิตจิตใจของคนเลย แล้วมันเกิดขึ้นมามันก็มีผลจริงๆอย่างงั้น สองก็ตอนที่มันออกมาสู่สังคม มันก็จะมีว่ามันเชื่อมโยงกันมา ที่ว่ามนุษย์จะพยายามที่จะทำสังคมของตัวเองให้ดี แล้วก็มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องชีวิตความต้องการของมนุษย์อะไรแค่ไหน แล้วก็วางบทบัญญัติไว้เท่านั้น
ถ้าเขาเข้าใจลึกซึ้งว่าชีวิตมีธรรมชาติเป็นอย่างไร มีความต้องการอย่างไร ความเจริญดีงาม ประโยชน์ที่แท้ คืออะไรเนี่ย เขาจะวางกติกา ระเบียบ กฎหมาย อะไรต่ออะไร ได้ดีมาก นะฮะ มันก็จะเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น นั้นการบัญญัติอะไร กฎหมายอะไรต่างๆเนี่ย จึงเป็นเรื่องใหญ่ นะฮะ วินัยทำไมจึงสำคัญ ทำไมจึงต้องการการตรัสรู้ นะฮะ อย่างพระพุทธเจ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เพราะได้ทั้งสอง หนึ่งต้องรู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติที่ครอบคลุมถึงความจริงของชีวิตเนี่ย นะฮะ นี่ด้านตรัสรู้ธรรมะ รู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา สอง แล้วก็มีปัญญาความสามารถที่จะนำเอาความรู้ในความจริงนั้นน่ะ มาจัดตั้งวางระบบขึ้นมา เช่น ตั้งชุมชนขึ้น วางกฎระเบียบกติกา จัดสภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเนี่ย ให้มันเกื้อหนุน การที่มนุษย์แต่ละคนจะได้พัฒนากุศล หรือธรรมะนั้นขึ้นมา เจริญงอกงามในธรรมได้
นี้ถ้าสามารถทำได้สองขั้นนี่ก็เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า คือหมายความว่า ทั้งสามารถตรัสรู้ด้วยตนเอง เป็นผู้เริ่มต้น เพราะว่าถ้าไม่มีคนเริ่มต้น ก็ไม่รู้จะเกิดธรรมะปรากฎขึ้นในสังคมได้อย่างไร ใช่มั้ย ก็เป็นผู้เริ่มต้นที่รู้ก่อน ก็เป็นด้านหนึ่ง ด้านที่สองก็สามารถที่จะนำเอาธรรมะเนี่ยมาแผ่ขยายให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมาก ได้สองอัน อันที่สองก็คือ ต้องสามารถขั้นวินัยเนี่ย พอได้สองอันก็เป็นสัมมาสัมพุทธะ ถ้าได้อันเดียว คือ รู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา ได้ปัญญาของตนเองโดยไม่มีคนอื่นที่มาสอน ก็เป็นปัจเจกพุทธเจ้า แต่นี้ถ้าหากว่าได้รู้จากท่านที่รู้มาก่อน ตรัสรู้ก่อน แล้วก็ตัวเองก็รู้ตามนั้น แล้วก็มาจัดตั้งวางตามก็เป็นพระสาวก เรียกว่า อนุพุทธะ อันนี้งงมั้ยฮะ
ผู้ถาม : อา อย่างที่พระวินัยที่ท่านว่า ถ้าเกิดมันไม่ถูก ??? จริงๆสามารถแก้ไขได้หรือเปล่าครับ
ก็พระพุทธเจ้าเองก็ทรงอนุญาตไปเลยไง ใช่มั้ยฮะ เนี่ยพระพุทธเจ้าก็ทรงมองเห็นการณ์ไกล บอกว่า วินัย สิกขาบทเล็กๆน้อยๆ คือ ที่ไม่ใช่เป็นตัวหลักการสำคัญ ต่อไปเมื่อสงฆ์เห็นชอบ สงฆ์นะ ไม่ใช่บุคคล สงฆ์นี้หมายถึงที่ประชุมหมู่ใหญ่ทั้งหมดร่วมกัน ก็คือคำว่าสังคมนั่นเอง แต่สังคมของผู้ที่ได้เจริญไตรสิกขา นะฮะ ถ้าสงฆ์เห็นชอบก็ให้ถอนได้ ก็พระองค์ก็อนุญาตไว้อย่างงี้
ทีนี้พอมาพระเถระผู้ทำสังคายนาท่านก็มองไปอีกย่านนึง บอกการที่พระพุทธเจ้าให้โอกาสไว้นั้น ก็เป็นพระมหากรุณาของพระองค์ ก็เป็นการชอบธรรมอย่างยิ่งแล้ว แต่ว่า เพื่อประโยชน์อีกบางแง่ สงฆ์ก็เลยตกลงมีมติร่วมกันว่า เรายอมลำบากเพื่อประโยชน์ปิดกั้นไอ้ข้อเสียหาย โทษบางอย่างที่มันจะเกิดขึ้นไม่รู้จักสิ้นสุด เราก็พร้อมใจกันว่า เราตกลงว่าเราไม่ถอน นะฮะ ก็เป็นมติสงฆ์ขึ้นมาอีก ก็เห็นได้ว่า ก็อันสองอันนี้ก็ไม่ขัดกัน หมายความ พระพุทธเจ้าก็อนุญาตไว้ ก็เป็น จะเรียกว่าเป็นสติปัญญา หรือความรู้เข้าใจของพระองค์ ก็ให้รู้ว่า อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา นะฮะ ว่ากฎระเบียบต่างๆเนี่ย มันอาจจะเป็นเรื่องที่ขึ้นต่อกาลสมัย ซึ่งก็เป็นอย่างงั้นจริงๆ
ทีนี้ฝ่ายผู้ที่มาปฏิบัติตาม แล้วก็รวมกันเป็นสงฆ์เนี่ย ก็พิจารณาเหตุผลในแง่ต่างๆ ว่าถ้าไปถอนแล้วมันไม่รู้จักจบ มันก็กลายเป็นว่า ก็เลยแยกเป็น 2 สาย สายที่ตกลงตามนี้ว่า เอาล่ะเรายอมลำบาก มียังไงก็ปฏิบัติไปตามนั้น นะฮะ ให้ครบ แล้วก็ไปตามสภาพแวดล้อม ถิ่นฐาน กาลสมัยอื่น เราก็ไปวางกฎระเบียบที่อนุโลมหรือคล้อยตามพระบัญญัตินี้เพิ่มเข้าไปอีก เสริมวินัยเข้าไปอีก แทนที่จะลด กลับเพิ่มเสริมเข้าไป นะฮะ เพื่อความดีงามที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมแห่งกาลสมัยนั้น อันนี้ก็เป็นสายที่เรียกว่า เถรวาท
ทีนี้ฝ่ายมหายาน ท่านถือว่า พระพุทธเจ้าอนุญาตแล้ว ก็เลยจัดการแก้ไข ถอน นะฮะ ทีนี้พอถอนแล้วเราก็เห็นเลยว่า สายเถรวาทเนี่ยจะคุมอยู่เป็นอย่างเดียว ไม่ว่าไปอยู่ประเทศไหน แต่ว่าสายมหายานนี่ไม่รู้กี่นิกาย นิกายที่ดับหายไปแล้วก็เยอะแยะ นิกายที่เกิดใหม่ อย่างญี่ปุ่นนี่ได้สร้างนิกายเกิดใหม่ แทบทุกปี ขณะนี้มีประมาณ 200 นิกาย
ประเทศญี่ปุ่น นะ นิกายใหญ่ 5 ก็มีนิกายอะไร นิกายโจโดชิน นิกายชิน นิกายเซน นิกายนิชิเรน นิกายชินงอน นะฮะ นี่นิกายใหญ่ 5 หลัก แล้วแต่ก่อนเนี่ยก็มีครอบครัว อยู่นิกายชิน นิกายชินนี่เขาถือว่าไม่มีพระ ไม่มีคฤหัสถ์ เขามีไอ้คำพูดเป็นวาทะของหัวหน้าหรือผู้ตั้ง จะเรียกว่าอาจารย์ใหญ่ ว่าอย่างงั้นนะฮะ ไม่มีพระ ไม่มีคฤหัสถ์ อันนั้นเขาก็ไม่มีผู้ที่มาแต่งกาย มีลักษณะที่พูดว่ามีเครื่องนุ่งห่มแปลกไป นะ อย่างนิกายชินเนี่ย เขาก็แต่ตัวเป็นคฤหัสถ์สวมชุดสากล หวีผมอะไรต่ออะไร แล้วก็เป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรม เป็นเจ้าของธุรกิจ เนี่ย ที่มาธุรกิจจากญี่ปุ่นในเมืองไทยเนี่ย บางคนอาจจะเป็นพระนิกายนี้นะฮะ ไม่รู้หรอก
ทีนี้ จะรู้ยังไงเวลาเข้าพิธี เวลาเข้าพิธีพระนิกายชินเนี่ยแกก็จะมีเสื้อคลุมสีดำ เสื้อคลุมสีดำ ก็เป็นคล้ายๆเป็นตาห่างๆแบบมุ้ง นะฮะ ก็สวมทับเข้า และก็มีผ้าห้อยคอเป็นสีเหลืองคล้ายๆเป็นแผ่นๆ คล้ายๆแผ่นประคตนะฮะ มาพาดคอเนี่ย และก็เข้าทำพิธี นี่ก็คือนักบวช หรือพระของนิกายชิน พอออกจากพิธีแล้วก็ไปตามเรื่อง จะไปไหนก็ไป ก็เป็นเจ้าของธุรกิจนี่ แล้วก็มีภรรยา มีอะไรต่ออะไร นะฮะ
ตอนผมไปเยี่ยมญี่ปุ่น นานแล้ว เราก็ไปเยี่ยมกัน วัดต่างๆ นะ ไปถึงวัดหนึ่งก็ไปเยี่ยมสังฆราชนิกายหนึ่ง นิกายย่อยของนิกายชินอีกที พวกเขามีนิกายย่อยอีกเยอะแยะเหลือเกิน นี้ ท่านสังฆราชนี่ก็มีผู้หญิงออกมา เรียกว่า เสิร์ฟน้ำชา ใช่มั้ยฮะ มาต้อนรับ แล้วท่านก็แนะนำว่านี่ลูกสาวท่าน สังฆราชก็มีลูกสาว นะฮะ ท่านจะถามอะไรฮะ
ผู้ถาม : เอ่อคือ อย่างท่านว่า ความสำคัญเรา อย่างนิกายเหล่าเนี้ยครับ เราสามารถไหว้เขาได้มั้ย
ก็เป็นเรื่องที่ว่ามันทำให้อึดอัดใจเหมือนกัน ผมว่าเรื่องอย่างงี้ก็ให้เป็นมติสงฆ์แหละดี คือมันจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างพระมหายานนี้ อันนี้นอกเรื่องนิดหน่อย นะฮะ พระมหายานเนี่ยเขารับไหว้คฤหัสถ์ หรือแม้แต่ไหว้คฤหัสถ์ แต่เขาไม่ถือว่าไหว้ เขาถือว่าให้พร คือเลี่ยงไป เหมือนกับเขาฉันเย็นใช่มั้ย แล้วก็ฉันเจ ฉันเย็นเนี่ย เคยถามแล้ว เขาบอกเขาฉันเภสัช เข้าใจมั้ยฮะ ฉันเภสัช อ้าว มันก็ฉันได้สิ ฉันเภสัช ก็นิยายของญี่ปุ่นเนี่ย นิกายใหญ่ 5 นิกาย ก็นิ เดิมก็มีนิกายชินเนี่ยที่ไม่ถือเรื่องมีครอบครัว แล้วก็นิกายอื่นก็ยังไม่มีครอบครัวอะไรเงี้ย ต่อมา เดี๋ยวนี้มีทุกนิกายเลย เดี๋ยวนี้ พระญี่ปุ่นแม้แต่นิกายเซนยังมีภรรยาเลย นิกายเซนที่เคร่งที่สุด นะฮะ เดี๋ยวนี้ก็มีภรรยาหมดแล้ว
นี่แหละก็คือเมื่อมีการตกลงว่า ถอนได้ ใช่มั้ยฮะ มันก็เลยไม่รู้จบ มาสมัยนี้ก็ถอนแค่นี้ ต่อมาอีกสมัยหนึ่ง ก็ เอ มันน่าจะถอนอีกนะข้อนี้ มันไม่เหมาะสมกาลสมัย หรือในยุคเดียวกันนั่นแหละ พวกหนึ่งว่ายังไม่ควรถอน อีกพวกหนึ่งบอกว่าควรถอนแล้ว อ้าว ก็แตกไปอีกนิกายนึง ก็เลยแตกกันใหญ่ มหายานก็แตกเพราะเรื่องความเห็นไม่เหมือนกันนี่แหละ ในเรื่องตีความเรื่องปลีกย่อยอะไรต่ออะไรก็เลยไปกันใหญ่เนี่ยที่ว่า ก็เอาและญี่ปุ่นเนี่ยก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เป็นอันว่าในตอนนี้ก็มีครอบครัวทุกนิกาย แล้วก็มีนิกายย่อยเกิดเรื่อยเลย นะฮะ เป็นประมาณ 200 นิกาย ท่านยังสงสัยอะไรล่ะ ไม่มี มีอะไรมั้ยครับ ท่านอะไร ท่านสงสัยอะไร
ผู้ถาม : เออ เราจะทำให้สังคมที่เรา ???ที่สุดคือครอบครัวเนี่ยครับ ให้เกิดกุศลได้ยังไงครับ ให้สร้างเพิ่มต่อคนที่เป็น เออ ญาติพี่น้อง พ่อแม่ หรือพี่น้องเรา
อา มันก็โดยหลักการทั่วไปก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แล้วจัดไอ้ระบบความเป็นอยู่เนี่ยให้ดี สภาพแวดล้อมให้เกื้อหนุน อย่างที่ว่ามีสัปปายะ 7 ประการ เป็นต้น ใช่มั้ยฮะ ก็มันก็สภาพแวดล้อมมันก็เอื้อแล้ว แล้วเสร็จแล้วเราก็มีความสัมพันธ์ดีในระหว่างมนุษย์อีก มีเมตตาต่อกัน และก็จัดวางระเบียบระบบ เช่น ในการเป็นอยู่ กติกาในการเป็นอยู่
อย่างว่าชีวิตในยุคสมัยนี้ นะฮะ มันยุ่งเหลือเกิน พ่อแม่ลูก บางทีแทบไม่มีเวลาพบกันน่ะ เดี๋ยวนี้นะฮะ ได้ฟังญาติโยมแล้ว โอ้โห บอกว่าบางครอบครัวนี้หนักมาก พ่อแม่กับลูกไม่ได้พบกัน บอกว่า พ่อต้องมีเวลาทำงาน ต้องรีบไป ตอนหนึ่ง อ้าวก็ตื่นไม่พร้อมกับลูก พ่อไป ลูกยังไม่ตื่น แล้วก็อ้าว เวลากลับมาก็ไม่พร้อมกัน ฝ่ายนึงมาอีกฝ่ายนึงหลับแล้ว บางทีอาทิตย์หนึ่งไม่ได้เจอกันเลย
นี้ต่อมาก็วางกติกา แต่กติกายังงี้มันก็เป็นเพียงเครื่องผ่อนเบา ให้มันลด ไอ้ ความแย่ลงไป นะฮะ เช่นว่า ก็เลยตกลงกันว่าทำไงจะสื่อสารกันได้ ก็มีโต๊ะวางไว้หน้าห้องกลางว่า ลูกมีความต้องการอะไรจะบอกพ่อ เช่นว่า ต้องการเงินเท่าไร จะอะไร ก็ให้เขียนวางไว้บนโต๊ะนี้น่ะ แล้วก็พ่อมา แล้วก็เห็น ก็เอาเงินวางไว้ให้ แล้วพ่อเขาก็เข้านอน เสร็จก็ออกไป นะฮะ ก็สื่อสารกันอย่างงี้
นี้อาจารย์ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง นะฮะ แล้วครอบครัวของท่าน เพราะว่าเห็นสภาพชีวิตอย่างเงี้ย ท่านก็เลยมาวางกติกากัน บอกว่า เอ ครอบครัวของเราเอางี้ไม่ไหว ก็ดีสำหรับครอบครัวนี้ ท่านก็ดี ท่านก็บอกว่าตกลงกันเลยว่า เอาอย่างงี้ก็แล้วกัน เรามาตกลงกันว่า ครอบครัวของเราเนี่ยควรจะมีเวลาที่ได้พบกันแน่นอน วันละครั้ง แล้วก็มาดูกันมาจัดกันให้ลงตัวว่า เวลาไหนจะสะดวกและได้อย่างน้อยว่าสามารถจะมาได้ทุกคน แล้วก็ได้เวลาหนึ่งในเวลาอาหารเย็น หรืออะไรเนี่ย นะฮะ ว่าอย่างน้อยเวลาอาหารเย็นมันยืดหยุ่นได้ ใช่มั้ยฮะ ก็ปรับ ก็ตกลงว่า เวลาอาหารเย็นเนี่ย เวลาที่ลงตัวว่าทุกคนมาได้อยู่ได้ น่ะ เวลาเท่านี้ แล้วก็พบกัน ก็มีเวลาพบกันทุกวัน ทุกค่ำ ก็ยังเรียกว่ายังดี มีโอกาสที่สัมพันธ์กันในครอบครัวบ้าง
อันนี้เป็นปัญหาในยุคปัจจุบัน นี้นี้ก็คือ เนี่ย เนี่ย คือ วางกติกา ระบบ การจัดตั้ง หรือวินัยนั่นเอง ในการเป็นอยู่ เพื่อจะให้ชีวิตเนี่ยมันเป็นไปด้วยดี นี่ในครอบครัวฉันใด สังคมก็ฉันนั้น ยิ่งครอบครัวนี่สำคัญที่สุด เพราะเป็นฐานของสังคม ใช่มั้ยฮะ ถ้าเราจัดครอบครัวได้ดีมีชีวิตครอบครัวที่เป็นสุขแล้วสังคมนี่มั่นใจเลย เพราะถ้าครอบครัวดีแล้วเนี่ย เด็กมีความสุขในครอบครัวอยู่แล้ว เด็กเป็นคนดีตั้งแต่ในครอบครัวแล้ว นะ พ่อแม่ก็ไว้ใจได้ ลูกก็เชื่อฟัง มีความรักต่อกันอบอุ่น มันก็ออกไปเป็นคนดีในสังคมแหละ
แม้แต่ง่ายๆอย่างว่า จะไปทำอะไรก็ห่วงพ่อแม่แล้ว ลูกจะไปประพฤติอะไรเสียหาย เอ๊ นี่ถ้าหากว่าพ่อรู้หรือแม่รู้นี่ท่านจะใจเสียนะ ก็ไม่กล้าทำ ถูกมั้ย อ้า อย่างน้อย ความเยื่อใยเนี่ย ความรักกันในครอบครัวนี้เรื่องใหญ่ในสังคมของเราสมัยก่อนก็เป็นอย่างเงี้ย ที่เคยย้ำบ่อยๆบอกว่าพระคุณแม่เนี่ยสำคัญยิ่ง พระคุณแม่นี่ซาบซึ้งมาก คนสมัยโบราณนี่เป็นอย่างงั้น งั้นเวลาไปไหนไปไหนเนี่ยนะ ก็คิดถึงแม่ใช่มั้ยฮะ แล้วก็ถ้าทำอะไรไป ก็นึกถึง ก็กลัวว่าแม่จะเสียใจ หรือจะกลัวพ่อเสียใจก็แล้วแต่แหละ แต่แม่เนี่ยจะใกล้ชิดที่สุด แล้วเวลาจะทำอะไรไม่ถูก เกิดมีคนเขาอ้างอิงแม่ขึ้นมาทียั้งได้เลย สำคัญนะฮะ มันมีหลักอะไรอยู่บ้างที่มันยึดเหนี่ยวน่ะ
ทีนี้คนสมัยนี้มันลอยเคว้งคว้างมันเอาแต่ตัวก็แย่ซิฮะ สังคมก็ไปหมดเลย นั้นสิ่งเหล่านี้ก็คือ การจัดตั้งวางระบบ มันจะออกมาในรูปวัฒนธรรม ประเพณี อะไรก็คือมันก็เป็นการจัดระเบียบสังคม ใช่มั้ยฮะ โดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง แล้วก็คือว่าถ้าเรามีความสามารถ เราก็โยงไปหากุศลที่เป็นธรรมะในชีวิตนี้ให้ได้
ผู้ถาม : ถ้าฟังแบบนี้เนี่ย สำหรับชีวิตที่สังคมที่เป็นเกษตรกรรมอย่างสมัยก่อนเนี่ย น่าจะเหมาะกับการทำเพื่อให้เกิดธรรมะมากกว่าสังคมอุตสาหกรรมที่แต่ละคนจะต้อง แบบ ใช้ชีวิตเพื่อที่จะหา และก็เร่ง แล้วก็ไม่ได้เจอกันมากกว่านะครับ แล้วแบบนี้เนี่ย ถ้าเกิดว่าตอนนี้เนี่ยในสังคมเนี่ยมันเริ่มออกไปทางอุตสาหกรรมมากเนี่ย เราจะทำยังไงให้มันอยู่ระหว่างพอดีๆอะไรเงี้ยครับ คือ เหมือนกับว่าไม่วิ่งตามกับทางนี้มากไป ให้อยู่กับธรรมชาติบ้าง อะไรอย่างเงี้ยครับ
ก็ ก็นี่แหละ เราอาจจะไม่บอกว่ายังไงลงไป แต่เราจุดหมายตั้ง คือเป้าหมายว่า มันควรจะเป็นอย่างเงี้ย มนุษย์ควรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ครอบครัวคุณมีความอบอุ่น ใช่มั้ย มีความรักกันอย่างเงี้ย แล้วก็วางไอ้หลักการอันนี้ไว้ เสร็จแล้ว เราก็อาจจะพูดได้ว่า ระบบสังคมเกษตรแบบเก่าเนี่ย มันออกจะค่อนข้างเกื้อกูล นะฮะ เข้ากันได้กับระบบชีวิตแบบเนี้ย แต่เราเลือกไม่ได้บางที ใช่มั้ย มันก็เป็นความจำเป็นของยุคสมัย เหตุปัจจัยต่างๆ นี้ว่าเราจะทำยังไงในเมื่อสังคมมันเปลี่ยนแปลงไปเนี่ย จะจัดให้มันดีที่สุด นะฮะ
เมื่อเรามีเป้าหมาย มีหลักการอยู่แล้ว เราก็พยายามจัดให้มันเข้า ให้ได้ผลตามนี้ ใช่มั้ยฮะ นะ ก็เราอย่าไปทิ้งซิ ทีนี้ เราไปทิ้งนี่ บางทีเราก็ไปคำนึงแต่ไอ้เช่น อุตสาหกรรม เราก็ไม่มาคำนึงถึงว่า จุดหมายของชีวิตนั้นมันคืออะไร จุดหมายของมนุษย์ ความเป็นอยู่ที่มันมีประโยชน์สุขที่แท้จริงคือยังไง แต่เราไปมองถึงว่าอุตสาหกรรมจะช่วยนำอะไรให้เรา แล้วเราก็มองไปที่เป้าหมายนั้นซะนี่ แทนที่จะมีเป้าหมาย ประโยชน์สุขที่แท้จริงของชีวิต แล้วจะทำยังไงจะให้อุตสาหกรรมมาสนองจุดหมายนี้ ใช่มั้ย
มันไม่คิดนี่ มันไปมองแต่ไอ้อุตสาหกรรมนั้นจะนำอะไรมาให้ แล้วก็ไปหลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งนั้น อันนี้ก็คือความผิดพลาด เวลานี้คนก็ไปหลงกับไอ้อุตสาหกรรมที่ว่าผลที่ต้องการคือความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แล้วก็ผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมที่จะมาปรนเปรอบำรุงบำเรอ ทำให้เกิดความสะดวกสบาย ความมั่งคั่งพรั่งพร้อม และนี้มันกลายเป็นว่า ไอ้ความมั่งคั่งพรั่งพร้อมนี่ มันไม่มีตัวบอกขอบเขตว่าแค่ไหน มันก็กลายเป็นความบำรุงบำเรอปรนเปรอ และการที่ว่าแสวงหากันไป แล้วก็เลยกลายเป็นแย่งชิงกันแล้วก็มีการที่มาหลอกล่อซึ่งกันและกัน เอากันเป็นเหยื่อเป็นเครื่องมือ ใช่มั้ย
มนุษย์เดี๋ยวนี้บางทีก็ต้องคิดอย่างงั้น นะฮะ อย่างเรามีธุรกิจ เราก็ทำไงจะล้วงกระเป๋าคนพวกนี้ได้ให้มากที่สุด ใช่มั้ยฮะ เราก็ต้องหาทาง การโฆษณาก็ไม่เป็นความจริง ใช่มั้ย อ้าวก็ทำยังไงจะบอกว่า ไอ้สินค้าของตัวนี่ดีที่สุด ทั้งที่มันไม่เป็นจริง มันเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ให้เขาเชื่อ และก็ให้เขาเอาเงินมาซื้อเรา มันก็เลยกลายเป็นระบบจำยอม คนที่เข้าสู่ระบบนี้ก็ต้องทำไป
นี้ว่า ทำยังไงเราจะให้มีการศึกษา เป็นต้น ที่จะมาช่วยให้คนเนี่ย อย่างน้อยต้องมีจิตสำนึกในเรื่องนี้อยู่ ให้ตรึงไว้บ้าง เป็นเครื่องที่จะรั้งสติ พอมันมีจุดที่จะให้สติจับ สติมันมีที่จับ มันก็จะได้มาระลึกถึงแล้วก็จะได้คอยดึงไว้ ใช่มั้ยฮะ สติมันมีหน้าที่ดึง หรือตรึงไว้ มันก็ดึงเข้ามาสู่ไอ้ตัวจุดหมายหรือตัวที่โยงไปสู่หลักการอันเนี้ย นะฮะ ไม่ให้เขวไปไกล ไม่ให้เตลิดเปิดเปิง ขณะนี้เตลิดเปิดเปิงจนไม่รู้จุดหมาย ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม เพื่ออะไร สุขอยู่ที่ไหน อะไรใช่มั้ยฮะ
บางทีการหาสุขของคนสมัยนี้ที่ว่าต้องการการเสพบำรุงบำเรอมากเนี่ย ความจริงบางทีไม่ใช่ว่าเขาได้หาความสุขในความสุข เขาหาสุขเสพเหล่านั้นเพื่อกลบทุกข์ของเขาก็มีนะฮะ บางทีเขาทุกข์มาก แล้วก็เอาสิ่งเหล่านี้มาเพียงเพื่อกลบทุกข์เท่านั้นเอง จึง ไม่จริง
อย่างเวลาเนี้ยมีปัญหาเรื่องความอ้วนในประเทศอเมริกา แล้วกำลังระบาดเข้ามาเมืองไทย ตอนผมไปผ่าตัดพอดี คือ คุณหมอที่ผ่าตัดเนี่ย ก็พึ่งกลับจากอเมริกา ไปดูงานเรื่องแก้ปัญหาเรื่องโรคอ้วน เพราะว่าอารยธรรมอเมริกันปัจจุบันมาถึงจุดที่มีปัญหาเรื่องโรคอ้วนแล้ว นะฮะ มั่งคั่งพรั่งพร้อม แต่ว่าไอ้ความมั่งคั่งพรั่งพร้อมนี่กลับเป็นโทษ นี้เขาก็แก้ปัญหา วิธีของอเมริกันก็คือแก้ปัญหาทางวัตถุ ทางระบบ ทางเทคโนโลยี นี้คุณหมอก็ไปศึกษาวิธีการแก้ปัญหาโรคอ้วน เขาทำไง ก็คือเขาผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลง นะฮะ
ผู้ถาม : คือมันไม่ใช่การแก้ปัญหา
ก็ไม่รู้แหละ ก็เป็นวิธีแก้ระดับหนึ่ง ถ้าถ้าเราพูดในสำนวนปัจจุบัน เราก็บอกแก้ที่ปลายเหตุ แต่เราอย่าไปตัดทิ้งนะ การแก้ที่ปลายเหตุก็จำเป็น แต่ว่าแก้ที่ปลายเหตุอย่างเดียวไม่พอ ต้องพูดว่าอย่างงั้น ต้องแก้ไปให้ถึงต้นเหตุ ไม่ใช่ว่าจะเอาสุดโต่งไปว่าจะแก้แต่ต้นเหตุ ปลายเหตุไม่เอาก็ไม่ถูก มันก็ต้องเอาทั้งสอง ไอ้ปลายเหตุนี่มันตัดไว้ก่อน เฉพาะหน้า แล้วก็สืบค้นลงไปให้มันถึงต้นเหตุให้ได้
ทีนี้ว่าสังคมอเมริกันนี่แกอาจจะจับต้นเหตุไม่ได้ก็ได้ นะฮะ แกก็มาแก้ปัญหาด้วยวิธีเนี้ย คุณหมอแกก็ไปดู บอกว่าเขาก็กำลังใช้วิธีการเนี้ยก็คือว่าคนที่เป็นโรคอ้วนต้องผ่าตัดกระเพาะ เพราะทั้งๆที่ตามปกติคนจะผ่าตัดนี่มันต้องมีโรคใช่มั้ยฮะ ไอ้นี่กระเพาะมันก็ไม่ได้เป็นโรค แต่ว่าต้องผ่าตัด เพื่อจะให้เขากินน้อยลง ต้องผ่าตัดเหลือให้กินได้กี่ซีซี ไม่ทราบ ผมจำไม่ได้ ลืมอีกแล้ว นะฮะ แต่จดไว้ นะฮะ กินได้ตอนเนี้ย กินอาหารเหลือไม่กี่ซีซีเลยฮะ แล้วทีนี้ต่อไปกระเพาะมันก็จะยืดอีก แล้วก็ต้องแก้กันใหม่อีก เอ แก้วิธีนี้มันก็ยุ่งเหมือนกันนะฮะ คุณหมอก็ต้องเตรียมมาไว้เพราะต่อไปจะต้องผ่าตัดคนไทย นะฮะ คนไทยก็จะต้องเป็นโรคอ้วนอย่างเงี้ย ก็แสดงว่าวิธีของอารยธรรมนี้มันเดินไม่ถูกทาง
ทีนี้การกินที่มันไม่รู้จักประมาณ มันก็มาจากเหตุ คุณหมอเองก็เล่า บอกว่า มันก็มาจากทุกข์อีกแหละ คือ คนพวกเนี้ย เช่น ทำงานอยู่ จิตใจของเขาก็ไม่สบาย แต่ว่าไอ้การบริโภคมันสะดวก มันอยู่ใกล้มือ มันไม่สบายใจ จิตใจมันว้าวุ่น ง่ายๆก็หยิบมากินใส่ปากก่อน เคี้ยวๆ มันก็เป็นการกลบทุกข์ นี่นี่คือการเสพสุขเพื่อกลบทุกข์เท่านั้น ถูกมั้ย มันไม่ใช่ความสุขจริง เพราะฉะนั้นการหาความสุขของคนสมัยเนี้ยจำนวนมาก เป็นเพียงการกลบทุกข์เท่านั้น มันก็แล้วต้องมันไม่ได้ทำให้แก้ปัญหาทุกข์ กลบทุกข์ ทุกข์มันก็เป็นเพียงว่าถูกบังไว้ชั่วคราว แล้วมันก็ฟื้นขึ้นมาอีก แล้วมันก็จะหนักขึ้นไปอีก มันก็เป็นวงจรร้ายที่มันไม่รู้จักจบสิ้น แล้วจะทำไง
เนี่ย เพราะฉะนั้นอารยธรรมมันเดินผิดมาทั้งกระบวนเลยนะ ถ้าว่าไปแล้วเนี่ย ก็จะต้องมาทบทวนกันว่าอะไรเป็นที่แท้ อันนั้นทางพุทธศาสนาบอกต้องถึงธรรมะ ถ้าไม่ถึงธรรมะแล้วระบบสังคมเนี่ยมันจะไปไม่รอด เพราะมันจับจุดไม่ถูก ระบบสังคมทั้งหมดก็คืออยู่ในคำว่าวินัย การจัดตั้ง วางระบบ ระเบียบ กติกา อะไรต่ออะไรทางสังคม อะไรครับ
ผู้ถาม : เรียนท่านเจ้าคุณอาจารย์ครับ คือผมมองว่าสังคมปัจจุบันเราเนี่ย เราเองก็มีกฎหมายซึ่งเดิมทีเนี่ย ผู้ที่บัญญัติกฎหมายนี้ออกมาก็คงมีเจตนาที่ต้องการให้สังคมอยู่สงบสุข ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายด้านต่างๆ แต่ว่าสังคมทุกวันนี้เนี่ย ก็ถูกสื่อชักนำเข้าไปสู่ทางที่เสื่อมลง อย่างงี้เนี่ย เรื่องกัลยาณมิตรเนี่ยจะมีส่วนสนับสนุนเกี่ยวข้องกับเรื่องวินัยบ้างหรือไม่ แล้วก็จะทำอย่างไรให้สื่อสมัยนี้เนี่ย ช่วยสนับสนุนสังคมวัฒนธรรมให้ดีขึ้น
ครับ ก็นี่แหละ คำถามของท่านท่านนี้เนี่ย ก็การมีกัลยาณมิตร หรือระบบกัลยาณมิตรนี่เป็นสาระสำคัญของวินัยเลยนะฮะ ก็คือเราจัดตั้งวางระบบสังคมอะไร ก็เพื่อให้มี ให้มนุษย์เนี่ยเกื้อกูลกัน เกื้อหนุนกัน ใช่มั้ยฮะ แล้วเราก็ให้มีมนุษย์ที่ได้มีการพัฒนามากกว่าเนี่ยมาเกื้อหนุนคนที่ยังพัฒนาน้อยกว่า นี้เราจะทำไงให้คนที่ได้พัฒนาดีกว่าแล้วมาเกื้อหนุนได้ ให้มาเป็นกัลยาณมิตร เวลานี้สังคมมันมีความซับซ้อนมาก เช่น ระบบธุรกิจที่มีผลประโยชน์เป็นจุดหมายใหญ่ มันก็จะเป็นตัวบังหมด เพราะว่ากิจการต่างๆก็มุ่งเพื่อผลประโยชน์
เอาอย่างง่ายๆ สื่อเนี่ย สื่อมวลชนเนี่ย แกก็รู้ว่าไอ้เรื่องอย่างเงี้ย ภาพอย่างงี้งี้ไม่ดี เป็นภัยต่อเยาวชน เป็นต้น แต่ว่าถ้าไม่ลงมันก็เสียผลประโยชน์ ตกลง ลงหรือไม่ลง ลง นะฮะ อันไหนชนะ ก็นี่ก็ง่ายๆใช่มั้ยฮะ ระบบสังคมที่ซับซ้อน กลายเป็นว่ามนุษย์ทั้งๆที่รู้ก็แก้ปัญหาไม่ได้ หรือปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม สิ่งแวดล้อมเสียหายเนี่ย อ้าว ก็รู้กันอยู่อย่างพวกวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมปัจจุบันเนี่ยรู้เลย ว่าการบริโภคมากก็จะทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้ร่อยหรอ แล้วก็การเสพบริโภคมาก จัดการไม่ดี ขยะมันมาก มลภาวะสูง ทั้งในการผลิต ทั้งในการบริโภค ทำให้เกิดมลภาวะทั้งนั้น เวลาผลิตอุตสาหกรรมก็มลภาวะ เวลาบริโภคเสร็จ ใช่มั้ย มลภาวะ ทิ้งขยะอะไรต่ออะไร มันจะท่วมโลก ก็รู้อยู่ ก็บอกว่าคนจะต้องมีความยับยั้งชั่งใจตน ในการที่จะเสพบริโภค เอาตามใจตัวเองไม่ได้แล้ว
แต่ทีนี้ไอ้แนวคิดปัจจุบันเนี่ย ส่วนใหญ่นะกระแสหลัก ก็คือถือว่าความสุขอยู่ที่การเสพบริโภคให้ได้มากที่สุด ปรนเปรอ ทีนี้ความสุขของเขาก็อยู่ที่การได้ปรนเปรอตัวเองได้สิ่งเสพบริโภค แล้วมาสอนว่าคุณจะต้องยับยั้ง มันก็คือการที่ขัดขวางเขาไม่ให้มีความสุขเต็มที่ ก็จึงต้องมี restrength ไง restrength ก็คือการควบคุมบังคับตัวเอง ยับยั้งชั่งใจ แต่มันก็คือการที่ตัวเองจะต้องลดละความสุข มันก็ฝืนใจ การฝืนใจนี่มันไม่ใช่จริยธรรมที่ดี ไม่ใช่จริยธรรมของการพัฒนามนุษย์ ก็คือแสดงว่ามนุษย์มันไม่ไปไหน มันก็มีไอ้ความโลภ ความต้องการ มีระดับการพัฒนาอยู่แค่นั้นน่ะ มันก็ต้องฝืนใจ
ทีนี้เมื่อฝืนใจ การที่เขาจะรักษาสิ่งแวดล้อมก็คือความทุกข์ ถูกมั้ยฮะ การที่จะ เขาจะมีความสุขก็คือการที่สิ่งแวดล้อมจะต้องพินาศ การที่เขาจะให้ธรรมชาติแวดล้อมอยู่ดีก็คือเขาจะต้องอยู่ทุกข์ เออ จะเลือกอันไหนล่ะ อ้า มันก็ต้องกลายเป็นทางเลือกที่เขาเรียกว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก มันเสียทั้งสองทาง เพราะฉะนั้นไม่เลยไม่ค่อยสำเร็จ คนแต่ละคนมันก็ฝืนใจ จำนวนมาก และยิ่งคนที่ไม่ได้เห็นภัยชัดเจน
บางประเทศก็ไม่ค่อยมากระตุ้นกันให้รู้ตระหนักภัย ก็ยิ่งไม่เอาใจใส่ และยิ่งมีไอ้เรื่องของความซับซ้อนในเรื่องระบบผลประโยชน์อีก อย่างประเทศใหญ่แกก็อาจจะ แกรู้อยู่ว่า ถ้าแกทำให้คนบริโภคมากก็จะเกิดมลภาวะ มีขยะ มีอะไรต่ออะไร ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ถ้า แต่ถ้าแกไม่หัดแสวงหาผลประโยชน์ธุรกิจมาก แกก็ดำรงรักษาอำนาจไว้ไม่ได้ เออ ใช่มั้ย เพราะว่าไอ้อำนาจมันอยู่ด้วยผลประโยชน์ ใช่มั้ย เสร็จแล้วทำไง เลือกอันไหน ไหนฮะ
ผู้ถาม : ผมอ่าน ในปัจจุบัน อย่างประเทศไทยเรานี่ครับ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมีมากมาย แล้วเราควรจะวางตัวการแก้ไข เอ่อ แนวทางการแก้ไขควรเป็นไปในทางใด เดี๋ยวนี้อารยธรรมมันถูกผลประโยชน์เนี่ย มันบดบังกันอย่างงี้นะครับ เราควรจะมีแนวทาง วางแนวทางในฐานะประชาชน ที่ไม่ใช่ผู้
ไม่ใช่ผู้จัดระเบียบสังคม
ผู้ถาม : ครับ แต่เราเป็นเพียงประชาชน เราจะมีแนวทางยังไง
ก็นี่แหละ พื้นฐานก็คือการศึกษา การศึกษานั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการศึกษาในระบบ ใช่มั้ยฮะ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียน การศึกษาในครอบครัว การศึกษาในชีวิตประจำวัน ในหมู่ผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน และก็พระสงฆ์ ในครอบครัวนี่สำคัญมาก เพราะฉะนั้น จะต้องเน้น นะฮะ เรื่องครอบครัว ทำไงจะให้พ่อแม่นี่เป็นพ่อแม่ที่มีปัญญา แล้วรู้เท่าทันสังคม รู้เท่าทันชีวิต แล้วก็เนี่ยมาปฏิบัติเรื่องนี้ให้ถูกต้อง แล้วก็จะดีขึ้นมาจากพื้นฐาน แล้วพระสงฆ์เองก็ต้องปฏิบัติให้ถูก
นี้พระสงฆ์ตอนนี้ก็ไม่รู้หน้าที่ของตัวเองเหมือนกัน นะฮะ ก็ต้องยอมรับ เวลานี้เราจึงมีปัญหามาก ฝ่ายปัญหานี่มันพะเนินเหลือเกินนะฮะ กองพะเนินเลย คือ ปัญหาไอ้ฝ่ายที่กำลังสร้างใหม่ของยุคสมัยที่มันเป็นตัวปัญหาโดยตรง กับปัญหาของฝ่ายผู้ที่ควรจะเป็นผู้แก้ปัญหา นะฮะ ตัวผู้ที่จะแก้ปัญหาเนี่ย มันกลายเป็นตัวปัญหาไปเองด้วย นะฮะ เวลาเนี้ยมันก็เลยซ้ำเติมซึ่งกันและกัน
เวลานี้พระถ้าทำไม่ดี พระก็กลายเป็นผู้ที่ไปซ้ำเติมสังคม นะก็กลายเป็นเข้าสู่ระบบผลประโยชน์ธุรกิจอะไรไป ก็ไปสนองหรือไปหนุนระบบไอ้การหาผลประโยชน์ แล้วก็เวลานี้มันก็เป็นอย่างงั้น เพราะว่าพระนี่แม้แต่ความหมายของพระคืออะไรเนี่ย ลองไปถามว่าพระไม่รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร สมัยหนึ่ง พระก็นึกถึงตัวเอง งั้นท่านเรียกว่าเป็นปฏิคาหก เคยได้ยินมั้ย คำว่าปฏิคาหก ปฏิคาหกแปลว่าผู้รับ โยมก็เป็นทายกนะฮะ ทายกเคยได้ยินมั้ย ทายกก็แปลว่าผู้ให้ ผู้ถวาย อ่า ทายกก็คู่กับปฏิคาหก ก็เมื่อโยมเป็นทายก พระก็เป็นปฏิคาหก พระก็เป็นผู้รับไง โยมมาถวาย พระก็ปฏิคาหกใช่มั้ย ก็รับ รับแล้วก็ให้พร ก็จบ
นี้พระก็ไปถึงขั้นที่ว่ามองว่าตัวเองเป็นปฏิคาหก ก็คือผู้รับของถวาย อา บทบาทของพระมีเท่านี้จบ ก็หมดเท่านั้นเองใช่มั้ย พระก็รอ ทีนี้ ประกอบกับไอ้บทบาทในการเป็นปฏิคาหก ผู้รับ ก็คือพิธีกรรม ในการเป็นปฏิคาหกก็มีพิธีกรรมต่างๆ พระก็เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม แล้วก็เป็นปฏิคาหก อา หน้าที่ประกอบพิธีกรรมเสร็จ โยมก็ถวายอะไรมา แล้วก็เป็นปฏิคาหกอนุโมทนา ให้พร จบ
แล้วถ้าเราถามกันปั๊บ เราตอบได้ ไม่ได้ หน้าที่บทบาทของพระที่แท้คืออะไร ท่านต้องคิดนะครับ และจะต้องเตือนกันให้ตระหนักเลย เรื่องนี้เวลานี้ต้องรื้อฟื้นกันให้ได้ ไม่งั้นตาย ต้องขออภัยใช้คำว่าตาย มันจะจบน่ะ พินาศกัน ท่านมีอะไรครับ
ผู้ถาม : อาจารย์ครับ มอง ถ้าจะมองกลับมาว่า ระบบการควบคุมดูแล ระบบจริยธรรม ศาสนาของเราเนี่ย คือ เสื่อมลง หรือไม่ครับ เมื่อย้อนกลับมามอง เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเมืองและระบบสังคมแล้ว วันนี้ระบบศาสนาของเราเนี่ย ก็ยังมีพระน้ำไม่ดีเข้ามาในศาสนา
มองได้ทั้งสองอย่าง คือ พระเนี่ยในแง่ที่เป็นบวก ก็คือเป็นผู้ที่จะนำทางสังคมชี้แนะให้ไปสู่ทางที่ถูกต้อง ให้พัฒนาดีขึ้น อันนี้ในแง่หนึ่งนะ เป็นผู้กระทำต่อสังคมในเชิงที่จะช่วยเกื้อหนุนการพัฒนานำทางเขา และก็หน้าที่ของพระมีบทบาทอยู่แล้ว หนึ่ง ห้ามปรามคนจากความชั่ว นี้หน้าที่ที่หนึ่ง นะฮะ สอง สั่งสอนอบรมให้ตั้งอยู่ในความดี นะฮะ นี่นี่หน้าที่ของพระ สองแล้วนะ แล้วสามอะไรต่อไปยังไม่ต้องพูดล่ะ ก็ได้แค่สองข้อต้นนี่ก็ดีถมไปแล้ว อันนี้หน้าที่หลัก ถ้าทำหน้าที่นี้ก็คือบทบาทเป็นฝ่ายบวก
แต่ทีนี้อีกด้านหนึ่งพระนี่ก็เป็นผลของสังคม ใช่มั้ย ก็หมายความว่า พระสงฆ์นี้ก็เกิดจากสังคมนี่เอง คนที่มาบวชนี่ก็มาจากสังคม เมื่อสังคมเสื่อมโทรมลงไป คนมีคุณภาพเสื่อมอะไรต่างๆ คนเหล่านี้แหละก็มาบวช ใช่มั้ยฮะ เพราะฉะนั้น สถาบันสงฆ์ก็ต้องรับผลจากสังคมไป นี้ถ้าหากว่า ตัวเองไม่เก่งจริง ไม่มีความตระหนักรู้ สติไม่ทัน ใช่มั้ย แล้วไม่รีบจัดการอย่างเท่าทันกับสถานการณ์ มันก็รับมือไม่อยู่ ตัวเองก็กลายเป็นผู้เสื่อม
เมื่อเสื่อมคุณภาพลง ก็ไม่สามารถทำบทบาทฝ่ายบวกที่จะไปนำทางสังคมได้ ถูกมั้ย ก็ยิ่งเสื่อมทรุด แล้วยิ่งถ้าหากว่าตัวเองไม่มีความรู้ ก็ตัวสำคัญก็คือไม่มีการศึกษา เมื่อไม่มีการศึกษา ไม่รู้บทบาทที่แท้ ทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็กลับไปชักจูงประชาชนในทางไขว้เขวเสียหาย เช่น ไปทำให้เขา ให้หวยเขา หรือว่าแนะนำให้เขาบนบานศาลกล่าวอะไรอย่างเงี้ย หวังผลจากการดลบันดาล ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ใช่มั้ยฮะ มันก็ไปหนุนไอ้กระบวนการ หรือวงจรฝ่ายร้ายไป
เราก็ต้องมองทั้งสองด้านเนี่ย เพราะฉธนั้นเราก็เลยต้องมีไอ้การที่ว่า ต้องมีหลักก็คือ พระเนี่ยจึงมีหลักว่าต้องมีการศึกษาตลอดเวลา ทีนี้เวลานี้ก็คือ การศึกษาของพระเนี่ยมันเสื่อมแทบหมดแล้ว อย่างพวกผู้ที่บวชเข้ามาเนี่ย ไม่มีการศึกษาเลย ไม่ได้เล่าเรียนเลย ใช่มั้ยฮะ มันก็หมดซะซี่ ตัวไอ้การที่จะพัฒนาตัวพระเองมันไม่มี จบเลย และก็เมื่อพระไม่มีการศึกษา ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่มีความรู้แม้แต่ขั้นข้อมูลในเรื่องหลักพระศาสนาว่าพระพุทธเจ้าสอนไว้ยังไงอะไรอย่างเงี้ย ก็หันกลับมาที่บทบาทของพระเนี่ย บทบาทของพระก็แปลว่าตอนนี้ ตอนนี้พระเองก็ไม่ค่อยรู้ ประชาชนก็ไม่เข้าใจ ความจริงหน้าที่ของพระต่อสังคมก็คืออะไร
ในพระสูตรหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็ง่ายๆเลยนะฮะ ชาวบ้านเนี่ยเขาเห็นคุณค่าของพระ ว่าเป็นผู้ดำรงธรรมะไว้ให้แก่สังคม เป็นเครื่องจรรโลงจิตใจของสังคมไว้อะไรเนี่ยนะฮะ เขาก็บำรุงถวายอามิสปัจจัยสี่ นี้พระก็มีหน้าที่ก็คือ เอาธรรมะเนี่ยมาให้แก่ประชาชน ทีนี้บทบาทของประชาชนในการที่มาบำรุงพระ เรียกว่า ถวายวัตถุ สิ่งของ ปัจจัยสี่เนี่ย ศัพท์พระพุทธเจ้า เขาเรียกว่า อามิสทาน คือ ถวายวัตถุนั่นเอง อามิสเนี่ยแปลว่าวัตถุ นี้บทบาทของพระ หน้าที่ของพระ ก็คือ ธรรมทาน ให้ธรรม คู่กัน มีพระสูตรหนึ่งที่ตรัสไว้ว่า ทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่ต่อกัน อุโภ อญฺโญญฺญนิสฺสิตา ทั้งสองฝ่ายอาศัยซึ่งกันและกันก็จะพากันข้ามทุกข์ได้ ว่างั้นนะฮะ
แต่ทีนี้ถ้ามันไม่ทำหน้าที่ต่อกันอย่างงี้มันก็ไม่รู้จะข้ามทุกข์ไปได้ยังไง ก็เป็นอันว่า บทบาทพื้นฐานของพระก็คือธรรมทาน เป็นผู้ให้ธรรม ก็ให้ธรรม ก็เคยบอกไว้ว่า พระให้ธรรมโดยพูดกับโดยไม่ต้องพูด พระให้ธรรมโดยพูดก็คือว่ามาแนะนำสั่งสอนบอกกล่าว มาบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้เล่าเรียนสดับฟังไว้ ทีนี้ให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด ก็คือยังไง ก็คือพระเนี่ยเป็นผู้ที่ได้ฝึกอบรมขัดเกลาอย่างดีแล้ว ทำไมพุทธศาสนาเนี่ยสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น แล้วทำไมมากวดขันกันนักเรื่องวินัย นะ ห่มผ้าก็ต้องให้เรียบร้อย สะอาดหมดจด เอ่อ ฉันไม่ยึดมั่นถือมั่น ฉันจะแต่สกปรกไงก็ได้ ห่มรุ่มร่ามยังไงก็ได้ใช่มั้ย บางคนก็ไปนึกว่าอย่างงั้น ไม่ใช่ ไม่ยึดมั่นก็คือตัวเองมันไม่มีผลประโยชน์ที่จะต้องมายึดแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไปมองว่า เออ เราเนี่ยไม่ต้องเอาอะไร ก็มองว่าเพื่อประโยชน์สุขกับประชาชน
อันนี้ วินัยนี่ท่านวางไว้เพื่อขัดเกลาตัวเองด้วย เพื่อความดีงามของสงฆ์ เพื่อความดีงามประชาชน ทำไงพระจะปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขกับประชาชน ตั้งแต่จิตใจ พอเขาเห็นพระก็ให้ชื่นใจ เริ่มตั้งแต่เห็นพระเนี่ย หนึ่ง หลักการเดิมคือไม่มีภัย โบราณจะมีหลักอย่างงี้เลยนะฮะ ก็แต่นี้คือของพระศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ มาฆบูชาไง นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต นะ ทำร้ายคนอื่นไม่เป็นสมณะ เนี่ย อันนี้เป็นหลักการพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาก็เลยเป็นศาสนาที่เผยแพร่ความไม่มีภัย ความเป็นสันติ อหิงสา เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นหลักมาแต่โบราณว่า ถ้าเห็นพระปั๊บเนี่ย ใจสบายเลย ไม่มีภัยอันตรายแล้ว
ทีนี้ต่อไปก็ จิตเขาผ่องใส คือเห็นพระแล้วเนี่ย จิตใจก็นึกถึงแต่ความดี นะฮะ นึกถึงวัด นึกถึงพระศาสนา นึกถึงธรรมะ นึกถึงสิ่งที่ดีงาม ก็โน้มนำจิตใจไปในทางสดชื่นเบิกบาน ท่านเรียกว่า ใช้คำว่า ปสาทะ คือ ทำให้เขามีจิตใจผ่องใส พอจิตใจผ่องใสเขาก็มีธรรมะแล้ว พระไม่ต้องพูดอะไรเขาก็ได้ธรรมะแล้ว ใช่มั้ย นี่ให้ธรรมะโดยไม่ต้องพูด ที่เรามีพิธีกรรมอะไรต่ออะไร ท่านเน้นเรื่องการเป็นระเบียบ ความงดงาม ต่างๆเนี้ย ก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนว่า พระปรากฎกายขึ้นที่ไหนเนี่ย ให้ประชาชนแช่มชื่นจิตใจ มีปสาทะ ความผ่องใส มีความสุข มีปีติ เอิบอิ่มใจ พระเดินบิณฑบาต เห็นป๊าบนี่โยมก็แหมสบายใจ อิ่มใจ ปลื้มใจ ต้องอย่างงั้น นะฮะ ก็เป็นหลักมาแต่โบราณ เคยพูดบ่อยๆว่า สมัยโบราณเนี่ย พอเช้าพระก็เดินเป็นแถว นะฮะ สมัยโบราณก็อย่างเราก็ยังรักษาระบบโบราณ ถ้าในกรุงเทพเขารักษาไม่ได้แล้ว เวลาไปบิณฑบาตก็เป็นองค์ๆไป
อันนี้โบราณเนี่ย วัดก็อยู่ในชนบท โดยมากชุมชนก็เป็นหมู่บ้าน นะฮะ แล้วก็เป็นการเกษตร ปลูกพืชไร่ ทำนา โดยมากทำนา เช้าพระก็มาจากวัดก็เดินตัดท้องทุ่งมา ตัดทุ่งนามา และก็ฟ้าสีทอง พระอาทิตย์ขึ้นใหม่ๆ รุ่งอรุณมาใหม่ๆ ใช่มั้ยฮะ ฟ้ากำลงสดใส แดดอ่อนๆ นะฮะ สีพระอาทิตย์ แสงแดดมันจับจีวรพระอะไรต่างๆ แล้วเดินเป็นแถว สงบ สำรวมมาเนี่ย มันทำให้จิตใจประชาชนเนี่ยแช่มชื่นมาก มีความสุข เห็นแล้วก็ แหม ชื่นใจ เรียกว่า รับวันใหม่ด้วยสิริมงคล จิตใจก็เป็นบุญเป็นกุศล เป็นอย่างเงี้ย เพราะฉะนั้นก็จึงเป็นวัฒนธรรมที่ยั่งยืนมา
นี้เวลานี้อะไรทุกอย่าง มันวุ่นวาย มันสับสน มันเร่งร้อนไปหมด ดีไม่ดีพระเราพลอยเร่งร้อนรับบิณฑบาตไปด้วย ใช่มั้ย อ้า พอเร่งร้อนมันก็ไม่เกิดไอ้ความประทับใจที่จิตใจจะแช่มชื่นเบิกบาน อันนั้น เรื่องวัฒนธรรมอะไรต่ออะไรมันก็มาจากพื้นฐานของเรื่องเนี้ย นะฮะ ที่ว่าทำไงจะให้เกิดความดีงามแก่ชีวิตจิตของมนุษย์ นะฮะ แล้วก็วางเป็นระเบียบโดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง แล้วการที่ทำให้จิตใจเบิกบานผ่องใสเนี่ย พุทธศาสนาถือสำคัญมาก
ทำไมจึงบอกพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความสุข เพราะว่าพอเชิงปฏิบัติแล้วมันเป็นเรื่องความสุขหมดเลย พอทุกข์นั้นเป็นเรื่องสำหรับรู้ไง บอกแล้วนี่ ใช่มั้ย เป็นเรื่องสำหรับรู้ ถ้าท่านไม่รู้เรื่องทุกข์แล้วท่านแก้ปัญหาไม่ได้ แต่พอปฏิบัติ เช่นอย่าง อ้าว ปาโมชฺชพหุโลภิกฺขุ ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ ก็ ภิกษุผู้มากด้วยปราโมช จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป ก็คือจะบรรลุนิพพาน เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบรรลุนิพพานนั้น ถ้าจิตใจมัวหมอง หดหู่ ไม่มีทางหรอกท่าน ภิกษุที่จะบรรลุนิพพานเนี่ยเป็นผู้มากด้วยปราโมช ปราโมชคืออะไร ภาวะจิตที่ร่าเริงเบิกบาน นะฮะ ปราโมช
สภาพจิต 5 อย่างนี้พระพุทธเจ้าจะเน้นแล้วก็ไว้บอกเลย ปฏิบัติธรรมไปเนี่ย ท่านเจริญสมาธิอะไร จะเห็นเลยความก้าวหน้าจะมี 5 อย่าง หนึ่ง มีปราโมช ความร่าเริงเบิกบานใจ หรือแช่มชื่นใจ สอง ปีติ ความปลื้มใจอิ่มใจ สาม ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเย็น เรียบสงบ และก็สุข สุฃก็คือความฉ่ำชื่นรื่นใจไม่มีอะไรบีบคั้นติดข้อง แล้วก็สมาธิ จิตใจที่อยู่ตัว นะฮะ ตั้งมั่น เข้าที่ 5 อย่างนี้เป็นสภาพจิตที่แสดงถึงการที่ปฏิบัติก้าวหน้า ไม่ใช่ไปดูคนจับเจ่า หดหู่ เพราะนึกว่าผู้ปฏิบัติธรรม ต้องระวัง นะฮะ คือบางทีคนปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมเพราะเขามีปัญหา แล้วเราก็ไปเห็นเขา เขากำลังปฏิบัติ เขาก็คือแก้ปัญหา แล้วก็ดีไม่ดีถ้าไม่เข้าใจก็ปฏิบัติผิดทาง เพราะฉะนั้นจิตต้องเตือนกันอยู่เสมอ หลักปฏิบัติ ก็จำไว้เลยว่าหลักสำคัญเนี่ย 5 อย่างเนี่ยพยายามให้มีในใจ นะฮะ ปราโมช ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ แล้วก็เอาสติมาเตือนตัวเองไว้ ว่าใจเราจะหดหู่ จะร้อนรนกระวนกระวาย ก็เตือนว่า ไม่ได้ ไม่ได้ ผิดแล้วนะ และต้องทำใจให้ดี
ก็ไอ้ฝ่ายนี้มันจะทำให้จิตใจเนี่ยมันพร้อมแก่การพัฒนา นะฮะ สภาพจิตแบบเนี่ย มันกระปรี้กระเปร่าชื่นบาน มันพร้อมที่จะใช้งาน ทำไมท่านเรียกฝ่ายหดหู่ เซื่องซึม เหงา ท้อแท้ เป็นอกุศล ท่านเรียกว่าเป็นกิเลส อา ทำไมพวกนี้เป็นกิเลสด้วย เราได้ยินโลภ โกรธ หลง เป็นกิเลส ใช่มั้ยฮะ เราได้ยินบ่อย แต่พวกนี้เราไม่ได้ยิน เป็นกิเลส ถ้าใช้สำนวนจะบอก กดทับจิต ปิดบังปัญญา ว่างั้น ความหดหู่ท้อแท้กดทับจิต ปิดบังปัญญาจริงมั้ย นะฮะ จริงมั้ย จริง ใช่มั้ย มันไม่เกื้อต่อการพัฒนา เพราะฉะนั้นมันก็เป็นอกุศล นี้คนเรามันต้องพัฒนาจิตใจให้ดีขึ้น พัฒนาปัญญา มันก็ต้องสร้างสภาพจิตให้มันเอื้อ อย่างที่ว่า จิตนี้กระปรี้กระเปร่า จิตนี้พร้อม จิตที่โปร่งโล่ง มันก็พร้อมที่จะพัฒนาไปได้
ตกลงว่า ณ วันนี้ก็คือมาโยงเรื่องภายในชีวิตจิตใจของคน กับด้านสังคมว่าทำไง มองในทางกลับกันก็คือ ทำไงจะให้เราจัดระบบสังคมให้ดี ให้เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของคนได้ ซึ่งอันนี้ก็คือ ที่จริงก็คือ เป้าหมายที่แท้เลย เพราะว่าคนแต่ละคนต้องมีชีวิตของเขาอยู่ แล้วเขาก็ตายจากสังคมนี้ไป แล้วจะจัดสังคมกันยังไงๆ ประโยชน์คน ชีวิตเขาไก็เกิดมาแล้วก็ไม่ได้อะไรไปเลย เกิดมาแล้วก็ไม่ได้พัฒนา ไม่ได้ประสบสิ่งที่ดีเลิศประเสริฐในชีวิตเลย ก็หมดความหมายสิ ใช่มั้ยฮะ สังคมนั้นอาจจะบอกว่าแหมเจริญนักหนา ไปโลกพระจันทร์ พระเจินได้ ชีวิตคนเกิดมาก็ตายไปๆ ไม่ได้เริ่มสักคน
ก็จวนเวลาแล้วนะฮะ อ้าว ถ้าอย่างงั้นก็ ก็ฝากเรื่องธรรมะกับวินัยไปช่วยกันพิจารณา เพราะเป็นหลักการใหญ่ของพุทธศาสนาเลยนะ ชื่อของพุทธศาสนาเรียกสั้นที่สุด คือ ธรรมวินัย คำว่า พุทธศาสนา นี่เป็นชื่อเรียกทีหลัง นะฮะ แล้วเป็นชื่อเรียกแบบได้แง่หนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเป็นระบบก็คือธรรมวินัย พุทธศาสนาเป็นเพียงคำสอน แต่คำว่า ธรรมวินัยนี่คือระบบเลย พระพุทธศาสนานี่เป็นระบบนะฮะ ก็คือความสัมพันธ์ ท่านจะต้องไปเข้าใจว่า ธรรมะคืออะไร วินัยคืออะไร และธรรมะกับวินัยสัมพันธ์กันอย่างไร มันเป็นระบบของพุทธศาสนา ตีเรื่องนี้ให้แตก แล้วมันก็โยงมาหาเรื่องของชีวิต สังคม อะไรต่างๆ ถ้าไม่มี ก็ วันนี้ก็เอาเท่านี้ก่อน เดี๋ยวค่อยนัดกันใหม่