แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[00:00:01] ความกตัญญูกตเวทีและการบูชาบุคคลที่ควรบูชา
การทำบุญบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ก็เป็นการปฏิบัติตามหลักธรรม คือความกตัญญูกตเวที แสดงว่าเจ้าภาพทุกท่านมีความระลึกถึงอุปการคุณของท่านอาจารย์ป๋วย แล้วพร้อมกันนั้นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นการปฏิบัติตามหลัก ปูชา จ ปูชนียานํ คือการบูชาบุคคลที่ควรบูชา หรือถ้าจะทับศัพท์ก็แปลว่าการบูชาปูชนียบุคคล สองอย่างนั้นก็มีความสำคัญด้วยกันทั้งคู่
แต่มีข้อที่ต่างกันอยู่ในตัวระหว่างธรรมะสองอย่างนี้ ความกตัญญูกตเวทีนั้น เน้นที่ตัวเรา ผู้ได้รับผลแห่งความดีของท่าน ว่าท่านได้เคยทำประโยชน์อะไรให้แก่เราโดยส่วนตัวบ้าง โดยที่เรามีสังกัดหรือเป็นส่วนร่วมอยู่ในสถาบันบ้าง หรือแม้แต่ในสังคมนี้ เราได้รับผลดีนั้น เราแสดงออก ระลึกถึงคุณ และพยายามประกาศให้ปรากฏ เป็นการตอบแทนน้ำใจของท่าน อันนี้ก็เรียกว่าเป็นความกตัญญูกตเวที ส่วนเรื่องการบูชาปูชนียบุคคลนั้น จุดเน้นอยู่ที่ตัวท่านเอง คือเรามองที่ความดีที่ท่านมีอยู่ ที่ท่านได้กระทำ ซึ่งทำให้ตัวท่านเป็นผู้มีคุณสมบัติดีงาม น่าเคารพน่าบูชา เราระลึกถึงคุณความดีของท่าน ประโยชน์ที่ท่านได้บำเพ็ญ ซึ่งเป็นคุณสมบัติในตัวท่านอันนี้ รวมทั้งคุณสมบัติอื่นอีกมากมาย เช่นความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น อันจะเป็นแบบอย่างแก่สังคม แก่อนุชนสืบต่อไป เราก็จึงได้มาแสดงออกเป็นการบูชา
การบูชานั้นที่จริงในภาษาบาลีก็ตรงกันกับคำไทยง่าย ๆ ว่ายกย่อง นั่นเอง คือในภาษาไทยเนี่ย เรานึกว่าบูชาเนี่ย เหมือนอย่างกับว่าเอาไปขึ้นหิ้ง หรือขึ้นแท่นบูชาแล้วก็กราบกันอย่างงั้น แต่ว่าคำภาษาบาลี คำว่าบูชานั้นความหมายกว้าง ยกย่องคนที่เขามีคุณความดีสมควรแก่ฐานะนั้น ๆ เราก็เรียกว่าบูชา ใครทำความดี ไม่ว่าเขาจะมีฐานะมีตำแหน่งอะไรหรือไม่ เราให้เกียรติที่สมควรแก่เขา เราก็เรียกว่าบูชา อาตมาภาพขอยกตัวอย่าง เช่นว่าในสมัยก่อนพุทธกาลอีก มีเรื่องในชาดกมาเล่าถึงว่า มีนายคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นคนยากจน แล้วเขาขยันหมั่นเพียร สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยความสุจริต เป็นหลักเป็นฐานขึ้นมา มีเงินทองมาก สำนวนภาษาบาลีบอกว่าพระราชาก็ทรงบูชานายคนนั้นด้วยตำแหน่งเศรษฐี นี่คือการบูชา บูชาก็คือการยกย่อง ให้เกียรติที่สมควร ฉะนั้น ภาษาไทยนี่บางทีเราใช้กัน ก็ความหมายก็แคบลงไป ๆ ทีนี้การบูชาคนที่ควรบูชาเนี่ย เป็นสิ่งที่ควรจะได้นำมาย้ำกันมากเป็นพิเศษในยุคนี้ เพราะการที่เราบูชาคนควรบูชา คนที่ควรบูชานั้นก็คือคนที่มีธรรมะ ถ้าพูดสั้น ๆ เราจะบอกว่าท่านเป็นคนมีคุณธรรม มีความดี เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต อะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราจะพูดให้สั้นที่สุดก็คือว่า ท่านมีธรรมะ
[00:04:37] บูชาคนที่มีธรรมะคือบูชาธรรมะ
ทีนี้เมื่อเราบูชาคนที่มีธรรมะเนี่ย ก็หมายความว่าเราบูชาตัวธรรมะนั้นด้วย ธรรมะนั้นมาแสดงออกที่ตัวบุคคล กลายเป็นว่าคนนั้นน่ะเป็นที่ตั้งเป็นที่รองรับของธรรมะ เป็นสื่อ เป็นที่แสดงออกของธรรมะ เราต้องการจะบูชาธรรมะ เราก็บูชาคนที่มีธรรมะ หรือคนที่เป็นสื่อแสดงออกของธรรมะ ทีนี้ธรรมะนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะดำรงรักษาสังคมมนุษย์ ถ้าสังคมมนุษย์ไม่ยกย่องเทิดทูนธรรมะ ไม่ยกย่องความจริง ความถูกต้อง ความดีความงามซะแล้ว สังคมนั้นเองก็จะวิปลาส ในที่สุดก็จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นสังคมที่ดีจะต้องเชิดชูธรรมะ แต่จะเชิดชูธรรมะได้อย่างไร ธรรมะนั้นก็ต้องมีที่แสดงออก ที่มาแสดงออกที่ตัวคน คนไหนมีธรรมะเราก็ไปชวนกัน ยกย่อง ให้เกียรติ เพื่อจะส่งเสริมให้การปฏิบัติธรรม หรือการมีธรรมะนั้นได้ขยายกว้างขวางออกไป ในทางพระพุทธศาสนานี่คือยกย่องสรรเสริญและย้ำความสำคัญนัก เรื่องการบูชาคนที่ควรบูชา บางทีเราพูดกันเรื่องนี้ ทางฝ่ายธรรมะหรือทางฝ่ายพระพูดไป บางทีก็มองข้ามกันไปเสีย คือคล้าย ๆ ว่าไม่ค่อยเห็นความสำคัญ เห็นเป็นเรื่องหลักธรรม ก็ธรรมะข้อหนึ่ง แต่ที่จริงสังคมยุคเนี้ย ควรจะให้ความสำคัญมาก ก็เลยขอย้ำ
พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ คนสมัยก่อนพุทธกาลเนี่ย เขานิยมบูชาด้วยการบวงสรวงเซ่นไหว้ อย่างที่เราเห็นคำว่าบูชายัญเนี่ย ถึงได้บูชายัญ บูชายัญนั้นคือยังไง ก็คือว่า เอาใจเทพเจ้า เอาทรัพย์สินสิ่งของแม้แต่ชีวิต เช่น วัว แพะ แกะเนี่ย จำนวนมากมาย มีพิธีบูชายัญ พิธีใหญ่ก็ยิ่งต้องใช้ชีวิตจำนวนมาก แม้แต่กระทั่งบางทีเอาชีวิตคนเนี่ยมาสังเวย มาบูชาเทพเจ้า อย่างน้อยเขาก็มีการบูชาไฟ ต้องรักษาไฟไว้ไม่ให้ดับเลยในบ้าน เพื่อจะได้ไว้บูชาเทพเจ้า เขาบูชาเทพเจ้าด้วยความหวังอะไร ด้วยความหวังโชคลาภ ช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัย ช่วยให้สิ่งที่ปรารถนาแก่ตนเอง ก็คือว่า โดยย่อก็คือว่า หนึ่ง ช่วยให้พ้นภัยอันตราย สอง ช่วยบันดาลสิ่งที่ปรารถนา คนเราก็มีสองอย่างเนี่ย ก็เที่ยวกราบไหว้ เซ่นสรวงบูชา อ้อนวอนเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีฤทธานุภาพเหนือธรรมชาติ แต่ว่าพิจารณาดู การบูชานั้น วัตถุประสงค์จะอยู่ที่สนองความต้องการของตัวเอง เราอยากพ้นภัยใช่มั้ย แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าอยากได้สิ่งที่ปรารถนา ก็ไปบูชาเทพเจ้า จุดนั้นไปอยู่ที่ความปรารถนาของตนเอง
[00:08:22] จากเทพสูงสุดมาเป็นธรรมสูงสุด
พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้เราเห็นชัด ก็คือ ทรงชักชวนให้เลิกบูชายัญ ไม่ให้ไปหวังผลจากการอ้อนวอนเทพเจ้ามาบันดาล พระองค์ก็ย้ายหลักจากหลักเทพเป็นใหญ่มาเป็นธรรมเป็นใหญ่ ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้ว [00:08:46] หลักพระพุทธศาสนา จุดสำคัญที่สุดคือว่า ย้ายจากเทพสูงสุดมาเป็นธรรมสูงสุด พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เลิกนับถือเทพหรอก แต่ว่าให้เปลี่ยนฐานะ เปลี่ยนความสัมพันธ์กับมนุษย์ แต่ก่อนนี้มนุษย์ถือว่าเทพเนี่ยสูงสุด เทพบันดาลทุกอย่าง เช่น พระพรหมเป็นต้น เนี่ยเป็นเทพสูงสุด พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็สอนใหม่ บอกว่า อย่ามัวไปมองที่เทพเลย ในธรรมชาติเนี่ยมันมีความจริงของมัน ซึ่งเป็นไปตามธรรมดา เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ท่านเรียกง่าย ๆ ว่าธรรม ซึ่งเราแปลว่ากฎธรรมชาติบ้าง อะไรบ้างเนี่ย เนี้ย ไอ้ตัวนี้สิสำคัญ ความเป็นจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาหรือธรรมนี่แหละ เวลาเราต้องการอะไรเราก็ต้องดูเหตุปัจจัยแล้วก็ทำเหตุปัจจัย จะทำเหตุปัจจัยได้ก็ต้องศึกษาเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง แล้วก็ทำตามเหตุปัจจัยนั้น ผลสำเร็จก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ธรรมะคือความจริงของเหตุปัจจัยหรือกฎธรรมชาตินี่แหละ จะใช้คำเป็นบุคลาธิษฐานว่าบันดาลก็ต้องดูที่นี่ ไม่ใช่ว่าเทพเจ้ามาบันดาลตามที่พระองค์โปรดปราน พระพุทธเจ้าก็เลยย้ายจากเทพเป็นใหญ่ หรือเทพสูงสุด มาเป็นธรรมสูงสุด บอกว่าเทพก็ต้องอยู่ใต้ธรรมะ อยู่ใต้ความจริงของกฎธรรมชาตินี้ ก็ให้ชาวพุทธน่ะมาสนใจเรื่องธรรมะแทน ก็เอาธรรมะความจริง ความถูกต้อง ที่มีอยู่ในธรรมดาของธรรมชาติเนี่ยเป็นใหญ่ เนี่ยจุดสำคัญของพุทธศาสนา
เมื่อให้ถือธรรมเป็นใหญ่แล้ว มนุษย์ก็จะต้องพยายามศึกษา โดยเฉพาะก็คือพัฒนาปัญญาของตนให้รู้เข้าใจตัวธรรมะคือความจริงของกฎธรรมชาติ แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริงของกฎธรรมชาตินั้น เช่น ตามเหตุปัจจัย เป็นต้น เมื่อต้องการผลก็ต้องทำที่เหตุปัจจัย จะทำเหตุปัจจัยได้ถูกต้องก็ต้องศึกษาให้เกิดปัญญารู้เหตุปัจจัยนั้น ก็เลยต้องให้มีความเพียรพยายาม แล้วให้หวังผลสำเร็จจากการกระทำ จากหลักธรรมเป็นใหญ่เนี่ย ก็ตามมาด้วยหลักที่ไม่หวังผลจากการกระทำ แล้วให้มีความเพียรพยายาม แทนที่จะหวังผลด้วยการอ้อนวอนบวงสรวง ก็ให้หวังผลจากการกระทำ แล้วก็ทำด้วยความเพียรพยายาม แล้วก็ต้องศึกษาต้องพัฒนาปัญญา หลักไตรสิกขาก็จึงมาเป็นหลักการปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนา แล้วเมื่อคนเราปฏิบัติถูกต้องตามกฎธรรมชาติ การปฏิบัติของคนที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของหลักธรรมชาตินั้น ท่านก็เรียกว่าธรรมะ ฉะนั้นธรรมะก็เลยมีความหมาย ๒ อย่าง คือ
หนึ่ง ธรรมะ ความจริงที่มีตามธรรมดาตามกฎธรรมชาติ หรือจะเรียกว่ากฎธรรมชาติก็ได้ แล้วก็สอง ก็คือ การปฏิบัติอย่างฉลาดที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาตินั้น ที่เรามาเรียกกันง่าย ๆ ว่าจริยธรรม ที่นี้ คนที่มีธรรมะ ก็คือคนที่เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย และรู้จักปฏิบัติได้ถูกต้อง สอดคล้องกับความจริงของกฎธรรมชาตินั้น ข้อปฏิบัติสองอันนี้ ใครมีอยู่ เช่นเป็นคนซื่อตรงต่อความจริงของกฎธรรมชาติ ความจริงว่าไงก็ว่าอย่างงั้น เราก็เรียกว่ามีธรรมะแล้ว ทีนี้พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่าเมื่อเราไม่ได้ถือเทพเป็นใหญ่แล้ว เราก็มาบูชาธรรม ก็เลยเปลี่ยนว่า [00:12:31] การที่เราจะบูชาธรรมนั้น ก็คนไหนมีธรรมะ เป็นที่แสดงออก เป็นที่รองรับ เป็นสื่อของธรรมะ เราก็บูชาคนนั้น เพราะฉะนั้น ภาษิตในพุทธศาสนาเนี่ยจะต้องจำกันไว้ให้แม่น พุทธภาษิตหนึ่งในธรรมบทที่บอก มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ เป็นต้น แปลว่า บุคคลใดถึงจะบูชาเซ่นสรวงด้วยทรัพย์เดือนละ ๑,๐๐๐ ตลอดเวลา ๑๐๐ ปี ก็มีค่าไม่เท่าบูชาคนที่ฝึกตนแล้วแม้เพียงครู่เดียว ว่างั้นนะ เนี่ย หลักเนี้ยสำคัญมาก แล้วยังมีพุทธภาษิตทำนองนี้อีกเยอะเลย ที่ให้ความสำคัญกับการบูชาคนที่มีธรรมะ คนที่ฝึกฝนอบรมตน แทนที่จะไปมัวบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้า เอาผลประโยชน์ให้กับตนเองเนี่ย มาบูชาคนมีธรรมะเนี่ย มันมีความหมายเป็นประโยชน์ จนหมายถึงการบูชาความจริง การบูชาความถูกต้อง การบูชาหลักการของสังคมที่จะทำให้สังคมนี้อยู่ได้ ขยายจิตใจของคนออกไปให้ไม่เอาแต่การใดเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่ให้มองถึงประโยชน์ของสังคม
[00:13:56] ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
การที่ไม่อยู่กับเรื่องของใจหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของการบันดาลอะไรต่าง ๆ เนี่ย มันมีความจริงของกฎธรรมชาติ การที่ใช้ปัญญาศึกษา แม้แต่เพียงว่าเราเอาหลักการบูชาบุคคลที่ควรบูชามาใช้อย่างเดียวนะ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สังคมจะเดินหน้าได้ ถ้าหากว่าเราไม่มาใช้จุดนี้แล้ว สังคมเนี่ยจะอยู่ได้ลำบาก ไม่งั้นเราก็ต้องไปบูชาอื่นสิ ถ้าเราไม่บูชาธรรม ไม่บูชาคนที่มีธรรม เราก็ไปบูชาเทพเจ้า แล้วเราบูชาเทพเจ้า เราก็อาจจะเอาอะไรมาเป็นเทพเจ้า เช่นเดี๋ยวนี้พูดอยู่ว่า เอาเงินมาเป็นเทพเจ้า ต่อไปก็บูชาเงิน บูชาผลประโยชน์ อะไรต่ออะไรก็ไปกันใหญ่ ฉะนั้นหลักการเนี่ยสำคัญ ก็คือเรื่องตรึงสังคมไว้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้อย่างในมงคล ๓๘ ประการ ก็ตรัสเอาการบูชาคนที่ควรบูชานั้น เป็นมงคลข้อที่สาม ใช่มั้ยล่ะโยม คือ พุทธศาสนาเริ่มที่สังคมก่อน เริ่มจากนอกตัว ให้คนอยู่ร่วมกันได้ดีได้ถูกต้อง
มงคลข้อที่หนึ่งก็ อเสวนา จ พาลานํ ไม่คบคนพาล ไม่คบคนพาลหมายความว่าไม่เอาเยี่ยงอย่าง ไม่เอาตามเขาฯ จะบอกว่า เอ๊ะ อะไรไม่คบคนพาลเลยเหรอ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่คบคนพาล เว้นแต่จะช่วยเขา ว่างั้นนะ มีหลักอย่างนี้อยู่ หมายความว่า เราคบคนพาลเราคบเพื่อช่วย แต่เราจะไปเอาตามอย่างเขาไม่ได้ แต่ว่าคนที่จะช่วยคนพาล ก็ต้องเตรียมตัวให้ดีนะ ต้องแข็งจริง ต้องมั่นคง ต้องเก่ง มั่นใจว่าดึงเขาขึ้นมาได้ ไม่ใช่ว่าตัวเองอ่อนแอแล้วไปช่วยไปคบเขา เลยโดนเขาดึงกันไปเลย ก็แย่กันไปใหญ่ ฉะนั้น ตามหลักทั่วไปเขาบอกไม่คบคนพาล แล้วก็มาแต่ในเรื่องเว้น เว้นแต่จะช่วยเขา
ต่อไปก็ สอง ก็คบบัณฑิต ต่อไป สาม บูชาคนควรบูชา นี่คือมงคล ๓๘ ชุดที่หนึ่งเลย เรื่องของมนุษย์ในสังคมเนี้ย ฉะนั้น การบูชาคนที่ควรบูชานี้ เป็นข้อที่ควรจะได้เน้นกันเป็นพิเศษในสังคมปัจจุบัน เพื่อช่วยกันธำรงรักษาสังคมไว้ ด้วยการธำรงรักษาธรรมะให้แก่สังคม แต่การธำรงรักษาธรรมะนั้น เป็นนามธรรมที่เรามองไม่ค่อยเห็น ถ้าเราทุกคนธำรงได้ด้วยตัวเองก็ดีสิ นั่นคือเราประพฤติธรรมนั่นแหละ การธำรงธรรมะไว้ ก็คือตัวเราเองจะต้องประพฤติตามธรรมะนั้น แต่ทีนี้ ถ้ามีคนที่ประพฤติธรรมะอย่างจริง ๆ จัง ๆ เป็นตัวอย่าง เราต้องไปแสดงออกให้เห็นว่าเราเนี่ยต้องธำรงธรรมะ เราเชิดชูธรรมะจริง ๆ ด้วยการไปเชิดชูคนที่มีธรรมะ ใช่มั้ย ถ้าเราเชิดชูธรรม บุคคลที่มีธรรมะ เราบูชาคนที่ดี แสดงแน่นอนว่าเราต้องบูชาความดี
ฉะนั้นหลักนี้ คิดว่ายุคปัจจุบันจะต้องชวนกันมาเน้นให้มากเป็นพิเศษ วันนี้ที่ทางสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร จัดพิธีทำบุญอุทิศกุศลแด่ท่านอาจารย์ป๋วยเนี่ย ก็แน่นอนว่าได้ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ตามธรรมะข้อนี้ด้วย คือการบูชาคนที่ควรบูชา แล้วก็เป็นคนที่เราถือว่าควรจะบูชาสำหรับสังคมไทยของเราทั้งหมด บูชาไว้ อย่างน้อยให้เป็นแบบอย่าง แสดงน้ำใจของตัวเราว่า เราเนี่ยบูชาคุณธรรม บูชาความดี บูชาตัวธรรมะนั่นเอง นี่ก็คือได้สองอย่าง สำหรับข้อแรก กตัญญูกตเวที มันก็สำคัญ แต่วันนี้อาตมาภาพจะไม่เน้น เราควรจะเน้นสักอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ แล้วก็เห็นว่าสำคัญมากสำหรับสังคมไทย อย่างความดีต่อตัวระหว่างกันส่วนบุคคลเนี่ย เราก็มีความกตัญญูแล้ว ทีนี้สำหรับคนที่มีความดีสำหรับสังคมวงกว้างเนี่ย เราจะต้องมาเน้นข้อบูชาคนที่ควรบูชา ก็เป็นมงคลอันอุดม ก็ย้ำเสียอีกครั้งหนึ่งบอกว่า ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การบูชาคนที่ควรบูชาเป็นมงคลอันสูงสุด
[00:18:31] การบูชาธรรมะที่ว่าด้วยพละ ๔
ทีนี้ก็มาดูว่า คนที่เราควรจะบูชาเนี่ย ท่านบอกว่าท่านมีธรรมะ เราก็เลยบูชาท่าน ยกย่องท่านในฐานะที่เราเห็นท่านเป็นสื่อของธรรมะ เป็นที่รองรับของธรรมะ เราก็โยงไปหาการบูชาธรรมะ เราก็เห็นอาจารย์ป๋วยว่าท่านมีคุณความดีหลายอย่าง เพราะว่าความดีอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าเด่นมาก ก็คือความซื่อสัตย์สุจริต อันนี้ได้ยินพูดกันอยู่เสมอ ๆ พอดีอาตมาภาพก็เขียนไว้ในข้อเขียนที่ลงในหนังสือที่ระลึกเนี่ย ไม่ทราบว่าเสร็จหรือยัง ก็เขียนว่า ด็อกเตอร์ป๋วยกับธรรมะ ที่นี้อาตมาภาพไปทั้งแปลกใจแล้วก็ประทับใจ เรื่องอาจารย์ป๋วยที่อาตมาจำแม่นก็เขียนไว้ในนั้นก็คือว่า ไปพบข้อเขียนของท่าน อ่านแล้วก็เจอท่านพูดถึงธรรมะหมวดหนึ่ง คือหมวด พละ ๔ ได้เขียนไว้ในหนังสือนี้แล้ว พละ ๔ เนี่ย ไม่ค่อยมีคนได้ยิน แม้แต่ในวงการผู้ศึกษาธรรมะทั่วไปไม่ค่อยได้ยิน ก็เลยนึกว่า เอ๊ะ อาจารย์ป๋วยนี่แสดงว่าท่านสนใจธรรมะมากเลย ไปเจอหมวดธรรมะที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก แล้วคิดว่าท่านคงเอาใจใส่หรือให้ความสำคัญกับธรรมะหมวดนี้มาก ก็เลยเอามาพูดในเนี้ย บอกว่าใครพูดถึงอาจารย์ป๋วยทีไร อาตมาก็นึกถึงธรรมะหมวดนี้ทุกทีเลย โยงไปด้วยกันเลย ธรรมะที่ว่าพละ ๔ เนี่ยมีอะไรบ้าง
หนึ่ง ปัญญาพละ หรือปัญญาพลัง กำลังแห่งปัญญา อันนี้สำคัญมาก คนเราต้องมีกำลังปัญญา ที่เราศึกษาเล่าเรียนเข้ามหาวิทยาลัยอะไรเนี่ยก็ เพื่อจะได้มีปัญญา ปัญญาทำให้เรารู้จัก เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ปฏิบัติได้ถูกต้อง ทำให้สามารถแก้ไขปรับปรุง ทำให้จิตใจเราเป็นอิสระ ทำให้พ้นจากปัญหา แก้ไขความติดขัดต่าง ๆ เขาเรียกว่าทำให้เป็นอิสระหลุดพ้นเนี่ย ปัญญาเป็นตัวปลดปล่อย
ที่นี้ หนึ่งแล้ว สองอะไร วิริยพละ วิริยพลัง กำลังแห่งความเพียร คนเราต้องมีความเพียรพยายาม ทำการอะไรต่าง ๆ นี่จะสำเร็จได้ต้องมีความเพียร ไม่มีความเพียร ไม่สำเร็จล่ะ โดยเฉพาะพุทธศาสนาที่สอนให้หวังผลจากการกระทำ ก็ต้องต่อว่า ด้วยความเพียรพยายาม เพราะเราจะไปรอให้ใครบันดาลให้ ไม่ได้ นี่สอง กำลังความเพียร
ต่อไปข้อที่สาม อนวัชชพละ กำลังแห่งความสุจริต กำลังแห่งการกระทำ เช่น กิจการงานที่ไม่มีโทษ ไม่มีข้อที่ใครจะยกมาติเตียนได้ คำว่าอนวัชชะนี่แปลว่า อันใคร ๆ ติเตียนไม่ได้ นี่ก็สำคัญ กำลังความสุจริต เรียกอย่างภาษาไทยเรียกว่า มือสะอาด ทีนี้ท่านอาจารย์ป๋วยท่าจะสนใจมากในธรรมะข้อนี้ มีอนวัชชพละเนี่ย กำลังความสุจริต
แล้วก็ข้อสี่ สังคหพละ กำลังการสงเคราะห์ ก็คือความสัมพันธ์ที่ดีงามนั่นเอง มนุษย์โดยการให้เผื่อแผ่แบ่งปันที่เรียกว่าทาน ด้วยปิยวาจา ด้วยถ้อยคำที่ดีงามถูกต้อง ช่วยเหลือกันด้วยวาจา แนะนำแก้ปัญหา เป็นต้น เรียกว่าปิยวาจา หรือช่วยกันด้วยเรี่ยวแรงกำลังบำเพ็ญประโยชน์ เรียกว่าอัตถจริยา แล้วช่วยกันด้วยการที่มีความเสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ท่านเรียกว่าสมานัตตตา อันนี้ข้อสุดท้าย สังคหพละนี่แยกย่อย ๔ ข้อ ก็คือการสัมพันธ์ที่ดีในสังคม ซึ่งมนุษย์นอกจากอยู่ร่วมกันด้วยดีมีเมตตาแล้ว ยังช่วยเหลือกันอีก ยึดเหนี่ยวชุมชนสังคมไว้ ให้มีความสามัคคี
สรุปแล้วก็คือ ๔ ข้อใช่มั้ยฮะ จะย้ำหัวข้ออีกครั้งหนึ่ง ปัญญาพละ กำลังปัญญา สองวิริยพละ กำลังความเพียร สามอนวัชชพละ กำลังความสุจริต และสี่สังคหพละ กำลังการสงเคราะห์ช่วยเหลือกันในหมู่มนุษย์ เมื่อท่านเขียนไว้อาตมาเลยจำแม่นเลย ว่า เอ้อ อาจารย์ป๋วยท่านสนใจธรรมะ แล้วก็จำติดมาจากธรรมะหมวดเนี้ย ก็คิดว่าท่านสนใจแล้ว ผู้อื่นที่นับถือท่านก็น่าสนใจด้วย ก็ชวนจะเอาไปประพฤติปฏิบัติ ถ้าหากว่าธรรมะ ๔ ข้อนี้ นำมาใช้ประพฤติปฏิบัติกันได้ในสังคมนี้นะ สังคมเจริญพัฒนาแน่นอน ทำให้มีความมั่นคง แล้วคำว่าสังคหะในภาษาบาลีนั้น แปลว่าประสาน รวมผนึกทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ ก็เป็นพละกำลัง ๔ ประการ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าใครมีพละกำลัง ๔ ประการนี้ ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่หวั่นเกรงต่อภัยอันตรายใดใดแม้แต่ความตาย ว่างั้นนะ ไม่กลัวความตาย เพราะเรามีพลัง ๔ ประการนี้ มีความมั่นใจในตนเอง ฉะนั้น คนเรานี้ต้องการอันหนึ่งคือความมั่นใจในตัวเอง สร้างขึ้นให้ได้ ถ้าเรามีพละกำลัง ๔ ประการนี้ เราก็มีความมั่นใจ ยืนหยัดอยู่ในโลก ยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างดี
[00:24:33] สันโดษช่วยค้ำประกันความซื่อสัตย์สุจริต
อันนี้อาตมภาพก็เลยยกขึ้นมาพูดเรื่องของที่อาจารย์ป๋วยที่ท่านได้แสดงออกถึงเรื่องของธรรมะที่ท่านรู้ ที่ท่านปฏิบัติ ถึงว่าเมื่อกี้เน้นว่าท่านมีคุณสมบัติที่เด่น ที่คนในสังคมนี้รู้กันมากก็คือเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต แน่นอนว่าความซื่อสัตย์สุจริตก็เป็นธรรมะข้อสำคัญ ไม่ว่าสำคัญทั้งในแง่มันเป็นสัจจะเป็นความจริง ความจริงมันก็ตรงกับธรรมะ เพราะธรรมะในความหมายเป็นความจริง ที่ว่า มันความเป็นถูกต้อง ความจริงมันเป็นยังไรฉันก็ปฏิบัติไปตามนั้น มันต้องอยู่ตรงไปตรงมา แล้วคนที่ซื่อสัตย์เนี่ย คือคนที่อยู่กับธรรมะตั้งแต่ต้นเลยนะ ฐานน่ะถูกต้อง คือเป็นตัวธรรมะในตัวเลย ฉะนั้น ก็ไม่เผลอใจไปตัวธรรมะที่เป็นหลักเป็นความจริงนั้น ทีนี้ความสุจริตซื่อสัตย์เนี่ยโยงไปหาหลักความประพฤติของคน มนุษย์อยู่ในโลกเนี่ย ต้องดำเนินชีวิต ต้องกิน ต้องอยู่ มีปัจจัยสี่เป็นต้นเนี่ย ก็มีธรรมะข้ออื่นโยงมาอีก
ลักษณะของอาจารย์ป๋วยอย่างหนึ่ง อาตมาเข้าใจว่าอาตมาดูไม่ผิด คือท่านมีความสันโดษ ใช่มั้ย สันโดษเนี่ยแปลว่าอะไร แปลว่าความพอใจในสิ่งที่เป็นของตน ว่างั้นนะ ไม่อยากได้ของคนอื่น แล้วก็อยากได้สิ่งที่ยอมรับสิ่งที่ได้โดยชอบธรรมด้วยนะ แล้วท่านขยายความว่า ยินดีพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตนด้วยความเพียรพยายามโดยชอบธรรม นี่ขยายความให้เต็มที่เลยนะ อ้าว ต้องได้ด้วยความเพียรและโดยชอบธรรม ถ้าไม่ชอบธรรม ไม่เอา ได้ทราบว่าอาจารย์ป๋วยนี่ท่าน แม้กระทั่งของขวัญยังไม่ยอมรับเลย ใช่มั้ย มีความสันโดษ ไม่เอาของอะไรแต่ไรอื่น อยู่แค่ตามที่ฉันมีสิทธิได้รับ เช่น เงินเดือนอะไรต่ออะไรของฉัน ตามสิทธิโดยถูกต้อง ก็รับแค่นั้น อย่างนี้เขาเรียกว่าสันโดษชัด ๆ เลย นี่แหละความหมายสันโดษ ไม่อยากบำรุงบำเรอตัวเอง ไม่หาสิ่งมาปรนเปรอ เนี่ยเป็นลักษณะของคนสันโดษ สันโดษก็มีความสุขง่าย ถ้าคนไม่สันโดษก็สุขยาก ใช่มั้ย เพราะว่ามีแค่ไหนก็สุขแล้ว สันโดษ แต่ว่าคนไม่สันโดษนี่ความสุขจะอยู่สิ่งที่ยังไม่มี เพราะฉะนั้นจะไม่สุขสักทีอะ เพราะว่าความสุขมันไปอยู่กับวัตถุที่ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นใจก็สุขไม่ได้สักที ก็เลยคนที่ไม่สันโดษก็ไม่มีความสุข อันนี้เป็นลักษณะพื้นฐานง่าย ๆ ว่าความสันโดษนี้ทำให้เป็นคนที่มีความสุขง่าย ทีนี้ก็เลยไม่มัวแต่วุ่นวายกับการแสวงหาวัตถุเสพบริโภค แต่ว่ามันไม่จบแค่นั้นนะ ถ้าสันโดษมันเกิดแค่นี้ก็ แย่เลย
สันโดษแค่นี้ ก็กลายเป็นปูทางท่านเรียกว่า กลายเป็นปัจจัยแก่ความเกียจคร้าน สันโดษที่สำคัญก็คือว่าทำไมพระพุทธเจ้าสอนให้พระสันโดษ น่าจะพระทุกองค์จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวายใจ แล้วก็ไม่ทุจริต ไม่รบกวนชาวบ้าน พระที่สันโดษนั้นไม่รบกวนชาวบ้าน ถ้าไม่สันโดษแล้วกวนเรื่อย อยากจะได้จีวรเต็มผืน อยากจะได้ฯ ก็เอาแล้ว เรี่ยไรบ้างอะไรบ้างหาลาภไปตามเรื่อง ทีนี้ท่านให้มีสันโดษ ก็จะได้เป็นพระที่เลี้ยงง่าย เพราะหลักของพระนี่มีอันก็คือ สุภโร เป็นผู้เลี้ยงง่าย แต่ว่าที่นี้สำคัญก็คือ สันโดษน่ะมันจะพาเรามาอีก อ้าว เมื่อกี้ย้ำอันหนึ่งก็สุจริต เป็นตัวค้ำประกันความสุจริต [00:28:32] ถ้าเราไม่สันโดษเราสุจริตยากนะ เราก็อยากจะหาสิ่งบำเรอตัวเอง มันก็อยู่ไม่ได้ เดี๋ยวความซื่อสัตย์สุจริตอยู่ไม่ได้หรอก ดังนั้น จะซื่อสัตย์สุจริตได้ ต้องมีสันโดษมาช่วยค้ำประกัน
[00:28:47] สันโดษที่ถูกต้องเป็นสันโดษของนักทำงาน
แต่สันโดษมันไม่ใช่แค่นั้นอะ สันโดษนี่ที่สำคัญก็คือพระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุสันโดษแล้วเธอจะได้สามารถและมีความพร้อมที่จะทำหน้าที่ของเธอ เพราะอะไร เพราะว่าพระภิกษุมีหน้าที่อยู่แล้ว หนึ่ง ถ้าพูดภาษาสมัยใหม่ก็คือว่า หนึ่ง เล่าเรียน สอง ปฏิบัติ เรารวมกันเรื่องเล่าเรียนปฏิบัตินี่ ภาษาพระท่านเรียกว่าศึกษานั่นเอง [00:29:11] คำว่าศึกษานั่นคือคำว่าเล่าเรียนและปฏิบัติ ถ้าเล่าเรียนแล้วไม่ปฏิบัติ ไม่เรียกว่าศึกษา ศึกษานี่มันอยู่ที่ไตรสิกขานี่ เพราะฉะนั้น มันอยู่ที่สำคัญที่ปฏิบัติ ศึกษาคือฝึก ทำให้เป็น ถ้ายังไม่ทำให้เป็นก็ยังไม่เป็นสิกขาหรือศึกษา ทีนี้เล่าเรียนปฏิบัติแล้วก็เผยแผ่ธรรมะ หน้าที่ของพระนี่ก็มีอย่างนี้ ที่นี้ อย่างน้อยก็ท่านใช้คำว่า พระ ฝึกฝนและทำกุศลให้เกิดขึ้น ทีนี้ความเพียรของพระที่จะทำได้ก็ต้องมีสันโดษก่อน พอพระสันโดษแล้ว ไม่วุ่นวายกับการที่มัวครุ่นคิดหาเครื่องเสพบริโภคบำรุงบำเรอตัวเอง จิตใจไม่วุ่นวาย สงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ได้ ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดที่จะไปใช้กับการแสวงหาวัตถุเสพเนี่ย เอามาใช้ในการทำงานของตัวเอง คือเล่าเรียน ปฏิบัติ เผยแผ่ธรรมะ เพราะฉะนั้นท่านก็บอกว่า ให้สันโดษปั๊บ ก็คือเตรียมพร้อมแล้ว ทีนี้ก็เพียรพยายามละอกุศล และทำกุศลให้เกิดขึ้น นี้คำนี้ มันคลุมหมดเลยนะ คือหมายความว่าละสิ่งที่ชั่ว ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น ก็เอาความเพียรมาใช้ในเรื่องนี้ ใครมีหน้าที่อะไรที่จะละความชั่ว จำกัด แก้ไข สิ่งเลวร้ายปัญหาอะไร สร้างสรรค์ความดีอะไร ก็ทำหน้าที่อันนั้น ตอนเนี้ย [00:30:45] คนสันโดษก็จะมีเวลาเต็มที่ ก็จะมีแรงงานเต็มที่ ก็จะมีความคิดเต็มที่ ถ้าคนไม่สันโดษนี่ ก็มัวจะไปฯ ตรงนี้ จะไปหาสิ่งบริโภคที่ไหนบำเรอตัวเอง แกก็เอาแรงงานของแกไปเที่ยววิ่งพล่านหาสิ่งบริโภค แล้วก็เอาเวลาไปใช้เผาผลาญหมดไป พอแกสันโดษได้นี่ วัตถุแกอยู่ได้แล้ว พออยู่ได้ แกก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนี้มาอุทิศให้แก่การทำหน้าที่ ฉะนั้นก็เลยเป็นสันโดษของนักทำงาน
สันโดษที่ถูกต้องเป็นสันโดษของนักทำงาน และสันโดษเพื่อทำงาน ว่างั้น ทีนี้ถ้าสันโดษไม่มาต่อด้วยความเพียรในการทำกิจหน้าที่ มันก็ทำให้เราหยุด เฉย นอน เกียจคร้านไปเลย ฉะนั้น สันโดษเนี่ยเป็นธรรมะที่ต้องระวัง คือถ้าหากไม่รู้เข้าใจความมุ่งหมายว่าพระพุทธเจ้าสอนไว้เพื่ออะไร ก็จะกลายเป็นว่าสันโดษแปลว่าความสุข คนสันโดษมันสุขง่ายอยู่แล้วนี่ใช่มั้ย พอสุขแล้วก็สบายสิ ไม่ดิ้นรนขวนขวาย เลยเกียจคร้าน นั่นก็อันตราย แต่สันโดษอย่างของอาจารย์ป๋วยนี่แน่ใจได้ เป็นสันโดษของนักทำงาน แต่ว่าในที่นี้ต้องการเน้นเอา ๒ ข้อพอ ไม่เน้นในแง่ความสุขส่วนตัวของท่านนะ ท่านก็สุขด้วยวัตถุของท่าน มีเท่าไหร่ท่านก็สุขได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ว่ามันมีความสัมพันธ์กับธรรมะข้ออื่น คือ หนึ่ง มันรักษาความสุจริตได้ ใช่มั้ย ฉะนั้นอาจารย์ป๋วยท่านสันโดษ ก็เป็นหลักประกันที่ทำให้ท่านดำรงความสุจริตไว้ได้ ซื่อสัตย์ ใช่มั้ย เอ้อ สันโดษ ไม่เอา ไม่ถูกต้องตามธรรมะ ไม่ใช่สิทธิของฉัน ฉันไม่เอาล่ะ ท่านก็สันโดษของท่านอย่างเงี้ย ท่านก็รักษาสุจริตไว้ได้ นี่ก็คือว่าสันโดษเพื่อทำงาน เป็นสันโดษของนักทำงาน ท่านก็เอาเวลาที่จะไปล้างผลาญกับไอ้เรื่องของการหาความสุขส่วนตัวเนี่ย เอามาใช้ในการทำงานซะ มันก็ทำงานได้เต็มที่ คนสันโดษนี่มันทำงานได้เต็มที่ เพราะว่ามันไม่ไปวุ่นวายเรื่องอื่น อย่างที่บอกเมื่อกี้ สงวน ออมเวลา แรงงานและความคิด ไปได้หมดเลย มาทุ่มเทอุทิศตัวให้กับการทำงานอย่างเดียว เนี่ยแค่เนี้ยก็เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาเลย เพราะฉะนั้นคนเรานี่ ถ้าได้แบบอย่างอย่างที่อาจารย์ป๋วยท่านทำในข้อสันโดษนะ เจริญพร ก็จะมีความสุจริตด้วย แล้วก็จะเป็นนักทำงาน แล้วประเทศชาติก็พัฒนา สันโดษแบบเนี้ยไม่ขัดข้อง ไม่ขัดขวางการพัฒนาประเทศแน่ แต่หนุนการพัฒนาประเทศ ฉะนั้น มีอันหนึ่งคือการพูดเนี่ย บางทีเราเถียงกันไม่เข้าเรื่อง สมัยหนึ่งก็ว่าไอ้สันโดษนี่มันขัดขวางการพัฒนาหรือเปล่า ก็เถียงกันไป ฝ่ายหนึ่งก็ด่าอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า โอ้ย สันโดษมันขัดขวางการพัฒนาประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งก็ว่า นี่มาติเตียนธรรมะของพระพุทธเจ้า ว่างั้นนะ ไม่ได้เรื่องตาคนนี้ คนนอกศาสนาหรืออะไรก็ว่าไป แต่ที่จริงอะอย่าไปโกรธกันเลย ทางพระท่านให้ตอบอย่างวิภัชชวาท วิภัชชวาทคือต้องแยกตอบ บอกว่าถ้าปฏิบัติไม่ถูก ใช่ สันโดษจะเป็นเครื่องขัดขวางการพัฒนาได้ ทำให้คนเกียจคร้าน เพราะว่าสันโดษอย่างงั้น ๆๆ แต่ถ้าสันโดษถูกต้อง จะสันโดษโดยสัมพันธ์กับหลักการ รักษาความสุจริต และช่วยให้เราได้อุทิศตัวแก่หน้าที่การงานได้เต็มที่ อย่างงี้จะเป็นตัวหนุนการพัฒนา ใช่มั้ย อันนี้เขาเรียกว่าตอบแบบวิภัชชวาท คือตอบแบบแยกแยะ ไม่ใช่ตอบผางเลยซะทีเดียว บางทีผิดก็ผิดไปเลย หรือไม่งั้นท่านลอกกันไปเลย ก็ยุ่งกันใหญ่
[00:34:41] การพัฒนาที่ดีหนีไม่พ้นธรรม
เอาละทีนี้ ก็นี่ก็เป็นเรื่องของธรรมะ เลยโยงเข้ามาหาการพัฒนาตรงนี้แล้ว นี้เจ้าภาพนิมนต์ไว้บอกว่าจะให้พูดธรรมะกับการพัฒนา แล้วก็ตั้งชื่อกันไปกันมา ดูเหมือนจะเป็นว่าไม่มีธรรมก็ไม่มีการพัฒนา ใช่มั้ย เจริญพร หรืออะไร อ๋อ อาตมาจำผิดไปเอง การพัฒนาที่ดีหนีไม่พ้นธรรม ก็คล้าย ๆ กันอะเนอะ ไม่มีธรรมก็ไม่มีการพัฒนา ตกลงว่าจำชื่อเรื่องผิด ก็เอาว่าอันไหนก็ได้ ใช้ได้ทั้งคู่แหละ ไม่มีธรรมก็ไม่มีการพัฒนา แล้วก็การพัฒนาที่ดีหนีไม่พ้นธรรมะ แน่นอนเนี่ย ที่อาตมายกตัวอย่างมาเนี่ย ก็หนีไม่พ้นธรรมะแล้วนะ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ต้องมีความเพียรพยายามในการทำงาน ต้องมีเรื่องของสันโดษที่ถูกต้อง สันโดษที่ใช้มาหนุนในการทำความเพียร เป็นหลักการหวังผลจากการกระทำเนี้ย แค่นี้ประเทศชาติพัฒนาเยอะแล้ว ทีนี้คนที่ไปพัฒนาทำงานพัฒนาเนี่ย ก็ต้องมีความเสียสละ ใช่มั้ย เจริญพร วัตถุประสงค์ของสำนักบัณฑิตอาสาสมัครก็มีข้อหนึ่งที่ว่าเน้นความเสียสละ ทีนี้ความเสียสละเนี่ยมันทำได้ยากถ้าเราจิตใจไม่พร้อม จิตใจของเราต้องพร้อมด้วย ใจเราอย่างน้อยต้องยอมรับ ถ้าใจเราไม่ยอมรับอะไร มันฝืน พูดง่าย ๆ ก็คือฝืนความต้องการ ถ้าเราจะทำอะไรให้ได้ผล เราต้องการเสียก่อน เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนาเนี่ยท่านให้เปลี่ยนความต้องการเสียก่อน หลักสำคัญอย่างหนึ่งในพุทธศาสนาก็คือว่าความต้องการของคนนี่เปลี่ยนได้ พัฒนาได้ เราเคยต้องการอย่างนี้ มันก็ขัดขวางสิ่งที่เราจะทำ เราก็ปรับเปลี่ยนมันซะ ถ้าเราปรับเปลี่ยนความต้องการปั๊บเนี่ย ไอ้สิ่งที่เราต้องการ เราต้องการใหม่ ไอ้สิ่งที่จะทำมันก็สำเร็จ
เหมือนอย่างเด็กต้องการอาหารเนี่ย ถ้าเด็กต้องการกินอาหารอร่อย ต้องการกินอาหารอร่อยนี่ ถ้าแกไม่ได้อาหารอร่อยนี่ แกฝืนความต้องการ แกทุกข์มาก เราก็เปลี่ยนความต้องการซะ ต้องการอาหารอร่อย นั่นเป้าหมาย ให้ปัญญาแก วิธีเปลี่ยนความต้องการคนคือต้องเปลี่ยนด้วยให้ปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจใหม่ เปลี่ยนทิฐิ ไปเปลี่ยนทางปัญญานี่เริ่มต้นมันจะเป็นการเปลี่ยนทิฐิ ความเห็น ความเข้าใจ ตอนแรกก็นึกว่าการกินอาหารนี่ ยึดไว้โดยไม่รู้ตัวเลยว่าเพื่ออะไร ทีนี้ต่อมาเราเริ่มถามให้เด็ก ฉันเรียกว่าใช้โยนิโสมนสิการ เอ้อ เรากินอาหารเพื่ออะไร ให้เด็กหัดตอบ เด็กตอบไปตอบมาจะเริ่มตอบได้ เอ๊ะ ที่กินอาหารนี่มันไม่ใช่เพื่อเพียงแค่เอร็ดอร่อยนะ แล้วที่จริงเรากินอาหารนี้เพื่อสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิต เดี๋ยวนี้เขาใช้คำโก้ คุณภาพชีวิต ทีนี้เพื่อคุณภาพชีวิต เอ้ คุณภาพชีวิตนี่อาหารอร่อยมันไม่พอ บางทีอาหารอร่อยเป็นพิษ ทำลายคุณภาพชีวิตก็มี เออ ไม่ได้แล้ว กินอาหารอร่อยนี่ บางทีเสียนะ เอ้ แล้วทำไง อาหารอะไรที่จะช่วย ตอนนี้แกเห็นว่าสิ่งที่ถูกต้องคือคุณภาพชีวิตแล้วใช่ไหม เปลี่ยนทิฐิแล้วนะ ปัญญาเริ่มเกิด พอเปลี่ยนทิฐิว่าไอ้สิ่งที่ถูกต้องคือเป้าหมายเนี่ยมันต้องเป็นว่าคุณภาพชีวิต ไม่ใช่อร่อย พอเด็กเปลี่ยนมาเป็นว่า เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการกินอยู่ที่คุณภาพชีวิต ตอนนี้แกก็จะมองหาว่าอะไรที่จะสนองวัตถุประสงค์นี้ เอ้อ อาหารที่มันมีคุณค่า มีประโยชน์ มีคุณสมบัติอย่างงั้น ๆ น่ะ จะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตนะ สนองเป้าหมายนี้ได้ นี่คือเปลี่ยนความต้องการ เด็กจะเริ่มเปลี่ยนความต้องการ อาหารที่เคยอร่อยแต่เห็นว่าเป็นพิษ แกไม่ต้องการแล้ว ทีนี้อาหารที่มันช่วยให้เกิดคุณภาพชีวิต มันสนองเป้าหมายนี้ แกต้องการแล้ว พอต้องการนี่ ถ้าสนองความต้องการเมื่อไหร่ สุขเมื่อนั้นนะ คนเรานี่สนองความต้องการก็สุข แต่ก่อนนี้แกต้องการกินอาหารอร่อย แกกินอาหารฝืนใจใช่มั้ย ถ้ากินไม่อร่อย แกทุกข์ทันทีเลย ทีนี้พอเกิดต้องการคุณภาพชีวิตขึ้นมา แกได้กินอาหารนั้น บางทีทั้ง ๆ ที่ไม่อร่อยนะ แกมีความสุขได้ ใช่มั้ย เอ้อ แล้วแกภูมิใจด้วยว่า โอ้ว เรากินถูกต้องนี่ เราทำด้วยความรู้ คนที่ทำอะไรด้วยความรู้ ด้วยปัญญาเนี่ย มันมีความมั่นใจอย่างแน่นอนเลย นี้แกมีความสุขในการกินอาหารที่สนองให้เกิดคุณภาพชีวิตใช่มั้ย แกก็มีความสุขใหม่ เพราะมีความต้องการใหม่ นี่คือเรื่องของการพัฒนามนุษย์
[00:39:54] ท่าทีของการมีจิตสำนึกในการฝึกตน
ทีนี้คนที่จะไปทำงานบัณฑิตอาสาสมัคร ถ้าไปเสียสละแล้วมีความฝืนใจเนี่ยทุกข์แน่ ๆ เลย แล้วงานการยาก วิธีที่จะแก้คนให้ปรับเปลี่ยนความต้องการเนี่ย มันก็เริ่มตั้งแต่ภายใน ซึ่งมีหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือว่าตั้งท่าทีรับใหม่ อย่างคนที่จะไปทำงานต้องเสียสละ ฝืนใจแล้วนะ ใคร ๆ ก็อยากได้เพื่อตัวเองทั้งนั้นอะ สละไม่เอา แล้วก็บางทีไปโดดเดี่ยวเดียวดาย ว้าเหว่ เหงา ใช่มั้ย ก็ทุกข์อีกแหละ เสียสละก็ทุกข์แล้ว ฝืนใจ แล้วไปโดดเดี่ยวอีก เคยอยู่กับญาติพี่น้องครอบครัวพ่อแม่อะไร เหงา ทุกข์อีกแล้ว ทำไง [00:40:47] ตั้งท่ารับใหม่ ให้ใจมันเริ่มพัฒนาความต้องการใหม่ ท่านเรียกว่าตั้งท่าทีของการมีจิตสำนึกในการฝึกตน จิตมันจะรับทันที ไอ้ฝึกเนี่ยคู่กับฝืนหรือตรงข้าม ถ้าเราทำอะไรด้วยฝืนเนี่ย มันจะรู้สึกทุกข์ แต่ถ้าเราทำอะไรด้วยความรู้สึกว่าเราได้ฝึก เราจะสุข ทีนี้เราก็ให้ปัญญาก่อน เราบอกคนเรานี่จะเจริญพัฒนาได้ มันต้องฝึกตนนะ มนุษย์นี่มีอะไรได้มาเปล่า ๆ มีมั้ย ไม่มีเลยใช่มั้ย เด็กเกิดมานี่มันไม่ได้เหมือนอย่างพวกสัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายอื่นนี่ มันได้มาด้วยสัญชาติญาณเป็นส่วนใหญ่ อยู่ ๆ เดี๋ยวมันก็เดินได้เดี๋ยวมันก็อะไรนะ ฝึกน้อยเหลือเกิน มันอยู่ได้ด้วยสัญชาติญาณ แต่มนุษย์นี่แทบไม่มีอะไรเลยที่ได้มาเอง ได้สัญชาติญาณช่วยน้อยเหลือเกิน ทำไง ก็ต้องอาศัยการฝึก ฉะนั้นมนุษย์นี่ จะนอนจะนั่ง จะกินอาหาร จะขับถ่าย จะพูด จะเดิน ต้องฝึกทั้งนั้นเลย เรียกง่าย ๆ ว่าต้องเรียนนั่นเอง เรียนก็คือฝึกนั่นแหละ ต้องฝึกขึ้นมา ฉะนั้นชีวิตของเราที่ได้มาทุกวันเนี้ย เราไม่ได้มาเปล่า ๆ เหมือนสัตว์ชนิดอื่น เราได้มาด้วยการฝึก ลงทุนด้วยการฝึก ทีนี้ถ้าเราไม่ยอมหยุดการฝึกน่ะ ชีวิตเราจะดีเห็นมั้ย ที่ผ่านมาเนี่ยฝึกแล้วมันดีแค่ไหน ฉะนั้น ถ้าเราตั้งใจฝึกชีวิตเราดี ทุกคนที่ชีวิตเขาเจริญก้าวหน้า เขาฝึกทั้งนั้นแหละ
เวลาเจอปัญหานี่ก็คือเรียกแบบฝึกหัดใช่มั้ย เด็กจะเจริญปัญญาดี ต้องมีแบบฝึกหัด แบบฝึกหัดก็คือแบบฝึก แบบฝึกแล้วก็หัด ก็ต้องฝึกต้องหัด ฉะนั้น [00:42:28] คนที่เจอแบบฝึกหัดมากนี่คนนั้นจะเจริญพัฒนา อะไรที่เป็นแบบฝึกหัด เช่น ปัญหา และความทุกข์ คนที่เจอแต่สุขนี่แทบไม่มีโอกาสฝึกเลย ไม่มีแบบฝึกหัด สังคมที่มีแต่ความสุขเนี่ย เสียเปรียบนะ มองในแง่ดีก็ได้เปรียบ แต่มองในแง่ไม่ดีเสียเปรียบมาก สังคมที่สุขเนี่ย สุขสบายไม่มีแบบฝึกหัด ชีวิตที่ไม่มีแบบฝึกหัดก็ดี สังคมที่ไม่มีแบบฝึกหัดก็ดีเนี่ย พัฒนายาก สังคมที่เขาพัฒนาโดยมากไปดูเถอะ ภูมิหลังอะ มีแบบฝึกหัดเยอะ ปัญหา ความทุกข์ ลำบาก ต้องสู้ ต้องฝึก ทีนี้พอมีปัญหามาก มีทุกข์มาก มีแบบฝึกหัดมากก็เจริญสิ ใช่มั้ย ทีนี้เราอยากจะเจริญเราก็ต้องฝึกตัวเอง เราต้องหาแบบฝึกหัดทำ นี้ตอนเนี้ยเราจะต้องทำสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่นเราไปเป็นบัณฑิตอาสาสมัคร เราต้องเสียสละ เราต้องไปอยู่ในถิ่นที่ไม่สะดวกสบาย เราต้องไปอยู่ในถิ่นที่ห่างไกลญาติพี่น้อง เราต้องไปพบคนใหม่ เอ้อ เราถือเป็นการได้ฝึก โอ้โห ตอนนี้ดีเหลือเกิน หาโอกาสยากเหลือเกินที่จะได้ฝึกอย่างงี้ เราหานักหนาโอกาสที่จะได้แบบฝึกหัด ตอนนี้เราได้แล้ว พอตั้งท่ารับ ใจมันรับเลยนะ พอได้แบบฝึกหัดนี้ มันใจชอบเลย มันเปลี่ยนความต้องการด้วย คราวนี้กลายเป็นดีไป พอใจตั้งรับแล้ว คราวนี้มันทำด้วยความสุข พอทำด้วยความสุขแล้วใจมันเต็มที่จะทำด้วย ทีนี้งานก็ได้ผลคนก็เป็นสุขแล้ว งานก็ได้ผลก็คือว่าเราทำด้วยความเต็มใจนี่ มันทำได้ดี ตั้งใจทำ คนก็เป็นสุข ทำไปแล้วใจก็เป็นสุข
[00:44:12] การพัฒนามนุษย์เป็นแกนสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ
ฉะนั้น เนี่ยก็คือเรื่องของการต้องพัฒนาคนไปด้วย แล้วโดยการพัฒนาแบบเนี้ย การพัฒนาประเทศชาติก็จะได้ผล คือพัฒนาประเทศชาติ เราไปทำงานในชนบท ไปพัฒนาชนบท แต่เราพัฒนาตัวไปด้วย ทีนี้เราก็จะไปสอนด้วยตัวอย่างของตัวเราเอง การพัฒนามนุษย์นี่เป็นแกนสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะชนบท ถ้าเราจะไปพัฒนาแต่ในเรื่องของสิ่งภายนอก คงไม่ไหวแน่ จะเป็นปัญหาการพัฒนาเรื่อยไป ก็ให้คนเนี่ยพัฒนาโดยสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม หรือสิ่งที่เกิดขึ้นมา ให้สิ่งที่พัฒนานั้นมันเกิดจากการพัฒนาในตัวคน แล้วคนก็จะกลายเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้นขึ้นมา เพราะว่าการพัฒนาภายนอกเป็นผลจากการพัฒนาในตัวคนใช่มั้ย อย่างบัณฑิตอาสาสมัครเมื่อไปทำงานแบบนี้ก็พัฒนาในตัวเอง งานนั้นเป็นผลจากการพัฒนาในตัวเขาเอง มันจะสอดคล้องกันหมดเลย ตัวเองก็มีความสุข ชีวิตที่มันสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงด้วย สร้างจิตสำนึกในการศึกษาคือจิตสำนึกในการฝึกตนไว้ คนที่มีลักษณะอย่างเนี้ยจะมีความสุขมาก สันโดษก็สุขง่ายแล้วนะ พอมีนิสัยการฝึกตน ก็สุขง่ายขึ้นไปอีก เจออะไรปั๊บมองเป็นได้แบบฝึกหัดทันที ถ้ามีสิ่งที่ได้เรียนรู้ต่อไปเขาบอกว่า มองสิ่งต่าง ๆ ด้วยท่าทีของการเรียนรู้ คนนี่ท่านบอกมี ๒ อย่าง หนึ่ง มองอะไรด้วยท่าทีของความชอบใจไม่ชอบใจ พวกนี้ยุ่ง แต่ว่าท่าทีแบบนี้ก็คือปัญหานั่นเอง คนทั่วไปที่ยังไม่มีการศึกษานี่พิสูจน์ง่าย ท่านบอกว่าเจออะไรมองด้วยท่าทีของการชอบใจและไม่ชอบใจ เอาล่ะให้ดูเถอะ คนที่ยังไม่มีการศึกษาเนี่ย เจออะไรก็มองด้วยท่าทีของการชอบใจไม่ชอบใจ ทีนี้คนที่มีการศึกษาเนี่ย มองด้วยท่าทีของการเรียนรู้ เอ้อ พอเรียนรู้แล้วมันสุขเกือบทุกอย่าง เชื่อไหม พอเรามองอะไรชอบใจไม่ชอบใจ มันมีปัญหาตลอดเลย ชอบใจอยากได้อยากเอา ยังไม่ได้ ทุกข์ เจอสิ่งไม่ชอบใจทุกข์ทันที ปัญหาก็เกิดเรื่อย ทีนี้พอมองด้วยท่าทีของการเรียนรู้น่ะ ไอ้สิ่งที่ชอบใจเราก็ได้เรียนรู้ ไอ้สิ่งไม่ชอบใจมันก็ได้เรียนรู้ ใช่มั้ย ฉะนั้นมันได้หมดเลย แต่ว่าโดยมากแล้วสิ่งไม่ชอบใจเนี่ยได้เรียนรู้มากกว่าสิ่งชอบใจ เชื่อมั้ย เออ พอสิ่งไม่ชอบใจได้เรียนรู้มากกว่า ก็กลายเป็นดีไป ไอ้สิ่งที่ไม่ชอบใจกลายเป็นดี ทำให้เราได้ความสุข เพราะเราได้เรียนรู้ แต่ได้เรียนรู้เนี่ยก็ไปด้วยกันกับการฝึก ก็เรื่องเดียวกันแหละ เรียนรู้ก็ภาษาพระท่านก็เรียกว่าสิกขา ฝึกก็เรียกว่าสิกขา ก็ฝึกไปได้เรื่อยไป เรียนรู้เรื่อยไป มองอย่างนี้แล้วได้หมด เจอเขาด่าก็เรียนรู้ เอ้อ ได้จริง ๆ ไม่ว่าใคร คือมันได้จริง ๆ จริง ๆ นะ อันนี้ไม่ใช่พูดเล่นนะ เจริญพร
[00:47:17] โยนิโสมนสิการ มองความจริงและเอาประโยชน์ให้ได้
เพราะฉะนั้นพระอรหันต์บางองค์นี่สำเร็จด้วยการได้ยินคำพูดของคนบ้า ว่างั้นนะ มีพระอรหันต์องค์หนึ่งอะ ท่านมีโยนิโสมนสิการ คือลักษณะการมองอย่างเนี้ย ท่านเรียกว่าโยนิโสมนสิการ แกไปได้ยินฟังคนบ้า คนบ้าจะไปจำอะไรหรือพูดอะไรประหลาด ๆ บางทีเราไม่ทันนึกอะ เด็กอย่าง คนบ้าอย่างเนี่ย พูดสิ่งที่เราบางทีนึกไม่ถึง คราวนี้ พอได้ยินปั๊บนี่ก็ได้ข้อคิดเลย โหว ตรัสรู้เลยนะ ฉะนั้นอย่าไปดูถูกเลยนะ [00:47:50] คนที่มีโยนิโสมนสิการเนี่ย เอาประโยชน์ได้จากทุกอย่าง ก็บอกแล้วว่าโยนิโสมนสิการนี้ มีหลักสำคัญสองอย่าง หนึ่ง มองให้เห็นความจริง สอง มองเอาประโยชน์ให้ได้ ใช่มั้ย ฉะนั้นในทุกสถานการณ์ ฉันไม่หาความจริง ฉันก็เอาประโยชน์ให้ได้ ไม่ว่าสิ่งร้ายสิ่งดี ท่านบอกว่าคนที่มีความสามารถที่สุด คือคนที่สามารถเอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่เลวที่สุด อย่างเราพัฒนาเด็กก็เหมือนกัน มันก็จะมีการพัฒนาย้อนทางอย่างเนี้ย ท่านบอกว่า หนึ่ง เราจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก แต่ถ้าเราจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็กอย่างเดียวนะ เช่น จัดสภาพแวดล้อม ข่าวสารข้อมูลเนี่ย โลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ได้เอาตามนี้หรอก แต่เราต้องพยายามนะ เราต้องพยายามเต็มที่ของเรา จัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก แต่ถ้าเราทำได้อย่างเงี้ยนะ เด็กจะมีลักษณะพึ่งพา แล้วก็ช่วยตัวเองไม่ได้ พึ่งตัวเองได้ยาก ฉะนั้น ท่านต้องพัฒนาย้อนจากภายใน อันนี้เรียกว่าปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เขาให้แก่เด็ก แต่ภายในเด็ก เขาเรียกว่าพัฒนาปัจจัยภายใน พัฒนาในตัวเด็กให้มีความสามารถเอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่เลวที่สุด ถ้าได้สองอันมาบรรจบกันนี่ สำเร็จเลย อย่าไปเพลินอยู่กับการจัดสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็กเนี่ย หนึ่ง เด็กจะพึ่งพา สอง จะอ่อนแอ เช่นเรามีเมตตากรุณามากเกินไป อะไรต่ออะไรก็ทำให้หมด เด็กก็ไม่พัฒนา
อ้าว ทีนี้ก็ย้อนกลับมา เดี๋ยวจะเลยเถิดออกนอกเรื่องไป ทีนี้ก็กลับมาเรื่องที่ว่าจิตสำนึกในการฝึกตน มองอะไรด้วยท่าทีของการเรียนรู้ พอจิตสำนึกในการฝึกมันแรงขึ้นเนี่ย คนเนี่ยจะชอบปัญหามากขึ้น เจออะไรที่ยากแล้วชอบ เพราะอะไร เพราะไอ้ที่ง่ายมันไม่ได้ฝึก อะไรมันง่ายเนี่ยทำได้แป๊บเดียวเสร็จเนี่ย เราไม่ได้อะไรเลย เชื่อมั้ย สิ่งที่ง่ายเนี่ยไม่ได้อะไรหรอก เพราะมันทำเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ ไม่ต้องใช้ความคิด ไม่ต้องใช้การฝึก ไม่ใช้ทักษะ แต่ไอ้ที่ยากเนี่ยได้มาก กว่าจะทำสำเร็จนี่ ผ่านไปได้นี่ ใช้สมองคิดเยอะเลย พัฒนาปัญญา พัฒนาทักษะในการกระทำต่าง ๆ พัฒนาจิตใจให้ความขยันอดทน ความเพียร ใจสู้ ความเข้มแข็ง หนักแน่นเนี่ย พัฒนาหมดเลย เขาเรียกว่าพัฒนาทั้งพฤติกรรม พัฒนาทั้งจิตใจ พัฒนาทั้งปัญญา ฉะนั้นปัญหา แบบฝึกหัด สิ่งยากนี่ คนที่ฝึกตนต่อมาก็ชักชอบ ต่อมาก็บอกว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก ว่างั้นนะ อันนี้เป็นความจริงนะ เป็นคติของนักฝึกตน ยิ่งยากยิ่งได้มาก พอยิ่งยากยิ่งได้มาก ก็เจออะไรยากก็ชอบสิ เด็กพวกนี้สุขภาพจิตดี แล้วก็พัฒนาเก่ง สู้งาน
ฉะนั้นเด็กสมัยเนี้ยต้องระวัง ถ้าไปตามใจแกมาก เอาเทคโนโลยีปรนเปรออะไรก็ง่ายหมด แกอ่อนแอ พึ่งพา แล้วทุกข์ง่าย สุขยาก ทำไมทุกข์ง่าย สุขยาก ก็มันเคยแต่สบาย ไปเจออะไรยากนิดหน่อย ทุกข์แล้ว ทุกข์ง่ายเหลือเกิน เจอไม่ได้อะไรตามชอบใจนี่ทุกข์แล้ว สุขยากเพราะอะไร มันง่าย มันเจอ มันได้ไปหมดแล้ว ไอ้สุขก็คือได้สิ่งที่มันดีขึ้นไป บำเรอยิ่งขึ้น มันก็ยาก มันหายาก มันปรนเปรอเต็มไปหมดแล้ว ไอ้เด็กที่มันเจอความทุกข์ปัญหามาเนี่ย ถ้ามันฝึกถูกนะ มันสุขง่ายแต่ทุกข์ได้ยาก ไม่ใช่ทุกข์ยากนะ ทุกข์ได้ยาก คือเจอทุกข์มันก็ไม่ค่อยทุกข์อะ อะไรต่ออะไรบางทีมันได้ความสุขจากความทุกข์ซะอีกด้วยนะ ฉะนั้น เอาละเป็นอันว่าเนี่ย บัณฑิตอาสาสมัครเนี่ยฝึกไว้ในภายใน ตั้งจิตสำนึกของการฝึกตน มองด้วยท่าทีของการเรียนรู้ อย่ามองอะไรด้วยท่าทีของการชอบใจไม่ชอบใจ อย่างน้อยท่านบอกว่าเริ่มด้วยเปลี่ยนจากท่าทีของความชอบใจไม่ชอบใจ มาเป็นท่าทีการมองตามเหตุปัจจัย มันใจเหมือนกันนะ พวกหนึ่งนี่ผิด คือมองตามชอบใจไม่ชอบใจ อีกพวกหนึ่งที่เริ่มฝึกตนคือมองตามเหตุปัจจัย พอเราลองเริ่มมองตามเหตุปัจจัยเนี่ย เราเริ่มฝึกปัญญาทันที ใช่มั้ย เราเริ่มที่จะต้องคิดพิจารณา เราจะเริ่มไม่มีเรื่องอะไรกระทบตน คนมองชอบใจไม่ชอบใจ กระทบตนทันที ปัญหาเกิด อย่างแพทย์กับพยาบาลเนี่ย เจอคนไข้ มีปัญหากันเรื่อย พอเจอคนไข้หน้าบึ้งมาเอาแล้ว กระทบใจแล้ว ชอบใจไม่ชอบใจใช่มั้ย ก็ทุกข์ ทีนี้ถ้ามองตามเหตุปัจจัย โอ้ว คนไข้คนนี้หน้าบึ้งมา เอ๊ะ เป็นเพราะอะไรนะ แกอาจจะไม่มีเงินจะมา มานี่แกก็คงลำบากแล้ว แกอาจจะต้องลางานมา แกอาจจะห่วงลูกของแก แกอาจจะนึกว่าถ้าเราเป็นอะไรไป ลูกของเราจะเป็นยังไง โอ้ พอนึกอย่างนี้สงสารเลยนะ เห็นเขาหน้าบึ้งแต่สงสารเขาแล้ว ใจเราดีเลย คิดแก้ปัญหาให้เขา นี่ท่านเรียกว่ามองตามเหตุปัจจัย ฉะนั้น มองตามเหตุปัจจัยเนี่ยมีคุณค่ามหาศาล ยังไง ๆ เริ่มต้นให้เปลี่ยนอย่างนี้ก่อน เปลี่ยนจากมองตามชอบใจไม่ชอบใจ มามองตามเหตุปัจจัย นี่แหละเริ่มต้นการฝึก เจริญพร
[00:53:15] จุดหมายที่แท้ของการพัฒนาคือธรรมะ
นี้นี่คือเรื่องง่าย ๆ ในการพัฒนา แต่ว่าเป็นส่วนหนึ่ง ทีนี้อยากจะให้ขยายกว้างออกไป คือเรื่องการพัฒนานี่ก็อาศัยธรรมะเยอะ เช่นอย่างง่าย ๆ ก็ความขยันหมั่นเพียร ใช่มั้ย ไม่มีความขยันหมั่นเพียรมันจะไปทำอะไรสำเร็จ แล้วก็ที่ว่าเมื่อกี้ ความเสียสละ แล้วมาให้พัฒนาในตัวเอง ในคนแล้วตอนนี้ [00:53:38] พัฒนาดีขึ้น คือทำตัวให้พร้อมในการฝึกตนเอง ตั้งท่าทีใหม่ต่อสิ่งแวดล้อม ท่าทีแห่งการมองตามเหตุปัจจัย ท่าทีของการเรียนรู้ ท่าทีของการฝึกตนนะ ตอนนี้ตัวเราเนี่ยเริ่มพัฒนา ทีนี้มันก็ยังไม่พอ ต้องมองกว้าง ธรรมะมันมีความหมายที่สำคัญ ก็คือว่าความจริงของสิ่งทั้งหลาย ในธรรมชาติทั้งหมดเลย ระบบของชีวิตเราก็ตาม ธรรมชาติแวดล้อมสังคมทั้งหมดเนี่ย มันเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย ในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาตินั้น ๆ ฉะนั้นผลเกิดจากเหตุ เหตุก่อให้เกิดผลเนี่ย เราต้องรู้เข้าใจแล้วทำให้ถูกต้อง ทีนี้การพัฒนาที่เป็นมาเนี่ย เราก็พูดว่าการพัฒนานั้นต้องมีจุดหมาย แต่จุดหมายของการพัฒนาคืออะไร เราพูดง่าย ๆ เนี่ยเราจะไม่รู้ตัว เราจะหลงไปตามสิ่งที่เขาบอกเล่ากันมา ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า เหลียวไปดูนาฬิกาพอดี เพลแล้ว อย่างนั้นต้องรีบสรุปให้จบเร็วที่สุดแล้ว เจริญพร
ก็ขอเอาตอนเรื่องท้ายเรื่องสำคัญ คือว่าการพัฒนาเนี่ย มันต้องมีจุดหมายใช่มั้ย ทีนี้ถ้าเราไม่ชัดในเรื่องนี้ เราไม่เข้าใจเรื่องตัวธรรม ธรรมะส่วนใหญ่มันมาอยู่ตรงเนี้ยนะ คือเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ทั้งหมดที่กว้าง แล้วมองเห็นจุดหมายทางไป ถ้าเราไม่เข้าใจอันนี้เราก็จะมองอะไรไปตามที่เขาสอนเรา บอกเรา ว่าตามกันมา เช่น ทิฐิของคนยุคนี้ บอกว่าประเทศที่พัฒนาคือประเทศอุตสาหกรรม ว่างั้นนะ ใช่มั้ย เวลาที่ผ่านมาเนี่ยความหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วคือประเทศที่ industrialized ประเทศที่ด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา ประเทศที่ยังไม่เป็นอุตสาหกรรม ก็ถือว่าการมีอุตสาหกรรม เป็นประเทศอุตสาหกรรม เป็นเครื่องวัดการพัฒนา เราก็อยากจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม ใช่มั้ย เราก็ตั้งเป้าว่าเนี่ยอยากจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีความเจริญทางเทคโนโลยี มีวัตถุเสพ มีเศรษฐกิจขยายตัว เติบโต มีจีดีพีตัวใหญ่ ๆ อะไรก็แล้วแต่นะ ก็ว่ากันไป นี้ไอ้นี่ที่จริงมันเป็นเพียงเป้าหมายที่คนอื่นเขาวาง แล้วเราก็ไปว่าตาม เราไม่ได้มองว่า [00:55:58] ที่จริงจุดหมายของการพัฒนาเนี่ย ที่แท้มันก็เพื่อคือชีวิต สังคม มนุษย์เรา โลกที่เราอยู่เนี่ย ใช่มั้ย ให้ชีวิตดี ชีวิตเจริญงอกงาม ชีวิตดีงามมีความสุข สังคมร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนกัน มีความสัมพันธ์ที่ดี โลกนี้น่าอยู่อาศัย ธรรมชาติแวดล้อมสดชื่นสวยงาม ไอ้ที่จริงนั้นคือ เนี่ยเราอยู่กันดีเพื่อให้คนได้อยู่กันดีในโลกที่เป็นอย่างเงี้ย มีชีวิตที่ดี สังคมที่ดี โลกที่ดี อย่างเงี้ย
ที่จริงเราจะทำอะไร ไม่เฉพาะการพัฒนาหรือไม่พัฒนาหรอก มันก็เพื่อจุดหมายอย่างเงี้ย ทีนี้ถ้าเราขืนไปพัฒนาตามที่ตั้งหัวข้อให้เรายึดกันอย่างที่ว่า จะให้มีอุตสาหกรรมอย่างเนี้ย ตายแน่ ในที่สุดก็มาเจอเมื่อไม่นานนี้ ปี ๓๐ ก็ประกาศว่าการพัฒนาที่ผ่านมานี้ สหประชาชาติบอกว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ใช่มั้ย บอกว่าเพราะเหตุไปพัฒนาได้มุ่งอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ขยายตัวเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แทบแย่เลย เราเริ่มยุคพัฒนามาปี ๒๕๐๓ ใช่มั้ย อันนั้นเป็นทศวรรษแรกของการพัฒนา สหประชาชาติเขาประกาศเราก็พลอยตามไปด้วย สหประชาชาติเขาประกาศ ปี ๑๙๖๐ ถึงปี ๑๙๗๐ เป็นอะไร เขาเรียกว่า Development Decade เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนา ช่วงที่ ๑ พอช่วงที่ ๑ เริ่มไทยก็เริ่มเลย ยุคนั้นจอมพลสฤษดิ์พอดี เลยเริ่มยุคพัฒนา ใช่มั้ย พอผ่านไปแค่ ๑๙๗๒ แค่นั้นเอง มี Earth Summit ครั้งแรก การประชุมสุดยอดสูงสุดของโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมเสียหายแล้ว ใช่มั้ย พอมาปี ๓๐ ก็สหประชาชาติก็ประกาศเลยว่าการพัฒนาที่ผ่านมาไม่ยั่งยืน เพราะตัวสำคัญคือเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อะไรเงี้ย ก็นี่ก็คือการที่เราไปหลงตาม [00:57:52] ตอนนี้ก็คือว่าเราเป็นตัวของตัวเอง มามองให้ดีว่าจุดหมายการพัฒนาที่ไหนก็คือธรรมะ ความจริงของสิ่งทั้งหลายในระบบชีวิต สังคม ธรรมชาติ ก็ให้ชีวิตมันดีงาม มีความสุข สังคมนี้ร่มเย็นเป็นสุข อยู่กันด้วยดี เอื้ออาทรเกื้อกูลกัน ไม่เบียดเบียนกัน ธรรมชาติก็น่าอยู่อาศัย โลกนี้ดูแล้วสดชื่น อากาศดี น้ำดี ดินดี อะไรเป็นต้นเนี่ย อยู่กันดี เอาละ เดี๋ยวนี้ก็เริ่มเข้ามาสู่แนวความคิดนี้ใช่มั้ย ก็เริ่มประสาน แต่ว่าเราอย่าเสียหลัก ก็ให้จุดหมายเนี่ยมันอยู่ ไม่งั้นแล้วเดี๋ยวไปต่อไป เดี๋ยวนี้มีบางท่านเลยบอก อย่าไปพัฒนามัน ว่างั้นใช่มั้ย พอแล้ว นี่ก็เลยกลายเป็นว่าคำว่าพัฒนาเนี่ยมันจะน่าพัฒนาหรือไม่ มันก็อยู่ที่เราเข้าใจความหมายของคำว่าพัฒนาว่ายังไง แล้วมีขอบเขตแค่ไหน
เอาละ อาตมาพูดมาเรื่องธรรมะกับการพัฒนา ในหัวข้อที่ตั้งใหม่ว่า การพัฒนาที่ดีหนีไม่พ้นธรรมนี่ ก็เอาว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ถือว่าวันนี้เป็นการอนุโมทนา ก็ถือว่าที่มาฟังธรรมวันนี้เป็นการทำบุญ เพราะว่าทำบุญนี้ต้องครบสาม หนึ่ง ทาน ชัดแล้ว มาเลี้ยงพระ สอง ศีล ก็คือว่ามาสำรวมพฤติกรรมทำความดีกัน พฤติกรรมดีก็เป็นศีล เริ่มต้นแต่ไม่เบียดเบียน อยู่ในความสงบ เป็นระเบียบ แล้วก็ภาวนาก็คือพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำจิตใจของเราให้สงบเบิกบาน ผ่องใส ทำให้ปัญญาเกิดขึ้นด้วยการฟังธรรม ก็ธรรมเทศนาก็ถือว่าเป็นส่วนภาวนา ก็ถือว่าที่ทุกท่านทำนี้ ก็เป็นการที่ทุกท่านเจ้าภาพบูชาคุณความดีของท่านอาจารย์ป๋วย ฉะนั้นก็ถือว่า เราอุทิศกุศลที่ได้ทำทั้งหมดนี้แก่ท่าน ทำในนามท่าน ทำเพื่อท่าน และจะบูชาท่านได้ดีก็ด้วยตัวเรานี่แหละบูชาธรรมต่อไป ใช่มั้ย เพราะบอกแล้วว่าบูชาคนที่ควรบูชา ก็คือบูชาธรรมะที่อยู่ในตัวท่าน บูชาท่านที่เป็นที่รองรับธรรมะ และบูชาธรรมะที่ท่านเป็นสื่อแสดงออกมา แล้วก็บูชาด้วยการธำรงรักษาธรรมะนี้ ด้วยการปฏิบัติของตนเอง เราก็จะทำการบูชาที่ท่านเรียกว่าปฏิบัติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติ ซึ่งพระพุทธเจ้าสรรเสริญว่าเป็นการบูชาที่สูงสุด ซึ่งจะทำให้ชีวิตสังคมและโลกนี้ ดำรงอยู่ได้ดี เจริญงอกงามอย่างแท้จริง นั่นคือการพัฒนาที่ถูกต้อง การพัฒนาที่ดีหนีไม่พ้นธรรม ก็ยุติลงด้วยประการฉะนี้ ก็ขอน้อมจิตให้ทุกท่านเจ้าภาพอุทิศกุศลแด่ท่านอาจารย์ด็อกเตอร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ขอให้ท่านได้อนุโมทนา น้ำใจกตัญญูกตเวทิตาธรรม และการบูชาคุณของท่านจากลูกศิษย์ทั้งหลายทั่วทุกคน แล้วขอให้ท่านมีความสุข และขอให้เจ้าภาพทุกท่าน ก็มีความเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นงอกงาม เป็นสุข เจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติกิจหน้าที่การงาน ให้บรรลุผลสมหมายที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ชีวิต แก่สังคมและแก่โลกทั้งหมด โดยทั่วกันทุกท่านทุกเมื่อ เทอญ