แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : พอดีวันนี้เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา แล้วก็เป็นวันสำคัญที่เราถือว่าเป็นวันหลัก คือวันวิสาขบูชา แล้วก็มีการเทศน์ การแสดงธรรมเป็นหลัก ในพิธีเวียนเทียน ที่อาตมาพูดนี้ก็เลยเป็นรายการแถม ก็ถือว่าเป็นเรื่องมาประกอบ เสริมความรู้ความเข้าใจ เสริมคำอนุโมทนา ที่ญาติโยมได้มีศรัทธามาทำบุญทำกุศล สำหรับวันนี้ก็ถือว่ามาทำพุทธบูชา และวันที่ระลึกการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อกี้บอกว่าวันวิสาขบูชานี้ เป็นวันสำคัญหลัก แต่โบราณนี้เรามีวันวิสาขบูชาวันเดียว ก็คงทราบกันดีเรื่องประวัติ ทบทวนกันนิดหนึ่ง อีก 2 วันคือวันมาฆบูชาและวันอาสาฬหบูชา เพิ่งมีไม่นานนี้เอง วันมาฆบูชานั้น ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงริเริ่มขึ้น ก็มีตั้งแต่รัชกาลที่ 4 สมัยก่อนนั้นก็ไม่มี คือตัววันนะมีแต่ว่าไม่ได้ยกขึ้นมาประกอบการบูชาหรือทำบุญทำกุศลเป็นพิเศษ แล้วส่วนวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันประกาศพระธรรมจักร หรือวันเรียกว่าประดิษฐานพระพุทธศาสนาก็ได้ ก็เพิ่งจะมีเมื่อเขาเรียกว่ากึ่งพุทธกาล ในช่วงปี พ.ศ. 2500 นี้เอง ก็เป็นของใหม่ แต่วันวิสาขบูชานี้มีเรื่อยมา แล้วก็ไม่ใช่มีเฉพาะประเทศไทย ประเทศอื่นก็มี ประเทศพุทธศาสนาทั้งหลาย แต่ประเทศอื่นนั้นโดยมากไม่มีวันอื่น วันมาฆบูชาและวันอาสาฬหบูชา ไม่มี ก็ไม่ได้ยกขึ้นมา ก็ถือวันสำคัญอยู่ที่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกโดยการที่เริ่มต้นก็ประสูติ ตรัสรู้ แล้วการปรินิพพานของพระองค์ก็เลยความสำคัญอย่างยิ่งด้วย ทีนี้เราก็มาถึงวันวิสาขบูชานี้ ก็ต้องอนุโมทนาโยมญาติมิตรทั้งหลาย อย่างที่กล่าวข้างต้น ว่ามีศรัทธา แล้วก็มาทำบุญทำกุศล ทำพิธีบูชา ที่อนุโมทนาสำคัญก็คือว่า ที่ตัวของญาติโยมพุทธศาสนิกชนนั่นเองที่ได้ทำจิตใจให้เป็นบุญเป็นกุศล ไม่ใช่ทำแต่เพียงภายนอก ทำจิตใจของตัวเองที่มีศรัทธา มีฉันทะเป็นต้น เป็นธรรมะเป็นบุญอยู่ในใจแล้ว แล้วก็มีปราโมทย์ความร่าเริง ผ่องใส สดชื่น เบิกบาน มีปิติความเอิบอิ่มใจ ปลื้มใจ เป็นต้น มาก็เลยเป็นบุญกุศลอยู่ในใจ แล้วมาในวัดก็มาด้วยจิตใจที่ดีเป็นพื้นฐานแล้ว แล้วก็เรามาทำบุญทำกุศล แม้แต่ยังไม่มาวัดเป็นต้น เช้าขึ้นมาก็หลายท่านก็ตักบาตร ก็มาทำบุญอันแรกที่เรารู้จักกันก็คือ ทาน นั่นเอง จะตักบาตรถวายภัตตาหารยังไง ก็อยู่ในข้อทาน แล้วก็เมื่อมาวัดเนี่ย จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ก็เป็นการปิดโอกาสไม่ให้เราผิดศีลหลายอย่าง ก็เลยได้รักษาศีลด้วย พอเข้ามาในนี้ก็ต้องสำรวมกาย วาจา ก็เลยได้การรักษาศีลไปด้วย ศีลก็มีมา แล้วแทบจะเป็นอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นการมาร่วมทำบุญที่วัดนี้ก็ได้ประโยชน์อันนี้ขึ้นมาเองด้วย แล้วข้อต่อไปก็คือภาวนา ทาน ศีล ภาวนา ภาวนาก็คือการเจริญสติเจริญปัญญา เริ่มที่จิตใจที่บอกเมื่อกี้ เกิดความสดชื่นเบิกบาน เกิดความสงบใจ น้อมไปในบุญในกุศล ในเรื่องทีดีงามนี้เป็นเรื่องของภาวนาทั้งนั้น แต่ภาวนาที่ปรากฏออกมาชัด ซึ่งท่านแยกออกไปจากทาน ศีล ภาวนา เป็นบุญกิริยาวัตถุ จาก 3 เป็น 10 มันจะมีข้อสำคัญอันหนึ่งที่โยงธรรมในวันนี้ ซึ่งถือว่าสำคัญมาก เป็นตัวเริ่มของภาวนาคือธรรมสวนะ ท่านจัดเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง ธรรมสวนมัย เรื่องกิริยาวัตถุ เรื่องการทำบุญที่ทำด้วยการฟังธรรมนี้อยู่ในข้อภาวนา แล้วก็เป็นตัวสำคัญเลย เป็นตัวเริ่มแรก เป็นตัวที่จะให้การภาวนาเนี่ยเจริญก้าวหน้าไปสู่ความสมบูรณ์ได้ เราฟังธรรมเราก็ได้ความรู้ความเข้าใจ แล้วก็นำไปประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมก็ต้องเริ่มด้วยฟังธรรม แล้วก็เอาไปใช้เอาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นี่เป็นเรื่องของภาวนา การพัฒนาชีวิตของตัวเอง ไม่เฉพาะว่าจะต้องมานั่งอยู่ในวัดหรือในที่เงียบหรอก คือการดำเนินชีวิตของเราตลอดเวลา ก็เป็นการพัฒนาในธรรมะทั้งนั้น ในการที่จะทำงาน อยู่บ้าน ในครอบครัว ปฏิบัติธรรม เลี้ยงดูลูก หรือคุมลูก เด็กๆ ตั้งใจเล่าเรียนศึกษา มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกเร หรือว่าข้าราชการทำงานด้วยความสุจริต ขยันหมั่นเพียร ทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติสมความมุ่งหมาย ก็เป็นการปฏิบัติธรรมทั้งนั้นแหละ ทั้งหมดนี้ก็มีธรรมสวนะ การฟังธรรมนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นปัจจัยอันหนึ่งที่จะช่วยให้เดินหน้าก้าวไปได้ วันนี้โยมก็ได้มาทำอันนี้ ตอนนี้ก็มาถึงรายการอีกครั้งหนึ่งของการธรรมสวนะ การฟังธรรม ก็จำไว้ว่าอยู่ในส่วนของภาวนา เป็นองค์สำคัญในข้อภาวนาที่จะทำให้เราเจริญงอกงามในธรรม และเมื่องอกงามในธรรมแล้ว ก็ได้อานิสงค์ต่อไปในตนเอง ก็คืองอกงามในความสุข ในความสุขที่แท้จริง ที่ชอบธรรม อันนี้ก็ขออนุโมทนา ทีนี้เรื่องจิตใจของโยมได้ตั้งมาอย่างนี้แล้ว ทีนี้ก็มาเรียนรู้เรื่องธรรมะ ที่เกี่ยวกับวันวิสาขบูชา การที่เรารู้เข้าใจสิ่งที่เราทำ เมื่อเราทำอะไรเราควรจะทำด้วยความรู้เข้าใจให้ชัดเจน แล้วเราก็จะได้ทำบุญทำกุศลที่จริงจัง ไม่ใช่ว่ามาวิสาขบูชาแล้วก็เลือนรางว่าอะไรเป็นอะไรไม่รู้ความหมาย แต่ก่อนจะพูดต่อไปในเรื่องนี้ก็ขอแทรกนิดหน่อย เวลานี้ก็มีเหตุการณ์ที่เป็นข่าวคราวในวงการพระสงฆ์ ซึ่งอาจจะทำให้ญาติโยม ไม่สบายใจแล้วก็ข้องจิตใจอยู่ทำให้ขัดขวางแม้แต่การฟังธรรมด้วย ฉะนั้นก็มาเลยมาทำให้สว่างโล่งไปซะก่อน คือเรื่องเหตุการณ์ความไม่ดีไม่งามอะไรที่เกิดขึ้นในวงการพระสงฆ์เนี่ย ก็เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนจะต้องรู้เข้าใจให้ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ว่าที่จริงแล้วก็ถือว่าเป็นปัญหา ปัญหานั้นเป็นเครื่องฝึกใจ แล้วเป็นเครื่องลับปัญญา เพราะฉะนั้นเราใช้ให้เป็น เราก็พลิก แทนที่จะให้มันทำร้ายเรา เราก็กลับมาใช้ประโยชน์ ปัญหานี้เป็นสิ่งสำคัญ มนุษย์เกิดมาต้องเจอปัญหา ปัญหาชีวิตส่วนตัวบ้าง ปัญญาส่วนรวมบ้าง บางทีถ้าเราปฏิบัติต่อมันไม่ถูกก้เสีย เสียตั้งแต่ในจิตใจของเรา ส่วนรวมก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ กลับไปซ้ำเติมปัญหาก็มี เพราะฉะนั้นจะต้องเริ่มวางตัววางใจต่อปัญหาเรื่องเลวร้ายเหตุการณ์ไม่ดีนี้ให้ดีให้ถูกต้อง ที่อย่างเมื่อกี้ว่าปัญหานั้นเป็นเรื่องฝึกใจและเป็นเครื่องลับปัญญา อันนี้เริ่มต้นก็คือว่าเรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ใจเราต้องตั้งรับให้ถูก คือไม่ให้ใจนี้ถูกกระทบกระแทกกระทั้นขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือว่าเหี่ยวแห้งหดหู่ หรือว่าฟุ้งซ่านวุ่นวายอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ เรียกว่ารักษาใจเราไว้ รักษาใจก็ให้อยู่ในความสงบ ได้มั่นคง นี่ก็อันที่หนึ่งแล้ว แม้แต่ชีวิตของเราที่ท่านเรียกว่าถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งแล้ว ลาภ-เสื่อมลาภ ยศ-เสื่อมยศ นินทา-สรรญเสริญ สุข-ทุกข์ เนี่ย เกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา ท่านก็ให้ใช้เป็นเครื่องฝึก ฝึกเราจนกระทั่งเรามีความสามารถที่จะตั้งรับต่อโลกธรรมเหล่านั้นได้ถูกต้อง แม้แต่ใช้มันให้เป็นประโยชน์ เมื่อใช้มันให้เป็นประโยชน์ เราก็ได้ฝึกตัวเอง อย่างเรื่องปัญหาในวงการพระสงฆ์อะไรต่ออะไร เริ่มต้นก็รักษาใจของเราก่อน การรักษาใจ สำคัญก็คือ หนึ่ง-ทำใจของเราอย่างที่บอกเมื่อกี้ ให้สงบ หนักแน่น มั่นคง ไม่ถูกกระทบกระแทก แล้วยกเรื่องให้ปัญญา ปัญหาเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องของจิตใจ ไม่ใช่เอาใจเข้าไปยุ่งกับปัญหา กับความทุกข์ แล้วทำให้ใจเนี่ยวุ่นวาย ใจก็เลยพลอยทุกข์เดือดร้อนไปด้วย ปัญหาเป็นเรื่องของปัญญา ปัญหานั้นต้องจัดการด้วยปัญญา แล้วทำไงใจ ใจก็ต้องรักษาให้เป็นปกติ ให้ดี ใจอยู่ในสภาพที่ดี ใจอยู่ในสภาพที่ดีก็จะได้ใช้ใจนั้นเป็นที่ทำงานของปัญญา ใจต้องอยู่ในสภาพที่ดี ใจนั้นเป็นที่ทำงานของปัญญา ตัวปัญญาเป็นตัวที่จะจัดการปัญหา แล้วถ้าที่ทำงานของปัญญา คือจิตใจ ไม่ดี ปัญญาก็เสียโอกาสในการทำงาน เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อจำเป็น เป็นหลักการสำคัญที่ว่า เกิดปัญหา เกิดเรื่องราวร้าย รักษาใจไว้ให้ได้ อยู่ในสภาพที่มั่นคงหนักแน่น สงบเป็นอย่างดีเลย แล้วปัญหามายกให้ปัญญาจัดการกับปัญหา เท่านี้ก็ได้เรื่องแล้ว ก็จะแก้ไขปัญหาได้ อย่างเรื่องในวงการพระสงฆ์นี้ ถ้าเรามองด้วยปัญญา ในแง่หนึ่ง อาตมาเคยเขียนหนังสือมาหลายเรื่องหลายครั้งแล้ว เรื่องประเภทนี้ เคยเกิดขึ้นมา ไม่ใช่ครั้งเดียวหรอก หลายท่านที่อายุมากๆ ก็ได้ผ่านเหตุการณ์พวกนี้มา เลวร้าย ก็ทำไง แง่หนึ่งที่จะมองก็บอกว่า พระสงฆ์นี้ถือว่าจะเรียกใช้ภาษาฝรั่งว่าเป็น cream ของสังคม ในแง่คุณธรรมจริยธรรม แล้วถ้าสังคมของไทยเรานี้ แม้แต่ส่วนที่ถือว่าเป็น cream ก้อนดีเนี่ย ยังแย่ขนาดนี้ แล้วสังคมไทยส่วนใหญ่จะไปถึงไหนแล้ว อันนี้กลายเป็นเครื่องเตือนเรานะว่าอย่าได้ประมาท ให้มาตรวจสอบตัวเองดู แล้วตื่นขึ้นมาเสีย เราอาจจะตกอยู่ในความประมาทมานานแล้ว สำหรับสังคมไทยนี่อาจจะฟอนเฟะหรืออะไรไปอย่างรุนแรงแล้ว มันจะถึงขนาดนี้ มาถึงส่วนที่เป็น cream นี่มันแย่ไปด้วย มันฟ้องแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าได้นอนใจ อย่ามัวถกเถียงกันว่างั้นว่างี้คนนั้นคนนี้ มาดูสังคมของตัวเองแล้วรีบตื่นขึ้นมา ลุกขึ้นมารีบหาทางแก้ไขกัน นี่แหละเป็นจุดที่หนึ่ง ที่ว่าจะให้เราตื่นตัวไม่ประมาท แล้วก็มองว่าคนไทยทุกคน พุทธศาสนิกชน พุทธบริษัททั้งหมด เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา เป็นเจ้าของวัดวาอาราม พระพุทธศาสนา วัดวาอาราม ไม่ใช่ของพระองค์ไหน แน่นอนเป็นของชาติของแผ่นดินทั้งหมด ฉะนั้นเรามีส่วนร่วมรับผิดชอบทุกคน ที่ต้องแก้ไข แล้วทำไมเราปล่อยอย่างนี้ละ ไอ้ที่มีเหตุร้ายอย่างนี้เกิดขึ้น เพราะว่าชาวพุทธคนไทยปล่อยปละละเลยหรือเปล่า ตกอยู่ในความประมาท สำรวจตัวเองให้ดีก็จะเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นด้วย อาตมาอยากจะท้าวความแม้ตั้งแต่เสียกรุง หมายถึงกรุงอยุธยานะที่ถูกเผาเนี่ย แล้วเรากู้ชาติกู้แผ่นดินมานี่จนกระทั่งบัดนี้ เรายังไม่ได้ฟื้นตัวเท่าที่ควรเลยนะ ยังไม่ไปถึงไหน เพราะฉะนั้นตื่นขึ้นมาแล้วก็รีบสำรวจตัวเอง ลุกขึ้นมาก้าวหน้าเดินต่อไป ตั้งตัวตั้งหลักให้ดี มันจึงจะไปได้ แล้วการที่จะดูแก้ปัญหาได้ด้วยปัญญานี้ก็คือว่า หนึ่ง-ก็ดูสภาพตัวเองอย่างที่ว่าเนี่ย แล้วสอง-ก็สืบสาวเหตุปัจจัย การแก้ไขปัญหา แม้แต่ดูปัญหามันเกิดมายังไงก็เกิดจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา แล้วจะแก้ไขยังไง ก็ต้องไปแก้ไขที่เหตุปัจจัยนั้นแหละ แล้วทีนี้เหตุปัจจัยอะไร ทางฝ่ายพระ ทางฝ่ายบ้านเมือง ทางฝ่ายประชาชน มันมีเหตุกันทั้งนั้นแหละ ทุกฝ่ายทำเหตุ ฉะนั้นไปวิเคราะห์แยกแยะให้ดี เราก็จะเห็น แล้วเมื่อเห็นเหตุปัจจัยเราก็เห็นทางแก้ไข เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ฝากไว้ว่าอย่าไปมัวโศกเศร้าเสียใจ ทำใจไม่สบาย ว้าวุ่นขุ่นหมองใจ จะไปทางเหี่ยวแห้งหดหู่ หรือจะไปทางฟุ้งซ่าน ไม่พอใจ วุ่นวายใจอะไรก็ตาม ไม่เอาทั้งนั้น เอาอยู่ในความสงบ หนักแน่น แล้วก็ให้ใจเนี่ยเป็นที่ทำงานอย่างดี เป็นที่ทำงานที่มีคุณภาพสำหรับให้ปัญญามาทำงานอย่างได้ผล ฉะนั้นต้องแยกอันนี้ให้ถูก ใจเป็นที่ทำงานของปัญญา เรื่องอย่างนี้มา ใชไม่ต้องยุ่ง ยกให้ปัญญา ปัญญาจัดการ แล้วใจเราก็คอนตามดูด้วยความสบายใจ ว่ามันก้าวหน้าไป เรารู้ปัญหา รู้ปัจจัย เราก็สบายใจ ใจมีแต่เรื่องที่จะต้องรับให้มันดี ไม่งั้นใจขุ่นมัวเศร้าหมอง ปัญญาก็พลอยทำงานไม่ได้ผลไปด้วย เอาละ อันนี้ฝากไว้ ก็ขอให้โยมทุกท่านใจโล่งโปร่งสบายซะ ไม่ต้องไปขุ่นมัวเศร้าหมองกับเรื่องนี้
ทีนี้ก็มาพูดถึงเรื่องวิสาขบูชา วิสาขบูชานั้นปีนี้ก็อยากจะพูดถึงความหมาย ก็เอาตัวเนื้อกันเลย ว่าวันวิสาขบูชาที่เป็นวันกระทำการบูชาพระพุทธเจ้า โยงไปถึงพระรัตนตรัยทั้งหมด ให้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ คือการประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น ก็ควรจะรู้การประสูติมีความหมายอย่างไร การตรัสรู้มีความหมายอย่างไร การปรินิพพานมีความหมายอย่างไร ไม่ใช่เพียงระลึกถึงเท่านั้น แต่เราต้องระลึกถึงด้วยปัญญา สติระลึกมาแล้วปัญญาต้องรู้เข้าใจด้วย ต้องชัดเจน ว่าจะได้ใช้ประโยชน์ได้ แล้วมันจะมาหนุนให้เราได้เจริญก้าวหน้าพัฒนาในธรรมด้วย การประสูติเนี่ย ให้ดูเหตุการณ์ในพุทธประวัติ พอพระพุทธเจ้าประสูติ ท่านก็เล่าเรื่องไว้ว่า พระพุทธเจ้าประสูติ หรือยังไม่ได้เรียกว่าพระพุทธเจ้าประสูติ เรียกว่าเจ้าชายสิทธัตถะ ก็เป็นพระโพธิสัตว์ พอประสูติมาก็เสด็จตั้งพระองค์ยืนขึ้นนั่นเอง พูดง่ายๆ ว่ายืนขึ้น ยืนหรือลุกขึ้นมา ลุกขึ้นมายืน แล้วก็ตั้งเท้าเสมอกัน แล้วก้าวเดินไป 7 ก้าว ก้าวเดินไป 7 ก้าวก่อนนะ พอก้าวเดินไป 7 ก้าวแล้วหยุด เหลียวดูรอบทุกทิศ แล้วก็เปล่งอาสภิวาจา แปลกันว่าวาจาอาจหาญ
อคฺโคหมสุมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏโฐหมสฺมิ โลกสฺส อยมนฺติมา เม ชาตินตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ
เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก หรือของโลก เราเป็น เชฏฐะ เป็นผู้ใหญ่ที่เรียกว่ายิ่งใหญ่ที่สุดนั่นแหละ เป็นหัวหน้าหมู่ชน เขาเรียกว่าเชฏฐะ ของโลก แล้วก็เป็นผู้ประเสริฐของโลก วาทะวาจานี้ปกติเป็นของเรียกใช้กับพระพรหม ผู้สร้างโลก ที่เป็นเชฏฐอัคคะ เชฏฐะ อะไรทำนองนี้ เดิมใช้สำหรับพระพรหม ตอนนี้พระพุทธเจ้าเจ้าชายสิทธัตถะประกาศแล้วว่าเรานี่แหละเป็นอัคคะ เป็นเสฏฐะ แล้วให้ดูว่าไม่ใช่ว่าประสูติก็ตรัสเลย ตอนนั้นเป็นมนุษย์ แล้วก็เสด็จลุกขึ้น นี่ๆ ให้สังเกตไว้ แล้วก็ก้าวไป 7 ก้าว แล้วเปล่งกล่าวอาสภิวาจา อันนี้คือสัญลักษณ์แสดงอะไร พระพุทธเจ้าเกิดเป็นมนุษย์ แต่ว่าก้าวไป 7 ก้าว นั่นคือเครื่องหมายของการที่ว่าได้ก้าวไปสู่ความเป็นพุทธะ นี่เป็นเครื่องหมายว่าที่พระองค์เปล่ง
อาสภิวาจานั้น ก็คือประกาศสถานะของพระพุทธเจ้านั่นเอง ว่าเป็นอัคคะ เป็นผู้เลิศ เป็นเชฏฐะ เป็นหัวหน้าก็ได้ เป็นผู้ประเสริฐของโลก เรื่องเป็นยังไง ความหมายของการประสูติ การประสูตินี้ขอให้เราดูภูมิหลังของประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป เขานับถือพระพรหมผู้สร้าง ผู้เป็นใหญ่ว่าสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งชีวิตมนุษย์ แล้วจัดแจงสังคมมนุษย์ให้แบ่งเป็น 4 วรรณะ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ใครเกิดมาเป็นยังไง เป็นไปตามที่พระพรหมสร้างมา จะแก้ไขไม่ได้ จะต้องเป็นอย่างนี้ตลอด ใครอยู่ในวรรณะไหน ก็ต้องอยู่ในวรรณะนั้น แล้วก็ต้องเชื่อฟังพระองค์ พระองค์จัดสรรมาเสร็จ ทีนี้พวกนี้ก็ต้องรอการบันดาล รอการโปรดปรานของเทพเจ้า ก็มีพิธีบูชายัญเซ่นสรวงบูชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือเป็นชีวิตตลอดตั้งแต่ทุกวัน พิธีบูชายัญมีตั้งแต่ประจำวัน ไปจนกระทั่งพิธีบูชายัญใหญ่ๆ ที่ว่า อัศวเมธ เป็นต้น ที่พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ทีนี้การบูชายัญก็คือการเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้า มีพระพรหมเป็นต้น ให้มาใช้อำนาจดลบันดาลสิ่งที่ตนปรารถนาให้ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ต่างๆ เนี่ย การอาศัยพึ่งพารอคอยอำนาจดลบันดาลอย่างนี้ มันทำให้คนนอนรอ นอนรอผลจากการดลบันดาล นอนรอความหวังไป แล้วก็ไม่รู้จักปรับปรุงแก้ไขตัวเอง อยู่ในวรรณะอะไร ก็อยู่กันอย่างนั้น แก้ไขไม่ได้ พระพุทธเจ้าประสูติขึ้นมา การที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เริ่มด้วยเป็นมนุษย์ แล้วก้าวไปเป็นพุทธะ เป็นการประกาศศักยภาพของมนุษย์ ใช้ภาษาปัจจุบัน ว่ามนุษย์นี่แหละมีความสามารถที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลผู้ประเสริฐสุขได้ แต่ต้องทำ ลุกขึ้นมาสิ หนึ่ง-ก็ลุกขึ้นมา สอง-ก้าวไป ก้าวไปทำด้วยตนเอง ก้าวไป 7 ก้าว หมายความว่าเป็นพระพุทธเจ้า อันนี้การประสูติก็เป็นตัวนี้ ประกาศการมี จะเรียกว่าศักยภาพของมนุษย์ ภาษาสมัยใหม่ ว่าสามารถที่จะพัฒนาฝึกตนให้เป็นผู้ประเสริฐได้อย่างสูงสุด ไม่ต้องรอการดลบันดาลของเทพเจ้า ไม่ต้องรอการอ้อนวอน ทีนี้ที่เสด็จก้าวไป 7 ก้าวนี่ คืออะไร อันนี้คัมภีร์ไม่ได้อธิบายไว้ แต่ขอพูดอย่างนี้ก็แล้วกัน มีพระสูตรพระสูตรหนึ่งซึ่งเป็นพระสูตรที่สั้นมาก มีแค่ 4 บรรทัด เป็นพระสูตรที่สั้นสูตรหนึ่ง ขอบอกให้ฟัง ว่ายังไง
มา-ระ-เส-นับ-ปะ-มัด-ทะ-นัง-โว ภิก-ขะ-เว เท-สิ-สา-มิ โอ-ปะ-นะ
มา-ระ-เส-นับ-ปะ-มัท-ทะ-โน-มัค-โค ยะ-ทิ-ทัง-สัต-ตะ-โพช-ชัง-คา
กะ-ตะ-เม-ทะ-สะ-ติ-สัม-โพช-ชัง-โค
ธัม-มะ-วิด-จะ-ยะ-สัม-โพช-ชัง-โค
วิ-ริ-ยะ-สัม-โพช-ชัง-โค
ปิ-ติ-สัม-โพช-ชัง-โค
ปะ-สัท-ทิ-สัม-โพช-ชัง-โค
สะ-มา-ธิ-สัม-โพช-ชัง-โค
อุ-เบก-ขา-สัม-โพช-ชัง-โค
อะ-ยัง-โข-ภิก-ขะ-เว มา-ระ-เส-นับ-ปะ-มัด-ทะ-โน-มัค-โค
คำว่า มัคโค ก็คือทาง ทางที่เจ้าชายสิทธัตถะก้าวไป 7 ก้าว ก้าวไปครบ 7 แล้วจะเป็นพระพุทธเจ้า ถ้ามาเทียบดูหลักนี้ โพชฌงค์ แปลว่าอะไร แปลว่าองค์แห่งการตรัสรู้ สำเร็จ โพชฌงค์ นี้มี 7 ใช่ไหม สัตตะโพชฌงค์ 7 ข้อ เมื่อทำโพชฌงค์ครบ ก็เป็นพุทธะ เพราะโพชฌงค์นี่แปลอยู่แล้วว่าองค์ของพุทธะ องค์ของโพธิ องค์ของการตรัสรู้ อันนี้ให้สังเกตไว้ว่าเป็นมรรค ธรรมดาเราจะได้ยินว่ามรรคมีองค์ 8 แต่วันนี้มรรคองค์ 7 และมีสูตรอื่นด้วย มรรคมีองค์ 7 แต่ไม่ใช่เรียกองค์ 7 มรรคมี 7 ข้อ เดี๋ยวอธิบายนิดนึง แต่ขอแทรกนิดหนึ่ง ท่านคงสงสัย เอ๊ะ ทำไมไม่เอาอริยมรรคองค์ 8 ล่ะ ให้ท่านสังเกตดู อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโคมรรคามีองค์ 8 ประการอันประเสริฐ หรืออันเป็นอริยะ มีองค์ 8 ก็หมายความว่ามีองค์ประกอบมีส่วนประกอบ 8 มรรคก็คือระบบของทางนั้น วิถีทางนั้นมีเป็นระบบของการเดินทางที่มีองค์ประกอบ 8 อย่าง เป็นองค์ประกอบ 8 อย่าง เป็นองค์ประกอบนี่เป็นระบบของมรรค ถ้าจะปฏิบัติให้บรรลุโพธิ ก็จะต้องให้ครบองค์ทั้ง 8 แต่มาโพชฌงค์นี้เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นตัวเดินทาง อันนั้นเป็นทางที่จะเดิน ทางที่จะเดินต้องมีองค์ประกอบอย่างนี้ๆ ให้ครบ แต่ตัวการเดินทาง โพชฌงค์นี้เป็นการเดินทาง ขึ้นสติ ธัมมวิจยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ตั้งต้นด้วยสติ เดินไป ก้าวไป แล้วก้าวไปนี้ ก้าวไปในมรรคมีองค์ 8 จนครบ ตัวปฏิบัติโพชฌงค์ มรรคเป็นทางเดินที่ต้องให้ครบองค์ คุณปฏิบัติเดินโพชฌงค์ คุณก็ต้องดูด้วยว่าครบมรรคมีองค์ 8 ไหม ทีนี้เรามาโยงว่าเอาโพชฌงค์7 เจ้าชายสิทธัตถะ ก้าวครบ 7 ก้าว ก็เป็นสัญลักษณ์ของการที่ได้ปฏิบัติครบโพชฌงค์ 7 ประการ ก็ได้เป็นพระพุทธเจ้า อันนี้เราทิ้งไว้ก่อน แต่ว่าสาระสำคัญตรงนี้ก็คือว่ามนุษย์นี่มีศักยภาพ มีความสามารถอยู่ในตัวเอง ที่จะฝึกฝนพัฒนา มีการศึกษาเป็นต้น เป็นสำคัญ เป็นตัวจริงที่จะทำให้ตนเองเนี่ยเป็นพุทธะ ก็แปลว่าได้เป็นบุคคลที่ประเสริฐ ซึ่งกลายเป็นว่าพระพรหมก็มาเป็นสาวก เป็นผู้มากราบไหว้ ขอแทรกนิดหนึ่ง คนไทยนี่ไหว้กันเรื่อยเปื่อย เป็นนักอ้อนวอน มานับถือพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้ก็ยังอ้อนวอนไปหาพระพรหมที่เอราวัณ แล้วก็ไปไหว้กัน ไปอ้อนวอนกัน โดยไม่รู้ประวัติพระพรหมนั้นเลย ทำกันไปโดย ขออภัย ด้านปัญญาเราไม่เอาเลย เราจะเอาแต่ลาภอย่างเดียว ไปอ้อนวอนไปบูชา บวงสรวงพระพรหม ก็ที่จริงประวัติการสร้างพระพรหมเอราวัณนี้ ท่านก็บอกไว้แล้ว ผู้สร้างเอง ท่านบอกไว้ว่าพระพรหมมีกิจวัตรยังไง พระพรหมองค์นี้ที่เอราวัณ ให้ทราบไว้ด้วย ตั้งแต่ยกสร้าง วันพระจะมาฟังธรรม เพราะฉะนั้นวันพระพระพรหมไม่ได้อยู่ที่เอราวัณ ให้เข้าใจไว้ด้วย จะไปอ้อนวอนอะไรล่ะทีนี้ วันพระท่านไปวัด ท่านไปฟังธรรม นี่คือประวัติการสร้างพระพรหมเอราวัณ เราไม่เอาใจใส่เลย เราก็ได้แต่ไปกราบไหว้อ้อนวอนอย่างเดียว อันนี้เรื่องแทรกเข้ามา ขออผ่าน เป็นอันว่านี่เรื่องประสูติ เป็นอันว่าประสูตินะ บอกเลยว่ามนุษย์สามารถพัฒนาตนเป็นพุทธะได้สูงสุด จะเป็นพุทธะด้วยโพชฌงค์ ซึ่งโยงไปถึงมรรคมีองค์ 8 อะไรต่ออะไรทั้งหมด โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ซึ่งจัดเป็นหมวด ก็ได้ 7 หมวดเหมือนกัน บอกว่า 7 ก้าว เป็น 7 หมวดของโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ก็ได้ ก็ลงตัวกันหมด ทีนี้เป็นอันว่าการประสูติมีความหมายอย่างที่ว่า
ทีนี้ก็ต่อไป การตรัสรู้ ตรัสรู้นี่ก็ อ้าว แล้วมนุษย์จะกลายเป็นพุทธะ ผู้สูงสุดประเสริฐ แม้แต่เหนือมารพรหมได้อย่างไร เมื่อกี้บอกว่า มาระเสนัปปะมัททิโน หรือ มาระเสนัปปะมัททนัง ก็แปลว่ามรรคาหรือโพชฌงค์นี้ เป็นมรรคาที่จะนำไปสู่การย่ำยี บดขยี้ มาร และเสนามาร อันนี้ก็คือเป็นสัญลักษณ์เหมือนกัน บดขยี้ มาร และเสนามารได้ ก็คือตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เหนือมารหมด เพราะว่าพระพรหมนี่นะ เวลามารมา พระพรหมยังหนีเลย ทีนี้พระพุทธเจ้าบดขยี้มารได้ เอาล่ะ บอกมาร ไม่ต้องกลัว พระพุทธเจ้าปราบหมด ทีนี้ก็ประกาศไว้แล้วว่ามนุษย์จะเป็นพุทธะได้ พอถึงตรัสรู้แล้วจะเป็นพุทธะได้ยังไง เดินตามโพชฌงค์ อันนี้เราไม่ต้องพูดรายละเอียด ก็คือด้วยการที่เข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ของโลก ของจักรวาล เข้าถึงสาระแก่นความจริงของมัน เมื่อรู้จักความจริงของโลกของชีวิตอะไรทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ก็ทำตัวให้เป็นอิสระ ก็เป็นพุทธะได้ ก็อยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นได้ ก็ด้วยปัญญาต้องรู้ก่อน ปัญญาต้องรู้ความจริงอันนี้ ความจริงอันนี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นอันว่ามนุษย์เป็นพุทธะ เป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา ที่รู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง กฎธรรมชาติอยู่ในนี้หมด อะไร แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้แล้ว ก็ได้เปล่งคาถาเรียกว่า ปฐมพุทธพจน์ พุทธพจน์แรกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งเป็นการประกาศให้ทราบว่าพระองค์ตรัสรู้อะไร เราก็สวดกันอยู่เรื่อย มีอะไรบ้าง หนึ่ง-เดี๋ยวท่านลองสังเกตว่าคาถา 3 คาถานี้บอกสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วทำให้พระองค์ขึ้นไปอยู่ในฐานะเป็น อัคโคหะมัสมิ โลกัสสะ เป็นต้นนั้น ก็ขึ้นว่า
ยะทา หะเว ปาตุภะวันติธัมมา อาตาปิโน ฌายะโต พราหมะณัสสะ อะถัสสะกังขา วะปะยันติสัพพา ยะโต ปะชานาติสะเหตุธัมมัง
คาถาที่หนึ่ง อะไรล่ะ เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่ พระองค์ใช้คำว่าพราหมณ์ เพราะพราหมณ์นั้นเป็นคนที่ประเสริฐที่สุดในสังคมเก่า ที่เขาเรียกกันมา ก็ต้องใช้คำเดิมของเขาก่อน เขาจึงจะหมายถึง อ๋อ คนที่ประเสริฐที่แท้คืออย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร เพ่งพินิจอยู่ ความสงสัยทั้งปวงย่อมหมดสิ้นไป เพราะมารู้ชัดซึ่งธรรมที่มีเหตุปัจจัย พร้อมทั้งเหตุปัจจัยก็ได้ รู้ธรรมที่เป็นเหตุปัจจัย หมายความว่าสิ่งทั้งหลายนี้มีเหตุปัจจัยของมัน ก็คือหลักที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปรัชญาการ หลักพุทธศาสนาข้อนี้สำคัญมาก ก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ข้อที่หนึ่ง-ปฏิจจสมุปบาทหรือหลักปรัชญาการ หรือเห็นปรากฏการณ์สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ มีเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วจากการที่มันมีเหตุปัจจัยเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ ก็จะปรากฏออกมาให้เห็นเป็นความไม่เที่ยงคงที่ เพราะว่ามันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แต่เราจะรู้ว่าที่ไม่เที่ยงนั้น มันไม่ใช่ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปเลื่อนลอย มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย อันนี้หลักปรัชญาการนี้อยู่เบื้องหลังที่จะให้รู้เรื่องอนิจจัง ว่าไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แล้วเมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย มันก็คงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ก็เป็นทุกขัง แล้วเมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย มันก็ไม่สามารถมีอัตตาตัวตน ตัวตนก็คือผู้ที่เป็นเจ้าของครอบครองสั่งการบัญชา ว่าจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อัตตาก็คือตัวผู้สั่งการบัญชาเป็นใหญ่ และเหตุปัจจัยมันเป็นตัวทำให้เป็นไป ถ้ามีอัตตาจริง เหตุปัจจัยก็ไปไม่ได้ เพราะเจ้าอัตตาก็ต้องสั่ง แกต้องเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นไปตามเหตุปัจจัย อัตตาก็มีไม่ได้ ขัดกันเอง จึงเป็นอนัตตา ความเป็นเหตุปัจจัย ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้บอกว่าเป็นอนัตตา ไม่สามารถมีตัวตนอยู่ เช่นว่าตัวคนที่เคยยกตัวอย่างไปแล้ว บอก เออ แขนของฉัน เราบอกว่าจริง แขนของฉัน ก็แขนของฉัน ฉัน ฉัน ฉัน แขนของฉัน ฉันต้องสั่งได้ จะกำจะแบจะยกไปไหนก็ได้ เอ อยู่มาวันหนึ่งมันไม่เคลื่อนที่ สังมันไม่ไป เอ้า แขนของฉันนี่ทำไมไม่ไปตามสั่งล่ะ ฉันบอกแกให้แกยก ฉันบอกแกให้แกกำมือ มันไม่เอาทั้งนั้น ทำไม เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ใช่ไหม นี่คืออนัตตา สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่เราบอกว่าแขนของฉัน มือของฉันเนี่ย มันเป็นไปตามภาษาสมมติที่เราตกลง หนึ่ง-ยึดถือในใจ สอง-ตกลงในบัญญัติ เรียกว่าทางภาษา ว่าเอางั้น ท่านเรียกว่าสมมติ แต่ที่จริงมันไม่ใช่ของเราจริง แขนนี่ของเราจริงไหม มีตัวเราที่เป็นเจ้าของแขนไหม แขนนี้ประกอบด้วยส่วนประกอบของมัน มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เพราะฉะนั้นถ้าเราไปมัวเอาอัตตา สั่งการจะให้เป็นไปตามใจปรารถนา เรียกว่าเอาตัณหาไปสั่ง ไม่มีทางสำเร็จ เราต้องใช้ปัญญา ศึกษาเหตุปัจจัยว่าแขนนี้ที่มันขยับไม่ได้เพราะอะไร มันเป็นเพราะเส้นเอ็น เป็นเพราะเลือด เป็นเพราะเส้นประสาท นั่นคือเหตุปัจจัยของมัน เพราะฉะนั้นเราชาวพุทธ พอรู้หลักที่เรียกว่าปรัชญาการ ปฏิจจสมุปบาทข้อแรกก็ใช้หลักนี้ ว่าเตือนตนไว้เลยว่า สิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามใจของเรา แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน นี่ให้เข้าใจไว้ รวมทั้งที่เรียกว่าเรานี่ก็อาจจะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งได้ แต่ว่าต้องเข้าใจว่า ระบบความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร นี่แหละหลักพุทธศาสนาข้อแรกเนี่ยสอนหลักสำคัญมาก ก็คือหลักเหตุปัจจัย แล้วไปในคัมภีร์อภิธรรมนี่ 6 เล่มแหนะ ที่อธิบายเรื่องปรัชญาการ เรื่องปัจจัยนี่ ฉะนั้นเป็นหลักธรรมสำคัญ ไตรลักษณ์จะปรากฏออกมาที่หลักปฏิจจสมุปบาทหรือปรัชญาการนี้ ก็คือเหตุปัจจัยนั้นเอง เอาเป็นอันว่าคาถาที่หนึ่ง พระพุทธเจ้าประกาศว่าพระองค์รู้ธรรม ธรรมก็คือสิ่งที่สมัยนี้เขาเรียกว่าปรากฏการณ์ สิ่งทั้งหลายที่มีเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือว่าธรรมพร้อมทั้งเหตุปัจจัย นี่คือข้อที่หนึ่ง
ต่อไปทีนี้คาถาที่สองก็ตรัสว่า ยะทา หะเว ปาตุภะวันติธัมมา อาตาปิโน ฌายะโต พราหมะณัสสะ อะถัสสะกังขา วะปะยันติสัพพา ยะโต
ขะยัง ปัจจะยานัง อะเวทิ ตอนแรกก็คล้ายๆ กัน บอกเมื่อใดมารู้ ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่ท่านผู้มีความเพียรเพ่งพินิจอยู่ ความสงสัยทั้งหลายกังขาก็สิ้นไป เพราะรู้ภาวะสิ้นปัจจัย ภาวะสิ้นปัจจัยก็คือเมื่อรู้ทันเหตุปัจจัยแล้ว เราก็รู้ว่าจะปฏิบัติกับมันยังไง แม้แต่ไม่ให้มีโอกาส เช่นว่าเหตุปัจจัยไม่ดี นำไปสู่ความเสื่อม เรารู้ เราก็ป้องกัน กำจัด แก้ไขเหตุปัจจัยของความเสื่อม แล้วเราก็ศึกษาว่าเหตุปัจจัยอะไรจะนำไปสู่ความงามความเจริญ เราก็ทำเหตุปัจจัยนั้น ทีนี้เราก็สร้างเหตุปัจจัยที่ดี มาทดแทน มากลบ มาลบล้างเหตุปัจจัยที่ร้าย ฉะนั้นจะมีหลักธรรมในการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและสังคม อย่างที่เรียกว่า อปริหานิยธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้าเราปฏิบัติตามธรรมะ 6 ข้อ 7 ข้อ นี้แล้ว วุด-ทิ-เย-วะ-ปา-ติ-กัง-ขา จะหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว โน-ปะ-ริ-หา-นิ ไม่มีเสื่อม คนไม่รู้ไม่เข้าใจหลักธรรม บอกพุทธเจ้านี่ยังไง ตรัสบอกสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มาตอนนี้บอกว่าถ้าปฏิบัติอย่างนี้นะจะมีแต่เจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพราะเราทำเหตุปัจจัยให้มันเจริญ เราลบล้างเหตุปัจจัยที่จะให้เสื่อม คนไม่เข้าใจ แม้แต่อนิจจัง คนไทยยังไม่รู้เรื่อง อนิจจังบอกสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เกิดดับไป บางคนถึงขนาดว่าเราจะทำอะไรไปทำไมเดี๋ยวมันก็แตกดับหมด อนิจจัง ใช่ไหม ไม่รู้ว่าอนิจจังเนี่ย ความไม่เที่ยง มันก็ไปสู่ความเปลี่ยนแลง แล้วมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันอยู่ในระบบความสัมพันธ์ สิ่งทั้งหลายมาสัมพันธ์กันโดยเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน ก็เหตุปัจจัยมันจะทำให้เกิดความเจริญก็ทำให้เจริญ เหตุปัจจัยทำให้เสื่อมก็เสื่อม เมื่อรู้แล้วมนุษย์ก็กลายเป็นเจ้า ใช่ไหม แทนที่จะต้องไปรอพระพรหมมาบันดาล ไปขอร้องอ้อนวอนบูชายัญให้ท่านมาบันดาล เราก็รู้เหตุปัจจัย เราก็ทำที่เหตุปัจจัยสิ ฉะนั้นนี่แหละที่เปลี่ยนแปลงสำคัญ ก็คือมนุษย์แทนที่จะไปรอการบันดาลของพระพรหม ของเทพเจ้า ก็มาใช้ปัญญารู้เห็นปัจจัย แล้วปฏิบัติจัดการด้วยเหตุปัจจัย แก้ไขความเสื่อม สร้างสรรค์ความเจริญ ทำสิ่งทั้งหลายได้ แล้วก็มาคาถาที่สอง เมื่อเรารู้เท่าทันเหตุปัจจัยแล้ว เราก็จะอยู่พ้นลอยเหนือเหตุปัจจัยได้ คือว่าเรารู้ทันมันหมด อันนี้ก็คือคาถาที่สอง คาถาที่สองนี่ก็ ยะโต ขะยัง ปัจจะยานัง อะเวทิ เพราะได้รู้ความสิ้นไป ภาวะสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย นี่คือชื่อของนิพพาน เพราะฉะนั้นคาถาที่สองก็ตรัสรู้นิพพาน คาถาที่หนึ่งก็ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งโยงไปหาไตรลักษณ์ แล้วก็คาถาที่สองนิพพาน
ต่อไปคาถาที่สาม- นี่ก็คือทำไงจะสำเร็จตามนี้ ต้องบอก ยะทา หะเว ปาตุภะวันติธัมมา อาตาปิโน ฌายะโต พราหมะณัสสะ วิธูปยัง ติฏฐะติมาระเสนัง สุโรวะโอภาสะยะมันตะลิกขันติ บอกว่าเมื่อธรรมทั้งหลายปรากฎแก่ท่านผู้มีความเพียนเพ่งพินิจอยู่ ความสงสัยทั้งปวงหมดสิ้นไป ท่านผู้นั้นก็ดำรง เมื่อกี้บอก วิธูปยัง ติฏฐะติมาระเสนัง ท่านก็กำจัดมารและเสนามารเสียได้ แล้วก็ดำรงตนเหมือนกับดวงตะวันที่ขึ้นไปส่องสว่างจ้ากลางท้องฟ้า หรือกลางนภา ตอนนี้ก็หมายความว่าผู้ที่ปฏิบัติได้สำเร็จตามนี้ก็เป็นผู้ที่รุ่งเรือง หรือความหมายของการที่ว่าเหมือนกับดวงตะวันที่ส่องสว่างกลางนภา ก็คือโล่ง สว่าง สดใส พ้นภัย พ้นอันตรายหมดแล้ว นี่ก็คือคาถาที่สามซึ่งไปเข้ากับคาถาพระสูตรโพชฌงค์เมื่อกี้ เมื่อกี้บอกว่าไง มาระเสนัปปะมัททนัง ทางที่จะย่ำยีมารและเสนามาร ตรงนี้บอกว่า วิธูปยัง ติฏฐะติมาระเสนัง กำจัดมารและเสนามาร ได้ดำรงอยู่ โดดเด่น สว่างเหมือนดั่งดวงตะวันแจ่มจ้าในกลางนภากาศ อันนี้ก็ลงท้ายที่ว่ากำจัดมารและเสนามาร ตรงกับคาถาพระสูตรที่บอกว่าโพชฌงค์นี้เป็นมรรคาที่จะย่ำยีบดขยี้มารและเสนามาร ก็จบนี้ ท่านจะเห็นว่าคาถาที่สาม ย้ำอีกทีก็ได้ตอนท้ายที่บอกว่าวิธูปยัง กำจัด มาระเสนัง มารและเสนามารได้ แล้วก็ สุโรวะโอภาสะยะมันตะลิกขันติ เหมือนดวงสุริยาแจ่งจ้าอยู่กลางนภากาศ อะไรนี้ ก็จบ คาถาที่สามก็คือเป็นคาถาแสดงมรรค มรรคซึ่งในที่นี้ถ้าครบองค์ก็มรรคามีองค์ 8 ประการ ที่เราเรียกมรรค 8 แล้วในที่นี้ในการดำเนินก็โพชฌงค์ ซึ่งไปตรงกับคาถา ซึ่งอันนี้ก็เอามาเล่าให้ฟังว่าการประสูตินี้มาตรัสรู้ ตรัสรู้ก็คือเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะระบบความสัมพันธ์เหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายนั้นเอง ซึ่งมนุษย์รู้อย่างนี้แล้ว ก็กลายเป็นผู้ จะเรียกเป็นผู้บันดาลแทนพระพรหมได้ ใช่ไหม ก็รู้เหตุปัจจัยหมดนี่ จะป้องกันความเสื่อมได้ สร้างสรรค์ความเจริญได้ แม้แต่ว่ารู้ทันเหตุปัจจัยแล้ว ให้ตัวเหนือเหตุปัจจัย ก็เป็นนิพพานไป คนไทยไม่เอาใจใส่เรื่องนี้ ระบบเหตุปัจจัย ก็มีชีวิตเลื่อนลอย บ้างก็ยังไปอ้อนวอนขอการดลบันดาลของเทพเจ้า ก็หวังโชคชะตา อะไรต่ออะไรเนี่ย คาถาวิสาขบูชานี้เราต้องเอาใจใส่แล้ว คาถาที่สำคัญมาก บอกเลยว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร แล้วก็จะบอก
คาถาที่หนึ่ง- ยะทา หะเว ก็บอกปฏิจจสมุปบาทหรือปรัชญาการ ระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย อันนี้หมดเลย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ในนี้หมด
แล้วคาถาที่สองก็ภาวะที่โล่ง โปร่ง พ้นปัจจัยเพราะรู้เท่าทันหมด ปฏิบัติออกมาได้ถูกต้อง ก็นิพพาน
แล้วคาถาที่สามก็คือมรรค ได้ทางเดินที่จะกำจัดมารและเสนา แล้วก็แจ่มจ้า ก็คือพ้นปัญหา ไม่มีหมอก ไม่มีควัน ไม่มีเมฆมาบังแล้ว สว่างแจ้งก็ด้วยปัญญานั้นเอง
เอาละ ทีนี้เป็นคาถาตรัสรู้ ก็ให้ความหมายอย่างนี้ก่อน
ไปทีนี้ก็นิพพาน นิพพานก็ให้ระลึกว่า พระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพานนั้นได้ตรัสปัจฉิมวาจาว่า วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมุปาเทถ ว่าสังขารทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็คือสิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัยทั้งหลายเนี่ย วยธมฺมา มองในสายตาของมนุษย์ ปรากฏแก่มนุษย์ก็คือมีการเสื่อมสลายไปตามธรรมดา นี่คืออนิจจัง มนุษย์จะประสบปัญหาจากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น อปฺปมาเทน สมุปาเทถ เพราะฉะนั้นจึงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม หรือว่าจงทำกิจตนกิจผู้อื่น หรือว่าทำประโยชน์ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท คาถานี้ก็เตือนสำหรับมนุษย์ที่ยังเป็นคนทั่วไป เป็นปุถุชน เป็นส่วนมาก ให้ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วสิ่งที่ปรากฏแก่เราก็คือการแตกดับ เกิดขึ้นมามีการพลัดพรากจากกัน มีการเสื่อมสลาย ของที่มีก็หมดไป อะไรต่างๆ เหล่านี้ ทำให้มนุษย์ประสบความทุกข์ความยากความลำบากเดือดร้อน ฉะนั้นถ้าเราต้องการที่จะไม่ให้สิ่งเหล่านี้มาทำให้เกิดทุกข์ปัญหา เราก็ต้องไม่ประมาท ไม่ประมาทก็คืออะไร ไม่ประมาทก็คือมีสติเตือนตน สติก็เป็นตัวเริ่มต้นของโพชฌงค์ ให้อยู่ด้วยความมีสติ มีสติแล้วทีนี้ก็ก้าวไป เพราะมีสติก็ไม่ประมาท ไม่ประมาทแล้วอะไร ไม่ประมาท ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่นิ่งเฉย และอะไร ไม่ประมาทคือไม่ปล่อยปละละเลย ไม่นิ่งเฉย ไม่ดูดาย ผิดแล้ว คำหนึ่งมันหายไป ไม่เป็นไร มันนึกไม่ออก เอาละ ไม่ประมาท ก็ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่นิ่งเฉย ไม่เรื่อยเปื่อย อะไรก็แล้วแต่อันนี้ คือต้องมีสติที่จะเตือนตน แล้วก็ระลึกว่าทำอะไร มีอะไรจะต้องทำ ใช้ปัญญาตามมาพิจารณาว่าอะไรจะเกิด ความเสื่อม ความเจริญ ก้าวไป ความเกิดดับของสิ่งทั้งหลายตามธรรมชาติ มันมีของมันอยู่ มนุษย์ประสบการแตกดับปั๊บ เกิดความเศร้าเสียใจ สลดหดหู่ แต่พอว่าเอามาเป็นเครื่องเตือนว่าไม่ให้ประมาท เราก็มีสติหันไปดูว่าอะไรจะทำอะไร อะไรเป็นประโยชน์ที่ควรจะทำให้สำเร็จ ก็หันไปเร่งทำสิ่งนั้น ก็ก้าวไปเลย พอก้าวไปนี่ ก็เปลี่ยน หนึ่ง-เปลี่ยนจากการที่เจอธรรมชาติที่แตกดับ เกิดแล้วดับไปเป็นอนิจจัง แล้วก็มีความโศกเศร้า คร่ำครวญ ร่ำไร เปลี่ยนมาเป็นไม่ประมาท เกิดดับแต่ก้าวไป ก้าวเก่าดับไป ก้าวใหม่มาถึง ก้าวเก่าหมดไป ก้าวใหม่ตามมา ฉะนั้นด้วยการก้าวไปโดยไม่ประมาท มนุษย์ก็จะกลายเป็นว่า มีปิติ มีความอิ่มใจ ในการที่พัฒนาตน หรือทำให้เจริญก้าวหน้างอกงาม จะแข่งเวลาหรือไม่แข่งก็แล้วแต่ ก้าวไป เพราะฉะนั้นความไม่ประมาทก็มาสอดคล้องเข้ากับคาถาโพชฌงค์ที่ว่าเมื่อกี้ ไม่ประมาทก็เริ่มด้วยสติ แล้วปฏิบัติไปตามโพชฌงค์ จะใช้ในการที่จะ แม้จะบำเพ็ญวิปัสสนาโพชฌงค์ 7 เป็นหลักการสำคัญของวิปัสสนา แต่ว่าก็ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ก็เลยมาจบกันที่ โพชฌงค์ 7 ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นมรรคาที่จะย่ำยีบดขยี้มารและเสนามาร มีอะไรบ้าง ก็ทวนอีกทีหนึ่ง หนึ่ง-สติ สอง-ธัมมวิจยะ สาม-วิริยะ สี่-ปิติ ห้า-ปัสสัทธิ หก-สมาธิ เจ็ด-อุเบกขา มาทำความเข้าใจกันหน่อย เพราะว่าอันนี้มีประโยชน์มาก พัฒนามนุษย์ให้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ ถ้าท่านเอานี่ไปทำงานทำการดำเนินชีวิตประจำวัน ท่านจะมีชีวิตที่ดีมาก
หนึ่ง- สติ สติคืออะไร มีคาถาหนึ่งเราหลายคนจำได้ สติ โลกัสสะมิชาคะโร สำหรับสัตวโลกในโลกของหมู่สัตว์ทั้งหลาย สติ ความตื่นคือสติ ไม่ใช่ตื่นจากนอนลุกจากเตียงมาแล้วก็มานั่ง แล้วก็เพลิดเพลินมัวเมาอะไรอย่างนั้น คนอย่างนั้นภาษาชาวบ้านเรียกว่าตื่นใช่ไหม แต่ว่าที่จริง หลงใหลหลับใหล ฉะนั้นความตื่นที่แท้คือสติ สติเป็นความตื่นตัวพร้อม พอพร้อมแล้วก็คือ พร้อมสำหรับการรู้ก็ได้ พร้อมสำหรับการรับก็ได้ พร้อมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ เข้ามาเลย เราจะเรียกว่าตั้งรับก็ได้ ตื่นตัว ตื่นแล้วมีความพร้อม แล้วก็ทัน สตินี้ลักษณะอันหนึ่งคือทัน มีอะไรเกิดขึ้น ทันๆๆ เพราะใจไม่ลอย สตินี้ใจไม่ลอยนะ ตรงข้าม ใจอยู่กับตัวไม่ไปไหน ถ้าคนเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นมา ใจฝ่อ ใจหนี ใจหาย ก็หมดสติ ก็แก้ไขเหตุการณ์ไม่ได้ ใจไม่อยู่กับตัว สติทำให้ใจอยู่กับตัว แล้วใจอยู่กับตัวก็ทันต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ก็สติตื่นพร้อม ทัน ถึง หมายความว่าถึงในสิ่งนั้น แล้วตรึง ตรึงก็คือเช่นว่า ยกตัวอย่างท่านเปรียบสติเป็นนายประตู เฝ้าประตูพระราชวังก็ได้ ใครจะเดินเข้าเดินออก สติคือนายประตู ดูแล้ว ถ้าดูไม่ได้ความ ไม่สมควรไว้ใจ ตรึงไว้ก่อน แล้วก็ตรวจ แล้วก็จับ จัด ทำ สติเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวเริ่มให้คน ถ้าเราไม่มีสติอย่างเดียว ธรรมะอื่นมาไม่ได้เลย ใช่ไหม ใจหาย ขวัญหนีดีฝ่อแล้ว หมดเลย ธรรมะ อะไรดีก็ไม่ได้ใช้แล้ว ไปหมด ฉะนั้นสตินี่เป็นตัวทำให้ใจอยู่กับเรา แล้วทันต่อสิ่งแวดล้อมอะไรต่างๆ ต่อเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น สติเป็นตัวตั้งรับ ตัวตั้งรู้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ สติขึ้นมาเลย ฉะนั้นทำอะไรก็ทำด้วยมีสติ ไม่ใจลอย ไม่ขวัญหนีดีฝ่อ อะไรอย่างนี้ เอาละนะ หนึ่ง-สติ สติเป็นตัวเริ่มที่สำคัญ แม้จะเอาอะไรมาทำเรื่องอดีตก็ระลึกขึ้นมาก็สติ ก็เอาขึ้นมา ดึงมาดึงไว้นี่ก็เป็นหน้าที่ของสติ เรื่องผ่านไปแล้วดึงมันขึ้นมา แล้วเรื่องจะผ่านไปผ่านมา จับมันไว้ให้อยู่ต่อหน้า เรียกว่าสติ สติตรึงจับไว้ ดึงมา ดึงให้อยู่ อะไรก็ได้ ทีนี้ต่อจากสติ ดึง ตรึง จับ ตื่น ทัน
ข้อที่สอง-ธัมมวิจยะ ปัญญา ปัญญาในที่นี้ใช้เรียกชื่อวิเศษว่าธรรมวิจัย ที่เรามาใช้ภาษาไทยว่าวิจัย วิจัยก็คือสอดส่อง ค้นคว้า สืบสาวให้มันรู้ไปตลอดว่ามันอะไรเป็นอะไร แล้วก็เฟ้นให้ได้ความจริง เฟ้นให้ได้ตัวจริง เฟ้นให้ได้ของจริง เฟ้นให้มันได้วิธีปฏิบัติที่มันได้ผลจริง เอาละสิ พอสติมันตกลงอยู่กับสถานการณ์แล้วใช่ไหม เช่นปัญหาเกิดขึ้นก็จับเลย สติจับอยู่แล้วก็ปัญญาธัมมวิจยะ ธรรมวิจัยก็ตามมา สอดส่องพิจารณาเฟ้นว่าความจริงของมันคืออย่างไร แล้วก็วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างไร ปัญญาก็มาจัดการ พอปัญญาธัมมวิจยะเฟ้นให้ได้ความจริง ได้ของจริง ได้ตัวจริง ได้วิธีที่จริงแท้แน่แล้ว
ข้อสาม- วิริยะ ความเพียร ความเพียรคือเดินหน้า ก้าวไป ไม่ยอมถอย วิริยะมาจากคำว่าวีระ แปลว่าเป็นผู้แกล้วกล้า วิริยะ ความเพียร ก็คือความแกล้วกล้า กล้าก็คือเดินหน้า ไม่ถอย นี่คือลักษณะของความเพียร ก็เดินหน้า ก้าวไป ก้าวไปในการกระทำ ในการดำเนินการ ในการทำกิจของตัว วิริยะก็ก้าวไปๆ ในจังหวะที่ก้าวไปก็ก้าวไปด้วยปัญญา รู้แล้วนี่ ทีนี้จิตใจเป็นไง จิตใจก็เอิบอิ่มในการกระทำที่ดีงามก้าวหน้าไปของตนเอง จิตใจก็มีปิติ
ข้อที่สี่- ปิติ คนที่มีวิริยะทำตามวิริยะแล้วมีปัญญาด้วยสติเนี่ย ก็จะมีความอิ่มใจ ก้าวไปๆ อิ่มใจ ความอิ่มใจนี่ทำให้ใจนี่เต็มมีกำลัง ถ้าใจห่อเหี่ยวเหี่ยวแห้งซะแล้ว ก็หมดกำลังเท่านั้น ฉะนั้นทำการทำงานนี่ แม้จะมีชีวิตในประจำวันก็ต้องให้มีปิติ พระพุทธเจ้าจะตรัสย้ำอยู่เรื่อย เราไม่ค่อยสนใจ ตัวแรกเริ่มด้วยปราโมทย์ ปราโมทย์ก็คือความร่าเริงเบิกบาน จิตใจแช่มชื่นสดใส ทีนี้ปราโมทย์เมื่อแรงขึ้นจะเป็นปิติ ในที่นี้ท่านเอา
ปิติเลย ก็คือคลุมปราโมทย์มาเสร็จ ปราโมทย์ ปิติ แล้ว ทำอะไรต่ออะไรต้องพยายามให้ใจอิ่มไว้ มีความอิ่มใจในการกระทำงาน แม้แต่โยมฟังธรรมเนี่ย ต้องปรับใจให้ดี ให้อิ่มใจ เหมือนกับเราได้อาหารกาย ก็อิ่มกาย นี่เราได้สิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตจิตใจของเรา เราก็อิ่มใจ มีปิติ พอมีปิติแล้วจะตามมาด้วยปัสสัทธิ
ข้อห้า-ปัสสัทธิ แปลว่าความผ่อนคลาย ถ้าท่านทำงานด้วยสติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ แล้วท่านจะมีความผ่อนคลาย ไม่มีความเครียด ถ้าเรามีความเครียดมันก็เกิดความติดขัด มันก็ไม่คล่องตัว ใช่ไหม ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย ทำให้คล่องตัว จะทำอะไรต่ออะไรก็คล่องตัว ถ้าเราไม่ผ่อนคลายปัสสัทธิ เราก็เครียด พอเครียดมันก็ติดขัดสิ มันก็ไม่คล่อง เพราะฉะนั้นคนที่มีปัญหากันในชีวิต เดี๋ยวนี้ประสบปัญหามากที่มีความเครียด ฉะนั้นถ้าทำงานด้วยโพชฌงค์ จะไม่มีความเครียด จะมีแต่ปัสสัทธิ มาตามปิติ ปิติ ปัสสัทธิ ต่อไปพอปัสสัทธิ ผ่อนคลายแล้ว จิตใจมันไม่มีอะไรมาเบียดเบียนบีบคั้น ใจมันก็ตั้งมั่น ใจที่ของมัน เข้าที่ของมัน อยู่ตัวของมัน เรียกว่าสมาธิ
ข้อหก-สมาธิ มันก็มั่นแน่วไปเลย ใจนั้นก็ไม่มีอะไรรบกวน เหมือนกับน้ำ ตั้งอยู่เฉยๆ เรียบ ไม่มีอะไรพัด ไม่มีลมมาพัด ไม่มีการกระเทือนทำให้มันฟุ้งฝุ่น ฝุ่นมันก็นอนก้นหมด น้ำก็ใส สมาธิจิต จิตมาสมาธิมันก็ใส ใสมันก็มองเห็นอะไรชัด แล้วมันก็สงบ แล้วมันก็มีกำลัง สมาธิมีลักษณะ 3 หนึ่ง-ใส จิตใจ มองเห็นอะไรชัดเจน สอง-สงบ สาม-มีกำลังมาก เหมือนกับน้ำที่พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบว่าน้ำไหลลงจากภูเขา ไหลลงมาทางเดียวไม่แตกกระจัดกระจายมีพลังมาก แต่ถ้ามันแตกกระจัดกระจายไป มันก็หมด น้ำถ้าไหลมาทางเดียวเลยก็สมาธิพุ่งมุ่งไปเลย มีสมาธิแล้วตอนนี้ทำงานก็ยิ่งได้ผลใหญ่ เพราะว่าธัมมวิจยะก็ต้องทำงานเรื่อยไปปัญญา มันก็ต้องทำงานในใจที่เป็นที่ทำงานที่ดี ก็คือใจที่เป็นสมาธิ ใจที่เป็นสมาธิคือใจที่ดีที่สุด ใจที่เป็น ท่านเรียกว่า กัมมนียะ ใจที่เหมาะกับการใช้งาน เอาละ สมาธิ ต่อไปข้อสุดท้ายอุเบกขา
ข้อที่เจ็ด-อุเบกขา ก็พอได้สมาธิ ต่อไปอุเบกขา อุเบกขาคืออะไร ใจมันลงตัว ที่ว่าเมื่อกี้ ได้ที่ อยู่ตัว ลงตัว ท่านเปรียบอย่างนี้ จะอ่านให้เข้าใจมากขึ้น เหมือนคนขับรถ สารถีที่ชำนาญ ตอนออกรถใหม่ๆนี่ ยังต้องเร่งเครื่องบ้าง พวงมาลัยหมุนไปทางโน้นทางนี้ อะไรขับรถจะเข้าที่ได้ พอขับรถเข้าที่เข้าทางได้ดี แล้วความเร็วอะไรต่ออะไรปรับดีหมด แล้วทีนี้ก็สารถีผู้ชำนาญนั่งใจสงบนิ่ง แต่ว่าพร้อมทุกเวลา ชำนาญจริงๆ พร้อมทุกเวลาที่จะแก้ไขปัญหา ไม่เหมือนคนที่ไม่ชำนาญ จะขับรถนี้ใจว้าวุ่น ใจไม่สบาย หวาดบ้างอะไรบ้าง แต่คนที่ชำนาญแล้วไม่มี ใจสบายเลย ขับรถพอเข้าที่เข้าทางดี รถอยู่ตัว วิ่งได้ความเร็วที่ต้องการแล้วทีนี้ ใจเรียกว่าเป็นอุเบกขา ใจอย่างนี้เรียกว่าใจอุเบกขา แต่เป็นใจที่พร้อมเสมอ มีอะไรพลาดนิดเดียว แก้ได้ทันทีเลย อย่างนี้อุเบกขาแปลว่าคอยมอง อุเบกขาแปลว่ามองอยู่ใกล้ๆ ดูอยู่ ดูแลอยู่ หรือระบบการทำงานของเรา เครื่องจักรทำงานเข้าที่ ทุกอย่างประสานขานรับกัน ลงตัว อะไรดีหมดแล้ว หรือคนทำงานของเราทุกคน ทำงานประสานกัน สอดคล้องกัน รับช่วงกัน ได้หมดดีแล้ว กระบวนระบบการทำงานเดินได้ดีอย่งนี้ คนที่เป็นหัวหน้าคุมงานก็จะมีใจเป็นอุเบกขา อุเบกขาก็สบายใจด้วย แล้วก็มองดูตลอดเวลา มองดูด้วยใจที่สบาย แล้วก็พร้อมที่จะดูแลแก้ไข ก็ดูแล ควบคุม แล้วพร้อมที่จะแก้ไขสถานการณ์ นี้เรียกว่าจิตอุเบกขา ซึ่งต้องระวัง อัญญานุเบกขา เฉยโง่ คนไทยนี่มักจะรู้จักแต่เฉยโง่ ไม่รู้จักเฉยที่ว่านี่ เฉยอุเบกขาสำคัญมาก นี่คือตัวสำคัญ ทำงานถ้าถึงขั้นนี้ได้ก็แสดงว่าทุกอย่างเนี่ย งานเข้าระบบ เข้าที่เข้าทาง ประสานสอดคล้อง รับกันได้ทั้งระบบดี ต้องทำงานให้ได้ถึงขั้นนี้ แล้วมีอุเบกขาได้ นั่นคือเก่งจริง แล้วจิตก็จะมีสุขภาพจิตดีด้วย เป็นอันว่า 7 ข้อนี้ ทวนอีกที หนึ่ง-สติ ตื่น พร้อม ทัน ถึงตรึงจับ ปฏิบัติการได้ แล้วก็ปัญญาที่เรียกว่าธัมมวิจยะ เรียกว่าสืบสาว สืบค้น แล้วก็ทั้งหมด กระบวนการทางปัญญา เฟ้นให้ได้ความจริง ให้ได้ของจริง ตัวจริง อะไรต่ออะไร วิธีปฏิบัติที่มันดีจริงถูกต้อง แล้วก็วิริยะก็เดินหน้า ปฏิบัติตามไปด้วยกำลังความเพียร แล้ววิริยะ แล้วก็ปิติ ทีนี้อีก ใจแล้ว แล้วปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย ไม่มีความเครียด แล้วก็มีความสุข มีสมาธิมา จิตตั้งมั่น อุเบกขาทีนี้อยู่ตัวลงตัวแล้ว อย่างพระอรหันต์นี่ก็ไม่ว่าจิตใจลงตัวกับสภาพแวดล้อมอย่างการขับรถเท่านั้น ท่านมีจิตลงตัวกับโลกนี้ทั้งหมด พระอรหันต์มีจิตลงตัวกับโลกนี้ทั้งหมด ท่านจึงอยู่ในภาวะที่จะเรียกว่ายังไง จะว่าสุขก็เหนือสุขเลย ก็คือจิตมันลงตัวกับทุกสิ่งทุกอย่างหมดแล้ว เพราะฉะนั้นก็ด้วยความรู้เท่าทันเนี่ย รู้ปรัชญาการ รู้จนภาวะที่พ้นจากการบีบคั้นของเหตุปัจจัยได้ ก็จบโพชฌงค์ 7 ประการ ก็บอกเมื่อกี้ วิธูปยัง ติฏฐะติมาระเสนัง กำจัดมารและเสนา แล้วก็ดำรงอยู่ดั่งดวงตะวันเจิดจ้ากลางนภากาศ นี่แหละจิตใจก็จะสดใสบริสุทธิ์ ความไม่ประมาทที่ว่า ที่เป็นพุทธปัจฉิมวาจา วาจาสุดท้ายของพระพุทธเจ้านี้ สั่งเสียแก่พุทธบริษัท กับคนทุกคนว่า ให้อยู่ในความไม่ประมาท ในเมื่อสิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยง มันแตกดับไป เรารู้ไม่ทันเหตุปัจจัยของมันเนี่ย เราก็จะพลอยหวั่นไหว มันถูกกระทำเอา เพราะว่ามีความทุกข์อะไรต่ออะไรไป มีตัวเราคลอนที่มันปั่น ทีนี้เราก็มาไม่ประมาทซะ อาศัยการที่มันไม่เที่ยงนั่นแหละ เราก็มาไม่ประมาท อยู่ด้วยสติเราก็ไม่อยู่นิ่ง ไม่นิ่งเฉย เราก็มีสติ แล้วก็ดำเนินไปด้วยปัญญา แล้วก็ก้าวหน้าไปด้วยวิริยะ เป็นต้น เราก็ก้าวของเราไป เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชน เมื่อปฏิบัติตามหลักประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานแล้ว มีแต่เดินหน้า ก้าวไป ตั้งแต่พอประสูติก็ลุกขึ้นเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อย่ามัวนอนนิ่งอยู่ ลุกขึ้นมาก้าวไป ก้าวไปทำให้มันสำเร็จ แล้วก็ด้วยความรู้เข้าใจเหตุปัจจัย จัดการกับเหตุปัจจัยได้ แล้วมนุษย์ก็จะเหนือเทวดาได้ เอาละ วันนี้ก็เลยพูดเรื่องวิสาขบูชาให้รู้เข้าใจความหมายของประสูต ตรัสรู ปรินิพพาน ก็เป็นอันว่าเข้าใจความหมายแล้วนะ เจริญพร ประสูติคืออะไร ตรัสรู้คืออะไร พอตรัสรู้ก็หมดแจ่มแจ้งทั้งโลก เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย แล้วปรินิพพานก็เป็นเครื่องเตือนพวกเราทั้งหลาย ให้ทำเพื่อไปสู่จุดหมายอันนั้น
วันนี้ก็ได้พูดมายืดยาวเลยทีเดียว คิดว่าพอสมควรแล้ว ก็เห็นว่าโยมได้บำเพ็ญบุญกุศลมา ทั้งในกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางจิตใจ ตอนนี้ก็เรามาเสริมด้านจิตใจ เรื่องปัญญานี้ พุทธศาสนิกชนนี้ ข้อสำคัญที่สุดอยู่ด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญา ปัญญุตตรา สัพเพ ธัมมา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมทั้งปวงมีปัญญาเป็นยอดยิ่ง เพราะฉะนั้นก็ต้องจบที่ปัญญา ต้องให้ถึงปัญญา ทั้งพัฒนาปัญญา เรามาทำบุญทำอะไรกันในที่สุดลงท้ายก็ด้วยธรรมสวนะ การฟังธรรมเพื่อให้เกิดความเจริญปัญญา เกิดความรู้เข้าใจ แล้วพอรู้เข้าใจแล้วทีนี้เราก็นำไปปฏิบัติ แล้วก็ก้าวไปได้ในทุกเรื่องที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เรารู้เข้าใจนี้แล้วก็ทำตามนั้น ก็ขออนุโมทนาทุกท่านในที่นี้ โดยเฉพาะโยมญาติมิตรที่อยู่ในค่ำคืนนี้ ก็แสดงว่ามีวิริยะแล้ว ก็อนุโมทนาด้วยความเพียร ก็ขอให้ก้าวไปด้วยความเพียร แล้วก้าวไปด้วยสติปัญญาอย่างที่ว่า โดยมีจิตใจที่แช่มชื่น เบิกบาน เอิบอิ่มใจ มีปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ จนถึงอุเบกขา ดังที่ว่านั้น ก็ขอให้ทุกท่านเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ???สมบัติ ทุกเมื่อ และก็มีความสุขที่เป็นความสุขร่วมกันของทุกคน ที่ไม่ต้องมาแย่งกันหาความสุข เอาความสุขมาเสริมกัน ให้มีความสุขร่วมกันทุกเมื่อเทอญ